Group Blog
 
All blogs
 
การสำรวจประชากรนกประจำปีของกรุงชิง

สรุปผลการสำรวจประชากรนกกรุงชิงในรอบ 6 ปี

 การสำรวจประชากรนกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 และทำติดต่อกันมาจนถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2555 รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยใช้เวลาในเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อนเหมาะกับการดูนกในป่าฝนของเทือกเขาหลวงเนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนน้อยที่สุดของปี การสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูนกระหว่างนักดูนกและผู้ที่สนใจ ทั้งยังได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในพื้นที่สำหรับใช้เป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังอาจได้ข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมของพื้นที่อาศัยของนกได้     

        

"กรุงชิง" หรือ "หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล.4 (น้ำตกกรุงชิง)" เป็นแหล่งดูนกและศึกษาธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นที่ราบในหุบเขาสูงประมาณ 200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จุดที่ทำการของหน่วยฯ ตั้งอยู่ในพิกัดเส้นรุ้งที่ 08° 44’ 20.3” เหนือ และเส้นแวง 99° 40’ 04.6” ตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่ ตั้งอยู่ในวงล้อมของเทือกเขาหลวง มีน้ำตกที่สวยงามและสำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาหลวงเรียกว่า "น้ำตกกรุงชิง" ซึ่งมาจากชื่อต้นชิงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากในเขตนี้ นกที่พบในป่ากรุงชิงเป็นชนิดที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์ในเขตสัตว์ภูมิศาสตร์แบบโอเรียนตัล (Oriental Region) เขตย่อยซุนดา (Sundaic Sub-region) ซึ่งจะมีนกประจำถิ่นคล้ายกับที่พบในมาเลเซียและอินโดเนเซีย เช่น นกเขียวปากงุ้ม นกพรานผึ้ง ไก่จุก นกปรอดอกลายเกล็ด นกเงือกดำ นกชนหิน นกกินแมลงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนในหน้าหนาวจะมีนกที่อพยพมาจากเขตพาลีอาร์คติก (Palearctic Region) คือจากแถบยุโรปและเอเชียตอนเหนือ เช่น นกอีเสือลายเสือ นกจับแมลงตะโพกเหลือง นกแซวสวรรค์หางดำเป็นต้น ชนิดนกในหน่วยกรุงชิงจึงน่าค้นหาและสำรวจ

การสำรวจประชากรนก ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่บนถนนทางเข้าหน่วย ฯ ผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมไปจนถึงรอบ ๆ ลานกางเต็นท์ และเลยไปถึงน้ำตกชั้น "หนานฝนแสนห่า" เป็นระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร แบ่งช่วงเวลาสำรวจออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรกตั้งแต่เวลา 6.00-12.00 น. และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 13.00-24.00 น. แบ่งผู้สำรวจออกเป็นกลุ่มโดยไม่จำกัดจำนวนกลุ่มและจำนวนสมาชิกในกลุ่ม ให้ผู้สำรวจเลือกเส้นทางสำรวจได้ตามอัธยาศัย โดยกำหนดให้นับนกทุกครั้งที่เห็นและได้ยินเสียงโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะซ้ำตัวเดิมหรือไม่ ตัวเลขที่นับได้จะแสดงความถี่ของการพบนก (ไม่ใช่จำนวนนก)

ผลการสำรวจพบว่าจำนวนนกที่พบค่อนข้างมีความสัมพันธ์จำนวนผู้สำรวจ จำนวนชนิดและความถี่ในการพบนกในช่วงเช้ามีมากกว่าในช่วงบ่าย นกที่พบบ่อยที่สุด 5 อันดับแรกคือ นกจอกป่าหัวโต นกปรอดทอง นกนกปรอดสีน้ำตาลตาแดง นกปรอดเหลืองหัวจุก และนกกินแมลงอกเหลือง อย่างไรก็ตามผลการสำรวจยังไม่อาจสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาพที่อยู่อาศัยใด ๆ ได้ การสำรวจทำให้บันชีรายชื่อของนกกรุงชิงเพิ่มจาก 251 ชนิดในครั้งแรก เป็น 266 ชนิดในครั้งที่ 6

ตารางแสดงสรุปผลการสำรวจนกกรุงชิงในรอบ 6 ปี

ปี พ.ศ.

2550

2551

2552

2553

2554

2555

ชนิดนกที่พบทั้งหมด

145

128

116

124

120

121

ชนิดนกที่พบในช่วงเช้า/บ่าย

-

-

102/61

111/69

107/59

99/64

ความถี่นกที่พบในช่วงเช้า/บ่าย (รวมทุกชนิดที่พบ)

-

-

405/136

429/210

311/125

210/88

จำนวนผู้สำรวจ

35

24

21

19

10

13

การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ 6

ผลการสำรวจ
1. วันที่สำรวจ ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ. 2555
2. จำนวนผู้สำรวจ 13 คน
3. ชนิดนกที่พบทั้งหมด 121 ชนิด มีนกที่พบใหม่ในรอบปี 0 ชนิด ทำให้จำนวนชนิดนกของกรุงชิงเพิ่มเป็น 266 ชนิด
4. ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 99 ชนิด และพบในช่วงบ่าย 64 ชนิด
5. จำนวนนกพบทั้งหมดในช่วงเช้า 210 ตัว และพบในช่วงบ่าย 88 ตัว
6. นกที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับคือ นกจอกป่าหัวโต นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง และนกปรอดทอง

 

การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ 5




ภาพนกเงือกหัวหอกกำลังกินลูกสุเหรียญ ในฝูงมี 6 ตัว

ผลการสำรวจ
1. วันที่สำรวจ ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ. 2554
2. จำนวนผู้สำรวจ 10 คน
3. ชนิดนกที่พบทั้งหมด 120 ชนิด มีนกที่พบใหม่ในรอบปี 4 ชนิด ทำให้จำนวนชนิดนกของกรุงชิงเพิ่มเป็น 266 ชนิด
4. ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 107 ชนิด และพบในช่วงบ่าย 59 ชนิด
5. จำนวนนกพบทั้งหมดในช่วงเช้า 311ตัว และพบในช่วงบ่าย 125 ตัว
6. นกที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับคือ นกจอกป่าหัวโต นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง และนกปรอดโอ่ง


การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ 4

ผลการสำรวจ
1. วันที่สำรวจ ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม พ.ศ. 2553
2. จำนวนผู้สำรวจ 19 คน
3. ชนิดนกที่พบทั้งหมด 124 ชนิด มีนกที่พบใหม่ของกรุงชิง 2 ชนิด ทำให้จำนวนชนิดนกของกรุงชิงเพิ่มเป็น 262 ชนิด
4. ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 111 ชนิด และพบในช่วงบ่าย 69 ชนิด
5. จำนวนนกพบทั้งหมดในช่วงเช้า 429 ตัว และพบในช่วงบ่าย 210 ตัว
6. เฉพาะในเทรลหมายเลข 1 คือตั้งแต่ป้ายทางขึ้นหน่วยถึงสามแยกลานจอดรถ ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 66 ชนิด 189 ตัวและพบในช่วงบ่าย 28 ชนิด 48 ตัว นกที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับคือ นกปรอดทอง นกปรอดเหลืองหัวจุก และนกกินแมลงอกเหลือง




การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม พ.ศ. 2552

วัตถุประสงค์
1. เพื่อทราบชนิดนกที่พบทั้งหมด
2. เพื่อทราบจำนวนนกที่พบทั้งหมด
3. เพื่อทราบชนิดนกที่พบบ่อยที่สุด
4. เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของชนิดและจำนวนนกที่พบระหว่างช่วงเช้าและช่วงบ่าย

วิธีการสำรวจ
1. แบ่งเส้นทางสำรวจออกเป็น 7 เส้นทาง

2. ในแต่ละเส้นทางให้กลุ่มเดิมสำรวจทั้งช่วงเช้าและบ่าย
3. สำรวจโดยการเดินไปช้า ๆ เมื่อพบนกให้บันทึก อาจมีการหยุดยืนรอในบางจุด
4. ให้บันทึกนกทุกครั้งที่เห็น แม้ว่าอาจซ้ำตัวเดิม จำนวนนับคือจำนวนความถี่ที่พบ

ผลการสำรวจ
1. วันที่สำรวจ 7 มีนาคม 2552
2. จำนวนผู้สำรวจ 21 คน
3. ชนิดนกที่พบทั้งหมด 116 ชนิด มีนกที่พบใหม่ของกรุงชิง 5 ชนิด ทำให้จำนวนชนิดนกของกรุงชิงเพิ่มเป็น 260 ชนิด
4. ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 102 ชนิด และพบในช่วงบ่าย 61 ชนิด
5. จำนวนนกพบทั้งหมดในช่วงเช้า 405 ตัว และพบในช่วงบ่าย 136 ตัว
6. เฉพาะในเทรลหมายเลข 1 คือตั้งแต่ป้ายทางขึ้นหน่วยถึงสามแยกลานจอดรถ ชนิดนกที่พบทั้งหมดในช่วงเช้า 62 ชนิด 133 ตัวและพบในช่วงบ่าย 23 ชนิด 39 ตัว นกที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับคือ นกปรอดเหลืองหัวจุก นกกินแมลงอกเหลือง และนกแอ่นฟ้าตะโพกเทาและนกแอ่นกินรัง

สรุปผลการสำรวจ
1. ในช่วงเช้ามีโอกาสที่จะพบนกทั้งชนิดและจำนวนมากกว่าในช่วงบ่าย
2. ชนิดนกที่พบทั้งหมด 116 ชนิด น้อยกว่าการสำรวจครั้งที่ 2 (10 พค.51) 12 ชนิด และน้อยกว่าครั้งที่ 1 (28-29 เมย. 50) 23 ชนิด
3. รายชื่อนกกรุงชิงเพิ่มจากการสำรวจครั้งที่ 2 จำนวน 5 ชนิด รวมเป็นทั้งหมด 260 ชนิด ตรวจสอบรายชื่อนกได้ที่นี่

4. นกที่พบบ่อยที่สุดคือนกปรอดเหลืองหัวจุกและนกกินแมลงอกเหลือง


การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ.2551

 



การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในครั้งแรกทำขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2550 การกำหนดวันสำรวจหรือวันนับนก จัดทำขึ้นในช่วงหน้าร้อนที่นักดูนกมักเดินทางลงใต้เพื่อดูนกป่าที่เป็นนกประจำถิ่น อีกนัยหนึ่งก็คือถือเอาวันสะดวกของนักดูนกที่ว่างเว้นจากการดูนกอพยพทางภาคเหนือและภาคกลาง กอปรกับหน้าร้อนเป็นช่วงที่สะดวกในการเดินดูนกที่กรุงชิงเนื่องจากแล้งฝน และนกบางชนิดกำลังจับคู่ร้องเรียกหากันทำให้ระบุตำแหน่งเพื่อหาตัวนกได้ง่าย

วัตถุประสงค์ เพื่อนับชนิดและความถี่ของการพบนกในช่วงเวลา 06.00 น.- 24.00 น. เพื่อเปรียบเทียบผลกับการสำรวจในครั้งก่อน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการดูนกของนักดูนก

วิธีการสำรวจ ได้แบ่งเส้นทางสำรวจออกเป็น 7 เส้นทางตามที่แสดงในรูปที่ 1 แบ่งช่วงเวลาสำรวจออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรกตั้งแต่เวลา 6.00-12.00 น. และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 13.00-24.00 น. แบ่งผู้สำรวจออกเป็นกลุ่มโดยไม่จำกัดจำนวนกลุ่มและจำนวนสมาชิกในกลุ่ม
ให้ผู้สำรวจเลือกเส้นทางสำรวจได้ตามอัธยาศัย และ ให้นับนกทุกครั้งที่เห็นและได้ยินเสียงโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะซ้ำตัวเดิมหรือไม่ ตัวเลขที่นับได้จะแสดงความถี่ของการพบนกไม่ใช่จำนวนนก

ผลการสำรวจพบนก 128 ชนิดจากรายชื่อนกของกรุงชิงทั้งหมด 254 ชนิด นกที่พบบ่อยที่สุดคือนกกินแมลงปีกแดง (Chestnut-winged Babbler) รองลงมาคือ นกแอ่นเล็กหางหนามตะโพกขาว (Silver-rumped Needletail) เมื่อเทียบกับการสำรวจในครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2550 พบว่าชนิดนกที่พบน้อยลงคือในครั้งแรกพบนก 149 ชนิด เป็นจำนวนที่ลดลง 20 ชนิด ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นนกย้ายถิ่นที่อพยพกลับแล้ว เช่น นกคัคคูหงอน (Chestnut-winged Cuckoo) นกเดินดงสีคล้ำ (Eyebrowed thrush) นกแซงแซวปากกา (Crow-billed Drongo) นกจับแมลงสีน้ำตาล (Asian Brown Flycatcher) นกจับแมลงตะโพกเหลือง (Yellow-rumped Flycatcher) นกจับแมลงคิ้วเหลือง (Nacissus Flycatcher) นกเขนน้อยไซบีเรีย (Siberian Blue Robin) และนกกระจิ๊ดขั้วโลกเหนือ (Arctic warbler) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีรายงานชนิดนกกลุ่มนกแอ่นน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้สำรวจไม่มีความชำนาญในการจำแนก เป็นที่น่าสังเกตว่าการสำรวจครั้งนี้ไม่พบนกกลางคืนซึ่งเป็นนกที่พบหรือได้ยินเสียงร้องเป็นประจำที่กรุงชิง คือ นกทึดทือมลายู (Buffy Fish-Owl) นกเค้าป่าสีน้ำตาล (Brown Wood-Owl)และนกปากกบพันธุ์ชวา (Javan Frogmouth) สำหรับนกหว้าในการสำรวจครั้งที่ 1 พบได้ในเส้นทางที่ 7 แต่ครั้งนี้ได้ยินเฉพาะเสียง

การศึกษาผลของช่วงเวลาต่อจำนวนชนิดและความถี่ในการพบนกไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เนื่องจากจำนวนแบบสำรวจที่ได้รับในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน กล่าวคือมีแบบสำรวจในช่วงเวลาเช้า 10 ชุด ช่วงบ่าย 5 ชุด และมีแบบสำรวจที่รวมทั้งเช้าและบ่าย 3 ชุด นอกจากนี้เส้นทางการสำรวจก็แตกต่างกัน มีข้อมูลเพียงชุดเดียวที่ผู้สำรวจทำการบันทึกทั้งในช่วงเช้าและบ่าย โดยทำในจุดสำรวจเดียวกันคือเส้นทางหมายเลข 1, 2 และ 3 พบว่าในช่วงเช้านับนกได้ 55 ชนิดและช่วงบ่าย 26 ชนิด

ในการสำรวจนกครั้งต่อไปควรทำอย่างช้าที่สุดในเดือนเมษายน เพื่อให้ครอบคลุมนกบางชนิดที่กำลังอพยพผ่าน ควรเพิ่มความเข้มข้นในการดูนกกลางคืน และนกที่สังเกตได้ยากเช่นนกแอ่น ควรแบ่งกลุ่มและเส้นทางสำรวจอย่างชัดเจนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ เพื่ออธิบายปรากฏการได้ เช่น ความแตกต่างของการดูนกในช่วงเช้าและบ่าย และความหลากหลายของชนิดนกและความถี่ที่พบในจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นและน่าสนใจสำหรับนักดูนก

การสำรวจนกครั้งนี้ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้โดยปราศจากการสนับสนุนของกลุ่มดูนก go4get.com และความร่วมมือของนักดูนกจากทั่วทุกภาค ขอขอบคุณอาจารย์ชัยรัตน์ นิลนนท์และอาจารย์วีรนุช นิลนนท์ ที่ได้จัดเตรียมภาพสไลด์นกกรุงชิงรวมทั้งของรางวัลสำหรับกิจกรรมในงาน ขอขอบคุณสมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทยที่ส่งสมาชิกเข้าร่วมสำรวจในครังนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณ "พี่ธี" คุณสุธี ศุภรัฐวิกร ประธานชมรม Bird Life Club ที่ได้บริจาคเงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้





การสำรวจประชากรนกกรุงชิงครั้งที่ครั้งที่ 1




ขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง งานนี้ได้ผลเกินคาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนสมาชิกที่ไปร่วมงาน ความสมัครสมานสามัคคี ความรู้ ความบันเทิง ความอิ่มหนำสำราญ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าฝนจะตกทุกวัน ไฟติด ๆ ดับ ๆ แต่เราก็ได้จำนวนนกมากกว่าการบันทึกของกรุงชิงครั้งไหน ๆ ที่เคยมีมา แถมได้นกใหม่เพิ่มอีกหลายตัว

จำนวนนกของแต่ละชนิดชนิดที่นับได้อาจมีการนับซ้ำซ้อน แต่พอจะใช้เป็นตัวชี้วัดความถี่ในการพบบอกได้ว่าถ้าใครไปกรุงชิงมีโอกาสที่จะได้พบชนิดไหนบ่อยหรือไม่บ่อยอย่างไร นกใหม่ของกรุงชิงบางตัว เช่น Sooty-capped Babbler อาจสับสนกับ Moustached Babbler และ Lineated Barbet อาจสับสนกับ Red-throated Barbet แต่ทั้งสองก็มีโอกาสพบได้จึงนำมาใส่ไว้ในรายงาน

โดยสรุปเรานับนกได้ 145 ชนิด เป็นชนิดที่พบใหม่ของกรุงชิง 8 ชนิด คือ Little Cormorant, Lineated Barbet, Narcissus Flycather, Blue-throated Bee-eater, Eyebrowed Thrush, Sooty-capped Babbler, Dusky Warbler และ Olive-backed Woodpecker นกจอกป่าหัวโต (Brown Barbet) เป็นนกที่พบบ่อยที่สุด รองลงมาคือ นกปรอดทอง (Black-headed Bulbul) รวมเป็นรายชื่อนกล่าสุดของกรุงชิง 251 ชนิด

ดูรายชื่อนกได้ที่นี่ครับ
ภาพบรรยากาศ


การทำสำมะโนประชากรนกกรุงชิง ครั้งที่ 1



การทำสำมะโนประชากรนก หรือ bird population census คือการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของนกในเวลาที่กำหนด และทำในช่วงเวลาเดียวกันของทุกๆปี เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประชากร ที่อาจนำไปใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวโลกที่มีผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารของนกและตัวนกในที่สุด

การทำสำมะโนประชากรนิยมทำในช่วงที่คาดว่าจะมีชนิดของนกมากที่สุดของปี คือช่วงที่มีนกอพยพเข้ามาพร้อมกันทุกชนิดเท่าที่เคยมีการบันทึก เช่น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

Krung Ching Census 2007 จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 28-29 เมษายน 2550 ณ หน่วยพิทักอุทยานแห่งชาติ ขล.4 น้ำตกกรุงชิง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และจะกำหนดให้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการทำสำมะโนประชากรนกกรุงชิง เพราะเป็นช่วงที่มีนักดูนกไปเยี่ยมเยียนมากที่สุดของปี โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์

ขอชวนเชิญนักดูนกไปร่วมกันนับนกในวันนั้นด้วยครับ



 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 22 มกราคม 2553
Last Update : 30 สิงหาคม 2555 17:54:29 น. 0 comments
Counter : 2967 Pageviews.

วอมแบ็ท
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add วอมแบ็ท's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.