Group Blog
 
All blogs
 
การทำรังวางไข่ของ Wallae's Hawk Eagle

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นบันทึกการทำรังวางไข่ของของเหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาวที่น้ำตกกรุงชิง ซึ่งถูกนำมาปะติดปะต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 6 ปี

บันทึกการทำรังวางไข่ของเหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาวในเมืองไทยนับว่ายังมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะบางพื้นที่และพบได้ยากหรือค่อนข้างยาก เหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาวยังเป็นเหยี่ยวที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากป่าดิบที่บต่ำซึ่งเป็นถิ่นอาศัยถูกทำลาย (Ferguson-Lees and Christie (2001) Raptors of the world. p 783-784)

เหตุการณ์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเมื่อครั้งที่ผมไปดูนกที่กรุงชิงกับนายแพทย์ทวีวัฒน์ สุพิณธรรม (ปากกว้างหางยาว) และเพื่อน ๆ อีกหลายคน ในระหว่างวันที่ 15-17 เมย.47 หมอทวีวัฒน์บันทึกไว้ที่เว็บ //www.doonokthai.com ว่า
"เหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาว (wallace's Hawk-Eagle) พบกำลังทำรังกกไข่อยู่บนต้นไม้สูงมากเหนือเรือนยอด ต้นไม้ที่เลือกกิ่งค่อนข้างโปร่ง ใช้เศษไม้มากองๆรวมเป็นรัง บางช่วงจะลุกมาพลิกไข่และแต่งขนเป็นระยะ เป็นเหยี่ยวตระกูล Hawk-Eagle ที่เล็กที่สุด แต่หน้าตาท่าทางดูดุดันสมกับเป็นเหยี่ยวตระกูลนี้ บางคนสับสนกับเหยี่ยวดำท้องขาวให้สังเกตแถบที่หางซึ่งจะมีความต่างกัน"



หลังจากนั้นผมก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปที่กรุงชิงบ่อยนัก กอรปกับความสนใจในพฤติกรรมนกนกเหยี่ยวมีน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามความก้าวหน้าของการทำรังในครังนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ผมและหมอวัฒน์ ได้เข้าไปกรุงชิงกันอีก และบังเอิญเป็นช่วงเวลาที่นกส่วนใหญ่ที่กรุงชิงกำลังทำรังวางไข่ ขณะที่เดินไปถึงจุดหลุมขวากซึ่งอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินไปยังน้ำตก"ฝนแสนห่า"ประมาณ 200 เมตร ผมแหงอนมองตามนกที่บินข้ามหัวขึ้นไปยังต้นไม้สูงที่อยู่ทางด้านขวามือของเส้นทางเดิน(เมื่อหันหน้าไปทางบันไดสามขั้น) ซึ่งเป็นไม้ต้นที่เหยี่ยวหงอนสีน้ำตาล ฯ เคยทำรังเมื่อปี 2547 เราพบรังนกขนาดใหญ่ที่ทำด้วยกิ่งไม้แห้ง จึงใช้ตั้งสโคปตั้งในลักษณะแหงนในมุมสูงและมองลักษณะของรังก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นรังเก่าหรือไม่ หรือเป็นรังของเหยี่ยวชนิดใด เพราะไม่เห็นนกในรัง จึงเลิกสนใจ

หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน คือในวันที่ 3 พฤษภาคม 2548
ผม คุณเวทิดา พงษ์พาณิช และคุณธิติ ตันอารีย์ ได้มีโอกาสเข้าไปดูนกที่กรุงชิงกันอีก เมื่อดินไปถึงจุดบันไดสามขั้นเห็นเหยี่ยวบินร่อนอยู่เหนือยอดไม้ที่มีรังเหยี่ยว ใช้กล้องสองตาส่งตามก็พบว่าเป็นเหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาวบินเข้ารังตรงคาคบไม้ เหยี่ยวกำลังคาบเหยื่อ (ดูเหมือนกิ้งก่าตัวเขียว ๆ) เข้าไปในรัง แต่จากตำแหน่งที่ยืนเราไม่สามารถมองเห็นตัวนกในรัง(ทั้งตัวที่ป้อนและลูกนก) ต่อมาอีก 2 วัน ผมกลับไปยังไม้ต้นนั้นอีก คราวนี้เดินขึ้นบันไดสามขั้นไปยังศาลาประตูชัย และพยามยามหาตำแหน่งที่จะสามารถมองไปยังรังของเหยี่ยว ซึ่งเป็นจุดที่หมอวัฒน์ เคยถ่ายรังได้เมื่อปี 2547 จึงได้พบรังในระดับที่เป็นมุมเงยเล็กน้อยและเห็นลูกนกในรัง 1 ตัว เป็นนกตัวสีขาวขนฟู จากขนาดของลูกนกที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้พอเคนย์ได้ว่าลูกนกฟักมาแล้วหลายวัน ซึ่งแม่นกอาจจะเข้าฟักไข่ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน (ใกล้เคียงของกับรังของปี 2547) และพบว่าตำแหน่งรังต่างจากรังของปี 2547 กล่าวคือรังของปี 2547 จะเห็นนกเต็มตัวนอนอยู่ในรังซึ่งเป็นเป็นมุมต่ำระดับสายตาเล็กน้อย แต่รังของปี 2548 มองออกไปเป็นมุมเงยเลยน้อยที่ทำเห็นเฉพาะด้านข้างของนก ผมได้พยายามมองหาร่องรอยของรังเก่าก็ไม่เห็น คาดว่ากิ่งไม้ตรงตำแหน่งของรังคงหักโค่นไปแล้ว






หลังจากนั้นอีก 18 วัน (วันที่ 21 พค. 48)
ผมกลับเข้าไปอีกพบว่าลูกนกโตขึ้นมาก เริ่มมีหงอนและที่ปลายหงอนมีแถบสีขาว ลูกนกหัดกระพือปีกและปีนป่ายขึ้นกิ่งไม้ข้างรัง อาหารที่พ่อแม่นำมาป้อนมีหลากหลายไม่สามารถระบุชนิดรวมทั้นกตัวสีดำ

เหยี่ยวรังนี้ไดรับความสนใจจากผู้ที่ศึกษาพฤติกรรมเหยี่ยวจำนวนมาก เช่นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ได้เข้าไปพักค้างเพื่อศึกษาเป็นวลาหลายวันและได้กล่าวถึงไว้ดังนี้ " วันที่ 29 พค. ลูกเหยี่ยวออกจากรังแล้วล่ะครับ ร่าเริงดี เริ่มตีปีกถี่ขึ้น คงอีกประมาณ (อย่างน้อย) ๑ เดือน ถึงจะบินได้เอง ตอนนี้ก็เป็นลูกแหง่ขอพ่อแม่กินไปอีกนานล่ะครับ ก่อนวันกลับ มีฝนตกหนักอยู่ ยังลุ้นว่ามันจะเป็นอะไรหรือเปล่า ปรากฏว่าเช้ามามันมายืนตากแดด นอกรังอย่างสบาย ๆ" ได้บันทึกภาพและบรรยายไว้ว่า "ในภาพกำลังพักเท้า ช่วงบ่าย พฤติกรรมพักเท้านี้เหมือนลูกเหยี่ยวชิคราที่พึ่งออกจากรังแล้วเหมือนกันเลยล่ะ สังเกตขนคลุมถึงข้อเท้า (Featherd tarsi) ซึ่งเป็นจุดแยกสำคัญอย่างหนึ่งของเหยี่ยวดงในสกุล Spizaetus"




หลังจากนั้นผมได้เข้าไปสังเกตุการณ์อยู่อีกหลายวันและบันทึกไว้ดังนี้

"วันที่ 5 มิย. เวลาประมาณ 8.30 น.เห็นลูกเหยี่ยวกำลังเดินออกจากรัง และขึ้นไปยืนอบู่บนกิ่งหนือรังประมาณ 1 เมตร (เข้าใจยังนอนรังในตอนกลางคืน) เวลาประมาณ 17 น. ไปยืนอยู่อีกกิ่งห่างออกไปเล็กน้อย

วันที่ 11 มิย.48
เห็นลูกนกเกาะอยู่พุ่มไม้ต้นที่ทำรัง มีตัวเต็มวัยเอาเหยื่อไปวางบนรัง ลูกนกเข้ากินเหยื่อ(ดูคล้ายกิ้งก่า)ที่รัง กินแล้วก็เดินออกจากรัง

วันที่ 12 มิย.48
หาไม่เจอว่าลูกนกไปเกาะอยู่กิ่งไหน แต่ได้ยินเสียงร้องมาจากต้นที่ทำรัง

วันที่ 25 มิย.48 ลูกกับตัวเต็มวัย กำลังยืนทึ้งกินเหยื่ออยู่ในรัง กินเสร็จแล้วก็เดินออกจากรังทั้งคู่"

ต่อมาประมาณ 3 เดือน กับอีก 15 วันหลังจากพบรังครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีค. คุณสุรชัย รุ่งคุณากร ได้เข้าไปศึกษาที่รังและรายงานไว้ว่า " เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 ลูกเหยี่ยวตอนนี้บินได้ดีแล้ว และชอบหลบซ่อนตัว มองหายากมาก และไม่มาเกาะที่ต้นรังแล้ว แต่คงยังล่าเหยื่อเองไม่ได้ เพราะเห็นตัวเต็มวัยยังหาเหยื่อมาทิ้งไว้ที่รัง แล้วมันก็บินมาลงที่รังแล้วจิกฉีกกันเอง ล่าสุดวันเสาร์ ตัวเต็มวัยเอาเหยื่อ(กิ้งก่า) มาทิ้งให้ที่รัง สองครั้ง (8.30 -17.30 น.) ถ้าจะหาตัวลูกนกต้องอาศัยฟังเสียงร้อง ซึ่งจะร้องเฉพาะที่ตัวเต็มวัยบินอยู่ใกล้ๆ ลูกนกยังเกาะอยู่ไม่ไกลจากต้นรังมากนัก"

ปีถัดมา (2549).......
ผมเข้าไปดูนกที่กรุงชิงอีกหลายครั้ง และทุกครั้งที่เดินผ่านต้นไม้ที่เหยี่ยวเคยเลี้ยงลูก แต่ก็พบพบแต่รังว่างเปล่า

ปี 2550 .....
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ผมเข้าไปดูนกที่กรุงชิงเป็นครั้งแรกของปีนี้ ขณะเดินผ่านต้นไม้ที่เหยี่ยวทำรังผมได้ยินเสียงลูกเหยี่ยวร้องอยู่บนต้นไม้ จึงหยุดดูตรงบันไดสามขั้นใช้กล้องสองตาส่องไปรังแต่ก็ไม่เห็นลูกนกจึงเฝ้ารอ ไม่นานก็มีนกพ่อหรือแม่นกบินคาบเหยื่อมาที่รัง เห็นลูกนกยืนขึ้นขนฟูขาวไปทั้งตัว นกป้อนเหยื่อให้ลูกแล้วออกจากรัง

วันที่ 2 มิถุนายน อาจารย์ชัยรัตน์ และอาจารย์วีรนุช ถ่ายภาพลูกนกในรังและนกตัวเต็มวัยที่เกาะอยู่เหนือรังไว้ได้



หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดตามผลจนวันที่ 10 กรกฎาคม ผมเข้าไปอีกรอบพบว่าลูกนกออกจากรังได้แล้ว ไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้ ๆ รัง แต่ตอนเย็นยังคงกลับเข้าไปนอนในรัง พยายามถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตัลจ่อกับกล้องสองตา



ปี 2551....
รังของเหยี่ยวหายไปพร้อมกับกิ่งไม้ที่โค่นในฤดูฝนของปี 2550

ป๊ 2552...
คุณณรงค์ ศิริคำ ถ่ายภาพเหยี่ยวสองตัวไว้ได้ที่ไม้ต้นเดิมเมื่อวันที่ 3 มกราคม (ต่อมาเมื่อพบรังในเดือนมีนาคม จึงรู้ว่าเป็นภาพที่เหยี่ยวกับรังจับคู่สร้างรัง)





และต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม คุณณรงค์ ก็ถ่ายรูปเหยี่ยวนอนอยู่ในรังที่สร้างขึ้นมาใหม่ในปีนี้




Create Date : 01 เมษายน 2552
Last Update : 2 เมษายน 2552 17:40:21 น. 0 comments
Counter : 6467 Pageviews.

วอมแบ็ท
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add วอมแบ็ท's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.