kruaun
Location :
สุรินทร์ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




“อาจารย์ของพระอรหันต์ ยังไม่จำเป็นต้องเป็นพระอรหันต์เลย ดังนั้น อย่ากังวลเลย หากเราคิดว่าเราเก่งไม่พอที่สร้างลูกศิษย์เก่งๆ ขอเพียงแต่เรามีกระบวนการพัฒนา ส่งเสริม และให้โอกาสเขาอย่างเหมาะสม และถูกวิธี ให้เขาเติบโตเต็มศักยภาพที่ดี”---รศ. ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากหนังสือแด่เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต

****************************

No one can make you feel inferior without your consent. by Eleanor Roosevelt.

ไม่มีใครสามารถทำให้คุณรู้สึกต้อยต่ำได้...
ถ้าคุณไม่ยินยอม (เอลานอร์ รูสเวลต์)

**************************

ครูอั๋น สอนคณิตศาสตร์ จังหวัดสุรินทร์
--------------------------------

"ชีวิตนี้ลูกยกให้พวกเขา...แต่ชีวิตหน้าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาและพวกมันทำไว้กับลูก ลูกขอเอาคืน!"
---วรดา/ด้วยแรงอธิษฐาน/กิ่งฉัตร

รู้นะว่าถ้าเอาความแค้นนำทางมันไม่ดี...
แต่บางทีถ้าตั้งใจว่าจะต้องดีกว่า ดีกว่า...
มันก็เหมือนเป็นแรงขับให้เราก้าวหน้าได้เช่นกัน

แค่ตั้งใจทำดีก็แล้วกัน

+++++++++++++++++++++++++++++

มีคนเคยถามว่า "ทำไมมาเป็นครู"
คำตอบที่ผมภูมิใจและตอบได้อย่างเต็มปากที่สุด คือ
"ผมอยากเป็นครู เลยเลือกมาเป็นครู"


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"เจ้าเป็นคนพูดเองนะว่า อำนาจมันมาแล้วมันก็ไป แล้วเจ้ายังจะแสวงหามันทำไมเล่า"
---เศกขรเทวี เพลิงพระนาง

๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗

สัจธรรมง่ายๆ ที่ใครๆ ก็พากันทำไม่ได้

ถ้าอยากมีชีวิตที่เลวลงอย่างคิดไม่ถึง
คุณแค่หมั่นทำเลวที่ไม่เคยแม้จะอยู่ใรความคิด

หากปรารถนาชีวิตที่ดีขึ้นอย่างคิดไม่ถึง
คุณต้องทำดีมากกว่าที่คิดว่าตัวเองจะทำได้

มีชีวิตที่คิดไม่ถึง/ดังตฤณ
----------------เริ่มนับ 30 เม.ย.53----------------- free counters ===== Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Thailand License.
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kruaun's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 

เจ้าชู้ประตูดิน

เคยได้ยินไหมครับว่าผู้ใหญ่หรือในละครย้อนยุค
เวลาเขาจะว่าผู้ชายที่เจ้าชู้เขาจะไม่พูดว่า เจ้าชู้เฉยๆ
แต่มักจะพูดว่า "เจ้าชู้ประตูดิน"

แล้วทำไมต้องเจ้าชู้ประตูดินด้วย ประตูอื่นไม่ได้หรือ

วันหนึ่งขณะนั่งดูละครเรื่องสี่แผ่นดิน หรือเรื่องอะไรก็ไม่แน่ใจ
ได้เห็นนางเองซึ่งเป็นสาวชาววังออกจากฝ่ายใน ทาง "ประตูดิน"
แล้วพระเอกของเรื่องก็มาดักรอดูอยู่

ถึงได้ถึงบางอ้อว่า อ๋อ...เจ้าชู้ประตูตินมาจากประตูดินนี้เอง

แล้วประตูดินนี้คืออะไร


ประตูดิน หรือ ประตูศรีสุดาวงศ์ เป็นประตูที่เป็นทางเข้าออกสำหรับฝ่ายใน กับโลกภายนอก อยู่ถัดจากประตูช่องกุดเข้าไป
เหตุที่เรียกว่าประตูดินเพราะว่ามีจอมปลวกอยู่ตรงประตู
เป็นประตูที่เหล่่าสาวชาววังใช้สำหรับเข้าออกจากฝ่ายในนั่นเอง
ดังนั้น หากชายใดต้องการเห็นสาววังผู้งามหมดจด
ก็ต้องมาดักเฝ้ารอที่หน้าประตูนี้ครับ


จะไปหาเอาแถว Center Point คงไม่ได้นะครับ
เห็นหน้าแล้วก็ต้องสืบอีกว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร
ไม่ได้เห็นหน้ากันแล้วก็ขอเบอร์ได้เลยเหมือนทุกวันนี้
(นอกเรื่องแล้ว...)

พอเห็นบางครั้งตามประสาหนุ่มก็คงจะเข้าไปเกี้ยวพาราสี
จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "เจ้าชู้ประตูดิน"
ก็ไปทำเจ้าชู้ (กับสาวชาววัง) ที่หน้าประตูดินนี่เอง

ครับ...วัยรุ่นสมัยนี้คงจะว่ามัวแต่รอหน้าประตูดินคงทันกินแล้วมั้งครับ
สมัยนี้คงต้อง "เจ้าชู้มือถือ"
หรือ...อะไรดีหนอคิดไม่ออก...


เอาเป็นว่านี่คือที่มาของสำนวนนี้ครับ

อ้อ...อีกนิดครับ
ในภาษาลาว...เพื่อนบ้านเรา
คำว่าเจ้าชู้หมายถึง "หล่อ" นะครับ
ใครที่ชื่นชอบหนัง สะบายดี หลวงพระบาง" (ที่มีหลวงพระบางนิดเดียว) คงจะทราบ

ผมเองเคยไปหลวงพระบางมาครั้งหนึ่ง
นักเรียนลาวเขาเห็นผมก็แอบกระซิบกันแต่ผมได้ยินว่า
"เจ้าชู้เนาะ" (ออกสำเนียงลาวด้วยนะครับ...)
555+


แต่ว่าตอนนี้มีผู้ชายสองคน คือ ผม กับพี่ที่ไปด้วยกัน
ไม่รู้ว่าตกลงชมใครกันแน่

หัวมังกุท้ายมังกรซะง้านครับ

สวัสดีครับ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2552 4:03:59 น.
Counter : 1554 Pageviews.  

โคลง ฉันท์ ร่าย กาพย์ กลอน

โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย


ข้อแตกต่างของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย

โคลง คำประพันธ์ที่บังคับจำนวนคำในวรรคสัมผัส และบังคับเอกโท
ฉันท์ คำประพันธ์ที่บังคับจำนวนคำ และบังคับคำหนักเบา หรือคำครุลหุ
กาพย์ คำประพันชนิดหนึ่ง (ช่วยได้มากเลยครับ)
กลอน คำประพันธ์ ซึ่งแต่เติมเรียกคำเรียงที่มีสัมผัสทั่วไปทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือร่าย ครั้นเรียกคำประพันธ์เฉพาะอย่างเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ ร่ายแล้ว คำประพันธ์นอกนี้อีกอย่างหนึ่งจึงเรียกว่ากลอน เป็นลำนำสำหรับขับร้องบ้าง เป็นเพลงสำหรับอ่านบ้าง
ลำนำ บทกลอนที่ใช้ขับร้อง
ร่าย คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่ง (ช่วยได้เยอะ) พออ่านรายละเอียดต่อไปจะช่วยได้ โดยปกติจะไม่บังคับจำนวนวรรค ส่วนจำนวนคำจะอยู่ที่ประมาณ ๕ คำ มีสัมผัส ร่ายที่เราคุ้นเคยที่ลิลิตเตลงพ่าย คือ ร่ายสุภาพ ส่งสัมผัสจากคำสุดท้ายของวรรคหน้า ไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคถัดไป และต้องปิดท้ายด้วยโคลง ๒ สุภาพครับ
ลิลิต คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งที่ใช้โคลงและร่ายต่อสัมผัสกันเป็นเรื่องยาว
อย่ายึดเป็นสรณะนะครับ... อันนี้ผมตั้งข้อสังเกต และสรุปจากความเข้าใจของผม ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนะครับ... ที่สำคัญ บางอย่างผมใส่ความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วยครับ



เก็บความจาก
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2552    
Last Update : 3 มิถุนายน 2552 5:39:57 น.
Counter : 39725 Pageviews.  

จัตวาฑัณที

จัตวาทัณฑี




สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ภาษาไทยเป็นวิชาที่ผมค่อนข้างโปรดปรานรองจากคณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ จำได้ว่าได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัย (โทมนัส) มาก ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอน (ไม่แน่ใจว่าโคลงหรือฉันท์) สั่งลาไปยังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอฯ และน่าจะทรงกรม ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ) ว่าทรงหมดอาลัยในพระชนมชีพและหยุดเสวยพระโอสถ


จากนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ตอบกลับมา ทำให้ทรงกลับมาเสวยพระโอสถ และทรงงาน ทำให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตการณ์นั้นมาได้


ตอน ม.ปลาย ทราบแต่เพียงเท่านั้น


สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ


เมื่อต้นปี ๒๕๕๑ ได้งานหนังสือเรื่อง ในกำแพงแก้ว ของอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ในเรื่อง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ได้ความว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชนิพนธ์สั่งลาไปยังเจ้าพี่เจ้าน้อง และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ก็ทรงได้รับด้วย แล้ว จึงทรงพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพสามบทขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ดังนี้






          สรวมชีพข้าบาทผู้                  ภักดี
        
พระราชเทวีทรง                             สฤษดิ์ให้
        
สุขุมาลมารศรี                                เสนอยศ นี้นา
        
ขอกราบทูลท่านไท้                          ธิราชเจ้าจอมสยาม


          ประชวรนานหนักอกข้า            ทั้งหลาย ยิ่งแล
        
ทุกทิวาวันบ่วาย                             คิดแก้
        
สิ่งใดซึ่งจักมลาย                             พระโรค เร็วแฮ
        
สุดยากเท่าใจแม้                             มาทด้วยควรแสวง


          หนักแรงกายเจ็บเพี้ยง             เท่าใด ก็ดี
        
ยังบ่หย่อนหฤทัย                            สักน้อย
        
แม้พระจะด่วนไกล                           ข้าบาท ปวงแฮ
        
อกจะพองหนองย้อย                        ทั่วหน้าสนมนาง


บางคนอ่านแล้วก็ผ่านไป ไม่รู้สึกอะไร นอกจากว่าทรงพรรณนาได้อย่างไพเราะน่าฟัง ซึ่งผมก็เห็นด้วย


แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตคือโคลงบทแรก บาทที่ ๒ ถ้าเป็นโคลงสี่สุภาพ คำว่า ทรง ก็ควรจะไปคล้องกับคำว่า ดี ในบาทที่ ๑ ใช่ไหมครับ (ลองกลับไปดูแล้วเทียบกับบทอื่นๆ)


จริงใช่ไหมครับ สมัยเรียนมัธยมก็ถูกสอนมาแบบนั้น


เอ...ผมก็สงสัยว่า ทำไปสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงพระนิพนธ์เช่นนั้น มีข้อยกเว้นอะไรหรือสำหรับโคลงสี่สุภาพ หรือว่ามีโคลงสี่ชนิดอื่นอีกที่ไม่เคยเรียนในสมัยมัธยม


ผมเก็บคำถามไว้ในใจมาเกือบครึ่งปี ด้วยความที่ไม่ได้ไปถามครูภาษาไทยท่านอื่นๆ


อยู่มาคืนหนึ่ง ระหว่างที่กำลังเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ เล่นอยู่ เปิดดูคำโน้นที คำนี้ที คิดคำไหนได้ก็เปิดดู (รวมถึงคำว่า ปิตุจฉา กับ มาตุจฉา ด้วย --- ไว้เล่าคราวหลัง) ก็ได้เปิดไปหน้า ๒๙๙ ตรงคำว่า จัตวา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าแปลว่า ๔ หรือที่ ๔ เห็นๆ หรือรูปวรรณยุกต์หนึ่ง ( ๋) อ่านมาเรื่อยๆ พบคำย่อยในคำว่าจัตวา ว่า จัตวาทัณฑี เขาพรรณนาไว้ดังนี้


จัตวาทัณฑี น. ชื่อโคลง ๔ ชนิดหนึ่ง ซึ่งบาท ๒ ใช้พยางค์ที่ ๔ สัมผัส เช่น


                        ท้าวไทยนฤเทศข้า         ขับหนี
                
ลูกราชสีพีกลัว                           ไพร่ฟ้า
                    พลเมืองบดูดี                             ดาลเดียด
                   
กระเหลียดลับลี้หน้า                   อยู่สร้างแสวงบุญ.
         
                                                            (ชุมนุมดำราคำกลอน)


ก็เลยได้มาอ๋อ! ตรงนี้เองว่าจริงๆ แล้วโคลงสี่ที่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงพระนิพนธ์นั้น บทแรกเรียกว่า จัตวาทัณฑี นี่เอง ไม่ใช่โคลงสี่สุภาพเหมือนกับอีก ๒ บทที่เหลือครับ.


เพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ...


ในหน้า ๕๑๙ ของพจนานุกรมฯ กล่าวถึง ทัณฑีบท ไว้ว่า


          ทัณฑีบท [ทันทีบด] น. โคลงโบราณชนิดหนึ่ง (ชุมนุมดำราคำกลอน).


และนอกจากโคลงสี่ ที่มีโคลงสี่สุภาพ จัตวาทัณฑี แล้ว ยังมีโคลงสอง โคลงสามด้วยนะครับ (ถ้าจำไม่พลาด)



-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

เก็บความจาก 


ธงทอง  จันทรางศุ.  (2550).  ในกำแพงแก้ว.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค.
ไฟน์สโตน, เจฟฟรี่ย์.  (2543).  สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4).  กรุงเทพฯ: โลมาโฮลดิ้ง
ราชบัณฑิตยสถาน.  (2546).  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.









 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2553 23:21:42 น.
Counter : 1287 Pageviews.  

1  2  3  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.