การศึกษาคืออนาคตของชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
วัฒนธรรมรักการอ่าน

บทความนี้เป็นบทความแรก ก่อนที่จะมีการแนะนำหนังสือที่ผมได้เคยอ่านแล้วประทับใจ เป็นบทความมาจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการอ่าน และพัฒนาวัฒนธรรมรักการอ่านแก่ตัวเราและคนรอบข้างด้วย และนี้คือบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมรักการอ่าน ที่ผมนำมาจากเว็ปของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครับ
.............
วัฒนธรรมการอ่าน บริษัทผลิตสื่อระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง จ้างให้สำรวจสิ่งที่เด็กและวัยรุ่น ในเอเซียชอบหรือไม่ชอบในนครใหญ่ 29 นครใน 14 ประเทศของเอเชีย-แปซิฟิกพบว่าวัยรุ่นของ กรุงเทพฯ นั้นมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสื่อทีเดียว ชอบเล่นอินเตอร์เน็ต, ชอบมีมือถือ, ชอบดูทีวี, ชอบฟัง วิทยุ, ชอบดูกีฬา, ชอบอ่านการ์ตูน, ชอบเล่นเกมทางจอ, ชอบงานศิลปะ ส่วนใหญ่ชอบใช้เวลาอยู่คน เดียวมากกว่าสุงสิงกับใคร

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต วัยรุ่นกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการศึกษา และคะแนน สอบคือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตแต่เขากลับอ่านหนังสือน้อยมาก แม้แต่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ก็อ่านน้อยมาก



ข้อนี้ตรงกับการสำรวจของยูเนสโกซึ่งพบว่า คนไทยบริโภคกระดาษเพียง 13.1 ตันต่อปีต่อ 1,000 คนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนสิงคโปร์หรือฮ่องกงแล้ว พวกนั้นว่าเข้าไปถึง 98 ตันต่อปีต่อ 1,000 คนก็รู้ๆ กันอยู่นะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบคนในสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคม (โดยเฉพาะ นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คนไทยอ่านหนังสือน้อย แม้แต่ในหมู่วัยรุ่นที่ให้ความสำคัญแก่ การศึกษาไว้สูงสุดก็ตาม อย่างไรก็ตาม เราอาจเถียงว่า ไม่ควรติดอยู่แค่รูปแบบของสื่อที่ส่งสารถึง ผู้รับ วัยรุ่นไทยอาจไม่ได้อ่านหนังสือมาก แต่เขาก็รับสารจากแหล่งอื่นๆ เช่น อินเตอร์เน็ต, การ์ตูน, หนัง, ทีวี และการสนทนากันในร้านไก่ทอดก็ได้

ก็จริงหรอกครับที่สื่อในรูปแบบอะไรก็สามารถส่งสารได้ทั้งนั้น แต่สื่อแต่ละชนิดนั้นมีข้อจำกัด หรือไวยากรณ์ในตัวของมันเอง มันจึงสามารถสื่อสารบางชนิดได้ดี และบางชนิดได้ไม่ดีหรือ ไม่ได้เอาเลย

ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งของสื่อสองอย่างคือ ระหว่างข้อเขียนกับคำสนทนาเวลาเราคุยกัน มีการสื่อความหมายที่ไม่ใช้คำพูดมากมาย อาจจะเกินครึ่งของสารที่สื่อกันก็ได้ เช่น "สบายดีหรือ" ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แต่ความหมายที่แท้จริงที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นคำพูด ก็คือ "ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังปกติราบรื่นดีนะ ไม่ห่างขึ้นและไม่ชิดขึ้นทั้งสองอย่าง ฉันจึง ใคร่แสดงระดับความสัมพันธ์เดิมระหว่างเราไว้ให้ปรากฏแก่เธอ"

นอกจากนี้ เพราะต่างรู้จักกันจึงเว้นสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วเอาไว้โดยไม่ต้องอ้างถึงเป็น คำพูดได้อีกมากมาย ไม่รู้เรื่องก็ซักถามเพิ่มเติมได้ ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ใช้ไม่ได้เลยในข้อเขียน ซึ่งส่งสารไปโดยไม่รู้ว่าอ้ายหมอไหนที่จะเป็นคนรับสาร จะต้องคิดเรียงลำดับความให้เข้าใจได้ เพราะหมอนั่นถามผู้เขียนเพิ่มเติมไม่ได้ ถ้าอยาก สร้างอารมณ์ก็ตีหน้าบูดเบี้ยวไม่ได้ต้องเลือกใช้คำและความอย่างไรให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วม จะต้องแสดงเหตุผลหรือลำดับความคิดที่ผู้อ่านติดตามได้ และเห็นคล้อยตามได้ ฯลฯ สารที่จะ ส่งผ่านข้อเขียนกับที่จะส่งผ่านการคุยกันจึงต่างกันอย่างมาก เพราะตัวสื่อบังคับให้ต่าง

ตัวอย่างที่ผมยกนี้สุดโต่งเกินไปนะครับ เพราะในชีวิตจริงเรามีข้อเขียนที่มีลักษณะเป็นการ สนทนาอยู่มากมาย เช่น จดหมายส่วนตัว เป็นต้น แต่ผมคิดว่าสื่อข้อเขียน ถ้าใช้มันไปจนสุด ความสามารถของมันแล้ว มันนำสารที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ซึ่งสื่อชนิดอื่นไม่สามารถ ส่งผ่านได้ เช่น สื่อข้อเขียนย่อมแสดงตรรกะได้ชัดเจนที่สุด และซับซ้อนที่สุด เหตุดังนั้น สื่อข้อเขียนจึงสามารถนำไปสู่ความคิดทางนามธรรมซับซ้อนได้มาก เช่น เป็นความคิดที่ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล, ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้รับสาร และไม่เกี่ยวกับกรณีเฉพาะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ การรับสารจากสื่อข้อเขียนจึงต้องใช้จินตนาการให้กว้าง ขึ้น เดี๋ยวต้องลองนึกจากมุมนี้ เดี๋ยวก็ต้องลองนึกจากมุมโน้น ไม่หยุดนิ่งอยู่ที่บุคคลใดหรือ มุมใดมุมหนึ่งเพียงจุดเดียว

เขาเรียกการรับสารอย่างนี้ว่าการอ่านครับ อ่านในภาษาไทยนั้นแปลว่าถอดรหัสที่เป็นตัวยึกยือ ออกมาเป็นภาษาก็ได้ และแปลว่าตีความจนเข้าถึงแก่นของความหมายก็ได้ (เช่น อ่านเกมออก) สารที่ได้มาจากการอ่าน และสารที่ได้จากการฟังจึงไม่เหมือนกันครับ

ในแง่นี้แหละครับที่ผมออกจะสงสัยว่า การอ่านนั้นไม่ได้มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิมแล้ว ผมไม่ได้หมายความถึงการถอดรหัสยึกยือซึ่งว่ากันว่าพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นนะครับ อันนั้นคนไทยอ่านออกมานมนานเต็มทีแล้ว แต่ผมหมายถึงการอ่านแบบตีความจนเข้าถึง แก่นของความหมาย หรือการพัฒนาสื่อตัวหนังสือไปจนถึงสุดแดนความสามารถของมัน ก็อาจยังไม่ได้ทำในวัฒนธรรมไทย

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แต่เราก็มีงานเขียนมาเก่าแก่แล้วจะอ่านหนังสือไม่แตกได้อย่างไร ขอให้สังเกตเถิดครับว่า งานเขียนโบราณของเราจำนวนมากนั้นมีไว้อ่านดังๆ เช่น ใช้ขับ หรือใช้สวดหรือใช้ประกอบบทนาฏศิลป์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีไว้ฟังครับ ไม่ได้มีไว้อ่าน เนื้อความจึงมีลักษณะเป็นการ "เล่า" ไม่ใช่การวิเคราะห์หรือการเสนอความคิดนามธรรมที่ สลับซับซ้อน

ในวรรณกรรมโบราณของไทยนั้น ถ้าไม่ "เล่า" ก็จะเล่นเสียงสัมผัสสระสัมผัสอักษรกันนัวเนีย ซึ่งจะได้รสชาติก็ต้อง "ฟัง" ไม่ใช่ "อ่าน" แม้แต่ภาษาความเรียงรุ่นแรกๆ ก็ยังเป็นการ "เล่า" มากกว่าฟังอยู่นั่นเอง เช่น ที่เราอาจพบในพระราชพงศาวดาร, ตำนานและสามก๊ก เป็นต้น ล้วน "เล่า" ทั้งนั้น(จนถึงทุกวันนี้ หนังสือไทยที่ขายดีๆ ก็ยังพยายามลอกเลียนสื่อประเภทฟัง เช่น ทำข้อเขียนให้เหมือนมีคนมานั่งคุยกับผู้อ่าน เป็นต้น)

ข้อนี้ ไม่ใช่จุดด้อยในวรรณกรรมไทยหรอกนะครับ วรรณกรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งฝรั่ง ก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน จนเข้ามาถึงยุคใหม่แล้ว วรรณกรรมตัวเขียนจึงสร้างกันขึ้น เพื่ออ่านมากกว่าฟัง ผมคิดว่า เป็นไปได้ที่ส่วนใหญ่ของคนไทยก็ยังอยู่ในวัฒนธรรม การฟังมากกว่าการอ่าน และที่คนไทยอ่าน หนังสือน้อยก็เพราะเราไม่คุ้นกับการรับสารผ่าน สื่อประเภทนี้นั่นเอง

ตามการสำรวจเขาบอกว่า แม้แต่อินเตอร์เน็ตที่วัยรุ่นไทยชอบท่องเล่นนั้น ก็นิยมเข้าไป ในห้องสนทนาเพื่อคุยกับสมาชิกที่ไม่เคยเห็นหน้าในห้องนั้นมากกว่าอย่างอื่น... ตกเป็นอันรับสื่อผ่านการพูดคุยหรือ "ฟัง" นั่นเอง

สังคมในเอเชียที่มีสถิติการอ่านสูง ล้วนเป็นสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมจีนทั้งนั้น เพราะ จีนเป็นวัฒนธรรมที่มีประเพณีการอ่านมาแข็งแกร่งยาวนานที่สุดผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่า การรับข้อมูลจากการอ่านนี้เหนือกว่ารับผ่านสื่ออื่นๆ สื่อทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง ตลาดซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่สำคัญในสมัยหนึ่งนั้นทำให้คนได้ข่าวสารข้อมูล กว้างขวางมาก รวมทั้งได้ท่าทีและความเห็นที่พึงมีต่อข่าวมาพร้อมเสร็จสรรพ

เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยทุกวันนี้เป๊ะเลย แต่ข่าวและความเห็นนั้นก็มีมาหลายกระแส บางเรื่อง ก็ต้องซุบซิบเล่ากันซึ่งยิ่งทำให้น่าเชื่อถือ คนแต่ก่อนจึงอาจมีความเป็นอิสระในการเลือกรับข่าว ดีกว่าคนปัจจุบันที่ได้ดูแต่ทีวีช่องรัฐบาลก็เป็นได้

ข่าวสารข้อมูลที่ได้จากการฟังก็ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ เพียงแต่เมื่อเป็นสื่อประเภทเดียว ก็ทำให้จำกัดประเภทของข่าวสารไปด้วยในตัวอย่างที่บอกแล้ว ฉะนั้น ข่าวสารที่ได้จาก การอ่านจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์แน่ๆ แต่จะให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เพียงยั่วยุกันให้ เข้มข้นขึ้นคงไม่สำเร็จ เพราะคนไม่อ่านหนังสือก็เพราะไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมาก่อน จะทำให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้นจึงต้องคิดไปถึงการเปลี่ยนกระบวนการรับข่าวสารในวัฒนธรรมไทยด้วย

เช่น เปลี่ยนจากคำอธิบายบนกระดานดำเป็นบทต่างๆ ในหนังสือแทน เป็นต้น หนังสือไม่ใช่ อ่านประกอบ แต่กระดานดำต่างหากที่เป็นตัวประกอบ




Create Date : 03 กรกฎาคม 2550
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 11:53:23 น. 2 comments
Counter : 484 Pageviews.

 
เป็นบทความที่น่าสนใจดีค่ะ

อยากรู้จังว่า ไอ้ปีละกี่บรรทัดเนี่ย เค้านับอันไหนบ้าง ถึงจะถือว่าอ่าน

แล้วบทความที่เหมือนผู้เขียนคุยให้เราฟังนี้ เรียกว่าเรากำลังอ่านหรือฟัง


โดย: โปรดทำให้ฉันหยุดหัวเราะ วันที่: 4 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:17:09 น.  

 
เป็นบทความที่ดีครับ จะมาติดตามตอนต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ


โดย: Zhivago วันที่: 5 กรกฎาคม 2550 เวลา:4:27:17 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kreang52
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แล้วสิ่งนี้ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน
Friends' blogs
[Add kreang52's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.