Mind and Sword in Accord

คุโรซาว่า และ การดวลดาบครั้งแรกของฉัน



After the Rain (Ame Agaru 1998)

-----------------------------------------------------------
>**หมายเหตุ** ความจริงเรื่องนี้เขียนนานแล้ว แต่โพสต์ไว้บล๊อกภาษาอังกฤษอันเก่าแก่-----------------------------------------------------------
เมื่อคืนวานนี้เพิ่งดูหนังเรื่องนี้จบ เซนเซให้ยืมมาดู บอกว่าดีกว่า Last Samurai มาก แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่ายังไง ให้เรามาคิดเอง พอมาดูแล้วก็ชอบจริง ๆ ด้วย มันคนละอารมณ์กับ Last Samurai นะ คงเพราะเป็นคนญี่ปุ่นทำนั่นเอง และไม่ใช่คนญี่ปุ่นธรรมดา ๆ เสียด้วย แต่เป็นถึงระดับ Kurosawa เป็นคนเขียนบท และมือขวาของเขาเป็นคนกำกับ หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายที่ Kurosawa เขียนบทก่อนจากไป

ที่ว่าหนังดีนั้น เอาในแง่ทั่วไปก่อนก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่าเรียนดาบซามูไรแล้วก็จะจ้องดูแต่เรื่องกระบวนท่า เพลงดาบ วิทยายุทธ อะไรไปนั่น จริง ๆ แล้วเรื่องนี้สอนเรื่องจิตใจของมนุษย์นะ สอนว่าซามูไรที่แท้จริงแล้วต้องเป็นอย่างไรต่างหาก เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างพระเอกนี่แหละ นั่นก็คือ มีชีวิตเรียบง่าย สมถะมากที่สุด มีจิตใจดี ไม่เสแสร้ง ไม่เก๊ก มีความเมตตา มีความอ่อนโยนต่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า เป็นทุกข์กว่าเขา จนทุกคนสัมผัสได้ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นสุภาพบุรุษอย่างแท้จริง ว่างั้น เป็นแบบ unpretentious ด้วย คือ ไม่ได้หวังผลตอบแทน ไม่ได้มีความหวังที่ยิ่งใหญ่อะไร เพราะชีวิตเขาเรียบง่ายจริง ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ มุ่งฝึกพัฒนาจิตใจตน อีกทั้งยังเป็นสามีที่ดี มีความเอื้ออาทรห่วงใย ดูแล เกรงใจ ให้เกียรติภรรยา อะไรจะเป็นคนเพอร์เฝ็คท์ขนาดนั้น ในโลกนี้ยังมีคนดีอย่างนี้อีกหรือ

แน่นอน ระดับ Kurosawa แล้ว จึงสามารถเขียนบทสอดแทรกจุดด้อยของมนุษย์แต่ละคนลงไปได้อย่างกลมกลืน อย่างในเรื่องนี้จะเรียกว่าพระเอกเป็นคนดีเกินไปก็ได้ ขี้เกรงใจเกินไปก็ได้ หรือว่าโชคชะตาไม่ค่อยเข้าข้างก็ได้ ฝนฟ้าไม่เป็นใจ แดดออกเร็วเกินไปไม่เป็นใจก็ได้ แล้วแต่จะมอง แถมยังขมวดปมจบดื้อ ๆ แบบไม่จำเป็นต้องตอบข้อสงสัยทุกข้อที่ค้างอยู่ในใจคนดูอีกด้วย เท่มาก Kurosawa เท่จริง ๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจพระเอก กับนางเอกได้เป็นอย่างดี คือเขามีความสุขของเขาอย่างนั้นอยู่แล้วน่ะ การขมวดปมจบอย่างนั้น ถ้าคนดูตั้งสติดี ๆ ก็จะรู้ตัวเหมือนกันนะว่า ตัวเองกำลังใช้มาตรฐานของตัวเอง (ซึ่งถ้ายอมรับความจริงแล้วจะพบว่ามันไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป หรือดีเสมอไป) ไปคาดหวัง หรือตัดสินให้กับชีวิตคนอื่น ซึ่งในที่นี้ คือชีวิตพระเอก



แต่ความจริงพระเอก หรือ Kurosawa กำลังสอนเราต่างหากว่า สิ่งที่สำคัญที่แท้จริงที่สุดของชีวิต อาจหาใช่เงินทอง ลาภยศ ชื่อเสียง ตำแหน่งใหญ่โต อะไรไม่ หากคือ ความสุขเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างสมดุลย์ ความสุขสงบทางจิตวิญญาณ ความปลอดโปร่งของจิตใจที่อิสระ ที่ถูกปลดปล่อยจากพันธนาการของกิเลสตัณหาทั้งมวล คือความกล้าหาญที่จะก้าวเดินออกไปเผชิญโลกกว้างข้างหน้าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว โดยไม่พะวงเหลียวหลังกลับมา นั่นแหละ คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะทำให้ได้ ครั้งหนึ่งชีวิต


นั่น ยกให้ Kurosawa คนนึง เท่เสียไม่มี นี่ยังไม่นับฉากที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับดาบเลยนะนี่ เพราะว่าในฐานะคนที่เรียนการใช้ดาบซามูไรมาได้ปีนึงพอดีเลยนี่ ข้าพเจ้าดูด้วยความตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะฉากที่พระเอกไปประลองฝีมือเพื่อทดสอบว่ามีคุณสมบัติสมควรได้เป็นอาจารย์ดาบของเจ้าแคว้นหรือเปล่านั้น ต้องแอบถอยหลังไปดูถึงสองสามรอบ เพราะรู้สึกว่าคล้ายที่เซนเซสอนมาก ๆ และอาจเจอกับตัวเองในอนาคตตอนเรียน พระเอกเล่นได้เนียนมาก วันนี้ตอนเรียนเสร็จก็เลยถามเซนเซว่า พระเอกเป็นนักดาบจริง ๆ หรือเปล่า เซนเซบอกว่า จริง ๆ แล้วเป็นนักแสดง แต่ Kurosawa บอกว่า ถ้าอยากเล่นเรื่องนี้ ให้ไปหัดดาบมาก่อน สองปี เขาก็ยอม เพราะเขาสนใจอยู่แล้ว โห...สุดยอด นักแสดงญี่ปุ่น อย่างนี้สิถึงเรียกว่า ทุ่มสุดตัว มิน่า ฉากประลองนี้สิ่งแรกที่เราสะดุดตาคือ พลังจากสายตาเขาเลย ถ้าเขาสามารถส่งพลังออกมานอกจอได้ขนาดนี้น่ะ เราว่าไม่ธรรมดา

ทำให้เรานึกถึงที่เคยอ่านเรื่อง มูซาชิ เพราะสายตาเขาประมาณนั้นจริง ๆ หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่นมุมกล้อง หรือ ใช้เสียงเร้าใจอะไรช่วยแบบฮอลลีวู้ดเลย ถ่ายดิบ ๆ นี่แหละ เหมือนสุด เพราะฉะนั้น สายตาที่มีพลังแรง แวววาว ดุดันมาก ๆ นี่ มันส่งออกมาได้จริง ๆ นะ เราเข้าใจเลยว่า ที่มูซาชิฝึกนั้น มันออกมาได้ผลจริง ๆ ยังไง ไม่ต้องอะไรเลย ขนาดเซนเซเรา “จิก” สายตาตอนถ่ายรูปให้สัมภาษณ์ลง จีเอ็ม ตอนนั้นน่ะ ยังทำเพื่อนเราที่ไม่รู้จักบอกว่าเห็นแล้วกลัวแทบแย่เลย

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวตัวตั้งแต่ยังไม่ออกดาบของพระเอกนี้ก็ธรรมชาติมาก รู้เลยว่าฝึกมาเองดี ไม่ต้องมีสตั๊นท์ เห็นแล้วนึกถึงที่เซนเซสอน เรื่องการเคลื่อนไหวจากท้อง เกี่ยวกับกำลังภายในแบบญี่ปุ่นน่ะ แต่ไม่สามารถเขียนอธิบายยาวในนี้ได้ เพราะเป็นความลับของสำนัก แหะ ๆ ก็เลยรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาว่า ฮึ้ย ๆ เขาทำอย่างที่เซนเซสอนด้วย แล้วดูวิธีที่เขาพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ดาบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ชักดาบ ถ้าไม่จำเป็น ว่างั้น ก็ยิ่งตรงกับนโยบาย เอ๊ย แนวคิดของสำนักเราอีกด้วย ก็เลยทำให้สงสัยว่า เอ๊...ตกลงซามูไรญี่ปุ่นนี้เหมือนกันทุกสำนักเลยหรือเปล่าหนอ ว่าแล้วเดี๋ยวต้องจดลิสต์คำถามไปถามเซนเซหนหน้าเลยดีกว่า วันนี้ไม่มีเวลาถาม เพราะต้องมีคลาสของเด็กต่ออีก


วันนี้เซนเซสอนเทคนิคตอนเก็บดาบตอนจบการฟันท่านี้ให้เราใหม่ เพราะบอกว่าท่าเรายังทำอันตรายเกินไป (คืออาจบาดมือตัวเองได้นั่นเอง แหะ ๆ)


แต่พอชักดาบที เราก็สังเกตุว่า พระเอกจะไม้เน้นทำร้ายถึงตาย แต่จะเน้นให้อีกฝ่ายทิ้งดาบ หรือปล่อยอาวุธ โดยอาจจะตีไปที่มือก่อน อย่างนี้เป็นต้น อันนี้พูดถึงฉากประลองฝีมือนะ ไม่นับฉากที่พระเอกโดนรุมจากแก๊งค์อันธพาลตอนหลัง อูยยย อันนั้นค่อนข้างจะน่ากลัวไปหน่อยสำหรับเรา ค่อนข้างจะเลือดสาด พุ่งกระฉูดของจริง คือมันก็ไม่ถึงกับคอกระเด็น เหมือน Last Samurai หรอกนะ แค่ให้รู้ว่าตอนใดตอนหนึ่ง (ที่มองไม่ทันเพราะเร็ว หรือว่ามุมกล้องบัง) ดาบพระเอกได้เฉือน หรือ จิ้ม หรือ ตัดเส้นเลือดที่คอผู้ร้ายเข้าให้แล้ว และเลือดมันพุ่งออกมาเป็นน้ำพุเท่านั้นเอง อึ๊ย ดีนะที่มันเป็น Long Shot แบบหมู่อยู่ไกล ๆ และมีแป๊บเดียว ไม่งั้นคงจะแย่หน่อย เหนื่อย


ที่ชอบตอนประลองมากกว่าเพราะว่าใช้ดาบไม้นั่นเอง ดาบไม้นี่โดยเฉพาะคู่หลังนี้เห็นฝีมือพระเอกชัดเจนเลย โดยเฉพาะลีลาการ “ให้โอกาส” คู่ต่อสู้อย่างมีน้ำใจเป็นนักกีฬาถึงสามครั้ง และเห็นการใช้หลัก Mushin หรือ No mind กับตาเลยว่า โห...มันเป็นอย่างนี้นี่เอง สุดยอด มันมองไม่ทันจริง ๆ นะ คือไม่ใช่เป็นการเล่นจังหวะ หรือ มุมกล้องอย่างเดียว คือมันเป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ เลยน่ะ ซึ่งวันนี้เซนเซก็ได้บอกอีกตอนซ้อมเสร็จว่า เป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ



ฉากประลองที่วังเจ้าแคว้นด้วยดาบไม้ เป็นการสู้กันที่ใจ ไม่ใช่ที่ร่างกาย


ความจริงวันนี้ตั้งใจจะยกเอาหนังเรื่องนี้มาเกริ่นนำนิดหน่อยเพื่อจะเล่าเรื่องการเรียนดาบ ไหงปรากฏว่าออกมายาวอย่างนี้ได้ เพราะความจริงวันนี้สิ่งที่อยากเล่ามากกว่าคือ รู้สึกว่าเป็นวันที่เรียกได้ว่าเป็น milestone ในการเรียนของเราก็ว่าได้ มันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษนักหนาหรอก แต่ว่าเริ่มตั้งแต่เรียน Chanbara แล้ว ที่เซนเซลงทุนใส่หน้ากากมาต่อแถวกับเด็ก ๆ เพื่อมาซ้อมคู่กับเรา แค่นี้เราก็ซาบซึ้งและปลาบปลื้ม ยินดี ดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติจะแย่แล้ว เพราะตลอดปีที่ผ่านมา เซนเซไม่เคยลงมาเล่นคู่กับเราเลย ถึงแม้เซนเซจะฟาดเราเสียงสนั่นจนพวกแม่ ๆ ที่มานั่งดูลูกเล่นคงจะสะดุ้งกันไปหมด แต่เรากลับดีใจที่ได้เรียนเทคนิคต่าง ๆ โดยตรง (หมายถึงโดยการโดนฟาดโดยตรง เพราะมันจะเข้าใจและเห็นมุมมองต่างกัน) สรุปว่าชอบมาก พยายามตั้งใจจำท่าและเลียนแบบท่าของเซนเซแทบตายแต่ก็ไม่ทันเพราะไม่รู้จะมองอะไร เซนเซไวมาก และเราต้องพยายามนึกถึงหลัก Mushin อยู่เสมอ รวมถึงที่เซนเซชอบสอนเด็ก ๆ ว่าให้ “มองกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง”

แต่ที่เจ๋งยิ่งไปกว่านั้น คือพอเด็ก ๆ เรียนเสร็จ เซนเซถามว่า มีเวลาอีกไหม เราบอกว่ามี เซนเซบอกว่าให้ใส่หน้ากาก โห....ดีใจสุด ๆ เพราะว่าเซนเซมาซ้อมคู่ให้!!!!! ตอนแรกก็ซ้อมแบบอิสระ ไม่จำกัดพื้นที่ แต่ไม่นานเราก็หอบอยู่ในหน้ากากนี่แหละ เซนเซคงจะเห็นว่าไม่ได้การล่ะมั้ง ก็เปลี่ยนกฏใหม่ให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น โดยให้ถอยไปมาได้ไม่เกินสองก้าว ทีนี้ล่ะ คุณเอ๋ย โดนน่วมเลยข้าพเจ้า แต่เซนเซก็ยังนับว่าใจดีมีเมตตาเหมือนพระเอกหนังของ Kurosawa มาก นั่นก็คือ อย่างเก่งก็ตีช่วงมือและแขน แต่มีอยู่เหมือนกันตอนระหว่างคลาส หรือตอนซ้อมคู่แบบอิสระก็ไม่รู้ คิดว่าโดนตีหัวแบบจัง ๆ นี่ หัวสั่น หัวคลอนเหมือนกันนะ ถึงแม้จะมีหน้ากากก็เถอะ เพราะเซนเซฟาดแบบเก็บคะแนนน่ะ คือฟาดแบบสะบัดทั้งแขนดังเปรี้ยง คือความจริงถ้าตอนนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคู่ซ้อมให้เด็กเล็กทั้งแถวที่ต่อแถวเรียงเหมือนงูกินหางมาสู้กับเราทีละคนแล้ว เราคงอยากลงไปนอนวัดพื้นตรงแทบเท้าเซนเซแล้วล่ะ แต่มันลงไปนอนไม่ได้ เลยเดินเป๋ไปมา แป๊บนึง เซนเซหัวเราะฮ่า ๆ ๆ อย่างอารมณ์ดี คงจะขำในความโง่ของเราที่เอาหัวไปรับดาบ

แต่มือนี่น่ะ มือข้าพเจ้าตอนนี้ ไม่อยากเชื่อเลย ว่าคำว่า “ช้ำใน” มันจะเจ็บได้ขนาดนี้ เพราะก่อนแยกย้ายกลับ เซนเซถามว่า เจ็บไหม ถ้าเจ็บ ให้เอาน้ำแข็งประคบนะ ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าเจ็บ มันก็ดูแดง ๆ นิดหน่อยแค่นั้น ก็บอกเซนเซว่า ไม่เจ็บ ตอนสมัยเรียนเทควันโด เจ็บกว่านี้ โห...พอกลับบ้านเท่านั้นแหละ อยู่เฉย ๆ ไม่รู้นะ แต่เผลอเอาหลังมือข้างที่จับดาบไปดันปิดลิ้นชักเท่านั้นแหละ ทรุดลงไปนั่งกองกับพื้นเลย เฮ้ย...ทำไมมันเจ็บอย่างนี้ล่ะ???? ยกมือขึ้นมาดูก็ไม่เห็นมันมีอะไรผิดปกติเลยนะ แต่แตะไม่ได้เลยนะ แตะแล้วสะดุ้งโหยงเลย ตายแน่ ๆ ชักจะเริ่มกลัวว่าคืนนี้หัวถึงหมอนแล้วจะสะดุ้งไหมเนี่ย ฮือ ตกลงวันนี้เราโดนเซนเซฟาดโดนอะไรไปมั่งเนี่ย แล้วมันจะช้ำในไปกี่จุดนะเนี่ย สงสัยพรุ่งนี้คงต้องทั้งกิน ทั้งทา และทั้งอาบ น้ำใบบัวบก ฮี่ ๆ ๆ

อ้อ วันนี้เซนเซสอนท่าศิลปป้องกันตัว มือเปล่าของซามูไรเพิ่มอีกสองสามท่า และก็เหมือนเคย ตอนที่สาธิตให้ดู เซนเซบอกว่า ถ้าเจ็บก็บอก ทุกทีเป็นท่านั่ง ซึ่งจากท่านั่งถ้าเซนเซจับพลิกมือเราบิดลงไปนอนจังหวะเดียวถ้าเราล้มตัวทัน หรือ ล้มเป็น หรือเซนเซยึดไว้ทันมันก็ไม่เจ็บมากใช่ไหม แต่วันนี้มันดันเป็นจากท่ายืน แล้วเซนเซนึกสนุกยังไงไม่ทราบ เล่นแรง วันนี้เล่นเร็ว จังหวะเดียวเลย เราเลยลงพรวดเดียวเลยไม่มีเวลาบอกเซนเซเลยว่าเจ็บ คือยืนจับข้อมือเซนเซอยู่ดี ๆ รู้ตัวอีกทีนอนตาเหลือกแก้มติดพื้นดิ้นกระแด่ว ๆ ด้วยความเจ็บข้อมือร้องโอ๊ย ๆ แล้ว เซนเซก็ไม่ว่าอะไร หัวเราะอีกตามเคยก่อนจะดึงเราขึ้นมาแล้วให้ลองทำเซนเซบ้าง ซึ่งก็เป็นไปอย่างทุลักทุเลพอใช้ กว่าจะทำเป็น แต่พอทำเป็นแล้วชักจะสนุก จนเซนเซบอกว่าช่วยออกแรงดึงมือให้สูงกว่านี้หน่อยก่อนที่จะพลิกมือกดเซนเซลงไปนอน เพราะว่าถ้าเราทิ้งมือต่ำไป(เหมือนทำกับผู้ร้ายจริง ๆ) และทำเร็วด้วย หัวเซนเซจะกระแทกพื้น อันตราย เลยต้องออกแรงดึงช่วยเซนเซจังหวะสุดท้ายก่อนหัวกระแทก อารมณ์คล้าย ๆ บังจี้ จั๊มปิ้ง

ว่าแล้วสมควรไปเตรียมตัวทำสมาธิก่อนนอน หมู่นี้ได้นั่งสมาธิบ่อย ดีจัง รู้สึกว่ามีผลทั้งกับการทำวิทยานิพนธ์ และกับการเรียนดาบด้วย วันนี้จบแค่นี้จ้า Oyasuminasai


ฉากนี้เด็กเล็กควรปิดตา



ซามูไรธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่มีน้ำใจงดงาม



Create Date : 19 กรกฎาคม 2549
Last Update : 19 กรกฎาคม 2549 2:13:41 น. 3 comments
Counter : 1120 Pageviews.  

 
Kurosawa จะมีการแฝงปรัชญาในหนังตลอด
ผมเองชอบตั้งแต่เรื่อง เจ็ดเซียนซามูไรแล้ว
สุดยอด
และหนัง ยุคหลัง จะให้อะไรกับคนที่ดู
เหมือนกับว่ากลืนกินเป็นหนึ่งเดียว
เพื่อสะท้อนตัวตนของชีวิตออกมา
After the Rain
แม้คุโรซาว่าจะถอยออกมาห่างห่าง
แต่ก็ยังมีกลิ่อิทธิพลมาครอบงำตัวหนังอยู่ดีนะครับ


โดย: เ ม ฆ ค รึ่ ง ฟ้ า วันที่: 19 กรกฎาคม 2549 เวลา:2:55:36 น.  

 
ขอบคุณค่ะ คุณเมฆครึ่งฟ้า ที่แวะมา ได้แวะไปตอบที่บล็อกแล้วนะคะ (บล็อกสวยมาก ๆ ค่ะ)

Kurosawa นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมากน่ะค่ะ คือทำอะไรก็แฝงไปด้วยปรัชญาและความสวยงามแบบ aesthethics เสมอ เชื่อว่าคุณเมฆครึ่งฟ้าคงเห็นด้วย

ตัวเองพอได้มาคลุกคลีอยู่กับเซนเซที่สอนดาบซามูไรนี่ ก็อดทึ่งไม่ได้ค่ะ เพราะว่าแตกต่างจากการเรียนเทควันโดสมัยเด็ก ๆ ลิบลับเลยค่ะ

ยิ่งเรียนยิ่งเจอแต่ปรัชญาเซน และอะไรที่สวยงาม poetic มาก ๆ ออกจะโรแมนติคด้วยซ้ำไป พวกซามูไรนี่เขามีจิตใจที่อ่อนโยนมากกว่าที่คนคิดเยอะนะคะ ถ้าศึกษาบูชิโดจริง ๆ แล้วจะทราบ

แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบ นี่ล่ะค่ะที่เป็นปัญหา สงครามโลกนั้นเกิดเพราะโลกตะวันตกเข้าไปในญี่ปุ่นแล้วบังคับให้เลิกยุคของซามูไรไปต่างหากล่ะ นั่นล่ะปัญหาใหญ่ เมื่อบูชิโดไม่ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างถูกต้อง มันก็เหมือนเอาควายป่าที่ไม่ได้ฝึกขึ้นมาครองอำนาจนั่นแหละค่ะ เรื่องของเรื่อง

สมัยก่อนซามูไรน่ะอยู่กับวัด อยู่กับพระ นั่งสมาธิ ชีวิตเรียบง่ายมาก ๆ ตำราโบราณสอนไว้ว่า หน้าที่ซามูไรคือรับใช้เจ้านายและพ่อแม่ตัวเอง เสร็จจากนั้นก็ให้มานั่งสมาธิ เจริญมรณานุสติของตัวเอง จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ทำนองนั้นน่ะค่ะ โห...อย่างกับพระ ดีจัง

พอฝรั่งเข้ามา ก็น่าเสียดายแท้ ๆ ญี่ปุ่นไม่น่าทิ้งอะไรดี ๆ ตรงนั้นของประเทศตัวเองไปเลย

แต่ก็นั่นแหละ ทุกอย่างในโลกย่อมมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา


โดย: kenzen (kenzen ) วันที่: 19 กรกฎาคม 2549 เวลา:4:28:19 น.  

 
แวะมาอ่านครับ ได้ความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นดี ผมก็ชอบคุโรซาวาเหมือนกัน


โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 8 มกราคม 2550 เวลา:8:22:11 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kenzen
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Kenzen 健全 เป็นคำคุณศัพท์ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สมบูรณ์ทั้งร่างกายและความคิด เพราะว่าคนทำบล็อกนี้อ้วน แต่ถ้าเขียนด้วยตัวอักษรคันจิอีกแบบ จะเป็นส่วนหนึ่งของสำนวน "Ken Zen Ichi Nyo" 剣禅一如 หรือ ดาบกับใจเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งฟังดูท่าทางจะเท่กว่าเยอะ
[Add kenzen's blog to your web]