ยิ้มน้อยน้อย...ตามรอยธรรม
 
 

ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ



เรื่องความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนี้ ดิฉันสรุปมาจาก

มหาสาโรปมสูตร และจุฬสาโรปมสูตร
ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสูตรทั้งสองนี้เป็นอุปมาว่าด้วยแก่นไม้

เปรียบ ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เหมือน กิ่งไม้ ใบไม้
เปรียบ ความสมบูรณ์ด้วยศีล เหมือน สะเก็ดไม้
เปรียบ ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เหมือน เปลือกไม้
เปรียบ ญานทัสสนะ หรือปัญญา เหมือน กระพี้ไม้
เปรียบ ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ เหมือน แก่นไม้

พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่ากุลบุตรออกบวชเป็นภิกษุแล้ว

ภิกษุบางรูปได้ลาภ สักการะ ชื่อเสียง ก็พอใจ ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภ สักการะ ชื่อเสียงนั้น เหมือนบุรุษที่แสวงหาแก่นไม้ แต่ได้กิ่งไม้ ใบไม้ไป

บางรูปไม่สนใจ ลาภ สักการะ ชื่อเสียง แต่ไปพอใจที่ความสมบูรณ์ของศีลยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสมบูรณ์ของศีล เหมือนบุรุษที่แสวงหาแก่นไม้
แต่ได้สะเก็ดไม้ไป

บางรูป แม้ความสมบูรณ์ของศีลก็ยังไม่พอใจ แต่ไปพอใจที่ความสมบูรณ์ของสมาธิ ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสมบูรณ์ของสมาธิเหมือนบุรุษที่แสวงหาแก่นไม้ แต่ได้เปลือกไม้ไป

บางรูป แม้ความสมบูรณ์ของสมาธิก็ยังไม่พอใจ แต่ไปพอใจที่ได้ญานทัสสนะ ยกตนข่มผู้อื่นเพราะได้ญานทัสสนะ เหมือนบุรุษที่แสวงหาแก่นไม้ แต่ได้กระพี้ไม้ไป

บางรูป แม้ญานทัสสนะยังไม่พอใจ แต่มุ่งทำอาสวะให้สิ้นไป

ในจุฬสาโรปมสูตร เมื่อเปรียบเทียบแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงตรัส
กับปิงคลโกจฉพราหมณ์ว่า

"ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง เป็นอานิสงค์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงค์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงค์ มิใช่มีญานทัสสนะเป็นอานิสงค์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้มีความหลุดพ้นแห่งใจ อันไม่กลับกำเริบนั่นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

แต่ละตอนของการเปรียบเทียบแต่ละส่วนของต้นไม้ พระพุทธองค์ได้ทรงย้ำว่า ถ้ายังยกตนข่มท่านอยู่ในความสำเร็จขั้นใด ก็ยังจะติดอยู่ที่ความสำเร็จเพียงเท่านั้น ต่อเมื่อไม่ยกตนข่มท่านจึงสามารถก้าวข้ามกิเลสที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงความหลุดพ้นแห่งใจอันกลับกำเริบได้

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านค่ะ บุญรักษานะคะ




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2552   
Last Update : 9 สิงหาคม 2552 22:23:15 น.   
Counter : 809 Pageviews.  


พระพุทธเจ้า สังคารวมาณพ กับการสนทนาเรื่องเทวดา


คำสนทนาว่าด้วยเรื่องของเทวดานี้
ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 13
พราหมณ์วรรค สังคารวสูตร

ในสังคารวสูตรกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจาริกแคว้นโกศล

ครั้งนั้นนางพราหมณีชื่อธนัญชานี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปัจจลกัปปะ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อนางพลั้งพลาดอะไรก็ตาม เป็นอันจะต้องเปล่งคำอุทานขึ้น 3 ครั้งว่า

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”ทุกครั้งไป

จนทำให้สังคารวมาณพซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งขัดใจจนอดรนทนไม่ได้ ต้องด่าว่านางธนัญชานี ว่าไม่เป็นมงคล เป็นคนฉิบหาย พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทมีอยู่มากมายไม่สรรเสริญ กลับไปสรรเสริญสมณะหัวโล้น

นางธนัญชานี ตอบกลับไปเรียบๆ ว่า

“ถ้าเธอรู้จักศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นดี เธอจะไม่สำคัญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นว่า ควรถูกด่า ควรถูกบริภาษเลย”

สังคารวมาณพอยากพิสูจน์ความจริง จึงขอให้นางธนัญชานีช่วยบอก หากพระพุทธองค์เสด็จมาถึงหมู่บ้านปัจจลกัปปะ

เมื่อนางธนัญชานีได้ข่าวพระองค์เสด็จมาจึงรีบไปบอก สังคารวมาณพ
สังคารวมาณพรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลถามว่าพระพุทธองค์จัดอยู่ในจำพวกไหนในหมู่สมณพราหมณ์ผู้ปฏิญญา(ประกาศตน)ว่าบรรลุธรรมสูงสุด คือบรรลุพรหมจรรย์แล้ว

พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกสมณพราหมณ์หลายจำพวกให้เขาฟัง
ว่าบางพวกปฏิญญาเพราะฟังตามกันมา เช่น พวกพราหมณ์ผู้รู้ไตรเพท
บางพวกปฏิญญาเพราะความเชื่อ เช่น พวกนักตรรกะ นักอภิปรัชญา
ส่วนพระองค์ปฏิญญาเพราะรู้ธรรมด้วยปัญญาในธรรมที่ไม่เคยฟังมาก่อน และได้เล่าประวัติการแสวงธรรมของพระองค์ตามลำดับ

เมื่อได้ฟังดังนั้นสังคารวมาณพจึงยอมรับว่าพระพุทธองค์ทรงมีความเพียรของสัตบุรุษ สมควรเป็นพระพุทธเจ้า

แต่ในการบอกเล่าของพระพุทธองค์ได้กล่าวถึงเทวดาไว้หลายตอน
สังคารวมาณพ แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องที่ตรัสเล่าเกี่ยวกับเทวดา ว่าเป็นเพราะทรงทราบหรือเพราะอะไร จึงทูลถามว่า

"เทวดามีจริงหรือไม่"

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“เทวดามีนั้น รู้ได้โดยฐานะ”

สังคารวมาณพแย้งว่า

"การตอบเช่นนั้นอาจเป็นคำพูดที่ว่างเปล่าหรืออาจกล่าวเท็จก็ได้"

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“ผู้ใดเมื่อถูกถามว่า “เทวดามีอยู่หรือ”
จะพึงตอบว่า “ข้อที่ว่าเทวดามีอยู่นั้น รู้กันได้โดยฐานะ”
ผู้นั้นก็เท่ากับกล่าวว่า “เรารู้จักเทวดา”
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านผู้รู้ก็เข้าใจในเรื่องนี้ได้ว่า
“เทวดามีอยู่” โดยแน่แท้”

สังคารวมาณพจึงทูลถามว่า
"ทำไมพระองค์จึงไม่ทรงตอบให้ชัดเจนเสียแต่แรก"
พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า
“ข้อที่ว่าเทวดามีอยู่นั้น เขาสมมติกันในโลก ด้วยคำศัพท์ที่สูง”

เมื่อได้ยินดังนี้ สังคารวมาณพจึงประกาศตนเป็นอุบาสก
ขอถึงพระพุทธองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะชั่วชีวิต

ดิฉันเห็นว่าสังคารวมาณพนั้นเป็นผู้รู้คนหนึ่ง จึงใคร่ครวญตามคำบอกเล่าของพระพุทธองค์ได้โดยตลอด ยกเว้นเรื่องเทวดา ซึ่งครั้งแรกเขาคิดว่าคำตอบของพระพุทธองค์กำกวมมาก แต่หลังจากที่พระพุทธองค์ยืนยันว่า เทวดามีอยู่ หากแต่ผู้ที่สามารถรับรู้การมีอยู่ของเทวดาได้นั้น จะต้องมีความรับรู้และคุณภาพทางจิตใจในระดับสูง จึงสามารถสัมผัสหรือสื่อกับ “เทวดา”ได้

คำว่า “เทวดา”ที่พระพุทธองค์ตรัสนั้น พระองค์ได้หยิบยืมเอาคำศัพท์ที่ชาวโลกสมมติกันมาใช้เพื่ออธิบายสภาวธรรมเกี่ยวกับโลกเหนือธรรมชาติที่ปรากฎขึ้นในประสบการณ์ตรงของพระพุทธองค์ ดังนั้น คำตอบที่ดูเหมือนกำกวมของพระพุทธองค์แท้จริงแล้วกลับเป็นคำตอบที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าสังคารวมาณพพูดกับพระพุทธองค์ด้วย “ภาษาคน” แต่พระพุทธองค์ตอบเขาด้วย “ภาษาธรรม” ที่หยิบยืมเอาคำศัพท์ในภาษาคนมาใช้โต้ตอบเท่านั้น





 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 28 กรกฎาคม 2552 21:53:18 น.   
Counter : 606 Pageviews.  


การเจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5



"การเจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5" นี้ดิฉันนำมาจาก
พระไตรปิฎกเล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค มหาราหุโลวาทสูตร

พระสูตรตอนนี้เล่าเรื่องของพระราหุลขณะยังเป็นสามเณร
(ช่วงอายุใกล้อุปสมบท)
ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับ ณ เชตวัน เขตกรุงสาวัตถี

เรื่องเริ่มในตอนเช้าก่อนเสด็จออกบิณฑบาต
พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้พระราหุลพิจารณาขันธ์ 5
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

จากนั้น พระราหุลได้ไปนั่งฝึกสมาธิอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง
ท่านพระสารีบุตรเห็น
จึงแนะนำให้พระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา

ต่อมาในเวลาเย็น พระราหุลเข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
จะเจริญอานาปานสติภาวนาอย่างไร จึงจะมีผลมาก

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบโดยแยกเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. ให้พิจารณาธาตุ 5 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ และอากาศธาตุ
ทั้งที่เป็นภายในและที่เป็นภายนอก ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ
ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

2. ให้เจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5 นั้น
คือ เจริญภาวนา เพื่อไม่ให้อารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจมาครอบงำจิตได้
เหมือนธาตุทั้ง 5 ไม่รังเกียจของสกปรกที่คนทิ้งลง

3. ให้เจริญภาวนา 6 อย่าง คือ เมตตาภาวนา
กรุณาภาวนา มุทิตาภาวนา อุเบกขาภาวนา
อสุภสัญญาภาวนา และอนิจจสัญญาภาวนา

4. ให้เจริญอานาปานสติ 16 ขั้น

แต่เฉพาะในที่นี้ดิฉันจะขอยกเพียง
การเจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5 มาเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อน้อมนำไปสู่คุณธรรมเรื่อง สมานัตตา และเมตตาค่ะ

การเจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5
“ ราหุล เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ คนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง น้ำจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้น ก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำ เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟ เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลม เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ อากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศ เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้”

ดิฉันเห็นว่า

พุทธวจนะดังกล่าว ทำให้เราเข้าใจอะไรตั้งมากมาย เช่น เข้าใจเรื่อง สมานัตตา คือวางตนเสมอ ไม่ถือเขาถือเรา เพราะเมื่อแท้จริงไม่มีอะไรนอกจากสรรพสิ่งในธรรมชาติที่เคลื่อนไหวไปตามเหตุปัจจัย ธาตุทั้ง 5 ทั้งภายใน(กาย) และภายนอก(กาย) ของสิ่งสมมติว่าเป็นเรา ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน แท้จริงจึงไม่มีเรา ไม่มีเขา เมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก ไม่จำเป็นต้องมีเรา มีเขา

เมื่อภาวนาเสมอด้วยธาตุทั้ง 5 สมานัตตาจึงเกิดขึ้นได้ เพราะสมานัตตาจะทำได้ก็ต่อเมื่อ หยุดเอาความประสงค์ของตน ความเห็นของตนเป็นใหญ่ก่อน หากเรายังมุ่งแต่จะเอาให้ได้ตามความต้องการของตน ตามความคิดเห็นของตน ความปรารถนาเหล่านั้นก็จะบดบังปัญญา ทำให้มองไม่เห็นว่า จะรุกรานผู้อื่นอย่างไร จะทำลายที่ยืนของผู้อื่นอย่างไร จะสร้างความเจ็บช้ำและส่งผลเสียแก่ผู้อื่นอย่างไร แก่สังคมโดยรวมอย่างไร และจะส่งผลย้อนกลับมาหาตนอย่างไร

พุทธวจนะดังกล่าวยังช่วยให้เราเข้าใจเรื่องความเมตตาต่อกันและกันด้วย ความเมตตาที่แท้จริงหรือความเมตตาที่บริสุทธิ์นั้น ไม่ใช่ความรัก ไม่ใช่ลัทธิพรรคพวก ไม่ใช่ความเห็นแก่หมู่คณะ ไม่ว่าจะเป็นในหมู่คณะใหญ่ หรือหมู่คณะย่อย

เพราะเมตตาที่แท้จริง ไม่ได้ตั้งอยู่บนอำนาจของตัณหา แต่ตั้งอยู่ด้วยอำนาจของปัญญา ปัญญาในที่นี้คือการรู้ว่า ชีวิตทุกรูปนามนั้น เป็นของอันเดียวกัน หรือมีชีวิตเดียวกัน มีความรู้สึกแท้ๆ ล้วนๆ ของชีวิตเป็นแบบเดียวกัน เช่นเดียวกันกับที่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุอากาศ ที่เป็นแบบเดียวกัน ไม่ว่าอยู่ภายในกาย หรืออยู่นอกกาย

หากมีความเข้าใจในเรื่องนี้ ในสิ่งนี้ แม้เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกเมตตาชนิดที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงย่อมตามมาเอง ความเมตตาชนิดนี้ กว้างใหญ่ไพศาลมาก แผ่ไปทั้งชีวาลัยเลยทีเดียว นี่คือความเป็นจริงสากล

ทำไมการเข้าถึงความเป็นจริง จึงต้องละอัตตาตัวตนทั้งหมด เพราะเมตตาบริสุทธิ์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ผู้ที่ยังมีตัวตน ยังมีความอยากในอกุศลและกุศลอยู่ จึงไม่อาจบรรลุความหลุดพ้นได้ เพราะไม่อาจก้าวข้ามความความรู้สึกติดยึดชนิดต่างๆ ไปสู่ความเมตตาอันเป็นอนันต์ได้

ใครก็ตาม เก่งกล้าสามารถแค่ไหนก็ตาม หากยังไม่สามารถทลายกำแพงแห่งอัตตาตัวตน ยังไม่สามารถละวางความยึดติดในตัวตน ยังคงถือเขาถือเราอยู่ จะไม่มีวันก้าวข้ามไหว ไม่มีทางก้าวข้ามได้ เพราะเมตตาชนิดนี้กว้างใหญ่ไพศาลนัก

ดิฉันคิดว่า ในสังคหะวัตถุ 4 มี ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา นั้น
สมานัตตา คือ การวางตนเสมอ ไม่ถือเราถือเขานั้นปฏิบัติยากที่สุด เป็นธรรมที่จิตใจต้องสูงมาก กว้างมาก จึงจะทำได้ ซึ่งการภาวนาจะช่วยในข้อนี้ได้ และการวางตนเสมอนี้เองที่จะนำมาซึ่งเมตตาบริสุทธิ์อันกว้างใหญ่ไพศาลให้งอกงามขึ้นในจิตใจของเรา

ดิฉันเห็นว่า ถ้าใจกว้างใหญ่แล้ว ย่อมบรรจุได้ทั้งจักรวาล ถ้าใจลีบเล็กแล้ว บางทีแม้เข็มเล่มเดียวก็อาจอยู่ไม่ได้ ขอเราจงมีความสุขสวัสดีทั่วกันนะคะ
ขอจงมีสังคหะวัตถุธรรม และเมตตาต่อกันให้มากๆ ค่ะ




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 28 กรกฎาคม 2552 15:00:47 น.   
Counter : 577 Pageviews.  


ที่มาของบทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย



เวลาเราสวด อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ....
ไปจนถึง สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม....
กระทั่งไปจบลงที่ สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวกสังโฆ....
เรารู้กันบ้างหรือไม่ว่า เรากำลังสรรเสริญพระรัตนตรัย
ด้วยถ้อยคำเดียวกันทุกประการ
กับที่ชาวพุทธในครั้งพุทธกาลได้สวดสรรเสริญ

ดิฉันเองก็เพิ่งรู้เรื่องนี้ไม่นานนัก
จากการสืบค้นที่มาของบทสวดมนต์
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ
ว่ามีแทรกอยู่ในพระไตรปิฎก
มากกว่าบทสวดมนต์บทอื่นๆ ทั้งหมด
คือปรากฎอยู่ถึง 15 เล่ม
ยิ่งค้น ดิฉันก็ยิ่งเห็นว่า
พระรัตนตรัยล้วนถูกย่อรวมไว้ในนั้น

1. พุทธานุสสติ

ตามที่ดิฉันสืบค้น
บทสรรเสริญพุทธคุณเกิดขึ้นก่อน
เริ่มแรกเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในชมพูทวีป
คำสรรเสริญเริ่มเกิดขึ้นเมื่อสาธุชนได้รับผลจากพุทธคุณ
ทั้งจากพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ
เริ่มจากการเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์
โปรดท่านยสะและหมู่คณะ
ส่งพระอรหันตสาวกทั้ง 60 รูป
ไปเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน
และแม้พระองค์เองก็เสด็จมายังตำบลอุรุเวลา
เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้อง

ในช่วงแรกนี้แรกนี้
คำว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา”
เกิดขึ้นในหมู่พระสาวกรุ่นแรก
โดยเมื่อพระพุทธองค์ตัดสินใจเดินทางไปแสดงธรรม
แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ปรากฎในพระไตรปิฏกเล่มที่ 4
เป็นพระวินัยปิฏก ปัญจวัคคีย์กถา

แต่คำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” ที่ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองนั้น
พระพุทธองค์ทรงตรัสเอง กับอุปกาชีวกะ
ว่าพระองค์ตรัสรู้เองไม่มีอาจารย์
อุปกะไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งเกิดง่ายในโลก
อีกทั้งคำว่า “ไม่มีอาจารย์”
ของพระพุทธองค์ยังทรงหมายถึง
ไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตรธรรม
อุปกะไม่รู้จักโลกุตรธรรม
และขณะนั้นยังไม่สนใจฟังธรรมของพระพุทธองค์
จึงโคลงศีรษะแล้วเดินสวนหลีกไป

พระพุทธองค์ทรงประกาศตนว่า
เป็น “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” อีกครั้ง
เมื่อเสด็จถึงป่าอสิปตนมฤคทายวัน
ตรัสบอกปัญจวัคคีย์ว่า
“ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ”
เริ่มแรกปัญจวัคคีย์ก็ไม่เชื่อว่า
พระองค์บรรลุโลกุตรธรรมแล้ว
แม้ทรงประกาศถึง 3 ครั้ง

จนพระพุทธองค์ต้องตรัสถามว่า
พระองค์เคยตรัสเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ว่า
ด้วยอำนาจของความมีศีลมีสัตย์
ที่พระองค์ปฏิบัติเป็นวัตรมาก่อน
ปัญจวัคคีย์จึงเอะใจ เริ่มหันมาฟังพระองค์
การแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร
จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก

เมื่อปัญจวัคคีย์ฟังธรรม
และค่อยๆ ทยอยเข้าสู่กระแสธรรม
ทยอยกันบรรลุพระโสดาบันแล้ว
พระพุทธองค์จึงแสดงธรรม อนัตตลักขณสูตร
ปัญจวัคคีย์แต่ละคน บรรลุอรหันต์ตามลำดับกัน

เมื่อถึงตรงนี้
คำว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา” จึงเกิดขึ้น
โดยเหล่าพระอรหันตสาวกปัญจวัคคีย์
คำว่า “ภะคะวา”เป็นคำสรรเสริญที่พระสาวกมีต่อพระองค์

“อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ”
เป็นถ้อยคำจากพระโอษฐ์
แต่คำว่า “อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ”
เป็นถ้อยคำสรรเสริญจากอรหันตสาวกและสาธุชน
ซึ่งหลังจากพระพุทธองค์เสด็จมายังตำบลอุรุเวลาแล้ว
ระหว่างทางผ่านป่า
ได้พบและโปรดสหายภัททวัคคีย์ 30 คน
ทั้งหมดได้ธรรมจักษุและขอบวช
ดังปรากฏในภัททวัคคิยกถา

จากนั้นเมื่อเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา
โปรดชฎิลสามพี่น้อง
ถึงตอนนี้คำว่า
“วิชชาจะระณะสัมปันโณ”
จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในสังคมชมพูทวีป

ตามที่ดิฉันเคยอ่านเกี่ยวกับอารยธรรมอินเดียมา
คำว่าชฎิล มาจากคำว่าชฎา
เพราะชฎิลเป็นนักบวชในวรรณะพราหมณ์
เกล้าผมสูงเป็นรูปชฎา จึงเรียกกันว่า ชฎิล
พวกชฎิลนี้บูชาไฟตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ที่ว่า
ไฟเป็นของบริสุทธิ์และเป็นสื่อกลางให้เข้าถึงพรหมได้
เป็นผู้แสวงธรรมตามแบบศาสนาพราหมณ์
ซึ่งศาสนาพราหมณ์นี้
เป็นรากเหง้าของศาสนาฮินดูอีกทีหนึ่ง

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
อาทิตตปริยายสูตร

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ต่อชฎิลสามพี่น้อง
ชฎิลเหล่านี้บูชาไฟมาก่อน
พระพุทธองค์จึงทรงเปรียบเทียบ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน)
ว่าเป็นของร้อน เมื่อกระทบ
รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์
(อายตนะภายนอก)ซึ่งเป็นของร้อนเช่นกัน
ทำให้วิญญาน ผัสสะ และเวทนา
ที่เกิดขึ้นร้อนตามไปด้วย

แต่ทั้งหมดนี้เป็นการร้อนเพราะไฟ
ซึ่งก็คือ ราคะ โทสะ และโมหะ
และร้อนเพราะไฟ
ซึ่งก็คือความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความคร่ำครวญ
ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ

พระพุทธองค์สรุปให้ชฎิลทั้งหลายฟังว่า
อริยสาวกเมื่อเห็นและเกิดความเข้าใจเช่นนั้น
ย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นก็มีญานรู้ว่าพ้นแล้ว
ได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว

ชฎิลทั้งหมดน้อมใจตาม
โดยที่เป็นผู้แสวงธรรม มีกิเลสน้อยอยู่แล้ว
ทั้งหมดจึงเห็นธรรม
จิตใจหลุดจากกิเลสตัณหาทั้งปวง
ต่างบรรลุอรหัตตผล

ก่อนบรรลุธรรมและหลังบรรลุธรรม
ของชฏิลสามพี่น้องและบริวาร
ความเข้าใจต่อ “วิชชาจาระณะสัมปันโณ”
คงมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ไม่น้อย
เพราะการเห็นว่า
พระพุทธองค์ทรงมีวิชชา
และจรณะอันยอดเยี่ยมในช่วงขอบวช
เป็นการเห็นจากภายนอก

แต่การเห็นวิชชาและจรณะ
ของพระพุทธองค์ในช่วงฟังพระธรรมเทศนา
ตลอดจนถึงเมื่อน้อมเอาธรรมเหล่านั้น
ไปพิจารณาและปฏิบัติ
ก็สามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้จริง
เป็นการเห็นจากภายใน

เหตุการณ์ต่อมา
ปรากฎในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 เช่นกัน
คือใน พิมพิสารสมาคมกถา

พระพุทธองค์ทรงนำภิกษุผู้เคยเป็นชฎิลทั้งพันรูป
ไปสู่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
เป็นคณะนักบวชขบวนใหญ่
ที่เคลื่อนเข้าสู่เมืองพร้อมด้วยเสียงร่ำลือ
ถึงกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ว่า

“แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”

ถ้อยคำสรรเสริญพระพุทธองค์ในเครื่องหมายคำพูดนี้

เมื่อแปลกลับมาเป็นภาษาบาลีก็คือ

อิติปิ โส ภะคะวา
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

วิชชาจะระณะสัมปันโน
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

สุคะโต
เสด็จไปดี

โลกะวิทู
รู้แจ้งโลก

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
เป็นสารถีผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม

สัตถา เทวะมะนุสสานัง
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ ภะคะวาติ
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค

คำสวดสรรเสริญเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าไม่มีผู้บรรลุธรรมจำนวนมาก
บรรลุธรรมตามรอยพระพุทธองค์
ซึ่งในบทสวด ธัมมานุสสติ
ก็ได้สรุปสิ่งที่เป็นแก่นแท้เอาไว้

2. ธัมมานุสสติ

ในครั้งพุทธกาลนั้น เป็นช่วงกลียุค
ผู้คนตกอยู่ในห้วงทุกข์
ดูเหมือนทั่วทั้งชมพูทวีปกำลังรอคอย
พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในหมู่กลุ่มคนที่ดูแลสังคมคือพวกกษัตริย์
ทั้งในหมู่พวกผู้รู้คือพวกพราหมณ์
ทั้งในหมู่พวกผู้แสวงธรรม คือพวกฤาษีดาบสต่างๆ
ตลอดจนถึงพวกผู้ครองเรือนทั่วๆ ไป
ทั้งที่เป็นเศรษฐี คหบดี นายช่างวิชาชีพ พ่อค้า ชาวนา
จนถึงยาจกเข็ญใจ
แม้ในกลุ่มที่เป็นเทวดาในชั้นต่างๆ
จนถึงพรหมในชั้นต่างๆ ในช่วงเวลานั้น
ต่างรอคอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในเวลานั้น
มีเจ้าลัทธิมากมายประกาว่าบรรลุธรรมสูงสุด
เป็นพระอรหันต์

แต่มีเพียงพระพุทธองค์เท่านั้นที่ประกาศว่า
ตนเป็น “พระพุทธเจ้า”
และเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
คือเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์โดยชอบ

โลกุตรธรรมที่พระองค์ตรัสรู้
เช่น อริยสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาท
เป็นธรรมที่ทรงยืนยันว่า
ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน
คำว่า “สัมมาสัมพุธโธ”
จึงเป็นถ้อยคำที่ดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศ
ให้เข้ามาทดสอบพระองค์

ซึ่งเมื่อผู้คนได้ฟังธรรม
น้อมนำธรรมนั้นมาปฏิบัติ
ได้รับผลจากการปฏิบัติ
ก็กลายเป็นสิ่งยืนยันที่ทรงพลังที่สุด
เกิดกลายเป็นกระแสคลื่นของสังคมชมพูทวีป
ที่ยอมรับนับถือว่า
พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้
เว้นก็เพียงแต่บางสำนักลัทธิคู่แข่งเท่านั้น

การสรรเสริญพุทธคุณเกิดในแคว้นมคธ
พบในพระไตรปิฎกเล่มที่ 10
มหาวรรค มหาโควินทสูตร

เล่าเรื่องปัญจสิขะ คันธรรพบุตร
ซึ่งเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งในพวกคนธรรพ์
ได้ลงมากราบทูลพระพุทธองค์ว่า

เมื่อวันอุโบสถ 15 ค่ำ
ได้มีการประชุมของเทพชั้นดาวดึงส์
มีท้าวสักกะเป็นประธาน
ท้าวสักกะทรงอนุโมทนาพวกเทพ
ซึ่งเคยประพฤติพรหมจรรย์
กับพระพุทธองค์ว่า
มีความรุ่งเรืองเหนือเทพอื่นๆ
และได้ตรัสสรรเสริญพระคุณ
ของพระพุทธองค์ 8 ประการ
ตามที่พระองค์พบเห็นมา

โดยพระคุณข้อหนึ่งในแปดข้อนั้นคือ

“พระธรรมเป็นธรรมที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
ผู้ปฎิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้
ผู้ทรงแสดงธรรม
ที่ควรน้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย
ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”

ข้อความนี้โดยเฉพาะในส่วนแรก
ตรงกับบทสวดมนต์ธัมมานุสสติ
แบบคำต่อคำ คือ

สะวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฎฐิโก
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง

อะกาลิโก
ไม่ประกอบด้วยกาล(ไม่ขึ้นกับกาลเวลา)

เอหิปัสสิโก
ควรเรียกให้เข้ามาดู

โอปะนะยิโก
ควรน้อมเข้ามาในตน

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

เพียงเก้าเดือนนับแต่ตรัสรู้
คือในเพ็ญเดือนหก
จนกระทั่งเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม
มีผู้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์มากมาย
เฉพาะพระอรหันต์ถึง 1,250 รูปที่ทรงบวช
โดยคำอนุญาตง่ายๆ "เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด"
ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์โดยมิได้นัดหมาย

หลังจากนั้นเสียงเล่าลือ
สรรเสริญพุทธคุณและพุทธธรรม
ของพระองค์ก็ยิ่งเป็นที่โจทย์ขานไปทั่ว
ทำให้กุลบุตรเมืองมคธพากันออกบวช
จนชาวเมืองมคธตกใจว่า
ต่อไปชายจะไม่มีบุตร
หญิงจะเป็นหม้าย ตระกูลจะขาดสูญ
จึงชวนกันประณามพุทธศาสนาอยู่พักหนึ่ง
จนเมื่อเข้าใจว่า
พุทธธรรมนั้นเป็นสัจธรรม
การต่อต้านจึงยุติลง

เสียงสรรเสริญพุทธคุณ
“อิติปิ โส ภะคะวา
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ...”
ดังแผ่กังวานจากแคว้นหนึ่ง
ไปสู่อีกแคว้นหนึ่ง
ผู้คนจากทุกสารทิศ
พากันเดินทางรอนแรมมา
เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

พวกสำนักพราหมณ์
ที่เป็นครูบาอาจารย์ผู้แสวงธรรม
ต่างอยากพบและฟังธรรม
พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พวกเขาตื่นเต้น
แต่ยังไม่กล้าเดินทางมาด้วยตนเอง
เพราะยังขาดความมั่นใจ
ก็พากันส่งลูกศิษย์มาดูว่า
พระพุทธองค์มีลักษณะของมหาบุรุษ
ครบ 32 ประการหรือไม่
เพราะเชื่อกันว่าหากครบถ้วน
บุคคลในลักษณะนี้
หากบวชจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งได้ให้ศิษย์มาติดตามดู
วัตรปฏิบัติของพระพุทธองค์
รวมถึงให้มาถามปัญหาต่างๆ
จนมั่นใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ
จึงพากันมาเฝ้าด้วยตนเอง

ยังมีนักบวชและฆราวาสของศาสนาอื่นๆ
มาเข้าเฝ้าเพื่อโต้ปัญหาธรรมหวังเอาชนะ
แต่ส่วนใหญ่มักเปลี่ยนใจ
หันกลับมานับถือพุทธศาสนาแทน
ทำให้เกิดเสียงเล่าลือในหมู่ศาสนาคู่แข่งว่า
“พระสมณะโคดมมีมายากลับใจคนได้”

ไม่เพียงในแคว้นมคธ
อิทธิพลของพุทธศาสนายังแผ่ไปถึงแคว้นอังคะ
ที่อยู่ติดด้านทิศตะวันออกของแคว้นมคธด้วย

ทันทีที่ประกาศธรรม
กิตติศัพท์ของพระพุทธองค์
เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ
พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา
ซึ่งเฝ้ารอข่าวคราวของพระราชโอรส
จึงส่งทูตมาทูลเชิญ
ให้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุถึง 10 ครั้ง
แต่ละครั้งส่งอำมาตย์เป็นทูต
มาพร้อมบริวาร 1,000 คน
ซึ่งใน 9 ครั้งแรกนั้น
คนทั้งหมดที่ส่งมาพากันบวชกับพระพุทธองค์หมด

ครั้งสุดท้ายจึงส่งอำมาตย์กาฬุทายี
มาพร้อมบริวาร 1,000 คน
โดยพระเจ้าสุทโธทนะขอให้รับปากว่า
แม้บวชก็ให้นิมนต์พระพุทธองค์มาให้ได้
ความข้อนี้ปรากฎในพระไตรปิฎก
ฉบับที่ 33 รตนจังกมนกัณฑ์

บรรยายว่า
พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์
พร้อมสาวก 20,000 รูป
โดยเป็นพระภิกษุชาวกบิลพัสดุ์ 10,000 รูป
ที่เดิมพระเจ้าสุทโธทนะส่งมาเป็นทูตนิมนต์
เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์
และพระภิกษุชาวมคธ 5,000 รูป
อีก 5,000 เป็นพระภิกษุชาวอังคะ

พระภิกษุจำนวนมหาศาล
ที่ตามเสด็จพระพุทธองค์
ไปแคว้นสักกะ ผ่านแคว้นวัชชี
แคว้นมัลละ และแคว้นโกศล
เป็นขบวนธรรมยาตราขนาดใหญ่
ที่สามารถขยายผลการเผยแผ่
พุทธธรรมได้เป็นอย่างดี
การเสด็จแคว้นสักกะในครั้งแรกนี้
พระพุทธองค์ทรงนำพาพระอนุชา
คือเจ้าชายนันทะให้ได้บวช
และทรงโปรดบวชให้เจ้าชายราหุลด้วย

ดิฉันเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้
เกิดขึ้นในสังคมใดก็ตาม
ย่อมสั่นสะเทือนสังคมนั้นๆ ไปทุกหย่อมย่าน
โดยเฉพาะในที่ชุมชนหนาแน่น
ข่าวสารไปถึงเร็ว
หรือในหมู่ผู้แสวงธรรม
ซึ่งแม้ปลีกเร้นกายอยู่วิเวก
แต่เต็มไปด้วยความสนใจ
สดับตรับฟังข่าวสารทางธรรม
เพราะเกิดความตื่นตัวทั่วไปหมด
เกิดบรรยากาศทางสังคม
เป็นความอยากเห็นพระพุทธองค์
อยากฟังธรรมของพระพุทธองค์
ถ้าไม่ได้เห็นพระพุทธองค์
หากได้รับการถ่ายทอดธรรม
ของพระพุทธองค์
ผ่านพระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ก็ยังดี

ซึ่งอนุปุพพิกถาก็ตาม อริยสัจสี่ก็ตาม
ปฏิจจสมุปบาทก็ตาม
ล้วนถูกขมวดไว้ในบทสรรเสริญพระธรรม
ซึ่งผู้ปฏิบัติตามตามรอยพระองค์แต่ละคน
จะรับรู้ได้ด้วยตนเองตามภูมิธรรมแต่ละคน
ตามความแก่กล้าของอินทรีย์แต่ละคน

อันสรุปได้ว่า

สะวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฎฐิโก
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง

อะกาลิโก
ไม่ประกอบด้วยกาล(ไม่ขึ้นกับกาลเวลา)

เอหิปัสสิโก
ควรเรียกให้เข้ามาดู

โอปะนะยิโก
ควรน้อมเข้ามาในตน

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

3. สังฆานุสสติ

การสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ
เป็นบทสวดมนต์ที่ติดตามมาภายหลัง
เมื่อมีพระอรหันตสาวกมากขึ้นตามลำดับ
ท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์จึงมีความสำรวมสงบ
แสดงคุณธรรมต่างๆ
ในอันที่จะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของชาวโลก

คำสวดมนต์ส่วนที่สาม สังฆานุสสติ
จึงค่อยๆ เติมเต็มครบความหมายขึ้นมา
เรื่องนี้ปรากฎในพระไตรปิฎกเล่มที่ 14
เป็นพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
อนุปทวรรค อานาปาณัสสติสูตร

พระสูตรนี้เกิดขึ้น ณ ที่โล่งแจ้ง
ท่ามกลางแสงจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ บุพพาราม
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมท่าม
กลางพระภิกษุทั้งหลาย
ทั้งพระเถระที่มีชื่อเสียงและพระภิกษุผู้บวชใหม่
ทรงตรวจดูพระสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบสำรวมทั้งองค์ประชุม
แล้วจึงตรัสชมเชยว่า

“ภิกษุสงฆ์เช่นนี้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่การต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณาทาน
ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”

เพราะภิกษุสงฆ์เหล่านี้บ้างก็เป็นพระอริยสงฆ์
ส่วนที่ยังไม่บรรลุธรรม
ก็ล้วนเป็นกัลยาณปุถุชนกำลังบำเพ็ญเพียรทั้งสิ้น

หลังจากนั้นจึงทรงแสดงธรรม
อานาปานสติ 16 ขั้น
สติปัฏฐาน 4
และโพชฌงค์ 7 ตามลำดับ

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 สังยุตนิกาย
คหปติวรรค ปัญจเวรภยสูตร
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ต่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า เวรภัย 5 ประการ
จากการละเมิดเบญจศีลของอริยสาวกไม่มีแล้ว
เพราะประกอบด้วย
องค์ธรรมแห่งโสดาปัตติผล 4 ประการ
แล้วตรัสอธิบายถึง ญายธรรม ว่า
คือการที่อริยสาวกมนสิการปฏิจจสมุปบาท

โดยอาศัยการรับรองของพระพุทธองค์
เกี่ยวกับองค์ธรรม 4 ประการ
ในการบรรลุโสดาบัน
พระมหาโมคคัลลานะ
เคยแสดงฤทธิ์ขึ้นไปบนเทวโลกชั้นดาวดึงส์
เพื่อสนทนาธรรมกับท้าวสักกะ
สรรเสริญการถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
และถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
โดยพรรณนาละเอียดครบถ้วนเริ่มจาก
“อิติปิ โส ภะคะวา..” จนครบองค์รัตนตรัย

ซึ่งท้าวสักกะได้รับรองภาษิตของท่าน
ปรากฏในสักกสูตร โมคคัลลานสังยุต
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 พระสุตตันตปิฎก
สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค

การสนทนาธรรมระหว่างพระโมคคัลลานะ
กับท้าวสักกะในพระสูตรนั้น
เป็นการรับรองกลับไปกลับมาหลายครั้ง
จากนั้นจึงสรุปร่วมกันว่า
การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
เป็นเหตุให้ได้ทิพยสมบัติ 10 ประการ
คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์
ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์
กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพะทิพย์

ดิฉันเองสมัยก่อนเคยขาดความเลื่อมใส
ในพระสงฆ์ เวลาสวดมนต์จะน้อมใจให้กับ
พระพุทธ จะซาบซึ้งกับพระธรรม
ส่วนพระสงฆ์นั้น ในส่วนสังฆานุสสติ
ก็สวดๆ ไปเช่นนั้นเอง
ทำให้สวดได้ไม่แม่นยำ
มักจำลำดับสลับกัน
ระหว่าง อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน
และ สามีจิปฏิปันโน อยู่เสมอ

จนวันหนึ่งรู้สึกรำคาญตนเอง
จึงนั่งค้นคำแปลบทสวดมนต์นี้
คำว่า สุปฏิปันโน นั้นรู้อยู่แล้วว่า
หมายถึง ปฏิบัติดี
เมื่อค้นไป จึงได้รู้ว่า
อุชุปฏิปันโน หมายถึงปฏิบัติตรง
คือตรงตามทางอริยมรรคมีองค์แปด
ตรงตามรอยพระพุทธองค์
คือ โพธิปักขิยธรรม 37
และตรงตามพระธรรมวินัย
รู้ดังนี้ก็ตอบตนเองได้ว่า
ถ้าพระภิกษุรูปใดท่านปฏิบัติได้ตรงแบบนี้
ท่านจะบรรลุธรรมหรือยัง
เราก็ย่อมไหว้ท่านได้หมดหัวใจ

ต่อมาจึงพยายามทำความเข้าใจคำว่า
ญายะปฏิปันโน
ที่หนังสือสวดมนต์แปลว่า
ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์
ตอนแรกไม่เข้าใจ
ต่อมาเมื่อรู้ว่า ญายธรรม
คือ ปฏิจจสมุปบาท คืออริยสัจ 4
ก็เข้าใจแจ่มชัด ว่าอะไรเป็นอะไร

กล่าวคือ พระสงฆ์ที่เราสวดมนต์สรรเสริญนั้น
เราสวดสรรเสริญพระสุปฏิปันโน
คือปฏิบัติดีก่อน เมื่อเป็นพระสุปฏิปันโนแล้ว
ท่านก็จะเป็นพระอุชุปฏิปันโน คือปฏิบัติตรง
เมื่อเป็นอุชุปฏิปันโนแล้ว
จึงเป็น ญายะปฏิปันโนได้
เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไปเช่นนั้น
ซึ่งถ้าท่านมีการปฏิบัติดังกล่าว
คำว่า สามีจิปฏิปันโนก็ไม่ต้องเป็นที่สงสัยอีกต่อไป
เพราะท่านย่อมเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
ไม่เป็นสาวกของเทพเจ้าหรือผู้มีอิทธิฤทธิ์อื่นใด
เรากราบไหว้บูชาพระสงฆ์เช่นนี้

ยิ่งข้อความที่ว่า
“ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ
อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา”
ที่แปลว่า คู่แห่งบุรุษ 4 คู่
นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ

นั่นก็คืออริยบุคคลทั้งสี่ลำดับ
คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์
แยกเป็น 8 คือ
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล
อนาคามีมรรค อนาคามีผล
อรหัตตมรรค และอรหัตตผล

ทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันพึมพำออกมาว่า
“สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”
จากนั้นก็ไม่เคยหวั่นไหวอีกเลย
ดิฉันจะสวดมนต์ทั้งหมด
ด้วยความนอบน้อมสม่ำเสมอ
และด้วยความเข้าใจว่า
บทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยนี้
คือคำแทนใจทั้งหมดที่พุทธบริษัท
มีต่อพระผู้มีพระภาค
มีต่อพระธรรมทั้งปวง
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
และพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ซึ่งกำลังกำลังบำเพ็ญเพียรก็ตาม
ซึ่งจบกิจแล้วก็ตาม
ผู้ซื่งได้สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอน
มายาวนานกว่า 2,500 ปี
จนพระธรรมนี้มาถึงเรา

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรากำลังสวดมนต์นี้อยู่
เราก็ได้กำลังกล่าวคำสรรเสริญ
ด้วยถ้อยคำเดียวกันกับพุทธบริษัททั้งหลาย
ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 14:01:38 น.   
Counter : 748 Pageviews.  


เมื่อพราหมณ์ถามปัญหาพระพุทธองค์เรื่องความโกรธ



เรื่องนี้เริ่มจากนางพราหมณีชื่อ ธนัญชานี ในภารทวาชโคตร

นางอาศัยอยู่ในหมู่บ้านปัจจลกัปปะ แคว้นโกศล
เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เมื่อนางพลั้งพลาดอะไรก็ตาม
เป็นอันจะต้องเปล่งคำอุทานขึ้น 3 ครั้งว่า
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต
สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ทุกครั้งไป

เรื่องนี้ปรากฎในพระไตรปิฎกเล่มที่ 15
กล่าวคือ ในพราหมณสังยุต อรหันตวรรค
ทั้งหมวด คือ ทั้งสิบพระสูตร ในอรหันตวรรคนั้น
เริ่มมาจากการอุทาน “นโม ตัสสะฯ”
ของนางธนัญชานีพราหมณ์
เป็นเหตุให้พราหมณ์ในตระกูลภารทวาช หลายคน
ออกบวชและบรรลุอรหัตตผล

ครั้งหนึ่ง ขณะที่นางจัดอาหารเพื่อนำไปให้
พราหมณ์ภารทวาชโคตร นางเกิดก้าวพลาด
จึงอุทาน “นโม ตัสสะ ภะคะวะโต ฯ”ออกมา

พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธมาก
เขาด่าว่านางที่ยกย่องสรรเสริญพระพุทธองค์
ซึ่งเขาดูถูกว่าเป็นเพียง “สมณะโล้น”
ผู้ไม่มีคำสอนที่ลึกซึ้งอะไร

นางธนัญชานีพราหมณ์ไม่มีความรู้อะไรจะโต้ตอบ
จึงยืนยันคำนอบน้อมของนางต่อพระผู้มีพระภาค
พร้อมบอกให้พราหมณ์ภารทวาชโคตรไปพิสูจน์ด้วยตนเอง
ด้วยคำกล่าวว่า
“ท่านจงไปเถิด ไปแล้วก็จักรู้เอง”

พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธ ไม่พอใจมาก
แต่ก็ไม่ต้องการให้นางธนัญชานีดูแคลน
จึงเตรียมปัญหาที่จะไปถามพระพุทธองค์
พิสูจน์ความเชื่อของตนเอง
ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าก็ถามพระพุทธองค์ขึ้นว่า

“บุคคลกำจัดอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก”

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“บุคคลจำกัดความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก
พราหมณ์ พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการกำจัดความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะบุคคลกำจัดความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก”

ทันทีที่ได้ยินคำตอบพราหมณ์ภารทวาชโคตรอึ้งไปเลย
เปลี่ยนความโกรธเป็นความชื่นชมยินดี
จากความดูแคลนกลายมาเป็นนับถือศรัทธาพระพุทธองค์
จึงกล่าวไตรสรณคมม์
ขอถึงพระพุทธองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
แล้วขอบวช จากนั้นได้บำเพ็ญเพียร
จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผู้หนึ่ง

เมื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตรออกบวช
พราหมณ์คนอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันพากันโกรธเป็นการใหญ่
หลายคนตามมาด่าว่าพระพุทธองค์ เช่น อักโกสกภารทวาชพราหมณ์
อสุรินทกภารทวาชพรามหณ์ และ พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์

ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงโต้ตอบ
แต่อธิบายให้ฟังว่าทำไมพระองค์จึงไม่โกรธ เช่น

ในอักโกสกสูตร ซึ่งกล่าวถึง
อักโกสกภารทวาชพรามหณ์ ผู้มาตามด่าพระองค์
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า

“บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้
ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง 2 ฝ่าย
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น”

จากพุทธดำรัสดังกล่าว
ทำให้อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้คิด
เห็นโทษของความโกรธ เห็นประโยชน์ของการไม่โกรธ
รู้ว่าได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงขอบวช

ต่อมาในอสุรินทกสูตร
ได้กล่าวถึงอสุรินทกภารทวาชพราหมณ์
ที่โกรธพระพุทธองค์เช่นกัน
เพราะพรามหณ์ในตระกูลว่าจะมาโต้ปัญหากับพระพุทธองค์
แต่มาถึงก็กลับใจออกบวชไปตามๆ กัน เขาจึงโกรธมาก
จึงมาหาถึงที่ประทับและด่าว่าพระพุทธองค์ต่างๆ นานา

แต่พระพุทธองค์ทรงนิ่งเฉยต่อการด่าว่าเหล่านั้น
อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ดีใจ ร้องซ้ำๆ ออกมาว่า

“เราชนะท่านแล้ว ๆ”

พระพุทธองค์จึงทรงตรัสตอบว่า

“ชนพาลกล่าววาจาหยาบคาย
ย่อมเข้าใจว่าตนเองชนะ
แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้ง
ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น"

ข้อความหลังจากนี้เป็นข้อความเดียวกัน
กับที่ทรงตรัสตอบอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ คือ

“บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้
ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง 2 ฝ่าย
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น”

ความสงบงดงามและถ้อยคำลึกซึ้งอันเป็นสุภาษิต
ทำให้อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์คิดได้
สำนึกตัว จึงกราบทูลขออภัยพระพุทธองค์
ขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
แล้วขอบวช

การบวชของอสุรินทกภารทวาชพรามหณ์
ทำให้พราหมณ์คนอื่นในตระกูลภารทวาชที่โกรธยิ่งขึ้นไปอีก

ดังปรากฏใน พิลังคกสูตร
พระสูตรนี้เล่าว่า พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์รู้สึกโกรธมาก
ที่พราหมณ์ในตระกูลพากันไปบวชกับพระพุทธองค์

ด้วยความโกรธจัด คือโกรธจนพูดไม่ออก
โกรธพอที่จะทำร้ายพระพุทธองค์ได้
พราหมณ์คนนี้มายืนนิ่งขึงอยู่เบื้องพระพักตร์

พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนดักคอว่า

“ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์
ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว ฉะนั้น”

พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ตกตะลึงว่า
พระพุทธองค์รู้วาระจิตของตน
หลังจากที่อ้ำอึ้ง จึงเกิดความเอะใจ
ว่าพระพุทธองค์เป็นมหาบุรุษผู้เอาชนะความโกรธได้
ความโกรธจึงสงบลง เหลือแต่ความสนใจใฝ่ธรรม
พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์จึงขอฟังพุทธธรรม
จากนั้นพราหมณ์ผู้นี้ก็ขอบวชอีกคนหนึ่ง

พราหมณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เมื่อออกบวช
ได้บำเพ็ญเพียร สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกรูป

ดังนั้น ขอเราจงเดินตามรอยพระบาท
อยู่เป็นสุขด้วยการฆ่าความโกรธของตนเสีย
และเอาชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธเถิดค่ะ




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 11:58:53 น.   
Counter : 567 Pageviews.  



oDaineo
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Photo Frames. Yellow Flowers Border
[Add oDaineo's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com