สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 1

[CR] รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ควบคุมได้ทุกที่ ด้วยสัญญาณ WiFi  ตอนที่ 1


รีวิว แอร์ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ควบคุม ผ่านทาง WiFi ด้วย Smart Phone





สวัสดีครับทุกท่าน...ต้องยอมรับว่าอากาศประเทศไทยมีแต่จะร้อนขึ้นทุกๆวันเครื่องปรับอากาศหรือ “แอร์” ก็ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของในช่วงนี้ที่ตลาดของเครื่องปรับอากาศค่อนข้างจะคึกคักมากเป็นพิเศษซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดประจำในช่วงหน้าร้อนของทุกๆปี
ในช่วงที่ผ่านมาผมเองมีโอกาสได้เลือกซื้อเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่มาติดตั้งให้กับที่บ้านสวนของคุณพ่อผมเป็นเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ล่าสุดมีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ในการสั่งการควบคุมโดยสามารถควบคุมการทำงานด้วยSmartPhone
ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายหรือ Wi-Fi ซึ่งการควบคุมแบบนี้นับว่าเป็นเรื่องที่มีเข้ามาใหม่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศบ้านเราเลยก็ว่าได้


ด้วยความที่เป็นของใหม่หรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ในตอนี้จึงยังมีการพูดถึงน้อยในมุมมองของผู้ใช้งานตัวผมเองเลยคิดว่า...
ถ้าได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเผยแพร่คงจะช่วยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้สนใจเป็นประโยชน์ให้แก่สังคมได้ไม่มากก็น้อย และข้อมูลที่ผมรวบรวมมานี้ก็อาจจะช่วยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประกอบการตัดสินใจของใครหลายคน


ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพพันธ์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ผมกำลังวางแผนจะไปติดเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ให้คุณพ่อแต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่ชัดว่าจะเลือกของยี่ห้อไหนและยังหาเวลาว่างไม่ได้แต่ระหว่างนั้นลองนำหลายๆยี่ห้อที่ราคาใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ
และในช่วงนั้นเองผมมีโอกาสได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์โทรทัศน์ชุดใหม่ ของSamsung
โดยเป็นภาพยนตร์โฆษณาของเครื่องปรับอากาศรุ่นหนึ่งมีจุดเด่นที่สั่งการได้ผ่านสัญญาณ Wi-Fi โดยใช้โทรศัพท์มือถือSmart Phone เป็นตัวควบคุม(หลายคนคงเคยได้ชมกันไปแล้วทางโทรทัศน์)




หลังจากที่ผมได้ดูโฆษณาจบก็เริ่มสนใจเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ลองค้นหาข้อมูลเบื้องต้นทางอินเตอร์เน็ตก็พบแต่ขอมูลจากผู้ผลิตประกอบกับในตอนนั้นสินค้าตัวจริงยังไม่ถูกส่งมาวางจำหน่ายการที่ผมยังไม่เห็นของจริงจึงไม่ค่อยกล้าตัดสินใจอะไรมาก(เพราะราคาสินค้าก็ไม่ใช่บาทสองบาท)ต้องรอให้ได้เห็นของจริงก่อนค่อยว่ากัน




และเมื่อถึงเวลาที่เครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ออกวางจำหน่ายผมจึงลองมาดูตัวจริงของเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้
เมื่อผมได้ดูสินค้าตัวจริงร่วมกับข้อมูลจำเพาะที่ทางผู้ผลิตให้มา
ก็พอจะสรุปออกมาได้โดยภาพรวมว่า...เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้จัดว่าเป็นรุ่นท็อปในกลุ่มเครื่องปรับอากาศแบบ Walltype ของ SAMSUNG เรื่องคุณภาพวัสดุที่ใช้ในรุ่นนี้จึงจัดว่าอยู่ในระดับที่ดี

แต่ผมก็ได้กลับมาค้นคว้าข้อมูลบางอย่างที่ยังสงสัยเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัสดุที่ใช้ส่วนประกอบอื่นๆและข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตได้ให้ไว้

หลังจากที่ได้พิจารณาข้อมูลต่างๆทั้งข้อมูลที่ได้จากผู้ผลิตข้อมูลส่วนที่หามาเพิ่มและยังได้นำข้อมูลบางส่วนจากการติดตั้งและใช้งานของเครื่องปรับเครื่องก่อนมาประกอบ
ด้วยเหตุผลสนับสนุนในหลายๆด้านทำให้ผมจึงตัดสินใจเลือกเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้


แต่ถึงอย่างไร...เหตุผลในการตัดสินใจเลือกเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากมุมมองในส่วนของผมเองซึ่งก็เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลในส่วนนี้ผู้อ่านทุกท่านก็ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลนะครับ




ข้อมูลเบื้องต้น ของเครื่องปรับอากาศที่ผมได้เลือกมาติดตั้งและใช้งานเป็นเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ SAMSUNG รุ่น Smart WiFi Inverter HealthCare ขนาดทำความเย็น 18000 BTU (17,881.95 BTU) 

สำหรับจุดเริ่มต้นและทีมาที่ไปเกี่ยวกับสาเหตุที่เลือกนำเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้มาใช้งาน

เนื่องมาจากที่บ้านสวนของคุณพ่อผมมีการปรับปรุงซ่อมแซมในส่วนของตัวบ้านและอาคารที่ทำงานซึ่งเมื่อปีที่แล้วผมก็ได้มาติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มที่อาคารหลังนี้ซึ่งเป็นเครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNG ซึ่งก็ได้เคยนำมาทำเป็นรีวิวไปแล้ว(ตามลิงค์) ...Click...

และภายหลังจากที่ได้ติดตั้งและใช้งานคุณพ่อผมก็ถูกใจเครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นพอสมควร

จนมาในปีนี้ได้มีการขยายห้องที่อยู่ภายในอาคารหลังนี้จากเดิมเป็นห้องที่มีขนาด3 x 4 เมตรมีอยู่จำนวนสองห้องหนึ่งในนี้เป็นห้องที่ได้มาติดตั้งเครื่องปรับอากาศInverter ของ SAMSUNG ไว้เมื่อปีที่แล้วส่วนอีกห้องเป็นห้องที่ถูกขยายออกโดยขยายพื้นที่เป็น 6 x 4 เมตรภายในห้องที่ถูกขยายออกนี้ก็มีเครื่องปรับอากาศMitsubishi Electric Mr.Slim ขนาด 9000BTU ที่ถูกติดตั้งไว้เมื่อกว่าปีที่แล้วเมื่อมีการปรับปรุง ห้องก็ได้ถูกขยายขึ้นจาก 12ตารางเมตรเป็น 24 ตารางเมตรห้องขนาดนี้ใช้เครื่องปรับอากาศของเดิม ขนาด 9000 BTU เพียงเครื่องเดียวก็ย่อมไม่พอแน่ๆ

ทางเลือกแรกที่คิดไว้คือ...ซื้อเครื่องปรับอากาศแบบเดิม คือตัว EconoAirขนาด9000 BTU มาติดในห้องเพิ่มอีกหนึ่งเครื่องแต่...คุณพ่อผมท่านอยากให้เครื่องที่จะติดตั้งใหม่ใช้เป็นเครื่องปรับอากาศระบบ Inverterแต่ถ้าหากจะซื้อเครื่องปรับอากาศ Inverter ขนาด9000 BTU มาติดตั้งในห้องเพิ่มอีกเครื่องแล้วใช้ร่วมกับเครื่องปรับอากาศของเดิมที่มีอยู่ก็ดูเหมือนระบบลูกผสมระหว่างแบบธรรมดากับ แบบอินเวอร์เตอร์คงไม่ค่อยเหมาะสักเท่าไหร่
ในที่สุด ผมจึงเลือกที่จะติดเป็นเครื่องปรับอากาศ Inverter ขนาด 18000 BTUแทนที่เครื่องปรับอากาศของเดิม




ในส่วนเหตุผลที่คุณพ่อผมต้องการเป็นเครื่องปรับอากาศInverter ก็เนื่องมาจาก เครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ตัวที่มาติดในครั้งก่อนทำให้คุณพ่อผมท่านประทับใจในส่วนของค่าไฟที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า...เดิมทีนั้นในอาคารหลังนี้ ส่วนของห้องที่มีการติดตั้งMitsubishi Electric 9000 BTUจะถูกใช้งานเป็นประจำทุกวันและต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตั้งแต่เช้าถึงเย็น

ต่อมามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยที่มีอยู่ไม่มากในอาคารหลังนี้ทำให้ห้องทำงานต้องเปลี่ยนมาใช้อีกห้องหนึ่งโดยผมก็ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องปรับอากาศInverter ของ SAMSUNG เอาไว้ในอีกห้องหนึ่งและย้ายมาใช้งานห้องนี้แทนเครื่องปรับอากาศ Inverter ที่เพิ่งติดไปก็ถูกเปิดใช้โดยเปิดใช้งานแทนเครื่องเก่าที่อยู่อีกห้องใช้งานในระยะเวลาเท่าเดิมค่าไฟหลังจากย้ายมาใช้งานเครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNGปรากฏว่าค่าไฟลดลงอยู่พอสมควร ทั้งที่ตัว Inverter มีขนาดใหญ่กว่าโดยเป็นรุ่น 13000 BTU
ในจุดนี้เองทำให้คุณพ่อผมพอใจในอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter




และคงจะไม่ต้องพูดแล้วว่า...“เครื่องปรับอากาศ ระบบอินเวอร์เตอร์(Inverter)” คืออะไรและมีข้อดี-ข้อเสียต่างจากเครื่องปรับอากาศระบบธรรมดาอย่างไรแต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบหรือต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ Inverter แนะนำเบื้องต้นให้เข้าไปดูในweblog ของผมซึ่งผมได้รวบรวมข้อมูลแล้วเขียนบทความที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว(ตามลิงค์) ...Click...




รีวิวยังไม่จบ อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 2 Click





 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 4:18:57 น.
Counter : 9900 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter ตอนที่ 3

มาถึงรีวิวตอนที่ 3 แล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นตอนสุดท้ายท้ายสุดของรีวิว...เครื่องปรับอากาศ Inverter SAMSUNG รุ่น Maldives Inverter (13000 BTU) ซึ่งตอนที่ 3 นี้ ผมจะรีวิวในส่วนของขั้นตอนและวิธีการติดตั้ง



ถ้าใครที่เพิ่งเปิดมาเจอ หน้านี้ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 3 (ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 และ 2) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 และ 2 ก่อนนะครับ 

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าอ่านรีวิวตอนที่ 1 และ 2 ก็คลิ๊กเข้าไปตามลิงค์ข้างล่างเลย

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2



อันที่จริงในส่วนของห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ คุณพ่อผมมีแผนที่จะทาสีปรับปรุงใหม่ เพราะตัวบ้านหลังนี้ก็มีอายุกว่า 40 ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทาสีเพราะข้าวของก็ยังไม่ได้เคลื่อนย้าย ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะทาเสร็จ และผมก็ไม่แน่ใจว่าตอนที่ทาสีเสร็จแล้วจะว่างเข้ามาที่บ้านสวนอีกเมื่อไหร่ ไหนๆช่วงนี้ยังว่างก็เลยเข้ามาติดแอร์ไว้ให้ใช้ไปก่อนในช่วงหน้าร้อนนี้ จะทาสีเมื่อไหร่ ค่อยให้ไปหาพลาสติกมาหุ้มเอาก็แล้วกัน



ขั้นแรกเตรียมพื้นที่ นำแผ่นยึดคอยล์เย็นมาทำการวัดระดับ แล้วกำหนดรูที่จะเจายึด






ใส่พุกพลาสติก แล้วยึดแผ่นยึดคอยล์เย็นเข้ากับผนังให้มั่นคงแข็งแรง ทำการตรวจเช็คระดับความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้การไหลของน้ำทิ้งทำได้สะดวก






เจาะรูสำหรับวิ่งท่อออกไปนอกตัวบ้าน บริเวณมุมห้อง ซึ่งในการติดตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเจาะทะลุออกไปหลังคอยล์เย็นได้ เพราะเป็นฝั่งของอีกห้องหนึ่ง งานนี้ไม่ได้นำเอาหัวเจาะ Hole Saw เจาะปูนมาด้วย เลยต้องใช้ดอกส่วนขนาดโตสุดเท่าที่พาติดมาด้วยในกล่องสว่าน เจาะนำเป็นรูละทุออกไป แล้วใช้สกัดขยายแต่งรูให้มีขนาดเหมาะสม กว่าจะได้รูนี้ใช้พละกำลังเยอะพอสมควร เพราะผนังปูน เป็นผนังเก่าที่ก่อมาร่วมกว่า 40 ปีแล้ว ปูนและอิฐสมัยก่อนแข็งมากๆ







ดอกสว่านโตสุดเท่าที่นำมาด้วย ในการติดตั้งครั้งนี้






จัดการเอาคอยล์เย็นมาตัดช่องสำหรับเดินท่ออก ตามรอยบากที่มีมาให้






จัดการถอดถาดน้ำทิ้งออกมา เพื่อย้ายด้านของท่อน้ำทิ้ง แต่ก่อนจะถอดถาดน้ำทิ้งต้องไม่ลืม ปลดมอเตอร์สวิงตัวเล็กๆออกเสียก่อน






แล้วจึงถอดถาดน้ำทิ้งออกมาจากฐานของเครื่อง รุ่นนี้จุดต่อของถาดน้ำทึ้งกับท่อออกแบบมาให้ยึดติดด้วยสกรูหนึ่งตัว






ทำการย้ายข้าง ท่อน้ำทิ้งจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ข้างที่ไม่ใช้ก็เอาจุกยางที่ให้มาเสียบกลับเข้าไปเหมือนเดิม...สังเกตดูที่ถาดน้ำทิ้งทางผู้ผลิตเขียนตัวเลขพร้อมรูปหัวใจมาให้ด้วย ไม่รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ในขั้นตอนการประกอบหรือแอบส่งความรักมาให้ใครกันแน่???






เมื่อย้ายข้างท่อน้ำทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการประกอบเข้าที่เดิมให้ลงล็อค ติดมอเตอร์บานสวิงกลับเข้าที่






จัดการต่อสายไฟในส่วนที่จะจ่ายไปให้ชุดคอยล์ร้อน 
N(1) คือสาย Neutral - 1 คือสาย Line - 2 คือสาย Control






จัดสายไฟเข้า สายไฟออก ให้แนบไปกับชุดท่อ เตรียมที่จะยกคอยล์เย็นขึ้นไปแขวน






ค่อยๆทำการคลี่ม้วนท่อทองแดงออกทั้งสองม้วน






ยกคอยล์เย็นขึ้นไปแขวนบนแผ่นรองรับที่ได้เตรียมไว้แล้วแต่แรก จัดการคลายแฟร์นัทของท่อทองแดงที่คอยล์เย็นเพื่อปล่อยแก๊สไนโตรเจนที่ทางผู้ผลิตอัดไว้ในให้ในชุดคอยล์เย็น 
ปล. ในคู่มือ ผู้ผลิตได้ระบุมา ประมาณว่า...ในขณะที่คลายข้อต่อของท่อที่ชุดคอยล์เย็น หากไม่มีแรงดันของก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)พุงออกมา ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าชุดคอยล์เย็นมีรอยรั่ว ไม่ควรดำเนินการติดตั้งต่อ และควรติดต่อศูนย์บริการใกล้บ้านทันที 

เมื่อปล่อยแรงดันในคอยล์เย็นออกหมดแล้ว จัดการถอดแฟร์นัทมาสวมที่ปลายท่ออีกด้าน แล้วทำการบานท่อทองแดงทั้งท่อใหญ่และท่อเล็ก ท่อทองแดงที่มากับชุดเครื่องปรับอากาศเป็นท่อแบบหนา ดังนั้นการบานท่อโดยการบานชั้นเดียวก็ถือว่าเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการบานสองชั้น
เมื่อบานท่อเสร็จก็ทำการขันแฟร์นัทเข้าให้แน่น 
แล้วทำการจัดแนวท่อสารทำความเย็น ท่อน้ำทิ้ง และสายไฟ ให้อยู่ในแนวการเดินท่อที่กำหนด






เจาะกำแพงส่วนนอกบ้าน ยึดขาแขวนคอยล์ร้อนให้มั่นคง แน่นหนา แล้วทำการยกคอยล์ร้อนขึ้นไปวางบนขาแขวน 

…ขั้นตอนนี้ยากลำบากนิดหน่อย เพราะทำงานคนเดียว จังหวะที่ขึ้นไปวัดระดับและเจาะรูปีนบันไดขึ้นไป เพราะจุดที่จะแขวนกะจะแขวนให้สูงเหนือชุดคอยล์ร้อนของแอร์เครื่องที่มีอยู่เดิม ซึ่งถ้ายืนบนพื้นดินแอร์เครื่องเดิมพัดลมจะพัดมาในระดับศีรษะพอดี เมื่อแอร์เครื่องใหม่มาติดในระดับสูงกว่าเดิม คิดดูครับทำงานคนเดียวแถมไปยึดขาแขวนซะสูง ลองนึกภาพดู ผมสูง 180 ชูมือขึ้นสุดยังแตะไม่ถึงขาแขวนคอยล์ร้อนเลย เอาไงดี...ถ้าอุ้มคอยล์ร้อนคนเดียวปีนขึ้นบันใด มีหวังได้หล่นทั้งคนทั้งแอร์แน่ๆ ตอนนั้นอยู่ที่บ้านสวนคนเดียวด้วยทำยังไงดี คิดอยู่สักพัก บังเอิญพี่คนงานในสวนก็ขับรถทุกปุ๋ยมาเก็บที่โกดังข้างบ้านพอดี เลยเรียกให้มาช่วยยกชุดคอนเด็นซิ่งขึ้นแท่น…
เมื่อยกตั้งได้แล้วก็จัดการยึดชุดคอยล์ร้อนด้วยสกรูที่ขาทั้งทั้งสี่ ให้เรียบร้อย






เมื่อจัดการในส่วนของแฟร์นัทด้านคอยล์เย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาจัดการใส่แฟร์นัทและบานท่อทองแดงในส่วนของด้านที่จะต่อเข้าคอยล์ร้อน 
เมื่อขันต่อแฟร์นัทในส่วนของคอยล์ร้อนแล้ว จัดการเปิดวาล์วด้านท่อทางอัด(ท่อเล็ก) เพื่อปล่อยแรงดันเข้าสู่ระบบส่วนหนึ่ง แล้วปิดวาล์วกลับเหมือนเดิม ให้น้ำยาส่วนหนึ่งเดินทางจาดท่อไปยังคอยล์เย็น แล้วเอาน้ำฟองสบู่มาเทสรั่วตามจุดต่อที่ขันแฟร์นัทไว้เมื่อครู่ ถ้าไม่พบรอยรั่วก็ปล่อยแรงดันส่วนนั้นทิ้งไปเพื่อเตรียมทำสุญญากาศในระบบ






ในระหว่างนั้นก็เก็บงานในส่วนระบบไฟฟ้าให้เรียบร้อย ต่อสายไฟเข้าตามขั้วที่กำหนดให้ถูกต้อง แล้วจึงทำการพันท่อด้วยเทปไวนิลเก็บท่อและสายไฟให้เรียบร้อย ติดตั้งตัวแคลมป์สำหรับยึดท่อ แล้วเอาปูนมาอุดรูที่ผนังให้เรียบร้อย
ผมเลือกใช้ลวดอลูมิเนียมแบนมาเป็นตัวยึดท่อ และเดินท่อลอยบนผนังโดยไม่ต้องใส่รางตรอบท่อ เพราะบ้านสวนของคุณพ่อผม เป็นบ้านเก่า ไม่ซีเรียสเรื่องความสวยงามมากมาย เดินท่อโดยการพันเทปไวนิลให้เรียบร้อยแล้วยึดลอยบนผนังก็เพียงพอแล้ว






เก็บงานในส่วนของท่อด้านในห้องให้เรียบร้อย แล้วต่อเกจทำระบบให้เป็นสุญญากาศ (Vacuum) ประมาณ 15 – 20 นาที (เวลาตามที่ผู้ผลิตได้ระบบไว้ในคู่มือ) เมื่อทำสุญญากาศเสร็จสิ้นแล้ว จึงทำการเปิดวาล์วน้ำยาท่อทางอัดและท่อทางดูดให้สุด คล้องแคลมป์มิเตอร์วัดกระแส ที่สายไฟเข้าคอยล์ร้อนเพื่อวัดกระแสไฟฟ้า แล้วเริ่มเดินเครื่อง







ส่วนเรื่องแรงดันสารทำความเย็นขณะเดินเครื่อง ในกรณีดังกล่าว เป็นเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งระดับแรงดันน้ำยามีการแปรผันเปลี่ยนแปลงตามรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์และอุณหภูมิสภาพแวดล้อม เราจะใช้วิธีการสังเกต แรงดันท่อทางดูดเหมือนที่ทำกันในสารทำความเย็น R-22 ดูจะไม่ได้ผล เพราะแรงดันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขณะที่เครื่องทำงาน ดังนั้นสารทำความเย็น R-410A ในการเติมสารทำความเย็น จะใช้วิธีการคำนวณน้ำหนักตามความยาวท่อ
ซึ่งการติดตั้งครั้งนี้ใช้ท่อความยาว 4 เมตร พอดีกับที่บริษัทให้มา ในชุดคอยล์ร้อนทางผู้ผลิตได้อัดสารทำความเย็นมาให้ในปริมาณที่พอดีแล้ว (และอาจเหลือมาให้อีกนิดหน่อยด้วยซ้ำ) กรณีนี้ถือว่าปริมาณสารทำความเย็นในระบบมีอยู่เพียงพอกับความต้องการ 
ระดับค่าแรงดันมาตรฐานที่กำหนด สำหรับค่าที่วัดได้จากแมนิโฟลด์เกจ ของสารทำความเย็น R-410A 
ด้านแรงดันต่ำ 0.15-0.25 MPa(1.5-2.5 กก/ตร.ซม, 21-36 PSIG)
ด้านแรงดันสูง 1.37-1.57 MPa(14-16 กก/ตร.ซม, 199-228 PSIG)



เมื่อเริ่มเดินเครื่อง หลักๆที่ควรจะสังเกตและบันทึกข้อมูล คืออัตราการใช้กระแสไฟฟ้าของตัวเครื่อง






แรกเริ่มเดินเครื่อง ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23 องศา ในขณะที่เครื่องทำงานเต็มกำลัง อัตราการใช้กระแสไฟฟ้าที่วัดได้ อยู่ที่ 4.3 A. เสียงของเครื่องในขณะที่เร่งรอบเพื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง เครื่องเดินได้นิ่งและค่อนข้างเงียบ 

ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลบนป้ายแสดงรายละเอียดของตัวเครื่อง (Name Plate) ระบุอัตราการใช้กระแสไฟที่ 4.8 A. (วัดจริงได้ 4.3 A.)






เมื่อเดินเครื่องไปสักพักอัตรากระแสก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ 3.7 A.






และลดลงมาที่ 3.2 A.






กระแสไฟฟ้ายังคงลดลงมาจนถึงระดับ 2.8 A. และเสียงของคอมเพรสเซอร์ในตอนนี้ถือว่าเงียบมาก ได้ยินเพียงแค่เสียงพัดลมระบายความร้อน แทบจะไม่ได้ยินเสียงคอมเพรสเซอร์ทำงานเลย ถือว่าทำงานได้เงียบ






และกระแสไฟฟ้าก็คงลดลงมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 1.8 A. จากนั้นผมก็ลงมาดูอุณหภูมิในห้อง






ในขณะเครื่องทำงาน เกิดเป็นหยดน้ำเกาะที่วาล์วทั้งสอง ก็แสดงว่าเครื่องทำงานตามวัฏจักรอย่างสมบูรณ์






เดินเข้ามาดูภายในห้อง อุณหภูมิในห้องเย็นสบาย 
ระดับความเร็วพัดลมที่ความเร็วสูงสุดเสียงก็ไม่ได้ดังมาก ลมแรงใช้ได้เลย ยิ่งถ้าปรับเป็นความเร็วพัดลมแบบ Auto ในช่วงที่ห้องเย็นแล้ว พัดลมเดินในระดับความเร็วต่ำสุด ถือว่าเสียงเงียบมาก






ปรับตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23 องศาเซลเซียส






จัดการถอดสายเกจ ถอดแคลมป์มิเตอร์ แล้วปิดฝาครอบด้านข้างของตัวเครื่อง เก็บข้าวของให้เรียบร้อย ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนในการติดตั้ง
ตัวล่างเป็นแอร์ของเดิมที่ติดไว้อีกห้องหนึ่ง ยี่ห้อ Mitsubishi ติดตั้งไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว






ส่วนของชุดรีโมทคอนโทรล ใบรับประกัน และคู่มือ






รีโมทคอนโทรล มีขนาดเล็กกะทัดรัด ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆมากมาย โดยรวมแล้ว Mode ฟังก์ชั่นพื้นฐานของแอร์เครื่องนี้ก็จะมี 
อัตโนมัติ (Auto) - ทำความเย็น (Cool) - ขจัดความชื้น (Dry) - พัดลม (Fan) และ ทำความร้อน (Heat)
ลองเอารีโมทคอนโทรล ของ Mitsubishi มาเทียบกันให้ดู






ภายในคู่มือที่แนบมากับเครื่อง ระบุรายละเอียดข้อมูลในการใช้งานและการติดตั้งมาให้อย่างละเอียด






บอกแม้กระทั้งค่าทอร์คที่ใช้ในการขันแฟร์นัท






หรือแม้แต่ขนาดในการบานท่อทองแดง คู่มือเล่มนี้ก็บอกรายละเอียดมาให้ครบถ้วน






มีภาพประกอบในขั้นตอนการติดตั้ง การตัดท่อ ลักษณะการบานท่อ การขันแฟร์นัท ฯลฯ และมีคำอธิบายมาให้อย่างละเอียด...อ่านคู่มือไปพลางก็แอบอมยิ้มไปด้วย ข้อมูลที่ให้มาละเอียดดีมาก จนทำให้นึกย้อนไปถึงตำราเรียนวิชาเครื่องทำความเย็นสมัยก่อน




ข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ที่ทางผู้ผลิตระบุไว้

ประสิทธิภาพ

ความจุ (การทำความเย็น, Btu/ชม.) Btu/ชม. 11300
ความจุ (การทำความเย็น, Kcal/ชม.) Kcal/ชม. 2847
ความจุ (การทำความเย็น, kW) Kw 3.31
ความจุ (การทำความเย็น, ต่ำสุด-สูงสุด) (ต่ำสุด~สูงสุด) Kw: 0.97 - 4 Btu/hr: 3310 - 13648 Kcal/hr: 834 - 3439
ความจุ (การทำความร้อน, Btu/ชม.) Btu/ชม. N/A
ความจุ (การทำความร้อน, Kcal/ชม.) Kcal/ชม. N/A
ความจุ (การทำความร้อน, kW) Kw N/A
ความจุ (การทำความร้อน, ต่ำสุด-สูงสุด) (ต่ำสุด~สูงสุด) N/A

ประหยัดพลังงาน

EER (Cooling, Btu/W) 11.6
EER (Cooling, W/W) 3.41
COP (Heating, W/W) N/A
การระบายความชื้น (ลิตร/ชม.) 1.4 
การหมุนเวียนอากาศ (สูงสุด, ม.3/นาที) ม.3/นาที 9
ระดับเสียงรบกวน Indoor High/Low 37 / 21 - Outdoor High 46

ข้อมูลทางไฟฟ้า

แหล่งจ่ายไฟ V/Hz/Phase 220 / 50 / 1
ประหยัดพลังงาน ความสิ้นเปลืองกำลังไฟ (การทำความเย็น) 970
ความสิ้นเปลืองกำลังไฟ (การทำความร้อน) N/A
กระแสไฟที่ใช้ทำงาน (การทำความเย็น) 4.3
กระแสไฟที่ใช้ทำงาน (การทำความร้อน) N/A

ข้อกำหนดทางกายภาพ

ขนาด Net Dimension (WxHxD, Indoor) 820 x 285 x 205
Net Dimension (WxHxD, Outdoor) 720 x 548 x 265
น้ำหนัก Net Weight (Outdoor) 26.7
Shipping Weight (Indoor) 10
Shipping Weight (Outdoor) 29.4
Net Weight (Indoor) 8.4

ข้อมูลทางเทคนิค

ประเภทน้ำยาทำความเย็น R410A 
วาล์ว SVC Liquid (ODxL) Φ6.35mm
Gas (ODxL) Φ9.52mm
ความยาวท่อ Piping Length (Max) 15
ความสูงท่อ Piping Height (Max) 7

คุณสมบัติโดยทั่วไป

- การฟอกอากาศ

S-Plasma ion Yes
บานปิดหน้ากากอัตโนมัติ N/A
ตัวกรอง HD เต็มรูปแบบ 80
ตัวกรอง DNA N/A
ตัวกรองดูดกลิ่น N/A
ตัวกรอง Catechin N/A
การป้องกันภูมิแพ้ N/A
การเคลือบป้องกันแบคทีเรีย Yes
ทำความสะอาดอัตโนมัติ (ทำความสะอาดตัวเอง) Yes

- การไหลของอากาศ

ใบพัดคู่แบบกว้าง N/A
ใบพัดเดี่ยวแบบดีที่สุด Yes
ขั้นตอนการควบคุมการไหลของอากาศ (ทำความเย็น/พัดลม) 4
การควบคุมทิศทางลม (บน/ล่าง) Auto
การควบคุมทิศทางลม (ซ้าย/ขวา) Manual
อากาศธรรมชาติ Yes

- โหมดการทำงาน

เย็นสบาย N/A
หลับสบาย Yes
ประหยัดพลังงาน Yes
โหมดเทอร์โบ Yes
การลดความชื้น Yes
โหมดอัตโนมัติ Yes
โหมดพัดลม Yes
เงียบ Yes

- ความสะดวกสบาย

ตัวแสดงการทำความสะอาดตัวกรอง N/A
แสดงอุณหภูมิภายในห้อง N/A
รีโมตคอนโทรล Yes
เปิด/ปิดจอแสดงผล N/A
เปิด/ปิดเสียงบี๊พ N/A
ตัวตั้งเวลาจริง N/A
ตัวตั้งเวลา 24 ชม. Yes
รีสตาร์ทอัตโนมัติ Yes
เปลี่ยนอัตโนมัติ N/A

- ชุดอุปกรณ์นอกอาคาร

ประเภทคอมเพรสเซอร์ BLDC
ครีบกันสนิม Yes
คอนเดนเซอร์แบบหลายช่อง Yes

- อุณหภูมิ

ทำความเย็น 16 - 46
ทำความร้อน N/A





รีวิวชุดนี้ก็ต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าคงได้เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ไม่มากก็น้อย 
ขอขอบคุณที่เข้ามาติดตามรับชม...สวัสดีครับ




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:37:11 น.
Counter : 22639 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter ตอนที่ 2

มาถึงรีวิวตอนที่ 2 ซึ่งจะเจาะลึกในส่วนของรายละเอียดของชุดคอยล์เย็น (Fan Coil Unit)



ถ้าใครที่เพิ่งเปิดมาเจอ หน้านี้ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 2 (ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนที่1) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 ตามลิงค์ข้างล่าง ก่อนนะครับ

Link : รีวิวตอนที่ 1




หลังจากที่ดูรายละเอียดในส่วนคอยล์ร้อนไปแล้ว มาดูรายละเอียดในส่วนคอยล์เย็นกันต่อ

เมื่อเลื่อนกล่องออก ชุดคอยล์เย็นมีการห่อพลาสติก วางบนฐานโฟมกันกระแทก


ชุดคอยล์เย็น (Fan Coil Unit) ของเครื่องปรับอากาศ Inverter SAMSUNG รุ่น VIVALDI SMART-Inverter ขนาด 13,000 BTU


ฝาปิดด้านหน้าเครื่อง เปิดออกเพื่อนำฟิลเตอร์มาล้างทำได้ง่าย เพียงแค่ออกแรงดึงเบาๆจากด้านบน ก็จะสามารถถอดฝาหน้าออกมาได้ทั้งแผ่น และนำฟิลเตอร์ออกมาล้างทำความสะอาดได้อย่างง่ายดาย...EASY สมชื่อ




เมื่อถอดฝาหน้าออกมา ก็จะเจอกับ แผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศจำนวนสองแผ่น และฝาปิดช่องต่อสายไฟ(ด้านขวามือ)



เรื่องคุณภาพของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ มีคุณภาพดี พลาสติกมีความเหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ไม่แข็งเปราะแตกหักง่าย ไม่ต้องกังวลว่าฝาจะแตกหักเวลาดึงฝาเปิดทำความสะอาดบ่อยๆลองทดสอบโดยการบิดฝาหน้าไปมา...ฝาหน้ายืดหยุ่นตัวได้ดี



แผงฟิลเตอร์กรองอากาศตัวนี้ ประกอบไปด้วยเส้นใยกรองอากาศที่มีความละเอียดสูงสามารถกรองฝุ่นและเชื่อโรคได้มากขึ้นกว่าแบบทั่วๆไป แต่ว่า...แผงฟิลเตอร์ตัวนี้อาจจะต้องถอดมาล้างบ่อยครั้งกว่าแบบทั่วไป เพราะเนื่องจากเส้นใยมีความละเอียดสูง ดักจับสิ่งสกปรกได้มากกว่าส่งผลให้สกปรกเร็ว ต้องถอดมาล้างบ่อยๆ

แต่ถ้าเทียบดูแล้ว เพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีขึ้น และการที่ประสิทธิภาพของเครื่องที่ทำงานได้เต็มที่ก็ถือว่าคุ้มค่า



แผ่นกรองอากาศแบบสามมิติ Full HD Filter ซูมเข้ามาดูใกล้ๆ จะเห็นถึงความละเอียดของแผ่นกรองอากาศ



อุปกรณ์เสริมในส่วนของระบบฟอกอากาศ S-Plasma ion ตัวสี่เหลี่ยมที่เห็นในภาพ จะเป็นตัวสร้าง อิออนลบ (-) ที่มีหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รา และสารก่อภูมิแพ้ที่แพร่กระจายในอากาศ ตลอดจนถึงทำให้ active oxygen (OH Radical) ที่เป็นอันตรายอยู่ในสภาวะเป็นกลาง เพื่อคุณภาพอากาศภายในอาคารที่สะอาดและดีต่อสุขภาพถ้าสนใจ อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบฟอกอากาศของแอร์ตัวนี้ ผมแนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ของผู้ผลิต

//www.samsung.com/th/consumer/home-appliances/airconditioner/split-type/ASV13PUMNXST-features



เครื่องปรับอากาศตัวนี้มีเทคโนโลยีระบบฟอกอากาศ S-Plasma ion Virus Doctor ที่ทางผู้ผลิตให้ข้อมูลมาว่า...ช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรง เช่น โรคไข้หวัดหมู (Influenza A) สายพันธุ์ H1N1 และกระทั่งโรค SARS



ด้านหลังของชุดคอยล์เย็น (Fan Coil Unit)



มาถึงขั้นตอนในการถอดฝาครอบของชุดคอยล์เย็น (Fan Coil Unit)เปิดฝาปิดช่องสกรู แล้วทำการขันสกรูออกมาสองตัว ค่อยๆง้างฝาครอบจากด้านที่ถอดสกรู แล้วปลดฝาครอบให้หลุดออกจากตัวล็อกที่อยู่ด้านตรงข้าม



ภายในชุดคอยล์เย็น การออกแบบโดยรวมถือว่าโอเค ซึ่งภาพรวมก็เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปของเครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง



ตามคำแนะนำข้างเครื่องที่เขียนเอาไว้ว่า “ควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพในการทำความเย็น” ซึ่งการทำความสะอาดแต่ละครั้งแนะนำว่าควรระมัดระวังหน่อยนะครับ เพราะแผ่นกรองอากาศตัวนี้ดูค่อนข้างบอบบาง อย่าทำความสะอาดด้วยวิธีที่รุนแรงเกินไป และอย่านำแผ่นกรองอากาศที่ล้างเสร็จไปตากแดด ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยยืดอายุให้แผ่นกรองอากาศอยู่ในสภาพสมบูรณ์ควบคู่กับตัวแอร์ไปนานๆ



โดยภาพรวมแล้ว เครื่องปรับอากาศตัวนี้ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงาน และมอบอากาศที่บริสุทธิ์ ถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าของเครื่องปรับอากาศInverter ในยุคนี้




ในตอนนี้...ก็ได้ทำการเจาะลึกในเรื่องของรายละเอียดของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit และชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit เสร็จไปแล้ว ตอนต่อไปจะพูดถึงขั้นตอนและวิธีการติดตั้ง คลิ๊กตามลิงค์ข้างล่างเพื่อเข้าสู่รีวิวตอนต่อไป



อ่านรีวิวตอนที่ 3 ต่อ..."คลิ๊ก"




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:35:58 น.
Counter : 10406 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter ตอนที่ 1

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter 13000 BTU


รีวิว แอร์ Inverter อินเวอร์เตอร์



ต้องยอมรับว่าอากาศประเทศไทยเรา ร้อนขึ้นทุกๆวัน และเครื่องปรับอากาศก็ได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายๆครอบครัวไปแล้ว ช่วงที่ผ่านมาผมกำลังมองหาเครื่องปรับอากาศตัวใหม่มาติดตั้งเพิ่มที่บ้านสวนของคุณพ่อ ตอนแรกก็กะว่าจะเลือกเป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาทั่วไป แต่จากการที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศมีโอกาสได้สัมผัสสินค้าตัวใหม่ๆอยู่เป็นประจำ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ในตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันสูงจากผู้ผลิตแต่ละค่าย หลายๆรุ่นที่ออกใหม่มาในตอนนี้มีความน่าสนใจมาก และเมื่อได้เห็นสินค้าตัวใหม่ของ SAMSUNG ดูแล้วโดยภาพรวมน่าสนใจดี

ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ก็ได้ลองตรวจสอบและประเมินรายละเอียดเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบและคุณภาพวัสดุที่ใช้ ดูแล้วถือว่าสอบผ่าน และยังมีราคาค่าตัวที่ไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศ Inverter ยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งเครื่องปรับอากาศ Inverter ขนาด 12,000 – 13,000 BTU ยี่ห้อดังๆที่โฆษณากันบ่อยๆ ราคาเฉพาะเครื่องอยู่ที่ประมาณสองหมื่นกว่าบาทขึ้นไปทั้งนั้น แต่...เครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNG ตัวนี้ ราคาเฉพาะเครื่อง อยู่ที่ประมาณ 17,XXX – 18,XXX บาท เท่านั้น...ถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศคุณภาพโอเค ราคาคุ้มค่า

ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้ผมนำข้อมูลจากการติดตั้ง เครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNG มาทำเป็นรีวิว ก็เพราะ ผมเห็นว่ามันมีความน่าสนใจดีและยังไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงหรือให้ข้อมูลของรุ่นนี้ ผมเลยเอามาทำเป็นรีวิวแชร์ข้อมูล เผื่อใครที่สนใจหรือกำลังมองหาเครื่องปรับอากาศจะได้มีข้อมูลที่หลากหลายไว้เปรียบเทียบและประกอบการตัดสินใจ 

ในโลกออนไลน์ เครื่องปรับอากาศ Inverter ที่หลายๆคนรู้จักและพูดกันบ่อยๆ หลักๆก็เห็นจะมีของ DAIKIN กับ MITSUBISHI ซึ่งสองยี่ห้อนี้เป็นสองค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องปรับอากาศบ้านเรา ที่ผ่านมาผมก็ได้สัมผัสเครื่องปรับอากาศของทั้งสองยี่ห้อนี้มามากพอสมควร แต่เรื่องรายละเอียดของทั้งสองยี่ห้อ เป็นแบบไหน เป็นเช่นใด ผมคงไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว เพราะสองยี่ห้อนี้ในโลกออนไลน์ข้อมูลเขามีแน่นเป็นตันแล้ว

และถ้าหากใครต้องการอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบ Inverter สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ group blog เครื่องปรับอากาศ  ซึ่งผมได้รวบรวมข้อมูลและเขียนเป็นบทความที่เกี่ยวข้องในเรื่องของระบบ Inverter ไว้แล้ว หรือตามลิงค์นี้เลย... Click

พูดมาซะยาว งั้นมาเข้าสู่เนื้อหาสาระของการรีวิวกันเลย

วันที่ดำเนินการติดตั้ง เป็นช่วงวันหยุด ว่างเว้นภารกิจพอดี เลยดำเนินการนำเครื่องปรับอากาศตัวดังกล่าวพร้อมเครื่องมือที่จำเป็นในการติดตั้งขึ้นรถและเดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อ งานนี้ไม่รีบร้อนเลยลงมือทำเองคนเดียว ไม่อยากเรียกทีมช่างมาช่วยนอกพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นวันหยุดพักผ่อน(และแอบงก...ไม่อยากเสียเงินพิเศษเป็นค่าทำงานล่วงเวลาให้ทีมช่าง) ไหนๆงานนี้ก็ทำเอง ไม่รีบร้อน ขอทำไปเก็บภาพไป เพื่อจะได้เอามารีวิวให้เห็นถึงความน่าสนใจในแอร์ตัวนี้
ขับรถออกจากบ้านพร้อมชุดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องมือที่จำเป็นในการติดตั้ง เดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อตั้งแต่ช่วงเช้า ขับรถออกมานอกตัวเมืองไกลพอสมควร



มาถึงสถานที่ติดตั้ง...เรามาดูชุดเครื่องปรับอากาศกันก่อนนะครับ

ชุดเครื่องปรับอากาศหลักๆก็จะมี คอยล์เย็น (Fan Coil Unit) และ คอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ชุดท่อนำสารทำความเย็น(ท่อทองแดงแบบหนา) พร้อมฉนวนยางหุ้มท่อ ประกอบไปด้วยท่อทองแดงขนาด 1/4” และ 3/8” ยาว 4 เมตร



มาดูตัวผลิตภัณฑ์ในส่วนของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



เปิดกล่องออกมาก็จะพบชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG รุ่นนี้ออกแบบมาค่อนข้างดี ดูแข็งแรงมั่นคง ฝาปิดด้านหน้าและด้านบนเป็นชิ้นเดียวกัน วัสดุที่ใช้เป็นแผ่นโลหะมีความหนาและแข็งแรงพอสมควร



ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แสดงค่า EER 11.62

เรื่องการประหยัดไฟ...ทางผู้ผลิตได้บอกรายละเอียดไว้ว่า เมื่อเทียบกับแอร์แบบธรรมดา แอร์ตัวนี้ประหยัดไฟได้ ที่ 30 ถึง 50 เปอร์เซ็น



รีวิวฉบับนี้...ขอทำการรีวิวแบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียดต่างๆ จะเจาะลึกลงไปในส่วนประกอบต่างๆให้เห็นกันชัดๆ ประเมินให้เห็นกันในแต่ละส่วนเลย ดังนั้นผมจึงเปิดตัวเครื่องออกมา ให้ดูกันชัดๆถึงการออกแบบภายใน ของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



เมื่อเปิดฝาครอบออกมา จะเห็นภาพรวมของภายในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ภาพจากมุมบน ส่วนนี้คือกล่องควบคุม ของเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter



นี่คือแผงระบายความร้อนของชุด Condensing Unit หรือจะเรียกว่าเครื่องควบแน่นก็ไม่ผิด เพราะแผงระบายความร้อนในชุด Condensing Unit ของแอร์ทุกรุ่นทุกแบบ หน้าที่ของมันก็คือ รับเอาสารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์ ซึ่งอยู่ในสถานะแก๊สแรงดันสูงอุณหภูมิสูง เมื่อสารทำความเย็นไหลเข้ามาในแผง พัดลมที่ชุด Condensing Unit ก็จะมีหน้าที่ในการช่วยดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็น ภายหลังจากสารทำความเย็นไหลผ่านแผงระบายความร้อนแล้ว ก็จะเกิดการควบแน่น เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวแรงดันสูงอุณหภูมิสูง แล้วจึงไปเข้าสู่ขันตอนต่อไปตามวัฏจักรของการทำความเย็น 

และหากใครที่เคยสังเกตแผงระบายความร้อนของแอร์ทั่วๆไป จะเห็นถึงความแตกต่างของแผงระบายความร้อนในชุด Condensing Unit ของแอร์เครื่องนี้ แผงระบายความร้อนที่แอร์เครื่องนี้ใช้ ลักษณะเหมือนแผงระบายความร้อนของหม้อน้ำรถยนตร์ จัดว่าเป็นรูปแบบใหม่สำหรับการนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน เป็นอลูมิเนียมยกแผงทั้งท่อและครีบ



ใบพัดของชุดคอยล์ร้อน เป็นแบบ 3 ใบพัด วัสดุทำมาจากพลาสติกแข็ง 



มาดูกันในส่วนของหัวใจหลักของเครื่องปรับอากาศ นั่นคือตัวดูดอัดสารทำความเย็น หรือคอมเพรสเซอร์ (Compressor)


คอมเพรสเซอร์มีการห่อหุ้มเป็นอย่างดีด้วยฉนวนหลายชั้น (ภาษาช่างเรียกว่า...ผ้าห่มคอมเพรสเซอร์) มีไว้เพื่อช่วยป้องกันและดูดซับเสียงเวลาที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน เป็นการลดระดับความดังของเสียงรบกวน และอีกปัจจัยหนึ่ง คือมีส่วนช่วยลดการเกิดหยดน้ำ(เหงื่อ) ที่จะเกิดขึ้นบนผิวนอกของคอมเพรสเซอร์ในขณะที่เครื่องทำงาน



คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ขนาดเล็กกะทัดรัด เป็นคอมเพรสเซอร์แบบที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส

เหตุที่เป็นระบบ 3 เฟส เพราะระบบควบคุมในเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ใช้หลักการควบคุมความถี่ไฟฟ้าที่จ่ายให้คอมเพรสเซอร์ เพื่อให้มีผลต่อจำนวนรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ตามหลักการควบคุมแบบ Inverter

การควบคุมคอมเพรสเซอร์ ของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้จะเริ่มที่กล่องควบคุม ซึ่งภายในจะบรรจุชุดประมวลผล microprocessor ทำหน้าที่ประมวลสัญญาณทางไฟฟ้าที่ได้รับมาจากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในห้อง ซึ่งจะบันทึก ค่าความแตกต่างของอุณหภูมิที่ตั้งและอุณหภูมิห้อง เมื่อแรกเริ่มเดินเครื่อง อุณหภูมิที่ตั้งไว้กับอุณหภูมิในห้องมีความแตกต่างกันมาก ชุดประมวลผลในแผงควบคุมจะสั่งการให้คอมเพรสเซอร์เดินแบบเต็มกำลังเพื่อเร่งให้ห้องเย็นเร็ว และเมื่ออุณหภูมิภายในห้องลดต่ำลงเรื่อยๆ ชุดประมวลผลก็จะนำสัญญาณที่วัดได้จากเซ็นเซอร์มาทำการประมวลผล เพื่อปรับความถี่ไฟฟ้าที่จ่ายเข้าคอมเพรสเซอร์ สั่งการให้คอมเพรสเซอร์ทำงานในความเร็วรอบที่ช้าลง ให้สัมพันธ์กับระดับอุณหภูมิในห้องที่ลดต่ำลง

ด้วยความที่ผมอยากรู้ว่าคอมเพรสเซอร์ตัวนี้เป็นของยี่ห้ออะไร จึงเอามือล้วงคลำๆหาป้ายยี่ห้อในด้านหลังของตัวคอมเพรสเซอร์ พบป้ายยี่ห้อ แต่ว่า...มันอยู่ข้างในมองไม่เห็น ด้วยความที่อยากรู้เลยหากระจกเล็กๆมาส่องดู ปรากฏว่าเป็นคอมเพรสเซอร์ที่ติดโลโก้ของ SAMSUNG คาดว่าน่าจะเป็นคอมเพรสเซอร์ที่ SAMSUNG ผลิตออกมาเองหรือไม่ก็สั่งผลิตมาโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้เป็นคอมเพรสเซอร์ของ SCI แบบที่รุ่นในอดีตเคยใช้อยู่



ด้านข้างของชุดแผงควบคุมระบบ Inverter



ในภาพ คือครีบระบายความร้อนของชุดควบคุมระบบ Inverter ออกแบบให้อยู่ใกล้พัดลมระบายความร้อน เพื่อให้ความร้อนที่ออกมาจากชุดควบคุมขณะที่เครื่องทำงาน ได้รับการระบายความร้อนที่ดี(ฝากพัดลมพาออกไป) ช่วยยืดอายุให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชุดควบคุม



แผงวงจรในส่วนชุดควบคุมระบบ Inverter มีการออกแบบให้มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันจิ้งจกหรือแมลงเข้าไปภายในซึ่งอาจจะทำให้เกิดการลัดวงจร หมดปัญหาเรื่องจิ้งจกเข้าไปฆ่าตัวตายในแผงวงจรแล้วทำให้บอร์ดลัดวงจรเหมือนที่เคยเจอในแอร์อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อหนึ่ง



ด้านข้างของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) จะมีป้ายแสดงข้อควรระวัง คำเตือน และข้อมูลรายละเอียดของตัวเครื่อง



ป้ายแสดงรายละเอียดของตัวเครื่อง (Name Plate) และป้ายแสดงชนิดสารทำความเย็นที่ใช้ ซึ่งเครื่องนี้ใช้สารทำความเย็นรหัสใหม่ คือ R-410A ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีแรงดันสูงกว่าสารทำความเย็น R-22 แบบเก่า ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า และที่สำคัญ...ข้อควรระวัง...สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นที่ติดไฟได้นะครับ และดูเหมือนว่า เครื่องปรับอากาศ Inverter รุ่นใหม่ๆที่ออกมาในตอนนี้ จะใช้สารทำความเย็นแบบ R-410A กันทั้งนั้น

และคาดว่าในอนาคตข้างหน้า เครื่องปรับอากาศที่ผลิตออกมาในประเทศไทย ไม่ว่าจะแบบธรรมดาหรือแบบอินเวอร์เตอร์ ก็จะถูกบังคับให้ใช้สารทำความเย็น R-410A กันหมด ตามข้อบังคับในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

และถ้าหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A สามารถเข้าไปดูบทความที่ผมเขียนไว้ ตามลิงค์ >> Click <<





ฝาครอบด้านข้างของตัวเครื่องผลิตจากพลาสติดคุณภาพดี มีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งฝาครอบตัวนี้เป็นส่วนที่ครอบปิดท่อบริการ (Service Valve) และจุดต่อสายไฟ



เมื่อเปิดฝาครอบออกมา ก็จะพบกับ ส่วนล่างซึ่งเป็นท่อบริการ (Service Valve) ด้านทางดูด(Gas) กับ ด้านทางอัด(Liquid) และส่วนบนซึ่งเป็นถึงจุดต่อสายไฟ (Terminal)



โดยภาพรวมแล้ว การออกแบบชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ของเครื่องปรับอากาศตัวนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เลือกใช้วัสดุที่ดีมีคุณภาพ ตัวถังเป็นโลหะพ่นเคลือบกันสนิม มีความแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และชิ้นส่วนแยกย่อยก็มีไม่มาก ทำให้การถอดประกอบเพื่อซ่อมบำรุงก็ทำได้ง่าย



เจาะลึกในเรื่องของรายละเอียดของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit เสร็จไปแล้ว ตอนต่อไปก็จะเป็นการเจาะลึกรายละเอียดในส่วนของชุดคอยล์เย็น Fancoil Unit คลิ๊กตามลิงค์ข้างล่างเพื่อเข้าสู่รีวิวตอนต่อไป



อ่านรีวิวตอนที่ 2 ต่อ..."คลิ๊ก"




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:34:16 น.
Counter : 23561 Pageviews.  

1  2  3  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.