สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle ตอนที่ 3

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle ตอนที่ 3

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านรีวิวตอนที่ 1 และ 2 สามารถตามเข้าไปอ่านได้จากลิงค์ข้างล่าง






ต่อไปก็จะเป็นการนำไปติดตั้งใช้งานจริง



สำหรับสถานที่ที่ผมจะนำแอร์เครื่องนี้ไปติดตั้ง คือบ้านสวนของคุณพ่อผมหลังเดิมที่เคยติดตั้งและทำรีวิวออกมาในครั้งก่อน
แต่อันที่จริงนั้น เมื่อช่วงที่ซัมซุงติดต่อมาครั้งแรกผมก็คิดเอาไว้ว่าจะเอามาติดตั้งที่บ้านผมเองดูบ้าง เพราะบ้านผมเองนั้นตอนนี้มีแอร์ระบบ
Inverter อยู่เพียงเครื่องเดียวใช้ในห้องนอนของผม ซึ่งก็ติดตั้งเมื่อตอนที่สร้างบ้านเสร็จ ก็ราวๆ 5 ปีที่แล้วส่วนแอร์เครื่องอื่นในบ้านผม ล้วนเป็นแอร์ระบบธรรมดาทั้งนั้น ทำให้ในตอนแรกก็ได้คิดเอาไว้ว่าจะลองมาติดตั้งใช้ในบ้านตนเองดูบ้าง ซึ่งเล็งไว้แรกสุดคือจะเอามาเปลี่ยนกับแอร์ในห้องทำงานที่บ้านผมเองเพราะขนาดแอร์และขนาดห้องมันพอดีกันรวมทั้งยังเป็นห้องที่ผมเปิดแอร์ใช้อยู่บ่อยๆรองจากห้องนอน

แต่พอคิดดูดีๆแล้ว ผมก็เจอปัญหาใหญ่ขัดขวางคือแนวของท่อแอร์เดิมที่ติดตั้งไปแล้วของบ้านผมเอง ท่อบางช่วงได้ถูกตู้หนังสือที่ทำขึ้นและติดตั้งภายหลังมาปิดซ่อนแนวท่อแอร์เอาไว้ไม่สามารถรื้อท่อแอร์เก่าออกแล้วเดินท่อใหม่เข้าไปในแนวเดิมได้

ถ้าผมจะติดตั้งแทนเครื่องเดิมจริงความเป็นไปได้ในกรณีที่ไม่ไปยุ่งกับเฟอร์นิเจอร์ในห้องเลย
คือต้องรื้อแอร์เดิมออก แล้วปล่อยท่อเดิมทิ้งไว้แบบนั้น พร้อมกับเดินท่อใหม่ลอยออกมา
แล้วให้ท่อของแอร์ที่จะติดใหม่นั้น เดินลัดเลาะแนบไปตามแนวตู้หนังสือที่ว่า
ส่วนเรื่องที่จะเอาแอร์ใหม่ใช้ท่อของเดิม ก็เป็นไปไม่ได้เพราะของเดิมใช้สารทำความเย็น
R-22
แต่แอร์ของใหม่ใช้
R-410a น้ำมันหล่อลื่นในระบบก็ใช้ต่างชนิดกัน
ท่อของเดิมที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมันหล่อลื่นของเดิมจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้กับแอร์ใหม่

ซึ่งการเดินท่อของแอร์ใหม่ ที่บ้านผมเองนั้นมันคงจะเป็นเรื่องยุ่งยากมากและดูไม่ค่อยงามแน่ๆ
มิหนำซ้ำก็ยังต้องโดนท่าน ผบ.สูงสุดของที่บ้านบ่นใส่ผมไปอีกนานแน่แม้ว่าจะเป็นบ้านผมเองก็ตาม
แต่อำนาจการตัดสินใจหลักๆตอนนี้กลับไม่ใช่ของผมเลย
อุ้ย! บ่นนอกเรื่องไปเยอะ...เปลื่ยนประเด็นมาเข้ารีวิวต่อดีกว่า
^_^


และท้ายที่สุดจึงได้ข้อสรุปว่า นำไปติดตั้งให้กับที่บ้านสวนของคุณพ่อผมดีที่สุด
ซึ่งผมก็ได้ให้จัดส่งแอร์ไปที่บ้านสวนของคุณพ่อก่อนล่วงหน้าแล้วผมจึงเดินทางตามไปติดตั้งให้ภายหลัง



มาถึงการติดตั้ง เริ่มแรกทำการวัดระดับ และติดตั้งแผงยึดชุดคอยล์เย็น ในตำแหน่งที่กำหนด





ลองยกชุดคอยล์เย็นขึ้นไปแขวนดู




เตรียมทำการเดินท่อแอร์ โดยท่อทองแดงที่ให้มานั้น เป็นท่อทองแดงแบบหนา ขนาด 3/8 นิ้ว และ 1/4 นิ้ว อย่างละ 1 เส้น พร้อมหุ้มด้วยฉนวนโฟมยางสีขาว มาทั้งสองท่อ ความยาวของท่อทั้งสองคือ 4 เมตร






หยิบม้วนท่อออกมา เตรียมทำการคลี่ออกให้ตรง ตามแนวที่ต้องการ





จากนั้นทำการบานปลายท่อทองแดง แล้วขันแฟร์เชื่อมต่อในส่วนท่อนำสารทำความเย็นทั้งสองท่อ


แล้วจัดการในส่วนของแนวท่อนำสารทำความเย็น ท่อน้ำทิ้ง และสายไฟฟ้า ให้เรียบร้อย






ชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit หลังจากติดตั้งเสร็จ




หลังจากจัดการในส่วนของชุดคอยล์เย็นเสร็จ จึงออกไปนอกบ้าน เพื่อทำการกำหนดจุดติดตั้งชุดคอยล์ร้อน

เมื่อได้จุดติดตั้งชุดคอยล์ร้อนแล้ว ทำการยกชุดคอยล์ร้อนขึ้นไปติดตั้ง โดยยึดเข้ากับขาแขวนที่ใช้เป็นฐานรองรับ


แล้วจึงเดินท่อนำสารทำความเย็น มาต่อเข้ากับชุดคอยล์ร้อน


ตรงนี้ในการติดตั้งนั้น หากพื้นที่ติดตั้งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องตำแหน่งการวางคอยล์ร้อน และระยะห่าง
ระหว่างชุดคอยล์เย็นและชุดคอยล์ร้อนก็ควรใช้ท่อให้เต็มตามความยาวที่ผู้ผลิตให้มา นั่นคือ 4 เมตร
เพื่อให้วัฏจักรการไหลของสารทำความเย็นในระบบเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด ตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบมา
และในกรณีนี้พื้นที่บริเวณนอกบ้าน เป็นที่ว่างที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อื่นๆจึงทำให้สามารถเลือกจุดติดตั้งคอยล์ร้อนได้ตามแต่ระยะท่อท่อไปถึงผมจึงติดตั้งโดยกำหนดแนวเดินท่อให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเลือกจุดวางชุดคอยล์ร้อนทำให้ไม่ต้องตัดท่อในส่วนที่เหลือออก ใช้เต็มความยาว ตามที่ผู้ผลิตได้ให้มา




หลังจากที่ต่อท่อเสร็จ ก็ทำสุญญากาศในระบบเป็นเวลา 30 นาที

ในระหว่างนั้นก็ทำการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าเข้าจุดที่กำหนด



โดยในส่วนของ Terminal Power (L-N)เป็นจุดเชื่อมต่อของสายเมนไฟฟ้าจากแหล่งจ่าย
และสายเมนไปยังชุดคอยล์เย็น

และส่วน Terminal Communication (F1-F2) เป็นจุดเชื่อมต่อของสายสัญญาณ
ใช้สำหรับติดต่อสั่งการ ควบคุมระหว่างชุดคอยล์เย็น และคอยล์ร้อน



ในกรณีของเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ระบบ Inverter
โดยหลักการทำงานของมันแล้วในขณะที่เราเปิดแอร์อยู่นั้น จะมีการติดต่อสื่อสารระหว่างชุดคอยล์เย็นในบ้านและชุดคอยล์ร้อนนอกบ้าน
เพื่อส่งสัญญาณทางไฟฟ้าที่เปรียบเสมือนข้อมูลไปมาระหว่างกันตลอดเวลา
ซึ่งสัญญาณที่ส่งไปมานั้นก็เป็นสัญญาณที่แปลงมาจากค่าต่างๆที่ตรวจจับได้และถูกเก็บบันทึกไว้
หลักๆคือค่าความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลาเพื่อกำหนดรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์
ให้สอดคล้องกันกับอุณหภูมิภายในห้อง
และนอกจากนี้ในแอร์บางรุ่น(อย่างเช่นรุ่นนี้) ยังมีการส่งสัญญาณในส่วนของสถานะการทำงานและการรายงานความผิดพลาดต่างๆในระบบ
เพื่อแสดงผลให้ผู้ใช้งานได้รับทราบได้อีกด้วย

ดังนั้นส่วนของ Terminal Communication (F1-F2) ในวงจรไฟฟ้าของแอร์เครื่องนี้ ก็เปรียบได้กับสายสัญญาณ
ที่ชุดคอยล์ร้อนและ คอยล์เย็น ใช้ติดต่อส่งสัญญาณข้อมูลไปมาระหว่างกันในขณะที่เปิดแอร์และห้ามต่อสลับกันเด็ดขาด





ภายหลังที่เสร็จจากขั้นตอนการติดตั้งทั้งหมด และเก็บงานพันท่อและติดตั้งระบบไฟฟ้าเสร็จ ก็เตรียมเดินเครื่อง




ทดลองเดินเครื่อง กระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้ในช่วงแรกซึ่งเป็นช่วงที่แอร์เร่งรอบการทำงาน อยู่ที่ประมาณ 4.2 A 







การทำงานชุดคอยล์ร้อน CondensingUnit ที่ติดตั้งอยู่ภายนอก
เมื่อเปิดแอร์ให้ทำงานที่ระดับความเร็วรอบสูงสุดนั้น ตัวเครื่องทำงานได้ค่อนข้างเงียบและนิ่งพอสมควร
ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการติดตั้งด้วยซึ่งถ้าติดตั้งบนฐานรองรับที่มั่นคงแข็งแรง
ร่วมกับการใช้แผ่นยางรองที่ขาทั้งสี่ก็ช่วยให้เครื่องทำงานเงียบ ได้เยอะเลยทีเดียว





สำหรับชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit ที่ติดตั้งอยู่ภายใน เมื่อเปิดใช้งาน ก็สามารถส่งลมเย็นได้มากและทั่วถึง


ชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit ที่ติดตั้งอยู่ภายใน เมื่อเปิดใช้งาน ก็สามารถส่งลมเย็นได้มากและทั่วถึง ซึ่งการนำมาติดตั้งใช้งานภายในห้องขนาด 4 x 4 เมตร หลังจากเปิดแอร์ในห้องก็เย็นเร็วดี

โดยรวมสำหรับผมก็ค่อนข้างประทับใจในแอร์เครื่องนี้




อุณหภูมิห้องในขณะนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนบนหน้าจอแสดงผลที่อยู่ทางด้านขวา


ใช้เวลาไม่นาน หลังจากเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส จากห้องที่ร้อนอบอาว ก็มีอุณหภูมิลดลงตามที่ตั้ง






ส่วนแสงสีฟ้าที่เห็นอยู่ในช่องลมออกนั้น คือแสดงไฟสำหรับแสดงสถานะ ของระบบฟอกอากาศ Virus Doctor ซึ่งจะสว่างขึ้น เมื่อเปิดโหมดระบบฟอกอากาศ Virus Doctor





นอกเหนือไปจากคุณสมบัติพื้นฐานที่มีอยู่ และรูปทรงที่แปลกใหม่

เครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ ยังคงมีฟังชั่นเสริมอีกหลายด้าน และหนึ่งในนั้นคือ รองรับการสังการและควบคุมระยะไกล ผ่านทางสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ด้วย Application บนโทรศัพท์มือถือ Smart Phone


รองรับการใช้งานบน Smart Phone ระบบปฏิบัติการ Android และ iOS (iPhone)


ซึ่งผมได้ทดลอง ใช้งานฟังชั่นนี้ โดย Smart Phone ที่ผมใช้นั้น คือ SAMSUNG Galaxy Note 3 และ iPhone 5 ซึ่งก็สามารถใช้งานได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ต่างไปจากแอร์เครื่องก่อนที่เคยซื้อมาติดตั้งและทำรีวิวไปในครั้งก่อน


สำหรับท่านใดที่ต้องการดู ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการตั้งค่าเพื่อใช้งานฟังก์ชั่นเสริม Smart Wi-Fi ที่ผมเคยเขียนลายระเอียด และขั้นตอนการตั้งค่าในตอนนี้เอาไว้แล้ว ใน Blog ของผม ซึ่งสามารถเข้าไปดูเพิ่มได้ตามลิงค์นี้
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=kanichikoong&date=03-06-2013&group=33&gblog=10


และรวมไปถึงขั้นตอนของการลงทะเบียน เพื่อใช้งานในโหมดนอกบ้าน ซึ่งเป็นการควบคุมระยะไกล ก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=kanichikoong&month=09-06-2013&group=33&gblog=11


และนอกจากนี้ สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องข้อมูลของตัวผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือไปจากนี้ ท่านสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ในเว็บไซด์ผู้ผลิต ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมของเครื่องปรับอากาศรุ่นที่นำมารีวิวในครั้งนี้ ก็ตามลิงค์นี้
//www.samsung.com/th/consumer/home-appliances/airconditioner/split-type/AR13HVSDLWKNST-features?subsubtype=invertor





และท้ายที่สุดนี้ ผมก็หวังว่า รีวิวชุดนี้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลที่สนใจ รวมไปถึงเป็นข้อมูลในการนำไปประกอบการตัดสินใจได้บ้าง รีวิวฉบับนี้ หากมีข้อขาดตกบกพร่องอะไรไป ผมเองก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาติดตามรับชม ขอของคุณทุกความคิดเห็นและคำติชม 

และก็ต้องขอขอบคุณบริษัท ไทยซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ที่ได้สนับสนุนเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ เพื่อนำมาทำรีวิว




ขอทิ้งท้ายการรีวิว ด้วยภาพคอยล์ร้อนของแอร์เครื่องใหม่(ทางซ้าย) และทางขวาซึ่งเป็นแอร์ รุ่น Smart Wi-Fi Inverter 18,000 BTU ซึ่งก็คือแอร์เครื่องที่ซื้อมาติดตั้งและทำรีวิวออกมา เมื่อช่วงปีก่อน ซึ่งก็ยังคงถูกใช้งานอยู่อย่างต่อเนื่อง





รีวิวฉบับนี้ ก็ต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้...สวัสดีครับ 




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2557 6:40:35 น.
Counter : 13358 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle ตอนที่ 2

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle ตอนที่ 2

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านรีวิวตอนที่ 1 สามารถตามเข้าไปอ่านได้จากลิงค์ข้างล่าง






หลังจากที่ได้ดูในส่วนของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit กันไปแล้ว ก็มาดูกันต่อในส่วนภาพรวมของชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตได้นำเสนอ ถือว่าเป็นจุดขาย ในแอร์รุ่นนี้เลยก็ว่าได้




สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้เห็นคอยล์เย็นทรงสามเหลี่ยมของแอร์รุ่นนี้ด้วยตนเอง และอาจจะมองภาพเปรียบเทียบไม่ค่อยออก
ซึ่งผมก็ได้หาภาพเปรียบเทียบนำมาให้ชม ซึ่งในภาพคือการนำมาเปรียบเทียบกับคอยล์เย็นของแอร์
Wall Type รูปทรงดั้งเดิม




SAMSUNG Triangle เป็นเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์แบบติดผนัง ที่ได้นำแนวคิดของรูปทรงสามเหลี่ยม มาใช้ในการออกแบบส่วนของคอยล์เย็น Fan Coil Unit ซึ่งทำให้คอยล์เย็นของแอร์รุ่นนี้ มีพื้นที่ของส่วนทำความเย็นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคอยล์เย็นรูปทรงเดิมๆ รวมทั้งขนาดของใบพัดก็ยังสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้อีกระดับหนึ่ง และด้วยรูปทรงแบบสามเหลี่ยม ก็ทำให้ช่องลมด้านเข้าและด้านออก มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น



ข้อได้เปรียบทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมา ก็ส่งผลให้คอยล์เย็นของแอร์เครื่องนี้ สามารถส่งลมได้ไกลขึ้น และปริมาณลมที่ส่งออกก็มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้ห้องเย็นเร็วและเย็นทั่วถึง เมื่อเทียบกับแอร์แบบติดผนังรูปทรงเดิมๆ



แต่แม้ว่าจะมีข้อดีในด้านปริมาณลมที่ส่งออกมาจากคอยล์เย็น ซึ่งสามารถส่งลมออกมาได้แรงขึ้นและมากขึ้นจากเดิม แต่ตรงนี้เองก็อาจจะมีผลกระทบเรื่องเสียงลมเกิดขึ้นได้ โดยในส่วนนี้ทางผู้ผลิตก็ดูเหมือนได้หาทางออกในด้านนี้มาให้แล้ว ซึ่งนั่นก็คือ ความเร็วหรือ Speed ของมอเตอร์พัดลม ที่สามารถเลือกปรับได้ถึง 5 ระดับ คือ Low – Medium – Hi – Turbo – Auto
เพราะผู้ใช้แอร์ส่วนใหญ่ รวมถึงตัวผมเอง ก็มักต้องการให้แอร์ที่มีอยู่ สามารถทำให้ห้องเย็นได้อย่างรวดเร็วหลังจากเปิดใช้งาน แต่ก็ไม่ค่อยอยากได้ยินเสียงลมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวลานอนหลับพักผ่อน



มาเริ่มแกะกล่อง ดูหน้าตาของ Triangle กันเลย



กล่องบรรจุชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit





เมื่อเลื่อนกล่องกระดาษออก ก็จะพบกับชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit บนฐานโฟมกันกระแทก





สิ่งที่มาพร้อมกันในกล่องบรรจุคอยล์เย็น นอกไปจากชุดคอยล์เย็น
ได้แก่ รีโมทคอนโทร และเอกสารคู่มือซึ่งมีทั้งคู่มือประกอบการติดตั้ง และคู่มือประกอบการใช้งาน





มิติ กว้าง x ยาว x สูง ของชุดคอยล์เย็น Fan Coil Unit
ชุดคอยล์เย็น
Fan Coil Unit ของแอร์รุ่นนี้ มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 9.8 กิโลกรัม (น้ำหนักเฉพาะแอร์ไม่รวมกล่อง)







ด้านลมเข้าของชุดคอยล์เย็น และส่วนของบานสวิงซึ่งเป็นด้านลมออก




สำหรับชินส่วนที่ติดอยู่ในส่วนของด้านลมเข้า คือแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศ





แผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศของแอร์รุ่นนี้ ถูกออกแบบมาให้เป็นชิ้นเดียวกัน สามารถถอดออกมาได้ง่าย






ซูมเข้ามาดูความละเอียดของเส้นใย ในแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศ




หลังจากถอดแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศออก ก็จะพบกับแผง Evaporator หรือแผงคอยล์เย็น



ซึ่งแผงคอยล์เย็นที่ถูกออกแบบให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสค่อนข้างใหญ่
เมื่อมาวางอยู่ในมุมที่เหมาะสม ก็ช่วยทำให้อากาศสามารถไหลผ่านเข้าไป ได้เป็นจำนวนมาก
และดึงเอาความเย็นออกมาได้จำนวนมาก ในเวลาที่รวดเร็ว





ผิวหน้าของพลาสติกที่ใช้ทำฝาครอบนั้น ใช้พลาสติกเกรดที่อยู่ในระดับค่อนข้างจะดีเลยทีเดียว
ผิวสัมผัสมีความมันเงา ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย และป้องกันการเกิดคราบเหลือง หรือคราบหมอง





ส่วนของบานสวิงของแอร์รุ่นนี้ ออกแบบมาให้สามารถส่ายกระจายลมเย็นได้หลายรูปแบบ
ครอบคลุมหลายทิศทาง ทั้งระดับแนวดิ่ง บนและล่าง และในทิศทาง ซ้ายและขวา




ส่วนทางด้านขวาสุด ของช่องลมออก คือจอแสดงผล LED



และในส่วนของเซ็นเซอร์รับสัญญาณจากรีโมท จะถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณด้านหลังปุ่ม
ON/OFF (ปุ่ม เปิด/ปิด)





จุดต่อสายไฟฟ้า ในส่วนของชุดคอยล์เย็นนั้น ถูกออกแบบมาให้อยู่ในส่วนล่างสุด




เมื่อถอดฝาครอบชิ้นล่างสุดออก ก็จะพบจุดต่อสายไฟฟ้า




ความสามารถเสริมอีกอย่างหนึ่ง ที่มีมาในแอร์เครื่องนี้ คือโหมด
Smart Installation
ซึ่งมันมีประโยชน์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้ติดตั้ง และผู้ซ่อมบำรุง
ความสามารถเสริมตัวนี้ มีส่วนช่วยให้การติดตั้งและซ่อมบำรุงทำได้ง่ายขึ้น และเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์



โดยหลังจากการติดตั้งเสร็จ สามารถตรวจสอบความสมบูรณ์และความเรียบร้อยหลังจากติดตั้ง โดยหลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว เมื่อจ่ายไฟเข้าเครื่องแล้ว กดสั่งการโหมด Smart Installation ผ่านรีโมทคอนโทรลที่ให้มากับเครื่อง 
จากนั้นที่จอแสดงผลจะแสดงเลข 0-99 ซึ่งต้องรอเป็นเวลาประมาณ 7-13 นาที เพื่อให้ระบบตรวจสอบการติดตั้ง และหากตรวจสอบแล้ว พบว่าการติดตั้งถูกต้องสมบูรณ์ ก็จะมีเสียงเตือนดังขึ้นมา เป็นอันว่าพร้อมใช้งาน
แต่ถ้าระบบตรวจพบความผิดปกติ ระบบก็จะสั่งงานให้มีการแสดงข้อความ ในรูปแบบของรหัส ซึ่งแต่ละรหัสก็จะเป็นตัวบอกแต่ละสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยเทียบได้จากคู่มือที่ให้มา








รีวิวชุดนี้ยังไม่จบ ตอนต่อไปก็จะเป็นการรีวิวในส่วนของการนำไปติดตั้งใช้งานจริง 

อ่านรีวิวต่อในตอนที่ 3 ได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้นะครับ


//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=kanichikoong&month=07-2014&date=03&group=33&gblog=15




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2557 6:39:31 น.
Counter : 7691 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle ตอนที่ 1

รีวิว...เครื่องปรับอากาศSAMSUNGTriangle (Sponsored Review)





สวัสดีเพื่อนสมาชิกและท่านผู้อ่านทุกๆท่าน

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผมได้มานำเสนอรีวิวเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ รุ่นใหม่ล่าสุดของ SAMSUNGซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารชื่อดังจากประเทศเกาหลี

รีวิวในครั้งนี้เป็นรีวิวในรูปแบบ Sponsored Review หรือSRโดยเป็นรีวิวที่ได้รับการสนับสนุนตัวสินค้าโดยตรง มาจากทางผู้ผลิต 


ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวถึงที่มาที่ไปของการทำรีวิวครั้งนี้ ซึ่งสืบเนื่องมาจาก ช่วง1-2 ปีที่แล้ว ผมเองได้ซื้อแอร์ของ SAMSUNG มาติดตั้งให้กับที่บ้านสวนของคุณพ่อ ซึ่งในตอนนั้นก็เห็นว่ามันน่าสนใจ และเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครจะนำมาพูดถึงในมุมนี้สักเท่าไหร่ผมจึงนำข้อมูลมาแบ่งปันในรูปแบบของรีวิวนั่นเอง

ซึ่งแอร์ของ SAMSUNGที่ผมเคยทำรีวิวเอาไว้นั้น ใครอยากดูก็สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงค์ที่แนบมาให้นี้

//topicstock.pantip.com/home/topicstock/2012/05/R12080263/R12080263.html

//pantip.com/topic/30403476


และอาจจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ รีวิวที่ผมได้เคยทำไปนั้น เกิดได้รับความสนใจจากทาง บริษัท ไทยซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG
โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับการติดต่อมาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ของทางซัมซุง ซึ่งได้ติดต่อแจ้งเข้ามาหาผมทาง E-mail มีเนื้อหาโดยรวมคือ ทางซัมซุงสนใจจะส่งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ มาให้มได้ลองแกะออกเพื่อดูการออกแบบโดยรวม และนำไปติดตั้งใช้งานจริง แล้วหลังจากนั้นจึงนำมาทำการรีวิวตามแบบที่ผมได้เคยทำไว้
ในครั้งแรกที่ผมได้รับ E-mail ฉบับนั้น ผมเพียงแค่ได้อ่านผ่านๆ บนโทรศัพท์มือถือ เพราะช่วงนั้นกำลังอยู่ระหว่างที่ยุ่งอยู่กับงาน ซึ่งก็ยังไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะคิดว่าอาจจะเป็น mail ที่ส่งมาโจ๊กใส่หรือเปล่า แต่หลังจากกลับจากหน้างานเข้ามาในห้องทำงาน ก็ได้มาลองเช็ค E-mail และเปิดข้อความดังกล่าวขึ้นมาอ่านดูอีกครั้ง เห็นรายละเอียดอื่นๆที่แนบมา รวมทั้งข้อมูลของผู้ส่ง ก็พอจะเข้าใจว่านี่คงไม่ใช่ E-mail ที่ส่งเข้ามาโจ๊กหรืออำเป็นแน่


ในตอนแรกนั้น ผมก็ยังไม่ได้ตัดสินใจตบปากรับคำ หรือติดต่อกลับไปในทันที เพราะเกิดความลังเลที่ว่า “จะตกลงรับทำรีวิวนี้หรือไม่” ซึ่งที่ลังเลนั้น เหตุผลหลักๆเลย ก็เป็นเพราะเสียงตอบรับบางส่วน ที่ได้จากการรีวิวในครั้งที่ผ่านมานั่นเอง เพราะในครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีใครมาสนับสนุน ไม่ใช่รีวิวแบบ Sponsored Review หรือ SR แต่ก็ยังมีบางคนมาตั้งข้อครหาว่าเป็นหน้าม้าจากซัมซุง 

ภายหลังจากได้นำมาคิดตัดสินใจแล้ว ผมก็ได้ลองติดต่อกลับไปสอบถามรายละเอียด
โดยประเด็นหลักๆที่ตัดสินว่าผมจะทำรีวิวนี้หรือไม่ ก็คือเงื่อนไขที่ผมได้เสนอไป ซึ่งก็คือ...ทางซัมซุงต้องไม่มีการแทรกแซงรีวิวของผม ซึ่งทางผู้ผลิตจะต้องให้อิสระในการนำเสนอและให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นของผม และหากผมพบจุดบกพร่องหรือข้อเสียจุดสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้งานจริง ผมย่อมมีสิทธิ์ที่จะเขียนลงไปในรีวิวด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อเท็จจริงทั้งสองด้าน

หลังจากที่ผมได้ยื่นเงื่อนไขไปนั้น ทางซัมซุงก็ได้รับเอาเงื่อนไขดังกล่าวกลับไปพิจารณา และท้ายที่สุดก็ตอบตกลงตามที่ผมได้เสนอไป ซึ่งในจุดนี้เองก็พอจะแสดงให้เห็นได้ในระดับหนึ่ง ว่าทางผู้ผลิตคงมีความเชื่อมั่น ในแอร์เครื่องที่จะส่งมาให้ทำรีวิว จึงได้ตกลงรับเงื่อนไข และยินดีที่จะส่งมาให้ทำรีวิวตามเงือนไขที่ผมได้กำหนด 

และสำหรับเครื่องปรับอากาศ ที่ทางซัมซุง จะทำการส่งมาให้ผมทำรีวิว ก็คือเครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Triangle AR 7000 ระบบ Inverter ขนาดทำความเย็น 12,800 BTU 





ซึ่งเป็นเครื่องปรับอากาศรุ่นล่าสุดอีกรุ่นหนึ่ง ของทาง SAMSUNG ที่มีการออกนำรูปทรงเลขาคณิตอย่าง “สามเหลี่ยม” มาใช้เป็น Concept ในการออกแบบดีไซน์ให้กับชุดคอยล์เย็น




ในความเห็นของผม เกี่ยวกับ Concept Triangle ที่ผู้ผลิตนำมาใช้ในการออกแบบ ก็เปรียบได้กับการ ผสมผสานในส่วนที่เรียกว่า ศาสตร์ และ ศิลป์ เข้าด้วยกัน
โดยนำเอาเรื่องของรูปทรง มาผสมผสานให้ลงตัวกับ หลักการทางวิศวกรรม ซึ่งมันก็สอดคล้องกับการที่รูปทรงสามเหลี่ยมนั้น เป็นเสมือนพื้นฐานสำคัญของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมในหลายๆแขนงอยู่ด้วย
ส่วนตัวผมเอง ยอมรับว่ารูปทรงของเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ บางมุมมองมันก็อาจจะค่อนข้างจะดูแปลกตาไปบ้าง ถ้าเทียบกับเครื่องปรับอากาศ Wall Type แบบเดิมๆที่เราคุ้นเคยกันดี
แต่ทั้งนี้ ถ้านำเอาเรื่องของรูปทรง มาพิจารณากับหลังการทางด้านวิศวกรรม ก็ยอมรับว่าเป็นการผสมผสานที่ออกมาค่อนข้างจะลงตัว




และถึงแม้ว่าการรีวิวในครั้งนี้ มันจะเป็นรีวิวแบบ SR แต่ผมก็ยังคงนำเสนอข้อมูลให้คุณผู้อ่าน ในรูปแบบรีวิวตามแบบฉบับของผมเหมือนเช่นเคย


มาถึงการรีวิว ในส่วนของรายละเอียดในชุดเครื่องปรับอากาศ

ชุดเครื่องปรับอากาศของแอร์รุ่นนี้ ประกอบส่วนต่างๆที่ถูกบรรจุแยกมาในบรรจุภัณฑ์ลังกระดาษ จำนวน 3 ส่วน 

ได้แก่ ส่วนของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit, ส่วนของคอยล์เย็น Fan Coil Unit และส่วนที่เป็นชุดท่อทอง แดงสำหรับใช้เป็นท่อนำสารทำความเย็น (ท่อน้ำยา)




อันดับแรก มาดูกันในส่วนของ ชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit




เมื่อนำลังกระดาษออก ก็จะพบกับชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ของเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ซึ่งมีน้ำหนักเกือบๆ 30 กิโลกรัม








วัสดุที่ใช้ทำเป็นฝาครอบและตัวถังของชุดคอยล์ร้อน ผลิตจากแผ่นเหล็กที่นำมาขึ้นรูปตามแบบ มีความแข็งแรง

ถูกพ่นเคลือบพื้นผิวทั้งสองด้าน ด้วยสีที่มีคุณสมบัติป้องกันสนิม



ภาพด้านหลังของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit



ด้านข้างของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit เป็นส่วนของจุดต่อสายไฟและวาวล์ของท่อสารทำความเย็น





ต่อไป จะเริ่มเปิดให้ดู ภาพรวมการออกแบบภายใน ของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit

เริ่มด้วย การขันสกรูที่ยึดฝาครอบ ที่ปิดอยู่ในส่วนบนสุดออก



ต่อมาจึงทำการขันสกรูที่ยึดฝาปิดด้านหน้า แล้วยกฝาปิดด้านหน้าออก



เมื่อเปิดฝาครอบออก ก็จะพบกับภายในของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit



ส่วนสำคัญของเครื่องปรับอากาศ Inverter ก็คือชุดควบคุมระบบ Inverter เปรียบกับสมองกลภายในเครื่อง
ซึ่งส่วนนี้จะถูกติดตั้งไว้ภายในชุดคอยล์ร้อน ของแอร์
Inverter แทบทุกรุ่นที่มีอยู่ในท้องตลาดบ้านเรา โดยส่วนควบคุมนี้จะมีหน้าที่หลักๆ คือจะรับข้อมูลมาประมวลผล เพื่อนำมาใช้สำหรับควบคุมรอบการทำงานของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ เป็นเหมือนสมองกลหลักของระบบ ที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้แอร์ระบบนี้สามารถประหยัดพลังงานได้นั่นเอง

ชุดควบคุมระบบ Inverter ของแอร์รุ่นนี้ผู้ผลิตออกแบบให้มีฝาปิดที่ส่วนแผงวงจร

เพื่อป้องกันสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างจิ้งจก ที่ชอบเข้าไปเดินบนแผงวงจรซึ่งหากไม่ปิดส่วนนี้ไว้ อาจจะจะทำให้เกิดการลัดวงจรที่แผงได้
โดยเคสประมาณนี้ ผมเรียกมันว่า "จิ้งจกฆ่าตัวตาย"ที่ผ่านมามักเกิดขึ้นกับแผงควบคุมของแอร์บางแบรนด์ ที่ไม่ได้ป้องกันในส่วนนี้ไว้
และเมื่อเกิดการลัดวงจรของแผงควบคุม ส่วนใหญ่ล้วนลงเอยที่การ เปลี่ยนหมดยกแผงซึ่งราคาทั้งแผงอาจจะทำให้รู้สึกหนาวก็เป็นได้



เมื่อเปิดฝาครอบชุดควบคุมออก ก็จะพบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของชุดควบคุมระบบ Inverter

แผงวงจรสีเขียวๆนี่เอง คือส่วนที่จิ้งจกชอบเข้าไปเดินเพื่อฆ่าตัวตายนำมาสู่การลัดวงจร และมันมักทำให้เจ้าของแอร์ต้องปวดหัวกันเลยก็ว่าได้ ซึ่งถ้าไม่อยากให้จึ้งจกตัวน้อยๆ เข้าไปฆ่าตัวตายบนแผงก็ทำที่ปิดหรือทำฝาครอบส่วนนี้ซะ เหมือนฝาครอบที่เห็นในภาพ



มาถึงส่วนของใบพัด ซึ่งทำมาจากพลาสติกหนามีความแข็งและความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง
รูปทรงของใบพัดที่เราเห็นอยู่นี้ เป็นรูปทรงที่ผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมา
เพื่อลดเสียงรบกวนในระหว่างที่เครื่องทำงานอยู่



มอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนใบพัด ของชุดพัดลมระบายความร้อนเป็นมอเตอร์ชนิดปิดสนิท
ตัวมอเตอร์ถูกหุ้มไว้ด้วยพลาสติกอีกชั้น เพื่อป้องกันการเกิดสนิม

มอเตอร์ของพัดลมระบายความร้อนยังสามารถทำงานได้หลายระดับความเร็ว
ขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานและสภาพโดยรวมในขณะนั้น

สำหรับเหตุผลที่ผู้ผลิตออกแบบให้มอเตอร์พัดลมของชุดคอยล์ร้อน สามารถทำงานในระดับความเร็วที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ในระดับความเร็วคงที่เหมือนที่เป็นอยู่ทั่วๆไป ก็เพราะต้องการลดเสียงรบกวนขณะที่เครื่องทำงานรอบต่ำๆ และยังเป็นการลดการใช้พลังงานส่วนที่ไม่จำเป็นอีกด้วย



ในส่วนของแผงระบายความร้อน Condenser ที่อยู่ในชุดคอยล์ร้อน CondensingUnit
เป็นแบบที่ผลิตมาจากอลูมิเนียม ทั้งท่อและครีบ

ซึ่งเป็นแผงระบายความร้อนแบบมาตรฐาน ที่ทาง SAMSUNG เลือกใช้ในชุดเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ผลิตออกมาในปัจจุบัน รวมไปถึงยังเป็นแผงระบายความร้อนแบบใหม่ ที่ผู้ผลิตหลายแบรนด์ในตอนนี้เริ่มสนใจและเริ่มเปลี่ยนมาใช้


โดยที่ผู้ผลิตได้ให้ข้อมูลประกอบ หลายๆด้านที่เกี่ยวกับแผงระบายความร้อนแบบนี้ 

ซึ่งข้อมูลที่ผู้ผลิตให้มา ประเด็นหลักๆอันดับต้นๆ เกี่ยวกับวัสดุที่นำมาทำแผงระบายความร้อน ซึ่งแม้จะเป็นอลูมิเนียม แต่ก็ได้มีการพัฒนาให้ทนทานขึ้น โดยได้มีการฉาบสารป้องกันการกัดกร่อนไว้ที่พื้นผิว




ในส่วนข้อมูลทางเทคนิค เรื่องประสิทธิภาพในการนำมาใช้กับระบบทำความเย็น ประเภทเครื่องปรับอากาศสำหรับแผงระบายความร้อนแบบนี้ 

การนำแผงชนิดนี้ มาใช้งานกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศ พบว่าแผงระบายความร้อนอลูมิเนียมทั้งชุดจะมีประสิทธิภาพการดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็นได้ดีกว่า เพราะการไหลเวียนของสารทำความเย็นนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีพื้นที่สัมผัสที่มากกว่า (ตามหลักการ Coefficient Heat transfer)


มาดูกันต่อ ในส่วนของหัวใจหลัก ของแอร์เครื่องนี้นั่นก็คือในส่วนของคอมเพรสเซอร์ (Compressor)




คอมเพรสเซอร์ที่ติดตั้งมาภายในชุดคอยล์ร้อน
ถูกติดตั้งไว้โดยมีการห่อหุ้มไว้ด้วยวัสดุฉนวน (ผ้าห่มคอมเพรสเซอร์)
เพื่อเป็นการลดเสียงรบกวนที่อาจเล็ดลอดออกมาในระหว่างที่เครื่องทำงาน




รวมๆแล้ว มีฉนวนห่อหุ้มมาให้ ถึงสองชั้นด้วยกัน





คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ แบบที่เรียกว่า Twin Rotary Compressor หรือคอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบสองใบพัด ซึ่งภายคอมเพรสเซอร์จะมีตัวใบพัดโรเตอร์จำนวนสองอัน ถูกวางในแกนเพลาลูกเบี้ยวแกนเดียวกัน ทำให้สามารถดูดและอัดสารทำความเย็นได้รวดเร็วและดีขึ้น อีกทั้งในขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน Twin Rotary Compressor ยังสามารถทำงานได้นุ่มนวลกว่าเนื่องจากใบพัดโรเตอร์ที่มีอยู่ด้วยกันสองชุดนั้น มีส่วนช่วยให้การหมุนเป็นไปอย่างสมดุลขึ้นจากเดิม เกิดการสั่นสะเทือนที่น้อยกว่าซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ เสียงที่เงียบลงนั่นเอง



และถ้าจะเทียบกับ คอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบเดิมๆที่มีใช้ในเครื่องปรับอากาศรุ่นธรรมดาทั่วไป ซึ่งจะเป็นแบบ Single Rotary Compressor โดยเป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบดั้งเดิม ที่มีใบพัดโรเตอร์สำหรับดูดอัดสารทำความเย็นอยู่เพียงชุดเดียว ซึ่งถือว่าเป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบดั้งเดิมที่เรามีใช้กันมานาน



ข้อมูลทางเทคนิคที่ผู้ผลิตได้ให้มา ซึ่งถือเป็นจุดน่าสนใจในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ของแอร์รุ่นนี้มีดังนี้


- คอมเพรสเซอร์ ได้รับการออกแบบให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องแม้ในการใช้งานที่มีปัญหาเกี่ยวกับแรงดันไฟฟ้าตก ซึ่งมันสามารถทำงานต่อได้แม้แรงดันไฟฟ้าตกลงไปต่ำสุดถึง 150 V โดยไม่เกิดสภาวะกระแสเกิน(Over Load)


- แผงควบคุมระบบ Inverter ถูกออกแบบให้สามารถทำงานได้ในระดับแรงดันไฟฟ้าช่วงที่กว้างขึ้นจากเดิม โดยอยู่ที่ระดับ 80 – 450 V ซึ่งหากแรงดันมีการแปรผันขึ้นๆลงๆมากเกินไประบบจะตัดการทำงาน และจะเริ่มกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติเพื่อป้องกันความเสียหาย


- แอร์รุ่นนี้ (แบบ Digital Inverter) ผู้ผลิตได้รับประกันคอมเพรสเซอร์นานถึง 10 ปี และรับประกันแผงระบายความร้อน (Condenser) เป็นเวลา3 ปี





การรีวิวในสวนคอยล์ร้อน ก็มีเพียงเท่านี้ครับ แต่รีวิวชุดนี้ยังไม่จบ 

ต่อไปเดี๋ยวจะมารีวิวให้ดูต่อในส่วนคอยล์เย็นรูปทรงสามเหลี่ยม

อ่านรีวิวต่อในตอนที่ 2 ได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้นะครับ 






 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2557 6:37:25 น.
Counter : 11623 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องฟอกอากาศ SAMSUNG

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน...วันนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งที่ผมจะนำบทความรีวิวมาฝาก

เนื่องด้วยที่ผ่านมามีผู้สนใจหลายท่านได้สอบถามผ่านทางหลายช่องทางมายังผมซึ่งเรื่องหนึ่งที่ถูกสอบถามเข้ามาบ่อยหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับระบบฟอกอากาศและเครื่องฟอกอากาศที่ใช้กันภายในบ้านพักอาศัย เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้หลายๆคนต่างให้ความสนใจในเรื่องของเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นจากในอดีตซึ่งก็ไม่แปลกที่มีกระแสตื่นตัวสนใจในเรื่องนี้เพราะในทุกวันนี้ อากาศที่บริสุทธิ์ในบริเวณเขตเมืองใหญ่ๆมีเหลืออยู่น้อยเต็มที





และอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันนี้ ก็ส่งผลให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่การใช้งานเครื่องปรับอากาศนั้นจำเป็นต้องติดตั้งใช้งานในบริเวณห้องที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด ทั้งนี้ก็เพื่อจำกัดพื้นที่ในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ให้อยู่ในขอบเขตที่เราต้องการ

ซึ่งห้องที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิดนั้น ก็ส่งผลให้อากาศภายในห้องไม่ได้รับการถ่ายเทตามธรรมขาติ อากาศเดิมๆที่วนเวียนอยู่ในห้องนั้น มีอุณหภูมิเย็นสบายคงที่ เมื่อรวมเข้ากับกับกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในห้อง ก็ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การสะสมและแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจ

หลายๆท่านที่มีอาการภูมิแพ้ และต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมืองใหญ่แออัดคับคั่ง สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ซึ่งต้องอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ การพึ่งพาเครื่องฟอกอากาศก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้




การนำเครื่องฟอกอากาศมาใช้งานในที่พักอาศัย ก็ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะกับคนที่มีปัญหาภูมิแพ้เท่านั้น แต่คนทั่วไปหรือผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ก็สามารถใช้งานได้ ไม่ต้องรอให้ปัญหาสุขภาพมาถึงแล้วจึงถามหา

เพราะโดยส่วนตัวของผมเอง เดิมทีก็ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับภูมิแพ้แต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ตัดสินใจเลือกที่จะนำเครื่องฟอกอากาศเข้ามาใช้งานในห้องนอนที่บ้าน เพราะห้องนอนของผมต้องเปิดเครื่องปรับอากาศในทุกคืนทำให้ไม่สามารถเปิดรับการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติได้ อีกทั้งในตอนกลางวันก็ต้องออกมาทำงานไม่ได้อยู่บ้าน ประตูหน้าต่างรวมไปถึงม่านก็จึงต้องปิดไว้ และแทบจะไม่ค่อยได้เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเลย จึงต้องมีเครื่องฟอกอากาศเข้ามาช่วยเสริมในส่วนนี้ไว้บ้างเพื่อฟอกอากาศให้สะอาดในระหว่างนอนพักผ่อน เพราะในระหว่างวันผมเองก็ค่อนข้างพบเจอฝุ่นควันมลภาวะมาพอสมควร เพราะวิถีชีวิตในแต่ละวันผมเองก็ไม่ได้ทำงานติดที่ในห้องเป็นเวลานานๆ ต้องออกไปดูหน้างาน พบปะลูกค้า หรือบางวันก็อาจจะต้องลงไปไปลุยด้วยตนเองที่หน้างานจริงด้วยซ้ำ สิ่งที่พบเจอระหว่างวันนั้นคือมลภาวะที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะมีอากาศที่สะอาดในยามนอนหลับพักผ่อนได้ อะไรที่เซฟได้ แม้ว่าจะเล็กๆน้อยๆ แต่หากไม่เกินกำลัง ก็ควรจะทำ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพในระยะยาวนั่นเอง 

และอีกหนึ่งสิ่งที่ผมเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศก็เพราะว่าผมเองไม่ค่อยคาดหวังอะไรมาก กับระบบฟอกอากาศที่มีอยู่ในแอร์ ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินกันดีเกี่ยวกับคุณสมบัติการฟอกอากาศที่ให้มาในแอร์ แต่อย่างไรก็ตาม แอร์มันก็คือแอร์ ระบบฟอกอากาศที่มีในตัวมันเป็นเพียงส่วนเสริมที่มีมาเพิ่มจุดขายเสียมากกว่า 



สำหรับเครื่องฟอกอากาศที่จะนำมารีวิวในครั้งนี้เป็นเครื่องที่ผมซื้อมาใช้ในห้องทำงาน พอลองดูเครื่องฟอกอากาศแบรนด์ต่างๆตอนแรกตั้งใจจะซื้อเครื่องฟอกอากาศแบรนนึง ซึ่งเป็นยี่ห้อดังจากญี่ปุ่นก็คือเครื่องฟอกอากาศของ SHARP นั่นเอง เพราะมีกระทู้ใน Pantip หลายๆกระทู้ได้กล่าวถึงและเป็นแบรนด์เครื่องฟอกอากาศที่ได้รับความนิยมมายาวนานพอสมควรและในห้องนอนที่บ้านผมก็ใช้เป็เครื่องฟอกอากาศของชาร์ปอยู่แต่เป็นตัวเก่าที่ใช้มานานพอสมควรแล้ว

แต่ว่าตัวผมเอง รู้จักแต่เฉพาะเรื่องของแอร์บ้านแต่สำหรับเรื่องเครื่องฟอกอากาศนั้นก็ไม่ค่อยจะมีประสบการณ์อะไรมากนักในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเครื่องฟอกอากาศซึ่งก่อนจะตัดสินใจซื้อก็พยายามหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ตอยู่พักหนึ่งแต่แล้วคนรู้จักที่ทำเกี่ยวกับสินค้าขายตรงแบรนด์หนึ่งซึ่งพอเขารู้ว่าผมกำลังมองหาเครื่องฟอกอากาศก็พยายามนำสินค้าที่เขาขายอยู่มานำเสนอซึ่งราคาก็แพงเอาเรื่องอยู่ตัวเครื่องก็ราคาปาเข้าไปกว่าสามสี่หมื่น แถมต้องมีการซื้อแผ่นกรองมาเปลี่ยนอีกราคาแผ่นกรองก็ไม่ใช่ถูกๆ บวกลบดูแล้วมันแพงเกินไปสำหรับผม เลยต้องตัดเครื่องฟอกอากาศจากแบรนด์ขายตรงนี้ไป

เพราะว่าผมอยากได้เครื่องฟอกอากาศที่ฟอกอากาศได้จริงๆและมีราคาที่ไม่แพงมากจนเกินไปซึ่งท้ายที่สุดก็นึกถึงใครคนหนึ่งที่พอจะช่วยผมได้ในเรื่องนี้นั่นก็คือเพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ และในร้านดังกล่าวกมีเครื่องฟอกอากาศจำหน่ายอยู่หลายรุ่นหลายยี่ห้อหลังจากเสร็จงานแล้วผมไม่รอช้ารีบเดินทางไปที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของเพื่อนรุ่นพี่ท่านนี้พอดีเมื่อมาถึงก็พูดคุยถามสรทุกข์สุขดิบกันอยู่พักใหญ่แล้วก็มาเข้าเรื่องเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งตอนแรกก็จะตกลงปลงใจเลือกเครื่องฟอกอากาศ SHARP ไปแล้วแต่...พี่เจ้าของร้านก็แนะนำเครื่องฟอกอากาศเครื่องตัวใหม่ของ SAMSUNG ผมก็สอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มเติมพี่เขาก็ใจดีบอกรายละเอียดพร้อมเอาเครื่องทดลองมาเปิดทดสอบให้ผมดูนี่ถ้าเป็นเซลล์ในห้างเป็นคนแนะนำผมไม่มีทางเชื่อเป็นแน่แท้แต่นี่คนที่แนะนำคือเพื่อนรุ่นพี่ที่รู้จักกันมานานท้ายสุดจึงตกลงปลงใจเลือกเครื่องฟอกอากาศของ SAMSUNG รุ่น AC-347HPAWQ/TS ซึ่งเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ไม่เพียงแต่ฟอกอากาศแต่ยังสามารถควบคุมความชื้นได้อีกด้วย






หมายเหตุ...ข้อมูลในรีวิวชุดนี้ส่วนหนึ่งมาจากมุมมองในส่วนของผมเอง ซึ่งก็เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลในส่วนนี้ผู้อ่านทุกท่านก็ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล 



เปิดกล่องผลิตภัณฑ์

หน้าตาของกล่องบรรจุเครื่องฟอกอากาศ




เมื่อยกกล่องที่ครอบออกเราก็จะพบกับตัวเครื่องฟอกอากาศ เป็นเครื่องมีขนาดใหญ่กว่า brand อื่นนิดนึงแต่ก็ material ประกอบสวยดีครับ ดูแล้วจะรู้สึกว่าตัว body จะค่อนข้างกว้างกว่าเครื่องฟอกอากาศรุ่นอื่นๆ

หน้าตาของเครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้ ในโดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าออกแบบมาในรูปแบบที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความหรูและทันสมัย




นอกจากตัวเครื่องฟอกอากาศแล้วสิ่งที่ใส่ให้มาก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย มีซองที่บรรจุคู่มือการใช้งาน (ภาษาอังกฤษ-ไทย)และใบรับประกันนอกจากนี้ยังมีแปรงอันเล็กๆ สำหรับเอาไว้ทำความสะอาดเล็กๆน้อยๆ

ส่วนอีกห่อหนึ่งที่บรรจุแผ่นกลมๆสีขาวคือแผ่นเส้นใยที่ใช้ดูดซับน้ำ สำหรับใช้ในอุปกรณ์ควบคุมความชื้นซึ่งแถมมาให้สำหรับเป็นอะไหล่ในภายหลัง




คู่มือการใช้งาน





ใบรับประกันสินค้า




ภาพรวมและส่วนประกอบของเครื่องฟอกอากาศ


หากมองผิวเผิน เครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้อาจจะดูเหมือนก้อนสี่เหลี่ยมสีขาวที่ดูเรียบง่ายแต่หากสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่าในความเรียบง่ายของรูปทรง ได้มีการแฝงเส้นสายที่พลิ้วไหวและยังมีการเพิ่มส่วนโค้งเข้าไปตรงมุม เรื่องรูปทรงโดยรวม ผมถือว่าดูร่วมสมัยดูเรียบหรูและไฮเทค




ด้านบนของตัวเครื่องเป็นช่องลมออก



บริเวณด้านบนสุดของตัวเครื่องจะเป็นส่วนของฝาครอบที่สามารถยกเปิดได้ และเมื่อยกฝาครอบนี้ออกก็จะเจอกับส่วนบนของถาดใส่แผ่นกรองอากาศ กระบอกใส่น้ำ และช่องลมออก ส่วนของตัวฝาด้านบนตัวเครื่อง มีs afety sensor ที่จะทำหน้าที่ตัดการทำงานของเครื่องอัตโนมัติเมื่อมีการยกฝาครอบออกเพื่อให้ระบบการทำงานไม่เสื่อมเร็ว อีกทั้งยังเป็นระบบป้องกันพื้นฐานที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีสิ่งใดเข้าไปยังส่วนของใบพัดที่กำลังหมุนอยู่ ซึ่งทันทีที่ยกฝาด้านบนขึ้นเครื่องจะหยุดทำงานในทันที



ส่วนนี้คือถาดใส่แผ่นกรองอากาศสามารถยกขึ้นมาได้ ซึ่งในถาดนี้จะบรรจุแผ่งกรองอากาศ 3 แบบ แต่ละแบบก็จะมีหน้าที่ต่างกัน อันแรกเป็นFullHD Filter ที่มีความถี่สูง ความละเอียดในการกรอง เหมือนกับเครื่องปรับอากาศSamsung 




และนี่คือส่วนของแผ่นกรองขั้นต้นและแผ่นกรอง HEPA

ในส่วนนี้จะทำหน้าที่กรองฝุ่นละออกขนาดใหญ่และเล็กที่ถูกดูดเข้ามาทางช่องลมเข้าด้านหลัง





ถัดมาจะเป็นชุดแผ่นกรองที่มีหน้าที่ช่วยขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์





ตัวแผ่นกรองขจัดกลิ่นจะมีลักษณะเป็นช่อง 6 เหลี่ยมจำนวนหลายๆช่องเรียงซ้อนกันเหมือนรังผึ้ง

ในแต่ละช่องก็จะบรรจุวัตถุสีดำเม็ดเล็กๆมีลักษณะคล้ายถ่านซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าถ่านมีคุณสมบัติดับกลิ่นอยู่แล้ว 

ตรงแผ่นนี้ค่อนข้างเป็นจุดเด่น เพราะไม่ค่อยเห็นในเครื่องฟอกทั่วๆไปนะครับ




ถัดมาจากถาดที่บรรจุชุดแผ่นกรองจะเป็นกระบอกพลาสติกสำหรับใส่น้ำ


ในส่วนของกระบอกพลาสติกที่ไว้สำหรับบรรจุน้ำมีความจุ 3.4 ลิตร





เครื่องมีตัวกรองน้ำที่ร้านแจ้งไว้ว่า สามารถช่วยเพิ่มปริมาน oxygen และมีตัวกรองทำให้น้ำสะอาดโดยกำจัดพวกแบคทีเรียในน้ำก่อนจะเอาไปสร้างความชื้น






เมื่อยกกระบอกบรรจุน้ำออกก็จะเป็นการปลดล็อกให้กับฝาครอบด้านข้างไปในตัว 





และนี่คือ ฝาครอบด้านข้างที่ถูกดึงออกมา ซึ่งตรงนี้ ก็จะพบกับส่วนของใบพัดไฮดรอลิก ของอุปกรณ์ปรับความชื้น จะเห็นได้ว่าแผ่นสร้างความชื้นนี้มีขนาดใหญ่พอควรซึ่งน่าจะสามารถช่วยกระจายความชื้นพอดีและทั่วถึง




มาดูกันที่ในส่วนของการควบคุมและการแสดงผลของตัวเครื่องกันต่อ






ในส่วนของสวิทช์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของตัวเครื่องจะอยู่ที่มุมบนซ้ายของด้านหน้าตัวเครื่อง

เพียงแค่สัมผัสเบาๆที่สัญลักษณ์ก็สามารถควบคุมการทำงานได้





เมื่อเปิดเครื่องก็จะมีไฟแสดงการทำงานสว่างขึ้นมาพร้อมทั้งยังบอกค่าความชื้นเป็นเปอร์เซ็นด้วย ในส่วนของค่าความชื้นที่แสดงบนหน้าจอของเครื่อง ก็คือค่าความชื้นภายในห้อง ซึ่งจะถูกตรวจจับได้จาก sensor ที่ติดตั้งด้านหลังเครื่อง




คุณลักษณะของเครื่องฟอกอากาศพร้อมฟังก์ชันปรับความชื้น

- ฟังก์ชันการฟอกอากาศแบบ3 ขั้นตอน ด้วยชุดแผ่นกรองอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นกรองขั้นต้น , แผ่นกรอง HEPA และแผ่นกรองขจัดกลิ่น

- การให้ความชุ่มชื้นในอากาศด้วยขั้นตอนแบบธรรมชาติเครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้ จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยวิธีแบบธรรมชาติเพราะในห้องปรับอากาศทั่วไปจะมีอากาศที่เย็นและค่อนข้างแห้งเครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้สามารถสร้างความชื้น และรักษาระดับความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อร่างกายที่40 – 60 %ลดการสูญเสียน้ำในเซลล์ผิว และทำให้สุขภาพดี

- การฆ่าเชื้อโรคและควบคุมเชื้อโรคด้วยระบบVirusDoctor ซึ่งจะปล่อยประจุออกมาทำลายและฆ่าเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ




สุดท้ายท้ายสุด ของรีวิวชุดนี้

ข้อมูลที่ผมได้นำเสนอไปในรีวิวชุดนี้ผมได้พยายามรวบรวมหามาให้มากสุดเท่าทีจะทำได้ซึ่งผมก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้หลายๆคนได้ลองนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศเครื่องใหม่รวมทั้งอาจจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจได้ไม่มากก็น้อยและหากมีโอกาสคงได้พบกันใหม่ในรีวิวครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นการรีวิวเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ รุ่นไหน-แบรนด์ไหน ก็โปรดติดตามกันตอนต่อไปหากมีเวลาว่าและมีโอกาสได้พบเจอสิ่งที่น่าสนใจผมจะนำข้อมูลดีๆมาฝากกันต่อไป...สวัสดีครับ




















 

Create Date : 21 สิงหาคม 2556    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2558 20:43:52 น.
Counter : 18169 Pageviews.  

รีวิว...การควบคุมเครื่องปรับอากาศจากระยะไกล ผ่าน Smart Phone

รีวิวชุดนี้ เป็นหนึ่งในภาคต่อของรีวิวเครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรีวิว หรือยังอ่านไม่ครบทั้ง 5 ตอน ก็สามารถกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่าง

การควบคุมเครื่องปรับอากาศจากระยะไกล ผ่าน SmartPhone

การควบคุมจากนอกบ้าน ด้วยโหมด Out-of-homeก่อนอื่นจะต้องมีการลงทะเบียนในเว็บไซด์ของผู้ผลิตเสียก่อนมิฉะนั้น...จะไม่สามารถสั่งการควบคุมเครื่องปรับอากาศจากนอกบ้านได้


ขั้นตอนการลงทะเบียนเครื่องปรับอากาศ


เข้าไปยังเว็บไซด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะของซัมซุง //global.samsungsmartappliance.com




แต่เนื่องจากตัวผมเองได้เริ่มใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นครั้งแรก ไม่เคยลงทะเบียนในระบบมาก่อนจึงไม่มีบัญชีผู้ใช้

ขั้นแรกจึงต้องทำการลงทะเบียน เพื่อสมัครสมาชิก




กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม เพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้




หลังจากกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มครบ และได้กดยอมรับข้อตกลงและเงือนไขเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทำการเข้าไปยืนยันการลงทะเบียนอีกครั้งใน E-mail ที่ส่งมาให้


หลังจากที่ทำการสมัครสมาชิก และดำเนินการยืนยันการลงทะเบียนใน E-mailเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้กลับมาที่หน้าหลักของเว็บไซด์ เลือกเมนู [Mypage] แล้วจะมีตัวเลือกย่อยออกมา ให้เลือก [My page]
จะปรากฏหน้าต่างที่แสดงข้อมูลผู้ใช้
ให้ทำการเลือก [Add device] เพื่อเพิ่มรายการเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ





เมื่อกดเลือก [Add device] จะมีช่องให้กรอกหมายเลขเฉพาะของตัวเครื่อง(Device NO) เพื่อใช้อ้างถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายและใช้รับรองอุปกรณ์ที่ลงทะเบียน




Device NO หาได้จากไหน?
ถ้าต้องการดูหมายเลข Device NO ในเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ง่ายสุด คือดูที่ด้านล่างของเครื่องปรับอากาศ ในส่วนคอยล์เย็นที่ติดตั้งในห้องจะมีสติ๊กเกอร์ Device NO ติดอยู่ด้านล่าง



นำหมายเลข Device NO มากรอกลงในช่องที่กำหนด แล้วกด [รับรองอุปกรณ์]




ในขณะนั้น หากเครื่องปรับอากาศเปิดอยู่ให้ทำการปิดแล้วเปิดใหม่ ตามที่ระบุไว้บนเว็บไซด์



หากการรับรองเสร็จสมบูรณ์ และถูกต้องจะได้รับข้อความยืนยัน แล้วทำการกด [OK]




เมื่อลงทะเบียนและทำการรับรองอุปกรณ์เสร็จแล้วจะมีรายชื่ออุปกรณ์ที่เราได้ลงทะเบียนไว้ ในหน้าของข้อมูลผู้ใช้




สำหรับการลงทะเบียนเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้สำหรับการควบคุมในระยะไกลก็มีอยู่เพียงเท่านี้
ต่อไปผมจะสาธิตการใช้งานควบคุมจากระยะไกล


การควบคุมจากระยะไกล ผ่านโหมดการควบคุมจากนอกบ้าน [Out-of-home]

หลังจากที่เราลงทะเบียนเครื่องปรับอากาศเสร็จเรียบร้อยแล้ว
กรณีที่ต้องการควบคุมเครื่องปรับอากาศจากนอกบ้าน ก็เลือกโหมด [Out-of-home]แล้วทำการ login เข้าระบบ เพียงเท่านี้เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ก็จะสามารถควบคุมการทำงานได้จากนอกบ้าน

เพียงแค่เราเปิด Router Wi-Fi ในบ้านเอาไว้เราก็สามารถใช้ Smart Phone สั่งการควบคุมเครื่องปรับอากาศได้ทุกที่ขณะที่อยู่นอกบ้าน เราจะสั่งการผ่านเครือข่าย 3G ที่ใช้กับ SmartPhone หรือ Wi-Fi ที่เราเชื่อมต่อจากที่อื่นๆ
ก็สามารถทำได้ อีกทั้งยังตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของเครื่องปรับอากาศผ่านทาง Smart Phone ได้อีกด้วย


แต่...อย่าเผลอไปปิดเบรกเกอร์ของเครื่องปรับอากาศเพราะจะทำให้ขาดจากการเชื่อมต่อ และไม่สามารถสั่งการผ่าน Smart Phone ได้



การใช้งานโหมด [Out-of-home] เพื่อควบคุมเครื่องปรับอากาศขณะที่อยู่นอกบ้าน

หมายเหตุ...ก่อนการใช้งานโหมด [Out-of-home] ต้องแน่ใจว่าได้ทำการลงทะเบียนในเว็บไซด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการใช้งาน อันดับแรก ให้เปิด Application Smart AirConditioner จากนั้นให้เลือกโหมด [Out-of-home] สำหรับการควบคุมเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อยู่นอกบ้าน
การใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศขณะที่อยู่นอกบ้านผ่านทางโหมด [Out-of-home]ในขณะที่ใช้งาน โทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่ใช้จะต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอยู่ ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยใช้เครือข่าย 3G หรือเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ในสถานที่อื่นๆ ก็ได้




เมื่อเข้ามาในโหมด [Out-of-home]จะมีหน้าจอขึ้นมาเพื่อให้ทำการ Login เข้าสู่ระบบ




กรอก ID ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ตามด้วย Passwordแล้วกด [OK]


ระบบกำลังเชื่อมต่อ



เมื่อระบบทำการเชื่อมต่อกับเครื่องปรับอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่หน้าจอของการควบคุม ซึ่งถ้าเครื่องปรับอากาศถูกปิดอยู่บนหน้าจอก็จะแสดงสถานะดังภาพ




แต่ถ้าเครื่องปรับอากาศถูกเปิดใช้งานอยูในขณะนั้นหรือลืมปิดก่อนออกจากบ้าน บนหน้าจอก็จะแสดงสถานะ ของการทำงานให้เห็น


การสั่งเปิดเครื่องผ่านโหมด [Out-of-home] เมื่ออยู่บอกบ้านสามารถปรับตั้งอุณหภูมิและเลือกโหมดการทำงานได้ไม่ต่างจากการควบคุมแบบใช้โหมดการควบคุมภายในบ้าน [In-home]



หมายเหตุ...เครื่องปรับอากาศรุ่นที่รีวิวนี้ตัวเครื่องไม่รองรับการทำงานในโหมดทำความร้อน (Heat) ซึ่งการเลือกสั่งการในโหมดนี้ที่เครื่องปรับอากาศจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น


ส่วนเรื่องฟังก์ชั่นเสริมและลูกเล่นปลีกย่อยในตัวเครื่องปรับอากาศแม้อยู่นอกบ้านก็ยังสามารถสั่งการฟังก์ชั่นหลายอย่างได้ โดยผ่านทางโหมด [Out-of-home] 


เราสามารถใช้ Smart Phone ควบคุมเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ได้ จากทุกที่ทั่วไทย ผ่านทางโหมด [Out-of-home]โดยที่ Smart Phone จะต้องถูกเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในขณะใช้งานซึ่งจะใช้งานผ่านเครือข่าย 3G หรือสัญญาณ Wi-Fi จากที่อื่นๆก็ได้ ตามแต่สะดวก

เพียงเท่านี้...การสั่งเปิดปิดเครื่องปรับอากาศจากระยะไกลหรือแม้แต่จะสั่งการควบคุมแบบข้ามจังหวัดก็สามารถทำได้ รวมถึงการปรับอุณหภูมิเปลี่ยนโหมด หรือเปิดใช้งานในส่วนฟังก์ชันเสริมก็สามารถทำได้
อีกทั้งยังใช้ตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของเครื่องปรับอากาศได้จาก SmartPhone ทุกที่ทุกเวลา




และผมยังได้ทดลองนำ Tabletที่ผมมีอยู่ มาตั้งค่าและใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ก็ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ ไม่ต่างไปจาก Smart Phone
ถ้าใครจะนำไปประยุกต์ใช้ ร่วมกับ Tablet ก็สามารถทำได้นะครับ









 

Create Date : 09 มิถุนายน 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:32:31 น.
Counter : 8722 Pageviews.  

1  2  3  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.