สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

สายดินสำหรับแอร์



        ในส่วนของเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ที่ใช้กันอยู่ในอาคารบ้านเรือน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องนำมาติดตั้งใช้งานอยู่กับที่ และในกรณีของแอร์รุ่นปัจจุบันที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา บริเวณจุดต่อสายไฟเข้าเครื่องนั้น ทางผู้ผลิตก็ได้กำหนดจุดสำหรับต่อสายดินเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายท่านที่เกิดข้อสงสัย ว่า...แอร์ที่ติดตั้งนั้นควรจะต้องต่อสายดินหรือไม่ ?





ซึ่งในเรื่องของสายดินนี้ ถ้าพูดถึงระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัยในปัจจุบัน หากเป็นบ้านที่สร้างขึ้นในช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมานี้ แทบทุกบ้านที่ก่อสร้างหรือทำการปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งระบบ จะต้องดำเนินการติดตั้งระบบสายดินควบคู่กับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งใช้งาน ตามข้อบังคับของการไฟฟ้าฯ และเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน





และเป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้งานกันอยู่ภายในบ้าน หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ติดตั้งอยู่กับที่หรือกึ่งอยู่กับที่ ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีโครงภายนอกเป็นโลหะ มีส่วนที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้หรือมีส่วนสัมผัสที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่เชื่อมถึงกับผู้ใช้งานโดยตรง จะต้องมีการติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า


ซึ่งหาจะพิจารณาจากข้อมูลที่มาจากโรงงานผู้ผลิต กรณีของแอร์นั้น เรื่องการต่อสายดินให้กับแอร์ดูจะเหมือนจะยังไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญมากนัก และก็ไม่ได้มีการกำหนดเป็นคำเตือนข้อบังคับให้ต้องต่อสายดินแสดงให้เห็นชัดเจนเหมือนที่เห็นกันบนฉลากของเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ผู้ผลิตหลายรายได้เขียนคำแนะนำเรื่องการต่อสายดินรวมไว้ในเอกสารประกอบการติดตั้งที่มีมาให้



สำหรับในการติดตั้งแอร์แบบที่พบเห็นได้ทั่วๆไป ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเน้นในเรื่องของมาตรฐานสักเท่าไหร่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่นิยมติดตั้งระบบสายดินให้กับแอร์ 

โดยอาจจะใช้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงเช่น...ส่วนคอยล์เย็นของแอร์ที่ติดตั้งในปัจจุบัน มีฝาครอบเป็นพลาสติกไม่นำไฟฟ้าและมักจะติดตั้งในระดับที่สูงจนการใช้งานปกติแทบจะไมมีการสัมผัสหรือเข้าถึงและแม้แต่ส่วนคอยล์ร้อนเองถึงแม้จะเป็นโลหะหุ้มแต่การติดตั้งใช้งานปกตินั้นตำแหน่งที่วางคอยล์ร้อนก็เป็นตำแหน่งที่ผู้ใช้ทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าถึงอยู่แล้วความเสี่ยงเรื่องที่ผู้ใช้งานจะโดนไฟดูดจึงเหมือนจะมีน้อย 

และยิ่งการใช้งานปกติก็มักจะควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่สัมผัสกับผู้ใช้งานในกรณีแบบที่ใช้งานกันปกติทั่วๆไปจึงแทบจะไม่มีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายจากไฟดูด สายดินของแอร์จึงยังไม่ค่อยได้รับการนึกถึงความสำคัญเท่าที่ควร หรือจะต้องรอให้เกิดเหตุขึ้นก่อนจึงจะมีใครเห็นความสำคัญของมัน





และบ่อยครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พบมาก็คือกรณีที่ระบบไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นมีระบบสายดินพร้อมตรงตามข้อบังคับของการไฟฟ้าและทางช่างที่มาดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าก็ได้มีการติดตั้งเป็นเบรกเกอร์วงจรย่อยแยกออกมาให้ในตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้กับแอร์โดยเฉพาะและได้มีการเดินสายเมนไฟพร้อมกับสายดินมารอไว้ยังจุดที่เผื่อไว้ให้สำหรับการติดแอร์ภายหลังแต่เมื่อช่างแอร์ได้มาติดตั้งแต่ในภายหลัง กลับต่อเฉพาะสายเมนสำหรับจ่ายไฟให้แอร์แต่สายดินที่ถูกเดินมารอไว้ร่วมด้วยแต่แรกกลับถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ต่อเข้ากับจุดต่อสายดินของแอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายและสายดินของวงจรย่อยที่ใช้กับแอร์นั้นก็ถูกปล่อยไว้เปล่าประโยชน์




ทางที่ดีที่สุดนั้น หากว่าบ้านหลังไหนที่มีระบบสายอยู่พร้อมแล้ว และยิ่งถ้ามีการต่อสายดินมารองรับถึงที่จุดติดตั้งช่างแอร์ที่มาติดตั้งต่อในภายหลัง ก็ควรที่จะต่อระบบสายดินนั้นให้กับแอร์ที่ติดตั้งด้วยเพื่อเสริมความปลอดภัยให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก และเพื่อความถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน 

อย่าคิดแต่เพียงว่าสายดินที่ต่อนั้นคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและทำให้กำไรลด เพราะต้นทุนที่เพิ่มเข้ามามันก็ไม่กี่บาท ช่างแอร์บางราย ประเภทที่ว่าต้นทุนอะไรลดได้ก็ลดๆให้หมดลดไว้ก่อน แต่ก็ไม่เห็นว่าใครจะได้เป็นเศรษฐีขึ้นมา




ต่อสายดินให้แอร์แล้วเครื่องตัดไฟจะทริปหรือเปล่า?

คำถามแบบนี้เมื่อก่อนผู้เขียนมักพบเจออยู่บ่อยๆ ซึ่งมันมีที่มาที่ไปจากการที่ช่างแอร์บางรายก็อาจจะยังมีความเชื่อที่ผิดๆ อาจจะเริ่มมาจากที่ได้ยินต่อๆกันมาหรือจากไหนก็ตามแต่ ว่าการต่อสายดินให้กับแอร์ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นมีการติดตั้งเครื่องตัดไฟหรือเบรกเกอร์แบบป้องกันไฟดูดควบคุมอยู่เมื่อต่อสายดินให้กับแอร์แล้วจะทำให้เบรกเกอร์แบบที่ป้องกันไฟดูดปลดวงจรออกเองเพราะมีไฟรั่วลงดิน 

ซึ่งนั่นถือเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะในกรณีของแอร์ปกติแบบที่ใช้กันอยู่ มีมาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดไว้แล้วโดยขณะทำงานในสภาวะปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วออกมาสู่โครงโลหะหรือถ้ามีก็ต้องน้อยมากๆจนไม่สามารถรู้สึกได้เมื่อสัมผัสโครงโลหะและก็ต้องน้อยจนไม่มีผลให้อุปกรณ์ป้องกันแบบที่ใช้กันปกติตรวจจับเจอและสั่งให้ทริปวงจรได้

ดังนั้นการไม่ต่อสายดินให้แอร์โดยอ้างเหตุผลเรื่องเครื่องตัดไฟทำงานถือเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแอร์ที่ติดตั้งใหม่และสภาพสมบูรณ์ปกติการใช้งานปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟรั่วขณะทำงาน หรือมีก็ต้องมีน้อยมากๆ



ต่อสายดินให้แอร์จะเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่มีหลายท่านสงสัยอยู่ซึ่งก็อ้างอิงตามที่ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องที่ว่าเครื่องตัดไฟจะทริปหรือเปล่า เพราะแอร์สภาพปกติจะไม่มีกระแสไฟฟ้ารั้วลงดิน หรือรั่วก็อยู่ในระดับที่น้อยมากซึ่งนั่นไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จะส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มจนเห็นได้



สายดินของแอร์ระบบ Inverter

หากเป็นแอร์ระบบ Inverterผู้เขียนอยากจะเน้นให้ต้องต่อสายดินไว้ด้วยจะเป็นการดี โดยเฉพาะบ้านที่มีระบบสายดินอยู่แล้วจะต้องต่อสายดินให้แอร์ด้วยในกรณีที่ติดตั้งแอร์ระบบ Inverter

เพราะแอร์ระบบ Inverter เป็นแอร์ที่มีภาคควบคุมทางไฟฟ้าที่ซับซ้อนขึ้นมาจากแอร์แบบธรรมดาหลายเท่า ซึ่งภาคควบคุมที่ว่านี้จะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภาคกำลังและภาคควบคุมที่ต้องทำงานร่วมกัน ในระหว่างที่แอร์ทำงานนั้นจะเกิดคลื่นสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าร่วมด้วย การต่อสายดินในแอร์ระบบ Inverter จะช่วยกำจัดปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าได้มาก ตลอดจนเป็นการป้องกันชิ้นส่วนในวงจรอิเล็กทรอนิกส์อันแสนบอบบาง ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ในกรณีที่มีฟ้าผ่าลงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง






สรุปคือหากบ้านหลังไหนที่มีการติดตั้งระบบสายดินอยู่ในระบบไฟฟ้าแล้ว การติดแอร์เพิ่มในภายหลังก็ควรจะต่อสายจากจุดต่อสายดินของเครื่องปรับอากาศเข้ากับระบบสายดินของบ้าน เพื่อเป็นการเสริมการป้องกันให้ดียิ่งขึ้น และยังป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย 

ส่วนบ้านหลังไหนที่ไม่มีระบบสายดินอยู่หากจะติดตั้งสายดินเพิ่มเฉพาะของแอร์ ก็สามารถทำได้แต่ในกรณีที่จะไม่ติดตั้งสายดินให้กับแอร์ หากท่านได้พิจารณาแล้วว่าชิ้นส่วนตัวโครงโลหะของเครื่อง ในจุดที่ติดตั้งนั้นอยู่ในระดับที่ผู้ใช้งานทั่วไปในสภาวะปกติไม่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสหรือเข้าถึงโดยตรง การติดตั้งโดยไม่มีระบบสายดินก็ถือว่าสามารถยอมรับได้ในระดับหนึ่ง




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2557    
Last Update : 7 มีนาคม 2560 19:28:32 น.
Counter : 55045 Pageviews.  

แผงคอยล์ร้อนแอร์แบบอลูมิเนียม

แผงควบแน่น หรือแผงระบายความร้อน (Condenser) ถือเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ในระบบเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นเป็นตัวกลางในการและเปลี่ยนความร้อนซึ่งโดยหลักการแล้วแผงควบแน่นจะเป็นส่วนที่ใช้ระบายความร้อนให้กับสารทำความเย็นทำให้สารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาในรูปของแก๊สที่มีแรงดันและอุณหภูมิสูงควบแน่นและเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ก่อนที่จะเดินทางสู้กระบวนการทำความเย็นในขั้นต่อไป




ในกรณีของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหรือแอร์บ้าน ที่เรามีใช้กันอยู่นั้น แผงควบแน่นจะถูกที่ติดตั้งอยู่ภายในชุดคอยล์ร้อน(Condensing Unit) ซึ่งโดยปกตินั้นเรามักจะติดตั้งชุดคอยล์ร้อนไว้ที่ภายนอกอาคารเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ที่ต้องการจะดึงความร้อนภายในออกมาทิ้งภายนอกอาคารนั้นเอง

การระบายความร้อนของแผงควบแน่นสำหรับกรณีที่เป็นแอร์บ้านนั้นจะใช้การระบายความร้อนด้วยวิธีการให้อากาศที่ไหลผ่านแผงควบแน่นซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพัดลมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดการไหลหรือให้เกิดการเคลื่อนที่ของอากาศต่างจากเครื่องปรับอากาศเพื่อการพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ๆ ซึ่งจะใช้ระบบน้ำหล่อเย็นในการระบายความร้อนของแผงควบแน่นเนื่องจากขนาดทำความเย็นที่สูงทำให้การระบายความร้อนโดยการใช้เพียงอากาศเป็นสื่อนำไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ




สำหรับลักษณะของแผงควบแน่นที่ใช้กับชุดเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์แบบแยกส่วน ที่เรามีใช้งานกันอยู่ตามอาคารบ้านเรือนทั่วๆไปจะมีลักษณะเป็นท่อโลหะที่ขดตัวไปมาเพื่อใช้เป็นทางเดินของสารทำความเย็นโดยท่อจะถูกสอดผ่านแผ่นโลหะบางๆซึ่งวางซ้อนกันอยู่หลายๆแผ่น ที่เรียกว่าแผ่นครีบฟิลซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มพื้นผิวสัมผัสในการนำพาความร้อนให้กับโลหะ

แรกเริ่มเดิมทีเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่มีขายกันในบ้านเรา ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนในยุคที่แอร์แบบแยกส่วนยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย และแอร์แบบหน้าต่างยังครองตลาดผู้ใช้ภาคครัวเรือนเป็นหลักแอร์ในยุคแรกเริ่ม แผงควบแน่นแบบดั้งเดิมนั้นใช้ท่อทองแดงสอดผ่านส่วนกลางของแผ่นครีบฟิลที่ทำมาจากอลูมิเนียมเรียกว่าแผงควบแน่นหรือแผงระบายความร้อนแบบท่อและครีบ ซึ่งแผงควบแน่นลักษณะนี้ก็ถูกใช้งานในแอร์เครื่องต่อๆมาจนถึงปัจจุบันซึ่งผ่านมาหลายสิบปีแต่เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักอาจจะมีการเสริมคุณภาพขึ้นมาเล็กน้อยโดยการฉาบสารเคมีที่มีคุณสมบัติป้องการการกัดกร่อนเพิ่มเข้าไป


โดยแผงควบแน่น (Condenser) แบบใหม่นั้น มีชื่อว่า Parallel Flow Condenser ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาจากอลูมิเนียมทั้งชุด แต่ก็ยังมีการอิงหลักการพื้นฐานส่วนหนึ่งจากแผงแบบดั้งเดิมที่เป็นท่อและครีบ ซึ่งแผงควบแน่นแบบใหม่ยังคงออกแบบให้มีท่อที่ใช้เป็นทางเดินของสารทำความเย็น ทำจากอลูมิเนียมวางซ้อนขดกันไปมาและมีแผ่นอลูมิเนียมที่บางกว่าเข้ามาแทรกไว้ระหว่างท่อที่ซ้อนกันเพื่อใช้เพิ่มพื้นที่ผิวหน้าในการถ่ายเทความร้อน ลักษณะของแผงควบแน่นแบบนี้หากมองภายนอกแล้วจะเห็นได้ว่า ค่อนข้างจะมีความคล้ายคลึงกับแผงระบายความร้อนในระบบหล่อเย็นของรถยนต์




หลายท่านที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในแอร์รุ่นที่เปลี่ยนมาใช้แผงควบแน่นแบบใหม่นี้ก็มีข้อสงสัยเกิดขึ้นมามากมายซึ่งผู้เขียนก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและเนื้อหาในส่วนของข้อมูลทางเทคนิคมาพอสมควรโดยก่อนอื่นนั้นเรามาดูกันที่โครสร้างภานในของแผงควบแน่นแบบนี้ก่อน



แผงควบแน่นแบบใหม่ที่ทำมาจากอลูมิเนียมล้วนนั้นได้มีการออกแบบโดยใช้หลักการพื้นฐานในกระบวนการแลกเปลี่ยนความร้อน(Heat Exchangers) ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในการถ่ายเทหรือแลกเปลี่ยนความร้อนจากของไหลชนิดหนึ่งไปยังของไหลอีกชนิดหนึ่ง โดยที่การแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นของไหลทั้งสองชนิดไม่จำเป็นต้องผสมหรือสัมผัสกันโดยตรงและในที่นี้เรากำลังพูดถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างสารทำความเย็นหรือน้ำยาที่ไหลในระบบ กับการไหลของอากาศที่ถูกดูดด้วยพัดลมในชุดคอยล์ร้อนนั่นเอง




การออกแบบท่อทางเดินสารทำความเย็นในแผงควบแน่นแบบใหม่นั้นต่างไปจากท่อทองแดงที่ใช้ในแผงควบแน่นแบบเก่าโดยสิ้นเชิง เนื่องจากท่ออลูมิเนียม (Micro Channel Flat Aluminum) ที่ถูกนำมาใช้ประกอบเป็นแผงควบแน่นนั้นไม่ใช่แค่ท่อแบบธรรมดาแต่ภายยังในมีการออกแบบให้ถูกแบ่งเป็นช่องเล็กๆหลายช่องต่างจากแผงแบบเดิมที่เป็นท่อกลมธรรมดาซึ่งการออกแบบของแผงแบบใหม่นั้นยิ่งช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างโลหะกับตัวกลางในการถ่ายเทความร้อน




ถ้าเทียบในด้านประสิทธิภาพซึ่งพูดถึงประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานกับแผงควบแน่นของแอร์ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศหากจะเทียบกับแผงควบแน่นแบบดั้งเดิมนั้น ด้วยหลักการออกแบบที่ว่ามานั้นจึงจัดว่าแผงควบแน่นแบบใหม่นี้มีความสามารถในการถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำความเย็นได้ดีกว่า และยังมีผลให้แอร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น






 

Create Date : 24 กันยายน 2557    
Last Update : 24 กันยายน 2557 20:57:24 น.
Counter : 23689 Pageviews.  

แอร์เคลื่อนที่

แอร์เคลื่อนที่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการใช้แอร์ แต่ไม่สามารถติดตั้งแอร์แบบปกติได้ โดยอาจจะมีเหตุผลหรือข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ติดตั้งแอร์ไม่ได้หรือในกรณีที่ต้องการใช้งานเฉพาะกิจ




สำหรับท่านใดที่กำลังมีข้อสงสัย หรือกำลังตัดสินใจจะซื้อแอร์เคลื่อนที่มาใช้งาน และอยู่ในช่วงที่กำลังหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอยู่ ลองอ่านบทความชุดนี้ให้จบ และทำความเข้าใจ เพราะในบางครั้งเองแอร์เคลื่อนที่มันก็อาจจะยังตอบสนองความต้องการได้ไม่ครบ ตามที่ตั้งไว้ก็เป็นได้



แอร์เคลื่อนที่ หรือเครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ (Portable Type) เป็นเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้งานหลักๆที่เหมือนๆกับแอร์แบบทั่วไป คือการนำมาใช้สำหรับปรับอุณหภูมิภายในห้อง หรือภายในพื้นที่ที่กำหนด

แต่แอร์เคลื่อนที่นั้น มันเคลื่อนที่ได้สะดวกตามชื่อของมัน เพราะถูกออกแบบมาให้ใช้นำไปใช้งานได้ทุกที่ที่มีไฟฟ้า แค่ยกไปวางแล้วเสียบปลั๊กก็ใช้ได้ทันที ที่แอร์เคลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายไปใช้งานได้นั้น ก็เพราะแอร์เคลื่อนที่ได้รวมเอาส่วนประกอบต่างๆและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้มารวมอยู่ภายในชุดเดียวกัน ไม่มีการแยกเป็นส่วนคอยล์ร้อน-คอยล์เย็น ไม่ต้องเดินท่อน้ำยา และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งโดยช่างแอร์ก็สามารถใช้งานได้


ลักษณะรูปทรงของแอร์เคลื่อนที่นั้น จะแตกต่างไปจากแอร์แบบที่เรานิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งแอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป จะเป็นแอร์แบบที่ต้องติดตั้งเข้ากับอาคารสถานที่ ที่นำไปใช้งาน โดยจะมีการแยกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนคือส่วนภายในอาคาร และภายนอกอาคาร เราจึงนิยมเรียกแอร์แบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนี้ว่าแอร์แยกส่วน



ความเป็นมาเกี่ยวกับแอร์เคลื่อนที่

แอร์แบบที่รวมทุกส่วนไว้ภายในชุดเดียวกัน สามารถยกไปติดตั้งหรือใช้งานได้ โดยไม่ต้องมีการเดินระบบท่อสารทำความเย็นเชื่อมต่อระหว่างแต่ละส่วน เป็นแนวคิดพื้นฐานของแอร์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน และอาจจะเปรียบได้ว่าเป็นการยืมแนวคิดจากแอร์หน้าต่าง (Window Type) มาใช้ออกแบบ 

เพราะแอร์หน้าต่างนั้น ก็เป็นแอร์ที่ออกแบบให้ส่วนประกอบทั้งหมดรวมอยู่ด้วยกันภายในชุดเดียว โดยที่มีด้านหนึ่งเป็นส่วนทำความเย็น ซึ่งหันเข้าไปในอาคาร และอีกด้านเป็นส่วนระบายความร้อนซึ่งจะหันออกไปยังพื้นที่ภายนอกอาคาร






ภายในแอร์หน้าต่างจะประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ ได้แก่ คอยล์ร้อน, คอยล์เย็น, ท่อทางเดินสารทำความเย็น, มอเตอร์พัดลม, ส่วนควบคุมทางไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ โดยทั้งหมดนี้ประกอบรวมอยู่ภายในชุดเดียวกัน การนำไปใช้งานนั้นจะต้องนำทั้งชุด ไปติดตั้งเข้ากับช่องหน้าต่าง หรือช่องที่เจาะไว้บนกำแพง ซึ่งอาจจะต้องมีการทำส่วนเสริมขึ้นมารองรับน้ำหนักของแอร์ 

เมื่อได้ช่องพอดีกับแอร์แล้ว ก็นำแอร์ไปติดตั้งเข้ากับตำแหน่งที่รองรับ โดยให้ด้านที่เป็นหน้ากากซึ่งจะมีช่องจ่ายลมเย็นและสวิทช์ควบคุม หันเข้าในอาคารหรือในห้อง และส่วนของตัวเครื่องที่เหลือก็จะโผล่ออกไปนอกอาคาร รวมทั้งยังเป็นด้านเระบายความร้อนนั่นเอง และหลังจากวางตัวแอร์ให้เข้าที่แล้วก็สามารถเสียบปลั๊กใช้งานได้ในทันที

โดยที่แอร์แบบหน้าต่างนั้นนับว่าเป็นแอร์แบบแรกๆที่ผลิตขึ้นเพื่อการใช้งาน ในระดับภาคครัวเรือน สำหรับประเทศไทยนั้นเองก็เคยมีแอร์หน้าต่างใช้กันอย่าแพร่หลายในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไป แอร์หน้าต่างก็ค่อยๆถูกแทนที่ด้วยแอร์แบบแยกส่วนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะแอร์หน้าต่างมีข้อเสียหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเสียงรบกวน





แอร์เคลื่อนที่ กับโจทย์ความต้องการที่หลายคนต้องการ

เชื่อได้ว่าในตอนนี้มีหลายๆคนที่กำลังมองหาแอร์เคลื่อนที่มาใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะใช้แอร์ แต่มีเหตุผลที่ไม่สามารถติดตั้งแอร์แบบแยกส่วนที่ใช้กันทั่วไปได้ ซึ่งคนที่ต้องการแอร์แต่ติดแอร์ไม่ได้ ก็มักจะมองแอร์เคลื่อนที่เป็นคำตอบสำหรับตอบโจทย์ความต้องการ

แต่ในบางครั้งแอร์เคลื่อนที่เอง ก็อาจจะตอบรับความต้องการได้ไม่เต็มที่ เพราะข้อจำกัดบางอย่างที่มีภายในตัว จึงทำให้หลายคนที่ได้ซื้อมาใช้รู้สึกไม่ประทับใจและลงเอยท้ายสุด ด้วยการนำไปประกาศขายต่อนั่นเอง

เพื่อเป็นคำแนะนำ ให้กับใครที่กำลังจะตัดสินใจเลือกแอร์เคลื่อนที่มาใช้ แล้วจะได้ไม่ต้องผิดหวังในการนำไปใช้งาน ผู้เขียนจึงขอสรุปประเด็นหลักๆที่พบได้บ่อยๆมาให้ได้อ่าน และนำไปพิจารณาร่วมกับโจทย์ความต้องการที่แต่ละคนมีอยู่







การนำไปใช้งานในห้องพัก

สำหรับคนที่พักอาศัยในห้องเช่าหรือบ้านเช่า ที่มีข้อห้ามกำหนดไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามเจาะผนังหรือส่วนใดๆของอาคาร ซึ่งทำให้ไม่สามารถคิดแอร์แบบแยกส่วนที่ใช้กันทั่วไปได้

หากผู้อยู่อาศัยต้องการแอร์เพื่อใช้งานในห้อง แอร์เคลื่อนที่นั้นดูเหมือนจะเป็นทางออกของปัญหาที่ใครหลายคนนึกถึง แต่การนำแอร์เคลื่อนที่มาใช้ในกรณีนี้ จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคือแอร์เคลื่อนที่ ซึ่งหากจะคาดหวังให้มันสามารถตอบสนองให้กับผู้ใช้งาน ได้เหมือนที่แอร์แยกส่วนทำได้นั้นดูจะเป็นความคิดที่ผิด และอาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวัง


เพราะแอร์เคลื่อนที่ ไม่สามารถทำความเย็นครอบคลุมทั่วทั้งห้องได้เหมือนกับแอร์แบบแยกส่วน แม้ว่าบนแผ่นป้ายข้อมูลจำเพาะมัน จะแสดงขนาดทำความเย็นที่มีหน่วยเป็น บีทียูต่อชั่วโมง (BTU/Hour) เท่ากันก็ตาม แต่ถึงอย่างไรมันก็ให้ผลได้ไม่เหมือนกัน เพราะข้อจำกัดของขนาดพัดลมที่ใช้ส่งลม ซึ้งโดยปกติแอร์แยกส่วนมักจะใช้มอเตอร์พัดลมเพียงตัวเดียว เป็นมอเตอร์ชนิดมีแกนสองด้าน สำหรับขับเคลื่อนพัดลมระบายความร้อนและพัดลมที่เป่าลมเย็นออกมา 

และนอกจากนี้ รูปแบบของการส่งลมเย็นตลอดจนทิศทางที่ใช้ส่งลม ก็ทำได้อย่างจำกัด เพราะเหตุผลหลักเกี่ยวกับข้อจำกัดของพื้นที่ภายใน ซึ่งการเป็นแอร์เคลื่อนที่นั้น มันต้องมีขนาดและน้ำหนักที่เอื้อต่อการเคลื่อนที่ ดังนั้นอุปกรณ์ทั้งหมดที่ถูกจับมารวมไว้ในชุดเดียวกัน ทั้งส่วนทำความเย็นและระบายความร้อน การทำงานในพื้นที่จำกัดแบบนี้ ล้วนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปกว่าแอร์แบบแยกส่วน


และสิ่งที่ที่หลายคนยังไม่ทราบ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ห้องที่ใช้แอร์เคลื่อนที่ ไม่เย็นทั่วห้อง แม่จะใช้ขนาดทำความเย็นที่เหมาะสมแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในห้องที่ใช้แอร์เคลื่อนที่นั้น มีอากาศร้อนจากนอกห้องเล็ดลอดเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ใช้แอร์ เนื่องจากแอร์เคลื่อนที่แบบต่อท่อลมเดี่ยวเพื่อน้ำลมร้อนออกไปทิ้งนอกห้อง จะดึงเอาอากาศภายในห้องนั้นมาผ่านแผงควบแน่นเพื่อระบายความร้อนให้กับสารทำความเย็น อากาศที่ถูกดูดเข้ามาผ่านแผงควบแน่นนั้นก็จะกลายเป็นอากาศที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น(ลมร้อน)ซึ่งจำเป็นจะต้องนำออกไปปล่อยทิ้งนอกห้อง โดยลมร้อนนี้ก็จะถูกส่งผ่านท่อส่งลมออกไปสู่นอกอาคารทางหน้าต่าง หรือช่องทางอื่นๆ




กระบวนการระบายความร้อนแบบที่กล่าวมานี้ ทำให้อากาศในห้องถูกดูดมาระบายความร้อนและนำออกไปปล่อยทิ้งข้างนอกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันจะส่งผลให้มวลอากาศในห้องนั้นลดลง ในห้องจะมีความกดอากาศต่ำลง เมื่อมวลอากาศในห้องมีปริมาตรและความกดอากาศลดลง อากาศร้อนที่อยู่นอกห้องซึ่งมีความกดอากาศมากกว่า ก็จะพยายามหาช่องทางเล็ดลอดเข้ามาในห้องเพื่อแทนที่ส่วนที่หายออกไป ถึงแม้ห้องจะปิดประตูหน้าต่างหรือไม่มีช่องลมก็ตาม แต่ถึงอย่างไรห้องเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นห้องปิดผนึกอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีช่องว่างโดยเฉพาะช่องระหว่างประตู, หน้าต่างหรือช่องทางเล็กๆอื่นๆ ซึ่งอากาศที่มีความกดดันสูงก็สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ดี ทำให้อากาศร้อนนอกห้องเข้ามาแทนที่อากาศเย็นที่ถูกดูดไปทิ้ง และเป็นการแทนที่อยู่เรื่อยๆ ทำให้ห้องไม่เย็นทั่วถึงนั่นเอง 

และผู้ที่ใช้แอร์เคลื่อนที่แบบนี้ในห้องพัก ก็จะสังเกตเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่เปิดแอร์นั้น คอมเพรสเซอร์แอร์แทบจะทำงานอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะว่าอุณหภูมิของห้อง แทบจะไม่ต่ำลงกว่าที่ตั้งไว้เลย เพราะอากาศเย็นที่แอร์สร้างมานั้นส่วนหนึ่งก็ถูกดูดไปทิ้งอยู่เรื่อย




ในแอร์เคลื่อนที่บางรุ่นได้มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยการออกแบบให้มีท่ออากาศสองท่อ

ซึ่งท่อหนึ่งจะใช้สำหรับดึงอากาศภายนอกเข้ามาผ่านแผงควบแน่น เพื่อระบายความร้อนและส่งอากาศที่เป็นลมร้อนออกไปทางท่ออีกท่อหนึ่ง ทำให้กระบวนการระบายความร้อนออกไปทิ้ง ไม่มีการดึงอากาศในห้องมาใช้

เป็นการแก้ไขให้แอร์มีประสิทธิภาพขึ้นมาในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเทียบกับแอร์แยกส่วนไม่ได้อยู่ดี




ซึ่งปัญหาด้านประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใช้ควรจะรู้ไว้ก่อน และไม่ควรคาดหวังมากเกินไป ประมาณว่าคาดหวังให้การใช้แอร์เคลื่อนที่แล้วจะได้ห้องแอร์ที่เย็นฉ่ำเหมือนติดแอร์แบบแยกส่วน ซึ่งมันคงจะเป็นไปได้ยาก 

ผลที่ได้เมื่อนำแอร์เคลื่อนที่ไปใช้ในห้อง โดยส่วนใหญ่นั้นผลที่ได้ก็จะให้ความเย็นได้เพียงพื้นที่บริเวณที่ลมเย็นสามารถจะเป่าไปได้ถึงโดยตรงเท่านั้น 




การใช้แอร์เคลื่อนที่แบบเฉพาะกิจ

แอร์เคลื่อนที่มีจุดเด่นที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้สะดวกจึงเป็นทางเลือกหลักๆในการใช้งานแบบเฉพาะกิจ อย่างเช่น การใช้งานนอกสถานที่เพื่อให้ความเย็นเฉพาะจุด ในพื้นที่ชั่วคราวแบบปิดหรือเปิดโล่ง หรืออีกกรณีคือการใช้เป็นแอร์สำรองเมื่อแอร์หลักขัดข้อง รวมถึงบางครั้งก็อาจจะเป็นแอร์เสริม เมื่อมีกิจกรรมเพิ่มจนทำให้แอร์หลักในห้องนั้นทำความเย็นได้ไม่ค่อยทันความต้องการ

ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างการใช้งานเฉพาะกิจที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งเรามักจะเห็นการนำแอร์เคลื่อนที่ใช้งานบ่อยๆ ในเต้นหรือพื้นที่สำหรับประกอบงานพิธีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทำความเย็นให้เฉพาะส่วนที่ต้องการ เช่น บริเวณเก้าอี้สำหรับประธานในพิธี เป็นต้น




การใช้พลังงานไฟฟ้า

อีกสิ่งที่ผู้ที่คิดอยากจะนำแอร์เคลื่อนที่มาใช้ควรทราบคือ เรื่องการใช้พลังงานของแอร์ หากใครที่คิดว่าแอร์เคลื่อนที่ จะใช้ไฟน้อยกว่าแอร์แยกส่วนนั่นเป็นความคิดที่ผิด

แม้ว่าแอร์ทั้งสองแบบที่มีขนาดทำความเย็นเท่ากัน หากจะว่าไป แอร์เคลื่อนที่นั้นเมื่อดูเผินๆแล้ว ก็เหมือนว่ามันมีขนาดที่เล็กกว่าแอร์แยกส่วน แต่นั่นก็ใช่ว่ามันจะต้องกินไฟน้อยตามขนาด เพราะแอร์เคลื่อนที่นั้นถูกออกแบบให้ทำงานในพื้นที่จำกัด มีข้อติดขัดหลายๆอย่าง ซึ่งส่งผลให้การระบายความร้อนถูกจำกัดตามไปด้วยและนั่นก็ทำให้ แอร์เคลื่อนที่ กินไฟมากกว่า แอร์แบบแยกส่วน




ทางเลือกอื่นนอกจากแอร์เคลื่อนที่

สำหรับใครที่ต้องการใช้แอร์แต่ไม่สามารถติดตั้งแอร์แบบแยกส่วนได้ ทางออกในปัจจุบันที่นอกจากทางเลือกในการใช้แอร์เคลื่อนที่คือการใช้แอร์เคลื่อนที่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพในด้านการปรับอากาศให้กับพื้นที่ได้ดีกว่าแอร์เคลื่อนที่แบบที่ต่อท่อลมออกไปทิ้ง

และนั่นก็คือแอร์มุ้ง ซึ่งเป็นแอร์แยกส่วนแบบที่มาพร้อมโครงมุ้ง ซึ่งจะใช้สร้างพื้นที่สำหรับส่วนปรับอากาศขึ้นมา โดยให้แอร์ทำความเย็นให้เฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว แต่พื้นที่ดังกล่าวก็อาจจะจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้กว้างขวางอะไรมาก ซึ่งก็เพียงพอแค่การวางที่นอนคิงส์ไซด์จำนวน 1 ชุด


โดยแอร์มุ้มจะมาพร้อมกับแอร์แบบรวมทั้งหมดไว้ในชุดเดียวกัน ซึ่งเสียบปลั๊กและใช้งานได้ทันที เป็นแอร์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ขนาดทำความเย็นประมาณ 6,000 BTU/Hour 

การใช้งานก็เพียงแค่ประกอบส่วนที่เป็นมุ้งแล้วหันด้านลมเย็นของแอร์เข้ามาทางช่องมุ้งที่มีให้ซึ่งด้านลมร้อนทั้งหมดจะอยู่ด้านนอกมุ้ง การทำความเย็นและการระบายความร้อน ลักษณะคล้ายๆกับการใช้งานแอร์หน้าต่าง แต่แอร์มุ้งต้องคอยจัดการนำภาชนะรองน้ำทิ้งที่มีอยู่ออกมา เพื่อนำน้ำออกมาทิ้ง

ซึ่งแอร์มุ้งก็เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะกับการใช้งานในสถานที่ ที่ไม่อาจติดแอร์ได้แต่ถึงอย่างไร หากสามารถติดตั้งแอร์แยกส่วนได้ก็ควรจะติดตั้งแอร์แยกส่วนจะดีที่สุด




แอร์หน้าต่างจากญี่ปุ่น

สำหรับใครที่มีโอกาสได้ไปเลือกซื้อสินค้าหรือไปดูสินค้าแถวๆ คลองถม บ้านหม้อ ก็อาจจะเคยได้พบเจอกับแอร์หน้าต่างหรือแอร์เคลื่อนที่ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแอร์แบบรวมทุกส่วนไว้ภายในชุดเดียวกันคล้ายคลึงกันกับแอร์หน้าต่าง และแอร์แยกส่วนที่ขายกันในบ้านเรา แต่แอร์หน้าต่างแบบญี่ปุ่นนั้นจะออกแบบมาเพื่อรองรับการนำไปวางกับหน้าต่างหรือประตูบาเลื่อนเพราะด้วยรูปทรงแนวตั้ง และมีช่องระบายลมร้อนตามแนวยาวจึงรับกันกับบานเลื่อนโดยแทบจะไม่ต้องดัดแปลงอะไรมาก แค่นำไปวางแนบหน้าต่างแล้วแง้มหน้าต่างให้เปิดพอดีช่องระบายลมของแอร์ ก็เสียบปลั๊กใช้งานได้ทันที




สำหรับแอร์ที่นำเข้ามานั้น ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เป็นแอร์ที่เคยใช้งานมาแล้วจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกปลดประจำการหรือถูกถอดออกมาขายต่อ ผ่านการซ่อมแซมทำความสะอาด และก็มาลงเอยเป็นแอร์มือสองขายให้กับคนไทย 




แต่การนำมาใช้งานในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการดัดแปลงบางส่วน เพื่อให้นำมาใช้งานได้ เพราะมาตรฐานด้านระบบไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น กับไทยนั้นไม่เหมือนกัน

ค่าเฉลี่ยของแรงดันไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้งานในอาคารบ้านเรือน ของประเทศญี่ปุ่นคือ 110 V ความถี่ 50 และ 60 Hz ในขณะที่ของประเทศไทยคือ 220 V ความถี่ 50 Hz


ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าระดับแรงดันเฉลี่ยของระบบไฟฟ้าในบ้านของเรากับของเขา ไม่เท่ากัน หรือเป็นคนละระบบนั่นเอง การจะซื้อแอร์ที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมาใช้กับระบบไฟบ้านเรานั้นผู้ใช้งานจะต้องหาซื้อหรือสั่งทำหม้อแปลงไฟฟ้า (Step-down Transformer) แบบที่รับไฟเข้า 220 V แปลงออกมาเป็น 110 V เพื่อแปลงระบบไฟฟ้าให้ใช้กันได้ และหม้อแปลงไฟที่จะใช้กับแอร์ต้องมีขนาดที่ใหญ่พอที่จะจ่ายกำลังไฟฟ้าออกมาได้พอกับที่แอร์ใช้



แอร์หน้าต่างมือสองจากญี่ปุ่นที่ถูกนำมาขายนั้นในอดีตถือว่าค่อนข้างจะเป็นที่นิยมพอสมควร โดยเฉพาะในยุคที่ราคาแอร์มือหนึ่งในตลาดบ้านเรายังคงสูงอยู่ แอร์หน้าต่างมือสองของญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงถือเป็นทางเลือกแบบประหยัด ที่ใครหลายคนพอจะหาซื้อมาใช้ได้ไม่ยาก แต่พอเวลาผ่านไปราคาแอร์ใหม่ในบ้านเราเริ่มจะถูกลงจนอยู่ในระดับที่ไม่แพง แอร์มือสองจากญี่ปุ่นจึงเริ่มที่จะลดความนิยมลงไปเรื่อยๆนั่นเอง




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2558 1:17:39 น.
Counter : 67174 Pageviews.  

การตรวจเช็คแอร์เบื้องต้น



แม้ว่าเรื่องการตรวจเช็คหรือตรวจซ่อมแอร์ จะเป็นหน้าที่ของช่างเทคนิคที่ต้องมาจัดการในกรณีที่แอร์เกิดมีปัญหาขึ้นมาแต่ในบางครั้ง เจ้าของบ้านเองแม้จะไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางในวิชาชีพทางด้านนี้ แต่ถ้าสนใจเรียนรู้ในขั้นพื้นฐาน ก็สามารถตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวท่านเองก่อนได้ 

เพราะว่าในปัจจุบัน เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลายๆบ้านในยุคปัจจุบันมีใช้กันอยู่ โดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่อยู่ในเมืองหรือในแถบชานเมือง ก็จัดได้ว่าจำเป็นต้องมีแอร์ไว้ใช้อย่างน้อยสุดก็หนึ่งเครื่อง และสำหรับบ้านที่มีแอร์ใช้งานอยู่ ก็ควรที่จะเรียนรู้การตรวจสอบแบบเบื้องต้นไว้บาง เพื่อที่จะช่วยรับมือในกรณีที่แอร์เกิดมีปัญหาได้ไม่มากก็น้อย



อาการแอร์ไม่เย็น

ปัญหาแอร์ไม่เย็นเป็นปัญหาสุดคลาสสิก ที่ผู้ใช้แอร์หลายๆท่านมักจะพบเจอ ซึ่งอาการของแอร์ไม่เย็นนี้คือกรณีที่เปิดแอร์ แล้วชุดคอยล์เย็นที่ติดตั้งในอาคารนั้นมีการทำงานปกติมีลมออกมาจากชุดคอยล์เย็น แต่เมื่อเปิดใช้งานไปเรื่อยๆอุณหภูมิในห้องกลับไม่เย็นลงตามที่ตั้งไว้เสียที


ก่อนอื่นเลยเมื่อเจอปัญหาแบบนี้ อันดับแรก ให้ท่านลองตรวจสอบที่ตัวรีโมทคอนโทรลหรือสวิทช์ปรับตั้งอุณหภูมิ ของแอร์เครื่องนั้นโดยตรวจสอบดูว่าโหมดการทำงานมีการตั้งไว้ที่โหมดอื่นนอกเหนือจากโหมดทำความเย็น (ModeCool) หรือเปล่า เพราะในบางกรณี อาจจะมีการเผลอปรับโหมดการทำงานเป็นโหมดพัดลม (Mode Fan) ก็เป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้เปิดแอร์แล้วจะมีแต่ลมธรรมดาออกมา(ไม่ใช่ลมเย็น)

แต่ถ้าหากท่านมั่นใจว่าได้ปรับโหมดการทำงานไว้ที่โหมดทำความเย็น (Mode Cool) แล้ว แต่แอร์ก็ยังไม่มีลมเย็นออกมาอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็ควรตรวจสอบในลำดับต่อไปคือการออกไปตรวจสอบภายนอกอาคาร ในบริเวณที่ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ของแอร์เครื่องดังกล่าว ติดตั้งอยู่ ซึ่งให้ลองสังเกตดูเบื้องต้น ว่าพัดลมที่ชุดคอยล์ร้อนทำงานอยู่หรือไม่

ถ้าหากพัดลมของชุดคอยล์ร้อนไม่มีการทำงาน อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของแอร์ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ามอเตอร์พัดลมหรือคาปาซิเตอร์ของพัดลมมีปัญหาซึ่งในกรณีที่พัดลมชุดคอยล์ร้อนไม่ทำงาน แต่ได้ยินเสียงของคอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ควรหยุดใช้งานเครื่องปรับอากาศทันทีเพราะอาการดังกล่าวทำให้แอร์ไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ซึ่งอาจจะทำให้คอมเพรสเซอร์พังในที่สุด ซึ่งถ้าคุณไม่มีความรู้ทางงานช่างไฟฟ้า ก็ควรจะเรียกช่างแอร์มาทำการตรวจสอบ จะดีที่สุด



แต่ถ้าเห็นว่าพัดลมของชุดคอยล์ร้อนทำงานอยู่หากเป็นไปได้ ควรเข้าไปสังเกตในบริเวณใกล้ๆกับชุดคอยล์ร้อน และให้ลองใช้มือสัมผัสกับลมที่ถูกเป่าออกมาถ้าพบว่าลมที่ออกมา เป็นลมที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ได้เป็นลมร้อนก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน ซึ่งการที่คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นปัญหาที่มาจากคาปาซิเตอร์สตาร์ทของคอมเพรสเซอร์เสียทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์สตาร์ทไม่ออก

ในกรณีนี้หากมีแคลมป์มิเตอร์วัดกระแสอยู่ เมื่อนำมาวัดกระแสไฟฟ้าที่ชุดคอยล์ร้อน ก็จะพบว่าเข็มมิเตอร์บนหน้าปัด สวิงขึ้นสูงแล้วตกลงมาโดยจะขึ้นลงแบบต่อเนื่องก็แสดงว่าคอมเพรสเซอร์สตาร์ทไม่ออก และสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากคาปาซิเตอร์สตาร์ทของคอมเพรสเซอร์มีปัญหา ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ถ้าคุณไม่มีความรู้ทางงานช่างไฟฟ้าหรือช่างแอร์ก็จำเป็นจะต้องเรียกช่างแอร์มาทำการตรวจสอบและแก้ไข




อาการแอร์ไม่เย็นเพราะน้ำยาแอร์ไม่พอ

เมื่อแอร์เกิดไม่เย็นโดยที่มีความเป็นไปได้ว่าน้ำยาแอร์ไม่พอ สัญญาณเบื้องต้นที่เจ้าของบ้านสามารถสังเกตและตรวจสอบได้ด้วยตัวท่านเอง คือการสังเกตที่วาล์วบริการ (Service Valve) ของแอร์ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่กับชุดคอยล์ร้อนที่ติดตั้งนอกบ้าน โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนของวาล์วที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อท่อนำสารทำความเย็นหรือท่อน้ำยา ซึ่งเป็นท่อสำหรับเชื่อมต่อ ระหว่างชุดคอยล์ร้อนที่อยู่นอกบ้าน กับชุดคอยล์เย็นที่อยู่ในบ้าน


หากสังเกตเห็นว่ามีน้ำแข็งเกาะที่บริเวณวาล์วบริการ (Service Valve) ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าสารทำความเย็นหรือน้ำยา ที่อยู่ในระบบ มีปริมาณไม่เพียงพอ



โดยในกรณีที่แอร์มีสารทำความเย็นหรือน้ำยาอยู่ในปริมาณที่เพียงพอ และกระบวนการทำความเย็นเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามวัฏจักรการทำความเย็น ที่บริเวณวาล์วบริการ (Service Valve) จะต้องไม่มีน้ำแข็งแกะ แต่จะมีหยดน้ำกลั่นตัวจากความชื้นในอากาศเกาะอยู่ ซึ่งหากเห็นว่าที่บริเวณดังกล่าว มีหยดน้ำที่กลั่นตัวเกาะอยู่ ก็แสดงว่าระดับปริมาณสารทำความเย็น ยังมีอยู่ปกติ





การบำรุงรักษาแอร์ในระยะยาว

และท้ายที่สุดหากแอร์เครื่องนั้น ถูกเปิดใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็ควรได้รับการดูแลและการบำรุงรักษา ในแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งนี้เพื่อเป็นการคงประสิทธิภาพการทำงาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและยังเป็นการลดการใช้พลังงานลง รวมถึงยังช่วยยืดอายุของแอร์ได้


โดยการบำรุงรักษาเบื้องต้นที่ท่านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือการถอดแผ่นกรองอากาศ (Filter) ที่อยู่ทางด้านลมเข้า ของชุดคอยล์เย็น ออกมาล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดฝุ่นละอองที่สะสมอยู่ โดยฝุ่นละอองที่สะสมอยู่นั้นจะเป็นเหมือนสิ่งกีดขวางคอยขัดขวางช่องทางการไหลของอากาศที่ถูกดูดเข้าไป โดยการถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้าง ในกรณีที่เปิดใช้งานแอร์เป็นประจำ ก็ควรถอดออกมาล้างทำความสะอาดในทุกๆ 2-4 สัปดาห์ แล้วตากให้แห้งในที่ร่มก่อนจะใส่กลับเข้าไป



นอกจากการถอดล้างแผ่นกรองอากาศแล้วการล้างใหญ่โดยช่างผู้ชำนาญการก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก ช่วยให้แอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของแอร์ได้

โดยในกรณีที่แอร์เครื่องนั้นมีการเปิดใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ควรมีการล้างใหญ่โดยช่างผู้ชำนาญการ เมื่อครบรอบระยะเวลาการใช้งานทุกๆ ปี หรือ ทุกๆ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม 










 

Create Date : 19 มิถุนายน 2557    
Last Update : 28 มิถุนายน 2558 1:22:22 น.
Counter : 23751 Pageviews.  

การทำธุรกิจร้านแอร์ในยุคนี้




        ธุรกิจที่เกี่ยวกับร้านจำหน่ายเครื่องปรับอากาศหรือแอร์บ้าน รวมทั้ง ร้านที่รับติดตั้งแอร์, ซ่อมแอร์และล้างแอร์ ซึ่งโดยรวมแล้วเรามักจะเรียกร้านเหล่านี้ว่าร้านแอร์ และในปัจจุบันธุรกิจนี้ก็นับได้ว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่มีอยู่นี้ก็มีทั้งผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจนี้ต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี และผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาประกอบธุรกิจนี้

จากอดีตจนถึงปัจจุบันในแวดวงธุรกิจร้านแอร์ มีหลายร้านที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งก็อาจจะขยับขยายกิจการให้เติบโตขึ้นไปอีก แต่ก็มีอีกหลายร้าน ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งเส้นทางของการทำธุรกิจร้านแอร์ การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตขึ้นอย่างที่ใจเราต้องการนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลายๆปัจจัยมาสนับสนุน และส่วนหนึ่งก็อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ




ส่วนตัวผู้เขียนเองมีความถนัดและร่ำเรียนโดยตรงมาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ด้วยความเติบโตมากับแวดวงของธุรกิจร้านแอร์ ก็ทำให้ผู้เขียนเองก็พอที่จะมองเห็นได้บ้าง ถึงปัจจัยหลักและหัวใจของการทำธุรกิจนี้ รวมถึงยังพอที่จะสามารถจับทิศทางของการทำธุรกิจร้านแอร์ในยุคนี้ ให้ประสบความสำเร็จได้

ซึ่งถ้ามองจริงๆนั้นมันก็ไม่ใช้เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะมาทำแล้วก็สำเร็จหมด สำหรับใครที่สนใจหรือเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจร้านแอร์อยู่ในตอนนี้ ก็ลองอ่านบทความนี้ แล้วลองพิจารณาดู ว่าที่เขียนมานั้น มีส่วนไหนที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของท่านได้บ้าง เพราะแม้ว่าจะเป็นร้านแอร์เหมือนกัน แต่รูปแบบการจัดการนั้นไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมด และมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับที่ตั้งและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ



แนวโน้มความต้องการของตลาด

เรื่องแนวโน้มความต้องการของตลาดถือเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มธุรกิจนี้ นำมาใช้ประกอบการพิจารณาซึ่งก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจร้านแอร์ในยุคนี้ ถ้าเทียบกับช่วงเมื่อ 20-30 ปีก่อน ร้านแอร์ในยุคนี้ดูน่าสนใจและมีอนาคตที่สดใสมากเลยทีเดียวเพราะอากาศในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้น และร้อนนานกว่าเดิมมาก และการขยายตัวของเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้วิถีชีวิตแบบใหม่เข้ามาแทนที่วิถีชีวิตแบบชนบท ซึ่งก็มีผลทำให้แอร์นั้นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการสูงขึ้นประกอบกับบรรดาผู้ผลิตแอร์แต่ละแบรนด์ ก็ต่างแข่งขันกันสูงมาก โดยนำเรื่องเทคโนโลยีที่ดีขึ้นและราคาที่ถูกลง มาเป็นสิ่งจูงใจผู้ซื้อ ทำให้แอร์ทุกวันนี้ มีราคาที่ถูกลงไปจากในอดีตมากเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่สามารถเป็นเจ้าของแอร์เครื่องใหม่ได้ไม่ยากแอร์จึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต




การจัดร้าน

สำหรับร้านแอร์ การจัดร้านก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ การมีหน้าร้านที่ดูเป็นทางการช่วยสร้างความเชื่อถือ ที่ลูกค้าจะมีต่อร้านนั้นได้มาก และเรียกลูกค้าให้มาใช้บริการได้มากขึ้น และภายในร้านควรจะมีสินค้าตัวโชว์หลายๆตัวมาโชว์ให้ลูกค้าได้เห็น ซึ่งแม้ปัจจุบันหลายธุรกิจมีการซื้อขายสินค้ากันโดยที่ไม่เห็นตัวสินค้าจริงก่อนตัดสินใจ แต่ในกรณีร้านแอร์อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะจากการที่ผู้เขียนสังเกตมา ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังคงชอบเห็นสินค้าตัวจริงก่อนตัดสินใจซื้อ และแอร์รุ่นที่มีสินค้าตัวโชว์มาแสดง สามารถทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่าร้านที่มองเห็นแต่ลังใส่แอร์ตั้งเรียงๆให้ลูกค้าเห็น


แต่ถึงแม้การจัดแต่งร้านจะสวยงามมากแค่ไหนแต่ถ้าขาดการจัดการที่ดี และที่สำคัญขาดการบริการที่ดีก็มีโอกาสสูงที่กิจการของร้านนั้นจะไปต่อไม่ได้




การโปรโมทเพื่อให้เข้าถึงลูกค้า

ร้านแอร์ที่เริ่มดำเนินธุรกิจในช่วงแรกเริ่ม จำเป็นต้องอาศัยวิธีการและกลยุทธเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการ ในที่นี้รูปแบบของการโปรโมทนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ผ่านทางช่องทางต่างๆซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีอยู่ในส่วนนี้ และยังรวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้าผ่านทาง การแนะนำโดยผู้ที่อยู่ในวงการงานช่างต่างๆที่เรารู้จัก ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น เริ่มออกตัวไปได้ดีขึ้น


แต่วิธีการทำแผ่นพับใบปลิวหรือสติ๊กเกอร์โฆษณาร้านค้า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ในการเข้าถึงลูกค้า แต่ที่ผ่านมานั้นรูปแบบการนำสื่อโฆษณาแบบนี้มักจะไปอยู่บริเวณที่ไม่เหมาะสมเช่น ไปติดตามเสาไฟฟ้า บนตู้ไปรษณีย์หรือตามรั้วบ้านของคนอื่น ตลอดจนติดอยู่กับสิ่งต่างๆตามที่สาธารณะ ซึ่งสื่อโฆษณาเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญและความสกปรกให้กับสถานที่ต่างๆ บางครั้งแทนที่มันจะส่งเสริมการขายก็อาจจะส่งเสริมให้ลูกค้าหายด้วยเช่นกัน ส่วนตัวผู้เขียนเองไม่สนับสนุนการใช้วิธีแบบนี้ เพราะมันเป็นการโฆษณาที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนมากกว่า การทำธุรกิจนั้นเราควรที่จะรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วย อย่าให้สื่อโฆษณาของคุณต้องไปทำลายหรือสร้างความรำคาญในสังคม การคิดเพียงแต่จะทำธุรกิจอย่างเดียวโดยไม่สนใจใครมักจะไปได้ไม่ไกล และได้ไม่นาน



การให้บริการที่ดีและเป็นมาตรฐาน

การให้บริการถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจร้านแอร์เลยก็ว่าได้ เพราะหากเรามีหน้าร้านที่ดีหรือราคาขายที่ถูกแต่บริการยอดแย่มันก็จบ หน้าร้านหรือราคาขายที่ถูกมันอาจช่วยเรียกลูกค้าใหม่เข้ามาได้ แต่การให้บริการที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้รักษาฐานลูกค้าที่มีเข้ามาให้อยู่กับเราได้นานๆนั่นเอง และต้องไม่ลืมว่าการบอกต่อแบบ “ปากต่อปาก” นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก

การออกให้บริการที่ดีควรเริ่มต้นที่การจัดลำดับคิวงานของลูกค้าให้เป็นระบบ ใครมาก่อนมาหลังต้องจัดให้ถูกต้องเป็นลำดับ และก่อนที่จะนัดหมายวันเวลากับลูกค้าทุกครั้งต้องมันใจว่าคุณสามารถไปได้ตามที่นัดไว้ เพราะอย่างเช่นลูกค้าบางรายต้องยอมสละเวลาทำงานเพื่อมารอเปิดบ้านให้ช่างเข้ามาทำงาน ถ้านัดแล้วไม่ไปตามนัดลูกค้าย่อมที่จะเสียเวลา และเสียความรู้สึกอย่างมาก ร้านหรือช่างรายนั้นอาจจะถูกสาปส่งจากลูกค้าไปอีกนาน การรักษาคำพูดและการตรงต่อเวลาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากในงานบริการ หากคิดจะมีธุรกิจที่ใหญ่โตก็ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคำพูดและตรงต่อเวลา ทั้งตัวผู้ประกอบการเองและตัวช่างที่ออกให้บริการต้องไม่ละเลยในส่วนนี้


การบริการที่ดี ก็ต้องควบคู่กับการให้บริการอย่างมีมาตรฐานด้วย และยังต้องมีการสร้างความมั่นใจ โดยการรับประกันผลงาน อย่างเช่น การรับประกันงานติดตั้งแอร์เป็นระยะเวลา 30– 90 วัน ซึ่งนี่เป็นเหมือนการรับประกันความพึงพอใจ เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากการับประกันสินค้าที่ผู้ผลิตมีให้




One stop service

ร้านแอร์ที่ให้บริการแบบ Onestop service หรือบริการแบบพร้อมสรรพเบ็ดเสร็จในที่แห่งเดียวนั้นมีแนวโน้มที่จะเติบโตและขยายธุรกิจได้มากกว่า เพราะสามารถตอบรับกับความต้องการให้กับลูกค้าได้ครอบคลุมมากกว่า โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อของหลายที่ กลุ่มลูกค้าของร้านแอร์แบบนี้ก็จะมีตั้งแต่ ลูกค้ารายย่อย, ลูกค้ารายใหญ่, ฝ่ายซ่อมบำรุงของหน่วยงานต่างๆ, ช่างเทคนิคทั่วไป และในกรณีที่เป็นร้านที่ขายในราคาส่ง ก็อาจจะมีลูกค้าที่เป็นร้านแอร์ขนาดย่อมจากต่างพื้นที่ เข้ามาร่วมด้วย

ร้านแอร์ที่ให้บริการแบบครบครันนี้จะมีการจำหน่ายแอร์ ร่วมกับอะไหล่แอร์, อะไหล่เครื่องทำความเย็น, อุปกรณ์ไฟฟ้า และรวมไปถึงเครื่องมือที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้ นอกจากการจำหน่ายก็ยังมีงานบริการติดตั้ง และงานซ่อมบำรุงรองรับอีกด้วย

ซึ่งร้านที่ให้บริการแบบครบครันนี้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้น ตามผลตอบแทนที่สูงขึ้น และต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบละเอียด และรอบคอบ





ช่างผู้ให้บริการ

ส่วนสำคัญของการให้บริการที่ดี ขึ้นอยู่กับช่างผู้ให้บริการ สำหรับธุรกิจร้านแอร์ที่ต้องมีทีมช่างในในสังกัดนั้น ต้องมีการจัดการที่ดี มีการอบรมช่างอย่างดี และตัวของช่างเองนั้นควรจะมีสิ่งยึดถือที่เรียกว่า “จรรยาบรรณของวิชาชีพช่าง” ช่างที่มีจรรยาบรรณต้องทำงานอย่างมีมาตรฐาน ซื่อตรงต่อลูกค้า และนายจ้างของตนเอง ผู้ที่เป็นช่างควรให้ความสำคัญในวิชาชีพของตนเอง หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพของตน เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการได้จัดการวางรูปแบบ และนโยบายการให้บริการที่ดี แต่ถูกทำให้เสียโดยช่างในสังกัดของตนเอง การอบรมและประเมินผลงานช่างจึงต้องมีการทำอยู่เสมอ

ในกรณีของการทำธุรกิจร้านแอร์ความท้าทายหลายๆอย่างล้วนมีเข้ามาเรื่อยๆ การรักษาฐานลูกค้าเดิมก็นับว่ายากแล้ว แต่การรักษาช่างที่ดีให้อยู่กับร้านไปนานๆนั้นยากยิ่งกว่า






ราคาที่เหมาะสมในการขายและให้บริการ

ตรรกะพื้นฐานของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจก็คือต้องการผลกำไร ร้านแอร์ก็ไม่ต่างไปจากธุรกิจที่ต้องการผลกำไรเช่นกันแต่ผลกำไรที่ต้องการควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการจะต้องนำต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งหมดมาวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อที่จะได้เป็นต้นทุนที่ชัดเจน และนำไปคิดหากำไรที่ควรจะเป็นไม่ควรคิดแต่เพียงอยากจะได้กำไรมากๆ เพราะหากร้านต้องการกำไรเกินควรก็จะอยู่ในวงการนี้ได้ยากและอยู่ได้ไม่นาน เพราะลูกค้าในปัจจุบันมีช่องทางมากมายให้ตรวจสอบเปรียบเทียบราคาร้านที่มีราคาแพงเกินไปจึงมักถูกตัดไปจากตัวเลือกของลูกค้าทันที




การติดตามและเอาใจใส่ลูกค้า

กุญแจสำคัญอีกหนึ่งอย่างของความสำเร็จในการทำธุรกิจแอร์คือ บริการหลังการขาย และความเอาใจใส่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นการติดตามผลงานและความพึงพอใจหลังการติดตั้ง โดยการใช้วิธีโทรหาลูกค้าอาจจะเป็นการสุ่มก็ได้ เพื่อที่จะโทรไปสอบถามความพึงพอใจของลูกค้าภายหลังจากทีมช่างเข้าไปติดตั้ง ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าร้านนั้นมีความใส่ใจลูกค้ามากน้อยเพียงใด และข้อมูลที่ได้มานั้น ยังช่วยให้เราสามารถนำมาประเมินช่างในความดูแลได้อีกด้วย


และทางร้านควรที่จะมีการเก็บบันทึกประวัติของลูกค้าที่เคยได้ให้บริการ เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้บริการในอนาคต เช่นเมื่อลูกค้ารายหนึ่งติดตั้งแอร์ไปแล้วครบ 1 ปีทางร้านอาจจะติดต่อสอบถามกลับไปบอกลูกค้า ว่าถึงระยะเวลาอันควรแล้ว ลูกค้าต้องการล้างแอร์หรือเปล่า หรือจะเป็นการแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับบริการ และโปรโมชั่นของทางร้านให้ลูกค้าทราบ ผ่านหลากหลายช่องทางการติดต่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์, Facebook ,Twitter , E-mail และ SMS เป็นต้น




ธุรกิจร้านแอร์ในวันนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจมี ความต้องการในตลาดสูง และในอนาคตก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะด้วยสภาพอากาศและราคาที่เป็นเจ้าของได้ไม่ยาก แอร์จึงกลายมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐาน ที่แทบทุกบ้านจำเป็นต้องมี

แต่การทำธุรกิจร้านแอร์ให้ประสบผลสำเร็จ และสามารถเติบโตได้นั้นส่วนหนึ่งจะต้องอาศัยเทคนิคการบริหารจัดการ และการคาดการณ์แนวโน้มความต้องการของตลาด ต้องจับทางของตลาดได้ถูก พร้อมทั้งต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เปรียบเสมือนเครือข่ายในการประสารงานซึ่งกันและกัน เช่น งานกระจก,อลูมิเนียม งานรับเหมาก่อสร้าง งานติดตั้งระบบไฟฟ้า และรวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นร้านแอร์เหมือนกันด้วยเพราะในธุรกิจไม่มีมิตรแท้และศรัทตรูที่ถาวร แต่ก็จำเป็นต้องสร้างมิตรให้มากๆ เพื่อการเข้าถึงในกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น

แต่ท้ายที่สุด การจะทำธุรกิจให้อยู่ต่อเนื่องไปได้นานๆ ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องคงรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย สมัยนี้ลูกค้ามีร้านแอร์เป็นตัวเลือกเยอะ ร้านไหนที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาด หรือคิดแต่จะหวังผลกำไรเกินควร ก็อาจจะไปได้ยากในยุกต์ปัจจุบัน ที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแนวทางหลักๆ ในการดำเนินธุรกิจร้านแอร์ในยุคนี้เท่านั้น รูปแบบการตลาดและการจัดการยังมีอยู่แยกย่อยอีกมากมาย ขึ้นกับที่ตั้ง กลุ่มลูกค้า และทุนทรัพย์ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการแต่ละราย




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2557 0:52:08 น.
Counter : 44169 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.