สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
"ตัดก่อนตาย เตือนก่อน..." เครื่องตัดไฟทำได้ 100% จริงหรือ

เครื่องตัดไฟ หรือ เครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว หลายคนรู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีติดบ้านไว้ 
แต่...ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก หรือบางคนก็รู้และเข้าใจในเครื่องตัดไฟแบบผิดๆมาโดยตลอด


วันนี้ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องเครื่องตัดไฟ มาเขียนเป็นบนความในเรื่องของเครื่องตัดไฟหรือเครื่องป้องกันไฟดูด ซึ่งเป็นที่พึ่งและเป็นทางเลือกของหลายๆท่าน
ที่ต้องการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้เกียวกับเครื่องตัดไฟ ได้ทราบเบื่องต้นเกี่ยวกับเครื่องตัดไฟที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรื่องทั่วไป
เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รู้จักขอบเขตการป้องกันของเครื่องตัด ที่สามารถป้องกันกรณีใดได้บ้าง และไม่ป้องกันในกรณีใดบ้าง 




ในปัจจุบัน...ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ป้องกันอันตรายจากไฟดูด-ไฟรั่ว ที่วางขายกันในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายหลายแบบ หลายยี่ห้อ หลายราคา

แต่ถ้าพูดถึงเครื่องตัดไฟแบบดั่งเดิม รูปทรงใหญ่ๆ มีลูกบิดหมุดปรับค่าความไว(Sensitive) หลายๆคนก็จะนึกออก ทันทีว่าเป็นเครื่องตัดไฟชื่อดัง ตระกูล Safe XXX หรือตระกูล XXX Cut
ที่ต้องตามมาด้วยสโลแกนที่จำขึ้นใจอย่าง "ตัดก่อนตาย เตือนก่อน..."
ชื่อของแบรนด์เครื่องตัดไฟนี้ กลายเป็นคำเรียกติดปากของคนทั่วไป ที่มักจะเรียกเครื่องตัดไฟที่มีรูปทรงแบบนี้ ว่า "เซฟที..." ทั้งที่บางครั้งเป็นเครื่องตัดไฟของแบรนด์อื่น
ก็ถูกเหมารวมเรียกเป็น "เซฟที..."


ภาพแสดง...เครื่องตัดไฟรั่ว แบบดั้งเดิม


นอกจากเครื่องตัดไฟรั่วแล้ว อุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ที่เข้ามาในท้องตลาดเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ได้เลือกซื้อกัน หลักๆก็จะมีอยู่ 2 ประเภท 
แบ่งตามขีดความสามารถในการป้องกัน และพิกัดการใช้งาน

ประเภทที่ 1 RCBO (นิยมเรียกว่า "ลูกย่อยกันดูด หรือ เมนกันดูด") เป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถเทียบเท่าเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ไฟเกิน และไฟฟ้าลัดวงจรได้ 
โดยส่วนใหญ่แล้ว RCBO จะถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ติดตั้งภายในร่วมกับตู้ Consumer Unit , Load Center หรือ ติดตั้งบนรางและอุปกรณ์อื่นๆตามความเหมาะสม 
มีให้เลือกทั้งแบบ ลูกย่อยกันดูด ซึ่งใช้สำหรับควบคุมในส่วนของวงจรย่อย และ เมนกันดูด ใช้สำหรับเป็นเมนเบรกเกอร์เพื่อควบคุมวงจรย่อยที่อยู่ในตู้เดียวกัน
เมนกันดูดหลายยี่ห้อ มีการออกแบบให้มีค่าทนกระแสลัดวงจร(IC)ที่สูงขึ้น เพื่อสามารถใช้เป็นเมนประธานของระบบไฟได้โดยตรง 




ประเภทที่ 2 ELB/ELCB (นิยมเรียกว่า "กันดูด") เป็นเบรกเกอร์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว อีกชนิดหนึ่ง ตัวเบรกเกอร์ ELB/ELCB จะอยู่ในตระกูลเดียวกันกับ Safety Breaker มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
แต่มีจุดที่แตกต่างตรงที่ ELB/ELCB จะมีปุ่มสำหรับกด Test อยู่ตรงกลาง     
ความสามารถของ ELB/ELCB คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว และไฟฟ้าลัดวงจร แต่จะไม่สามารถปลดวงจรแบบอัตโนมัติได้ในกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัด Over Load การที่ ELB/ELCB มีกระแสไหลผ่าน
เกินพิกัดที่ ELB/ELCB จะรับไหวเป็นเวลานาน อาจทำให้ ELB/ELCB ได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบธรรมดาเพื่อป้องกันการใช้กระแสเกินพิกัด
ELB/ELCB จะเหมาะกับการนำไปใช้ควบคุมเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น , เครื่องซักผ้า เป็นต้น

อ่านบทความเกี่ยวกับ ELB/ELCB เพิ่มเติม ...คลิ๊ก...



มีบางคนที่ยังเข้าใจผิด...ในเรื่องขนาดของปริมาณการตรวจจับกระแสไฟรั่ว บางคนมีความเชื่อว่าขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว หรือค่าความไว(Sensitive) 30 mA. เป็นค่าที่มากเกินไป จนเป็นอันตราย 
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนาดของค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA.ไม่ได้เป็นค่าที่มากไป จัดเป็นค่ามาตรฐานที่เหมาะสมในการใช้ป้องกันอันตรายในสภาวะการใช้งานแบบทั่วไป 
ซึ่งค่าที่ระดับ 30mA. เป็นค่าที่มีความเสถียรต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่ก็ยังอยู่ในระดับการป้องกันอันตรายที่ปลอดภัยอยู่ ค่าที่ระดับนี้จะไม่มีความไวหรืออ่อนไหว(Sensitive)มากเกินไปในการใช้งาน เนื่องจากบ้านเรา(ประเทศไทย)อากาศร้อนชื้น ในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศจะมาก เป็นผลให้เครื่องตัดไฟที่มีค่าตรวจจับไฟรั่วต่ำๆเช่น 5 หรือ10 mA มีโอกาสสูงที่จะทริปตัดวงจรออกโดยไม่มีสาเหตุอยู่บ่อยๆ(ไม่มีใครโดนไฟดูดแต่เครื่องก็ตัดเอง) 
แต่ถ้าเป็นระดับค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วที่ 30 mA. แทบจะไม่เกิดปัญหาในเรื่องทริปตัดวงจรเองเมื่ออากาศชื้น 
ขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA. ยังได้รับการรับรองและยอมรับในฝั่งอเมริกาและยุโรป 

สรุป...ค่าความไว(Sensitive)ที่ใช้เพื่อป้องกันมนุษย์ได้รับอันตรายจากการถูกไฟดูด ในระดับที่ปลอดภัยจะอยู่ที่ไม่เกิน 30 mA. เวลาในการทริปปลดวงจร ตามมาตรฐานกำหนดให้ต้องไม่เกินกว่า 0.04 วินาที





ในส่วนเครื่องตัดไฟอีกประเภท ที่ป้องกันไฟรั่วลงดิน สำหรับป้องกันอุปกรณ์ จะมีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วมาก อยู่ที่ประมาณ 100mA. 200mA. 300mA. 500mA. จึงไม่สมควรที่จะนำมาใช้ในการป้องกันอันตรายจากไฟดูดที่จะเกิดกับคน 
เครื่องประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ป้องกันการรั่วลงดินอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์และป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออัคคีภัย หรือนำมาใช้ในกรณีที่ต้องการให้เครื่องตัดไฟรั่วสามารถป้องกันทุกวงจรที่เมนสวิตช์ โดยจะใช้ได้เฉพาะระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน เป็นมาตรการเสริมป้องกันอัคคีภัย และไฟฟ้าดูด ให้ใช้ขนาดตั้งแต่ 100mA เป็นต้นไป 
โดยอาจจะเลือกใช้เป็นขนาด 100mA , 300mA หรือ 500mA ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแสไฟรั่วตามธรรมชาติ ซึ่งการเลือกใช้จะต้องพิจารณาไปเป็นกรณีเฉพาะ




หลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องตัดไฟ

หลายคนอาจสงสัย ในหลักการทำงานของเครื่องตัดไฟ...มันรู้ได้อย่างไรว่ามีไฟรั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูด ?

การที่เครื่องตัดไฟสามารถรู้ได้ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูดนั้น ระบบภายในไม่ได้มีความอัจฉรียะล้ำยุคแต่อย่างใด มีหลักการทำงานเบื้องต้นที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน
เครื่องตัดไฟมีหน้าที่หลักๆคือ เปรียบเทียบกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านสาย Line กับสาย Neutral เงื่อนไขข้องมันคือ กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเท่าไหร่ ก็จะต้องใหลกลับมาเท่านั้น
ภายในเครื่องตัดไฟ จะมีขดลวด Search Coil ซึ่งเป็นตัวที่ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไป และกลับเข้ามา 
สาย Line กับสาย Neutral จะถูกสอดผ่านเข้าไปในวงขดลวด Search Coil




ในสภาวะปกติ...กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเมื่อผ่านโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็จะไหลกลับเข้ามาในปริมาณที่เท่ากัน สาย Line กับสาย Neutral จะมีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน
เมื่อสาย Line กับสาย Neutral มีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน ก็จะเกิดการหักล้างของเส้นแรงแม่เหล็กจนหมดสิ้น ทำให้ขดลวด Search Coil ในเครื่องตัดไฟตรวจไม่พบความผิดปกติ

กรณีนี้ ถ้าใครที่เคยใช้แคลมป์มิเตอร์คล้องสายไฟเพื่อวัดกระแสไฟฟ้า...ก็คงจะนึกออก ถ้าคล้องแคลมป์มิเตอร์ควบระหว่างสาย Line กับสาย Neutral พร้อมกัน แม้จะเป็นขณะที่มีโหลด แต่หน้าปัทม์มิเตอร์จะไม่แสดงค่าใดๆขึ้นมา เนื่องจากเส้นแรงแม่เหล็กหักล้างกันระหว่างสาย Line กับสาย Neutral
แต่ถ้าคลองมิเตอร์กับสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่ง(ขณะมีโหลด) จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำของเส้นแรงแม่เหล็ก จนเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าขึ้นมา หน้าปัทม์มิเตอร์ก็จะแสดงค่ากระแสไฟฟ้าขึ้นมาให้เห็น 




เมื่อเกิดกรณีไฟรั่วลงดิน หรือไฟดูดคน จะมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนหายออกไปจากระบบ ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลกลับเข้าไปไม่เท่ากับตอนที่ออกมา ผลต่างของกระแสไฟฟ้าระหว่างสาย Line กับสาย Neutral
ที่ไหลไม่เท่ากัน เส้นแรงแม่เหล็กที่หีกล้างกันไม่หมดก็จะเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นที่ขดลวด Search Coil หากปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกไปจากระบบ มีถึงระดับที่กำหนด สัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำในขดลวด Search Coil จะเดินทางเข้าสู่ส่วนที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ เพื่อเข้าไปสั้งการขดลวด Trip Coil เมื่อขดลวด Trip Coil ได้รับสัญญาณที่เพียงพอ ก็จะเกิดอำนาจแม่เหล็ก ส่งผลให้กลไกลภายใน ทริปเบรกเกอร์เพื่อตัดวงจรไฟฟ้า

ส่วนประกอบอื่นๆของเครื่องตัดไฟ

ปุ่มทดสอบ Test เป็นปุ่ที่ใช้กดเพื่อจำลองเหตุการณ์ไฟรั่ว เมื่อกดปุ่มดังกล่าวจะเป็นการต่อวงจรไฟฟ้าให้กับวงจรทดสอบ ซึ่งมีโหลดในวงจรทดสอบเป็นตัวต้านทาน โดยวงจรทดสอบจะต่อด้านหนึ่งเข้ากับขั้วหนึ่งตรงด้านที่ออกมาจากขดลวด Search Coil แล้วสายอีกฝั่งของวงจรทดสอบก็จะต่อเข้ากับอีกขั้วตรงด้านที่จะเข้าขดลวด Search Coil 
เมื่อกดปุ่มทดสอบ Test จึงเหมือนเป็นการจำลองสถานะการณ์ที่มีไฟรั่วออกจากระบบ เพราะกระแสที่ไหลผ่านขดลวด Search Coil มีค่าไม่เท่ากัน






สวิทช์ปรับค่าความไว(Sensitive) เป็นสวิทช์ที่มีเฉพาะในเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิมเท่านั้น จะหาสวิทช์แบบนี้ในเครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว แบบเบรกเกอร์ RCBO หรือ ELB/ELCB คงไม่มี
อันที่จริงสวิทช์นี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมาย 
ในเครื่องตัดไฟรุ่นปัจจุบัน สวิทช์ที่ใช้ปรับค่าความไว จะใช้เป็น Selector Switch ที่ให้ปรับเลือกลงตำแหน่งที่กำหนดไว้เป็นจุดๆ แต่ละจุดก็จะไปต่อกับวงจรที่กำหนดค่าความไวเอาไว้
ต่างจากเครื่องตัดไฟสมัยก่อน ที่ใช้สวิชท์แบบที่เป็นเหมือนตัวต้านทานปรับค่าได้ 
เครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม รุ่นที่ผลิตออกมาในภายหลัง ผู้ผลิตได้เอาโหมดการทำงานแบบต่อตรง Direct ออกไปแล้ว ทำให้เครื่องตัดไฟมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 









กรณีใดบ้างที่เครื่องตัดไฟสามารถป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้

กรณีที่เครื่องป้องกันได้(ทริป)

1. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าดูดหรือกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินโดยการผ่านร่างกายคนหรือผ่านตัวโครงอุปกรณ์ ในปริมาณที่เครื่องสามารถตรวจจับได้ซึ่งอิงจากค่าความไว หรือค่า Sensitive ซึ่งในเครื่องบางรุ่นที่สามารถปรับความไวของกระแสได้ให้ตังค่าความไวที่ค่าเริ่มต้นที่น้อยที่สุด หากการใช้งานไปเรื่อยๆมีการทริปเองบ่อยครั้งควรปรับเพิ่มขึ้นมาที่ละขั้น หากปรับมาจนถึงค่าสูงสุด(25 หรือ 30mA.)ใช้งานไปเรื่อยๆยังมีการทริปควรเรียกช่างมาตรวจตัวเครื่องและตรวจสอบระบบไฟฟ้าของท่าน
คำเตือน...สำหรับเครื่องตัดไฟที่สามารถปรับให้ต่อตรง Direct เมื่อเครื่องตัดไฟทริปแล้วยังหาสาเหตุไม่พบ หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องใช้ไฟฟ้า อย่าปรับเลือก Direct เด็ดขาด!!! ให้หาสาเหตุให้เจอก่อน หรือไม่ก็รีบตามช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบ ถ้าไม่จำเป็นสุดๆอย่าใช้โหมด Direct เพราะผู้ใช้อาจจะหลงลืมปรับกลับมายังตำแหน่งป้องกัน ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่มีการติดตั้งเครื่องตัดไฟมักจะประมาทในการใช้ไฟฟ้า การปรับเลือกเป็น Direct แล้วไม่ปรับกลับคืนสู่โหมดป้องกัน หากเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นโดนไฟดูด แต่เมื่อเครื่องยังเป็น Direct อยู่ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เรียกได้ว่า..."ตายแล้วก็ยังไม่ตัด" 
ส่วนที่ปรับความไวไม่ได้ จะมีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วเป็นค่าคงที่ตายตัว ขนาดเหมาะสมสำหรับการใช้ป้องกันอัตรายจากไฟดูด-ไฟรั่ว ที่มีขายกันในท้องตลาด เช่น 10 mA.  15mA.  30mA. เป็นต้น(ค่าความไวหรือค่า Sensitive สามารถดูได้จากสติกเกอร์แสดงข้อมูลที่ผู้ผลิตติดเอาไว้บนตัวสินค้า)

2. การทริปหรือตัดวงจรในกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกินกว่าขนาดพิกัดของเครื่อง หรือการใช้งานจนเกิด Over Load กรณีนี้เป็นคุณสมบัติการป้องกันที่มีเฉพาะในเบรกเกอร์ชนิด RCBO เท่านั้น 
ส่วนเบรกเกอร์ ELB/ELCB จะไม่สามารถปลดวงจรเมื่อมีการใช้งานแบบ Over Load ได้ ซึ่งหากใช้งานจนเกิด Over Load เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้ตัว ELB/ELCB ได้รับความเสียหายได้

3. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร Short Circuit การลัดวงจรในที่นี้ ถ้าเป็นกรณีที่อาจพบได้ในบ้านพักอาศัยทั่วไป คือการที่ตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์ทางไฟฟ้า 220 (สาย Line) มาเจอกันโดยตรง กับตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์เป็นศูนย์ (สาย Neutrul) โดยไม่ผ่านความต้านทานหรือโหลดทางไฟฟ้าใดๆทั้งสิ้น เมื่อทั้งสองมาเจอกันโดยตรงก็จะเกิดกระแสไหลจำนวนมากมายมหาศาล(เป็นพันแอมป์ขึ้นไป) หากไม่มีการปลดวงจรออกเมื่อมีการลัดวงจรเกิดขึ้น จะเกิดความร้อนสูงจนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้
การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าเฟสเดียว นอกจากจะเกิดได้ระหว่าง Line กับ Neutral แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่าง Line กับ Ground หรือสายดิน ได้อีกด้วย แต่ความรุนแรงจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้านทานของระบบสายดิน
ส่วนการลัดวงจรในระบบ 3 เฟส เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่าง Line กับ Neutral และ Line กับ Ground รวมทั้ง Line กับ Line ที่ต่างเฟสกัน ความรุนแรงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย


กรณีที่เครื่องป้องกันไม่ได้(ไม่ทริป)

1. กรณีที่คนหรือสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสายไฟเส้น Line และ Neutral โดยตรง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต กว่า 98% ของเครื่องตัดไฟที่ใช้กันทั่วไปจะไม่ทำงาน เนื่องจากตัวเครื่องตรวจจับไม่ได้ เพราะว่าร่างกายของเราและสัตว์เลี้ยงมีความต้านทานอยู่ การไปสัมผัสกับสายไฟเส้น L และ N โดยตรง เปรียบเสมือนเป็นการครบวงจรตามปกติ ร่างกายของเราจะกลายสถานะเป็นโหลดเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟจะไหลผ่านร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตได้ "งานนี้...ตัดก่อนตายก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ อาจกลายเป็นตายก่อนตัด หรือแม้แต่จะเตือนก่อนวายวอด ก็คงทำไม่ได้เพราะวอดวายไปก่อนแล้ว"

2. กรณีที่ประมาทหรือเผลอลืม...เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้ 
กรณีแบบนี้เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว หากมองย้อนกลับไป ยังพบว่ามีหลายๆคนที่มีความเชื่อที่ผิด ไววางใจเชื่อมันในเครื่ิองตัดไฟมากไปจนทำให้ประมาท มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ กรณีแบบที่ตั้งใจก็เช่นเปิดพัดลมให้สัตว์เลี้ยงทิ้งไว้ในขณะที่ไม่มีคนอยู่ ส่วนกรณีที่ไม่ตั้งใจก็อย่างการเผลอลืมเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้นานๆขณะที่ไม่มีคนอยู่ จนเครื่องใช้ไฟฟ้าอันนั้นเกิดร้อนและติดไฟขึ้นมา กรณีนี้เครื่องตัดไฟจะยังไม่ทริปเพื่อตัดไฟแบบทันทีทันใด จะต้องรอให้ไฟไหม้จนส่วนที่เป็นฉนวนเสียหาย แล้วเกิดการลัดวงจรก่อนเครื่องตัดไฟจึงจะทริปเพื่อตัดไฟ แต่เมื่อถึงตอนนั้นแล้วไฟอาจลุกลามไปแล้วก็ได้

3. ใช้เครื่องตัดไฟที่มีขนาดไม่สัมพันธ์กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า การนำเครื่องตัดไฟที่มีพิกัดกระแสใหญ่เกินกว่าขนาดมิเตอร์มาใช้เป็นเมนสวิทช์ของระบบไฟฟ้าในบ้าน เมื่อเกิดกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกิน Over Load เกินกว่าค่าสูงสุดที่มิเตอร์จะรองรับได้ เครื่องตัดไฟจะไม่ทริปจนกว่ากระแสที่ไหลผ่านจะเกินพิกัดของเครื่องตัดไฟ แต่ขณะนั้นมิเตอร์อาจรับไม่ไหวแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความเสียหายที่จะเกิดกับสายเมนและมิเตอร์วัดหน่วยไฟฟ้า
ในกรณีที่ต้องการใช้อุปกรณ์ตัดไฟ เป็นเมนเบรกเกอร์ ควรเลือกแบบที่ออกแบบมาให้ใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ได้ โดยสังเกตจากค่าทนกระแสลัดวงจร  Interrupting Capacity (IC) ค่าดังกล่าวเป็นพิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรค เกอร์นั้นๆ สำหรับระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยทั่วไปซึ่งเป็นระบบเฟสเดียว การไฟฟ้ากำหนดค่า IC ของเมนเบรกเกอร์ไว้ไม่ต่ำกว่า 10 kA.
และเลือกพิกัดกระแสให้เหมาะสมกับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้าน เช่น 
มิเตอร์ 5(15) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 16 A
มิเตอร์ 15(45) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 45 A (ถ้าไม่มีจริงๆ มาตรฐานการไฟฟ้าฯ อนุโลมให้ใช้สูงสูดไม่เกิน 50 A)
มิเตอร์ 30(100) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 100 A

หากใครใช้เครื่องตัดไฟแบบที่คุ้นเคยกันดี ที่เป็นตัวเครื่องขนาดใหญ่ ปรับค่าความไว Sensitive ได้ ไม่ว่าจะเป็นของตระกูล Safe XXX หรือตระกูล XXX Cut ทั้งหลายเหล่านี้ ผู้เขียนไม่แนะนำให้นำมาเป็นเมนของระบบไฟฟ้าโดยตรง เครื่องตัดไฟพวกนี้ ทางที่ดีควรจะต่อใช้งานผ่านเมนสวิทช์ที่เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ธรรมดา หรือเมนที่เป็นสะพานไฟแบบมีฟิวส์ จะดีกว่าการต่อใช้งานเป็นเมนโดยตรง

4. ปรับตั้งตัวตรวจจับกระแสไปที่ตำแหน่ง Direct ซึ่งเป็นการจ่ายไฟโดยไม่ผ่านกลไกลและวงจรที่ทำการตรวจสอบปริมาณที่กระแสไฟฟ้าไหลไปและไหลกลับ ซึ่งวงจรดังกล่าวจะทำการเทียบการไหลออกไปและไหลกลับเข้ามาของกระแสไฟฟ้า หากมีไฟรั่วหรือไฟดูด กระแสไฟฟ้าจะสูญเสียออกไปจากระบบ จำนวนกระแสที่ไหลกลับเข้ามาจะมีน้อยกว่ากระแสที่ไหลออก หากกระแสที่หายออกไป มีปริมาณถึงระดับค่าความไวในการทริป Sensitive ชุดกลไกลภายในจะสั่งการให้เบรกเกอร์ทริปเพื่อตัดไฟ 
หากไม่จำเป็นหรือฉุกเฉินจริงๆ อย่าใช้งานในโหมด Direct แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ไฟฟ้าให้มากๆ อย่าประมาท เพราะอย่าลืมว่าถ้าไฟรัว เครื่องไม่ตัด 



5. ต่อสายไฟเข้าผิดเส้น สินค้าในกลุ่มของอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีปัญหาและข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการต่อสายสลับด้านไฟเข้า ระหว่าง L - N ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในปัจจุบันบางตัวก็ไม่มีการกำหนดขั้วเอาไว้ ทำให้หลายคนอาจจะสับสนไปบ้าง ซึ่งความจริงแล้วหากผู้ผลิตไม่ระบุมาก็หมายถึงต่อเข้าด้านไหนขั้วไหนก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร แต่...ในอดีตเครื่องตัดไฟบางรุ่นที่ภายในมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะไม่ทำงานหรือทำงานผิดพลาด หากใส่สายไฟเข้าผิดเส้น

6. การติดตั้งเครื่องตัดไฟก่อนเข้าเมนสวิทช์ของบ้านที่มีระบบสายดิน กรณีนี้หากเกิดไฟรั่วแล้วเครื่องอาจจะไม่ตัดกระแส เพราะปริมาณไปที่เข้าและออกจากเครื่องเป็นปกติ การติดตั้งต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟ ถัดจากเมนสวิชต์หรืออุปกรณ์ปลดวงจรหลักของบ้านที่มีระบบสายดิน เท่านั้น



การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วจะอยู่ก่อนเมนเซอร์กิตเบรคเกอร์ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง











Create Date : 05 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 29 เมษายน 2556 7:56:48 น. 36 comments
Counter : 112505 Pageviews.

 
กำลังจะซื้อพอดีค่ะ แต่ไม่ทราบว่าจะซื้อรุ่นไหนยี่ห้อไหน รบกวนแนะนำนิดนึงนะ อยากได้แบบที่ไฟดูดก็ตัด รั่วก็ตัด นะค่ะ (มีคนบอกว่ามีรุ่นที่ตัดเฉพาะตอนไฟซ๊อต กับอีกรุ่นนึงไฟดูดก็ตัดแต่ราคาสูง)
เพราะปลอดภัยดีค่ะ

ไม่อยากคุยกับ sale นะค่ะ เพราะ 2 คนก็แนะนำ 2 แบบ 3 คนก็ 3 แบบ งงค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ


โดย: แม่ลูกสอง (Linda-Poo ) วันที่: 9 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:03:08 น.  

 
ตอบคุณ แม่ลูกสอง (Linda-Poo) ครับ ขอโทษที่ตอบช้านะครับเนื่องจากกระผมไปอบรม-ดูงานที่โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา มาหลายวัน


Q: กำลังจะซื้อพอดีค่ะ แต่ไม่ทราบว่าจะซื้อรุ่นไหนยี่ห้อไหน รบกวนแนะนำนิดนึงนะ อยากได้แบบที่ไฟดูดก็ตัด รั่วก็ตัด นะค่ะ (มีคนบอกว่ามีรุ่นที่ตัดเฉพาะตอนไฟซ๊อต กับอีกรุ่นนึงไฟดูดก็ตัดแต่ราคาสูง)
เพราะปลอดภัยดีค่ะ

ไม่อยากคุยกับ sale นะค่ะ เพราะ 2 คนก็แนะนำ 2 แบบ 3 คนก็ 3 แบบ งงค่ะ

รุ่นที่คุณกล่าวมาว่าตัดเฉพาะไฟช็อตหรือลัดวงจรนั้น เป็นเบรกเกอร์ธรรมดาทั่วไปครับ ก็อย่างเช่นเซอร์กิตเบรกเกอร์ หรือเซฟตี้เบรกเกอร์ ราคาก็อยู่ที่หลักสิบไปจนถึงพัน มีให้เลือกหลากหลายชนิดหลากหลายยี่ห้อแล้วแต่การใช้งาน การทำงานจะตัดเฉพาะไฟเกินและไฟลัดวงจรเท่านั้น ในกรณีไฟรั่วลงดินเครื่องจะไม่มีผลใดๆทั้งสิน

กับอีกแบบหนึ่งคือเครื่องตัดไฟรั่วลงดินอัตโนมัติ ก็พวกเซฟ-ที-คัท เซนส์ หรือเบรกเกอร์กันดูดทั่วๆไปนี่แหละครับ ราคาจะแพงกว่าเบรกเกอร์ธรรมดาที่กล่าวมาข้างต้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นก็ยังมี การทำงานก็คล้ายๆกับเบรกเกอร์แบบธรรมดา คือตัดไฟเมื่อไฟเกินไฟลัดวงจรเหมือนกัน แต่จะเสริมฟังค์ชั่นตรวจจับกระแสไฟฟ้าเข้ามาเสริม คืออาศัยหลักการเทียบกระแสระหว่างสายไฟ ถึงปริมาณกระแสที่ไปและกลับ หากมีกระแสไฟรั่วลงดินถึงค่าพิกัดที่เครื่องตั้งไว้ เครื่องจะปลดวงจนทันที

หากจะเลือกซื้อก็เลือกตามความเหมาะสมและระบบไฟของบ้านท่าน มีทั้งแบบชนิดเป็นเมนหรือลูกย่อยบรรจุในตู้คอนซูเมอร์และแบบที่ติดแยกออกมาสำหรับบ้านที่ติดตั้งเครื่องตัดไฟเสริมภายหลัง และยังมีแยกออกไปอีกคือแบบที่ปรับค่าความไวกระแสได้กับแบบที่เป็นค่าตายตัวจากผู้ผลิตแล้ว

ถ้าคุณต้องการจะติดตั้งเครื่องตัดไฟเสริม
ผมแนะนำเป็นยี่ห้อ เซฟ-ที-คัท หรือ เซนส์ เพราะ2ยี่ห้อนี้เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในท้องตลาดสูง หาซื้อง่ายตามท้องตลาด อะไหล่และบริการก็หาง่ายด้วย อย่าเอารุ่นโนเนมที่ชื่อไม่คุ้นหู เพราะคนโน้นคนนี้แนะนำว่าหน้าสัมผัสหรือวัสดุดีกว่า เพราะอาจจะหาตัวเทนจำหน่ายในการเคลมสินค้าหรือบริการหลังการขายยาก และถ้าจะซื้อเซฟ-ที-คัท หรือ เซนส์ ผมแนะนำว่าให้เลือกอันที่คุณต้องการเอาไว้ แล้วเข้าไปซื้อจากตัวแทนจำหน่ายโดยตรงเลย อย่าไปซื้อตามร้านที่ขายหลายๆยี่ห้อรวมกัน เพราะเขาจะโน้มน้าวคุณให้ซื้อสินค้าที่เขาได้%ส่วนแบ่งมาก โดยไม่สนใจคุณภาพว่าเป็นยังไงครับ

***ยี่ห้อเซนส์ ราคาจะย่อมเยาลงมากว่ายี่ห้อเซฟ-ที-คัท หน่อยนะครับ และบริการหลังการขายก็ดีกว่าคือ หากเครื่องอยู่ในประกัน เสียแล้วเปลี่ยนใหม่ให้ ไม่ต้องรอเคลมครับ (แล้วแต่ตัวเทนจำหน่าย)


โดย: KanichiKoong วันที่: 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:10:44 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้เรื่องเครื่องตัดไฟ ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะคะ จะได้มีแรงถ่ายทอดความรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไปเป็นวิทยาทาน


โดย: สีผี้ง IP: 192.168.2.25, 113.53.9.27 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2552 เวลา:18:16:37 น.  

 
รบกวนขอเมลล์ส่วนตัวได้ไหมครับ อยากมีคามรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับไ
ฟฟ้ามากเลยครับ ขอบคุณครับ เมลล์ผมครับ
chisu108@hotmail.com


โดย: ช่าง โรงพยาบาล IP: 113.53.232.74 วันที่: 24 มีนาคม 2553 เวลา:22:26:12 น.  

 
คุณช่าง โรงพยาบาล สามารถดู E-Mail ของผมได้ที่ Profile ของผมครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 2 เมษายน 2553 เวลา:3:49:34 น.  

 
ผมอ่านเนื้อหาหัวข้อ "ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด" ได้ความรู้มากเลยครับ อยากถามเรื่องที่ยังไม่รู้และยังไม่แน่ใจดังนี้ครับ
1. กรณีเมนสวิทช์ไม่มีระบบสายดิน และไม่มีเครื่องตัดไฟรั่ว ถ้าต่อสายลงหลักดินโดยตรงกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เวลามีไฟรั่วลงโครงเหล็กของอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งเราต่อสายดินโดยตรงไว้ เบรกเกอร์จะตัดทันทีไหมครับ ถ้าเบรกเกอร์ตัด เป็นเพราะว่าไฟครบวงจรหรือเรียกว่าไฟช๊อตรึเปล่าครับ
2. กรณีเมนสวิทช์มีระบบสายดินแต่ไม่มีเครื่องตัดไฟรั่ว เวลาคนสัมผัสโดนสาย L หรือเส้นที่มีไฟ โดยไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นที่เป็นฉนวนไฟก็ยังช๊อตเรา แต่ถ้ามีเครื่องตัดไฟรั่วและยังทำงานเป็นปกติก็จะตัดวงจรไฟได้ใช่ไหมครับ
3. ไขควงเช็คไฟมีหลักการทำงานอย่างไรครับ เวลาเราเอานิ้วไปแตะก้นไขควงทำไมไฟที่ไขควงยังติดทั้งๆ ที่เรายืนบนพื้นที่เป็นฉนวน

ขอบคุณมากๆ ครับ


โดย: อ้วน18 IP: 124.121.49.93 วันที่: 25 เมษายน 2553 เวลา:14:27:37 น.  

 
ตอบคุณ อ้วน ความคิดเห็นที่ 6

Q: 1. กรณีเมนสวิทช์ไม่มีระบบสายดิน และไม่มีเครื่องตัดไฟรั่ว ถ้าต่อสายลงหลักดินโดยตรงกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เวลามีไฟรั่วลงโครงเหล็กของอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งเราต่อสายดินโดยตรงไว้ เบรกเกอร์จะตัดทันทีไหมครับ ถ้าเบรกเกอร์ตัด เป็นเพราะว่าไฟครบวงจรหรือเรียกว่าไฟช๊อตรึเปล่าครับ
A: กรณีดังกล่าว ยกตัวอย่าง เหมือนกับว่าเราต่อสายดินจากเครื่องซักผ้า ไปลงดินโดยตรง ระบบไฟบ้านไม่มีเครื่องตัดไฟ ไม่มีระบบสายดิน หากไฟรั่วลงสู่โครงเครื่องซักผ้า กระแสไฟฟ้าก็จะไหลลงดินโดยตรง เบรกเกอร์ธรรมดาไม่สามารถปลดวงจรได้ครับ


Q: 2. กรณีเมนสวิทช์มีระบบสายดินแต่ไม่มีเครื่องตัดไฟรั่ว เวลาคนสัมผัสโดนสาย L หรือเส้นที่มีไฟ โดยไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นที่เป็นฉนวนไฟก็ยังช๊อตเรา แต่ถ้ามีเครื่องตัดไฟรั่วและยังทำงานเป็นปกติก็จะตัดวงจรไฟได้ใช่ไหมครับ
A: ใช่ครับ


Q: 3. ไขควงเช็คไฟมีหลักการทำงานอย่างไรครับ เวลาเราเอานิ้วไปแตะก้นไขควงทำไมไฟที่ไขควงยังติดทั้งๆ ที่เรายืนบนพื้นที่เป็นฉนวน
A: ไขควงเช็คไฟ โดยทั่วไป ส่วนประกอบหลักที่ต่อกันไห้ไฟไหลมา จะมี แท่งเหล็กหรือปากไขควง สปริง หลอดนีออน ตัวต้านทาน และส่วนท้ายของไขควง หากเราสวมรองเท้ายาง ไขควงก็ยังมีไฟติด แต่ไฟที่ติด จะสว่างมากน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของร่างกายและผิวหนัง สภาพอากาศ และความเป็นฉนวนของรองเท้า ถึงแม้ยืนบนพื้นผิวที่เป็นฉนวน แต่...ฉนวนแต่ละอย่างก็มีคุณสมบัติในการต้านทานไฟฟ้าแตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม
ขึ้นชื่อว่าฉนวน แต่ประจุไฟฟ้าก็ยังถ่ายเทได้ แต่ในระดับที่น้อยมากๆ ซึ่งไม่มีผลต่อความรู้สึกและไม่ทำอันตรายร้ายแรง


โดย: KanichiKoong วันที่: 7 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:26:40 น.  

 
ไม่แนะนำให้ใช้ชนิดที่เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์นะครับ เพราะมันทำงานไวมากเกินไป(จะมาบอกว่าปรับอัตราการทำงานได้ ก็ไม่เกี่ยวแล้ว)เคยใช้มาแล้วครับ แค่เปิด-ปิดสวิตช์บันได(จะมีTransientเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ)มันก็ตัดไฟแล้วครับมืดตึ๊ดตื๋อทั่วบ้านเลย แต่เปลี่ยนมาใช้ชนิดขดลวดแล้วแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้ แถมราคาถูกกว่าด้วยครับ ประสิทธิภาพการตัดวงจรก็เชื่อถือได้ ไม่เบี้ยวครับ


โดย: san IP: 202.129.32.165 วันที่: 2 กันยายน 2553 เวลา:13:58:42 น.  

 
ddddddddddd


โดย: knune IP: 58.8.8.37 วันที่: 14 เมษายน 2555 เวลา:23:08:45 น.  

 
ถ้าเลือก safe t cut ล่ะ ซวยแน่ๆ วงจร ด้านในห่วยและด้อยคุณภาพมากท้าพิสูจน์ได้เลย breaker คุณภาพต่ำจากจีน กระบวนการฉีดแย่มาก อย่าเชียวครับ


โดย: safe t cut review IP: 101.108.47.214 วันที่: 29 พฤษภาคม 2555 เวลา:9:10:38 น.  

 
ขอบพระคุณคุณมากเลยครับ บทความของคุณให้ความรู้กับผมเป็นอย่างมาก โดนเซลล์ขายเครื่องตัดไฟและช่างรับเหมาพูดจนผมหัวมึนไปหมด ทำไปทำมาให้ผมใช้ตามที่เขาแนะนำแต่เขาไม่ต่อไฟบางจุดผ่านอุปกรณ์ตัดไฟก็ไม่ทำงานผลคือช่างล้างแอร์โดนไฟดูด
ตอนนี้ผมกำลังรื้อทั้งหมดเลยครับช่างคนใหม่แนะนำให้ไช้ของเซนส์แบบแยกชั้นบน-ล่าง และต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านเครื่องตัดไฟ 2 จุดคือเครื่องทำน้ำอุ่นและแอร์(อีกแล้ว) โดยให้เหตุผลว่าไม่ให้ความชื้นไปทำให้เครื่องตัดไฟบ่อยและจะแยกใช้เบรกเกอร์ตัดไฟสำหรับน้ำอุ่นและอแอร์ต่างหาก รบกวนขอความรู้ด้วยครับ ขอบพระคุณอย่างมากครับขอให้สุขภาพแข็งแรง


โดย: สุรชัย IP: 27.130.28.249 วันที่: 2 สิงหาคม 2555 เวลา:11:21:42 น.  

 
การไม่ต่อเครื่องทำน้ำอุ่นจะอันตรายมาก เช่นถ้าเกิดเครื่องทำน้ำอุ่นเกิดไฟรั่ว จะผ่านน้ำที่อาบโดนตัวเราโดนตรงและไม่มีทางหนีได้เพราะตัวเปียกน้ำซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างหนึ่ง และที่เครื่องทำน้ำอุ่นแม้จะมี RCBO ในตัวเองแต่ก็ยังอันตรายเพราะภายใน RCBO ของเครื่องน้ำจะตัดแค่ 1 contract ซึ่งหากมีการต่อไฟสลับสายจะไปตัดสาย Neutral แทนจะทำให้เรายังโดนไฟฟ้าดูด อยู่ดี


โดย: วิศวกะ IP: 203.147.44.9 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:10:28:22 น.  

 
ถึง...คห. ที่ 12
กรณีเบรกเกอร์กันดูดในเครื่องทำน้ำอุ่น ถ้าระบบป้องกันในเครื่องใช้เป็นตัวเบรกเกอร์กันดูด ELB/ELCB (ใช้เป็นตัวเบรกเกอรฺ์กันดูด)ไม่ใช่เป็นแผงวงจรที่ประกอบขึ้น

ตัวเบรกเกอร์กันดูด ELB/ELCB ที่ให้มาในเครื่องทำน้ำอุ่น ในปัจจุบัน ระบบกลไกลภายในได้ออกแบบให้ตัดระบบไฟออกทั้งสองเส้นครับ L - N
ELB/ELCB


ในทางปฏิบัติ แม้จะเป็นการต่อสายไฟสลับ L - N แต่เมื่อมีไฟรั่วถึงระดับที่กำหนดไว้ เบรกเกอร์กันดูดก็จะยังคงตัดวงจรไฟฟ้าเช่นกัน
ทั้งนี้...ถึงแม้ว่าต่อสายสลับแล้วเบรกเกอร์ก็ยังทำงานได้ปกติก็ตาม แต่เพื่อความถูกต้องในการติดตั้งและใช้งาน ก็ควรจะต่อสายให้ถูกตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้จะเป็นการดีที่สุด


โดย: KanichiKoong วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:3:26:06 น.  

 
ขอบคุณมากๆสำหรับข้อมูลที่ดีๆ


โดย: hatsan IP: 49.230.92.224 วันที่: 23 มีนาคม 2557 เวลา:8:28:04 น.  

 
ได้ความรู้ดีมากครับ


โดย: mateps90@gmail.com IP: 58.9.122.136 วันที่: 26 กรกฎาคม 2557 เวลา:12:52:01 น.  

 
อยากจะซื้อมาติดแต่ไม่รู้อะไรเลย กลัวซื้อมาไม่ตรงที่ต้องการ เงินก็ไม่ค่อยมี แต่จำเป็นเพราะนกชอบบินชนเสาไฟฟ้า ตู้เย็นพัง คราวก่อนก็แอร์พัง เพราะฟ้าผ่าลงเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน กรณีนี้ต้องซื้อแบบไหนค่ะ ที่บ้านมีหม้อไฟอันเดียว แต่แยกแผงไฟสองแผง ใช้แบ่งเป็นสองหลัง คือบ้านสองหลังแต่มีมิเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวกัน


โดย: น้องข้าวตู IP: 1.46.11.90 วันที่: 3 เมษายน 2558 เวลา:7:24:32 น.  

 
ผมอยากจะรู้ว่าเซฟทีคัทต้องติดตั้งด้านหน้าด้านที่
ไฟเข้าตู้หรือด้านหลังที่ไฟออกจากตู้ไฟคับ


โดย: chai IP: 1.46.232.13 วันที่: 22 เมษายน 2558 เวลา:18:07:47 น.  

 
ก็ okนะ


โดย: สุเทพืื แสงอรุณ IP: 27.55.216.58 วันที่: 15 กรกฎาคม 2558 เวลา:7:54:45 น.  

 
ก็ okนะ


โดย: สุเทพ แสงอรุณ IP: 27.55.216.58 วันที่: 15 กรกฎาคม 2558 เวลา:7:55:44 น.  

 
ปลอดภัย..บ้านและทรัพสินและคนทีคุณรัก...เมื่อใช้..เซฟทีคัท..


โดย: พงษ์พันธ์ พลเดช IP: 110.77.236.199 วันที่: 20 ตุลาคม 2558 เวลา:15:04:55 น.  

 
สนใจติดตั้งSafety สดและผ่อนคะ มีราคา500-4500 บาท ติดตั้งเสร็จ ออกใบหนังสือสัญญาซื้อขาย และใบรับประคุณภาพเครื่อง🆔 jindahar📱093-032-3648


โดย: นิว ตัวแทนจำหน่าย Safety IP: 223.207.244.137 วันที่: 28 มีนาคม 2559 เวลา:5:05:41 น.  

 
ผม สงสัย กับประโยคนี้นิดหน่อยครับผม

สาย Line กับสาย Neutral จะมีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน

ที่ผมเข้าใจคือ สาย Neutral ไม่มีไฟ ไม่ใช่เหรอครับ

ขอบคุณมากครับ


โดย: เด็กแนว IP: 203.172.102.126 วันที่: 5 เมษายน 2559 เวลา:22:05:24 น.  

 
โดยปกติ Neutral จะมีค่าความต่างศักย์เป็น 0 V (เทียบกับพื้นดิน)
เรายืนอยู่บนพื้นดิน เอาไขควงเช็คไฟแตะสาย Neutral ไขควงจึงไม่สว่าง เพราะค่าความต่างศักย์มันเป็น 0 V ไงครับ
แต่ถ้าสาย Neutral เกิดขาดออกจากระบบ มันก็จะมีไฟรออยู่ทั้งสองเส้นเลย เพราะสายมันไม่ครบวงจร


ในกรณีของสาย Neutral ที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงาน สาย Neutral จะมีกระแสไฟฟ้าไหลนะครับ แต่มันจะไหลในทิศทางตรงกันข้ามกับสาย Line

เครื่องใช้ไฟฟ้าดึงกระแสไฟฟ้าจาก Line มาเท่าไหร่ มันก็จะไหลกลับในทิศทางตรงกันข้ามผ่านสาย Neutral
ซึ่งเราสามารถทดสอบโดยใช้แคลมป์มิเตอร์สำหรับวัดกระแส ไปคล้องที่สาย Line หรือ Neutral คล้องเพียงเส้นใดเส้นหนึ่ง ก็จะปรากฏค่ากระแสที่หน้าปัทมิเตอร์ให้เห็นครับ แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณคล้องแคลมป์มิเตอร์วัดกระแสควบกันทั้งสาย Line และ Neutral โดยปกติแล้ว การคล้องทั้งสองสาย มิเตอร์จะไม่สามารถวัดค่ากระแสไฟฟ้าได้ เพราะกระแสในสายทั้งสองเส้นมันไหลไปในทิศทางตรงกันข้าม สนามแม่เหล็กเกิดการหักล้างกันจนหมดสิน ไม่มีสนามแม่เหล็กเหลือให้มิเตอร์เอามาประเมินค่ากระแสได้


โดย: KanichiKoong วันที่: 9 เมษายน 2559 เวลา:1:46:53 น.  

 
เซอร์กิต กันฟ้าลงได้หรือป่าวคับ




โดย: ป้อม IP: 180.180.79.142 วันที่: 18 เมษายน 2559 เวลา:7:44:41 น.  

 
ตอบคุณป้อม ความคิดเห็นที่_24

ถ้าหมายถึงเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป มันไม่สามารถกันฟ้าลงได้ครับ ต้องใช้เป็น เสิร์ช โปรเทคชั่น จึงจะช่วยป้องกันฟ้าฝ่าฟ้าลงได้ครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 23 เมษายน 2559 เวลา:11:51:46 น.  

 
ขอบคุณสำหรับสาระ บทความดีๆ นะคะ


--------------------------------------------------------
บาคาร่าออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง สมัครวันนี้ ฟรี โบนัส 10%


โดย: สมาชิกหมายเลข 3357016 วันที่: 19 สิงหาคม 2559 เวลา:15:54:20 น.  

 
ขอบคุณ​สำหรับ​บทความ​ดี​ๆครับ


โดย: itimcone IP: 119.76.141.130 วันที่: 2 มกราคม 2560 เวลา:7:16:52 น.  

 
ตามบทความดังนี้ "ผู้เขียนไม่แนะนำให้นำมาเป็นเมนของระบบไฟฟ้าโดยตรง เครื่องตัดไฟพวกนี้ ทางที่ดีควรจะต่อใช้งานผ่านเมนสวิทช์ที่เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ธรรมดา หรือเมนที่เป็นสะพานไฟแบบมีฟิวส์ จะดีกว่าการต่อใช้งานเป็นเมนโดยตรง"

ถ้าอย่างนั้นที่บ้าน(บ้านเดี่ยว) ทางโครงการต่อระบบไฟฟ้าแบบนี้ผิดใช่ไหมครับ (ตามภาพ) คือ ต่อสายไฟมาจากมิเตอร์ กฟน. มาเข้าเซฟทีคัท แล้วไปเข้าเบรกเกอร์ขนาด 63A (ตู้คอนซูเมอร์ซึ่งมีเบรกเกอร์ย่อยอยู่ในตู้อีก 12 ตัว) หากจะแก้ไขต้องทำอย่างไร ยุ่งยากมากหรือไม่ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอขอบพระคุณยิ่ง

https://www.img.in.th/images/9ba2fdc1bd7e4f7afe751e3560bc40d9.jpg


โดย: ประพัสสร IP: 182.255.14.57 วันที่: 24 เมษายน 2560 เวลา:12:22:11 น.  

 
ตอบคุณประพัสสร ความคิดเห็นที่_28

หากเป็นเครื่องตัดไฟของเซฟทีคัท ตัวเบรกเกอร์ที่เครื่องตัดไฟจะมาค่าพิกัดกระแสลัดวงจร (IC) ที่ 10 kA ซึ่งที่จริงแล้ว จะนำมาใช้เป็นเมนตัวแรกสุดก็ย่อมทำได้ครับ และอันที่จริงเขาก็ออกแบบมาให้ใช้เป็นเมนได้นั่นแหละครับ
แต่ส่วนตัวผม ถ้าผมเป็นคนออกแบบระบบไฟฟ้า ผมจะไม่แนะนำให้ใช้เครื่องตัดไฟแบบนี้เป็นเมน เพราะหากเครื่องตัดไฟมีปัญหา การจะถอดออกมาซ่อมอาจจะทำได้ค่อนข้างจะลำบาก เพราะไม่มีเมนที่อยู่ก่อนหน้าที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องปลดวงจร

เป็นไปได้อยากเห็นภาพของตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันด้วยครับ จะได้แนะนำเพิ่มเติมได้ถูก


โดย: KanichiKoong วันที่: 29 เมษายน 2560 เวลา:23:25:56 น.  

 
ขออภัยด้วยครับที่เข้ามาเพิ่มเติมข้อมูลช้า...

ตามภาพเลยครับ ปัจจุปันมีปัญหาเครื่องตัดบ่อยมาก(เซฟทีคัทไม่เสียครับ) หาจุดที่เกิดปัญหาไม่เจอ คือ ถ้าเสียบปลั๊กหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า 3 ขา ก็ทริป เปิดแอร์ (inverter 3 ตัว) ก็ทริป แต่เปิดแอร์ธรรมดาที่ไม่ใช่อินเวอร์เตอร์กลับไม่ทริป หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีสายดิน(ปลั๊ก 3 ขา) หลายๆ อย่างพร้อมกันก็ทริป (เช่นเปิดเครื่องซักผ้า(ฝาหน้า) 2-3 ตัวพร้อมๆ กัน หรือเปิดเครื่องซักผ้าพร้อมๆ กับเครื่องอบผ้า ก็ทริป เรียกช่างไฟฟ้า กฟน. มาดูแล้วหาจุดไม่เจอ ทุกคืนต้องเปิดเซฟทีคัทเป็นไดเร็ก แล้วปลดเบรกเกอร์ที่ไม่เกี่ยวข้องลง เหลือไว้เพียงเบรกเกอร์ตัวที่ 1 (แสงสว่างชั้นล่าง) ตัวที่ 2 ปลั๊กไฟชั้นล่าง(ใช้งานตู้เย็น) ตัวที่ 3 แสงสว่างชั้นบน และตัวที่ 6 แอร์ห้องนอนใหญ่ นอกนั้นปลดลงหมด แต่ถ้าเซฟทีคัทเป็นไดเร็กสามารถเปิดอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมๆ กันได้ทั้งหมดครับ ปัจจุบันแก้ปัญหาบางจุดเช่น เปลี่ยนเบรกเกอร์กันดูดกับเครื่องทำน้ำอุ่นด้านหน้าห้องน้ำ(ในตัวเครื่องก็มีเบรกเกอร์แบบนี้) เปลี่ยนเบรกเกอร์บ่อน้ำพุเป็นแบบกันดูดหนึ่งจุด

ขอความอนุเคราะห์แก้ไขหรือให้คำแนะนำด้วยด้วยครับ ขอขอบพระคุณยิ่ง

https://www.uppic.org/thumb-65EA_59196007.jpg


โดย: ประพัสสร IP: 182.255.9.62 วันที่: 15 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:09:08 น.  

 
ขออภัยใส่ link เพิ่มภาพไม่เป็นครับ ต้องก็อปไปวางหน้าเพจใหม่ครับผม :)

[url=https://www.uppic.org/share-7630_59196454.html][img]https://www.uppic.org/thumb-7630_59196454.jpg[/img][/url]


โดย: ประพัสสร IP: 182.255.9.64 วันที่: 15 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:19:39 น.  

 
https://www.uppic.org/share-7630_59196454.html

www.uppic.org/thumb-7630_59196454.jpg

อันนี้ภาพจะใหญ่กว่า คห.30 ครับ เสร็จแล้วฝากแอดมินลบ คห. ที่เกินจำเป็นด้วยครับผม

ขอขอบพระคุณยิ่ง


โดย: ประพัสสร IP: 182.255.13.55 วันที่: 15 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:27:30 น.  

 
ที่บ้านmuที่แผงวงจรหลักมีเครื่องตัดไฟแบบปรับความไวได้ ตั้งไว้ที่ 25 MA ที่นี้เบรกเกอรืกันดูที่เครื่องทำน้ำอุ่น บอกความไว 30 MA ถ้าเกิดไฟรั่ว ที่เครื่องทำน้ำอุ่น ตัวไหนจะตัดครับ ตัวใกล้ หรือตัวไวกว่า ครับ อ่านมีความรู้แล้วเริ่มกังวล


โดย: ไพฑูรย์ IP: 180.180.205.139 วันที่: 23 พฤษภาคม 2560 เวลา:11:37:28 น.  

 
กอระนีทีใชไฟฟ้า4สายต่อตากมิดเตีไฟฟ้าแล้วจะติดตั้งเคื้องตัดไฟแบบใหนและขอวิทีติดตั้งเปันพาบปะกอบหน่อย


โดย: จันปะเสีด เกดบวละพา IP: 103.77.118.136 วันที่: 2 มกราคม 2561 เวลา:16:54:54 น.  

 
พี่ครับบ้านผมติดเซพทีคัทแบบก่อนเข้าตู้เมนแบบในรูปครับ
แต่มีสายลงดินด้วยครับเพราะทำตามกฎไฟฟ้าพึ่งจะมาเพิ่มไฟเมื่อเดือนมีนา62ครับเขาให้ติดสายกราวไว้ตามกฎครับ

แต่ที่บ้านใช้ปลักสองรูทั้งบ้านรุ่นเก่าอยุ่ แบบนี้เซพทีคัทตัดไหมครับ


ถ้าผมอยากเทสของจริงควรทำไงครับ
ขอบคุนครับ


โดย: ธนกร IP: 171.101.162.42 วันที่: 27 เมษายน 2562 เวลา:18:51:39 น.  

 
รบกวนสอบถาม บ้านใช้ไฟ 15A ใช้เซฟทีคัท รุ่น100A ได้ไหม และควรใช้ไหม เพราะตอนนี้ใช้แบบ63A เครื่องเซพทีคัทจะร้อนค่ะ


โดย: ณัฐ IP: 124.122.96.204 วันที่: 18 พฤษภาคม 2564 เวลา:19:34:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.