การเกิดขึ้นของสหภาพยุโรป

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปอยู่ในสภาพที่บอบช้ำและเสียหายอย่างหนักในทุกด้าน จึงทำให้มีผู้นำทางการเมืองเกิดแนวความคิดที่จะสร้างอนาคตที่มีสันติภาพอย่างถาวร อันมีเป้าหมายสูงสุดคือการบูรณาการ (Integration) ระหว่างประเทศต่างๆเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรองดองกันระหว่างสองรัฐที่เคยได้ทำสงครามที่สร้างความหายนะแก่ทวีปทั้งทวีป คือ ฝรั่งเศส กับเยอรมนี ซึ่งบุคคลที่ได้เสนอแนวคิดนี้ คือ นาย Jean Monnet ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้รับสมญานามภายหลังว่า “บิดาแห่งยุโรป” และถูกนำมาขยายผลโดยนาย Robert Schuman รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ร่วมด้วยนาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตก ภายใต้การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจกันระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศเยอรมนีในแผนการชูมาน (Schuman Plan) อันมีเป้าหมายในระยะยาวที่จะสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างประชาชนชาวยุโรป เพื่อมิให้มีการแตกแยกและนำไปสู่การทำสงครามระหว่างกันในอนาคต

แผนการชูมาน (Schuman Plan)เป็นข้อเสนอจากแนวคิดของ Jean Monnet ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community)” ในปี 1951 โดยสนธิสัญญากรุงปารีส ซึ่งแรกเริ่มมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก และอิตาลี ทั้งนี้ เนื่องจากถ่านหินและเหล็กกล้าถือเป็นยุทธปัจจัย การจัดตั้งประชาคมเพื่อบริหารทรัพยากรดังกล่าวจึงเสมือนเป็นก้าวแรกที่จะทำให้สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก

การบูรณาการยุโรปได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยมีลักษณะการบูรณาการเป็นไปใน 2 แนวทาง คือ การบูรณาการในเชิงแนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มในเชิงลึก (deepening) อันเป็นการรวมตัวที่มีระดับความเข้มข้นสูงขึ้นระหว่างสมาชิกของสหภาพยุโรป และการบูรณาการในเชิงแนวราบ (Horizontal Integration) ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มในเชิงกว้าง (widening) อันหมายถึงการขยายจำนวนประเทศสมาชิก (Enlargement) ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปในปี 1951 ได้พัฒนามาสู่การจัดตั้งประชาคมขึ้นอีก 2 ด้าน คือ ด้านปรมาณู (EURATOM : European Atomic Community 1957) ในปี 1954 และที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจ (EEC : European Economic Community 1957) ในปี 1957 โดยสนธิสัญญากรุงโรม จนในที่สุดกลายมาเป็นสหภาพยุโรป (EU : European Union 1992)

ทั้งสนธิสัญญากรุงปารีสและสนธิสัญญากรุงโรม ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของสหภาพยุโรปที่ยังคงใช้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นการวางรากฐานในการจัดตั้งสถาบันบริหารกิจการของประชาคม คือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คณะมนตรี (Council) ศาลตุลาการยุโรป (European Court of Justice) และสภายุโรป (European Parliamentary Assembly ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกว่า European Parliament) และยังวางรากฐานของการบริหารอธิปไตยร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกโดยผ่าน “ประชาคม” อีกด้วย
ทั้งนี้ เป้าหมายที่สำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ คือ การจัดตั้ง “ตลาดร่วม” ของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ดำเนินการเพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปโดยไร้อุปสรรคอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนอกจากหมายถึงการยกเลิกด่านศุลกากรระหว่างกันแล้ว ยังหมายถึงการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าทั้งหมด อาทิ การรับรองมาตรฐานสินค้า ระบบการตรวจสอบสินค้าเข้าจากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้เสร็จสิ้นภายหลังโครงการ “Single Market Act” เริ่มเมื่อปี 1986 และสำเร็จเมื่อปี 1992 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเคลื่อนที่ปัจจัย 4 ประการ โดยเสรี (free movement) คือ (1) บุคคล (2) สินค้า (3) การบริการ (4) ทุน การพัฒนาขั้นต่อไปที่สำคัญ คือ การลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of European Union) หรือเรียกขานกันในนาม สนธิสัญญามาสตริคต์ (Maastricht Treaty) ในปี 1992 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ “สหภาพยุโรป”ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สาระสำคัญของการจัดตั้งสหภาพยุโรป คือ นอกจากคงไว้ซึ่งโครงสร้างความร่วมมือเดิมภายใต้ประชาคมทั้งสามที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังขยายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกไปอีก 2 ด้าน คือ ความร่วมมือด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และ ความร่วมมือด้านมหาดไทยและยุติธรรม อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสองด้านดังกล่าว เป็นเรื่องที่บางรัฐสมาชิกมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านอธิปไตย จึงมิใช่ความร่วมมือในลักษณะ “ประชาคม” (หมายถึงการแบ่งอำนาจอธิปไตยมาบริหารร่วมกัน) แต่เป็นการร่วมมือและประสานนโยบายระหว่างรัฐบาล (Inter-Governmental Cooperation) “สนธิสัญญามาสตริคต์ (Maastricht Treaty)” ถูกแก้ไขและปรับปรุงเพิ่มเติมโดยสนธิสัญญาสำคัญอีกสองฉบับ คือ สนธิสัญญากรุงอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ปี 1997 และสนธิสัญญาเมืองนีซ (Treaty of Nice) ปี 2001 ซึ่งขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือภายใต้นโยบายร่วมของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในด้านมหาดไทยและยุติธรรม พร้อมกับปรับปรุงสถาบันและแนวปฏิบัติเพื่อให้สามารถรองรับจำนวนรัฐสมาชิกที่เพิ่มขึ้นต่อไป

จากเดิมซึ่งมีสมาชิกเพียง 6 ประเทศ สหภาพยุโรป ได้รับรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยหลายครั้ง คือ ปีพ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973) เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ปี 1981 กรีซ ปี 1986 สเปนและโปรตุเกส ปี 1995 ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน และล่าสุดปี 2004 ถือเป็นการขยายจำนวนสมาชิกครั้งใหญ่ที่สุดถึง 10 ประเทศ คือ ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ค เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลต้า โปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก และสโลวีเนีย



Create Date : 07 พฤษภาคม 2554
Last Update : 7 พฤษภาคม 2554 1:22:32 น. 0 comments
Counter : 7323 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

still solo one
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add still solo one's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com