Group Blog
 
All blogs
 

เทคนิคการเร่งรากลูกไม้ในขวด

ที่มาของการที่ต้องนำวิธีนี้มาใช้ก็คือ ได้ไม้ขวดมาโดยที่ลูกไม้ในขวดค่อนข้างเล็ก หากออกขวดเลย ก็คงจะไม่รอด หรือรอดในปริมาณน้อยมาก เมื่อก่อน เคยปล่อยไว้ก่อน เพื่อจะให้ลูกไม้โต ก็ปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้าเลย พอออกขวดมาก็ตายเกลี้ยง หลายขวดเลย เสียดายมากๆเลยครับ ทั้งเงินและลูกไม้

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการเร่งการเจริญเติบโตของลูกไม้ในขวด ซึ่งผมเคยอ่านมาจากที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว พอนำมาลองดูด้วยตัวเองแล้ว พบว่ามันได้ผลค่อนข้างดี เลยเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆบ้าง เก็บเอาไว้คนเดียวก็ไม่มีประโยชน์

เริ่มต้นด้วยการเอาทรายใส่ในจานรองกระถองให้เต็ม แล้วก็วางขวดลงไป จากนั้นก็คอยรดน้ำที่ทรายให้ชุ่มอยู่เป็นประจำ วางไว้ในบริเวณที่มีแสงสว่างพอเหมาะ (ก็บริเวณที่เราเลี้ยงไม้ใหญ่นั่นแหละครับ) มีลมพัดผ่าน เท่านี้ก็สามารถเลี้ยงลูกไม้ในขวดได้แล้วครับ

ทีนี้ลองมาดูผลกันนะครับ

เริ่มต้นถ่ายรูปในวันที่ 19 มีนาคม 2549



ภาพเปรียบเทียบ ในวันที่ 3 เมษายน 2549



หลังจากที่ลูกไม้เจริญเติบโตในขวดได้พอสมควร จนมีสภาพแข็งแรงอย่างเห็นได้ชัด ผมก็ทำการเอาออกจากขวด โดยใช้วิธีกรอกน้ำลงไปจนเต็มขวด จากนั้นก็ปิดจุก และทุบที่ก้นขวด ล้างวุ้นออกจนหมด จากนั้นก็แช่ในน้ำผสมเบตาดีนนิดหน่อย ทิ้งไว้สักครู่ จึงนำขึ้นมาผึ่งสักหน่อยนึง ก่อนนำลงวางในตะกร้า และใช้เครื่องปลูกที่ประกอบไปด้วย หินภูเขาไฟเม็ดใหญ่ๆรองพื้นตะกร้า จากนั้นก็ใช้ไฮโดรตรอนเม็ดเล็กๆโรยลงไปอีกชั้น วางลูกไม้ลงไป ใช้พีทมอสโรยกลบรากไปสักหน่อย ตามด้วยไฮโดรตรอนเม็ดเล็กๆ และโรยทับหน้าบางๆด้วยเห็นเม็ดเล็กๆ เพื่อช่วยไม่ให้เครื่องปลูกกระจุยกระจายเวลาที่รดน้ำ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย จากนั้นก็เลี้ยงดูประคบประหงมกันตามสมควร

หลังจากที่ออกขวดไปได้ระยะหนึ่ง ก็เลยเอารูปมาอัพเดทความก้าวหน้าให้ชมกันนะครับ ดูแล้วก็ชื่นใจจัง ยังอยู่ครบทุกต้นเลยครับ แถมโตขึ้นเยอะเสียด้วย อิอิอิ




อีกขวดหนึ่งครับ เป็น Vanda M Pearman (bellatulum x delenatii)

สภาพลูกไม้ตอนอยู่ในขวด และได้รับการเร่งรากโดยเทคนิคดังกล่าว


สภาพลูกไม้หลังจากออกขวดได้ระยะหนึ่ง


ลองดูขนาดนะครับ ยังอยู่ครบเช่นกันครับขวดนี้


ก็คงสรุปว่า การใช้เทคนิคนี้เร่งรากลูกไม้ในขวด พร้อมกับเร่งให้ลูกไม้โตขึ้นจนแข็งแรงพอสมควร จะช่วยให้การออกขวดเป็นเรื่องง่ายขึ้น และโอกาสรอดสูงขึ้นด้วยอ่ะนะครับ ลองนำไปใช้ดูนะครับ แล้วได้ผลหรือไม่อย่างไรก็มาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ




 

Create Date : 28 เมษายน 2549    
Last Update : 24 กรกฎาคม 2549 15:09:32 น.
Counter : 756 Pageviews.  

รองเท้านารีต้องการแสงมากแค่ไหน ?

นอกจากเรื่องการรดน้ำมากเกินไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ผมทำผิดพลาด และทำให้รองเท้านารีตายไปหลายต้นเหมือนกัน โดยเฉพาะสายบาบาต้า หรือสายคางกบ ผมก็งมอยู้ตั้งนานว่า เอ ทำไมคางกบผม ใบซีดๆ เหมือนขาดอาหาร เลี้ยงไปได้สักพัก ก็ลากลับบ้านเก่าไป หลังจากได้มาอ่านบทความนี้ จากเวป //www.ladyslipper.com เลยถึงบางอ้อ ก็หวังว่าจะช่วยเพื่อนๆคนอื่นๆได้บ้างนะครับ

รองเท้านารีก็ต้องการแสงเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันกับพืชชนิดอื่นๆ คือเพื่อการสังเคราะห์แสง เจริญเติบโต ออกดอก และแตกหน่อ รองเท้านารีสายพันธุ์แท้มีแนวโน้มในด้านความต้องการแสงค่อนข้างพิถีพิถันทั้งในด้านของปริมาณ และคุณภาพของแสงมากกว่าพันธุ์ผสม แม้แต่ในระหว่างสายพันธุ์ของรองเท้านารีพันธุ์แท้ ก็ยังมีความต้องการแสงที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์ต้องการแสงมาก และแดดจัด เนื่องจากพวกมันเจริญเติบโตในสภาพที่เกือบจะได้รับแสงแดดโดยตรง บางสายพันธุ์ชอบแสงน้อยกว่า เพราะพวกมันเจริญเติบโตบนพื้นป่า หรือขึ้นตามต้นไม้ หรือใต้ร่มไม้ของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณที่ซึ่งมีแสงส่องผ่านได้ค่อนข้างน้อย รองเท้านารีพันธุ์ผสมมักมีความต้องการเรื่องแสงที่ยุ่งยากน้อยกว่าพันธุ์แท้ ถึงแม้ว่าสายพันธุ์ของพ่อแม่อาจมีผลต่อลูกผสมบ้างในระดับหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นลูกผสมของ Paph. rothschildianum ที่ต้องการแสงค่อนข้างมาก หรือ Paph. villosum ซึ่งต้องการแสงน้อยกว่า อาจกล่าวได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว สายพันธุ์ที่มีใบลายๆต้องการแสงในการเจริญเติบโตและออกดอกน้อยกว่าสายพันธุ์ที่มีใบสีเขียวล้วน
เอาเป็นว่า หากเราไม่แน่ใจว่ารองเท้านารีที่เลี้ยงอยู่ต้องการแสงมากน้อยเพียงใด และต้องการลองผิดลองถูกในเรื่องของแสง ก็น่าจะเริ่มที่การลองด้วยแสงที่น้อยเกินไปจะดีกว่าการลองด้วยแสงที่มากเกินไป คงจะง่ายกว่า หากเราจะค่อยๆเพิ่มปริมาณแสงจากน้อยเกินไปจนไปถึงระดับที่เหมาะสม โดยไม่ทำร้ายต้นไม้ของเรา ในขณะที่การเริ่มต้นด้วยการวางไว้กลางแจ้ง หรือใกล้แหล่งกำเนิดแสงที่มีความเข้มข้นมากตั้งแต่เริ่มต้น อาจเป็นการทำร้ายต้นไม้ของเราตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว แต่หากคุณใช้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ ก็จะปลอดภัยกว่าในเรื่องของการรับแสงมากเกินไปจนทำร้ายต้นไม้ ถึงแม้ว่า คุณอาจทำให้ปลายใบของมันไหม้ไป เนื่องจากสัมผัสกับหลอดไฟ โดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ถือว่าร้ายแรงมากนัก

วิธีหนึ่งที่จะเช็คความเข้มของแสงว่าเหมาะสมหรือไม่ สามารถทำได้โดยทดลองเอามือไปบังไว้เหนือต้นไม้ประมาณ 10 นิ้ว แล้วสังเกตุดูเงาของมือที่ปรากฎบนต้นไม้ หากระดับแสงเหมาะสมจะสามารถมองเห็นเงาลางๆได้ แต่ถ้าหากเห็นเงาได้ชัดเจน แสดงว่าแสงค่อนข้างจะมากเกินไป และหากมองไม่เห็นเงาเลย แสดงว่าแสงที่ได้น้อยเกินไป
ถ้ารองเท้านารีถูกเลี้ยงภายใต้แสงที่มากเกินไป จะแสดงอาการใบซีด เช่นเป็นสีเขียวอ่อน หรือเป็นสีเกือบจะขาว และรองเท้านารีเหล่านี้จะเติบโตมีขนาดเล็ก หน่อใหม่ก็จะเล็ก และมักจะแตกกอเยอะๆที่บริเวณโคนต้น ก้านดอกจะค่อนข้างสั้น และดอกจะมีขนาดเล็กและแข็ง ถ้ารองเท้านารีได้รับแสงน้อยเกินไป ใบจะมีสีค่อนไปทางเขียวเข้ม ใบยาว และบางทีจะดูหลวมๆ หน่อของรองเท้านารีจะเติบโตค่อนข้างช้า และใช้เวลานานกว่าจึงจะออกดอกเมื่อเทียบกับการได้รับปริมาณแสงมาก บางทีหน่อใหม่อาจใช้เวลานานถึงปีครึ่งจึงจะเจริญเติบโตจนถึงวัยที่สามารถออกดอกได้ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ถ้ารองเท้านารีที่คุณเลี้ยงไม่ออกดอกมาเป็นเวลาหลายปี แต่ดูแล้วมีสุขภาพแข็งแรงดี คุณอาจเดาได้ว่าปริมาณแสงที่ได้รับน้อยเกินไปหน่อย จำนวนดอกในแต่ละช่อก็อาจจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หากเลี้ยงในสภาพแสงที่น้อยเกินไป เช่นสำหรับสายพันธุ์ Paph. philippinense อาจให้ดอกเพียง 2 ดอกใน 1 ช่อ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว สามารถให้ดอกได้ถึง 4-5 ดอกเลยทีเดียว หากคุณเชื่อว่ารองเท้านารีของคุณถูกเลี้ยงในสภาพแสงน้อยเกินไปมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และต้องการเปลี่ยนแปลงให้ได้รับแสงมากขึ้น ควรกระทำอย่างช้าๆ เพื่อให้รองเท้านารีสามารถปรับตัวเข้ากับปริมาณแสงที่มากขึ้นได้ และไม่กระทบกระเทือนโดยการเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป พูดง่ายๆก็คือ อย่าพยายามเอารองเท้านารีที่มีใบสีเขียวเข้มและดูหลวมๆ เนื่องจากได้รับแสงน้อย ไปวางข้างหน้าต่างที่มีความเข้มของแสงค่อนข้างมากในทันทีทันใด ด้วยความหวังว่าจะสามารถทำให้รองเท้านารีต้นนั้นเติบโตและออกดอกได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันจะเป็นการทำให้รองเท้านารีของคุณใบไหม้เนื่องจากแสง และอาจจบชีวิตของรองเท้านารีของคุณในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากความร้อนและปริมาณแสงที่ทำให้รองเท้านารีไม่สามารถปรับตัวได้นั่นเอง
การใช้หลอดไฟชนิด High Pressure Sodium หรือ Metal Halide ซึ่งมีความเข้มแสงค่อนข้างสูง ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะใบของรองเท้านารีอาจไหม้ถ้าหากถูกวางไว้ใกล้จนเกินไป หรือวางไว้ใต้หลอดไฟเหล่านี้โดยตรง ใช้หลักการเรื่องของเงาที่กล่าวมา และเริ่มจากการเลี้ยงในสภาพแสงน้อย และค่อยๆขยับไปหาสภาพแสงมากขึ้นทีละนิด จนกระทั่งคุณสามารถวางรองเท้านารีไว้ภายใต้สภาพแสงที่เหมาะสมจนได้สีของใบที่สวยกำลังเหมาะ พูดง่ายๆก็คือ สีเขียวอ่อนสำหรับสายพันธุ์ที่มีใบสีเขียวล้วน และพวกลูกผสมของมัน และสีเขียวเข้มสำหรับพวกใบลาย และลูกผสมของมัน รวมทั้งพวกคอมเพล็กซ์
รองเท้านารีเป็นพืชที่ไม่ไวต่อระยะเวลาการได้รับแสง ระยะเวลาในการรับแสงที่เหมาะสมคือประมาณ 12-14 ชม. สำหรับผู้เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ข้างหน้าต่างซึ่งไม่สามารถให้รองเท้านารีได้รับแสงมากขนาดนั้นได้ในช่วงฤดูหนาว ก็อาจจะไม่พบปัญหาในการเติบโตแต่อย่างใด ตรงกันข้าม รองเท้านารียังสามารถเจริญเติบโตและออกดอกให้ชมได้ตามปกติ


ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ เผื่อจะทำให้เลี้ยงรองเท้านารีได้สนุกมากขึ้นครับ




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2548    
Last Update : 20 ธันวาคม 2548 8:24:33 น.
Counter : 951 Pageviews.  

เราควรรดน้ำรองเท้านารีเมื่อไหร่

พอดีเพิ่งเปลี่ยนกระถางรองเท้านารีหลายต้น แล้วก็พบว่า ผมทำให้รากของมันฝ่อไปตั้งหลายต้นแน่ะ เลยสงสัยว่า เอ เกิดอะไรขึ้นนะ พยายามหาความรู้ตามอินเตอร์เน็ท สุดท้ายก็มาเจอที่เวป //www.ladyslipper.com พออ่านดูเลยถึงบางอ้อ ที่แท้ก็เป็นเพราะเรารักมันมากเกินไปนี่เอง คิดว่าคงมีมือใหม่หลายๆคนที่ทำผิดพลาดเหมือนผม เลยพยายามแปลเท่าที่ผมจะเข้าใจ เอามาลงบล็อกเผื่อเพื่อนๆ ลองอ่านดูนะครับ

เราควรรดน้ำรองเท้านารีเมื่อไหร่

คำตอบที่ง่ายและสั้นที่สุดคือ "รดเมื่อรองเท้านารีของคุณต้องการน้ำ" พูดง่ายๆก็คือ รองเท้านารีควรจะถูกปล่อยให้แห้งบ้างก่อนที่จะถูกรดน้ำครั้งต่อไป การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้รากของรองเท้านารีได้มีโอกาสสัมผัสกับอากาศบ้าง และช่วยให้รากของรองเท้านารีพยายามค้นหาน้ำที่มีอยู่ในกระถาง นอกจากนั้นยังสามารถช่วยยืดอายุของเครื่องปลูกที่ใช้ ซึ่งให้ผลดีเป็นอย่างมากต่อรองเท้านารี เนื่องจากจะมีอากาศสำหรับรากของรองเท้านารีเป็นระยะเวลานานขึ้น

เมื่อไหร่จึงควรจะรดน้ำ เป็นคำถามที่ซับซ้อนและมีหลายแง่มุมที่ต้องพิจารณา และจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวรองเท้านารีเอง สถานที่ปลูก และบรรยากาศรอบๆสถานที่ปลูก (เช่นปลูกในโรงเรือนปิด ปลูกด้วยแสงจากหลอดไฟ หรือปลูกไว้ข้างหน้าต่าง) ขนาดของกระถาง ชนิดของเครื่องปลูก และสภาพอากาศที่คาดไว้ในแต่ละวัน ในกรณีที่คุณเลี้ยงในโรงเรือนปิด

สถานที่ปลูกจะมีผลต่อความเร็วในการแห้งของน้ำในกระถาง ตัวอย่างเช่น รองเท้านารีที่ปลูกภายใต้หลอดฟลูออเรสเซนท์จะแห้งภายในระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน หากถูกวางไว้อย่างเหมาะสมที่ระยะประมาณ 2-3 นิ้วใต้หลอดไฟ โดยใช้ประมาณ 2 หรือ 4หลอด หลอดไฟและบัลลาสต์จะสร้างความร้อนและแสงขึ้นมา ซึ่งรองเท้านารีที่วางไว้บริเวณกลางหลอดไฟจะแห้งเร็วที่สุด คนที่เลี้ยงรองเท้านารีโดยใช้หลอดไฟ ก็มักจะใช้พัดลม 1 หรือ 2 ตัว ร่วมด้วย ซึ่งรองเท้านารีต้นที่อยู่ใกล้พัดลมก็จะแห้งเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับต้นที่อยู่ไกลออกไป และแน่นอนว่า เราก็สามารถใช้ประโยชน์ข้อนี้ในการจัดวางรองเท้านารีต้นที่ชอบสภาพที่แห้งเร็ว (อย่างเช่น รองเท้านารีต้นที่มีเครื่องปลูกเก่า และเสื่อมสภาพแล้ว หรือเป็นสายพันธุ์รองเท้านารีที่ขึ้นบนหิน หรือตามต้นไม้ใหญ่ และมีความยืดหยุ่นต่อการเปียกชื้นของรากได้น้อยกว่า) ก็สามารถเอามาจัดวางไว้ไกล้ๆกับพัดลม

จะว่าไปแล้ว รองเท้านารีส่วนใหญ่จะชอบสภาพที่แห้งเล็กน้อยระหว่างการรดน้ำแต่ละครั้ง รองเท้านารีที่อยู่ในสภาพเปียกชื้นเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากการรดน้ำมากเกินไป หรือการที่เครื่องปลูกเสื่อมสภาพและเก็บกักความชื้นไว้มาก มักจะสูญเสียราก และตายเนื่องจากการคายน้ำ และอดอาหาร การให้น้ำมากเกินไป ในลักษณะของการรดบ่อยเกินไป และไม่ปล่อยให้เครื่องปลูกได้แห้งบ้างระหว่างการรดน้ำแต่ละครั้ง อาจจะเป็นสาเหตุให้รองเท้านารีตายง่าย มีแนวคิดที่ผิดๆว่า การปล่อยให้รากของรองเท้านารีแห้งเกินไป จะเป็นการทำลายรากของมัน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากน้ำที่ใช้รดมีคุณภาพไม่ดี ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของเกลือบริเวณรากของรองเท้านารี ถ้าเครื่องปลูกถูกปล่อยให้แห้งจนเกินไป ทำให้นำมาซึ่งความเข้าใจผิดว่า รองเท้านารีควรถูกรดน้ำให้เปียกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการฆ่ารองเท้านารี เนื่องจากการสูญเสียราก มากเสียกว่าการปล่อยให้เครื่องปลูกได้แห้งบ้าง

กฎมาตรฐานที่ผู้เริ่มเลี้ยงใหม่ๆสามารถนำไปใช้ก็คือ "ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าควรรดน้ำแล้วหรือยัง จงรอไปต่อไปอีกหนึ่งวัน และถ้าวันต่อมา คุณก็ยังไม่แน่ใจว่าควรรดน้ำแล้วหรือยัง ก็จงรอต่อไปอีกหนึ่งวัน" หากคุณเป็นคนที่ชอบการรดน้ำบ่อยๆเป็นชีวิตจิตใจ จงเปลี่ยนเครื่องปลูกให้สามารถระบายน้ำได้ง่าย และแห้งได้ไวขึ้น รองเท้านารีจะตายง่ายกว่าหากคุณรดน้ำมากเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับการรดน้ำน้อยเกินไป อาจเป็นการช่วยได้บ้าง หากคุณจะระลึกเอาไว้เสมอว่า "รองเท้านารีไม่ได้ขึ้นในบริเวณที่เปียกแฉะ หรือริมแม่น้ำ หรือบริเวณอื่นๆที่มีน้ำหล่อเลี้ยงรากอยู่ตลอดเวลา" ส่วนมาก รองเท้านารีจะขึ้นตามบริเวณใบไม้ผุๆบนผิวดิน หรือบนหินที่โผล่พ้นดิน หรืออาจอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่บริเวณรากหรือลำต้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม รองเท้านารีในธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ในสภาพที่รากของมันเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา


หวังว่าคงช่วยให้เพื่อนๆมีความสุขกับการเลี้ยงรองเท้านารีมากขึ้นนะครับ




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 9:44:01 น.
Counter : 1009 Pageviews.  


K-United
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add K-United's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.