*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

ร้องทุกข์อย่างไร ตำรวจจึงจะดำเนินคดีให้

ท่านผู้อ่าน คงเคยมีประสบการณ์ กรณีไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วต่อมาก็ได้รับแจ้งจากตำรวจว่า อัยการ สั่งไม่ฟ้องแล้ว โดยให้เหตุผลว่า คำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ท่านก็งุนงงว่า แล้วอย่างไร จึงเป็นการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายละ ... หรือว่าจะพึ่งพาตำรวจ อัยการ และศาลไม่ได้ ... กลับไปใช้วิธีการเก่า ๆ คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดีกว่าไหมเนี่ย




ผู้เขียน จึงเห็นว่า น่าจะเอาเรื่อง คำร้องทุกข์ ที่ชอบด้วยกฎหมายมาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย ท่านผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญา หรือการกระทำละเมิดกฎหมายของผู้อื่น จะได้ร้องทุกข์ได้ถูกต้อง เพื่อให้ตำรวจดำเนินการเรื่องของท่านต่อไป

คำร้องทุกข์ของท่านจะสำคัญอย่างมากในการดำเนินคดีอาญา เพราะกฎหมายนั้น หากท่านไม่ได้ร้องทุกข์ โดยเฉพาะในความผิดต่อส่วนตัวของท่าน ซึ่งก็จะมีตัวอย่างได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเช็คเด้ง หรือ ความผิดอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า "ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดอันยอมความได้" ความผิดเหล่านี้ เรียกกันว่า "ความผิดต่อส่วนตัว"




ความผิดต่อส่วนตัวนี้ หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ถูกต้อง ภายในเวลากำหนด คือ ภายใน ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่อง และรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว ตำรวจก้ไม่อาจจะสอบสวนดำเนินคดีได้ หรือตำรวจสอบสวนไปแล้ว อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้อง เพราะอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องเหมือนกัน หากไม่ได้ร้องทุกข์ตามระเบียบเสียก่อน

ท่านผู้อ่าน ซึ่งเป็นคนไม่ได้เคยเรียนรู้ศัพท์กฎหมายก็จะเป็นงง ... อะไรหว่า คือ ร้องทุกข์ตามระเบียบ .... ตามกฎหมาย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๗)) ประกอบกับคำพิพากษาฎีกา อธิบายความไว้ว่า ผู้ร้องทุกข์ จะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยปกติ ก็คือ ตำรวจ ว่ามีความผิดทางอาญาเกิดขึ้นกับตนเอง ตนเองได้รับความเสียหายอย่างไร และ การที่มาแจ้งความกับตำรวจ ก็มุ่งหวังประสงค์ ให้ตำรวจดำเนินคดี และผู้กระทำผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษ ทั้งนี้ ผู้เสียหาย จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด




คำว่า ผู้เสียหาย ไม่มีส่วนผิดด้วย ก็มีตัวอย่างเช่น ไม่มีส่วนก่อให้เกิดความผิด เช่น ไปยั่วยุให้เขาทำร้ายร่างกายเรา หรือ เข้าไปชกต่อยทะเลาะวิวาทกับเขาด้วโดยสมัครใจ หรือ ให้ผู้ต้องหา เอาเงินของเราไปติดสินบนเจ้าพนักงานงาน แต่ปรากฎว่า เขาเชิดเอาไปเสียเอง .... ดังนี้ จะไปร้องทุกข์ต่อตำรวจว่า เขาฉ้อโกง ก็ไม่ได้ เพราะมือเราไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว กฎหมายย่อมไม่คุ้มครอง เป็นต้น

สำหรับในคดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น เช่น คดีเช็คเด้ง กรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์เอง หรือ ไปร้องทุกข์เอง ก็จะต้องมีถ้อยคำให้ครบถ้วน เช่น มอบอำนาจให้ ร้องทุกข์ ดำเนินคดี เอาผิดกับ นาย .... หรือ นาง ...หรือ บริษัท และ นาย / นาง ... ให้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้น ตำรวจก็ไม่อาจจะดำเนินคดีทุกคนได้ เพราะกฎหมายตีความว่า ผู้เสียหาย ไม่ประสงค์จะร้องทุกข์อย่างแท้จริง เช่น มาแจ้งความ แล้วก็บอกว่า ขอลงประจำวันไว้ก่อน ... ดังนี้ ก็ไม่ใช่ร้องทุกข์ ตามระเบียบอีก

มีคดีเช็คเรื่องหนึ่ง คดีอาญาที่ ๖๙๓/๒๕๕๒ ของ สน.ท่าข้าม พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง ๗ ได้ส่งสำนวนมายัง ตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณา ว่าจะเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ ผู้เสียหายในคดีเช็คเด้ง ได้มอบอำนาจให้นาย ก. ไปร้องทุกข์ โดยระบุข้อความว่า ให้มีอำนาจ เจรจา ประนีประนอม และถอนคำร้องทุกข์ แต่ไม่มีคำว่า "ร้องทุกข์" จึงถือไม่ได้ว่าร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒(๗) พนักงานสอบสวน ก็ไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณา แล้วเห็นว่า หากตีความตามลายลักษณ์อักษร ก็คงจะต้องยินยอมเห็นชอบกับความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการ ที่ไม่ฟ้องผู้ต้องหา แต่หากจะตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร้องทุกข์แล้ว หากให้ผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจเจรจา จนถึงขั้น ถอนคำร้องทุกข์ ย่อมชัดเจนในตัวว่า ให้มีอำนาจร้องทุกข์ด้วย ไม่เช่นนั้น จะถอนคำร้องทุกข์ได้อย่างไร แต่ท้ายที่สุด ก็เห็นว่า กฎหมายก้าวไปไม่ถึง จึงต้องยินยอมให้ความเห็นชอบกับคำสั่งดังกล่าวไป

นอกจากนี้ ผู้บริหาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังพิจารณาเห็นว่า การที่ผู้เสียหาย ร้องทุกข์ ก็หวังพึ่งพากลไกปกติ ไม่อยากใช้วิธีการแก้แค้นล้างแค้นด้วยตนเอง อันจะทำให้บ้านเมืองถึงกาลย่อยยับ จึงได้พิจารณาว่า ในกรณีที่มีการร้องทุกข์แล้ว เห็นว่าคำร้องทุกข์บกพร่อง ตำรวจก็น่าจะมีอำนาจให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้เสียหายจัดการแก้ไขตามสมควรต่อไป จึงได้ออกบันทึกสั่งการ ตามหนังสือที่ ๐๐๑๑.๒๔/ว.๐๐๙๙ ลงวันที่ ๙ พ.ย. ๕๒ เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนคดีในความผิดส่วนตัว

โดยบันทึกสั่งการมีนัยยะสำคัญ คือ หากคำร้องทุกข์ไม่ชอบ ก็ให้คำแนะนำผู้เสียหายให้แก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒(๗) เนื่องจาก พนักงานสอบสวน มีหน้าที่จะต้องให้ความเป็นธรรม ตามเนื้อหา ไม่ควรให้ผู้เสียหาย หรือ ผู้ต้องหา แพ้หรือชนะคดี ตามกระบวนการเท่านั้น ซึ่งจะนำมาซึ่งความพอใจให้แก่คู่กรณีอย่างแท้จริง




ผู้เขียน ก็หวังว่า คำพิพากษาฎีกา หรือ คำสั่งของพนักงานอัยการ เรื่องคำร้องทุกข์ไม่ชอบ จะไม่ปรากฎในแผ่นดินไทยอีกต่อไป หากคู่กรณีจะแพ้ชนะคดีอย่างไร ก็ขอให้แพ้ชนะที่เนื้อหาของคดีเถิด ....






 

Create Date : 09 ธันวาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:10:52 น.
Counter : 4001 Pageviews.  

ส่งคำขอบัตรเครดิตโดยใช้ประชาชนของคนอื่น .... เป็นการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น..

คดีนี้ เป็นคดีอาญาที่ดำเนินการสอบสวนโดย กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ในปี ๒๕๕๑ โดยมี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กล่าวหา และ นาย ต้นสกุล อ. เป็นผู้ต้องหา ในข้อหา ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ใช้บัครอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือ หนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ฯลฯ ตาม ป.อาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๔๑, ๓๔๒(๑), ๒๖๙/๕ และ มาตรา ๒๖๙/๗ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ๒ มีความเห็นสั่งฟ้องบางข้อหา แต่สั่งไม่ฟ้องข้อหา ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีความเห็นแย้งไปยัง อัยการสูงสุด ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาแล้ว ท้ายที่สุด อัยการสูงสุด ได้ชี้ขาดให้ฟ้องตามความเห็นแย้งของ ตร. ตามนัยหนังสือที่ อส ๐๐๒๓.๑/๑๓๑๕๘ ลง ต.ค. ๒๕๕๒

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฟังได้ความว่า ผู้ต้องหา ได้นำเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ของนาย ท. อ. ไปใช้ในการการทำบัตรเครดิต โดย ผู้ต้องหา รับรองสำเนาเอกสารดังกล่าวในนามของนาย ท. อ. แล้วส่งให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ทางไปรษณีย์ จนธนาคารหลงเชื่อจึงออกบัตรเครดิตให้ เมื่อผู้ต้องหาได้รับบัตรเครดิต จึงได้นำออกใช้เพื่อชำระค่าบริการ แทนเงินสด จำนวน ๙ ครั้ง เป็นเงินราว ๑.๒ แสนบาท เช่นนี้ เมื่อเทียบกับนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๗/๒๕๐๗ แล้ว การกระทำของผู้ต้องหา ที่ได้สำเนาเอกสาร และรับรองเอกสารดังกล่าว ส่งให้กับธนาคารย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิที่แท้จริงแล้ว และการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นแล้ว โดยไม่สำคัญว่า จะยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือ ส่งให้ธนาคารทางไปรษณีย์ อัยการสูงสุดจึงชี้ขาดให้ฟ้องตามที่ ตร. ให้ความเห็นแย้ง




สำหรับคดีนี้ เรื่องมาปูดแดงขึ้น ก็ตรงที่ว่า ศูนย์บริการลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้รับแจ้งว่า มีเอกสารแจ้งหนี้เกี่ยวกับบัตรเครดิต ที่ระบุชื่อ ผู้ถือบัตร คือ นาย ท.อ. ที่ถูกปลอมสำเนาบัตรฯ ในคดีนี้ ถูกส่งมาที่ห้องพักของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ตนพักที่ห้องดังกล่าวเพียงผู้เดียว ศูนย์บริการฯ จึงได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้แจ้งข้อมูล จึงได้ทราบว่า ผู้แจ้ง เคยมีเพื่อนชื่อนายต้นสกุล ฯ ผู้ต้องหาในคดีนี้ มาพักอยู่ด้วย แต่ไม่เคยรู้จักชื่อผู้ถือบัตรเครดิต

ธนาคารฯ จึงได้ติดต่อ ผู้มีชื่อถือบัตร คือ นาย ท.อ. จึงได้รับคำยืนยันว่า ไม่เคยยื่นเอกสารคำขอบัตรเครดิตต่อธนาคารฮ่องกงแบ๊งค์ และธนาคารทหารไทย โดยยื่นผ่านนายต้นสกุล ผู้ต้องหาในคดีนี้ แต่ธนาคารปฏิเสธ จึงไม่ได้สนใจเรื่องเอกสารของตนเอง จนกระทั่งเรื่องนี้ปูดแดงขึ้นมา

พยานหลักฐานที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ได้แก่ แถบบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ยืนยันว่า ผู้ต้องหา ได้นำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้ในการเบิกจ่ายเงินสด จึงได้มีการดำเนินคดีและสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องในที่สุด




คดีนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์ สำหรับผู้มอบเอกสารให้กับผู้อื่นเอาไปใช้ และ สำหรับพลเมืองดีที่ได้รับเอกสารแปลก ๆ แล้วก็ควรจะแจ้งให้ธนาคาร หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป เพื่อที่จะป้องกันเหตุดังกล่าวได้ ... สังคมดีได้ ถ้าประชาชนในสังคมร่วมด้วยช่วยกันทำความดี และ ทำตัวเป็นตำรวจปกป้องตนเองและสังคม ...




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:14:30 น.
Counter : 826 Pageviews.  

สรุป ระเบียบการสอบสวนคดีอาญา

สรุป ระเบียบการสอบสวนคดีอาญา
พ.ต.ท.สุรินทร์ สว่างแสง รอง ผกก.กองคดีอาญา



ตามประมวลระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 13 บทที่ 3 คำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ

ข้อ 11. เมื่อมีผู้มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ถ้าการแจ้งความนั้นเป็นคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบเพื่อทำการสอบสวน

- ซึ่งพนักงานสอบสวนจะทำการสืบสวนก่อนรับคำร้องทุกข์ไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือ ที่ นร.0601/1108 ลง 29 พ.ย. 2544 กรณี ตร.ได้หารือไว้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยมีหนังสือแจ้งความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยคำร้องทุกข์ว่า “เมื่อผู้ร้องทุกข์ได้ยื่นคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนต้องรับคำร้องทุกข์แล้วดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีแล้วเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ ซึ่ง ตร.ได้แก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2542 ต่อมามีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 ระบุว่า “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ หรือผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางอาญา อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้พนักงานทำการสอบสวนทำการสืบสวนก่อนรับคำร้องทุกข์” ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นกัน ตร.เห็นว่าการวินิจฉัยเป็นสองแนวทางเป็นปัญหาในการปฏิบัติ จึงหารือว่าแนวทางใดเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เมื่อมีผู้มาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ หรือผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ ว่ากระทำผิดในทางอาญาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติตามระเบียบ ตร.กล่าวคือต้องรับคำร้องทุกข์แล้วดำเนินการสอบสวนเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

- เมื่อมีผู้มาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ หากพนักงานสอบสวน ไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ พนักงานสอบสวนจะมีความผิดตาม ป.อาญา ม.157 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นไปตามหนังสือ ตร. ที่ ตช 0006.42/3329 ลง 28 เม.ย. 2547 (รายละเอียดของเรื่องนี้ปรากฏว่า เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวน ได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่เกิดเหตุ ต่อมาผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พนักงานสอบสวนได้สอบสวนปากคำไว้แล้ว และนัดให้ผู้เสียหายและผู้ต้องหาทำการไกล่เกลี่ย แต่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญพนักงานสอบสวนไม่ได้ลงบันทึกประจำวัน หรือลงสมุดสารบบในการรับคำร้องทุกข์ไว้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งที่อื่น พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งมอบสำนวนก็คงเนื่องจากไม่ได้รับคำร้องทุกข์ไว้จึงไม่มีสำนวนให้มอบ ต่อมาผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับพนักงานสอบสวนกรณีไม่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าว จึงถูก คณะกรรมการ ปปช.ดำเนินคดีแล้วมีมติว่ามีความผิดตาม ป.อาญา ม. 157 จะเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการกรณีดังกล่าวหลายประการเพียงแต่ไม่ได้รับคำร้องทุกข์ โดยการลงประจำวันหรือรับคำร้องทุกข์ในสมุดสารบบ เท่านั้นถือว่าเป็นการทุจริต ดังนั้นพนักงานสอบสวนควรระมัดระวังกรณีเช่นนี้ หากถูกร้องเรียนแล้วจะเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมาก ในฐานะผู้บังคับบัญชาควรทำความเข้าใจและแนะนำให้พนักงานสอบสวนได้ถือปฏิบัติในการรับคำร้องทุกข์ให้ถูกต้องเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวพนักงานสอบสวนเอง)

-การดำเนินการในการรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เมื่อรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแล้วในปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 จะต้องออกเลขคดีทั้งที่เป็นคดีที่รู้ตัวหรือคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดโดยเรียงลำดับกันไปตาม ป.ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 13 บทที่ 1 ไม่ต้องแยกเป็นคดีรู้ตัวผู้กระทำผิด หรือไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่ต้องมีสมุดสารบบคดีไม่รู้ตัว และสมุดออกเลขประเภทไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดอีก และในการดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ที่จะต้องออกทำการสืบสวนและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดด้วนตนเอง เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและการออกสืบสวนของพนักงานสอบสวนด้วยตนเองจะเป็นประโยชน์ในการเบิกความต่อศาลหากได้ออกตรวจสถานที่เกิดเหตุและออกสืบสวนด้วยตนเองก็จะสามารถเบิกความได้ตามข้อเท็จจริงมีความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คำเบิกความมีน้ำหนักพอรับฟังในการพิจารณาของศาลได้ ส่วนคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญ และความสามารถในการสืบสวนเป็นพิเศษ ให้ฝ่ายสืบสวนเข้ามามีหน้าที่ ในการแสวงหาข้อเท็จจริง และหลักฐานโดยประสานกับพนักงานสอบสวนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0031.212/09086 ลง 29 ธ.ค.2551 ซึ่ง ตร.กำหนดแนวทางการปฏิบัตแทนหนังสือ ด่วนมากที่ 0031.212/4501 ลง 3 ต.ค.2550 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ 0031.212/5183 ลง 13 พ.ย.2550 เฉพาะเรื่องการออกเลขคดี

- การรายงานคดี ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นผู้รายงานคดีและการปฏิบัติเกี่ยวกับรายงานคดีอาญาโดยถือปฏิบัติตาม ป.ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 18 บทที่ 1 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการรายงานเหตุที่ต้องรายงานด่วน กรณีบุคคลดังต่อไปนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ข้าราชการการเมือง สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาท้องถิ่น บุคคลในคณะทูต กงสุล องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรราชการต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ศาลหรือผู้พิพากษาและบุคคลสำคัญในทางราชการ ทางสังคม ทางการค้า หรือสื่อมวลชน ที่ต้องหาคดีอาญาหรือถูกจับ (ยกเว้นคดีลหุโทษ) หรือเป็นผู้เสียหาย โดยกำหนดให้หัวหน้าสถานีหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงาน รีบรายงานโดยผ่านทางวิทยุหรือโทรศัพท์หรือการสื่อสารอื่นใดที่รวดเร็วกว่าไปยังศูนย์รวมข่าวของ บช. แล้วให้ศูนย์รวมข่าวรีบรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทุกระดับในวันรุ่งขึ้นให้จัดทำรายงานรายละเอียดที่เกิดขึ้น บางครั้งเมื่อมีเหตุสำคัญเกิดขึ้นผู้มีหน้าที่อาจจะหลงลืม หรือมีภารกิจเร่งด่วนมาก ทำให้ไม่ได้รายงานเหตุ หรือรายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. ล่าช้า จนเป็นเหตุให้มีการสั่งการ กำกับดูแลไม่ทันท่วงทีและอาจเกิดความเสียหายต่อ ตร.โดยรวมขึ้นได้ (บางครั้งเมื่อ ผบ.ตร.ถูกถามถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า ผบ.ตร.ยังไม่ทราบเหตุ) ตร.จึงมีหนังสือที่ 0001(ผบ)/43 ลง 5 ก.ค. 2551 กำชับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรายงานเหตุตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี เพิ่มเติมโดย

1. ให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบคดี รายงานเหตุให้ ผบ.ตร.ทราบในโอกาสแรกด้วยวาจาทางโทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) โดยเร็ว

2. ให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงาน รายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ตามแบบรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ และสะเทือนขวัญ และเหตุที่ต้องรายงานด่วนไปยังสำนักงาน ผบ.ตร.ทางโทรสารในวันรุ่งขึ้น

3. ให้ ผบก.และ ผบช.ท้องที่เกิดเหตุเข้าควบคุม กำกับดูแลและพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานผลการดำเนินการทางโทรสารให้ ผบ.ตร.ทราบโดยเร็ว (ที่มาของหนังสือนี้กรณีพนักงานสอบสวนขอให้ศาลออกหมายจับอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ)

- การสอบสวนของพนักงานสอบสวน จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะต้องปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ที่ 0004.6/10940 ลง 3 ก.ย. 2545 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม หนังสือดังกล่าวจะกำหนด เรื่องการบันทึกคำให้การ ผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา พยาน การบันทึกคำให้การผู้ต้องหา กำหนดถึงบุคคลที่ไม่ต้องสอบปากคำคือ ผู้ชำนาญการพิเศษ หรือแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพ ที่ได้ออกรายงานการตรวจไว้แล้ว เว้นแต่มีประเด็นที่นอกเหนือจากรายงานผลการตรวจหรือประเด็นที่ยังไม่สิ้นสงสัย และได้กำหนดแบบการชี้ตัวผู้ต้องหา บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย/ได้คืน/ไม่ได้คืนหากรวมอยู่ในบัญชีเดียวกันได้ก็ให้ทำบัญชีเดียวกัน แต่หากจำเป็นต้องแยกบัญชีเช่นกรณีที่เสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา หรือส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการแล้ว และได้ทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเพิ่มเติมก็ให้แยกบัญชี บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ตัวอย่างบันทึกพนักงานสอบสวน การบันทึกประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เพื่อให้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน

นอกจากนี้พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจจะต้องยึดถือปฏิบัติ ตามหนังสือ ตร.ที่ 004.6/1378 ลง 9 มี.ค. 2548 เรื่องแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ซึ่งกำหนดแนวทางการปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตาม ป.วิ อาญา โดยได้กำหนดเกี่ยวกับการจับกรณีไม่มีหมาย การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนี หรือจะหลบหนีไประหว่างถูกปล่อยชั่วคราว ในการจับนั้นเจ้าพนักงานตำรวจหรือราษฎรซึ่งทำการจับ ต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับทันที เว้นแต่สามารถนำไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ และแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากให้การถ้อยคำนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือ ผู้ซึ่งจะเป็นทนายความได้ หากผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งญาติ หรือผู้ที่ไว้วางใจทราบถึงการจับหากเป็นการสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุม ให้อนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ กรณีราษฎรเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับจากราษฎรบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ และข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้น รวมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ การควบคุม ต้องแจ้งสิทธิตามมาตรา 7/1 ให้ผู้ซึ่งถูกควบคุมทราบในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับสามารถแจ้งญาติหรือผู้ไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับและสถานที่ควบคุม การค้นโดยไม่มีหมาย ผู้ตรวจค้นจะต้องจัดทำบันทึกการตรวจค้นโดยแสดงเหตุผลที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้ แล้วมอบบันทึกการตรวจค้นและบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้นไว้ให้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ค้น การปล่อยชั่วคราว การสอบสวน การจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา

- ระยะเวลาในการสอบสวนคดี พนักงานสอบสวนพึงทำการสอบสวน ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในคำสั่ง ตร.ที่ 960/2537 ลง 10 ส.ค.2537

- ในคดีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด กรณีเป็นคดีอาญาทั่วไป ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รับคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นมีกำหนด 1 ปี เมื่อทำการสืบสวนสอบสวนครบเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดเห็นควรงดการสอบสวนหรือมีความจำเป็นต้องทำการสืบสวนเกินเวลาที่กำหนด ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นตามลำดับขึ้นไป ยังผู้บังคับการหรือ หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้นตรวจพิจารณาและดำเนินการตาม ม.140 แห่ง ป.วิอาญา ภายใน 30 วันนับแต่วันครบกำหนด (อำนาจของอัยการตาม มาตรา 140)

- คดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดแต่เรียกหรือจับกุมตัวยังไม่ได้ คดีอาญาทั่วไปให้ทำการสืบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน คดีอุกฉกรรจ์ภายใน 3 เดือน หากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้โดยได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วหรือมีความจำเป็นต้องสอบสวนเกินระยะเวลาที่กำหนด ให้ พงส. เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นตามลำดับขึ้นไปยัง ผบก.ตรวจพิจารณาและดำเนินการตาม ม.141 ภายในระยะเวลา 10 วัน

- คดีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 เดือน สำหรับคดีอาญาทั่วไป และภายใน 2 เดือนสำหรับคดีอุกฉกรรจ์ นับแต่วันแรกที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวหากสอบสวนไม่เสร็จต้องขอขยายระยะเวลาการสอบสวนต่อ ผบก.ครั้งละ 15 วัน รวมแล้วไม่เกิน 6 เดือน หากเกิน 6 เดือนแล้วมีความจำเป็นที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาอีก ต้องร้องขอต่อศาล (เป็นไปตาม ป.วิอาญา ม.113)

การดำเนินการตามคำสั่ง ตร.ที่ 960/2537 ความสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาที่จะต้องเข้าควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนของ พงส. หากมีข้อปฏิบัติใดที่ พงส.ยังไม่ได้ดำเนินการ ผู้บังคับบัญชาต้องชี้แนะให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อเกิดข้อบกพร่องขึ้นมา พงส.จะเป็นผู้ถูกพิจารณาข้อบกพร่องทุกครั้ง ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบจะไม่มีความผิดแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่ง ตร.ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ตรวจสอบซึ่งต้องตรวจสอบสำนวนหากมีการตรวจสอบกันอย่างจริงจังเชื่อว่าสำนวนที่พนักงานสอบสวนดำเนินการย่อมมีความสมบูรณ์และดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และมาตรการตามคำสั่ง ตร.ที่ 960/2537 เป็นหนึ่งในการตรวจราชการของจเรตำรวจ และมักจะพบข้อบกพร่องของ พงส. ดังนั้นผู้บังคับบัญชาในสถานีตำรวจ จะต้องแนะนำ ชี้แนะ และตรวจสำนวนให้ พงส.ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสร้างความปลอดภัยให้ พงส.ในชีวิตราชการที่มีงานล้นมือ สำหรับคำสั่ง 960/2537 ที่ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วนั้น เราต้องยอมรับถึงแนวความคิดของผู้บังคับบัญชาของ ตร.ว่ามีแนวคิดที่ก้าวหน้า ที่กว้างไกล ที่ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนจะต้องรีบดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากในเวลาต่อมาทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ป.วิ อาญา แก้ไขปี 2547 ได้กำหนดให้การดำเนินคดี การสอบสวน การพิจารณาคดี ต้องกระทำโดยเร็ว เช่นเดียวกับคำสั่ง ตร. ดังกล่าว

- การดำเนินการสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเข้าพบ พงส.ตาม ป.วิอาญา ม.134 ตร.ได้มีหนังสือที่ 0031.212/3609 ลง 22 มิ.ย. 2549 ได้กำหนดแนวทางการสอบสวนในเรื่องนี้ไว้โดยให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ในกรณีผู้ต้องหาเข้าพบ พงส.เอง เมื่อได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้วปล่อยตัวไป ให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังนี้

1. คดีอาญาทั่วไป ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ

2. คดีอุกฉกรรจ์ ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ

หากดำเนินการไม่เสร็จสิ้น หรือมีความจำเป็นต้องสอบสวนเกินเวลาที่กำหนด ให้ พงส.ขออนุมัติขยายเวลาต่อ ผบก. เมื่อ พงส.ทำการสอบสวนคดี ประเภทนี้เสร็จสิ้นแล้ว ปัญหาที่จะตามมาคือกรณี พงส.มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา จะส่งเพียงสำนวนการสอบสวนโดยไม่มีตัวผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา ม.141 เพราะเหตุไม่ได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้นั้น อัยการจะไม่รับสำนวนการสอบสวนเช่นนี้ไว้พิจารณา ซึ่งการไม่รับสำนวนลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส 0027(ปผ)/1062 ลง 29 ม.ค. 2552 ตอบข้อหารือปัญหาข้อกฎหมาย ว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 14 ว่า สำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมตัวหรือขังอยู่ หรือปล่อยตัวชั่วคราว หรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ตาม ป.วิอาญา ม.142 หมายถึงสำนวนที่มีตัวผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุม ขัง หรือปล่อยชั่วคราวของศาล หรือพนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนสามารถได้ตัวมา เมื่ออกหมายเรียก หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ย่อมต้องมีตัวผู้ต้องหาปรากฏต่อพนักงานสอบสวนและได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาแล้ว พนักงานอัยการจะรับสำนวนไว้พิจารณาต่อเมื่อ พงส.ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนสอบสวน หรือผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในอำนาจศาลที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องได้ ถ้าพนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาได้โดยผู้ต้องหาหลบหนีประกัน หรือไม่สามารถดำเนินการให้ผู้ต้องหามาอยู่ในอำนาจศาลที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องได้ กรณีเช่นนี้ไม่ทำให้สำนวนดังกล่าวกลายเป็นสำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่เรียกหรือจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ตาม ป.วิอาญา ม.141 พนักงานอัยการจะรับสำนวนไว้พิจารณาไม่ได้ ซึ่ง ตร.ได้มีหนังสือที่ 0031.212/ว 0013 ลง 20 ก.พ. 2552 แจ้งให้หน่วยงานในสังกัด ตร. ทราบแล้ว ปัญหากรณีนี้คงจะต้องแก้ไขโดยการแก้ ป.วิ อาญา มาตรา 142 วรรคสาม ให้พนักงานสอบสวนสามารถส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณา หากพนักงานอัยการเป็นควรฟ้องก็จะได้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้อง หากพนักงานอัยการเห็นควรไม่ฟ้องก็เสนอผู้มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา 145 หากไม่แย้งก็เป็นการพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาเพื่อจะได้พ้นข้อหาไป(เนื่องจากบางกรณีผู้ต้องหาไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวนอาจเป็นเพราะไม่ทราบวันนัดก็ได้ เช่น กรณีผู้ต้องหาเข้าพบ พงส.เองแล้วไม่มีเหตุควบคุมตัวได้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีประกันแล้วต่อมาผู้ต้องหาไปประกอบอาชีพต่างท้องที่)

- หนังสือ ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0031.212/ว 114 ลง 31 ส.ค. 2550 เรื่องกำชับการจัดตั้งงานส่งหมายและติดตามพยานในคดีอาญา การเป็นพยานศาล การส่งหมาย การควบคุมพยาน การติดตามพยาน และการรายงานผลการดำเนินการตามหมายศาล และหนังสือ ตร.ด่วนที่สุดที่ 0004.6/4692 ลง 17 มิ.ย. 2547 เรื่องกำชับการปฏิบัติการเป็นพยานศาล การส่งหมายเรียกพยานฯ ซึ่งในปัจจุบันการส่งหมายน่าจะไม่มีปัญหาเนื่องจาก ป.วิ อาญา มาตรา 55/1 ได้บัญญัติให้ผู้ส่งหมายได้รับเงินค่าใช้จ่ายไว้แล้ว สิ่งที่ พงส. ควรดำเนินการคือ การควบคุมพยาน และติดต่อ ติดตามพยานให้ได้ โดยจะต้องจดหมายเลขโทรศัพท์ของพยานหรือหนทางอื่นที่ติดต่อพยานทั้งนี้เพื่อให้พยานไปเบิกความในชั้นศาล เนื่องจากการเบิกความต่อศาลนั้นเป็นเรื่องที่มีสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ในการดำเนินคดีแม้พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนการสอบสวนได้เสร็จสมบูรณ์แล้วก็ตาม หากพยานที่สำคัญไม่สามารถเบิกความต่อศาลได้สำนวนที่ดีที่สุดก็ไม่อาจพิจารณาลงโทษผู้ต้องหาได้ อีกทั้งการไปเบิกความต่อศาลของ พงส. ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งควรเตรียมพร้อมในการไปเบิกความต่อศาล หากจำข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องศึกษาจากสำเนาสำนวน หรือประสานพนักงานอัยการก่อน

- เรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา การปล่อยชั่วคราว ซึ่งตามกฎหมายและระเบียบของ ตร . จะกำหนดเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นหลักเพื่อการรับรองถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเพื่อให้ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มความสามารถ ส่วนการไม่ปล่อยชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งจะต้องมีเหตุผลว่าที่ไม่ปล่อยชั่วคราวเพราะเหตุใด เช่นเกรงจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ข่มขู่พยาน ก่ออันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือจะก่อความเสียหายแก่การสอบสวน ซึ่งในการปล่อยชั่วคราวจะมีประกันหรือไม่มีประกันหรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ กรณีมีประกันและหลักประกัน ในการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกันในชั้นสอบสวนให้ พงส.และผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามคำสั่ง ตร. ที่ 80/2551 ลง 30 ม.ค. 2551 เป็นคำสั่งที่ออกมาให้ พงส.ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวออกตามความในมาตรา 110 วรรคสาม ป.วิ อาญา สำหรับรายละเอียดได้กำหนดว่า ความผิดลหุโทษ หรือที่มีโทษปรับสถานเดียว กำหนดวงเงินประกันไม่เกินร้อยละ 37.5 ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น ความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม วงเงินประกันไม่เกินร้อยละ 37.5 ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี วงเงินประกันไม่เกิน 75,000 บาท โทษสูงกว่า 5 ปี แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย วงเงินประกัน ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อระวางโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกตลอดชีวิต วงเงินไม่เกิน 450,000 บาท โทษประหารชีวิต วงเงินไม่เกิน 600,000 บาท

- หนังสือ ตร.ที่ 0031.212/1721 ลง 19 เม.ย. 2550 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการแจ้งผลความคืบหน้าของพนักงานสอบสวนคดีอาญา ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้เกิดขึ้นเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ 3 พ.ย. 2550 โดยจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรับปรุงระบบการสืบสวนสอบสวน ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต่อ ตร. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2549 ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” ซึ่งสรุปว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา ไว้วางใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย เน้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนจะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น จึงได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนถือปฏิบัติดังนี้

1.ให้พนักงานสอบสวนแจ้งความคืบหน้าผลการดำเนินการให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ทั้งคดีความผิดต่อส่วนตัวและความผิดอาญาแผ่นดิน

2. ให้ พงส.เจ้าของสำนวนเป็นผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลเพื่อแจ้งความคืบหน้า โดยให้ผู้บังคับบัญชาของสถานีตำรวจหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานสอบสวนในหน่วยงานเป็นผู้กำกับดูแล โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายคดีคอยช่วยเหลือ พงส.

3. การแจ้งความคืบหน้าต้องแจ้งเป็นหนังสือ โดยมีรายละเอียดเพียงพอให้พบว่าการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด สิ่งที่ พงส.ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งยังมิได้ดำเนินการ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึง ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่ควรสงวนไว้เป็นความลับ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน และการอำนวยความยุติธรรมด้วย

4.ระยะเวลาในการแจ้งความคืบหน้า
ครั้งแรก เมื่อครบ 30 วันนับแต่วันรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
ครั้งที่ 2 เมื่อครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่แจ้งครั้งแรก
ครั้งที่ 3 เมื่อสรุปสำนวนสอบสวนส่งพนักงานอัยการ

5.พงส.ต้องเก็บสำเนาหนังสือแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนไว้ที่ธุรการคดี

6. จต.จะตรวจสอบการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ด้วย สำหรับแบบหนังสือแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนคดีอาญามีอยู่ท้ายหนังสือ ตร. ดังกล่าว

- หนังสือ ตร.ที่ 0004.6/10615 ลง 27 ส.ค. 2545 เรื่องกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาหลบหนีประกันและคดีที่ผู้ต้องหาบางคนถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่น การกำหนดแนวทางปฏิบัติเรื่องนี้เพื่อให้การปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการไม่ได้เพราะไม่มีตัวผู้ต้องหากรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงกำหนดให้เก็บสำนวนไว้ยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าพนักงานสอบสวน และให้จัดทำสมุดสารบบคุมสำนวนประเภทอัยการไม่รับสำนวนแล้วเก็บสำนวนประเภทนี้ไว้ต่างหากเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ สามารถตรวจสอบได้ ห้ามมิให้เก็บไว้ที่ตัวพนักงานสอบสวน กรณีผู้ต้องหาบางคนถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่น ให้พนักงานสอบสวนแยกสำนวนทำความเห็นควรสั่งฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการประจำศาลที่มีเขตอำนาจเหนือเรือนจำที่ผู้ถูกจำคุกต้องโทษอยู่

- การดำเนินการกรณีมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดี ต่อมาผลการสอบสวนปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น พงส.จะดำเนินการกับสำนวนการสอบสวนนั้นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ตร.ได้เคยมีหนังสือที่ 0004.6/4778 ลง 17 เม.ย. 2545 กำหนดแนวทางให้ พงส.ทำการสอบสวน เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้สรุปสำนวนทำความเห็น งดการสอบสวน หรือ ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งกรณีเช่นนี้ต่อมาได้มีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นเนื่องจากมีการร้องทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้ง จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนปรากฏว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น และไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา แต่เป็นความผิดพลาดเกิดจากความ บกพร่องของเจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมหน่วยเลือกตั้ง ได้ลงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ไปใช้สิทธิผิดช่อง เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วได้ส่งสำนวนให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ส่งสำนวนคืน พงส.โดยไม่พิจารณาสั่งคดี ตร.ได้หารือต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมีหนังสือด่วนมาก ที่ อส(สฝปผ)0018/17630 ลง 5 พ.ย. 2545 ตอบข้อหารือว่ากรณีดังกล่าวถือว่า พงส.ได้สอบสวนจนจบสิ้นกระบวนการของ พงส.แล้ว พงส.ต้องสรุปสำนวนส่งให้ พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิอาญา ม.140(1) และประสานให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณา ที่สุดพนักงานอัยการพิจารณาคดีแล้ว

- หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/6969 ลง 16 ธ.ค. 2548 เรื่องกำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนรถหรือของกลาง สรุปคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นตามหนังสือที่ นร.0001/2563 ลง 22 ธ.ค. 2530 ตอบข้อหารือเกี่ยวกับการคืนของกลาง ตาม ม. 85 และคดีเกี่ยวกับของกลางที่ยึดไว้ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ถึงที่สุดแล้วให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องรับไปเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จนถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอีก

อนึ่งปัจจุบัน มาตรา 85/1 ได้กำหนดเรื่องการประกันของกลางไว้แล้วแต่ยังไม่มีกฎกระทรวงที่จะกำหนดวิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการร้องขอประกันของกลาง จึงยังไม่สามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ แต่เมื่อกฎกระทรวงออกมาใช้บังคับก็จะต้องมีแนวทางปฏิบัติของ ตร.มากำหนดรายละเอียดแนวทางอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

- การจับกุมพระภิกษุและสามเณรที่กระทำความผิดให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ที่ 0004.6/540 ลง 19 ม.ค. 2547 ก่อนทำการจับ หรือควบคุมหรือใช้เครื่องพันธนาการ จะต้องดำเนินการให้พระภิกษุ, สามเณรที่ถูกจับสละสมณะเพศให้ถูกต้องก่อน ทั้งนี้มักจะปรากฏภาพทางสื่อมวลชน เกี่ยวกับการจับกุม พระภิกษุ หรือสามเณร ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม

- การเรียกตัว สส.หรือ สว.ไปทำการสอบสวนในฐานเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุมจะต้องถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ด่วนมากที่ 0004.6/9267 ลง 18 ต.ค. 2544 โดยจะต้องมีหนังสือขออนุญาตต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา โดยผู้ลงนามในหนังสือขออนุญาตต้องเป็น ผบ.ตร. หรือ รอง ผบ.ตร.

- การเข้าคุมการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัดในคดีวิสามัญฆาตกรรม ตามหนังสือ ตร.ที่ 0031.212/4423 ลง 13 พ.ค. 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวนคดีวิสามัญมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามที่เห็นสมควร รวมทั้งการสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือจะสั่งให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน หรือให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าร่วมทำการสอบสวนในเรื่องนั้นด้วยก็ได้ กรณีดังกล่าวถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 18 วรรคท้าย และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 140 แห่ง ป.วิ.อาญา เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นต้องเสนอสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาก่อนจึงจะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งตาม มาตรา 143 สำหรับพนักงานสอบสวนจะต้องมีภาระเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว โดยจะต้องรายงานรายละเอียดตามลำดับถึง ตร.ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวน

- อำนาจการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือ ตร.ว่า เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับได้ 3 วัน และไม่นับรวมกับอำนาจการควบคุมของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา และไม่ต้องนำตัวผู้ถูกจับส่งไปยังพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา 84 แห่ง ป.วิ อาญา รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ ตร.ที่ 0031.212/ว 0003 ลง 9 ม.ค. 2552




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:11:20 น.
Counter : 21193 Pageviews.  

คำแนะนำเกี่ยวกับการสอบสวนปากคำบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน หรือบกพร่องทางสติปัญญา

เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสตรวจสอบสำนวนคดีอาญา ของ สน.นางเลิ้ง ที่ ๑๐๑๔/๒๕๔๘ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ต้องหา ได้ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันปล้นทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น อัยการ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุด เพื่อชี้ขาด ต่อมาอัยการสูงสุดได้ชี้ขาดความเห็นแย้งให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๓๙๙๐/๒๕๕๐

ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ ปรากฎว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.๓๔๒๘/๒๕๕๐ พนักงานอัยการ สั่งไม่ฎีกา เพราะเห็นว่า ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้ยกฟ้องไปในทางเดียวกัน โดยหลักการ จึงห้ามฎีกาคดีต่อไป เว้นแต่เป็นกรณีที่เหตุอันสมควร หรือผู้พิพากษาได้มีความเห็นแย้งไว้ หรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ผู้เขียนได้ตรวจพิจารณาสำนวนคดีนี้ พบว่า เหตุที่ศาลได้พิพากษายกฟ้อง ก็เนื่องจากคดีมีข้อสงสัย (ตามความเห็นของศาล) โดยคดีนี้นี้ ผู้เสียหายอายุ ๑๖ ปี ได้เบิกความนำสืบว่าในขณะที่ขับขี่รถจักรยานยนต์มายังสี่แยกที่เกิดเหตุ และติดสัญญาณไฟจราจรอยู่ในเวลากลางคืนนั้น จำเลย กับพวก ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมา ได้จอดรถและเปิดกระจกบังลมของหมวกนิรมัยของตนเอง แล้วพูดจาข่มขู่ พร้อมใช้หมัดชกที่หมวกนิรภัยของผู้เสียหาย จนผู้เสียหายเกิดความกลัว จำเลยจึงสามารถนำรถจักรยานยนต์ไปได้ ศาลยุติธรรมไม่เชื่อว่า จำเลยสามารถจดจำใบหน้าของจำเลยได้ เพราะไม่เชื่อว่า หากจำเลยกระทำผิดจริง ก็ไม่ควรจะเปิดกระจกเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นหน้าเพื่อให้จดจำได้ จึงไม่เชื่อคำเบิกความผู้เสียหาย (?) (ซึ่งแท้จริงแล้ว จำเลยอาจจะกระทำเช่นนั้นจริง ก็เป็นไปได้)

อีกทั้ง ในชั้นสอบสวน ผู้เสียหาย ไม่ได้ให้การแก่พนักงานสอบสวนว่า จำเลยมีตำหนิรูปพรรณเป็นรอยสักที่บริเวณใกล้หัวไหล่ ศาลจึงไม่เชื่อคำเบิกความของผู้เสียหาย เพราะถ้าจำเลยมีตำหนิรูปพรรณดังกล่าวจริง ผู้เสียหาย ก็ควรจะได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้แต่ต้นแล้ว

ศาลยังได้ให้เหตุผลว่า คดียังมีข้อสงสัยว่า จำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ เพราะภายหลังจากที่จำเลยปล้นเอารถจักรยานยนต์ผู้เสียหายไปได้แล้ว จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อาจเบิกความให้ชัดเจนว่า จำเลยสวมหมวกนริภัยจริงหรือไม่ และพนักงานสอบสวน ก็ไม่ได้ยึดหมวกนิรภัยไว้เป็นของกลางในคดี ฯลฯ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย ตาม มาตรา ๒๒๗ ป.วิ.อาญา




การคำพิพากษาดังกล่าว มีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะ การเบิกความไม่ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ความจริงแล้ว เป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างมาก เพราะว่า ในชั้นสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวน และกรณีผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา เป็นเด็กหรือเยาวชน อาจจะสอบถามไม่ละเอียด ไม่ได้อธิบายถ้อยคำบางคำ ฯลฯ เช่น ไม่ได้อธิบายว่า อะไรคือ ตำหนิรูปพรรณ ฯลฯ ซึ่งเด็กอาจจะเข้าใจแตกต่าง เมื่อชั้นสอบสวนไม่ได้ถามไว้ หรือถาม แต่เด็กไม่เข้าใจ ก็อาจจะไม่ได้ตอบไว้ การเอาเหตุนี้ มายกฟ้อง จึงฟังดูแปลกไปสักหน่อย

ข้อบกพร่องคดีนี้ นอกจากเหตุที่ พนักงานสอบสวน และ พนักงานอัยการ ซึ่งมีบทบาทในการเข้าร่วมฟังการสอบสวน ไม่ได้สอบถามหรืออธิบายให้ดีเพื่อให้เป็นหลักประกันเด็กหรือผู้เยาว์ หรือผู้เจ็บป่วยบกพร่องทางสติปัญญา ให้เข้าใจคำถามเป็นอย่างดีแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ในชั้นศาล ก็ไม่ได้มีการถามค้าน ถามติง เพื่อให้เด็กหรือเยาว์ในคดีนี้ ได้อธิบาย เหตุผลที่ไม่ได้ตอบคำถามไว้ในชั้นสอบสวน เพื่อให้ศาลได้คลายความกังวลสงสัยว่าจำเลยเป็นคน ๆ เดียวกันหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบสวนอุทธรณ์และฎีกาคดี พบว่า พนักงานอัยการสมัยใหม่ ไม่ค่อยจะแสดงความรู้ความสามารถในการว่าความแม้แต่น้อย ไม่มีการถามค้น ถามติง ไม่มีการซักซ้อมความเข้าใจพยานก่อนเบิกความให้ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่ทำให้ศาลมีข้อสงสัยดังกล่าวแม้แต่น้อย น่าแปลกใจว่า หลักสูตรที่สำนักงานอัยการสูงสุด จัดให้แก่พนักงานอัยการผู้ช่วย นั้นเป็นอย่างไร

คดีนี้ ยังมีปัญหาที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ พนักงานอัยการ ไม่ได้ซักซ้อมความเข้าใจพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงให้ตรงกันตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเกือบทุกคดี พนักงานอัยการบางคน นำพยานเข้าสืบ เพียงแค่เพื่อนำส่งคำให้การชั้นสอบสวนเท่านั้น ไม่ได้เตรียมการใด ๆ มาก่อน ไม่ได้สอบถาม คำถามสำคัญ ๆ ไม่ได้ถามค้าน ถามติง ฯลฯ ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งน่าแปลกใจมากว่า เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ คดีนี้ ก็เช่นกัน ก่อนการสืบพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้จับกุมผู้ต้องหามาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มาสืบพยานกันจริง ๆ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ข้อเท็จจริงที่จำได้ กับข้อเท็จจริงในขณะเกิดเหตุ มักจะคลาดเคลื่อน พนักงานอัยการ ควรจะได้นัดพยานไปอ่านคำให้การเดิมที่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนล่วงหน้า ซักซ้อมพยานกันอย่างจริงจังก่อน ไม่ใช่นัดไปเจอหน้าบัลลังก์ แล้วก็ถามข้อเท็จจริงเพื่อส่งคำให้การของพยานเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำไม่ได้ ก็ถูกทนายจำเลยซัก พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้แต่อ้างว่า จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ ฯลฯ หรือ บางครั้ง แสดงความอวดรู้ เบิกความตรงกันข้ามกับความเป็นจริง พนักงานอัยการ ก็ไม่ได้อ่านคำให้การพยานมาก่อน ก็ไม่ได้ถามค้าน ถามติงอะไรอีก เป็นอันจบข่าว ยกฟ้องในที่สุด




สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้มีบันทึกสั่งการ ตามหนังสือ กองคดีอาญา (ตร.) ที่ ๐๐๓๑.๒๓/๓๗๗๘ ลงวันที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๒ เรื่อง คำแนะนำการสอบสวนปากคำบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เพื่อกำชับให้ พนักงานสอบสวน จะต้องอธิบายถ้อยคำต่าง ๆ ในคำถามของตนให้ชัดเจน เพียงพอที่พยาน รวมถึงผู้ต้องหา ที่เป็นผู้เยาว์ หรือ มีข้อบกพร่องทางสติปัญญา ให้เข้าใจได้ว่า แปลว่าอะไรกันแน่ เช่น คำว่า ตำหนิรูปพรรณ หมายถึง อะไรบ้าง รวมถึง ก่อนสืบพยานในชั้นศาล พนักงานสอบสวน จะต้องนัดพยานไปพบพนักงานอัยการ โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องซักซ้อมความเข้าใจให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่เบิกความว่า จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ ฯลฯ แค่นั้น เพื่อป้องกันความเสียหายแก่รูปคดี และความเสียหายที่จะเกิดกับกระบวนการยุติธรรมโดยรวม




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:14:04 น.
Counter : 1802 Pageviews.  

ปลอม.....โดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น .....

คดีนี้ ผู้ต้องหา นำเอกสารส่วนตัวของนาย ท. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไปยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร โดยส่งทางไปรษณีย์ ไม่ได้ไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารด้วยตนเอง แต่ธนาคารไม่ได้อนุมัติสินเชื่อให้กับนาย ท. ฯ ต่อมาผู้ต้องหา ได้นำเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหาย ไปยื่นขออนุมัติการใช้บัตร เอ ที เอ็ม โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายทัศน์ภูมิฯ และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติบัตรกดเงินสด เพราะหลงเชื่อเป็นนายทัศน์ภูมิฯ จริง ซึ่งผู้ต้องหา ได้นำบัตรดังกล่าวไปกดเงินสดตามสถานที่ต่าง ๆ จำนวน ๙๗,๒๐๐ บาท

พนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องฐาน ปลอมและใช้เอกสารปลอม ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพิ่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด อันเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๔๑, ๓๕๒, ๒๖๙/๕ และ ๒๖๙/๗

พนักงานอัยการ สั่งฟ้องบางข้อหา สั่งไม่ฟ้องบางข้อหา โดยสั่งไม่ฟ้องในความผิดฐาน ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น, ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เนื่องจากฟังว่าผู้ต้องหาส่งเอกสารดังกล่าวทางไปรษณีย์ ไม่ได้ไปแสดงตนต่อผู้อื่นด้วยตนเอง และ เอกสารที่ใช้เป็นเพียงเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์

กองคดีอาญา และ สำนักงานกฎหมายฯ เห็นพ้องตามความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการ

สำนักงานผู้ช่วย ผบ.ตร. (ฝ่ายกฎหมาย) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ผู้ต้องหา ได้นำเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายทัศน์ภูมิฯ ไปใช้ในการขอบัตร เอ.ที.เอ็ม หรือ บัตรกดเงินสด โดยรับรองสำเนาบัตรดังกล่าวว่าผู้ต้องหาเป็นนาย ท. ฯ แล้วส่งให้ธนาคารฯ จนธนาคารหลงเชื่อ จึงได้ออกบัตรกดเงินสดให้ ภายหลังจากที่ได้รับบัตรกดเงินสดแล้ว ผู้ต้องหานำบัตรกดเงินสดไปใช้ถึง ๖ ครั้ง ได้เงินไปจำนวน ๙๗,๒๐๐ บาท ข้อเท็จจริงจึงยุติว่า ผู้ต้องหาได้ส่งเอกสารการขอบัตรกดเงินสด โดยลงลายมือรับรองว่าเป็นนาย ท. ฯ โดยปราศจากความยินยอม ข้อเท็จจริงที่ กองคดีอาญา ได้พิจารณาว่า ธนาคาร ไม่ได้อนุมัติบัตรกดเงินสด จึงคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสำนวนการสอบสวน

ทางคดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องในความผิดตามที่พนักงานสอบสวนในข้อหาฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น จึงเห็นควรแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เนื่องจากกรณีนี้ ถือเป็นการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นแล้ว ตาม ป.อาญา มาตรา ๓๔๒ เพราะว่า ผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารขอบัตร กดเงินสด และ ลงชื่อบุคคลอื่นในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และได้ยื่นเอกสารที่รับว่าเป็นบุคคลอื่นต่อธนาคารสำเร็จแล้ว ไม่สำคัญว่าจะยื่นเอกสารข้างต้นด้วยตนเองหรือไม่ ก็ถือได้ว่าแสดงตนต่อบุคคลอื่นแล้ว เทียบนัยคำพิพากษาฎีกา ๑๐๖๗/๒๕๐๗ น.๑๘๐๒ ซึ่งวินิจฉัยว่าการที่จำเลยลงลายมือปลอมในตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินเป็นการแสดงว่าตนคือผู้ทรงที่แท้จริง เจ้าหน้าที่หลงเชื่อจึงได้จ่ายเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม มาตรา ๒๖๖(๕) และ การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จึงเป็นความผิดตาม มาตรา ๓๔๒(๑) ด้วย และ คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๓๙/๒๕๒๒ น.๑๘๐๘ ซึ่งวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำ น.ส.๓ ก ที่ระบุชื่อ ส. และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลย คือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้เงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยแสดงเป็นคนอื่น ตาม ป.อาญา มาตรา ๓๔๒(๑) ด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัย คือ มีการกระทำผิดฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิหรือไม่ การลงลายมือในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนโดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าของ ถือเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว แต่บัตรประจำตัวไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๐๓/๒๕๔๘) คงมีประเด็นเพียงว่า แบบคำขอใช้บริการบัตร เอ ที เอ็ม หรือบัตรกดเงินสด นั้น ถือเป็นเอกสารสิทธิ หรือไม่ กรณีนี้ เคยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒๗/๒๕๔๗ นั้น ได้วินิจฉัยว่า แบบคำขอใช้บริการบัตร เอ ที เอ็ม มิใช่เอกสารสิทธิ เพราะมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก-ถอนเงินกับธนาคาร เนื่องจากยังไม่แน่ว่า ธนาคารจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการหรือไม่ เฉพาะความเห็นในกรณีนี้นั้น จึงเห็นว่า ความเห็นของ กองคดีอาญา และ สำนักงานกำหมาย ที่ไม่แย้งข้อหานี้ จึงถูกต้องแล้ว

จากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายข้างต้น สำนักงานผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ กองคดีอาญา ร่างแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในฐานความผิด ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตาม ป.อาญา มาตรา ๓๔๒ และ เห็นชอบในฐานความผิดปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตาม ป.อาญา มาตรา ๒๖๕




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:13:47 น.
Counter : 4470 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.