*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา ๑) ว่าด้วยรัฐสภา

คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไปแล้ว ว่ามีเพียงไม่กี่มตราเท่านั้น แต่สามารถดำรงความเป็นกฎหมายสูงสุด ได้มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมากว่าสองร้อยปี




วันนี้ นำเฉพาะมาตราแรก คือ มาตรา ๑ ว่าด้วยอำนาจของรัฐสภา ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่ในการร่างกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งมีผลเป็นการริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งในระดับ มลรัฐ (State) และ ระดับสหรัฐ (Federal) มาเล่าให้ฟังกันครับ

บทบัญญัติใน มาตรา ๑ ( ARTICLE I. LEGISLATIVE DEPARTMENT ) แบ่งเป็นอนุมาตราย่อย ๆ และวรรคต่าง ๆ มีการบรรยายถึงลักษณะต่าง ๆ ของสภาคองเกรส(Sec. 1) เป็นต้นว่า สภาผู้แทน องค์ประกอบของสภาผู้แทน และผู้เลือกตั้ง ( Sec. 2, Cl 1.) คุณสมบัติ(Qualifications of Representatives) และการขับออกจากตำแหน่ง (Sec. 2, Cl 5. Officers and impeachment) ค่าตอบแทน (Sec. 6, Cl 1. Compensation and privileges of members) การเสนอร่างกฎหมาย (Bills) และการใช้อำนาจคัดค้านร่างกฎหมาย หรือ Veto (Sec. 7)

มาตราที่สำคัญมาก ๆ คือ อำนาจในการออกฎหมาย ที่ควบคุมกิจการด้านการเงิน ภาษีอากร การยืมเงิน (Taxation & Borrow money) การควบคุมการค้า (Interstate commerce) การคลัง การไปรษณีย์ รวมถึงไปประกาศสงคราม และ การออกกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมในการดำรงความเป็นสหรัฐฯ ตามอนุมาตรา ๘

กฎหมายอนุมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑ นี้เอง ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ใช้อำนาจในการควบคุมกิจการต่าง ๆ ของรัฐบาลมลรัฐ เป็นต้นว่า การออกกฎหมายที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลท้องถิ่น ออกกฎหมาย หรือ สร้างกฎระเบียบใด ๆ ที่เป็นการให้สิทธิพิเศษ แก่ผู้ประกอบการในรัฐนั้น ให้ได้สิทธิพิเศษที่ดีกว่า หรือ สามารถทำมาหาราย ได้กว่า บริษัทที่มาจากต่างรัฐ รัฐบาลกลางสหรัฐฯ อ้างอำนาจตามมาตรานี้ ในการออกกฎหมาย เช่น การควบคุมอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การฉ้อโกงประชาชนโดยใช้วิธีการใช้จดหมาย ฯลฯ ส่งไปหลอกลวงเหยื่อในรัฐต่าง ๆ หรือใช้วิธีการ wire ในการฉ้อโกงเงินของประชาชน เป็นต้น รวมถึงกฎหมายที่ห้ามเลือกปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาการแบ่งสีผิว เพราะการค้าขาย ย่อมมีการไหลเวียนของเงินตราระหว่างมลรัฐ ซึ่งศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้รับรองการใช้อำนาจของสภาคองเกรส ภายหลัง ๑๙๓๐ เป็นต้นมาเช่นกัน (ก่อนหน้านี้ ศาลสูงสุด วินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ)

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้จำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของสภาคองเกรส ในการออกกฎหมายหลายประการ เป็นต้นว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถออกกฎหมาย ที่กำหนดห้ามมิให้ มีการพกพาอาวุธในเขตโรงเรียน ซึ่งนักวิชาการไทย มักจะกล่าวอย่างผิด ๆ ว่า การห้ามประชาชนสหรัฐฯ ซื้ออาวุธ นั้นขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะในคดีดังกล่าว ศาลสูงสุดพิพากษาว่า "การที่ Congress อ้างอำนาจตามมาตรา ๑ อนุมาตรา ๘ เป็นฐานอำนาจในการห้ามพกพาในเขตโรงเรียน นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สภา Congress ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ให้อำนาจไว้" เท่านั้น ศาลสูงสุดยังกล่าวต่อไปว่า "เป็นสิทธิของมลรัฐฯ เองที่จะกำหนดรายละเอียดในเรื่องเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการห้ามหรือไม่ห้ามประชาชนในการมีอาวุธปืน




นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑ ยังมี อนุมาตราอื่น ๆ ดังนี้


Sec. 9, Cl 1. Prohibited powers--Migration or importation of persons.
Sec. 9, Cl 2. Habeas corpus.
Sec. 9, Cl 3. Bill of attainder--Ex post facto laws.
Sec. 9, Cl 4. Capitation or direct taxes.
Sec. 9, Cl 5. Tax on exports from state.
Sec. 9, Cl 6. Preference of ports.
Sec. 9, Cl 7. Expenditures of public money.
Sec. 9, Cl 8. Titles of nobility--Presents from foreign state.
Sec. 10, Cl 1. Powers denied states--Treaties--Money--Ex post facto laws--Obligation of contracts.
Sec. 10, Cl 2. Imposts or duties.
Sec. 10, Cl 3. Tonnage--State compacts--War.







คราวหน้าจะได้นำเสนอ มาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ต่อไป




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:27:16 น.
Counter : 1794 Pageviews.  

โครงสร้างภาพรวม รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

คราวที่แล้วได้กล่าวไปถึง อรัมภบทของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยไม่ได้ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง โครงสร้างใหญ่ ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อเมริกา ที่มีเพียงแค่ ไม่กี่มาตรา และมีการแก้ไข เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น วันนี้ จึงขอถือโอกาส นำรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กว้าง ๆ มาเขียนให้เห็นโครงสร้างภาพรวมเสียก่อน




รัฐธรรมนูญสหรัฐ (CONSTITUTION OF THE UNITED STATES OF AMERICA) ประกอบด้วย อรัมภบท และ เนื้อหาหลัก ๗ มาตรา กับ ๒๗ มาตราแก้ไขเพิ่มเติม (Amendment) เท่านั้น โครงสร้างใหญ่ ๆ เป็นดังนี้

อรัมภบท (PREAMBLE)

มาตรา ๑) ว่าด้วยรัฐสภา (ARTICLE I. LEGISLATIVE DEPARTMENT)

มาตรา ๒) ว่าด้วยฝ่ายบริหาร (ARTICLE II. EXECUTIVE POWER)

มาตรา ๓) ว่าด้วยศาล (ARTICLE III. JUDICIAL POWER)

มาตรา ๔) ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมลรัฐ (ARTICLE IV. RELATIONS BETWEEN STATES)

มาตรา ๕) ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ARTICLE V. AMENDMENT OF CONSTITUTION)

มาตรา ๖) ว่าด้วยบทเพิ่มเติมอื่น ๆ (ARTICLE VI. MISCELLANEOUS PROVISIONS)

มาตรา ๗) ว่าด้วยการรับรอง (ARTICLE VII. RATIFICATION)

และ

บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีก ๒๗ มาตรา (AMENDMENTS)






ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมหนอ ประเทศอเมริกาที่แสนจะกว้างใหญ่ ขนาดเดียวกับ อาณาจักรโรมัน และปกครองในลักษณะที่เป็น สาธารณรัฐ (Federal system) ประกอบด้วย ๕๐ มลรัฐ เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็อาจจะกว้างใหญ่กว่าประเทศไทย ราว ๆ ๕๐ เท่าตัว (ที่จริงไม่ถูกต้อง แต่เพื่อง่ายในการเปรียบเทียบ) มีปัญหาแบ่งแยกสีผิว มีปัญหาการเลือกปฏิบัติมากมายระหว่าง ผิวสี และ ผิวขาว รวมถึง การเลือกปฏิบัติระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ที่มีสิทธิทางการเมืองไม่เท่ากัน (ซึ่งเพิ่งจะแก้ไขให้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ ไม่นานเท่าไหร่มานี้) รัฐธรรมนูญ แค่เพียงไม่กี่มาตราจึงสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

นอกจากคำตอบในเรื่อง ความเป็นผู้จักการเคารพกติกาของคนในชาติ ที่จะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญเล่น ๆ แบบไทย ๆ การมีทหารมีวินัย และเคารพในหลักการเสียงข้างมาก เชื่อฟังการตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และ สำนึกในบุญคุณของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเงินเดือน กระสุนปืน รถถัง ฯลฯ รวมทั้งสวัสดิการที่ทหารได้รับ แล้ว ระบบต่าง ๆ ที่วางไว้โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนนี้ ทำให้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ประกอบกับระบบศาลแบบ Common law ทำให้ระบบกฎหมายของสหรัฐฯ มีความอ่อนตัว ศาลสามารถตีความขยายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมได้อย่างครอบคลุม แม้ในบางครั้ง ศาลจะล้มเหลวในการปรับใช้กฎหมายในบางสถานการณ์ ให้สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมและข้อเรียกร้องของสังคมก็ตาม แต่ศาลสูงสุด เมื่อเห็นว่า การตัดสินครั้งก่อนผิดพลาดแล้ว ก็จะไม่ลังเลที่แก้ไขความผิดพลาด โดยการพิพากษากลับหลักกฎหมาย ในหลาย ๆ คดีตัวอย่าง ที่เขียนไว้ใน Blog ก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลัก Separate but Equal หรือ แบ่งแยก แต่เสมอภาค ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ศาลสูงสุดก็พิพากษากลับหลัก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมได้ให้

สถานะของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับและเคารพสูงสุดว่าเป็นกฎหมายสูงสุด และสูดสุดทั้งในทางปฏิบัติและตามลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่บัญญัติกันเล่น ๆ เป็นแบบพิธีในการ่างรัฐธรรมนูญ เหมือนดังรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๑๗ ฉบับ ที่เขียนกันมา ตามที่เราเคยชินกัน ว่าบทบัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น เป็นเรื่องที่ไร้ความหมายและไร้พลังอำนาจในเชิงบังคับ โดยเฉพาะองค์กรศาลไทย ที่ดูเหมือนจะยอมรับอำนาจที่ได้มาไม่ชอบ พิพากษายอมรับการกระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็น ตราบาปของศาลฎีกาไทย อย่างไม่อาจจะกล่าวปฏิเสธได้ เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาครั้งนั้น ทำให้วงจรอุบาทว์ในการยึดอำนาจ กับ การเริ่มคลานของประชาธิปไตย เกิดขึ้น เป็นระยะ ๆ ประมาณ ทุก ๆ ๑๐ ปี

ตามหลักกฎหมายที่ยอมรับกันนั้น รัฐธรรมนูญฯ จะมีลำดับศักดิ์ของกฎหมาย สูงสุด คำพิพากษาศาลสูงสุดมีสถานะเป็นกฎหมาย ในลำดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่สูงกว่า กฎหมายที่ออกโดยสภา Congress ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ หากสภา Congress เห็นว่า ศาลสูงสุดตัดสินคดีผิดพลาดร้ายแรง สภาฯ จะต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียงไม่กี่ครั้งที่รัฐสภาสหรัฐฯ จะเสนอกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น การพิพากษาผิดพลาดเรื่อง สิทธิพลเมืองของประชาชนสหรัฐฯ ให้มีสองสถานะ คือ พลเมืองของรัฐ และ พลเมืองของสหรัฐฯ โดยพิพากษาในเชิงที่ว่า ชะตากรรมของพลเมืองของรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องของมลรัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปแทรกแซง ทาสไม่มีสถานะความเป็นคน ไม่เป็นพลเมืองของสหรัฐฯ หรือ พิพากษาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจจัดเก็บภาษีเงินได้ของประชาชนในรัฐต่าง ๆ ซึ่งสภา จะต้องออกบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมา เช่น 13th Amendment เพื่อเลิกทาส 14th Amendment เพื่อประกันว่า พลเมืองทุกคนเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ รัฐจะเลือกปฏิบัติโดยปราศจากหลักนิติรัฐ ไม่ได้ หรือ 16th Amendment เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีอำนาจจัดเก็บภาษีเป็นต้น

ลำดับศักดิ์กฎหมายชั้นต่อไป คือ กฎหมายของรัฐสภา ซึ่งจะสูงกว่า รัฐธรรมนูญของมลรัฐต่าง ๆ ในรัฐต่าง ๆ ลำดับศักดิ์กฎหมาย ก็จะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือ รัฐธรรมนูญของมลรัฐ มีค่าบังคับสูงสุด หลังจากนั้น ก็จะเป็นรัฐบัญญัติ กฎหรือคำสั่งของฝ่ายบริหารที่อาศัยอำนาจรัฐบัญญัติในการตราขึ้น

เนื่องจากการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง ฝ่ายบริหาร (Executive Function) กับ ฝ่ายอื่น ๆ เช่น ฝ่ายตุลาการ (Judicial Function) และ ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislature) ในช่วงแรก ๆ ศาลจึงไม่ค่อยจะก้าวก่าย ฝ่ายบริหาร ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้อำนาจในการตราคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ซึ่งยังคลุมเครือว่า จะมีสถานะและค่าบังคับทางกฎหมายอย่างไร ในทางตำรา ยังมีข้อถกเพียงกันว่า Executive Order ควรจะมีค่าบังคับเช่นเดียวกับ กฎหมายของรัฐสภา เช่นกัน






คราวหน้า ผมจะเอารายละเอียดภายในโครงสร้างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แต่ละมาตรามากล่าวกันที่ละมาตราไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่อาจจะลงลึกในรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากเนื้อหาที่เรียนกันในโรงเรียนกฎหมายสหรัฐฯ แบ่งวิชารัฐธรรมนูญ ออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ Constitutional Law I, II, III. นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเฉพาะลงไป ในเรื่อง Death Penalty และ ความเกี่ยวพัน ระหว่าง รัฐธรรมนูญ กับ Amendment ต่าง ๆ เช่น 4th Amendment ว่าด้วยการรับรองความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยการมิให้มีการจับและค้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 5th Amendment ว่าด้วย เอกสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ที่จะไม่กล่าวถ้อยคำในการปรักปรำตนเอง และ 6th Amendment ว่าด้วย สิทธิการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และจากผู้พิพากษาที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งขยายไปถึงสิทธิการมีทนายในการต่อสู้คดี เป็นต้น




เนื้อหาวิชารัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (ที่ผมเชื่อว่า เป็นวิชาทางกฎหมายมหาชนที่ทันสมัยที่สุด ไม่แพ้ทางฝั่งยุโรป ที่จะต้องยืมหลักที่พัฒนาจากสหรัฐฯ อเมริกาไปใช้ เช่น เรื่อง Judicial Review ที่กล่าวไปแล้ว ) จึงเป็นเรื่องที่เรียนรู้ไม่จบ ไม่สิ้น ในสหรัฐฯ การนำเสนอในที่นี้ จึงเป็นเสมือนใบไม้ใบหนึ่ง ที่ร่วงหล่น ในป่าดงดิบ หวังว่า ท่านที่สนใจ จะติดตามและให้ข้อเสนอแนะ ติติง ฯลฯ ต่อไปด้วยครับ




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:27:02 น.
Counter : 3917 Pageviews.  

อรัมภบท รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

วันนี้ นำอรัมภบท (Preamble) ของ CONSTITUTION OF THE UNITED STATES OF AMERICA มาเล่าสู่กันฟังครับ บทนำสั้น ๆ ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีเนื้อความดังนี้


" We the people of the United States, in order to form a more perfect Union, establish justice, insure domestic Tranquility, provide for the common defense, promote the general Welfare, and secure the Blessings of Liberty to ourselves and our Posterity, do ordain and establish this Constitution for the United States of America."


อ่านดูข้อความข้างต้น ก็อาจจะแปลได้ว่า

"เรา ในฐานะประชาชนแห่งสหรัฐอเมริกา, เพื่อประโยชน์แห่งการสร้างสาธารณรัฐที่สมบูรณ์แบบ (a perfect Union), ส่งเสริมความยุติธรรม, ประกันความสงบสุขของประชาชน, จัดการป้องกันสาธารณประโยชน์ของประเทศ, ส่งเสริมความผาสุกของปวงชน, และ แสวงหาเสรีภาพและความมั่งคั่งของชาติ, (เรา) จึงได้ร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อประเทศสหรัฐอเมริกา"




อ่านแล้วก็แสนจะธรรมดา ไม่เห็นเนื้อหาอะไรพิสดาร แต่ทำไม รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จึงได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยถูกย่ำยี โดยฝีมือของคณะผู้มีอำนาจหรือคณะทหารแบบไทย ๆ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่กี่ครั้งเท่านั้น และ เป็นการแก้ไขเชิงนโยบายที่สำคัญ ในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ในช่วงแรก มีการแก้ไขรัฐธรรมนุญ (Amendment) มาตราที่ ๑ ถึง ๑๐ (เรียกว่า Bill of Rights) เพื่อจะประกันมิให้รัฐบาลกลางเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงรัฐบาลมลรัฐมากเกินไป

สำหรับ Amendment อื่น ๆ มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในภาวะที่จำเป็น เช่น หลังสงครามกลางเมือง มีการเลิกทาส และ การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (Civil Rights Movement) ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม 14th Amendment ขึ้นมา เพื่อรับรองและป้องกันปัญหา รัฐบาลมลรัฐ เลือกปฏิบัติ ไม่รับรองสิทธิและเสรีภาพของคนผิวสี จึงได้บัญญัติว่า ประชาชนพลเมืองทุกคน เป็นประชาชนของสหรัฐฯ ไม่ใช่ ประชาชนภายใต้สังกัดของรัฐใครรัฐมันดังแต่ก่อน รัฐบาลมลรัฐจะละเมิดสิทธิของเขาไม่ได้ การแก้ไขครั้งล่าสุด เพื่อจะรับรองให้ รัฐบาลกลางมีอำนาจจัดเก็บภาษีรายได้ ฯลฯ จากประชาชนในสหรัฐฯ ตาม 16th Amendment เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีข้อโต้แย้งว่า รัฐไม่ควรจะมาจัดเก็บภาษี

ข้อมูลจาก Lexisnexis ซึ่งเป็น Database ทางกฎหมาย ที่สำคัญในสหรัฐฯ (ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอกชน และเป็นที่นิยม แพร่หลายมาก ๆ เพราะรวมรวมเอกสารต่าง ๆ บทความทางกฎหมาย ประมวลกฎหมาย รายงานการประชุม ฯลฯ ไว้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมีความวิจารณ์ และอธิบายอย่างสมบูรณ์) ได้เขียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ที่มาของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และ อรัมภบทข้างต้น ดังนี้

"In May, 1785, a committee of Congress made a report recommending an alteration in the Articles of Confederation, but no action was taken on it, and it was left to the state legislatures to proceed in the matter. In January, 1786, the legislature of Virginia passed a resolution providing for the appointment of five commissioners, who, or any three of them, should meet such commissioners as might be appointed in the other states of the Union, at a time and place to be agreed upon, to take into consideration the trade of the United States; to consider how far a uniform system in their commercial regulations may be necessary to their common interest and their permanent harmony; and to report to the several states such an act, relative to this great object, as, when ratified by them, will enable the United States in Congress effectually to provide for the same.


The Virginia commissioners, after some correspondence, fixed the first Monday in September as the time, and the city of Annapolis as the place for the meeting, but only four other states were represented, viz.: Delaware, New York, New Jersey, and Pennsylvania; the commissioners appointed by Massachusetts, New Hampshire, North Carolina, and Rhode Island failed to attend. Under the circumstances of so partial a representation, the commissioners present agreed upon a report (drawn by Mr. Hamilton of New York) expressing their unanimous conviction that it might essentially tend to advance the interests of the Union if the states by which they were respectively delegated would concur, and use their endeavors to procure the concurrence of the other states, in the appointment of commissioners to meet at Philadelphia on the second Monday of May following, to take into consideration the situation of the United States; to devise such further provisions as should appear to them necessary to render the Constitution of the federal government adequate to the exigencies of the Union; and to report such an act for that purpose to the United States in Congress assembled as, when agreed to by them and afterwards confirmed by the legislatures of every state, would effectually provide for the same.


Congress, on the 21st of February, 1787, adopted a resolution in favor of a convention, and the legislatures of those states which had not already done so (with the exception of Rhode Island) promptly appointed delegates. On the 25th of May, seven states having convened, George Washington, of Virginia, was unanimously elected President, and the consideration of the proposed Constitution was commenced. On the 17th of September, 1787, the Constitution as engrossed and agreed upon was signed by all the members present, except Mr. Gerry, of Massachusetts, and Messrs. Mason and Randolph, of Virginia. The President of the convention transmitted it to Congress, with a resolution stating how the proposed federal government should be put in operation, and an explanatory letter. Congress, on the 28th of September, 1787, directed the Constitution so framed, with the resolution and letter concerning the same, to "be transmitted to the several legislatures in order to be submitted to a convention of delegates chosen in each state by the people thereof, in conformity to the resolves of the convention."


On the 4th of March, 1789, the day which had been fixed for commencing the operation of government under the new Constitution, it had been ratified by the conventions chosen in each state to consider it, as follows: Delaware, December 7, 1787; Pennsylvania, December 12, 1787; New Jersey, December 18, 1787; Georgia, January 2, 1788; Connecticut, January 9, 1788; Massachusetts, February 6, 1788; Maryland, April 28, 1788; South Carolina, May 23, 1788; New Hampshire, June 21, 1788; Virginia, June 26, 1788; and New York, July 26, 1788.


The President informed Congress, on the 28th day of January, 1790, that North Carolina had ratified the Constitution November 21, 1789; and he informed Congress on the first of June, 1790, that Rhode Island had ratified the Constitution May 29, 1790. Vermont, in convention, ratified the Constitution January 10, 1791, and was, by an Act of Congress approved February 18, 1791, "received and admitted into this Union as a new and entire member of the United States."


สำหรับความสำคัญของ อรัมภบท ดังกล่างข้างต้นนั้น ศาลสูงสุด และนักกฎหมายสหรัฐฯ ต่างยอมรับว่า เป็นที่มาแห่งอำนาจทางกฎหมายที่จะให้อำนาจแก่องค์กรผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวไว้ คือ ความผาสุกของปวงชน ความยุติธรรม ฯลฯ ข้างต้น โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมอื่่น ๆ ที่สำคัญได้แก่


๑) คำว่า By the People of the United States ย่อมแสดงถึงว่า รัฐธรรมนูญมีพลังอำนาจเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ไม่อาจจะล่วงละเมิดได้ เพราะมีที่มาจากอำนาจของปวงชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

๒) คำว่า "To form a more perfect union" ตีความถึง ลักษณะการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจจำกัด และการใช้อำนาจส่วนใหญ่ จะต้องให้เอกสิทธิ์แก่รัฐบาลมลรัฐ

๓) คำว่า "Ordian and establish" นั้น เป็นการเน้นย้ำว่า การบัญญัติรัฐธรรมนูญขึั้นมานั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำคัญและบังคับได้ตามกฎหมาย (ไม่ใช่กระดาษเช็ดก้นที่ใครมีอำนาจก็จะยึดแล้วฉีกเล่นได้)

๔) คำว่า "Constitutional for the United States of America" นั้น เป็นการเน้นย้ำหลักการแบ่งแยกและผลบังคับของรัฐธรรมนูญว่า มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานและองค์กรของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ นอกจากที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว อำนาจทั้งหลาย จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐ

๕) ผลของการบัญญัติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมีค่าบังคับสูงสุด และ จะต้องตีความให้มีผลบังคับในเชิงบวกไปในภายหน้า (ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง) เว้นแต่จะมีบทบัญญัติชัดแจ้งบังคับไว้ ศาลสูงสุดมีอำนาจในการตีความถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ รัฐธรรมนูญใช้ถ้อยคำ เรียบ ง่าย ชัดเจน และมีลักษณะเป็นกลางแล้ว การตีความโดยอาศัยสิ่งอื่น ๆ นอกจากความสามัญสำนึกเป็นเรื่องไม่จำเป็น หากแต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมายหลายนัย อาจจะค้นหาความหมายที่แท้น จากการพิจารณาจากองค์ประกอบรวมและการใช้แหล่งอ้างอิงอื่น

๖) การพิจารณาถึงกรอบวัตถุประสงค์และความหมายของรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาตามถ้อยคำลักษณ์อักษรที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญโดยลำพัง ย่อมทำให้ไม่อาจเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของถ้อยคำในรัฐธรรมนูญได้ ด้วยเหตุนี้ การค้นหาวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงจะต้องพิจารณาให้ถึงเหตุผลและความจำเป็นของที่มาแห่งอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยค้นหาแหล่งอ้างอิงในการบัญญัติถ้อยคำนั้น ( เช่น จากรายงานการประชุม ฯลฯ )

๗) การพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ ในการตีความรัฐธรรมนูญ ศาลมีพันธกรณีที่จะต้องพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริงของถ้อยคำที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ สามารถค้นหาและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ฯลฯ การค้นหาความหมายที่แท้จริงได้ ย่อมทำให้ศาลมีความชอบธรรมที่จะประกาศหลักการแห่งกฎหมายได้อย่างมีพลังอำนาจที่เป็นที่ยอมรับได้จากประชาชนทั่วไป ซึ่งโดยปกติ ศาลสูงสุด จะต้องพิจารณาเสมือนว่าตนเอ็ง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

๘) หลักการที่สำคัญมาก คือ การตีความรัฐธรรมนูญ จะต้องปฎิบัติได้จริง และ การตีความที่มีผลเป็นการขยายการจำกัดอำนาจรัฐบาลมลรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ


....,.....



สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ปรากฎเป็นภาษาอังกฤษ ใน คอมเม้นท์ ข้างล่าง ดังนี้ ._




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:26:44 น.
Counter : 2781 Pageviews.  

10 Constitutional Landmark Cases in U.S. History

Blog ก่อนหน้านี้ ได้พูดถึง Judicial Review หรือ ที่เมืองไทยเรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกรณี ที่ศาลเข้ามาตรวจสอบกฎหมายและการกระทำของรัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (Constitutionality) ซึ่งอเมริกา ถือเป็นจุดกำเนิด Judicial Review ของโลก ที่นักเรียนกฎหมายทั่วโลก จะต้องเรียนคดีที่ตัดสินในอเมริกานี้ อันถือเป็นต้นแบบในการใช้อำนาจของศาลที่เข้ามาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ด้วยเหตุนี้ หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายมหาชน ในอเมริกา จึงทันสมัยและสร้างหลักการที่มั่นคง ได้ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

Blog นี้ ผมขอนำเสนอ 10 สุดยอดคดี (landmark cases) ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน ในสหรัฐฯ หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับ Fundamental Rights ได้พัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ตามลำดับความการพัฒนาของสังคม และหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง Federal & State ในสหรัฐ ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางสหรัฐ เข้าไปมีอำนาจในรัฐมากเกินไป คำพิพากษาในยุคต่าง ๆ นั้น หากพิจารณากันแล้ว จะเห็นว่าคำพิพากษาในยุคแรก ๆ นั้น มันช่างขัดแย้งกับความรู้สึก เหตุผล และหลักความเป็นธรรมในยุคปัจจุบันอย่างมาก ผมได้สรุปหลัก และให้ข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ในคดีต่าง ๆ ลองอ่านเล่น ๆ กันครับ





1. Dred scott v. Sanford, 1857

คดีนี้ เขียนความเห็นโดย Chief Justice Roger Taney ที่พิพากษาว่า ชาวผิวดำไม่ใช่พลเมืองของสหรัฐฯ โดยเฉพาะชาวผิวดำที่เป็นทาสนั้น เจ้าของทาสมีสิทธิในชีวิตของทาสเหล่านั้น ในอาณาบริเวณในรัฐนั้น ๆ คำพิพากษานี้ เกิดขึ้นเพราะในอดีตนั้น สหรัฐฯ แบ่งความเป็นพลเมืองเป็นสองระดับ คือ พลเมืองของสหรัฐฯ และ พลเมืองของมลรัฐนั้น ๆ การคุ้มครองสิทธิพลเมืองจึงอยู่กับดุลพินิจอิสระของรัฐนั้น โดยเฉพาะ คดีนี้ มีผลทำให้เกิดภาวะตึงเครียดและทำไปสู่สงครามกลางเมือง (Civil War) ในขณะที่รัฐฝ่ายเหนือไม่ต้องการให้มีทาส และให้หลักประกันกับทาสในการมีชีวิตที่อิสระ ได้รับความคุ้มครองในชีวิตในฐานะเป็นคนเช่นเดียวกับชาวผิวขาว แต่ฝ่ายใต้ต้องการดำรงสถานะของทาสเหล่าไว้ใช้งานทางเกษตรต่อไป

2. Yick Wo v. Hopkins, 1886:

คดีนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าของร้านซักรีดชาวจีนใน San Francisco ศาลพิพากษาบนหลัก Equal Protection Clause ตาม the Fourteenth Amendment ว่า ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองเท่านั้น แต่เป็นหลักสากลในการคุ้มครองและประยุกต์ใช้กับมนุษยชาติทุกคนภายในเขตดินแดนนั้น ๆ โดยปราศจากการคำนึงเชื่อชาติ ผิวสี และสัญชาติ ผลของคดี ถูกใช้เป็นหลักในการขยายหลักการคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนในรัฐทางด้านการศึกษาและสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนและชาวต่างชาติโดยเสมอเหมือนกัน ในช่วงปี ค.ศ. 1970s และ 1980s

3. Pollock v. Farmer's Loan and Trust Co. II.,1895:

คดีนี้ เกิดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กระทำการ เพื่อตอบสนองต่อการลดลงของรายได้จากการจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ และ แรงกดดันจากฝ่ายประชานิยม (Populist) ที่ต้องการให้จัดเก็บภาษีกับบุคคลที่มีฐานะร่ำรวย ไปช่วยเหลือคนจนและกระจายได้ราย รัฐบาลกลางได้ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษี ๒ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๑๘๙๔ แต่กฎหมายนี้ ศาลสูงสุดได้ประกาศว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผลจากคดีนี้ ทำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างรุนแรง นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (The 16th Amendment to the Constitution) ซึ่งให้อำนาจแก่สภาสหรัฐฯ ในการตรากฎหมายว่าด้วยภาษีรายได้ในที่สุด

4. Plessy v. Furguson, 1896:

คดีนี้ ศาลสูงสุดได้สร้างหลัก Separate but Equal ตามกฎหมายของรัฐ Louisiana ที่แบ่งแยกการใช้รถไฟระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ ศาลให้เหตุผลว่า Equal Protection Clause ภายใต้ the Fourteenth Amendment ไม่ได้ม่งหมายที่จะยกเลิกความแตกต่างของผิวสี หรือ ไม่อาจจะบังคับให้บุคคลที่มีผิวสีต่างกัน หันมารักกันได้ ด้วยเหตุนี้ การเลือกปฏิบัติที่เท่าเทียม ภายใต้ Separate but Equal จึงสามารถกระทำได้

5. West Coast Hotel v. Parrish, 1937:

คดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ ศาลสูงสุดได้วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการทำสัญญา และพิพากษาว่า กฎหมายของรัฐที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำและเงื่อนไขการทำงานนั้นขัดต่อหลักเสรีภาพในการทำสัญญา ฉะนั้น จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว เพียงเวลา ๑ ปีต่อมา ศาลสูงสุด โดย Chief Justice Charles Evans Hughes ได้เขียนคำพิพากษาของเสียงข้างมากพากษากลับหลักกฎหมายข้างต้น โดยวินิจฉัยว่า กฎหมายรัฐ Washington ในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ข้อสังเกต คดีนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง ฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายตุลาการ ในช่วงประธานาธิบดี Roosevelt ที่ต้องการดำเนินการตาม New Deal Plan เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อศาลสูงสุดไม่ให้ความร่วมมือในการผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ของรัฐบาล ฝ่ายบริหารจึงประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแต่งตั้งจำนวนผู้พิพากษาสูงสุด จากจำนวน ๙ คนเป็น ๑๕ คน ที่เรียกว่า "court-packing" proposal แต่เมื่อศาลสูงสุด เปลี่ยนแนวคำพิพากษา ทำให้แผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้ถูกดำเนินการผลักดัน

6. U.S. v. Carolene Products, 1938:

คดีนี้ ได้สร้างหลักการอันสำคัญ ที่เรียกว่า The famous "Footnote Four" ซึ่ง Chief Justice Harlan Fiske Stone ได้ก่อให้เกิด การวิวัฒนาการทางรัฐธรรมนูญ โดยประกาศว่า ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้น (Judicial Review) ศาลจะพิจารณาตามหลักมาตราฐานขั้นต่ำ ที่เรียกว่า a minimal "rational basis" test สำหรับกฎหมายทางเศรษฐกิจทั้งหมด แต่จะใช้ มาตราฐานขั้นเข้มข้น ที่เรียกว่า A "more exacting judicial scrutiny" ในกรณีที่ กฎหมายนั้น เกี่ยวข้องกับ เสรีภาพที่รับรองโดย The Bill of Rights หรือกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพทางศาสนา หรือ เกี่ยวข้องกับเชื่อชาติหรือเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ศาลสูงสุด จึงใช้มาตรฐานที่เรียกว่า "strict scrutiny" test ในการประกาศว่า กฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า จะต้องมีความรู้ทางภาษาอังกฤษอ่านออกเขียนได้เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการข้างต้น

7. Brown v. Board of Education, 1954:

คดีนี้ เป็นคดีสำคัญ ที่พิพากษากลับหลัก "separate but equal" doctrine ในคดี Plessy v. Ferguson โดยประกาศว่า การแบ่งแยกโรงเรียนโดยใช้สีผิวเป็นคุณสมบัตินั้น ขัดต่อหลัก Equal Protection Clause ภายใต้ Fourteenth Amendment.

8. Roe v. Wade, 1973:

คดีนี้ สำคัญในการรับรองสิทธิของมารดาในการทำแท้ง โดยศาลประกาศว่า กฎหมายของรัฐต่าง ๆ สามารถกำหนดห้ามทำแท้งได้ ยกเว้นกรณี เพื่อรักษาชีวิตของมารดาได้เพียงกรณีเดียวนั้น นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก เป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว (a right to privacy) ซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม Fourteenth Amendment ว่าด้วย Due Process Clause สิทธินี้ มีความกว้างขางและครอบคลุมการตัดสินใจของมารดา ว่าจะทำลายการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ถือว่า ชีวิตเด็กในครรภ์มารดา นั้นยังไม่บริบูรณ์ (ช่วง ๓ เดือนแรก)

คดีนี้ ศาลชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าของสองชีวิต ระหว่างเด็กในครรภ์ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ของรัฐ และ ชีวิตมารดาผู้ให้กำเนิด สิทธิของแม่หรือหญิงตั้งครรภ์ ย่อมมีมากกว่า สิทธิประโยชน์ของรัฐในช่วงที่เด็กยังไม่ถือว่ามีชีวิตที่สมบูรณ์ แต่สิทธิประโยชน์ของรัฐ(ชีวิตเด็ก) จะมากยิ่งขึ้น เมื่อชีวิตมีความบริบูรณ์ยิ่งขึ้น รัฐ จึงต้องกำหนดกฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์ของหญิง เป็นสำคัญ จะห้ามทำแท้งโดยเด็ดขาดย่อมไม่ได้ (คำพิพากษานี้ เขียนโดย Justice Harry Blackmun )

9.Grutter v. Bollinger, 2003:

คดีนี้ ศาลสูงสุด ได้รับรองกฎของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ที่ใช้ผิวสีและชาติพันธ์ เป็นเครื่องกำหนดในการรับชาวผิวสี, ชาวลาติน และ ชาวอินเดียนแดง ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อรับเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมาย คดีนี้ Justice Sandra Day O'Connor ให้เหตุผลว่า การกำหนดโควต้าผิวสี ฯลฯ ดังกล่าวข้างต้น เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่จะต้องมีระยะเวลาจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยท่านกล่าวว่า "race-conscious admissions policies must be limited in time" and predicted that "25 years from now, the use of racial preferences will no longer be necessary."

10. Lawrence v. Texas, 2003:

คดีนี้ เป็นคดีสำคัญอีกคดีหนึ่ง แม้ศาลสูงสุดจะไม่ได้ประกาศว่า รสนิยมทางเพศ ของชายรักชาย เป็นสิทธิที่จะถือว่าเป็น Fundamental Right แต่ก็ได้ประกาศว่า กฎหมายของรัฐเท็กซัส กำหนดโทษทางอาญา สำหรับชายที่ร่วมเพศทางทวารหนักด้วยกัน (anti-sodomy laws) ให้เป็นกฎหมายที่ขัดต่อ Due Process Clause ภายใต้ Fourteenth Amendment เนื่องจากว่า ในขณะที่ชายร่วมเพศทางทวารหนักกับหญิงไม่ผิดอาญา แต่ชายร่วมเพศทางทวารหนักกับชาย เป็นความผิดอาญานั้น ไม่เสมอภาคกัน คำพิพากษา เสียงข้างมากของศาลสูงสุด โดย Justice Anthony Kennedy ยังได้ระบุว่า คำพิพากษานี้ เกี่ยวข้องกับ สิทธิในการแต่งงาน การสืบพันธ์ และการเลี้ยงดูบุตร ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เสมอเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของ homosexual หรือ heterosexual ก็ตาม




ตามที่กล่าวไปข้างต้น กฎหมายและคำพิพากษาของศาลสูงสุด ได้มีวิวัฒนาการตามความจำเป็นของสภาพบ้านเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงที่ต่างกันไป หากพิจาณาย้อนหลังกลับไป โดยใช้มาตรฐานในปัจจุบันในการตัดสิน เราจะรู้สึกว่า ทำไมศาลสูงสุด จึงได้ใจร้ายใจดำ และไม่มีคุณธรรมเสียเลย แต่การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคำพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วย เขียนความเห็นแย้ง (Dissenting Opinion) ที่สามารถด่า ตำหนิ ฯลฯ ฝ่ายข้างมาก ได้อย่างเปิดเผย ชัดเจน ซึ่งบ่อยครั้ง ที่ความเห็นของเสียงข้างน้อยเช่นนี้ กลายเป็นความเห็นเสียงข้างในอนาคตได้ ปรากฎ ตามคำพิพากษาซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายของแผ่นดินเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้างต้น

คราวหน้า จะได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่น่าสนใจต่อไปครับ




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:26:27 น.
Counter : 1199 Pageviews.  

การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (Judicial Review)

เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ ก.ย. ๔๘ มีข่าวใหญ่สำหรับนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกา คือ ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ William Rehnquist ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ด้วยวัย ๘๐ ปี Rehnquist ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงตั้งแต่วัยหนุ่ม ดำรงตำแหน่งยาวนานมากว่า ๓๔ ปี หลังท่านตาย ก็มีทั้งคนสรรเสริญ และ มีผู้วิจารณ์ว่าท่าน ไม่ได้สร้างหลักกฎหมายที่ชอบที่ควรเท่าไหร่ เช่น ไม่คุ้มครองสิทธิของสตรีที่ถูกทำร้ายจากสามี (Domestic violence) ท่านทำลายกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าแรงงานขั้นต่ำที่กำหนดโดย Congress ท่านเป็นคนสร้างหลักแบ่งแยกแต่เป็นธรรม (Separation But Equal) ที่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนขาวกับคนดำฯ เป็นต้น





หากจะพิจารณากันให้ถ่องแท้ และดูพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่ละยุคแต่ละสมัยประกอบแล้ว ศาลสูงสุดของสหรัฐ ได้สร้างหลักกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ โดยให้อิสระแก่มลรัฐค่อนข้างมาก เมื่อรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายใต้ตัดสินใจวางนโยบายอะไรมาแล้ว ศาลสูงสุดมักจะลังเลที่จะเข้าแทรกแซง นอกจากนี้ ยังดูถึงสภาวะความจำเป็นของบ้านเมืองเสมอ หากเราพิจารณาย้อนหลังกลับไป เราจะรู้สึกว่า ทำไมศาลสูงสุด จงตัดสินคดีได้อุบาทว์อย่างนั้น เช่น คดีให้ คนขาวกับคนดำ แยกโรงเรียนกัน แยกที่นั่งกัน ฯลฯ แต่หากย้อนกลับไปดูสภาวการณ์ของบ้านเมือง และประวัติศาสตร์ของสหรัฐประกอบแล้ว ก็อาจจะอธิบายปรากฎการณ์ของคำพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐได้เป็นอย่างดี โดยศาลสูงสุด จะรอถึงเวลาที่สถานการณ์สุกงอม จึงเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย เท่าที่จำเป็นไปเป็นลำดับการพัฒนาการของสังคม

ในบางยุคผู้พิพากษาศาสสูงก็หัวดื้อดึงดัน ยึดมั่นกับหลักการที่ไม่ควรจะยึดถือ เพราะแม้แต่เจ้าของทฤษฎีเอง ก็อาจจะงง ว่าเราได้กล่าวถึงทฤษฎีเช่นนั้นหรือ เช่น ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และลัทธิทุนนิยมเสรี บางยุคศาลจะต้องพยายามประสานความสามัคคีโดยรวมของชาติ โดยคำนึงพื้นเพและข้อเท็จจริงลึก ๆ ของแต่ละรัฐที่มีคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดฯ เป็นสำคัญ เป็นต้นว่า ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๐ รัฐบาล กลางพยายามที่จะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ New Deal ออกกฎหมายมามากมาย แต่ศาลสูงสุด อ้างทฤษฎีเสรีภาพในการทำสัญญา ห้ามรัฐบาลกลาง ออกกฎหมายอะไร มาควบคุมระบบเศรษฐกิจ จนเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายไปได้ด้วยดี ภายหลังจากที่ศาลสูงสุด ได้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่จำเป็นและการปรับหลักกฎหมายให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมเรียกร้อง เพราะพลังอำนาจแห่งกฎหมาย ไม่ได้มาจากสิ่งอื่น แต่มาจากการยอมรับของสังคมโดยรวม

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักกฎหมายที่สร้างโดยศาลสูงสุด จึงมักจะสอดรับกับความจำเป็นของสถานการณ์แห่งบ้านเมืองในแต่ละช่วงไปด้วยเช่นกัน เพราะเขาถือว่า กฎหมายนั้นจะต้องปรับตัวเข้ากับสังคมและความต้องการของประชาชนในสังคม ด้วยหตุนี้ ศาลสูงสุด จึงถือว่าลายลักษณ์อักษรของกฎหมาย มันไม่ใช่ความยุติธรรมเสมอไป มันต้องคำนึงถึงบริบทต่าง ๆ ของสังคมด้วยเสมอ




ก่อนจะกล่าวถึงหัวข้อที่ว่า สหรัฐฯ มีระบบกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองหรือไม่ ใคร่ขอกล่าวถึงระบบศาลของสหรัฐเสียก่อน ด้วยความที่สหรัฐอเมริกา มีระบบ Federalism คือ ระบบคู่ขนานระหว่างอำนาจของรัฐบาลกลาง (Federal government) และรัฐบาลมลรัฐ (State government) ระบบศาลของสหรัฐ ก็แบ่งเป็น ๒ ระดับเช่นกัน

ผู้พิพากษาระดับมลรัฐส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในรัฐนั้น แต่ผู้พิพากษาระดับ Federal Judges และ U.S. Supreme Court มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ มาตรา ๒ อนุมาตรา ๒ (Article II Section 2.) โดยผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งนี้เหล่านี้ จะมีวาระการ ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ ทั้งเพื่อประกันความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้พิพากษาอาจถูกถอน (Impeachment) ได้ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำผิดกฎหมายตามที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น

ผู้พิพากษาในระดับ Federal Judges & Supreme Court มีไม่มากนัก โดยเฉพาะในระดับ Supreme Court มีเพียง ๙ นายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กระบวนการพิจารณา และอำนาจการพิจารณาคดีจึงเป็นไปอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในระดับศาลสูงสุดของสหรัฐนั้น ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาว่า จะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่โดยอิสระ และเป็นไปตาม Discretion ของศาล คดีที่จะรับไว้พิจารณาจึงต้องมีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะคำพิพากษาในระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common law)นั้น เป็นกฎหมายที่มีสถานะทางกฎหมายสูงกว่ากฎหมายของ Congress แต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

โดยทั่วไปแล้ว ศาลสูงสุดจึงรอให้ Federal Court ในระดับ Court of Appeal เป็นผู้วางหลักทางกฎหมาย โดยจะมีผลผูกพันในเขตอำนาจของศาลนั้นเป็นสำคัญ ไประยะหนึ่งเสียก่อน เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ของ Federal ไม่ลงรอยกันมาก ๆ หรือ ถึงเวลาอันสมควร ศาลสูงสุด จึงเข้าไปตัดสินคดี และวางหลักกฎหมายที่เป็นการผูกพันเป็นการทั่วไป

การรับคดีไว้พิจารณาของศาลระดับ Federal Court แตกต่างจากระดับ Supreme Court มาก เพราะมีกฎหมายกำหนดแนวทางไว้ กล่าวโดยย่อ ๆ คือ เมื่อศาลสูงสุดของระดับมลรัฐตัดสินคดี โดยไม่ได้อาศัยกฎหมายของ Congress หรือ รัฐธรรมนูญของสหรัฐ แต่ใช้เฉพาะกฎหมายของรัฐนั้น ปรับใช้เองโดยบริบูรณ์แล้ว คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลระดับ Federal Court ได้ (เว้นแต่ในคดีอาญาที่มีระบบการอุทธรณ์หลังมีคำพิพากษา (Post Conviction) แล้ว เรียกว่า Habeas corpus court) เหตุผลก็คือ ทั้งเพื่อมิให้คดีขึ้นสู่ศาลระดับ Federal Court มากเกินไป ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริง คือ ทรัพยากรของรัฐมีจำกัด กระบวนการทางกฎหมายที่ถือว่า Fair Process แล้ว และใช้กฎหมายระดับมลรัฐเท่านั้นในการตัดสิน ก็ควรจะยุติในศาลระดับมลรัฐเท่านั้น

กระบวนการอีกประการหนึ่ง ที่แตกต่างจากระบบศาลไทย คือ กระบวนการปรึกษาว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามระบบของศาลไทย เมื่อคดีมีการโต้แย้งในศาลยุติธรรมฯ (เช่น ศาลอาญา ) กฎหมายที่จะใช้ตัดสินคดีนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลจะต้องส่งประเด็นทางกฎหมายไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

แต่ในสหรัฐจะมีกระบวนการเช่นนั้น จะต้องเป็นกรณีที่กระบวนการในรัฐต่าง ๆ โต้แย้งกันถึงที่สุดแล้วเท่านั้น จึงอุทธรณ์ไปยัง ศาลสูงสุด เกี่ยวกับประเด็นว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ หรือไม่ ไม่มีกระบวนการปรึกษาประเด็นทางกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างจากระบวนการทางกฎหมายของ European Community ที่มีกระบวนการ Preliminary reference ที่ให้ศาลของรัฐสมาชิก ส่งปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับ Treaty interpretation ไปยัง Court of Justice ให้ตีความได้

ระบบศาลของสหรัฐฯ มีกระบวนการตรงกันข้ามกับแนวคิดของยุโรป หากคดีใดที่มีกฎหมายให้อำนาจศาลระดับ Federal Court มีเขตอำนาจเหนือข้อขัดแย้งระหว่างมลรัฐ หรือเป็นเรื่องกฎหมายคุ้มครองสิทธิพลเมือง ศาลระดับ Federal Court สามารถส่งประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายของรัฐนั้น ๆ ไปยังศาลสูงของมลรัฐเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ เพราะเป็นกฎหมายของมลรัฐที่มลรัฐแต่ละมลรัฐมีอำนาจออกบังคับใช้ และตีความได้โดยอิสระ มลรัฐจึงมีความชำนาญและอยู่ในสถานะที่จะตีความกฎหมายได้ดีกว่า




ที่กล่าวมานั้น ไม่ใช่ระบบกฎหมายของสหรัฐจะไม่ดีเท่ากับระบบกฎหมายของยุโรปแต่ประการใด ตรงกันข้าม แนวคิดทางกฎหมายมหาชนของสหรัฐนับว่าเจริญก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบและทบทวนความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการออกกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (Judicial Review) เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ที่สหรัฐอเมริกานี่แหละ ซึ่งโรงเรียนกฎหมายทั่วโลกจะต้องกล่าวถึงคดี Marbury v. Madison, 5 U.S. (1 Cranch) 137 (1803)

คดีนี้ ได้วางหลักกฎหมายให้อำนาจศาลเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และเป็นตัวแบบให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ศาลสูงสุดของสหรัฐ ได้ประกาศว่าตนมีอำนาจที่จะทำการตรวจสอบกฎหมายที่บัญญัติโดยอำนาจของรัฐสภา (ในฐานะ The last say) ด้วยเหตุผลว่า ศาลเป็นผู้ใช้และตีความกฎหมาย และอยู่ในสถานะที่เป็นกลาง (Impartial) จึงอยู่ในสถานะของผู้มีอำนาจในการประกาศว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) หรือไม่




โดยสรุป สหรัฐอเมริกา จึงถือเป็นจุดกำเนิดของระบบตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย (legality) ที่เรียกว่าอำนาจ Judicial Review ของโลกเลยทีเดียว

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้ทำหน้าที่สำคัญ คือ การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของรัฐสภา หรือ Judicial Review มาเนิ่นนาน แต่กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยองค์กรศาลนี้ ไม่มีในฝรั่งเศส เนื่องจากระบบฝรั่งเศส จะไม่มีองค์กรศาลในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย แต่จะมีองค์กรตรวจสอบกฎหมายและรับปรึกษาความชอบด้วยกฎหมายก่อนที่รัฐสภาจะประกาศเป็นกฎหมาย

ในประเทศเยอรมัน ได้นำหลักการตรวจสอบกฎหมายโดยองค์กรศาลไปใช้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา สิ่งที่ศาลสูงสุดสหรัฐสร้างไว้ ที่เป็นที่ยอมรับเหมือนกัน คือ การกระทำบางอย่างของรัฐบาล ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ศาลจะทำการตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศแล้ว ศาลถือว่าเป็นการกระทำในขอบอำนาจของรัฐบาลโดยแท้ที่ศาลจะไม่เข้าตรวจสอบ ซึ่งหลักการนี้ ได้รับการยอมรับทั่วโลก ไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป หากรัฐบาลกระทำการผิดพลาด ก็ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง โดยประชาชนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจด้วยกระบวนการทางเมือง

นักกฎหมายไทย อาจจะไม่คุ้นเคยกับระบบกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองของสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่ เนื่องจากคณาจารย์ส่วนใหญ่ทางกฎหมายของเมืองไทย จบจากภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน

ส่วนคณาจารย์บางท่านที่จบจากสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ก็เน้นศึกษาแต่กฎหมายธรุกิจ และกฎหมายเอกชนทั่วไป แทบจะไม่มีคณาจารย์ในประเทศไทยที่ได้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนของสหรัฐอเมริกา หลักกฎหมายมหาชนของสหรัฐที่ได้รับการสถาปนาอย่างแข็งแกร่ง (แม้จะไม่นาน เมื่อเทียบกับภาคพื้นยุโรป) จึงไม่มีใครรู้จักเท่าไหร่ น่าเสียดายจริง ๆ

ตัวอย่างที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางกฎหมายมหาชน เช่น แนวคิดในเรื่องหลักกฎหมายปกครอง นั้น รัฐบาลกลาง ได้ตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (Federal Administrative Procedure Act หรือ APA) และประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๔๙ เป็นต้นมา ก่อนประเทศไทยกว่า ๕๐ ปี เลยทีเดียว โดยก่อนหน้านั้น แนวคิดเรื่องกฎหมายมหาชนและปกครอง ก็แพร่หลายและมีการพิจารณาคดี วางหลักกฎหมายเพื่อขจัดโต้แย้งในทางมหาชนกันอย่างมากมายในสหรัฐฯ

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าระบบกฎหมายที่ไหน ก็สู้ไทยไม่ได้สักแห่ง กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของไทย เรารับทุกระบบในโลกไปรวมไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย มีทั้งระบบตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ตามแบบฉบับฝรั่งเศส และตรวจสอบหลังจากการเป็นกฎหมายของแล้ว ตามแบบฉบับเยอรมัน ที่แตกต่างจากของสหรัฐฯ คือ ในระบบศาลเยอรมันเป็นระบบคู่ขนานที่แยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากศาลยุติธรรม

ในขณะที่ตัวแบบสหรัฐฯ ศาลยุติธรรม จะทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยเรายังเจ๋งกว่า ตรงที่เรามีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามแบบแสกนดิเนเวีย ฯลฯ คอยรับเรื่องราวความไม่ชอบธรรม และข้อร้องเรียนว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ อีกองค์กรหนึ่งด้วย สรุป คือ ไทยเราเจ๋งกว่าที่ใดในโลกครับ




 

Create Date : 07 กันยายน 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:26:13 น.
Counter : 3399 Pageviews.  

1  2  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.