*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
หลักกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับอำนาจ ในการชี้มูลทางวินัยข้าราชการตำรวจ

หลักกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับอำนาจในการชี้มูลทางวินัยข้าราชการตำรวจ นี้ ได้ตีพิพม์ลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11332 โดยผู้เขียนหวังว่า จะเป็นประโยชน์ทางวิชาการบ้างไม่มากก็น้อย และกระตุ้นเตือนให้ผู้กำหนดนโยบายทางกฎหมายของประเทศบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะทุกวันนี้ ความมั่นคงของอาชีพราชการ ได้ถูกบั่นทอนไปมาก ยิ่งข้าราชการมีกำลังใจท้อถอยเท่าไหร่ การจัดทำบริการสาธารณะ (public service) ก็ยิ่งจะเลวร้ายเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ ป.ป.ช. กลายเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจอธิปไตยที่ ๔ อย่างแท้จริง ชี้เป็นชี้ตายใครต่อใครก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ซึ่งระบบที่ไร้การตรวจสอบเช่นนี้ ไม่ควรจะมีอยู่ในระบบกฎหมาย เพราะใครก็ตามที่มีอำนาจโดยสมบูรณ์ ย่อมจะ Abuse อำนาจของตนเองได้อย่างง่ายดายทั้งนั้น ดังจะเห็นได้จาก พระ แม้จะมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ กำกับอยู่ แต่ไร้การตรวจสอบ พระก็ทำเลวได้เสมอ เราจึงไม่อาจจจะหวังได้ว่า ป.ป.ช. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับเรา จะไม่มีการตรวจสอบได้ ....




ผู้เขียนได้นำบทความสั้น ๆ ดังกล่าว มาลงใน blog ส่วนตัวด้วย หากผู้อ่านสนใจ ก็ขอให้ติดต่อได้เลยครับ


1)อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและพิจารณากรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 91

และเมื่อมีมติว่ามีมูลให้ดำเนินการดำเนินการส่งเอกสารการไต่สวนนั้นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น

เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 92

ตามมาตรา 92 นั้น กำหนดให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหานั้น ถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณีไป

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารการไต่สวนมายัง ตร.แล้ว มาตรา 93 กำหนดให้ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจฯ นั้นส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง

หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าผู้บังคับบัญชาฯ ไม่ได้ดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 93 หรือเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชาไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควรหรือในกรณีที่จำเป็น

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสั่งให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือคณะกรรมการอื่นซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปก็ได้

2.การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ ผู้บังคับบัญชา ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยให้ยึดถือเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำคัญ ตามมาตรา 92

และ ตร.ได้มีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ว่า เมื่อการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำผิดทางวินัย ก็ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อไป โดยไม่ต้องรอผลการชี้มูลจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือผลคดีอาญา

และหากมีพยานหลักฐานชัดแจ้งก็ให้สั่งข้าราชการตำรวจนั้นออกจากราชการไว้ก่อนได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน ต้องถูกผูกพันตามเอกสารและสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลัก

โดยเฉพาะในเรื่องความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาดำเนินการไต่สวนและพิจารณามาแล้ว

3.อำนาจของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

หากได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แล้ว จะพบว่า มาตรา 96 ได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัตินี้ สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาได้

โดยให้อุทธรณ์คำสั่ง ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหา โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ

เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้แล้ว ไม่พบว่า การไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือเป็นที่สุดแต่ประการใด และยังได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกลงโทษนั้น สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารบุคคล ซึ่งก็คือ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 นั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อผู้มีอำนาจสั่งลงโทษข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาประการใดแล้ว และข้าราชการตำรวจผู้นั้น ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2547 ไม่ว่าจะอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจรับอุทธรณ์ หรือ ต่อ ก.ตร. ตามกฎ ก.ตร.นี้ ก็ให้อำนาจผู้รับอุทธรณ์ ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ตามนัย กฎ ก.ตร. ข้อ 16,17,18 และ ข้อ 21)

หากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนหักล้างพยานความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ก็ชอบที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือ ก.ตร.จะกลับแก้ หรือเปลี่ยนแปลงการลงโทษ ตามความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอมาได้

4.ข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการพิจารณา ข้อ 3.

กรณีที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ เช่น คณะกรรมการ ก.พ.มีความเห็นแตกต่างจากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณานั้น เคยมีปัญหามาแล้วเช่นกัน

สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและมีมติว่า นายวีรพล ดวงสูงเนิน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

แต่หลังจากนั้น นายวีรพลได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.พ. ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แต่เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

จากนั้น ครม.ได้มีมติให้นายวีรพลกลับเข้ารับราชการตามมติ ก.พ.

กรณีข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 266 (ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550) โดยอ้างว่าเป็นการขัดกันของอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ก.พ.

ซึ่งท้ายที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่รับอุทธรณ์ ไม่อาจจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2646 ลง 6 กุมภาพันธ์ 2546

แม้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันองค์กรทุกองค์กรของรัฐก็ตาม แต่คำวินิจฉัยที่ 2/2546 นี้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีตุลาการเสียงข้างน้อยถึง 5 เสียง พิจารณาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

เนื่องจากหากพิจารณาถ้อยคำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (รัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือมาตรา 214 รัฐธรรมนูญปี 2550) ใช้คำว่า "เมื่อมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ศาล ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"

แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คือ คณะกรรมการ ก.พ.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้คณะกรรมการ ก.พ.จะมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แม้จะได้เสนอเรื่องถึง ครม.ก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง ตามมาตรา 266 ไม่

คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย เพราะเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่โดยปกติจะต้องเป็นการพิจารณาว่ากฎหมายใดๆ ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 141,154,185,211,212,214, และมาตรา 245 เป็นต้น) หรือกรณีที่มีกฎหมายอื่นๆ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย (เช่น อำนาจยุบพรรคการเมือง เป็นต้น)

การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตในทางกฎหมายเพราะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กว้างขวาง ผูกพันองค์กรอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ควรขยายอำนาจเขตอำนาจนอกบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้

ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล หรือ ก.ตร.ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยการใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ศาลปกครองก็หาจำต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ แม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรา 216 (รัฐธรรมนูญ ปี 2550) กำหนดให้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันองค์กรอื่น รวมถึงศาลด้วยก็ตาม

ทั้งนี้ มีเหตุผลสนับสนุนในเชิงวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์และหลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย ที่จะต้องยึดหลักความบริสุทธิ์และยุติธรรมของกระบวนการพิจารณาซึ่งกำหนดให้ศาลปกครองทำหน้าที่ไต่สวนโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ที่ถูกสั่งลงโทษ และองค์กรผู้สั่งลงโทษ ได้เสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณา

ด้วยเหตุนี้เอง กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ ที่ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.นั้น การพิจารณาอุทธรณ์ จึงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไป ที่ต้องดำเนินการโดยเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย หาใช่ว่า หากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นแล้วคณะกรรมการ ก.ตร.ไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย

กรณีดังกล่าวจะไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏถึงขนาดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีความเห็นผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง โดยฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารปลอม หรือกระทำผิดขั้นตอนตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือไม่ฟังคัดค้านหรือพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา ฯลฯ

ดังนี้ หากคณะกรรมการบริหารงานบุคคลหรือ ก.ตร.ไม่มีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงนี้เลย ย่อมเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมแก่ข้าราชการที่ถูกลงโทษ ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์กับกระบวนการทางวินัย ที่มุ่งจะส่งเสริมให้ข้าราชการประพฤติดี และลงโทษข้าราชการที่ฝ่าฝืนวินัยข้าราชการตำรวจ

5.กรณีตัวอย่างที่ไม่มีการดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

มีหลายกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรืออนุกรรมการของ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบธรรม เช่น ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือระเบียบของ ป.ป.ช.เอง รวมถึงกฎหมายด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ดังเช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.405/2551 ลงวันที่ 11 กันยายน 2551 โดยศาลได้วินิจฉัยว่า การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่รับฟังคำคัดค้านว่ามีคณะกรรมการไต่สวนบางรายมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่ไต่สวน ไม่อาจจะเป็นกรรมการไต่สวนได้ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 เป็นสาระสำคัญของกระบวนการไต่สวนจึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมาชี้มูลความผิดและลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีได้

ด้วยเหตุนี้ การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการชี้มูล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ 201/2551 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีที่เรื่องที่กล่าวหา มาเป็นอนุกรรมการไต่สวน เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ ข้อ 13 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ทำให้การไต่สวนไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี

อีกทั้งตามระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้คณะอนุกรรมการจะต้องทำการแจ้งข้อกล่าวหาและให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อสู้ข้อกล่าวหา

แต่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว รวมทั้งยังมีการปรับข้อกฎหมายผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและไม่ได้เหตุผลให้ชัดเจนว่าที่กล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่อย่างไร แต่กระทำได้เพียงแต่การสรุปว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการชี้มูล ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม

หากผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า การลงโทษไม่ถูกต้องเหมาะสมย่อมมีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงโทษได้ เมื่อมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อาจรับฟังได้ เพราะดำเนินการขัดต่อกฎหมายในสาระสำคัญหลายประการ การดำเนินการขององค์กรบริหารส่วนบุคคล (ก.ตร.) ที่สั่งการไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

6.แนวทางการดำเนินการ เพื่อป้องกันปัญหาข้อโต้แย้ง

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรถูกผูกพันกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเด็ดขาด

แต่ควรมีผลผูกพันระดับหนึ่งเท่านั้น โดยไม่ควรผูกพันองค์กรบริหารงานบุคคลที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษข้าราชการนั้นได้

ฉะนั้น จึงเห็นว่าเพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเดียวกันอีก จึงเห็นควรดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยกำหนดเพิ่มเติมข้อความในวรรคท้ายของ มาตรา 105 หมวด 8 ว่าด้วยการอุทธรณ์ โดยกำหนดข้อความให้ชัดเจน เกี่ยวกับวิธีการอุทธรณ์ กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล ว่าให้ ก.ตร.มีอำนาจอย่างไรบ้างให้ชัดเจน เพราะกฎหมายว่าด้วยข้าราชการตำรวจ และกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่อยู่ในลำดับศักดิ์ กฎหมายเดียวกันเนื่องจากมีกระบวนการตรากฎหมายในลักษณะอย่างเดียวกัน

นักกฎหมายโดยทั่วไป จึงเห็นพ้องว่าพระราชบัญญัติทั่วไป และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีลำดับศักดิ์เช่นเดียวกัน

ดังนี้ ถ้ากำหนดวิธีการอุทธรณ์กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแล้ว ย่อมถือได้ว่า กฎหมายตำรวจ เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของตำรวจ ในเรื่องการอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจฯ อาจจะดำเนินการได้ยาก และใช้เวลานาน เนื่องจากจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาของ ก.ตร. กรณีดังกล่าวจึงเห็นควรแก้ไข กฎ ก.ตร.ที่ว่าด้วยการอุทธรณ์

โดยมอบหมายให้ ส.ก.ตร.ดำเนินการ ตามนัยความเห็นข้างต้น ทั้งนี้ เห็นว่าคณะกรรมการ ก.ตร.จะไม่มีความรับผิดใดๆ หากได้ดำเนินการตามกฎ ก.ตร.เพราะ กฎหมายแม่บท คือ พ.ร.บ.ตำรวจเอง ก็ได้กำหนดให้การดำเนินการทางวินัยและการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นไปตามกฎ ก.ตร.

7.บทส่งท้าย

จากปัญหาที่กล่าวไปทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็อาจจะมีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน

ดังที่ปรากฏว่า ศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลางและอิสระ ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เป็นเพียงคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อาจจะผิดพลาดได้ จึงควรมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างองค์กร และการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กร ป.ป.ช.เช่นกัน

ในกรณีที่ข้าราชการท่านใด ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ควรจะได้รับการปกป้องเช่นกัน เพราะทุกคนมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ จึงไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิในการร้องทุกข์และฟ้องร้องคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 59 และมาตรา 60

เมื่อข้าราชการท่านได้ถูกฟ้องร้องและเรียกตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา ก็ควรจะได้ร้องขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด พร้อมส่งเอกสารทั้งหมด พร้อมกับการโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่อาจจะขัดจากหลักกฎหมายต่างๆ ไว้ด้วย

หากผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินการให้ความเป็นธรรม ไม่พิจารณาหลักฐานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ละเลย ฯลฯ เหล่านี้ ผู้บังคับบัญชาก็จะต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่นเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงาน จึงควรพึงระวังว่า ไม่ใช่แต่กรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามการชี้มูลตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น ที่อาจจะทำให้ตนต้องถูกดำเนินคดีอาญาได้

แต่กรณีที่ละเลยไม่ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายในเรื่องการบริหารงานบุคคลนั้น ก็อาจจะทำให้ตนถูกดำเนินคดีอาญาและทางแพ่งด้วยเช่นกัน




หมายเหตุ :

บทความนี้ เขียนโดย พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ : ผู้เขียน ปริญญาเอกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา (J.S.D.) จาก University of lllinois at urbana-Champaaign (UIUC), LL.M. (UIUC),LL.M. (Indiana University-Bloomington),นม(มธ.), รม.(มธ.), น.บ.ท., นบ.(เกียรตินิยม) (มธ.) และ รปบ.ตร.(รร.นายร้อยตำรวจ)







Create Date : 23 มีนาคม 2552
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:15:45 น. 5 comments
Counter : 4516 Pageviews.

 
แวะมาเม้นครับ


โดย: sakol IP: 58.10.128.252 วันที่: 24 มีนาคม 2552 เวลา:15:56:55 น.  

 
ผมอ่านบทความนี้แล้ว เห็นด้วยกับแนวความคิดของท่านศิริพล ฯ และยืนยันว่าเป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง ที่ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องนำเอาแนวความคิดนี้ไปพิเคราะห์และปรับใช้เพื่อยังให้เกิดความเป็นธรรมต่อข้าราชการในหน่วยนั้น ๆ เพราะเท่าที่ผมสัมผัสกับการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.มา 7 ปี ก็ยอมรับว่ากระบวนการในการไต่สวนยังมีความบกพร่องหลายประการ ประการสำคัญ คือ กฎหมาย ป.ป.ช. ให้อำนาจคณะกรรมการ มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว คน 9 คนย่อมไม่สามารถ ดำเนินการกับเรื่องเป็นหมื่น ๆ เรื่องที่รอดำเนินการได้ ในทางปฏิบัติก็ต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน แล้วคณะกรรมการค่อยมาวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่อนุกรรมการเสนอ ซึ่งผู้มีบทบาทหลักในคณะอนุ ( ตัวทำสำนวนจริง ๆ คือ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ) แม้จะจบกฎหมายมาก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่เขาเหล่านั้นยังขาดทักษะในทางแสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่สามารถนำเอาความรู้ในทางทฤษฏีมาประยุกตใช้ในการใช้งานในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง การแสงหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างมืออาชีพ ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนั้น ๆ สิ่งใดคือพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์แล้ว ในขั้นตอนการวินิจฉัยก็มักใส่จินตนาการลงไป ถ้อยคำสำนวนอ่านดูในภาพรวมแล้วดูสละสลวย แต่เมื่อพิเคราะห์ตามหลักวิชาแล้ว แทบหาพยานหลักฐานมายึดโยงไม่ได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่ ป.ป.ช.ไปให้ความสำคัญกับผลงานที่เจ้าหน้าที่สามารถชี้มูลลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐได้คือผลงานชั้นยอด ทำให้การทำงานเหมือนตั้งเป้าหมายว่าเจ้าหน้าของรัฐเป็นคนชั่ว เรื่องที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริง ต้องหาหลักฐานมาเอาผิดชี้มูลให้ได้ แทนที่จะหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ว่า เขาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมที่แท้จริง และประการที่เลวร้ายที่สุดคือความมีอคติและการฝักใฝ่ในอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวผู้ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม


โดย: จักรชัย ผลไม้ IP: 203.147.4.69 วันที่: 30 เมษายน 2552 เวลา:9:51:19 น.  

 
ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ต้องการให้มีการก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ช.ขึ่น เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ และกระทำการทุจริต ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เกาะติดมาในสังคมไทยอย่างช้านาน ถ้ารอให้คนเหล่านั้นมีสำนึกด้วยตนเอง ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เมื่อก่อนตอนที่มีสำนักงาน ป.ป.ป. ก็หาว่าเป็นเสือกระดาษ ไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ ส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย ก็ช่วยเหลือกัน พอมีองค์กรกลางก็บอกว่ามีอำนาจมากเกินไป หากถ้ามองกันให้ดีในด้านการปราบปรามการทุจริต และการทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานและการรับฟังพยานหลักฐานควรจะมีความแตกต่างกับการกระทำความผิดอาญาโดยทั่วไป เพราะคนที่กระทำความผิดส่วนมากเป็นผู้ที่มีความรู้สูง และเป็นผู้ที่ครอบครองพยานหลักฐาน ถ้าใช้การแสวงหาพยานหลักฐานอย่างคดีอาญาทั่วไป ทั้งร้อย ไม่น่าจะเอาผิดใครได้เลย โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับหลักสิทธิมนูษยชน แต่มันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและชอบธรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือผู้ใด สำหรับคนที่ทุจริตและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ สมควรจะได้รับการปกป้องหรือ การดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินคดีทั้งหลายย่อมมีข้อผิดพลาดได้ทั้งนั้น เราควรต้องหามาตรการมาแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว เหตุที่ในการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วๆ ไปที่นำหลักเกี่ยวกับการให้ศาลมีอำนาจในการออกหมายจับ และสันนิษฐานว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิอยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดสาเหตุก็มาจากการที่กระบวนการในการดำเนินคดีไม่เชื่อถือในการขั้นตอนของการแสวงหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เราก็ยังสามารถแก้ไขกฎหมายได้
และขอเสนอว่าการถ่วงดุลนั้นจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง ไม่ใช่ต้นสังกัด เพราะถ้าเป็นการถ่วงดุลระหว่างต้นสังกัดกับ ป.ป.ช. ก็คงไม่เรียกว่าการถ่วงดุล


โดย: n IP: 203.147.4.69 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:57:15 น.  

 
ขอตอบแบบแนวของ เวปพันธ์ทิพ ว่า ผู้เขียนมีอคติต่อปปช. และเข้าข้างตำรวจอย่างสุดโต่ง
1. “ถึงขนาดคณะกรรมการ ป.ป.ช. บางท่านได้ข่มขู่ถึงขนาดที่ว่า ก.ตร. ไม่มีอำนาจที่จะกลับมติการชี้มูลของ ป.ป.ช. หากไม่ดำเนินการตามมติ ป.ป.ช. จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและอาญา” คณะกรรมการ ป.ป.ช. เนี่ยน่ะข่มขู่ตำรวจ ตั้งแต่ปปช.มีความเห็นลงมา ผมยังไม่เคยเห็นTV ช่องใดนำเสนอพฤติกรรมของปปช. ในแนวกร้าวราว หรือ นักเลง อย่างที่คุณเขียนเลยสักครั้งเดียว ผมเห็นแต่สุภาพชนผู้อาวุโส วาจาสุภาพ ตอบประเด็นคำถามได้อย่างเป็นเป็นผู้ทรงความรู้ทางด้านกฏหมาย
2. “คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พัฒนาตนเองให้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการชี้มูลความผิดวินัยข้าราชการ” ตรงนี้ผู้เขียนก็กล่าวเกินไป หากย้อนไปดูว่าเหตุใดถึงเกิด พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พศ. 2542 และ คณะกรรมการ ปปช. ขึ้นมา ในเมื่อหน่วยงานราชการก็มีระเบียบข้อบังคับ, บทลงโทษ ของ กพ. หรือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ในกรณีของตำรวจ ก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วว่า ระเบียบของราชการเอง หรือ ของตำรวจเอง ไม่อาจป้องกันและปราบปามการทุจริตได้ ด้วยเหตุต่างๆ อาทิเช่น ระบบพวกพ้อง, ระบบอุปถัม ฯลฯ ถ้าหาก ปปช. มีคำวินิจฉัยลงมาและยังต้องให้ ก.ตร. พิจารณาในคำวินิจฉัยเพื่อกลับ หรือ แก้ไข มติของ ปปช. อีก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี คณะกรรมการ ปปช. อยู่อีก
3. “คำถามที่สำคัญคือ มติของ ป.ป.ช. นั้นควรจะผูกพันต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ คณะกรรมการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงใด “ ตอบตรงๆเลยครับว่า ผูกพันเต็มๆ เพราะตำรวจ เป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความหมายในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงอยู่ภายใต้บังคับของพรบ.นี้
4. “แม้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะผูกพันองค์กรทุกองค์กรของรัฐก็ตาม แต่คำวินิจฉัยที่ 2/2546 นี้ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีตุลาการเสียงข้างน้อย ถึง 5 เสียง พิจารณาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจเสนอเรื่องนี้ เข้าสู่การวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ” ตรงนี้ในทางวิชาการ ความเห็นตุลาการเสียงข้างน้อยเป็นสิ่งมีค่าที่ควรรับฟัง เพื่อเป็นการต่อยอดในการศึกษาวิชากฏหมาย ในทางปฏิบัติศาลท่านจะเก็บความเห็นของเสียงข้างน้อยไว้ในสำนวนการพิจารณาด้วย แต่ในผลเแห่งคดีก็ยังต้องถือตามเสียงข้างมากอยู่ดี ซึ่งมากกว่า 5เสียงแน่นอน และเมื่อพิจารณาเนื้อหาความเห็นตุลาการเสียงข้างน้อยก็เห็นแย้งเพียงว่า ปปช.ไม่มีอำนาจเสนอคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูนเท่านั้นเอง ไม่ได้บรรยายในเนื้อหาของมติ ปปช.แต่อย่างใด อีกทั้งตุลาการเสียงข้างมาก(มากกว่า 5 เสียงแน่นอน) ก็เห็นว่าปปช.มีอำนาจเสนอคีดนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
5. “หากข้อเท็จจริงปรากฎถึงขนาดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีความเห็นผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง โดยฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารปลอม หรือกระทำผิดขั้นตอนตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือ ไม่ฟังคัดค้านหรือพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาฯลฯ” คุณผู้เขียนกล่าวเช่นนี้เหมือนกับการตัดพ้อน้อยใจในเรื่องทั่วๆไปในความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นและรวมถึงปปช.ไม่มีคุณภาพในการพิจารณาความผิดแบบไม่มีมาตราฐานเทียบเท่า ก.ตร. ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเพราะหากปปช.รับเอาเอกสารปลอมอะไรทำนองนั้นเข้าไว้ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง3 ก็ควรจะได้เห็นเอกสารปลอม หรือ รับทราบกระบวนการพิจารณาที่กระทำผิดขั้นตอนตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือ ไม่ฟังคัดค้านหรือพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาฯลฯ ก็น่าที่ต้องโต้แย้งไว้ รวมถึงน่าจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาต่อสื่อมวลชลหรือไม่ก.ตร. ก็น่าจะโต้แย้งประเด็นในส่วนนี้ออกมาให้เราได้เห็นกัน
6. “ คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ 201/2551” ก็อย่างที่เราทราบกันในเบื้องต้นคดีนี้ถูกกลับคำพิพากษาโดยศาลปกครองสูงสุดสั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 เป็นให้รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของปปช.ไว้พิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดีโดยองค์คณะใหม่ของศาลปกครองชั้นต้น ก็แปลได้ว่า ตามที่โอ๋สืบ6 ร้องว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีที่เรื่องที่กล่าวหา มาเป็นอนุกรรมการไต่สวน เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ ข้อ 13 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ทำให้การไต่สวนไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี นั้นยังไม่อาจสรุปได้ เพราะมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และที่สำคัญเปลี่ยนองค์คณะใหม่ทั้งหมด ท้ามกลางข้อครหาว่าเหตุใดจึงต้องเป็นศาลจังหวังเชียงใหม่ เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดที่ กรุงเทพ, สำนักงาน ก.ตร. หรือปปช. คู่กรณีก็อยู่กรุงเทพ และโอ๋สืบ 6 ก็อยู่กรุงเทพ

ดังนี้ พัชรวาท จะเอามาเป็นบันทัดฐานก็คงไม่ได้เพราะกรณียังไม่ถึงที่สุด และถ้าสังเกตุให้ดีๆ คดีนี้ ฟ้องโดยโอ๋สืบ 6 เองครับ ก.ตร ก็ไม่ได้ระงับมติ ปปช.ว่าไม่ชอบแต่อย่างไร ยังคงใช้มติของปปช.เป็นข้ออ้างในการออกคำสั่งให้ปลดออกจากราชการด้วย


โดย: บัวสันตุ IP: 208.185.214.4 วันที่: 26 มกราคม 2553 เวลา:7:00:35 น.  

 
ความเห็นของท่าน บัวสันตุ นี่ ก็แล้วแต่ครับ ผมไม่ได้ว่าอะไร แต่สังคมย่อมรับรู้เองว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็สามารถค้นหาได้จากระบบ Search Engine หรือ Google ทั่วไป ก็จะเห็นได้ว่า ท่านให้สัมภาษณ์ในเชิงนั้นจริงหรือไม่

การตีความกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่นักกฎหมายกระทำการเป็นการปกติ แล้วแต่ความเห็นใครจะมีเหตุผลหนักแน่นกว่ากัน และที่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป ไม่ใช่ว่า เป็นเพราะคนที่ตีความเป็นใคร ความเห็นจึงมีน้ำหนัก แตกต่างกันไป ตามคนที่ตีความ ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมเก่งกว่าใคร ดังนั้น ความเห็นผมก็อาจจะผิดพลาดได้ หรือยังไม่เป็นที่ยอมรับในขณะนี้ แต่อย่างน้อย ผมก็จุดประกายความคิดเอาไว้ว่า จะปล่อยให้ ป.ป.ช. เป็นอำนาจอธิปไตยที่ ๔ เด็ดขาดโดยไม่อาจโต้แย้งได้เลยเช่นนี้ อยู่อีกต่อไปนี้หรือไม่ ซึ่งผมมองว่า มันคือ ทางเลือกของสังคม หากสังคมไทย บอกว่าดี ก็อาจจะยอมรับได้ แต่คนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ก็ต้องบอกว่า มีข้อเสียหายอย่างไร ...

ผมก็พยายามทำให้เห็นว่า ความเห็นของ ป.ป.ช. ไม่ควรผูกพันเด็ดขาดด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ..... ผมไม่ใช่อ่านหนังสือไทยออก แล้วก็ตีความตามที่อ่านหนังสือออก ... แต่มันมีเหตุมีผลของมัน

สุดท้าย ถามผมว่า ผมเข้าข้างตำรวจหรือไม่ แน่นอนครับ ผมเป็นตำรวจ ผมก็ต้องเข้าใจวิถีการปฏิบัติงานของตำรวจได้มากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นตำรวจ การตีความผม ก็ยึดแนวที่ผมได้ร่ำเรียนมา คือ จะต้องพิจารณาเสมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เหมือน นักมวยในภาวะที่ถูกชกมึนงง จะทำอย่างไร .. ไม่ได้ทำตัวแบบ คนเชียร์มวย รู้ช่องโหว่ไปหมด ... แล้วก็ตะโกนด่านักมวยว่า ทำไม ไม่ฉลาดเลย ไม่ชกตรงนั้น ไม่ชกตรงนี้ ..... ด้วยมาตราฐานที่ผมเรียนให้ทราบ ย่อมดูเหมือนว่า ผมเข้าข้างตำรวจอย่างแน่นอน ... แต่ต้องเรียนว่า ทุกอย่างมันอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม หลักการเคารพสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น ๆ หลักหน้าที่และความรับผิดชอบของคนที่เป็นสมาชิกของสังคม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่สิทธิของตัวเองเท่านั้น .....

วันหนึ่ง ท่านจะทราบว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเกียร์ว่าง เพราะเกรงว่า ขยับไปทางไหนก็ผิดแล้วละก็ ... ท่านเองนั่นแหละที่จะเดือดร้อน เพราะเจ้าหน้าที่วิ่งหนีผู้กระทำผิด ระรานสิทธิของท่าน.....


โดย: POL_US วันที่: 26 มกราคม 2553 เวลา:17:17:13 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.