*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
หลักการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน และ ข้อสังเกตกรณีศาลพิพากษายกฟ้อง

หลักการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนและ

ข้อสังเกตกรณีศาลพิพากษายกฟ้อง [1]


ส่วนที่ ๑

หลักการทั่วไป

กระบวนการสืบสวนและสอบสวนแท้จริงเป็นกระบวนการเดียวกันที่ไม่ควรแยกจากกัน แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นได้กำหนดแยกกระบวนการสืบสวนและสอบสวนออกจากกัน และกำหนดนิยามแตกต่างกัน เช่น การสืบสวน เป็นเพียงการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งความจริงแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ นอกจากการจัดทำ Database ต่าง ๆเท่านั้น แม้จะไม่มีกฎหมายนิยามเอาไว้ องค์กรที่ดี ก็จะต้องบริหารงานบนพื้นฐานข้อมูลอยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะนิยามศัพท์ข้างต้นไว้เลย

ส่วนการสอบสวนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือเป็นหัวใจหลัก หรือกระบวนการก่อนการฟ้องร้องคดีหากไม่มีกระบวนการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้วก็จะถือเป็นการสอบสวนไม่ชอบ และเมื่อทำการสอบสวนไม่ชอบ ก็จะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีไปด้วยในทางตรงกันข้าม หากมีการสอบสวนคดีโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการย่อมสามารถใช้ดุลพินิจในการนำพยานหลักฐานต่าง ๆเข้าสืบต่อศาลได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบสวนของตำรวจมาก่อนก็ได้ โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีกฎหมายอัยการฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถใช้อำนาจออกหมายเรียกและทำการซักถามในลักษณะเดียวกับการสอบสวนคดีอาญาได้เอง กรณีนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตำรวจเองจะต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเองว่ากระบวนการที่เราปฏิบัติหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในด้านประชาชนที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมและในด้านประชาชนที่ถูกตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้เพียงใด

หากว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาเพื่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนไม่สามารถทำให้ประชาชนและสังคมยอมรับ องค์กรตำรวจซึ่งอยู่ในสภาวะจุดเปลี่ยนผ่านในปัจจุบัน ที่กำลังเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน และยุคข้อมูลข่าวสาร ก็จะต้องถูกปรับเปลี่ยนอย่างชนิดพลิกกระดานอย่างแน่นอน

ในด้านการสืบสวนสอบสวนนั้น กรมตำรวจในอดีตได้เคยมีบันทึกสั่งการไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๗ แล้วให้พนักงานสอบสวนทำการการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อนทำออกหมายเรียกตัวผู้ใดมาแจ้งข้อกล่าวหาและหากทำการสืบสวนสอบสวนอย่างสมบูรณ์แล้วเห็นว่าเขาไม่ได้กระทำผิดเลยก็ให้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวผู้นั้นแต่ประการใด ซึ่งในเรื่องการสืบสวนสอบสวน จับกุม ก็มีการกำชับไม่ว่าจะเป็นระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีหรือ คำสั่งของ ตร. อีกหลายครั้ง ให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนจึงค่อยมีความเห็นทางคดี โดยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีก็ระบุไว้ชัดเจนว่าตำรวจจะต้องทำการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดที่แท้จริงให้ได้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและยับยั้งการเลียนแบบมิให้ผู้อื่นกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีกต่อไป การจับผิดตัว หรือจับแพะจึงเป็นการสร้างภาระให้กระบวนการยุติธรรม และ เป็นการทำร้ายองค์กรตำรวจโดยตรง ดังที่เราเห็นมาหลายกรณี เช่น กรณีของ เชอร์รี่แอนด์ ดันแคน หรือ กรณีของนายสมชายฯ พ่อค้าเนื้อหมูที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวมถึงกรณีจ้างวานฆ่าที่มีการจับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่อันสืบเนื่องมาจากการซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันโดยไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง แม่นยำของคำซัดทอดดังกล่าวก่อนจับกุม เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและศาลได้มีคำสั่งให้จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่นายทหารดังกล่าวเป็นเงินกว่า ๓๐ล้านบาท จึงจะเห็นได้ว่า การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ตร.ซึ่งแท้จริงก็ได้กำหนดขึ้นตามหลักกฎหมาย และหลักสามัญสำนึกในฐานะผู้รักษากฎหมายอย่างมีวิชาชีพสูงสุด ทำให้ ตร. ได้รับความเสียหายในทุกด้าน

ในเรื่องการออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเพื่อทำการสอบสวนปากคำโดยหลักการแล้วควรจะต้องเป็นกระบวนการสุดท้ายตามที่กำหนดแนวทางไว้ในบันทึกสั่งการตร. ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ข้างต้น ระเบียบคำสั่งของ ตร.จึงมีความทันสมัยอย่างมาก เพราะในอดีตมีการสั่งสอนกันว่าพนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบสวนพยานฝ่ายผู้ต้องหา เพราะใน ป.วิ.อาญา เดิมก็ไม่ได้ความมุ่งหมายที่จะให้ตำรวจมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๐ ภายหลังจากมีกรณีที่พนักงานสอบสวนสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีเชอร์รี่แอนด์ ดันแคน อันมีผลทำให้จำเลยซึ่งเป็นแพะรับบาปเสียชีวิตเกือบทุกคนด้วยเหตุต่างๆ จึงมีการปฎิรูประบบกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งได้บรรจุหลักการเช่นเดียวกับที่บันทึก ตร. ปี พ.ศ.๒๕๑๗กำหนดไว้ด้วย และในเรื่องการออกหมายเรียกตร. ยังได้มีการออกบันทึกสั่งการเมื่อไม่มานมานี้อีก โดยย้ำหลักการให้พนักงานสอบสวนทำการรวบรวมพยานหลักฐานอื่นทั้งปวง เพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งในด้านความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาให้สมบูรณ์ ก่อนออกหมายเรียกตัวมาเพื่อสอบปากคำ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำหลักการที่กำหนดไว้ตามป.วิ.อาญา มาตรา ๑๓๑ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถทำได้เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ หรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกรณีปรากฎอยู่เสมอว่าพนักงานสอบสวนละเลยการรวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหาแม้ผู้ต้องหาจะได้กล่าวอ้างไว้ในชั้นสอบสวนก็ตามโดยพนักงานสอบสวนสอบตัดพยานทั้งหมดโดยระบุว่า ผู้ต้องหาปฎิเสธที่จะให้การใน ชั้นสอบสวน แต่เมื่อปรากฏในชั้นเบิกความ พนักงานสอบสวนคนเดียวกันกลับยอมรับว่าในชั้นสอบปากคำ ผู้ต้องหาได้ระบุพยานบุคคลที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาได้ แต่พนักงานสอบสวนเกียจคร้านจึงแนะนำให้ผู้ต้องหานำพยาน ฯลฯ และเสนอข้อเท็จจริงในชั้นศาลด้วยตนเอง การกระทำเช่นนี้จึงเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๕๗ เพราะพนักงานสอบสวนทราบดีว่าผู้ต้องหาจะเสียสิทธิในชื่อเสียง และเสรีภาพอย่างมากระหว่างกระบวนพิจารณา กรณีนี้ จึงได้มีการเสนอให้พิจารณาข้อบกพร่องของพนักงานสอบสวนรวมถึงผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่กำกับดูแลพนักงานสอบสวนด้วย เพราะถือว่าละเลยไม่ใส่ใจในทุกข์ร้อนของประชาชน

ในปัจจุบัน มีความเชื่อว่าตำรวจได้รับคดีไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนเพียงประมาณ ๑ ใน ๓ ของคดีที่มีการแจ้งไว้ซึ่งในจำนวนนี้ ก็อาจจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคดีที่เกิดขึ้นจริง โดยในปัจจุบันมีการรับแจ้งคดีไว้ประมาณ ๖แสนคดี ในจำนวนที่มีการสอบสวนเป็นสำนวนที่ไม่ใช่การฟ้องด้วยวาจา หรือเปรียบเทียบปรับนั้น มีการฟ้องคดีต่อศาลและคดีจำนวนไม่น้อยศาลพิพากษายกฟ้อง หรือไม่อาจจะลงโทษได้ทุกกระทงความผิดที่ฟ้องกันในศาล อันสืบเนื่องมาจากการเบิกความปากคำของพยานรวมถึงของพนักงานสอบสวนแตกต่างกันในสาระสำคัญระหว่างชั้นสอบสวนกับชั้นพิจารณาของศาล หรือการเบิกความขัดกับข้อเท็จจริง หรือ บางกรณีไม่สามารถนำประจักษ์พยานไปเบิกความชั้นพิจารณาของศาลได้ ทำให้ขาดพยานชั้นหนึ่งที่สำคัญที่สุดในคดีอาญา

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญ ๆ เช่น กรณีศาลพิพากษายกฟ้องเพราะการไม่นำสายลับไปเบิกความชั้นศาล ซึ่งกรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นพ้องด้วยซึ่งก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนานาอารยะประเทศที่ไม่มีการนำสายลับไปเบิกความชั้นพิจารณาของศาลเพราะจะทำให้สายลับได้รับอันตราย และ ตำรวจจะไม่มีเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนในคดีต่อไปหากมีการเปิดเผยสายลับแล้ว ในคราวต่อไป ก็จะต้องหาสายลับคนใหม่มาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ กรณีนี้ก็จะต้องมีการนำสืบต่อศาลให้เห็นถึงความเที่ยงตรงแม่นยำของสายลับมีการได้รับข้อมูลและนำข้อมูลนั้นมาขยายผลอย่างไรบ้าง มีสถิติหรือไม่ อย่างไร หากนำสืบเช่นนี้ได้แล้วน่าเชื่อว่าศาลจะต้องลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เช่นเดียวกับการใช้สายลับในต่างประเทศ ศาลก็รับฟังบนพื้นฐานหลักการดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนที่ ๒

หลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน

เพื่อใช้เป็นแนวทางการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญา[2]

ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ ได้กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญไว้ว่าหลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้อย่างแน่ชัด แต่ก็อาศัยหลักการหลายประการ ได้แก่หลักสามัญสำนึก หรือ Commonsense กับ หลักความน่าจะเป็นตามธรรมชาติของเรื่อง ท่านกล่าวสั่งสอนตุลาการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีข้อพิพาทของประชาชนหรือของรัฐไว้ว่าจะยกฟ้องเพราะอ้างเหตุสงสัยนิดสงสัยหน่อยไม่ได้จะต้องเป็นเหตุสงสัยที่ถึงขนาดจะลงโทษไม่ได้เลย ดังจะเห็นได้จาก ป.วิ.อาญา มาตรา ๒๒๗ได้บัญญัติเอาไว้ว่า การจะยกประโยชน์ของความสงสัยนั้น จะต้องมีเหตุอันควรสงสัยจริง ๆ ที่ภาษากฎหมายใช้คำว่ามีความสงสัยตามสมควร โดยอาศัยการพิจารณาพยานหลักฐานว่ามีความน่าจะเป็นในระดับที่เพียงพอจะลงโทษได้หรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าฝ่ายโจทก์จะสามารถนำพยานหลักฐานให้ศาลพิจารณาจนปราศจากสงสัยถึงขนาดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านกล่าวไว้ว่า

“หลักความน่าจะเป็นที่ว่าถ้ามันมีอยู่ถึงขีดหนึ่งละก็เชื่อได้ ถ้าไม่ถึงขีดก็เชื่อไม่ได้นั้น ต้องเข้าใจว่าความน่าจะเป็นนั้นมันจะแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มี ต้องยึดหลักนี้ไว้ให้ดี”

กล่าวโดยสรุป การที่จะพิพากษายกฟ้องเพราะอ้างเหตุยกประโยชน์ของความสงสัยนั้นจะต้องมีเหตุอันควรสงสัยจริง ๆ ไม่ใช่เพราะ “สงสัย” ตามที่เราเข้าใจกัน เช่น มีพยานน้อยเพียงปากเดียวหรือสองปากหรือการเบิกความมีความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย เพราะบางครั้ง การมีพยานปากเดียวก็น่าอาจจะน่าเชื่อถือและจริงกว่าพยานหลายปากที่มีการซักซ้อมกันมาก็ได้

ท่านศาสตราจารย์ จิตติฯจึงได้กล่าวโดยสรุปว่า การรับฟังพยานหลักฐานและพิจารณาว่าน่าเชื่อถือเพียงใดจึงเป็นเรื่องที่ยาก จะต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ และจะต้องฝึกฝนบนพื้นฐานของหลักวิชาการประกอบกัน ท่านได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานไว้ว่าจะต้องใช้“กฎแห่งความคิด” ซึ่งเป็นหลักพิสูจน์ความแน่นอน หรือการพิสูจน์ความจริงด้วยหลักการ สำคัญ ได้แก่

๑)กฎแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

๒)กฎแห่งความขัดกัน

๓)กฎแห่งความเป็นครึ่ง ๆ กลาง ๆ

๔)กฎแห่งความมีเหตุผลอันสมควร

สำหรับกฎข้อ๑) – ๓) นั้นหากพิจารณาข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมมาได้จากการสอบสวนปากคำพยานบุคคลเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานทางเอกสาร วัตถุ หรือ นิติวิทยาศาสตร์แล้วดูว่ามันมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สอดคล้องกันหรือไม่ หรือ มันขัดกัน หรือมันจริงบ้างไม่จริงบ้าง เช่นเหตุการณ์อันหนึ่ง ควรจะมีข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างกลมกลืนและเป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องระมัดระวังกรณีที่พยานได้ซักซ้อมกันมาเพื่อหลอกลวงพนักงานสอบสวน ก็จะดูกลมกลืนกันเกินธรรมชาติ ก็อาจจะไม่เป็นจริง หรือ ในกรณีที่พยานให้การหรือเบิกความแตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่นนี้ ก็จะต้องถือว่าขัดแย้งกันซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์เปรียบเทียบว่าข้อใดจริงข้อใดเท็จ เว้นแต่จะเป็นความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆซึ่งจะพิจารณาว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันในรายละเอียดก็จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ผู้ให้การนั้น มีอายุน้อย มีประสบการณ์อะไรมา มีความรู้ความชำนาญเพียงใด มีความสามารถจดจำได้เพียงใด ระยะเวลาเบิกความหรือให้การแตกต่างกันยาวนานจากวันเวลาเกิดเหตุเพียงใดฯลฯ ก็จะต้องพิจารณาว่ามันน่าจะถือว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญหรือไม่หรือเป็นธรรมชาติของบุคคลที่จะต้องหลงลืมกันไปบ้าง เป็นต้น หากพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วพบว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยละเอียดเข้าหลักการตามกฎสามข้อแรกแล้วก็จะต้องถือว่า ข้อเท็จจริงนั้นไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย

ส่วนกฎข้อ๔ หรือ กฎแห่งความมีเหตุผลอันสมควรนั้น ถือเป็นข้อพิสูจน์ในทางบวกแตกต่างจากข้อเท็จจริงตามกฎสามข้อแรก ที่เป็นข้อเท็จจริงในทางลบ ในส่วนการพิจารณาว่าพยานหลักฐานโดยเฉพาะพยานบุคคลที่ให้การหรือเบิกความนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นมีหลักในการพิจารณา ๓ ประการ

๑)สติสัมปชัญญะของพยานในขณะที่เหตุการณ์นั้นมาสัมผัสอายตนะภายนอก และสภาวะจิตใจของพยานในขณะเกิดเหตุ ซึ่งจะมีผลต่อความจดจำของพยาน ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงจะต้องสอบสวนให้เห็นว่า

๑.๑)เหตุภายใน : พยานมีความสนใจ หรือ มีความสามารถในการสังเกตจดจำเพียงใดซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ตามคำให้การหรือเบิกความนั้นผิดพลาดหรือไม่อย่างไร

๑.๒)เหตุภายนอก : ได้แก่ ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการสังเกตจดจำ เช่น แสวงสว่าง ระยะทางการเคลื่อนไหวหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใด ฉับพลันทันทีหรือไม่มีเหตุการณ์การสำคัญ ๆ ที่ทำให้จำได้หรือไม่ แม้ปัจจัยภายนอกไม่อำนวย เช่นพยานกับผู้ต้องหา รู้จักกันแรมปี แม้จะไม่เห็นหน้า ถูกปิดตา ฯลฯ ก็อาจจะจดจำได้

๑) ความทรงจำของพยานเป็นเช่นไร ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น

๒.๑)ความประทับใจ หรือ Impressionซึ่งเกิดขึ้นจากความสนใจอันนำมาซึ่งการสังเกตจดจำและนำไปสู่การรับรู้จากสิ่งที่เห็นหรือสัมผัสได้อย่างไม่รู้ลืมมีปัจจัยหรือข้อเท็จจริงอย่างใดบ้าง

๒.๒)ความระลึกได้ หรือ Recollectionซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆแม้จะไม่สามารถจดจำได้ในทันทีทันใด แต่เมื่อคิดพิจารณาทบทวนจากข้อเท็จจริงทั้งหมดดูสภาพที่เกิดเหตุ ฯลฯ แล้วจึงสามารถระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่น่าเชื่อถือแต่ประการใด

๒.๓)ความสามารถในการถ่ายทอดข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงก็ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่เข้าเกี่ยวพันเป็นต้นว่า

ก)สภาพของพยานบุคคล ที่มีปัจจัยเรื่อง อายุ จิตใจ ความตกใจ ความตื่นเต้น การศึกษาสติปัญญา ความเข้าใจต่อคำถามของพนักงานสอบสวน อัยการ หรือทนายความ ความสามารถในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงหรือการเล่าเรื่องราว ประวัติ ความประพฤตินิสัย ความสุจริตของพยาน เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ พนักงานสอบสวน ก็จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนให้เห็นว่าพยานทั้งของฝ่ายผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหานั้น มีความน่าเชื่อถือเพียงด้วย

ข)ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ยากหรือง่ายต่อการสังเกตจดจำเพียงใด

ค)ข้อเท็จจริงอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล อคติ หรือ ความลำเอียง หรืออิทธิพลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

๓)การวิเคราะห์ว่าพยานน่าเชื่อถือเพียงใดนั้น ก่อนอื่นจะต้องระลึกเสมอว่าอาจจะความผิดพลาดของพยานได้เสมอซึ่งความผิดพลาดของพยานในการให้การ อาจจะเกิดขึ้นโดยสุจริต หรือ ทุจริตก็ได้ เช่นประสาทหลอน คิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นตามความเข้าใจของตนเองต่อเติมเสริมต่อข้อเท็จจริงตามอคติอุปทานหรือมีอารมณ์ร่วมทำให้เชื่อเช่นนั้นไว้ล่วงหน้า สับสน หรือหลงผิดเพราะข้อเท็จจริงเกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่อาจจะสังเกตจดจำได้ ดังนั้นจึงมีหลักการในวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของพยานบุคคล ดังนี้

๓.๑) โอกาสที่จะเห็นหรือรู้ข้อเท็จจริงนั้น : ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเช่น อยู่ในเหตุการณ์ด้วย มีแสงสว่างพอ อยู่ในระยะใกล้ได้ยินได้ฟังไม่มีอุปสรรคขัดขวางบังสายตาในขณะสังเกตจดจำ มีความสนใจหรือได้รับการฝึกฝนมาในหน้าที่ให้สังเกตจดจำเพียงใดในกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งพยานแต่ละคนอาจจะมีโอกาสและความสามารถในการถ่ายทอดแตกต่างกันไป ดังนั้น หากพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำแล้วทำไมพยานต่างคนต่างพูดคนละเปราะคนละช่วง บางคนพูดข้อเท็จจริงขาดส่วนนี้ บางคนขาดส่วนนี้ ฯลฯ ก็ได้อย่าคิดว่าเขาโกหกแต่อาจจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำมาปะติดปะต่อกันก็ได้

๓.๒)เหตุผลของคำให้การของพยาน: เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามโอกาสที่พยานสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงได้แล้วก็จะต้องมาพิจารณาว่าคำให้การพยานมีเหตุผลน่าเชื่อเพียงใด กรณีนี้ให้พิจารณาเพียงว่า คนธรรมดาจะเชื่อหรือไม่ตามคำให้การของพยานนั้นและจะต้องระลึกว่าความน่าเชื่อถือแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่เคยมีในโลกของความเป็นจริง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงที่พยานได้ให้การมานั้นมีเหตุผลก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หากเป็นศาลจะยกฟ้องเพราะเหตุสงสัยในคำพยาน ก็จะต้องเป็นความสงสัยจริง ๆ ไม่ใช่เพียงสงสัยเล็กๆ น้อย ๆ ต้องพิจารณาถึงภาวะจิตใจของผู้รับฟังพยานนั้นว่าเชื่อเพียงใดเป็นสำคัญเช่น ฟังแล้วสอดคล้องต้องกัน มีพยานหลายคนอยู่ในที่เกิดเหตุให้การสอดคล้องกันเป็นเรื่องเป็นราว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะทำกันหรือไม่ฯลฯ เป็นต้น

๓.๓เหตุผลในการมาให้การเป็นพยาน :มูลเหตุจูงใจในการมาเป็นพยานในคดีก็

เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะต้องพิจารณาบางคนอาจจะไม่ต้องการเป็นพยานเพราะเกรงกลัวแต่ก็เล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังอีกต่อหนึ่ง ผู้ใดก็ตามที่ยินยอมมาเป็นพยานพนักงานสอบสวนก็ชอบจะสอบปากคำถึงเหตุผลในการมาเป็นพยานด้วยเพื่อประโยชน์ในการชั่งน้ำหนักว่าปากคำพยานน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นต้น

๓.๔หลักความสมเหตุสมผลและความน่าเชื่อถือได้ : หลักการประการสุดท้าย

ก็คือพิจารณาว่า ปากคำพยานน่าเชื่อถือเพียงใดโดยการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น ประกอบพิจารณาว่าพยานมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนหรือไม่ พยานเป็นคนกลางหรือไม่ หรือ ไม่เป็นคนกลางแต่ไม่มีเหตุจะปรักปรำผู้ใด หรือเป็นคำซัดทอด แต่ไม่ได้ทำให้ตนเองพ้นผิด ซึ่งอาจจะเกิดจากความสำนึกผิด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หลักการทั้งหมดเป็นเรื่อง Common Sense ประกอบด้วย เพราะการแสวงหาพยานหลักฐานและทำให้ผู้อื่นเชื่อในพยานหลักฐานของเรา ก็จะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกันในปัจจุบันมีความรู้ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการให้เหตุผลสนับสนุนทำให้คดีพยานหลักฐานหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องขวนขวายเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จในการแสวงหาข้อเท็จจริงปกป้องผู้บริสุทธิ์ และให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนจะต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม เสมอภาคอย่างไม่เลือกปฏิบัติ หากตำรวจทั้งหลายสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีแล้วก็จะมีแต่คนเคารพและเชื่อฟังกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนเห็นว่าตำรวจไม่อาจจะพึ่งพาได้ ปฏิบัติงานล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่มีคนเคารพกฎหมาย บ้านเมืองก็จะยุ่งเหยิงอย่างที่เราประสบกันอยู่




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2555 22:58:58 น. 10 comments
Counter : 29377 Pageviews.

 
ส่วนที่ ๓
กรณีตัวอย่าง และข้อสังเกตบางประการที่ทำให้ศาลยกฟ้องคดีต่าง ๆ ดังนี้
๑. คดีฉ้อโกง
ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำระบบเงินเดือนบัญชี บันทึกข้อมูลการเพิ่มเงินเดือนและจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ปรากฏว่าจำเลยอาศัยเพียงคำบอกกล่าว หัวหน้างานว่าได้เสนอให้กรรมการบริษัทเพิ่มเงินเดือนให้แก่จำเลยแล้ว จากนั้นจำเลยก็ได้เพิ่มเงินเดือนให้กับตนเอง โดยคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรรมการบริษัท วิธีการเพิ่มเงินเดือน ซึ่งจะต้องมีคำสั่งพร้อมลงลายมือชื่ออนุมัติในการเพิ่มเงินเดือนของกรรมการบริษัทฯ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนให้เห็นพฤติการณ์ว่า จำเลยเป็นพนักงานบริษัทระดับสูง รู้และเข้าใจวิธีการเลื่อนเงินเดือนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมามีการเลื่อนเงินเดือนให้กับพนักงานอย่างไร และ มีจำเลยเท่านั้นที่มีรหัสเข้าถึงคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มเงินเดือนพนักงานได้เพียงผู้เดียว ตลอดจน พนักงานสอบสวนไม่ได้รวบรวมข้อเท็จจริงให้เห็นว่า เหตุใดหัวหน้าของจำเลยจึงเบิกความเป็นประโยชน์ต่อจำเลย มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันอย่างไร ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยทุจริตอย่างไร ศาลจึงยกฟ้อง โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัย เนื่องจากเชื่อว่า จำเลยอาจจะไม่มีเจตนาทุจริต แต่หลงเชื่อหัวหน้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีนี้ หลังจากพนักงานอัยการสั่งไม่อุทธรณ์คำพิพากษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นแย้งขอให้อัยการสูงสุด และต่อมาอัยการสูงสุด ได้ชี้ขาดให้อุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป
๒. คดียาเสพติด
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีหลายกรณี เช่น การไม่นำสายลับไปเบิกความในชั้นพิจารณา หรือ การเบิกความไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือ สภาพที่เกิดเหตุที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เป็นต้น
ผู้เขียนขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง มีคดีหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้เสพฯ ได้ จึงได้สืบสวนขยายผล จนทราบว่าผู้จำหน่ายยาเสพติดคือนาย ก. จึงได้วางแผนทำการจับกุม พนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานโดยการสอบปากคำผู้เสพฯ ดังกล่าวเป็นพยาน ชี้ภาพผู้ต้องหา ชี้ที่เกิดเหตุ ฯลฯ พร้อมกับวางแผนเข้าล่อซื้อ แต่ปรากฎว่า นาย ก. รู้ทัน จึงไม่ยอมจำหน่ายยาเสพติด ทำให้ไม่สามารถจับกุมได้ พนักงานสอบสวน จึงได้สอบสวนปากคำผู้เสพฯ อีกหลายคน แล้วเสนอขอศาลออกหมายจับ
ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลสำคัญ ๆ ด้วยกัน ๔ ประการ ได้แก่ ก่อนเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบว่า นาย ก. กับ ผู้เสพรายอื่น ๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันบ้างหรือไม่ อีกทั้งยังไม่พบยาเสพติดของกลางอยู่ในความครอบครองของนาย ก. หรือ ธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อในครอบครองของจำเลย และ ไม่เคยสืบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์หรือการกระทำ อาชีพ ข้อเท็จจริงทางด้านการเงิน ฯลฯ ของนาย ก. มาก่อน รวมถึงพนักงานสอบสวนไม่สามารถนำผู้เสพซึ่งให้การเป็นพยานไปเบิกความในชั้นศาลได้
ดังนั้น หากพนักงานสอบสวน ทำการอุดช่องโหว่ดังกล่าว เชื่อว่าศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ โดยจะไม่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นแต่ประการใด การสืบสวนสอบสวนขยายผล ยังอาจจะกระทำได้หลายวิธี เช่น การใช้เทคโนโลยี กล้องกระดุม ให้พยานหรือสายลับนำไปติดต่อล่อซื้อกับจำเลย ฯลฯ นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจจะอุดช่องว่าง ด้วยการจัดทำ Database ข้อมูลของผู้เสพ และ ผู้จำหน่าย ฯลฯ พร้อมนำบันทึกการสืบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนประกอบสำนวน และ สอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการสืบสวน สามารถดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้จำหน่ายยาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง และศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษเสมอ หากมีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้สืบสวนไปเบิกความ ศาลก็ย่อมจะฟังลงโทษจำเลยได้เช่นกัน
๓. คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
มีตัวอย่างคดีหนึ่ง จำเลยกับผู้ตายพักอาศัยอยู่ในห้องเดียว จำเลยอ้างว่าภายหลังรับประทานแล้วก็หลับไป ไม่ทราบว่าผู้ตายโดนยิงตายได้อย่างไร พนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานบุคคลและตรวจพิสูจน์หลักฐานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ โดยตรวจสอบพบว่ามีคราบเขม่าและธาตุ Antimony & Barium ที่มือของผู้ตาย และ จำเลย แต่ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ใด ๆ จำเลยให้การว่าก่อนพบว่ามีการตายเกิดขึ้น จำเลยอยู่กับผู้ตายตลอดเวลา แต่ไม่ทราบสาเหตุการตาย
ศาลยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า หลังเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้หลบหนีไปที่อื่น ยังคงอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และหลังจากถูกสอบสวนในฐานะพยานในเบื้องต้นก็ไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังอยู่อาศัยที่บ้านผู้ตายตลอดมา อีกทั้งไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ยิงผู้ตาย ส่วนคราบเขม่าฯ ที่ติดมือจำเลย ก็เพราะจำเลยเปิดผ้าห่มคลุมร่างผู้ตาย จึงติดเขม่ามาด้วย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึ่งพนักงานอัยการ ที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ ก็ได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์เช่นกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แย้งคำสั่งคำสั่งไม่อุทธรณ์ และท้ายที่สุด อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลต่อไป
คดีนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์ สำหรับคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำปลอมแปลงเอกสาร ฯลฯ จะต้องสืบสวนสอบสวนให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดตั้งแต่แรก ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ โดยมีการสอบสวนปากคำพยานแวดล้อมให้เหตุถึงมูลเหตุดังกล่าว เช่น มูลเหตุในทางเศรษฐกิจ มูลเหตุในทาง ชู้สาว หรือมูลเหตุอื่น ๆ ฯลฯ ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงเหตุในการกระทำผิดในคดีดังกล่าว ซึ่งในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนในลักษณะที่รัดกุม ชัดเจนในระดับดีมาก เช่น กรณีนี้ ผู้ตายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศในลักษณะชายรักชาย มีการเมาสุราและตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ รวมถึงผลของการเมาสุรา จำนวนนัดการยิงที่ทำให้เห็นว่า การอ้างว่าเมาหลับไปโดยไม่ได้ยินเสียงปืน คงเป็นเรื่องผิดปกติ ลักษณะของศพที่ถูกยิง กับการจัดฉากการยิงของจำเลย รวมถึงปริมาณเขม่าที่พบที่มือจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด เพื่อหักล้างประเด็นที่จะอ้างเป็นข้อสงสัยของศาลข้างต้นในอนาคตไว้เลยสำหรับคดีที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเปิดผ้าห่ม ฯลฯ จะมีปริมาณเขม่าได้มากน้อยเพียงใด ฯลฯ ก็จะเป็นการชัดเจนยิ่งขึ้นให้ศาลลงโทษจำเลยได้ตั้งแต่ต้น
๔. คดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร
การแสวงหาพยานหลักฐานที่จะยืนยันว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ทำการปลอมแปลงเอกสารนั้นเป็นเรื่องยากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำผิดของจำเลย ซึ่งเป็นไม่ได้เลยว่าจำเลยจะยอมรับว่าทำการปลอมแปลงเอง เว้นแต่ เอกสารดังกล่าวจะมีแต่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่มี หรือ หมึกที่ใช้ในการกระทำการปลอมนั้น เป็นหมึกเฉพาะตัวของจำเลยที่ใช้เฉพาะ มีการผสมน้ำหมึกแบบพิเศษ หรือ พยานแวดล้อมอื่น ๆ จะมัดการกระทำผิดของจำเลยได้ แต่คดีส่วนใหญ่ จะมีการลงโทษในข้อหา ใช้เอกสารปลอมฯ เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการยาก เช่น การใช้ทะเบียนรถปลอม หรือ การใช้เอกสารราชการอื่น ๆ ปลอม หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ทราบอย่างแน่แท้ว่าเป็นเอกสารปลอมแล้ว ศาลก็จะพิจารณาลงโทษจำเลยได้
มีคดีหนึ่ง ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยที่ ๑ เป็นชาวเขา ได้รับเอกสารหนังสืออนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ที่ราบสูงจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อจำเลยที่ ๑ นำเอกสารมาแสดงต่อ ตำรวจสันติบาล พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ตรวจสอบไปยังอำเภอแม่ฟ้าหลวง ปรากฎว่าเป็นสารปลอม ทางอำเภอไม่ได้ออกให้ หลังจากทำการจับกุมจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ซัดทอดว่าได้จ้างจำเลยที่ ๒ ดำเนินการให้อัตราฉบับละ ๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ให้การซัดทอดว่าได้ว่าจ้างให้ นาย ค. หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือชาวเขาฯ ดำเนินการต่อไป แต่ปรากฎว่าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยอ้างว่าเป็นคำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน ปัญหาจึงต้องพิจารณาว่าผู้ใดจะเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวปลอม คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ แล้วก็ได้แต่ยืนยันว่า ดวงตราที่ประทับในเอกสารปลอม ไม่ใช่ดวงตราอันเดียวกับที่ใช้ในราชการแต่ไม่ยืนยันเกี่ยวกับลายมือชื่อของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงไปค้นบ้าน นาย ค. เจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือชาวเขาฯ ก็พบเอกสารที่มีลักษณะปลอมแปลงดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีประจักษ์พยานว่าผู้ใดเป็นผู้ปลอมแปลง หรือจัดทำขึ้น อีกทั้ง พนักงานอัยการ ยังได้สั่งไม่ฟ้อง นาย ค. ไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า ดวงตราที่ประทับ แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่าไม่ใช่ดวงตราเดียวกับที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ประจำก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าดวงตราประทับอาจจะแตกต่างกันไป เพราะโดยปกติส่วนราชการย่อมมีดวงตราประทับหลายอัน และอาจจะมีการพิมพ์หรือการใช้หมึกที่แตกต่างกันไป ส่วนลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญก็ลงความเห็นไม่หนักแน่นว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ ยังได้ใช้เอกสารดังกล่าวตลอดมา โดยไม่มีลักษณะพฤติการณ์ที่ผิดปกติ และ ไม่พยานหลักฐานแวดล้อมกรณีที่จะยืนยันว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้กระทำปลอมขึ้นมา จึงพิพากษายกฟ้อง
กรณีนี้ มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้น่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๒ และ นาย ค. ซึ่งพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไป น่าจะร่วมกันกระทำผิดจริง แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากคำซัดทอดของจำเลยที่ ๒ แต่ในทางข้อเท็จจริง พนักงานสอบสวนได้ตรวจค้นบ้านของนาย ค. ด้วย และ พบว่ามีเอกสารปลอมที่มีลายมือชื่อ และอยู่ในความครอบครองของนาย ค. พยานหลักฐาน จึงชี้ชัดว่า นาย ค. เป็นผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำผิด ดังนั้น ในการสอบสวนคดีประเภทนี้ จะต้องพิจารณาว่า ควรจะต้องมีการใช้เทคนิควิธีในการล้วงหรือแสวงหาความจริง แล้วกันจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ เป็นพยาน เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษหรือไม่ เพราะความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลง ย่อมเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าผู้ใดทำปลอมเอกสารนั้น ซึ่งกรณีนี้ ถือว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเต็มที่แล้ว แต่เป็นบทเรียนในการสอบสวนในครั้งต่อไป ควรที่จะต้องมีการป้องกันปัญหาการสั่งไม่ฟ้อง และไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในลักษณะนี้อีกในอนาคต


โดย: POL_US วันที่: 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา:23:01:10 น.  

 
๕. คดีทำร้ายร่างกาย
ข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาทำให้ศาลยกฟ้องในคดีทำร้ายร่างกายมีหลายประการ เช่น ในขณะที่ถูกทำร้าย ผู้เสียหายเอามือปิดหน้าอยู่ ไม่อาจจะยืนยันว่าใครทำร้ายร่างกายบ้าง กล่าวคือ ศาลยกฟ้องเพราะไม่รู้ว่าใครเอาเท้าถีบ ใครเตะ ใครทุบใครตี จนผู้เสียหายนอนจมกองเลือด ทั้ง ๆ ที่จริง ในแต่ละคดี จะมีพยานแวดล้อมกรณี หรือ มีข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่สามารถยืนยันตัวผู้กระทำผิดได้ ตัวอย่างเช่น
๕.๑ ผู้เสียหาย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดมาก่อน มีเพียงแต่กับจำเลยเท่านั้น
๕.๒ ผู้เสียหาย อาจจะจดจำผู้กระทำผิดได้ เพราะเคยรู้จักกันมาก่อน มานาน จำเสียงได้เป็นอย่างดี แม้ไม่เห็นหน้าก็จำได้
๕.๓ ผู้เสียหาย สามารถยืนยันตัวคนร้ายได้ แม้จะใช้เวลาในการระลึกความจำ (Recollection) ไปบ้าง หากภายหลังมีข้อเท็จจริงที่กระตุ้นความทรงจำ เช่น หายจากการบาดเจ็บ หรือ การกระทบกระเทือนทางสมองแล้ว ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ ได้เห็นสภาพที่เกิดเหตุ ฯลฯ เหล่านี้ จะเป็นปัจจัยที่จะไปสู่การชี้ภาพ และชี้ตัวคนร้ายได้ ความแม่นยำ เที่ยงตรง ในการชี้ภาพคนร้าย จึงเป็นปัจจัยที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำผิดที่แท้จริงเป็นผู้ใด
๕.๔ ผู้เสียหาย อาจจะจดจำลักษณะพิเศษของคนร้ายได้ เช่น การมีหนวดเครา หรือ การมีลายสัก หรือ การมีลักษณะพิเศษ ฯลฯ ซึ่งประเด็นพวกนี้ พนักงานสอบสวนควรจะต้องสอบสวนปากคำของผู้เสียหายไว้ตั้งแต่ต้นในชั้นสอบสวน เพราะเคยมีหลายคดีที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนปากคำผู้เยาว์ โดยใช้ศัพท์เทคนิค ที่เด็กหรือผู้เยาว์อาจจะไม่เข้าใจ หรือ เพราะความเกียจคร้านของพนักงานสอบสวน ที่มุ่งสอบตัดประเด็น เช่นในคดี ทำร้ายร่างกาย และวิ่งราวทรัพย์คดีหนึ่ง พนักงานสอบสวนสอบถามผู้เยาว์เกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณคนร้าย โดยใช้ศัพท์เทคนิคดังกล่าว (โดยมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สหวิชาชีพอยู่ด้วย) และไม่อธิบายว่า มันหมายถึง แผลเป็น ลายสัก ลักษณะเด่น ฯลฯ ทำให้เด็กไม่ตอบ แต่ในชั้นพนักงานอัยการ มีนักจิตวิทยามาอธิบายเพิ่มเติมในภายหลัง ทำให้พนักงานอัยการ นำสืบประเด็นรอยสักหรือลักษณะเด่นของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาล ปรากฎว่า คดีนี้ยิ่งกลายเป็นผลร้าย เพราะศาลไม่เชื่อถือ เพราะหากจำเลยมีตำหนิรูปพรรณเด่นชัดจริง เหตุใดพนักงานสอบสวนไม่ทำการสอบสวนเอาไว้ตั้งแต่ต้น
ดังนั้น ในคดีทำร้ายร่างกาย พนักงานสอบสวน อาจจะต้องทำการสอบสวนเหมือนดังการเล่าเรื่องหรือแต่งนิยายให้เห็นเป็นฉาก ๆ อย่างต่อเนื่องว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหาย กับจำเลยเคยมีความสัมพันธ์ หรือ สถานภาพต่อกันอย่างไร รู้จักกันยาวนานเพียงใด มีสาเหตุอันเป็นแรงจูงใจให้มีการทำร้ายกันหรือไม่ เหตุที่จดจำคนร้ายได้ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของคนร้าย หรือ ข้อเท็จจริงอื่นที่ทำให้จดจำได้ ความสามารถในการชี้ตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทันทีทันใด โดยไม่ลังเล หรือ ในกรณีที่ผู้เสียหายบาดเจ็บ อาจจะมีกรณีที่จะต้องใช้เวลาในการระลึกความทรงจำ (Recollection) ก็จะต้องอธิบายถึงเหตุที่จำให้ต้องใช้เวลาในการระลึกความทรงจำว่าผู้ร้ายเป็นผู้ใด ซึ่งเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ทุกประการ ในกรณีนี้ จึงอาจจะต้องสอบสวนปากคำแพทย์เพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายร่างกาย อาจจะต้องใช้เวลาในการระลึกความทรงจำ ไม่ใช่เหตุของการสงสัยในการยกฟ้องจำเลยแต่ประการใด หากมีกรณีที่ศาลยกฟ้อง องค์กรตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ชอบที่จะแย้งให้พนักงานอัยการก็ชอบที่จะอุทธรณ์ให้ศาลสูงได้พิจารณาชี้ขาดต่อไป หากพนักงานอัยการสั่งไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
๖. คดีลักทรัพย์หรือรับของโจร และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อื่น ๆ
คดีประเภทนี้ โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการดำเนินคดีกับผู้รับซื้อของโจรนั้น พนักงานสอบสวน มักจะพ่วงข้อหาร่วมกันลักทรัพย์เข้าไปด้วย หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าของอู่รถยนต์ หรือร้านรับซื้ออะไหล่มือสองมีส่วนร่วมหรือเป็นตัวการร่วม ก็เป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง แต่พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ปรากฎข้อเท็จจริงเช่นนั้นด้วย
มีข้อเท็จจริงคดีหนึ่ง ที่เจ้าหน้าตำรวจได้จับคนร้ายลักทรัพย์ในคดีอื่นได้ แล้วคนร้ายยอมรับว่าได้นำรถจักรยานยนต์ที่ลักมาไปขายให้แก่จำเลย เมื่อการทำการตรวจค้นอู่ของจำเลยพบแผ่นป้ายทะเบียนรถของกลางซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย อยู่ในอู่ของจำเลย จึงได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับจำเลยว่า ร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธในเวลากลางคืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้ยานพาหนะและพาอาวุธไปในเมือง ฯ โดยผิดกฎหมาย โดยมีผู้เสียหาย เป็นประจักษ์พยานปากเดียวยืนยันว่า ได้ถูกชายคนร้ายสองคนขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไป โดยคนร้ายที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้ลงมาใช้มีดฟันที่ใบหน้าของผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ พยานจดจำใบหน้าคนร้ายได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เห็นว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นผู้ใด ไม่อาจจะจดตำหนิรูปพรรณคนร้ายได้
ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา และพนักงานอัยการเห็นฟ้องด้วยจึงสั่งไม่อุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่าไม่พยานแวดล้อมว่าจำเลยเจ้าของอู่เป็นคนร้ายในคดีนี้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานอัยการ ซึ่งท้ายที่สุดอัยการสูงสุดชี้ขาดให้อุทธรณ์เฉพาะข้อหารับของโจรเท่านั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้ มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่า แผ่นป้ายทะเบียนของผู้เสียหาย อยู่ในครอบครองของเจ้าของอู่รถยนต์ คือ จำเลยในคดีนี้ ได้ถูกตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ ในลักษณะการทำลายพยานหลักฐาน จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ทรัพย์ดังกล่าวได้มาโดยผิดปกติ การรับไว้จึงเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจร
คดีนี้ จะเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวน ไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานแสดงให้ว่า จำเลย เจ้าของอู่ ได้ร่วมรู้เห็น หรือ มีการวางแผนในการกระทำผิดของผู้กระทำผิดรายอื่นด้วย มีเพียงแผ่นป้ายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยเท่านั้น จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ หรือร่วมวางแผนด้วย หรือ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร
ในคดีเกี่ยวกับการรับของโจรนั้น หากพิจารณาตามหลักการทั่วไปแล้ว จะพิจารณาปัจจัยที่จะนำไปสู่การชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ เช่น
๖.๑ คดีนี้ หากพนักงานสอบสวนสอบสวนปากคำผู้ตรวจค้นให้ชัดเจน ถึงลักษณะแผ่นป้ายที่ถูกซุกซ่อนในถุง ในลักษณะถูกทำลาย ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตแต่ต้น คือ รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีปัญหา ถูกลักมาแน่นอน
๖.๒ ในกรณีที่จำเลยให้การว่าไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา จะต้องทำการสอบสวนเกี่ยวกับราคาทรัพย์ที่รับซื้อไว้ ราคาทรัพย์ในตลาด เพื่อเปรียบเทียบกัน
๖.๓ จะต้องมีการตรวจสอบว่า จำเลยเป็นผู้มีวิชาชีพ หรือ อาชีพค้าขายของชนิดนั้น ๆ หรือไม่ ใช้ความระมัดระวังในการรับซื้อมากน้อยเพียงใด
๖.๔ ปัจจัยอื่น ๆ หรือ พฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้รับซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งทรัพย์ดังกล่าว ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นของโจร
ส่วนคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ยักยอก หรือ ฉ้อโกง กับปัญหาที่ว่าจะเป็นความรับผิดทางแพ่ง หรือสัญญาในทางแพ่งหรือไม่ กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวน มักจะประสบปัญหาตั้งแต่การวิเคราะห์กฎหมายที่บางครั้งพนักงานสอบสวนขบไม่แตกว่าเป็นความผิดอาญาฐานใดกันแน่ จะต้องร้องทุกข์หรือไม่ และ จะพิสูจน์ความผิดอย่างไร จึงมีข้อสังเกตว่า พนักงานสอบสวนจะต้องวิเคราะห์ให้แตกว่า การกระทำของผู้ต้องหานั้น เป็นการแย่งการครอบครองในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์หรือไม่ ถ้าคำตอบว่าใช่ ย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการที่จะเป็นยักยอกนั้น ก็จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ แล้วภายหลังผู้ครอบครองไว้เบียดบังเป็นของตนเอง ซึ่งกรณีนี้ จะต้องพิจารณาเรื่องสถานที่เกิดเหตุว่าเจตนายักยอกเกิดขึ้นที่ใด เช่น การฝากทรัพย์มากับเพื่อนตั้งแต่ต่างประเทศ มาให้ภรรยาของตนในเมืองไทย แต่เพื่อนดันบอกว่าไม่เคยรับฝากไว้เลย ก็จะต้องสอบสวนให้เสร็จสิ้นว่าเจตนาน่าเชื่อจะเกิดที่ใดแน่ กรณีนี้ หากภรรยาไปทวงถามจากเพื่อนของสามี แล้วได้รับการปฏิเสธ ก็น่าเชื่อว่า เจตนายักยอกเกิดขึ้น ณ จุดนั้น อันเป็นท้องที่เกิดเหตุและมีอำนาจสอบสวน ส่วนการฉ้อโกง จะต้องมีการหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบทรัพย์ เพราะหลงเชื่อ ดังนั้น จึงต้องมีการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงถึงเจตนาที่แท้จริงว่ามีเจตนาหลอกลวงตั้งแต่ต้นหรือไม่ เช่น การเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในราคาต่ำแล้วก็หายไปเลยไม่เคยส่งค่าเช่าซื้อ หรือ ส่งมาแค่สองสามงวดแล้วหนีหายไปเลย เป็นต้น หรือ กรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ให้ไปขาย โดยแจ้งว่าจะไปขายเท่าไหร่ก็ได้ แต่เจ้าของทรัพย์ขอรับเป็นส่วนแบ่งที่แน่นอน เช่นนี้ ก็จะเป็นสัญญาตัวแทน ไม่ใช่ความผิดทางอาญา หากภายหลังผู้ที่เป็นตัวแทนไม่ยอมส่งมอบเงินที่ขายได้ให้กับตัวการ หรือ ผู้ส่งมอบทรัพย์นั้น ในทางตรงกันข้าม หากมีการกำหนดราคาไว้แน่นอน ห้ามขายเกินราคาที่กำหนดไว้ โดยผู้ขายได้รับส่วนแบ่งหรือค่าจ้าง เช่นนี้ หากมีการนำสินค้าไปขาย แล้วไม่นำเงินให้กับเจ้าของทรัพย์ ย่อมเป็นความผิดอาญา ไม่ใช่เรื่องความผิดทางแพ่งอีก ดังนั้น จะต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงให้แตกว่าเป็นอะไรกันแน่
ในบางกรณี มีเสมอว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับสิ่งของหรือทรัพย์สินจากผู้เสียหายไปแล้ว ในชั้นสอบสวนให้การปฎิเสธและไม่ขอให้การอะไร ต่อมาในชั้นศาลปฎิเสธว่าลายมือชื่อที่ลงชื่อรับสิ่งของไปนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของตนเอง กรณีนี้ จะเกิดปัญหาอย่างมาก เพราะไม่มีการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเอาไว้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ดังนั้น เมื่อมีกรณีเช่นนั้น พนักงานสอบสวนควรจะต้องร้องขอให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ แล้วส่ง กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบไว้ก่อน เพื่อเป็นการป้องกันการกล่าวอ้างดังกล่าวในชั้นศาล
บางกรณี ศาลยกฟ้อง เพราะไม่แน่ว่า จำเลยได้รับมอบทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีบริษัทเล็ก ๆ การส่งมอบทรัพย์สิน ก็จะไม่ค่อยมีการให้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ แต่จะมีระบบการตรวจสอบในภายหลังว่าสินค้าครบถ้วนหรือไม่ ดังนั้น พนักงานสอบสวน ก็ชอบจะทำการสอบสวนให้เห็นว่าระบบการทำงานและตรวจสอบทรัพย์สินเป็นอย่างไร มีข้อเท็จจริงอะไรที่น่าสงสัย จะต้องทำให้การสืบสวนสอบสวนให้สิ้นกระแสความไปทั้งหมด
๗. ประเด็นอื่น ๆ
๗.๑ ประเด็นเกี่ยวกับแสงสว่างนั้น พนักงานสอบสวน อาจจะต้องตรวจสอบว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุ เป็นฤดูร้อน หรือ ฤดูหนาว ซึ่งจะมีแสงสว่างแตกต่างกัน มีบางคดีที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่เชื่อคำเบิกความพยานที่ระบุว่ายังมีแสงสว่างมองเห็น ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาเกือบ ๑๙.๐๐ น. ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะในขณะเกิดเหตุ เป็นระหว่างช่วงฤดูร้อนซึ่งมีแสงสว่างมาก และกว่าจะมืดอาจจะเป็นเวลากว่า ๑๙.๐๐ น. ไปแล้ว เช่นนี้ พนักงานสอบสวนอาจจะต้องมีการนำพยานหลักฐานยืนยัน เวลาพระอาทิตย์ตกดินในขณะเกิดเหตุ ตามที่ปรากฏในเอกสารราชการ เป็นต้น
๗.๒ ประเด็นเกี่ยวกับสายลับนั้น กรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่นำสายลับไปเบิกความชั้นศาลนั้น เห็นว่าไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เพราะไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่ใดในโลกนี้ เรียกร้องให้นำสายลับไปเบิกความ แต่จะใช้วิธีการให้พนักงานสอบสวน หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับข่าวจากสายลับไปเบิกความ ซึ่งจะต้องมีประเด็นที่สำคัญได้แก่ ความถูกต้องแม่นยำของข่าวสารที่ได้รับจากสายลับ ผลการดำเนินการตามที่สายลับแจ้ง เช่น ผลคดีที่เกิดจากสายลับแจ้งข่าว การดำเนินการสืบสวนประกอบก่อนจับกุมผู้กระทำผิดตามที่สายลับแจ้งข่าวเอาไว้ เป็นต้น หากมีการดำเนินการข้างต้นแล้วมีการเบิกความต่อศาลให้เห็นถึงความถูกต้อง แม่นยำของข่าว ประเด็นการยกฟ้องเพราะเหตุนี้ น่าจะหมดไป ซึ่งทั้งนี้ ทั้งนั้น ผู้บริหาร ตร. จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติดังกล่าวต่อศาลยุติธรรมด้วย
๗.๓ ควรจะต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินการสอบสวนให้ชอบด้วยกฎหมาย และมีจุดเชื่อมโยงของข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และ ภายหลังเกิดเหตุ เท่าที่ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนจะพบว่า พนักงานสอบสวนรุ่นใหม่ จะขาดทักษะในการปะติดปะต่อเรื่องราว และขาดความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานในการต่อภาพทีละอันทีละอันจนกลายเป็นภาพใหญ่ ในการดำเนินการสอบสวน จึงควรจะต้องมีการสอบสวนปากคำเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน หรือ แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนเองให้เห็นภาพรวมของเรื่องราวว่ามีการรับแจ้งเหตุ แล้วดำเนินการอย่างไร ได้พยานหลักฐานแต่ละชิ้นมาอย่างไร มีการสืบสวนเพื่อรวบรวมข้อมูลให้สมบูรณ์ โดยมีจัดทำบันทึกสืบสวนประกอบอย่างไรบ้าง เป็นต้น
๗.๔ พนักงานสอบสวน จะต้องไม่ใช้อารมณ์ และความรู้สึก บางครั้งพนักงานสอบสวนอาจจะทุ่มเท เสียสละ และ เอาจิตใจเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายผู้เสียหายมากจนเกินไป จนยอมกระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้มีโมหะคติ ไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหา หรือ ไม่ยอมนำพยานหลักฐานบางประการเข้ามาในสำนวนเพราะจะทำให้พยานหลักฐานที่จะลงโทษจำเลยอ่อนลง
๗.๕ พนักงานสอบสวนจะต้องมีความวิริยะอุตสาหะ และมีการวางแผนหรือการอำนวยการสืบสวนสอบสวนคดีที่ดี เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า พนักงานสอบสวนมีจำนวนไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน ทำให้พนักงานสอบสวนรับคดีแล้วก็ใช้เพียงหมายเรียก หรือ หมายอาญาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งทำเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยสมบูรณ์ เพราะบางคดียุ่งยาก สลับซับซ้อน จะต้องมีการประชุมคดีโดยหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดังนั้น หากเป็นพนักงานสอบสวนที่ไร้ความรับผิดชอบ ก็จะสอบตัดพยาน หรือ ตัดข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อทำให้สำนวนมัน “เสร็จ เสร็จ” ไปเท่านั้น
การดำเนินการที่ไม่มีความรับผิดชอบและไม่เห็นใจกับเหยื่ออาชญากรรมดังกล่าว พนักงานสอบสวนย่อมจะมีความรับผิดทางอาญาและวินัยตามมา และที่สำคัญที่สุด คือ ความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระบวนการยุติธรรมโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนวางแผนในการจัดทำสำนวนการสอบสวนเป็นอย่างดี ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ผู้บริหารงานสถานีตำรวจมีความรู้ ความเข้าใจ และ มีความสามารถแล้ว ย่อมจะทำให้งานอำนวยความยุติธรรมของตำรวจได้รับการยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป
๗.๖ ในบางกรณี พบว่าพนักงานสอบสวนได้สอบถามปากคำผู้ต้องหาจนทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร แต่ปรากฎว่า พนักงานสอบสวนทำสำนวนไปอีกทางหนึ่ง เช่น มีอยู่กรณีหนึ่ง พนักงานสอบสวน จับกุมผู้ต้องหาได้สืบเนื่องจากคดีรถยนต์เฉี่ยวชนกัน เมื่อสอบปากคำจึงทราบว่าไม่ใช่รถยนต์ของผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องหาก็ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบแล้วว่าเป็นรถยนต์ที่นายจ้างมอบให้ไว้ในความครอบครองของผู้ต้องหา โดยนายจ้างเป็นภรรยาของเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อทั้งนายจ้าง และ สามีนายจ้าง ปรากฎว่า พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหาลักทรัพย์ด้วยทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหาก็ได้แจ้งแล้วว่า นายจ้างของตนเป็นภรรยาของเจ้าของทรัพย์ และได้นายจ้างได้นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้โดยวิสาสะ แต่พนักงานสอบสวนก็แนะนำให้ผู้ต้องหา นำข้อเท็จจริงดังกล่าวไปสู้คดีในชั้นศาล โดยไม่ยอมสอบสวนปากคำ และไม่ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแม้เพียงเล็กน้อย ภายหลังพนักงานสอบสวนได้เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นศาลทั้งหมด ดังนั้น จึงได้มีการสั่งการให้ดำเนินการทางวินัยกับพนักงานสอบสวนและหัวหน้าพนักงานสอบสวนต่อไป เพราะถือว่าได้กระทำผิดต่อหลักจรรยาบรรณและหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างชัดแจ้ง เพราะหากกรณีนี้ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ก็จะไม่มีคดีต้องรกโรงรกศาล เสียเวลาและทรัพยากรในการต่อสู้คดีกันมากมาย

บทสรุป
ที่ได้กล่าวไปนั้น เป็นเพียงประสบการณ์ที่ได้รับจากการตรวจสอบสำนวนคดีอาญาหลายพันสำนวนตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนิติกร กองคดีอาญา และส่วนตรวจสอบสวนคดีอุทธรณ์และฎีกา ตลอดจนในฐานะฝ่ายอำนวยการให้กับผู้บังคับบัญชาในสายงานกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ผู้เขียนจึงเห็นว่ายังมีหัวข้ออื่นที่น่าสนใจมากมาย แต่ไม่อาจจะนำมากล่าวไว้ในที่นี้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ยอมรับว่าการสอบสวนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่อาจจะต้องสนใจวิชาการตำรวจ วิชาการตำรวจ และติดตามแนวทางคำพิพากษาสม่ำเสมอ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานในหน้าที่ของตนเอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงมิกล้าจะกล่าวว่า การสอบสวนคดีอาญานั้นมีหลักเกณฑ์ตายตัวอย่างไรบ้าง ในทางตรงกันข้ามผู้เขียนเห็นว่าประสบการณ์ตรงของพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายปฏิบัติเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าที่จะมาเติมเต็มความรู้เชิงทฤษฎีในฐานะนักวิชาการตำรวจให้มีเห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ผู้เขียนจึงขออนุญาตสรุปว่า งานสอบสวนและงานวิชาการล้วนแต่เป็นส่วนเติมเต็มให้กันและกัน และหากตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสมศักดิ์ศรี สมกับความไว้วางใจที่รัฐมอบอำนาจการสอบสวนคดีอาญาเกือบทั้งหมดไว้ที่องค์กรตำรวจ เพื่อผดุงความยุติธรรมแก่สังคมให้ได้ ประชาชนจะเชื่อถือศรัทธาตำรวจและเคารพเชื่อฟังกฎหมายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ตำรวจก็สามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาฟ้องต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม โดยไม่ผิดตัวเลย สังคมก็จะเกรงขามในฝีมือและเกียรติภูมิของตำรวจ ไม่กล้ากระทำผิด สังคมก็จะอยู่อย่างเป็นสุข นักลงทุน พ่อค้า ก็จะเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเท่ากับว่า ตำรวจได้ทำหน้าที่อย่างดีและสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติโดยรวมที่สำคัญที่สุดไปด้วย


โดย: POL_US วันที่: 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา:23:01:51 น.  

 
ผมค้นหาข้อมูลกฎหมายบ่อยๆ และมักจะได้อ่านบทความของท่านอาจารย์บ่อยๆ ครับ

ได้ความรู้ และเป็นประโยชน์มาก เพราะมีทั้งหลักวิชาการ และการปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ขอบคุณครับ


โดย: ปกรณ์ ธรรมโรจน์ IP: 110.169.205.177 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:4:52:24 น.  

 
เป็นความรู้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ


โดย: somphong IP: 125.25.77.142 วันที่: 1 มีนาคม 2556 เวลา:13:38:16 น.  

 
ยินดีครับผม


โดย: POL_US วันที่: 14 มิถุนายน 2556 เวลา:10:50:58 น.  

 
สวัสดีครับ ผมชื่อลักครับ ผมขออนุญาติเรียนปรึกษาดร.ศิริพล เกี่ยวกับเรื่องคดีความได้มั้ยครับ เนื่องจากผมได้อ่านบทความที่ ดร.ศิริพลเขียนไว้ มีเกี่ยวกับเรื่องของพนักงานสอบสวน คดีที่ผมเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ครับ แต่ถ้าท่านไม่สะดวก ก็ขอขอบคุณครับ


โดย: luckinho IP: 171.96.182.66 วันที่: 24 มีนาคม 2558 เวลา:9:45:49 น.  

 
ขอบคุณครับ...ขออนุญาติแชร์ผ่านเฟสบุ๊คเพื่อเป็นความรู้วิทยาทานกับผู้อ่านผู้สนใจ


โดย: Pairat IP: 171.101.69.134 วันที่: 5 สิงหาคม 2558 เวลา:11:41:58 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: POL_US วันที่: 30 ตุลาคม 2558 เวลา:9:44:13 น.  

 
บันทึกสั่งการเมื่อไม่มานมานี้อีก โดยย้ำหลักการให้พนักงานสอบสวนทำการรวบรวมพยานหลักฐานอื่นทั้งปวง เพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งในด้านความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาให้สมบูรณ์ ก่อนออกหมายเรียกตัวมาเพื่อสอบปากคำ.
ขอทราบรายละเอียดของบันทึกสั่งการฯที่กล่าวถึงได้ไหมคะว่าสั่งไว้เมื่อใด เป็นการสั่งการโดยเคร่งครัดหรือไม่ อย่าไร สามรถค้นหาได้ที่ไหนคะ. ขอบคุณค่ะ


โดย: กุณ IP: 110.168.7.200 วันที่: 22 กรกฎาคม 2560 เวลา:15:29:10 น.  

 
ขออนุญาต แชร์เก็บไว้อ่านครับ


โดย: นพดล IP: 223.24.102.21 วันที่: 30 มกราคม 2561 เวลา:7:56:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.