*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
กรณี iTV อีกสักหน .....

Blog นี้ เขียนก่อนที่จะมีคำพิพากษาไม่กี่ชั่วโมง ตอนแรก ก็กะว่าจะนั่งถ่างตา รออ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ว่า ผลการตัดสินของศาลปกครอง จะเป็นอย่างไร แต่ผมเดาว่า ด้วยหลักการ และการตีความบนพื้นฐานทางกฎหมายที่ผมร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา และ ประเทศไทย ในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายมหาชนนั้น เชื่อว่า กฎหมายที่กำหนดเรื่องการโอนย้ายสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ไปเป็นของกรรมการ ๕ คน นั้น เป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ ขัดต่อหลักการทั่วไปในเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชล รวมถึง หลักการคุ้มครองเรื่อง Freedom of Speech ซึ่งเป็นสารัตถะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุผล ในเรื่องหลักการให้บริการสาธารณะ (การรับรู้ข่าวสารของประชาชน) ที่ต้องต่อเนื่องโดยไม่หยุดขาดตอนลงแม้แต่วินาทีเดียว กับ เรื่องการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัฐบาล (ภายใต้อุ้งตีนทหาร) ชุดนี้ น่าจะทำให้ศาลปกครอง จะต้องเข้ามาคุ้มครอง การสั่งปิดสถานีไอทีวีฯ ครั้งนี้





หากจะว่าไปจริง ๆ สถานการณ์ที่จนมุมอับเช่นนี้ ก็เกิดจากการที่ศาลปกครองเองที่ตัดสินว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงหนี้ค่าสัมปทานของไอทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ มีข้อโต้แย้งมากมายในทางกฎหมาย เพราะประเทศไทย มีกฎหมายที่กำหนดเรื่องให้ศาล ซึ่งรวมถึงศาลปกครอง ต้องเคารพและปฎิบัติตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการด้วย โดยกำหนดให้ศาลมีทางเลือกในการไม่ต้องพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ เพียงไม่กี่ประการ ซึ่งแคบมาก ๆ ได้แก่ กรณีคณะกรรมการฯ ทุจริต หรือ คำตัดสินฯ นั้นขัดต่อความกฎหมายและความสงบเรียบร้อยฯ ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องตีความแคบมาก ๆ เพราะมิฉะนั้นแล้ว กระบวนการอนุญาโต ที่ลงทุนลงแรงอย่างมากมาย โดยบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือ และปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ โดยเคร่งครัด ซึ่งทั่วโลก ยอมรับนับถือ จะกลายเป็นศูนย์ไปทันที ซึ่งไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการระงับข้อพิพาทที่จะต้องรวดเร็ว และเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างภาระที่ไม่สมควรอย่างยิ่งด้วย

กรณี iTV ถ้าพูดภาษาเพราะ ๆ หน่อย คงจะเป็นการ "วิสามัญฆาตรกรรม" เศษเสี้ยว และความหลัง เมื่อครั้งที่บริษัทของอดีตนายกทักษิณฯ เคยเข้าถือหุ้น ให้หมดสิ้นราบคาบไป ถ้าจะพูดหยาบ ๆ ก็คือ การข่มขืนแล้วฆ่า หรือ การปล้นกลางแดด แล้วออกกฎหมายที่ดูเหมือนจะชอบธรรมออกมา เพื่อให้เกิดความชอบด้วยกฎหมายในการปล้นทรัพย์เขามาโดยรัฐบาลภายใต้อุ้งตีนทหารชุดนี้

สถานี iTV ในขณะดำเนินกิจการ ได้จ่ายเงินค่าสัมปทานให้แก่รัฐมาโดยตลอด ได้ขออนุมัติสำนักปลัดนายกฯ (สปน.) ขอปรับผังรายการ ซึ่งได้รับอนุมัติอย่างชอบด้วยกฎหมาย อยู่ดีคืนดี เปลี่ยนรัฐบาล บอกว่า การกระทำของรัฐบาลชุดเดิม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กูรัฐบาลผู้ทรงคุณธรรม ไม่เอาด้วย การกระทำเยี่ยงนี้ ทำไม่ได้ เพราะขัดต่อหลักความต่อเนื่องของการกระทำของรัฐบาล หากไม่เคารพ อีกหน่อย จะไม่มีใครกล้าทำอะไรกับประเทศไทย เพราะมันกลับกรอก เปลี่ยนรัฐบาลทีหนึ่ง เงินที่ให้กู้ยืมไว้ สัญญาที่เขียนและตกลงกันไว้ บอกว่า ยกเลิก เพราะมันไม่ดี และเป็นการกระทำของรัฐบาลก่อน ไม่เกี่ยวกับกู เยี่ยงนี้ ใครจะมาคบค้าสมาคมด้วย

สำนักปลัดฯ จึงเป็นจุดเริ่มที่หน้าด้านที่สุด ที่อยู่ดี ๆ ก็บอกว่า ปรับผังรายการไม่ชอบ พร้อมกับกำหนดค่าปรับ หน้าด้าน ๆ เป็นแสนล้านฯ รัฐบาลภายใต้อุ้งตีนทหาร ได้ดำเนินการเข้าปล้น สถานีไอทีวี ต่อไป ยึดมาเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ อย่างหน้าด้าน ๆ ไม่มีหรอกครับที่ประเทศไหน จะกระทำกันแบบนี้ ยกเว้นแต่บ้านป่าเมืองเถื่อน ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ ถ้าเราจ้างนาย ก. ทำงานให้เรา เขาไปซื้อไม้ ซื้อปูน ลงทุนลงแรง ปักเสาเข็ม ฯลฯ ต่อมาเขาเกิดปัญหาทางการเงิน สร้างบ้านให้เราได้แค่ครึ่งหนึ่ง จึงมาขอให้เราจ่ายค่าแรงให้ แล้วขอให้เราไปจ้างผู้ดำเนินการรายใหม่ มาทำบ้านต่อ เพราะเขามีปัญหาทำต่อไปไม่ได้ ถามว่า เราจะอ้างว่าเขาผิดสัญญา ยึดหมด ไม่จ่ายอะไรให้เขาเลย เช่นนั้นหรือ ตามหลักกฎหมายสากลแล้ว ย่อมทำไม่ได้ จะไปปล้นเอา การลงทุนลงแรงของเขามาฟรี ๆ เช่นนั้นได้ที่ไหน เขาผิดสัญญา แต่เขาก็มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ส่วนเราจะเสียหาย จากการหาผู้รับเหมารายใหม่ มาดำเนินการสร้างงานให้เสร็จ ก็สามารถคิดเอาค่าเสียหายนั้นกับ ผู้ที่ผิดสัญญาได้ แต่ไม่ใช่ยึดเอาหยาดเหงื่อแรงงานเขามาฟรี ๆ ดังเช่นที่ รัฐบาลชุดนี้ ยึดเอาทรัพย์สินของไอทีวีมาอย่างไร้ยางอาย

เงินที่เขาจ่ายไว้ทั้งหมด ก็เอา ทรัพย์สินก็จะเอา ค่าปรับก็จะเอา โดยอ้างว่า เขาทำผิดสัญญา ไม่จ่ายเงินให้ตามที่ตัวเองกำหนดไว้อย่างหน้าด้าน ๆ เป็นแสนล้าน ใครก็ไม่มีปัญญาจะจ่าย หลังจากยึดแล้ว ก็ดำเนินการออกกฎหมาย ยึด แล้วเอาไปยกให้คนอื่น โดยจ่ายเงินค่ายกให้ด้วยเป็นพันล้านบาท ... ลองคิดดูแล้วกัน ตรรกะง่าย ๆ คือ

(๑) iTV ประกอบกิจการ ไม่ได้ตามเป้าหมาย (เรียกง่าย ๆ ขาดทุน)

(๒) รัฐอ้างเหตุผลตามข้อ (๑) ยึด iTV (ยึดเพราะขาดทุน)

(๓) ทางแก้ไข หลังยึด iTV ออกกฎหมายเป็นเจ้าของเอง แล้วยกให้ ให้คณะกรรมการฯ พร้อมแถมเงินค่าบริหาร ให้ด้วย ๒ พันล้าน

คำถามง่าย ๆ คือ วิธีการของรัฐบาล ที่ดำเนินการตามข้อ (๓) นั้น แก้ไขปัญหา (๑) ได้จริงหรือไม่ พูดง่าย ๆ คือ ปล้นเขามา เพราะอ้างว่า ขาดทุน แต่เอาไปยกให้คนอื่น แถมเงินให้ด้วยนี่ เป็นการแก้ไขปัญหา ขาดทุนจริงหรือไม่




หากคิดในกรอบการร่างกฎหมายแล้ว ฐานที่ใช้ในการกฎหมาย กับ วิธีการแก้ไขปัญหา นั้น ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง กฎหมายนี้ จึงต้องถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปอย่างร้ายแรง ไม่ใช่ว่า เป็นรัฐบาลแล้ว จะออกกฎหมายอะไรมาก็ได้ การจำกัดสิทธิ์ฯ หรือ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพนั้น มันมีขอบเขตอย่างมาก ๆ โดยเฉพาะ ขอบเขตที่เป็นเรื่อง เสรีภาพในการสื่อสารและเสรีภาพในการพูด แล้ว ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น

รัฐบาลชุดนี้ กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะ ข้อพิพาทในเรื่อง iTV ยังไม่ยุติลงเลย ก็ออกกฎหมาย มาปิดปากเช่นนี้ ยิ่งใช้ไม่ได้เข้าไปใหญ่ ผมหวังว่า ศาลปกครอง จะกล้าวินิจฉัย และ แก้ไขปัญหาที่ตัวเองสร้างเอาไว้ด้วยดี เรื่องการปิดสื่อสารมวลชนนี้ ต้องคิดให้รอบด้าน และ คิดให้หลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่มองว่า มันเคยมีคนชื่อ ทักษิณฯ ครองงำ หรือ ถือหุ้นฯ แค่นั้น ... แต่ถ้าใครจะคิดแค่นั้น ก็เตรียมรับผิดชอบผลที่ตนคิดไว้ และยอมรับผลในวันข้างหน้าว่า ใครมีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ หากเดือดร้อนจากการถูกรังแก โดยคนที่มีอำนาจในอนาคต มันผู้นั้น ก็อย่าได้ปริปากบ่นให้ใครเขาได้ยิน ...




พรุ่งนี้ มาติดตามผล ... หากศาลปกครอง คุ้มครองฯ กลุ่มผู้เสียหาย น่าจะฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เพิกถอนกฎหมายนี้ ต่อไป แต่อย่างไรก็ถาม น่าเชื่อว่า แม้ว่าจะมีความพยายามฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่เคยพิพากษากรณียุบพรรคอย่างผิดหลักกฎหมายมาแล้ว ย่อมน่าเป็นห่วงว่า ไม่น่าจะเกิดผลดี อะไร เพราะ อะไร เรา ๆ ท่าน ๆ คงจะตอบได้เอง


Create Date : 17 มกราคม 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 9:07:34 น. 6 comments
Counter : 1384 Pageviews.

 
กระจ่าง


โดย: อุ้ม IP: 124.120.168.116 วันที่: 17 มกราคม 2551 เวลา:16:41:05 น.  

 
ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เห็นแต่ข่าว รู้สึกผิดหวังพอสมควร กับการตีความกฎหมายของศาลปกครอง แต่น่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะศาลปกครอง ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ออกมานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีแต่อำนาจ วินิจฉัยว่า คำสั่งที่ออกมานั้น ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่

ซึ่งหากมองจริง ๆ ศาลไม่ควรจะตกเป็นเครื่องมือ หรือ กระบวนการปล้นกลางแดดของรัฐบาลภายใต้อุ้งตีนขณะขบถนี้ เพราะหากกฎหมายไม่ชอบ และข้อพิพาทเดิมไม่ยุติ ศาลควรจะต้องคุ้มครองฯ และ ให้ดำเนินการคดีพิพาทให้ยุติธรรมเสียก่อน




ศาลปกครองสั่งไม่คุ้มครอง ปิดตายทีไอทีวี-TPBSออนแอร์

//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000007107

โดย ผู้จัดการรายวัน 17 มกราคม 2551 23:26 น.


ปิดฉากทีไอทีวี ศาลปกครองไม่สั่งยกเลิกการห้ามแพร่ภาพของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ระบุเป็นหน้าที่คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสัญญาการออกอากาศเดิมของผู้จัดรายการ-อนาคตพนักงาน “ณรงค์” ให้คำมั่นศาล 1 ก.พ.ออกอากาศ แถมผังรายการใหม่เสร็จสมบูรณ์ใน 3 เดือน ด้านทีไอทีวีตีความคือพันธะผูกพัน ศาลปกครองชี้ชัดว่ารวมถึงพนักงานทีไอทีวีด้วย ส่วนคณะกรรมการฯประชุมหาแนวทางทำงาน พร้อมเผยแพร่ภาพครั้งแรก ไทยพีบีเอส วานนี้

วานนี้ (17 ม.ค.) ศาลปกครองกลาง โดยนายชาวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้มีคำสั่งยกคำขอการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บรรณาธิการข่าวเช้าและพนักงานไอทีวี รวม 105 คน ขอให้ศาลสั่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการให้บริการสาธารณะด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หรือมอบให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ตามสมควรจนกว่าคดีที่ยื่นฟ้องอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. 51 เรื่องให้สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟปฏิบัติตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยสั่งให้ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ ตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ม.ค. 51 จะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ เหตุผลที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองตามที่พนักงานไอทีวีขอระบุว่า ขอเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลฟังได้ว่าที่นายพีระวัฒน์และพวกรวม 105 คน ฟ้องว่าการที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. 51 เรื่องให้สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟปฏิบัติตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยสั่งให้ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ ตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ม.ค. 51 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ในการพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา แต่ที่นายพีระวัฒน์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ 25/2551 นั้น ศาลเห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฎพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งที่จะรับฟังคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณามาตรา 57 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 แล้ว เห็นว่า กฎหมายได้บัญญัติให้โอนบรรดากิจการอำนาจหน้าที่ทรัพย์สินงบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และในส่วนของสำนักงานกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ(เฉพาะกิจ) ที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมประชาสัมพันธ์ในวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

บทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีผลให้บรรดากิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิคลื่นความถี่ และภาระผูกพันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศรายการต่างๆ ตามกำหนดไว้เดิม ทั้งรายการที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ทีไอทีวีดำเนินการเองหรือรายการที่มีสัญญาผูกพันกับบุคคลภายนอก หรือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานที่ได้ยื่นความประสงค์จะต่อสัญญาไว้ตามประกาศกรมประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 19 ธ.ค.50 โอนไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยผลของกฎหมายทันที

คำสั่งยังระบุอีกว่าการบริหารกิจการขององค์การฯดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ครม.แต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นธุรการ ตามมาตรา 58 ของพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะหยิบยกภาระผูกพันในการออกอากาศรายการที่ล่วงเลยกำหนดเวลาออกอากาศตามสัญญาเดิมไปแล้ว และสัญญาต่างๆ ที่ยังไม่ออกอากาศมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยคำนึงถึงบทบัญญัติของพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ส่วนภาระผูกพันที่เกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานทีไอทีวีที่ได้ยื่นความประสงค์และต่อสัญญาจ้างไว้นั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการต่อไปหรือไม่เช่นกัน ซึ่งนายณรงค์ ใจหาญ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวสามารถออกผังรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟในวันที่ 1 ก.พ. 51 และผังรายการจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการฯดังกล่าวย่อมมีอำนาจในการดำเนินการกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย รวมทั้งจัดทำผังรายการ และดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่องต่อไปตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ร้องขอ

ทีไอทีวีตีความต่าง

หลังจากที่ทางศาลปกครองกลางส่งหนังสือแจ้งคำสั่งศาลมายังสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เมื่อเวลาประมาณ 19.00น. ทางทีไอทีวีได้มีการเรียกรวมพนักงานยังห้องส่ง ชั้น 13 ของตึกชินวัตร 3 โดยมีจำนวนพนักงานทีไอทีวีและสื่อมวลชนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน

โดยระยะเวลาที่พนักงานทยอยเข้ามาในห้องดังกล่าว ได้มีการนำรายการถ่ายทอดสดจาก ช่อง TNN ของทางทรูวิชั่น ยูบีซี โดยมีนายเทพชัย หย่อง คณะกรรมการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส เป็นแขกรับเชิญในรายการ

ในระหว่างนั้นทั้งพนักงานและสื่อมวลชนต่างได้ฟังคำสัมภาษณ์ พร้อมรับทราบจากรายการดังกล่าวถึงคำสั่งศาล โดยสรุปว่าศาลมีคำสั่ง ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยห้าของทีไอทีวี ส่งผลให้พนักงานทีไอทีวีอยู่ในอาการเศร้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่ผู้บริหารของทีไอทีวี ประกอบด้วย นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก นายอลงกรณ์ เหมือนดาว นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ และนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการได้ขึ้นชี้แจงและตีความคำสั่งศาลออกมาอย่างคร่าวๆ ทำให้พนักงานมีสีหน้าและความรู้สึกที่ดีขึ้น

สำหรับคำตีความที่ได้ชี้แจงกับพนักงานครั้งนี้ โดยสรุป คือ พันธะผูกพัน ศาลปกครองชี้ชัดว่า รวมถึง พนักงานทีไอทีวีด้วย จากเดิมที่ทางคณะกรรมการฯทั้ง 5 เคยกล่าวว่า ไม่รวมถึงพนักงาน ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ได้แจ้งให้ทางองค์การกระจายเสียงฯรับทราบเบื้องต้น ซึ่งเมื่อศาลพิจารณาออกมาแบบนี้ จึงทำให้ศาลเห็นสมควรว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครอง เพราะพนักงานทีไอทีวี ถือเป็นพันธะผูกพันที่ทางทีวีสาธารณะต้องรับไปด้วย

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้ง 5 ท่านว่าจะพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป ส่วนทางทีไอทีวี เตรียมที่จะให้ฝ่ายกฎหมายตีความคำสั่งศาลอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งต้องให้ฝ่ายกฏหมายได้ร่วมพูดคุยกับทางกฎหมายทั้งของทีวีสาธารณะและกรมประชาสัมพันธ์ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กับจำนวนพนักงานทีไอทีวีกว่า 835 คน ขณะที่ทีวีสาธารณะได้เปิดรับสมัครพนักงานไปแล้วกว่า 1,000 คน ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ทีพีบีเอสแพร่ภาพครั้งแรกแล้ว

สำหรับสถานการณ์ของสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส เมื่อวานนี้ปรากฏว่า ช่วงเวลา 15.40 น. โดยประมาณ ได้มีการแพร่ภาพรายการสด “นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS” ซึ่งออกอากาศนานถึงประมาณช่วงเวลา 17.00 น.โดยประมาณ

นายเทพชัย หย่อง คณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายองค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทย พีบีเอส (TPBS) กล่าวว่า รายการสด “นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS” ที่ออกอากาศวานนี้ ภายใต้สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส เป็นรายการที่ได้รับความร่วมมือจากทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งในด้านอุปกรณ์ เครื่องมือและ เจ้าหน้าที่ ในการออกอากาศ ณ ห้องส่ง สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ถ. วิภาวดี ทั้งนี้ได้เตรียมที่จะนำเทปรายการดังกล่าว นำมาออกอากาศอีกระยะหนึ่ง หรือจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของการออกอากาศบางส่วน ตามแผนที่วางไว้

นายณรงค์ ใจหาญ คณะกรรมการนโยบายองค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดูแลด้านกฏหมาย กล่าวเสริมว่า รายการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทางคณะกรรมการฯทั้ง 5 ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการออกอากาศเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแนะนำสถานีสาธารณะไทยพีบีเอส และพร้อมแจงข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ ซึ่งหลังจากประชุมเสร็จ ใน 2-3 ชั่วโมงต่อมา จึงมีการออกอากาศรายการดังกล่าวทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายการดังกล่าว ดำเนินรายการโดยนางสาวนาตยา แวววีระคุปต์ อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวีและอดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 11 ซึ่งเพิ่งจะได้รับการติดต่อให้มาดำเนินรายการก่อนหน้าเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยมีผู้ร่วมรายการคือ นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (THAI PBS) นายอภิชาติ ทองอยู่ กรรมการฯ และอีก 2 คนคือ นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ และนายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเนื้อหาในรายการหลักๆก็เป็นการอธิบายและพูดถึงนโยบายรวมทั้งแนวทางของการดำเนินงานของไทยพีบีเอส

ทั้งนี้คณะกรรมการฯได้มีการประชุมกันเมื่อวานนี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการฯชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งกรอบการประชุมมีการพิจารณาหลายเรื่องเช่น การจัดหาสถานที่ตั้งของสถานีไทยพีบีเอส งบประมาณการดำเนินงาน การถ่ายโอนทรัพย์สินจากทีไอทีวี การออกอากาศของรายการไทยพีบีเอส

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พนักงานทุกคนต่างยืนดูรายการพิเศษ "นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS" ผ่านช่องทีไอทีวีเดิม ซึ่งเป็นรายการสัมภาษณ์คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยพนักงานทีไอทีวีต่างแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากมีการแพร่ภาพของ THAI PBS ทั้งที่ศาลปกครองยังไม่มีผลวินิจฉัยว่าจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวยกเลิกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ที่ให้ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพหรือไม่

ส่วนการเปิดรับสมัครงานของไทยพีบีเอส เมื่อวานนี้ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นวันที่สองปรากฏว่าก็ยังคงมีผู้สนใจเดินทางมาสมัครอย่างต่อเนื่อง มีอดีตพนักงานไอทีวี หรือทีไอทีวี 2 คน ซึ่งได้ลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วไปเป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ TNN หรือ UBC เดิม คือ นายชัยรัตน์ ถมยา และ นางสาวประวีณมัย บ่ายคล้อย ได้เดินทางมาสมัครงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าว และพิธีกรข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ประกาศข่าว และช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ,ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ASTV โดยมียอดผู้สมัครกว่า 400 คน



โดย: POL_US IP: 192.17.160.94 วันที่: 18 มกราคม 2551 เวลา:2:53:08 น.  

 



โดย: ReD sTaR IP: 202.28.117.231 วันที่: 18 มกราคม 2551 เวลา:17:21:30 น.  

 
สัมภาษณ์ ม.ล.ปลื้ม (ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) ‘เกมอำนาจ’ ช่วงชิง ‘ทีวีสาธารณะ’ ประชาชนอยู่ตรงไหน?



สัมภาษณ์โดย - ตติกานต์ เดชชพงศ โพสต์ใน ประชาไท ๑๘ ม.ค. ๕๑



สถานีโทรทัศน์สาธารณะ TPBS (Thai Public Broadcasting Service) ออกอากาศรายการแรกไปแล้วเมื่อ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินว่าจะทำอย่างไรกับการยื่นคำร้องของพนักงานสถานี TITV แต่ในที่สุดแล้ว ศาลปกครองก็มีคำสั่ง ‘ไม่คุ้มครอง’ บรรดาพนักงานกว่า 800 ชีวิต ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ชั่วคราวของ TPBS ก็ประกาศเดินหน้าเต็มพิกัด เปิดรับสมัครพนักงานนับร้อยตำแหน่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘ทีีวีสาธารณะ’ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์โดยรวมของประชาชน...



จากกรณีดังกล่าว ‘ประชาไท’ ได้สัมภาษณ์ ‘หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล’ ในฐานะผู้ประกาศข่าวซึ่งทำงานกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของรัฐบาล ภายใต้การควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ และมีบทบาทที่น่าจับตามองในฐานะสื่อมวลชนที่ก้าวข้ามจากสถานีของรัฐไปสู่สถานีโทรทัศน์เอกชน รวมถึงการอ้างอิงบทความชิ้นหนึ่งของ ม.ล.ณัฐกรณ์ ที่เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งพูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การยึด TITV เป็นเพียง ‘เกมอำนาจ’ ของคนบางกลุ่มจริงหรือไม่, จุดแข็ง-จุดอ่อนของนโยบายทีวีสาธารณะคืออะไร, อนาคตของทีวีสาธารณะช่องแรกจะเป็นอย่างไร และท้ายที่สุด ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการก่อตั้งทีวีสาธารณะจริงหรือ...



000



“สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่เกิดกับทีไอทีวี

มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างทุนกับอำนาจเดิมๆ

ซึ่งต้องดึงอำนาจรัฐมาช่วย เพราะว่าไม่มีทุน”






(หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล)



จากบทความที่คุณเขียนลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (1) มีการเปรียบเทียบว่าการยึดสถานี TITV เพื่อทำเป็นทีวีสาธารณะ คือการต่อสู้ในสงครามระหว่าง ‘ศักดินา’ และ ‘ทุน’

ใช่ แ่ต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทีไอทีวีมันก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุดของสงครามนี้นะ เท่าที่ผมไล่เรียงดูคือ ‘ไอทีวี’ ตอนที่เป็น ‘ทีวีเสรี’ ช่วงแรกๆ กลุ่มเนชั่นกับกลุ่มของไทยพาณิชย์พยายามบริหาร แต่สัมปทานที่มี ที่ทำกันขึ้นมาในตอนนั้น มันเป็นสัมปทานที่โหดร้ายทารุณมากกับภาคเอกชนที่เข้าไปบริหาร เพราะคุณต้องให้เงินคืนกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเยอะมาก ปีหนึ่งคุณต้องจ่ายพันล้านบาท ใครจะไปทำได้ เพราะฉะนั้น ทั้งเนชั่น และ SCB ต้องการถอยออกมา เพราะถ้าถือไอทีวีต่อไปก็จะเป็น NPL เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่มีทางที่จะทำอะไรกับมันได้ บริษัทเดียวในตอนนั้นที่มีทุนมากพอ และกล้าพอที่จะเข้าไป รวมถึงมีเงินสดเหลือเยอะมาก ก็คือ ‘ชินคอร์ป’ ซึ่งนั่นเป็นจังหวะที่ทักษิณก็ต้องการมีสื่ออยู่ในมือด้วย เพราะเขากำลังต้องการที่จะเป็นนายกฯ



สิ่งที่ผิด คือ ความต้องการของทักษิณที่จะเป็นนายกฯ แล้วดันอยากจะไปมีช่องโทรทัศน์ของตัวเอง แต่สิ่งที่ถูกในตอนนั้นคือมันไม่มีทุนไหนกล้าเข้าไปอุ้มไอทีวี เพราะถ้าเข้าไปก็จะต้องแบกรับภาระหนี้สิน ชินฯ ก็เลยเข้าไป เพราะฉะนั้น อาจจะมองได้ว่านี่คืออำนาจของ ‘ทุน’ ซึ่งมาจากกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคสิบกว่าปีที่ผ่านมา รวยขึ้นมาจากสัมปทานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม คนที่มีทุนก็เข้าไปยึดคลื่นนี้ได้ ถ้าให้เปรียบเทียบ นั่นก็คือการ ‘ชกหมัดแรก’ ของทุนใหม่ แล้วก็ได้คลื่นนี้มา มีสื่ออยู่ในครอบครอง ซึ่งก็จะมีอิทธิพลกับประชาชน ถ้ามองอย่างนั้นก็คือไอทีวีโดนทุนครอบงำ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ผิด’ สำหรับผม เพราะว่าถ้าคุณไม่มีเงิน คุณทำทีวีไม่ได้ เมื่อทักษิณเข้ามาตอนนั้น สัมปทานก็ต้องแก้ให้มีรายการบันเทิงมากขึ้น ไม่งั้นมันจ่ายเงินให้สำนักปลัดนายกฯ ปีละเป็นพันล้านบาทไม่ได้ ก็แก้ไปแล้ว จบไปแล้ว ปรากฎว่าทำอีท่าไหนไม่รู้ ตอนหลังสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีถามว่า ที่แก้สัมปทานนี่ เอาสิทธิ์ที่ไหนไปแก้ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้น ความผิดในการแก้สัมปทานอยู่ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เพราะสำนักปลัดฯ ไม่ได้เอาเรื่องแก้สัมปทานเข้าประชุม ครม.



ประเด็นคือว่่า สัมปทานไอทีวีมันถูกแก้ บริษัทไอทีวีกับสำนักปลัดนายกฯ ตกลงแล้วว่าแก้ เซ็นสัญญาจบแล้วก็หมายความว่าไอทีวีสามารถปรับผังได้ทันที เป็นบันเทิง 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นข่าว 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้รายได้ไอทีวีสูงขึ้น มากพอที่จะจ่ายส่วนที่ต้องจ่ายให้กับสำนักปลัดนายกฯ ได้ในแต่ละปี คือ win-win ทั้งคู่ สำนักปลัดนายกฯ ได้รายได้เข้ามาทุกปีโดยที่บริษัทไอทีวีก็ไม่เจ๊ง ทีนี้ สำนักปลัดนายกฯ ตอนนั้นผิด ตรงที่ไม่นำเรื่องนี้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ผมไม่รู้ว่าปลัดสำนักนายกฯ คนไหนที่ทำเรื่องตรงนี้ แต่อย่างเดียวก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนปลัดสำนักนายกฯ ก็มีการยื่นฟ้องกับศาลปกครอง นำมาสู่ค่าปรับอะไรต่างๆ โดยบอกว่า ‘ไอทีวีปรับผังไม่ได้’ เพราะว่าเรื่องนี้สัมปทานยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.



พอเป็นอย่างนี้สำนักนายกฯ ก็เลยปรับเงินไอทีวี แต่สัญญามันเซ็นว่า ต้องปรับ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าสัมปทานต่อวัน ซึ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าสัมปทานก็คือ 100 ล้าน เพราะค่าสัมปทานต่อปีต้องจ่าย 1 พันล้าน แล้ว 10เปอร์เซ็นต์ของ 1 พันล้านคือ 100 ล้าน แต่เขาให้ปรับต่อวัน ก็เลยต้องเอาหนึ่งร้อยล้านมาคูณจำนวนวันที่ไอทีวีทำผิดสัญญา คนที่ห่วยก็คือคนร่างสัญญา ค่าปรับบ้าอะไร ตั้งสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วคูณจำนวนของวันอีก ทีนี้บริษัทไอทีวีก็ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ มันก็เป็นดินพอกหางหมู ค่าปรับก็สูงขึ้นๆ จนมันไม่มีทางจ่ายได้ เป็นเงินถึงแสนล้าน ตอนนั้นขายก็ไม่มีใครซื้อ เพราะค่าปรับมันมหาศาล คือมันเป็น ‘เกม’ ตั้งแต่แรก เกมที่รู้ว่าไอทีวีทำผิดสัญญาแล้ว ก็ล็อกให้อยู่ใน situation ที่จะนำไปสู่การ ‘ยึดคลื่น’ ให้ได้



เพราะอะไรถึงมองว่าเป็นความต้องการของรัฐที่จะยึดคลื่นไอทีวี หรือทีไอทีวี คืนมา

คือถ้าสำนักปลัดนายกฯ มี sense ตามปกติ ก็ต้องเลี้ยงไอทีวีให้เหมือนเป็นลูกหนี้ คือค่าปรับสูงขนาดนี้ สูงถึงแสนล้าน ถ้าคุณมีลูกหนี้หนึ่งแสนล้าน คุณต้องทำอะไรกับเขา? คุณต้องให้เขามีชีวิตต่อไป เพราะว่าเขาจะได้จ่ายคืนหนี้ให้คุณได้ในที่สุด กลวิธีตามปกติที่สำนักนายกฯ จะมองในเรื่องของรายได้ของรัฐ ก็คือต้องเลี้ยงให้ไอทีวีอยู่ต่อไป จนในที่สุดก็จ่ายค่าปรับได้ครบแสนล้านได้ คือมันต้องมีการประนีประนอมกันในเรื่องของหนี้ แต่ว่าจุดยืนของสำนักนายกฯ ตอนนี้ไม่ต้องการประนีประนอมเรื่องหนี้ เหมือนกับที่ไม่ต้องการประนีประนอมเรื่องค่าปรับ แ่ต่ต้องการที่จะปูทาง เพื่อให้ในที่สุด มันจะนำไปสู่การ ‘ยึดคลื่น’ เพราะยึดกลับมาแล้ว เขาจะเดินยังไงต่อไปก็ได้ คือสำนักปลัดนายกฯ ไม่ใช่องค์กรทางธุรกิจ ถ้าเป็นองค์กรทางธุรกิจ เขาจะไม่มีวันทำอย่างนี้ เขาจะต้องเลี้ยงลูกหนี้ให้อยู่ต่อไป



โดยรวมแล้ว ผมมีปัญหากับทิศทางการบริหารประเทศใน 3 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าการที่ทักษิณเข้ามาตั้งแต่แรกเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็คือการคอรัปชั่น ซึ่งมันเกิดขึ้นในรัฐบาลเขา แต่สิ่งที่ดีคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ คือเขาเป็นคนเดียวที่มีศักยภาพพอที่จะดึงอำนาจจากขั้วอำนาจเดิมในประเทศ คือทหาร, เทคโนแครต, องคมนตรี...อะไรพวกนี้ ทักษิณเป็นคนเดียวที่ ‘กล้า’ หรือ ‘บ้า’ พอที่จะดึงอำนาจมาเพื่อ balance หรือมาถ่วงดุลกับอำนาจที่มีอยู่ ซึ่งโอเค...อำนาจนั่นมันก็ได้มาจากการที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้เขาเยอะ การที่เขามีเสน่ห์ การที่เขามีเงินเยอะ มันก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เมื่อเขามาอยู่ในอำนาจ แล้วไปลุแก่อำนาจนี่ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ คือที่มันมีหลายๆ โครงการโกงกันในช่วงรัฐบาลเขา ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ว่าโดยรวมแล้วมันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ ‘ต้องมี’ ในเมืองไทย เพราะเมืองไทยมันล้าหลัง ดูอย่างการบริหารงานในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์สิ มันชัดเลยว่ามันหมดยุคไปแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่เกิดกับทีไอทีวี มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างทุนกับอำนาจเดิมๆ ซึ่งต้องดึงอำนาจรัฐมาช่วย เพราะว่าไม่มีทุน



000



“จุดที่มันเลวร้ายของ พ.ร.บ.นี้คือดันไปเขียนไว้ในกฎหมายว่า ต้องเอาคลื่นนี้เท่าันั้น

ซึ่งมันไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ต้องรีบทำขนาดนี้ คุณก็ไม่ต้องไปแย่งคลื่นนี้มา

...มันก็เลยกลายเป็นสงครามเกิดขึ้นตอนนี้ ซัดกันเละเลย”



การยึดไอทีวีคืนมาได้ ภาระเรื่องหนี้จะไปตกอยู่กับใคร

หนี้ที่ไอทีวีมีกับสำนักนายกฯ นี่มันหายไปเลยครับ ไม่มีการปรับอีก หรือถ้าหากอนุญาโตตุลาการจะตัดสินว่า บริษัทไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับแสนล้านจริงๆ ฟ้องล้มละลายก็จบแล้ว เพราะเขาไม่มีเงินจ่าย แต่ผมมองภาพรวมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะยึดคลื่นคืนจากไอทีวี เพราะคลื่นๆ นี้มันไปอยู่ในมือของทุน จากมือทักษิณ แล้วขายไปให้สิงคโปร์ ก็อยู่ในมือสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจจุดยืนของรัฐบาลว่า ‘ทำไมถึงต้องยึดคืนคลื่นนี้’ แต่พนักงานไอทีวีเป็นเพียง collateral damage หรือคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ก็ทำงานไป แต่ก็ต้องมาได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะคลื่นนี้ ถ้าไม่ยึด มันก็คือคลื่นของสิงคโปร์ไปแล้วไง ช่องนี้เทมาเส็กเป็นเจ้าของ



เมื่อเป็นอย่างนั้น ที่รัฐบาลบอกว่านี่คือการ ‘ทวงสมบัติชาติคืน’ ก็สมควรได้รับการสนับสนุน?

ผมเชื่อว่าไม่ได้รับการสนับสนุน แต่มันก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล มีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง ที่สามารถพูดได้ในวันหนึ่ง เมื่อเรื่องนี้จบ สามารถเล่าเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ได้ว่า คลื่นนี้มันไปอยู่ในมือของทักษิณ นอกจากนั้นทักษิณก็ขายบริษัทนี้ไปให้เทมาเส็ก พอขายให้เทมาเส็ก ช่องๆ นี้กลายเป็นช่องของคนสิงคโปร์ไปเลย เป็นช่องของรัฐบาลสิงคโปร์ไปเลย ซึ่งถ้ามองจากคอนเส็ปต์ของคนที่เป็นชาตินิยม กรณีนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเอาคืน ซึ่งอันนี้เข้าใจ มีความชอบธรรม แต่วิธีที่ทำนี่มันปูทางไปสู่การยึดไง แทนที่จะเป็นปรับหรือการอะไร..มันปูทางมาสู่การที่จะบอกว่า เฮ้ย! คลื่นต้องกลับมาเป็นของเรา กลับมาเป็นของรัฐ ในช่วงทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ระหว่างทุนใหม่กับระบบเก่า ซึ่งชาตินิยมอย่างเดียว คลื่นนี้ ‘ต้อง’ กลับมาเป็นของรัฐ จะยังไงก็ได้ ให้ช่องมันมีรายการที่ห่วยแตกก็ช่างมัน แต่คลื่นต้องเป็นของรัฐ ของเรา ของคนไทย นั่นคือชาตินิยมเพียวๆ แล้วบังเอิญว่า ดร.สมเกีียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เข้ามาพอดี แล้วตอนนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร (เทวกุล) ก็ลาออกพอดี สูตรเดิมที่จะยึดคืนไอทีวี แล้วค่อยให้มีการประมูลทีวีคลื่นนี้ออกมาใหม่ โดยเปิดให้บริษัทเอกชนทุกรายมาประมูลเอาคลื่นนี้ออกไปบริหาร แทนที่จะเป็นบริษัทไอทีวีก็จะเป็นบริษัทอื่นๆ ซึ่งก็คือเป็นทีวีเอกชนเหมือนเดิม สูตรนี้ก็ถูกยกเลิกไป



ดร.สมเกียรติ เข้ามาพร้อมๆ กับ ดร.ฉลองภพ (สุสังกร์กาญจน์) ดร.ฉลองภพ ก็เดินเกมในเรื่องของภาษีบุหรี่กับภาษีสุรา ที่จะนำเงินงบประมาณมาสองพันล้าน็่ต่อปี เมื่อ ดร.สมเกียรติเสนอร่าง พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะให้กับคุณหญิงทิพาวดีแล้ว คุณหญิงทิพาวดีค่อนข้างชอบ แต่ในที่สุดแล้ว คนที่ชอบก็คือนายกรัฐมนตรี พอนายกฯ ชอบ นายกฯ ไฟเขียว หลังจากนั้นเกมมันก็เดิน โดยการผ่าน พ.ร.บ.นี้ออกมา คือไม่ใช่ว่าทีวีสาธารณะเลวร้าย ทีวีสาธารณะสำหรับผมน่ะดี มันต้องมีสักช่อง แต่จุดที่มันเลวร้ายของ พ.ร.บ.นี้คือดันไปเขียนไว้ในกฎหมายว่า ต้องเอาคลื่นนี้เท่าันั้น ซึ่งมันไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ต้องรีบทำขนาดนี้ คุณก็ไม่ต้องไปแย่งคลื่นนี้มา แต่ด้วยความที่ไปเขียนในกฎหมายเลย ตอนหลังคุณ อรรคพล สรสุชาติ ของพรรคชาติไทย เขาก็บอกว่า ให้แก้เอาข้อความตรงนี้ออก อย่าไปเขียนว่าต้องเอาคลื่นไอทีวี จะเขียนว่าเอาคลื่นอันอื่นในอนาคตจาก กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็ได้ คือมันมีคลื่นอีกเยอะไง ไม่ต้องรีบ แต่เขาจะเอาแต่ ‘คลื่นนี้’ ให้ได้ มันก็เลยกลายเป็นสงครามเกิดขึ้นตอนนี้ ซัดกันเละเลย มันคือการแย่งชิงคลื่นๆ หนึ่ง ซึ่งเหมือนเขาจะรีบๆ ทำ เหมือนกับว่าถ้าเขารอคลื่นอื่นมันจะไม่ได้



ถ้ามองว่านี่คือผลงานชิ้นหนึ่งของรัฐบาลนี้-ที่สามารถยึดสถานีโทรทัศน์ของอำนาจเก่าคืนมาได้ แต่ขณะเดียวกัน TITV ก็เป็นสถานีที่มีความพร้อมอยู่แล้วในการผลักดันให้เป็นทีวีสาธารณะ

ผมคิดว่าคนอย่าง ดร.สมเกียรติ หรือคุณหญิงทิพาวดี เขาไม่ได้มีเจตนาอะไรอย่างนั้น เขาเป็นคนดีน่ะ แ่ต่ว่าผมไม่ได้มองในทั้ังหมดนี้ว่าใครเป็นคนเลวคนดี ผมแค่ว่าแ่ต่ละคนอยู่ในจุดที่ต่างกัน ถูกกำหนดมาโดยชะตากรรมของชีวิต ที่จะต้องมาต่อสู้กัน คือถ้านึกดูจริงๆ ทักษิณเกิดขึ้นมาเป็นคนจีนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เขาก็ทำธุรกิจสร้างตัวเองขึ้นมาให้รวย อีกฝ่ายหนึ่งก็เกิดมาเป็นลูกทหาร ถูกส่งไปเรียนโรงเรียน จปร. โตขึ้นมาเป็นทหารก็ต้องมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แล้วพวกที่มาร่วมในรัฐบาลสุรยุทธ์แต่ละคนนี่ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มพวกพ้องของพลเอกสุรยุทธ์ หรือพวกของทักษิณ หรือพวกของ คมช. คือเขาก็เข้ามารับตำแหน่ง แล้วบังเอิญต้องมาเจอพวกนี้ ต้องมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ในที่สุดเมืองไทยก็มาฟัดกันเองด้วยอะไรที่มันน่าตลกเหมือนกัน



แต่ประเด็นทีวีสาธารณะ ผมเข้าใจ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ว่าทำไมแกต้องรีบทำ เพราะว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่...อย่างน้อยๆ ทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ก็ยังได้มีบทบาท อย่างอาจารย์ฉลองภพ แล้วในสภาเองก็เป็นสภาที่พูดคุยกันได้ ผมจึงเข้าใจว่าทำไมแกรีบผลักดัน เพราะถ้ารอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาคงไม่เอาอันนี้ ซึ่งผมเข้าใจ แต่ว่า ความที่ไปเอาคลื่นเก่าไอทีวีมา มันก็เลยกลายเป็นการแย่งอำนาจกัน เพราะถ้าคุณมองภาพรวม ไอทีวีเคยถูกครอบงำโดยทุน ใช่ไหม แล้วในที่สุด วิถีทางเดียวที่จะสู้กับทุนได้ ก็คือการใช้ ‘อำนาจรัฐ’ คือเป็นสิ่งเดียวที่จะฆ่าทุนได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว ก็ใช้อำนาจรัฐในการสั่งระงับแพร่ภาพ, ยึดทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ และย้ายสถานที่ที่เป็นเหมือน ‘เมืองหลวงของไอทีวี’ ก็คือตึกชิน ไปอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาล มันเป็นเกมที่กลุ่มอำนาจเก่าๆ...ไม่ใช่กลุ่ม ‘อำนาจเก่า’ นะ แต่เป็นกลุ่มอำนาจ ‘เก่าๆ’ ซึ่งก็คือทุนเก่า คือทหาร นักการเืมืองรุ่นเก่า เขาต้องดึงกลับมาให้อยู่กับรัฐบาล ในขณะที่ทุนใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยการครอบครองอะไรไปเยอะมาก ก็แพ้ในครั้งนี้...แต่การต่อสู้จะยังดำเนินต่อไป



000



“ถ้าผมผลิตรายการห่วยๆ ออกช่อง 3

เรตติ้งไม่ดี เรตติ้งตก รายการอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็หลุด

แต่ถ้าผมผลิตรายการห่วยออกช่อง 11 หลุดไหม? ไม่หลุด

เพราะคุณไม่ต้อง accountable ซึ่งก็คือคุณไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น”



ปัญหาตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่ว่าไอทีีวีไม่ควรถูกยึด เพราะมันโดนยึดไปแล้วเรียบร้อย แต่ประเด็นมันน่าจะอยู่ที่ว่าถ้ายึดไปแล้วเราจะทำยังไงต่อไปกับการเป็นทีวีสาธารณะ TPBS

ตอนนี้ก็ได้แต่ปลงครับ คือรัฐธรรมนูญ 50 มันย่ำแย่ และที่จริงรัฐธรรมนูญ 40 จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เราใช้ เรื่องนั้นผมปลงไปตั้งแต่คืนที่ลงประชามติแล้ว คืนนั้นผมไม่ออกโทรทัศน์เลยสักช่อง เพราะผมกลัวว่าผมจะทนไม่ได้ รัฐธรรมนูญปี 40 นี่บอกได้เลย...ถ้าผมเป็นใหญ่ ผมจะเอากลับมา แต่นี่ผมไม่รู้จะเอากลับมายังไง คือรัฐธรรมนูญ 50 นี่มันเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจาก ‘ประสงค์ สุ่นศิริ’ ไง ซึ่งประสงค์ สุ่นศิริ ไม่น่าจะมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องแบบนี้เลย มันผิดตั้งแต่แรก ที่ปลงเรื่องที่สองคือ 111 คนถูกแบนนี่ยังไงมันก็ไม่แฟร์ และสามคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันหายไป แล้วเรื่องนี้มัน ‘อาจจะเกิดขึ้นอีก’ ก็ได้ เพราะอำนาจมันไปอยู่ที่ศาลเยอะมาก จนในที่สุดแล้วศาล ‘ดูเหมือนว่า’ จะมีอำนาจที่จะยกเลิกการเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครไปเอาระบบนี้มา เพราะสำหรับผม ไม่มีทางที่ศาลจะมีสิทธิ์ยกเลิกผลการเลือกตั้ง



ผลการเลือกตั้งมันคืออำนาจอธิปไตยของคนไทยที่เลือกคนมา ศาลจะยกเลิกผลการเลือกตั้งได้นี่มันจะต้องอยู่ในขั้นวิกฤตแบบสุดๆ น่ะ การเลือกตั้งต้องโกงหมดทุกเขต ต้องโกงกันแบบว่า..เกินครึ่ง ศาลถึงจะยกเลิกการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้น่ากลัวมาก อยู่ดีๆ ศาลกลายเป็นผู้มีอำนาจมากขนาดที่สั่งยกเลิกการเลือกตั้งได้บ่อยขนาดนี้ แล้วคนก็ไปเรียกร้องกันตลอด ไม่ไหว ผมปลงมาหลายเืรื่องแล้ว เพราะฉะนั้นพอมาถึงเรื่องไอทีวีเลยปลงว่า มองไปข้างหน้า ทีวีช่องนี้จะเป็นทีวีสาธารณะ ก็เป็นไป ซึ่งมันก็จะเป็นเวทีให้กับคนที่ถูกกีดกันหรือ marginalize ในยุคทักษิณ คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในยุคทักษิณก็อาจจะมีสิทธิ์มีเสียงผ่าน TPBS นี้...ก็โอเค ก็ดี ส่วนกลุ่มไอทีวีเดิม ผมคิดว่าเขาจะต้องรอจังหวะให้มี กสทช. แล้วไปขอคลื่นมาบริหารใหม่ อาจจะร่วมกันกับบริษัทของเอกชน อย่างกันตนาหรืออะไรพวกนี้ เขารวมกลุ่มกันได้ แล้วก็ไปขอคลื่นมาใหม่ แต่ว่าเรายังไม่มีคณะกรรมการ กสทช.ไง พวกนี้เขาก็เลยต้องเหมือนกับว่าพักงานตัวเองไปชั่วคราว แต่ว่าช่องทีวีสาธารณะนี้ก็คงจะกลายไปเป็นเหมือนช่อง 11 หรือไม่ก็อยู่ระหว่างช่อง 11 กับช่อง 9 ซึ่งผมไม่ได้ว่าช่อง 11 ไม่ดีนะ...



แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานแบบช่อง 11 มันไม่ใช่การทำงานเชิงรุก และไม่แน่ว่าทีวีสาธารณะแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปร่วมได้จริง

อย่างช่อง 11 น่ะ มีก็ดีแล้ว แต่มีช่องเดียวพอ ไม่ควรมีซ้ำซ้อน คอนเส็ปต์ทีวีสาธารณะนี่มันใช้การได้แต่ในกระดาษเท่าันั้นแหละ มันไม่เวิร์กในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ของเมืองไทยในตอนนี้ อย่างผมนี่ ถ้าผมผลิตรายการ ผมต้องมี accountability หรือต้องรับผิดชอบต่อใคร? ถ้าผมผลิตรายการห่วยๆ ออกช่อง 3 เรตติ้งไม่ดี เรตติ้งตก รายการอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็หลุด แต่ถ้าผมผลิตรายการห่วยออกช่อง 11 หลุดไหม? ไม่หลุด เพราะคุณไม่ต้อง accountable ซึ่งก็คือคุณไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น แล้วกับทีวีสาธารณะนี่ สมมติว่าผมผลิตรายการ ก็ต้องไปเสนอต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือนักวิชาการต่างๆ มันต้องมีฝ่ายการตลาด marketing อะไรไหม? ก็ไม่ต้องเลย เพราะคุณได้เงินสองพันล้านอยู่แล้วทุกปี แต่ถ้าผมไปมี accountable กับนักวิชาการ 9 คนที่มานั่งเป็นคณะกรรมการฯ อยู่นี่ ก็หมายความว่าผมไม่ได้ accountable กับคนดูนะ ผม accountable กับคณะกรรมการ เหมือนอย่างช่อง 11 คือช่อง 11 ก็มีรายการดีๆ อยู่ แต่ต่อให้คุณผลิตรายการห่วยแตกออกช่อง 11 มีใครว่าอะไรไหม? ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ‘ทุน’ ดีกว่า ‘รัฐ’ อยู่เสมอ แต่ทีนี้ถ้าทุนไปอยู่ที่คนๆ เดียวจะเป็นปัญหา เพราะว่ามันผูกขาดไปอยู่ที่คนๆ เดียว ซึ่งมันก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน



000



“ตอนนี้เราเหลืออย่างเดียวที่ยังไม่เกิดคือ ‘สงครามกลางกรุง’

คือสื่อก็ยังซัดกันเองหมดเลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ประชาชนจงไปเลือกตั้ง

แต่ผลการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการเคารพ”



จุดอ่อนของทีวีสาธารณะคือ?

อันที่หนึ่งที่พูดไปแล้วคือไม่มี accountability กับคนดู เพราะว่า accountability กับสาธารณชนมันเป็นสิ่งที่พูดได้แต่ในความฝัน มันไม่มีจริง การมี accountability กับประชาชนนั่นคือการที่รายการอยู่ได้เพราะเรตติ้งดี คือทีวีสาธารณะต้องทำเพื่อประชาชนใช่ไหม เพื่อให้คนได้ชมรายการที่ดีสำหรับประชาชน คอนเส็ปต์นั้นมันก็คือคอนเส็ปต์ทีวีพาณิชย์นั่นแหละ คือการทำในสิ่งที่คนอยากดู แต่ว่าทีวีพาณิชย์มันก็อาจจะโอเว่อร์เกินไปในเรื่องละคร-เกมโชว์ แต่ทีวีสาธารณะนี่ ถ้ายึดว่าทำเพื่อประชาชน คุณจะไม่ดูเรตติ้งเลยมันก็ไม่ได้





โดย: POL_US IP: 74.135.193.57 วันที่: 19 มกราคม 2551 เวลา:6:54:24 น.  

 
(ต่อจากคอมเม้นท์ข้างบน)

------------------------------------------

ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงให้ TPBS ต่างจากช่อง 11

ต้องให้ผู้ผลิตเป็น ‘มืออาชีพ’ ผมมีคอนเส็ปต์ที่คิดว่าเราควรจะทำกันตอนนี้ แต่คงทำกันไม่ได้หรอก ผมอยากให้มีช่องสมานฉันท์ ผมตั้งชื่อไว้ว่า National Reconciliation Chanel หรือ NRC คือถ้า TPBS มันไม่พร้อม ผมว่าคนที่ผลิตรายการโทรทัศน์ที่เก่งทีุ่สุดในประเทศไทยมีอยู่ 2 เครือ คือ ‘ผู้จัดการ’ กับ ‘เนชั่น’ ถ้าผมมีเวลานะ ผมจะเปิดเลย ให้เขายิงสัญญาณมา สามชั่วโมงให้ ASTV สามชั่วโมงให้ PTV สามชั่วโมงให้เนชั่น สามชั่วโมงให้เครือโพสต์ เพราะโพสต์นี่เขาก็มีข่าว อีกสามชั่วโมงให้ไอทีวีเก่า อีกหกชั่วโมงที่เหลือแบ่งกันไปเลย ให้ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 ส่งคนมาเป็นตัวแทน นี่คือช่องแห่งความสมานฉันท์ เพราะตอนนี้สื่อฟัดกันเองพอๆ กับนักการเมืองเลย ผู้จัดการทะเลาะกับโพสต์ ผู้จัดการทะเลาะกับไทยรัฐ ทะเลาะกับเนชั่นด้วยหรือเปล่า? ก็ดูเหมือนเป็นอย่างนั้น แต่โมเดลอันนี้มันไม่เกิดหรอก มันเป็นไปไม่ได้



ที่ผ่านมา ASTV หรือ เนชั่น ก็มีช่องทางของตัวเองอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ผมคิดว่าอย่าง ASTV หรือ PTV เขาต้องการมีเวทีที่คนดูไง แต่อย่าง TPBS นี่มันไม่มีความพร้อมในการผลิตอยู่แล้ว ยกเว้นว่ามีการเตรียมมาก่อน เพราะอยู่ดีๆ คุณจะทำสถานีขึ้นมาสักแห่ง มันต้องมีอะไรเยอะมาก เอาแค่ฉากก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว ถ้าจะทำให้ดี คืออย่างวันนี้ (วันสัมภาษณ์ 17 มกราคม) คุณนาตยา แวววีรคุปต์ ที่อยู่ไอทีวีเก่าก็ทำรายการออกฉายที่ TPBS แล้วนะ คือกบฎไอทีวีเก่าได้กลับไป เรื่องนี้เป็นเหมือนมหากาพย์เลย



มหากาพย์แห่งการชิงอำนาจ?

เหมือนอย่างนั้นเลย แต่มันยังไม่จบ เพราะมันจะมีการเอาคืนอีกรอบ เพราะที่ผ่านมา ทุนใหม่ลุกขึ้นมายึดครอง แล้วตอนนี้ศักดินายึดกลับ แต่ยึดกลับโดยไม่ได้สร้างศรัทธากับประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งในที่สุดแล้ว ในอนาคต ยังไงๆ พลังของประชาชนมันยังมีอยู่ และมันจะมีการเอาคืนอีกรอบหนึ่งจากทุนใหม่ ทีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อทุนใหม่พยายามเอาคืนอีกรอบหนึ่ง ศักดินาเก่าจะทำอะไร ทางเดียวก็คือต้อง ‘กำจัด’ ให้ทุนหายไปเลย เพราะฉะนั้นสงครามนี้ระหว่างศักดินากับทุนใหม่จะรุนแรงขึ้น ครั้งนี้ ศักดินาปฏิวัติรัฐประหาร-เอาคืน ทุนใหม่ทนไม่ได้ ต้องกลับมาพยายามเอาคืนอีกรอบ และนั่นจะเป็นจุดจบของทุนใหม่ เพราะว่าครั้งต่อไป คุณจะไม่เหลือ เพราะถึงที่สุดแล้ว อำนาจที่จะยิ่งใหญ่กว่าประชาชน..ซึ่งน่าเสียดายที่มันเป็นความจริงในการบริหารประเทศ..มันคือ ‘อำนาจรัฐ’ และ ‘อำนาจทหาร’ ตอนนี้เราเหลืออย่างเดียวที่ยังไม่เกิดคือ ‘สงครามกลางกรุง’ คือสื่อก็ยังซัดกันเองหมดเลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ประชาชนจงไปเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการเคารพ



เลือกตั้งเมื่อปี 2548 ตอนเดือนกุมภาฯ ไทยรักไทยชนะถล่มทลาย แต่ทักษิณยุบสภา ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ได้รับการเคารพ เสียงประชาชนถูกตบหน้าครั้งที่หนึ่ง เลือกตั้งที่ศาลปกครองให้เป็นโมฆะ เสียงประชาชนถูกตบหน้าเป็นครั้งที่สอง เลือกตั้งครั้งนี้ครั้งที่สาม ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แต่เสียงประชาชนอาจถูกตบหน้าเป็นครั้งที่สาม เพราะฉะนั้นคือ..ประชาชนเลือกตั้งมา แต่ถ้าอำนาจอยู่ที่ทหารกับอยู่ที่ศาล ในที่สุดแล้วประชาชนก็ถูกปราบได้ เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ คือแบบที่พลังของประชาชนไม่สามารถถูกปราบได้ แต่ถ้ามองไปข้างหน้าก็อย่าไปซีเรียสอะไรมาก มันเป็นองค์ประกอบของประเทศไทย ซึ่งเราก็มีขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากประเทศอื่น และเรากำลังพัฒนาไง คือเราก็ยังดีกว่าปากีสถานหรือเคนยา แต่ว่าบังเอิญเรื่องนี้มันแย่ คือถ้ามี กสทช.ตั้งนานแล้ว ก็ไม่ต้องมาแย่งคลื่นโทรทัศน์กัน



ถึงยังไงการแสดงจุดยืนของสื่อก็น่าจะยังจำเป็น อย่างกรณีกบฎไอทีวีที่ไม่ยอมรับอำนาจทุน สุดท้ายพวกเขาก็ได้กลับเข้าไปทำงานกับทีวีสาธารณะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับทุน

จริงๆ ผมถือว่า...กบฎไอทีวีดันมองโลกแล้วไปคิดว่าอำนาจทุนเป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับผมแล้ว ทีวีที่ดีมันต้องบริหารด้วยอำนาจของทุนไง แต่การเกิดกบฎไอทีวีนี่ผมก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่ทุนธรรมดา บังเิอิญว่ามันเป็นทุนของทักษิณ ถ้าเป็นทุนของบริษัทๆ หนึ่ง แทนที่จะเป็นทุนของคนๆ เดียวเข้ามาเป็นเจ้าของ ก็คงไม่เป็นไรมาก แต่นี่คือทุนของคนที่จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญทางการเมือง ผมจึงเข้าใจว่ากบฎไอทีวีต้องออกไป เพราะเจ้าของใหม่คือทักษิณ ซึ่งถ้าอย่างนั้นผมเข้าใจจุดยืน แต่คุณหนีอำนาจทุนไม่ได้ ยกเว้น คุณต้องมีอำนาจรัฐมาช่วย ซึ่งครั้งนี้คุณมีอำนาจรัฐมาช่วย แต่ถึงที่สุดแล้ว ในชีวิิตนี้คุณก็จะเจออยู่อย่างนี้แหละ ไม่ทุนก็รัฐ แต่ว่าโอเค..ในสายตาผม ‘อำนาจทุน’ ปลอดภัยกว่า ‘อำนาจรัฐ’ แต่ในคอนเส็ปต์ของทหาร ของรัฐบาล ของศักดินา ทุน ‘ไม่ปลอดภัย’ กับรัฐ



ถึงที่สุดแล้ว ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ เก่งมาก เนชั่นก็เก่ง ‘สุทธิชัย หยุ่น’ เก่งมากในการผลิตข่าว แต่สิ่งที่ตลกคือสองคนนี้ถูกดันออกไปอยู่นอกกรอบในยุคทักษิณ แล้วสองช่องนี้ก็มีบทบาทมากในการทำให้คนในกรุงเทพออกมาประท้วง คนเชื่อว่าสามารถโค่นทักษิณได้ แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไอ้ตรงนี้ก็ถูกดันออกไปอยู่ข้างนอกอยู่ดี และถ้าปล่อยให้เขาอยู่ข้างนอกต่อจะเป็นปัญหา เพราะประเด็นคือว่า อย่างรัฐบาลสุรยุทธ์ที่ขึ้นมา ก็ถูกสื่อทุกสำนักด่าเหมือนกัน ตอนนี้ปัญหามันอยู่ที่สื่อ คือสื่อมันไม่แฮปปี้กับสถานการณ์ในประเทศไง แ่ต่การรัฐประหารครั้งนี้ ผู้จัดการก็แห้ว เนชั่นครั้งนี้ก็แห้ว ส่วนเทพชัย หย่อง เขาไปได้ด้วยตัวเขาเอง ไม่เกี่ยวกับเนชั่น ถึงดูเหมือนว่าสนธิ ลิ้มฯ จะได้ประโยชน์จากการปฏิวัติ แต่ก็ไม่ได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้น ผมก็เลยคิดว่า คนที่อยู่ภายนอกที่ถูก marginalize ควรจะมีขบวนการที่ดึงพวกเขากลับมา



ถ้าคนถูก marginalize แล้วปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นต่อไป เขาก็จะฟัดรัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล คือถ้าพูดถึงฝ่ายสื่อที่โค่นทักษิณน่ะ ตอนนี้เขาก็ไม่ได้อะไร ในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ process ไปสู่กระบวนการที่เขาต้องโทษรัฐบาลต่อไปอยู่ดี ผมคิดว่าสื่อหนังสือพิมพ์เยอะเลยที่รู้สึกว่าถูกกีดกันในสังคม ไม่รู้เพราะอะไรนะ อาจจะเป็นเพราะตัวเจ้าของสื่อหรือหนังสือพิมพ์เอง ความที่เป็นอย่างนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่าเขาต้องเป็นศัตรูกับรัฐบาล เมื่อสื่อใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลกับประชาชนเป็นศัตรูกับรัฐบาล เขาก็ต้องพยายามโค่นรัฐบาล พวกทหารที่เฝ้ามองอยู่ก็ชอบฉวยโอกาส มันเลยเป็นวัฎจักรอย่างนี้



สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ ไทยโพสต์ เมเนเจอร์ เนชั่น ต่างๆ ต้องเลิกมองว่าตัวเองมีบทบาทในการเป็นศัตรูรัฐบาล เพราะมันไม่ใช่การตรวจสอบนะ มันคือการปลุกระดมคนให้เตรียมโค่น คืออย่างนี้...การเขียนบทความวิเคราะห์การทำงานของรัฐ แฉการคอรัปชั่น พวกนี้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าทำโดยมีกลยุทธ์โดยรวมเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาล อันนี้มันก็คืออคติแล้ว ถ้าสื่อใหญ่ๆ เป็นอย่างนี้ก็อยู่ไม่ได้



000



“สิ่งที่คุณจะทำ..คือการไปคัดหา ‘สภาประชาชน’ มาประเมินคุณภาพรายการ

เสร็จแล้วคุณจะให้คณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ 9 คนของคุณมาพิจารณาอีกที

ถามว่ามันได้ตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือ?

มันอาจจะได้ แต่คงคล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต”



ข้อตกลงอันหนึ่งในนโยบายทีวีสาธารณะ บอกว่าจะเปิดให้มีการตั้ง ‘สภาประชาชน’ ร่วมประเมินและตรวจสอบบทบาทของสถานีได้

ผมไม่เชื่อในทั้งหมดนี้ มันทำได้แค่ในกระดาษ on paper มันไม่มีอะไรอย่างนั้น การคัดประชาชนมา เพื่อมาประเมินการดำเนินรายการ คุณจะไปคัดชาวนามาไหม? ก็คงไม่ มันตลก ทำไม่ได้หรอก สิ่งที่จะประเมินได้ก็คือคุณทำรายการออกมา แล้วก็ดู feedback คุณทำ survey อย่างที่ประเทศพัฒนาเขาทำกัน คือทำรายการแล้วก็ต้องเช็คเรตติ้ง คุณต้องส่งคนไปประเมินผลตอบรับ แต่นี่..สิ่งที่คุณจะทำ..คือการไปคัดหา ‘สภาประชาชน’ มาประเมินคุณภาพรายการ เสร็จแล้วคุณจะให้คณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ 9 คนของคุณมาพิจารณาอีกที ถามว่ามันได้ตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือ? มันอาจจะได้ แต่คงคล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ซึ่งเราอยู่ในอีกโลกหนึ่งแล้วนะ ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ต้องมีวิธีบริหารงานเหมือนอย่างที่ไอทีวีเคยบริหาร แบบช่อง 3 บริหาร แบบช่อง 7 บริหาร



กรณีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จและถูกยกให้เป็นต้นแบบทีวีสาธารณะที่สามารถทำได้ในความเป็นจริง

ในกรณีของ BBC ผมคิดว่าประเทศแบบนั้นเขามีสิทธิ์ที่จะมีช่องเหล่านั้น เพราะว่าช่องอื่นๆ มันพัฒนาไปจนสุดโคตรแล้วไง ช่องอื่นๆ มันมีคุณภาพดีเยี่ยมจนคนดูแล้วรู้สึกว่า มีแบบนี้สักช่อง (ทีวีสาธารณะ) ก็ไม่เป็นไร แต่ของเรานี่คือ…ช่องที่ดีๆ มันยังมีไม่กี่ช่องเอง เราอย่าเพิ่งมีช่องไม่ดีเพิ่มขึ้นมาอีกช่องจะดีกว่า แต่ผมไม่ได้ว่า TPBS มันจะไม่ดี แต่ประเด็นก็คือว่า มันจะมาแทนไอทีวี ซึ่งมันไม่มีทางแทนได้ เพราะไอทีวีบริหารด้วยทุน ซึ่งในที่สุดแล้วมันเวิร์กที่สุด คุณดูอย่างช่อง 3 ช่อง 7 ที่เรตติ้งเยอะๆ ขนาดช่อง 3 หันมาทำข่าว ประสบการณ์อาจจะสู้ช่องอื่นไม่ได้ แต่พอทำออกมา คนก็ดูข่าวช่อง 3 เยอะแยะ เพราะมันขึ้นอยู่ที่การบริหาร แต่ TPBS ไม่มีทางบริหารได้อย่างที่ควรจะเป็น คือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะถึงที่สุดแล้วมันยังต้องยึดโยงอยู่กับรัฐบาล



ตอนที่ช่องนี้เป็นไอทีวี มันดีอยู่แล้ว เพราะมันไฮเทค มันมีเทคโนโลยี มันมีเงิน มีความพร้อม ทีมงานตั้งใจ และมันมีความรับผิดชอบต่อคนดู โดยอาศัยเรตติ้งชี้วัด ข่าวต้องมีคนดู ต้องเรตติ้งดี มันมีการบริหารที่มีความเป็น ‘มืออาชีพ’ Professional Business มีไดเร็กชั่น มีการทำมาร์เก็ตติ้ง มีการทำโฆษณา มีเม็ดเงินเข้ามา มีความต้องการที่จะแข่งขันกับช่อง 9 ช่อง 3 มีความพยายามที่ต้องการจะทำให้ดีกว่าช่อง 5 ช่อง 7 อะำไรอย่างนี้ แ่ต่พอเป็น TPBS มันไม่ต้องแข่งขันแล้ว มันมีงบสองพันล้านต่อปี แล้วงบนี้มัน accountability ต่อใคร ในเอกสารบอกว่างบนี้ต้อง accountability กับคณะกรรมการ แล้วมันยังไง ก็เหมือนกับที่อยู่ดีๆ ก็มีการเปลี่ยนจากเลือกตั้ง ส.ว.มาเป็นการแ่ต่งตั้ง ส.ว.นั่นแหละ มันย้อนยุคกลับไปเป็น 20 ปี ซึ่งจริงๆ ทีวีสาธารณะมันก็มีได้ แต่มันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปยึดไอทีวีมา เพราะในความคิดของผม สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนดูมากที่สุดคือทีวีพาณิชย์ มันเป็นสูตรที่ตอบสนองทุกอย่างในสังคม



การแข่งขันเพื่อทำกำไรของทีวีพาณิชย์ จะทำให้รายการบันเทิงมีสัดส่วนที่สูงกว่ารายการเชิงสาระ เพราะคนดูส่วนใหญ่ชอบ แล้วความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากให้มีเรื่องที่เป็นสาระก็จะถูกกีดกันออกไปอีกอยู่ดี

ใช่ ถูกต้อง อันนั้นก็ต้องมีทีวีสาธารณะนี่แหละ แ่ต่ัมันไม่ควรจะมาแทนช่องที่ดีอยู่แล้ว อย่างถ้าคุณเปิด TPBS ขึ้นมา แล้วคุณเปิดช่อง 3 ตอนนี้ ทีวีพาณิชย์มันให้สาระคุณมากกว่าแล้ว ในความเป็นจริง เมื่อผลิตออกมาแล้ว มันต้องให้คนดูตัดสิน เหมือนอย่างทฤษฎีสังคมนิยมนี่นะ ในทางทฤษฎีมันเพอร์เฟ็กต์ ดูดีมาก ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ในการปฏิบัติมันทำไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่สงครามเย็นจบลงตรงที่สหรัฐฯ ชนะ ทุนนิยมชนะสังคมนิยมไง มันก็เหมือนกัน จริงๆ แล้วนโยบายทีวีสาธารณะมันก็ยึดโยงกับแนวคิดที่ค่อนข้างจะเป็นสังคมนิยม ทีนี้มันไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ว่ามันทำได้จริงและทำได้ดี แค่ในไม่กี่ประเทศเท่านั้น คนจะยกตัวอย่าง BBC ตลอด แต่ที่อังกฤษนี่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ มันก้าวหน้าไปมากแล้วไง บีบีซีมันเป็นเทคโนโลยีของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งไทยยังไปไม่ถึง ถ้าสมมติว่าไทยเราพัฒนาไปถึงขั้นอังกฤษแล้ว ทีวีพาณิชย์อื่นๆ ก็เข้าขั้นสุดยอดไปแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นถ้าถึงเวลานั้นแล้ว การมีทีวีสาธารณะก็คงจะใช้ได้ เหมือนอย่างบีบีซีไง ก็คือใช้ได้ นี่คือมองภาพรวมนะ



ในสถานการณ์ตอนนี้ ถ้าคุณเป็นพนักงานไอทีวีจะทำอย่างไร

ก็คงต้องคุยกับทุกคน แล้วรวมกันว่าจะไม่ไปสมัครทีพีบีเอส เพราะว่ากลยุทธ์ที่เขาทำกับไอทีวีครั้งนี้เหมือนกับที่ทำกับไทยรักไทย คือต้องการทุบแล้วให้แต่ละคนกระจายไปอยู่พรรคอื่น แล้วก็ค่อยๆ กระจายไปสมัครทีพีบีเอสทีละคน ‘Divide and Conquer’ แยกกันไม่ให้มีความเป็นปึกแผ่น เพราะฉะนั้นที่ต้องทำก็คือ ‘การรวมกลุ่ม’ เสร็จแล้วก็รอ กสทช.เพื่อไปขอคลื่นใหม่ และทำช่องใหม่ด้วยกัน แต่คงต้องรอไปอีกปีสองปี เพราะเราดันไม่มี กสทช.ซึ่งเป็นความทุเรศของประเทศนี้ที่ไม่มีองค์กรพวกนี้ เพราะอะไร เพราะดันไปฉีกรัฐธรรมนูญ และเพราะ ส.ว.บางกลุ่มที่ไปยื่นคัดค้านทุกครั้งที่จะมี กสทช. จนในที่สุดกี่ปีผ่านไปก็ไม่มี กสทช. แล้วก็โดนรัฐประหารพอดี ต้องรอกันต่อไป แต่ในขณะที่รอ คุณต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อน แ่ต่ัวันหนึ่งถ้าจะเอาคืน คุณต้องเอาคืนด้วยการทำช่องใหม่ แต่ต้องอยู่กับบริษัทไหนสักอันหนึ่งนะ แล้วไปขอคลื่น ต้องมองในระยะยาว เพราะนี่คือความพ่ายแพ้ระยะสั้น ถึงที่สุดแล้วมันก็จะมี กสทช. ก็ไปขอคลื่นมาบริหารใหม่ อย่างน้อยคุณก็อาจจะหัวเราะเยาะได้ถ้า TPBS มันทำแล้วห่วย ซึ่ง TPBS มันยาก จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ได้อย่างที่ไอทีวีเคยทำมา...หมายถึงเรื่องเรตติ้งนะ





หมายเหตุ:



(1) บทความ TITV: Proxy battle of a greater war ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2551

(2) ข้อความในวงเล็บโดย ‘ประชาไท’


//www.prachatai.com/05web/th/home/10914


โดย: POL_US IP: 74.135.193.57 วันที่: 19 มกราคม 2551 เวลา:6:56:50 น.  

 
ยังคิดถึง TITV อยู่

ทุกวันนี้มี TPBS ก็ทำเหมือนกับว่า TPBS คือทีวีเทพ เป็นช่องแห่งความหวังที่จะสร้างสรรค์รายการดี ๆ มาให้คนดูทุกกลุ่ม เนื้อหาสาระที่จะนำเสนอคงเต็มเอี้ยด ด้วยเวลาฉายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง เที่ยงคืน ที่จริงก็ดีนะมีช่องแบบนี้มาให้คนได้ดู แต่ทำไมต้องเป็นช่อง itv ด้วยน้อ คลื่นในอากาศมีบานตะไท ไม่คิดจับมาทำช่องแข่งกะเขาให้เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน


โดย: bench วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:59:45 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.