*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
แนวคิดกฎหมายว่าการชุมนุมในที่สาธารณะ

ช่วงนี้ ประเด็นเรื่อง สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ กำลังโด่งดัง และเป็นที่น่าสนใจเป็นการทั่วไป ผมเลยถือโอกาส นำเรื่องที่เคยเล่าเรียนจากสำนักกฎหมายอิลลินอยส์ ในวิชารัฐธรรมนูญ มาบันทึกไว้ เผื่อใครสนใจจะอ่าน จะรู้หลักการและแนวคิดทางกฎหมายของประเทศอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณาว่า ข้ออ้าง ข้อถกเถียง ขององค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า รัฐ หรือ ศาล จะสั่งจำกัดขอบเขตของการชุมนุมได้หรือไม่ ในขอบเขตเพียงใดบ้าง ดังต่อไปนี้




หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศสหรัฐอเมริกา โดย พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ (J.S.D.)

๑) บทนำ


สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม หรือ Freedom Assembly กับ สิทธิและเสรีภาพในพูด หรือ Freedom of Speech มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่อาจจะแยกจากกันได้ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม หรือ Freedom of Assembly นั้น เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ของปัจเจกชนที่กระทำได้ภายใต้กรอบกติกาและกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันได้รับการรับรองไว้ในมาตรา ๒๑ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา การใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุม กับ เสรีภาพในการพูด (Freedom of speech) ของปัจเจกชนนั้น ประเทศไทยได้รับรองอย่างชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ และ มาตรา ๖๓ กล่าวคือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในชุมนุม และแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน ฯลฯ ซึ่งจะจำได้เฉพาะมีกฎหมายกำหนด เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และเพื่อการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ และชื่อเสียงฯ ของผู้อื่น

การดำเนินการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม รวมถึง สิทธิและเสรีภาพในการพูดข้างต้น สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของอานารยะประเทศในลักษณะเดียวกัน เป็นต้นว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอเมริกา (American Convention on Human Rights), รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (United States Constitution) อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) และ กฎบัตรแคนนาดาว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ (Canada's Charter of Rights and Freedoms)

ในสหรัฐอเมริกานั้น สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม รวมถึงเสรีภาพในการพูดนั้น ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑ หรือ The First Amendment to the United States Constitution ซึ่งเป็นส่วนนหนึ่งของ Bill or Rights โดยปกติรัฐบาลสหรัฐ หรือรัฐบาลมลรัฐ จะไม่สามารถบัญญัติกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับสารัตถะในบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการพูดได้ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าไม่เป็นกรณีที่ รัฐไม่อาจจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพข้างต้นได้เลย แต่สิทธิและเสรีภาพข้างต้นสามารถถูกจำกัดได้ โดยรัฐ อาจจะออกกำหนด เกี่ยวกับ ๑) ข้อจำกัดเรื่องเวลาในการชุมนุมหรือการพูด (ข้อจำกัดเรื่อง Time) ๒) ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการชุมนุม หรือการพูด (ข้อจำกัดเรื่อง Place) และ ๓) ข้อจำกัดเรื่องวิธีการในการชุมนุม หรือการพูด (ข้อจำกัดเรื่อง Manner) ภายใต้กรอบการคุ้มครองทางกฎหมายว่า กฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพข้างต้นจะต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่กว้างขวางเกินสมควร (Over breadth) และ จะต้องไม่มีลักษณะที่คลุมเครือ (Vagueness) จนประชาชนทั่วไปไม่ได้ทราบได้ว่า การกระทำใดที่มีลักษณะต้องห้าม หรือ เป็นการให้อำนาจแก่ผู้ใดผู้หนึ่งในการอนุมัติให้มีการชุมนุมหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือพูดอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ (Unlimited discretion) กฎหมายนี้จึงต้องมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการปฏิเสธสิทธิการชุมนุมอย่างชัดเจน ถึงหลักเกณฑ์และเหตุผลต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิเสธคำขออนุญาตในการจัดชุมนุม

๒) หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองและการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมและการพูด


ระบบกฎหมายสหรัฐฯ นั้น รัฐต่าง ๆ สามารถออกกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายที่ควบคุมสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยอิสระ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตจัดการชุมนุมในสถานที่สาธารณะ ซึ่งจะต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้อื่นในการดำเนินกิจกรรมอันเป็นปกติของประชาชนทั่วไป เป็นต้นว่า เทศบาลสามารถบัญญัติกฎหมายหรือเทศบัญญัติของเมืองในการกำหนดกฎเกณฑ์การขออนุญาตชุมนุมของกลุ่มคนในบริเวณใด หรือ กำหนดห้ามใช้เครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังเดือนร้อนรำคาญและรบกวนผู้อื่นจนเกินสมควร หรือ กำหนดระยะทางการห้ามการชุมนุมประท้วงในเขตใดเขตหนึ่ง เช่น ห้ามชุมนุมประท้วงบนทางเท้าใกล้เขตศาล หรือ เขตโรงเรียน หรือ เขตอาคารที่ทำงานของไปรษณีย์ รวมทั้งสามารถกำหนดห้ามชุมนุมประท้วง ในระยะเวลาก่อนเริ่มชั้นเรียน หรือ หลังเลิกชั้นเรียน เป็นเวลาไม่นานเกินสมควร เช่น เทศบาลสามารถกำหนดห้ามชุมนุมประท้วง ใกล้บริเวณโรงเรียน ระยะ ๑๐๐ ฟุต ก่อนจะเริ่มต้นชั้นเรียน เป็นเวลา ๑.๕ ชั่วโมง และ ห้ามชุมนุม หลังเลิกชั้นเรียนไปแล้ว ในระยะเวลา ๑.๕ ชั่วโมง เป็นต้น

๒.๑) หลักเกณฑ์ของศาลสูงสุดสหรัฐ (The Supreme Court) ในการตรวจสอบจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุม มีลักษณะ ดังนี้
ศาลสูงสุด ได้กำหนดหลักเกณฑ์บางประการ ที่อนุญาตให้รัฐบาลสามารถออกข้อกำหนดในการจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมได้อย่างสมบูรณ์ แต่บางกรณีอาจจะไม่สามารถจำกัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารถจำกัดได้อย่างมีเงื่อนไข โดยทั่วไปแล้ว รัฐสามารถออกกฎหมายจำกัด สิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือชุมนุมนั้นได้ หากเข้าเงื่อนไขว่า

๑) คำพูดนั้น ยั่วยุก่อให้เกิดการกระทำความผิดที่ใกล้จะเกิด
๒) คำพูดที่ จะก่อให้เกิดการกระทำผิดหรือความรุนแรงเกิดขึ้นในโดยอัตโนมัติ ในลักษณะที่ถือเป็น Fighting Words
๓) คำพูดที่ ถือเป็นข่มขู่อย่างแท้จริง (True Threats)
๔) การกระทำหรือภาพในลักษณะ เป็นการลามกอนาจาร (Obscenity)
๕) ภาพลามกที่เป็นภาพของเด็ก (Child pornography)
๖) ถ้อยคำที่ถือเป็นการหมิ่นประมาท (Defamatory speech)
๗) ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการค้า ที่มีลักษณะเป็นเท็จ หรือ ฉ้อฉล (False or misleading speech) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขาย หรือ การให้บริการ หรือ การเสนอให้มีการกระทำผิด


๒.๒) ประเภทของ Speech ที่สามารถถูกควบคุม หรือ จำกัดได้
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวข้องกับ Speech นั้น รัฐสามารถกระทำได้ โดยอาจจะกำหนดกฎเกณฑ์ และเงื่อนไข เกี่ยวกับ เวลา (Time) สถานที่ (Place) และ วิธีการ (Manner) แต่ถ้ามีข้อโต้แย้งว่า กฎเกณฑ์ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพข้างต้นนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลจะต้องพิจารณาว่า กฎเกณฑ์ที่กำหนดนั้น ควบคุม Content ประเภทใด ถ้ามีลักษณะเป็นการควบคุม Content-Based ศาลจะใช้มาตราฐานที่เรียกว่า Strict Scrutiny เพื่อตรวจสอบและชั่งน้ำหนักระหว่าง ผลประโยชน์ของรัฐนั้นว่าถือว่า เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งหรือไม่ กับ มาตรการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว มีความได้สัดส่วนและนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของนรัฐหรือไม่ และได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของวิธีการที่กำหนดขึ้นเพียงใด แต่ถ้ากฎเกณฑ์ที่ควบคุมการชุมนุมหรือการพูดนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ สารัตถะในถ้อยคำ ที่เรียกว่า Content-Neutral หรือ มีลักษณะกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ในลักษณะทั่วไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ Message ที่ต้องการควบคุมแล้ว หากมีข้อโต้แย้งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว มาตรการที่ใช้ตรวจสอบ จะมีความเข้มข้นน้อยลง เรียกว่า Rational Standard กล่าวคือ ถ้า รัฐมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และวิธีการที่ใช้นั้น รุนแรงน้อยที่สุด ในบรรดาทางเลือกที่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ กฎเกณฑ์นั้นย่อมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ก) กฎเกณฑ์ที่ควบคุม Content-Based คือ การควบคุมการชุมนุมหรือการแสดงความคิดหรือการพูด โดยพิจารณาจาก ถ้อยคำ หรือเนื้อหาสาระของผู้พูดหรือผู้ชุมนุมเป็นสำคัญ กรณีนี้ รัฐอาจจะวางกฎเกณฑ์ ที่เหมาะสม (Reasonable regulation) ที่เป็นการจำกัด หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิดังกล่าว โดยกำหนดขั้นตอน หรือ เวลา หรือ สถานที่ ได้ เป็นต้นว่า ในกรณีที่มีการขออนุญาตเดินขบวนพาเหรด หรือ การชุมนุม ๒ กลุ่มในเวลาและสถานที่เดียวกัน การกำหนดอนุญาตให้สองกลุ่มใช้สถานที่ในเวลาเดียวกัน จึงทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตในการชุมนุมได้ แต่จะปฏิเสธไม่อนุญาต โดยพิจารณาจากเนื้อหาของการชุมนุม เป็นสำคัญไม่ได้

ในกรณีนี้ รัฐอาจจะกำหนดกฎเกณฑ์ ที่ห้ามกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าไปในสถานที่เอกชน กำหนดรายละเอียดการใช้เครื่องเสียงหรืออุปกรณ์ที่ห้ามรบกวนความปกติในการใช้ชีวิตของประชาชนเกินสมควร รวมถึงการชุมนุมในเวลาที่ประชาชนพักผ่อน เช่น ห้ามชุมนุมในเวลา ๐๒.๐๐ น. เป็นต้น การกำหนดห้ามชุมนุม โดยเด็ดขาดย่อมไม่สามารถกระทำได้ รวมถึงการห้ามหรือการจำกัดสิทธิชุมนุม รัฐจะต้อง แสดงให้เห็นว่า การบัญญัติกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ และ วิธีการที่กำหนดนั้นนำไปสู่ผลสำเร็จ อันเป็นวิธีการที่ร้ายแรงน้อยที่สุดในบรรดาวิธีการหรือทางเลือกที่มีนั้น (Narrowly tailored to a compelling interest) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศาลจะพิจารณาว่า

๑) กฎเกณฑ์นั้น บัญญัติเพื่อควบคุมเกี่ยวกับ Content หรือ สารัตถะในการพูดหรือการชุมนุม
๒) กฎเกณฑ์ที่ใช้ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จำเป็นอย่างยิ่งของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ (Necessary to achieve a compelling interest of state.)
๓) กฎเกณฑ์ที่ใช้นั้น เป็นวิธีการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญอันยิ่งยวดได้อย่างจริงจัง และ เป็นวิธีการที่รุนแรงหรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Be narrowly tailored to a compelling interest) หากฝ่ายรัฐ ที่ออกกฎเกณฑ์นั้น สามารถพิสูจน์ ถึงความจำเป็นและตามกฎเกณฑ์ข้างต้นแล้ว กฎเกณฑ์ที่ออกมาย่อมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ข) กฎเกณฑ์ที่ควบคุม Content – Neutral คือ การควบคุมการพูดหรือการชุมนุม ที่โดยเนื้อหาของกฎหมายนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหา หรือ Content โดยตรงของการชุมนุมโดยตรง กล่าวคือ ไม่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานโดยตรง กฎหมายจะชอบรัฐธรรมนูญได้ หากรัฐบาลได้แสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์นั้นชอบด้วยเหตุผล ตามหลัก Rationality Standard กล่าวคือ รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (legitimate Interest) และการวางกฎเกณฑ์นั้น มีเหตุผลที่จะทำให้วัตถุประสงค์นั้น บรรลุกฎหมายได้ กรณีนี้ รัฐจะต้องพิสูจน์ว่า

๑) กฎเกณฑ์นั้น ไม่ได้บัญญัติเพื่อควบคุม Content-Based แต่เป็น Content-Neutral
๒) กฎเกณฑ์นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นในการบรรลุวัตถุประสงค์อันสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
๓) กฎเกณฑ์นั้น เปิดโอกาสให้ประชาชน มีทางเลือกในการชุมนุม หรือเสนอความคิดเห็นนั้นได้ พอสมควรด้วย
๔) จะต้องเป็นทางเลือกที่รุนแรงน้อยที่สุดในบรรดาทางเลือกที่จำเป็นที่มีอยู่ในการบรรลุวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ของรัฐ

กฎหมายที่บัญญัติขึ้นมานั้น จะต้องมีลักษณะที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษร และชอบด้วยกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายที่กำหนดห้ามมิให้เดินขบวนหรือชุมนุม เพื่อแสดงการข่มขู่ให้บุคคลอื่นหวาดกลัว ซึ่งถือเป็น Fighting Words จึงบัญญัติขึ้นบังคับใช้ได้ หากปรากฎว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะเกิดหรือจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายบางฉบับ แม้บทบัญญัติตามลายลักษณ์อักษรจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการบังคับใช้ อาจจะมีปัญหา เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กับการนำมาประยุกต์ใช้ หรือบังคับใช้ อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่า การใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด ที่โดยลายลักษณ์อักษรนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่การนำมาใช้เพื่อควบคุม และจัดการกับการชุมนุม อาจจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญได้ เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อรักษาความสะอาด ไม่ใช่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย การนำกฎหมายรักษาความสะอาดมาจัดการควบคุมการชุมนุม จึงไม่ใช่วิธีการที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยที่สมเหตุสมผล ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนวิธีการชุมนุม หรือ เวลา หรือ สถานที่ ในการชุมนุม ให้แก่ประชาชน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข และขณะเดียวกัน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมหรือการพูดได้รับการคุ้มครอง ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

๒.๓) เงื่อนไขเกี่ยวกับประเภทสถานที่ในการออกกฎเกณฑ์ กฎหมายที่กำหนดเขต หรือพื้นที่ ในการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ก็สามารถบัญญัติขึ้นได้ เช่น การห้ามชุมนุมในบริเวณใกล้เขตศาล โรงเรียน หรือ สถานที่ราชการอื่น ๆ หากรัฐบาลมีเหตุผลอันสมควรและจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์เช่นนั้น เป็นต้นว่า หากปล่อยให้มีการชุมนุมในเขตดังกล่าว จะกระทบต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการการบริหารงานยุติธรรมของรัฐ หรือ ผลประโยชน์ของนักเรียนในการด้านการศึกษา หรือ ผลประโยชน์ในการบริหารงานฝ่ายบริหาร ที่ไม่มีทางเยียวยาแก้ไขได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ในการจำกัดสิทธิ์ จึงจะต้องพิจารณา ปัจจัยเกี่ยวกับสถานที่ในการชุมนุม ดังนี้

๑) Public Forum หรือ การชุมนุมในสถานที่สาธารณะทั่วไป การกำหนดกฎเกณฑ์ในการจำกัดสิทธิในการชุมนุม รัฐจะต้องพิสูจน์ว่า มาตรการที่วางไว้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด (Necessary) และ เป็นวิธีการที่สำคัญในการทำให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่สำคัญยิ่งนั้น (Promote compelling state interest)

๒) Limited Public Forum หรือ การชุมนุมในเขตที่เป็นของราชการแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ ในบางครั้งบางคราว เช่น มหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนของรัฐบาล เป็นต้น การกำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุม นอกจากการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนปกติ จึงสามารถกระทำได้ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ

๓) Non-Public Forum หรือ การกำหนดกฎเกณฑ์ในการชุมนุมในพื้นที่ที่เป็นของรัฐโดยแท้ เป็นต้นว่า ทำเนียบรัฐบาล หรือ สถานที่ราชการที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นการทั่วไป หากรัฐต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ในการชุมนุม ย่อมสามารถกระทำได้อย่างกว้างขวาง แต่จะต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

๓.๑) ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมเกี่ยวกับสถานที่ เวลา และ ขั้นตอนการปฎิบัติที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาในการพูด หรือเป็น Content-Neutral
๓.๒) ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่ผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐ
๓.๓) ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล


๒.๔) การพิจารณาว่ากฎเกณฑ์นั้น จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

๑) Overbreadth Doctrine คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องไม่มีลักษณะกว้างขวางเกินสมควร แม้ว่าการกระทำการดังกล่าวจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือ ไม่ได้ความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กฎเกณฑ์ควบคุมการชุมนุมจะต้องมีลักษณะที่ไม่กว้างจนถึงขนาดที่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของรัฐบาลไม่สามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ หรือ อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจพิจารณาใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ในการพิจารณาอนุมัติการชุมนุม หรือ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบได้ เช่น การให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่ หัวหน้าตำรวจ หรือ คณะกรรมการ ที่จะพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุม อย่างกว้างขวาง ไร้ขอบเขตจำกัด หรือ ไม่พื้นฐานกฎเกณฑ์ในการในการปฏิเสธคำขออนุญาตนั้น

๒) Void / Vagueness Doctrine คือ กฎเกณฑ์นั้น จะต้องมีลักษณะที่ไม่คลุมเครือ กล่าวคือ ประชาชนได้รับการแจ้งล่วงหน้าในการบังคับใช้กฎหมายนั้น และ ประชาชนจะต้องได้รับกระบวนการพิจารณาคำร้องหรือคำขอ และ กระบวนการพิจารณาชั้นศาลอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม กฎเกณฑ์นี้ จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าใจ และรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง และ ยังเป็นการจำกัดสิทธิ์ของตำรวจในการจับกุมบุคคล กฎเกณฑ์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ รัฐย่อมมีอำนาจออกได้อย่างแทบไม่มีข้อจำกัด เป็นต้นว่า การห้ามขับรถโดยประมท หรือ ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ เป็นต้น ต

๓) Equal Protection คือ หลักความเสมอภาค กล่าวคือ จะต้องบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจาก เพศ เชื้อชาติ หรือ ผิวสี หรือกลุ่มคน เป็นต้น


๒.๕) ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเสรีภาพในการชุมนุม กับ กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับ การปกป้องเสรีภาพในการพูดและการชุมนั้น เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้หลักประกัน แต่ไม่ใช่ว่า สิทธิและเสรีภาพในการพูดนั้นจะไม่ใช่มีข้อจำกัด ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้รับรองว่า กฎหมาย Espionage Act of 1917 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในคดี Schenck (๑๙๑๙) โดยให้เหตุผลว่า เสรีภาพนั้นจะต้องชั่งน้ำหนักกับ การรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติเป็นสำคัญ ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้วางหลักเกณฑ์ว่า หากการชุมนุมหรือการใช้เสรีภาพนั้น ก่อให้เกิดผลบางประการขึ้นแล้ว ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่

๑) การพูดหรือกล่าวถ้อยคำอันเป็นเท็จ ที่จะก่อให้เกิดความตระหนกตกใจ (Falsely shouting) แก่ประชาชน
๒) การพูดหรือกล่าวถ้อยคำที่ก่อให้เกิดภยันตราย และทำให้เกิดขึ้นซึ่งภยันตรายแก่ประชาชน อย่างแน่แท้ (Create clear and present danger)
๓) น่าจะก่อให้เกิดผลร้ายเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นขึ้นได้ (Harmful result) ตามหลักความใกล้เคียงอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จ (Proximity and degree) หรือ Bad tendency test
๔) การคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น จะไม่ขยายไปถึงภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ เช่น ภาวะสงคราม เป็นต้น


ตัวอย่างคดีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้สิทธิและเสรีภาพการพูดและการชุมนุม


Gitlow v. New York (1925) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎหมายของรัฐนิวยอร์ก New York’s Criminal Anarchy Statute ที่ห้ามสนับสนุนใด ๆ โดยระบุวิธีการที่ชัดเจน ในการใช้ความรุนแรงเพื่อล้มล้างรัฐบาล นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญสหรัฐ ไม่ถือว่า เป็นบทบัญญัติที่กว้างขวางหรือคลุมเครือ

Dennis v. U.S. (1951) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎหมาย Smith Act ที่กำหนดฐานความผิดสำหรับผู้สมคบในการกระบวนการหรือพรรคคอมมิวนิสต์ในสหรัฐฯ นั้นชอบด้วยกฎหมาย หากรัฐสามารถได้ว่า การจำกัดการใช้เสรีภาพในการพูดหรือชุมนุมนั้น รัฐมีเหตุผลที่จำเป็นและสำคัญ (Substantial interest) ซึ่งกรณีนี้ คือ การป้องกันการโค่นล้มรัฐบาล และ ต้องเป็นการกำหนดโทษสำหรับการใช้เสรีภาพในการพูด ที่ก่อนให้เกิดความรุนแรงหรือภยันตรายแก่สังคม ซึ่งศาลจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง เสรีภาพของเอกชนในพูดหรือชุมนุม กับ มาตรการที่รัฐใช้ในการปกป้องผลประโยชน์นั้นว่า ปัจจัยใดสำคัญกว่ากันเพียงใด และวิธีการที่ใช้นั้นเป็นวิธีการที่ร้ายแรงหรือไม่

Yates v. U.S. (1957) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า การกำหนดว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จะเป็นความผิดได้ต่อเมือง การใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้น มีลักษณะเป็นกระตุ้นการกระทำผิด (Incitement) ที่จะก่อให้เกิดผลร้ายหรือความรุนแรง (Violence) ขึ้น

Scales v. U.S. (1961) ศาลสูงสุด ได้ขยายหลักเกณฑ์ว่า การเป็นเพียงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จะไม่ถือว่าเป็นความผิด จะต้องมีกระทำที่ถือเป็นการกระทำผิดจริง ๆ โดยรัฐจะต้องพิสูจน์ว่า บุคคลนั้น มีการกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บุคคลนั้นเป็นสมาชิกองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย และ องค์กรนั้น มีวัตถะประสงค์หรือเจตนาที่จะต้องกระทำหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย

Brandenburg v. Ohio (1969) ได้กำหนดมาตรฐานในการพิจารณาเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือชุมนุม ในคดีที่กลุ่ม Ku Klux Klan ได้กระทำการละเมิดกฎหมาย Ohio’s Criminal Syndicalism Statute โดยสนับสนุนให้มีการปฏิบัติการเมืองโดยวิธีการรุนแรง และรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการใช้สิทธิดังกล่าว และ นาย Brandenburg ได้วางแผนนำขบวนชุมนุมไปยังหน้ารัฐสภา ศาลได้วินิจฉัยว่า ลำพังเพียงคำพูดที่สนับสนุนให้ใช้กำลังในการโค่นล้มรัฐบาลโดยวิธีการรุนแรงนั้น จะไม่เป็นความผิดกฎหมาย การใช้เสรีภาพในพูดหรือการชุมนุมจะความผิดตามกฎหมาย ต่อเมื่อคำพูดหรือการใช้เสรีภาพในการพูด หรือการชุมนุมนั้น ได้นำไปสู่การยั่วยุ หรือ ก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น และ มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงนั้นขึ้นอย่างแน่นอน (.., advocacy is directed to inciting or producing imminent lawless action and is likely to incite or produce such action.)

๒.๖) การขออนุญาต และการไม่อนุญาตให้ใช้เสรีภาพการชุมนุม

โดยปกติ รัฐต่าง ๆ รวมถึงเทศบาลเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐฯ จะกำหนดให้มีการขออนุญาต หรือแจ้งการก่อนการชุมนุมในสถานที่สาธารณะ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาต กฎหมายอาจจะกำหนดให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการใช้ดุลพินิจ ในการให้อนุญาตให้มีการชุมนุมได้ โดยปกติผู้ที่มีอำนาจพิจารณาจะต้องไม่อำนาจดุลพินิจ บนพื้นฐานของเนื้อหา หรือ ถ้อยคำ ในการปฏิเสธหรือให้อนุญาตในการชุมนุมสำคัญ

ตัวอย่างเช่น

คดี Thomas v. Chicago Park District (2002) ศาลสูงสุดได้พิจารณาว่า เทศบัญญัติของเมืองชิคาโก้ ที่เรียกว่า Chicago Park District Ordinance ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาต ในการชุมนุม การเดินขบวน การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกินกว่า ๕๐ คน หรือ การดำเนินกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดเสียงดัง ในสวนสาธารณะ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะ กฎหมายนี้ ได้กำหนดในลักษณะที่เป็นกลาง (Content-Neutral) ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ เวลา สถานที่ และ วิธีการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการประสานงานการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่มีความจำกัดได้

คดี Forsyth County v. The Nationalist Movement (1992) ศาลสูงสุดได้ วินิจฉัยว่า กฎหมายที่ให้อำนาจดุลพินิจแก่ผู้บริหารในการกำหนดจำนวนค่าธรรมเนียม โดยอาศัยข้อเท็จจริงว่า ข้อความจะใช้ในการชุมนุม หรือขบวนพาเหรดนั้น คือ สิ่งใด โดยกฎหมายได้กำหนดว่า ค่าทำเนียมไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญต่อวัน สำหรับ การจัดขบวนพาเหรด หรือ การชุมนุมในที่สาธารณะนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะให้อำนาจตามอำเภอใจของผู้พิจารณา โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดแน่นอน หรือ กรอบกระบวนการในการพิจารณา นอกจากนี้ การกำหนดค่าธรรมเนียม จำนวนมากน้อย ยังขึ้นอยู่กับ เนื้อหาที่ของชุมนุมด้วย

คดี Saia v. New York (1948) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กม. ของเทศบาลเมืองที่ห้ามใช้เครื่องยขยายเสียงในการชุมนุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก Chief of Police นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะให้อำนาจแก่ตำรวจโดยไม่จำกัด แต่ถ้ากำหนดวิธีการพิจารณา และหลักเกณฑ์ในการปฏิเสธคำขอไว้ ก็สามารถกระทำได้

คดี Kovacs v. Cooper (1949) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กม. ที่ควบคุมการใช้เครื่องเสียงในเขตชุมชน นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะ กม. นี้ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ที่เป็นบัญญัติกว้างขวางเกินสมควร หรือ คลุมเครือ เพราะได้กำหนดระดับเสียง เป็นถ้อยที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะการใช้เครื่องเสียงประกอบในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม หรือพูด ในเขตถนนสาธารณะ หรือ ถนนหนทางที่มีการจราจรคับคั่ง ซึ่ง ไม่ได้มีลักษณะการห้ามอย่างเด็ดขาด

คดี Police Department of Chicago v. Mosley (1972) ศาลวินิจฉัยว่า กม. ที่ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะทุกประเภท โดยกำหนดเขตห้ามชุมนุม ห่างจากโรงเรียนระยะ ๑๕๐ ฟุต และ ห้ามชุมนุม ก่อนเริ่มชั้นเรียน ๑.๕ ชั่วโมง และ หลังจากเลิกเรียน ถือว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

คดี Carey v. Brown (1980) ศาลได้ประกาศว่า กฎหมายของรัฐอิลลินอยส์ ที่ห้ามชุมนุมในเขตชุมชน เว้นแต่ เป็นข้อพิพาทแรงนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะอาศัย Content ในการชุมนุม เป็นปัจจัยในการพิจารณาแบ่งแยก และเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

คดี U.S. v. Kokinda (1989) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ห้ามมิให้มีการติดตามรังควาน หรือ รบกวน รบเร้า ในลักษณะ Solicitation ในเขตอาคารไปรษณีย์ โดยการห้ามตั้งโต๊ะหรือกระทำการชุมนุมบนทางเท้า ใกล้ทางเข้าอาคาร นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะ การกระทำดังกล่าว ขัดกวางการจราจรและทางเดินเท้าของประชาชนที่มาติดต่อราชการ อันเป็นการรบกวนสิทธิของผู้อื่น เนื่องจาก มีทางเข้าออกอาคารเพียงทางเดียว

คดี Hill v. Colorado (2000) ศาลได้ประกาศว่า กฎหมาย 1993 Colorado Statute ที่ควบคุมการห้ามชุมนุม ในระยะ ๑๐๐ ฟุต จากสถานที่เข้าออกของสถานประกอบการทำแท้ง นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญา สำหรับผู้ที่มีเจตนาก่อกวน ผู้อื่นในเขตสถานประกอบการดังกล่าว โดยกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่เข้าไปใกล้บุคคลอื่น ๆ ที่ไปรับบริการ ในระยะ ๘ ฟุต ไม่ว่าเพื่อแจกใบปลิว พูด หรือ กระทำการอื่น ๆ เพื่อรบกวน หรือให้ความรู้ ข่าวสาร โดยบุคคลนั้นไม่ยินยอม เป็นกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน เนื่องจาก กฎหมายนี้ ไม่ได้ห้ามโดยพิจารณาจาก Content-Based ไม่มีลักษณะข้อห้ามที่กว้างขวางเกินสมควร และคลุมเครือ รวมถึงไม่มีลักษณะที่เป็นข้อห้ามในการยับยั้งการใช้เสรีภาพที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการห้ามการกระทำ (Conduct)

๓ บทสรุป

กฎเกณฑ์ในการควบคุมการชุมนุมหรือการใช้เสรีภาพในปัจจุบัน จึงพิจารณาว่า การชุมนุม หรือใช้เสรีภาพในการพูดดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดการกระทำผิดที่ผิดกฎหมาย และ มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลร้ายตามที่ได้ประสงค์เช่นนั้น ในเวลาที่ใกล้ชิดกับผลหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยในคดี Feiner v. New York (ตถ๗ ว่า กฎหมายที่เรียกว่า State Disorderly Conduct Statute ของรัฐ New York ซึ่งอนุญาตให้ฝ่ายรัฐจับกุมตัวผู้กระทำผิดในการพูดเพื่อยั่วยุให้เกิดเหตุร้ายได้ นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะ การใช้เสรีภาพในการพูดนั้น อาจจะก่อให้เกิดภัยอย่างร้ายแรงขึ้นได้ การที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม และพูด จึงไม่ใช่การห้ามไม่ให้พูด แต่เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นได้ รัฐสามารถออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมการชุมนุมได้ จะกำหนดเงื่อนไขในการขออนุญาตหรือ การแจ้งให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตอย่างไรหรือไม่ก็ได้ แต่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดชัดเจนถึงเหตุผลที่จะปฎิเสธ หรือไม่อนุญาตในการชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ รัฐจะต้องอธิบายถึงเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย ที่จะต้องเป็นผลประโยชน์ที่จำเป็นอย่างยิ่งของรัฐ วิธีการที่ใช้ในการควบคุมนั้นเป็นวิธีการที่จำเป็นอันนำไปสู่ผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรัฐ และ จะต้องเป็นวิธีการที่ร้ายแรงน้อยที่สุด

ส่วนการฟ้องร้องเอาผิดในทางแพ่งแก่ผู้กระทำผิด อันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการพูด ซึ่งอาจจะกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้วางหลักเกณฑ์ ในคดี New York Times v. Sullivan (1964) ว่า หากเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ Public Officials แล้ว รัฐจะต้องกำหนด Safeguard ที่จะปกป้องเสรีภาพในการพูดนั้น กล่าวคือ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หากไม่เป็นเท็จแล้ว ย่อมฟ้องร้องไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากประสงค์จะฟ้องร้องคดีทางแพ่ง จะต้องพิสูจน์ว่า

๑) การหมิ่นประมาทนั้น ไม่ใช้การใช้สิทธิ์วิจารณ์ในหน้าที่ราชการ แต่เป็นการวิจารณ์ส่วนตัว
๒) ถ้อยคำที่กล่าวเป็นเท็จ
๓) ผู้กล่าวมีเจตนาที่ชั่วร้าย หรือ มีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียหาย
๔) ภาระการพิสูจน์อยู่กับฝ่ายโจน์ และมาตรฐานพิสูจน์คือ Clear and convincing evidence


กฎเกณฑ์ข้างต้น ยังขยายไปถึงบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปยังบุคคลอื่น ที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะอย่างแท้จริง (Public Figure) คือ จะต้องเป็นบุคคลที่เข้าไปดำเนินการในกิจการต่าง ๆ ของรัฐ โดยเสนอตัวเข้าไปทำงานอย่างออกหน้าออกตา ไม่ใช่เพียงการที่บุคคลนั้น เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป

การที่ประเทศไทย จะออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ จึงสามารถนำกฎหมายข้างต้น มาใช้เป็นแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์ของประเทศไทย โดยคำนึงถึงคุณค่าและธรรมเนียมปฎิบัติของสังคมมาประกอบด้วย เป็นต้นว่า อาจจะต้องพิจารณาว่า ประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการแจ้งกรณีต้องการจัดการชุมนุม หรือไม่ อย่างไร หรือ จะกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตจัดการชุมนุมในกรณีอย่างไรบ้าง หรือ กรณีการชุมนุมโดยไม่ได้นัดหมาย จะมีวิธีการควบคุมความสงบเรียบร้อยอย่างไร หรือ จะกำหนดค่าธรรมเนียม หรือ หลักประกันความเสียหาย อย่างไร หรือไม่ หากรัฐจะปฏิเสธไม่อนุญาตการชุมนุม จะต้องมีเหตุผลและหลักการประการใดบ้าง รวมถึง การสลายการชุมนุมในเงื่อนไขใดได้บ้าง เช่น จะก่อภยันตรายที่เห็นว่าจะต้องเกิดอย่างแน่แท้ เป็นต้น ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ อาจจะแตกต่างจากแนวกฎหมายข้างต้นก็ได้



Create Date : 01 สิงหาคม 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:26:07 น. 2 comments
Counter : 2118 Pageviews.

 
This article has more value than just being a silly talk... I am serious.

Get it published, please!


โดย: amatuer translator วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:12:31:03 น.  

 
ฮัลโหล ไม่ได้แวะมาบ้านนี้นานมากกกก

ยังไม่ได้อ่านหรอกค่ะ ไว้เดี๋ยวว่างกว่านี้จะมาค่อย ๆ เล็มอ่าน

ก็เพิ่งจะกลับมาจากบูกินาฟาโซน่ะค่ะ (ล้อเล่นนน) หายไปปีนึง
กลับมาอีกทีเห็นเม้นต์เต็มบ้าน เลยกลับมาเยี่ยมตอบค่า

สบายดีนะคะ ตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว


โดย: MoneyPenny วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:20:38:36 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.