เกร็ดเล็กน้อยน่ารู้ก่อนเลือกเรียนกฎหมาย
ก่อนที่จะเลือกเรียนกฎหมาย มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้มาฝากค่ะ

1. เรียนนิติศาสตร์แล้วไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

- สายเอกชน : ทนายความ, ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย, อาจารย์ ฯ มีทั้งทำในสำนักงานทนายความ, law firms, in house
- สายราชการ : พนักงานสอบสวน,นิติกร, อัยการ, ผู้พิพากษา ฯ

นอกจากนั้นยังทำงานสายอาชีพของชาวรัฐศาสตร์ได้ด้วย เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, นักการทูต

แนวทางการศึกษาของแต่ละสายก็จะแตกต่างกันไปนิดหน่อย เอาไว้เล่าให้ฟังต่อไปครั้งหน้านู้นนะคะ


2. หลายคนเข้าใจผิดว่าการเรียนกฎหมายเน้นที่การท่องจำ (ซึ่งเราก็ขี้เกียจเถียง แต่คนที่ไม่ได้เรียนย่อมไม่เข้าใจ ก็ปล่อยเค้าเข้าใจผิดต่อไป)
ที่จริงแล้วการเรียนกฎหมายต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ+ความจำ ลำพังแค่การท่องจำแต่ตัวบทไม่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนนิติได้

ยกตัวอย่างเช่น ป.อ. ม. 217 มีอยู่ว่า "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ..."

ถ้าเกิดข้อเท็จจริงเป็นว่า ดำและแดงเป็นเจ้าของรถยนต์ร่วมกัน ต่อมาดำทะเลาะกับแดงจึงวางเพลิงเผารถยนต์เสียหายทั้งคัน ดังนี้ดำจะมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์หรือไม่

ประเด็นตามข้อเท็จจริงนี้คือ ทรัพย์ของผู้อื่น จะหมายความถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหรือไม่

ถ้าจำเพียงตัวบทแต่ไม่ทราบหลักทั่วไปของการตีความกฎหมายอาญา คงไม่สามารถให้คำตอบพร้อมเหตุผลที่ถูกต้องได้

คำตอบคือ ดำไม่ผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ เพราะในม. 217 ไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย"
เป็นการตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” โดยเคร่งครัด เพราะเป็นการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา มิอาจตีความขยายความออกไปให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาได้
(เทียบเคียง ฎ.5710/2541)

จะเห็นได้ว่า แม้เราจะจำตัวบทในม. 217 ได้เป๊ะๆ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจหลักในการตีความกฎหมายอาญา ก็จะตอบไม่ถูกว่าทรัพย์ของผู้อื่นในทีนี้คือทรัพย์ของผู้อื่นจริงๆ ไม่รวมถึงทรัพยท์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3. มีคนเคยถามว่าเรียนนิติที่ไหนดี เราจะตอบว่าที่ไหนก็ได้ค่ะที่คะแนนถึง
ถามว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมีผลต่อการสมัครงานไหม ถ้าจะทำ law firms ก็คงมีบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประวัติการศึกษาและการ present ตัวเองเวลาสัมภาษณฺ์มากกว่า

แต่มีเรื่องนึงที่อยากจะพูดถึงก็คือเรื่องการสมัครสมาชิกวิสามัญของเนติฯ
จบจากที่ไหน จะมีผลตรงนี้นิดนึงค่ะ...

"สมัครสมาชิกวิสามัญไปทำไม"

- เมื่อท่านสอบตั๋วทนาย (ใบอนุญาตว่าความ)ผ่านแล้ว ในการขึ้นทะเบียน ท่านจะต้องเป็นสมาชิกวิสามัญของเนติฯ
คุณสมบัติของผู้สมัครคือ "จะต้องเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของรัฐดังต่อไปนี้ 1. ม.ธรรมศาสตร์ 2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. ม.รามคำแหง
4.ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 5. ม.เชียงใหม่

มหาวิทยาลัยอื่นๆนอกจากนี้ จะต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตและได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรองว่าผ่านการอบรมวิชาว่าความ หรือผ่านการฝึกหัดในสำนักงานทนายความ

(รายละเอียด //www.thethaibar.org)

อะ แล้วมันต่างกันยังไง

มันต่างกันแบบนี้ค่ะ คือผู้ที่จบจากสถาบัน 5 สถาบันที่กล่าวมาสามารถไปสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญได้ทันทีที่มีปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต
ระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการคือ อย่างต่ำ 3 เดือน สมมุติว่าท่านได้บัตรสมาชิกวิสามัญ+ขอใบรับรองเรียบร้อย เมื่อท่านสอบตั๋วทนายผ่านจนขึ้นตอนสุดท้าย ท่านก็เอาใบรับรองจากเนติไปยื่นให้สภาทนายความจดทะเบียนและออกใบอนุญาตได้เลย
(ท่านใดที่จบจากสถาบันข้างต้นได้ปริญญาบัตรแล้วแนะนำให้ไปสมัครสมาชิกวิสามัญรอไว้เลยนะคะ จะได้ไม่เสียเวลา)

สรุปกรณีแรก ขั้นตอนจะเป็นแบบนี้ค่ะ
มีปริญญาบัตร > สมัครสมาชิกวิสามัญ > (ถ้าสอบผ่าน) จดทะเบียนทนายความ

ส่วนผู้ที่จบสถาบันอื่นนอกจาก 5 สถาบันข้างต้น จะต้องสอบตั๋วทนายให้ผ่านก่อน จึงจะเอาใบรับรองว่าผ่านการอบรมวิชา่ว่าความไปยื่นขอสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญที่เนติได้ เท่ากับว่ามีช่องว่างที่ต้องรอเนติอนุัมัติประมาณ 3 เดือน
ถึงจะขอใบรับรองจากเนติไปจดทะเบียนทนายความที่สภาได้ (ระยะเวลาที่สภาก็อีก 2 เดือน) สรุปว่าก็จะได้ช้ากว่าไป 3 เดือนค่ะ

กรณีที่สอง ขั้นตอนจะเป็นแบบนี้ค่ะ

มีปริญญาบัตร+ประกาศนียบัตรว่าผ่านการอบรมวิชาว่าความ > สมัครสมาชิกวิสามัญา รอ 3 เดือน > จดทะเบียนทนายความ


ที่พอจะนึกออกก็มีเท่านี้ ถ้านึกออกเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังเพิ่มค่ะ

แล้วจะทยอยเล่าเรื่อง การเรียนในมหาวิทยาลัย , ไปฝึกงาน , การสอบตั๋วทนายมีกี่แบบ , การสอบเนติบัณฑิต , และการไปเรียนกฎหมายในต่างประเทศ







Create Date : 31 พฤษภาคม 2554
Last Update : 31 พฤษภาคม 2554 18:38:35 น.
Counter : 9405 Pageviews.

0 comment
อารัมภบท
อารัมภบท

วันนี้อยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษากฎหมายเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ท่านที่ตัดสินใจจะก้าวมาสู้เส้นทางของนักกฎหมาย

ย้อนหลังไป ถ้าตอนนั้นเจ้าของบล็อกขวยขวายหาข้อมูลหรือวางแผนชีวิต
ให้ดีกว่านี้หน่อยก็คงจะดีกว่านี้มาก
สมัยก่อนคิดว่า เอ้าจะรีบไปไหนล่ะ อายุเพิ่งจะ 18-19 เอง ขอกิน เที่ยว เล่นเกมส์ ให้สมใจวัยรุ่นหน่อย คนเราจะรีบเรียน รีบทำงาน รีบแก่ รีบตายไปไหน
เห็นเพื่อนสนใจถามรุ่นพี่กันจังว่า เรียนวิชาอะไร ลงเทอมไหนยังไงมั่ง รู้สึกว่าเฮ้ย nerd ไปเปล่า ซีเรียสไรมาก ชิลๆดีกว่า

...พอเวลาผ่านไปสักพัก เริ่มรู้สึกตัวว่า ที่่ผ่านมาเราชิลไปละ และการที่เราชิลไปทำให้ชีวิตเรา"พลาด"อะไรไปหลายอย่าง

เจ้าของบล็อกเลยอยากรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท การสอบตั๋วทนาย การสอบเนติ ฯลฯ มาเล่าให้ฟัง
เพื่อที่หลายๆคนจะได้ไม่พลาดเหมือนเรานะคะ

หวังว่าข้อมูลและประสบการณ์ของเราคงเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบ้างไม่มากก็น้อยค่ะ




Create Date : 31 พฤษภาคม 2554
Last Update : 31 พฤษภาคม 2554 17:47:04 น.
Counter : 410 Pageviews.

0 comment

Jumiko
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]