Group Blog
 
All blogs
 
Safety First

ห่างเหินไปนานกับการอัพเดท วันนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจกับผู้ใช้รถทั่วไปในเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่ศาสตร์เร้นลับอะไร เพราะเป็นเรื่องการใช้เข็มขัดนิรภัยและการโดยสารอย่างถูกต้องในรถยนต์นั่ง ซึ่งหลายท่านก็ทราบดี หลายท่านก็ทราบไม่ค่อยดี แต่หลายๆท่านก็ไม่ปฏิบัติแม้ว่าจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม

นำเรื่องราวนี้มาตอกย้ำอีกครั้งเพราะไปพบเอกสารฉบับหนึ่งที่อยู่ในชุดคู่มือของ T4 ที่ชื่อว่า “Multivan Caravelle Transporter Safety First” ซึ่งต้องชมว่าทาง vw พยายามเขียนไว้อย่างชัดเจนเข้าใจง่าย ผมจึงอาศัยเนื้อหาและภาพประกอบจากเอกสารดังกล่าว นำมาถ่ายทอดและเสริมแต่งให้เหมาะแก่การเข้าใจสำหรับเราคนไทย ก็หวังว่าเมื่อท่านอ่านกันเพลินๆ เข้าใจดีแล้ว หรือเข้าใจอยู่แล้วก็ขอถือโอกาสย้ำเตือนกันอีกครั้ง มีผู้นำไปปฏิบัติมากขึ้นเท่าไหร่ก็ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้นนั่นเอง

การใช้เข็มขัดนิรภัยนั้นได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันและลดอันตรายแก่บุคคลในรถในยามเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทย จึงมีการบังคับด้วยกฎหมายให้คาดเข็มขัดนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัยควรทำทุกครั้งไม่ว่าเดินทางใกล้หรือไกล แม้กระทั่งเด็กหรือสตรีผู้มีครรภ์ และควรศึกษาวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
*
ภาพนี้สมมุติขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นรถยนต์ที่กำลังวิ่งชนกำแพง และผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ตามกฎของฟิสิกส์ (ซึ่งคล้ายๆกฎแห่งกรรมที่ไม่มีใครเลี่ยงได้)กล่าวว่าเมื่อเราเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว(เร็วแค่ไหนก็ตาม)การเคลื่อนที่จะทำให้เกิดพลังงานจลย์ซึ่งจะมีมากตามความเร็วและน้ำหนักของเรา ทันทีที่เราหยุดการเคลื่อนที่อย่างกระทันหัน(เช่นในกรณีเกิดอุบัติเหตุ)พลังงานนี้จะต้องได้รับการรองรับหรือกระจายไป
*
ความเร็วที่เราเคลื่อนที่ จะมีอิทธิพลต่อพลังงานที่ว่าอย่างมาก ยกตัวอย่างเปรียบเทียบพลังงานจลย์ที่ความเร็ว 50 กม./ชม. จะมีมากกว่าพลังงานจลย์ที่ความเร็ว 25 กม./ชม. ถึง 4 เท่า! หากเราไม่ได้คาดเข็มขัดเลย ในเวลาที่เกิดการชนด้านหน้า(สมมุติว่าชนกำแพง)เราจะต้องกระจายพลังงานนี้ด้วยการกระแทกเข้าหาของแข็งที่ด้านหน้าของเรา ซึ่งอาจเป็นพวงมาลัย เบาะหรือแผ่นหลังของคนข้างหน้า หรือถ้าโชคร้ายมากๆก็อาจเป็นกำแพง!

หลายท่านอาจสงสัยว่าพลังงานจลย์ที่ว่านี้จะมีฤทธิ์เดชมากสักเพียงไหน หลายท่านผ่านอุบัติเหตุมาแล้วโดยที่ไม่ได้คาดเข็มขัดและก็แทบจะไม่เป็นอะไร ขออย่าชะล่าใจ กฎของฟิสิกส์ไม่เคยหลอกใคร อย่าลืมว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจะทำให้พลังงาน(และแรงปะทะ)เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า! ดังนั้นถ้าท่านเคยแคล้วคลาดปลอดภัยจากการขับรถชนกำแพง(หรือเสาไฟฟ้า)ที่ความเร็ว 20 กม./ชม. ไม่มีหลวงพ่อองค์ใดจะช่วยให้ท่านแคล้วคลาดถ้าขับรถชนกำแพงด้วยความเร็ว 50 กม./ชม.โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยได้ เพราะที่ความเร็วนี้จะมีแรงปะทะเข้าหาตัวท่านประมาณ 1000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน
*
หากท่านยังไม่เข้าใจว่าแรง 1 ตันปะทะตัวท่านจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ใช้จินตนาการตัวท่านตกจากที่สูงประมาณ 10 เมตร (ประมาณชั้นที่ 5 ของอาคารพาณิชย์) เมื่อร่างของท่านกระทบพื้นเบื้องล่าง นั่นแหละครับคือแรงที่เกิดขึ้นกับตัวท่านถ้าขับรถชนกำแพงด้วยความเร็ว 50 กม./ชม.
*
แรงนี้เกิดขึ้นกับผู้โดยสารทุกคน ไม่ว่าท่านจะนั่งอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลัง และหากท่านจะต่อสู้กับมันโดยไม่มีเข็มขัดนิรภัยช่วย ขอให้ส่องกระจกมองที่หน้าอกตนเองให้ดีว่ามีสัญลักษณ์ “S” หรือเปล่า และก้มดูว่าท่านใส่กางเกงในสีแดงไว้ข้างนอกหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ละก็ หากท่านยังคิดว่ายังสามารถช่วยตัวเองเวลาตกจากตึกห้าชั้นด้วยการเอามือหรือเท้ายันพื้นไว้ได้ ก็ขอให้อยู่อย่างเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรมีกรรมต่อกันและกันเลย
*

หากท่านคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ เวลาที่เกิดการชนด้านหน้า พลังงานจลย์ของท่านจะถูกถ่ายทอดให้แก่ตัวรถเพื่อช่วยกระจายแรงกระแทกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการคาดเข็มขัดที่ถูกต้องจะทำให้การกระจายแรงสอดคล้องกับโครงสร้างสรีระของมนุษย์ เพื่อให้มีโอกาสบาดเจ็บน้อยที่สุด

แม้ในการชนที่ความเร็วต่ำซึ่งหลายคนคิดว่าน่าจะใช้ความแข็งแรงของแขนช่วยตัวเองได้ แต่เชื่อผมเถิด เมื่อหลายล้านปีก่อน ตอนที่มนุษย์เริ่มจะเป็นมนุษย์นั้น “รถยนต์”เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจินตนาการใดๆและเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ร่างกายของเราจะวิวัฒนาการสร้างความแข็งแรงเพื่อรองรับได้ทัน แต่โชคดีที่สมองของเราสามารถเข้าใจกฎของฟิสิกส์และค้นพบว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยจะช่วยเราในอุบัติเหตุได้ เราจึงควรใช้มัน

ผู้โดยสารที่นั่งตอนหลัง ถ้าไม่คาดเข็มขัดก็มีอันตรายไม่ต่างจากผู้โดยสารตอนหน้า โดยเฉพาะในรถตู้ซึ่งผู้โดยสารถูกโยนออกนอกรถในอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การถูกโยนออกนอกรถมีสถิติการสูญเสียชีวิตที่สูงมากเมื่อเทียบกับผู้โดยสารที่ยังอยู่ในรถ และการถูกโยนอยู่ในรถเองก็เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารคนอื่นอย่างมากเช่นกัน *

นอกจากจะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดกับร่างกายแล้ว การคาดเข็มขัดช่วยตรึงให้เราอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยต่ออุบัติเหตุในลักษณะต่างๆ และในรถที่มีแอร์แบคก็ยิ่งมีความจำเป็นที่เราต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากการทำงานของแอร์แบคมีความรุนแรงและถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยเสมอ*

กฎในการใช้เข็มขัดนิรภัย
1. ต้องคาดทุกครั้งที่มีการเดินทาง ไม่ว่าใกล้ไกล หรือในเมือง และคาดทุกที่นั่งที่มีคน
2. เข็มขัดนิรภัยจะคุ้มครองท่านได้มากที่สุดเมื่อคาดอย่างถูกต้องเท่านั้น
3. การคาดที่ผิดอาจเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บได้ เช่น คาดไว้ใต้รักแร้แทนที่จะคาดบนไหล่
4. ห้ามบิดเข็มขัดหรือปล่อยให้เข็มขัดถูกับมุมแหลม
5. ห้ามคาดสองคนโดยใช้เข็มขัดเส้นเดียว เช่น อุ้มเด็กไว้บนตักแล้วคาดเด็กและตัวเอง
*
6. ห้ามคาดผ่านของที่แตกหักได้ เช่น ปากกา แว่นตาในกระเป๋าเสื้อ
7. ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหลวมรุ่มร่ามหรือเสื้อผ้าหลายชั้นเมื่อคาดเข็มขัด
8. เข็มขัดจะทำงานได้ดีเมื่อมีการปรับที่นั่งที่เหมาะสมด้วย เช่นไม่ปรับเอนนอนเกินไป
9. วางเท้าบนพื้นเสมอ ไม่วางบนเบาะนั่งหรือแผงคอนโซล
10. รักษาเข็มขัดให้สะอาด ปราศจากฝุ่นละออง
11. ไม่ให้มีวัตถุอื่นเข้าไปในหัวล๊อคเข็มขัด เช่น เศษกระดาษ ขนม
12. ตรวจสอบการทำงานของเข็มขัดเสมอ เข็มขัดที่เสียหรือผ่านการใช้งานในอุบัติเหตุมาแล้วจะต้องเปลี่ยน
13. อย่าพยายามซ่อมเข็มขัดนิรภัยด้วยตัวเอง

วิธีการคาดเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด
1. จับหัวเข็มขัดดึงให้สายเข็มขัดพาดหน้าอกและสะโพก
2. ดันหัวเข็มขัดเข้าที่ล๊อคให้มีเสียง”คลิ๊ก” ดึงสายเข็มขัดที่พาดไหล่ให้สายเข็มขัดแนบกับทรวงอกและให้เส้นที่พาดเอวมีความตึงกระชับ*
3. ตำแหน่งเส้นที่พาดไหล่ ให้พาดกลางไหล่ ไม่ให้พาดคอ เส้นที่พาดเอวจริงๆแล้วให้ผ่านท้องน้อย
4. หญิงมีครรภ์ต้องคาดเข็มขัดด้วย โดยเส้นที่พาดเอวต้องอยู่ต่ำที่สุด ห้ามพาดผ่านท้อง

ถุงลมนิรภัย (Airbag)
ระบบถุงลมนิรภัยประกอบด้วยสิ่งหลักๆคือ ระบบควบคุมด้วยอิเล็คโทรนิคส์ ถุงลม และไฟเตือนบนแผงหน้าปัทม์ ถุงลมขอบผู้ขับจะอยู่ในพวงมาลัย ถุงลมของผู้โดยสารตอนหน้ามักอยู่เหนือลิ้นชักเก็บของในคอนโซล ตำแหน่งที่บรรจุถุงลมมักมีคำว่า “AIRBAG” หรือ “SRS” (ย่อมาจาก Supplemental Restrain System) ถุงลมนิรภัยทำงาน “ร่วมกับ” เข็มขัดนิรภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ส่วนศรีษะและหน้าอก ถุงลมนิรภัยจะทำงานในบางกรณีเท่านั้น และจะไม่ทำงานทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุ การควบคุมการทำงานของถุงลมทำโดยสมองกลอิเล็คโทรนิคส์ ไฟเตือนบนแผงหน้าปัดจะกระพริบเป็นเวลาสั้นๆหลังติดเครื่องยนต์ใหม่ๆและจะหายไปเมื่อระบบอยู่ในสภาพปกติ เรารู้ได้ทันทีว่าระบบผิดปกติเมื่อเกิดอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้
1. บิดกุญแจไปตำแหน่ง ON แล้ว ไฟเตือนไม่ปรากฏ
2. หลังจากบิดกุญแจไปตำแหน่ง ON ค้างไว้เป็นเวลาเกิน 3 วินาทีแล้วไฟเตือนยังไม่ดับ
3. หลังจากบิดกุญแจไปตำแหน่ง ON ไฟเตือนดับไปแล้วกลับมาติดใหม่
4. มีไฟเตือนกระพริบหรือปรากฎค้างระหว่างเดินทาง
หากมีอาการเหล่านี้ ถุงลมอาจจะไม่ทำงานในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

ข้อควรระวังในการใช้รถยนต์ที่มีระบบถุงลมนิรภัย
1. รักษาระยะห่างจากหน้าอกอย่างน้อย 25 เซนติเมตรจากพวงมาลัยและแผงคอนโซลหน้า
2. คาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ มิเช่นนั้นถุงลมจะมีโอกาสทำให้ท่านบาดเจ็บมากขึ้น
3. ห้ามนำ คน สัตว์ สิ่งของ ไว้ระหว่างตัวท่านกับถุงลมนิรภัย
4. ถุงลมนิรภัยใช้ได้เพียงครั้งเดียว จะต้องนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อให้ใช้ถุงลมได้อีก
5. ห้ามตกแต่ง ดัดแปลง บริเวณที่ตั้งของถุงลม เช่น ติดที่วางแก้ว ที่วางโทรศัพท์

การยกเลิกการใช้ถุงลมนิรภัย ทำได้โดยศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้น ควรทำเฉพาะเมื่อ
1. จำเป็นที่จะต้องใช้ที่นั่งเด็กในตอนหน้ารถ
2. ไม่สามารถรักษาระยะห่างจากหน้าอกอย่างน้อย 25 เซนติเมตรจากพวงมาลัย และแผงคอนโซลได้
3. จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์อื่นระหว่างตัวท่านกับพวงมาลัย เช่น อุปกรณ์ช่วยขับขี่ของคนพิการ

ความปลอดภัยสำหรับเด็ก
สถิติต่างๆยืนยันว่า เด็กๆจะปลอดภัยในการใช้ที่นั่งตอนหลังมากกว่าการใช้ที่นั่งตอนหน้า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีควรใช้ที่นั่งตอนหลังเสมอ ไม่ควรยอมให้เด็กคุกเข่า ลุกขึ้นยืน หรือนอนราบ ในระหว่างการเดินทาง ซึ่งท่าเหล่านี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในขณะเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือมีความสูงไม่ถึง 150 เซนติเมตรห้ามใช้เพียงเข็มขัดนิรภัยโดยไม่มีอุปกรณ์เสริมสำหรับเด็ก

ตามกฏของ EU (ขอยืมหน่อย) แบ่งอุปกรณ์เสริมสำหรับเด็กเป็น 4 กลุ่ม ตามช่วงน้ำหนักของเด็กดังนี้
กลุ่ม 0 น้ำหนัก 0-10 กิโลกรัม
กลุ่ม 1 น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม
กลุ่ม 2 น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม
กลุ่ม 3 น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม

กลุ่ม 0 น้ำหนัก 0-10 กิโลกรัม
*ต้องอยู่ในที่นั่งที่หันหลังให้กับทิศทางการเดินทาง และห้ามใช้กับที่นั่งตอนหน้าที่มีถุงลมนิรภัยเด็ดขาด


กลุ่ม 1 น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม
*ใช้ที่นั่งที่หันหน้าหรือหันหลังก็ได้


กลุ่ม 2 น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม
*ใช้ที่นั่งที่ช่วยให้สามารถใช้เข็มขัดแบบ 3 จุดในรถได้ หรือ ที่นั่งที่มีระบบเข็มขัด 3 จุดในตัวเอง


กลุ่ม 3 น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม
*ควรใช้ Booster seat ที่ช่วยให้ใช้เข็มขัดแบบ 3 จุดในรถได้ โดยตำแหน่งที่พาดไหล่และเอวถูกต้อง (กลางไหล่ และเอวต่ำ)


*
ห้าม! ให้เด็กโดยสารโดยไม่มีการใช้เข็มขัดนิรภัย แม้กระทั่งการอุ้มเด็กทารกไว้บนตัก ในอุบัติเหตุเราจะไม่สามารถกอดเขาเอาไว้ได้ไม่ว่าท่านจะรักเขามากเพียงใด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมนุษย์ ไม่อาจเอาชนะกฏธรรมชาติของฟิสิกส์ได้

ว่ากันมายาว ขอปิดท้ายด้วยประโยคขำๆ ของผู้ที่มีเหตุผลในการใช้หรือไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย

เริ่มด้วยเหตุผลที่ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย
1. ไม่ได้ขับเร็ว
2. ไม่ได้ไปไกล
3. เชื่อมือคนขับ
4. นี่มันแท็กซี่นะ
5. นี่มันรถเมล์นะ
6. นี่มันมอเตอร์ไซค์นะ
7. นี่มันจักรยานนะ
8. พ่อแม่ไม่เคยสอนให้ใช้
9. ไหนตำรวจ
10. ยังอิ่มอยู่ (ว่าแล้วปลดตะขอกางเกงอีกต่างหาก)

และข้ออ้างเก๋ๆในการใช้เข็มขัดนิรภัย(เผื่อท่านจะนำไปใช้)
1. มันแถมมากับรถอ่ะนะ
2. พ่อแม่ไม่ได้ห้ามใช้
3. กรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง อย่างน้อยก็รู้ว่าใครนั่งตรงไหน (ช่วยให้ตำรวจเขียนสำนวนปิดคดีได้ง่าย)
4. เคยเป็นนักบินอวกาศมาก่อน
5. ที่บ้านยอมให้สุนัขเท่านั้นที่ไม่ต้องคาดเข็มขัด (โปรดระวัง Teen)
6. รถเก๋ง ไม่ใช่ตุ๊กตุ๊ก
7. ชาติก่อนเป็น Dummy เข็ดแล้ว
8. กลัวความหล่อกระจัดกระจาย
9. ผมอยากเด่น (จะมีอะไรมะ)
10. ผมกลัวจะปลิวไปทำร้ายคนอื่นๆในรถโดยไม่ตั้งใจ


Create Date : 15 สิงหาคม 2549
Last Update : 16 สิงหาคม 2549 13:18:09 น. 0 comments
Counter : 942 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

John Luc
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add John Luc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.