เมื่อน้องแก้มมาเยี่ยม
เมื่อวันที่ 21 พย. 2551 สวท.ภูเก็ต ตื่นเต้นกันมาก เมื่อได้รับการติดต่อจาก รพ.กรุงเทพฯ ภูเก็ต ว่า น้องแก้มจะมาเยี่ยมสถานีฯ และขอบคุณ ที่ สวท.ภูเก็ต ได้เสนอชื่อน้องแก้มเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติด้วย



พร้อมทั้งมอบอัลบั้มแรกในชีวิตของเธอให้ 1 แผ่น ชื่ออัลบั้ม "GAM" และให้สัมภาษณ์ดีเจโจ้ ทาง FM 96.75 ด้วย



ริชาร์ด และเจซี ดีเจภาษาอังกฤษ Blue Wave แอบมาดูและขอถ่ายรูปด้วย แอบมากระซิบถามว่าเธอเป็นดาราใช่ไหม เธอสวยมาก เราบอกไม่ใช่เธอเป็นนักร้อง และแก้มก็โชว์พลังเสียงให้ฟังกันสด ๆ เลยค่ะ



แฟนคลับมาขอถ่ายรูปกันใหญ่



น้องแก้ม หรือนางสาววิชญาณี เปียกลิ่น ผู้ที่มีพลังเสียงมหัศจรรย์ จนกระทั่งคว้ารางวัลเดอะสตาร์ปี 4 มาครอบครอง ปีนี้เป็นปีทองของน้องแก้มจริง ๆ เพราะหลังจากนั้นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต ได้เสนอประวัติและผลงานของน้องแก้มเพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นประจำปี 2551 และปรากฏว่าน้องแก้มถูกคัดเลือกจากสำนักส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้เป็น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2551 เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ และเกียรติบัตร จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2551

ขอเป็นกำลังใจให้น้องแก้มประสบความสำเร็จในการตามล่าความฝัน และขอให้ฝันของน้องแก้มเป็นจริงนะคะ




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2551 8:52:22 น.
Counter : 762 Pageviews.

1 comment
สู่เส้นทางการเป็นผู้ประกาศ

Smiley สู่เส้นทางการเป็นผู้ประกาศ Smiley







ผู้ประกาศ เป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและอยากจะก้าวเข้าสู่เส้นทางสายนี้ เพราะเป็นงานที่ทำให้มีโอกาสพบปะผู้คนหลากหลาย เป็นงานที่ท้าทาย ทำแล้วมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และอีกนานาเหตุผล





ผู้ประกาศ….คือใคร
อันที่จริงผู้ประกาศ (announcer) เป็นคำเรียกโดยรวม หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ฟังผู้ชมผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ นอกจากคำเรียกโดยรวมแล้วยังมีคำเรียกที่ชี้เฉพาะเจาะจงให้เห็นบทบาทหน้าที่การปฏิบัติงานที่ชัดเจน เช่น ผู้อ่านข่าว ผู้รายงานข่าว (reporter) ผู้ดำเนินรายการ(moderator) พิธีกร (Master of ceremony) ดีเจ (DJ หรือ disc jockey) เป็นต้น


ผู้ประกาศ….สำคัญอย่างไร
ตอบได้ว่าสำคัญยิ่งต่อ ความสำเร็จของรายการและสถานี เพราะเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยง สื่อสารโดยตรงระหว่างสถานีกับผู้ชมผู้ฟัง ขณะที่ทีมผลิตรายการคนอื่นๆ จะทำหน้าที่เตรียมงานและสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นหากทีมงานเตรียมการดีแต่ผู้ดำเนินรายการอ่อนซ้อม รายการก็ไปไม่ถึงดวงดาว
นอกจากนี้ผู้ประกาศ ยังมีความสำคัญในการทำหน้าที่ สร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังผู้ชม ซึ่งถ้าตรงใจผู้ชมผู้ฟัง ก็จะสามารถตรึงเขาไว้กับรายการได้ รวมทั้งอาจจะดึงดูดให้เขากลับมาติดตามรายการต่อๆไป กลายเป็น “แฟนรายการ” และพัฒนาไปสู่ “การภักดี”(loyalty) ต่อรายการและต่อสถานี ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละสถานีต้องการเป็นอย่างยิ่งในยุคที่มีการแข่งขันกันสูงเช่นในปัจจุบัน


ขณะที่ธุรกิจสื่อวิทยุและโทรทัศน์มีการแข่งขันกันสูง มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้เลือกมากมาย ดังนั้น แต่ละสถานีจึงต้องมีความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นภาพลักษณ์(brand image)ของสถานี เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มย่อย(niche group) ทั้งนี้ผู้ประกาศเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ของสถานี โดยผ่านทางบุคลิกภาพ จังหวะ ลีลา ภาษาที่ผู้ประกาศใช้ นอกเหนือจากชนิดของเพลงที่เปิด หรือรายการที่นำเสนอ เพื่อที่จะสื่อสารกับผู้ชมผู้ฟัง


ดังนั้น “ผู้ประกาศ” จึงสำคัญยิ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และด้วยความสำคัญนี้เอง ผู้ที่จะทำหน้าที่ผู้ประกาศจึงต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นหลายประการ เพื่อเป็นผู้ประกาศที่มีประสิทธิภาพ
คุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกาศ
ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ผู้ประกาศต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นซึ่งแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ คุณสมบัติเฉพาะตัว และคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
คุณสมบัติเฉพาะตัว


ถ้าสนใจจะเป็นผู้ประกาศต้องลองสำรวจตัวเองว่ามี คุณสมบัติเฉพาะตัวเหล่านี้หรือไม่
• มีเสียงที่มีคุณภาพ คือการมีธรรมชาติของเสียงที่แจ่มใส ชวนฟัง ไม่สั่นเครือ หรือแหบแห้ง

• มีความสามารถในการถ่ายทอดสาร(communicate ideas) ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะงานผู้ประกาศ มีหน้าที่หลัก คือ การถ่ายทอดสารไปสู่ผู้ฟังผู้ชม ดังนั้นถ้าขาดคุณสมบัติข้อนี้ คงยากที่จะทำหน้าที่ให้ดีได้ การถ่ายทอดสารเริ่มตั้งแต่การมีสารที่จะถ่ายทอด เมื่อมีสารแล้วก็จะต้องตีความสาร แล้วจึงนำเสนอสาร การมีสารที่จะถ่ายทอด พูดง่ายๆ ก็คือ มีเนื้อหาที่จะบอกกล่าวเล่าสู่ผู้ฟังผู้ฟังนั่นเอง ซึ่งเนื้อหานั้นอาจจะมีผู้เตรียมการให้ในรูปของบท(script) เมื่อได้รับบท ก่อนจะไปนำเสนอจำเป็นต้องทำความเข้าใจในบทนั้นๆ โดยการตีความ(interpret copy) ในบทซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะก่อนจะส่งสารถ้าเราในฐานะผู้ส่งสารไม่เข้าใจสารอย่างถ่องแท้ ทั้งในแง่ความหมาย เนื้อความ อารมณ์ของสาร อาจสื่อสารผิดพลาดได้ เมื่อตีความเข้าใจแล้วจึงนำเสนอด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การพูดเล่า การอ่าน การบรรยาย การวิเคราะห์ การสนทนา การสัมภาษณ์ เป็นต้น ส่วนการนำเสนอ ต้องให้ความสำคัญกับการออกเสียงที่ถูกต้องตามอักขรวิธี คำนึงถึงการใช้ภาษา ที่ถูกต้องตามหลักการ มีลีลาการนำเสนอที่เหมาะสมกับรูปแบบต่างๆ

• มีความรับผิดชอบ เนื่องจากผู้ประกาศต้องสื่อสารผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้คนจำนวนมาก หลากหลาย จึงต้องมีความรับผิดชอบ ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจะสื่อสาร

• มีความสามารถในการตัดสินใจ สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดี เพราะขณะออกอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นรายการสด อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จึงต้องมีความสามารถในการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

• มีความตรงต่อเวลา ด้วยงานผู้ประกาศนั้นเป็นงานที่ “มีนัด”ไว้กับประชาชน ซึ่งมิอาจผัดผ่อนได้ตามใจชอบ

• มีความเชื่อมั่นในตนเอง เพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ ทำให้ผู้ฟังผู้ชมเกิดความศรัทธา เชื่อถือในสารที่สื่อไปถึง

• มีความสนใจใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น สนใจปัญหา ข่าวคราวรอบตัว เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานความรู้ในการเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดสู่ผู้ฟังผู้ชมได้มี อารมณ์ดี แจ่มใส เพื่อช่วยส่งเสริมให้เสียงฟังดูรื่นหู และใบหน้า มองดูสบายตาต่อผู้ฟังผู้ชม





เคล็ดลับการเป็นผู้ประกาศ
การเป็นผู้ประกาศที่ดีต้องศึกษา และ ฝึกฝน วิธีการอ่านและการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
• การเปล่งเสียงที่ถูกวิธี คือ พูดให้เต็มเสียงเพื่อให้ได้เสียงที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่การตะโกน

• การใช้ระดับเสียงที่เหมาะสม อย่าลืมว่า เรากำลังพูดผ่านไมโครโฟน ระดับเสียงที่ เหมาะสมคือเสียงที่ไม่ดังเกินไปหรือค่อยเกินไประยะห่างจากปากถึงไมโครโฟนควรจะประมาณ 2คืบ

• การนำเสนอที่มีความถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ในภาษาไทย โดยการรักษาคำและความในบท ไม่อ่านผิดอ่านถูก ตู่คำตู่ความ หรือเติมคำเติมความ ทำให้ ความหมายเนื้อหาผิดเพี้ยนไป เช่น ข้อความว่า “…..พระหัตถ์วางเหนือพระเพลา…” แต่ผู้อ่านอ่านว่า “….พระพักตร์วางเหนือ พระเพลา….” เป็นลักษณะการตู่คำ จากพระหัตถ์กลายเป็นพระพักตร์ ซึ่งผิดความหมายไปเลย หรือการเติมคำ เช่น ข้อความว่า “….โรงพยาบาลเด็กอ่อนตั้งอยู่ที่ถนน…” แต่ผู้อ่านไปเติมคำกลายเป็น “….โรงพยาบาลเด็กปัญญาอ่อนตั้งอยู่ที่ถนน…” ลักษณะดังกล่าวนี้ต้องระวัง มีสติและสมาธิในการอ่านเพื่อจะได้ไม่พลั้งปาก

• การออกเสียง ตัว “ร” และ “ล” เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คน ที่ไม่คุ้นเคยในการออกเสียง เพราะไม่ได้ใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ทำให้ออกเสียงไม่ได้ หรือบางคนอาจมีอาการสับสนในการออกเสียง โดยออกเสียง ล ลิง เป็น ร เรือ และ ร เรือ เป็น ล ลิง การออกเสียงให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการเป็นผู้ประกาศ ที่จะต้องออกเสียงให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะสื่อสารผิดพลาดได้ ตัวอย่างเช่น ข้อความว่า “.....ผู้ที่ชอบไปบริจาคเรือด จะได้บุญกุศล...” ( เลือด เป็นที่ต้องการ แต่คงไม่มีใครอยากได้เรือด) หรือข้อความว่า “...โอ้โฮ ลูบล่างดีจัง...” แน่นอน ความหมายของลูบล่าง ย่อมต่างจากรูปร่าง เป็นต้น

• การออกเสียงควบกล้ำ จำเป็นในงานผู้ประกาศเช่นกัน มิฉะนั้นจะเสียความในการสื่อสารเช่น “....ห้างเซ็นทั่นกำลังมีโปโมชั่น ลดราคาปากะป๋อง ....” ผู้ฟังฟังแล้วอาจสับสน ที่ถูกต้อง คือ “....ห้างเซนทรัลกำลังมีโปรโมชั่น ลดราคาปลากระป๋อง...” เป็นต้น

• การออกเสียงที่ชัดเจน ไม่เพี้ยนแปร่ง เช่น เพี้ยนพยัญชนะ “คว” ออกเสียงเป็น “ฟ” ตัวอย่างเช่น “......วันนี้ขอเสนอบทฟาม เรื่อง ฟันดำฟันขาว...” (อันที่จริงบทความเรื่องควันดำ ควันขาว แต่ผู้ประกาศออกเสียงไม่ได้) หรือการเพี้ยนสระ เช่น สระ”แอ” ออกเสียงเป็นสร”เอ” ตัวอย่างเช่น “....พันธุ์ไม้สีเดงๆ มีใบเยกเป็นเฉกๆ...” (ที่ถูกต้องคือ พันธุ์ไม้สีแดงๆ มีใบแยกเป็นแฉกๆ)

• การนำเสนอที่ราบรื่น ชวนฟัง ได้แก่การไม่อ่านแล้วตะกุก ตะกัก ต้องอ่านไปพลาง หยุดสะกดคำไปพลาง ที่เรียกว่า”อ่านหนังสือยังไม่แตก”ฟังแล้วน่ารำคาญมาก

• การอ่านที่มีจังหวะจะโคน มีการให้น้ำหนักคำ ความ ไม่ยานยืด ไม่เอื่อยเรื่อยฟังแล้ชวนง่วงนอน

• การอ่านที่แบ่งวรรคตอนได้เหมาะสม แม้ว่าแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องแบ่งวรรคที่เท่ากับคนอื่น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอในการแบ่งวรรค คือ เมื่อหยุดแบ่งวรรคแล้วจะต้องไม่เสียความ(ความหมาย) เช่น “...ข่าวแจ้งว่า - ยานอวกาศ – เมียตกในประเทศชิลี...” (ตกลง ยานอวกาศ “เมีย”ตก หรือเมียตก) หรือ “....นายก – รัฐมนตรี – นำนายทหารเข้าถวายสัตย์ – ปฎิญาณว่า.....” (ฟังแล้วไม่แน่ใจว่า นายกรัฐมนตรี หรือนายกและรัฐมนตรี แล้วจะถวายสัตย์ หรือ สัตว์ เพราะเป็นการฟังเสียงไม่เห็นตัวสะกด จึงจะไม่ทราบความหมายจนกว่าจะมีคำว่าปฏิญาณตามมา) นอกจากนี้การแบ่งวรรคที่ดี ไม่ควรวรรคมากจนเกินไป จะทำให้เสียงเป็นห้วงๆฟังแล้วไม่รื่นหู เช่น นายก-รัฐมนตรี-มีกำหนด-จะเดินทาง-ไป-ประชุมสัญจร-ที่-จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

• มีลีลาการนำเสนอที่เหมาะสมกับรูปแบบงานที่นำเสนอ เช่น การอ่านข่าวต้องการความกระชับ ชัดเจน ค่อนข้างเป็นทางการ ไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนบทความ เป็นการนำเสนอกึ่งทางการได้ ถ้าเป็นสารคดี จะต้องไม่นำเสนอด้วยการอ่านทื่อๆ แข็งๆ แต่จะต้องสื่อสารให้ผู้ฟังได้อรรถรสทางอารมณ์ตามเนื้อหาในบท สำหรับคำประพันธ์ก็ต้องแบ่งวรรคให้ถูกต้อง มีการทอดเสียงให้น่าฟัง เป็นต้น





การฝึกฝน
เคล็ดลับที่สำคัญ ที่ผู้ประกาศอาวุโสของกรมประชาสัมพันธ์(อาจารย์เฉลิมศรี หุนเจริญ)แนะนำก็คือ “ฝึกเป็นนิจ ฝึกในชีวิตประจำวัน” เพื่อให้เกิดความเคยชิน คล่องปาก ทำให้ไม่ตะกุกตะกัก บางคนในชีวิตประจำวันไม่ใส่ใจการพูดให้ถูกต้อง และไปตั้งหลักในเวลาสอบ ผลก็คือ เมื่อเห็น ร เรือ จะหยุดตั้งสติ หรือบางคนก็จะออกเสียงแบบตั้งอกตั้งใจ จนมากเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติ

ในการฝึก ขอให้อ่านออกเสียงให้เต็มเสียง เป็นประจำทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนเข้าทำการทดสอบ นอกจากนี้ควรบันทึกเสียงการอ่านออกเสียงลงในเทป แล้วเปิดฟัง พร้อมทั้งเปิดใจ ติชมหาข้อบกพร่องของตัวเอง และหาทางพัฒนาแก้ไขต่อไป จำไว้ว่า ถ้าอ่านผิด ให้ “ขออภัย” แล้วอ่านใหม่ แต่ไม่ควรขออภัยบ่อยเกินไป



ส่งท้าย….สำหรับ “ว่าที่”ผู้ประกาศ


“งานของผู้ประกาศอาจดูง่าย
ดูสบาย สำรวยและสวยหรู
แต่ความจริงเป็นงานมือชั้นครู
ใช้ความรู้ ความคิดและจิตใจ
ต้องศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
ต้องครุ่นคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่
ต้องแม่นหลักอักขราภาษาไทย
ต้องแจ่มใสทีท่าต่อหน้าคน
ต้องกล้ารับคำวิจารณ์เมื่องานพลาด
มีมรรยาท จรรยาบรรณ หมั่นฝึกฝน
เกิดมาเพื่อบริการงานมวลชน
ไม่อดทนแล้วอย่าก้าวเข้ามาเลย”

ลองถามใจตัวเองอีกครั้ง ถ้ายังรักและมุ่งมั่นในอาชีพนี้ อย่ารีรอ ลงมือก้าวสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกาศ งานที่ท้าทายและมีเสน่ห์กำลังรออยู่














Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 11 ตุลาคม 2551 23:05:34 น.
Counter : 724 Pageviews.

3 comment
กำเนิดวิทยุกระจายเสียงไทย

Smiley  กำเนิดวิทยุกระจายเสียงไทย  Smiley








วิทยุกระจายเสียง ถือกำเนิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ภายใต้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดย พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน "พระบิดาแห่งกิจการ วิทยุกระจายเสียงไทย" เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานงานวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศในครั้งนั้น และส่งผลให้การกระจายเสียงไทย เจริญก้าวหน้าและพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย "…เมื่อได้ทรงรับมอบหมายราชการอันใด ก็เป็นที่หวังในความสำเร็จได้ แม้จะทรงลำบากตรากตรำสักเพียงใด ก็หาย่อท้อไม่ การในหน้าที่ของพระองค์จึงสำเร็จเป็นอย่างดี…" จากประกาศ พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัย และพระจริยวัตร ที่มุ่งมั่นในการทำงานจนสำเร็จ ทรงเป็นต้นราชสกุล "ฉัตรชัย" ประสูติ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 เป็นพระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด (สกุลเดิม "กัลยาณมิตร") พระนามเดิม พระองค์เจ้า บุรฉัตร ไชยากร

"วังบ้านดอกไม้" ที่ประทับของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ จุดเริ่มต้นที่ทรงทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เมื่อครั้งเป็นนายทหารช่าง ทรงสนพระทัยงานด้านวิทยุ อันเป็นวิวัฒนาการใหม่ของโลกในยุคนั้นอย่างจริงจัง พ.ศ. 2470 ทรงซื้อเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็ก มาทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง โดยติดตั้งเสาอากาศบนหลังคาวัง และใช้ห้องบนพระตำหนักเป็นห้องส่ง ทรงค้นคว้าส่วนพระองค์ โดยทดลองส่งเสียงพูดกับเสียงดนตรีด้วยเครื่องส่งโทรศัพท์ ใช้สถานีฯ ว่า "HS 1 PJ" เป็นการริเริ่มให้มีการส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศไทย

ใน พ.ศ. 2471 ขณะที่กรมพระกำแพงเพ็ชร ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงสั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาการส่งกระจายเสียงและทดลองรูปแบบที่สมควรจัดตั้งในประเทศไทย โดยใช้เครื่องโทรเลขที่มีอยู่มาดัดแปลง และประกอบเครื่องส่งขนาด 1 กิโลวัตต์ เป็นสถานีทดลอง "HS 11 PJ" ณ คลอง โอ่งอ่าง วัดราชบูรณะฯ (วัดเลียบ) ต่อมา ย้ายมาที่สถานีวิทยุโทรเลข ที่ศาลาแดง ส่งกระจายเสียงสลับกันระหว่าง 2 แห่งนี้กับที่วังบ้านดอกไม้

ภายหลังการทดลองส่งกระจายเสียง ใน พ.ศ. 2472 กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ทรงเลือกเครื่องส่งวิทยุบริษัทฟิลิปราดิโอ ประเทศวิลันดา (เนเธอร์แลนด์) ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ราคา 80,000 และจ้างห้างเกียสัน กรุงเทพฯ ตกแต่งและเดินสายไฟห้องต่างๆ จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องส่งเสียงใหญ่ (Studio 1) ห้องส่งเสียงเล็ก (Studio 2) ห้องผู้ประกาศ ห้องบังคับเสียง และห้องรับแขก ในราคา 5,000 บาท เพื่อจัดตั้ง สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ณ พระราชวังพญาไท ใช้สัญญาณเรียกขาน (Call sign) "HSP1" ความยาวคลื่น 363 เมตร หรือความถี่ 826.44 กิโลเฮิตซ์ เสาอากาศสูง 40 เมตร ส่งกระจายเสียงทุกคืน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2474 ขยายออกอากาศทุกวัน

สถานีวิทยุกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท เปิดทำการส่งกระจายเสียง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัส ฯ จากพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ไปยังเครื่องส่งที่พญาไท ถือเป็นการเปิดสถานีฯ และถ่ายทอดสดนอกสถานที่เป็นครั้งแรก ความว่า..." …การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน…. " ต่อมาวันนี้ถือเป็น " วันวิทยุกระจายเสียงไทย "

สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท ประกอบด้วย ห้องเครื่องส่ง และ ห้องส่ง ห้องเครื่องส่ง ตั้งอยู่หน้าพระราชวังพญาไท ส่วนห้องส่งกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่บนตึกชั้น 3 ของพระที่นั่งไวกูรณ์เทพสถาน พระราชวังพญาไท ได้แก่ ห้องส่งเสียงใหญ่ (สตูดิโอ 1) ห้องส่งเสียงเล็ก (สตูดิโอ 2) ห้องควบคุมเสียง และห้องผู้ประกาศ ช่างจะต้องสวมหูฟังขณะปฏิบัติงานตลอดเวลา หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกตัดเงินเดือนอย่างกรุณา 50 สตางค์ ปรกติ 1 บาท ช่างเงินเดือนอย่างสูงเดือนละ 50 บาท ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นฟังวิทยุตลอดเวลา หากเสียงจางหาย เบา พูดผิดพลาด ฯลฯ จะโทรศัพท์มาตั้งแต่ในหลวงลงมาจนถึงนายช่างผู้ช่วย การรับโทรศัพท์มี 3 นัย คือ ถูกเอ็ดจากผู้ใหญ่ ถูกด่าจากประชาชน และชมหรือถามชื่อผู้แสดง





Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 8:50:16 น.
Counter : 1095 Pageviews.

0 comment
ประชาสัมพันธ์คือเครื่องมือสื่อมิตรภาพ

Smiley  ประชาสัมพันธ์คือเครื่องมือสื่อมิตรภาพ  Smiley






ประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสื่อมิตรภาพ
เพื่อซึมซาบไมตรีจิตสนิทสนม
จะทำการสิ่งใดคนนิยม
ร่วมชื่นชมร่วมมือด้วยจริงใจ
ประชาสัมพันธ์เป็นงานละเอียดอ่อน
อาจยอกย้อนซ้อนซับชวนสงสัย
ต้องเรียนรู้หลักการคิดพิชิตใจ
แม้ไม่ง่ายแต่ไม่ยากหากมียุทธวิถี
การเรียนรู้หลักวิชาการอาจช่วยได้
แต่ต้องใช้แบบประยุกต์ให้ถ้วนถี่
เพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสภาพราบเรียบดี
และต้องมีไหวพริบปฏิภาณ
จงจริงใจและรักงานในหน้าที่
อย่ารอรีติดตามผลทุก ๆ ด้าน
เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม ก็คืองาน
ทั้งการบ้านการเมืองเรื่องยุ่งใจ
จงมุ่งสร้างภาพพจน์ของหน่วยงาน
และรวบรวมข่าวสารเพื่อขานไข
จงสำรวจกระแสประชาให้กว้างไกล
เพื่อนำมาใช้ปรับแผนประชาสัมพันธ์
การทำงานกับคนสับสนมาก
เพราะหลายหลากภูมิหลังอยู่ร่วมกัน
ต้องแยกแยะเพื่อความสมานฉันท์
จึงพบพลันแนวทางสร้างไมตรี
ขอบคุณที่มาเยือน สวท.ภูเก็ต
ขอบอกเคล็ดการทำงานไว้ตรงนี้
นอกจากหลักการ แนวคิด และทฤษฎี
สำคัญคือต้องมี “มนุษยสัมพันธ์”





Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 11:12:02 น.
Counter : 362 Pageviews.

1 comment
สวท.ภูเก็ต
Smiley  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต  Smiley




Free TextEditor




ขออนุญาตแนะนำสถานีที่น่ารักแห่ง่นี้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง นะคะ สถานีแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลรัฏฐา อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีคลื่นในความรับผิดชอบ 3 คลื่น FM 90.50 MHz (ภาษาอังกฤษ) FM 96.75 MHz (ภาษาไทย) และ AM 1062 KHz หาง่ายนะคะ อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ค่ะ







วิสัยทัศน์
“สวท.ภูเก็ต เป็นองค์กรที่เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ผลิตรายการและข่าวแบบมืออาชีพ
เพื่อมอบคุณค่าชีวิตที่ดีแก่ผู้ฟัง”

ภารกิจ
• สร้างสรรค์ ผลิตรายการและข่าวที่เป็นเลิศให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักบริหารจัดการ การบริหารสื่อวิทยุกระจายเสียงและหลักการตลาดแบบมืออาชีพ

• เสริมสร้าง ให้ สวท.ภูเก็ต เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ฟัง

• ส่งเสริม บุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในงาน รักในงานที่ทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยึดหลัก อยู่ดีมีสุขสนุกกับการทำงาน

• สนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์และรับผิดชอบต่อสังคม


หลักในการบริหารจัดการ Dear
• D การสร้างฐานข้อมูลลูกค้า database
• E การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม electronic
• A การกำหนดโปรแกรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ action
• R การเก็บรักษาลูกค้า relation






Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 11 ตุลาคม 2551 14:23:29 น.
Counter : 1618 Pageviews.

3 comment

โอ๊ะเอ๊ว
Location :
ภูเก็ต  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ทำงานด้านสื่อสารมวลชน
สื่อสารเพื่อการสร้างสรรค์ค่ะ
ยินดีต้อนรับบล็อคโอ๊ะเอ๊ว
  •  Bloggang.com