กำเนิดวิทยุกระจายเสียงไทย

Smiley  กำเนิดวิทยุกระจายเสียงไทย  Smiley








วิทยุกระจายเสียง ถือกำเนิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ภายใต้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดย พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน "พระบิดาแห่งกิจการ วิทยุกระจายเสียงไทย" เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานงานวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศในครั้งนั้น และส่งผลให้การกระจายเสียงไทย เจริญก้าวหน้าและพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย "…เมื่อได้ทรงรับมอบหมายราชการอันใด ก็เป็นที่หวังในความสำเร็จได้ แม้จะทรงลำบากตรากตรำสักเพียงใด ก็หาย่อท้อไม่ การในหน้าที่ของพระองค์จึงสำเร็จเป็นอย่างดี…" จากประกาศ พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัย และพระจริยวัตร ที่มุ่งมั่นในการทำงานจนสำเร็จ ทรงเป็นต้นราชสกุล "ฉัตรชัย" ประสูติ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 เป็นพระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด (สกุลเดิม "กัลยาณมิตร") พระนามเดิม พระองค์เจ้า บุรฉัตร ไชยากร

"วังบ้านดอกไม้" ที่ประทับของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ จุดเริ่มต้นที่ทรงทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เมื่อครั้งเป็นนายทหารช่าง ทรงสนพระทัยงานด้านวิทยุ อันเป็นวิวัฒนาการใหม่ของโลกในยุคนั้นอย่างจริงจัง พ.ศ. 2470 ทรงซื้อเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็ก มาทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง โดยติดตั้งเสาอากาศบนหลังคาวัง และใช้ห้องบนพระตำหนักเป็นห้องส่ง ทรงค้นคว้าส่วนพระองค์ โดยทดลองส่งเสียงพูดกับเสียงดนตรีด้วยเครื่องส่งโทรศัพท์ ใช้สถานีฯ ว่า "HS 1 PJ" เป็นการริเริ่มให้มีการส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศไทย

ใน พ.ศ. 2471 ขณะที่กรมพระกำแพงเพ็ชร ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงสั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาการส่งกระจายเสียงและทดลองรูปแบบที่สมควรจัดตั้งในประเทศไทย โดยใช้เครื่องโทรเลขที่มีอยู่มาดัดแปลง และประกอบเครื่องส่งขนาด 1 กิโลวัตต์ เป็นสถานีทดลอง "HS 11 PJ" ณ คลอง โอ่งอ่าง วัดราชบูรณะฯ (วัดเลียบ) ต่อมา ย้ายมาที่สถานีวิทยุโทรเลข ที่ศาลาแดง ส่งกระจายเสียงสลับกันระหว่าง 2 แห่งนี้กับที่วังบ้านดอกไม้

ภายหลังการทดลองส่งกระจายเสียง ใน พ.ศ. 2472 กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ทรงเลือกเครื่องส่งวิทยุบริษัทฟิลิปราดิโอ ประเทศวิลันดา (เนเธอร์แลนด์) ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ราคา 80,000 และจ้างห้างเกียสัน กรุงเทพฯ ตกแต่งและเดินสายไฟห้องต่างๆ จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องส่งเสียงใหญ่ (Studio 1) ห้องส่งเสียงเล็ก (Studio 2) ห้องผู้ประกาศ ห้องบังคับเสียง และห้องรับแขก ในราคา 5,000 บาท เพื่อจัดตั้ง สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ณ พระราชวังพญาไท ใช้สัญญาณเรียกขาน (Call sign) "HSP1" ความยาวคลื่น 363 เมตร หรือความถี่ 826.44 กิโลเฮิตซ์ เสาอากาศสูง 40 เมตร ส่งกระจายเสียงทุกคืน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2474 ขยายออกอากาศทุกวัน

สถานีวิทยุกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท เปิดทำการส่งกระจายเสียง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัส ฯ จากพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ไปยังเครื่องส่งที่พญาไท ถือเป็นการเปิดสถานีฯ และถ่ายทอดสดนอกสถานที่เป็นครั้งแรก ความว่า..." …การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน…. " ต่อมาวันนี้ถือเป็น " วันวิทยุกระจายเสียงไทย "

สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท ประกอบด้วย ห้องเครื่องส่ง และ ห้องส่ง ห้องเครื่องส่ง ตั้งอยู่หน้าพระราชวังพญาไท ส่วนห้องส่งกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่บนตึกชั้น 3 ของพระที่นั่งไวกูรณ์เทพสถาน พระราชวังพญาไท ได้แก่ ห้องส่งเสียงใหญ่ (สตูดิโอ 1) ห้องส่งเสียงเล็ก (สตูดิโอ 2) ห้องควบคุมเสียง และห้องผู้ประกาศ ช่างจะต้องสวมหูฟังขณะปฏิบัติงานตลอดเวลา หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกตัดเงินเดือนอย่างกรุณา 50 สตางค์ ปรกติ 1 บาท ช่างเงินเดือนอย่างสูงเดือนละ 50 บาท ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นฟังวิทยุตลอดเวลา หากเสียงจางหาย เบา พูดผิดพลาด ฯลฯ จะโทรศัพท์มาตั้งแต่ในหลวงลงมาจนถึงนายช่างผู้ช่วย การรับโทรศัพท์มี 3 นัย คือ ถูกเอ็ดจากผู้ใหญ่ ถูกด่าจากประชาชน และชมหรือถามชื่อผู้แสดง





Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 8:50:16 น.
Counter : 1095 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โอ๊ะเอ๊ว
Location :
ภูเก็ต  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ทำงานด้านสื่อสารมวลชน
สื่อสารเพื่อการสร้างสรรค์ค่ะ
ยินดีต้อนรับบล็อคโอ๊ะเอ๊ว
  •  Bloggang.com