นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

โลลิตา-วิบากกรรมความรักความหลง-วลาดีมีร์ บาโบคอฟ

กลเม็ดแพรวพราวในการเล่าเรื่อง เล่าเรื่องเหียก ๆ ในสายตาของฉันได้น่าติดตามมาก สมจริง สนุก ตลก สมน้ำหน้า น่าสงสาร เห็นใจ รัดทนใจ และไม่อยากให้มีโลลิตาน้อยอีกเลย ซึ่งคงจะเป็นไปไม่ได้ในโลกที่ยังมีผู้ชายอยู่ (แรงส์) แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วชะตากรรมของพระเอกจะไม่ได้เจริญรุ่งเรือง หรือลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีความผิด แต่บทลงโทษที่เขาได้รับในทางโลกแสดงอยู่ในไม่กี่หน้าสุดท้ายของหนังสือหนา 256 หน้า ความรู้สึกผิดนิดๆ ก็แฝงอยู่ในระหว่างบรรทัดที่อาจมองไม่เห็นได้ง่ายๆ เลย แต่ก็ต้องยอมรับละว่าหนังสือเรื่องนี้...สนุกง่ะ...

เขียนโดย วลาดีมีร์ บาโบคอฟ

ถอดความโดย นายตำรา ณ เมืองใต้

อ่านจากฉบับสำนักพิมพ์ศรีปัญญา

มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งในอดีต ว่ามันเป็นหนังสือเล่าเรื่องโลกีย์ต่ำ ๆ หรือเรื่องดีชั้นเลิศกันแน่ ซึ่งฉันคิดว่า...555...ก็แล้วแต่มุมมองนะ...อย่าเชื่อถ้ายังไม่ได้อ่านเอง...

 

=================================================================================

เล่าสั้นๆ

(ใน เครื่องหมาย “...” เป็นประโยคในหนังสือ)

 

นายฮัมเบอร์ต เกิดปี 1910 ปารีส ฝรั่งเศส มีความรู้ดี ฐานะดี รูปร่างดี การงานดี แหมก็เป็นพระเอกอะนะ ชีวิตโดยทั่วไปของเขาจากภายนอกก็สมบูรณ์ดี แต่ภายในจิตใจของเขาแล้ว....อาการหลงใหลในตัวเด็กสาววัยเรียนมันพลุ่งพล่าน ร้อนรน แอบซ่อนอยู่หลังหน้าฉากที่สวยงาม หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึก และคำให้(ด้านมืดอันหมกหมุ่น)

 

แอนนาเบล แฟนคนแรกสมัยวัยรุ่น ตายเสียก่อนที่จะได้คบหากันถึงขั้นลึกซึ้ง แต่ก็เกือบไปอยู่หลายครั้ง

 

1935 (อายุ 25 ปี) แต่งงานกับ วาเลอเรีย (ไม่แน่ใจอายุ น่าจะมากกว่าเขา ราวๆ 30) ด้วยเหตุผลทางสังคม โอกาส และหวังจะเป็นที่ป้องกันตัวเขาเองจากเด็ก ๆ แต่การแต่งงานครั้งนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้จิตใจของเขาสงบลง าเซาะแสวงหาเด็กๆ ไว้เก็บกิน ซึ่งการแต่งงานไม่ได้ช่วยให้ความคิดอยากกินเด็กหายไปได้เลย ในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน ชีวิตคู่ไม่ได้ราบรื่น สุขสันต์ ระหว่างนี้ชายหนุ่มเฝ้ามองหานางพราย เหล่าเด็กหญิงวัยเรียน เอาะๆ ไม่ได้สนใจดูแลภรรยาของเขาเท่าไหร่นัก ก่อนที่ชายหนุ่มจะทิ้งเมียที่ไปขอมาแต่งงานด้วย เขาก็ถูกทิ้งสะก่อน

ในปี1939 (อายุ29 ปี) เมื่อเขาจะทำเรื่องย้ายที่อยู่เดินทางไปอยู่ประเทศอื่น วาเลอเรีย มีท่าทีหงุดหงิด เขาจึงถามเธอไปว่า

 

“มีอะไรอยู่ในใจหรือ”

“มีชายอื่นอยู่ในใจ” เธอตอบ

“นี่เป็นคำจัญไรที่สามีพึงจะได้ฟัง”

 

(สะใจคนอ่านหญิงที่เลยวัยนางพรายมาหลายสิบปีอย่างฉันจริงๆเลย) หลังจากนั้นเธอผู้เหี่ยวเฉา น่าเบื่อไม่มีอะไรดีก็จากไปพร้อมกับชายที่อ่อนโยนและรักเธอจริงๆ ...ต่อหน้าต่อตา.....

เขา ตาพระเอก จมอยู่กับความทุกข์โศก แต่หาใช่จากเมียแก่จากไป หากเป็นเพราะว่าไม่อาจลด บรรเทาความต้องการที่พุ่งพล่านรุนแรงอันที่จะไปเกี่ยวข้องกับนางพรายน้อยได้ เวลาผ่านไปกับอาชีพการงานต่างๆ ที่เจริญดีของเขา จิตใจที่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องเด็กสาวในชุดนักเรียนไม่ได้จางหายไป ภาระหน้าที่และอะไรก็ตามทำให้เขาออกเดินทาง...สู่อเมริกา...ที่ที่วิบากกรรมที่แท้ได้เริ่มขึ้นจริงๆ เสียที

 

1947 (อายุ 37 ปี) พบกับโลลิตา เด็กหญิง ป.7 อายุ 12 ขวบ ในครั้งแรก บรรยายได้ดูเหมือนตกหลุมรักมาก โรแมนติก

อ่านเพลินๆ ไป ทั้งน่าสงสารเห็นใจ ชายหนุ่มอายุ 37 ผู้โดดเดี่ยวเงียบเหงาและคอยแอบมองหาโลลิตาน้อยวัย 12

อย่าให้ผู้เขียนชักนำเราได้ง่าย หนักแน่นไว้ ดูเหมือนเทพนิยาย เรื่องประโลมโลกที่ชายวัย 37 อบอุ่นมีชั้นเชิงจะหลงรักเด็กหญิงวัย 12 และเฝ้าดูแล รอคอยให้เธอเติบใหญ่ ทะนุถนอม และแต่งงานกันเมื่อถึงวัยอันควร...ลืมเสียเถอะ..นี่เป็นหนังสือ 1 ใน 100 วรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก..เรื่องราวมันคงไม่ง่ายอย่างนั้น..

 

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่ายากอย่างที่สุด ที่จะบรรยายให้เห็นชัดถึงกำลังที่กระทบใจข้าพเจ้า เมื่อได้เห็นภาพนั้น ภายในแสงแดดที่สาดตัวเธอ ข้าพเจ้าได้โลมสายตาไปทั่วกายเด็กสาวที่กำลังคุกเข่าอยู่ (เธอขยิบตาภายในแว่นสีดำจัด แม่หนูน้อยที่จะรักษาความปวดร้าวของข้าพเจ้าให้หาย)”

“เดี๋ยวนี้เรากลายเป็นกวีไปแล้ว เราได้แต่งกลอนชมขนตาอันดำงามแห่งลูกตาสีน้ำตาลอ่อนอันไร้เดียงสา ชมไฝเล็กที่วางได้จังหวะบนนสิตที่เผยออกกว้าง...แต่เขียนแล้วก็ฉีกทิ้ง และก็จำไม่ได้ว่าเขียนว่ากระไรบ้าง...”
(เป็นเอามากนะเนี่ย...แต่ไอ้ตอนชมขนตาอันดำงามเนี่ยก่อนหน้านั้น เขาบอกโลลิตาว่า ชาวนาสวิสเอาผงออกจากตาโดยใช้ลิ้นเลีย แต่เขาก็ทดลองทำกับชนตาอันดำงามของโล...เฮ้อ)

ไม่นานเขาก็แต่งงานกับแม่ของโลลิตา ซึ่งเขาเล่าว่ามีลักษณะหน้าตารูปร่างน่าเวทนา ทำไมละ ทั้งๆ ที่รักโลลิตา นานางิ (นั่นนะสิ) ก็เพราะเขามีแผนการบางอย่างในดวงตาและดวงใจที่ดำมืดไปด้วยความสุขสมหวังจากร่างน้อยๆ ของลูกเลี้ยง....บรื๋ย...

เพียงไม่นาน แม่ของโลลิตา ก็ตายด้วยอุบัติเหตุ ที่มีสาเหตุการตายดั่งฟ้าประทาน หรือ ดั่งนรกสั่ง ก็แล้วแต่คนอ่านหรือระยะทางที่อยู่ใกล้หรือไกล ชายหนุ่มจิตตกคนนี้

 ที่แน่ๆ ชายคนนี้เป็นคนเดียวกับคนที่นั่งดื่มเหล้าฉลอง และร้องไห้เมื่อมีคนมาแสดงความเสียใจ...ฮึ

 

หลังจากนั้น ฮัมเบอร์ต คิดและทำตามแผนการอีกมากมาย ซึ่งความจริงเขาก็คิดมาตลอดทั้งเรื่องนั่นแหละเพื่อจะได้พา โลลิตา ผู้เสียแม่กะทันหันให้ออกเดินทางไปกับเขา พ่อผู้โศกเศร้าและสูญเสีย ด้วยความรักหรือเล่ห์กล เขาก็ได้พาเด็กหญิงที่เป็นดวงใจของเขาออกเดินทางไปจากบ้านเดิมของเธอ

หลายครั้งที่ชีวิตเป็นอย่างนี้ ก่อนทุกข์หนักมาหา สุขชั่วๆก็มาเยือน

เขาท่องเที่ยวไปกับลูกสาว (ของเมีย) และได้ลูกสาว (ของเมีย) เป็นเมีย อย่างสุขสมหวังในสถานที่ต่างๆ ของอเมริกา และทำไอ้อย่างว่ากันทั้งในเมือง นอกเมือง....และนอกห้อง

 

หลังจาก 2 ปีแห่งการเดินทางเข้าออก รร. (โรงแรม) ผ่านไป วันที่คราวเคราะห์ หรือคราวดีก็มาถึงจนได้...วันที่โลลิตาจากไปสู่ชะตากรรมของเธอเอง

1950 (อายุ40 ปี) พบกับริต้าแม่หมาย ร่วมเดินทางและเข้าออก รร.อีกครั้ง แต่ริต้าไม่ใช่นางพรายน้อยแค่หน้าเหมือนเท่านั้นเอง

1952 (อายุ42 ปี) ได้รับจดหมายของ โล

เดินทางไปพบ โล อายุ 17 ปีแล้ว ท้องโต อยู่กับสามีหูตึง...แต่ไม่ใช่ชายที่พรากโลจากไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชายคนนั้นที่โลรัก แต่เขาไม่ได้รักเธอจริง

ชายวัย 42 ออกเดินทางตามหาผู้ที่ลักพาตัวและหัวใจของโลลิตาน้อย นางพรายของเขาไปจากอก และทิ้งเธอไปอย่างไม่ไยดี เขามีแผนที่จะทำบางอย่าง....ดั่งเช่นแผน ที่เขาอยากจะทำกับชายที่พาวาเลอเรียจากไป และแผนที่เขาจะทำกับแม่ของโลลิตา...แผนครั้งสุดท้ายนี้จะสำเร็จหรือไม่...จุดจบในหนังโปรดติดตามต่อ (ถ้าสนใจ)...ในหนังสือค่ะ

หน้าที่ 238

“เขาทำลายหัวใจหนู แต่ป๋าทำลายชีวิตหนู”   (นี่คือความจริงที่สุดที่ฉันอ่านพบ)

 

=================================================================================

เรื่องเศร้าสะเทือนใจที่เห็นได้จากเรื่องที่มีจุดกำเนิดจาก ความรัก (บางครั้งก็คิดว่า ฮัมเบอร์ต รัก โลลิตาจริงๆ บางครั้งก็ไม่ หรือนี่แหละที่เรียกว่าความรัก) ความลุ่มหลง ราคะ หลอกลวงของชายตัณหากลับ วัย 30 กว่า ๆ (ไปเยอะ) กับเด็กหญิงวัย 12 ขวบ (หน่อยๆ) ก็คือปลายทางชีวิตของโลลิตาในวัย 17 ปี เวลาแห่งความสดใสในวัยเด็ก ความสนุกสนานในช่วงวัยรุ่น การต่อสู้ชีวิตในวัยทำงานมันได้ผ่านเลยไปแล้วอย่างรวดเร็ว...

ถึงแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า..นี่คือผลพวงจากความต้องการของชายคนหนึ่งเพียงเท่านั้น การที่ชีวิตคนๆ หนึ่งจะเป็นไปในทิศทางใด เราย่อมไม่ควรจะยัดเยียด บังคับให้ใคร คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบไปทั้งหมดนั้น ในตอนต้นที่ฮัมเบอร์ตพบโลลิตา สถานการณ์ครอบครัวของเด็กสาวไม่ได้สุขสันต์อบอุ่น แม่ของเธอซึ่งเป็นหม้าย ไม่ค่อยสนิทกับเธอนัก นางมีลูกชายที่ตายตั้งแต่ยังเด็ก เด็กชายที่นางเฝ้าหวนไห้ระลึกถึงด้วยความรัก

แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าความต้องการในตัวชายคนนี้ที่ไม่อาจหยุดยั้งตัวเองได้ เป็นผู้ที่มีส่วนเต็มที่ในการชักนำให้ชีวิตเด็กน้อย โลลิตา ไปสู่เส้นทางลัดที่คดเคี้ยว ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิตที่แปลกแยก สับสนกับอารมณ์และความรู้สึกในวันวัยที่ยังขาดความรู้ประสบการณ์

แด่... ชายผู้หลงใหลในน่องขาวๆ หน้าใสๆ อกเล็กๆ...ชายผู้หลงใหลสิ่งเหล่านี้ และได้ทำลายมันด้วยตัวเขาเอง...ถึงแม้จะมาเศร้าใจภายหลัง ฉันก็แอบเห็นใจเขาแค่เพียงนิดหน่อย เขายังแอบบ่นเกี่ยวกับโทษที่เขาได้รับนั้นมากเกินไปหรือเปล่า....ยังไงเขายังก็มีความดีอยู่บ้าง ซึ่งก็ใช่

แต่ถ้านายฮัมเบอร์ต ลองคิดกลับไปว่า ถ้าลูกสาวของแก มาพบผู้ชายอย่างแก แกจะรู้สึกอย่างไร ไม่แน่ แกอาจจะคิดว่า ก็ไม่ได้ผิดอะไรนี่ ถ้างั้นเราคงต้องให้แกเกิดผู้หญิงแล้วละ ไม่ก็ให้แกลองถูกเกย์สูงวัยรักและจับแกร่วมรักตามที่ต่างๆ วันแล้ววันเล่า ไม่มีคุณค่าหรือก่อประโยชน์อื่นใด นอกจากให้คนสูงวัยกว่ามาร่วมหลับนอน

ไม่แน่อีกนั่นแหละ แกอาจชอบ...เอ...หรือเราควรสงสารแกดี....!!!!




 

Create Date : 21 เมษายน 2556   
Last Update : 23 เมษายน 2556 12:31:04 น.   
Counter : 3043 Pageviews.  
space
space
ปีกหักThe Broken Wingโดยคาลิล ยิบราน: สำหรับผู้ดื่มกินความเศร้าจากพวงองุ่นแห่งรัก

ถอดความโดย ระวี ภาวิไล, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, ฉบับที่อ่าน พิมพ์ครั้งที่ 8/2545



เป็นหนังสือรักอันโศกสลดและงดงามไพเราะอ่อนหวานด้วยภาษาแห่งกวี
คาลิล ยิบราน บรรยายความรักดั่งเช่นปีกจากสวรรค์ ที่เมื่อหักลงแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะบินได้อีกครั้ง


เรื่องราวของรักครั้งแรกที่ไม่อาจสมหวัง
ชั่วขณะของการเรียนรู้ที่จะรัก และอยู่อย่างเจ็บปวด ในวันอันหมองหม่น


“ใต้ต้นมะลินี้ ความรักได้โอบรัดวิญญาณของฉันเป็นครั้งแรก และชะตากรรมก็เขียนคำแรกของประวัติชีวิตของฉัน
ที่คฤหาสน์ของท่านสมภาร ณ บัดนี้ ขณะที่คุณพ่อและชายคู่หมั้นของฉันกำลังวางแผนวิวาห์ ฉันก็ได้เห็นจิตวิญญาณ
ของเธอบินวนเวียนอยู่โดยรอบ คล้ายดังนกน้อยที่กระหายน้ำบินอยู่รอบ ๆ ธารน้ำพุ ซึ่งมีอสรพิษร้ายเฝ้าหวงแหนอยู่ ...
”
เซลมา
“นกนั้นจะบินโฉบไปมาเหนือธารน้ำพุนั้น จนกว่าจะตกตายด้วยความหิวกระหาย หรือถูกอสรพิษร้ายฉกกินเป็นอาหาร”
ยิบราน
“
มิใช่ ที่รัก นกไนติงเกลนี้ควรจะมีชีวิตอยู่เพื่อร้องเพลงต่อไป จนกระทั่งราตรีมาถึง จนเมื่อฤดูใบไม้ผลิผ่านไป จวบจนวันสุดท้าย
ของโลกภพ และยังคงร้องเพลงต่อไปตลอดนิรันดร ปีกของมันจะต้องไม่หัก เพราะการกระพือของมันนั้น
ปัดเป่าเมฆหมอกออกจากดวงใจฉัน
”เซลมา


ชั่วข้ามคืน ความรัก เข้าจู่โจม และชั่วข้ามวัน ที่ความรักถูกพรากไป
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดทรงพระกรุณา และรักษาปีกหักของพวกข้าน้อยด้วยเถิด” คำอ้อนวอนที่แสนสะท้อนใจ


เมื่อครั้งอ่านครั้งแรกข้าพเจ้านึกถึงเพลงๆหนึ่ง “รักเมื่อพบ แล้วพลัดพราก ไม่เคยคิดจาก รักจริงจากใจ” (แสดงถึงอายุของข้าพเจ้า)
แต่เมื่อสิบกว่าปีต่อมได้มาอ่านอีกครั้ง กลับนึกไปถึงกลอนบทหนึ่ง “รักรู้ค่าสำหรับผู้รู้จักสงวน รักอบอวลสำหรับผู้รู้จักถนอม รักยืนยาวสำหรับผู้รู้จักออม และรักพร้อมสำหรับผู้รู้จักรัก” (ซึ่งเป็นการยากมากที่ความรักจะมากับเวลาและความเหมาะสมทั้งปวง)


สำหรับผู้ที่เคยอ่านแล้วก็อาจจะนึกไปถึงเรื่องราวอื่นๆ ได้มากมาย....
ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความรักเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นและทัศนะต่อโลก ขนบธรรมเนียมและวิถีการดำรงชีวิตไว้มากมาย จึงไม่แปลกที่ผู้อ่านจะเกิดนึกไปถึงเรื่องราวอื่น ๆ อันไม่เกี่ยวกับที่ข้าพเจ้ายกมา


จากบท:ความเบื้องต้น


                “ข้าพเจ้ามีอายุได้สิบแปดปี เมื่อความรักเปิดดวงตาของข้าพเจ้าด้วยรัศมีอันขลัง และสัมผัสวิญญาณของข้าพเจ้าเป็นครั้งแรกด้วยนิ้วอันร้อนดังเพลิง และเซลมา คารามี เป็นหญิงคนแรกผู้ได้ปลุกวิญญาณของข้าพเจ้าให้ตื่นขึ้นด้วยความงามของเธอ และนำข้าพเจ้าเข้าสู่อุทยานแห่งความรักอันสูงส่ง ณ ที่ซึ่งทิวกาลผ่านไปดังความฝัน รัตติกาลผ่านไปดังการอภิเษกสมรส”


“ในชีวิตของคนหนุ่มทุกคนมี“เซลมา คารามี” ซึ่งจะปรากฏต่อเขาอย่างฉับพลันในฤดูใบไม้ผลิของชีวิต และแปรเปลี่ยนความเปล่าเปลี่ยวของเขาให้เป็นขณะอันผาสุก และเติมเต็มราตรีกาลของเขาด้วยดนตรี”


คำพูดและความรู้สึกนี้ คงเป็นเช่นเดียวกับทุกคนที่เคยผ่าน ชั่วขณะที่ถูกยกให้ลอยขึ้นด้วยปีกแห่งรัก ทำให้ข้าพเจ้านึกย้อนไปเมื่อครั้งเรียนจบใหม่ ๆ ซึ่งผู้หญิงทุกคน ก็มีเซลมา คารามี ที่เป็นผู้ชายเช่นกัน


เราคงไม่อาจต้านทานแรงลมที่กระพือให้เราโบยบินได้ แต่หลาย ๆ คนมีวิธีการโผบินที่ต่างกัน ตกบ้าง บินได้บ้าง เมื่อวันคืนผ่าน ปีกได้รับการซ่อมแซมเสียใหม่ ข้าพเจ้ากลับมาอ่านงานเล่มนี้อีกครั้ง ความเศร้าโศกจากความรักที่พลัดพราก ไม่สมหวังยังกัดกินใจ แต่ข้าพเจ้า..มองเรื่องราวของเซลมาในอีกแง่มุมหนึ่ง..ให้ความสนใจกับสิ่งที่ยิบรานแทรกไว้เกี่ยวกับแนวความคิดเกี่ยวกับ ศาสนา และกฎเกณฑ์ทางสังคมของชาติตะวันออก เรื่องของเพศหญิงที่ถูกบังคับ ประเพณี การแต่งงาน และการยอมจำนนต่อพระที่ไม่มีศีลธรรมแต่มีอำนาจ
“อารยะธรรมสมัยใหม่ทำให้หญิงฉลาดขึ้นเล็กน้อย แต่ทำให้เธอมีความทุกข์ยิ่งขึ้นเพราะความละโมบของชาย หญิงในสมัยก่อนเป็นภรรยาที่มีสุข แต่หญิงปัจจุบันเป็นนางบำเรอที่น่าเวทนา ในอดีตเธอเดินอย่างมืดบอดในแสงสว่าง แต่ปัจจุบัน เธอเดินลืมตาในความมืดสนิท”


เรื่องราวของ ยิบราน เกี่ยวกับความรัก ได้ถูกกล่าวถึง ในภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ซึ่งมีจุดเริ่มเกี่ยวกับความรักการแต่งงาน และขนบธรรมเนียมของเพศหญิง ที่คล้ายคลึงกัน สองชายกับหนึ่งหญิง แต่การตีความเรื่องความรักของ “ยุพดี” นั้นแตกต่างจาก “เซลมา” อย่างสิ้นเชิง ยุพดีกล่าวกับซางหม่องเกี่ยวกับหนังสือของยิบราน(the Prophet) “เมื่อปีกจากความรักเรียกหา จงตามมันไป(อะไรสักอย่างเนี่ยแหละ)” ทั้งสองไม่อาจหยุดแรงแห่งปีกได้ แต่ “ความรักของยิบรานและเซลมา ยังคงความบริสุทธิ์” อันยากที่ผู้ใดจะทำได้ ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว “ความตาย” ก็คือจุดสิ้นสุดของหญิงทั้งสองที่ไม่สมหวังในรัก...(ทำไมไม่ให้ผู้ชายตายเพราะรักบ้างเนอะ)


สิ่งที่ข้าพเจ้าพยายามเรียนรู้เมื่อวันล่วงเลย
: ยิบรานไม่ได้เขียน “ปีกหัก” ขึ้นเพื่อให้เราโผบินโดยละทิ้งและไม่สนใจโลกกับผองชน...แต่สอนให้เราเข็มแข็ง..แม้ในยามที่ไร้เรี่ยวแรงที่จะบินต่อและเผชิญกับมันอย่างมีสติ “เซลมา มาเถิด เราควรทำตัวให้แข็งแรงดังหอคอยสู้พายุขอให้เรายืนหยัดดังเช่นทหารเผชิญหน้าศัตรูที่ถืออาวุธครบ ถ้าเราถูกฆ่า เราจะตายดังเช่นวีรชน ถ้าเราชนะ เราจะอยู่อย่างผู้พิชิต....”
ประโยคเดียวกันนี้ถูกใช้เมื่อครั้งที่พ่อของเซลมาป่วยหนักก่อนสิ้นใจ กับถูกใช้อีกครั้งเมื่อเซลมาพบกับยิบรานหลังจากแต่งงานไปแล้วซึ่งการยืนหยัดของเซลมา คือการเลือก ให้ยิบรานอยู่อย่างผู้พิชิต...และเซลมา จะยืนหยัดสู้กับเคราะห์กรรมด้วยตนเอง....
(บ่อยครั้งที่ทางเลือกที่ถูกต้องจะเป็นทางเลือกที่แสนเจ็บปวดด้วยเสมอ...และยากยิ่งที่เราจะเลือกเดินไปบนทางที่เต็มไปด้วยแก้วแตก
ด้วยเท้าเปล่าเปลือยอย่างโดดเดี่ยวถึงแม้ว่าเราจะเดินอย่างสง่าก็ตามที)


ความรักเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ความรักที่มาพร้อมความสงสารและความเศร้ามีมนต์และแรงพลังมากกว่าความรักจากความสุข
“เธอสวมเสื้อคลุมแห่งความระทมทุกข์ตลอดชีวิต มันเพิ่มพูนความงามอันประหลาดและ
ความสง่างามของเธอ ดั่งเช่นต้นไม้ผลิดอกสะพรั่ง ยิ่งน่ารักขึ้นเมื่อมองดูผ่านหมอกแห่งรุ่งอรุณ
”


มนุษย์โดยทั่วไปหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์มากกว่าการใช้เหตุผล “สามบุคคล (พ่อของเซลมา, เซลมา และยิบราน) แยกกันอยู่ในความคำนึง แต่ร่วมกันในความรัก คนบริสุทธิ์สามคนมีความอ่อนไหวในอารมณ์มาก แต่มีความรู้น้อย”


ความเศร้าของเราในวันนี้ย่อมจะน้อยกว่าความทุกข์ของเราในวันข้างหน้าที่เราโตขึ้น(หรือแก่ลงนั่นเอง)
“น้ำตาของคนชรามีพลังแฝงอยู่แรงกว่าของคนหนุ่มสาว เพราะมันเป็นส่วนเหลือของชีวิตในร่างกายอันกำลังทรุดโทรมลง น้ำตาของคนหนุ่มเป็นดุจหยาดน้ำค้างบนกลับกุหลาบ ส่วนน้ำตาของคนแก่เสมือนใบไม้แห้งเหลืองปลิวหล่นตามกระแสลมเมื่อฤดูหนาวย่างเข้ามา"


แน่ละว่าความรักไม่อาจกำหนดด้วยเวลา
“ใครจะเชื่อเรื่องของเรา ใครจะเชื่อว่าในชั่วโมงนี้เราได้ก้าวข้ามเครื่องกีดขวางแห่งความแคลงใจ ใครจะเชื่อว่าเดือนแห่งนิซานอันนำเรามาพบกันครั้งแรกนี้ จะเป็นเดือนซึ่งนำเรามาหยุดอยู่ ณ ยอดแห่งความศักดิ์สิทธ์ของชีวิต”


&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
คำเตือน
: ระหว่างที่อ่าน เราอาจเผลอไผลคิดไปได้ว่า ตัวเราก็คือตัวยิบรานที่เล่าเรื่องของเราเองให้เราเองฟัง ปีกอันหักนี้เป็นปีกหักเดียวกับของเราเอง
ความเศร้าของยิบรานคือความเศร้าของเราเอง ข้าพเจ้าเองต้องคอยเตือนตัวเองบ่อย ๆ ว่า
“ความรัก” ในวันนั้นได้ผ่านเราไป
ดั่งเช่นนกน้อยที่ย้ายที่ไปเมื่อลมหนาวพัดมา (และยังไม่มีทีท่าว่ามันจะบินกลับมาอีก) หรือไม่ก็
เห็นไม่หละ ขนาดคาลิล ยิบราน เขายักอกหักเลย
“ใคร ๆ เขาก็...อกหักกันทั้งนั้นแหละ ธรรมดาโลก ธรรมดาชีวิต”


฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿
Smileyอกหักเป็นประสบการณ์ ขึ้นคานคือชะตากรรมSmiley


 หมายเหตุ: คาลิล ยิบราน เกิดที่เลบานอน และเสียชีวิตในอเมริกา เป็นนักคิด นักเขียน กวี และจิตกร ผู้รักบ้านเกิดเมืองนอน "เลบานอน" จวบจนวาระสุดท้าย








ฝากชื่อ ทักทายกันคะ








 

Create Date : 28 กันยายน 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:40:53 น.   
Counter : 12069 Pageviews.  
space
space
ไหม โดยอเลซซานโดร บาริกโก : รักหรือปรารถนา (แด่หญิงสาวชาวญี่ปุ่นและชายหนุ่มจากฝรั่งเศส)

อเลซซานโดร บาริกโก (อิตาลี) เขียน
งามพรรณ เวชชาชีวะ แปล


เรื่องนี้ เหมาะสำหรับ ผู้ที่ศรัทธาในรัก และเข้าใจในห้วงแห่งปรารถนา


จากหญิงฝรั่งเศสผู้มั่นคง กับเด็กสาวญี่ปุ่นที่งดงาม การรอคอย การผลัดพราก ในครั้งนี้ความเงียบ มันก็เศร้าเกินกว่าที่จะบรรยายได้


“เป็นความเจ็บปวดประหลาดนัก” “ที่จะตายด้วยความอาลัยสิ่งซึ่งมิเคยได้สัมผัส”


กว่าจะเป็นผ้าไหม ที่สง่างาม แต่ละมุนมือ อบอุ่น แต่พลิ้วไหว ต้องเสาะหาให้ได้มาซึ่งหนอนไหมที่แข็งแรง และมีคุณภาพ แต่ในการเสาะหาหนอนไหม ในครั้งหลังของ แอร์เว ฌองกูร์ อดีตทหารในกองทัพฝรั่งเศส กลับนำมาซึ่งความเศร้า เร้นลับ ความเจ็บปวด ทุกข์ทน และความตาย


ข้าพเจ้าเอง ไม่สามารถชี้ชัดไปได้กว่า ความรักนั้นเกิดขึ้นจากหญิงสาวฝรั่งเศส เพียงอย่างเดียว และความปรารถนาอันร้อนแรง ลุ่มลึก นั้นแวววาวส่งประกายมาจากเด็กสาวชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ข้าพเจ้าหวังว่า คงไม่มีผู้ใดที่จะตัดสินใจลงไปว่า สิ่งไหนกันแน่ที่เรียกว่า “ความรัก” หรือใครกันแน่ที่มีแต่ “ความปรารถนา” เพราะอย่างไรเสีย ความทุกข์ ก็ได้มาเยือนทุกคน แม้แต่ข้าพเจ้าเอง


เรื่องราว บรรยายถึงความรู้สึกของชายหนุ่ม อายุ 32 อาชีพการงานมั่นคง มีภรรยาคู่ชีวิตที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน การบรรยายใช้คำพูดสั้น ๆ เดินเรื่องเร็ว แต่ความหมายที่แฝงอยู่นั้นแสดงถึงจิตใจ และความเป็นไปของผู้คนในเรื่อง ชายชาวฝรั่งเศส ที่มีอาชีพ ซื้อหนอนไหม และนำกลับมาเพื่อปั่นและผลิตผ้าไหม อาชีพ ที่ใช้เวลาทำงานไม่นาน แต่เหน็ดเหนื่อย รายได้จึงต้องคุ้มค่ากับการเสี่ยงภัยในการเดินทาง แอร์เว ฌองกูร์ อาจเป็นตัวแทนของชายหนุ่มหลาย ๆ คน ที่มีการงานมั่งคน แต่ก็นั่นแหละนะ...เคราะห์กรรม จากความรักหรือความปรารถนา...เกิดขึ้นกับใครก็ได้...ที่อยู่ในเส้นทางของมัน


เมื่อเขาออกเดินทางไกล ไปเกือบสุดโลก สู่ดินแดนอันไกลโพ้น เหน็ดเหนื่อย และหนาวเหน็บ ณ ปลายทาง ยังเป็นดินแดนที่ไม่ถูกเปิดเผย การคบหาเจรจากับชาวต่างชาติ ถือเป็นความผิด ในปีที่ ญี่ปุ่นเพิ่งจะเปิดประเทศได้ไม่นาน จากคำขอแกมบังคับจากอเมริกาในปี 1853 การซื้อขายและนำหนอนไหมออกนอกประเทศเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและมีโทษร้ายแรง


ในปี 1861 ที่ แอร์เว ฌองกูร์ เดินทางจากฝรั่งเศส ถึง เกาะญี่ปุ่น เริ่มจากการเดินทางด้วยรถไฟ ขี่ม้า ขึ้นเรือ จากออสเตรีย รัสเซีย และจีน ก่อนจะเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น สู่เมืองอิชิคาวะ โทยามะ และจังหวัด นีงาตะ ฟุคุชิมะ และชิรางาวะ ในที่สุด ใช้เวลาถึง สามเดือน ในการเดินทางไปและกลับ


ในระหว่างการติดต่อซื้อขายอย่างลับ ๆ กับผู้มีอิทธิผลในละแวกนั้น เขาได้พบกับวัฒนธรรมประเพณีอันแปลกประหลาดของญี่ปุ่น ที่แสดงถึง จิตใจอันสงบนิ่ง แต่ทว่า แข็งแกร่งดุจหินผา


เรื่องเล่าในส่วนนี้ มีส่วนที่คล้ายคลึง กับ เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ของไทยเรา แต่ก็เพียงดวงตาของเด็กสาว ผู้เป็นสมบัติของ ฮาระ เคอิ ผู้เป็นเจ้าของทุกสิ่ง ณ ดินแดนนั้น เท่านั้นที่แฝงความรู้สึกอันเร้นลับ เป็นการสื่อสารเดียวที่มีต่อชายหนุ่ม ไม่มีการพูดจาใด ๆ ระหว่างกัน ไม่ต้องพูดถึงการร่วมหลับนอน มีแค่เพียงความรู้สึก ที่ไม่อาจพรรณนาได้ แต่นี่ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าเป็นการหลบลู่เกียรติของชาวอาทิตย์อุทัย


ถึงแม้ว่าฮาระ เคอิ ไม่ได้ลงโทษ แอร์เว ฌองกูร์ จนเป็นบ้า เหมือนที่ พะโป้ จากชั่วฟ้าดินสลายได้ลงโทษ ชายผู้เป็นชู้กับเมียของเขา แต่ว่า การลงโทษของ ฮาระ เคอิ นั้นเด็ดขาด และ ฉับพลัน เฉกเช่นคนจากดินแดนแห่งดวงอาทิตย์จริง ๆ


แม้ว่า แอร์เว ฌองกูร์ จะรอดชีวิตกลับมาญี่ปุ่นในการเดินทางครั้งสุดท้าย ดินแดน ที่สวยงาม ประหลาดตา สงบเย็น และแข็งกร้าว แต่ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว ความอาวรณ์ อันล้ำลึกของเขา ความเจ็บปวดจากความตายที่ได้เห็นตรงหน้า การพรากจาก ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จัก หลายสิ่งหลายอย่างนำมาซึ่ง ความทุกข์หม่นไหม้ ในใจของเขา หลายคนลงความเห็นว่าเขามีอะไรอยู่ภายใน คล้ายกับความทุกข์ใจบางอย่าง สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความเจ็บปวดของภรรยาผู้แสนดี เอแลน แม้ภายในจิตใจ ความปรารถนา ความไม่ปรารถนา ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับ ฉากชีวิตเบื้องหน้าที่ดูเป็นปกติดีและดำเนินต่อไป การขายโรงงานและธุรกิจ การจากไปของเพื่อนแท้ แต่ครอบครัวยังคงอยู่ คู่กับสวนแบบญี่ปุ่น ที่เขาได้สร้างไว้ในพื้นที่บ้านของเขาในฝรั่งเศสนั่นเอง อันประกอบด้วยป่า และ ทะเลสาบ ในแบบเดียวกับดินแดนที่เขาได้พบ ไหมอันงดงาม แต่เอื้อมไม่ถึง


เรื่องราววิถีชีวิต ของคน หลายคน พัวพัน ซึ่งกันและกัน แต่การเดินทางของคน ต้องมีจุดจบเข้าสักที่หนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้น ความสุข สมหวัง ความปวดร้าว ก็สร้างบาดแผลให้ไว้กับเราเสมอ


หลังจากนั้น สี่เดือน แอร์เว ฌองกูร์ ได้เล่าเรื่องราว ที่เกิดขึ้น ณ ดินแดนอันไกลโพ้นได้ฟัง


และเขาก็รู้สึกเจ็บปวด เมื่อ แอร์เว ฌองกูร์ พูดแผ่วเบาว่า “แม้แต่เสียงของเธอ ผมก็ไม่เคยได้ยิน”


หลังจากได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เขาให้ความเห็นไว้ว่า


“เป็นความเจ็บปวดประหลาดนัก” “ที่จะตายด้วยความอาลัยสิ่งซึ่งมิเคยได้สัมผัส”


หลังจากนั้น หกเดือน เขาก็ได้รับจดหมายภาษาญี่ปุ่นปึกหนึ่งที่เขียนด้วยหมึกสีดำ เช่นเดียวกับกระดาษแผ่นน้อยที่เขียนด้วยหมึกสีดำ บอกข้อความแก่เขา ว่า “จงกลับมา หาไม่ข้าจะตาย” ที่เขาได้รับในการเดินทางครั้งที่ สอง จดหมายปึกใหม่นี้เขาได้รับหลังการเดินทางครั้งสุดท้าย และเขาเก็บมันไว้ในกระเป๋าเสื้อ นำมาถือเล่นในยามว่าง แต่ไม่เคยเปิดออกดูเลย จนกระทั่ง…ความจริงได้ปรากฏขึ้นในวันหนึ่งที่ชีวิตหมองเศร้า


ในตอนสุดท้ายของเรื่อง หลังจาก การจบชีวิตลงของ เอแลน ด้วยโรคไข้สมอง แอร์เว ฌองกูร์ ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับจดหมายภาษาญี่ปุ่นที่เขียนด้วยหมึกสีดำ ปึกหนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นจากเด็กสาวชาวญี่ปุ่น กับบ้านหลังเก่า และทะเลสาบแบบญี่ปุ่น เป็นเวลา 23 ปี ที่เขาพยายามใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ ในบ้านอันอบอวลด้วยความสุข จากอดีตของภรรยา การเล่าเรื่องการเดินทางไปหาหนอนไหมในที่ต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นถัดมาฟัง “เขาเล่าเนิบช้า เหม่อมองไปกลางอากาศ ยังสิ่งซึ่งคนอื่นไม่เห็น”


มีแต่เพียงบางครั้งคราว ที่เขาเข้าเมืองไปดูโรงงาน เพื่อแตะต้องหนอนไหมแรกเกิด


“เมื่อความเปลี่ยวเหงาบีบคั้นหัวใจ เขาจะขึ้นไปยังสุสานเพื่อพูดกับเอแลน”


“วันที่ลมพัดแรง เขาจะลงไปถึงทะเลสาบ เฝ้ามองอยู่หลายชั่วโมง ด้วยว่าลวดลายที่ปรากฏบนผิวน้ำ สำหรับเขานั้น ดุจภาพอัศจรรย์แผ่วพลิ้ว ทำให้เขาเห็นภาพชีวิตทั้งชีวิตของเขาเอง”


อ่านมาถึงบรรทัดสุดท้าย ก็เข้าใจได้ว่า ความเจ็บช้ำ แบบโหยหา มันเป็นยังไง


เป็นความโหยหา ของ แอร์เว ฌองกูร์ ต่อหญิงสาวที่ไม่ได้มีดวงตาชั้นเดียวแบบตะวันออกซึ่งมีดวงหน้าของเด็กสาว
เป็นความโหยหา ของ แอร์เว ฌองกูร์ ต่ออดีตที่อ่อนหวาน ของภรรยา เอแลน
เป็นความโหยหา ของ เด็กสาวชาวญี่ปุ่น ถึงอารมณ์ของแอร์เว ฌองกูร์ ที่มีต่อหญิงสาวที่อยู่ในดินแดนห่างไกล


อีกทั้งยังเป็นความเจ็บปวดประหลาดนัก ที่ไม่ตายแต่เดี่ยวดาย
ด้วยความอาลัยสิ่งซึ่งเคยได้สัมผัส
และไม่อาจได้สัมผัสอีกต่อไป


เป็นเรื่องที่ใช้คำพูดน้อยมาก แต่มันก็ซึ้งมาก เนื้อเรื่องและภาพที่บอกเล่าด้วยอารมณ์อันละเมียดละไม ทั้งจากความรัก ความอาทรของคู่ชีวิต ที่ได้สัมผัสทุกครั้งที่ แอร์เว ฌองกูร์ ต้องออกเดินทาง ในค่ำคืนสุดท้าย ก่อนการจากลา


“สัญญากับฉัน ว่าเธอจะกลับมา” “ถ้าเธอตาย ก็จะไม่เหลือสิ่งใดสวยงามอีกแล้วในโลกนี้”


หรือความงดงาม แบบชาวญี่ปุ่น ภาษาที่สละสลวย และไพเราะ จนน้ำตาที่ไหลออกมาร่วงหล่นอย่างไม่ทันรู้ตัว


“ช่างน่าประหลาดใจนัก เมื่อคิดว่า ที่แท้นี่คือสาร นี่เท่ากับเป็นเถ้าถ่านของเสียงอันมอดไหม้”



Free TextEditor

ฝากชื่อ ทักทายกันคะ






 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:41:12 น.   
Counter : 1682 Pageviews.  
space
space

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space