นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

ศึกสเปญ_สงครามกลางเมือง_โดยเฮมมิงเวย์

เขียนโดย เออร์เนสต์ เฮ็มมิงเวย์ (ผู้เขียน the old man and the sea )
แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์
สำนักพิมพ์ แสงดาว

(รูปภาพจาก สนพ.แสงดาว )

เรื่องราวชีวิตการต่อสู้ของกลุ่มคนในสงครามกลางเมือง ประเทศสเปญ 583 หน้า ในระยะเวลา 3 คืน 3 วัน ทั้งสุข เศร้า โดดเดี่ยว หวาดกลัว ตลกขบขัน และโรแมนติก (นิดหน่อย) และตาย (มาก)

 

 “ไม่เกิดอะไรขึ้นแก่เราถ้าเราไม่ยินยอมพร้อมใจ, และถ้าฉันรักใครสักคน, คนรักของฉันจะช่วยทำให้หายไปหมด, อ้ายเรื่องนี้แหละทำให้ฉันอยากตาย” ปีลาร์เมียหัวหน้ากองโจรปาโบล์บอกกับมาเรีย ให้บอกกับ รอเบอร์ต ยอร์แด็น นักวางระเบิดอเมริกัน ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนอังกฤษ ผู้ที่อยู่ฝ่ายสาธารณรัฐเสปน ผู้ร่วมกับกองกำลังเพื่อต่อสู้กับฝ่ายฟาชชิสต์ ผู้ที่เข้ามาระหว่างสงครามกลางเมืองของเสปน

หนังสือไม่ได้เน้นที่จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของสงคราม แต่เล่าเรื่องของชาวบ้าน กองโจร และตัวเขาเองที่ตกอยู่ท่ามกลางสงครามของคนชาติเดียวกัน การฆ่ากันอย่างสุดลิ่ม สงครามเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง....สงครามทำให้คนที่ไม่รู้จักกัน หรือคนที่เคยรู้จักกัน ต้องมาจับอาวุธเข่นฆ่ากันเอง....

มีหนังสือหรือบทความหลายฉบับที่กล่าวถึงหนังสือเรื่องนี้ไว้เกี่ยวกับการเล่าเรื่องคนสเปญได้อย่างลึกซึ้ง ข้าพเจ้าผู้ด้อยความรู้ในเรื่องคนต่างชาติ ผู้ชอบซุกเงียบในหลังคามุมจากผุพัง จึงไม่อาจเล่าขยายหรือถกเถียงในประเด็นนี้ได้ (กรูไม่รู้นั่นเอง พูดซะดูดี....)

แต่เท่าที่อารมณ์พาไป ทำให้บรรเจิดกับความสนุกสนาน คร่ำเคร่ง จริงจัง ต่อล้อต่อเถียง ของตัวละคร บางครั้งระทมทุกข์ บางครั้งเฮฮา บางครั้งป่าเถื่อน และบางครั้งละมุนละไมกับความรัก....หลากหลายอารมณ์ บางทีข้าพเจ้าก็หัวเราะออกมา บางทีก็เศร้าใจ บางคราวถึงกับน้ำตาซึม เป็นเรื่องเล่าที่ล้ำลึก ธรรมดา และสะเทือนใจ (แต่ไม่ถึงกับสะเทือนซาง)

 

ปีลาร์ “ขอสอดรู้ว่าทำไมตาย” ป้าผู้ตลก น่ารัก ปากจัด รักจริง เข้าใจผู้อื่นเสมอ แต่ก็มีความหลังชีวิตที่แสนเศร้า

 ปาโบล์  ฉลาด รักม้า รักเมีย กล้าหาญ ขี้ขลาด เป็นผู้นำ หวาดกลัว (เป็นตัวละครที่น่าสงสารมาก)

 มาเรีย มาเรีย หญิงสาวที่หลบนี้ฝ่ายฟาชชิสต์ออกมาได้หลังจากการระเบิดรถไฟของกองโจรปาโบล์กับนักวางระเบิดคนก่อนซึ่งตายเสียแล้ว

 ราฟาเอ็ล ยิปซี ตลก สนุกสนาน น่ารัก อารมณ์ดี ช่างพูด เด็ดเดี่ยวกับความเชื่อ

 อานเซ็ลโม คนแก่ชำนาญพื้นที่ อายุ 68 ปี ที่บึกบึน แข็งแกร่ง มั่นคง...สุดยอด

 เฟร์นานโด ร่าเริง เยือกเย็น จริงจัง “ไม่มีประเทศไหนในโลกเหมือนสเปญ” “เธอเคยไปเห็นประเทศอื่นไหม” “ไม่เคย” “และก็ไม่อยากไปเห็น” (ซะงั้น)

อังเดร์ และ เอลาดีโอ และ ปรีมีตีโว ผู้ร่วมขบวนการ (ขออภัยที่ไม่ได้สรุปไว้....เก็บไว้เป็นเรื่องราวดีๆ...ที่จริงคือ จขบ.กลับไปอ่านรอบที่จะรีวิวไม่ทัน มีงาน ตจว.ด่วนมั่กๆ ผู้มีใจกรุณาเพิ่มเติมข้อมูลให้ได้จักขอบพระคุณยิ่ง)

อากุสตีน พูดคำหยาบได้อย่างระรื่น และทะลึ่งตลอดเวลา คิดค้นคำพูดสัปดนได้เรื่อยๆ แต่เขาพูดสิ่งเหล่านี้ด้วย “ในสงครามครั้งนี้มีสิ่งบัดซบอยู่เยอะ” “ในสงครามครั้งนี้มีสิ่งโง่เขลาเบาปัญญาโดยไม่มีขอบเขต” และ “ความโสมมของคน ๆ หนึ่ง ไม่สมควรที่อีกคนหนึ่งจะโสมมตามไปด้วย” เอาจริงเอาจัง (ค่อนข้างชอบตัวละครตัวนี้)

 

(จะว่าไปแล้วก็มีตัวละครหลายตัวที่พูดคำแรง ไม่ใช่แต่อากุสตีนคนเดียว คำว่า “ลูก อีด อก” สามารถพบได้บ่อยครั้ง ถ้าท่านใดไม่นิยมคำพูดรุนแรง บาดจิตอันบริสุทธ์ก็คิดให้ดีก่อนซื้อหามาอ่าน....)

(จะว่าไปแล้วก็มีคำพูดสวยงามที่บรรยายถึงธรรมชาติ ความรัก...)

 /////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เป็นเรื่องแน่นอนว่าในเรื่องสงครามย่อมมีการสูญเสีย มีการตาย การตายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเรื่องเล่าเรื่องแรก เรื่องเล่าภายใต้เรื่องเล่า การตายของตัวละครหลัก ของตัวละครที่อยู่ห่างไกล แต่สุดท้าย คนก็ตาย ที่น่าเสียดายคือ ตายในสงครามที่ไม่รู้แน่ว่ามันจะแก้ไขปัญหาอะไรได้

แน่นอนอีกเช่นกันว่า ตัวละครดีๆ บางตัวก็ต้องตายไป เช่นเดียวกับคนดีๆ มากมาย...
ตัวละครที่ดูว่าเลวจับใจ แต่ทำไมเขาจึงรอด เมื่อจบเรื่องราว เราจึงเข้าใจว่า มีความจำเป็นมากมายที่ตัวละครบางตัวต้องอยู่รอดต่อไป หรือมีเหตุผลมากมายที่เขารอดชีวิตจากสงคราม

แต่แล้ว...บางครั้งสงครามก็ไม่ได้ต้องการคนดีมากมาย แต่แล้ว...บางครั้งคนเลวคนนั้นก็สำคัญเหลือเกินกับคนดีๆ แต่แล้ว...บางครั้งเราต้องพึ่งพาคนเลวๆ...แต่แล้ว...บางครั้งสงครามก็สร้างคนเลวๆ ขึ้นมาจากคนดีๆ ...แต่แล้ว...บางครั้งอาจไม่มีคนเลวในสงครามก็เป็นได้....
แต่แล้ว...ทุกครั้งที่เกิดสงคราม...ย่อมมีคนตาย

 

 “ทิ้งฉันเถอะ”

  *****************************************************************************************************

 ปล. ฮูโก้ ชาเวซ ปธน.เวเน ตายเสียแล้ว ด้วยโรค มะเร็ง ...จะว่าไป...คนที่เรารู้จักตายด้วยมะเร็งกันมากมาย แต่แล้วคนบางคนก็ตายด้วยกระสุนปืน และระเบิด, ความตาย....




 

Create Date : 06 มีนาคม 2556   
Last Update : 6 มีนาคม 2556 15:19:08 น.   
Counter : 2220 Pageviews.  
space
space
บันทึกสีเทาBetween Shades of Grey:อย่าให้พวกมันได้อะไรไปจากคุณ..แม้แต่ความกลัว

แต่งโดย รูต้า เซอเพทตี้ส , แปลโดย ณวรา , สำนักพิมพ์ สันสกฤต


เป็นหนังสือเล่มหนา ที่เปิดเผยหน้าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่ถูกลบเลือนและปิดบัง โดยสังคมนิยมโซเวียต


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่ฮิตเลอร์ ผู้นำกางเขนเหล็ก นำรถถังเข้าบดขยี้ชาวยิว ในโปแลนด์
สตาลิน ผู้นำโซเวียต ผู้นำร่วมในฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เข้าปกครองและจับกุมแจ้งข้อหา
“อาชญากร” ให้กับประชาชน 3 รัฐ ดินแดนใกล้เคียงกับโปแลนด์ได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย
ประชาชนนับล้านถูกเนรเทศออกจากบ้าน และมาตุภูมิของเขาเอง ไปใช้แรงงานในถิ่นกันดารในโซเวียต รวมทั้ง
“ไซบีเรีย”


“มีการประมาณการว่าอิยอซิฟ สตาลินฆ่าคนไปมากกว่ายี่สิบล้านคนในช่วงเวลาที่เขาปกครองด้วยความหวาดกลัว รัฐแถบทะเลบอติก ซึ่งได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวย และเอสโตเนีย ต้องสูญเสียประชากรไปมากกว่า เศษหนึ่งส่วนสามของจำนวนทั้งหมดในระหว่างที่โซเวียตดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์/หมายเหตุจากผู้เขียน”



“บันทึกสีเทา” วรรณกรรมสะท้อนความบ้าคลั่งของสงคราม อำนาจ และการต่อสู้อย่างสงบด้วยความเป็นมนุษย์อันเข็มแข็ง และแข็งแกร่ง


ไม่ได้มีแค่ความหม่นมัวเพียงเท่านั้น มิตรภาพ ความหวังและความรักที่ยิ่งใหญ่นั้นกลับเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในเนื้อหาและถ้อยคำอันหม่นเศร้า
ความผูกพันของครอบครัวที่ยึดโยงกลุ่มคนเล็กๆไว้ด้วยกัน และค่อยๆ แพร่ออกสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น
ความรักที่สวยงามและบริสุทธ์ได้ฟูมฟักและก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบ ละมุนละไม สดใสอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว


หนังสือเล่มนี้ และชนชาติลิทัวเนีย แสดงให้เห็นแล้วว่า


แม้แต่สงครามก็ไม่อาจกำจัด “ความรัก” ออกไปจากมนุษย์ได้
เผ่าพันธุ์และเชื้อชาติที่ต่างกัน ก็ไม่อาจปิดกั้น
“ความเป็นมนุษย์” ที่ดีต่อกันได้
และ
“ความหวัง” จะยังมีอยู่ในคืนอันมืดมิดและช่วงเวลาที่ไม่แสงสว่างไม่อาจกล้ำกราย


แล้วคุณจะพบว่าชาวลิทัวเนียนั้นไม่ควรถูกลืมเลือน ทั้งในแง่ของมนุษย์ทั่วไป และในแง่มนุษย์ผู้อ่อนโยน เข้มแข็ง อดทน และเปี่ยมไปด้วยความรักและความหวัง ดั่งที่ผู้เขียนบันทึกไว้ในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้
“ห้าสิบปีหลังจากการรุกรานยึดครองที่โหดเหี้ยม ชาวบอติกได้รับอิสรภาพโดยสินติวิธีและอย่างมีเกียรติ พวกเขาเลือกความหวังมากกว่าความเกลียดชัง และแสดงให้ชาวโลกได้เห็นว่า แม้ในค่ำคืนที่มืดมิด ก็ยังมีแสงสว่าง...ความรักเผยให้เราได้เห็นธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ยิ่งของจิตใจมนุษย์”


*************************************************************************************************************************ผู้เขียนดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร ลีนา และความนึกคิดของลีนาในสถานการณ์เลวร้ายในปัจจุบัน กับสถานการณ์สุขสันต์ในอดีตโดยมีเหตุการณ์ คำพูด สถานที่ สิ่งของบางอย่าง ที่เชื่อมโยงอดีตในแผ่นดินเกิดยามเป็นไท กับปัจจุบันที่ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง


“ลีนา” เด็กสาวที่จิตใจแข็งแกร่งวัย 15 ปีพร้อมแม่ที่เอื้ออารีผู้เต็มเปี่ยมด้วยความหวังและน้องชายวัย 10 ปี ผู้ถูกกระชากวัยเด็กไป ตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับโยนขึ้นรถบรรทุก เดินทางรอนแรมภายในตู้รถไฟที่แออัดจน 12 ปีต่อมาในไซบีเรีย ดินแดนห่างไกลและถูกทอดทิ้งจากโลก


ลีนา คือผู้ชักนำให้เราได้รู้จักกับผู้คนในลิทัวเนีย ความสุข ความรื่นรมย์ของประชาชนเหล่านั้น ถูกเล่าแทรกไปในแต่เรื่องราวอันเลวร้ายที่ลีนาได้รับ เป็นการตอกย้ำถึงความแตกต่างระหว่างการมีอิสรภาพและการถูกจองจับ อย่างเจ็บปวด จนถึงขั้นร้าวราว เราได้รู้จักความทุกข์โศกของคนที่พลัดพราก คนที่ตายจาก คนที่ตัดสินใจไม่ได้ คนที่สับสน คนที่เกลียดตัวเองมากกว่าเกลียดผู้อื่น คนที่เป็นอะไรได้มากมาย เมื่อมีความเชื่อเรื่องชนชาติที่ผิด หรือ ความหิวเข้าครอบงำ


-              Smileyลีนา ผู้อดทน และไขว่คว้าการมีชีวิตอยู่ ผู้ไม่เคยถอยหรืออ่อนข้อให้กับความยากลำบาก ลีนาผู้มีพรสวรรค์ทางศิลปะในการวาดรูป เป็นพี่สาวที่ดูแลน้องชาย


-              Smileyเอเลนา แม่ของลีนา ผู้มั่นคงหนักแน่นต่อการดำเนินชีวิต ต่อความรักในทุกสิ่ง แม้กับศัตรูก็ตาม ผู้ไม่ยอม “ลงนามในเอกสารรับผิด” คืนแล้วคืนเล่า จนสุดท้าย พวกเขาต้องโทษไปทำงานที่ไซบีเรีย พร้อมกับครอบครัวอื่น


“สัญญากับแม่นะจ๊ะว่า ถ้ามีใครพยายามจะช่วยหนู หนูต้องไม่สนใจ เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันเอง เราต้องไม่ถึงใคร ๆ ในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเข้ามายุ่งกับเรื่องนี้ หนูเข้าใจใช่ไหม ถึงจะมีคนเรียกชื่อหนู หนูก็ต้องไม่ขานตอบ...สัญญากับแม่สิ


-              Smileyคอสตาส วิลคัส พ่อของลีนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้สูญหายจากครอบครัว สิ่งยึดเหนี่ยวและความหวังทั้งมวลของครอบครัว คำสอนของพ่อ และความรักของพ่อ ที่ลีนาระลึกถึงในแต่ละเหตุการณ์ที่ข่มขืนเป็นทั้งกำลังใจแก่ลีนา และเป็นสิ่งสะท้อนใจแก่ผู้อ่าน พ่อผู้ปรากฏกายอย่างแท้จริงเพียงหนึ่งครั้ง ในตู้รถไฟ และหลังจากนั้น ลีนาและครอบครัวก็ไม่ได้พบกับอ้อมแขนที่อบอุ่นนั้นอีกเลย...


-              Smileyอันดรีอุสกับแม่ที่ค้นหาพ่อที่เป็นทหารไม่พบ, แม่ที่เคยสวยสดและร่ำรวยต้องแลกบางสิ่งเพื่อรักษาชีวิตลูกชายไว้ กับลูกชายที่เงียบเหงาเฝ้าทนดูแม่ที่เสียสละอย่างน่าอดสู


-             Smiley โอนา และลูกสาวแรกคลอด ถูกนำขึ้นรถในขณะที่พยาบาลยังไม่ได้เช็ดเลือดที่หว่างขา หลังตัดสายสะดือแล้ว จนกระทั่งวาระสุดท้ายของเด็กน้อยมาถึง พร้อมกับลมหายใจสุดท้ายของโอนา และศพที่ถูกโยนทิ้งไว้ตามทางที่รถไฟแล่นผ่าน


-             Smiley ชายหัวล้าน ที่เป็นยิว ตลอดเวลาที่รู้สึกผิดในการให้รายชื่อ แต่เขาก็ได้ยอมให้มีการจัดงานคริสต์มาสขึ้นในกระท่อมของเขา ในศูนย์กักกันไซบีเรีย ชั่วขณะแห่งทุกข์ยากแร้นแค้นและอากาศเลวร้ายในไซบีเรีย พวกเขาร้องเพลงคริสต์มาสด้วยความรื่นเริง เบื้องหน้าคือขนมปังปันส่วน 300 กรัมต่อคน


-            Smiley  อูลีอุชก้า หญิงแก่เจ้าของกระท่อมจอมงก ที่สุดท้ายมอบไส้กรอกให้กับลีนาและครอบครัว ก่อนเดินทางออกจาก “นารวม” แถบเทือกเขาอัลไตสู่ไซบีเรีย


-             Smiley ทหารโซเวียตผู้โหดร้ายคนหนึ่ง ท้ายที่สุดได้แจ้งข่าวการกักขังและทำทารุณกรรมกับ คุณหมอซาโมดูรอฟ ผู้มาทันเวลาพอดีก่อนที่ครอบครัวอันเป็นที่รักของลีนา คนสุดท้าย จะพ่ายแพ้ต่อความโหดเหี้ยมของชะตากรรม (เช่นเดียวกับ คุณพ่อของลีนาในครั้งอดีตเดินทางมาถึงบ้านพร้อมคำพูด “พ่อไม่ได้มาสาย,พ่อมาตรงเวลาต่างหาก แต่ในความเป็นจริง หลังโซเวียตบุกเข้าลิทัวเนีย พ่อ...ไม่เคยมาอีกเลย)


ฯลฯ


 “ฉันหันตัว ศอกกระแทกอันดรีอุสโดยไม่ตั้งใจ “ขอโทษ” ฉันพูด และเขาผงกหัวรับ...........
ฉันถูกดันจนตัวแนบชิดกับด้านหน้าเสื้อโค้ตของอันดรีอุส...คางของฉันแทบจะติดกับอกเขา
ฉันแอบมองอันดรีอุส โครงหน้าและนัยน์ตาของเขาดูเด่นชัดได้สัดส่วน...ผมหยิกสีน้ำตาลดูสะอาดเมื่อเทียบกับผมของฉัน เขาก้มลงมอง ฉันหันไปทางอื่น นึกไม่ออกว่าตัวเองดูสกปรกมากแค่ไหน หรือเขาเห็นอะไรในเส้นผมของฉัน"


“อันดรีอุส..ฉันกลัว” “อย่ากลัว ลีนา อย่าให้พวกเขาได้อะไรจากคุณไปทั้งนั้น แม้แต่ความกลัว”
 “อันดรีอุส เราต้องกลับบ้านกันให้ได้นะ” “ผมรู้ เราต้องกลับจนได้” “


*************************************************************************************************************************หมายเหตุ1 : จขบ. ขอความงดงามแข็งแกร่งจงเกิดกับทุกท่านที่ร่อนเร่จากแผ่นดินเกิด ณ ถิ่นแดนไกล “คราซีวาย่า” คำภาษารัสเซียที่อันดรีอุส สอนให้ลีนาเข้าใจความหมายด้วยตัวเอง


12 ปี แห่งความแร้นแค้นและถูกเหยียบย่ำ
50
ปี ของการสูญเสียเอกราช
ความอดทนและการต่อสู้อย่างสงบ ย่อมไม่สูญเปล่า


หมายเหตุ2 : การนำหนังสือเล่มนี้มาแสดงไว้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านรัสเซีย หรือประเทศมหาอำนาจ หรือประเทศที่ดิ้นรนอยาก...จะมีอำนาจ แต่อย่างใด เพียงแต่ข้าพเจ้ามีความเชื่อในเรื่องที่ว่า คนเราทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันได้ และอยู่ได้โดยไม่ต้องต่อสู้ห้ำหั่นเข่นฆ่าผู้ที่มีกลุ่มดีเอ็นเอที่ต่างจากเรา หรือมีลักษณะร่างกายที่ต่างจากเชื้อชาติของเรา ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นความแปลกสิ้นดี


และหนังสือเล่มนี้ อาจมีเนื้อหาเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับ การขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกจากตะเข็บชายแดนของไทย
อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการตัดสิทธิ์รักษาพยาบาลชนกลุ่มน้อยบนภูเขาสูงของไทย
อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการขับไล่ชาวไทยพุทธ หรือมุสลิมออกจากพื้นที่ภาคใต้ของไทย


และหนังสือเล่มนี้ อาจมีเนื้อหาเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการต่อสู้แย่งดินแดน แย่งการครอบครอง พื้นที่ แผ่นดินที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ในโลกอันแสนหฤหรรษ์และโหดเหี้ยมใบนี้






ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:37:16 น.   
Counter : 2074 Pageviews.  
space
space
แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง:ทรงคุณค่าทั้งภาษาและประวัติศาสตร์ฯลฯ

เอริค มาเรีย เรอมาร์ค เขียน
ม.จ. ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ทรงแปลเรียบเรียง
(ข้อมูลจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 สำนักพิมพ์อ่านไทย)


จากบทที่ ๖...
ถึงกระนั้น พื้นดินอันแหลกซึ่งเราป้องกันอยู่ ก็ยังอยู่ในเงื้อมมือเรา
เราถอยไปเพียงสองสามร้อยหลาเท่านั้น เท่ากับว่าเป็นรางวัลสำหรับข้าศึก แต่ทุก ๆ หลามีคนนอนตาย...


เกี่ยวกับผู้เขียน


(จากหนังสือแนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ฉ.พิมพ์ครั้งที่6)
เอริค มาเรีย เรอมาร์ค อายุได้ 18 ปี ขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1, 1916 ออกจากโรงเรียนไปสมัครเป็นทหาร และถูกส่งไปทำการรบด้านตะวันตก ระหว่างสงคราม มารดาเสียชีวิต เพื่อนๆก็เสียชีวิตไประหว่างการรบ ความรู้สึกโดดเดี่ยวจึงเกิดขึ้น และเป็นเรื่องยากในการใช้ชีวิตปกติเมื่อได้ผ่านประสบการณ์จากสงครามมาแล้ว


รางวัลที่ได้จากการรบ คือ อิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กจากการเข้ารบในสงครามโลกครั้งที่ 1


หลังจากเขียนหนังสือ All Quiet on the Western Front หนังสือของเขาได้ถูกปฏิเสธโดยสำนักพิมพ์หลายแห่ง แต่เมื่อมันได้รับการตีพิมพ์ ก็ได้รับความนิยมและยกย่องอย่างสูงสุด ว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1


เอริค มาเรีย เรอมาร์ค ถูกถอนสัญชาติเยอรมัน เมื่อนาซีขึ้นมามีอำนาจ เดินทางไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ และหนังสือถูกเผา (เช่นเคย) ภาพยนตร์จากหนังสือถูกห้ามฉายในเยอรมัน ปี 1933 เดินทางไปอเมริกา และได้สัญชาติอเมริกาในปี 1947 มีผลงานรวม 11 เล่ม และเสียชีวิตในปี 1970 รวมอายุ 72 ปี


เกี่ยวกับผู้แปล


ม.จ. ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร เป็นโอรสองค์ที่ 6 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และม.จ.อับษรสมาน กิติยากร ประสูติ ปี พ.ศ.2443 หลังจบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส โรงเรียนนายร้อยทหารบก เสร็จกลับเมืองไทยปลายปี 2466 เข้ารับราชการประจำกรมจเรทหารบกและการปืนเล็กปืนกล


ในปี 2472 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกที่ 2 กรมจเรทหารราบ และเป็นนาพันตรี ไปศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการที่ปารีส เรียนได้เพียง 1 ปี ก็ถูกปลดประจำการเนื่องจาก ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเสด็จกลับประเทศไทย


ปี 2476 ทรงรับเป็นอาจารย์สอนพิเศษภาษาฝรั่งเศสคณะอักษรศาสตร์ จุฬา และคณะรัฐศาสตร์ 2497-2506 ถึงชีพิตักษัยปี 2510


เกี่ยวกับการพิมพ์ในไทย
๑ ทหารราบรายเดือน ๒๔๗๒
๒ สำนักพิมพ์จำหน่าย โชติ แพร่พันธุ์ ๒๔๗๘
๓ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ๒๕๑๐
๔ สำนักพิมพ์บรรลือสาสน์ ๒๕๒๒
๕ สำนักพิมพ์อ่านไทย ๒๕๒๘
 สำนักพิมพ์อ่านไทย ๒๕๓๐
...


เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง


วรรณกรรมต่อต้านสงคราม จากนักเขียนอดีตทหารชาวเยอรมัน ประเทศผู้ก่อสงคราม


ไม่ใช่เหตุการณ์หลังการรบ หรือผลของมัน หรือชีวิตหลังจากนั้น หรือช่วงขณะของเชลยสงคราม
นี่คือเรื่องราวอันจริงแท้ หนักแน่นด้วยเรื่องราวอันแท้จริง
บนพื้นดิน ในหลุมสนามเพลาะ ใต้ท้องฟ้า กลางดงระเบิด ลูกปืน และความตาย
สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ...ที่แหลกลาญไปแล้วด้วยสงคราม
หาใช่ประเทศ...บ้านเกิด...ครอบครัว...หรือผู้นำ...
หากจะมีก็แต่เพียงเพื่อน...ที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่...เท่านั้น

ใบหน้าของเพื่อนเพียงชั่วครู่เดียว...กลับช่วยหล่อหลอมจิตใจที่กระเจิดกระเจิงไปด้วยความกลัว..
เหนี่ยวรั้งไว้...ให้คงอยู่...และพยายามจะคงอยู่....ต่อไป


“สิ่งประเสริฐที่สุดที่เกิดจากสงคราม—มิตรภาพ”

แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด ย่อมไม่อาจกล่าวได้หมด
อาจต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ในความเงียบ..และแสงไฟริบหรี่..
มิเช่นนั้นข้าสึกอาจได้ยินและมองเห็น...ลูกปืนจะพุ่งตรงมา...จากแนวรบ...ที่ไหนสักแห่ง
ภาพจริง ยิ่งกว่า
saving Ryan…


แสดงให้เห็นว่า การสงคราม ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่พวกเขาเจอกัน แต่มันก็ห่างไกลจากเรื่องทั่วไป...ในโลกจริง ๆ
เรียบเรียงเหมือนเรื่องบอกเล่า สบาย ๆ แต่สะเทือนใจอย่างร้ายกาจ
บางช่วงก็เฮฮา รักใคร่ กลมเกลียวของเพื่อนทหาร
บางตอนก็สลดใจ หดหู่
ส่วนช่วงที่เข้าสู่สนามรบ ก็เห็นภาพได้จริง และระทึกขวัญ
บางคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับข้าศึก ศัตรู..หลงอยู่ในหลุมดิน
แน่ที่เดียวว่า เกือบทุกตอน แฝงอารมณ์ผันแปร และแปลกแยกจากโลกที่ปกติสุข


จากบทที่ ๖
เราได้ถูกถอนจากแนวรบ ข้างใต้เราลูกล้อหมุน เรายืนกันอย่างงง พอมีเสียงร้อง
“ระวัง-ลวด” เราก็ย่อเข่าลงตามเคย เมื่อเราไปแนวรบนั้นกำลังเป็นฤดูร้อน ต้นไม้ยังเขียว เดี๋ยวนี้ฤดูใบไม้ร่วงแล้ว.....ทุกครั้งที่เรียกก็มีทหารแยกกันไปเป็นหมู่เล็ก ๆ เครื่องแต่งกายสกปรก ทหารที่หมดกำลัง จำนวนน้อย น้อยนิดเดียวที่เหลือมา


เสียงเรียกชื่อกองร้อยของเรา อ้อ ผู้บังคับกองนั่นเอง ....แขนข้างหนึ่งพันไว้ ...เราเดินไปหาท่าน ข้าพเจ้าเห็นคัต อัลเบิร์ต...เสียงเรียกอีกครั้งหนึ่ง “กองร้อยที่สองมาทางนี้แล้วด้วยเสียงค่อยลง “หมดเท่านี้เองหรือ กองร้อยที่สองท่านนิ่งเงียบ แล้วกล่าวด้วยเสียงอันเครือ “หมดแล้วหรือแล้วสั่ง “นับ

...เสียงใบไม้ตก เสียบนับก็อ่อย...ไปหมดเอาที่สามสิบสอง เงียบกันไปอีกนานจึงมีเสียงถามว่า “ไม่มีอีกแล้วหรือ แล้วคอยไปอีกครู่หนึ่ง ทีนี้มีคำสั่งอย่างค่อย ๆ “ด้วยหมู่—” แล้วเงียบไป ไปดังเอาตอนจบว่า “กองร้อยที่สอง— ” อย่างยากเย็น “กองร้อยที่สองเดินตามสบาย หน้าเดิน
แถว แถวสั้นนิดเดียว ออกเดินไปในเวลาเช้า
สามสิบสองคน...


 



href="//www.pantip.com/cafe/richtext/" target="_blank">Free TextEditor



เรื่องเกี่ยวข้อง : อันเนื่องมาจาก "แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" กับสงครามโลกครั้งที่ ๑

ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:38:10 น.   
Counter : 2453 Pageviews.  
space
space
อันเนื่องมาจาก"แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง"กับสงครามโลกครั้งที่1

“สิ่งที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับการรบในระยะ ศ.ศ.๑๙๑๔-๑๙๑๘ คือสงครามสนามเพลาะ ซึ่งเป็นยุทธวิธีแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในแนวรบด้านตะวันตก อันเป็นแนวยาวตั้งแต่ทะเลเหนือมาจนจดพรมแดนสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๑๔ เป็นต้นมา ประเทศคู่สงครามทั้งสองฝ่ายต่างขยายแนวรบด้วยการขุดสนามเพลาะ เพื่อใช้เป็นที่มั่นในการรุกรบ และป้องกันตนเอง แนวรบด้านตะวันตกจึงมีลักษณะเกือบจะหยุดชะงัก โดยไม่มีฝ่ายใดสามารถขยายแนวรบออกไปได้ไกล ทำให้เกิดความพยายามที่จะใช้เทคนิคและอาวุธที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้แก๊สพิษโดยฝ่ายเยอรมนี มีการใช้รถถังโดยอังกฤษ แต่จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.๑๙๑๘ ความพยายามเหล่านี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากไปกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นบางส่วนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของสงครามสนามเพลาะเป็นการนำเอายุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการรบอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคนิคต่าง ๆ และพัฒนาการของการประดิษฐ์ที่ร้ายแรง และผลสำคัญที่ตามมาก็คือ เป็นสงครามที่มีการเสียหายอย่างหนัก ทหารของทั้งสองฝ่ายต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาภายในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานนัก ด้วยเหตุนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงเป็นสงครามที่มีการสูญเสียชีวิตมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกเกี่ยวกับสงครามในประวัติศาสตร์”


กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร (บรรณาธิการ), อารยธรรมตะวันตก ฉบับปรับปรุงใหม่, พ.ศ.๒๕๒๒
จากหนังสือ แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 สำนักพิมพ์อ่านไทย)






Free TextEditor
หมายเหตุ : เมื่อสิ้นสุดสงครามมีจำนวนทหารเสียชีวิต ๘,๒๐๙,๐๐๐ ประชาชน ๕,๕๒๒,๐๐๐ และทหารบาดเจ็บราว ๒๑ ล้านคน (อ้างอิงจาก หนังสือ บันทึกโลก ฉบับรวมเล่ม 1-2 โดย คอสมอส)

ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:38:28 น.   
Counter : 1158 Pageviews.  
space
space
จอห์นนี่ไปรบ : นวนิยายต่อต้านสงคราม (ให้ถึงที่สุด)

ผลงานของนักเขียนต้องห้าม-ซ้ายอเมริกัน
ดอลตัน ทรัมโบ
มโนภาษ เนาวรังสี แปล
พิมพ์ครั้งแรก 2525 สำนักพิมพ์กอไผ่


(หนังสือเล่มนี้สำหรับพวกที่คลั่งไคล้ ร่ำร้องสงคราม สมควรได้อ่านอย่างยิ่ง)


นี่คือหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งใครก็ตามมิอาจลืมเลือน! ·       Saturday Review


มันเป็นเรื่องซึ่งอำมหิตมากสำหรับการเขียน “จอห์นนี่ไปรบ” ในเมื่อมันคือการบอกเล่าถึง
ความผิดอาญาของความไม่สมประกอบหรือโรคเส้นประสาท มันเป็นหนังสือซึ่งแสดงตัวตนของความหวาดกลัว
และสุดยอดของความเข้มข้นรุนแรงแห่งอารมณ์
·       Washington Post


                     หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามขึ้นอย่างกว้างขวาง จนทำให้มีการสั่งห้ามตีพิมพ์เพิ่มอีก ขณะเดียวกัน ก็มีการเรียกร้องให้มีการตีพิมพ์จากกลุ่มคนหลายกลุ่ม อย่างไม่น่าเชื่อว่าการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้ง 2 และการปลุกระดมกระแสรักชาติ การเฉลิมฉลองการเข้าสู่สงคราม ซึ่งดอลตัน ทรัมโบ แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง อีกทั้งยังแสดงความเกลียดชัง ผู้ที่ร่วมอยู่ในการก่อให้เกิดสงครามในทุก ๆ ฝ่าย
(
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากสำนักพิมพ์คำหอม)


                     จอห์นนี่ไปรบ เป็นความขมขื่นชิงชังอันประกอบขึ้นด้วย ความน่าสะพรึงกลัว ความเจ็บปวดทรมานทางร่างกายอย่างสุดแสน และสภาพจิตใจของคนคนหนึ่ง ที่ต้องอยู่ต่อไปเพื่อรับรู้ความทุกข์ทรมาน ในแต่ละนาทีที่ผ่าน หูที่ไม่ได้ยินเสียง ตาที่มองไม่เห็น ไม่มีแขน ไม่มีขา คนเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไรในสภาพเช่นนี้ นี่คือสภาพที่น่าสังเวช จนเกือบจะเรียกได้ว่าน่าสะอิดสะเอียน อันเกิดขึ้นจากผลของสงครามและเหล่าผู้ก่อสงครามทั้งหลาย ที่ผู้เขียนอยากให้คนโดยทั่วไปได้รับทราบ และจดจำ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า หนังสือเล่มนี้ เมื่ออ่านแล้ว เราจะไม่อาจลืมเลือนได้จริง ๆ


                    ในขณะที่ตัวหนังสือผ่านสายตาเราไป อาการปวดหัว คลื่นไส้ก็เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ น้ำตาที่เอ่อขึ้นมา จากความเศร้า การผลัดพราก ความทรมาน และความสับสนระหว่างสภาวการณ์ปัจจุบันของร่ายกายที่เจ็บปวด อาการบาดเจ็บจากการถูกระเบิด กับเรื่องราวในอดีตที่สุขบ้างทุกข์บ้างของเด็กหนุ่มคนหนึ่งในเมืองที่สงบและเป็นปกติดี กับช่วงเวลาแห่งความเลวร้ายในสนามเพลาะ สิ่งเหล่านี้วนเวียนเข้าสู่ความคิดของโจ บอนแฮม และถ่ายทอดสู่ความคิดของเราได้อย่างชัดแจ้ง เนื้อเรื่องไม่ได้ดำเนินไปตามช่วงเวลา แต่เป็นไปตามอาการ ความเจ็บปวด ที่เกิดขึ้น และความเจ็บปวด นำไปสู่ความคิด ความคิดนำไปสู่ความเจ็บปวด  แต่ทว่าผู้อ่านก็จะสามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าเรื่องราวนั้นมีลำดับเกิดขึ้นอย่างไร


บางส่วนของเรื่องในภาคหนึ่ง ครึ่งแรกของความทรมาน


“น้ำกำลังท่วมซัด และเขาหยุดยั้งมันไม่ได้...เขาพยายามจะว่ายน้ำ แต่คนเราจะว่ายน้ำได้อย่างไรถ้าแขนด้วน? ”


“แสงแปลบปลาบวูบวางปรากฏขึ้นในสายตาไม่รู้หยุดหย่อน จรวด ระเบิด สะเก็ดระเบิด เปลวไฟ และพลุสีขาวแตกกระจายเป็นวงกว้าง สิ่งเหล่านี้มันผ่านทะลุเข้ามา แล้วฝังจมลงในส่วนที่นุ่มเปียกของสมอง พร้อมกับเสียงฟู่ซึ่งเขาได้ยินชัดเจน...สรรพสิ่งมันพร่าเลื่อนและอึงอล มันทำให้เขาเจ็บปวดมากเสียจนคิดว่าความเจ็บปวดทั้งหมดในโลกนี้ได้รวมอัดตัวแน่นอยู่ระหว่างหน้าผากกับกะโหลกศีรษะด้านหลัง และกำลังปะทุไปรอบทิศทางเพื่อหาทางออก มันเจ็บปวดเหลือทน เขาได้แต่คิดร้องขอวา ได้โปรดเถิด ได้โปรด ฉันอยากตายเสียให้รู้แล้วรู้รอดเสียที”


“เริ่มตะโกนด้วยความตื่นตระหนก...เขาไม่มีปากสำหรับร้องออกมา เขาประหลาดใจมากที่ตะโกนไม่ได้...เขาพยายามขยับขากรรไกร แต่เขาไม่มีขากรรไกร เขาลอกกระดิกลิ้น...แต่เขาไม่มีลิ้นและทั้งไม่มีฟัน...ไม่มีเพดานปาก...”


            ผู้เขียนแสดงความตั้งใจอย่างสูงสุดในการชี้ให้เห็นถึงเคราะห์กรรมของเด็กหนุ่มในวัยที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องเข้าสู่สงคราม และสงครามก็ไม่ใส่สิ่งวิเศษ ที่ผู้รักชาติ ผู้มีเกียรติทั้งหลายนำมาโฆษณากัน ซึ่งในข้อนี้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างสุดกำลัง


“พอมีใครสักคนมาบอก ไปกันเถอะ เราต้องไปรบ ไปต่อสู้เพื่อสันติภาพ
พวกเขาจึงต้องพากันไป และถูกฆ่าตาย
โดยไม่คิดถึงสักนิด แม้เพียงครั้งเดียวเกี่ยวกับเสรีภาพ
”


“แล้วคนอื่นที่มาบอกว่า มาพวกเรามา พากันไปต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
แล้วเจ้าหมอนั่นก็ไม่สามารถแสดงให้คุณเห็นเจ้าตัวเสรีภาพ
สิ่งที่พูดถึงมันพิสูจน์ไม่ได้ แล้วยังจะมีหน้ามาบอก ให้คุณต่อสู้เพื่อมันอีก
เลวชาติบัดซบจริง ๆ
”


ข้อความอันเจ็บปวด และเป็นจริง



หมายเหตุ : ข้าพเจ้าขอนำเสนอตัวอย่างเฉพาะภาคแรกของเรื่อง เนื่องจากแม้นี่จะเป็นการอ่านครั้งที่สองแต่ก็ไม่สามารถสรุปความและเรียบเรียงได้ทั้งหมดของเรื่อง อันเนื่องมาจากความเครียดขึงและปั่นป่วนในช่องท้องอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการย่อความ


ในภาคที่สอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการนึกถึงสภาพ อันน่าสังเวช ในแนวรบ สนามเพลาะ ที่เกิดขึ้น ความตายและซากศพ รวมถึงการปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก ที่หนักหน่วง รุนแรง ความชิงชัง โกรธเกรี้ยว ต่อรัฐ หรือใครก็ตามที่มีส่วนก่อให้เกิดสงคราม



*********************************************************************************

ขอไว้อาลัยแด่ เหล่าผู้นำทุกผู้ที่กำลังคิดจะริเริ่มสงคราม ไม่ว่าจะใน จีน-ญี่ปุ่น, เกาหลีเหนือ-ใต้
สงครามเล็ก สงครามน้อย ที่เกิดขึ้นอยู่ร่ำไปตามแนวชายแดนไทย
สงครามกลางเมือง หรือแม้กระทั่งสงครามกองโจร ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ไม่ว่าที่ไหน กระไอแห่งสงครามก็ลอยไปถึง และผลิดอกของมันล่อแมลงตัวจ้อย แม้ในดินแดนที่ไร้ความชุ่มฉ่ำ หรือ แสงตะวันอันอบอุ่น
สำหรับผู้ที่ร่ำร้องเรียกหาสงคราม ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่เข้าใจ เล่มอื่น ๆ ก็ไม่เข้าใจ
ก็อาจเหลือเพียง คู่มือมนุษย์ ละมั้งที่พอจะสั่งสอนท่านได้ หรือไม่ ท่านก็...ไปที่ชอบ ที่ท่านชอบแล้วกัน...

แด่จอห์นนี่ผู้จากไป และจอห์นนี่ที่เหลืออยู่ ทุกหนทุกแห่ง
ขอจงเป็นสุข และอยู่อย่างปกติสุขเทอด






ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 03 มีนาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:38:49 น.   
Counter : 1699 Pageviews.  
space
space
1  2  

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space