จุดเริ่มต้นของชีวิตที่ตั้งใจเลือก...
Group Blog
 
All Blogs
 

[หลังได้รับสัญชาติ] มาทำเรื่องเปลี่ยนชื่อกันเถอะ



  อะ ไหนๆ ก็ได้สัญชาติมาเป็นสาวเกาหลีกันแล้ว งั้นเราก็มาเปลี่ยนชื่อให้เป็นเกาหลี๊ เกาหลีไปด้วยซะเลยดีกว่า


จริงๆ แล้ว ถึงเราจะได้สัญชาติมาก็ตาม เราก็ยังคงสามารถใช้ชื่อเดิมของเราได้อยู่ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่บังคับให้เราต้องเปลี่ยนชื่อแต่ประการใด

ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยนชื่อ (อันนี้เป็นเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ นะคะ) โดยส่วนตัวก็มีดังนี้ค่ะ
1. ชื่อแบบไทยเนี่ย ย้าว ยาวววว ยาวมาก ยาวแบบ เขียนกันเมื่อยมืออะค่ะ เลยขอเปลี่ยนให้เป็น 3 พยางค์แบบเกาหลีละกัน
2. ถ้าเราไม่เปลี่ยนชื่อเป็นแบบเกาหลี ในฐานทะเบียนราษฎร์ รวมไปถึงบนหน้าบัตรประชาชนเราจะไม่มีตัวอักษรฮันจากำกับอยู่ ซึ่งนั่นจะเป็นหลักฐานชั้นดีว่า เราเป็นพวกเปลี่ยนสัญชาติมา
3. เวลาที่ต้องทำอะไรแบบไม่เห็นหน้า เช่น ส่งเรซูเม่สมัครงานเป็นต้น พอเห็นชื่อปุ๊บ มันก็ฟ้องอยู่ด้วยตัวมันเองเลยว่า เป็นคนต่างชาติ ซึ่งนั่น มีโอกาสทำให้ถูกปัดเรซูเม่ตกตั้งแต่รอบแรกค่ะ
4. ไม่ใช่คนเกาหลีทุกคนที่จะเป็นมิตรกับคนต่างชาติ ต่อให้เราพูดเกาหลีได้ดีแค่ไหนก็ตาม บางคนก็ยังมีความรู้สึกแขยงคนต่างชาติอยู่ดี งั้นเราก็เนียนตัวไปเลยละกัน
5. อนาคต (เมื่อไหร่ไม่รู้) ถ้ามีลูก แล้วต้องไปประชุมผู้ปกครอง ชื่อประหลาดๆ ของเรา อาจทำให้ลูกเรามีปัญหากับชีวิตในโรงเรียนได้ ชื่อเรา อาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำไปล้อเลียนลูกในโรงเรียนได้ ดังนั้น ชื่อเกาหลีแบบพื้นฐานที่ไม่แตกแยกนี่แหละ เวิร์กสุด

อะ จากเหตุผลมากมายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อในวันนี้ค่ะ

แต่... แต่... แต่ว่า...

สำหรับคนต่างชาติที่ได้รับสัญชาติเกาหลีนั้น เนื่องด้วย เราไม่มีญาติโกโหติกาอยุ่ที่เกาหลี เราจึงไม่มีสมุดข่อยประจำตระกูล ดังนั้น อยู่ๆ เราจะไปเอานามสกุลใครเค้ามาใช้พร่ำเพรื่อก็คงไม่ได้

มันจึงเป็นที่มาว่า ในการทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อนั้น เราจะต้องทำเรื่องขอแต่งนามสกุลใหม่ไปด้วยเลย!!!


ฟังดูอลังการมาก

มาถึงตรงนี้ อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า อ้าว ก็ใช้นามสกุลสามีไม่ได้หรอ คำตอบคือ ถ้าไม่ตะขิดตะขวงใจเรื่องว่า นามสกุลจะซ้ำกัน (คือสำหรับคนไทยอาจจะรู้สึกดี ที่ได้ใช้นามสกุลเดียวกับสามี แต่สำหรับคนเกาหลี นามสกุลเดียวกัน มักจะไม่ค่อยแต่งงานกันค่ะ เพราะมันให้ความรู้สึกเหมือนญาติแต่งงานกันเอง) ถ้างั้นก็ใช้ได้แหละค่ะ แต่จะใช้ได้แค่ชื่อสกุลเดียวกัน แต่ไม่สามารถใช้ถิ่นสกุลเดียวกันได้ค่ะ

หา??? มันคืออะไรหว่า???


คือว่า นามสกุลคนเกาหลีเนี่ย อาจจะดูซ้ำๆ กันไปมาเยอะแยะ แต่รู้มั้ยว่า ถึงจะ ลี หรือ คัง หรือ พัค หรือ ชเว เหมือนกัน แต่พวกเขาล้วนแต่เป็นคนละนามสกุลกัน!!! อ้ะ ยิ่งงงเข้าไปอี๊ก~~

แต่ละนามสกุล จะมีถิ่นสกุลที่แตกต่างกันค่ะ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ตัวฮันจาแตกต่างกันตามไปด้วย

เช่น คิม ก็จะมีทั้ง ฮันยาง (โซล) คิม, คิมแฮ คิม ฯลฯ

ซึ่ง!!! เรา ผู้มาจากเมืองไทยศิวิไลซ์แสนงดงามนั้น ไม่ได้มีอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับตระกูลชาวบ้านเค้าเลยแม้แต่น้อย ถึงเราจะอยากเป็นคุณคิมบ้าง แต่จะให้เราไปเป็นหนึ่งในคุณคิมแห่งคิมแฮนั้น มันก็คงจะกระไรอยู่ และตามกฎหมาย เขาก็ไม่อนุญาตด้วยค่ะ ถ้าเราไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรทางสายเลือดกับตระกูลนั้นๆ เลย

ดังนั้น เราจึงต้องตั้งตระกูลของเราขึ้นมาเอง 

อย่างในวันนี้ที่นีดไปยื่นคำร้องนั้น นีดไปยื่นคำร้องขอใช้นามสกุล ซอ ค่ะ ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลดู หลักๆ จะมี อินชอน ซอ กับ ดัลซอ (แดกู) ซอ ค่ะ ซึ่งนีดไม่เกี่ยวอะไรเล้ยยยย กับทั้งสองถิ่นที่ว่ามา ดังนั้น วันนี้ นีดจึงยื่นคำร้องขอตั้งตระกูล ซอ ณ โพฮัง 555 ก็คือเป็น โพฮัง ซอ (포항 서씨) นี่พอจะอนุมานตนว่าเป็นต้นตระกูล ซอ แห่ง โพฮัง ได้มั้ยเนี่ย 555

อะ!!! และในขณะเดียวกัน เราก็จะต้องยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อด้วย!! ซึ่งก็ยื่นไปพร้อมกันเลยนี่แหละค่ะ ศาลเขาจะทำเรื่องให้ทีเดียวเลย 

ในส่วนการขอเปลี่ยนชื่อก็ง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก ยื่นใบคำร้อง เตรียมเอกสารให้ครบ ก็จบแล้วค่ะ


ทีนี้ จะมาสรุปเรื่องเอกสารกันดีกว่า

ส่วนของการยื่นคำร้องขอตั้งชื่อสกุลและถิ่นสกุลนะคะ
1. สำเนาใบอนุญาตสัญชาติ (귀화허가 통지서 사본)
2. 가족관계증명서 (세상)
3. 기본증명서 (상세)
4. 주민등록표초(등)본
5. ใบคำร้อง

สำหรับใบคำร้องเนี่ย โหลดจากในเน็ตก็ได้ แต่ไปเอาที่ศาล แล้วเขียนตรงนั้นก็ดีนะคะ บางที ฟอร์มมันก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ในเน็ตไม่อัปเดตไรงี้ (เมื่อกี้ เขียนไปจากบ้าน ก็ต้องไปเขียนใหม่อยู่ดี)

การยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อ
1. 가족관계증명서 (세상)
2. 기본증명서 (상세)
3. 주민등록표초(등)본
4. ใบคำร้อง

สำหรับใบคำร้องส่วนนี้ก็เช่นกัน ไปเขียนเอาที่นู่นเถิดค่ะ 555

อะ ทีนี้ ถ้าเตรียมเอกสารไปครบ (แนะนำ: เตรียมเอกสารไปให้ชัดเจน แยกเป็นสองชุดสำหรับเรื่องนามสกุลชุดนึง เรื่องเปลี่ยนชื่อชุดนึง เจ้าหน้าที่จะทำงานง่ายขึ้น แล้วจะยื่นคำร้องได้เร็วขึ้นเยอะเลยค่ะ) เราก็เข้าไปยื่นเอกสารได้เลยค่ะ

*** ตรงนี้สำคัญ คือ ทั้งนามสกุล และชื่อที่จะเปลี่ยน ต้องมีตัวฮันจาทั้งหมด ดังนั้น กรุณาเตรียมเรื่องตัวฮันจาไปด้วยค่ะ ส่วนตัวฮันจาที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้
1. ตัวฮันจาของนามสกุลใหม่ที่จะใช้
2. ตัวฮันจาของชื่อใหม่ที่จะใช้
3. ตัวฮันจาของถิ่นสกุลใหม่ที่จะใช้

มี 3 อย่างนี่แหละ ซึ่งอย่างที่บอกค่ะ บางนามสกุล จะมีการเขียนฮันจาหลายแบบ ก็ไปดูดีๆ ว่า เราต้องใช้ตัวไหน (เคยมีเคสคนที่อยู่โซล แต่ไปใช้ตัวฮันจาของนามสกุลที่เป็นถิ่นทางใต้ ก็โดนเด้งกลับมาเขียนใหม่) ส่วนชื่อเนี่ย คงต้องดูไปดีๆ ว่า เราจะให้ชื่อเรามีความหมายยังไง ก็หาตัวฮันจาที่ความหมายดีๆ ลงไปใช้ได้เลยค่ะ ซึ่งแปลว่า ส่วนตัวฮันจานี้ คงต้องทำการบ้านไปก่อนไปทำเรื่องล่ะค่ะ ^^

สำหรับค่าใช้จ่าย ค่ายื่นคำร้องชุดละ 21,300+1,000 วอนค่ะ กดเงินสดไปล่วงหน้านะคะ แล้วในสำนักงานศาล จะมีธนาคารสาขาย่อยอยู่ เมื่อยื่นคำร้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะเอาชุดคำร้องที่ลงทะเบียนแล้วให้เราไปทำเรื่องจ่ายเงินที่ธนาคารค่ะ พอเข้าไปทำเรื่องจ่ายแล้ว ก็เอาใบเสร็จกลับมายื่นให้เจ้าหน้าที่ศาลคนเดิม ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้น

สำหรับตัวนีด ยื่นเรื่องที่โพฮัง ที่นี่จะเป็นศาลครอบครัวโพฮังค่ะ การยื่นเอกสารเร็วมาก เจ้าหน้าที่บริการดี และสุภาพม้ากกกกก!!! ใช้เวลายื่นเรื่อง (รวมเขียนใบคำร้องใหม่) สิริรวม 15 นาที เสร็จอย่างรวดเร็วค่ะ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า รอเวลาอนุมัติประมาณ 2 เดือน อนุมัติเสร็จแล้ว จะมีใบส่งไปที่บ้าน ถ้าได้รับใบอนุมัติ อนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลและชื่อตัวตามที่ร้องขอได้ ก็ให้เอาไปทำเรื่องยื่นขอเปลี่ยนชื่อที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานท้องถิ่นแล้วแต่ที่อยู่ตัวเองค่ะ 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังให้ใบรายละเอียดมาด้วยว่า ถ้าได้รับใบอนุญาตแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป มีข้อควรระวัง หรืออะไรยังไงบ้าง ซึ่งถือว่าดีค่ะ ไม่ต้องคอยมานั่งถามตอบกันอยู่ อ่านแล้วเคลียร์ เข้าใจได้ทั้งหมด ถ้างั้น โดยคร่าวๆ ของนีด เรื่องก็น่าจะเสร็จ พร้อมไปทำบัตรประชาชนใหม่ (อีกแล้ว) กับพาสปอร์ตต่างๆ นานาได้ในช่วงเดือนกันยาค่ะ ถ้าถึงวันนั้น เดี๋ยวจะมาอัปเดตอีกที!!




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2561    
Last Update : 29 มิถุนายน 2561 15:04:56 น.
Counter : 3679 Pageviews.  

มาทำบัตรประชาชนเกาหลีกันดีกว่า

อะ!! หลังจากที่ทำเรื่องสละสิทธิที่แดกูเสร็จแล้ว เราก็วิ่งกลับมาโพฮัง มาทำบัตรประชาชนกันดีกว่า

ในการทำตรงนี้ เราจะต้องไปทำที่สำนักงานท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่ เช่น 주민센터, 읍사무소, 면사무소, 등등 ก็ว่าไป โดยสิ่งที่เราจะทำในครั้งนี้ มันมีชื่อว่า 주민등록신고 นั่นเอง

ในการแจ้งนี้ เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่

1. 외국국적불행사서약 확인서 (ที่เพิ่งได้มาจาก ตม. เมื่อกี้)
2. ใบอนุญาตสัญชาติตัวจริง (ที่ได้มาทางไปรษณีย์)
3. 기본증명서
4. รูปถ่าย 2 ใบ สำหรับทำบัตรประชาชน (พื้นหลังขาว ยิ้มน้อยๆ อย่างอ่อนหวาน แนะนำว่า ไปที่ร้านถ่ายรูป แล้วบอกเค้าว่า ถ่ายรูปทำบัตรประชาชน เดี๋ยวเค้าจัดการให้ค่ะ)

อะ แล้วก็ไปที่สำนักงานได้ เค้าก็จะมีแบบฟอร์มมาให้เรากรอก ก็กรอกไป แล้วก็ไปพิมพ์ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว เสร็จ เราก็จะได้บัตรประชาชนชั่วคราวมาใช้งานไปก่อน 2 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งบัตรชั่วคราวนี้ จริงๆ แล้วมีอายุเดือนนึงนะ แต่บัตรจริงก็จะออกในเวลา 2 สัปดาห์ งั้นก็ใช้ไปแค่ 2 สัปดาห์นั่นแหละ

ซึ่งบัตรประชาชนชั่วคราว ก็จะหน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ



หลังจากนี้ เราก็จะนั่งนับวันรอบัตรตัวจริง แล้วก็จะได้ไปทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อที่ศาล แล้วก็เปลี่ยนชื่อผู้ถือครองโทรศัพท์ บัญชีธนาคารและอื่นๆ ที่เรามีอยู่ต่อไปด้วย รวมไปถึงจะได้ทำพาสปอร์ตอันทรงพลังเล่มเขียวๆ ซะที




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2561    
Last Update : 15 มิถุนายน 2561 12:50:36 น.
Counter : 2301 Pageviews.  

สละสิทธิความเป็นต่างชาติในเกาหลี



  จากหัวข้อที่แล้ว ที่เราได้ใบอนุญาตสัญชาติกันมาแล้ว


สิ่งต่อไปที่เราจะต้องทำเมื่อได้ใบมา นั่นคือ ไปที่สำนักงานเขต "ที่เราจดทะเบียนสมรส" นะคะ เน้น!!! ว่าต้องไปที่นั่น เพื่อที่จะไปขอออกเอกสารที่เรียกว่า 기본증명서

อย่างนีดเนี่ย จดทะเบียนสมรสที่ สนข.ซองบุกกู ที่โซล แต่ย้ายมาอยู่โพฮัง พอได้ใบสัญชาติมา ก็ไปที่สำนักงานท้องถิ่น ปรากฏว่า เค้าแจ้งว่า ยังไม่มีการลงทะเบียนเข้ามา อะ ก็เลยลองโทรไปถามที่ศาลาว่าการเมือง ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องที่ สนข.ที่เราจดทะเบียนสมรสนะ แต่ถ้าไม่สามารถไปได้จริงๆ งั้น เชิญที่สำนักงานเขตส่วนสำนักงานใหญ่ของเมืองค่ะ 

โอเค ก็ไปซะ สรุปว่า นี่ก็ต้องไปที่ สำนักงานเขตนัมกู ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นี่เก่งมาก จากสำนักงานท้องถิ่นนี่แบบ ใช้เวลางมเป็นชั่วโมง โทรแล้วโทรอีก มาสำนักงานเขตนี่ ใช้เวลา 2 นาที ได้เอกสารที่ต้องการออกมาเรียบร้อย เร็วมาก

จากนั้น ก็รีบพุ่งตัวไปที่สำนักงาน ตม.ส่วนย่อยโพฮัง ปรากฏว่า่ ได้รับแจ้งว่า การทำเรื่องสละสิทธิต่างชาติ ต้องไปที่สำนักงานหลักที่ยื่นเรื่องขอสัญชาติ ซึ่งอย่างที่เคยบอกไปว่า ที่นี่ เขตที่ดูแลคือแดกู งั้นก็บึ่งรถไฟไปแดกูกัน!!!

ถึงแม้จะเป็นเขตใหญ่อย่างแดกู แต่ก็นับว่าดีกว่าโซลมากค่ะ ไม่ต้องถึงกับจองคิว นึกอยากมาก็มาได้ ไม่ค่อยมีคนด้วย เข้าไปทำเรื่องสละสิทธิตรงนี้ ใช้เวลาแค่ 10 นาทีเอง แล้วก็จัดการคืนบัตรประจำตัวที่ถืออยู่ไปด้วยเลย 

ในการไปขอสละสิทธิตรงนี้ จะขออธิบายก่อนว่ามันคืออะไร ไม่งั้นอาจจะงงกันได้ค่ะ

ตรงนี้ มันถูกเรียกเป็นภาษาเกาหลีว่า 외국국적불행사 서약서 หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า สัญญาสละสิทธิสัญชาติต่างชาติ

ภาษาไทยดูน่างงงวยใช่มั้ยล่ะ?? 

สรุปให้ง่ายๆ ก็คือ นับแต่นี้ไปนะ ในผืนแผ่นดินแห่งแดฮันมินกุกนี้ ข้าพเจ้า จะขอเป็นเพียงผู้ใช้สัญชาติเกาหลีอย่างเดียวเท่านั้น วิธีการง่ายๆ นั่นก็คือ ไม่ขอรับสิทธิประโยชน์ใดๆ แห่งสัญชาติต่างชาติตามกฎหมายเกาหลี, ไม่ใช้พาสปอร์ตต่างชาติในเกาหลี นี่คือหลักๆ มีแค่นี้แหละค่ะ ซึ่งการเซ็นสัญญาตรงนี้ ทำให้เราไม่ต้องยื่นใบสละสัญชาติเดิมที่มีมาแต่กำเนิด หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ทำให้เราสามารถือสองสัญชาติได้นั่นเอง

ซึ่งในขณะที่ทำเรื่อง เจ้าหน้าที่ ตม. ก็ให้คำอธิบายไปด้วยว่า หลังจากนี้ ให้เราไปทำอะไรต่อไปตามลำดับ และสุดท้าย ให้ไปทำพาสปอร์ตเกาหลีด้วยนะคะ เพราะว่านับแต่นี้ไป จะไม่สามารถใช้พาสปอร์ตไทยในเกาหลีได้อีก เวลาเดินทางออกจากเกาหลี และกลับเข้ามาเกาหลี ให้ใช้แต่พาสปอร์ตเกาหลีเท่านั้นนะคะ โดยไม่จำเป็นต้องทำเรื่องสละสัญชาติไทย

โอเค!!!

ตรงนี้ มีค่าใช้จ่าย 2,000 วอนเบาๆ เสร็จตัวปลิว ขึ้นรถไฟกลับบ้านมาทำเรื่องขอบัตรประชาชนกันดีกว่า~~




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2561    
Last Update : 15 มิถุนายน 2561 12:34:42 น.
Counter : 329 Pageviews.  

รายละเอียด ขั้นตอนการขอสัญชาติเกาหลี



  ก็คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีมั้ยนะ แต่หลังจากที่อัปขึ้นเฟซว่าได้สัญชาติเกาหลีแล้ว ก็มีคนถามเข้ามาเยอะมาก ว่าวิธีการทำยังไง อะไรยังไง เป็นยังไงบ้าง งั้นก็เลยขอมาเขียนแบบเต็มๆ (เพราะมันคงยาวมาก) ในบล็อกน่าจะดีกว่า (ลงในเฟซ)


ไม่พูดพร่ำทำเพลง มาเข้าเรื่องกันเลยแล้วกัน... โก โก~~

ก่อนจะขอสัญชาติ

อะ ทีนี้ ก่อนที่เราจะขอสัญชาติ เราก็ต้องมาดูตัวเองก่อนว่า เข้าหลักเกณฑ์ในการขอมั้ย จะไปยื่นเรื่องขอได้รึยัง ซึ่งวิธีการดูตัวเองง่ายๆ นั่นก็คือ เราแต่งงาน "อย่างถูกต้องตามกฎหมาย" มานานแค่ไหนแล้ว และ "พักอาศัยจริงนับเป็นวัน" อยู่ในเกาหลีมานานเท่าไหร่แล้ว

ตามหลักเกณฑ์การยื่นขอสัญชาติ จะแบ่งเงื่อนไขออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ คือ
1. จดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และพักอาศัยอยู่ในเกาหลีจริง มีจำนวนวันรวมไม่ต่ำกว่า 2 ปี
2. จดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และพักอาศัยอยู่ในเกาหลีจริง มีจำนวนวันรวมไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ตรงจำนวนวันตรงนี้ ถ้าใครมีการเดินทางออกนอกประเทศในระหว่างนั้น จำนวนวันที่ออกนอกประเทศทั้งหมด จะถูกหักออก ไม่นับให้นะคะ เช่น อยู่เกาหลีมาครบ 2 ปีเด๊ะเลย แต่เคยออกนอกประเทศในระหว่างนั้นรวม 30 วัน ก็แปลว่า ยังยื่นขอไม่ได้ ต้องอยู่ต่อไปอีก 30 วันก่อน ให้ครบ 365+365 วัน ถึงจะยื่นขอได้

อะ ถ้าตรงข้อใดข้อหนึ่งก็ยื่นขอได้เลยค่ะ

ในการยื่นขอ

ในการยื่นขอสัญชาติ มันก็จะมีเอกสารเยอะแยะตาแป๊ะไก่ก๊าาาาา ให้เราต้องปวดเศียรเวียนเฮดในการจัดเตรียม บางรายก็ต้องบินไปเอามาจากเมืองไทย ดังนั้น ตรงนี้เป็นข้อแนะนำอย่างยิ่งยวดค่ะว่า ใครที่มีแพลนจะไปเมืองไทยในช่วงไม่เกิน 2-3 เดือน ก่อนยื่นเรื่องขอสัญชาติ ให้เตรียมเอกสารมาจากเมืองไทยได้เลย

เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอสัญชาติ
1. ใบคำร้อง ติดรูปสี 1.5 นิ้ว
2. เอกสารประจำตัวของคนต่างชาติ (คือของตัวเรานี่แหละ) ทั้งหลาย ได้แก่ 
    - หนังสือเดินทาง
    - บัตรประชาชน (ของประเทศไทย) ตัวจริง+สำเนา
    - บัตรประจำตัวคนต่างชาติตัวจริง+สำเนา
3. เอกสารฝ่ายคู่สมรสชาวเกาหลี
    - 기본증명서
    - 혼인관계증명서
    - 가족관계증명서
    - 주민등록등본
    - 주민등록증 사본
4. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน (ตรงนี้จะเป็นเอกสารของฝ่ายคนเกาหลีเช่นกันค่ะ)
    - แบงก์สเตทเมนต์ย้อนหลัง 6 เดือน
    - เอกสารยืนยันการเช่าบ้าน/เป็นเจ้าของบ้าน/ที่พักอาศัยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30 ล้านวอน
    - หนังสือรับรองการเป็นพนักงาน (หนังสือรับรองการทำงาน) ตัวจริง และหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท (ที่ทำงานอยู่) ในกรณีที่เป็นพนักงานประจำ
    - หรือในกรณีที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ให้ยื่นสัญญาเช่าที่ตั้งบริษัท และหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทแทน (ทั้งตัวจริงและสำเนา)
    - กรณีทำสวน ก็ให้ยื่นเอกสารการครอบครองที่ดินแทนค่ะ
5. เอกสารที่อยู่ปัจจุบัน
    - กรณีเป็นเจ้าของที่พักอาศัย (คือไม่ได้เช่าอยู่) ให้ยื่นหนังสือแสดงความเป็นเจ้าของที่พักอาศัยนั้น
    - ถ้าเป็นการเช่าอยู่ (ทั้งชอนเซ และวอลเซ) ก็ให้แสดงหนังสือสัญญาเช่าทั้งตัวจริงและสำเนา
    - กรณีอื่นๆ ให้แสดงหลักฐานการมีที่อยู่อาศัยจริงค่ะ
6. เอกสารอื่นๆ (อันนี้ไม่ใช่เอกสารที่ต้องแสดง แต่ถ้าแสดงก็จะดีค่ะ)
    - รูปถ่ายครอบครัว, รูปแต่งงาน 2-3 ใบ
    - หนังสือรับรองว่ามีการอยู่อาศัยเป็นคู่แต่งงานจริงจากเพื่อนบ้าน พร้อมเอกสารรับรองตัวเพื่อนบ้าน
7. ใบเสร็จยืนยันการจ่ายค่ายื่นขอสัญชาติ 3 แสนวอน (อันนี้ไปจ่ายที่นั่นเลย ระหว่างคุณภรรยายื่นเอกสาร คุณสามีก็ไปจ่ายเงินซะ แล้วเอาใบเสร็จกลับมาให้ค่ะ)
8. หนังสือรับรองประวัติอาชญากรรม (จากเมืองไทย)
9. 국적통보제도 อันนี้จำได้ว่าเป็นแบฟอร์ม ไปกรอกที่สำนักงาน ตม. ได้เลยค่ะ
    - ใบแจ้งเกิดตัวจริงและสำเนา
    - ทะเบียนบ้านเมืองไทยที่มีชื่อพ่อแม่

ทีนี้ดูผ่านๆ เอกสารก็เหมือนจะมีแค่นี้ ง่ายๆ ไม่อะไร แต่ปัญหาคือ เอกสารจากเมืองไทยทั้งหลายนั้น เตรียมยากมาก เพราะต้องนำไปแปล และรับรองทุกฉบับค่ะ อย่างเช่นข้อ 9 พวกใบเกิด สูติบัตร ทะเบียนบ้านไรพวกนี้ ต้องแปลและประทับรับรองมาจากกรมการกงศุล แล้วเอาหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรมในข้อ 8 มารวม แล้วเอาทั้งหมดไปที่สถานทูตเกาหลี เพื่อขอประทับรับรองซ้ำอีกทอดนึงด้วยค่ะ ตรงนี้แหละที่จะใช้เวลาและแรงกายพอสมควร

เอาล่ะ สมมุตินะครับ สมมุติ สมมุติว่าเราได้เอกสารมาครบแล้ว...

เราก็ได้เวลาไปให้ถึงสำนักงาน ตม. ที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ที่เราอยู่อาศัย อย่างตัวนีดนี่คือ อยู่ในโพฮัง จริงๆ ในโพฮังก็มีสำนักงาน ตม. นะ แต่ว่า ที่นี่เป็นแค่สาขาย่อย (เค้าเรียกว่า 출장소 คืออารมณ์แบบ แค่มาตั้งสำนักงานเพิ่มเฉยๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบจริงๆ อารมณ์ป้อมยามทำนองนั้นเลย ดูแลได้แค่งานเอกสารเล็กๆ น้อยๆ) ดังนั้น เลยต้องถ่ออออไปถึงแดกู (และหลังจากนั้น เมื่อได้สัญชาติแล้ว ก็ยังต้องไปแต่แดกูตลอดทุกงานด้วย)

ในวันที่ไปยื่นเอกสาร แนะนำว่า ให้พาคุณสามีไปด้วยนะคะ เพราะเหมือนตอนรับเอกสาร เค้าจะแอบเล็งๆ อยู่เหมือนกัน เพราะตอนแรกไปด้วยกันนั่นแหละ แล้วพอถึงคิวยื่นเอกสาร จินกูเดินไปเข้าห้องน้ำ เลยเข้าไปยื่นคนเดียว เค้าก็ถามว่า มมาคนเดียวเหรอ แล้วสามีไปไหน ทำไมไม่มาด้วยกัน พอดีจินกูเดินมา เลยบอกว่าไปเข้าห้องน้ำมา จากนั้นเค้าก็ไม่ได้ว่าอะไร และเป็นคนออกคำสั่งให้จินกูเป็นคนเดินไปชำระค่าสมัครขอสัญชาติ 3 แสนวอน แล้วให้เอาใบเสร็จกลับมาด้วย (ค่าสมัคร 3 แสนวอนเนี่ย สอบได้ 2 ครั้ง ในกรณีที่สอบไม่ผ่าน ถ้า 2 ครั้งก็ยังไม่ผ่าน ต้องยื่นเอกสารและจ่ายค่าสมัครใหม่ทั้งหมดนะกรั๊บ)

ทีนี้ จากลิสต์รายการเอกสารข้างบนทั้งหมด ตม. ติ๊กมาให้ว่า เอกสารสำคัญที่มีผลต่อการยื่นขอสัญชาติจะมี 3 ข้อ คือข้อ 4 8 9 ข้อ 4 คือเรื่องเงิน อันนี้ค่อนข้างซีเรียสนะคะ เพราะเค้ามีกำหนดเกณฑ์เอาไว้ในเรื่องของรายได้ของสามี เค้าคงมองในแง่ว่า มีความสามารถในการรับผิดชอบครอบครัวได้มากแค่ไหน เกณฑ์ที่เขียนเอาไว้ข้างบนเนี่ย 30 ล้านวอนเป็นของเมื่อตอนสมัครเมื่อปี 2016 ตอนนี้เหมือนจะได้ยินมาว่าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไงเช็คให้ชัวร์ก่อนไปยื่นขอแล้วกันนะคะ ส่วนตอนนีดยื่นเนี่ย ไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ เพราะเงินเดือนจินกูเกินเกณฑ์ไปเยอะมากกก (ฟังดูน่าหมั่นไส้เนอะ) น่าจะราวๆ 2-3 เท่าตัวได้เลย บวกกับความน่าเชื่อถือของตำแหน่งงานและบริษัทที่ทำงาน จึงทำให้ ตม. ติ๊กผ่านข้อนี้ให้ก่อนเลย ก็สบายไป ส่วนเอกสารส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ผ่านฉลุย ได้ใบยืนยันการสมัครขอสอบสัญชาติมา


ส่วนของการสอบ

อะ ทีนี้ มาในส่วนของการสอบกันบ้าง

อย่างที่บอกแต่แรกว่า เรามาขอสัญชาติในนามของวีซ่าคู่สมรส เราได้สิทธิ์พาสการสอบส่วนของข้อเขียนไปจากการขอสัญชาติในแบบอื่น (ดูมีอภิสิทธิ์ชน) ซึ่งจริงๆ แล้ว การสอบสัญชาติ เราจะแบ่งเป็นแบบใหญ่ๆ ได้ 2 แบบ

คือ 1. สอบตามขั้นตอน
2. ลงทะเบียนเรียนโปรแกรมของ ตม.

ข้อ 2 เรื่องการเรียนโปรแกรมของ ตม.เนี่ย ได้ยินมา (เนื่องจากไม่ได้ลงเรียน) ถ้าสอบผ่านตามระดับขั้นต่างๆ แล้วจะได้พาสการสอบทั้งหมด แม้แต่การสอบสัมภาษณ์ ก็คือ เอาใบจบหลักสูตรนี้มายื่นในวันยื่นเอกสาร แล้วก็รอรับสัญชาติได้เลย ง่ายดีเนอะ แต่จริงๆ แล้ว โดยส่วนตัวมองว่ายากและยุ่งกว่าเยอะเลย เพราะต้องเสียเวลาเรียนนานมาก มีการเรียนแบ่งออกเป็น 5 ระดับ แล้วในแต่ละระดับ ยังต้องมีการสอบวัดระดับด้วย คือถ้าสอบไม่ผ่าน ก็ไปเรียนระดับนั้นใหม่ เวลาก็ยาวออกไปอีก แล้วพอผ่านครบ 5 ระดับ ก็จะมีการเรียนขั้นสุดท้ายคือ เลือกว่า จะเรียนเพื่อขอวีซ่าถาวร หรือขอสัญชาติ ซึ่งจำนวนชั่วโมงตามกำหนดของคอร์สก็จะต่างกันออกไป แต่สรุปว่า โดยการคำนวณคร่าวๆ (คร่าวมากๆ จริงๆ) คือน่าจะต้องเรียนกันเป็นปีๆ อะ กว่าจะผ่านครบ ได้ไปยื่นขอสัญชาติ

เลยมาลงเลือกที่ข้อ 1 ด้วยความมั่นหน้าในภาษาเกาหลีของตัวเอง ไหนๆ ก็ได้พาสข้อเขียนไปสอบสัมภาษณ์เลยแล้ว งั้นก็ลุยเลยแล้วกัน

ในส่วนของการสอบเนี่ย ในวันสอบ เค้าจะเริ่มต้นขั้นตอนด้วยการให้เข้าไปปุ๊บ แล้วอ่านคำปฏิญาณตนว่าจะเป็นคนดี ปฏิบัติตามกฎหมายของเกาหลีอย่างเคร่งครัดอะไรทำนองนี้เล็กๆ น้อยๆ ก่อน สำหรับคนที่ภาษาเกาหลีไม่แข็งแรง เค้าจะใช้ส่วนนี้สอบภาษาเกาหลีไปในตัวด้วย ดังนั้น!!! กรุณาฝึกอ่านก่อนไปสอบสัมภาษณ์ด้วยนะแคะ

나는 대한민국에 귀화함에 있어
대한민국에 충성을 다하고
대한민국의 헌법과 법률이 정한
내용을 준수하며
자유민주적 기본질서를 수호하고
평화통일을 지향하며
대한민국 국민으로서의 의무와 책임을
다할 것을 엄숙히 서약합니다.

ลองฝึกอ่านให้ชินปากไปก่อน แล้วก็ลองแปลๆ หาความหมายไว้ด้วยก็ดีนะคะ เผื่อเค้าถามว่า ประโยคนี้แปลว่าอะไร คำนี้คืออะไร ฝึกอ่าน เว้นวรรค ออกเสียงให้สำเนียงเป๊ะให้มากที่สุด เพราะตอนระหว่างที่นั่งรอเข้าสัมภาษณ์ เห็นมีคนเดินหน้าเจื่อนออกมา แล้วพูดว่า โดนถามเรื่องในคำปฏิญาณ แล้วตอบไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวไม่โดนถามคำถามในนี้ค่ะ แต่ถูก ตม. ชวนคุยนอกเรื่องตอนก่อนเริ่มสัมภาษณ์จริงแทนค่ะ

ในการเข้าสอบสัมภาษณ์ สามีจะเข้าไปพร้อมกันในตอนแรก คุยกันเล็กน้อย แล้วจะเชิญสามีออก แล้วเหลือเราอ่านคำปฏิญาณคนเดียว จากนั้นก็เริ่มคำถามสัมภาษณ์

ทีนี้ แนะนำเลยว่า ในการจะไปสอบสัมภาษณ์ ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งอ่านตำราหาความรุ้อยู่นะคะ แนะนำว่า ให้ไปหาอ่านรีวิวของคนที่สอบแล้ว ว่ามีคำถามอะไรบ้าง และคำตอบคืออะไร แล้วท่องไปเลย ไปเสิร์ชในยูทูบก็ได้ ของคนเวียดนามทำไว้เยอะมาก ลิสต์ตามนั้นออกมา แล้วท่องจำไปเลย ถ้าท่องได้แค่ตรงนั้น ผ่านแน่นอน นอกนั้นจะมีคำถามเชิงไหวพริบอยุ่บ้าง ที่เรียกว่าเชิงไหวพริบเพราะว่า คำตอบมันอยู่ในคำถาม ถ้าเอะใจสักนิด 555 

อะ หลักจากตอบคำถามกันจนคอแห้ง ก็ได้เวลาเปิดคาราโอเกะกัน นั่นคือร้องเพลงชาติ 555+

อย่างที่รู้กันดี(?)ว่าเพลงชาติเกาหลีนั้นย้าววววยาว มี 4 ท่อนแน่ะ แต่นั่นเก็บไว้ให้ผู้ชายเค้าฝึกร้องกันตอนไปเกณฑ์ทหารเนอะ เราขอสัญชาติสวยๆ ก็ร้องท่องแรกท่อนเดียวพอ

동해물과 백두산이 마르고 닳도록
하느님이 보우하사 우리 나라만세
무궁화 삼천리 화려 강산
대한 사람 대한으로 길이 보전하세

ร้องกันไปทั้งคอแห้งๆ นั่นแหละ เสียงหลง บางห้องก็ร้องเสียงดังฟังชัด ชัดไปถึงห้องอื่นเลยก็มี 555 ณ จุดนี้ เวลาร้อง แนะนำให้เชิดหน้าเบาๆ เหมือนเราภาคภูมิใจ แต่จริงๆ นั่นก็เพื่อจะได้ไม่ต้องเห็นหน้ากรรมการสัมภาษณ์ให้เขินอายในเสียงอันไพเพราะของเรา

เสร็จออกมา สำหรับตัวนีดนั้น สอบไป 2 รอบค่ะ เอาให้คุ้มค่าสมัครสามแสนวอน 555 จริงๆ คืออย่างที่บอกว่า ด้วยความมั่นหน้า สอบครั้งแรก คิดว่าตัวเองเจ๋ง ไม่อ่าน ไม่ท่อง ไม่อะไรไปเลย ร้องได้แต่เพลงชาติ สุดท้าย ถูกถากถางออกมาจากห้องสอบ เสียเวลารอนัดวันสอบใหม่ไปอีก 6 เดือน

มาผ่านเอารอบสอง ด้วยความยิ้มแย้มของกรรมการสอบ (คนเดิมกับรอบแรก แถมจำหน้าตรูได้อีกซะงั้นด้วย) เพราะรอบนี้ กดคะแนนเต็มมาค่ะ คือตอบไม่ผิดเลย หุหุ ตอบถูกแบบเป๊ะๆ จนไม่อยากอวดว่า ท่องมาดีขนาดไหน

พอสอบผ่านปุ๊บ วันรุ่งขึ้น จะมีแมสเสจส่งมาทางมือถือว่า สอบผ่านหรือไม่ผ่าน แต่จริงๆ สอบเสร็จก็รู้ตัวแล้วล่ะ ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

อะ สรุปว่าผ่านแล้ว งั้นรอต่อไป

สำหรับตัวนีดเองนั้น สมัครขอสัญชาติเดือน เมษา 2016 > สอบสัมภาษณ์ครั้งที่ 1 ม.ค. 2017 (ตก) > สอบสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 10 ก.ค. 2017 (่ผ่าน) > ตม. มาเยี่ยมบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณา เม.ย. 2018 > ใบอนุญาตสัญชาติ พ.ค. 2018

สิริรวมเวลาทั้งหมด 2 ปีเต็มๆๆๆ เต็มเอียด เต็มมากๆ เต็มสุดๆ จนแทบจะรอไม่ไหว ตอนต้นเดือนเมษา เลยมีการส่งคอมเพลนไปกระตุ้นเล็กน้อยว่า เฮ้ย!!! นี่มันเลยระยะเวลาที่คุณแจ้งแล้วนะ (คือในเว็บ ตม.เอง จะมีสิ่งที่เรียกว่า 국적업무 처리 기간 ประกาศทุกเดือนว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการของคนที่ยื่นคำร้องเมื่อเดือนไหน ปีอะไร) ซึ่งตอนนั้นมันเลยไปถึงคนที่ยื่นคำร้องเดือน มิ.ย. 2016 ทั้งที่ตัวเองยื่นตั้งแต่ เม.ย. แล้ว พอยื่นเรื่องตรงเข้าถึงกระทรวงยุติธรรม (ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ ตม.) เท่านั้นเอง ผ่านไปสองอาทิตย์ โทรมาขอนัดวันเข้าเยี่ยมบ้านเลย 

อะ!! เชิญค่ะ มาๆๆๆ เปิดบ้านรอ หลังจากมาเยี่ยมบ้านเสร็จ 1 เดือนต่อมา ก็ได้ข้อความว่า ใบสัญชาติจะส่งมาให้ภายใน 10 วัน สรุป เป็นอันเรียบร้อย เตรียมฉลองได้!!!

เอาเป็นว่า ใครสงสัยตรงไหน ก็ถามเข้ามาได้นะคะ จะช่วยตอบคำถามให้ เพราะหลังจากที่ได้ลองทำด้วยตัวเองแล้ว มันไม่ยากเลยจริงๆ แต่แลกมากับอะไรดีๆ อีกมากมาย




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2561    
Last Update : 15 มิถุนายน 2561 12:22:33 น.
Counter : 6522 Pageviews.  

ยาแผนโบราณเกาหลี



สวัสดีวันที่ 1 มีนา อีกหนึ่งวันหยุดประจำปีของเกาหลี...

  หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุรถชน (เอาไว้จะเล่าวันหลังแล้วกันว่าเกิดอะไรขึ้น) จนกระทั่งเข้าโรงบาล ผ่านมาอีกสองสามวัน อาการปวดก็ยังไม่ดีขึ้น

จินกูก็เลยชวนว่า ไหนๆ เราก็มีสิทธิ์รักษาฟรีจากประกันอยู่แล้ว เราไปหาหมอแผนโบราณกันเถอะ!!!

หมอแผนโบราณที่ว่านี้ไม่ใช่แผนโบราณแบบไทยนะ อิอิ เป็นหมอแผนโบราณคล้ายๆ กับจีน คือรักษาด้วยการฝังเข็มและอะไรต่างๆ นานา สุดท้ายด้วยยาแผนโบราณ!!!

เนื่องจากเราเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้นจากอุบัติเหตุรถชนที่ว่า ขั้นตอนการรักษาของหมอแผนโบราณที่นี่จึงเริ่มต้นด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า(?)ทั่วไป เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงตามมาด้วยการฝังเข็มค่ะ

แต่การฝังเข็มนี่จะต่างจากที่เราเคยเห็นในหนังจีนกำลังภายในกันซักหน่อย.. (ก็นะ มันก็ไฮเทคขึ้นตามยุคสมัย) คุณหมอจะเป็นผู้มาทำการกดจุดและฝังเข็มด้วยตัวเองค่ะ โดยที่จะฝังเข็มแบบธรรมดาก่อน จากนั้น จะมีอุปกรณ์ปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนๆ มาจับที่เข็มที่ฝังนั่นแหละ เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ามาในตัวเราอีกที ส่วนทางด้านบน ก็จะมีการปล่อยคลื่นความร้อนแผ่ลงมาช่วยอบหลังให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดียิ่งขึ้น... ทำไปแค่สองขั้นตอน เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะกลายเป็นโปเกม่อนแล้ว ชาร์จกระแสไฟฟ้าเยอะมาก นี่ว่าถ้าใครทำให้โมโหจะยิงกระแสไฟฟ้าใส่ละ

จากนั้น คุณหมอก็จะกลับมาอีกครั้งเมื่อได้เวลาอันควร แกะเอาเข็มที่ฝังไว้ออก แล้วทำ Cupping แทน ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยเรียกว่าอะไร แต่คนเกาหลีเรียกว่า 부항 (อ่านว่า พูฮัง) ซึ่งจุดพีคมันอยู่ที่พูฮังนี่แหละ เพราะมันเจ็บจนน้ำตาคลอเลยทีเดียว

จากที่ศึกษามา พูฮังนี่จะมี 2 แบบนะคะ คือแบบรีดเลือด กับไม่รีดเลือด (อันนี้ภาษานีดเองนะ) 

แบบรีดเลือดเนี่ย คือจะมีการเอาเข็มเจาะๆๆๆ เนื้อเราลงไปเป็นวงกลมๆ จากนั้นก็เอาถ้วยแก้วมาครอบ แล้วใช้ปืนดูดอากาศ (อย่างแรง) ดูดเอาอากาศในถ้วยออกไป นึกภาพออกใช่มั้ยคะว่า แบบนี้ เนื้อเราก็จะถูกดูดขึ้นไปในถ้วยด้วย ตอนนั้นแหละ ที่เลือดเราจะยิ่งถูกเค้นให้ออกมาเยอะพอสมควร วิธีนี้ เค้าบอกว่า ทำเพื่อเอาเลือดเสียออกไปบ้าง เพื่อให้บริเวณจุดตรงนั้นมันสะอาดและไม่มีพิษ ทำให้อาการปวดบริเวณนั้นทุเลาลงค่ะ

ส่วนอีกแบบคือไม่รีดเลือด ก็คือทำเหมือนกัน แต่ไม่เจาะเนื้อให้เลือดออกมาเ่ท่านั้นเอง เค้าบอกว่า ใช้เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยทั่วๆ ไปค่ะ ที่ไม่มีความเจ็บป่วย หรือเจ็บปวดรุนแรงอะไร

แต่เคสของนีด คุณหมอกดกล้ามเนื้อแล้วบอกว่า แข็งเชียวนะ เลยต้องโดนรีดเลือดซะ

แต่ยังค่ะ เอาทั้งเงิน ทั้งเลือดเราไปไม่พอ ยังไม่สาแก่ใจหมอ หมอเลยจัดการให้นอนหงาย แล้วคราวนี้เอาไม้ปลายแหลม มาจิ้มที่จุดต่างๆ บนร่างกายเราด้วยค่ะ ของนีดจะมีฝ่าเท้า ข้อพับขา ขอพับแขน แล้วก็ข้อมือค่ะ อันนี้คงเป็นศาสตร์ของเค้าล่ะมั้งว่าป่วยตรงไหน ต้องจิ้มตรงไหนบ้าง แต่บอกเลยว่าหมอจิ้มเจ็บมาก!!!

จากนั้น หมอจะเอาไม้ไอติมมาหักครึ่ง ให้เรางับไว้ แล้วจับคอบิดซ้าย บิดขวา บิดๆๆๆ แล้วเป็นอันว่าเสร็จ!!

ออกมาข้างนอกเจอพยาบาล เลยได้ทีแอบถามว่า อันนี้ถ้าเราไม่มีประกันมา รักษาครั้งละเท่าไหร่ พยาบาลตอบมาอย่างเยือกเย็นว่า ประมาณ 5-6 หมื่นวอนค่ะ 

นอกจากนั้น เรายังได้ยาแผนโบราณแถมมาด้วย... หรือที่คนเกาหลีเรียน 보약 อ่านว่า โพยัก (โพ-หยัก)


อย่างที่เห็นค่ะ ได้เรียงมาเป็นตับ อันนี้สำหรับ 15 วัน แถวบนของจินกู และแถวล่างของนีดเอง

สำหรับกล่อง 15 วันที่ว่านี้ สนนราคาตกอยู่ที่ 2แสนวอน โดยประมาณ หรือใครคำนวณไม่ทัน คร่าวๆ คือ 6พันบาทค่ะ

บอกเลยว่ารสชาติมันสุดบรรยายมาก เรียกว่ากินเสร็จนี่คือปวดหัวกันเลยทีเดียว

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในระหว่างที่เรากินยานี้นั้น เค้าจะระบุมาให้เราด้วยค่ะว่า เราห้ามทานอาหารหรือของจำพวกไหน ต่างกันไปตามยานั้นๆ ว่า ใช้สำหรับบำรุงด้านไหน

อย่างของนีดนี่ ห้ามกินไก่ ห้ามกินของจำพวกแป้ง ห้ามกินเหล้า กาแฟ แอ๊ปเปิ้ล โสมทุกชนิด เป็นหลักค่ะ

เอาล่ะ เดี๋ยวอีก 15 วันข้างหน้า เรามาลองดูกันว่า ผลของยา ทำให้เราเป็นยังไงบ้าง~~!!




 

Create Date : 01 มีนาคม 2559    
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 7:45:01 น.
Counter : 565 Pageviews.  

1  2  

JinieLinie
Location :
โพฮัง Korea

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add JinieLinie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.