INDIA-IBM3
 
การเมืองการปกครองของอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และกระจายอำนาจการปกครองในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ 28 รัฐ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2544 โลกสภาได้เห็นชอบร่างรัฐบัญญัติในการจัดตั้งรัฐใหม่ 3 รัฐ คือ รัฐฉัตตีสครห์ (Chattisgarh) รัฐอุตตะรันจัล (Uttaranchal) และรัฐฉรขันท์ (Jharkhand) ซึ่งแยกออกจากรัฐมัธยประเทศ อุตตระประเทศ และรัฐพิหาร ตามลำดับ และสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง (Union Territories) อีก 7 เขต
รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน โดยรัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องการป้องกันประเทศด้านนโยบายต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่นๆ ด้านการเงิน ด้านกฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ

(1) การบริหารรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ

ประกอบด้วย 2 สภา คือ ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา และโลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร การตรากฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา
ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ราชยสภามีสมาชิก 250 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน โดย 12 คนจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทุกๆ 2 ปี และอีก 233 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นผู้แทนของรัฐและ Union Territories
โลกสภามีสมาชิก 545 คน โดยสมาชิก 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (530 คน มาจากแต่ละรัฐ ส่วนอีก 13 คน มาจาก Union Territories) และอีก 2 คน มาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดี จากกลุ่มอินโด-อารยันในประเทศ ทั้งนี้มีวาระคราวละ 5 ปี เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภา
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Head of Executive of the Union) ซึ่งประกอบด้วยรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา รวมทั้งสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2 ได้
รองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรี (Ministers) รัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Ministers of State - Independent Charge) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) รับผิดชอบโดยตรงต่อโลกสภา

ฝ่ายตุลาการ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ระดับรัฐ มีศาลสูง (High Court) เป็นศาลสูงสุดของแต่ละรัฐ รองลงมาเป็น Subordinate Courts ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
(2) การบริหารระดับรัฐโครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐ ประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Governor) เป็นประมุข ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี รัฐบาลมลรัฐ (State Government) ประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้า และคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (State Ministers) ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งรัฐจะมาจากพรรคการเมือง หรือได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (Legislative Assembly)

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อินเดียมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์กาล ชาวดราวิเดียน (Dravidian) และชาวอารยัน (Aryan) ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย โดยได้สร้างอารยธรรมอันเป็นพื้นฐานของอารยธรรมฮินดูที่มีความคงทนต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ศาสนาฮินดู ภาษาสันสกฤต และระบบ ชั้นวรรณะ อารยธรรมอารยันหรือฮินดูรุ่งเรืองมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่มีระยะหนึ่งที่อารยธรรมพุทธรุ่งเรืองในอินเดีย คือ ตั้งแต่พุทธกาลถึงราว 3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราชในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ต่อมาอารยธรรมอิสลามได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยพ่อค้ามุสลิมจากตะวันออกกลาง และจักรวรรดิอาหรับได้ส่งกองทัพมาโจมตีแคว้นซินด์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) จักรวรรดิที่มีความยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น คือ จักรวรรดิโมกุล (คริสต์ศตวรรษที่ 16 -18) เป็นสมัยที่มีการแพร่ขยายอิทธิพลวัฒนธรรมโมกุลอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการปกครอง ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ในสมัยของพระเจ้า Aurangzeb ซึ่งเป็นผู้เคร่งศาสนาอิสลาม ได้ออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม และเป็นเหตุให้ชาวอินเดียต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิ เมื่อสิ้นอำนาจของพระเจ้า Aurangzeb ในปี 2250 จักรวรรดิโมกุลก็ค่อยๆ แตกแยกและเสื่อมลง เป็นโอกาสให้อังกฤษเข้ามามีอำนาจแทนที่ และอังกฤษเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในอนุทวีปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อค้าขายพร้อม ๆ กับครอบครองดินแดนและแทรกแซงในการเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี 2420 โดยมีสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย หลังจากการรณรงค์ต่อสู้กับการปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลานาน ภายใต้การนำของมหาตมะ คานธี อินเดียจึงได้รับเอกราชและร่วมเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้เครือจักรภพ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2490 โดยยังมีพระมหากษัตริย์ของอังกฤษเป็นประมุข และทรงแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2493 ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายเยาวหราล เนห์รู ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ด้านการต่างประเทศ
1. ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (Independent Foreign Policy) เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมหลักการ Multi-Polarity
2. ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด (Neighbourhood Diplomacy) คือ ประเทศสมาชิกของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asia Association for Regional Cooperation : SAARC) 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล มัลดีฟส์ ปากีสถานและศรีลังกา
3. นอกจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม SAARC แล้ว ยังให้ความสำคัญกับ อัฟกานิสถาน อิรัก อิหร่าน และอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเช่นกัน โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East) อย่างต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องพรมแดน
5. กระชับความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วกับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการทหารและเทคโนโลยีด้านอวกาศและนิวเคลียร์
6. ขยายความร่วมมือกับสหรัฐ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
7.เพิ่มความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง โดยคำนึงถึงรากฐานความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับอิสราเอลโดยเฉพาะด้านการทหาร
8. แสดงบทบาทเป็นประเทศผู้ให้ต่อภูมิภาคแอฟริกา โดยจัดตั้งกลุ่ม Team-9 โดยอินเดียเป็นศูนย์กลางและให้ความช่วยเหลือภายใต้กรอบ UNDP แก่ประเทศแอฟริกาตะวันตกอีก 8 ประเทศ คือ Bukina Faso, Cote d’Ivoire, Ivory Coast, Equatorial Ginea, Ghana, Ghinea Bissau, Mali และ Senegal ในด้านความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความยากจน การพัฒนาการเกษตร โดยคำนึงถึงประชาชนเชื้อสายอินเดียที่อาศัยในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ที่สำคัญ
การเมืองภายใน

พรรค Indian National Congress เป็นฝ่ายได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 14) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 อย่างพลิกความคาดหมาย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม (14 พรรคพันธมิตร) เรียกว่า The United Progressive Alliance (UPA) โดยมี Dr. Manmohan Singh เป็นนายกรัฐมนตรีชาวซิกข์คนแรกของอินเดีย
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) คือ นาย Somnath Chatterjee ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party of India (Marxist) ) คนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นาย Rajnath Singh ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค BJP เป็นผู้นำฝ่ายค้านและพันธมิตรซึ่งเรียกว่า National Democratic Alliance (NDA) ประกอบด้วยพรรค BJP เป็นแกนนำร่วมกับพรรคอื่นๆ อีก 8 พรรค
การบริหารประเทศครบรอบ 2 ปี ของรัฐบาลนาย Manmohan Singh (พ.ค. 2549)
รัฐบาลซึ่งเป็นรัฐบาลผสม (United Progressive Alliance – UPA) ประกอบด้วยพรรคพันธมิตรต่างๆ 19 พรรค และมีพรรค Congress เป็นแกนนำ แถลงในโอกาสครบรอบ 2 ปีว่า สามารถพัฒนาประเทศตามแผน National Common Minimum Programme ได้อย่างดี โดยสามารถแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ลดปัญหาความรุนแรงในสังคมและความขัดแย้งระหว่างชนชั้นวรรณะ ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของประชาชน ส่งเสริมการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลเพื่อสร้างธรรมาภิบาล ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส และประสบผลสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้ผ่านพ้นการบริหารประเทศครบสองปีในบรรยากาศไม่ดีนัก เนื่องจากแรงกดดันของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคร่วมรัฐบาลที่เฝ้าตรวจสอบและโจมตีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดเวลาทำให้บางโครงการต้องสะดุดลง โดยพรรค BJP ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านกลับไม่มีบทบาทในการกดดันรัฐบาลมากนัก เนื่องจากมีปัญหาภายในพรรค BJP พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้โจมตีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการค้าปลีก (FDI in retail sectors) กิจการประกันภัย กิจการธนาคาร และการปรับปรุงท่าอากาศยาน และยังโจมตีการดำเนินนโยบายกับสหรัฐฯ และอิหร่าน นอกจากนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคาสินค้าและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และล่าสุดโดนโจมตีอย่างหนักหลังรัฐบาลประกาศขึ้นโควต้าที่นั่งในสถาบันการศึกษาชั้นสูงแก่ชนชั้นล้าหลังเป็นร้อยละ 27 (เดิมร้อยละ 22.5)
กระบวนการปรับความสัมพันธ์กับปากีสถาน
อินเดียกับปากีสถานต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนแคชเมียร์ เนื่องจากผู้ปกครองแคว้นเป็นชาวฮินดู และเลือกที่จะอยู่กันอินเดีย แต่ประชาชนส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ซึ่งมีความเหมาะสมกว่าที่จะอยู่กับปากีสถานซึ่งเป็นประเทศมุสลิม อินเดียยือนกรานว่าแคว้นแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และกรณีพิพาทจะต้องได้รับการแก้ไขในกรอบทวิภาคีเท่านั้น จึงปฏิเสธบทบาทจของประเทศ / องค์การที่สามโดยเด็ดขาดขณะที่ปากีสถานต้องการให้มีการลงประชามติ และต้องการจะ “Internationalize” ปัญหา แคชเมียร์ โดยประสงค์ให้นานาประเทศ / องค์การที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย
ความสัมพันธ์สองประเทศมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่ออดีตนรม. Atal Bihari Vajpayee และปธน. Musharraf ได้ประกาศกระบวนการเจรจา Composite Dialogue ภายหลังการประชุมสุดยอด SAARC (ม.ค. 2547) ที่กรุงอิสลามาบัด ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รัฐสภาอินเดียในปี 2544 โดย Composite Dialogue เป็นกระบวนการเจรจาที่มี roadmap ระบุเงื่อนเวลาการเจรจาอย่างชัดเจนครอบคลุมทุกประเด็น เช่น การแก้ไขปัญหาเขตแดนโดยเฉพาะปัญหาในแคชเมียร์ (ปากีสถานให้ความสำคัญ) เรื่องการก่อการร้าย (อินเดียให้ความสำคัญ) กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนสู่ประชาชน ขณะนี้ได้เจรจามาสามรอบแล้ว และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เหตุระเบิดที่มุมไบ เกือบพร้อม ๆ กัน 7 แห่งต้นเดือน ก.ค. 2549 ที่มีผู้บาดเจ็บ 700 คน และเสียชีวิต 200 คน นั้น อินเดียเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba (LeT) ที่มีฐานอยู่ในเขตแคชเมียร์ของปากีสถาน ที่มีหน่วยข่าวกรอง Inter-Service Intelligence (ISI) ของปากีสถานให้การสนับสนุนอยู่ โดยอาจจะร่วมมือกับขบวนการ Islamic Movement of India (SIMI) ซึ่งเป็นขบวนการผิดกฎหมายในอินเดีย แม้กลุ่ม LeT จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายดังกล่าวตั้งแต่ต้น แต่จากการที่เชื่อมั่นว่าปากีสถานอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว กอปรกับกระแสความรู้สึกต่อต้านปากีสถานของประชาชนชาวอินเดียที่มีอยู่ขณะนี้ ทำให้ทางการอินเดียได้แจ้งขอเลื่อนการเจรจาระดับปลัด กต. ของทั้งสองฝ่าย จากเดิมที่จะมีขึ้นในกรุงนิวเดลีในวันที่ 21 ก.ค. ออกไปก่อนจนกว่าจะสามารถกำหนดวันใหม่ได้ ซึ่งการเจรจาระดับปลัด กต. นี้ก็เพื่อทบทวนความคืบหน้าการเจรจา Composite Dialogue รอบที่สามที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเร็วๆ นี้ กับเพื่อกำหนดวันสำหรับการเจรจาในสาขาต่างๆ สำหรับรอบที่สี่ต่อไป ทั้งนี้ ความตึงเครียดได้ลดลงเล็กน้อย เมื่อ ปลัด กต. สองฝ่ายมีโอกาสหารือกันในระหว่างการประชุม SAARC ระดับ ปลัด กต. ที่กรุงธากา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2549 โดยสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการระเบิดที่มุมไบ แต่ยังไม่ได้ตกลงเรื่องการประชุม Composite Dialogue



Create Date : 21 สิงหาคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 16:31:27 น. 0 comments
Counter : 525 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

indiaibm7
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add indiaibm7's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com