We ArE IBM Bangkok U >.<
Group Blog
 
All blogs
 

ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน

เสียงอื้ออึงคัดค้านการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของชาวบ้าน ดังขึ้นพร้อมๆกันถึง 2 ท้องที่ใน 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง และ สมุทรสงคราม ทำให้นึกถึง 2 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบเดียวกันนี้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต้องประสบปัญหาการต่อต้านอย่างรุนแรงของชาวบ้านในท้องถิ่นและในตัวจังหวัดที่ไม่ยอมรับโครงการลงทุนดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอันเป็นอู่ข้าวอู้น้ำ และความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ


จำได้ว่าครั้งกระนั้นบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากรัฐบาล ก็มิได้บกพร่องและละเลยต่อความรับผิดชอบ ทั้งด้านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านมวลชน เพียงแต่มีตัวอย่างให้พวกเขาเห็น ให้พวกเขาเข้าใจมาตั้งแต่อดีตว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ไม่


บริสุทธิ์และปลอดภัยจริงตามที่รัฐบาลโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ชาวบ้านเชื่อและยอมรับผลการศึกษาบนแผ่นกระดาษดังกล่าว

นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ในอดีต...ขณะที่ปัจจุบันกระบวนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆเริ่มมีความเข้มงวดและเข้มข้นมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายต่างหันมาให้ความสนใจต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนและของชุมชนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนไว้ถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 66 และมาตรา 67


ซึ่งสาระสำคัญหลักๆเน้นให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนต่อจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และรวมถึงสภาพแวดล้อมทั้งการใช้และการอนุรักษ์ และที่สำคัญยังบัญญัติไว้ชัดอีกว่า หากการดำเนินโครงการใดก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนร่วมเสียก่อน..

เป็นสาระคร่าวๆที่ยกมาให้เห็นว่า ต่อไปการจะลงทุนสร้างโครงการอะไรที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ต่อชีวิตความเป็นอยู่ และต่อสุขภาพของคนในชุมชนอันเป็นที่ตั้งของโครงการนั้นแล้ว บอกได้เลยว่า จะกระทำได้ยาก และอาจจะถึงขั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้อีกด้วย โดยเฉพาะกับโครงการโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ ซึ่งถือเป็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เพิ่งผ่านไฟเขียวจากพี่น้องประชาชนไปเมื่อเร็วๆนี้แล้ว





จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2251 09 ก.ย. - 12 ก.ย. 2550




 

Create Date : 10 กันยายน 2550    
Last Update : 10 กันยายน 2550 13:51:02 น.
Counter : 258 Pageviews.  

"เวียดนาม" สนามการค้า-ลงทุน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสของไทย

ถ้าพูดถึงประเทศเวียดนาม หลายคนคงนึกถึงความเป็นคู่แข่งเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แสนจะน่ากลัว และกำลังจะนำหน้าไทยไปแล้ว แต่ท่ามกลางความกังวลนั้น หากมองในทางกลับกัน เราจะเห็นว่า เวียดนามนั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่ง ที่อาจจะเป็นแดนสวรรค์ของนักธุรกิจไทย ที่จะเข้าไปลงทุนอยู่ไม่น้อย
เชื่อหรือไม่ว่า แม้จะอยู่ใกล้กันขนาดนี้ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 12 ทั้งๆ ที่เรามองเห็นโอกาสในการเติบโตในประเทศนี้อย่างสูง
การจัดงานนิทรรศการประเทศไทย หรือไทยแลนด์ เอ็กซิบิชั่น 2007 ขึ้นที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้นักธุรกิจไทยได้เจอกับคู่ค้าในเวียดนาม และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และ ศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ ให้ชาวเวียดนามได้รับรู้ และยังเป็นช่องทางที่ให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่ายได้เจอกัน นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง เอกอัครราชทูตประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า งานนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เวียดนามได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น และไปเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อกับผู้ขายระหว่างไทยกับเวียดนามได้พูดคุยกัน
ทูตกิตติพงษ์ขยายความให้ฟังว่า สำหรับประเทศเวียดนามนั้นถือว่ายังมีโอกาสในการทำธุรกิจอีกมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวถึง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กับประชากรอีกราว 84 ล้านคน หมายถึงกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้นจากประชากรเหล่านี้ ขณะที่การลงทุนที่เวียดนามก็เป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำกว่า ค่าแรงต่ำกว่า อะไรที่เรายังต้องใช้แรงงานมากอยู่ ก็น่าจะไปลงทุนที่เวียดนาม โดยรัฐบาลเวียดนามเองก็มีสิ่งชักจูงให้นักลงทุนมาลงทุนที่ประเทศมากมาย ทั้งการอำนวยความสะดวก เรื่องของภาษี เป็นต้น หรือถ้าใครเป็นห่วงเรื่องน้ำไฟจะไม่มี ถ้าหากเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เขาก็จะจัดหามาให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องกังวลเลย
เมื่อต้นทุนในการผลิตถูก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอง ในการขายสินค้าให้กับชาวเวียดนามได้ในราคาที่ไม่แพง แต่ถ้าหากจะมองไกลไปถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศก็ยังได้ เช่น ส่งกลับไปขายในเมืองไทยผ่านทางชายแดนต่างๆ ที่ติดกับประเทศลาว หรือแม้แต่การส่งสินค้าไปขายยังประเทศจีน ก็สามารถทำได้ และไม่ได้เสียค่าขนส่งมากมายอีกด้วย ตลาดที่ส่งไปจีนนั้นน่าสนใจมาก เพราะบริเวณชายแดนจีนกับเวียดนามจะมีสิทธิพิเศษระหว่างกันอยู่ จึงเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
นายกิตติพงษ์ไม่อยากให้มองเวียดนามว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับไทย แต่ให้มองว่าเป็นผลประโยชน์มหาศาล เพราะถ้าเราไม่เข้าไปทำตอนนี้ แล้วปล่อยให้คนอื่นทำตลาดไปก่อน เราก็จะเสียโอกาสไป ทั้งๆ ที่สินค้าของไทยนั้น เป็นที่เชื่อถือของชาวเวียดนามอย่างมาก เพราะเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพดี เชื่อถือได้ ใช้งานทน ในขณะเดียวกัน การเข้าไปทำตลาดในเวียดนามก็ถือเป็นการสร้างงานในประเทศของเขาด้วย จึงถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
แต่ปัญหาของนักธุรกิจไทยก็คือ การไม่ได้ทำการบ้านไปเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจะไปลงทุนในเวียดนาม ไม่ได้สำรวจตลาดดูว่าต้องการอะไรบ้าง หรือในตลาดมีใครทำตลาดอยู่แล้วบ้าง อะไรที่เสี่ยงเกินไป หรืออะไรที่พอจะทำได้ นักธุรกิจไทยควรจะดูว่าตัวเองถนัดอะไร แล้วดูว่ามีโอกาสที่จะอยู่รอดในตลาดนี้ได้หรือไม่ อย่างการทำธุรกิจธนาคารในเวียดนามตอนนี้ก็คงจะยาก เพราะที่มีอยู่ก็มากถึง 70-80 รายแล้ว หากแต่ธนาคารเหล่านี้ก็ยังขาดการจัดการสมัยใหม่ แล้วถ้าจะเข้ามาเราจะสู้กับพวกนี้ไหวหรือเปล่า
นอกจากนี้ก็มีธุรกิจโรงแรม จะมีปัญหาเรื่องที่ดินในเมืองที่ไม่เหลือให้ทำแล้ว จะมีก็แต่ชานเมือง หากจะมองการณ์ไกลไปสร้างที่ชานเมืองแล้วรอการขยายตัวของประเทศ ก็ดูจะเป็นการมองไกลเกินไป แต่ถ้าจะเป็นรีสอร์ทตามแนวชายฝั่งทะเลก็พอลุ้นอยู่ แต่ที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ บุคลากรทางด้านโรงแรมของเวียดนามนั้นยังน้อยอยู่ ยังต้องจัดให้มีการเรียนรู้อีกเยอะ
หรือแม้แต่เรื่องของคน เช่น หากเรามาเปิดธุรกิจที่เวียดนามแล้ว ต้องส่งคนมาอยู่ที่เวียดนามด้วย หมายความว่าจะต้องแบ่งบุคลากรที่มีอยู่ในไทยมาที่นี่ด้วย คุณจะทำอย่างไร จะเกณฑ์คนในท้องถิ่นมาทำ หรือจะส่งคนของคุณมาทำงานแล้วหาคนใหม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องคิดก่อนที่จะไปลงทุนที่เวียดนาม
นอกจากนี้ ก็ยังมีธุรกิจร้านอาหารอีกอย่างที่น่าสนใจ เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้ ไม่มีร้านไหนดีพอที่จะพาแขกไปกินได้เลย อันที่จริงแล้วอาหารไทยเป็นอาหารที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบและเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว หรือจะขายคนไทยที่เข้ามาในแต่ละปีอีกแสนกว่าคนก็ยังไหว หรือจะเป็นธุรกิจด้านความบันเทิงที่ยังมีอยู่ไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ช่องทางในการเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามนั้นยังมีอยู่อีกมาก ใครที่อยากลงทุนก็ให้เข้าไปเลย เพราะรัฐบาลเวียดนามเองก็อ้าแขนรับเต็มที่อยู่แล้ว เพียงแต่ถึงเวลานี้ นักธุรกิจไทยจะกล้าออกไปลงทุนในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น




 

Create Date : 09 กันยายน 2550    
Last Update : 10 กันยายน 2550 13:50:28 น.
Counter : 205 Pageviews.  

บทเรียนการสร้างความมั่งคั่ง ของเกาหลีใต้สำหรับประเทศไทย

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย เรื่อง "จุดเปลี่ยนประเทศไทย : เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์" ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมหภาค เพื่อทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในเวทีโลก

หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้แย่กว่าประเทศไทยเพราะต้องเจอสงครามเกาหลี แต่ ณ วันนี้ ระหว่างที่เราย่ำอยู่กับที่ สิงคโปร์ เกาหลีขึ้นไปแล้วถึงจุดที่อยู่ในโลกที่หนึ่งแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้ามามองดูโดยปรับผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยเป็นฐานเท่ากับ 1 ย้อนหลังไปสัก 25 ปีที่แล้ว ขณะที่เราเป็นเท่ากับ 1.0 เกาหลีตกอยู่ที่ประมาณ 2.0 ณ วันที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน จีดีพีของเกาหลีตกลงมาอยู่ที่ 3.1 กว่าๆ ตอนนี้เกาหลีขึ้นไปอยู่ที่ 4.8 เมื่อเทียบกับ 1.0 ของไทย

ในแง่ของ GDP Per Capita เกาหลีจาก 2.4 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปีนี้ 6.4 เท่า ขึ้นมา 3 เท่า ขณะที่เมื่อก่อนมีรัฐบาลที่ปกครองแบบเผด็จการเหมือนกัน ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน แต่เศรษฐกิจเขาพัฒนาและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดวิกฤต เกาหลีเสียหายหนักกว่าไทยมาก แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นร่วมกันในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ เกาหลีใช้เวลา 18 เดือนก็ฟื้นตัวจากวิกฤต

เดี๋ยวนี้เกาหลีใต้เขาไม่เทียบกับเราแล้ว เขาไปเทียบกับญี่ปุ่น ขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะทางด้านภาครัฐหรือเอกชน เกาหลีใต้เหนือญี่ปุ่นแล้ว โดยในปี 2005 ที่ผ่านมานั้น ประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาคธุรกิจเอกชนของเกาหลีใต้อยู่เป็นอันดับ 30 ของโลกแล้ว ส่วนญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 35 ขณะที่ประสิทธิภาพในการบริหารภาครัฐของเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 31 ส่วนญี่ปุ่นตกอยู่ในอันดับที่ 40

*** จาก Vision Korea สู่ Dynamic Korea

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา Booze Allen & Hamilton และกำลังทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพของกรมสรรพากรอยู่ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมในบางส่วนของโครงการ "Vision Korea" โดยรัฐบาลเกาหลีเป็นผู้จ้าง

Booze Allen แนะนำ 5 ยุทธศาสตร์หลักให้กับเกาหลีใต้เพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ ประกอบด้วย

1) Market-led Economy,

2) Knowledge-Based Society,

3) The Entrepreneurial Spirit,

4) Regionally Integrated,

และ 5) Globally Connected

หลังจาก "Vision Korea" ถูกผลักดันไปช่วงหนึ่ง เกาหลีก็ผลักดัน "Dynamic Korea" เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤต เกาหลีใต้ยังต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายอย่างน้อย 5 ประการด้วยกันคือ 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2) การเพิ่มขึ้นของ Social Tension 3) กระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากขึ้นทุกขณะ 4) การทะยานขึ้นของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน และ 5) ความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ

เกาหลีใช้คำว่า Dynamic นำหน้า Korea เพื่อให้รู้สึกว่า "Active" ให้รู้สึกว่า "Strong" และ "Forward Looking" คนเกาหลีใต้คิดอยู่ตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ Dynamic Korea สะท้อนการเป็น Open Dynamic Society & Culture เป็นประเทศที่พลังตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฐานขององค์ความรู้ ซึ่งเขาไม่ได้ฝันอย่างเดียว จาก Inspiration ก็นำไปสู่ Vision คือแปลงโจทย์ Dynamic Korea ออกมาว่าจะนำพาประเทศเกาหลีไปสู่ศตวรรษที่ 21 จะต้องผลักดันอะไรอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นใน 2 Strategic Thrusts คือ "Innovation" และ "Integration"

Innovation เป็นคำถามใหญ่ เกาหลีใต้จะสร้างนวัตกรรมอะไรเพื่อไปสู้ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อเมริกา เพื่อให้มั่นใจว่าเกาหลีจะสามารถเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21 นี้ จุดเน้นสำคัญจึงอยู่ที่การยกระดับเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพและการจัดสรรกำลังคน อยู่ที่การผลักดันให้เกาหลีเป็น Northeast Asian Economic Hub อยู่ที่การปฏิรูปโครงสร้างและกลไกตลาดในประเทศให้มีความพร้อมในการรับมือกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก

ขณะเดียวกัน Integration ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย โจทย์คือจะบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ ระหว่าง Chaebols ซึ่งเป็นบรรษัทขนาดยักษ์กับ SMEs ยังมีอยู่ได้อย่างไร

เกาหลีได้เน้น 3 เรื่องหลักคือ การเสริมสร้าง Social Well-Being การพัฒนาที่เน้น Balanced National Development ให้กระจายตามภูมิภาคต่างๆ และเน้นการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่มีความมั่นคง

นี่คือเขาเอาโจทย์ง่ายๆ Inspiration ตีโจทย์ออกมาเป็น Vision ผลักดันให้เกิดรูปธรรมด้วย 7 Strategic Initiatives นี้แล้วสนับสนุนด้วย Short-Term Initiatives โดยมีความเชื่อว่า ถ้าเกาหลีใต้สามารถขับเคลื่อน Innovation และ Integration มันจะเสริมกันเอง พลังที่เกิดขึ้นจะทำลายความหวาดกลัวที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญอยู่อย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน

1.ความกลัวจากภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือจะหายไป

2.กระแสโลกาภิวัตน์จะกลับกลายเป็นโอกาสสำหรับเกาหลีไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไป

3.ความตึงเครียดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะลดลง

4.การชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็จะน้อยลง เพราะว่ามีการสร้างงานขึ้นอีกมากมาย โดยเฉพาะงานที่มาจาก Content Industries และ Cultural Industries

5.ความกลัวเกี่ยวกับการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลง

ด้วยการเดินหมากจาก Vision ไปสู่ Action เกาหลีใต้ลงรายละเอียดทันที เขาอยากเป็น Northeast Asian Hub แต่ตอนนั้นที่เกาหลีคิด ผมยังบอกว่า เกาหลีใต้จะเป็น Northeast Asian Hub ได้อย่างไร ในเมื่อยังต้องเผชิญกับญี่ปุ่น จีน แต่เขากล้าคิดแล้วและก็คิดว่าต้องทำเอฟทีเอเพื่อต่อเชื่อมกับประเทศอื่นเพื่อให้ตัวเองมีพลังเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดสิ่งต่างๆ

ในเรื่องของ Regional States นั้น จีนมีแนวคิดของตัวเองแล้ว อิตาลีก็พัฒนามานานแล้ว เกาหลีใต้ก็กำลังผลักดันออกมา จริงๆ เราเองก็มีแนวความคิดเรื่อง Provincial Cluster โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากนักปกครองเป็นซีอีโอ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่า ซีอีโอเป็นแนวคิดของภาคเอกชน จะเอาไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไม่ได้ ความจริงแล้วซีอีโอเป็นแนวคิดสากล ดังนั้นแทนที่จะมาเสียเวลานั่งถกเถียงกันเรื่องนี้ เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลง Vision ไปสู่ Action จาก Action เตรียมความพร้อมทางด้านขีดความสามารถที่จะบรรลุ Vision ลงรายละเอียดขนาดนี้แล้ว

**บทเรียนที่ประเทศไทยจะได้จากเกาหลี

บทเรียนที่ประเทศไทยน่าจะได้จากเกาหลีใต้ก็คือ การมี "ห่วงโซ่นโยบาย" (Policy Chain) ที่ต้องร้อยรัดให้เชื่อมต่อกันอย่างสนิท ตั้งแต่ต้นน้ำคือความฝัน (Inspiration) เชื่อมต่อกลางน้ำคือ วิสัยทัศน์ (Vision) จนถึงปลายน้ำคือการผลักดันให้นโยบายเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ (Action)

สิ่งที่ประเทศไทยมีเหมือนเกาหลี คือ ปัญหาหมักหมม เรามีความฝันเหมือนเกาหลี แต่สิ่งที่เราไม่มีคือความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า

เกาหลีคิดแบบเราแต่เขาเอาจริง และร่วมกันทำจริง จากที่ล้มเหมือนเราในช่วงที่เกิดวิกฤต เกาหลีลุกเหมือนเราแต่ลุกก่อนเรา แต่ที่แตกต่างในขณะนี้คือ จากล้มสู่ลุก ตอนนี้เกาหลีใต้จากลุกสู่ทะยานแล้ว ในขณะที่ไทยยังเผชิญกับความท้าทายใหม่ เป็นวิกฤตเชิงการเมือง ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดี อาจจะล้มต่อได้ แต่ถ้าบริหารจัดการดี มีความเข้าใจในรากเหง้าของปัญหา มีความจริงใจในการบริหารประเทศ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าแล้วละก็ ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนวิกฤตครั้งที่สองนี้เป็นโอกาส ในการปรับตัวเองให้ยืนขึ้นได้อย่างมั่นคงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะทะยานต่อไปเมื่อโอกาสมาถึง

--------------------------------------
มติชน วันที่ 19 พฤษภาคม 2549




 

Create Date : 03 กันยายน 2550    
Last Update : 3 กันยายน 2550 18:46:07 น.
Counter : 324 Pageviews.  

ทุนนิยมกับเศรษฐกิจพอเพียง

เวลานี้สังคมหลายส่วนกำลังสงสัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณ จะสามารถชี้แจงเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” กับ “เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี” ให้ชาวโลกเข้าใจได้เพียงใดเพราะเห็นว่าสองเรื่องนี้ไปด้วยกันไม่ได้
เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่แบงก์ชาติมอง “ตลาดส่งออก” ว่าเป็นเรียลเซ็คเตอร์ เป็นของจริง จึงออกมาตรการสำรองร้อยละ 30 มาจัดการกับ “ตลาดทุน” ที่เห็นว่าเป็นของไม่จริง ซึ่งเป็นการมองภาพเศรษฐกิจด้านเดียว
ความจริงแล้ว ผมเชื่อว่าทุนนิยมกับเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ ถ้าหากไม่เดินข้างหนึ่งข้างใดจนสุดกู่ แต่จะขาดข้างหนึ่งข้างใดก็ไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดต้อง “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” และรู้จัก “พอประมาณ” ด้วย “เหตุและผล” อย่างมี “คุณธรรม” และ “จริยธรรม” ไม่ใช่โลภจนหน้ามืดโกงกินทุกอย่างที่ขวางหน้า

ในหนังสือ “จุดเปลี่ยนประเทศไทย เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์” ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เขียนไว้ชัดเจนว่า
การกำจัดการคอรัปชัน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการ “ปลูกรากเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะความ มั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความมั่งคั่งในเชิงคุณภาพ เป็นความมั่งคั่งที่เป็นธรรม แต่การคอรัปชันเป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้จักพอเพียง ไม่รู้จักความพอดี ทำลายวัฒนธรรมที่ดีของสังคม สร้างความไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดความมั่งคั่งแบบกระจุกอย่างไร้ผล (Unproductive) แทนที่จะกระจายอย่างเกิดผล (Productive)

เศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เป็นระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน เป็นกระแสที่ปฏิเสธไม่ได้ เราจะเปิดประเทศอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ เพราะคนของเรายังไม่พร้อม เราจะปิดประเทศก็ไม่ได้ เพราะต้องค้าขายกับชาวโลก

การพัฒนา “เศรษฐกิจแบบคู่ขนาน” (Dual Economy) จึงจำเป็น จะต้องสร้างสมดุลระหว่าง “ทุนนิยมที่อิงตลาด” เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนออกไปแข่งขันกับตลาดโลกได้ กับ “ทุนนิยมที่อิงสังคม” ในระดับฐานราก เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยรวม เหมือนกับที่จีนและญี่ปุ่นใช้อยู่

เราต้องทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมที่เสริมพลัง” ซึ่งกันและกัน แทนที่จะเป็น “สังคมลดทอนพลัง” ซึ่งกันและกัน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ตัวอย่างนี้เห็นชัดในปัจจุบัน แต่ละกลุ่มต่างสร้างพลังของตัวเองขึ้นมา เพื่อลดทอนกำลังของอีกฝ่าย เพื่อแสดงพลังของตัวเอง สุดท้ายก็จะจมอยู่ในวังวนแห่งความหายนะ)

ความสมดุลระหว่าง “ชุมชนภิวัตน์” (Locality) กับ “โลกาภิวัตน์” (Globality) จะต้องไปด้วยกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจชุมชน โดยให้เศรษฐกิจแต่ละชุมชน แต่ละกลุ่ม เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดความแข็งแกร่งแล้ว ก็ออกไปสู้กับโลกาภิวัตน์ในตลาดโลกได้

นี่คือ การเสริมซึ่งกันและกัน ของ เศรษฐกิจพอเพียง และ ทุนนิยม ซึ่งจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่เราพูดกันในระดับ 5 ล้าน 10 ล้านบาท หรือยอดขาย 50 ล้าน 100 ล้านบาทนั้น ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นแล้วไม่เห็นฝุ่น เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นวันนี้เขามียอดขายกันที่ 5,000 ล้าน 10,000 ล้านบาทกันแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดใหญ่เหล่านี้ จะถูกวางตัวเป็นฐานรากในการ เสริมกับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติของญี่ปุ่น

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คนไทย และรัฐบาลชุดนี้น้อมนำมาปฏิบัตินั้น เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น คนไทยทุกคนยังต้องเรียนรู้ในปรัชญานี้อีกมาก เพื่อนำไปตีความเป็นภาคปฏิบัติให้เหมาะสม

ผมจึงไม่อยากเห็นใครด่วนสรุป ซึ่งจะทำให้เข้าใจผิดกันไปใหญ่.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 22 ก.พ. 2550




 

Create Date : 01 กันยายน 2550    
Last Update : 1 กันยายน 2550 22:56:26 น.
Counter : 199 Pageviews.  

จับตาสินค้าเวียดนาม…โอกาสแซงหน้าสินค้าไทย !!

เวียดนามประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างสูงในปีที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550
ส่งผลดีต่อการส่งออกของเวียดนามทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งจะไม่ถูกจำกัดโควตานำเข้าอีกต่อไป อีกทั้งยังได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าภายใต้กรอบ WTO ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สินค้าเวียดนามในตลาดโลก
ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันกับเวียดนามควรจับตามองสินค้าส่งออกของเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันสินค้าบางรายการของเวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำกว่าสินค้าไทย แต่เป็นที่คาดว่าอีกไม่นานสินค้าเหล่านี้อาจมีโอกาสแซงหน้าสินค้าไทยได้ อาทิ

ข้าว : ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากไทย และส่งออกข้าวไปตลาดเดียวกันกับไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังมีแผนพัฒนาการเพาะปลูกข้าวคุณภาพดีมากขึ้น เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าข้าวคุณภาพปานกลางและข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้จากการส่งออกข้าวให้แก่เวียดนามอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการยกระดับขึ้นไปแข่งขันกับข้าวไทยในตลาดโลก ดังนั้น ไทยจึงควรจับตามองการส่งออกข้าวของเวียดนามอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งเร่งขยายตลาดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : แม้ว่าปัจจุบันไทยมีความได้เปรียบเวียดนามค่อนข้างมากในการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ควรประมาทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามที่มีแนวโน้มสดใสทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก โดยเฉพาะเมื่อบริษัท Intel ของสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินลงทุนก้อนใหญ่เป็นมูลค่าสูงถึง
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายฐานการผลิตในเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม อีกทั้งยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของโลก และที่สำคัญอาจทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต

ผลิตภัณฑ์พลาสติก : มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยในปี 2549 สูงกว่าเวียดนามราว 4 เท่าตัวอย่างไรก็ตาม หากเวียดนามเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างจริงจังโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำหลังจากโรงกลั่นน้ำมันของเวียดนามเปิดดำเนินการอย่างสมบูรณ์ อาจทำให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกที่จังหวัด Quang Ngaiทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการกลั่นน้ำมันได้ภายในปี 2552 ด้วยกำลังการผลิตน้ำมันราว 140,000 บาร์เรลต่อวัน หรือกว่า 6.5 ล้านตันต่อปีนอกจากนี้ เวียดนามยังมีสินค้าที่มีความได้เปรียบไทยอยู่ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิก WTO อาทิ
สินค้าที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าประมง รวมทั้งสินค้าที่พึ่งพาแรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยการผลิตหลัก อาทิ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และเครื่องหนัง เป็นต้น
ดังนั้นหลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ จะยิ่งสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าดัง กล่าวของเวียดนาม และในที่สุดสินค้าไทยอาจต้องเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศต่าง ๆ ให้กับเวียดนามมากขึ้นส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจ

ฝ่ายวิชาการ
มีนาคม 2550
โพสต์ 16 พฤษภาคม 2550




 

Create Date : 01 กันยายน 2550    
Last Update : 1 กันยายน 2550 22:42:58 น.
Counter : 215 Pageviews.  

1  2  

IBM TEAMWORK
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




blog นี้เป็นบล็อคของกลุ่มนักศึกษาทั้งหมด 13 คน ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ib421 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเพื่อใช้สำหรับเขียนบทความที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจครับ

รวมภาพจากงานสัมนาครับ

หน้าตาของสมาชิกผู้ร่วมงานครับ

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

รายชื่อสมาชิก IBM TEAMWORK

Section 6191
1.นายวุฒิชัย ลอออุดมพงศ์ ID:1480201134 เลขที่ 8
2.นายพิชชา จิตติวัฒนพงศ์ ID:1480201142 เลขที่ 9
3.นางสาวเสาวลักษณ์ กระจะจ่าง ID:1480203064 เลขที่ 17
4.นางสาวปองหทัย พลวัฒน์ ID:1480203254 เลขที่ 18
5.นางสาวณัฐรุจา ลีลาวัฒนพณิช ID:1480204633 เลขที่ 25
6.นายอกนิษฐ์ ศิริศักดิ์ ID:1480205010 เลขที่ 30
7.นายกัมปนาท เขตต์บรรพต ID:1480208964 เลขที่ 61
8.นางสาวศิราพร แสงอาภรณ์สุข ID:1480209129 เลขที่ 62
9.นางสาวอนุสรา มดทอง ID:1480209475 เลขที่ 64
10.นางสาวสุธินี บุญนิธิยิ่งยง ID:1480209855 เลขที่ 66
11.นายวีรสุ ลิ้มชูวงศ์ ID:1480209988 เลขที่ 67
12.นายอิทธิเดช พิธุกานต์ ID:1480211364 เลขที่ 79
13.นายอธิชนัน ว่องวิริยะวัฒนา ID:1480215340 เลขที่ 92

ฟังเพลง >> อกหัก

 

VEDIO >> บ้านป่าแฝกดอย หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

Friends' blogs
[Add IBM TEAMWORK's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.