Oblivion ซ่อมเครื่องบินแล้วซ่อมโลก
Oblivion ซ่อมเครื่องบินแล้วซ่อมโลก
: คอลัมน์หนังโรงเล็ก : โดย...นันทขว้าง สิรสุนทร


=======================================================================

ชื่อของ ทอม ครูซ ผ่านมาแล้วทั้ง “หนังดี” และ “ไม่ดี” เหมือนนักแสดงหลายๆ คน
แต่ถ้าโฟกัสไปแค่ยุค 80 อดีตคนรักของ นิโคล คิดแมน ยังเป็นชื่อที่แข็งแรงมากับ บรูซ วิลลิส
ชื่อ ทอม ครูซ ไม่ได้หมดความนิยมแล้วแบบ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ หรือเริ่มลงแล้วอย่าง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์
ผมคิดเอาเองส่วนตัวว่า เหตุผลที่เขายังเดินทางต่อได้อีก ก็เพราะบทบาทที่ ทอม รับเล่นมานั้น มีความหลากหลายบุคลิกมากกว่าเพื่อนร่วมยุค 80

เพียงแต่ในความหลากหลายนั้น เครดิตหลักๆ มาจากตระกูลหนัง (genre) แอ็กชั่น นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า
เมื่อ Oblivion คล้องแขนมากับไซไฟแอ็กชั่น มันจึงเป็นหนังที่น่าลองดูอีกเรื่องของเขา

แล้ว Oblivion เดินทางมาอย่างไร ?

ในปี 2005 ช่วงเวลา 5 ปีก่อนที่ โจเซฟ โคซินสกี้ จะได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา TRON: Legacy
เขาได้เขียนเรื่องที่มีความยาว 12 หน้าที่มีชื่อเรื่องว่า “Oblivion”
เรื่องราวการผจญภัยแนวไซไฟเรื่องนี้วางเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในปี 2077
หกทศวรรษหลังจากเอเลี่ยนบุกโลกและทำให้โลกเต็มไปด้วยรังสี
เราติดตามภารกิจของแจ็คช่างซ่อมบำรุงที่อยู่บนโลกที่โดนทำลายไปเกือบหมด
และเป็นคนที่ไม่แน่ใจในตัวตนของเขาในจักรวาลนี้

ถึงแม้จะเป็น “นักบินที่บ้าระห่ำ” โดยเขารับหน้าที่เป็น “ช่างซ่อมเครื่องบิน” ไร้นักบินคนสุดท้ายที่ประจำการอยู่บนโลก
แต่แจ็ครู้สึกสงสัยในผู้บังคับบัญชาและรู้สึกสนใจใคร่รู้ในการปกป้องโลกที่เขาเคยรู้จัก
เมื่อสาวสวยแปลกหน้าเกิดยานอวกาศตกลงตรงหน้าเขา และส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยเชื่อถือ

แจ็ค ได้ตื่นขึ้นรับรู้ข้อเท็จจริงที่สั่นสะเทือนความเป็นจริงที่เขาต้องยอมรับหรือปฏิเสธ
สุดท้าย เขาได้กลายเป็นผู้นำของผู้คนที่ยังอาศัยอยู่บนโลก เป็นชายที่เดินหน้าไปด้วยเป้าหมายและชะตากรรมใหม่

มันคือความฝันของโคซินสกี้ที่จะเปลี่ยน “Oblivion” ให้กลายเป็นบทหนัง แต่จังหวะเวลาดูจะยังไม่ลงตัว
อย่างไรก็ดี ความล่าช้านั้นกลับกลายเป็นผลดีเมื่อโคซินสกี้ได้พบกับ แบร์รี่ ลีไวน์ และเจสซี่ เบอร์เกอร์ ผู้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เรดิคัล สตูดิโอส์ ในอีกหลายปีต่อมา

พวกเขาได้ร่วมมือกันพัฒนาเรื่องนี้จนกลายเป็นนิยายภาพที่รู้จักกันในแวดวงในฐานะ “ถังเหล็ก”
ที่เขียนโดยอาร์วิด เนลสัน, เขียนภาพประกอบโดย อันดรี และกำกับศิลป์โดย โคซินสกี้, ลีไวน์ และ เจเรมี่ เบอร์เกอร์ ผู้กำกับศิลป์ของเรดิคัล สตูดิโอส์

และนิยายภาพนี้ทำให้พวกเขาสามารถแสดงให้เหล่านักลงทุนเห็นว่าพวกเขาอยากจะเดินหน้าสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกมาเป็นเช่นไร

โคซินสกี้ได้เผยเรื่องราวของนิยายภาพเรื่องนี้ของเขาว่า

“มันเป็นเรื่องราวแอ็กชั่นผจญภัยที่เกิดขึ้นในปี 2077 หลังจากเกิดมหาสงครามที่ทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ไร้มนุษย์อาศัย
และถูกทิ้งให้เหลือแต่ซาก เรื่องราวเกิดขึ้นกับตัวแจ็ค ช่างซ่อมเครื่องบินไร้คนขับที่เป็นส่วนสำคัญของภารกิจใหญ่ โดยที่แจ็คไม่รู้ตัว
ความลึกลับกำลังจะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ไขไปสู่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ของมนุษยชาติ”

สิ่งที่ผู้กำกับโคซินสกี้เน้นย้ำก็คือความตรงไปตรงมาของเรื่องนี้ เขากล่าวว่า
“มีความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ใส่ใจความจริง และปิดหูปิดตาตัวเอง กับคนที่ตัดสินใจที่จะเดินหน้าไปกับความจริง
ไม่ว่าการเผชิญหน้ากับความจริงนั้นจะยากเย็นสักเพียงใด”

เขายอมรับว่าเรื่องราวแนวไซไฟเรื่องนี้คือเรื่องที่เขามีความสนใจจะบอกเล่ามานานแล้ว
ขณะที่เติบโตมา เขาเคยหลงใหลในภาพยนตร์อย่าง The Omega Man, Blade Runner และ 2001: A Space Odyssey
รวมไปถึงหนังสืออย่าง “Hyperion” และรายการทางทีวีอย่าง The Twilight Zone

ผู้ชายคนนี้ยอมรับว่าเขารักการผสมผสานระหว่างฉากหลังที่ดูดิบเถื่อน
ซึ่งขัดแย้งกับสไตล์ภาพที่เป็นเทคโนโลยีของโลกอนาคตที่เกิดจากจินตนาการ

โคซินสกี้กล่าวว่า

“ผมชอบงานศิลปะแนวไซไฟจากยุค 70 ของ คริส ฟอสส์, ปีเตอร์ เอลสัน และคริส มัวร์ มาก
ผมรู้ดีว่าด้วยเทคโนโลยีด้านวิชวลเอฟเฟกท์ที่ก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน ผมสามารถที่จะผสมผสานงานภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิก
และวิวทิวทัศน์ของจริงเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ และสร้างงานที่โดดเด่นขึ้นได้”

ลีไวน์ และ เบอร์เกอร์ ได้รับแรงบันดาลใจจากจินตนาการของผู้กำกับหนุ่มผู้นี้ ลีไวน์เล่าถึงปฏิกิริยาแรกที่เขามีต่อเรื่องนี้ว่า
“ตอนที่ผมได้อ่านเรื่องราวของโจ ผมพบว่ามันดึงดูดความสนใจ ไม่เหมือนใคร และเป็นแรงกระตุ้นของธรรมชาติของมนุษย์และตัวละคร Oblivion
คือเรื่องราวผจญภัยแอ็กชั่นเรื่องเยี่ยม แต่โดยหัวใจของมันก็คือตัวละครที่คุณเอาใจช่วยและนั่นก็คือสิ่งที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ดีได้”

นิยายภาพเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นวัตถุตั้งต้นให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนๆ
ที่งาน Comic-Con International ในซานดิเอโก้ ปี 2010 ซึ่งตอนนั้นโคซินสกี้ได้นำภาพฟุตเตจของภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy ไปนำเสนอ
อันที่จริงแล้ว เรดิคัล สตูดิโอได้แจกหนังสือนิยายภาพเรื่องนี้จำนวน 30,000 เล่มที่งาน ลีไวน์เล่าว่า

“มีคนพันคนมาต่อแถวที่งานคอมิค-คอน เพื่อรอให้โจเซ็นลายเซ็นลงบนหนังสือ Oblivion ในระหว่างที่สร้างเรื่องไปนั้น
เราได้สร้างโลโก้และภาพวาดประกอบที่ได้รับการตอบสนองมาตั้งแต่แรกเริ่ม มันคือชัยชนะที่จะได้ก้าวไปข้างหน้าและทำให้เรื่องนี้กลายเป็นบทภาพยนตร์
มันคือการนำเสนอเรื่องราวไฮคอนเซ็ปต์เข้ากับผลงานสร้างชั้นเลิศ ไม่มีใครเคยเห็นแบบนี้มาก่อน”

ที่เขาพูดอาจจะโม้หรือไม่โม้ วิธีพิสูจน์คำพูดคนทุกแวดวงนั้นมีอยู่ง่ายๆ คือไปดูหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยตัวเอง


=======================================================================
ที่มา นสพ.คม-ชัด-ลึก ฉบับวันที่ 12 เม.ย. 2556



Create Date : 13 เมษายน 2556
Last Update : 13 เมษายน 2556 14:28:20 น.
Counter : 868 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
MY VIP Friend