Krugman นักเศรษฐศาสตร์ผู้ฮื้อฉาว
Krugman นักเศรษฐศาสตร์ผู้ฮื้อฉาว
อาหารสมอง วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1285
หนังสือแปลผลงานเขียนของ Paul Krugman แปลโดยศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน ชื่อ "เศรษฐวิบัติ" มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในโลก krugman อธิบายระบบเศรษฐกิจ โดยเทียบตัวอย่าง the Great Capitol Hill Baby-sitting Co-op Crisis หมู่บ้านที่ใช้คูปองแลกเปลี่ยนกันทำงานรับเลี้ยงเด็ก มาเทียบเคียงกับทฤษฎีการเงิน ให้เห็นภาพง่ายๆ ความล้มเหลวของระบบคูปองเกิดขึ้นได้อย่างไร เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไง ลองหามาอ่านกันนะครับ (งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีถึง 6 เมษายน 2548 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิต์ครับ - - - อีกเล่มหนึ่งที่แนะนำคือของ คุณนงนุช สิงหเดชะ เรื่อง "ลื่นไม่เท่า ไล่ไม่ทันทักษิณ" ซึ่งเป็นของสำนักพิมพ์มติชนเหมือนกันครับ)

เมื่อตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียใน ศ.ศ.1997 ชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกคนหนึ่งเป็นผู้ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในภูมิภาคนี้ ในปัจจุบันความดังของเขาก็ยังไม่ลดลง แต่กลับดังยิ่งขึ้นเพราะมีผู้ชื่นชมมากมายเท่าๆ กับที่มีคนเกลียดชัง ในบรรดาผู้คนที่ชังเขานั้นมาจากทั้งฝ่ายขวาและซ้ายและจากทุกพรรคการเมือง แต่ไม่ว่าจะชอบหรือชังก็ต้องทนอ่านสิ่งที่เขาเขียน ทำไมเขาจึงมีอิทธิพลมากขนาดนี้ในอเมริกา ลองติดตามต่อไปครับ

นักเศรษฐศาสตร์ผู้กำลังคอยรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ผู้นี้คือ Paul Krugman ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ผู้มีวัย 52 ปี (เกิด 1953) เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวยิวชั้นกลางที่พ่อทำงานบริษัทประกัน เขาเติบโตในชานเมืองนิวยอร์ก เรียนจบปริญญาตรีจาก Yale และจบปริญญาเอกจาก MIT และสอนหนังสืออยู่เป็นเวลานานก่อนที่จะย้ายมาอยู่ Princeton

สื่อเรียกเขาว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้อื้อฉาวที่สุดในอเมริกาอย่างมีที่มาที่ไป ในช่วงแรกของชีวิตตั้งแต่ 1977 จนถึงกลางทศวรรษ 1990 เขาใช้ชีวิตนักวิชาการอย่างเต็มที่ แต่หลังจากนั้นมาเขากลายร่างเป็นนักเขียนคอลัมน์ และบทความที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ชนิด "ไม่ต้องแบกบันได" มาอ่านอย่างเผ็ดร้อน และอย่างได้รับความนิยมยิ่ง

Krugman ได้สร้างผลงานวิชาการที่สำคัญในด้านการค้า และการเงินระหว่างประเทศ จนเกิดการมองวิชาการด้านนี้ใหม่อย่างที่ไม่เคยมีการมองมาก่อน เขาเขียนบทความวิชาการชิ้นดังๆ หลายชิ้นพร้อมกับตำราอย่างได้รับการยอมรับจากวงการเศรษฐศาสตร์โลก

แต่ไหนแต่ไรนักเศรษฐศาสตร์ใช้กฎ comparative advantage (ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการอธิบาย การเกิดขึ้นของการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ ถ้าประเทศหนึ่งร่ำรวยทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหนึ่ง จนสามารถผลิตได้ถูกกว่าอีกประเทศหนึ่งโดยเปรียบเทียบก็จะผลิตสินค้านั้น และทำการค้าแลกเปลี่ยน กับอีกประเทศหนึ่งที่มีข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบในสินค้าอีกชนิดหนึ่ง และทั้งสองประเทศก็จะได้ประโยชน์) ในการอธิบายการเกิดการค้าระหว่างประเทศ

Krugman อธิบายว่าการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง ในแต่ละประเทศมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำ และแตกต่างกันในแต่ละประเทศ (ซึ่งไม่ใช่ของใหม่เพราะมีการพูดกันมานมนานแล้ว) แต่ยังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดสามารถนำเอา concepts ทั้งสองมาอธิบายการเกิดของการค้าระหว่างประเทศและผลพวงที่เกิดตามมาตลอดจนนโยบายได้อย่างเป็นตรรกะชัดเจน มีเหตุมีผลอย่างเป็นที่ยอมรับของวงการเศรษฐศาสตร์ได้จนมาถึง Krugman

การมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน วิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความผันผวนของการค้าและการเงินระหว่างประเทศทำให้เขาได้รับรางวัลสำคัญในปี 1991 จาก American Economic Association คือ John Bates Clark Medal ซึ่งให้แก่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีผลงานวิชาการยอดเยี่ยม

จากสถิติที่ผ่านมากว่าร้อยละ 40 ของผู้ได้รับรางวัลนี้จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในเวลาประมาณ 20 ปีต่อมา ผู้ได้รับรางวัลนี้คนแรกในปี 1947 คือ Paul Samuelson ตามมาด้วย Kenneth Boulding Milton Friedman, James Tobin, Lawrence Klein, Robert Solow, Garry Becker ฯลฯ เรียกว่าระดับเฮพวี่เวตของนักเศรษฐศาสตร์โลกทั้งสิ้น (รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ถูกครอบงำโดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันมาโดยตลอด)

ความดังในทางวิชาการเช่นนี้ทำให้เขาได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของ Council of Economic Advisors ของประธานาธิบดีเรแกน ในปี 1982 ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก และเขาเกือบได้รับเลือกให้เป็น Chairman of Economic Advisors ของประธานาธิบดีคลินตันใน ค.ศ.1992

จากประสบการณ์ที่เขาได้รับมาทำให้เขาเห็นว่าประชาชนขาดความรู้ และขาดตรรกะในการเข้าใจลึกซึ้ง ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และสังคมที่เหล่านักการเมือง ที่ปรึกษา ผู้ทำงาน รอบข้างนักการเมือง สื่อที่มาจากหลากหลายสาขา ตลอดจนข้าราชการที่ไม่รู้จริง โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐศาสตร์ช่วยกันเขียนขึ้นและมาบังคับใช้กับประชาชน

Krugman เห็นว่านโยบายเหล่านี้จำนวนมากขาดความถูกต้องทางวิชาการ ถูกบิดเบือนอย่างจงใจด้วยข้อมูล และด้วยตรรกะที่ผิดเพี้ยนเพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือความเชื่อส่วนตัว เขาชังคนเหล่านี้เพราะทำลายสังคม เขาเรียกคนเหล่านี้ว่า Policy Entrepreneurs (ผู้ประกอบการนโยบาย)

ในตอนท้ายทศวรรษ 1980 ข้อเขียนของเขาเริ่มมีความเป็นเทคนิคน้อยลงและนับแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาข้อเขียนของเขา เป็นการอธิบายให้เห็นข้อบกพร่องทางตรรกะ หรือวิชาการที่คนเหล่านี้พยายามสร้างขึ้น อย่างไม่ยั้งมือ และไม่กลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิเอ่ยชื่อคนทุกระดับที่ทำสิ่งนี้ หรือเพื่อนนักวิชาการ ที่เสนอแนะสิ่งที่เขาคิดว่าผิดต่อสาธารณชน

ความกล้าเขียนในเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีคนเขียนถึง โดยเฉพาะความสามารถในการเขียนประเด็นเศรษฐศาสตร์ ที่ซับซ้อนให้คนมีการศึกษาเข้าใจได้ในไม่กี่ประโยค ทำให้ข้อเขียนของเขาเป็นที่กล่าวขวัญ เขาเขียนลงในนิตยสารดังๆ มากมายในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเขาเป็นคอลัมน์นิตยสารประจำของหนังสือพิมพ์ New York Times อันทรงพลังโดยเขียนอาทิตย์ละ 2 ครั้ง

เขาเป็น "ขาประจำ" ที่เสียงดังที่สุดของประธานาธิบดี Bush เขาเชื่อว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Bush จะนำไปสู่การถ่างออกยิ่งขึ้นของความมั่งคั่งระหว่างคนรวยและคนจน สนับสนุนการหาประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ และการเพิ่มขึ้นของ Crony Capitalism (ระบบทุนนิยมที่ส่งเสริมพรรคพวกให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น)

ศัตรูเขาจึงมีหมดในทุกวงการ ตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการในวอชิงตัน นักเขียนคอลัมน์ดังๆ คนอื่น นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ ฯลฯ แต่ไม่ว่าผู้คนพยายามเอาแว่นตาส่องหา "โครงกระดูกในตู้" ของเขาอย่างไรก็ยังไม่เจอ ดังนั้น จึงต้องทนปวดใจกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้ไม่ธรรมดาคนนี้

Krugman ไม่เพียงแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ "Different" เพราะความสามารถในการเป็นนักเขียน Popular Economics เท่านั้น หากยังเป็น "First" ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ

และแถมยังเป็น "Best" คนหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อีกด้วย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เครื่องเคียงอาหารสมอง

เมื่อเร็วๆ นี้ศาลอเมริกันได้พิพากษาว่า CEO ของ World Com คือ Bernard Ebbers มีความผิดในการฉ้อฉลบริษัทของตนเอง จนมีโทษติดคุกได้ถึง 85 ปี

Ebbers ปัจจุบันอยู่ในวัย 63 ปี ในอดีตเคยเป็นพนักงานส่งนมตามบ้าน ถูกกล่าวหาว่าเล่นกลทางบัญชีเงิน 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ (430,000 ล้านบาท) โดยร่วมมือกับลูกน้องทำเอกสารปลอมยื่นให้ผู้ตรวจสอบทางการ จนในที่สุดบริษัทล้มละลาย

Ebbers เปลี่ยนบริษัทโทรศัพท์ทางไกลเล็กๆ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา เมื่อธุรกิจโทรคมนาคมเลวร้ายลงและฟองสบู่ dot com แตกในปลายปี 2000 นักบัญชีของ World Com ก็เริ่มทำบัญชีปลอมเพื่อให้สาธารณชนเชื่อว่ามีกำไรตามเป้า

การล้มของ CEO ในลักษณะนี้พอเห็นภาพว่าวันหนึ่งต้องถึงจุดจบจนได้ แต่กรณีการล้มของ CEO ของ Boeing ที่ชื่อ Stonecipher นั้นน่าสนใจกว่า เขาเคยเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จของ Boeing มาก่อน เมื่อ Boeing มีหลายกรณีที่ฮื้อฉาวเขาก็ถูกเชิญให้กลับมาเป็น CEO อีกครั้งเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของบริษัท เขาอยู่ได้ 15 เดือนก็ถูกบังคับให้ลาออกเพราะเรื่องชู้สาว

Stonecipher มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้บริหารระดับสูงวัย 45 ปีคนหนึ่งของบริษัท แต่เรื่องเช่นนี้ในบริษัทใหญ่ของอเมริกา ถือกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดไม่มีฝ่ายใดโวยขึ้นมาจนเป็นข่าว เรื่องเกิดขึ้นจากอี-เมลที่ Stonecipher เขียนถึงเธอบรรยายถึงความรักและเรื่องเซ็กซ์อย่างโจ๋งครึ่มเกิดหลุดไปอยู่ในมือลูกน้อง และส่งผ่านไปยังบอร์ด

บอร์ดเห็นว่าเป็นเรื่องของการมีวิจารณญาณที่บกพร่อง ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง และเป็นการเสื่อมเสียต่อบริษัทจึงถูกบังคับให้ลาออก

นี่คือเหตุผลที่บริษัทประกาศแก่สาธารณชน เหตุผลจริงก็ถือว่ากันว่ายังมีอี-เมลมากฉบับกว่านี้ที่ไม่รู้ว่าจะถูกเปิดเผยขึ้นอีกเมื่อใด จึงต้องรีบให้ออกเสียก่อน

ไม่รู้เหมือนกันว่า CEO ของบริษัท Boeing ที่ใหญ่โต มีเวลาว่างมากจนสามารถนั่งเขียนจดหมายรักหลายฉบับระหว่างคนอายุ 65 กับ 45 ปีได้

ไม่ยักรู้ว่าหนุ่มวัยแรกแย้ม (ฝาโลง) บางคนความรักมันจะรุ่มร้อนขนาดนี้

น้ำจิ้มอาหารสมอง

Not to know is bad; not to wish to know is worse. (สุภาษิตแอฟริกา)

ไม่ได้รู้ก็เลวร้ายพออยู่แล้ว แต่ไม่ปรารถนาที่จะรู้นั้นยิ่งเลวร้ายกว่า

//www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q2/article2005april01p8.htm




Create Date : 05 ธันวาคม 2550
Last Update : 5 ธันวาคม 2550 22:26:52 น.
Counter : 1186 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend