ว่าด้วยเรื่องรสนิยม
ว่าด้วยเรื่องรสนิยม

คนบางกลุ่มเชื่อว่า ดนตรี-ศิลปะ คือเครื่องบ่งรสนิยมที่ค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์

แต่คงเช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดอื่นๆ นับวันรัศมีความขรึมขลังก็ยิ่งถูกบดบังจากกระแสบริโภคนิยมที่ประเมินค่าทุกสิ่งอย่างแบนราบและไร้รสนิยม

สมัยก่อนเคยได้ยินแต่คอศิลปะ หรือพวกคลั่งไคล้เพลงนอกกระแส ค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นว่า 'ไร้รสนิยม' ซึ่งบางทีดิฉันเองก็อาจเคยถูกตำหนิเช่นนั้น

เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ค่ะ หากเราเข้าใจถึงพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า 'รสนิยม'

อย่าหาว่าสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำเลยนะคะ ด้วยความที่ รสนิยม เป็นภาษาสังคมชนิดหนึ่ง มันจึงไม่ได้มีความหมายแคบเท่าที่พจนานุกรมบัญญัติไว้ว่า ความพอใจ สิ่งที่เป็นความพึงพอใจ แต่มันถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยกกลุ่มของตนออกจากกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกที่มีศักดิ์สูง ไม่ต้องการปะปนกับพวกที่ถูกจัดว่า 'ต่ำชั้น'

ศิลปะต่างๆ ที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย แต่สนองความพึงพอใจหรือเจตนาทางศิลปะ เรียกแบบติสต์ๆ ว่า 'ศิลปะเพื่อศิลปะ' จึงเป็น 'ของสูง' ที่คนยากคนจนเอื้อมไม่ถึง

รู้อย่างนี้ ดิฉันจึงได้แต่ยิ้มๆ เวลาที่ได้ยินใครอวดโอ้เรื่องรสนิยมทางดนตรีและศิลปะของตัวเอง แต่อย่างที่ทราบ...เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยน ความหมายของถ้อยคำที่เป็นภาษาสังคมก็ถูกยักย้ายถ่ายเทไปด้วย สิ่งต่างๆ ที่เคยถูกกันไว้เพื่อคนบางกลุ่ม เคลื่อนย้ายไปเป็นของสาธารณะที่คนอื่นๆ สามารถหาซื้อและครอบครองได้ การบริโภคกลายเป็นกิจกรรมของมวลชน การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในการชี้นำวาทกรรมของรสนิยมที่ 'ดี' และ 'สูง' จึงเกิดขึ้น

ในที่สุดหลักเกณฑ์ในการการันตีรสนิยม จึงมีทั้งเรื่อง 'มูลค่า' และ 'คุณค่า' ผูกพันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกบุคคล และนานวันเข้าก็ยิ่งไม่มีกฎเกณฑ์

มาตรวัดง่ายๆ ของความมีรสนิยมที่คนยุคนี้อ้างอิงกันราวกับเป็นการปลดแอก 'รสนิยมสาธารณ์' เห็นจะไม่พ้น 'แบรนด์เนม' ที่พ่วงมาพร้อมกับคำโฆษณาสวยหรู

ถ้าคนซื้อยอมจ่ายแพงกว่า เพื่ออุปถัมภ์ผู้ออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน หรือต่อยอดวงการแฟชั่น ดิฉันก็จะถือว่าเป็นความเคารพในน้ำพักน้ำแรงของคนทำงาน แต่มองไปมองมา ดิฉันว่าในบางด้านมันออกจะสะท้อนความอ่อนแอ(ทางจิตใจ)ของคนยุคนี้ ที่อาศัย 'ยี่ห้อ' เป็นคัมภีร์ใหม่ ใช้คำว่า 'รสนิยม' เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวมากกว่า

จริงอยู่ค่ะที่ 'ข้าวของเครื่องใช้' ไม่ได้มีคุณค่าด้อยไปกว่า 'งานศิลปะ' รวมถึงผู้ที่คิดและผลิตมันขึ้นมา แต่การจ่ายแพงกว่าหลายร้อยเท่าจากต้นทุนการผลิต(จริง) เพื่อแลกกับภาพลักษณ์และการดูดีมีรสนิยม นั่นต่างหากที่ 'ไร้รสนิยม'

หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องตรงตามความหมาย คงต้องเรียกว่า 'ไร้สติ'

credit : ชุติมา ซุ้นเจริญ



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2551 14:11:20 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend