เชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บัง

เชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บัง เป็นนายเรือโทชาวฝรั่งเศสที่ เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ฟอร์บังได้เดินทางเข้ามากับคณะทูตฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงแต่งตั้งคณะทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ ในคณะทูตครั้งนั้นมีเชวาลิเอร์ เดอะ โชมองต์เป็นราชทูต เมื่อคณะทูตจะกลับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ตรัสขอให้ฟอร์บังอยู่ต่อเพื่อรับราชการ โดยตอนหลังฟอร์บังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ออกพระศักดิสงคราม"



ฟอร์บัง


รูปปั้นฟอร์ับังคะ เท่เชียว




จากบันทึกของฟอร์บัง ทำให้เราได้ทราบสภาพสังคมของอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ การเข้าเฝ้า รวมถึงพระราชพิธีต่างๆเช่นพิธีไล่น้ำ พิธีพระราชทานศักดิ์ รวมทั้งขุนนางที่สำคัญโดยเฉพาะออกญาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนตินฟอลคอน ผู้ที่ฟอร์บังได้กล่าวว่าเป็นอริกับตน แม้ฟอร์บังจะเข้ามาอยุธยาเป็นระยะเวลาสั้น แต่จากบันทึกของเขาทำให้เราทราบอะไรหลายๆอย่างของอยุธยามากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาที่เขามาก็คือ กบฎมักกะสัน ที่สร้างความเสียหายให้แก่บางกอก และเป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน



ฟอร์บัง


จากบันทึกจดหมายเหตุฟอร์บัง ทำให้เราได้เห็นขนบธรรมเนียมพิธีการต่างๆ ในสมัยอยุธยาดังนี้


๑.๑ การต้องรับคณะทูตจากต่างแดน
ในบันทึกจดหมายเหตุฟอร์บัง ทำให้เราได้เห็นพิธีการ ต้อนรับคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส อย่างยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอยุธยา แสดงให้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยา ให้ความสำคัญกับการต้อนรับคณะทูตอย่างยิ่ง สังเกตได้จากข้อความที่ฟอร์บังได้บันทึกไว้ ว่าการเตรียมรับรองให้ท่านทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินนั้น ต้องใช้เวลาถึง ๑๕ วัน ซึ่งขนบธรรมเนียมในการต้อนรับคณะทูตมีดังต่อไปนี้ คือ อยุธยาจะสร้างศาลาที่พักไว้ให้ ตามริมฝั่งแม่น้ำห่างๆ กันตลอดระยะทางที่เรือล่องไป ซึ่งตลอดทางก็จะมี
ขุนนางข้าราชการของกรุงศรีอยุธยาออกมาต้อนรับท่านราชทูต เมื่อไปถึงอยุธยาก็ได้จัดเตรียมศาลาที่พักขนาดใหญ่ไว้ให้เป็นที่พักสำหรับท่านราชทูต ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยจนถึงวันที่เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ในขณะที่รอคอยอยู่นั้น ก็จะมีขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายต่างแวะมาเยี่ยมเยียนท่านราชทูต
จากบันทึกของฟอร์บังได้กล่าวถึงความเห็นที่แตกต่างกันของขนบธรรมเนียมในการเข้าเฝ้าในการที่จะเชิญพระราชสาสน์ขึ้นถวายต่อพระเจ้าแผ่นดิน ท่านราชทูตมีความประสงค์ที่จะเชิญพระราชสาสน์เข้าไปถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่ไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับขนบธรรมเนียมของอยุธยาที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด เวลาเสด็จออกต้องประทับเหนือคนทั้งปวงที่อยู่หน้าที่นั่ง และเสด็จออกให้เฝ้าที่สีหบัญชร ในที่สุดจึงได้มีการตกลงกันว่าจะประดิษฐานพระราชสาสน์ไว้บนพานทอง ต้องมีคันทำด้วยทอง ยาวประมาณสองศอกเศษ ท่านราชทูตจะค้ำหรือทูนพานพระราชสาสน์ขึ้นไปถึงที่ประทับ ณ สีหบัญชร จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นแนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ในสมัยอยุธยาที่มีความศักดิสิทธิ์ มีความพิเศษมากกว่ามนุษย์ทั่วๆ ไป เปรียบสมติเทพที่อยู่เหนือและสูงกว่าประชากรทั้งปวง
เมื่อถึงกำหนดวันเข้าเฝ้าบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ลงเรือกัญญามาที่ศาลาที่พักของท่านราชทูต มีเรือพระที่นั่งและเรือราชการแผ่นดินนำหน้ามา เมื่อขุนนางมาถึงก็ทำความเคารพท่านราชทูตแล้วก็กลับลงเรือกัญญา ในการเดินทางนำพระราชสาสน์ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นไปด้วยความยิ่งใหญ่ มีเรือนำพระราชสาสน์นำหน้าเรือของท่านราชทูต มีการบรรเลงดนตรี เสียงปี่ เสียงกลองดังสนั่นหวั่นไหวตลอดทาง มีคนมาชมขบวนแห่เต็มสองข้างทาง
หลังจากที่ขบวนแห่จอดที่ท่าท่านทูตก็ขึ้นเสลี่ยงกำมะหยี่สีแดงพนักทองไปยังวัง ส่วนข้าราชการชาวฝรั่งเศสที่เหลือก็ขี่ม้าตามเสลี่ยงไป เมื่อถึงลานพระที่นั่งที่เสด็จออกขุนนางซึ่งเป็นรูปยาวสี่เหลี่ยม มีอัฒจันทร์ขึ้นไปเจ็ดหรือแปดขั้น ท่านราชทูตนั่งบนเก้าอี้ ส่วนขุนนางฝรั่งเศสแลขุนนางไทยนั่งลงบนพรมโดยขุนนางไทยจะนั่งเรียงตามตำแหน่งยศฐานันดรศักดิ์ หลังจากนั้นก็มีเสียงกลองใหญ่ดังขึ้นหนึ่งที บรรดาขุนนางไทยก็หมอบลง เสียงกลองยังดังขึ้นอีกหลายที จนกระทั่งครั้งที่หก พระนารายณ์ก็เสด็จออก ณ พระสีหบัญชร เมื่อครั้นถึงเวลาที่ท่านทูตถวายพระราชสาสน์ ท่านทูตไม่ได้ใช้คันทองที่จะทูนพานแต่ถวายพะราชสาสน์ต่อพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์ หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็ได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับท่านราชทูต ว่า พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงพระราชสำราญดีอยู่หรือ พระราชวงศ์ทรงมีความสุขสบายดีอยู่หรือ และประเทศฝรั่งเศสมีความวัฒนาถาวรเพียงใด หลังจากนั้นก็มีเสียงกลองดังขึ้นหนึ่งครั้ง พระนารายณ์เสด็จเข้าข้างใน ขุนนางไทยลุกขึ้นนั่ง
นับว่าเสร็จสิ้นพิธีถวายสาสน์ ฟอร์บังยังได้กล่าวไว้อีกว่าการเข้าเฝ้ากษัตริย์ในแต่ละครั้งนั้นน่าเบื่อเพราะต้องมีพิธีรีตรองเยอะมาก
จากพิธีถวายสาสน์ทำให้เราได้เห็นค่านิยมความเชื่อของคนไทยที่มีต่อกษัตริย์ว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือคนทั้งปวงไม่มีใครอาจเทียบได้ เป็นเสมือนกับเทพเจ้า เห็นได้จากการที่พระนารายณ์ทรงนั่งอยู่บนที่ประทับที่อยู่สูงกว่าคนทั่วไป อีกกรณีคือการที่ข้าราชการขุนนางไทยกับขุนนางฝรั่งเศสต่างขัดแย้งกันในเรื่องที่จะถวายสาสน์ โดยราชทูตจากฝรั่งเศสต้องการที่จะถวายสาสน์ต่อพระหัตถ์พระนารายณ์แต่ขุนนางอยุธยากลับปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องที่ผิดจารีตประเพณี อีกเหตุการณ์ที่สนับสนุนความคิดนี้ คือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ประชวรอย่างหนัก แพทย์มีความเห็นให้เจาะเลือดเอาพระโลหิตออกแต่ไม่สามารถทำได้เพราะความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นเสมือนสมมติเทพที่ใครมิอาจล่วงละเมิดได้


๑.๒ พิธีไล่เรือ
พิธีไล่เรือซึ่ง (ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่าพิธีไล่น้ำ) เป็นพิธีที่มีความยิ่งใหญ่มากจัดขึ้นทุกปี เนื่องจากอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีน้ำท่วมทุกปี เมื่อเห็นว่าน้ำใกล้ลดแล้วพระนารายณ์ก็จะเสด็จมาทำพิธีไล่น้ำ โดยนั่งอยู่ตรงกลางเรืออันวิจิตรงดงาม มีขุนนางใหญ่น้อยตามเสด็จเป็นจำนวนมาก เมื่อ
เรือลอยไปถึง ณ ตำบลหนึ่งพระนารายณ์ก็จะชักพระแสงออกมาฟันน้ำแล้วดำรัสให้น้ำลดลง
นอกจากนี้จดหมายเหตุฟอร์บังยังทำให้เราได้รู้จักพิธีแข่งเรือ ที่แข่งกันในเดือนสิบเอ็ด ซึ่งฝีพายต่างประชันฝีมือกันอย่างสนุกสนาน ผู้ชนะได้รับพระราชทานรางวัลจากพระนารายณ์
พิธีไล่เรือเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เป็นพิธีที่รัฐทำให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำนาปลูกข้าว แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ ทรงให้ความสำคัญกับประชาชนภายในอาณาจักร ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรม เห็นได้จาก การที่พระนารายณ์เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้ทำพิธีนี้ด้วยพระองค์เอง และพิธีนี้จะกระทำขึ้นทุกปี


๑.๓ พิธีพระราชทานศักดิ์
จากจดหมายเหตุฟอร์บังทำให้เราได้เห็นพิธีพระราชทานศักดิ์ เมื่อครั้งที่ฟอร์บังได้ยศตำแหน่งเป็นออกพระศักดิสงคราม โดยมีพิธีดังนี้ คือ ขุนนางมารับฟอร์บังไปเข้าเฝ้าในพระราชวัง เมื่อเดินไปห่างจาสีหบัญชรประมาณ สี่สิบวาจึงหมอบลงราบกับพื้นถวายความเคารพครั้งหนึ่ง ก่อนคลานศอกและเข่าไปห่างจากที่ประทับประมาณยี่สิบวา จะมีเจ้าพนักงานคู่หนึ่งคลานศอกและนำหน้าไป เมื่อไปถึงที่ที่กำหนดไว้ก็คุกเข่ามือพนมขึ้นเหนือศีรษะ แล้วก้มศีรษะลงราบกับพื้นถวายบังคมเป็นครั้งที่สอง พอใกล้พระสีหบัญชรก็ถวายบังคมเป็นครั้งที่สาม เสร็จแล้วพระนารายณ์พระราชทานหมาก โดยมีพระราชกระแสว่า “เรารับเจ้าไว้ในราชการของเรา” ซึ่งหมากมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหมาก คือ บำเหน็จความชอบสำคัญที่กษัตริย์พึงพระราชทานแก่พสกนิกร หลังจากรับพระราชทานศักดิ์แล้วก็ทำเช่นเดียวกับตอนแรก คือ ค่อยๆ คลานเข่าและศอกออกมา และถวายบังคมสามครั้ง ตาจ้องไปที่สีหบัญชร เมื่อถอยออกมาแล้วสมุหพระราชพิธีจะมอบหีบกับตลับและกล่องทาสีแดงให้ไว้สำหรับบรรจุหมาก หลังจากนั้นขุนนางที่ไปรับที่บ้านก็จะพนมมือที่หน้าอกแล้วก้มศีรษะลงอวยพรตามประเพณี แล้วพาไปส่งที่บ้าน
จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่มีอำนาจที่สุดในแผ่นดิน สามารถแต่งตั้งให้ใครดำรงตำแหน่งอะไรก็ได้ และสามารถถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งก็ได้เช่นกัน


๒.สภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของในสมัยอยุธยา


จดหมายเหตุฟอร์บังได้บรรยายภาพอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาไว้ว่าเป็นอาณาจักรที่น้ำท่วมถึง
หกเดือนในหนึ่งปี เนื่องจากพื้นดินต่ำมาก เมื่อถึงฤดูฝน ฝนก็ตกหนักมากทำให้น้ำท่วม การเดินทางในอาณาจักรนี้จึงใช้เรือเป็นหลัก ชาวบ้านขุนนางต่างเดินทางโดยใช้เรือ ซึ่งในจดหมายเหตุฟอร์บังได้กล่าวถึงเรือชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเรือกัญญา เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ทั้งต้น ขุดลงไปให้กลวง มีขนาดแคบมาก ลำเรือยาวไม่มาก ลำที่กว้างที่สุดไม่เกินสองศอกครึ่งถึงสามศอก ลำเรือยาวมาก เรือกัญญาบางลำมีลวดลายสวยงาม โดยมากจะเป็นรูปสัตว์
นอกจากนี้ฟอร์บังยังได้บรรยายถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในอาณาจักรอยุธยา โดยเล่าว่า
พระบรมหาราชวังมีความกว้างขวางมาก มีตึกที่ก่อด้วยอิฐด้วยซึ่งเป็นตึกที่สวยงามที่สุดในอาณาจักร ส่วนสภาพบ้านเรือนในสมัยนั้นส่วนใหญ่ปลูกด้วยไม้ มีแต่เรือนฝากระดาน แต่บ้านพวกแขกมอร์และจีนนั้นก่อสร้างโดยใช้อิฐซึ่งมีประมาณ ๒๐๐ หลังคาเรือน ส่วนกุฏิของสงฆ์นั้นทำด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกับบ้านเรือนทั่วๆไปในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
จากจดหมายเหตุของฟอร์บังยังทำให้เราทราบลักษณะการแต่งกายของพระนารายณ์เมื่อเวลาออกว่าราชการ พระองค์สวมพระมาลายอดแหลม มีสายรัดทำด้วยไหมทรงฉลองพระองค์เยียรบับสีเพลิงสลับทอง สอดพระแสงกริชไว้ที่รัดพัสตร์อันวิจิตรงดงาม ทรงธำมรงค์อันมีค่าทุกนิ้วพระหัตถ์ ฟอร์บังได้บรรยายให้เห็นถึงรูปร่างของพระนารายณ์ที่บอบบาง ไม่ทรงไว้พระทาฐิกะ (หนวด เครา) ที่เบื้องซ้าย อายุราวๆ ๕๐ พรรษา ที่เบื้องซ้ายมีพระหนุ(คาง)มีพระคินถิม เม็ดใหญ่ นอกจากนี้ฟอร์บังยังบรรยายถึงการแต่งกายของขุนนางไทยในสมัยก่อนเมื่อเข้าเฝ้าในพิธีสำคัญ เช่น ต้อนรับคณะทูต จะนุ่งผ้าพื้นคลุมตั้งแต่เอวลงไปครึ่งน่อง ใส่เสื้อมัสลินแขนสั้น


วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุฟอร์บัง


จดหมายเหตุฟอร์บังเป็นเอกสารชาวต่างชาติ ที่ทำให้เราได้ทราบประวัติของอยุธยามากขึ้นทั้งเรื่อง การเมืองการปกครองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สภาพสังคม ตลอดจนวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ในสมัยนั้น
จากการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของเอกสารจดหมายเหตุฟอร์บัง พบว่าจดหมายเหตุฟอร์บัง เป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งเนื่องจากเหตุผลดังนี้ คือ
๑. ความน่าเชื่อถือของเอกสารนี้เกิดจากตัวผู้เขียน คือ ฟอร์บัง ในช่วงคำนำ
ฟอร์บังได้ได้บรรยายให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของเขาที่เป็นคนจริง ไม่ชอบโกหก อีกทั้งยังได้กล่าวในคำนำว่า เขาจะเล่าเรื่องราวทั้งหมดด้วยความสัตย์จริง โดยเขาได้พยายามบรรยาย ให้ผู้อ่านได้รับทราบเรื่องจริงทั้งหมดอย่างไม่ปิดบัง โดยเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา เห็นได้จากเขาไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเฉพาะด้านดีของเขาเท่านั้น แต่เขายังได้กล่าวถึงข้อเสีย ข้อบกพร่องของตนเองเอาไว้ให้ผู้อ่านได้รับทราบอีกด้วย เห็นได้จากเขาบรรยายนิสัยของเขาไว้ตอนหนึ่งว่าเป็นคนใจร้อน ว่องไว ไม่ยับยั้ง ซุกซน ทำความชั่วเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้ง อีกทั้งเขายังได้เล่าถึงเรื่องราวที่เขาได้ทะเลาะวิวาท ทำเรื่องอื้อฉาวอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้เขายังเล่าว่าเขาได้ฆ่าทหารนายหนึ่งตาย
จากลักษณะนิสัยของฟอร์บัง จึงทำให้เอกสารจดหมายเหตุฟอร์บังมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบางส่วนฟอร์บังอาจได้นำเสนอในมุมมองที่เป็นอคติได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ดังนั้นผู้ศึกษาต้องวิเคราะห์ แยกข้อเท็จจริงของเนื้อหาออกจากทัศนคติของผู้เขียน
๒. สาเหตุที่จดหมายเหตุฟอร์บังเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือ คือ ฟอร์บังซึ่งเป็นผู้เขียนเอกสาร ได้เดินทางมาอยู่ที่อยุธยาเป็นเวลานานทำให้เห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ ของอยุธยาได้ชัดเจน ตลอดจนเข้าใจถึงวิถีชีวิตและความคิดของคนอยุธยา เห็นได้จากผู้เขียนมีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีของคนอยุธยา เช่น การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ก็ต้องมีพิธีรีตอง นอกจากนี้ผู้เขียนได้เห็นสภาพแวดล้อมของอาณาจักรอยุธยาภาพรวม ทั้งภายในพระราชวังและนอกราชวัง เพราะฟอร์บังได้รับราชการเป็นทหารอยู่ในอาณาจักรอยุธยา ซึ่งตอนหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิสงคราม ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้า และตามเสด็จพระนารายณ์หลายครั้ง ตลอดจนได้มีส่วนร่วมในพิธีและเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ อีกด้วย เช่น เหตุการณ์กบฏมักกะสัน ซึ่งฟอร์บังทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการเมืองบางกอก ปราบปรามพวกกบฎมักกะสัน




จบแล้วคะเหนื่อยเลย ฮ่าๆๆๆ








 

Create Date : 21 ตุลาคม 2552    
Last Update : 25 ตุลาคม 2552 21:18:33 น.
Counter : 2555 Pageviews.  

การขึ้นครองราชย์ของพระเพทราชา

พระเพทราชาต้นราชวงค์บ้านพลูหลวง ที่หลายๆคนรู้ว่า ท่านช่วงชิงพระราชบัลลังก์มาจากพระนารายร์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง จากการทำวิจัยส่งเื่มื่อปลายเทอมที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกภายใน ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ จนเกิดการเปลี่ยนราชวงศ์ครั้งนี้
ต่อไปนี้คือเนื้อหาการวิจัยของบิ๊วคะ



การเมืองในปลายรัชกาลพระนารายณ์



การเมืองสมัยพระนารายณ์นั้น
เป็นสมัยที่ขุนนางฝ่ายปกครองถูกริดรอนอำนาจเป็นอย่างมาก
โดยสืบเนื่องมาจากสมัยพระเจ้าปราสาททอง ต้นราชวงค์ปราสาททอง
พระราชบิดาของพระนารายณ์ ที่ขึ้นครองราชย์จากการสะสมอำนาจในตำแหน่งออกญากลาโหม
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และทำการสะสมไพร่พละกำลัง
และอำนาจไต่เต้าจนสามารถ ขึ้นมาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์ปราสาททองได้
โดยหลังจากที่ครองราชย์สมบัติอยู่นั้น พระองค์ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของขุนนาง
ทำให้บทบาทของขุนนางเปลี่ยนไปอย่างมากที่สุดตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร
โดยพระองค์ทรงลดบทบาทของขุนนางลง โดยการริบทรัพย์
และแทรกแซงการแบ่งมรดกอันจะสามารถเป็นการสะสมอำนาจของขุนนางได้
นอกจากนี้ยังทรงกำจัดขุนนางในตำแหน่งสูงๆมากมายหลายคน ไม่เว้นแม้กระทั่งขุนนางที่ประจำอยู่หัวเมืองต่างๆ
ทรงลดบทบาทของเจ้าเมืองลงให้เป็นแต่เพียงราชทินนาม โดยมีชื่อเป็นเจ้าเมืองแต่เพียงในนามเท่านั้น
บทบาทจริงๆคือรับใช้พระองค์อยู่ในราชอาณาจักรทั้งนี้เพื่อป้องกันการสะสมกำลังพลจากหัวเมือง
จากนโยบายทางการเมืองของพระเจ้าปราสาทนี้เองที่มีผลต่อการเมืองในสมัยพระนารายณ์อย่างมาก


หลังจากพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์โดยการทำรัฐประหารกับพระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นเสด็จอา
แล้วก็ดำเนินนโยบายแบบเดียวกับพระราชบิดา คือลดทอนอำนาจของบิดาให้น้อยลง
เพื่อป้องกันการก่อการกบฏ
แต่พระองค์ก็ต้องเผชิญกับการก่อกบฏโดยขุนนางฝ่ายปกครองอยู่หลายครั้ง
ครั้งที่สำคัญคือ กบฏไตรภูวนาทและพระองค์ทอง ซึ่งส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากขุนนางฝ่ายปกครองที่ต้องการจะให้อนุชาต่างมารดากับพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์
แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบและถูกจำจัดลงได้
นั่นก็เพราะพระองค์ได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมชาวต่างชาติ พระองค์จึงเริ่มสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมารับตำแหน่งในตำแหน่งขุนนางผู้ชำนาญการมากขึ้น
(ที่จริงการเข้ามารับราชการของขุนนางของชาวต่างชาตินี้มีมานานแล้ว ที่โดดเด่นคือ
ออกญาเสนาภิมุขหรือยามาดะ นางามาซะที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม)
นอกจากนี้พระนารายณ์ยังให้ขุนนางเหล่านี้ มารับตำแหน่งในขุนนางฝ่ายปกครอง
เพื่อคานอำนาจกับขุนนางฝ่ายปกครองที่คิดจะวางแผนล้มพระองค์อยู่ตลอดเวลา
โดยขุนนางต่างชาติส่วนมากที่พระองค์ทรงไว้ใจและทรงให้มารับราชการได้แก่ โปรตุเกส
ฮอลันดา ฝรั่งเศส จีน และ แขกมัวร์
โดยเฉพาะแขกมัวร์ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงสมัยกลางรัชกาล ขุนนางชาวมัวร์ที่โดดเด่นได้แก่
อากอมูฮัมหมัด ที่เคยได้ รับตำแหน่งเป็นถึงเสนาบดีคลัง
ที่ดูแลประชาคมชาวต่างชาติและการค้าในมหาสมุทรอินเดีย
การผูกสัมพันธ์กับชาวต่างชาตินี้นอกจากพระองค์จะใช้ประโยชน์จากขุนนางเหล่านี้ในการคานอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครองแล้ว
พระองค์ยังได้รับประโยชน์จากจากการค้าด้วยโดยเฉพาะการค้ากับพวกมัวร์
แต่พอหลังจากการเสียชีวิตของอากอมูฮัมหมัดแล้ว
ประชาคมชาวมัวร์ก็ไม่ได้มีบทบาทมากนัก ผู้ที่มีบทบาทขึ้นมาแทนก็คือ
คอนสแตนตินฟอลคอน ฟอลคอนไต้เต้าขึ้นมาจากการที่เป็นกะลาสีเรือของเรืออังกฤษ
บทบาททางการเมืองของฟอลคอน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสาเหตุของการแย่งชิงพระราชบัลลังก์ในปลายรัชกาล
ฟอลคอนเป็นขุนนางที่ได้รับความไว้ใจจากพระนารายณ์
จากการที่
ได้รับความดีความชอบในการจับผิดพ่อค้าชาวอินเดียที่กล่าวหาว่าท้องพระคลังเป็นหนี้เขาอยู่
เมื่อลองตรวจสอบจริงๆพบว่าไม่ได้เป็นหนี้และพ่อค้ายังเป็นหนี้ท้องพระคลังอีกด้วย จากการที่ได้รับการไว้วางใจนี้ทำให้ฟอลคอนมีบทบาททางการเมืองหลายๆด้าน
ไม่ว่าจะเป็น
การแนะนำให้พระนารายณ์ผูกขาดการค้ากับชาวต่างชาติจนเป็นต้นเหตุที่ทำให้
การค้าของอยุธยาเสื่อมลงอย่างมากจนประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบ
ฟอลคอนได้สร้างความเกลียดชังให้กับประชาชนชาวสยามอย่างมาก
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พระนารายณ์ผูกสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
เพื่อคานอำนาจขุนนางและชาวต่างชาติอื่นๆ


หลังจากประชาคมมัวร์ได้แตกร้าวขึ้น
ได้สร้างความปั่นป่วนให้พระองค์อย่างมาก ช่วง ๑๖๘๐
สถานะทางการเมืองของพระองค์จึงออกจะมีอันตรายอยู่มาก พระองค์จึงต้องหาสมาคมชาวต่างชาติใหม่เพื่อมาแทนอิหร่าน
ซึ่งก็คือ ฝรั่งเศส ทรงให้การสนับสนุนและต้อนรับฝรั่งเศสอย่างเปิดเผย
มีการส่งทูตไปยังปารีสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี
และรับชาวฝรั่งเศสมารับราชการมากมายทั้งแพทย์ วิศวกร
รวมถึงเปิดรับบาทหลวงจากฝรั่งเศสให้มาเผยแพร่ศาสนาอย่างเสรี
(ซึ่งก็เป็นสิ่งที่กระทำกับบาทหลวงต่างชาติอื่นๆด้วย)
แต่ที่แตกต่างกันคือพระปฏิสันถารและสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานให้แก่ฝรั่งเศสนั้นก็ดูแตกต่างจากประชาคมต่างชาติอื่นๆทั่วๆไป
นอกจากนี้พระองค์ยังเปิดรับให้ทหารฝรั่งเศสมาตั้งสร้างป้อมปราการที่บางกอก
ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญ
การเข้ามาของพวกฝรั่งเศสนี้หาได้สร้างความพอใจให้แก่ขุนนาง รวมถึงประชาชนต่างๆไม่
โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่เคยมีเรื่องบาดหมางกับพระองค์มาก่อนแล้ว
การมีสัมพันธไมตรีกับบาทหลวงจากฝรั่งเศสอาจจะเป็นการท้าทายและดูหมื่นพระสงฆ์
นอกจากนี้ ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ามาของทหารฝรั่งเศสในบางกอก ส่วนขุนนางนั้น
การถูกลิดรอนอำนาจมาเป็นเวลานานทำให้ขุนนางคอยจ้องที่จะแย่งชิงราชบัลลังก์อยู่ตลอดเวลา
แต่การจะทำรัฐประหารและหาบุคคลผู้เหมาะสมมารับตำแหน่งกษัตริย์หาได้ทำได้ง่ายไม่
แต่มีขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งที่สามารถเตรียมการและวางแผนอย่างดีจนในที่สุดก็สามารถ
ชิงราชบัลลังก์ได้สำเร็จ ขุนนางผู้นั้นก็คือ สมเด็จพระเพทราชา นั่นเอง





บทบาทของขุนนางในสมัยพระนารายณ์



อย่างที่ทราบกันดีว่าขุนนางในสมัยพระนารายณ์นั้นถูกลิดรอนอำนาจเป็นอย่างมาก
สืบเนื่องตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยระบบขุนนางนั้นได้แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ
ขุนนางฝ่ายปกครอง และขุนนางฝ่ายชำนาญการ
ซึ่งขุนนางที่กุมอำนาจมากและส่วนมากเป็นคนสยามหรือคนพื้นเมืองที่มีรากฐานอำนาจในราชอาณาจักร
ก็คือขุนนางฝ่ายปกครอง ฉะนั้นขุนนางฝ่ายปกครองจึงถูกจับตามองด้วยความไม่ไว้ วางพระทัยและถูกลดอำนาจลง
ส่วนขุนนางฝ่ายชำนาญการนั้นส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน
เช่นการรบ วิศวกร หรือแพทย์
ซึ่งการที่ขุนนางชาวต่างชาติจะสร้างฐานอำนาจในอาณาจักรนี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา
ทำให้พระองค์ไว้วางใจขุนนางต่างชาติมากกว่าประชาชนของพระองค์เอง


ขุนนางฝ่ายปกครองนั้น
ถูกลดอำนาจโดย ยึดทรัพย์
และการเข้าไปมีบทบาททางการค้ามากขึ้นของกษัตริย์ซึ่งเดิมเป็นแหล่งหาประโยชน์ของขุนนาง
ทำให้ขุนนางเสียผลประโยชน์ลงและไม่มีอำนาจพอที่จะสามารถสะสมกำลังต่อต้านพระองค์ได้
นอกจากนี้ตำแหน่งสำคัญๆ
ก็ทรงให้มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตลอดทำให้ไม่มีขุนนางคนไหนที่จะสามารถมั่นใจในสถานะของตนได้
นอกจากนี้ตำแหน่งใหญ่ๆเช่นตำแหน่งจักรี ก็ทรงปล่อยให้ว่างเป็นเวลานาน ดังนั้นตำแหน่งของขุนนางฝ่ายปกครอง
จึงไม่สามารถมีอำนาจมากพอที่จะทำการกบฏกับพระองค์ได้ แม้กระนั้นขุนนางฝ่ายปกครองก็ทำการสนับสนุนการกบฏอยู่เรื่อยมาเช่นกบฏไตรภูวนาท
ในรัชสมัยของพระนารายณ์พระองค์จึงต้องเผชิญกับกบฏอยู่เรื่อยมา


ส่วนขุนนางฝ่ายชำนาญการ
ที่เป็นชาวต่างชาตินั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากพระนารายณ์ ซึ่งพระองค์ให้ความไว้วางพระทัยมากกว่าขุนนางไทยอย่างมาก
เพราะนอกจากความชำนาญการพิเศษแล้ว
พวกประชาคมชาวต่างชาติยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือพระองค์ในการปราบกบฏต่างๆด้วย
ทรงให้ตำแหน่งสำคัญๆให้กับขุนนางเหล่านี้ได้แก่
ตำแหน่งเสนาบดีคลังซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไว้ดูแลประชาคมต่างชาติทั้งหมด
ซึ่งพระองค์ทรงพิถีพิถันในการเลือกเป็นอย่างมาก
โดยบุคคลชาวต่างชาติที่เคยรับตำแหน่งนี้ได้แก่ อากอมูฮัมหมัดขุนนางชาวเปอร์เซีย
ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงทำการค้ากับพวกแขกมัวร์
และทรงได้รับประโยชน์มากมายจากการค้า แต่พอหลังจากประชาคมแขกมัวร์ได้แตกร้าวขึ้น
ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับพระองค์มาก
จึงต้องหาประชาคมต่างชาติที่ไว้ใจได้ขึ้นมาแทนก็คือ ฝรั่งเศส
โดยได้รับการสนับสนุนจากขุนนางกรีก อดีตกะลาสีเรือ คอนสแตนตินฟอลคอน
การเข้ามามีบทบาทของฝรั่งเศสก็ไม่ได้สร้างความปิติให้กับขุนนางผู้ใหญ่โดยเฉพาะออกพระเพทราชานัก
พระเพทราชาเป็นขุนนางที่ไม่ค่อยวางใจพวกยุโรปเท่าใดนักโดยเฉพาะคอนสแตนติน
ฟอลคอนที่ได้รับความไว้วางใจจากพระนารายณ์อยู่มากมาย
ออกพระเพทราชาเป็นขุนนางที่นับถือพุทธอย่างเคร่งครัดจึงไม่ค่อยพอใจกับนโยบายของพระนารายณ์ที่เปิดรับให้บาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนาได้อย่างเสรี
เท่าใดนัก
จึงเริ่มแผนการณ์เพื่อช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์เพื่อที่หวังไม่ให้สยามตกอยู่ในเงื้อมมือชาวต่างชาติ




ความสัมพันธ์ของพระนารายณ์กับพระสงฆ์และประชาชน



พระสงฆ์เป็นประชาคมที่มีบทบาททางการเมืองอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการก่อกบฏต่างๆ
รวมทั้งมีส่วนร่วมในการช่วยพระนารายณ์ทำรัฐประหารแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระศรีสุธรรม
ด้วย
แต่หลังจากที่พระนารายณ์ได้ขึ้นครองราชย์ความสัมพันธ์ของพระนารายณ์และพระสงฆ์ต่างเป็นไปในแง่ลบ
กล่าวคือพระสงฆ์มีบทบาทในการสนับสนุนขุนนางในการแย่งชิงอำนาจกับพระนารายณ์และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง
ทำให้พระสงฆ์เกิดความไม่พอใจและประณามพระนารายณ์
ความสัมพันธ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ
เมื่อพระนารายณ์ทรงเปิดรับบาทหลวงให้มาเผยแพร่ศาสนา
และหลังจากที่มีข่าวลือว่าพระองค์สนใจ และอยากที่จะหันมาศรัทธาคริสต์ศาสนา
ทำให้พระสงฆ์เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่ง


ส่วนประชาชนนั้น
แม้การเกิดกบฏหรือแย่งทำรัฐประหารนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน
แต่จากการเกิดการก่อกบฏ และการทำสงครามอยู่บ่อยครั้ง
ทำให้ประชาชนต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปรบ โดยที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆเลย
ทำให้ประชาชนไม่ได้มีความนับถือหรือเชื่อใจในตัวพระนารายณ์ ประกอบกับตอนปลายรัชกาลที่พระองค์ได้รับการแนะนำจากฟอลคอนให้ผูกขาดการค้ากับชาวต่างชาติ
รัฐสามารถทำกำไรได้อย่างมาก
แต่ก็ทำให้พ่อค้าชาวต่างชาติไม่พอใจและรังเกียจการมาค้าขายกับอยุธยามากขึ้น
นอกจากนี้พ่อค้าต่างชาติในประเทศก็อพยพออกไปจากอยุธยามากขึ้น
ส่งผลให้เมืองท่าอย่างตะนาวศรีทรุดโทรมลง และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าภายใน
จึงทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนจากการเสื่อโทรมทางการค้านี้
ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจในตัวพระนารายณ์และฟอลคอนมากขึ้น


สังเกตได้ว่าความสัมพันธ์ของพระนารายณ์กับพระสงฆ์และประชาชน
ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเท่าใดนัก ร่วมทั้งขุนนางฝ่ายปกครองด้วย
ทำให้พระองค์ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองอย่างโดดเดี่ยวโดยมีเพียงขุนนางชาวต่างชาติเท่านั้น
ที่ยังคงเป็นกำลังสำคัญให้กับพระองค์อยู่



การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเพทราชา



พระเพทราชาเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่สมัยสมเด็จพระนารายณ์
รับราชการในตำแหน่ง
สมุหพระคชบาลจางวางขวาในกรมพระคชบาลขวาทรงมีความความสัมพันธ์กับพระนารายณ์ด้วย
และเป็นพระสหายกันมาตั้งแต่เด็ก
ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระเพทราชาและพระนารายณ์จึงต่างจากขุนนางฝ่ายปกครองอื่นๆที่ทรงไม่ไว้วางใจ
ทรงไว้วางใจพระเพทราชามาก
และพระเพทราชาทรงมีความสัมพันธ์กับประชาชนและพระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น กล่าวคือ
ทรงมีความสัมพันธ์สนิทกับสังฆราชและแห่งเมืองละโว้
และด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์จึงเป็นที่รักของประชาชนทั่วไป


พระเพทราชาเป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
ฉะนั้นการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงชาวยุโรปจึงไม่เป็นที่พอใจของพระเพทราชานัก
โดยเฉพาะหลังจากที่พระนารายณ์ได้มีนโยบายนำทหารฝรั่งเศสเข้ามา
พระเพทราชาก็แสดงอาการไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
พระเพทราชาแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าไม่ชอบฝรั่งเศส รวมถึงหลวงสรศักดิ์โอรสบุญธรรมด้วย
พระเพทราชาทรงแสดงให้ขุนนางทั้งหลายเห็นว่า
พระองค์มีเจตนาที่จะปลดปล่อยสยามให้รอดพ้นจากเงื้อมือของฝรั่งเศส
ทำให้มีขุนนางจำนวนมากสมัครพรรคพวกร่วมด้วยกับพระองค์
นอกจากนี้ยังใช้พระสงฆ์ยุยงให้เกิดการก่อจลาจลในหัวเมือง รวมทั้งยุยงให้ประชาชนเป็นแนวร่วมในการต่อต้านฝรั่งเศสด้วย
โดยใช้นโยบาย
ปกป้องพุทธศาสนาเพื่ออาณาจักรของเรา นอกจากนี้ยังให้พราหมณ์ทำนายว่าฝรั่งเศสจะถูกขับออกจากประเทศ
ซึ่งคำพยากรณ์นี้ทำให้คนเกิดการตึงเครียดและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ง่าย
อย่างไรก็ตามแม้พระเพทราชาจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางแต่การที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ก็ไม่อาจะทำได้โดยสะดวก
เพราะขุนนางส่วนมากนั้นยังคงให้การสนับสนุนพระอนุชาของพระนารายณ์


ก่อนที่พระนารายณ์จะสวรรคตสองเดือน
พระเพทราชาได้กระทำการยึดพระราชวังอย่างเฉียบพลัน โดยอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือโดยมีพระภิกษุเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิด
หลังจากนั้นพระเพทราชาได้ออกอุบายกำจัดฟอลคอนและอนุชาทั้งสองของพระนารายณ์โดยส่งจดหมายล่อลวงมายังลพบุรีและทำการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์
ส่วนการตายของฟอลคอนนั้นโหดร้อยทารุณยิ่งกว่า


การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเพทราชานั้นแม้เป็นการขึ้นครองราชย์โดยมีประชาชนเป็นเครื่องมือสำคัญ
แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานะของประชาชนกับกษัตริย์เลยเพียงแต่อาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเท่านั้น
แต่พระองค์ทรงแตกต่างกับกษัตริย์องค์อื่นในการช่วงชิงอำนาจก็คือการใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือโดยการปลุกระดมของพระองค์
และหลังจากนี้ประชาคมชาวต่างชาติก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากทางการเมือง
และขุนนนางฝ่ายปกครองก็เริ่มสะสมอำนาจขึ้นเรื่อยๆในที่สุด



สรุป



การเมืองในปลายสมัยพระนารายณ์มีผลต่อการนำมาสู่การแย่งชิงพระราชบัลลังก์อย่างมาก
โดยเฉพาะนโยบายในการผูกสัมพันธ์กับฝรั่งเศส ซึ่งนำความไม่พอใจมาสู่ขุนนาง
พระสงฆ์และประชาชนทั่วไป


จากการที่ขุนนางถูกลิดรอนอำนาจเป็นเวลานานทำให้บทบาทในการช่วงชิงอำนาจไม่สามารถกระทำได้สำเร็จได้และล้มเหลวทุกครั้ง
แต่ก็ไม่ใช่แสดงว่าขุนนางจะย่อท้อและท้อถอย ยังคงมีการก่อการกบฏอยู่เรื่อยๆ
แต่เพราะนโยบายของกษัตริย์ที่ผูกอำนาจไว้กับประชาคมชาวต่างชาติทำ
ให้เป็นกำลังสำคัญในการกำจัดและคานอำนาจขุนนาง
แต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้ใจขุนนางต่างชาติมากเกินไป
และนโยบายต่างประเทศของพระองค์ที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจนักว่า พระประสงค์ที่แท้จริงของพระองค์ต้องการสิ่งใดกันแน่
จะเป็นเพียงเพื่อคานอำนาจฝ่ายขุนนางเท่านั้นหรือ
แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือการเข้ามามีบทบาทของฝรั่งเศสได้สร้างความไม่พอใจให้กับ
เหล่าขุนนาง พระสงฆ์และประชาชน แต่การที่จะกำจัดอำนาจเหล่านั้นให้หมดไป ต่างก็ต้องอาศัยผู้ที่มีความสามารถพอ
ซึ่งสามารถทัดทานอำนาจกษัตริย์ได้ ซึ่งสถานะของขุนนางในขณะนั้นไม่สามารถกระทำได้
หรือแม้ลองกระทำก็อาจจะล้มเหลวได้เหมือนครั้งที่ผ่านๆมา แต่มีผู้หนึ่งที่สามารถกระทำการนั้นได้สำเร็จนั่นก็คือพระเพทราชา


วิธีการดำเนินการทางการเมืองของพระเพทราชาต่างจากที่กษัตริย์อื่นๆเคยกระทำมา
นั่นก็คือการรวบรวมปลุกเร้าให้ประชาชนออกมาเป็นแนวร่วมกับพระองค์ด้วย
หรือการใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือนั่นเอง และอาศัยการเป็นพันธมิตรกับพระสงฆ์ รวมถึงขุนนางให้ร่วมมือกับพระองค์ด้วย
ซึ่งวิธีการนั่นก็ไม่ต่างอะไรกับปัจจุบันก็คือการใช้ประชาชนเป็นเครื่องทางการเมือง
ซึ่งพอประสบผลสำเร็จประชาชนก็ไม่ได้ขยับฐานะหรือมีสถานะที่แตกต่างจากเดิม
ยังคงเป็นความห่างเหินระหว่างผู้นำและประชาชน อยู่ตามเดิม



พระเพทราชาจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางแต่การที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ห้ขุนนางทั้งหลายเห็นว่า
เขามี







 

Create Date : 10 ตุลาคม 2552    
Last Update : 10 ตุลาคม 2552 10:37:46 น.
Counter : 9021 Pageviews.  

กบฏมัักกะสันจากเอกสารพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหตุฟอร์บัง

ไหนๆก็อยากจทำblogประวัติศาตร์สักblogนึง เอาไว้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ตัวเองศึกษา ทั้งที่ศึกษาเองและที่อาจารย์ให้มาศึกษาทำรายงาน ทำไปได้คะแนนเกรดออก ก็ใช่ว่าจะจบ เลยอยากจะเอาความรู้ที่ได้จากการทำรายงาน หรือศึกษา มาลงblog เพื่อใครใคร่สนใจก็มาอ่านเล่นกันได้คะ
อันนี้ขอประเดิมเรื่องแรก จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์อยุธยาที่มหาลัย ก็จะต้องทำรายงานเกี่ยวกับเอกสารต่างชาติชิ้นนึง ซึ่งได้เลือกงานของตาฟอร์บังนี่ ที่เลือกนี่ไม่ใช่อะไร แบบ ตาคนนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เขียนด่าออกญาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนตินฟอลคอน อย่างเปิดเผยนั่นเอง ซึ่งเอกสารต่างชาติอื่นๆ มักจะชมมากกว่า(ตาฟอลคอนนี่ก็ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐอะไรอย่างที่ใครๆรู้กัน เอาไว้วันหลังจะมาลงรายละเอียดอีกทีนะคะ) ก็เลยอยากจะมองหลายๆมุม เอาเป็นว่าที่เด่นๆจากเอกสารฉบับนี้ก็คือกบฏมักกะสัน คะ





รูปฟอร์บังจ้าาา




กบฏมักกะสัน

สาเหตุ



-ในช่วงที่ฟอร์บังเข้ารับราชการอยู่นั้น มีกบฏมักกะสันเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและละโว้ โดยแขกมักกะสันเหล่านี้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระนารายณ์ เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสยาม แต่กลับสมคบคิดกับแขกมลายูและแขกจาม ก่อกบฏคิดจะจับสมเด็จพระนารายณ์สำเร็จโทษ พวกนี้ก่อการกบฏโดยเริ่มไล่ฆ่าพวก โปรตุเกสและญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์
- จากจดหมายเหตุฟอร์บัง ฟอร์บังได้เล่าว่าออกญาวิชเยนทร์คิดที่จะกำจัดตัวเขา โดยเริ่มตั้งแต่การวางยา แต่เนื่องจากไม่สำเร็จและเห็นว่า ฟอร์บังมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบางกอก ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นสำคัญ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะส่งเขาไปจัดการกับกบฏ
- ชาวแขกมักกะสันเป็นคนที่มีนิสัยดุดัน ไม่ยอมแพ้และดื้อรั้น เนื่องจากฟอร์บังเป็นชาวต่างชาติและพึ่งมารับราชการได้ไม่นาน จึงไม่ทราบในเรื่องนี้ทำให้ไม่ได้ตรึกตรอง และวางแผนการณ์เฉพาะหน้าไว้ล่วงหน้า ทำให้เหตุการณ์บานปลายและร้ายแรง ถึงขั้นที่มีพลเมืองสยามและทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


เหตุการณ์



ในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดกบฏมักกะสันขึ้นนั้น ออกญาวิชเยนทร์ได้ใช้โอกาสนี้คิดกำจัดฟอร์บังโดยออกอุบายใช้ พระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์ ให้ฟอร์บังซึ่งขณะนั้นมีหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการบางกอก ให้ฝึกทหารไทยจำนวนสองพันคน สร้างป้อมปราการ และมอบหมายให้ปราบกบฏมักกะสัน ขณะนั้นมีต้นหนเรือชาวมักกะสันอยู่คนหนึ่ง เห็นว่ากบฏคงไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จ จึงคิดจะกลับไปยังเกาะมักกะสันพร้อมกันลูกเรืออีก47คน ออกญาวิชเยนทร์จึงใช้โอกาสนี้มอบใบเบิกทางให้เพื่อให้ ต้นหนเรือคนนี้เชื่อใจ ในทางกลับกัน กลับบอกให้ฟอร์บังทำการจับกุมตัวชาวมักกะสันกลุ่มนี้ ระหว่างที่รอเรือของชาวมักกะสันนี้ ฟอร์บังก็ใช้เวลานี้ในการฝึกทหาร สร้างป้อมปราการ และสร้างคุกใหม่สำหรับจองจำนักโทษ  ระหว่างนี้ก็พยายามผูกมิตร กับทหารชาวโปรตุเกสที่ เขาเคยสั่งกักตัวไว้เมื่อครั้งมาคุม การสร้างป้อมปราการเมื่อคราวก่อน โดยนักโทษทหารโปรตุเกสเหล่านี้  ถูกปล่อยตัวมาโดยคำสั่งของออกญาวิชเยนทร์ โดยมุ่งหวังอยากให้ฟอร์บังถูกปองร้ายจากทหารเหล่านี้       


          หลังจากผ่านไปได้ยี่สิบวันเรือ ของต้นหนเรือชาวมักกะสันก็มาถึงเมืองบางกอก เนื่องจากติดโซ่ที่ฟอร์บังได้สั่งให้ทหารลากตรึงไว้ ต้นหนเรือคนนั้นได้ออกมาชี้แจงถึงการเดินทางกลับไปยังบ้านของพวกเขา โดยที่ฟอร์บังได้ใช้อุบายว่าตนอยากจะขอตรวจดูผู้โดยสารบนเรือ โดยอ้างว่าตนได้รับคำสั่งว่า ในช่วงที่เกิดกบฏนี้มีคำสั่งว่าห้ามชาวสยามหรือผู้ใด ออกจากแผ่นดินสยาม ซึ่งต้นหนเรือก็ยอมทำตามโดยมีข้อแม้ว่า จะขอนำกริชพกติดตัวมาด้วยโดยอ้างว่า กริชเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องพกติดตัวเสมอ ฟอร์บังในตอนนั้นยังไม่รู้ถึงความร้ายกาจของกริช จึงยอมรับเงื่อนไข ระหว่างที่รอให้พวกมักกะสันทั้ง 47คนลงมาจากเรือนั้น ฟอร์บังก็ได้มีคำสั่งให้ทหารซุ่มดูอยู่ ณ จุดต่างๆเพื่อทำการจับกุมตัวชาวมักกะสัน โดยไม่ได้ชะล่าใจคำเตือนของทหาร แก่ชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งที่เล่าถึงความน่ากลัวของชาวมักกะสัน เมื่อต้นหนเรือและผู้ติดตามเดินลงมาจากเรือ ฟอร์บังก็มีคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที โดยอ้าง      เหตุผลว่า ได้รับคำสั่งมาให้จับกุมพวกเขา แต่สัญญาว่าจะดูแลอย่างดีระหว่างจับกุม ไม่ทันตั้งตัวชาวมักกะสันเหล่านั้น ก็พุ่งกริชมายังล่ามผู้แปลนั้นทันที รวมถึงทหารคนอื่นๆด้วย ฟอร์บังรอดได้อย่างหวุดหวิดจากการช่วยเหลือของทหารคนหนึ่ง ทำให้เขาได้ตระหนักถึงความน่ากลัวของอาวุธที่ชื่อว่า กริช และตระหนักถึงความน่ากลัวของชาวมักกะสัน ดังนั้นฟอร์บังจึงเปลี่ยนคำสั่งจากจับเป็น เป็น จับตาย ฆ่าให้หมด ชาวมักกะสันที่เหลือออกอาละวาดวิ่งไปทั่วเมืองบางกอกอย่างบ้าเลือด ฆ่าคนโดยไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เป็นที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง ที่น่าสะพรึงกลัวกว่านั้นก็คือ พวกมักกะสันได้บุกไปยังวัดวาอาราม แล้วไล่ฆ่าพระภิกษุสงฆ์รวมถึงขุนนางผู้ใหญ่ ทำให้ฟอร์บังทำการปรึกษาหารือกับขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกับรับทราบจำนวนผู้เสียชีวิตซึ่งมีคนของสยามเสียชีวิตไป 366คน ชาวแขกมักกะสันตายเพียง17คน ทำให้ฟอร์บังทราบว่าชาวแขกมักกะสันนั้นร้ายกาจมากเพียงใด


หลังจากนั้นฟอร์บังก็ได้รับคำสั่งจากออกญาวิชเยนทร์ให้ฆ่าแขกมักกะสันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้ง ติเตียนและกล่าวหาฟอร์บังว่า ไม่ใช้สติปัญญาให้รอบคอบ บกพร่องในหน้าที่การงานจนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าฟัน ซึ่งเพิ่มความไม่พอใจในตัวออกญาวิชเยนทร์ขึ้นไปอีก หลังจากที่ได้รับคำสั่ง ฟอร์บังก็ออกไปปราบแขกมักกะสัน ซึ่งหลบหนีไปตามคูคลองและเนินดิน ต่างๆ แม้จะพยายามปรองดองด้วยคำพูดใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งแขกมักกะสันนี้ไว้ได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่กลัวตาย เนื่องจากมีความเชื่อว่า คนทุกคนที่เขาฆ่าตายจะไปเป็นทาสรับใช้ของเขาในปรโลก และการไม่ยอมแพ้คือเกียรติคุณสูงสุดตามความเชื่อในศาสนามะหะหมัด(อิสลาม) ของพวกเขา ส่งผลให้คนพวกนี้มีลักษณะที่ดุร้าย ไม่ท้อถอย ซึ่งสร้างความลำบากในการปราบปรามครั้งนี้มาก ซึ่งกว่าจะปราบปรามจนสำเร็จก็ใช้เวลาถึงหนึ่งเดือน โดยชาวแขกมักกะสันที่เหลือตายโดยบาดแผลเป็นพิษบ้าง อดอาหารบ้าง ทำให้พ่ายแพ้ในที่สุด


ผลของเหตุการณ์



ผลของเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทหารและพลเมืองชาวบางกอกเสียชีวิตไปจำนวนมาก การปราบกบฏมักกะสันในครั้งนี้เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ ฟอร์บังเพิ่มความเกลียดชังในตัวออกญาวิชเยนทร์มากขึ้น รวมถึงเป็นอีกสาเหตุหลักที่อยากจะออกจากประเทศสยามกลับไปยังฝรั่งเศส เนื่องจากไม่อยากตกอยู่กับการแก่งแย่งชิงดี และความอิจฉาริษยาของออกญาวิชเยนทร์

จากเอกสารนี้เป็นการอ่านและสรุป ออกมาเป็นใจความนะคะ ไว้คราวหน้าจะนำบทความอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพระนารายณ์ หรือประวัติศาสตร์ไทยอื่นๆ ไม่ก็ประวัติศาสตร์ยุโรป ตะวันออก มาลงอีกนะคะ





 

Create Date : 26 กันยายน 2552    
Last Update : 21 ตุลาคม 2552 14:17:45 น.
Counter : 2521 Pageviews.  

1  2  

biyuchan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add biyuchan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.