คุณแม่น้องแฝด ฮานากะฮารุ ^^

ชวนไปไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย...ที่วัดชนะสงครามค่ะ

เอนทรี่นี้มาแบบบังเอิ๊ญ บังเอิญอีกแล้ว   




 เกิดขึ้นตอนที่อิชั้นไปวัดบวรเพื่อไปไหว้พระศพสมเด็จพระสังฆราชเสร็จ  แล้วก็เดินต่อไปที่พิพิทธภัณฑ์หอศิลป์แห่งชาติ  เผอิญหาทางไปไม่เจอ และพบกับตำรวจจราจรท่านนึง  เลยไถ่ถามทางไป


คุณตำรวจจราจรฟังเสร็จ   ก็สวมหมวกกันน๊อคและบอกอิชั้นว่าขึ้นรถมอเตอร์ไซค์มาเลย กำลังจะไปแถวนั้นพอดี  เดี๋ยวจะไปส่ง.......(โอ  แม่เจ้า  เกิดมาก็เพิ่งเคยซ้อนรถตำรวจนี่แหล่ะ)  Smiley


คาดว่าคุณพี่คงเห็นอิชั้นงงๆก๊งๆ เลยกลัวเดินไปไม่ถูก  ซึ่งก็น่าจะไปไม่ถูกจริงๆด้วย  เพราะมันเอาเข้าจริงมันไกลพอสมควรเลย Smiley   ถ้าเดินเองล่ะก็คงขาลากเลย แถวนั้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ไม่มี นับว่าโชคดีของอิชั้นจริงๆ   นึกแล้วยังขอบคุณตำรวจจราจรคนนั้นอยู่ไม่หาย  Smiley


เกริ่นมาซะยาว  จะบอกแค่ว่า  ระหว่างที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์คุณตำรวจ อิชั้นก็เหลือบไปเห็นป้าย "วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร"  

อิชั้นแทบจะกรีดร้องด้วยความดีใจ    ว้าวๆๆๆ กำลังอยากเที่ยววัดนี้พอดี  Smiley ที่แท้ก็อยู่ตรงนี้นี่เอง  เดี๋ยวเที่ยวหอศิลป์เสร็จต้องแวะมาวัดนี้ต่อซะแล้ว หุหุ









ข้างล่างนี่อิแมวตัวไหนมันมาเขียนค้า  ขอตบบ้องหูหน่อยดิ มือบอนจุงเบย Smiley


ประวัติของวัดค่ะ


 ในอดีตนั้นวัดชนะสงครามเคยมีชื่อว่า “วัดกลางนา” มาก่อน เพราะบริเวณวัดมีทุ่งนาล้อมรอบ และเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

       จากวัดกลางนาธรรมดากลายมาเป็นพระอารามหลวงสำคัญอย่างในปัจจุบันนี้ได้ก็เพราะในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนคร 



ในขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่สงบดีนัก ยังคงมีศึกสงครามอยู่เนืองๆ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญก็ได้ทรงรวบรวมชาวมอญจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเป็นกองกำลังทหารในการสู้รบกับข้าศึก และโปรดเกล้าฯให้ชาวมอญเหล่านั้นตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้ๆ วัดกลางนา



       ส่วนวัดกลางนานั้น พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์มอญมาอยู่จำพรรษา คนทั่วไปจึงเรียกวัดนี้เป็นภาษามอญว่า "วัดตองปุ" ซึ่งหมายถึงวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา


       และหลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงมีชัยชนะในสงคราม 9ทัพ และได้กรีฑาทัพกลับพระนคร พระองค์ก็ได้มาทรงทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงตามพระราชพิธีโบราณที่วัดแห่งนี้ก่อนเสด็จเข้าพระบรมมหาราชวัง 


ในครั้งนั้นพระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2330 ถวายเป็นพระอารามหลวงแก่รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรทรงมีชัยชนะในการรบกลับมานั่นเอง






รูปหล่อของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หน้าพระอุโบสถ





มาถึงแล้วต้องสักการะท่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง 

ซื้อดอกไม้ ธุปเทียนแล้ว แม่ค้าบอกว่าให้ไหว้พระรอบนอกก่อนนะคะ 




สักการะแล้วก็เข้ามาในพระอุโบสถค่ะ 




องค์พระประธานในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม มีนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก กว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง ๒ เมตร เดิมสูง ๑.๓๐ เมตร 

มีอัครสาวกยืนประนมมืออยู่ด้านหน้าพระประธาน ๒ องค์ เบื้องหลังพระประธานมีประภามณฑลโพธิพฤกษ์และภาพจินตนาการ เบื้องบนมีฉัตรกั้น



มีเรื่องเล่ากันว่า เดิมองค์พระมีขนาดเล็ก เป็นปูนปั้นบุด้วยดีบุก ครั้นเมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯเสด็จกลับจาก สงครามเก้าทัพ ได้หยุดพัก ณ วัดแห่งนี้ ทรงถอดฉลองพระองค์ลงยันต์ (เสื้อยันต์) คลุมองค์พระถวายเป็นพุทธบูชา ช่างได้โบกปูนทับทำให้องค์พระใหญ่ขึ้นดังปัจจุบัน




บริเวณรอบอุโบสถด้านใน มีพระพุทธรูปแบบต่างๆให้เรากราบไหว้ สักการะบูชา
















พระสังกัจจายก็มาเน้อ










ภายในฝาผนังพระอุโบสถวัด ก็มีจิตรกรรมซึ่งบรรจงวาดไว้อย่างงดงาม



เป็นเรื่องราวของพุทธชาดก
อันนนี้เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกริยา โดยมีปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  ถวายตัวเป็นลูกศิษย์



 
 สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษคือนางสุชาดา  เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน   ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  
ของที่นางถวายคือข้างมธุปายาส   คือ   ข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน  เป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ  ไม่ปนเนื้อ  ไม่เจือปลา  ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ



ธิดามาร คือ นางตัณหา, นางราคา และนางอรดี ยั่วยวนพระพุทธเจ้า  เนื่องจากพระยามารเสียใจมากที่แพ้พระพุทธเจ้า เพราะพระ พุทธเจ้าทรงบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า หมดกิเลสแล้ว  ธิดาทั้งสามจึงรับอาสามายั่วยวนพระพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ



หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าชื่อธิดาทั้งสาม แฝงเป็นนัยยะกับอำนาจชั่วร้าย ได้แก่ ตัณหา (กิเลสตัณหา) ราคา (ราคะ  ความยินดี) และอรดี (ความรื่นเริงบันเทิงใจ)



ตรงนี้คือตอนมหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉากนี้น่าจะเป็นฉากที่ชูชก พานางอมิตดาซึ่งได้รับมาเป็นค่าไถ่มาร่วมอยู่กินฉันผัวเมีย


พูดถึงชูชก..ขออนุญาติคอมเมนท์นิดนึง  หากไปกระทบกับจิตใจของท่านใดที่นับถืออยู่  อิชั้นก็ต้องขอโทษด้วยนะคะ  Smiley


คือ.....ในช่วงปีหลังๆมา อิชั้นเริ่มเห็นเค้าทำวัตถุบูชาเป็นรูปชูชก  บ้างก็เรียกพ่อชูชกบ้าง ทั้งยังบอกว่าให้กราบไหว้บูชา  จะประทานพรให้เราสามารถ "ขอ"  สิ่งใดก็ได้ บลาๆๆ


คืออยากจะบอกว่า อิชั้นไม่เข้าใจอ่ะ  ว่าเค้าตีความหมายของการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าอย่างไร 


อิชั้นคิดว่า...ที่เรากราบพระพุทธรูป  ไหว้พระพุทธรูป  ไม่ใช่เพราะเราไหว้หิน ดิน ทราย ที่หล่อเป็นรูปพระ

แต่เราไหว้ในสิ่งที่เราเคารพบูชา คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  เราไหว้ในคุณงามความดีที่พระพุทธเจ้าได้ประพฤติปฎิบัติมา สิ่งที่ท่านสอนท่านเผยแพร่เอาไว้เป็นคุณอนันต์กับสัตว์โลกทั้งยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างพวกเรา


เราไหว้ท่านเพราะเรายึดมั่นและเชื่อถือในสิ่งที่ท่านค้นพบ  เพื่อให้เรามีสติในการดำเนินชีวิตบนโลกที่วุ่นวายใบนี้  เมื่อเราไหว้ท่าน เรารู้สึกว่าจิตใจเราสงบ  หลักคำ คำสั่งสอนในธรรมะของท่านแผ่ซ่านเข้าไปในจิตใจ  แม้เพียงวูบเดียวก็ทำให้เรามีความสุข


แต่ อิตาชูชกเนี่ย ทำความดีอะไรที่ทำให้คนต้องมากราบไหว้บูชาคะ Smiley

หรือว่าเก่งในเรื่องขอ   ขยันขอจนได้ดี  ซึ่งอิชั้นคิดว่ามันไม่ได้มีความสร้างสรรค์เลย คนเรามันจะบ้าขออะไรขนาดนั้น  อย่างอิตาชูชกยิ่งแล้วใหญ่  ขอแม้กระทั่งลูกกษัตริย์มาเป็นขอทานน่ะ....


บางคนอาจจะว่าอิชั้นอินเกิน  ชูชกก็แค่ตัวละครในพุทธประวัติชาดก อาจจะไม่มีตัวตนจริงๆก็ได้  แต่อิชั้นคิดว่า อย่างน้อยการเลือกที่จะบูชาตัวละครบแบบนี้มันก็สื่อถึงจิตใจของคน  ที่เลือกจะเชื่อในสิ่งที่เห็นว่าเอื้อประโยชน์ให้ตนอย่างสุดๆ (ไม่ต้องทำอะไร ขอแม่มอย่างเดียว)  


เพราะที่อิชั้นจำได้ คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีตรงไหนให้เราขอเลย ท่านสอนว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"  ท่านสอนให้เรารู้จักประคองสติด้วยตนเอง  อยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง   


การที่เรามาไหว้พระ ส่วนหนึ่งก็อาจเรียกได้ว่าเราเดินทางมาหาหลักยึดเหนี่ยวในจิตใจตัวเอง  เรียกได้ว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างนึง......ซึ่งอันนี้ถ้าใครจะไหว้พระแล้วอธิษฐานขอให้ชีวิตมีความสุข  หรือยังอยากจะขอนั่นขอนี่ โอเค ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ว่ากัน


แต่ขอร้องเถอะว่า อย่าไปขอแบบนี้กับชูชก  ก็แกจะเอาอะไรที่ไหนมาบันดาลความสุขให้คุณได้  ขนาดตัวเองยังเอาไม่รอดเล๊ยยยย Smiley
 (กินเยอะ ท้องแตกตายเป็นโกโก้ครันท์...ตูม)




จบความเวิ้นเว้อดีกว่า  แฮ่ะๆ 





เอาเป็นว่า  ถ้าใครไปแถวถนนข้าวสารอย่าลืมแวะไปกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่วัดชนะสงครามฯ นะคะ   อยู่ไม่ไกลจากถนนข้าวสารค่ะ  เดินมาสุดซอยก็จะเจอเลย....สะดวกสุดๆ










 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2556 17:16:40 น.
Counter : 1497 Pageviews.  

พามาเที่ยวพิพิทธภัณฑ์พระปกเกล้า part 1

การมาเที่ยวที่นี่ในวันนี้ อิชั้นขอสารภาพตามตรงค่ะ  ว่าไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเลย

พอดีว่า วันอาทิตย์ที่ผ่านมา  มาเที่ยววัดราชนัดดารามกับวัดเทพธิดาราม  บังเอิญระหว่างนั่งแท๊กซี่ได้เห็นพิพิทธภัณฑ์พอดี  ก็เลยเกิดความสนใจ  อยากจะลองมาเยี่ยมชมบ้าง


เนื่องจากระยะทางไม่ได้ไกลจากวัดทั้งสอง  หลังจากเที่ยวเสร็จแล้วอิชั้นจึงแวะมาที่นี่  เดินผ่านป้อมมหากาฬทางสะพานผ่านฟ้า   ข้ามถนนนิดเดียวก็ถึงแล้วค่ะ 



อาคารสีเขียวอ่อน สบายตา รูปทรงสวยงามดึงดูดใจอิชั้นตั้งแต่แรกเห็น


มาตอนหลังจึงรู้ว่า อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นอาคารเก่าของกรมโยธาธิการ ที่ถวายให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้จัดแสดงสิ่งของและพระราชประวัติ รวมถึงพระราชกรณีกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ที่นี่ติดเแอร์เย็นฉ่ำเลยค่ะ  สบายสุดๆ ค่าเข้าก็ฟรี...เวิร์คกว่านี้มีอีกไหมSmiley

การจัดแสดงสิ่งของและข้อมลทางประวัติศาสตร์ถูกจัดแบ่งไว้บนอาคาร ๓ ชั้น ดังนี้


ชั้นที่ ๑ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ชั้นที่ ๒ จัดแสดงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชั้นที่ ๓ จัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลา และฉลองพระบาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่าง


เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้เราไปที่ชั้น ๒ ก่อนนะคะ 



เมื่อมาที่บันไดก็จะพบกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



ประวัติของท่านค่ะ


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ( พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ) ประสูติเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าชายาประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสโขทัยธรรมราชา”  ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระมารดาเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 



มารูปเก่าๆที่หาดูได้ยากกันนะคะ

ครั้นสมัยยังทรงพระเยาว์  ในอ้อมกอดของเสด็จแม่ (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนี)




ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าชายาประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสโขทัยธรรมราชา



หลังจากที่ทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นในประเทศไทยแล้ว เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษาได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยเข้าเรียนระดับมัธยม ที่โรงเรียนอีตัน และศึกษาวิชาการทหารจนจบจากวิทยาลัยการทหารบก กลับมารับราชการประจำกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เลื่อนยศตามลำดับ จากร้อยตรี เป็นนายพันเอก ทรงมีตำแหน่งเป็นปลัดกรมเสนาธิการทหารบก จนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2






พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงแรกจะแสดงสิ่งของและภาพถ่ายสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์แล้ว


อันนี้เป็นพระมาลาส่วนพระองค์ค่ะ



ฉลองพระองค์ในวาระต่างๆ 



ซอสามสาย




และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ 


(ภาพนี้มองใกล้ๆ จะเห็นแววพระเนตรของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนนี ทรงทุกข์ตรมโทมนัสเหลือเกินค่ะ )



ร.6 ทรงยืนลำดับที่สอง ส่วน ร.7  ประทับพับเพียบอยู่ขวาสุดของรูป ( ถ้าราชาศัพท์ไม่ถูกต้องขออภัยด้วยนะคะ)

เพิ่งสังเกตชัดๆ ว่าร.6 ท่านจะทรงคล้ายกับพระราชมารดา (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนนี) ในขณะที่ ร.7 จะละม้ายคล้ายกับพระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มากกว่า


สาสน์ที่แจ้งข่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ภายในพระราชวัง




ทรงออกผนวช




 ในปี พ.ศ. 2461 ได้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิสิษฎ์







ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า 
...ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ 


ทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ และเครื่องประดับพระอิสริยยศในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 




เมื่อทรงอภิเษกสมรสแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่ “วังศุโขทัย” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินพระราชทานริมคลองสามเสน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ ทรงรับพระราชภาระดูแลการภายในพระตำหนัก 




ชุดดินเนอร์พระราชทานซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชชนนีพระราชทานเป็นที่ระลึกในวาระพระราชพิธีอภิเษกสมรส






ในช่วงระยะเวลา ๙ ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก 
การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก 
พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร 
การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ 
การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม 
ฯลฯ 





ฉลองพระเนตรส่วนพระองค์



สมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งกำหนดจะมีงานเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๕

 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงพระราชดำริในรัชกาลที่ ๔ ที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ๒ ฝั่ง อีกทั้งยังทรงเห็นว่ากรุงเทพมหานครได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากและขยายไปทางด้านตะวันออกมากกว่าด้านอื่น

 แต่ทางด้านฝั่งธนบุรีมีพื้นที่ติดกันเป็นเรือกสวนและมีผู้คนอาศัยอยู่มาก การไปมากับฝั่งพระนครยังยากลำบากต้องใช้แต่ทางเรือ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องสร้างสะพานเชื่อมถึงกัน ถ้าสร้างเสียแต่วันนี้จะได้ประโยชน์เร็วขึ้น ทั้งในโอกาสฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปีก็ควรจะมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์สถานสร้างไว้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกที่สร้างกรุงเทพมหานครขึ้น

จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6



พระราชจริยวัตรด้านภาพยนตร์ 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพยนตร์ ทรงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเล็ก ๑๖ ม.ม. เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นบันทึกพระราชพิธีสำคัญ สภาพสังคม และสภาพชีวิตชาวบ้าน ส่วนเรื่องที่มุ่งเพื่อความบันเทิงได้แก่เรื่องแหวนวิเศษ 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สนับสนุนให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยสำหรับฉายภาพยนตร์เสียงแห่งแรกของประเทศในวโรกาสเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”




ทรงไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา จึงทรงรับพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตน พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชเป็นพระราชโอรสบุญธรรม



พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะแสดงสิ่งของและภาพถ่ายสำคัญต่าง ๆ ในรัชการของพระองค์แล้ว ยังแสดงถึงประวัติศาตร์การเมือง การปกครองในสมัยนั้น รวมถึงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเปลียนแปลงการปกครอง 













 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

เช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ากรุงเทพฯ พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง


วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ พร้อมด้วยการร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”




คณะราษฎร์

คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่

  1. ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
  2. ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
  3. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
  4. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
  5. ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  6. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
  7. แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ





จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของภาพประวัติศาสตร์ในวันนี้ค่ะ

วันที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมมูญ  มอบอำนาจให้แก่ประชาชนปกครองตนเอง




อันนี้เป็นไฮไลต์ของที่นี่นะคะ  เป็นรัฐธรรมนูญ 3 มิติ 


วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังค์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยามแก่ปวงชนชาวไทย




ของที่ระลึกครั้งงานพระราชทานรัฐธรรมนูญ




ในที่สุดวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ 

หลังจากทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงปลูกดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ทรงกีฬากอล์ฟและเทนนิสร่วมกับพระญาติพระสหาย ข้าราชบริพารและนักเรียนไทย

นอกจากมีพระโรคทางพระเนตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยด้วยโดยพระอาการได้กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะมีพระชนมายุ ๔๘ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

การอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่ประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2492  รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร




การมาที่พิพิทธภัณฑ์พระปกเกล้าในวันนี้ อิชั้นรู้สึกอิ่มเอมหัวใจมากเลยค่ะ   ยอมรับว่าก่อนเข้ามา อิชั้นรู้จักท่านน้อยมากกก แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในพิพิทธภัณฑ์ ซึงมีการจัดแสดงได้แบบละเอียด   มีการนำสื่อประสมในรูปแบบต่างๆ ทำให้เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ


ตอนนี้เราก็ได้รู้จักพระองค์ท่านมากขึ้นแล้ว ได้รับทราบพระราชกรณียกิจ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงพระชนม์ชีพของท่าน 


 แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับพระองค์จะส่งผลกระทบ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่  และจิตใจของกษัตริย์ท่านหนึ่งในระดับที่แสนจะรุนแรงเกิดกว่าที่เราจะคาดการณ์


  แต่พระองค์ก็ได้ใคร่ครวญและพระราชทานสิ่งที่ดีที่สุดให้พวกเราแล้ว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณกับมวลชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้



ทริปวันนี้ยังไม่จบนะคะ  เราจะลงไปชั้นหนึ่ง เพื่อไปรู้จักกับพระมเหสีของท่าน คือพระนางเจ้ารำไพพรรณีในบล๊อคต่อไปค่ะ


Smiley Smiley Smiley




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2556 10:43:12 น.
Counter : 1185 Pageviews.  

one day trip in ธนบุรี....เที่ยวสวนสมเด็จย่า และศาลเจ้ากวนอูค่ะ

หลังจากที่เราเที่ยววัดประยูรวงศาวาสเสร็จ  เราก็มาที่หมายต่อไปค่ะ  Smiley

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสวนสมเด็จย่าค่ะ




อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตคลองสาน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่าซึ่งมีลักษณะและที่ตั้งใกล้เคียง “บ้าน” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้อนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสารธารณะระดับชุมชน ซึ่งนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ผู้ถือกรรมสิทธ์ที่ดิน ก็ได้พร้อมใจน้อมเกล้าฯถวาย ที่ดินจำนวน 4 ไร่ 


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเจ้าของที่ดินโปรดให้บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการในรูปคณะกรรมการจัดสร้าง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามแนวพระราชดำริ




แผนผังค่ะ



อนุสาวรีย์ของสมเด็จย่า



คิดถึงท่านจัง....



เรามาที่บ้านจำลองบ้านเก่าที่สมเด็จย่าเคยประทับที่ฝั่งธนค่ะ

เป็นเรือนไม้มุมจากหลังกะทัดรัด






บนเรือนค่ะ




บ้านไทยหรือเรือนไทยสมัยก่อนไม่มีห้องน้ำในบ้าน   จึงนิยมเอาโอ่งไว้ริมระเบียง  

เวลาที่อาบน้ำก็อาบที่ริมระเบียงนี้เลย




เห็นแล้วนึกถึงบรรยากาศครั้งวันวาน




ของเก่าๆ 



โหลเก็บขนม



ห้องบรรทม หรือห้องนอน




ส่วนนี้น่าจะเป็นครัว 



หลังบ้านค่ะ 




ที่นี่มีพิพิทธภัณฑ์เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จย่าของเรา มีทั้งเรื่องทางประวัติศาสตร์และของใช้ส่วนตัวของพระองค์ท่าน  มีมากมายน่าสนใจ น่าเข้าไปดูมากค่ะ

แต่น่าเสียดายที่ไม่อนุญาติถ่ายรูป  เลยไม่มีรูปมาให้ชม  Smiley




พอเดินเที่ยวสวนสมเด็จย่าเสร็จ เราก็เดินต่อที่ศาลเจ้ากวนอู  เพราะอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ค่ะ


สำหรับศาลเจ้ากวนอูนี้  เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ว่ากันว่า สร้างมานานกว่า 268 ปีเลยทีเดียว

 ภายในประดิษฐานรูปเทพเจ้ากวนอู 3 องค์ ตามตำนานเล่ากันว่า องค์แรกคือองค์ที่เล็กที่สุด เข้ามาในประเทศไทยราวปี 2279 โดยชาวจีนฮกเกี้ยนได้อัญเชิญลงเรือมา 

จากนั้นปี 2345 ผู้อัญเชิญเจ้าพ่อกวนอูองค์กลางมาเพิ่มอีกองค์หนึ่ง พร้อมติดป้ายชื่อศาลว่า "กวง ตี่ กู เมียว" สุดท้ายปี 2365 เจ้าสัวชื่อ "นายคงเส็ง" ได้บูรณะศาลแห่งนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และอัญเชิญเจ้าพ่อกวนอูองค์ที่สามมาประดิษฐานร่วมกับอีกสององค์ พร้อมทั้งสร้างระฆังไว้หนึ่งใบ 



จนปี 2444 คณะกรรมการและศิษย์ได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้น เนื่องจากเก๋งหลังเดิมชำรุดทรุดโทรม เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งชื่อเก๋งหลังใหม่นี้ว่า "กวงตี่ บู่ เชิ่ง เมียว"








นี่ไม่ใช่ศาลเจ้ากวนอูนะคะ  แต่อิชั้นเห็นอยู่ใกล้ๆ ดูเก่าจัง น่าจะอายุหลายปีไม่ใช่น้อย...





ไหว้องค์กวนอูเสร็จ  ตอนนี้ก็ได้เวลาสี่โมงครึ่งแล้วค่ะ

คงถึงเวลาที่เราจะต้องโบกมือลาฝั่งธนบุรี  และกลับไปฝั่งพระนครเสียที

แต่การกลับของเราหนนี้ไม่ธรรมดา

"เราจะเดินข้ามสะพานพุทธกลับไปด้วยกันค่ะ " Smiley







เดินข้ามสะพานพุทธเป็นครั้งแรกในชีวิตเลย  ตื่นเต้นจัง



ตามธรรมเนียมของเรา จะไปไหนต้องรู้ประวัติสักหน่อยนะ

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี 


   รัชกาลที่ 7


ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย 


จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6



โดยสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472



และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า


Smiley SmileySmiley




วันนี้เป็นการเที่ยวที่เหนื่อยพอสมควร เพราะอากาศค่อนข้างร้อนด้วย  และเดินเยอะด้วย

แต่เราก็สนุกกันมากเลย  ประทับใจกันสุดๆ  เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสมาตะลอนๆเป็นสาวโสดกันแบบนี้ ยิ่งเพื่อนหริยิ่งแล้วใหญ่  ลูกสามคนรอที่บ้านแล้วนะนั่น Smiley


อยากจะมีโอกาสได้เที่ยวแบบนี้อีกจัง....สนุกจริงๆ


ปิดท้ายบล๊อคด้วยวิวอาทิตย์อัสดง จากท่าสะพานพุทธนะคะSmiley



กราบลาทุกท่าน  ขอบคุณที่ติดตามชม  สวัสดีค่า Smiley




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2556 20:35:23 น.
Counter : 3161 Pageviews.  

one day trip in ธนบุรี....วัดเดียวก็มีอะไรให้เที่ยวมากมาย มาที่วัดประยูรวงศาวาสค่ะ


ช่วงบ่าย.....หลังจากที่เราทานข้าวเสร็จก็ต้องเดินทางต่อ   
ไปอีกนิดนึงก็ถึงวัดแล้วค่ะ



มารู้จักที่นี่คร่าวๆก่อนนะคะ

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดประยูร , วัดรั้วเหล็ก ) 

ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค)

 หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ 

ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก 


เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สั่งรั้วเหล็ก มาจากอังกฤษเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ ใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่ไม่โปรด

 จึงขอรับพระราชทานมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน 

โดยเอาน้ำตาลทรายน้ำหนักเท่าน้ำหนักเหล็กไปแลก





นี่แหล่ะคะ  รั้วเหล็กทำเป็นรูปศาสตราวุธรูปหอก ดาบและขวาน 
ซึ่งสั่งมาจากอังกฤษ


พระอุโบสถเป็นแบบไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค

 พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนาคน้อย ซึ่งนัยว่าอัญเชิญมาจากสุโขทัยค่ะ





พระบรมสารีริกธาตุ




ที่นี่มีความโดดเด่นอีกอย่างค่ะ
คือเจดีย์พระประธานนั่นเอง



ก่อนอื่นเข้ามาในส่วนของอาคารข้างนอกที่ทำเป็นพิพิทธภัณฑ์ก่อนนะคะ







ข้างในเป็นการแสดงพระเครื่องที่ขุดได้จากกรุของเจดีย์ครั้นบูรณะค่ะ




เค้าว่ากรุแตกครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาของเซียนพระในยุคนั้นน่าดูเลยคะ




พระที่จัดแสดงนี่เก่ามากๆ  และสวยงามแปลกตา มีหลายยุคสมัยมากมายเลยค่ะ












ทั้งแปลก ทั้งงดงาม





อยากให้พี่ศักดิ์มาเห็นจริงๆ คิดว่าคงแงะร่างออกจากที่นี่ไม่ได้แน่

พระเก่าๆ งามๆทั้งนั้นเลยค่ะ  ขนาดอิชั้นดูไม่เป็นยังเพลินเลย  











ว่าแต่....เอิ่มม ว่าแต่ นี่อัลไลกันค้า Smiley

พระใส่แว่น ??????



ไม่ได้ลบหลู่นะ แต่แว่นนี่แอบมาทำเพิ่มใช่ไหม ใครรู้ช่วยบอกหน่อย 

V
V
V


ชมในส่วนของพิพิทธภัณฑ์พระเครื่องแล้ว  
มาชมไฮไลต์ของที่นี่กันต่อเลยนะคะ


จดีย์พระประธาน


เจดีย์นี้ไม่ธรรมดานะคะได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (อันดับ 1) 

หรือ Award of  Excellence จากโครงการประกวดรางวัล

เพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค

ประจำปี พ.ศ. 2556


 โดยการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรม

ศาลานี้สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความ

ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง




โดยคณะกรรมการตัดสินได้ชมเชยโครงการรางวัลยอดเยี่ยม ดังนี้ 


“การบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์พระประธาน

ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา

ได้ธำรงรักษาปูชนียสถานที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพมหานคร 

ผสานความศรัทธาทางศาสนากับความท้าทายทางวิศวกรรม 



โครงการนี้ส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาทางสังคมในย่านกุฎีจีน

 ย่านประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม 

และได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว

ของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

ด้วยการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน 

ขณะที่ยังคงรูปลักษณ์ภายนอกของเจดีย์ที่ทรุดเอียงนี้ 



การบูรณะซ่อมแซมที่บูรณาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิถีการก่อสร้างแบบดั้งเดิม

ได้สื่อสารขนบโบราณและสุนทรีย์แห่งยุคเก่า 

ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์

 ผู้เชี่ยวชาญและชาวบ้านเป็นประจักษ์พยาน

ถึงความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัด

และชุมชนในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถาน

ให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชนตราบจนทุกวันนี้”




ทางขึ้นชันได้ใจ



องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

แต่สร้างภายหลังจากการสร้างวัด พระเจดีย์ไม่ทันแล้วเสร็จ
ผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยไปก่อน 

ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
 จึงได้เป็นผู้สร้างต่อจนพระเจดีย์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4


       พระบรมธาตุมหาเจดีย์เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม 
สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร 
และมีพระเจดีย์องค์เล็ก 18 องค์เรียงรายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ 

พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ปี 2450
 โดยพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 10 ได้บูรณะพระเจดีย์องค์เล็ก 
ซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ 

จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ขึ้นประดิษฐานในพระเจดีย์องค์ใหญ่



ภายหลังองค์เจดีย์ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ 
จนมาในยุคที่พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) 
เจ้าอาวาสวัดประยูรฯ รูปปัจจุบัน 
ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2549

 และทำให้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ
และพระกรุจำนวนมากบนพระเจดีย์เมื่อช่วงปลายปี 2550


Smiley Smiley Smiley


มาถึงแล้วก็มาสักการะพระบรมสาริริกธาตุกันค่ะ 
ไหว้พระ ปิดทอง และเวียนเทียน 3 รอบนะคะ



เราเดินออกมาชมความงามภายนอกเจดีย์กันบ้างค่ะ

ตอนนี้วิวสวยมากค่ะ  แดดดี ถ่ายรูปได้งามมาก
(แต่คนต้องทนร้อนหน่อยเนอะ  เหอะๆๆ)  



วิวสวยงามมากค่ะ



ที่วัดประยูรยังมีอีก 1 จุดที่น่าสนใจนะคะ 
คือภูเขามอ หรือเขาเต่าค่ะ


ภูเขามอหรือเขาเต่าเป็นภูเขาจำลองก่อด้วยหินอยู่ข้างประตูทางเข้าวัด
 มีโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กบนยอด 
บริเวณข้างล่างมีสระน้ำเป็นที่อาศัยของเต่าจำนวนมาก 

ข้างสระน้ำมีอนุสาวรีย์รูปปืนใหญ่ 
เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์คราวฉลองวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ 
ครั้งนั้นพระรูปหนึ่งเอาปืนชำรุดไปทำไฟพะเนียง
 ปืนแตกระเบิดทำให้พระและชาวบ้านตายถึง ๘ คน





มาถึงแล้วเราก็ให้อาหารน้องเต่ากับน้องปลากันค่ะ



ที่นี่น้องเต่าเยอะกว่าน้องปลานะคะ

ถ้าใครจะเลี้ยงล่ะเน้นของเต่าเยอะๆหน่อยจะดีกว่า




สาว สาว สาว




วันนี้สนุกมากเลยค่ะ  เพิ่งรู้ว่าวัดประยูรวงศาวาส 

(ที่ก่อนมา อิชั้นยอมรับว่าไม่รู้จักเลย)

จะมีสิ่งที่น่าสนใจขนาดนี้ เราเพลิดเพลินอยู่ที่นี่กันถึง 2 ชั่วโมงกว่าเลยค่ะ


ประทับใจจริงๆ 






 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2556 20:42:11 น.
Counter : 1184 Pageviews.  

one day trip in ธนบุรี ไปเที่ยววัดกัลยาณมิตร โบสถ์ซางตาครู้สและศาลเจ้าแม่กวนอิมค่ะ

วันนี้ฤกษ์งามยามดีค่ะ  อิชั้นนัดรวมตัวกับเพื่อนๆ มาเที่ยวกัน  Smiley

เพื่อนอ้อชวนให้มาเดินเล่นแถวฝั่งธนกัน เกิดมาไม่เคยไปเลยแถวนั้นเลย ไปมากสุดก็วัดอรุณ  แต่หนนี้เพื่อนอ้อจะพาเจาะลึกเลยค่ะ   

plan ที่เพื่อนวางไว้คร่าวๆ 

- วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
- วัดประยูรวงศาวาส วรวิหาร
- โบสถ์ซางตาครูส
- ศาลเจ้าแม่กวนอิม
- สวนสมเด็จย่า
- ศาลเจ้ากวนอู

   อ้อ...นอกจากโปรแกรมเที่ยวแล้วยังมีโปรแกรมชิมด้วยค่ะ  เราจะไปชิมขนมฝรั่งกุฎีจีน  ของดังประจำย่านนี้กันค่ะ 

Smiley Smiley Smiley

เริ่มต้น  เราลง BTS ที่สถานีสะพานตากสิน  เตรียมลงเรือด่วนเจ้าพระยา  โดยเราขึ้นที่ท่าราชินี    เสร็จแล้วนั่งตุ๊กๆ  ไปลงเรือที่ข้ามฟากไปวัดกัลยาณมิตรค่ะ



บรรยากาศจากเรือ...มองเห็นโบสถ์ซางตาครูสอยู่ไม่ไกล  จากวัดกัลยาณมิตรน่าจะพอเดินไปได้ค่ะ



นั่งเรือแป๊บเดียว ก็ถึงแล้วค่ะ วัดกัลยาณมิตร


วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติม สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร 


และทรงสร้างพระราชทานทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง กรุงเก่า 


หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ 


ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย




พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วย




หน้าพระวิหารหลวงยังมีหอระฆังฝีมือคนรุ่นใหม่ สำหรับไว้ระฆังยักษ์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทางเข้าวัดมีเจดีย์หิน ทำมาจากเมืองจีน เรียกว่า ถะ เป็นศิลปะจีนที่งดงามมาก




เสร็จแล้วเราก็เดินต่อไปที่โบสถ์ซางตาครู้สค่ะ 

เรื่องลัดเลาะซอกซอยไม่มีใครชำนาญเท่าเพื่อนอ้อเจงๆ Smiley



ถึงแล้วค่า...



เราที่นี่กันต่อนะคะ.....โบสถ์ซางตาครู้ส

วัดซางคาครู้ส Santa Cruze Church เป็นโบสถ์หรือวัดคาทอลิก ซางตาครู้ส ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า “ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์” ชาวบางกอกในยุคนั้นจึงเรียกแถบนี้ว่า “กุฏิจีน”


โบสถ์ซางตาครู้สนี้ไม่ใช่หลังแรกนะคะ

ในสมัยคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส โบสถ์หลังที่ 2 ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1835 อยู่ในสภาพที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมากเกินไปกว่าที่จะทำการบูรณะซ่อมแซมให้งดงามดังเดิมได้

คุณพ่อกูเลียลโม จึงได้สร้างวัดหลังใหม่ขึ้นคือโบสถ์หลังปัจจุบัน ภายในเวลา   2 ปี 3 เดือน โบสถ์หลังใหม่ก็สร้างเสร็จใหญ่โตงดงามตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อกูเลียลโม ซางตาครู้ส  กางเขนศักดิ์สิทธิ์ งามสง่าบนยอดโดมดังพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าที่โบกต้อนรับและเสมือนแสงสว่างแห่งความหวัง ที่โปรดปรายมาสู่เหล่าสัตบุรุษทั้งหลาย

วัดซางตาครู้สหลังที่ 3 นี้ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบเรเนสซองส์ แบบนีโอ-คลาสสิคและเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีผังเป็นรูปเลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวขวางหันหน้าไปทางทิศเหนือ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยความงามสง่าทางสถาปัตยกรรม ที่รังสรรค์อย่างบรรจง และสิ่งที่น่าสนใจในการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับหรือบานประตูหน้าต่างที่ทำเป็นรูป ไม้ กางเขน ตามชื่อของวัด  นอกจากจะคงความหมายที่สำคัญแล้วยังช่วยเพิ่มความงดงามให้กับตัวอาคารยิ่งขึ้น ทำให้โบสถ์ซางตาครู้สเป็น
อาคารสถาปัตย์ในคริสต์ศาสนาที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย



เพื่อนหริถ่ายรูปโบสถ์ซางตาครูสซะกลายเป็นหอเอนเมืองปิซ่าเลย (หล่อนมาสารภาพตอนหลังว่าแดดมันร้อนค่ะ  มองไม่เห็น)






พระเยซูหน้าโบสถ์ซางตาครูส








น่าเสียดายที่เราอดเข้าไปชมความงามในโบสถ์ เพราะเค้าเปิดตอนห้าโมงเย็นค่ะ เราเลยต้องไปที่อื่นต่อ

อ้อ...ก่อนไป แวะชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนกันก่อนนะคะ


แถมอีกนิด  ที่มาของชื่อกุฎีจีน  มาจากเมื่อก่อนแถวนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวคาทอลิก (คริสตัง) เชื้อสายญวนและโปรตุเกส ซึ่งมีกล่าวไว้ในหนังสือ  "สาสน์สมเด็จ"  ว่า

"...ส่วนฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่เคยอยู่  พระนครศรีอยุธยา ก็ให้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำใต้กฎีจีนต่อลงไป จึงเรียกกันว่าฝรั่งกฎีจีน"  ซึ่ง "ฝรั่งกฎีจีน" นี้เป็นคำแสดงให้เห็นว่าพวกฝรั่งโปรตุเกสย้ายเข้ามาอยู่บริเวณนี้หลังชาวจีน เพราะชื่อกุฎีจีนนั้นมีมาก่อนแล้ว


ว่าแต่... เอาร้านไหนดีนะ



คุณป้ากำลังทอดครองแครงกรอบ (มั้ง)


ขนมเยอะเลย  มีมากมายหลายแบบเลยค่ะ


ขนมฝรั่งกุฎีจีน Smiley

เอกลักษณ์ของขนมชนิดนี้อยู่ที่เป็นขนมลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง

ตัวขนมเป็นตำรับของโปตุเกส ขณะที่หน้าของขนมเป็นจีนซึ่งประกอบด้วยฟักเชื่อม ชาวจีนเชื่อว่ารับประทานแล้วจะร่มเย็น น้ำตาลทรายทานแล้วจะมั่งคั่งไม่รู้จบเหมือนกับน้ำตาลทรายที่นับเม็ดไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีลูกพลับอบแห้ง และลูกเกด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีราคาและมีคุณค่าทางอาหาร


แม้ขนมฝรั่งหน้าตากระเดียดมาทางขนมเค้ก แต่ด้วยสูตรพิเศษที่สืบทอดมาแต่โบราณจะใช้เพียงไข่ แป้งสาลี และน้ำตาลทรายแดงเท่านั้น  ไม่มีส่วนผสมของเนยนม ยีสต์ ผงฟู และสารกันบูด


แต่เมื่อผ่านการอบด้วยอุณหภูมิความร้อนที่พอเหมาะ จะได้ขนมที่ออกมารสชาติกรอบนอกนุ่มในพอดิบพอดี ยากที่จะเลียนแบบ



รสชาติขนมฝรั่งกุฎีจีน เราว่าเหมือนขนมไข่นะ  แต่ข้างนอกจะกรอบ  และเนื้อข้างในร่วนกว่านะ



เดินไปเลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปศาลเจ้าแม่กวนอิม (เกียนอันเกง) ค่ะ  บรรยากาศดีสุดๆ



ระหว่างทางเดิน เราจะเห็นบ้านเก่า หลังใหญ่หลังนึงค่ะ   ลวดลายสวยงามมาก แต่ก็ยังดูทรุดโทรมอยู่มาก


แอบไปค้นในเน็ตพบว่ามีคนพูดถึงบ้านหลังนี้ด้วยนะ  เค้าว่ามีประวัติเคยเป็นบ้านของหลุยส์วินเซอร์ เชียว สมัยนั้นคงจะหรูหรามากเลยนะคะ    Smiley


เสียดายนะ ถ้าบูรณะดีๆ ค้นประวัติสักหน่อย เราว่าเป็นที่เที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกที่เลย อยู่ไม่ไกลจากโบสถ์ซางตาครู้สด้วย



มาถึงแล้วค่า ศาลเจ้าแม่กวนอิม (เกียนอันเกง)








ที่ชุมชนริมคลองวัดกัลยาณมิตร ตรงข้ามบริเวณปากคลองตลาด มีศาลเจ้าเก่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังมีสภาพสมบูรณ์และงดงามเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง เล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้ 


โดยแรกเริ่มสร้าง 2 ศาลตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ศาลหนึ่งประดิษฐานเจ้าพ่อโจวซือกง ส่วนอีกศาลนั้นประดิษฐานเจ้าพ่อกวนอู ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น บรรดาชาวจีนในบริเวณนี้ได้อพยพไปอยู่ที่ย่านตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้าทั้ง 2 ศาลนี้จึงถูกทิ้งร้างไป


  เมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร หรือเจ้าสัวโต สร้างวัดกัลยาณมิตรขึ้นเมื่อปี 2368 มีชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนเดินทางมากราบไหว้ที่ศาลเจ้าทั้งสองนี้ แล้วรื้อลงพร้อมกับสร้างเป็นศาลเจ้าใหม่ในบริเวณเดิม แต่สร้างเป็นศาลเดียว 


อีกทั้งยังอัญเชิญเจ้าพ่อโจวซือกงและเจ้าพ่อกวนอูไปประดิษฐานไว้ที่อื่น แทนที่ด้วยองค์เจ้าแม่กวนอิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง”







ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแนวเสาประดับด้านหน้าบริเวณทางเข้าตรงกลาง ประตูทางเข้าวาดเป็นรูปเสี้ยวกาง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม 


ส่วนด้านบนหลังคาที่มุงกระเบื้องลอนไม้ไผ่ประดับงานปูนปั้นรูปมังกรหันหน้าเข้าหาลูกแก้วไฟ ตามแบบอย่างวัดจีนที่สร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับรูปแบบดั้งเดิมที่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก











นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งอาคารด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังนูนต่ำรูปเทพเจ้าและลวดลายสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ที่งดงาม รวมถึงงานไม้สลักลวดลายจีนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์และหาดูได้ยากอีกด้วย





  แม้จะได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง แต่สังเกตจากรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ไม่น่าจะต่างไปจากของเดิมมากนัก โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับศาลเจ้าเกียนอันเก็ง นอกจากนี้บริเวณด้านข้างยังมีร่องรอยที่พักอาศัยของชาวจีนในอดีต ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในละแวกศาลเจ้าด้วยค่ะ


Smiley Smiley Smiley


ก่อนจะไปต่อที่อื่น เราแวะทานข้าวเที่ยงกันหน่อยดีกว่าค่ะ

มาที่ร้านนี้ "สวัสดี"  เห็นคนเข้าเยอะเลยค่ะ  ท่าทางจะน่าอร่อย



เมนู







อิชั้นสั่งน้ำแดงโซดามะนาว  จะบอกว่าหวานอย่างเดียว ไม่มีความซ่าเลย Smiley


เพื่อนๆอิชั้นสั่งก๋วยเตี๋ยวกัน



แต่อิชั้นสั่งเป็นอันนี้ค่ะ ก๋วยเตี๋ยวโบราณ  หน้าตาในรูปคล้ายๆเส้นใหญ่ลาดหน้าแบบขลุกขลิก

พอชิมของจริงแล้วให้ความรู้สึกเหมือนกินออส่วนมากกว่าค่ะ  เหนี๊ยว เหนียว



เอาล่ะ...ภารกิจช่วงเช้าของเราก็ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดีค่ะ


ต่อไปจะเป็นภาคบ่าย เราจะไปเที่ยววัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร กันต่อนะคะ









 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 15:16:18 น.
Counter : 5267 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

hi hacky
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




Life is a journey....
New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add hi hacky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.