Group Blog
 
All Blogs
 

บทความจากวารสารห้อง ป.1 - Materialistic



สวัสดีค่ะ ค้นคว้ามาเล่าฉบับนี้แม่แหม่มมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับวิธีคิดในการศึกษาวอลดอร์ฟมาฝากกันค่ะ

คุณพ่อคุณแม่หลายๆท่าน คงรู้สึกกังวลใจไม่น้อย เมื่อเราได้ยินได้ฟังข่าวคราวเกี่ยวกับเด็กๆ ในช่วงนี้ ที่ก่อเหตุทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ตั้งแต่เรื่องทะเลาะตบตีกันในโรงเรียน ไปจนกระทั่งถึงเรื่องทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งเด็กๆเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเรานึกไม่ถึงได้ด้วยวัยเพียงไม่ถึง 20 ปี เท่านั้น หลายๆคนมุ่งประเด็นของสาเหตุไปที่พื้นฐานครอบครัว บ้างก็ว่าเกมส์ หรือไม่ก็อิทธิพลจากสื่อ แน่นอนค่ะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของปัญหาเด็กในยุคนี้ แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปอีก แม่แหม่มเคยสงสัยค่ะว่า ในเวลาที่เด็กทำร้ายผู้อื่นเช่นนั้น ข้างในจิตใจของเด็กเขารู้สึกเช่นไร เขารู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ผู้ถูกกระทำจะรู้สึกหรือไม่ หรือเขาเห็นผู้อื่นเป็นเพียงวัตถุที่ไม่มีความรู้สึกใดๆ แม่แหม่มคิดว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้มันเชื่อมโยงอยู่กับคำคำหนึ่งที่ทุกคนคงจะคุ้นเคยกันดีคือ “แนวคิดแบบวัตถุนิยม” (materialistic)

แนวคิดแบบวัตถุนิยมหรือ materialistic ที่ว่านี้ มีความหมายกว้างค่ะ ไม่เพียงแค่การให้ความสำคัญต่อวัตถุอย่างมากมายอย่างที่เรารู้ๆกัน แต่หมายความรวมถึงการมองสิ่งต่างๆในโลกอย่างแยกส่วนเสมือนว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น เราจึงกระทำหรือแก้ปัญหาอย่างแยกส่วน ซึ่งการมองและการแก้ปัญหาแบบแยกส่วนนี้มักนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง แม่แหม่มนึกถึงตัวอย่างชัดๆสำหรับเรื่องนี้ที่อยากเอามาแบ่งปันเพื่อเป็นตัวอย่างของแนวคิดแบบวัตถุนิยมค่ะ เกษตรกรชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งชื่อฟูกูโอกะ เขามีชีวิตอยู่เมื่อสมัย 60 ปีที่แล้ว (แต่ปัจจุบันนี้แม่แหม่มไม่กล้า confirm ค่ะ) นับได้ว่าเขาเป็นผู้ปฏิวัติเกษตรกรรมของญี่ปุ่นให้เป็นเกษตรกรรมธรรมชาติในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ฟูกูโอกะผันชีวิตจากคนเมืองมาเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวนส้ม ตามแนวทางของพ่อโดยปรัชญาของเขาคือ การทำเกษตรกรรมแบบไม่กระทำ คือเขาไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ฟูกูโอกะเชื่อว่าสิ่งที่เกษตรกรทำกันอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นไม่ได้ช่วยให้ชาวนาได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ชาวนาต้องการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดีจึงกำจัดวัชพืชโดยใช้ยาปราบศัตรูพืชและการไถพรวน ทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน และแมลงถูกกำจัดหมดไปด้วยยาพิษ อินทรีย์วัตถุ และจุลินทรีย์ในดินถูกทำลายจนหมดเกลี้ยงเพราะปุ๋ยเคมี ชาวนาต้องทำนาอยู่ในทุ่งนาพร้อมกับหน้ากากป้องกันยาฆ่าแมลง และสวมถุงมือยางถึงข้อศอก ผลที่ได้คือธรรมชาติขาดสมดุล ความไร้สมดุลทำให้โรคพืชและแมลงกลายเป็นปัญหาใหญ่ พืชที่ได้ขาดความแข็งแรงและเป็นโรคมาก ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ ทุ่งนาเหล่านี้เพาะปลูกอย่างต่อเนื่องมานานหลายชั่วอายุคนแต่กลับมาถูกทำลายในช่วงอายุคนเดียวในยุคปัจจุบัน ฟูกูโอกะทำเกษตรโดยไม่ไถพรวน ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช ไม่ใช้ปุ๋ย ผลที่ได้คือเขามีที่นาที่มีระบบนิเวศน์ที่สมดุล แม้จะมีแมลงที่เป็นศัตรูพืชอาศัยอยู่ แต่มันก็ไม่มากถึงขั้นที่ทำลายต้นพืชจนต้องใช้ยาฆ่าแมลง แม้จะมีวัชพืชอยู่ แต่ก็ไม่มากถึงขั้นที่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช ทั้งนี้เพราะระบบนิเวศน์ที่เป็นอยู่ส่งเสริมและกีดกัดกันอย่างสมดุล ผลผลิตที่ได้มีปริมาณมากและพืชมีความแข็งแรงด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า แม่แหม่มเล่าเรื่องฟูกูโอกะมาซะยาวก็เพื่ออยากยกประเด็นให้เห็นตัวอย่างของสังคมที่มีแนวคิดแบบ materialistic ว่ามีพื้นฐานมาจากการมองปัญหาหรือเรื่องราวใดๆแบบแยกส่วน ชาวนาที่ใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่กล่าวถึงมองปัญหาที่เกิดกับที่นาแบบแยกส่วนซึ่งเป็นรูปแบบของวิธีการคิดสังเคราะห์ (Synthesis) และเป็นพื้นฐานของแนวคิดแบบวัตถุนิยม

การคิดแบบสังเคราะห์คือการมองสิ่งต่างๆจากส่วนย่อยๆ ชาวนามองปัญหาที่เกิดกับผลผลิตเป็นส่วนย่อยๆ คือ ปัญหาจากแมลงจึงหาทางกำจัดแมลงโดยใช้ยา โดยไม่สนใจว่าเมื่อกำจัดแมลงชนิดหนึ่งสิ่งที่อยู่ในห่วงโซ่ชีวิตของแมลงนั้นๆก็จะได้รับผลกระทบด้วย นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อีกมาก ผลสุดท้ายคือดินไม่มีคุณภาพ พืชไม่แข็งแรง เรามักพบเห็นการคิดและการแก้ปัญหาจากการคิดแบบสังเคราะห์อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ทฤษฎีอะตอมมองสิ่งต่างๆว่าประกอบขึ้นมาจากอะตอมซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุดที่จะรวมกันขึ้นมาเป็นสิ่งต่างๆได้ เด็กๆในโรงเรียนจำนวนมากถูกสอนโดยเน้นรูปแบบการคิดที่เป็นแบบคิดสังเคราะห์ คิดจากส่วนย่อย และมีคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียวจากคำถามที่ได้รับ

การคิดสังเคราะห์ที่มากเกินไปนำไปสู่แนวคิดแบบวัตถุนิยม ถ้าจะกล่าวถึงสังคมปัจจุบัน ปัญหาในระดับที่น่ากลัวและใกล้ตัวกว่าเรื่องการทำการเกษตรของชาวนาในสมัยของฟูกูโอกะก็คงต้องขอกล่าวถึงปัญหาที่พาดหัวข่าวไว้ตั้งแต่ต้นคือเรื่องของพฤติกรรมเด็กในยุคนี้ ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วๆไปในปัจจุบันหากเน้นการคิดแบบสังเคราะห์ที่มากเกินไป จะนำเด็กไปสู่การมองแบบแยกส่วน ซึ่งรวมไปถึงการมองมนุษย์แบบแยกส่วนด้วย ไม่ได้มองมนุษย์เป็นภาพรวมว่ามนุษย์หนึ่งคนนั้นมีความเกี่ยวพันกับมนุษย์คนอื่นๆ เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีร่างกาย จิตใจ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ แต่มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวพันใดๆ มองมนุษย์เป็นเพียงจุดเล็กๆที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไร เป็นเพียงวัตถุหรือบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้มีความแตกต่างหรือพิเศษจากสิ่งอื่นๆ ทำให้มองข้ามความมีชีวิต จิตใจ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ ดังนั้นการที่เด็กทำร้ายผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่ายเนื่องจากมองข้ามความรู้สึกและจิตใจของผู้ถูกกระทำไปเสียแล้ว

การคิดแบบสังเคราะห์ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย มันจะเกิดประโยชน์หากเราใช้อย่างพอดีและใช้ควบคู่ไปกับวิธีคิดอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า การคิดแบบวิเคราะห์ (Analysis) อย่างสมดุล แนวคิดแบบวิเคราะห์เป็นการคิดจากภาพรวมแล้วจึงลงไปสู่ภาพย่อย ดังตัวอย่างในเรื่องของฟูกูโอกะ เขามองรูปแบบการทำเกษตรว่าต้องพึ่งพาความสมดุลของธรรมชาติ และมองเป็นภาพรวมว่าในธรรมชาติมีความสมดุลที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของสรรพสิ่ง เขาไม่แยกมองธรรมชาติออกเป็นส่วนย่อยๆ (แมลง วัชพืช ดิน อากาศ น้ำ) เพื่อจัดการและแทรกแซง

แม่แหม่มได้อ่านเจอว่า คุณลุงสไตเนอร์ของเรา (แหม..สนิทกันตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย) ได้อธิบายรูปแบบการคิดของเด็กๆสำหรับการศึกษาวอลดอร์ฟไว้ 2 รูปแบบอย่างที่ได้กล่าวไว้เช่นกัน ทั้งการคิดแบบสังเคราะห์ (Synthesis) และการคิดแบบวิเคราะห์ (Analysis) ซึ่งก็มีความแตกต่างอย่างกันอย่างที่ได้ยกตัวอย่างเอาไว้แล้ว คราวนี้เราลองมาดูกันค่ะว่าในโรงเรียนของลูกๆเรา เค้าจัดระบบการเรียนการสอนกันอย่างไรบ้าง เพื่อสนับสนุนระบบคิดแบบวิเคราะห์ เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวและเข้าใจง่ายกันก่อนเลยค่ะ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นสมุดงานของลูกเรามีผลงานเรื่องการบวก ลบ คูณ หาร ด้วยโจทย์แบบนี้ค่ะ 8 = __+__ หรือ 6 = __ x __ มากกว่าที่จะเป็น 3 + 5 = __ หรือ 3 x 2 = __ โจทย์ 2 โจทย์แรก เด็กมีได้หลายคำตอบค่ะ เช่นโจทย์แรกคำตอบอาจจะเป็น 3 + 5 หรือ 4 + 4 หรือ 2 + 6 หรืออะไรก็ได้ เด็กไม่ถูกจำกัดหรือตีกรอบความคิดเรื่องคำตอบ ภายในของเด็กจะไม่ถูกบีบคั้นให้ได้คำตอบเดียวเหมือนอย่างโจทย์ที่ 3 และ 4 ซึ่งต้องตอบว่า = 8 และ 6 เท่านั้นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ 2 โจทย์แรกเน้นวิธีคิดแบบวิเคราะห์ คือมองจากภาพรวม(ในที่นี้คือผลลัพธ์)แล้วจึงแยกย่อยลงไปหาส่วนประกอบ โจทย์ที่ 3 และ 4 เน้นวิธีคิดแบบสังเคราะห์ คือมองที่ส่วนประกอบย่อยก่อนนำไปสู่ภาพรวม นอกจากวิชาคณิตศาสตร์แล้วแม่แหม่มก็แอบไปรู้มาอีกค่ะว่าในวิชาอื่นๆ ก็เช่นกัน ลูกๆเราจะไม่ขาดแคลนการเรียนแบบคิดวิเคราะห์ โดยครูจะให้ภาพรวมแก่เด็กแล้วจึงย่อยภาพรวมนั้นลงสู่ภาพย่อยในภายหลัง รู้อย่างนี้แล้วเราคงเบาใจขึ้นเยอะค่ะว่าลูกๆของเราจะได้เรียนรู้โดยผ่านกระบวนการคิดที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแน่นอน

สำหรับสิ่งที่พ่อแม่อย่างเราๆจะช่วยสนับสนุนการคิดวิเคราะห์ให้กับลูกๆได้ คือการไม่ให้เหตุผลและการไม่ตอบคำถามแก่พวกเขาในวัยนี้ บางครั้งลูกอาจมีคำถามเช่น ดอกไม้เกิดจากอะไร การที่เราตอบไปว่าเกิดจากเมล็ด (หรือจากอะไรก็แล้วแต่) เท่ากับเรากำลังยึดเด็กไว้กับคำตอบเดียว ซึ่งในความเป็นจริงภาพรวมของอาณาจักรแห่งพืชมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งหากเราให้เวลาเขาได้สังเกตและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เด็กๆจะได้คำตอบมากมายในภายหลังว่าต้นไม้เกิดจาก ดิน น้ำ เมล็ดพืช ฝน แมลง ฯลฯ ซึ่งเขาจะค้นพบมันด้วยตัวเองว่ามีองค์ประกอบมากมายเพียงใดในการเกิดขึ้นมาเป็นต้นไม้หนึ่งต้น

หมดแล้วค่ะสำหรับเรื่องวิธีคิดในฉบับนี้ แต่รู้สึกไหมคะว่าแหม..เรื่องราวปัญหาเด็กที่เกริ่นนำไว้วันนี้มันช่างเกี่ยวโยงกับเรื่อง Reverence ที่เคยเขียนไว้ในฉบับที่แล้วซะจริง แน่นอนค่ะ เราคงไม่สามารถแยกส่วนกันอย่างเด็ดขาดได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันเกิดจากสาเหตุเดียวหรือปัจจัยเดียว แต่ทุกอย่างเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันเป็นภาพรวมค่ะ......ฉบับนี้ลาไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ

เนื้อหาข้อมูลจาก study group กลุ่ม “พ่อแม่อยากรู้”
โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2551    
Last Update : 5 ตุลาคม 2551 17:12:41 น.
Counter : 490 Pageviews.  

บทความจากวารสารห้อง ป.1 - Reverence



สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับค้นคว้ามาเล่า แม่แหม่มก็เลยขันอาสาพาเรื่องเล่าที่มีสาระบ้างไม่มีสาระบ้างมาระบาย เอ้ย มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ฉบับแรกนี้ขอเริ่มต้นจากเรื่องเบาๆใกล้ๆตัว เรียกน้ำย่อยกันก่อนน่าจะดีนะคะ.......

คุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านคงเคยได้ยินกันมาหลายต่อหลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดถึงต่อไปนี้ แต่ตัวแม่แหม่มเองก็ต้องยอมรับค่ะว่า เพิ่งจะเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้ เมื่อไม่นานมานี้เอง ก็เลยอยากจะเก็บเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังให้คุณพ่อคุณแม่ของลูกๆเราได้ประโยชน์ร่วมกัน ก่อนอื่นต้องขอท้าวความไปถึงที่มาซึ่งจุดประกายให้นึกอยากเล่าเรื่องนี้ก่อนนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าร่วมสนทนาพาที พี่กับน้อง ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา ยังจำประเด็นคำถามที่คุณแม่ท่านหนึ่งถามขึ้นมาก่อนที่จะจบการสนทนาได้ ด้วยคำถามที่ว่า การที่ให้เด็กได้ทำงานบ้านโดยที่เด็กทำเพราะถูกบังคับว่าต้องทำ ไม่ได้มีความยินดีที่จะทำงานนั้น เช่นนี้แล้วจะมีประโยชน์หรือไม่ที่จะให้เด็กทำงานนั้นๆในทุกๆวัน.....ถึงตรงนี้เราคงเคยได้ยินครูที่รร.แห่งนี้บอกเราหลายต่อหลายครั้ง เรื่องการให้เด็กได้ช่วยงานบ้าน ตั้งแต่ลูกอยู่อนุบาล จนบัดนี้ลูกเราเรียนป.1 แล้ว ครูน้ำค้างก็ยังคงย้ำเรื่อง การให้ลูกมีหน้าที่ในบ้าน พอฟังเรื่องงานบ้าน หลายๆท่านคงนึกไปถึงเป้าประสงค์ของการให้เด็กได้มีหน้าที่งานในบ้าน ซึ่งนั่นเกี่ยวพันไปถึงเรื่องการสร้างเจตน์จำนง (will) ให้เกิดแก่เด็ก แต่พอแม่แหม่มฟังคำถามที่ว่านี้แล้วกลับนึกเลยไปถึงเรื่อง Reverence ซะได้นี่ วันนี้แม่แหม่มจึงขอแปะโป้งข้ามเรื่อง will ไปก่อน แต่จะหยิบยกประเด็นงานบ้านที่ว่านี้มาพูดคุยกันโดยพาดพุง เอ้ย พาดพิงไปถึงพระเอกในวันนี้ของเรา “Reverence”

Reverence หมายถึงการเคารพ การเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้วสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเชียวค่ะ มันมีความหมายสำหรับอนาคตเด็กทั้งชีวิตทีเดียว เราคงเคยเห็นผู้คนจำนวนมากที่ไม่ค่อยจะพอใจอะไรง่ายๆ เขาเหล่านี้จึงมักหงุดหงิด เป็นทุกข์เป็นร้อน กับสิ่งต่างๆรอบๆตัวเสมอ เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขามองข้ามคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ตรงหน้า และแม้ว่าเขาจะได้สิ่งที่เขาต้องการ แต่การไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มาก็กลับทำให้เขาไม่อาจมีความสุขได้เท่าที่ควรจะเป็น เราคงเคยได้ยินบ่อยครั้งถึงบุคคลที่คิดว่าตัวเองล้มเหลวและไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่คิดว่าเป็นความล้มเหลวนั้นได้ หลายๆครั้งบทสรุปของเรื่องเหล่านี้จึงจบลงด้วยการทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนรอบข้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บุคคลที่มีความเคารพ และเห็นคุณค่าของตัวเอง ของสรรพสิ่งรอบตัว จะเป็นผู้ที่หาความสุขได้โดยง่าย ที่จริงแล้วต้องเรียกว่ามีความสุขได้ง่ายมากกว่าที่จะใช้คำว่า “หา” ความสุขถึงจะถูก เราลองจินตนาการดูนะคะว่าจะดีซักแค่ไหนหากเราจะมีความสุขได้แม้เพียงเราได้รับประทานอาหารมื้อธรรมดาๆที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมื้ออาหารในร้านอาหารหรู หรือเราจะมีความสุขได้แม้เพียงการมีชีวิตที่เรียบง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขอื่นใด ใช่ค่ะ การเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ จะนำพาให้เรารู้สึกเป็นสุขได้ในทุกๆกระบวนการ ทุกๆขั้นตอน และทุกๆจังหวะของชีวิต ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงเป้าหมายที่ต้องเดินไปให้ถึงเท่านั้นที่จะทำให้เรามีความสุขได้ แต่ทุกๆก้าวย่างที่เดินไปเพื่อจุดหมายนั้นล้วนเป็นก้าวที่มีความสุขได้ทั้งสิ้น และนั่นมาจากความรู้สึกและเห็นถึงคุณค่าของสรรพสิ่งที่เราได้รับ

ครูและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนวอลดอร์ฟ บ่มเพราะความรู้สึกของการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆรอบตัว ต่อธรรมชาติที่อยู่แวดล้อม ต่ออาหารที่ได้รับประทาน ต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียน ด้วยกิจกรรมต่างๆมากมายเช่น การกล่าวบทกวีขอบคุณแสงตะวัน ขอบคุณอาหาร ขอบคุณโลก อย่างที่เราๆ เคยได้ยินลูกๆท่องตั้งแต่สมัยอนุบาล การต้อนรับการกลับมาของฤดูกาลต่างๆ ในรอบปี การเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ การให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่มเพาะให้เกิดความรู้สึกผูกพันและเห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งต่างๆ รวมถึงบุคคลรอบๆตัว อยู่เสมอๆ

เรา..ในฐานะพ่อแม่ก็สามารถมีส่วนช่วยให้ลูกเติบโตมาอย่างมีความสุข เห็นคุณค่าของตัวเอง ของผู้อื่น ของสิ่งที่ทำ ของงานที่ได้รับมอบหมาย และเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆที่ได้รับมาได้เช่นกัน ง่ายๆค่ะด้วยการเป็นต้นแบบที่ดี สำหรับวัยแห่งการเลียนแบบของลูกๆเราเช่นนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเป็นต้นแบบที่ดี หากผู้ใหญ่ทำกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับเด็ก แสดงให้เด็กเห็นว่าเราทำงานนั้นๆด้วยความรัก ความละเอียดรอบคอบ มีลำดับขั้น มีความตั้งใจ ใส่ใจ หรือเป็นตัวอย่างที่ดีในความเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบๆ ตัว ลูกๆจะซึมซับทัศนคติและพฤติกรรมเหล่านี้ไว้ภายใน แม้เพียงการบรรจงวางเศษหินลงในที่ที่เขาเคยอยู่ การสัมผัสใบไม้อย่างอ่อนโยน การเก็บสิ่งของเหลือใช้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นระบบระเบียบ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเพียงพฤติกรรมเล็กๆ แต่นั่นถือเป็นต้นแบบที่ดีมากสำหรับเมล็ดพันธุ์น้อยๆของพวกเรา เมื่อลูกๆของเราเติบโตเขาจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยพื้นฐานของการเห็นคุณค่า พื้นฐานของความสุข และสามารถทำสิ่งต่างๆด้วยความรัก มีความสุขที่ได้ทำ ทำด้วยความใส่ใจ ทำด้วยความเคารพ มิใช่ทำเพียงเพื่อให้เสร็จๆไป

มาถึงตรงนี้คงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามที่ได้พาดหัวไว้แต่แรกแล้วนะคะ.....แน่นอนค่ะ การเป็นตัวอย่างในการกระทำ ร่วมลงมือทำงานด้วยความรักไปพร้อมๆกับลูก และการมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆรอบตัว จะเป็นต้นแบบที่ดี เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของ Reverence ในตัวลูกๆของเรา และเมื่อเป็นเช่นนี้เราคงไม่ต้องห่วงอีกต่อไปว่าลูกจะทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเสียไม่ได้ อย่างเบื่อหน่าย เพราะงานนั้นๆ มีคุณค่าเหลือเกินสำหรับเขา ที่เหลือเราก็มาอดใจรอดูไปพร้อมๆกันค่ะ รอวันที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ จะงอกเงยและผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมเมื่อเขาเติบโต

พูดไปพูดมาก็เพลินแทบจะจบไม่ลง แหมยังมีเรื่องอีกมายเชียวค่ะที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดอยากให้แม่แหม่มเล่าเรื่องใดที่สนใจเป็นพิเศษ ฝากกันมาได้เลยนะคะผ่านตัวแทนห้องได้เลย แม่แหม่มจะสรรหามาเล่าให้ฟังกันค่ะ วันนี้ต้องลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

เนื้อหาข้อมูลจาก study group กลุ่ม “พ่อแม่อยากรู้”
โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2551    
Last Update : 5 ตุลาคม 2551 17:04:11 น.
Counter : 198 Pageviews.  

Willing, Feeling, Thinking



ในการอบรมและสนทนาเรื่องการศึกษาของลูกหลายๆครั้ง ได้ยินคำ 3 คำนี้ เสมอๆ วันนี้เลยอยากนำคำ 3 คำนี้มาพูดไว้ใน blog เพราะมันมีนัยที่เกี่ยวโยงได้ถึงสภาพสังคมปัจจุบัน

Willing หมายถึง เจตต์จำนงในการกระทำหรือตั้งใจลงมือปฏิบัติสิ่งใดก็ตามจนบรรลุผลสำเร็จ

เราสามารถฝึกหรือปลูกฝังให้เด็กหรือมนุษย์แต่ละคนมี willing ได้ โดยที่การปลูกฝังนี้ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็กหรือวัยอนุบาล จะยิ่งได้ผลมาก ครูจะมอบหมายงานซึ่งเป็นความรับผิดชอบให้เด็กได้ลงมือ "กระทำ" ในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ เช่น พี่โตบางคน (เด็กอนุบาล 3) มีหน้าที่ต้องล้างห้องน้ำในทุกๆวัน บางคนต้องล้างจานหลังทานอาหารกลางวัน บางคนมีหน้าที่จัดโต๊ะอาหารกลางวันทุกวัน ทุกคนต้องทำงานทอผ้าของตัวเองในทุกๆเช้าจนกว่าชิ้นงานจะเสร็จสมบูรณ์ รวมไปถึงการกระทำกิจวัตรซ้ำๆในแต่ละวัน เช่น การเก็บที่นอนของตัวเองเมื่อตื่น

ครอบครัวมีผลอย่างมากเช่นกัน ที่บ้าน เด็กต้องมีหน้าที่ที่ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปลูกฝังเจตต์จำนงในตัวเด็ก เป็นต้นว่า เด็กควรมีส่วนร่วมในการช่วยเตรียมอาหาร เตรียมโต๊ะอาหาร หรือล้างจานหลังมื้ออาหารฯลฯ นอกเหนือไปจากเรื่องพื้นฐานของการดูแลตัวเองจำพวก อาบน้ำ แปรงฟัน เก็บที่นอนของตัวเอง

การปลูกฝังลักษณะเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้เด็กเป็นผู้มีความตั้งใจในการกระทำสิ่งใดจนบรรลุผลสำเร็จ ไม่จับจด ไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรค และไม่รอให้คนอื่นทำให้

Feeling หมายถึง การมีความสามารถในการเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ความเข้าใจผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความมีน้ำใจและโอบอ้อมอารีย์ การช่วยเหลือผู้อื่น ความรักในเพื่อนมนุษย์และโลกใบนี้

การปลูกฝังให้เด็กมี Feeling ที่สวยงามนี้ โรงเรียนจะใช้วิธีการปลูกฝังโดยผ่านทาง งานศิลปะ และดนตรี ซึ่งมีความละเอียดอ่อน พร้อมกับการให้ภาพลักษณ์ที่สวยงามแก่เด็ก ทั้งภาพลักษณ์ทางธรรมชาติ และภาพลักษณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของความดีงาม รวมถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กในการแสดงโลกของครู การเป็นตัวอย่างที่ดีมีผลอย่างมากในช่วงวัยก่อน 7 ปี และเมื่อเด็กเริ่มเรียนชั้นประถม การให้ภาพลักษณ์ที่สวยงามจะมีผลโดยตรงต่อจิตใจของเด็ก

ครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการปลูกฝังด้าน Feeling ได้เช่นเดียวกันกับโรงเรียน ด้วยการให้ภาพที่สวยงามแก่เด็ก และการเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อเหมาะแก่การเลียนแบบของเด็กๆ

การปลูกฝังและให้แบบอย่างภาพที่สวยงามแก่เด็ก จะบ่มเพาะให้เด็กเติบโตมาเป็นผู้มีจิตใจสวยงาม เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์โลก

Thinking หมายถึง ความสามารถในการคิด คำนวณ เข้าใจ และ ริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ

กระบวนการในการบ่มเพาะให้เด็กมี Thinking เริ่มต้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กเลยทีเดียว การที่เด็กได้เล่นตามวัย ได้ขยับแข้งขา วิ่งเล่น ปีนป่าย เป็นการสร้างระบบเครือข่ายเส้นใยประสาทที่มีผลต่อการคิดคำนวณในอนาคต การไม่ให้ข้อมูลอย่างมากมายแก่เด็กตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อให้เด็กได้ค้นหาข้อมูลความจริงของสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองเมื่อวัยถึงพร้อม เป็นการสร้างสถานการณ์ความอยาก และกระหายใคร่รู้ ในสิ่งที่เด็กยังไม่รู้แก่ตัวเด็กเอง ความกระหายใคร่รู้กอปรกับวัยที่ถึงพร้อมในการเก็บเกี่ยวข้อมูลความจริงต่างๆด้วยตัวเอง จะเป็นแรงส่งเสริม และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ให้เกิดการคิดและการค้นคว้าและตอบคำถามต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

โรงเรียนจะสนับสนุนให้เด็กมี Thinking ด้วยระบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ไม่ให้ข้อมูลในเชิงปริมาณเพียงเพื่อให้สมองได้มีข้อมูลปริมาณมากไว้เพื่อการทดสอบและแข่งขัน เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้สมองระดับกลาง (สมองส่วนที่ใช้เพื่อเก็บข้อมูลและความจำ) แต่จะสร้างกระบวนการเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตัวเองแก่เด็ก เด็กจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในเชิงลึกตามความถนัดและความสนใจ (โดยใช้สมองระดับสูง ซึ่งเป็นส่วนที่มีไว้สำหรับคิด คำนวณ และสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสมองที่มีในมนุษย์เท่านั้น)

ครอบครัว สามารถสนับสนุนการทำงานของโรงเรียน โดยการไม่เร่งรัด ยัดเยียด เนื้อหาทางวิชาการแก่เด็กในวัยที่ยังไม่เหมาะสม และสนับสนุนการเล่นและกิจกรรมตามวัย

สำหรับผู้ที่ได้รับการพัฒนาทั้ง 3 ด้านอย่างไม่สมดุล ผลที่เกิดอาจเป็นได้ตามนี้

มนุษย์ผู้มี Willing และ Feeling แต่ขาด Thinking
จะเป็นผู้มีความตั้งใจในการทำสิ่งใดให้สัมฤทธิ์ผล โดยคำนึงถึงความดีความงาม และศีลธรรมอันดี เพียงแต่จะขาดความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ บุคคลลักษณะนี้น่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ดี ตามคำสั่งหรือผู้เป็นหัวหน้างานได้

มนุษย์ผู้มี Feeling และ Thinking แต่ขาด Willing
จะเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถคิดสร้างสิ่งดีงามได้ แต่บุคคลผู้นี้จะขาดความสามารถในการลงมือปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นให้สัมฤทธิ์ผล หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ อาจกลายเป็นบุคคลประเภทเพ้อฝัน

มนุษย์ผู้มี Willing และ Thinking แต่ขาด Feeling
จะเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ และสามารถลงมือปฏิบัติจนสำเร็จได้ แต่ในการคิดสร้างสรรค์นั้นจะขาดความยั้งคิดในเรื่องของความดีงาม อาจสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นพิษภัย ต่อสังคม หรือถ้าจะพูดในขั้นรุนแรง บุคคลผู้มีลักษณะเช่นนี้ อาจเป็นได้ถึง อาชญากร

........................................................................................................
ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมและสรุปความเข้าใจจากการศึกษาเรื่อง Willing, Feeling, และ Thinking โดยไม่ขออ้างอิงจากตำราเล่มหนึ่งเล่มใดโดยเฉพาะ




 

Create Date : 01 มีนาคม 2551    
Last Update : 2 มีนาคม 2551 0:11:13 น.
Counter : 845 Pageviews.  

Ready to Learn - Part I



Ready to Learn เป็นหนังสือเกี่ยวกับวิถีทางที่เด็กเล็กๆ เรียนรู้ พวกเขาสามารถพัฒนาและค้นพบศักยภาพได้ดีที่สุดขนาดไหน แต่ไม่ใช่วิธีการเร่งเรียน เพื่อค้นหาคำตอบว่าเมื่อใดเด็กๆจึงจะพร้อมกับการศึกษาในรูปแบบ (Formal Schooling)

เด็กๆ ในยุคปัจจุบันแสดงอาการผิดปกติเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ความขี้กังวล ความเครียด Hyperactivity ความผิดปกติในเรื่องการทานอาหารและการนอน กลุ่มอาการออทิสติค รวมถึงความบกพร่องในเรื่องการอ่าน (Dyslexia)

สำหรับเด็กปกติทั่วๆไป เราจะสังเกตเห็นการสูญเสียธรรมชาติของเด็กๆได้ตั้งแต่เริ่มไปโรงเรียนได้ไม่กี่วัน ในระยะยาวขึ้นเด็กๆแสดงถึงอาการอ่อนล้าหรือแม้กระทั่งการ "ปิดสวิตซ์" จากการเรียนหนังสือ วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันก็มิได้เอื้ออำนวยกับเด็กเท่าไหร่

วัยเด็กควรจะเป็นวัยที่พัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาเป็นไปอย่างสอดคล้องกลมกลืน การมองข้ามความซับซ้อนและลึกซึ้งของมนุษย์ ก็ยังอาจทำให้เราได้ความคิดที่ดูดี แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะได้วิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากมัน

ลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของกลุ่มโรงเรียนวอลดอร์ฟ (รูดอร์ฟ สไตเนอร์ เป็นผู้บุกเบิกแนวการศึกษานี้) คือ การนำเอาพัฒนาการของเด็กมาเป็นแกนกลางในการสร้างหลักสูตและวิธีทางการศึกษา เด็กๆ ได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่การกดดันให้เรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นบูรณาการอย่างแท้จริง

Early Learning Options

หลายประเทศได้ค่อยๆพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตน รวมถึงเกณฑ์อายุด้วย ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดจะเป็นในช่วงการศึกษาปฐมวัย หลายๆประเทศ เช่นกลุ่มสแกนดิเนเวีย จะใช้ระบบที่บุกเบิกโดย ฮังการีและสวิตเซอร์แลนด์ คือ ระบบอนุบาล ซึ่งมีการศึกษาแบบไม่เป็นวิชาการและเรียนรู้ผ่านการเล่น กลุ่มนี้จะให้เด็กเข้าสู่การเรียนในระบบ เมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ

มีบางประเทศเริ่มเร็วกว่า 6 ขวบ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรให้เริ่มเรียนในระบบได้ตั้งแต่ 4 ขวบ

แรงผลักดันที่ให้เด็กเริ่มเรียนเร็วก็มาจากทัศนคติที่ว่า เด็กๆ จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษาและอาชีพในตอนโต "เริ่มก่อนได้ก่อน" ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมการแข่งขัน ซึ่งแนวคิดนี้ก็ดูเหมือนจะน่าเชื่อ เมื่อมีหลักฐานว่าเด็กสามารถเรียนได้ตั้งแต่อายุน้อยๆมาสนับสนุน แต่วิธีการแบบนี้ก็ใช้กันมานานพอที่จะเห็นผลเสียระยะยาว แถมยังมีการค้นพบกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งมาย้ำถึงอันตรายในเรื่องนี้อีกด้วย

มีสารคดีของ BBC เรื่อง "Two Much Too Soon" เมื่อ ค.ศ.1998 ได้นำเสนองานศึกษา 2 เรื่อง เรื่องแรกทำในฮังการี ทศวรรษที่ 1970 กับเด็ก 10,000 คน ศึกษาความแตกต่างที่ปรากฏกับเด็กที่เรียนเขียนหนังสือก่อนและหลังอายุ 6 ขวบ เรื่องที่สองเป็นโครงการ High/Scope ของสหรัฐอเมริกา เริ่มศึกษาเด็กอายุ 3-4 ปี กลุ่มหนึ่งที่มาจากครอบครัวยากจนเหมือนกันให้การศึกษาด้วยรูปแบบต่างกัน 3 แบบ เป็นเวลามากกว่า 30 ปี สรุปผลที่เกิดขึ้นคร่าวๆ ได้ว่า ในระยะกลางถึงระยะยาว เด็กๆกลุ่มเร่งเรียนไม่เพียงสูญเสียความได้เปรียบในการเรียน เมื่อโตขึ้นยังไม่ค่อยพอใจกับตัวเอง (ไม่ค่อยมีความสุข) และมีปัญหามากกว่าในการอยู่ร่วมสังคม

มีสารคดีอีกเรื่องของ BCC ชื่อ "Failing at four" ซึ่งติดตามชีวิตของ ด.ช.Max Harris อายุประมาณ 4 ขวบ ตั้งแต่อีกสองสัปดาห์กำลังจะเข้าโรงเรียนประถม พื้นฐานครอบครัวของเขาดี โรงเรียนก็ค่อนข้างมีชื่อเสียง ก็เห็นได้ว่า ภายในหนึ่งปีจากเด็กปกติ มีความสุข แข็งแรง คนหนึ่ง ได้กลายเป็นเด็กที่กลับมาดูดนิ้วและแสดงออกถึงความขี้หงุดหงิด ดื้อรั้น ขี้โมโห และโรงเรียนก็ได้กลายเป็นที่ที่ไม่น่าอภิรมณ์ สำหรับเขาไป

ใน ค.ศ.1997 ประเทศนอร์เวย์ ได้ลดเกณฑ์อายุดเด็กที่จะเข้า ป.1 จาก 7 ขวบมาเป็น 6 ขวบ ปรากฏว่าในปีนั้น เกิด Home School เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นถึงเสียงเงียบที่ไม่ไว้วางใจถึงนโยบายการเร่งเรียน

........................................................................................................
สรุปความบางตอนจากหนังสือชื่อ "Ready to Learn" โดยกลุ่ม "พ่อแม่อยากรู้" รร.แสนสนุกไตรทักษะ




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 19:42:00 น.
Counter : 297 Pageviews.  


แม่ของลูกสาว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แม่ของลูกสาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.