Say "La ilaha ill Allah"
Group Blog
 
All Blogs
 

<Al-Andalus> อัล-อันดาลูส : อารยธรรมมุสลิมแห่งยุโรป ตอนที่ 1

บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า "แขกมัวร์" ซึ่งมาจากภาษาสเปน "Moros" หรือ "Moors" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นชาวมุสลิมซึ่งครั้งหนึ่งเคยปกครองดินแดนอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า Al-Andalus




คาบสมุทรไอบีเรียซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสเปนและโปรตุเกสนั้น ถูกขนานนามว่า"อัล-อันดาลูส" ในช่วงเวลาที่มุสลิมได้ปกครองแผ่นดินแห่งนี้กว่า 8 ศตวรรษ และมุสลิมเองที่ได้ทำให้แผ่นดินแห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในที่ที่มีเสน่ห์และอารยธรรมมากที่สุดในโลก



ก่อนการปกครองของมุสลิมนั้น ไอบีเรียได้ถูกปกครองโดยชาววิสิกอธ(Visigoths) ซึ่งเคยตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน หลังจากที่อาณาจักรโรมันล่มสลาย ชาววิสิกอธจึงได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณคาบสมุทรไอบีเรีย และก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้น

อาณาจักรมุสลิมแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์(The Umayyad Dynasty) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ นครดามัสกัส ขณะนั้นได้ขยายอาณาจักรจากเปอร์เซียจรดริมมหาสมุทรแอตแลนติกในดินแดนแอฟริกาเหนือมัฆริบ อัลอักซอ(แปลว่า ตะวันตกไกลสุด = โมร็อกโก) จากเยเมนจรดอาร์เมเนีย ได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยการปกครองของคอลีฟะฮ์(กาหลิป) วะลีด บิน อับดุลมาลิก



ในปี ค.ศ 711 จูเลียน เคานต์แห่งเซอร์ตา หัวหน้าชาวคริสเตียนได้เดินทางไปยังเมืองค็อยรอวาน(ตูนิเซีย)เพื่อขอความช่วยเหลือจาก มูซา บิน นุซัยร์ ผู้ปกครองและแม่ทัพแอฟริกาเหนือ ของราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งนครดามัสกัส เรื่องความแตกแยกทางสังคมและการกดขี่ข่มเหงจากจากระบบศักดินาของกษัตริย์วิสิกอธนาม"โรเดอริค" มูซาจึงตอบรับคำช่วยเหลือของจูเลียนโดยส่งกองทหารจำนวน 7,000-9,000 นาย ข้ามทะเลไปยังคาบสมุทรไอบีเรีย โดยมีฏอริก บิน ซิยาด ชาวเบอร์เบอร์เป็นแม่ทัพ




ฏอริกได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายหาดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหน้าผาสูงตระหง่าน ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อตามชื่อของเขาว่า "ญะบัล อัฏ-ฏอริก"(Jabel At-Tariq) แปลว่า ภูเขาของฏอริก ซึ่งปัจจุบันก็คือ "ยิบรอลตา" นั่นเอง เมื่อขึ้นฝั่ง เขาสั่งให้เผาเรือทิ้งทั้งหมด และกล่าวว่า "โอ้ พี่น้อง เราไม่สามารถหนีไปไหนได้อีกแล้ว ทะเลอยู่ข้างหลังพวกท่าน และศัตรูก็อยู่ตรงหน้าพวกท่าน ข้าสาบานต่อพระเจ้า พวกท่านมีแค่ความตั้งใจและความอดทนเท่านั้น"



กองทัพของฏอริกได้เผชิญหน้ากับกองทัพวิสิกอธซึ่งบัญชาการโดยกษัตริย์โรเดอริค ซึ่งมีทหารจำนวน 20,000-35,000 นาย ที่แม่น้ำกัวดาเลต ซึ่งแม้กองทัพของฏอริกจะมีจำนวนน้อยกว่าแต่ก็มีชัยเหนือกองทัพวิสิกอธอย่างเด็ดขาด กษัตริย์โรเดอริค กษัตริย์องค์สุดท้ายของวิสิกอธ สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิ ทำให้พวกวิสิกอธต้องถอยร่นขึ้นไปทางเหนือในแคว้นอัสตูเรียสและสามารถก่อตั้งอาณาจักรเล็กๆได้ นับตั้งแต่นั้นสเปนจึงถูกปกครองโดยมุสลิมเป็นต้นมาอาณาจักรมุสลิมจึงถูกขยายลึกเข้าไปในยุโรป

การแผ่ขยายอาณาจักรได้ข้ามเทือกเขาพีเรนีสทางตอนเหนือของสเปนเข้าไปสู่ตอนใต้ของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.732 กองทัพมุสลิมได้ถูกหยุดยั้งโดย ชาร์ล มาร์แตล กษัตริย์ชาวแฟรงค์แห่งราชวงศ์คาโรลิงเจียน ในสมรภูมิแห่งปัวติเยร์(Battle of Poitiers หรือ Balad Ash-Shuhada) แม่ทัพ อับดุรเราะห์มาน อัล-ฆอฟิกี ถูกสังหารในการรบ ทำให้พวกแฟรงค์สามารถผลักดันกองทัพมุสลิมกลับเข้าไปในสเปนสำเร็จ



คาบสมุทรไอบีเรีย ตอนนี้อยู่ภายใต้การปกครองแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ยกเว้นแคว้นอัสตูเรียสทางเหนือ ตั้งแต่นั้นมามุสลิมจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า "อัล-อันดาลูส" ช่วงเวลาต่อมาอันดาลูส ถูกปกครองโดยผู้ปกครองที่ขึ้นตรงต่อคอลีฟะฮ์ แห่งดามัสกัส มุสลิมเริ่มสร้างสังคมขึ้นมาใหม่บนความล่มสลายของสังคมเก่าสมัยการปกครองของวิสิกอธ แต่ไม่นานอันดาลูสก็ต้องตกอยูในความวุ่นวายเนื่องจากความขัดแย้งภายในและสงครามกลางเมือง จะเห็นได่ว่าการปกครองช่วงแรกนั้นเกิดความขัดแย้ง การแก่งแย่งอำนาจ เนื่องจากระบบการปกครองและการจัดการที่ยากต่อการดูแลและควบคุม เพราะศูนย์กลางของอาณาจักรนั้นอยู่ห่างไปเป็นพันๆไมล์ ในนครดามัสกัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การปกครองอัล-อันดาลูสของคอลีฟะฮ์แห่งดามัสกัสต้องสิ้นสุดลง


มัสยิดอุมัยยะฮ์ นครดามัสกัส


แต่ในช่วงเวลาวิกฤตนี้เอง ได้มีชายผู้หนึ่งได้กู้สถานการณ์เอาไว้และเขาคือจุดเริ่มต้นของยุคทองแห่งความเจริญมั่งคั่งที่สุดของอัล-อันดาลูส



ระหว่างที่อัล-อันดาลูสอยู่ในช่วงวุ่นวายนั้น ปีค.ศ.750 โลกมุสลิมได้เปลี่ยนการปกครองใหม่ ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่นครดามัสกัส ได้ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับราชวงศ์อับบาซียะฮ์(The Abbasid Dynasty) ซึ่งมีเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม นั่นคือนครแบกแดดนั่นเอง



การเปลี่ยนอำนาจนี้มีผลให้บุคคลสำคัญของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกสังหาร แต่มีชายคนหนึ่งซึ่งสามารถเล็ดรอดหนีไปได้ เขาผู้นั้นคือเจ้าชายอับดุรเราะห์มาน หลานของคอลีฟะฮ์ฮิชาม บิน อับดุลมาลิก แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ผู้ล่วงลับ อับดุรเราะห์มานสามารถหลบหนีออกจากดามัสกัสได้โดยความช่วยเหลือของชาวเบดูอินเร่ร่อน เขาได้เดินทางไปยังปาเลสไตน์ ข้ามทะเลทรายอียิปต์ และเข้าไปยังอัล-อันดาลูส เขาจึงถูกขนานนามว่า "อัดดาคิล" (หมายถึงผู้ที่เข้ามา) ด้วยความช่วยเหลือจากพวกเบอร์เบอร์ เขาได้โค่นล้ม ยูซุฟ อัล-ฟิฮ์ริ ผู้ปกครองที่ง่อนแง่นของอัล-อันดาลูสลง และสถาปนาการปกครองใหม่ขึ้นให้เป็นปึกแผ่น ยุคแห่งความวุ่นวายของอันดาลูสจึงจบลง

อับดุรเราะห์มานได้ก่อสร้างเมืองหลวงของอันดาลูสขึ้นมาใหม่ นั่นคือ คอร์โดบา (ก็อรตาบา) และสถาปนาราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งคอร์โดบาขึ้น ในปี ค.ศ.756 โดยเรียกตำแหน่งผู้ปกครองว่า "อะมีร์" (Emir แปลว่า เจ้าชาย) ซึ่งเขาได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองที่มีความสามารถและประสิทธิภาพ เขายังได้จัดระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมขึ้นใหม่ รูปแบบการจัดการที่ดินซึ่งไม่เหมือนในยุโรปซึ่งใช้การล่าที่ดินแต่ใช้การเช่าและปันส่วนแบ่งผลผลิต รวมถึงอุปถัมป์การศึกษาและวิชาความรู้อีกด้วย




เมื่อสามารถปกครองได้อย่างมั่นคง คอร์โดบาได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นเมืองที่มีความยิ่งใหญ่ วิจิตรตระการตา อะมีร์ อับดุรเราะห์มาน ยังได้สั่งให้สร้างมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป นั่นคือ La Mezquita de Cordoba (ในภาษาสเปนแปลว่า มัสยิดแห่งคอร์โดบา) นอกจากนี้เขายังได้สร้างสวนอันสวยงามที่มีทั้งดอกไม้และผลไม้นานาชนิด เช่น ต้นปาล์ม ส้ม มะกอก เลมอน รวมถึงอิทผลัมซึ่งนำมาจากซีเรีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวอาหรับ อีกทั้งการชลประทาน คู คลอง ได้ถูกทดเข้ามาสู่บ้านเรือน ที่อาบน้ำสาธารณะกว่า 300 แห่ง ในขณะที่ผู้คนในส่วนอื่นของยุโรปยังอาศัยอยู่ในบ้านไม้ที่คับแคบ ชาวคอร์โดบามีบ้านหลังใหญ่ที่เปิดหน้าต่างโล่งรับแสงสว่าง มีสวนดอกไม้และน้ำพุ ตะเกียงไฟที่จุดเรียงรายตามตรอกซอกซอย รวมถึงตำรวจที่คอยเดินตรวจตรายามค่ำคืน





ค.ศ. 912 ล่วงเข้าสมัยการปกครองของ อับดุรเราะห์มานที่ 3 เขาได้สร้างความสัมพันธ์กับรัฐมุสลิมอื่นๆ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้นำของตนจาก อะมีร์ เป็น คอลีฟะฮ์(กาหลิป) ซึ่งถือได้ว่าคือเป็นยุคทองของอัล-อันดาลูส ภาษาอาหรับได้ถูกกำหนดให้เป็นภาษาราชการทั่วอาณาจักร สิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้รับการถ่ายทอดวิทยาการใหม่ๆ สิ่งเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ไปสู่อีกขั้นหนึ่ง

ในคอร์โดบามีการสร้างโรงงานผลิตกระดาษขึ้น ซึ่งได้รับมาจากจีน การแปลและเรียบเรียงหนังสือและตำรากรีก โรมัน เปอร์เซีย ฯลฯ มีการก่อตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยและห้องสมุดสาธารณะ ผลงานแขนงต่างๆ ซึ่งประชาชนธรรมดาก็สามารถเข้ามาอ่านได้

ด้านการแพทย์ แพทย์มุสลิมสามารถผ่าตัดได้แม้กระทั่งการผ่าต้อกระจก การคิดค้นสูตรยารักษาโรคต่างๆ โรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 8,000 คน ฯลฯ

ด้านวิทยาศาสตร์ มีการคิดค้นนาฬิกาลูกตุ้ม กระจกเงา แม้กระทั่งการทดลองเครื่องร่อนคนบังคับของ อับบาส บิน ฟิรนาส

ส่วนด้านดาราศาสตร์ ก็มีการคิดค้นอุปกรณ์ Astrolabe เพื่อคำนวณทิศทางของนครมักกะฮ์(เมกกะ) จากดวงดาว และยังได้ประดิษฐ์กล้องดูดาวและอื่นๆ

ด้านคณิตศาตร์ ได้ทำการพัฒนาระบบตัวเลขอารบิกขึ้น แทนการใช้เลขโรมันซึ่งมีความยุ่งยากกว่า รวมถึงสาขาต่างๆ เช่น เราขาคณิต ตรีโกณมิติ ระบบรากที่สอง ฯลฯ



ด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม เช่นการสร้างมัสยิด โดม ซุ้มโค้ง ศิลปะการตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสก การแกะสลักลวดลายอาราเบสค์ และการเขียนอักษรประดิษฐ์ ตัวอย่างสถาปัตยกรรมยุคนี้เช่น พระราชวังเมดินะฮ์ อัซ-ซะฮะร่า, อัลคาซาบา,อัลคาซาแห่งเซวิลล์ ฯลฯ





นอกจากนักวิชาการมุสลิมที่โด่งดังเช่น อิบนุ รุชด์(Averroes) ผู้เป็นนักการศาสนา นักปรัชญาและแพทย์ ยังมีนักวิชาการชาวยิว เช่น โมเช่ เบน มัยโมน อีกด้วย ยุคนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ยุคทองของมุสลิมเท่านั้น ยังเป็นยุคทองของชาวยิวด้วย(Golden age of Jewish in Al-Andalus) เพราะถึงแม้อัล-อันดาลูสจะเป็นอาณาจักรมุสลิมก็ตาม แต่ก็ให้สิทธิเสรีภาพของชนทุกศาสนา มีการอนุญาตสร้างโบสถ์และสุเหร่ายิว ชาวยิวและชาวคริสต์ได้รับตำแหน่งสูงๆ ในราชสำนักก็มี นับว่าเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข





ด้วยเหตุนี้ คอร์โดบาและเมืองต่างๆในอัล-อันดาลูส เช่น ซาราโกซา โทเลโด วาเลนเซีย ฯลฯ จึงเป็นเสมือนศูนย์การเรียนรู้ กษัตริย์ ขุนนาง หรือคนธรรมดาในยุโรปจึงส่งลูกส่งหลานมาร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสอนด้านวิชาการต่างๆที่นี่ ได้รับรู้ถึงกลิ่นอายของอารยธรรมมุสลิมและวิทยาการก้าวหน้าใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านเมืองของตนเอง แค่ในคอร์โดบาแห่งเดียวก็มีประชากรประมาณ 450,000 คน ซึ่งมากกว่าเมืองใดๆ ในยุโรปยุคนั้น

แต่เมื่อมีรุ่งเรืองก็ต้องมีตกต่ำ เมื่อฮิชามที่ 3 คอลีฟะฮ์แห่งคอร์โดบาคนสุดท้ายสิ้นชีวิตลง ปิดฉากการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งคอร์โดบา ยุคทองแห่งความรุ่งโรจน์และมั่นคงของอัล-อันดาลูสดำเนินมาเป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษ ก็ถึงคราวสิ้นสุด



และแล้วอัล-อันดาลูสก็ต้องตกอยู่ในความขัดแย้งและความโกลาหลอีกครั้ง เมื่ออาณาจักรได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ พร้อมกับศัตรูรายใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้นทางเหนือ......"อาณาจักรคริสเตียน และ Reconquista"

ติดตามตอนต่อไป







 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 6 มกราคม 2551 23:33:57 น.
Counter : 3620 Pageviews.  

<Al-Andalus> อัล-อันดาลูส : อารยธรรมมุสลิมแห่งยุโรป ตอนที่ 2

ในปี ค.ศ.1031 หลังการล่มสลายของคอลีฟะฮ์แห่งคอร์โดบา อัล-อันดาลูสตกลงสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง ผู้คนในอัล-อันดาลูสเริ่มแตกความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น ผู้ปกครองเมืองต่างๆ ต่างแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า ไทฟา(Taifa) กว่า 20 รัฐ กระจายอยู่ทั่วอัล-อันดาลูส ซึ่งแต่ละรัฐมีการปกครองเป็นของตนเอง สิ่งเหล่านี้ส่งผลหลายๆอย่าง เช่น การปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพและความอ่อนแอด้านการทหาร



ขณะที่อัล-อันดาลูสอ่อนแอลง แต่รัฐคริสเตียนทางเหนือและตะวันตก กลับมีอำนาจและแข็งแกร่งขึ้น รัฐเหล่านี้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรเช่น คาสตีลล์-เลออน,อารากอน,บาร์เซโลน่า และโปรตุเกส ซึ่งอาณาจักรเหล่านี้เห็นโอกาสที่จะเข้าโจมตีอัล-อันดาลูส แทนที่รัฐไทฟาต่างๆ จะร่วมมือกันต่อต้าน กลับต่อสู้กันเองเป็นประจำ ผู้ปกครองเมืองบางคนถึงขนาดไปเข้ากับฝ่ายคริสเตียนก็มี

และแล้วในช่วงเวลาเกือบร้อยปีนี้ชาวอัล-อันดาลูสก็พบตัวเองตกอยู่ในการโจมตี เมืองถูกปล้มสะดม เรือกสวนไร่นาถูกเผา การชลประทานถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ประชาชนอดอยาก ที่แย่กว่านั้นคริสเตียนยุโรปนำระบบศักดินากลับมาใช้ ทำให้ประชาชนถูกขูดรีดจากเหล่าขุนนาง

วีรบุรุษของสเปนได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน นั้นคือ โรดริโก ดิอาซ เดอ บิบาร์ หรือที่รู้จักกันในนาม "เอลซิด" (คำว่า เอลซิด มาจากภาษาอาหรับ ซัยยิด หรือ ซิดิ แปลว่า หัวหน้า,นายท่าน)ผู้ซึ่งเป็นทหารรับจ้าง ให้กับทั้งมุสลิมและคริสเตียน



เพื่อขับไล่คริสเตียนออกไป ผู้ปกครองมุสลิมจำต้องขอความช่วยเหลือจาก ยูซุฟ บิน ตัชฟิน แห่งราชวงศ์อัล-มุรอบิต(Almoravides) ผู้ปกครองเมืองมาร์ราเกซ(Marrakech) ซึ่งเป็นพวกเบอร์เบอร์จากแอฟริกาเหนือ(โมร็อกโก-สะฮะรา) ก็ได้ข้ามช่องแคบยิบรอลตาเข้าสู่อัล-อันดาลูสทันที

ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1086 กองทัพของกษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 แห่งคาสตีลล์ พ่ายแพ้แก่ยุซุฟในสมรภูมิแห่ง อัซ-ซัลลาเก๊าะฮ์ ยุซุฟได้ยึดและรวบรวมรัฐไทฟาต่างๆ เข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของเขา ยกเว้นรัฐไทฟา ซาราโกซา ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของคริสเตียน

อัล-อันดาลูสได้กลับมามั่นคงอีกครั้ง.....แต่ก็ไม่นาน

ค.ศ.1095 พระสันตะปาปา เออร์เบิน ที่ 2 ประกาศสงครามครูเสดเพื่อขับไล่มุสลิมออกจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในนครเยรูซาเลม ที่สภาแห่งเคลอมองต์ ซึ่งคริสเตียนทั่วยุโรปขานรับ เหล่ากษัตริย์และขุนนาง ต่างเกณฑ์ไพร่พลเดินทางไปยังตะวันออกกลาง แต่สำหรับคริสเตียนในสเปนนั้นได้รับคำสั่งให้ขับไล่และยึดดินแดนมุสลิมแห่งอัล-อันดาลูส ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "Reconquista" (Reconquest)



ไม่นานหลังยุซุฟ บิน ตัชฟิน เสียชีวิต ราชวงศ์อัล-มุรอบิต ก็ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์อัล-มุวาฮิด(Almohads) ซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ เซวิลล์ ที่อยู่ทางใต้ของอัล-อันดาลูส ประกาศญิฮาดต่อต้านผู้รุกราน แต่ก็ถูกบีบโดยกองทัพคริสเตียนสเปนทางเหนือและโปรตุเกสทางตะวันตก สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยของราชวงศ์นี้คือ หอกิรัลดา(Giralda) ซึ่งเป็นหออะซานของมัสยิดใหญ่แห่งเซวิลล์(ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นหอระฆังโบสถ์)



16 กรกฎาคม ค.ศ.1212 กองกำลังผสมของรัฐคริสเตียนภายใต้การนำของกษัตริย์อัลฟองโซที่ 9 แห่งคาสตีลล์ ได้รับชัยชนะเหนือ กองทัพมุสลิม ภายใต้การนำของ คอลีฟะฮ์ มุฮัมมัดที่ 3 อัน-นัศร์ แห่งราชวงศ์อัล-มุวาฮิด ที่สมรภูมิลาส นาวาส เดอ โตโลซา คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อัล-มุวาฮิด ถูกบีบให้หนีไปยังแอฟริกาเหนือ เมืองอื่นของอัล-อันดาลูสจึงถูกยึดได้โดยง่ายดาย เช่น ลิสบอน อัลกาฟว์ มูร์เซีย โทเลโด อัลจาซิราซ คาดิซ หรือแม้แต่คอร์โดบา



อาณาจักรมุสลิมแห่งอัล-อันดาลูสที่เคยยิ่งใหญ่ ตอนนี้เหลือเพียงพื้นที่เล็กๆทางใต้ของคาบสมุทร ในปี ค.ศ.1331 ราชวงศ์มารินิด(Marinid) ในสมัยของ สุลต่าน อบู อัล-ฮาซัน อะลี บิน อุษมาน เริ่มรุ่งเรืองและมีอำนาจมากขึ้น เขาสามารถชนะกองทัพเรือคริสเตียนที่ยิบรอลตาได้ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้กองกำลังผสมของคาสตีลล์และโปรตุเกสที่สมรภูมิแห่งริโอ ซาลาโด ถึงตอนนี้ Reconquista ของกองทัพคริสเตียนใกล้สำเร็จแล้ว



และเวลาของอัล-อันดาลูสก็ใกล้จะสิ้นสุดลงเช่นกัน



ค.ศ.1469 การผนึกกำลังครั้งใหญ่ ของ 2 อาณาจักร คาสตีลล์และอารากอน โดยการอภิเษกสมรสของกษัตริย์เฟอร์ดินานและพระราชินีอิสซาเบลล่า(Los Reyes Católicos) บ่งบอกถึงอนาคตที่ยากจะหลีกเลี่ยงของมุสลิม สายตาของทั้งคู่จับจ้องไปที่ปราการสุดท้ายของอัล-อันดาลูส รัฐเล็กๆทางใต้ที่ชื่อว่า "กรานาดา"




ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1238 มุฮัมมัด บิน อัลอะฮ์มัร อัล-นัศร์ ก่อตั้งราชวงศ์นัศริด(Nasrid) ซึ่งถือเป็นราชวงศ์มุสลิมสุดท้ายที่ปกครองอัล-อันดาลูส

มุฮัมมัด บิน อัลอะฮ์มัร ได้สร้าง"กรานาดา" เมืองหลวงอันสวยงามขึ้นบริเวณเชิงเขา Sierra Nevada เขาได้สั่งให้ก่อสร้างพระราชวังอันมีชื่อเสียงที่สุด นั่นคือ "อัลฮัมบรา" (Alhambra) และพระราชวังฤดูร้อน ญันนะฮ์ อัล-อาริฟ(Palacio de Generalife) ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมของมุสลิมยุคกลางที่ดีที่สุดในยุโรป ถึงขนาดมีคนเคยเปรียบไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะทุกข์ทรมานมากไปกว่าการตาบอดในกรานาดา"







ชื่อของมันหมายถึง "ป้อมปราการสีแดง" จากสีของมันเมื่อเวลาแสงแดดตกกระทบ สถาปัตยกรรมภายในงดงามอย่างน่าทึ่ง ลวดลายอาราเบสค์และถ้อยคำจากพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน โดมและเสาโค้ง สวนและน้ำพุ

ในห้องโถงใหญ่ของพระราชวังอัลฮัมบรานี้เอง เป็นที่ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์เฟอร์ดินานและพระราชินีอิสซาเบลล่า ให้เดินทางไปยังโลกใหม่

ตัวพระราชวังเองตั้งอยู่บนเนินเขาหินขนาดใหญ่ ด้วยภูมิประเทศเช่นนี้ ล้อมรอบด้วยกำแพงและป้อมปราการ 13 ป้อม ทำให้ยากต่อการเข้าตี





กรานาดาสามารถต่อต้านกองทัพคริสเตียนได้กว่า 200 ปี จนกระทั้งในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1492 หลังการปิดล้อมอันยาวนานจากกองทัพของกษัตริย์เฟอร์ดินานและพระราชินีอิสซาเบลล่า รัฐมุสลิมแห่งกรานาดาก็ยอมจำนน ผู้ปกครองคนสุดท้าย อบู อับดุลเลาะฮ์ มุฮัมมัดที่ 13(Boabdil) ได้มอบกุญแจเมืองและพระราชวังแก่กษัตริย์เฟอร์ดินานและพระราชินีอิสซาเบลล่า ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองอัล-อันดาลูส ของมุสลิมอย่างสิ้นเชิง



หลังจากสูญเสียรัฐของตัวเองแล้ว อบู อับดุลเลาะฮ์ ได้เดินทางออกจากกรานาดาด้วยความโศกเศร้าเสียใจ เขาถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร แม่ของเขาต่อว่าเขาว่า "มาร้องไห้เหมืองกับผู้หญิงทำไม ในเมื่อเจ้าไม่สามารถป้องกันเมืองของเจ้าได้เหมือนผู้ชายที่กล้าหาญ"

ปัจจุบันมีการสร้างอนุสรณ์ไว้ตรงจุดที่เขาหันมามองกรานาดาเป็นครั้งสุดท้าย (El último suspiro del Moro) หลังจากออกจากอัล-อันดาลูส เขาได้เดินทางกลับไปยังแอฟริกาเหนือและเสียชีวิตที่นั่นอย่างขมขื่น



หลังจากที่ขับไล่ผู้ปกครองมุสลิมไปแล้ว ชาวมุสลิมกว่า 200,000 คนอพยพออกจากอัล-อันดาลูสไปยังแอฟริกาเหนือ บางส่วนลี้ภัยไปยังอาณาจักรออตโตมานซึ่งสุลต่านเบยาซิดที่ 2 ได้ส่งกองเรือมาช่วยเหลือ ส่วนคนที่ยังอยู่ในอัล-อันดาลูสพวกคริสเตียนได้บีบบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิก รวมถึงชาวยิวด้วย ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกตัดสินโดยศาลศาสนาให้ประหารชีวิตหรือไม่ก็การทรมาน หนังสือตำราทางวิชาการมากมายถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน มัสยิดถูกทำลายหรือไม่ก็เปลี่ยนให้เป็นโบสถ์ นั่นเป็นชะตากรรมอันน่าเจ็บปวด เป็นบทเรียนให้เห็นถึงโทษของการขาดความสามัคคีในประชาชาติซึ่งนำไปสู่จุดจบอันน่าเศร้าของอัล-อันดาลูส



ตลอดเวลาที่มุสลิมปกครองอัล-อันดาลูสนั้น พวกเขาได้สร้างสังคมแบบใหม่ อารยธรรม ศิลปะวิทยาการมากมาย เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างตะวันตกและตะวันออก เป็นเสน่ห์ที่น่าหลงไหล ซึ่งถึงทุกวันนี้แม้มุสลิมจะไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกแล้ว แต่คราบอารยธรรม ประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น มัสยิดใหญ่แห่งคอร์โดบา หอกิรัลดา สถาปัตยกรรมต่างๆ พระราชวังอัลฮัมบรา ฯลฯ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งดินแดนแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในอารยธรรมมุสลิมอันยิ่งใหญ่แห่งอัล-อันดาลูส......




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 6 มกราคม 2551 23:52:22 น.
Counter : 3040 Pageviews.  


GHANZI
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add GHANZI's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.