Group Blog
 
All blogs
 

ที่ญี่ปุ่นเรียนกันอย่างไร ตอน ๓ ฮัปเปียว 発表



การ present งาน

ฮัปเปียว 発表 คือภาษาญี่ปุ่นแปลว่าการ present งานค่ะ การ present งานที่จะพูดถึงนี้คือการ present ความก้าวหน้าของทิสิสเรานั่นแหละ จะมีไปตั้งแต่ การพรีเซนต์เล็กๆ ไปจนถึงใหญ่

คุยกับอาจารย์
>present ในแลป
>> พรีเซนต์ในภาค
>>>conference
>>>> international conference


การคุยกับอาจารย์ก็สามารถเมล์ไปนัดอาจารย์ได้ตามความสะดวกของทั้งสองผ่าย หรือ บางคนอาจจะมีตารางต้องคุยกับอาจารย์เป็นประจำอยู่แล้วก็ได้

สวนการ present ในแลป มีหลากหลายแล้วแต่ระบบของแต่ละแลป อย่างเช่นแลปของฉัน จะมี Meeting สัปดาห์ละสองครั้ง
ครั้งแรกจะเป็น เทเลไค (定例会=regularmeeting) จะเป็นการพบประพูดคุยทางวิชาการของสมาชิกทุกคนในแลป เช่น มีคอนเฟอร์เรนซ์ที่ไหนบ้าง , ใครไปมา เป็นไงบ้าง, ห้องสมุดของแลปมีหนังสืออะไรใหม่ๆ บ้าง หรือใครอยากจะนำเสนองานอะไรในเชิงวิชาการก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่นำเสนอทิสิสของตนเอง เพราะนั่นทุกคนจะต้อง present อยู่แล้วในเคงคิวไค

เคงคิวไค (研究会= research meeting) เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของทิสิสตนเองต่ออาจารย์และเพื่อนๆ ตามระบบแลปของฉัน นักเรียนทุกคนจะต้อง present ทิสิสของตัวเองเดือนละครั้ง

นอกจากนี้ในภาคของฉันนักศึกษาทุกคนจะต้อง present ต่อหน้าอาจารย์ทุกคนในภาคเทอมละครั้ง ภาคของฉันจะเรียกการพรีเซนต์ครั้งนี้ว่า Jury โดยที่ Jury เทอมสุดท้ายของนักศึกษาคือ Thesis defend

แต่หากเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว จะมีพรีเซนต์ใหญ่อีกอันนึงแทรกเข้ามา เรียกว่า ชูคังฮัปเปียว

ชูคัง 中間= middle
ฮัปเปียว 発表= announcement

หรือ midterm presentation นั่นเอง
เพราะว่าภาคของฉัน (และภาคอื่นๆ เช่น civil engineering) ไม่มีการสอบ proposal ดังนั้นการสอบครั้งนี้ก็จะคล้ายๆ กัน แต่ต่างกันที่ มาสอบเอาเมื่อเรียนมาได้ครึ่งทาง ดังนั้น หากผลการสอบของใคร ร่อแร่ ก็เตรียมใจไว้ได้เลยว่า ชีวิตการเรียนที่เหลืออีกครั้งทางนั้นค่อนข้างจะสาหัสพอดู

นอกจากนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้นักศึกษาต้องส่งเปเปอร์เพื่อตีพิมพ์ใน Journal คนละอย่างน้อย หนึ่งหรือสองฉบับก็ว่ากันไป ไม่งั้นไม่มีสิทธิจบ (แม้จะลงทะเบียนครบ ผลงานวิจัยออกแล้วก็ตาม) มีรุ่นพี่ของดิฉันเรียนปีสุดท้าย ด้วยเนื้อหาของงานแล้วสามารถจบได้สบายๆ แต่ติดที่ต้องส่งเปเปอร์นี่แหละ ทำให้ต้องเรียนอีกหนึ่งปีเพื่อส่งเปเปอร์ลงตีพิมพ์ให้ได้ และแย่หน่อยตรงที่อาจารย์มาบอกเอาปีสุดท้าย (ใครจะไปส่งทันฟะ )
แต่สุดท้ายอาจารย์ก็ต้องรับผิดชอบหาทุนให้รุ่นพี่คนนั้นเรียนต่ออีกหนึ่งปี

ฉันคิดว่าการที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาส่งเปเปอร์ อย่างหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาเอง จะได้เป็นประวัติที่ดีทางการศึกษา แต่อีกประการหนึ่งคือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนหนึ่งดูจากจำนวนเปเปอร์ที่ได้ตีพิมพ์ด้วย ดังนั้นเพื่อที่ให้ได้เป็นมหาวิทยาลัยในอันดับต้นๆ แต่ละมหาวิทยาลัยจึงต้องผลิตเปเปอร์ออกตีพิมพ์ให้ได้มากๆ นั่นเอง




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2548    
Last Update : 23 สิงหาคม 2548 4:34:49 น.
Counter : 6674 Pageviews.  

ที่ญี่ปุ่นเรียนกันอย่างไร ตอน ๒ นั่งเรียนที่ญี่ปุ่น



การเรียนการสอน

ถึงแม้ว่านักศึกษาต่างชาติจะได้ชื่อว่าเป็น 留学生 = ryugakusei= international student แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าวิชาที่เรียน หรือทิสิสที่เขียนจะต้องเป็นภาษาอังกฤษเสมอไป หากภาษาญี่ปุ่นกล้าแข็งพอ ก็สามารถลงเรียนวิชาที่บรรยายด้วยภาษาญี่ปุ่น หรือ พรีเซนต์งาน หรือ เขียนทิสิสเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เช่นกัน

โดยส่วนตัวแล้วฉันเชื่อว่า หากมีความสามารถที่จะเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นได้นั้นนับเป็นเรื่องที่วิเศษทีเดียว เพราะวิชาที่บรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นจะได้ความรู้แน่นกว่า ไม่ได้มองว่าอาจารย์หวงวิชาแก่นักศึกษาต่างชาติหรืออย่างไร แต่กำแพงภาษาก็เป็นอุปสรรคให้กับผู้บรรยายหลายท่านเช่นกัน

ในระบบการเรียนการสอนแล้ว ฉันอยากจะแบ่งเป็น 2 อย่าง (ซึ่งต้องทำให้ดีทั้งสองอย่างนั่นแหละ) คือ การเรียน (วิชาต่างๆ) กับ การทำวิจัย (研究= kenkyu)

การเรียน (วิชาต่างๆ)

สำหรับการเรียนแล้ว จากประสบการณ์ที่ฉันได้สัมผัสมาสองปีของการเรียนระดับปริญญาโท (ฉันเลือกเรียนแต่วิชาที่บรรยายด้วยภาษาอังกฤษ เพราะว่าภาษาญี่ปุ่นของฉันห่วย )

การสอนของที่นี่ก็สามารถแบ่งได้อีก 2 อย่าง คือ
แบบที่หนึ่ง มีอาจารย์มาบรรยายแบบการเรียนการสอนในบ้านเรา โดยอาจารย์ทุกคนจะใช้ power point ในการบรรยาย แน่นอนต้องมีการบ้าน หรือรายงาน แต่เชื่อไหมว่าทุกวิชาที่ฉันลงเรียนไม่มีการสอบเลย มีเพียงแต่ การ present ปลายเทอมเท่านั้น และเชื่ออีกหรือเปล่าว่า ส่วนใหญ่จะได้ A กันหมดทุกคน

มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันได้รับเมล์จากอาจารย์ประจำวิชาท่านหนึ่งซึ่งส่งถึงนักเรียนทุกคนในคลาสว่าให้ส่งงานด้วย "อาจารย์จะตัดเกรดแล้ว อาจารย์ไม่อยากถูกตำหนิจากนักเรียนอีกถ้าจะให้ B สำหรับคนที่ไม่ส่งงาน " เพราะเทอมที่แล้วอาจารย์ท่านนี้เคยถูกตำหนิจากนักศึกษาคนหนึ่งว่าการที่เค้าไม่ส่งงานแสดงกว่าเค้า Drop วิชานี้แล้ว เค้าไม่ต้องการเกรดใดๆ บน transcrip ของเขาทั้งสิ้นนอกจาก A

จะว่าไปแล้วที่นี่จะไม่ค่อยซีเรียสเรื่องเกรดกันเท่าไหร่ แต่จะค่อนข้างซีเรียสในเรื่องของกระบวนการ และผลการทำวิจัยมากกว่า แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้ในบล๊อกแรกของเรื่องนี้อ่ะนะคะว่า นี่เป็นประสบการณ์ของฉันซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ก็ได้ค่ะ

แบบที่สอง เป็นวิชาเรียนแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม วิชานี้จะมีอาจารย์ มาบรรยายถึงลักษณะและเนื้อหาวิชาในคาบแรกเท่านั้น จากนั้นจะเป็นการแบ่งหัวข้อกันไปศึกษา คาบถัดๆ ไปจนถึงปลายเทอม จะเป็นการบรรยายจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งเมื่อบรรยายเสร็จใจแต่ละคาบจะมีการเปิดโอกาสให้ซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ อาจารย์ที่ฉันปลื้มท่านหนึ่ง จะใช้โอกาสนี้ในการสรุปเรื่องที่เพื่อนๆ ของฉันบรรยาย ว่าผิดถูกอย่างไร รวมทั้งแสดงความคิดเห็นของอาจารย์เองต่อเรื่องนั้นๆ ด้วย

วิชาลักษณะนี้ที่นี่จะเรียกว่า ริงโค (輪講)ซึ่งในภาควิชาของฉัน จะเป็นนักศึกษา หรือ อาจารย์ก็ได้ที่จะเปิดวิชาลักษณะนี้ขึ้นมา
หากนักศึกษาสนใจที่จะเปิดวิชานี้เอง ก็ต้องคุยกับอาจารย์ที่เค้าสนใจจะให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำวิชา เลือกหนังสือ ตำรา ที่จะนำไปใช้ในวิชา และหาเพื่อนร่วมชั้นที่มีจำนวนเพียงพอ

ถือว่าการเปิดวิชานี้เป็นการหาเพื่อนมาช่วยอ่านหนังสือที่เราสนใจก็คงจะไม่ผิดนัก แถมยังได้ 2 เครดิตถ้าลงทะเบียบเรียนอีกต่างหาก

การทำวิจัย
นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนที่นี่เลยทีเดียว หัวข้อการทำวิจัยที่นี่ก็หลากหลาย อาจจะขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราสนใจ (แต่ต้องเกียวข้องกับแลปที่เราอยู่) หรือเป็นเรื่องที่อาจารย์สนใจแล้วให้เราทำ

สำหรับตัวฉันเองแล้วเลือกได้เลือกหัวข้อเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็เลยเลือกเมืองไทยเป็น case study ซะเลย หนึ่งเพื่อจะได้ผลมาใช้กับบ้านเราได้จริงๆ สอง เพื่อจะได้กลับมาเก็บข้อมูลที่เมืองไทยไง อิ อิ ยิ่งบางทีฟลุ๊กๆ อาจจะได้ค่าเดินทางและค่าเก็บข้อมูลจากแลป หรือโปรเจคต่างๆ ที่สนับสนุนทิสิสเราอยู่ด้วย

แต่ก็มีเพื่อนๆบางคนที่ต้องทำหัวข้อที่อาจารย์สนใจ มีเพื่อนของฉันคนหนึ่งต้องทำแลปเกี่ยวกับการปนเปื้อนของน้ำดื่มในญี่ปุ่น อาจารย์จะเป็นคนนำตัวอย่างน้ำจากแต่ละที่มาให้ โดยที่นักเรียนจะไม่รู้เลยว่าตัวอย่างน้ำนั้นๆ มาจากที่ไหนในญี่ปุ่นบ้าง


นอกจากการเรียนวิชาต่างๆ กับการทำวิจัยแล้ว ยังมีกรณีพิเศษอื่นๆ อีกเช่นการไป Study trip หรือ work shop กับทางมหาวิทยาลัย(เช่นเมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยของฉันได้จัด work shop ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่โตรอนโต้, แคนาดา นักศึกษาจะต้องไปร่วม work shop ที่นั่น) ก็สามารถขอเครดิตได้ แต่นักศึกษาต้องส่งรายงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับ condition ของ work shop นั้นๆ ด้วยค่ะว่าจะสามารถขอเครดิตได้หรือเปล่า





 

Create Date : 23 สิงหาคม 2548    
Last Update : 23 สิงหาคม 2548 4:57:28 น.
Counter : 877 Pageviews.  

ที่ญี่ปุ่นเรียนกันอย่างไร ตอน ๑ ภาคการศึกษาและการลงเบียน



เล่าจากประสบการณ์ที่เจอโดยตรงนะคะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแต่มหาวิทยาลัยจะต่างกันไปหรือไม่ เพราะเท่าที่สังเกตุดูแต่ละ Department หรือกระทั่ง แต่ละ Lab ใน Department เดียวกัน ยังมีระบบที่ต่างกันไปเลย จะมีหลายตอนนะคะ จะพยายามเขียนไปเรื่อยๆ ค่ะ




ภาคการศึกษา

โดยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นจะมีสองภาคการศึกษาคือ
ภาคฤดูร้อน
เริ่มเดือน เมษาค่ะ มาสิ้นสุดเอาเดือน กรกฎา

ภาคฤดูหนาว
เริ่มเดือน ตุลา สิ้นสุดเดือน มกรา

แล้วอีกสี่เดือนที่เหลือเล่า ตอนแรกฉันก็เรียวช่วงนั้นๆว่า ปิดเทอม นั่นแหละ แต่เพื่อนสาวของฉันเคยถามฉันว่า "เก๋มีปิดเทอมด้วยเหรอจ๊ะ?" ที่เธอถามเช่นนี้ก็เพราะปกติแล้วถึงแม้จะเป็นช่วงปิดเทอม(ของฉัน) แต่นักศึกษาระดับปริญญาโท เอก ที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังทำวิจัยกันอยู่นั่นเอง

ปล จะว่าไปอาจารย์ของฉันเคยพูดกับฉันว่า ผมคิดเรื่องวิจัยทุกวัน ทุกเวลา มันอยู่ในหัวผมตลอด แต่สำหรับคุณ ผมขอให้คิดถึงมันอย่างน้อยวันละสามครั้งก็พอแล้ว

การลงทะเบียน

Department ที่ฉันเรียนอยู่ กำหนดให้นักศึกษาปริญญาโท ต้องเก็บทั้งหมด 30 หน่วยกิต ซึ่งในสามสิบหน่วยกิตนี้ เป็นการลง thesis เทอมละ 4 หน่วยกิต (สี่เทอม 16 หน่วยกิต) ดังนั้นเพื่อให้จบหลักสูตรฉันจะต้องลงวิชาอื่นๆ เพิ่มอีก 14 หน่วยกิต

แต่หากเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ที่ภาควิชาของฉันกำหนดให้ลงแค่ทิสิส เทอมละ 7 หน่วยกิต แต่หากจะลงวิชาอื่นๆ เพิ่มก็ไม่มีปัญหา

พูดถึงกระบวนการลงทะเบียนที่นี่แล้ว แม้จะสะดวกสบายเพราะเป็นการลงทะเบียนทางอินเตอร์เนต นักศึกษาที่จะเลือกเรียนวิชาเดียวกับฉันก็น้อย มีแต่นักศึกษาต่างชาติด้วยกันเท่านั้น หรือญี่ปุ่นอีกสองสามคน ที่จะมาลงวิชาที่บรรยายด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหา ที่นั่งเต็ม เหมือนที่ฉันมักจะประสบทุกครั้งเมื่อลงวิชาเรียนสมัยปริญญาตรี

แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่ฉันประสบในการลงทะเบียบกลับเป็น เวปไซด์ที่ลงทะเบียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งต้องพึ่งติวเตอร์หรือเพื่อนญี่ปุ่นช่วยดูให้ค่ะ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนนั้นขอบอกว่าไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนค่ะเพราะว่าทางทุนเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด ทราบคร่าวๆแต่เพียงว่า ต้องเสียค่าเล่าเรียน(ไม่แน่ใจว่ารวมค่าเรียนภาษาด้วยหรือไม่) ประมาณปีละ 250,000 เยน แล้วก็ยังต้องเสียค่าสมัครอีกประมาณ 30,000 เยนค่ะ (นี่เป็นตัวเลขของโตไดนะคะ ไม่ทราบว่าจะเท่ากับมหาลัยอื่นหรือเปล่า เพราะโตไดออกนอกระบบแล้วอ่ะค่ะ แต่คิดว่าน่าจะถูกกว่ามหาลัยเอกชน)

สำหรับการ Add หรือ Drop วิชาใดๆ นั้น นักศึกษาสามารถพูดคุยกับอาจารย์ประจำวิชา(หรือจะเมล์ไปบอกก็ได้) ได้โดยตรงโดยไม่ต้องทำธุรกรรมกับสำนักทะเบียนแต่อย่างใด โดยเฉพาะการ Drop ส่วนใหญ่จะเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าถ้านักศึกษาหายไปจากชั้นเรียน หรือไม่ส่งงานแปลว่านักศึกษาคนนั้นไม่ต้องการหน่วยกิตจากวิชานั้นๆค่ะ

การแสดงผลการเรียน(Transcrip)หรือใบปริญญาที่นี่ สามารถทำได้ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นค่ะ





 

Create Date : 23 สิงหาคม 2548    
Last Update : 23 สิงหาคม 2548 4:53:10 น.
Counter : 1124 Pageviews.  


Georinn
Location :
Tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Georinn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.