เนินพิศวง

ตอนนี้ผมกับหนูมินท์ เราสองคนกำลังอยู่ที่เนินพิศวง

"จอดรถ ปลดเกียร์ว่าง งั้นเหรอ ?"
ผมอ่านข้อความที่เขียนไว้บนป้าย พยักหน้าหงึก ๆ อย่างเข้าใจ ก่อนจะฉีกยิ้มด้วยความรู้สึก
นึกสนุก ลองเล่นดูดีกว่า ว่าแล้วผมก็ดับเครื่องพร้อมกับใส่เกียร์ว่าง

ทันทีที่ใส่เกียร์ว่าง ความพิศวงก็เริ่มเกิดขึ้น หนูมินท์ค่อย ๆ ขยับตัวไต่ ขึ้นเนินที่อยู่ตรงหน้า
ผมส่งเสียงอูฮู้อาฮ้าอย่างตื่นเต้น ไม่น่าเชื่อเลยแฮะ ทางขึ้นเนินแท้ ๆ แต่รถกลับไหลขึ้นได้
มันช่างมหัศจรรย์จริง ๆ

ก็ทำไปอย่างนั้นเอง

ผมแค่แกล้งทำเป็นตื่นเต้นตกใจเฉย ๆ รู้อยู่เต็มอกอยู่แล้วล่ะว่า มันจะเป็นไปได้ยังไงที่รถจะ
ไหลขึ้นเนินไปได้อย่างนั้น มันค้านกฎแรงโน้มถ่วงโลกชัด ๆ ขืนพากันเชื่อว่ามันเป็นไปได้
รับรองว่าตานิวตันเคืองตายเลย

ไอ้เนินพิศวงนี่ เวลาเราอยู่ตรงเนิน พอเรามองไปข้างหน้า เราจะเห็นว่าทางข้างหน้าเป็นทาง
ขึ้นเนิน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นทางลงเนิน แต่เราโดนทิวทัศน์ข้างทางหลอกตาเอา
เราสามารถทดสอบได้ง่าย ๆ โดยการเทน้ำลงที่พื้น ตามธรรมชาติของน้ำแล้ว น้ำจะไหลลงจาก
ที่สูงไปยังที่ต่ำ ซึ่งจะเป็นการยืนยันได้ว่าไอ้สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นทางขึ้นเนินนั่นน่ะ แท้ที่จริงมัน
เป็นทางลงเนินต่างหาก เรากำลังโดนทิวทัศน์หลอกตาเอา

ก็โดนหลอกซะอย่างนี้แหล่ะ เราถึงเรียกมันว่า " เนินพิศวง " ไง

พอคิดถึงเรื่องโดนหลอก ผมคิดถึงเรื่องตัวเอง มีมากมายหลายครั้งเหลือเกินที่ผมโดนหลอกตา
เอาเสียได้ อย่างตอนที่เพื่อนคนหนึ่งชวนผมทำธุรกิจเงินกู้ ตอนเริ่มทำลงเงินเป็นแค่ไม่เท่าไร
แต่กลับได้กำไรอื้อซ่า ผมก็เลยทุ่มทุนสร้าง กดโอทีซะกระจาย เอาเงินที่ได้มาลงเงินกู้หมด
กะว่าให้เงินมันทำงานแทน แต่ที่ไหนได้พอผ่านไปแค่ไม่กี่เดือน ไอ้ธุรกิจเงินกู้ที่ทำเงินดี ๆ
มันก็เริ่มฝืด สุดท้ายก็ล้ม ทั้งผมและเพื่อนโดนเชิดเงินที่ลงทุนไป ต้องวิ่งโร่แจ้งความกันวุ่นวาย
แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ ตามจับตัวการไม่ได้ แถมยังมารู้ทีหลังอีกว่า ไอ้ที่ลงทุนไปน่ะ
มันไม่ใช่ปล่อยกู้แต่มันเป็นแชร์ลูกโซ่แบบหนึ่งต่างหาก

โดนหลอกเต็มเปา

แล้วตอนนั้นก็เหมือนกัน หลังจากแอบได้ยินข่าวมาว่า หลวงจะตัดถนนผ่านใกล้กับที่ของผม
พอผมรีบปั๊มเงินเอามากว้านซื้อที่ดินที่ติดกับที่ของผม หวังไว้ว่าพอเขาตัดถนนปุ๊บ ที่ของผม
ก็จะกลายเป็นที่ติดถนนปั๊บ ราคาพุ่งพรวด ๆ แน่ แล้วไหนล่ะ ผ่านมากี่ปีแล้วนี่ ไหนล่ะถนน
จนป่านนี้ยังไม่ได้ตัดถนนเลยและก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเริ่มตัดถนนกันซะที สงสัยโครงการคงจะ
นอนซุกใต้ลิ้นชักใครสักคนหนึ่งล่ะมั้ง ก็เลยกลายเป็นว่า ที่ของผมก็ยังคงเป็นที่รกกันดาร ๆ
ต่อไป เงินที่กว้านซื้อที่ข้าง ๆ ก็กลายเป็นเงินจมซะงั้น

โดนอีกแล้ว

ทุกครั้งเลย เวลาที่ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสทองที่จะทำเงินทีไร มันก็กลับกลายเป็นตรงกันข้าม
ยังกับว่าผมโดนหลอกตาให้เห็นเรื่องเสียเงินเป็นเรื่องทำเงินซะงั้น

รึว่ามันอาจเป็นเนินพิศวงรูปแบบหนึ่ง

อือ... เป็นไปได้ รูปแบบมันเหมือนกัน มันลวงตาให้เราเชื่อแบบหนึ่งแต่ความจริงมันกลับ
ตรงกันข้าม ใช่แล้วล่ะ ไอ้ที่ผมโดน ๆ มาน่ะ มันคือเนินพิศวงชีวิตนี่เอง ทั้งหมดที่ทำไปนั้น
มันไม่ใช่บันไดแห่งโอกาสแต่มันคือทางลงสู่ความชี้บหายต่างหาก

สงสัยว่าต่อไปนี้ เวลาจะลงทุนทำอะไรสักอย่าง ผมคงต้องตรวจสอบดูให้แน่ชัดว่า ไอ้สิ่งที่
ผมกำลังจะลงทุนอยู่เนี่ยมันเป็นเนินพิศวงรึเปล่า ผมอาจจะโดนลวงตาอยู่ก็ได้ ต้องเอาให้
แน่ใจเสียก่อน ประวัติศาสตร์จะได้ไม่ซ้ำรอย

ว่าแต่ว่าจะทดสอบโดยการเทน้ำได้รึเปล่าน้า





Create Date : 14 มีนาคม 2552
Last Update : 14 มีนาคม 2552 23:24:27 น. 10 comments
Counter : 2119 Pageviews.

 


โดย: zodayenka วันที่: 15 มีนาคม 2552 เวลา:0:18:40 น.  

 
จากที่บอกว่า งานเขียนของแพรไม่ใช่แนวนิทาน แล้วมันแนวใหนคะ
ข้องใจ เพราะไม่รู้เรื่องค่ะ


โดย: praewa cute วันที่: 18 มีนาคม 2552 เวลา:3:10:10 น.  

 
หนูอยากรู้จังเลยค่ะ
เค้าบอกว่าเนินนี้เป็นภาพลวงตา
ที่เมื่อวัดระดับจิงๆแร้ว
ตรงจุดที่รถไหลลงต่ำกว่า
แต่ทำไมทุกๆคนถึงเห็นเป็นภาพลวงตาเหมือนกันหมดหละค่ะ
ทั้งที่จิงๆแร้วไม่น่าจะเห็นเหมือนกันหมดอย่างนั้น
พี่ช่วยหาคำตอบให้หนูได้ไหมค่ะ


โดย: นู๋โม IP: 58.9.150.236 วันที่: 1 เมษายน 2552 เวลา:23:36:32 น.  

 
สุดยอดไปเลย ธรรมชาติ สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้พวเราอยู่เสมอเลย
อิอิ
อยากไปเที่ยวจัง


โดย: yopathum วันที่: 8 เมษายน 2552 เวลา:9:16:17 น.  

 
ที่ปราจีนบุรีก็มีนะ
ไม่เที่ยวมาแล้ว ก็สนุกดีนะ
อยู่ไม่ไกลกรุงเทพเลย ถ้าขับรถไปทางนครนายก
เป็นวนอุทยานหรือน้ำตกเขาอีโต้อยู่ใกล้กันมาก และเราสามารถไปเที่ยวน้ำตก สาริกา นางรอง วังตระไคร้ได้ด้วยไม่ไกลจากกันเลย แต่หน้าเสียดายที่ ตรงบริเวณเนินพิศวงนั่นไม่มีที่เที่ยวมากนัก หากไปก็คงไปได้ แค่ เนินพิศวง และน้ำตกเขาอีโต้ แต่รู้ไหมถึงจะไม่มีอะไรเที่ยวแค่ได้พิสูจน์ก็หายเหนื่อยแล้ว ใครอยากรู้ทางก็เมล์มาล่ะกัน


โดย: sirikhwan_joy@hotmail.com IP: 118.173.88.72 วันที่: 20 เมษายน 2552 เวลา:17:36:41 น.  

 
สวัสดียามเช้าค่ะ

ไม่ได้แวะเข้ามาทักทายกันซะนานเลย...

.................................

การถูกหลอกเป็นเรื่องธรรมชาติ...

เนินพิศวง...ยังไม่ปวดใจ

เท่ากับโดนหลอกให้ทำงาน แล้วไม่จ่ายตังค์ง่ะ



โดย: i am_giddy วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:7:52:43 น.  

 
ได้ไปเที่ยวกับคุณพ่อคุณแม่ น้อง และคุณลุงบรรลุ จารุกิจโสภา ให้ดูยังไงก็เป็นไปได้ตามที่เขาเขียนครับ กล่าวคือ เห็นๆว่ามันคือทางลาดลงแน่นอน แต่พอถอนเบรคมือรถยนต์กลับไหลขึ้นครับ คุรพ่อยังแปลกใจ ยังเท่านั้นยังไม่พอ ต้องพิสูจน์ ลงจากรถนำขวดน้ำ(ขวดลิตร) ขวดงี้ไหลย้อนขึ้นเฉยเลย งง ใครชี้แนะด้วยครับ


โดย: คณัสนันท์ มิตรภักดี IP: 125.24.248.76 วันที่: 6 ธันวาคม 2552 เวลา:19:56:41 น.  

 
to. จขกท. ถ้ารถมันไหลตามแรงคึงดูดขึ้นเนิน ต่อให้คุณเทน้ำลงบนพื้นน้ำมันก็ตงไหลขึ้นเนินอยู่แล้วตามแรงดึงดูดของโลก
ถ้าอยากรู้จริงๆ ต้องใช้ระดับน้ำที่เป็นสายยางยาวๆ ที่ช่างสร้างบ้านเข้าใชกันนะแหละครับถึงจะรู้ว่ามันเอียงไปทางไหนแน่


โดย: noom16 IP: 58.137.102.18 วันที่: 14 กรกฎาคม 2554 เวลา:17:19:48 น.  

 
เนินพิศวง หรือ เนินมหัศจรรย์ ที่รถไหลขึ้นภูเขาได้เองเมื่อปลดเกียร์ว่าง ไม่ใช่ภาพลวงตาอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นจริง ถ้าอยากทราบคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ในวิชา จีออเดซี (Geodesy) เชิญดูภาพประกอบคำอธิบายได้ตามนี้ครับ

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=828749730482934&set=a.571572862867290.1073741827.100000437440861&type=1


โดย: anantpowerful@gmail.com IP: 119.42.96.172 วันที่: 7 สิงหาคม 2557 เวลา:0:56:16 น.  

 
(เนื่องจากลิงค์ข้างบนไม่ทำงาน จึงนำเนื้อหามาลงไว้ตรงนี้ครับ หากต้องการภาพประกอบให้ก็อปลิงค์ใส่เวิร์ด แล้ว กดคอนโทรลพร้อมกดลิงค์ครับ)

ไม่มีอะไรน่าพิศวงเกี่ยวกับเนินเหล่านี้ ถ้าเข้าใจเรื่อง แรงดึงดูดของโลกหรือแรงโน้มถ่วงพิภพ

เรื่องเกี่ยวกับ “เนินพิศวง” ที่ทางไปอำเภอแม่สอดนี้ ผมรู้สึกดีใจมากวันนี้ (4/8/2557) ที่ได้ไปพบของจริงหลังจากที่ได้ยินอาจารย์ที่สอนวิชาจีออเดชี (Geodesy) ของผมเล่าให้ฟังตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 (พ.ศ. 2526) ซึ่งรวมเป็นเวลา 31 ปีแล้วจนถึงวันนี้

เมื่อเปิดกู้เกิลเกี่ยวกับเนินนี้ ผมพบว่า คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร บทความนี้ จึงขออธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจ และขอให้ช่วยขยายต่อไปด้วยครับ เพื่อความสงสัยนี้จะได้กระจ่างเสียที ซึ่งผมเคยคิดว่า จะมีคนรู้คำตอบและรู้กันมานานแล้วตั้งแต่ที่ผมเรียนวิชานี้

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ ซึ่งเป็นวิชาของนักสำรวจพิภพชั้นสูงได้พบเนินเหล่านี้ ก็จะ “พิศวง” และพยายามหาเหตุผล แล้วโดยมากจะสรุปว่าเป็น “ภาพลวงตา” นั้น แต่สำหรับนักศึกษาในศาสตร์นี้ตั้งแต่ การสำรวจ (Surveying) ไปจนถึง ศาสตร์การศึกษาสัณฐานพิภพชั้นสูง (Geodetic Science) จะเข้าใจและรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดุจเดียวกับที่เราไม่แปลกใจเวลาเอากรวยกระดาษใส่น้ำแล้วเอาเทียนลนแล้วกระดาษจะไม่ไหม้ไฟจนกว่าน้ำในกรวยนั้นจะหมดไป

หลังจากที่ผมได้จอดรถแล้วรถวิ่งขึ้นเนินสูงด้วยตัวของมันเองขาไป และวิ่งถอยหลังด้วยตัวของมันเองขากลับ ที่ทำให้คนทั่วไปใช้คำว่า “พิศวง” หรืองงๆนั้น ผมก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบเรื่องจริงที่อธิบายด้วยทฤษฎีนี้สมัยที่เรียนวิชาจีออเดซี่ที่โรงเรียนนายร้อยฯ

วิชานี้ ในระดับประยุกต์แบบพื้นราบก็จะเป็นวิชาสำรวจต่างๆ ที่ใช้เพื่อทำแผนที่และก่อสร้าง ส่วนในชั้นสูงก็จะเป็นการศึกษาสร้างดาวเทียมระดับ จีพีเอส ที่บอกตำแหน่ง และการนำยานอวกาศลงถูกตำแหน่งบนดาวดวงอื่นหรือคำนวณได้ว่าดาวเทียมที่หมดอายุแล้วจะมาตกที่พิกัดใดบนผิวโลกได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนักศึกษาที่เรียนวิชานี้อย่างละเอียดในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สถาบันคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) คณะวิศวกรรมแผนที่ และคณะวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับผมไปเรียนต่อต่างประเทศที่สหรัฐและฝรั่งเศสในวิชานี้ด้วยครับ

เรื่องเนินพิศวงนี้ เป็นเรื่องเดียวกับความพิศวงในการสร้างบ้านเอียงๆบนเทือกเขาถ้าบางท่านเคยเห็น และต่อไปนี้ ผมจะอธิบายด้วยภาษาที่ง่ายที่สุด โดยหวังว่า ท่านที่ไม่ได้เรียนวิชานี้จะเข้าใจได้ง่ายครับ

ในวิชาจีออเดซี จะพูดถึง พื้นผิวของโลก 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
1) ผิวภูมิประเทศ (Topography) หรือพื้นผิวจริงของโลกที่เราเดินเหินกันอยู่ทุกวันนี้
2) พื้นผิวเอลลิปซอยด์ (Ellipsoid) หรือ พื้นผิวทรงรี ที่มีลักษณะเป็นเรขาคณิตที่คำนวณได้ใกล้เคียงพื้นผิวของภูมิประเทศมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันใช้ Word Geodetic System 84 (WGS 84) ซึ่งจะมีขนาดของ 3 แกน เฉพาะ (แกนราบ และแกนตั้งข้างใน) และคำนวณได้ทุกที่บนผิวโลก ก็จะได้เป็นพิกัด ละติจูด (เส้นรุ้ง) และลองกิจูด (เส้นแวง) ที่บนผิวของมัน ส่วนความสูงก็จะวัดคำนวณเพิ่มหรือลดจากผิวนี้ไปยังผิวภูมิประเทศจริง
3) ผิวทรงกลม (Sphere) เป็นผิวที่ใกล้เคียงกับทรงรีนั้น แต่จะมีความต่างจากผิวภูมิประเทศมากขึ้น เพราะจริงๆแล้วโลกของเรามีลักษณะคล้ายทรงรีมากกว่าทรงกลมเนื่องจากมันป่องกว่าที่บริเวณศูนย์สูตร มากกว่าขั้วโลกเหนือและใต้ และทรงกลมนี้จะใช้กับวิชาภูมิศาสตร์ บอกเป็นละติจูดและลองกิจูด แต่มันจะต่างกับของทรงรี คือตำแหน่งจะเพี้ยนกันไปบ้าง
4) ผิวจีออยด์ (Geoid) เป็นพื้นผิวซึ่งเกิดจากการคำนวณตามศักยภาพ (Potential) ของแรงดึงดูดของโลก ซึ่งเมื่อต่อผิวของมันต่อเนื่อง มันจะเป็นเหมือนก้อนหินที่ไม่มีรูปทรงเรขาคณิต แต่มีผิวเป็นคลื่นราบเรียบคล้ายน้ำทะเลนิ่งๆ แต่มีลักษณะเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ คำนวณทางพีชคณิตแบบง่ายๆไม่ได้ ตั้งคำนวณด้วยวิชาเกี่ยวกับแรงดึงดูด เป็นสูตรที่ซับซ้อนมาก

ในการบอกตำแหน่งของจุดๆหนึ่งบนผิวโลก จะบอกพิกัดทางราบหรือบนผิวเป็นละติจูดหรือลองกิจูด ซึ่งถ้าเป็นภูมิศาสตร์ธรรมดาก็จะใช้ทรงกลม แต่ถ้าละเอียดๆในวิชาจีออเดซีก็จะใช้ผิวเอลลิปซอยด์หรือทรงรี ส่วนความสูงจะวัดจากผิวจีออยด์

การคำนวณผิวจีออยด์ทั่วโลกทำได้ยากเพราะต้องรู้ความเข้มข้นของทั้งสนามแม่เหล็กและแรงดึงดูดของโลกทุกๆจุดบนผิวโลกอย่างละเอียดมาคำนวณ สมัยก่อนจนมาถึงสมัยนี้จึงใช้ “ระดับทะเลปานกลาง (mean sea level) มาแทน ซึ่งเราจะได้ยินเขาทำนายน้ำขึ้นสูงสุดและสูงสุดจากพื้นผิวนี้ ซึ่งถ้าน้ำทะเลปานกลางของทุกประเทศเป็นผิวเดียวกัน ก็จะต่อเป็นผิวจีออยด์ได้ ทว่าแต่ละประเทศเริ่มต้นไม่เท่ากันจึงต่อไม่ได้ สรุปว่า ถ้าระดับทะเลปานกลางของไทยเป็นค่าผิวจีออยด์เริ่มต้น แล้วต่อไปทั่วโลกทุกทิศทาง นั่นก็จะเป็นผิวจีออยด์ และความสูงของทุกๆจุดบนผิวภูมิประเทศก็จะวัดจากผิวนี้

สังเกตที่คลองปานามาฝั่งแปซิฟิกมีระดับน้ำสูงกว่าอีกฝั่งหนึ่งคือแอตแลนติก 20 เซ็นติเมตร แต่ศักยของมันโดยเฉลี่ยจะเท่ากัน จึงต้องทำการเพิ่มหรือลดจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก โดยเติมน้ำเข้าหรือลดลงไปเป็นช่วงๆ

ผิวจีออยด์มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราเอาลูกดิ่งมาทิ้งดิ่งแล้ว เส้นเชือกของลูกดิ่งที่นิ่งๆนี้จะตั้งฉาก หรือทำมุม 90 องศา กับผิวจีออยด์ทุกๆจุด

ผิวทั้ง 4 นี้ จะไม่ทาบทับสนิทกัน แต่จุดที่เริ่มต้นพิกัดของโลกจะพยายามเริ่มต้นที่ผิวทั้ง 4 (ที่จริงวิชาจีออเดซีไม่รวมผิวทรงกลม เพราะยังไม่ละเอียดมาก) ทาบทับราบเป็นแนวเดียวกัน ฉะนั้น เส้นตั้งฉากกับผิวทั้ง 4 ก็จะเป็นเส้นดิ่งเดียวกัน แต่เมื่อระยะทางไกลออกไป ผิวทั้ง 4 ซึ่งต่อไปนี้จะพูดเพียง ผิวภูมิประเทศกับผิวจีออยด์ ก็จะแตกออกจากกันไปเรื่อยๆ

ผิวจีออยด์นั้น มีระยะห่างจากจุดศูนย์ถ่วงหรือจุดศูนย์กลางแห่งแรงดึงดูดของโลกไม่เท่ากัน แต่มันมีศักยเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วถ้าภูมิประเทศ ยิ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางโลกจะยิ่งมีศักยภาพมากขึ้น แต่ทว่าที่ใดก็ตามที่มีมวลสารมากอย่างเทือกเขา บริเวณนั้นจะมีศักยภาพมาก

ธรรมดาแล้ว เราบอกว่า น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ และรถควรจะไหลลงเนิน แต่แท้จริงแล้ว น้ำจะไหลไปสู่ที่ซึ่งมีศักยภาพสูงขึ้นและรถก็เช่นกัน

สำหรับในพื้นราบแล้ว ศักยภาพที่สูงขึ้นจะอยู่ต่ำกว่าพื้นดิน ฉะนั้น น้ำจะไหลลง แต่ในบริเวณภูเขา จะมีหลายจุดที่จีออยด์มุดขึ้น คืออยู่สูงขึ้น เนื่องจากมีมวลสารมากบริเวณนั้น น้ำจึงไหลขึ้นที่สูงกว่าบนผิวภูมิประเทศ หรือรถจึงไหลขึ้นไปสู่ศักยภาพที่สูงขึ้น (มีแรงดึงดูดมากขึ้น) ดังนั้น ที่เราเห็นรถไหลขึ้นเนินนั้นเป็นความจริง มันไม่ได้หลอกตา แต่มันไหลเข้าสู่ศักยภาพของแรงดึงดูดที่มากขึ้น

สำหรับการเอียงของบ้านที่สร้างนั้น เนื่องจากบนเขาสูง ผิวของภูมิประเทศกับผิวจีออยด์จะไม่ขนานกัน แต่ลูกดิ่งตั้งฉากกับผิวจีออยด์ ฉะนั้น การสร้างเสาบ้านตามลูกดิ่งจึงเฉียงไปจากผิวของภูมิประเทศ หมายความว่า เส้นที่ตั้งฉากกับผิวภูมิประเทศกับเส้นดิ่งหรือเส้นที่ตั้งฉากกับผิวจีออยด์นั้นจะแตกทำมุมกัน บ้านจึงเอียง และถ้าเอาหลอดระดับของช่างที่ใช้วัดระดับราบมาวาง ระดับของไม้วัดนั้นจะตั้งฉากกับเสาบ้าน เพราะมันจะตั้งฉากกับเส้นดิ่งที่ตั้งฉากกับผิวจีออยด์ หมายความว่า ระดับน้ำนั้นจะทำให้ผิวของไม้วัดระดับทำตัวขนานกับผิวจีออยด์ทุกๆจุดบนผิวโลก แต่ที่เราไม่เห็นผิดปกติบนพื้นราบเพราะ ผิวของจีออยด์และผิวภูมิประเทศจะค่อนข้างขนานกันจนแยกไม่ออก

บนบริเวณที่มีมวลสารมากๆตามเทือกเขาต่างๆ จึงมีโอกาสที่จะเกิดการไหลของรถขึ้นเนินได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ภาพลวงตาแต่อย่างใดครับ



โดย: anantpowerful@gmail.com IP: 119.42.96.172 วันที่: 7 สิงหาคม 2557 เวลา:0:57:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

garnet19th
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add garnet19th's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.