"Love is something, That can't be predicted, It comes as a surprise, ...... when you least expect it."
Group Blog
 
All Blogs
 
รวมเรื่องสั้น "บ้าน...ของนักเขียนหญิง" สนพ. ทางเลือก

นิตยสารขวัญเรือน
คอลัมน์ดวงใจวิจารณ์
ปีที่ 38 ฉบับที่ 825 ปักษ์แรก เมษายน 2549

ชฎารัตน์ สุนทรธรรม



นอกเหนือจากตัวอักษรขนาดใหญ่ที่เป็นชื่อหนังสือปรากฏบนพื้นปกสีเขียวสดแล้ว คำโปรยที่ปรากฏบนปกหลัง “รวม 17 เรื่องสั้นของนักเขียนหญิงร่วมสมัย” และรายชื่อของนักเขียนหญิงทั้ง 17 ท่าน ซึ่งเป็นนักเขียนสามรุ่นสามวัยที่ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นที่สะดุดตาอันดับแรก

และก่อนที่จะเปิดอ่านเนื้อในของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จุดเด่นที่สร้างความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือส่วนที่เป็น “คำนำเสนอ” โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนคำนำว่าด้วยเรื่องราวของนักเขียน นักแปลและนักหนังสือพิมพ์สตรีรุ่นบุกเบิกจนถึงช่วงต้นของปี พ.ศ. 2500 เนื้อหาอันเป็นสาระประโยชน์ในส่วนนี้ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพกว้าง ๆ ของนักเขียนสตรีไทยในยุคการเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ ที่แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่นักเขียนสตรีเหล่านี้ก็สามารถรวมตัวกันเป็นชุมชนนักเขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 และยิ่งไปกว่านั้นยังมีหลักฐานปรากฏชัดว่า ประมาณปี พ.ศ.2470 มีหนังสือผู้หญิงที่ผู้หญิงจัดทำเป็นเล่มแรกคือ “สยามยุพดีรายสัปดาห์” ก่อกำเนิดก่อนหนังสือ “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ที่จัดทำโดยกลุ่มสุภาพบุรุษถึง 2 ปี และถึงแม้ในระยะแรกนี้นักเขียนหญิงจะมีจำนวนน้อยกว่านักเขียนชาย แต่ถ้าพิจารณาตลาดหนังสือในปัจจุบันจะเห็นว่าจำนวนนักเขียนสตรีอาจมีเท่ากับหรือมีมากกว่านักเขียนบุรุษเสียด้วยซ้ำ

สืบเนื่องจากกระแสนักเขียนสตรีดังที่กล่าวมาข้างต้น “บ้าน ของนักเขียนหญิง”จึงเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่บรรณาธิการได้ส่ง “เทียบเชิญ” ไปยังนักเขียนสตรีร่วมสมัย 3 รุ่น ซึ่งนอกเหนือจากนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ คือ แข ณ วังน้อย แล้ว ยังมีนักเขียนซีไรต์ นักเขียน ช่อการะเกด และนักเขียนรุ่นใหม่อีก 16 ท่าน

โดยนักเขียนทั้งหมดนอกจากนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศได้รับโจทย์ให้เขียนเรื่องสั้นว่าด้วยเรื่อง “บ้าน”

“บ้าน” โดยตัวของมันเองไม่สามารถสื่อสะท้อนความรู้สึกใด ๆ ได้ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบ้านต่างหาก ที่ทำให้บ้านมีสีสันมีลีลาจังหวะชีวิตมีอารมณ์ความรู้สึก เมื่อผู้อ่านเดินดูบ้านแต่ละหลัง ของนักเขียนหญิงทั้ง 17 คน ก็จะเห็นบ้าน 17 แบบที่แตกต่างกัน และเมื่อได้เปิดประตูเข้าไปสำรวจภายในบ้าน ก็ยิ่งจะได้สัมผัสบรรยากาศอันหลากหลายของบ้านแต่ละหลังอีกด้วย

บ้าน...คือความทรงจำอันงดงาม

เรื่องสั้นของนักเขียนหญิงต่างรุ่นหลายวัยในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ถ่ายสะท้อนชีวิตของสมาชิกในบ้านที่มีผ่านพบประสบการณ์ทั้งสุขและทุกข์ร่วมกัน เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ภาพเหล่านั้นก็ยังคงเป็นความสุขที่ฝังแน่นในความทรงจำ

เรื่อง “วิมานของเรา” ของ ชัญวลี ศรีสุโข บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละช่วงชีวิตที่เติบโตอยู่ในบ้านหลาย ๆ หลังตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปี บ้านหลังแรกที่สร้างด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อและแม่เป็นบ้านที่บันทึกภาพความสุขในวัยเยาว์ บ้านเช่าหลังแรกเมื่อต้องมาอยู่กรุงเทพฯที่ฝากรอยแผลเป็นไว้ที่หน้าผาก บ้านในสลัมที่สร้างความสนุกสนานโดยการจับลูกน้ำไปขายให้คนเลี้ยงปลา โดยมองข้ามความน่ารังเกียจของน้ำเน่าเหม็นที่ขังอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน หรือเมื่อเติบโตสร้างครอบครัวของตัวเองก็ต้องมาอาศัยพักพิงบ้านพักข้าราชการในโรงพยาบาลเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี ทุกอนูของบ้านทุกหลังล้วนสร้างความหลังฝังใจเสมอมา และถึงแม้ว่าทุกคนปรารถนาที่จะมีบ้านที่เป็น “วิมานของเรา” โดยไม่ต้องไปอาศัยใครอยู่ก็ตาม แต่ชัญวลี ก็ตอบโจทย์เรื่องบ้านไว้ว่า บ้านในความทรงจำทุกหลังที่สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในใจสำคัญกว่าบ้านที่หลายคนดิ้นรนขวนขวายหามาครอบครองเป็นไหน ๆ

เรื่อง “ลูกแก้วสีเทา” ของ อัญชัญ เป็นเรื่องราวในอดีตของหญิงสาวคนหนึ่ง กล่าวย้อนในวันที่เธอมีอายุครบหนึ่งรอบ เธอรู้สึกขัดอกขัดใจที่ในวันนั้นแทนที่พ่อจะให้รถจักรยานที่ร่ำร้องอยากได้เป็นของขวัญวันเกิดพ่อกลับให้เธอและน้องคัดเลือกลูกแก้วที่เห็นว่าดีที่สุดออกมาจากลูกแก้วจำนวนมากมายในขวดโหล แต่เธอก็เลือกสามารถเลือกลูกแก้วที่งดงามไร้รอยตำหนิได้ 3 ลูก ในขณะที่น้องคัดออกเพียงไม่กี่ลูก ในวัยเพียงเท่านั้นเธอไม่เข้าใจว่าพ่อกำลังสอนบทเรียนชีวิตให้ เมื่อกาลเวลาผ่านเลยไปจึงได้ตระหนักว่าการเลือกลูกแก้วในวันเกิดอายุ 12 ขวบนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่พ่อได้มอบให้ พ่อได้สอนให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ การเลือกลูกแก้วที่ผ่านการคัดกรองเหลือลูกที่ดีที่สุดเปรียบได้กับการที่มนุษย์ชอบตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองเพื่อใช้อ้างเป็นเหตุผลว่าสิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องซึ่งในสายตาคนอื่นอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หรือการที่เลือกลูกแก้วที่มีตำหนิทิ้งไปเหลือเพียงลูกที่เห็นว่าดีที่สุดเพียงไม่กี่ลูก เป็นเครื่องมือที่พ่อสอนให้รู้จักยอมรับผู้อื่น เป็นความจริงที่ว่าไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์แบบ ถ้าจะเลือกคบหาสมาคมกับคนที่สมบูรณ์แบบที่สุดคงหาเพื่อนได้ยาก แต่ถ้าเรายอมรับได้ว่าทุกคนมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่บกพร่องเราจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนหมู่มากได้อย่างมีความสุข และเมื่อเธอเติบโตขึ้น ในวันที่ต้องออกไปเผชิญโลกกว้างตามลำพัง วันใดที่รู้สึกทดท้อ บทเรียนที่ได้จากพ่อซึ่งเป็นความทรงจำที่งดงามในวัยเยาว์ก็ช่วยปรับใจทำให้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ง่ายขึ้น

นอกจากเรื่องสั้นสองเรื่องนี้แล้ว เรื่อง “จดหมายถึงบ้านที่ไม่ได้กลับไปเยี่ยม” ของ นักเขียนหญิงที่ใช้นามปากกาว่า “กาลตรงกัน”เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวในความทรงจำอันงดงามของช่วงหนึ่งในชีวิตที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่ปัตตานี ถ้อยคำที่ร้อยเรียงถ่ายทอดผ่านรูปแบบของจดหมายที่ส่งไปถึง “ปัตตานี” สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกโหยหาความสุขและความอบอุ่นที่ครั้งหนึ่ง เธอเคยได้รับเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เมืองปัตตานีในสายตาของคนภายนอก ดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ไม่มีความปลอดภัย ผู้คนโหดร้าย แต่สำหรับเธอความรู้สึกที่มีต่อเมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ต่างไปจากความรู้สึกของคนที่รู้จักเมืองนี้แต่เพียงผิวเผิน “ฉันหลงรักปัตตานีเมื่อแรกพบหรือเปล่า เป็นคำถามที่ทบทวนไปมา หลายคนที่ฉันพาไปรู้จัก ต่างก็บอกว่าฉันกล้าหาญที่ทนอยู่กับคุณได้ ฉันยิ้มกับคำบอกเหล่านั้น ไม่เคยมีใครรู้ว่า เราไม่ต้องกล้าหาญและอดทนใด ๆ เมื่ออยู่กับสิ่งที่เรารัก” เป็นคำบอกเล่าที่บ่งบอกความรู้สึกได้ชัดเจนที่สุด

เช่นเดียวกับเรื่อง “กลับบ้าน” ของ “ษวรรยา” ถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีเขียวอ่อนชานเมืองหลวง ที่ชั้นล่างดัดแปลงเป็นร้านขายของชำ หน้าบ้านมีบ่อน้ำและต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ บ้านที่มีสี่คนพ่อแม่ลูก บ้านที่น้ำจะท่วมทุกปีในฤดูฝน และแล้งอย่างที่สุดเมื่อถึงฤดูร้อน บ้านที่เธอในวัยเยาว์ร่ำร้องอยากได้ปีกแห่งเสรีภาพเพื่อโบยบินออกมาหาอิสระและเสรี และเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ เธอก็ได้ประจักษ์ว่าโลกภายนอกบ้านสีเขียวอ่อนหลังนี้ได้ฝากรอยแผลแห่งประสบการณ์ไว้ในใจมากมาย สามสิบปีผ่านไป ภาพชีวิตในอดีตภายในบ้านบ้านสีเขียวอ่อนครึ่งตึกครึ่งไม้หลังนั้นกลับเป็นบ้านที่เธอนึกถึงและโหยหาอยู่เสมอยามเมื่อต้องออกมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองและเมื่อต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่ไม่มีใครรออยู่ ณ จุดหมายปลายทาง แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่ได้กลับไปยังบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีเขียวอ่อนหลังนั้น ที่สุดของปลายทาง จะมีพ่อและแม่รอคอยอยู่เสมอ



สุชาติ สวัสดิ์ศรี/กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ/วรรณะ กวี


ความทรงจำอันอบอุ่นใน “บ้าน” ไม่ได้เกิดจากความผูกพันของ “คน” ที่อยู่ภายในบ้านเพียงอย่างเดียว สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็อาจทำให้บ้านเป็น “บ้านในความทรงจำ” ได้เช่นเดียวกัน เรื่อง “เพื่อนชีวิต” ของ “กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ” เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นความผูกพันของหญิงสาววัยทำงานกับสุนัขพันธุ์อิงลิช ค็อกเกอร์ชื่อ อินดี้ ซึ่งเพื่อนให้มาทดแทนเจ้าน้ำตาล สุนัขที่ตายไปเพราะถูกวางยาเบื่อ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว เนื่องจากไม่มีพี่น้องพ่อแม่จึงอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักดำเนินชีวิตอยู่ในโลกกว้างได้ด้วยตัวของตัวเอง เธอเป็นคนที่รักอิสระและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างเด็ดขาดและชัดเจนเมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อ เธอได้อินดี้มาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ความผูกพันถูกบ่มเพาะและงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว อินดี้มีความเป็นตัวของตัวเองและรักอิสระเหมือนเจ้าของ ถึงแม้เธอจะไม่อยากยอมรับกับทฤษฏีที่ว่า เจ้าของมีนิสัยอย่างไร สุนัขก็จะมีนิสัยอย่างนั้น แต่พฤติกรรมทั้งหลายของอินดี้ก็สะท้อนความเป็นตัวตนที่เลียนแบบเจ้าของของมันได้อย่างชัดเจน



ศรีดาวเรือง/นกป่า อุษาคเนย์-บรรณาธิการ


เรื่อง “เบื่อเพื่อนบ้าน” ของศรีดาวเรือง เมื่ออ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ของศรีดาวเรือง ก็ให้รู้สึกเหมือนนั่งฟังคนแก่ที่ใช้ชีวิตนั่ง ๆนอน ๆ อยู่ในบ้าน บอกเล่าเรื่องราวในอดีตรวมทั้งเรื่องราวที่พบเห็นผ่านบานหน้าต่างของห้องนอนให้ฟังอย่างเพลิดเพลิน ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปของ “เพื่อนบ้าน” และ “บ้านเพื่อน” ผ่านสายตาของหญิงชราคนนี้ เรื่องราวของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวของ “ยัยตะวัน” ลูกสาวนายตำรวจ ซึ่งต่อมาถูกจับเพราะโดนข้อหาค้าของเถื่อน และเธอหายออกจากบ้านไปในเวลาต่อมา และเมื่อเวลาผ่านไปสองสามวัน บ้านหลังนี้ก็มี “นางสาวตะวัน” ซึ่งหน้าตาไม่เหมือนเดิมเข้ามาอยู่อาศัยซึ่งสร้างความแปลกใจให้หญิงชรา จนเธอไม่อยากมองไปยังเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ เพราะกลัวจะเจอ “ตะวัน"”ซ้ำ ๆ อีก เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากหญิงชราทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์โดดเดี่ยวและการใช้เวลาเปล่าว่างของแต่ละวันให้หมดไปโดยการสังเกตความเป็นไปของเพื่อนบ้านเพื่อคลายความเหงา และอาจเป็นไปได้ว่าเพื่อนบ้านที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนั้นอาจจะเป็นคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ตะวัน คนเดิม แต่เนื่องจากโลกของหญิงชรามีอยู่เพียงในห้องแคบ ๆ เธออาจจะไม่รู้จักใครอื่นนอกเหนือจากคนที่เคยพบเห็นเท่านั้น

เรื่องสั้นอีกสองเรื่อง ได้แก่เรื่อง “บทเพลงแห่งรัตติกาล” ของ วิวรณ์ และ เรื่อง “เสียงทอดยาวอันโหยหวนของไวโอลิน” ของ มาญา มายาลัย อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องราวของบ้านในความทรงจำเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่เป็นอีกบางแง่มุมที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงความงดงาม ความอบอุ่น ของบ้านที่อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีซึ่งมีอิทธิพลต่อทุกชีวิตที่อยู่ในบ้าน และสะท้อนให้เห็นว่าเวลาและเสียงดนตรีสามารถเยียวยาความปวดร้าวที่เกิดขึ้นให้บรรเทาเบาบางลงไปได้

บ้าน...ของวันพรุ่งนี้

บ้าน...นอกจากจะเป็นความทรงจำอันงดงามของสมาชิกภายในบ้านแล้ว บ้านของนักเขียนหญิงหลายหลัง ได้เสนออีกมุมมองหนึ่งของ “บ้าน” ที่หลายคนดิ้นรนขวนขวายไขว่ขว้ามาครอบครอง เพราะบ้านอาจหมายรวมถึงความมั่นคง ความอบอุ่น หรืออาจแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มี “ราก”

เรื่อง “ความฝันอยู่ที่นี่ ความฝันมีแค่นี้” ของ “สุจินดา ขันตยาลงกต” สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ชีวิตร่วมกับชาวต่างชาติในดินแดนที่ห่างไกล อยู่ในบ้านที่ไม่ใช่บ้านของตัวเอง การมีอาณาจักรเล็ก ๆ แค่ห้องในคอนโดมิเนียมที่เมืองไทย ทำให้เกิดความปิติที่ยิ่งใหญ่เมื่อได้ตระหนักว่าอย่างน้อยตนเองก็มี “ราก”



มาญา มาญาลัย/กว่าชื่น บางคมบาง


เช่นเดียวกับเรื่อง “บ้าน” ของ “กว่าชื่น บางคมบาง” การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตารางงานที่แน่นเอียดในแต่ละวันก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ชีวิตท่ามกลางคนหมู่มาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างที่ขาดหายไปได้ แต่ภาพถ่ายของบ้านที่เก็บได้หน้าปากซอยอพาร์ทเม้นท์กลับก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย อบอุ่นและเป็นสุขอย่างประหลาด หลายครั้ง “ภาพของบ้าน” สามารถทำให้จิตใจเยือกเย็น ผ่านพ้นความขมึงเกลียวของเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปได้ เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่บอบบางของคนที่อยู่ในสังคมเมือง สิ่งที่ผู้คนโหยหาคือความอบอุ่น ความมั่นคงของ “บ้าน” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านที่ใหญ่โตโอ่โถงมากมายนัก ขอเป็นเพียงบ้านเล็ก ๆ ที่เป็นของตัวเองเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ในขณะที่หลายคนมี “บ้าน” เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ “บ้าน” ยังคงเป็นเพียงแค่ความฝัน เรื่อง “บ้านสุดขอบฝัน” ของ วรรณะ กวี เป็นเรื่องสั้นที่ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคนยากไร้ในสังคมที่ไม่มีที่พักอาศัย สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสร้างความฝันของผู้ยากไร้ให้เป็นความจริง แม้จะเป็นเรื่องยากแสนยากและมีอุปสรรคนานัปการ แต่ผู้เขียนก็ได้ฝากความหวังไว้ว่า ถ้ามีคนที่ทุ่มเท มุ่งมั่นและจริงจังที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ “บ้าน” ก็คงจะไม่เป็นเพียง “บ้านสุดขอบฝัน” อีกต่อไป



สร้อยแก้ว คำมาลา/ชัญวลี ศรีสุขโข


เรื่อง “ถุงเท้าสีแดง” ของ สร้อยแก้ว คำมาลา สะท้อนให้เห็นว่า การที่พ่อแม่ดิ้นรนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มี “บ้าน” เป็นของตนเอง บางครั้งอาจทำให้พลาดโอกาสร่วมประสบการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตของลูก ซึ่งสิ่งนี้ ถึงแม้จะมีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถซื้อวันเวลาให้ย้อนกลับคืนมาได้

เรื่อง “ม้าหมุน” ของ บุษดี งามภักดีพาณิช เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็ก ที่พยายามอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจในทฤษฎีและสัจจะแห่งศาสตร์ของม้าหมุนที่ว่า เมื่อเล่นม้าหมุนให้มันหมุนเร็ว ๆ เมื่อลงมาจากม้าหมุนแล้วจะต้องหมุนกลับจึงจะไม่งงหัว ด้วยความคิดเช่นนี้เขาจึงนำทฤษฎีนี้มาใช้กับกิจวัตรประจำวันของเขาคือการไปโรงเรียน เด็กน้อยคนนี้คิดว่าถ้าไปโรงเรียนแต่เช้าต้องกลับบ้านเย็นกว่าปกติ โดยแวะไปเล่นม้าหมุนเสียก่อน เมื่อกลับบ้านผิดเวลาจึงถูกแม่ลงโทษ และในทางกลับกันเมื่อเขาต้องการกลับบ้านเร็วขึ้นเขาจึงต้องมาโรงเรียนสาย จึงต้องแวะไปเล่นม้าหมุนเพื่อเป็นการฆ่าเวลา เมื่อมาถึงโรงเรียนก็ถูกครูตีอีกเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามอธิบายทฤษฎีม้าหมุนให้แม่และครูฟัง ก็ไม่มีใครยอมเข้าใจ เรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่ออ่านแล้วก็อดอมยิ้มและเอ็นดูในความคิดของเด็กเสียไม่ได้ และในอีกด้านหนึ่งผู้เขียนอาจต้องการแสดงตัวเป็นกระบอกเสียงแทนเด็ก เพื่อให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังและยอมรับความคิดของเด็กให้มากขึ้น

เรื่อง “พ่อเลี้ยง” ของ “อรุณวดี อรุณมาศ” เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตภายในบ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบนัก อันเนื่องมาจากพ่อที่แท้จริงเสียชีวิต และแม่มีเหตุผลที่ต้องแต่งงานใหม่ แต่พ่อเลี้ยง ก็ได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่ขาดพ่อ และถึงแม้พ่อเลี้ยงจะทำให้ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง แต่ผู้เขียนก็ได้สะกิดให้ผู้อ่านตระหนักว่า น้อยครอบครัวนักที่จะโชคดีเหมือนครอบครัวนี้ เพราะโดยแท้จริงแล้ว การหย่าร้างไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตของคนเพียงสองคนเท่านั้น แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจอาจตกมาอยู่กับลูกซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของพ่อแม่เลยก็เป็นได้

เรื่องสั้นที่อ่านแล้วรู้สึกบาดลึกอารมณ์ถึงที่สุด น่าจะได้แก่เรื่อง “คืนก่อกำเนิด” ของ พิณประภา ขันธวุธ เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนภาวะอารมณ์ขมขื่นของวัยรุ่นที่เกิดมาในบ้านที่ไม่อบอุ่นและต้องรับรู้ว่าตนเองเกิดมาด้วยความไม่ตั้งใจของผู้ให้กำเนิด ประสบการณ์อันเลวร้ายก่อให้เกิดภาวะกดดันทำให้ต้องระเบิดอารมณ์ด้วยการทำร้ายตนเองจนเกิดบาดแผลทั่วร่าง และทำร้ายสัตว์เลี้ยงจนถึงแก่ชีวิต จนกระทั่งต้องการจะทำร้ายผู้ให้กำเนิดเพราะคิดว่าพ่อแม่ต้องการทำร้ายตน ถึงแม้จิตใต้สำนึกส่วนดีจะพยายามฉุดรั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ การเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอดทำให้เส้นใยอันบอบบางที่ล่ามร้อยความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกขาดผึงลงได้อย่างง่ายดาย เรื่องจึงจบลงแบบโศกนาฏกรรมในครอบครัวที่พบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง

เรื่องราวของ “บ้าน” ที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักเขียนหญิง พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพด้านการสร้างสรรค์และความสามารถทางด้านวรรณศิลป์ของนักเขียนแต่ละคน สมตามเจตนารมณ์ของสำนักพิมพ์

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการพิสูจน์อักษรในบางตอนยังขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้การเว้นวรรคตอนในเรื่องสั้นบางเรื่องเช่น เรื่อง “เบื่อเพื่อนบ้าน” ในตอนที่กล่าวถึงนักร้องนักแสดงทั้งไทยและเทศในอดีตที่เขียนติดต่อยาวเหยียด ถ้าผู้อ่านไม่ใช่คนร่วมสมัยกับผู้เขียน อาจจะไม่รู้เลยว่าเป็นใครกันบ้าง

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงข้อด้อยเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับหลากหลายอารมณ์ที่ผู้อ่านได้รับเมื่ออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จบลง


Create Date : 13 ตุลาคม 2550
Last Update : 23 มิถุนายน 2551 18:50:45 น. 0 comments
Counter : 1884 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

tidds
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ
Friends' blogs
[Add tidds's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.