<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

i LINKS f 2006-12-12 : ว่าด้วย สถาบันกษัตริย์, ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ "

UPdated: 2010-04-23

LINK : เวบไซต์ thaipost.net // เรื่อง ปก // 1 พฤศจิกายน 2552
'ต้องรักษาสถาบัน' ส.ศิวรักษ์


"สถาบันไม่ใช่วิเศษที่สุด ยังมีอะไรบกพร่อง แต่ต้องรักษาเอาไว้ เหมือน ต้นไม้บ้านผม ผมรักษาเอาไว้ เราได้ร่มได้เย็น คุณดู อินโดนีเซียสิ ดูประเทศที่มีประธานาธิบดีสิ เป็นอย่างไรบ้าง มันเลวร้ายกว่าทั้งนั้น"

นักเคลื่อน ไหวทางสังคมอาวุโส ผู้ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็น Royalist แต่ กล้าวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งต้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยต้องโทษสักครั้ง อาจจะเพราะหลายฝ่ายรู้แก่ใจว่า ส.ศิวรักษ์ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความจงรักภักดีอย่างจริงใจ

---<<<อ่านบทสัมภาษณ์นี้>>>---



-----------------------------------------------------------------------
UPdated: 2008-07-04

เสวนา เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551

วิทยากร :
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐพล ใจจริง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
ดำเนินรายการโดย :

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


LINKS ประชาไท วันที่ : 2/7/2551
==>> สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในความคิดของผู้ก่อการฯ นั้น พระองค์ต้องอยู่ใต้กฎหมายและทำตามกฎหมาย แต่ในความคิดของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงคุ้นเคยกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระองค์ไม่สามารถจะอยู่ใต้อะไรได้ ฉะนั้น พระองค์ทำได้อย่างมาก เพียงทำตามรัฐธรรมนูญ นี่เป็นปัญหาที่ยังคงอยู่จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ดังนั้น คำว่า พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจึงหายไปและเรียกเป็น
“ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน””



LINKS ประชาไท วันที่ : 3/7/2551
==>> ณัฐพล ใจจริง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

"...
-สำนักจารีตประเพณี อธิบายความชอบธรรมของรัฐาธิปัตย์ของไทยว่า พระมหากษัตริย์นั้นมีความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุด เพราะมีความเป็นมาอย่างยาวนาน มีการสะสมความรู้ เปรียบได้กับศีรษะของบ้านเมือง โดยแนวคิดพัฒนามาจากการปกครองแบบพ่อปกครองลูก บางส่วนมาจากเทวราชา

- ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมมีแนวคิดมาจากสัญญาประชาคม โดยมองว่า อำนาจนั้นมาจากที่ทุกคนมอบให้ ถ้าไม่ดี ก็สามารถเอาคืนได้ ดังนั้น องค์กรนั้นๆ ก็จะถูกจำกัดโดยอำนาจของประชาชน หรือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

- ถ้าเอาแนวคิดของสำนักจารีตประเพณีตั้ง กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมที่โต้แย้งประเด็นนั้นอย่างชัดเจนคือ หยุด แสงอุทัย ซึ่งบอกไว้ในงานของเขาว่า

“สำหรับประเทศไทยมีผู้อ้างแม้ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ได้อำนาจมาจากราษฎรนั้น แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

- หยุดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจปกครองด้วยตัวเอง เพราะระบอบนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภา และรับผิดชอบต่อสภา ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง หรือหลัก the king can do no wrong

- หยุดได้อธิบายการละเมิดมิได้กับความรับผิดชอบว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ทรงจะต้องเป็นกลางไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใด เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่า ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเมือง มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองใด เพราะทรงเป็นประมุขของประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า

“มีข้อระลึกว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระมหากษัตริย์ อาจมีความเห็นอกเห็นใจพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่ตราบใดที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นกลางแล้ว ก็ต้องถือว่าทรงปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”


- หยุดอธิบายว่า หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ คือ ทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย ที่ทรงระมัดระวังและจัดการให้รัฐกิจต่างๆ ดำเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการวินิจฉัยเด็ดขาดสุดท้ายตามรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หยุดให้เหตุผลว่า อำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย


- หยุดได้ให้ความเห็นแย้งไว้ถึงความเหมาะสมของการมีคณะองคมนตรี ว่า

“ถ้าจะกล่าวตามหลักประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด การมีคณะองคมนตรีไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตยนัก เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ควรจะทรงมีที่ปรึกษาอย่างอื่น นอกจากคณะรัฐมนตรีของพระองค์ และเป็นหลักที่ว่า “ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ” แต่คณะองคมนตรีเป็นผู้กล่าวความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ…”

- หลังจากปี 2500 การโต้แย้งก็ซาลงไป จนกระทั่งวันนี้ได้กลับมาสู่การเรียนการสอนอีกครั้ง หยุดได้จบประโยคสำคัญเอาไว้ในคำอธิบายรัฐธรรมนูญว่า

“กฎหมายหาได้เป็นวิชาการที่อยู่ได้โดยลำพังตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาความจริงภายนอก”

ข้อความของหยุดนี้ ยังคงเป็นจริงอยู่หรือไม่ ?


..."







LINKS for 2006-12-12:

  • [ประชาไท, 2006-12-11] ปาฐกถา ส. ศิวรักษ์ คิดอย่างไทย : สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

    =>> ".....ก็การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ต้องการความละเมียด ละเอียดอ่อน และการดำเนินงานด้านนี้ก็ต้องใช้อุปายโกศลเกินกว่าที่นักการทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจการค้าทั่วๆ ไป จะเข้าใจได้ ยิ่งนักวิชาการที่อาจแม่นในทางนิติศาสตร์ต่างประเทศ โดยแทบไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยเอาเลย จะซาบซึ้งถึงระบอบดังกล่าวกระไรได้

    ขอย้ำถึงคุณภาพที่กล่าวมาแล้วอีกครั้ง คือความละเมียด ละเอียดอ่อน และสุขุมคัมภีรภาพ ซึ่งจำต้องผนวกไปกับความกล้าหาญทางจริยธรรม การกล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ให้ทุกสถาบันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่แต่ในแวดวงของสถาบันกษัตริย์ และในแวดวงของชนชั้นนำ หากต้องกระจายไปยังทวยราษฎร์ทุกหมู่เหล่าด้วย

    ถ้าไม่เข้าใจความข้อนี้ ผู้คนจะพอใจกับระบบเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หาไม่ก็หันไปหามหาชนรัฐ ซึ่งอ้างว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกๆ คนเสมอกันหมด แม้จนประธานาธิบดีก็เป็นสามัญมนุษย์ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี

    ....................
    สาระสำคัญที่สถาบันกษัตริย์ในยุโรปปลาสนาการไป เพราะแพ้สงคราม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่สถาบันกษัตริย์ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของรัฐธรรมนูญ มหาชน

    รัฐไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอุดมคติ แต่เกิดขึ้นเพราะระบบกษัตริย์ไม่อาจคงทนอยู่ได้

    ...................อนึ่ง พระเจ้าฟารุคแห่งอียิปต์เคยตรัสว่า ในอนาคตจะมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง 5 องค์ คืออังกฤษองค์หนึ่ง ส่วนอีกสี่องค์นั้นอยู่ในไพ่ป๊อก

    ..........................................
    การล้มเลิกระบบกษัตริย์ เพื่อเอาระบบมหาชนรัฐมาแทนที่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเปลี่ยนตัวประมุขจากการสืบทอดสันตติวงศ์มาเป็นประมุขที่รับเลือกมาเท่านั้น แต่ถ้ามองจากอดีตให้จะๆ แล้ว จะเห็นได้ว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน หรือไม่ก่อให้เกิดเสรีภาพ เพราะมักจะเปลี่ยนไปในทางเผด็จการ ซึ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพกับชนชั้นบนจำนวนน้อย อย่างไม่ต่างกันไปมากนักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

    ระบบกษัตริย์มักเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ด้วยเสมอไป เพราะพระราชพิธีมักโยงไปในทางลัทธิศาสนาด้วย...............

    ..............................................
    ไม่แต่ราชเลขาฯ เท่านั้น หากนักการเมืองและประชาราษฎรทั่วๆ ไป ถ้าเห็นคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ จำต้องช่วยกันทำให้ความเป็นกลางและความโปร่งใสของสถาบันดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ให้สถาบันสูงสุดไปพัวพันกับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร หรือในทางอื่นใด นอกเหนือวิถีทางของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐาน

    ถ้าสถาบันกษัตริย์ขัดกับรัฐธรรมนูญเมื่อใด สถาบันนั้นก็จะคลอนแคลนไป โดยยากที่จะรับรู้ได้อย่างผิวเผิน และถ้าไม่ตระหนักให้ชัด สถาบันกษัตริย์ก็จะเป็นไปเพื่อพระราชา ยิ่งกว่าเพื่อราษฎร ถ้าความจริงข้อนี้เข้าใจกันชัดเจนและกว้างขวางเพียงใด หายนภัยของสถาบันกษัตริย์ก็จะมีมากและเร็วขึ้นเพียงนั้น

    นอกจากบทบาทของราชเลขาฯ ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง ทางด้านการปิดทองหลังพระแล้ว การใช้จ่ายพระราชทรัพย์ก็สำคัญยิ่งนัก ความข้อนี้จำต้องโปร่งใสในทุกๆ ทาง ทางอังกฤษประเด็นนี้เป็นที่ท้าทายมาก มาแทบทุกรัชสมัย แม้จนบัดนี้ ก็ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร แต่ยิ่งมีเสียงเรียกร้อง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ มากขึ้นเท่าไร องค์พระราชาและมกุฏราชกุมารก็พยายามปรับปรุงสถานะทางด้านนี้กันยิ่งๆ ขึ้น อย่างน่าสำเหนียก

    การไม่ฟังคำเรียกร้อง คำวิพากษ์วิจารณ์ คือการขัดขืนประชามติ ซึ่งผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แต่ถ้ารับฟังคำติชม และหาทางอธิบายให้เข้าใจกันได้ สถาบันนั้นๆ ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองไปได้ ตามจังหวะจะโคน และขั้นตอนทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคม

    ทุกสังคม ทุกสถาบัน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพระอนิจลักษณะ จะขัดขืนอยู่หาได้ไม่

    ..................... .....

    ส. ศิวรักษ์ พูดที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2549 ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน [เอกสารที่ใช้ประกอบการเตรียมปาฐกถานี้อาศัย The Monarchy and the Constitution by Vernon Bogdonar (OUP 1997) มากกว่าอะไรอื่น]
    "



    [Tag: สถาบันกษัตริย์, ประมุข, รัฐธรรมนูญ, รัฐประหาร, ประชาธิปไตย, ราชาธิราช, ราชาธิปไตย, สมบูรณาญาสิทธิราชย์, ศักดินาขัตติยาธิปไตย, ระบอบ, การเมือง, การปกครอง, ไทย]


updated: 2007-01-22
  • ปาฐกถา ส.ศิวรักษ์ : 4 เดือนหลังรัฐประหาร 19 กันยา ปาฐกถาโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ งานสัมมนาวิชาการเรื่อง ' การเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร' จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มกราคม 2550 โพสต์ที่เวปไซต์ ประชาไท


  • "...........................
    ‘รัฐประหาร’ คำนี้แปลมาจาก Coup d’etat ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงการยึดอำนาจการปกครองของรัฐ เข้าใจว่าใช้คำๆ นี้ในภาษาไทย เมื่อคราวที่ผิน ชุณหะวัน นำคณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 จะถือว่าวันเดือนปีดังกล่าวเป็นการเริ่มศักราชแห่งการทำลายล้างประชาธิปไตยเอาเลยก็ว่าได้ แม้จะยังคงรูปแบบอยู่จนเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้มล้างรัฐสภาและรัฐธรรมนูญเอาเลย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501



    ก็การทำลายล้างประชาธิปไตยนั้น จำต้องใช้อาสัตย์มาแทนที่สัจจะ สังหารผู้ที่ทรงคุณธรรม โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องการรับใช้ราษฎรส่วนใหญ่ ทำร้ายป้ายสีคนดีๆ ที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายธรรมะให้กลายเป็นตัวเลวร้าย และถ้าปลิดชีวิตใครได้ จะโดยกระบวนการยุติธรรมหรือหาไม่ก็กระทำลงไปอย่างไร้หิริโอตตัปปะใดๆ สิ้น พฤติกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้



    6 พฤศจิกายน 2490 และ 20 ตุลาคม 2501 เป็นวันอัปยศอย่างสุดๆ ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาธิปไตยไทย ซึ่งเริ่มถือกำเนิดมาแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยที่จะถือเอาวันดังกล่าวเป็นรัฐประหารเพื่อราษฎรเป็นครั้งแรกของสยามก็ยังได้ หากในเวลานั้น ใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือจากระบอบประชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่การปกครองของสยามก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรี ตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าไม่เป็นการสืบสันตติวงศ์ก็เป็นการแย่งชิงราชบัลลังก์กัน คือเพื่อประโยชน์ของชนชั้นบนเท่านั้นเอง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแทบทุกรัชกาล แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็เพื่อให้ชนชั้นบนครอบงำชนชั้นล่าง ใช้ลัทธิศาสนาและวัฒนธรรมทางชนชั้น สะกดให้ชนชั้นล่างยอมรับความไม่เสมอภาค จะอย่างเต็มใจหรือไม่ก็สุดแท้



    ความข้อนี้ สายชล สัตยานุรักษ์ ได้อธิบายไว้อย่างน่าฟังว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา…



    “ปัญญาชนกระแสหลักสร้างความเชื่อว่า สังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นเป็นสังคมที่ดี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง กับการเสนอว่า ‘การปกครองแบบไทย’ ที่อำนาจรัฐรวมศูนย์อยู่ในมือของคนๆ เดียว เป็นการปกครองที่ดี โดยที่การเลือกตั้ง ก็คือการเลือก ‘คนดี’ ที่สามารถ (ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกก็คืออภิชนหรือชนชั้นนำ ในทางชาติวุฒิหรือคุณวุฒิทางการเมืองการปกครอง) แล้วให้อำนาจสูงสุดเด็ดขาดแก่ ‘คนดี’



    ปัญญาชนกระแสหลักอธิบายว่า ชาติกำเนิดและพุทธศาสนา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือถ้าจะมี ก็จะให้พระมหากษัตริย์นั้นเองทรงทำหน้าที่แทนราษฎรในการควบคุมดูแล ‘แขนขาแห่งรัฐ’ คือฝ่ายบริหารและข้าราชการ มิให้ใช้อำนาจกดขี่เบียดเบียนราษฎร หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว



    ปัญญาชนกระแสหลักเน้นเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ มากทีเดียว แต่เป็น ‘ความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค’ คำว่า ‘เสมอภาค’ ที่ปัญญาชนบางท่านในกลุ่มนี้ใช้อยู่เสมอ หมายถึงทุกๆ คนมีส่วนได้ส่วนเสียเท่าเทียมกัน แต่เป็นความเท่าเทียมกันในระหว่างคนชั้นเดียวกัน ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม อีกทั้งยังเน้นด้วยว่า ‘ผู้นำแบบไทย’ เป็นแหล่งที่มาของ ‘ความยุติธรรม’ ส่วน ‘เสรีภาพ’ ก็มิได้หมายถึงเสรีภาพทางความคิดและในความสัมพันธ์กับรัฐ หรือในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ปัญญาชนกระแสหลักจะเน้นว่า ใน ‘ความเป็นไทย’ ก็มีเสรีภาพอยู่แล้ว นั่นคือเสรีภาพทางใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุธรรมะขั้นสูงของพุทธศาสนา



    วิถีคิดที่ปัญญาชนนี้ปลูกฝัง ยังคงเป็นวิธีกระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาที่น่าคิดก็คือ พุทธศาสนาแบบโลกกิยธรรมที่คนกลุ่มนี้หวังว่าจะทำให้ ‘คนในที่สูง’ ให้ความเมตตากรุณาต่อ ‘คนในที่ต่ำ’ นั้น ยังมีพลังอยู่เพียงใด และการที่สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่คนๆ เดียว หรือสถาบันใดสถาบันเดียว ให้ทำหน้าที่ดูแล ‘ผู้ปกครองแบบไทย’ แทนสังคมนั้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะสังคมไทยซับซ้อนขึ้นมาก การจัดการทรัพยากรโดยคนๆ เดียว หรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ผูกขาดอำนาจไว้ในมือ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้เลย จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของทุกสถาบัน”



    ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้นำในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มีแนวคิดในทำนองนี้ และเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2501 ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยและรัฐสภา เป็นรูปแบบที่ไทยเราเอามาจากฝรั่ง อย่างไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เผด็จการคนนั้นประกาศว่าเมืองไทยควรปกครองตามรอยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ถึงกับกุนซือคนสำคัญของเขาที่เป็นปลัดบัญชาการของรัฐบาลอยู่ในเวลานั้นได้ประกาศกับผู้คนในวงในว่า เผด็จการผู้นั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 5 กลับชาติมาเกิดเอาเลยทีเดียว หากกับสาธารณชนกุนซือผู้นั้นประกาศว่า การปกครองของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นไปตามระบอบพ่อขุน คือโยงกลับไปสู่รัฐในอุดมคติแต่สมัยกรุงสุโขทัย กล่าวคือการโยงอดีตและมหาราชจากอดีตมาสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำของบ้านเมืองนั้น จะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ ที่สำคัญคือใช้สื่อสารมวลชนและอื่นๆ รวมทั้งระบบการศึกษา สะกดให้มหาชนเชื่อเป็นใช้ได้ หรือจะว่าได้ผลตามทฤษฎีของมาคิเวลลี ก็สุดแท้ ดังภาพยนตร์เรื่อง ‘พระนเรศวร’ และ ‘พระศรีสุริโยทัย’ ก็เป็นการมอมเมาอีหรอบนี้



    ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่กี่ปี พระปกเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือพระบรมราชาธิบายของพระราชบิดาของพระองค์ท่าน ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่ทรงยอมให้มีธรรมนูญการปกครองตามที่มีผู้กราบบังคมทูลในปี ร.ศ.103 นั้นแล แม้กระนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงยืนยันว่าพระราชบิดาของพระองค์ท่านทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างที่เรียกว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ เลยทีเดียว ทรงใช้คำภาษาอังกฤษว่า Revolution ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังทรงใช้ภาษาอังกฤษว่า Evolution



    ‘พลิกแผ่นดิน’ ในที่นี้ มองในแง่ดีหมายถึงการเลิกทาส พร้อมๆ กับการสร้างรัฐสมัยใหม่ให้สถาบันกษัตริย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยก็จำเดิมแต่กำจัดวังหน้าและอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้คณะสงฆ์ก็หมดความเป็นธรรมจักรที่คอยคานอำนาจอาณาจักรแต่รัชกาลนั้นเป็นต้นมา มีก็แต่การล่าอาณานิคมของฝรั่งเท่านั้นที่คอยสกัดกั้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ไม่ให้เกินขอบเขตไป แม้วัฒนธรรมและศาสนธรรมจะเคยมีคุณอยู่กับการเมืองการปกครอง ตรงที่ชนชั้นปกครองเคยได้รับการศึกษามาจากวัด เฉกเช่นไพร่บ้านพลเมือง แต่คุณธรรมดั้งเดิมได้ลดน้อยถอยความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จำเดิมแต่เมื่อพวกนักเรียนนอกจากยุโรปเข้ามามีอำนาจมากขึ้นในทางการเมืองการปกครอง โดยชนชั้นปกครองรุ่นใหม่มองเห็นพุทธศาสนาว่ามีคุณค่าแต่ในทางพิธีกรรม หรืออาจช่วยปัจเจกบุคคลได้บ้างในทางขจัดความทุกข์ส่วนตนเป็นกรณีๆ ไป ยิ่งกว่าที่คนเหล่านี้จะเข้าได้ถึงเนื้อหาสาระของพุทธธรรม ที่ควรนำมาประยุกต์ได้กับการเมืองการปกครอง ในขณะที่ผู้ซึ่งเข้าใจเนื้อหาสาระของพุทธธรรม ก็ไม่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงทางโลกสันนิวาสอย่างที่มีลัทธิจักรวรรดินิยมและทุนนิยมเข้ามาเป็นตัวกำกับ นอกเหนือองคาพยพของสยามรัฐราชสีมาอาณาเขต

    ..................."



    • [ประชาไท, เวปบอร์ด, 2006-11-21] สถาบันกษัตริย์ส่งเสริมvsเป็นอุปสรรคกับประชาธิปไตย?

      "หากตัดเรื่องการปลูกฝังให้เชิดชูแต่ด้านเดียว ไม่มีสิทธิ์คิด หมดสิทธิ์ตั้งคำถาม มาเป็นว่า เรามีสิทธิ์คิดมีสิทธิ์ตั้งคำถาม ดังที่ในหลวงก็มีพระราชดำรัสไว้ในวันที่4 ธันวาคม 2548ว่า จะเปิดโอกาสให้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้นั้น / ขอความกรุณาอภิปรายในประเด็นนี้ด้วยนะครับว่า สถาบันกษัตริย์ของไทยนั้นถือว่าส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย / คนตั้งกระทู้ไม่มีธงครับ มีแต่ยกขึ้นมาให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น" โดย : topic [58.10.134.xxx] วันที่ : 21/11/2549 14:16

      (-- a_somjai --> เข้าไปอ่านเมื่อ 12 ธันวาคม 2549 พบว่ามีผู้ตอบกระทู้ 2581 รายการ, มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย น่าสนใจศึกษามาก) เช่นความคิดเห็นที่ 504 (โพสต์โดยใช้นามว่า จ.ก.ล.) ที่ยกมานี้ =>>


      =>> ".....
      copy เอามาให้อ่าน มีคนโพสท์ไว้่ในพันทิปห้องปรัชญา เซฟไว้นานมาแล้วค่ะ


      ความคิดเห็นที่ 19

      สวัสดีครับ
      ก่อนอื่นผมขออธิบายเหตุผลของคำแต่ละคำที่ผมใช้ในหัวกระทู้ ดังนี้

      1. คนไทยส่วนใหญ่มีแนวคิด Royalist

      ...ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจนครับ และคงไม่ต้องยกตัวอย่างอธิบายมาก
      ปัญหาเพียงปัญหาเดียวอยู่ที่ว่า
      "คนไทยจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
      ในฐานะ Individual (คือนักถือที่คุณงามความดีขององค์ในหลวง
      ในฐานะปัจเจก) หรือในฐานะสถาบัน?"

      ...ส่วนตัวผมคิดว่า คนไทยเริ่มต้นด้วยการมีพื้นฐานจาก
      การนับถือองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะ "สถาบัน" ก่อน
      ด้วยเหตุผลเดียวกับที่คุณ KongMing ว่า ก็คือ
      ผลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังมีมาถึงปัจจุบัน
      แต่การนับถือด้วยเหตุผลแรกนั้น ก็ถูกส่งเสริมให้ยิ่งแรงขึ้น
      ด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจขององค์ในหลวง ทำให้คนไทยเกิด
      การนับถือพระองค์ในฐานะ Individual มากขึ้น แล้วก็ส่งเสริมกันและกัน
      ทำให้สถานะของ "สถาบันกษัตริย์" ยิ่งสูงส่ง จนเป็นตัวแทน
      ของความดีงาม และอำนาจ ทั้งหลายทั้งปวง

      ...การเป็น Royalist ด้วยการเคารพนับถือในแบบปัจเจกนั้น
      ไม่อันตรายเท่าการเคารพนับถือเชิงสถาบัน
      เพราะปัจเจกบุคคลย่อมครอบครองคุณงามความดีที่ตนกระทำโดยสมบูรณ์
      แต่ "สถาบัน" นั้น เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายไปยังบุคคลใหม่
      คุณงามความดี ความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจของสถาบัน ก็จะถูก
      โอนถ่ายไปยังบุคคลใหม่ด้วย ทั้งๆ ที่บุคคลใหม่นั้น อาจไม่ดีเหมือนบุคคลก่อน
      จึงย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะฝากความเคารพนับถือไว้กับสถาบัน
      ซึ่งไม่สามารถรับประกันว่าจะใช้อำนาจในทางดีงามตลอดไปได้เลย


      2. คนไทยส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษนิยม (เอียงขวา)

      ...เราจะปฏิเสธกันได้อย่างไร ในเมื่อกรณีต่างๆ ในสังคม
      และวาทกรรมที่คนไทยรับแต่ไม่เคยรู้สึกตัว พิสูจน์ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน

      ...เราถูกปลูกฝังด้วยวาทกรรม "วัฒนธรรมอันดีงาม"
      กล่าวคือ เราถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้ยึดถือจารีต
      โดยนึกอยู่เสมอว่า วัฒนธรรม ประเพณี จารีต นั้นล้วนเป็นสิ่งดีงาม
      และควรอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงหรือสูญหาย

      ...เด็กแทบทุกคนในประเทศ ถูกฝึกให้ร้องเพลง "เด็กเอ๋ยเด็กดี"
      มีเนื้อหา 10 ข้อ ที่ล้วนสอนให้เด็กมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม
      1. เด็กดีต้องนับถือศาสนา
      2. ต้องรักษาธรรมเนียมมั่น
      3. ต้อง "เชื่อ" พ่อแม่ครูอาจารย์
      4. วาจาต้องสุภาพอ่อนหวาน ...ฯลฯ...

      ...มีสมาชิกสภามลรัฐ ของมลรัฐหนึ่งในอเมริกาเสนอ
      ร่างกฎหมาย "ห้ามผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้น" ซึ่งเป็นกฎหมายอนุรักษ์นิยมรุนแรงฉบับหนึ่ง
      สภามลรัฐ ลงมติ "คว่ำ" ร่างกฎหมายนี้ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีใครสนับสนุนแม้แต่คนเดียว
      แต่เมื่อมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการออกกฎหมายเดียวกันในประเทศไทย
      ปรากฎว่า "คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้"

      ...มีลักษณะทางสังคมอีกมากมายในสังคมไทย ที่ยืนยันว่าสังคมไทยนั้นอนุรักษ์นิยม
      แม้เราจะไม่เห็นด้วย โดยยกตัวอย่างการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกของวัยรุ่นมาอ้าง
      นั่นย่อมไม่มีน้ำหนักพอ เพราะการรับวัฒนธรรมต่างชาติเหล่านั้น
      เป็นพฤติกรรมของวัยรุ่นสมัยใหม่ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม
      ทั้งยังถูกสื่อตีแผ่พฤติกรรมเหล่านี้จนเห็นใหญ่โตกว่าปกติ

      ...ผมคิดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปโดยแนวคิดอนุรักษ์นิยม
      จะค่อยๆ จางลงอย่างช้าๆ ...ไม่ใช่จางลงด้วยการกระทำให้เปลี่ยนแปลง
      จากภายในสังคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอกสังคม
      ได้แก่ โลกาภิวัตน์


      3. สังคมไทยปลูกฝังคนในสังคมอย่าง Dogmatism

      ...คุณ the author ได้อธิบายสิ่งที่ผมต้องการพูดไปแล้วบางส่วน ใน คห.4

      ...สิ่งสำคัญที่เราควรสังเกตคือ คนที่เป็น Dogmatist จะเกลียดการตั้งคำถาม
      และมักจะไม่ challenge ต่อความเชื่อ เพราะคิดว่าความเชื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง
      ลักษณะข้างต้นทั้งหมด ล้วนปรากฎอย่างเด่นชัดในสังคมไทย

      ...วาทกรรม "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" แพร่หลายอยู่ในสังคมไทย
      เป็นวาทกรรมที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยแม้จะเห็นชัดเจนว่าปรากฎการณ์หนึ่งๆ
      ขัดต่อหลักเหตุผลตามสามัญสำนึก ก็ยังพยายามไม่ challenge
      ต่อความเชื่อนั้น รวมถึงไม่พยายามตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ
      เคยเชื่อมาอย่างไรก็เชื่อเช่นนั้นต่อไป

      ...Dogmatism นี้ยังเกี่ยวโยงกับความอนุรักษ์นิยม
      เพราะลักษณะอนุรักษ์นิยมของคนไทย ไม่เพียงแต่พยายามรักษา
      ระเบียบ จารีต และสิ่งอันแสดงถึงวัฒนธรรมที่เป็น "รูปธรรม" แล้ว
      ยังพยายามรักษาสิ่งที่เป็นผลจากวัฒนธรรมในเชิง "นามธรรม"
      ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือ "ความเชื่อเดิมๆ" นั้นเอง

      4. คนไทยยัง innocent ต่่ออำนาจ

      ..."ความ innocent ต่ออำนาจ" ที่ผมตั้งใจจะหมายความถึงคือ
      "ความไม่เข้าใจ ไม่ระมัดระวัง และไม่รู้จักจัดการกับอำนาจ"

      ...คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่า การเทอำนาจไปให้บุคคลใด
      หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งนั้นอันตรายเพียงใด เราไม่พยายามทำความเข้าใจต่อ
      กลไกของอำนาจ (การกระจาย, การถ่วงดุล, การรวมศูนย์ ฯลฯ)
      ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจาก การที่สังคมไทยไม่เคยได้ "บทเรียน" มากพอ

      ...ประเทศที่ประชาชน mature ในเชิงอำนาจ (หมายถึง ประเทศที่
      คนในประเทศรู้จักกลไกของอำนาจ ตระหนักถึงอันตรายของอำนาจ
      และรู้จักจัดการอำนาจผ่านระบอบการปกครอง)
      ประเทศเหล่านั้นล้วนผ่านบทเรียนในประวัติศาสตร์ ทั้งขมขื่น โหด^-^ม และสุขสันต์
      มาอย่างโชกโชน จนตระหนักถึงอันตรายของอำนาจ และประโยชน์ที่อำนาจจะมอบได้
      ประเทศเหล่านั้นจึงมีการจัดการอำนาจอย่างรอบคอบ ไม่วางอำนาจไปไว้ที่บุคคล
      หรือสถาบันใดจนเกินไป ด้วยเขาตระหนักว่าทั้งบุคคลและสถาบันใดๆ นั้น
      ไม่สามารถรับประกันการใช้อำนาจอย่างดีงามได้เสมอไป

      ...ผมจึงมองว่า สังคมไทยจะค่อยๆ เรียนรู้สิ่งเหล่านี้
      และพัฒนาสังคมจน mature ขึ้น
      ...ทั้งนี้การกระทำอันใดที่จะช่วยเร่ง process ดังกล่าว
      ย่อมเป็นการกระทำที่เป็นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม
      ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่รุนแรงเกินไปจนทำให้โครงสร้างสังคมพังลงในทันใด

      จากคุณ : หมากเด็ด
      .....
      "
      [Tag: สถาบัน, กษัตริย์, การเมือง, รัฐธรรมนูญ, ไทย]





    posted by a_somjai on December 12, 2006




     

    Create Date : 12 ธันวาคม 2549    
    Last Update : 23 เมษายน 2553 10:59:10 น.
    Counter : 1342 Pageviews.  

    i LINKS f 2006-12-07 : ว่าด้วยภาคประชาชน ในกระแส

    LINKS for 2006-12-07

    • [ประชาไท, 2006-12-07] อุเชนทร์ เชียงเสน: การเมืองของ ‘เทวดา’ ก็ต้องโดน !!
      =>> "..... เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ภาคประชาชน” นี้ 1) ไม่เคยมีความเป็นเอกภาพหรือความเป็นหนึ่งเดียวมาตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นยังมีจุดยืนทางการเมือง ผลประโยชน์ ความเรียกร้องต้องการ ที่แตกต่างและขัดแย้งกัน ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ สำหรับคนที่มีประสบการณ์หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวบ้างก็จะรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้ดี 2) ขบวนการไม่มี “ผู้นำ” หรือ “ตัวแทน” ใครได้ และ ครป. และพันธมิตรฯ ของเขา ก็ไม่เคยเป็น และไม่สามารถเป็นตัวแทนของ “ภาคประชาชน” โดยรวมได้ แม้ว่าจะมีความพยายามก็ตาม ยกเว้นเครือข่ายพวกพ้องที่ใกล้ชิดกับพวกเขาไม่มากนัก และ “ภาพ” ตามหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น ..... "
      [Tag: การเมือง, การเคลื่อนไหวทางสังคม, กลุ่ม องค์กร, ภาคประชาชน, NGOs, เอ็นจีโอ, ต่อต้าน, สนับสนุน, รัฐประหาร]


    • [ประชาไท, 2006-12-05] ข่าวกรองประเมิน 3 กลุ่มต้านคมช.-รัฐบาล พร้อมส่งข้อมูลให้นายกฯ
      =>> "ผู้สื่อข่าวรายงาน (4 ธ.ค. 49) ว่า หน่วยข่าวด้านความมั่นคงได้เตรียมจัดทำเอกสารรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่ต่อต้านคมช. โดยประเมินความเคลื่อนไหวไว้สองระยะ ระยะแรก (19-25 ก.ย. 49) แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคัดค้านสถาบันเบื้องสูง, กลุ่มลัทธิประชาธิปไตย และกลุ่มหนุนพรรคไทยรักไทย รายงานระบุด้วยว่าเมื่อเข้าสู่ในระยะที่สอง (26 ก.ย. - 27 พ.ย. 49) ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ แตกตัวออกไปและขยายวงเพิ่มขึ้น ....."
      [Tag: ข่าวกรอง, ความมั่นคง, กลุ่มต่อต้าน, รัฐประหาร]


    • [สถาบันข่าวอิสรา, 2006-12-01] สัมภาษณ์พิเศษ
      : “ประภาส ปิ่นตกแต่ง" ลอกคราบ ระบอบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรม

      =>> " ..... แต่ภาพใหญ่ของการเมืองขณะนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ระบบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรม คือตัวสะท้อนว่า รัฐบาลไม่หนุนเสริมการเมืองภาคประชาชนแล้วยังสร้างระบบการเมืองแบบอภิชนาธิปไตย ภาพที่เกิดขึ้นทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า เรากำลังออกแบบการเมืองไปในทิศทางใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนอย่างแน่นอน แต่อาจเป็นการเมืองเพื่ออภิชน การเมืองที่มุ่งแสวงหาบุคคลที่มีคุณธรรม หรือแสวงหาอำนาจบริสุทธิ์ ........."
      [Tag: ประชานิยม, คลื่นใต้น้ำ, การเมืองภาคประชาชน]






     

    Create Date : 07 ธันวาคม 2549    
    Last Update : 8 ธันวาคม 2549 10:04:01 น.
    Counter : 442 Pageviews.  

    รัฐประหารซ้ำซาก จากพ่อของพ่อ ถึงลูกของลูก (5): "ชนชั้นนำและปัญญาชนผู้จงรักภักดีในตำนาน"

    LINKS for 2006-11-28

  • คอลัมน์ ซอยสวนพลู ทรรศนะ/โดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2530 และถูกนำมาโพสต์ซ้ำที่ pantip.com โต๊ะ/ห้องราชดำเนิน กระทู้ P4915570 โดยคุณ : konkruad - [ 28 พ.ย. 49 07:26:30 A:124.26.39.62 X: ]


  • ความจริงผมไม่อยากจะเขียนเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เลย แต่เมื่อได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่า จำเป็นต้องเขียนเพราะถ้าไม่เขียนแล้วอาจเกิดผลเสียหายใหญ่โตต่อไปได้

    จะกระเทือนใครบ้างผมก็ไม่สนใจละครับ เพราะผมคิดเสียว่า ถ้าผมกระเทือนใครคนนั้นเป็นคนควรกระเทือนหรือกระเทือนอยู่แล้ว

    มีข่าวออกมาว่า ในหลวงมีพระราชดำรัสกับคนหนังสือพิมพ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ในทำนองว่าระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยนั้นยุ่งยากเพราะเราต้องลอกแบบฝรั่งเอามาใช้ ถ้าทำแบบไทยๆ ก็คงจะยุ่งยากน้อยลง พระราชดำรัสนี้มีขึ้นในโต๊ะเสวยขณะที่มีพระราชปฏิสันถารกับคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นธรรมดาของพระราชดำรัสในโต๊ะเสวยก็จะต้องมีพระราชกระแสอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ หรือคนหนังสือพิมพ์กราบบังคมทูลถามอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง และเมื่อมีพระราชกระแสที่เป็นข่าวนี้แล้ว ก็จะต้องมีพระราชกระแสอื่นๆ ต่อไปอีก

    การที่จะนำพระราชกระแสในโต๊ะเสวยมาบอกเล่าให้คนนอกทราบนั้น ก็ไม่บังควรอย่างยิ่งอยู่แล้ว

    แต่ถ้าจะบอกเล่า ก็ควรจะบอกให้หมดว่า พระราชกระแสก่อนนั้นมีมาอย่างไร และพระราชกระแสต่อไปมีอย่างไร การที่รัฐบาลจงใจเชิญพระราชกระแสมาแต่ประโยคเดียว แล้วสั่งให้เผยแพร่ต่อไปนั้น เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง แม้จะเป็นคำพูดของคนอื่นก็ไม่ควร เพราะไม่เป็นธรรมแก่ผู้พูด

    ความจริง คนหนังสือพิมพ์ที่เฝ้าฯอยู่ในโต๊ะเสวยนั้น มีอยู่หลายคน ไปจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่มีอยู่เพียงฉบับเดียวหรือสองฉบับเท่านั้น ที่ได้นำมาลงเป็นข่าว แต่ก็เป็นข่าวเล็กๆ มิได้ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ข่าวสำคัญ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่นั้นมิได้เอ่ยถึงเลย

    ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ไทยนั้นถึงจะจ้วงจาบใครต่อใครให้เกิดโทสะ เคียดแค้นได้อยู่เสมอ แต่ก็รู้ที่ต่ำที่สูง บูชาคนที่ควรบูชาและมีความจงรักภักดีอันมั่นคงแข็งแรงอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ หนังสือพิมพ์ไทยยังเป็นผู้ดีอยู่ไม่กำเริบ

    ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ จึงได้ตื่นเต้นถึงกับบอกคณะรัฐมนตรีให้ช่วยกันเผยแพร่ข่าวนี้ให้สะพัดออกไป และย้ำแล้วย้ำอีกว่า อยากให้คนรู้กันทั่ว

    ที่คุณเปรมอ้างว่าจงรัก ภักดีต่อพระกรุณายิ่งกว่าใครนั้น น่าจะต้องเอามาผ่านห้องทดลองเพื่อวิเคราะห์กันใหม่เสียแล้วกระมัง? สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องคิดก็คือ คำว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้น หมายความว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหมายของคำนี้ในขณะที่มีพระราชดำรัสนั้นเป็นอย่างไร เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ ผมเองก็ไม่รู้

    คุณเปรมเป็นอะไรมาจึงจะเข้าไปหยั่งรู้ในพระราชหฤทัยได้?

    เพียงแต่คิดว่าตัวรู้ก็ออกจะเป็นคนไม่น่าติดต่อด้วยเสียแล้ว

    เรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ ผมได้ยินพูดกันมาช้านานแล้วคนโน้นพูดบ้างคนนี้พูดบ้าง ฟังดูก็เห็นตรงกันแต่ศัพท์ที่ใช้เรียก

    ส่วนวิธีการที่อ้างว่าเป็นวิธีการแบบไทยๆ นั้น ไม่เห็นตรงกันสักราย เมื่อต่างคนต่างคิดในเรื่องเดียวกันนี้ ต่างคนต่างก็มีวิธีการของตนแตกต่างกันไป บ้าบ้าง บอบ้าง บิ่นบ้าง หาอะไรเป็นแก่นสารและเอาเป็นที่ยุติไม่ได้

    เมื่อคุณเปรมตื่นเต้นใน ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า คุณเปรมเองก็ต้องการและมีวิธีการของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของตนเอง

    หมายถึง การเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องสมัครผู้แทนฯให้เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ใช่ไหม?

    หมายถึงการที่เป็นนายกฯคนเดียวตลอดไปใช่ไหม?

    หมายถึงนายกฯคนที่ชื่อเปรมนั้นไม่ต้องรับผิดในสิ่งใดและต่อใครใช่ไหม?

    หมายถึงนายกฯคนที่ชื่อเปรมจะต้องอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ ใครแตะต้องไม่ได้ ใช่ไหม?

    หมายถึง ความเป็นนายกฯ นั้นมีแต่เสวยสุข ไม่มีทุกข์กับใคร ใช่ไหม? ได้อยู่บ้านหลวง ใช้น้ำหลวง ไฟหลวง ใช่ไหม?

    จะไปไหนก็ใช้รถหลวง เรือหลวง หรือหลวงออกค่าโดยสารเครื่องบินให้ยกโขยงกันไปเที่ยวต่างประเทศได้ ใช่ไหม?

    จะไปไหนก็มีคนมาเรียงรายคอยต้อนรับ บางแห่งถึงกับก้มลงกราบกับพื้นดิน ใช่ไหม?

    ความคิดเหล่านี้ก่อให้เกิดตัณหาอุปาทาน อันเป็นต้นเหตุของอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ โลภะ ทำให้เกิดความอยากเห็นความคิดของตนเป็นผลจริงจังขึ้นมา เพื่อทุกอย่างที่ตนปรารถนาจะให้เกิดขึ้นจะได้เกิดขึ้น

    และเห็นจะเป็นเพราะความอยากนั้นเอง ที่ทำให้คนเหมาเอาคำว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ในพระราชดำรัสนั้นตรงกับความหมายที่ตนคิดไว้ ถึงกับดีอกดีใจสั่งให้เผยแพร่ต่อ ๆ ไป เป็นการตู่พระราชดำรัสโดยแท้

    ในหลวงนั้น ทรงเป็นล้นพ้นในทุกกรณี ไม่ควรที่ใครจะไปเหมาเอาว่า พระราชดำริใด ๆ ตรงกับความคิดของตนเองได้

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ หากคุณเปรมหรือรัฐบาลคุณเปรม ไม่ว่าจะเป็นเปรม 5 เปรม 6 ไปจนถึงเปรม 432 จะกระทำสิ่งใดโดยอ้างว่า เพื่อเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ แล้ว จะต้องถือว่าการกระทำนั้นเป็นความคิดของคุณเปรมเองแต่ผู้เดียว ไม่ใช่ตามความหมายในพระราชดำรัส

    ใครไม่เห็นด้วยก็อาจแย้งได้ คุณเปรมไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างว่า ทำไปตามพระราชดำรัสเพื่อปกป้องคุ้มกันตนเอง เมื่อมีอะไรเสียหายเกิดขึ้น คุณเปรมจะต้องรับผิดด้วยตนเอง จะไปซัดความผิดให้แก่ใครไม่ได้ จะอ้างว่าทำไปด้วยความจงรักภักดีก็ไม่ได้เด็ดขาด

    คุณสมัคร สุนทรเวช ได้พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน แต่แทนที่ใครจะได้สติ คุณสมัครกลับถูกโจมตีมากมายทางวิทยุและทางอื่น ๆ

    ผมได้อ่านคำชี้แจงของคุณสมัครในหนังสือพิมพ์เดลิมิเลอร์ เกี่ยวกับเรื่องที่คุณสมัครถูกโจมตีนี้แล้ว รู้สึกจับใจในความรู้จักประมาณตนของคุณสมัครมาก ไม่เสียทีที่คุณสมัครเกิดมาในตระกูลข้าราชสำนัก มีบรรพบุรุษเคยใกล้ชิดพระองค์มาก่อน รู้ต่ำรู้สูง รู้สิ่งใดควรพูดสิ่งใดไม่ควร

    คึกฤทธิ์ ปราโมช




  • Ultra-royaliste กับการฟื้นฟูและล่มสลายของกษัตริย์ฝรั่งเศส ทรรศนะ/โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ที่เวปไวต์ onopen.com/ ตีพิมพ์ออนไลน์ : November 10, 2006


  • Ultra-royaliste หรือที่ปรีดี พนมยงค์ แปลว่า “ผู้เกินกว่าราชา” คือ กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดนิยมเจ้าอย่างสุดโต่งในฝรั่งเศส มุ่งหมายจะรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมาใหม่ ต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจมากทั้งในทางความเป็นจริงและในทางสัญลักษณ์ มุ่งให้อภิสิทธิ์แก่พวกขุนนางรายล้อมกษัตริย์ มองประชาชนเป็นเพียง “ข้าแผ่นดิน” (Sujet) มากกว่าเป็น “พลเมือง” (Citoyen) หลายกรณี พวก Ultra-royaliste เรียกร้องอำนาจและอภิสิทธิ์ให้กษัตริย์มากกว่าที่กษัตริย์ต้องการเสียอีก

    (......................................................................)

    ................

    นับแต่ปฏิวัติ ๑๗๘๙ ฝรั่งเศสเหมือนห้องทดลองระบอบการปกครอง กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองที่ตนปรารถนา Ultra-royaliste ก็เป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการอุ้มชูสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาสู่อำนาจหลายครั้ง แต่ด้วยนโยบายไม่ประนีประนอม ไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้มีรสนิยมแตกต่างกัน ไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ทำให้ระบบกษัตริย์ต้องล่มไป กลุ่ม Ultra-royaliste ต่อสู้จนระบบกษัตริย์กลับมาได้ แต่แล้วด้วยพฤติกรรมแบบเดิมๆ มุ่ง “อำนวยการ” โดยอาศัย “กษัตริย์” บังหน้า ทำให้ระบบกษัตริย์ล่มไปอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งในท้ายที่สุด ความพยายามครั้งสุดท้ายในการฟื้นฟูกษัตริย์แบบมีอำนาจมาก ก็ทำให้กษัตริย์ไม่ได้ปรากฏในฝรั่งเศสอีกเลย

    ไม่ว่า Ultra-royaliste จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสบอกเราว่าสถาบันกษัตริย์กลับมามีอำนาจก็ด้วย Ultra-royaliste และสถาบันกษัตริย์ต้องล่มสลายไปตลอดกาลก็ด้วย Ultra-royaliste อีกเช่นกัน

    ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วใน “ฝรั่งเศส”

    <<<อ่านบทความนี้ฉบับเต็ม---- Read More>>>





    posted by a_somjai on November 28, 2006





    Updated: 2007-02-22

    LINKS
    ประชาไทย: สัมภาษณ์ สุธาชัย : ประวัติศาสตร์ที่เฉลยอนาคต และเรื่องที่ควรถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

    รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491-2500)” เคยเขียนงานเรื่อง “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง” ร่วมกับ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.สุธาชัย ได้เขียนบทความลงในหนังสือ “รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในงานเขียนเรื่อง “ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

    ล่าสุด รศ.ดร.สุธาชัย เขียนบทความส่งตรงมายังประชาไท เรื่อง ประเด็นหลักในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาว่าด้วยข้อเสนอในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ ชวนให้ตั้งคำถามและย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่นเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยไทยเป็นมาอย่างไร อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวของรัฐไทยกับความหลากหลาย ใครคือเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

    นักประวัติศาสตร์รัฐประหาร ยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการกำหนดสถาบันองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ และย้ำถึงความสำคัญของสถาบันรัฐสภาในฐานะตัวแทนของประชาชนว่า จำเป็นต้องมีบทบาทตัดสินในเรื่องสำคัญของประเทศ และด้วยสถานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศนั้น สภาผู้แทนฯ หรือรัฐสภาน่าจะเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ก็ต้องประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย

    ==> READ MORE อ่าน <==




     

    Create Date : 28 พฤศจิกายน 2549    
    Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 11:56:20 น.
    Counter : 707 Pageviews.  

    รัฐประหารซ้ำซาก จากพ่อของพ่อ ถึงลูกของลูก (4): "ปัญญาชน ชน/คนชั้นกลางและชนชั้นนำไทย"

    LINKS for 2006-11-23

  • ชิ้นอิสระ : มายาคติ ประชาธิปไตย?ของปัญญาชนชั้นกลางไทย ทรรศนะ/โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ที่ กรุงเทพธุรกิจ 21 พฤศจิกายน 2549


  • คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 พลันเสียงประกาศ "โปรดฟังอีกครั้ง ... ?" ปัญญาชนชั้นกลางไทยกลุ่มใหญ่ต่างไชโยโห่ร้องว่า "เราชนะแล้ว"..."ระบอบทักษิณพังทลายแล้ว" ปัญญาชนกลุ่มนี้ประกอบด้วย นักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำสหภาพแรงงาน ราษฎรอาวุโส "ผู้ดี" แม้แต่ "คนเดือนตุลา" ที่อดีตเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

    วันที่ 19 กันยายนเป็นหินลองทองที่พิสูจน์ว่า ใครและชนชั้นใดต้องการประชาธิปไตย และใคร ชนชั้นใดที่เป็น "พวกอำนาจนิยม" ณ วันนี้ ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ได้กลายเป็นพวกขวาจัด สนับสนุนและชื่นชมรัฐประหารที่สถาปนา "ระบอบปฏิรูป" ทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มปัญญาชนส่วนที่คัดค้านรัฐประหารว่า เกิดอะไรขึ้นกับปัญญาชนชั้นกลางไทยส่วนมาก "พวกเขาน่าที่จะเป็นกองหน้าประชาธิปไตย" ไม่ใช่ "พวกหามเสลี่ยงอำนาจนิยม"

    คำอธิบายก็มี เช่น "คนพวกนี้หลงผิด" "ถูกอารมณ์เกลียดชังทักษิณเข้าครอบงำจนหน้ามืด สร้างวาทกรรมระบอบทักษิณขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงเชื่อหัวปักหัวปำ" แต่คำตอบเหล่านี้เน้นไปที่อัตวิสัยตัวบุคคลเท่านั้น โดยไม่ได้ตอบว่า เหตุใดพวกเขาจึง "แห่แหนไปเป็นพวกอำนาจนิยมขวาจัดอย่างพร้อมเพรียงกันหมด"

    คำตอบคือ ปัญญาชนชั้นกลางส่วนนี้ปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองจารีตนิยม-ขุนนางไปแล้ว พวกเขาไม่เคยเป็นฐานพลังและกองหน้าประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย แม้บางคนเคยมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ก็ตาม สิ่งที่คนพวกนี้ใฝ่ฝันต้องการมาตลอดยุคสมัยคือ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ให้ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางขยายสมาชิกภาพความเป็น "อภิสิทธิ์ชน" มาให้พวกตน

    ปัญญาชนชั้นกลางเป็นดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาในยุค 2500-2516 ซึ่งเป็นเผด็จการทหารด้วยอำนาจรัฐที่ผูกขาดในวงแคบของชนชั้นขุนนาง การต่อสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ของปัญญาชนชั้นกลางก็คือ ยุติการผูกขาดอำนาจในหมู่ขุนนางราชการ และให้ขยายขอบข่ายอำนาจนั้นมาสู่ "คนนอก"

    แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเดือนตุลาคม 2516 แต่ดอกผลก็ถูกปล้นชิงกลับคืนไปในเดือนตุลาคม 2519 ปัญญาชนชั้นกลางเหล่านี้ยังคงดิ้นรนต่อสู้เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ของพวกตนมาตลอดยุค 2520 ซึ่งการเมืองเป็นระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้นที่ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางกุมอำนาจรัฐจริง แต่มีเปลือกนอกเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองกับรัฐบาลที่อ่อนแอ

    ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้สนับสนุนหรือไม่คัดค้านรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เพราะพวกเขาเองมีทั้งผลประโยชน์และจิตวิทยาร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนาง ที่รังเกียจนักการเมืองที่เลือกตั้งโดยชนชั้นล่างทั่วประเทศ แต่พวกเขาคัดค้านนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่า ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางยังคงต้องการผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กแคบของตนเหมือนเดิม ด้วยการย้อนยุคการเมืองไปถึงปี 2523

    ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางจึงสรุปบทเรียนได้ว่า ต้องเจียดสมาชิกภาพในอำนาจไปให้ปัญญาชนชั้นกลาง เพื่อให้เป็นพันธมิตรและ "คนหามเสลี่ยง" แก่พวกตน ปัญญาชนชั้นกลางจึงเป็นผู้ที่ได้เสพดอกผลแห่ง "ชัยชนะ" ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สถานะการเมืองสังคมได้ยกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับแต่นั้นพวกเขาได้เข้าไปอยู่ในกลไกอำนาจทั้งในระบบราชการและองค์กรการเมืองผ่านสถานะของตนในมหาวิทยาลัยและองค์กรพัฒนาเอกชน สมอ้างเป็น "ตัวแทนภาคประชาชน" แต่แท้จริงเป็นพวก "ขุนนางใหม่" ในระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้น

    ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยของกลุ่มทุนใหม่ เพราะฐานพลังชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของกลุ่มทุนใหม่นั้น เป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นขุนนาง และต่อสถานะ "ขุนนางใหม่" ของพวกตน นี่คือสาเหตุที่พวกเขาสร้างแล้วก็ดูดซับวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" เข้าไปได้ง่าย รวดเร็ว ปลุกปั่นขึ้นเป็นอารมณ์เกลียดชังสุดขั้ว ร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางก่อตัวขึ้นเป็นแนวร่วมอำนาจนิยม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยและฉีกรัฐธรรมนูญ

    คนพวกนี้พูดได้ถูกต้องที่ว่า รัฐประหาร 19 กันยายน แตกต่างจากรัฐประหารทั้งปวงในอดีต แต่ไม่ใช่เพราะนี่เป็น "รัฐประหารที่ดี" หรือ "รัฐประหารเพื่อปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตย" ตามที่อ้าง หากแต่เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่ปัญญาชนขุนนางใหม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อวิกฤติการเมืองกลางปี 2548 จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 เราจึงได้เห็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติและองค์กรการเมืองต่างๆ ภายหลังรัฐประหารที่เต็มไปด้วยนักวิชาการ อาจารย์ และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน และคนเดือนตุลาเข้าไปนั่งกันอย่างภาคภูมิใจ

    วันที่ 19 กันยายน จึงเป็นรัฐประหารร่วมของพันธมิตรขุนนาง-ราชการ-ปัญญาชนขุนนางใหม่ เพื่อสถาปนาสิ่งที่บางคนเรียกว่า "ประชาธิปไตยภูมิปัญญาไทย" แต่เนื้อแท้เป็นระบอบอภิสิทธิ์ชน

    ที่สำคัญคือ นี่อาจเป็นรัฐประหารร่วมครั้งสุดท้ายของพวกเขาด้วย เมื่อ "ระบอบประชาธิปไตยมหาชน" มาถึง

    ทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้กล่าวถึงปัญญาชนชั้นกลางอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งในคืนวันที่ 19 กันยายน ได้แสดงอาการรู้สึกว่า "โล่งอก" วิกฤตการณ์ได้จบสิ้นลงเสียที ... และไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็เป็นไปแล้ว มาช่วยกอบกู้บ้านเมืองกันดีกว่า เรายังต้องอธิบายธาตุแท้และอาการป่วยของปัญญาชนกลุ่มนี้ในโอกาสต่อไป


    <<<อ่านบทความต่อเนื่อง (1) เรื่องนี้ของพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เรื่อง >>>
    >>>(2)มายาคติของ "ปัญญาชนตีสองหน้า" ตีพิมพ์/โพสต์ที่ กรุงเทพธุรกิจ และ ประชาไท เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 >>>
    >>>(3) ฉันทามติ ‘จารีตนิยม’ ของปัญญาชนเดือนตุลา ที่ไซต์ประชาไท โพสต์เมื่อ วันที่ : 15/12/2549
    (หรืออ่านที่ส่วนคอมเมนต์ในบล็อกนี้)



  • บทความ: ประชาธิปไตยไม่เท่ากับ...ความเป็นไทย+ตุลาการภิวัตน์+อำมาตยาภิวัฒน์ ทรรศนะ/โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โพสต์ที่เวปไวต์ประชาไท วันที่ : 17/11/2549 พิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1370


  • หลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยกำลังทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนักศึกษาในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 และปัญญาชนคนสำคัญของประเทศในปัจจุบัน ได้เขียนบทความขนาดสั้นเพื่อเสนอความเห็นต่อสถานการณ์ในขณะนั้น รวมทั้งแนวทางพัฒนาการเมืองในระยะยาว โดยเขาสนับสนุนการรัฐประหารด้วยเหตุผลสองข้อ

    ข้อแรก การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยผู้ทำการที่เป็น “พลังซึ่งเน้นด้านคุณธรรมของบ้านเมือง”


    ข้อสอง การรัฐประหารครั้งนี้นำมาซึ่งรัฐบาลซึ่งมีผู้นำที่สุขุม มั่นคง มีรองนายกรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์และความสามารถ รวมทั้งมีรัฐมนตรีที่สื่อสารกับชาวบ้านได้ดี


    มองอย่างผิวเผินแล้ว ธีรยุทธสนับสนุนการรัฐประหารด้วยเหตุผลเรื่องตัวบุคคล เพราะได้อ้างถึงอุปนิสัยของผู้ก่อรัฐประหารและคณะรัฐมนตรี เช่น ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, จรัญ ภักดีธนากุล โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ , หรือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่มีทางล่วงรู้ได้

    ปัญหามีอยู่ว่าสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสังคมชนชั้นนำออกไป รวมทั้งสำหรับคนชนบทที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับบุคคลเหล่านี้ ธีรยุทธจะจูงใจให้พวกเขายอมรับความชอบธรรมของรัฐประหารและคณะรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างไร?

    สรุปอย่างรวบรัดที่สุด ธีรยุทธบอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ชอบธรรม เพราะเป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อพลังที่ยึดถือความซื่อสัตย์, พลังสถาบันยุติธรรม, พลังสถาบันชาติ, และพลังสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถต่อสู้กับทุนการเมืองได้ ทำให้กองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง[1]

    อันที่จริง ธีรยุทธไม่ได้อธิบายรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะ “ความจำเป็นทางการเมือง” เพื่อขับไล่ “ทุนการเมืองระดับชาติและระดับโลกาภิวัตน์” แต่เพียงอย่างเดียว หากยังเสนอ “ทฤษฎีทั่วไป” ว่าด้วยแนวทางการพัฒนาการเมืองไทยอีกด้วย กล่าวคือเขาเห็นว่าชนชั้นนำสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ควรร่วมมือกับชนชั้นนำในการสร้างรัฐธรรมนูญบน “โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” เพื่อออกไปจากแนวคิดตะวันตกแบบสุดขั้ว นั่นก็คือออกไปจากแนวคิดที่ถือว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคืออำนาจที่สำคัญที่สุดในสังคม

    ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ธีรยุทธโจมตีว่าการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งเป็นเพียง “ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ” (Procedural Democracy) ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ “ประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร” (Substantive Democracy)[2] นั่นก็คือประชาธิปไตยที่ทำให้ได้มาซี่งผู้ปกครองที่เป็นคนดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม


    ถึงตรงนี้ บทความของธีรยุทธมีประเด็นให้โต้แย้งได้อย่างน้อยสามข้อ

    ข้อแรก การเลือกตั้งเป็นเพียง “ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ” จริงหรือไม่

    ข้อสอง “ประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร” คือประชาธิปไตยที่ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ทรงศีลธรรมอย่างที่ธีรยุทธว่าไว้จริงหรือ

    ข้อสาม หากนำแนวทาง “โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” แบบธีรยุทธมาใช้ สภาพทางการเมืองในสังคมไทยจะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร

    ในฐานะที่เรียนรัฐศาสตร์มาบ้าง ผู้เขียนขอโต้แย้งธีรยุทธในประเด็นดังต่อไปนี้

    1. ต่อคำถามข้อแรก ไม่มีใครในโลกที่คิดว่าประชาธิปไตยหมายถึงแค่ระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง แต่ธีรยุทธออกจะ exaggerate ไปมาก ที่ลดทอนให้การเลือกตั้งเป็นเพียง “การแสดงออก” ถึงการยอมรับอำนาจประชาชน

    ในทางรัฐศาสตร์นั้น ประชาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นระบบการเมืองที่กำหนดให้ “เจตจำนงทั่วไปของปวงชน” (popular will) ควบคุมอำนาจ (authority) ในการบริหารจัดการกลไกรัฐในลักษณะต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า “เจตจำนงทั่วไป” ต้องแสดงออกผ่านสถาบันทางการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการตัดสินใจรวมหมู่ (collective decisions) ของประชาชนในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแอบอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ “เจตจำนงทั่วไป” ได้อย่างเลื่อนลอย

    ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ ก็จะเข้าใจสถานภาพของการเลือกตั้งและรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยได้ชัดเจนขึ้นว่าทั้งสองส่วนนี้เป็น “กลไก” เพื่อให้สมาชิกในสังคมตัดสินใจร่วมกันว่าจะมี “เจตจำนงทั่วไป” ในการควบคุมกลไกรัฐในลักษณะใด ผ่านคนกลุ่มไหน และด้วยกระบวนการอย่างไร

    ในแง่นี้ การเลือกตั้งจึงไม่ได้เป็นเพียง “ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ” ที่ปราศจากแก่นสารอย่างที่ธีรยุทธว่าไว้ แต่การเลือกตั้งคือ “รูปแบบ” ที่เป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในระดับที่สูงกว่านั้น ถึงขั้นที่หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะแสดงเจตจำนงการเมืองอย่างเสรี (self-determinacy) และไม่มีทางที่จะมีประชาธิปไตย[3]

    หากพูดด้วยภาษาทฤษฎีการเมืองหลังสมัยใหม่บางสำนัก ประชาธิปไตยมี “จุดเน้นทางความคิด” (locus of enunciation) อยู่ที่ “ปวงชน” การเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นการเมืองที่มุ่งแปรอำนาจปวงชนให้เป็นระบบระเบียบที่มีลักษณะเชิงสถาบันให้มากที่สุด (the proceduralization of popular sovereignty) เพราะเชื่อว่ามีแต่วิธีการนี้เท่านั้นที่จะให้กำเนิดผลทางการเมืองที่สมเหตุสมผล (rational outcomes) ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง

    2. แนวคิดของธีรยุทธนั้นเห็นว่าแก่นสารของประชาธิปไตยคือการได้มาซึ่งผู้ปกครองที่มีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม แต่ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นอุดมคติของการเมืองแทบทุกชนิด เพียงแต่ในระบบประชาธิปไตยนั้น ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัตินี้ไม่ได้เป็นหลักประกันที่เพียงพอต่อการสร้างการเมืองที่ดี

    พูดให้สั้นก็คือสิ่งที่ธีรยุทธคิดว่าเป็นแก่นสารของประชาธิปไตยนั้น อาจไม่ใช่แก่นสารที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยจริงๆ

    ในโลกสมัยใหม่นั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยมีแก่นสารอยู่ที่การพัฒนาระบบระเบียบเชิงสถาบันอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายของการพัฒนานี้อยู่ที่การทำให้เกิดกระบวนการสร้างเจตจำนงร่วมในระดับรวมหมู่ที่มีเหตุมีผล (rational collective will formation) ซึ่งหมายความว่าใครก็ไม่สามารถทึกทักล่วงหน้าได้ว่าสิ่งที่สมาชิกทุกคนในสังคมต้องการนั้นคืออะไร เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นการเมืองที่เชื่อเรื่องการพัฒนาไปข้างหน้า โดยที่แต่ละย่างก้าวของการพัฒนาล้วนมีผลต่อวัฒนธรรมการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม

    ในระบบประชาธิปไตยนั้น กระบวนการที่ดีคือหลักประกันไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ขณะที่ในแนวคิดเรื่อง “โครงสร้างทางการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” ผลลัพธ์ที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องมาจากกระบวนการที่ดีเลยก็ได้ ธีรยุทธและปัญญาชนจำนวนมากจึงยอมรับการรัฐประหารและกระบวนการที่สืบเนื่องจากนั้น หากทำให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีศีลธรรม

    ควรระบุด้วยว่าเพราะธีรยุทธคิดว่าแก่นสารของประชาธิปไตยอยู่ที่การได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ดี ผู้ปกครองที่ดีจึงเป็นผู้ทรงสิทธิทางการเมืองสูงสุด ทำให้ชนชั้นนำมีอัตวินิจฉัยและทรงไว้ซึ่งสิทธิในการแทรกแซงและกำกับวาระทางการเมืองของสังคมอย่างไรก็ได้ ส่วนประชาชนนั้นก็ต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่าประชาธิปไตยหมายถึงการร่วมมือกับผู้ปกครองผู้ทรงศีลธรรม

    คำถามคือภายใต้ “โครงสร้างทางการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” เช่นนี้ ประชาธิปไตยในความหมายของการปกครองโดยประชาชน โดยประชาชน และของประชาชน จะมีสถานภาพอย่างไร? เพราะเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ต่างๆ แล้ว ดูจะเป็น “การเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” นี้เอง ที่ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็น “รูปแบบ” เพื่อห่อหุ้มแก่นสารที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นั่นก็คือการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ

    3. ธีรยุทธพูดไว้ถูกว่าการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำเป็น “ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” แต่เขาไม่ได้อภิปรายไว้เลยว่าบทบาทของชนชั้นนำส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ซ้ำยังไม่พูดถึงบทบาทของคนชั้นกลางและคนชั้นล่างเลยแม้แต่น้อย ราวกับว่าชนชั้นนำไทยเป็นเอกภาพ มีวาระทางการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว มีเป้าหมายเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนชนชั้นอื่นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเมืองในสังคมนี้แต่อย่างใด

    มีนักสังคมศาสตร์คนไหนบ้างที่กล้าเสนอมุมมองเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยโดยมีฉันทาคติต่อชนชั้นนำไทยได้ไกลถึงขั้นนี้?


    ทรรศนะคติของธีรยุทธต่อระบบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วง พ.ศ.2521-2531 เป็นตัวอย่างของคำอธิบายแบบนี้ เขากล่าวว่าประชาธิปไตยครึ่งใบของไทยเกิดขึ้นเพราะพรรคการเมือง, กลุ่มทุน, และกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่น เติบโตอย่างรวดเร็ว จนการคอรัปชั่นขยายตัวกว้างขวาง ขณะที่ค่านิยมซื่อสัตย์สุจริตก็เสื่อมทรามลง จนกระทั่ง “สังคมต้องหาทางออกโดยสร้างระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งก็คือระบบการเมืองที่กองทัพกำกับรัฐสภาและพรรคการเมือง, ทหารสนับสนุนพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 8 ปีเศษ, ประธานรัฐสภามาจากการแต่งตั้ง ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร


    คำถามคือสังคมไทยไปร่วมกันหาทางออกโดยสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบตอนไหน? มีใครและคนกลุ่มไหนบ้างที่มีโอกาสร่วมหารือกันในประเด็นนี้? ระบบการเมืองนี้มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร? เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบเพื่อจะเข้ามาแทรกแซงการเมือง? ประชาธิปไตยครึ่งใบสัมพันธ์อย่างไรกับสภาพที่ทหารเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาเดียวกัน?


    ธีรยุทธพูดถึงการเมืองที่ยึด “ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” แต่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยฉบับธีรยุทธมีกองทัพเป็นศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งหมด ประวัติศาสตร์เล่มนี้เขียนว่าพรรคการเมืองและรัฐสภาเป็น “ผู้ร้าย” ที่ทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงขั้นที่แม้กองทัพจะยินยอมให้มีนายกฯ จากการเลือกตั้งในปี 2531 พฤติกรรมของพรรคการเมืองและรัฐสภาก็ไม่ดีขึ้น จนกองทัพไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดไป
    แต่จริงหรือที่การรัฐประหารทุกครั้งเกิดขึ้นเพราะความเลวทรามของพรรคการเมือง ?[4]

    4. ธีรยุทธไม่ได้เสนอว่าทหารเท่านั้นที่ควรมีบทบาทกำกับประชาธิปไตย หากพลังฝ่ายราชการ , ศาล ,

    องคมนตรี รวมทั้งนักวิชาการที่มีคุณธรรม ก็ควรร่วมกันพัฒนาการเมืองในลักษณะ “กู้ชาติ” ต่อไปด้วย โดยธีรยุทธเสนอให้ประชาชนละเลิกมุมมองว่าคนเหล่านี้รวมตัวเพื่ออำนาจหรือผลประโยชน์ แต่ให้เข้าใจว่านี่คือ “กระบวนการคุณธรรมสังคม”

    ขณะที่ธีรยุทธเขียนแนวทางการเมืองที่ยึด “ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” โดยผูกพรรคการเมืองไว้กับกลุ่มทุนและกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่นอย่างแน่นแฟ้น ในอีกด้าน ธีรยุทธกลับสร้างภาพให้ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ปลอดจากการแสวงหาอำนาจทางการเมืองและส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำใน “ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” จึงเป็นชนชั้นนำที่มีสถานภาพใกล้เคียงกับอริยะชนผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน ไม่มีผลประโยชน์ทางโลก แตกต่างจากพรรคการเมืองที่ละโมบและเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอิทธิพลที่ชั่วร้ายตลอดเวลา


    ด้วยยุทธศาสตร์การเขียนเช่นนี้ ธีรยุทธจึงไม่เห็นว่าการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำมีปัญหาอย่างฉกรรจ์ตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าชนชั้นนำแต่ละรายมีธุรกิจในกิจการอะไร ไม่มีใครรู้ว่าชนชั้นนำแต่ละคนมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ, กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้มีอิทธิพลกลุ่มไหน ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านี้เจรจาตกลงอะไรกันในห้องประชุมลับหรือในสถานสโมสรบางแห่ง ทำให้ไม่มีทางมีหลักประกันว่าความใกล้ชิดนี้จะไม่ออกผลเป็นกฎหมาย, นโยบายรัฐ หรือการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มมากกว่าส่วนรวม

    ไม่ว่าจะในแง่มุมไหน การเมืองแบบชนชั้นนำก็ดึงการตัดสินใจทางการเมืองไปจากการควบคุมของสังคม ทำให้การตัดสินใจทางการเมืองขึ้นอยู่สายสัมพันธ์ส่วนบุคคล นำไปสู่สถานการณ์ที่คนหยิบมือเดียวมีอำนาจสูงสุดในเรื่องต่างๆ (ultimate decisionists) ซึ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดี สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้การเจรจาต่อรองและล๊อบบี้กันลับๆ สำคัญขึ้น ส่วนระเบียบกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานทางสังคมเสื่อมความสำคัญลง

    ในทางทฤษฎีการเมืองแล้ว การเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นอำมาตยาภิวัฒน์, ตุลาการภิวัฒน์ หรืออะไรก็ตามแต่ ล้วนมีแนวโน้มจะทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพอย่างที่นักเทววิทยากล่าวไว้ตั้งแต่ ค.ศ.200 ว่า neque enim quia bonum est, idcirco auscultare debemus, sed quia deus praecipt หรือ “อะไรที่พระเจ้าว่าไว้ คนในสังคมย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม”

    ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่มีใครคิดว่าการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ และธีรยุทธ บุญมี ก็พูดไว้ถูกต้องว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะและภูมิปัญญาของแต่ละสังคม แต่อะไรคือลักษณะเฉพาะและภูมิปัญญาของแต่ละสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ตอบได้ไม่ง่าย ซ้ำต่อให้ตอบได้ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้คำตอบนั้นเกินเลยไปถึงขั้นล้มล้างหลักการที่เป็นสากลของประชาธิปไตย


    ในงานเขียนของธีรยุทธชิ้นนี้ ลักษณะเฉพาะของสังคมไทยถูกทำให้ผูกพันกับกองทัพและชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะศาล, ข้าราชการชั้นสูง, องคมนตรี, และนักวิชาการอาวุโส การนิยามลักษณะเฉพาะของสังคมแบบนี้ส่งผลให้ชนชั้นนำกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดมีความชอบธรรมที่จะกำกับการพัฒนาการเมืองได้เต็มที่ ข้อเสนอเรื่อง “โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” จึงทำให้การเมืองกลายเป็นการวิ่งเต้นเข้าหาศูนย์กลางอำนาจ การต่อสู้ทางการเมืองคือการอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลไปหว่านล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายและนโยบายบางอย่าง ส่วนกระบวนการทางการเมืองก็ถูกลดทอนให้มีสภาพเป็นแค่การเจรจาตกลงเป็นการภายใน

    น่าสนใจว่าหลังจากดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ 1 สัปดาห์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นฝรั่งเกินไป จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นไทยมากขึ้น ทำให้ ข้อเสนอเรื่อง “โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย” ของธีรยุทธ ดูจะไปกันได้กับความเห็นของนายมีชัยในเรื่องนี้ ทั้งที่สถานภาพทางสังคมและบทบาทในอดีตของคนคู่นี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

    รัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้อะไรต่อมิอะไรเป็นไปได้มากขนาดนี้ นี่คือสิ่งอัศจรรย์ของรัฐประหารครั้งนี้อย่างแท้จริง

    (โปรดติดตามตอนต่อไป)


    -----------------------------------------------------------

    [1] เหตุผลของธีรยุทธสอดคล้องกับคำแถลงของคณะปฏิรูปการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน แทบทุกตัวอักษร จึงมีปัญหาคล้ายๆ กันว่าธีรยุทธและคณะปฏิรูปกำลังประกาศว่าฝ่ายที่ขัดแย้งกับ “ทุนการเมือง” ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป แต่คือสถาบันหลักต่างๆ ในสังกัดชนชั้นนำของสังคม จนอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่าแล้วทำไมคนนอกสังคมชนชั้นนำและคนชนบทต้องยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะคู่ขัดแย้งกับฝ่าย “ทุนการเมือง” ไม่ใช่ประชาชนแต่อย่างใด

    [2] น่าสนใจว่าขณะที่ธีรยุทธโจมตีว่าแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งเป็นฝรั่งสุดขั้ว เขากลับใช้แนวคิดเรื่องProcedural Democracy และ Substantive Democracy ที่แสนจะเป็นฝรั่งยิ่งกว่าแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งอย่างมากมายมหาศาล ความเป็นฝรั่งจึงไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง แต่จะเป็นปัญหาในทันทีที่มันขัดแย้งกับญัตติทางการเมืองแบบไทยๆ ซ้ำประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือธีรยุทธพูดถึงแนวคิดฝรั่งอย่าง Procedural Democracy และ Substantive Democracy ในแบบที่ไม่มีนักวิชาการคนไหนพูดไว้ จนชวนให้สงสัยว่าหรือความเป็นไทยจะหมายถึงการอ้างแนวคิดอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

    [3] การวิจารณ์การเลือกตั้งว่าเป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแม้แต่มาร์กซ์ใน On The Jewish Question ก็วิจารณ์เอาไว้ว่าความสำเร็จทางการเมืองของชนชั้นนายทุนคือการทำให้สิทธิในการเลือกตั้งกลายเป็นสิทธิของพลเมืองทั่วไป เหตุผลคือสิทธิที่พลเมืองแต่ละคนมีเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง ย่อมทำให้คนชั้นล่างเข้าใจว่าตนเองมี “เสียง” เท่ากับชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์ สิทธิเลือกตั้งจึงส่งผลให้คนชั้นล่างไม่เห็นว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมนั้นเป็นประเด็นการต่อสู้ที่สำคัญอีกต่อไป การแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจกับอาณาบริเวณทางการเมืองจึงเป็นหัวใจของยุทธการทางปรัชญาข้อนี้ และการแบ่งแยกลักษณะนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยแบบทุนนิยม-เสรีนิยม

    อย่างไรก็ดี การวิจารณ์สิทธิเลือกตั้งแบบนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือกับชนชั้นนำดังที่ธีรยุทธเสนอไว้ ในทางตรงกันข้าม การวิจารณ์สิทธิเลือกตั้งเป็นไปเพื่อทำให้คนชั้นล่างเกิดความสว่างวาบทางปัญญาที่จะมองเห็นทะลุทะลวงกรอบการคิดแบบชนชั้นนายทุนเสรีนิยม จึงเป็นการวิจารณ์เพื่อให้ประชาธิปไตยถึงรากถึงโคนไปสู่คนชั้นล่างมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่วิจารณ์เพื่อให้คนชั้นล่างร่วมมือกับคนชั้นนำ

    [4] โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว การรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม รัฐประหารหลายครั้งเกิดขึ้นเพราะผู้นำกองทัพขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี, มีการแก่งแย่งอำนาจระหว่างนายทหารกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ, ผู้บัญชาการเหล่าทัพแย่งชิงผลประโยชน์จากงบประมาณซื้ออาวุธขนาดใหญ่ , ทรรศนะคติทางการเมืองที่มองว่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นศัตรูของชาติ , กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มผลักดันให้ทหารก่อรัฐประหารเพื่อช่วงชิงโอกาสในการได้มาซึ่งสัมปทานในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ฯลฯ




    posted by a_somjai | November 23, 2006




     

    Create Date : 23 พฤศจิกายน 2549    
    Last Update : 16 ธันวาคม 2549 15:24:29 น.
    Counter : 707 Pageviews.  

    รัฐประหารซ้ำซาก จากพ่อของพ่อ ถึงลูกของลูก (3): ผ่าซาก "ปัญญาชนและชนชั้นนำสยาม"

    LINK for 2006-11-15

  • เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย หรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย ทรรศนะ/โดย ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยายาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน


  • ..................

    ฤาจะเป็นอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

    ผู้สนับสนุนรัฐประหารมักหาว่าผู้คัดค้านไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของสังคมไทย ความจริงคือผู้กล่าวเช่นนั้นส่วนมากไม่เคยเข้าใจประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยเลย คิดง่าย ๆ เข้าใจหยาบ ๆ แค่ว่าประชาธิปไตยคือการต่อต้านอำนาจฉ้อฉล ความเข้าใจนี้ไม่ผิดแต่ไม่พอและฉาบฉวย มีสักกี่คนที่พยายามเข้าใจวิวัฒนาการความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังทางสังคมตลอดร้อยปีที่ผ่านมา

    หากคนเหล่านี้คิดและเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยมากขึ้น คิดให้พ้น Pragmatism มีสติพ้นจากความเกลียดโกรธจนหน้ามืด จะพบว่าการรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่จุดเริ่มของประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม แต่อาจเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

    ผู้เขียนเคยอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามความความคิดของตนเองไว้ในที่อื่น (ดู ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา และ บทบันทึกการสัมมนา "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ในฟ้าเดียวกัน ฉบับ กรกฎาคม - กันยายน 2549) น่าเสียดายที่คำเตือนของผู้เขียนเมื่อ 14 ตุลา ปีก่อน และข้อเรียกร้องให้ไปให้พ้นอภิชนาธิปไตยแบบแอบแฝงตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมาถูกเมินเฉย ซ้ำปัญญาชนนักประชาธิปไตยไทยกลับเป็นผู้สนับสนุนอภิชนาธิปไตยอย่างเอิกเกริกเปิดเผย

    แต่ตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว รัฐประหาร 19 กันยา จึงไม่ใช่การถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อเริ่มประชาธิปไตยแบบแท้จริง แต่กลับเป็นการถลำลึกยิ่งขึ้นไปในระบอบประชาธิปไตยแบบอภิชนซึ่งเติบโตมาตลอดนับจาก 14 ตุลา 2516 น่าเสียดายที่นักวิชาการจำนวนมากไม่เห็นประวัติศาสตร์ หรือเห็นแค่ฉาบฉวยตื้น ๆ จนทำตัวรับใช้ระบอบอภิชนาธิปไตยกันไปหมดตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่อำมาตยาธิปไตยแบบเดิม ๆ จะ

    ไม่หวนกลับมา ดังที่ธีรยุทธคาดการณ์ไว้ เพราะประชาธิปไตยแบบอภิชนศักราชนี้ สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร เพราะประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและเสรีภาพดังกล่าวไม่เป็นภัยต่ออภิชนชั้นบน การต่อต้านทักษิณที่ผ่านมาก็เป็นความร่วมมือกันระหว่างอภิชนทั้งหลายรวมทั้งนักวิชาการ ปัญญาชน และนักประชาธิปไตยขององค์กรเอกชน

    รัฐประหารคราวนี้และระบอบประชาธิปไตยหลังจากนี้จึงอาจไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการเดินหน้าสู่อภิชนาธิปไตยที่โจ่งแจ้งล่อนจ้อนอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์ มาก่อน อภิชนทั้งหลายเดินแถวอย่างออกหน้าออกตาเปิดเผย รวมทั้งอภิชนหน้าใหม่เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ออกมาทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมความดีและเป็นหัวหอกให้แก่อุดมการณ์หลักของเหล่าอภิชนเสียยิ่งกว่าอภิชนทำเองเสียอีกแบไพ่ในมือแทบจะหมดหน้าตักแล้ว นึกไม่ออกว่าจะเหลืออะไรในมือให้เล่นกันอีกในอนาคต

    ภาวะเช่นนี้คือจุดเริ่มของประชาธิปไตยแท้จริง (ตามวัฒนธรรมไทยในทัศนะของอภิชน)หรือเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย ?


    <<อ่านบทความนี้ที่>>>> กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2549 และ/หรือ ประชาไท



    LINKS for 2006-11-09

  • สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism ) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทรรศนะ/โดย ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยายาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2549


  • >> ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร19 ก.ย. 2549 มักอ้างผลของโพลล์หลังรัฐประหารที่บอกว่า 80% ของคนไทยสนับสนุนการรัฐประหาร

    ต่อให้เราไม่กังขากับความน่าเชื่อถือของโพลล์ชิ้นนี้ ก็ยังคงมีคำถามที่น่าคิดอยู่ดี อาทิ เช่น ทำไมผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารจึงเชื่อและถือเอาโพลล์รายนี้เป็นความชอบธรรมของการรัฐประหาร แต่กลับไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง? นักวิชาการชื่อดังถึงขนาดเอามาเป็นหลักฐานประกอบ"สิทธิในการทำรัฐประหาร" ปัญญาชนผู้มีทั้งข้อมูลและคุณธรรมถือเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ในการเลือกข้อมูลสนับสนุนตัวเองขนาดนี้เชียวหรือ?

    สมมติว่าก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน ผู้จัดทำโพลล์รายเดียวกันนี้ ออกสำรวจความเห็นของประชาชนรายเดียวกันทั้งหมด ถามคำถามง่ายๆเพียง 2 ข้อได้แก่

    ก. ควรแก้วิกฤติทางการเมืองขณะนั้นด้วยการรัฐประหารหรือด้วยวิธีทางประชาธิปไตย

    ข. หากมีความพยายามทำรัฐประหาร ท่านสนับสนุนหรือไม่

    ผู้เขียนมั่นใจว่าคนเหล่านี้แทบทั้งหมดจะตอบว่าให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยและไม่สนับสนุนการรัฐประหารข้อสมมตินี้มีความเป็นไปได้มาก แต่ถ้าเช่นนั้นเราจะอธิบาย 80% หลังการรัฐประหารอย่างไร?

    เอาอย่างนี้ดีกว่าสมมติว่าก่อนหน้าการรัฐประหารมีผู้เอาคำถาม 2 ข้อนี้ไปสอบถาม อ.ไชยันต์ ไชยพร อ. ธีรยุทธ บุญมี ศ.เขียน ธีระวิทย์ ศ. สุรพล นิติไกรพจน์ ศ. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ศ. จรัส สุวรรณมาลา อ.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ศ. เสน่ห์ จามริก สว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สว.การุณ ไสงาม สว.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.แก้วสรร อติโพธิ สนธิ ลิ้มทองกุล และทุกท่านที่สนับสนุนหรือแก้ต่างให้แก่การรัฐประหาร หรือที่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารอย่างเชื่องๆ อยากทราบว่าท่านเหล่านี้จะตอบว่าอย่างไร?

    หากท่านตอบว่าควรแก้วิกฤตด้วยการรัฐประหารและสนับสนุนความพยายามทำรัฐประหารมาแต่ไหนแต่ไรผู้เขียนจะขอปรบมือให้กับความคงเส้นคงวาของท่าน แล้วค่อยเถียงกันต่อว่าประชาธิปไตยเลวขนาดนั้นเชียวหรือ

    แต่ผู้เขียนกลับมั่นใจว่าทุกท่านคงจะตอบว่าให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนการรัฐประหาร (ไม่แน่ใจว่าอ.เขียนขบคิดทฤษฎี"สิทธิในการทำรัฐประหาร"มานานหรือยังหากเพิ่งคิดได้หลัง 19 ก.ย. ก็คงตอบเหมือนคนอื่นๆ) ท่านอธิการบดี มธ.บอกว่าจนถึงวันนี้ก็ยังคัดค้านการรัฐประหาร เป็นไปได้ว่าหลายคนใน คปค. คมช. คตส. และ สนช. ก็คัดค้านการรัฐประหาร แต่ทำไปเพราะความจำเป็นเพื่อชาติ

    ถ้าเช่นนั้นเพราะเหตุใดเพียงข้ามคืนหลังการรัฐประหาร ผู้ใหญ่ที่คนเคารพทั่วบ้านเมืองจึงกลับลำกลายเป็นสนับสนุนหรือแก้ต่างให้แก่การรัฐประหารหรือยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารอย่างเชื่องๆกันหมด?

    80% ของคนไทยน่าทึ่งน้อยกว่าผู้นำทางปัญญาชนผู้มีทั้งข้อมูลและคุณธรรมเหล่านี้

    บทความนี้อธิบายการกลับลำว่าเป็นเพราะ Pragmatism เพื่อสัมฤทธิผลตามทัศนะของเขาแค่นั้นเอง(อีกบทความที่จะตามมาติดๆจะอธิบายว่าพวกเขาไม่ได้กลับลำเลย เพราะความคิดเบื้องลึกของพวกเขาเป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่มิได้รู้เท่าทันความคิดของตนเอง การรัฐประหารมาช่วยให้พวกเขาแสดงความคิดแท้ๆออกมา)

    Pragmatism แปลอย่างง่ายๆคือ ความคิดที่ถือเอาสัมฤทธิผลหรือความสำเร็จตามต้องการเป็นหลักใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจหรือเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ความถูกผิดตามหลักการใดๆแม้แต่หลักกฎหมายย่อมเป็นเรื่องรอง

    มีคำกล่าวกันมานานแล้วในหมู่ผู้สนใจศึกษาเรื่องเมืองไทยว่าPragmatism คือคุณลักษณะของคนไทย สังคมไทยจึงไม่เคร่งครัดหนักหนากับกฎระเบียบ กฎหมาย หรืออุดมการณ์ แนวคิดหลักศีลธรรมอะไร กลับยอมย่อหย่อนได้เพื่อสัมฤทธิผล

    บางคนเรียกแนวคิดนี้ว่าแมวสีอะไรก็ได้ถ้าจับหนูสำเร็จ แต่สีของแมวไม่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมือง กฎหมาย หรือจริยธรรม คุณธรรมใดๆ หากเราแคร์ต่อความถูกต้องมีคุณธรรมอย่างที่เรียกร้องกันจริง เราต้องระวังว่า สีของแมวอาจเป็นแค่ข้ออ้างปิดบังการใช้วิธีเยี่ยงโจรไปจับโจร ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสังคมตกต่ำกลายเป็นสังคมโจร

    ในการรัฐประหารครั้งนี้มีPragmatism ที่สำคัญ 4 ประเภท

    ประเภทที่หนึ่ง
    Pragmatism ที่อันตรายที่สุดคือความคิดว่าการรัฐประหาร"เป็นทางออกสุดท้าย" "ไม่มีทางเลือกอื่น" หรือกล่าวอีกแบบแต่มีความหมายเท่ากันได้ว่า"ทำยังไงก็ได้ให้ทักษิณออกไปเป็นใช้ได้"

    คนเหล่านี้โกรธเกลียดทักษิณถึงจุดสูงสุดมานานแล้ว จึงพยายามทุกท่าเพื่อจะขจัดทักษิณให้ได้แม้ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เช่น การเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ปัญญาชนผู้เรียกร้องคุณธรรมกลับโกรธเกลียดจนไม่สนใจใช้วิธีที่ถูกต้องชอบธรรม กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเองว่า มาตรา 7 ไม่เป็นประชาธิปไตยพวกเขาจึงยอมหยุดเรียกร้อง

    แต่แทนที่จะรู้สำนึกถึงความคิดที่ผิดๆ พวกเขากลับเห็นว่าเป็นแค่เรื่องของกลยุทธ แล้วยึดถือ Pragmatism แบบผิดๆต่อไป ดังนั้นความคิดที่ผิดและวิธีผิดจึงไม่ถูกสะสาง ถูกมองว่าเป็นแค่สีของแมว รัฐประหารก็เป็นแค่สีของแมว จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือน่ารังเกียจหากช่วยให้บรรลุสัมฤทธิผล นักรัฐศาสตร์ชั้นนำของไทยถึงกับเสนอคำอธิบายรองรับสิทธิในการทำรัฐประหาร

    เมื่อเหลวไหลกันถึงขนาดเห็นว่าวิธีโจรเป็นแค่สีของแมว การเมืองย่อมตกต่ำไร้หลักเกณฑ์ความถูกต้อง ไร้จริยธรรม คุณธรรมหรือกฎหมายจนกลายเป็นการเมืองแบบโจร เลวไม่น้อยไปกว่าระบอบที่ตนต่อต้าน

    สำหรับพวกเขาการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ความถูกต้องอะไรทั้งนั้น คนที่คิดเช่นนี้จึงนับว่าเป็นนักการเมืองไม่ต่างจากนักการเมืองที่พวกเขารังเกียจเสียอีก

    พวกเขาไม่เคยฉุกคิดว่าในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยทำไมพวกเขาจะต้องชนะเดี๋ยวนี้?ทำไมไม่ต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมจนกว่าประชาชนจะเห็นด้วย? ทำไมในเมื่อคนจำนวนมหาศาลยังไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา จึงต้องสนับสนุน "ทางออกสุดท้าย" ? เพียงเพื่อให้ความคิดของพวกเขาสัมฤทธิผลงั้นหรือ? นี่คืออำนาจนิยมของชนชั้นนำขนานแท้ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

    ทฤษฎีสิทธิในการรัฐประหารคือทฤษฎีของชนชั้นนำขี้แพ้ชวนตีที่ชนะตามครรลองไม่ได้ก็ตะแบงหาเหตุผลมาสนับสนุนการใช้กำลัง นี่คือทฤษฎีอำนาจนิยมขนานแท้ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

    ผู้เขียนเห็นว่าทักษิณหมดความชอบธรรมตั้งแต่กรณีซุกหุ้นครั้งแรกเพราะทำผิดกฎหมาย ทักษิณรอดมาได้ไม่ใช่แค่เพราะเขามีความร่ำรวยมหาศาลเป็นกำลังภายในเท่านั้น แต่เพราะผู้นำทางสังคมและปัญญาชนช่วยกันป่าวร้องอุ้มชูทักษิณไว้จนกลายเป็นกระแสสังคม ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ทักษิณเป็นผู้นำต่อ พวกเขาเป็น Pragmatist ที่ไม่เคารพหลักกฎหมายหลักจริยธรรมทางการเมืองใดๆ แทนที่จะยึดหลักกฎหมายอย่างไม่เข้าใครออกใคร Pragmatist กลับช่วยกันแก้ต่างให้เขา ทำให้ทักษิณเป็นอภิสิทธิชนเหนือกฎหมาย

    "ระบอบทักษิณ" งอกเงยขึ้นมาได้เพราะความเหลวไหลไร้หลักการของPragmatist ผู้ใหญ่พวกนี้แหละ

    5-6 ปีต่อมาผู้นำทางสังคมหน้าเดิม ๆ เปลี่ยนข้างมาต่อต้านทักษิณ แต่แนวคิดพฤติกรรมของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนเลยสักนิด นั่นคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อสัมฤทธิผลตามที่เขาคิด แต่คราวนี้คือทักษิณต้องออกไปทันที หลักการใด ๆ แม้กระทั่งกฎหมายและครรลองประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้นำทางสังคมเหล่านี้ สัมฤทธิผลตามความเชื่อของเขาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

    การใช้อำนาจผิดๆของทักษิณและนโยบายอันตรายต่างๆนานาของรัฐบาลนั้นไม่อยู่นอกวิสัยที่จะต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมเพราะประเทศไทยยังไม่ใกล้ตกนรก ยังไม่ใช่ Failed State หรือวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันทุกวี่วัน ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนที่ว่าโดนแทรกแซงก็ยังด่ารัฐได้ทุกวี่วัน สื่อมวลชนชวนเชื่อของฝ่ายต่อต้านทักษิณก็ไม่ถูกสั่งปิด แถมยิ่งนานวันสื่อที่เป็นอิสระจากรัฐยิ่งต่อต้านทักษิณ ยิ่งนานวันความกลัวทักษิณถดถอยจนแทบไม่เหลือ

    กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นPragmatist ยิ่งกว่าใครอื่น ดังนั้นการสยบต่ออำนาจจึงเป็นจารีตปกติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่แค่ผลงานของทักษิณ ครั้นท่านทั้งหลายตระหนักดีว่าอำนาจของทักษิณไม่น่ากลัวอย่างที่คิดและมีอำนาจที่เหนือกว่าทักษิณอยู่ ในระยะหลังก่อนการรัฐประหาร ความกล้าของท่านจึงกลับสูงขึ้น แทนที่ผู้นำทางปัญญาและสื่อมวลชนจะกล้าพูดความจริงที่น่าวิตกเกี่ยวกับ Pragmatism ที่ไร้หลักการไร้ความกล้าหาญทางวิชาชีพ ของกระบวนการยุติธรรม หรืออย่างน้อยก็อย่าสรรเสริญ ปัญญาชนและสื่อมวลชนกลับแซ่ซ้องสรรเสริญตุลาการภิวัตน์เพียงเพราะพอใจที่กระบวนการยุติธรรมเริ่มเข้าข้างตน พวกเขาให้ท้ายเพียงเพราะต้องการสัมฤทธิผลเฉพาะหน้า

    วาทกรรม"ทางออกสุดท้าย" จึงเป็นแค่วาทกรรมแบบกระต่ายตื่นตูมหลังรัฐประหารเพื่อรองรับความชอบธรรมให้แก่สัมฤทธิผลที่ตนพอใจแค่นั้นเอง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือผู้นำทางปัญญาจำนวนมากรู้ดีว่าการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นไปได้สูงขึ้น แต่พวกเขายังออกมาร้อง "ฟ้าถล่ม" "ประเทศไทยกำลังตกนรก" "วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในโลก" เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหารอยู่ดี

    พวกเขาแก้ต่างให้แก่การรัฐประหารด้วยการตอกย้ำความเลวของทักษิณแต่พวกเขาไม่เคยตอบได้กระจ่างเลยว่า ความเลวขนาดไหนจึงสมควรใช้การรัฐประหาร คนไทยโง่เง่าขนาดไหนจึงไม่คู่ควรกับวิถีทางประชาธิปไตย รัฐบาลอเมริกาขณะนี้ยังดีกว่าทักษิณขนาดไหน ก่อปัญหาให้กับโลกน้อยกว่าทักษิณขนาดไหนจึงยังยอมให้สู้กันในกติกาประชาธิปไตยได้ แต่คนไทยต่ำชั้นกว่าหรืออย่างไรจึงไม่อาจยอมให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยต่อสู้กับทักษิณได้อีกต่อไป Pragmatism แบบ"ทางออกสุดท้าย" ถือเอาความโกรธเกลียดของชนชั้นนำเป็นที่ตั้งโดยแท้

    พวกเขาจึงต้องทำให้ทักษิณเป็นภูติผีปีศาจแทนที่จะต่อสู้อย่างเป็นธรรม ต้องกุเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างเช่นปฏิญญาฟินแลนด์ขึ้นมาเพื่อขยายความเกลียดชัง กุผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาอย่างไร้ความรับผิดชอบ ใช้วิธีการทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมทางการเมืองไม่ต่างจากทักษิณ ลงท้ายผู้ต่อต้านทักษิณจำนวนมากตกเป็นเหยื่อคือกลัวภูตผีปีศาจที่ตนเองสร้างขึ้นมา ตกอยู่ภายใต้ความโกรธเกลียดจนขาดสติ ไม่เห็นประโยชน์ของการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตย แต่กลับต้องการชนะโดยเร็วที่สุด แถมมีหลายคนที่มิได้ตื่นตูมจริง รู้แก่ใจว่าหนทางประชาธิปไตยเป็นไปได้ แต่ทว่าเหลี่ยมจัดพยายามทำทุกอย่างเพื่อหวังสัมฤทธิผลที่ตนต้องการ - แค่นั้นเอง

    Pragmatism แบบนี้คือ ความมักง่ายของชนชั้นนำในสังคมที่ถือเอาตัวเองเป็นความถูกต้องสูงสุด

    ทฤษฎีที่อ้างว่าการรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทหารเพราะประเทศอยู่ท่ามกลางกฎหมายป่าคือทัศนะของชนชั้นนำชาวกรุงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย และคือโฆษณาชวนเชื่อของคนเหลี่ยมจัดไม่ต่างจากทักษิณ

    Pragmatism ประเภทนี้อันตรายที่สุดเพราะได้สร้างบรรทัดฐานแก่อนาคตว่า ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ชนชั้นนำคิดหรือรู้สึก การใช้กำลังทหารย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรม

    นี่คือบรรทัดฐานว่าการสู้กับโจรด้วยวิธีโจรเป็นสิทธิอันชอบธรรมการต่อสู้ด้วยอาชญากรด้วยอาชญากรรมเป็นสิ่งยอมรับได้ การสู้กับอำนาจที่ฉ้อฉลด้วยวิธีผิดๆสกปรกอย่างไรก็พึงทำได้ ตราบเท่าที่สำเร็จตามที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องสนใจหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองใดๆทั้งนั้น

    Pragmatismประเภทนี้ไม่สนใจศีลธรรมอย่างที่อวดอ้าง พวกเขามีมาตรฐานศีลธรรมหลายชั้นตลอดเวลา เช่น ถือว่าการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเป็นสิ่งเลวเป็นสื่อเทียม แต่การโฆษณาชวนเชื่อของตนเป็นสิ่งดีเป็นสื่อแท้ การมอมเมาประชาชนโดยรัฐเป็นสิ่งเลว แต่การโกหกใส่ร้ายป้ายสีกุข่าวทำเท็จให้กลายเป็นจริงเพื่อต่อสู้กับรัฐเป็นการให้ข้อมูลให้การศึกษาแก่ประชาชน นักกฎหมายฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าเนติบริกร ส่วนเนติบริกรฝ่ายเราเรียกว่านักกฎหมายมหาชน

    คนที่มีส่วนในอาชญากรรมเข่นฆ่าประชาชนเมื่อหลายปีก่อนจึงเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณธรรมสูงส่งก็ได้ถ้าหากเขาอยู่ข้างเดียวกับเราและช่วยให้เราบรรลุผลร่วมกันในคราวนี้ Pragmatism แบบนี้ช่วยฟอกตัวจนสะอาด ศีลธรรมและคุณธรรมสำหรับ Pragmatismประเภทนี้มีค่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

    ประเภทที่สอง Pragmatist คือ ผู้ที่ย้ำว่า "รัฐประหารเป็นเรื่องที่เกิดไปแล้วและเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้" พวกเขาอาจจะไม่ได้สนับสนุนหรือแก้ต่างแทนการรัฐประหารเลยอาจคัดค้านต่อต้านเสียด้วยซ้ำ แต่คำกล่าวอย่างไม่มีทางผิดดังกล่าวเปรียบได้กับการปล่อยให้เกิดการกระทำความผิดต่อหน้าต่อตาผ่านเลยไปโดยไม่ต่อสู้เพื่อเป็นบรรทัดฐานทาง (ศีลธรรม?) สังคมว่าอะไรผิดอะไรถูก

    ใครจะข่มขืนใครโจรปล้นบ้านใคร อันธพาลยึดครองซอย ก็เป็นเรื่องที่เกิดไปแล้ว และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งนั้นแหละ พลเมืองดีควรทำแค่ปลอบใจเหยื่อและตัวเองว่า ช่างมันเถอะ อย่างนั้นหรือ? นี่ล่ะหรือคือความมีคุณธรรมจริยธรรมที่อวดอ้างกัน

    มีเหตุผลได้หลายอย่างที่อาจอธิบายPragmatism ประเภทนี้ เช่น ความกลัว ความเกรงใจเพื่อนฝูงที่เป็น Pragmatist ประเภทแรก หรืออาจด้วยความเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระของการเมืองที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ โดยที่ไม่ได้พอใจหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่อย่างใดเลย

    แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้Pragmatism ประเภทนี้เป็นที่พึงยอมรับแต่อย่างใด อย่างมากก็เพียงน่าเห็นใจและพอเข้าใจได้ เช่น ความกลัว (แต่ย่อมเป็นหลักฐานว่าระบอบทักษิณน่ากลัวน้อยกว่าระบอบรัฐประหาร)

    คำกล่าวคล้ายๆกันนี้ได้ยินบ่อยครั้งมากจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฆาตกรรมกลางเมือง 6 ตุลาคม พวกเขาไม่ต้องการให้มีการขุดคุ้ย เล่าขาน หรือตัดสินคุณค่าใดๆ

    ผลของPragmatism ประเภทนี้คือ ความขี้ขลาดทั้งของบุคคลและของสังคม ความไร้หลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองใดๆ ไร้บรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม และการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะผู้คนในสังคมสมรู้ร่วมคิดด้วยการเอาหูไปนาตาไปไร่ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนคราว 6 ตุลาคม และพฤษภา 35 กลับกลายเป็นคนที่ได้รับการยกย่องในคราวนี้ว่าเป็นผู้นำที่มีศีลธรรม คุณธรรม เพราะสังคมไทยเห็นว่าโศกนาฏกรรมทั้งสองกรณี "เป็นเรื่องที่เกิดไปแล้วและเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้"

    ขบวนการที่เรียกร้องคุณธรรมทางการเมืองคราวนี้แท้ที่จริงจึงเป็นแค่ขบวนการปากว่าตาขยิบเลือกที่รักมักที่ชัง ใครข้างเราถ้าทำอะไรไม่ดีก็เอาหูไปนาตาไปไร่ ใครไม่ใช่ก็ถล่มมันซะจนกว่าจะ...ออกไป ปํญหาของคุณธรรมทางการเมืองจึงไม่ใช่แค่ทักษิณกับพวกและเนติบริกร 3 คนแต่รวมถึงผู้เรียกร้องเองด้วย ผู้ใหญ่ที่อ้างหรือเชื่อกันว่ามีคุณธรรมบารมีสูงนั่นแหละน่ากลัวที่สุด

    Pragmatism ประเภทนี้จึงอาจมิใช่การสนับสนุนการรัฐประหารโดยเจตนาหรือสำนึกรู้ แต่ย่อมเป็นการสมยอมต่อการกระทำผิดโดยปริยาย Pragmatist ประเภทนี้มักหลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมหรือไม่ก็ยกให้เป็นเรื่องของคนอื่นซะ Pragmatism ประเภทนี้ยังเป็นฐานของ Pragmatism ประเภทต่อไป

    Pragmatism ประเภทที่สาม ที่แพร่หลายมากๆในคราวนี้ คือ พวกที่บอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเลย แต่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่ามันเกิดไปแล้วและต้องคิดถึงอนาคต คือเห็นว่าการประท้วงต่อต้านคงไม่เกิดประโยชน์ไม่เป็นผลดีที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ดังนั้น จึงควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการเข้าร่วมกับกลไกต่างๆของคณะรัฐประหารซะเลย ปัญญาชนหลายคนรวมทั้งอาจารย์ ผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน ผู้นำเอ็นจีโอ อ้างข้อนี้เป็นเหตุผลที่ไม่ออกมาคัดค้านและกลับร่วมมือกับคณะรัฐประหาร อธิการบดี มธ.ก็อ้างเหตุผลนี้ นายกสุรยุทธ์ก็อ้างว่ายอมเป็นนายกเพราะเหตุผลนี้

    ดูเหมือนว่าแทบไม่มีใครเลยที่ไม่คัดค้านการรัฐประหาร (คงมีแค่อ.เขียน เซี่ยนเส้าหลง และคอลัมนิสต์ไม่กี่คนที่เอาจริงเอาจังกับโจ๊กรัฐศาสตร์ที่ว่าการรัฐประหารเป็นส่วนดีที่จำเป็นของระบอบประชาธิปไตย) แต่ระบอบของคณะรัฐประหารอยู่ได้เพราะผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นความจำเป็นเพื่อชาติ จึงต้องช่วยกันประคับประคองสิ่งที่ตนคัดค้านให้ประสบความสำเร็จ

    หากยืมสำนวนอธิการบดีมธ.คงกล่าวได้ว่า ต้องช่วยกันอาสาไปลงนรกเพื่อให้นรกประสบความสำเร็จ เพราะถ้านรกไม่ประสบความสำเร็จ ความเป็นจริงที่ตนสยบยอมก็ไม่มีอยู่ อำนาจปืนของคณะรัฐประหารมีอยู่จริงและน่ากลัวจริง แต่อำนาจที่น่ากลัวนี้อยู่ได้ด้วยการพร้อมใจกันสยบยอมหรือการ "อุปโลกน์รวมหมู่" โดยบรรดาPragmatist เหล่านี้เอง

    หากยังงงอยู่โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง จะเข้าใจ Pragmatism แบบคลาสสิคของผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองไทย กล่าวได้ว่าถ้าใครยังคิดอย่างนี้ไม่เป็นก็คงไม่มีทางได้เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพยกย่องว่ามีคุณธรรมสูงกว่าชาวบ้านธรรมดา ถ้าใครยังกล้าหาญไม่พอที่จะช่วยกันทำให้นรกที่แทบทุกคนคัดค้านประสบความสำเร็จ ก็นับเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพไม่ได้

    ตราบใดที่การพร้อมใจกันสยบยอมหรือ"อุปโลกน์รวมหมู่" ยังดำรงอยู่ความเป็นจริงอย่างที่เขาเข้าใจก็ยังดำรงอยู่ แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ Pragmatist เหล่านี้ลืมตาตื่นขึ้นพร้อมๆกัน

    ผู้ที่คิดอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรถูกเป็นถูกผิดเป็นผิดกลับถูกเรียกว่าพวกกอดคัมภีร์เถรตรง และไม่เข้าใจความเป็นจริง หากบวกความกล้าหาญอย่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ เขาเรียกว่าผู้หลงผิดอย่าง ฝังหัว ทั้งหมดนี้เป็นแค่วาทกรรมที่ผลักไสผู้ที่คิดต่างจากตนให้กลายเป็นพวกเซ่อซ่าไร้เดียงสา หรือเป็นพวกไม่รู้จักสังคมไทยเท่าตน วาทกรรมแบบนี้หลบเลี่ยงไม่ยอมเผชิญกับประเด็น ไม่ยอมรับว่าคนเราอาจคิดต่อความเป็นจริงเดียวกันได้ต่างกัน

    Pragmatism ประเภทสุดท้ายก็คือผู้ทรงปัญญาหลายท่านออกมาแก้ต่างให้เหตุผลปกป้องการรัฐประหารต่างๆ นานา แท้ที่จริงเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ตนเองมากกว่าอื่นใดทั้งหมด

    ก่อนหน้าการรัฐประหารคนเหล่านี้คงไม่สนับสนุนหรือยุยงให้เกิด แต่ครั้นเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง หลายท่านคงรู้สึกตัวทันทีว่าการต่อต้านทักษิณออกผลกลายเป็นผลไม้พิษที่ตนคาดไม่ถึง

    ทางออกของคนแบบนี้มีอยู่หลักๆเพียง2 ทาง คือ ทางแรก ยอมรับความผิดพลาดของตนซะ ซึ่งย่อมเจ็บปวดมากและอาจมีผลต่อชีวิตทางปัญญาอย่างลึกซึ้งต่อไป ทางที่สองคือ ให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารซะ เพื่อเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ตนเองมากกว่าอย่างอื่น เพราะหากไม่สามารถอธิบายแก่ตัวเองได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้วไม่ผิด ชีวิตของคนๆนั้นคงกล้ำกลืนกับความผิดพลาดครั้งสำคัญนี้ไปตลอดชีวิต

    แทนที่จะคิดว่าตนพลาดอะไรไปหรือตนถูกครอบงำด้วยความโกรธ เกลียดทักษิณจนหน้ามืด กลับกลายเป็นว่าผู้ทรงปัญญาต้องออกมาสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร เพื่อจะมีชีวิตปัญญาต่อไปตามปกติอย่างไม่ขมขื่นจนเกินไปนัก

    ศีลธรรมของPragmatist ประเภทนี้ ถึงที่สุดจึงอยู่ที่ผลต่อตัวเองเป็นปัจจัยชี้ขาด คำอธิบายที่แก้ความกระอักกระอ่วนของตนเองได้เป็นคุณธรรมสำคัญกว่าประชาธิปไตยของคนหมู่มาก

    คนๆหนึ่งสามารถเป็น Pragmatist หลายประเภทปนๆ กันได้ หลายคนในขณะนี้ก็เป็นเช่นนั้น

    อาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารในคราวนี้ช่วยให้ตระหนักว่าแม้กระทั่งนักวิชาการซึ่งน่าจะเป็นที่พึ่งได้ในการคิดและความมั่นคงกับหลักการ เอาเข้าจริงเป็นแค่ Pragmatist แทบทั้งนั้น นักกฎหมายชื่อดังก็เป็นแค่ Pragmatist แทบทั้งนั้น นักประชาธิปไตยก็เป็นแค่ Pragmatist เช่นกัน

    แทนที่หลักวิชากฎหมาย หรือหลักการประชาธิปไตยจะลงหลักปักมั่นในสังคมไทย หลักทั้งหลายจึงคงเป็นแค่หลักปักขี้เลนที่นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักต่อสู้โยกไปมาตามสัมฤทธิผลที่พวกเขาต้องการ

    ภูมิปัญญาทุกๆด้านของสังคมไทยมีสกุลหลักเพียงสกุลเดียวคือสกุล Pragmatism ซึ่งแทรกตัวอยู่ทั้งในระบบราชการ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นักการเมือง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ฝ่ายขวา ซ้าย อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชาชนทั่วไป

    นี่คือคำอธิบายว่าทำไม80% ของคนไทยรวมทั้งผู้นำทางปัญญาทั้งหลายจึงกลับลำมาสนับสนุนการรัฐประหารทั้งๆที่ส่วนใหญ่ยังบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเลย

    พวกเขาปฏิเสธความมีหลักการด้วยเหตุผลผิดๆเพราะ Pragmatist เหล่านี้ไม่เคยเข้าใจว่าหลักการคืออะไร?

    หลักการไม่ใช่คัมภีร์ตายตัว(นั่นเป็นความหมายตามการโฆษณาชวนเชื่อของพวก Pragmatist) หลักการไม่ใช่ความเถรตรง (นี่ก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของ Pragmatist เช่นกัน) หลักการไม่ใช่นิสัยเฉพาะของฝรั่งเพราะทุกสังคมมีทั้ง Pragmatist และพวกที่เคารพหลักการ คนๆหนึ่งสามารถเป็นทั้งสองอย่างในตัวเองยังได้เลย

    หลักการคือผลสรุปหรือบทเรียนรวบยอดของประสบการณ์ของมนุษย์จำนวนมหาศาลเป็นเวลายาวนานมากจนกลั่นออกมาเป็นหลักให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ยึดถือ แทนที่จะเอาแต่คิดง่ายๆ สั้นๆกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอยู่ร่ำไป แต่หลักการไม่ใช่กฎตายตัวหรือทฤษฎี โดยมากเป็นแค่บรรทัดฐานหรือกรอบแนวทางที่ยอมให้มีการยืดหยุ่นได้ตามความเป็นจริง หลักการหนึ่งๆยังมักเป็นเกณฑ์ที่สังคมโดยรวมยึดถือท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คนหลักการจึงไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือความเป็นไทย

    น่าเสียใจที่นักวิชาการคอลัมนิสต์ ปัญญาชนออกมาประณามความมีหลักการ เห็นการยึดมั่นในหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองเป็นเรื่องตลก แล้วกลับแซ่ซร้องสรรเสริญ Pragmatismที่อันตรายทั้ง4 ประเภท กลายเป็นว่าทำยังไงก็ได้ให้ประสบผลเป็นสิ่งดี เป็นวัฒนธรรมไทย เป็นภูมิปัญญาไทยที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง

    หรือว่าน่าภูมิใจนักที่จะประกาศต่อโลกว่าไทยเป็นชาติไม่มีหลักการ เกลียดหลักการ

    แต่เอาเข้าจริงPragmatist ทั้งหลายก็อยู่ในกรอบหลักคิดบางอย่างด้วยกันทั้งนั้น ทว่า Pragmatist ที่เห็นคราวนี้คือบรรดาผู้ที่ถูกครอบงำด้วยกรอบเช่นนั้นจนสนิท ไม่รู้เท่าทันกรอบความคิดที่ครอบงำตนอยู่ เรียกได้ว่าเป็นทาสของกรอบความคิดบางอย่างสนิทจนไม่เคยตั้งคำถาม พอใจเพียงแค่สัมฤทธิผลในกรอบของความคิดครอบงำนั้นๆ

    รัฐประหารคราวนี้เราได้เห็นความคิดที่ฝังลึกในภูมิปัญญาของปัญญาชนเหล่านี้ชัดเจน

    กรอบของความคิดนี้มีคนเรียกว่าประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยแต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอภิชนาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นแต่เปลือก <<

    <<อ่านบทความนี้ และความเห็นของคนอื่น ๆ ---- Reading this article>> ที่ Bangkokbiznews.com - กรุงเทพธุรกิจ




  • ประเทศไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทรรศนะ/โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2549 ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1368


  • >> มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าเก่าตอบคำถามในการปาฐกถาของเขาแก่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า "รัฐธรรมนูญปี 2540 ดี แต่ตอบไม่ได้ว่าดีสำหรับใคร เหมือนเอารถโรลสรอยซ์มีราคาแพงไปให้ชาวนาไถนา ดังนั้น ตราบใดคนยังไม่ตระหนักว่าสิ่งที่จะเอามาใช้จะเอามาใช้กับใคร ของบางอย่างถ้าไม่คำนึงถึงคนใช้ก็เกิดปัญหาได้ ดังนั้น ต้องดูพื้นฐานของสังคมไทยด้วย บางครั้งคนไทยต้องมีกฎกติกาแบบไทย ๆ ค่อย ๆ เดินกันไป แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศนั้น ๆ คนไทยต้องมีกฎกติกาของคนไทยเองเหมือนกับประเทศจีน ระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้"

    ความคิดว่าสังคมไทยไม่เหมือนใครในโลกนี้มีมานานมาก อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเป็นต้นมา อีกทั้งได้รับการเสริมแต่งด้วยการให้เหตุผลเพิ่มมากขึ้นตลอดมา นับตั้งแต่ไทยไม่เป็นเมืองขึ้นใคร, ไทยกลืนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในสังคมไทยได้หมด, ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงการุณยภาพและเห็นการณ์ไกลสืบเนื่องตลอดมา และคนไทยกินเผ็ด ฉะนั้น สาปแช่งใคร คนนั้นก็มีอันเป็นไปตามคำสาปแช่ง ฯลฯ

    ว่ามาเถิดครับ อะไรที่ดีๆ นั้นล้วนเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยทั้งนั้น ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

    อันที่จริง ที่ผมพูดนี้อาจไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า อะไรที่เขาบอกว่า "ดีๆ" นั้นล้วนเป็นเครื่องจรรโลงโครงสร้างอำนาจของคนมีอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าในทางวัฒนธรรม, การเมือง หรือเศรษฐกิจ

    พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ เป็นทฤษฎีสำหรับผดุงโครงสร้างอำนาจไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง

    ฉะนั้น อะไรที่ "ดี ๆ" แต่ไม่ช่วยผดุงโครงสร้างอำนาจจึงมีปัญหา เช่น ประชาธิปไตย, สิทธิเสรีภาพของพลเมือง, ความเสมอภาค, สวัสดิการทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ฯลฯ

    ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครมีวิธีจัดการกับสิ่ง "ดี ๆ" ที่ไม่ลงตัวเหล่านี้หลายอย่าง หากอะไรที่ฝรั่งว่า "ดี" ชนิดที่เราไม่กล้าเถียงมัน ก็ต้องบอกว่าโฮ้ย มันมีมาในระบบปกครองไทยตั้งแต่บรมสมกัลป์แล้ว อย่างเช่นจารึกสุโขทัยหลักหนึ่งก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และคำประกาศสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของไทยคือกฎหมายตราสามดวง ครับอ่านไม่ผิดหรอกครับ กฎหมายตราสามดวง

    อีกวิธีหนึ่งก็คือสิ่งที่ฝรั่งว่า "ดี" นั้นที่จริงแล้วมีรูปแบบที่หลากหลาย ฉะนั้น เราสามารถหารูปแบบที่ "เหมาะสม" กับสังคมไทยได้ใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้รักษาชื่อเดิมไว้เป็นพอ แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ไม่ต้องถามหาหลักการของความ "ดี" ที่เรายอมรับฝรั่งนั้นคืออะไร รูปแบบที่จัดขึ้นใหม่นี้ตอบสนองต่อหลักการนั้นหรือไม่อย่างไร

    หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตัวหลักการของสิ่งที่ "ดี" ของฝรั่งนั่นแหละคือสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น เสรีภาพย่อมหมายถึงเสื้อสายเดี่ยวและเกาะอกเสมอ เพื่อปกป้องสังคมไทยให้รอดพ้นจากหัวนมผู้หญิง เราจึงไม่ควรมีเสรีภาพ

    นี่คือที่มาของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลายเป็นคำสำหรับหยุดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนชั้นบนในโครงสร้างอำนาจใช้อยู่เสมอสืบมาจนทุกวันนี้

    เราจะได้ยินเสียงเรียกร้อง "ประชาธิปไตยแบบไทย" เช่นนี้จากปัญญาชนของกลุ่มข้างบนเสมอมา และหนึ่งในเสียงนั้นก็เป็นเสียงของคุณมีชัยนี่แหละ (ไม่นับเสียงของ คุณเสนาะ เทียนทอง)

    อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจะจะ จากทฤษฎี "ประชาธิปไตยแบบไทย" ว่า จีนก็เป็น "ประชาธิปไตย" เหมือนกัน เป็นประชาธิปไตยแบบจีน ๆ อีกไม่นานก็คงจะได้ยินประชาธิปไตยแบบพม่า ๆ

    ถ้าอย่างนั้นประชาธิปไตยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อระบอบปกครอง เหมือนตุ๊ดชื่อสมชายก็ได้

    ผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ ครอบงำแม้วงวิชาการไทยคดีศึกษาในช่วงหนึ่งอย่างหนาแน่น นักวิชาการด้านนี้ทั้งไทยและเทศ จะใช้ประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือโดยนัยยะเป็นฐานการศึกษาของตัว และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าความสะเทือนเลื่อนลั่นของ "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คุณจิตรเอาทฤษฎีสากลเป็นฐานการศึกษาสังคมไทย ซึ่งแปลว่าพัฒนาการของสังคมไทยไม่ได้มีลักษณะเฉพาะ แต่อาจเข้าใจได้โดยอาศัยทฤษฎีที่เป็นสากลเหมือนสังคมอื่นๆ นั่นแหละ

    "โฉมหน้าศักดินาไทย" จึงไปสั่นรากฐานของโครงสร้างอำนาจอย่างจัง ๆ ชีวิตของหนังสือเล่มนี้จึงสลับสับเปลี่ยนระหว่างภาวะต้องห้ามกับความแพร่หลายสืบมา จนมันสิ้นอายุขัยของมันไปตามกาล

    ควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปกับเมืองไทยไม่เหมือนใครก็คือสังคมไทยย่อมอยู่พ้นออกไปจากความเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้จะเป็นอนิจจังก็ไม่เป็นไร ยกเว้นก็แต่เมืองไทยนี่แหละที่เป็นอนิจจัง

    แต่ในความจริงแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปมากอย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ เฉพาะการศึกษาและสื่อเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้สำนึกทางการเมืองของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร ไม่อย่างนั้นจะมานั่งผวากับอำนาจของคุณทักษิณซึ่งตอบสนองจินตนาการใหม่ของคนในชนบทอยู่เวลานี้ไปทำไม

    ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงผู้คนเลิกไถนาเองไปตั้งนานแล้ว เพราะการทำนาเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาจ้างคนอื่นไถด้วยรถไถ จะใช้โรลสรอยซ์หรือใช้คูโบต้า ชาวนาไม่สนหรอกครับ ขอให้เป็นราคาตลาดแล้วกัน รายได้ของคนส่วนใหญ่มาจากงานรับจ้าง กล่าวคือ เขาเข้ามาอยู่ในตลาดเต็มตัว และกติกาอะไรล่ะครับที่จะเหมาะแก่ตลาดยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อรองตามควร

    ประชาธิปไตยแบบเทวดา (หรือแบบไทย) ที่เปิดเวทีต่อรองให้เฉพาะเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้วในสังคมไทย ผมคิดว่าแม้แต่พระอินทร์ก็ไม่สามารถช่วยประคับประคองให้เป็นไปอย่างนี้ชั่วกัลปาวสาน (อันที่จริง คุณทักษิณเกือบจะเป็นตัวแทนของฝ่ายทุนที่แตกตัวหลากหลายขึ้นได้ดีที่สุด ถ้าคุณทักษิณเล่นหวยบนดิน และไม่เล่นสลากกินรวบ)

    ฉะนั้น จึงตรงกันข้ามกับความเห็นของคุณมีชัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ผมตอบไม่ได้หรอกว่าดีสำหรับใคร (เพราะเป็นคำถามที่เหลวไหล) แต่ผมอยากชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งเป็นฉบับเดียวในรอบกว่าสามทศวรรษที่คุณมีชัยไม่มีส่วนร่วมเลย) พยายามจะตอบคำถามว่าจะจัดโครงสร้างการเมืองอย่างไรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

    ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นซึ่งคุณมีชัยมีส่วนร่วมในการร่าง พยายามตอบคำถามว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

    การเมืองไทยหลุดออกมาจากเผด็จการทหารแบบสฤษดิ์หรือถนอม-ประภาสได้ แต่ต้องมาเผชิญกับการเมืองแบบมุ้ง (factional politics) ถ้ามีอำนาจข้างนอกหนุนหลังนายกรัฐมนตรีอยู่ เช่น กองทัพหนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พอจะบริหารบ้านเมืองไปได้บ้าง แต่หากไม่มี นายกฯ ก็เละเป็นวุ้น การบริหารกลายเป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างมุ้งต่าง ๆ และเป็นอย่างนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2529

    รัฐธรรมนูญปี 2540 อยากตอบคำถามว่าจะทำให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ตรวจสอบได้จากหลายฝ่ายอย่างไร จึงปั้นให้นายกฯ ปลอดพ้นจากการเมืองแบบมุ้งให้มากที่สุด นับตั้งแต่ รมต. ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส., ไปจนถึงบังคับให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรค เพื่อให้นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคควบคุม ส.ส. ได้อีกชั้นหนึ่ง, จำนวนของ ส.ส. ที่จะลงชื่อเสนออภิปรายนายกฯ, บังคับให้ต้องเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ไปพร้อมกัน และอีกจิปาถะ

    ในทางตรงกันข้าม ก็ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบฝ่ายบริหารหลายอย่าง

    อีกมิติหนึ่งของการตรวจสอบซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงเสียแล้ว นั่นก็คือเปิดให้เกิดกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชนขึ้นได้ตามกฎหมาย บางเรื่องอาจต้องผ่านองค์กรอิสระ บางเรื่องก็อาจไม่ต้องผ่าน เช่น การเสนอกฎหมายเอง, สิทธิของชุมชนในการดูแล-ร่วมจัดการ-ได้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น, การกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น, การให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพลเมืองอย่างแข็งขัน ฯลฯ

    และในส่วนนี้ แม้ท่ามกลางการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของรัฐบาลคุณทักษิณ ประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างเวทีสาธารณะของตนเองเช่นวิทยุชุมชนขึ้นมากต่อมากกรณี ฉะนั้น หากจะถามว่าใครได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 บ้าง ผมก็ขอยืนยันว่าประชาชนได้ใช้ เพียงแต่ยังใช้ได้ไม่กว้างขวางเพียงพอเท่านั้น

    และอาจกล่าวได้ว่า ในการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติไทยนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ฉีกแต่กระดาษ (ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้นฉีกไม่ขาดอยู่แล้ว) ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทำให้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

    การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเท่ากับฉีกชีวิตของผู้คนไปจำนวนมากด้วย

    ผมทราบอย่างที่คนอื่นๆ ทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อบกพร่อง ไม่อย่างนั้นจะถูกทำลายเจตนารมณ์ลงด้วยกลการเมืองที่หยาบคายของนักธุรกิจการเมืองอย่างคุณทักษิณได้อย่างไร

    แต่น่าสังเกตนะครับว่า แรงกดดันให้ปฏิรูปการเมืองรอบสองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็มาจากภาคสังคม และมีพลังพอที่จะทำให้คุณทักษิณเองก็ยอมรับด้วย แสดงว่า แม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะถูกฉ้อฉลไปอย่างไร หรือตัวรัฐธรรมนูญมีช่องโหว่อย่างไรก็ตาม พลังของมันยังพอมีอยู่ในหมู่ประชาชน ไม่ได้บิดเบี้ยวคดงอไปหมดเหมือนปัญญาชนที่วิ่งรับใช้คณะรัฐประหารกันอยู่เวลานี้

    ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นด้วยหลักการว่า เมืองไทยไม่เหมือนใคร และเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลง เช่นนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร<<





    posted by a_somjai on November 09, 2006 @ 03:03 Am







     

    Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549    
    Last Update : 15 พฤศจิกายน 2549 6:52:43 น.
    Counter : 568 Pageviews.  

    1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

    a_somjai
    Location :
    เชียงใหม่ Thailand

    [Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




    Friends' blogs
    [Add a_somjai's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.