<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

รัฐประหารซ้ำซาก (11): 'สิทธิเสรีภาพพลเมือง' ภายใต้ทุกรัฐประหารก็ .จุด จุด จุด. เหมือนกันนั้นแหละ!

LINKS for 2007-05-27:


ประชาไท 27/05/2550 | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ไม่มีรัฐประหารไหนพิเศษกว่ารัฐประหารอื่น : พิจารณารัฐประหาร 19 กันยายน ในแง่สิทธิเสรีภาพและระเบียบการเมือง


ในทันทีที่เกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ปัญญาชนและผู้ประกอบวิชาชีพวิชาการจำนวนมากพากันยืนยันว่ารัฐประหารนี้แตกต่างจากรัฐประหารในอดีต

เพราะเป็นรัฐประหารที่เกิดจากความต้องการของประชาชนจริงๆ, เป็นรัฐประหารที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพพลเมืองมากกว่าทุกครั้ง, เป็นการยึดอำนาจโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง, เป็นรัฐประหารที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองว่าจะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ

จึงไม่ควรต่อต้านหรือวิจารณ์การยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยที่แท้ในสังคมไทย


แน่นอนว่าทรรศนะคตินี้มีปัญหา เพราะไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน เริ่มต้นด้วยการประทุษร้ายบุคคลในรัฐบาลที่แล้ว, การปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกและกำลังพลติดอาวุธ, พรรคการเมืองถูกห้ามดำเนินกิจกรรม, สิทธิในการเข้าถึงและกระจายข่าวสารถูกควบคุมทางตรงและทางอ้อม, เสรีภาพในการแสดงความเห็นถูกลิดรอนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง, เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเรื่องที่โดยพื้นฐานแล้วผิดกฎหมาย, การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนกระทำไปโดยการพูดคุยและตกลงเป็นการภายในระหว่างผู้นำรัฐประหารไม่กี่ราย

จากนั้นก็ตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีผู้แทนปวงชนเข้าไปเกี่ยวข้อง สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรถูกระงับโดยไม่มีกำหนด รวมทั้งหลักการปกครองโดยกฎหมายถูกบิดเบือนเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ



ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยได้
ประชาธิปไตยก็คงไม่มีความหมายต่อไป



ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าทัศนคตินี้ผิดจนไม่มีอะไรน่าสนใจ

ในทางตรงกันข้าม
ทัศนคติแบบนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวพันกับฐานความคิดที่สมควรอภิปรายให้กว้างขวางต่อไป 3 ข้อ

ข้อแรก คือความเข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมีความหมายเท่ากับสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ

ข้อสอง คือรัฐประหาร 19 กันยายน เป็นรัฐประหารที่พิเศษกว่ารัฐประหารที่ผ่านมาทั้งหมด

และข้อสาม คือ มีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะวางหลักประกันให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย


......................................................................
......................................................................
......................................................................


บทความนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่ารัฐประหาร 19 กันยายน แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นในสังคมไทย

ในทางตรงกันข้าม รัฐประหารนี้ต่างจากรัฐประหารอื่นหลายแง่

แต่ความต่างนี้ไม่ใช่เรื่องพิเศษ

เพราะไม่มีรัฐประหารครั้งไหนเป็นเอกเทศในตัวเองมากพอๆ กับที่ไม่มีรัฐประหารครั้งไหนเป็นต้นแบบของรัฐประหารครั้งอื่นโดยสมบูรณ์แบบ

การบอกว่า 19 กันยายน คือปรากฏการณ์พิเศษ เป็นเรื่องเหลวไหลไม่น้อยไปกว่าการพูดว่า 19 กันยายน เป็นแค่การยึดอำนาจเหมือนรัฐประหารครั้งอื่น

บทความนี้จึงเห็นว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารทั่วไป

และขณะเดียวกัน ก็ต้องอธิบายเหตุการณ์นี้โดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และสังคมที่ผลักดันให้มันดำเนินไปทิศทางอย่างที่เป็นมา



......................................................................
......................................................................
......................................................................


บทความนี้ไม่ได้พิจารณารัฐประหารด้วยความคิดเรื่องประชาธิปไตย จึงไม่ได้โจมตีรัฐประหารครั้งนี้ในแง่ที่ทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยไปทั้งหมด

นี่ไม่ได้หมายความว่าประเด็นนี้ไม่สำคัญ
ในทางตรงกันข้าม ประเด็นนี้สำคัญจนผู้เขียนได้อภิปรายเรื่องนี้ในที่อื่นๆ เอาไว้มากแล้ว จนเห็นความจำเป็นของการชี้ชวนให้มองเห็นว่าปัญหาของรัฐประหาร 19 กันยายน หาได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

เพราะเมื่อพิเคราะห์รัฐประหารนี้โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของความเป็นจริงด้านสิทธิเสรีภาพและระเบียบการเมืองในสังคมไทยเอง ก็จะเข้าใจว่ารัฐประหารตามนัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ที่ทำให้รัฐมีลักษณะส่วนบุคคลสูงขึ้น ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยเสื่อมทรามลง



ในแง่มุมระเบียบการเมืองนั้น
รัฐประหาร 19 กันยายน เปลี่ยนบทบาทขององค์อธิปัตย์จากความเป็นองค์อธิปัตย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปสู่ความเป็นองค์ประธานของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตรง

เสถียรภาพของระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างความหมายทางการเมืองให้ผูกพันกับคุณลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่องสู่อนาคต

แต่การปรับสภาพองค์อธิปัตย์จากความเป็นหน่วยที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองสูงสุด (sovereign) ไปสู่หน่วยที่ใช้อำนาจกึ่งบริหาร (authority) นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเป็นการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ทำให้สังคมการเมืองแตกร้าวอย่างแทบไม่เคยมีมาก่อน

การสูญเสียคุณลักษณะเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขององค์อธิปัตย์ทำให้การจรรโลงความหมายทางการเมืองนี้ไม่มีทางทำได้ง่ายๆ อย่างที่เคยทำในอดีต

สภาพทางการเมืองนี้ผลักดันให้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอยู่ภายใต้อำนาจที่อยู่เหนือและมีมาก่อนกฎหมาย (meta-law)

เช่นเดียวกับที่สิทธิเสรีภาพพลเมืองถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่อันตรายต่อระเบียบการเมือง

ความสำคัญของพละกำลัง (forces) ต่อการจรรโลงความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้ ส่งผลให้เส้นแบ่งทางตรรกะระหว่างอำนาจการเมืองที่มีอารยะ กับการปกครองโดยการใช้กำลังไม่มีอยู่อีกต่อไป


โครงการสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ ทำให้อำนาจลักษณะปิตาธิปไตยเป็นฝ่ายกำหนดอาณาบริเวณของการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมและเสรีภาพ (negative liberties) ในสังคมการเมือง

อนาคตของระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมพลังภายในระบบ, การดูดกลืนพลังมวลชนที่มีลักษณะถึงรากถึงโคน รวมทั้งการครอบงำของตรรกะทางการเมืองเหนือตรรกะทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด

ความเสื่อมสลายของพลังการเมืองและระบบคุณค่าอื่นๆ หมายความถึงการสูญเสียความเป็นไปได้ที่สังคมจะสร้างความหมายทางการเมืองที่เป็นอิสระจากระเบียบการเมืองนี้

ความจำเป็นของการสร้างการปกครองแบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้เสรีประชาธิปไตยไม่มีความหมายต่อสังคมการเมืองในปัจจุบันและอนาคต

ความล่มสลายของการต่อสู้ในระดับความหมายทางการเมืองส่งผลให้สังคมไทยเผชิญปัญหาที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตย / เผด็จการ, กษัตริย์นิยม / ทุนนิยม หรือ ระบบราชการ / นักเลือกตั้ง


รัฐประหาร 19 กันยายน จึงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นอำนาจแบบขัตติยาธิปไตยหรือเผด็จการทหารแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ราคาของความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้มีแค่ความหายนะทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร

แต่คือการพังทลายของระเบียบการเมือง อันเนื่องมาจากข้อจำกัดจำนวนมากของตัวระเบียบการเมืองเอง


<<<อ่านบทความนี้ เนื้อหามาก ๆ ยาว ๆ เต็ม ๆ>>>






posted by a_somjai on Sunday, May 27, 2007 @ 5:15 AM.




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2550 6:03:28 น.
Counter : 429 Pageviews.  

รัฐประหารซ้ำซาก (10): ให้เป็น 'การเมืองแห่งความกลัว' และ 'การเมืองให้ไม่การเมือง'

LINKS for 2007-05-11:


ประชาไท 10/05/2550 | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : การใช้ ‘การเมืองแห่งความกลัว’ ในการปกครองของบรรดาพันธมิตรรัฐประหาร


การเมืองแห่งความกลัว (Politics of Fear) คือ หัวใจของการปกครองของบรรดาพันธมิตรรัฐประหาร

บรรดาพันธมิตรรัฐประหาร คือผู้ที่ ‘ผนวกตัวเอง’ หรือ ‘ถูกผนวกเข้าไป’ อยู่ในฐานะเป็นแขนขาของคณะรัฐประหาร เพื่อทำให้คณะรัฐประหารนั้นสามารถดำรงอำนาจและควบคุมทิศทางทางการเมืองได้

สิ่งพิเศษที่พันธมิตรรัฐประหารมีไม่ใช่ความรู้ความสามารถที่คนอื่นไม่มี (ซึ่งจะมีหรือไม่มีไม่ใช่ประเด็น) หรือคุณธรรมความดีงาม (ที่พวกเขาเชื่อว่ามี)

แต่พวกเขามีความรู้ความสามารถพิเศษในการสร้างความกลัวให้กับสังคม

เริ่มตั้งแต่การให้เหตุผลว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด และป้องกันความแตกแยกในสังคม มาจนถึงการสร้างบรรยากาศว่า ถ้าประชาชนไม่รับหลักการรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร จะเกิดความแตกแยกในสังคมและเกิดการนองเลือด

ว่าง่ายๆ ว่า ถ้าประชาชนไม่ยอมเดินตามที่ผู้ปกครองและคณะพันธมิตรรัฐประหารต้องการ หรือไม่ยอมเดินอยู่ในขอบเขตที่ท่านเหล่านี้เห็นชอบ (ซึ่งตรงข้ามกับการที่ผู้ปกครองต้องอยู่ภายใต้การกำกับและเห็นชอบของประชาชนตามหลักการของประชาธิปไตย) ก็จะถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม และเกิดการนองเลือดนั่นแหละ

ว่าง่ายๆ ว่า ทำเหมือนว่าอยากให้อิสระ แต่ถ้าไม่ไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการก็ขู่ ถ้าขู่ไม่สำเร็จก็บังคับเอาอยู่ดี

ว่าง่ายๆ ว่า ความแตกแยกและการนองเลือดนั้นเกิดจากคนอื่น ไม่ใช่พวกตน นับตั้งแต่ยุคที่พวกตนยึดอำนาจรัฐ และกลายเป็นผู้ปกครองไปเสียเอง ดังนั้นถ้า ‘ไม่อยากนองเลือด’ ก็ต้อง ‘ยอม’ คณะบุคคลกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ ... จนเขาพอใจ

ในรายละเอียด วิธีการสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมของคณะพันธมิตรรัฐประหารนั้นกระทำโดย
1. แบ่งคนออกเป็น ‘พวก’ ยิ่งแบ่งเป็นสองพวกยิ่งมีพลัง การสร้างโลกให้เป็นขั้ว เป็นพื้นฐานสำคัญในการจูงใจและบังคับให้คนต้องเชื่อและเดินตามเป็นอย่างมาก
2. ตั้งคำถามกับความรักและความจงรักภักดีต่อชาติกับบุคคลที่ ‘ไม่ใช่พวกตน’ ในทุกๆ ครั้งที่คณะรัฐประหาร คณะผู้ปกครอง และพันธมิตรรัฐประหารประสบความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายในการปกครองประเทศ และ ‘ถูกตั้งคำถาม’ ถึงความไร้ประสิทธิภาพ
3. ใช้คำว่า ‘สมานฉันท์’ ในแง่ของการทำให้พวกอื่นเป็นพวกตน เพราะพวกตนคือความถูกต้อง แม้ว่าจะมาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
4. ใช้วิธีอธิบายในเรื่องของ ‘ความอยู่รอดของชาติ’ เพื่อให้คณะรัฐประหาร คณะผู้ปกครอง และคณะพันธมิตรรัฐประหาร ‘อยู่รอด’ ... ‘ก่อนที่ชาติจะอยู่รอด’

การสร้างความกลัวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เหมือนในสมัยสงครามเย็นที่โลกถูกแบ่งเป็นสองขั้ว และโลกถูกปกครองด้วยความกลัวมากกว่าความเข้าใจ

การไปให้พ้นจากการเมืองแห่งความกลัวนั้นย่อมจะต้องเริ่มต้นจากความไม่กลัว ไม่ใช่การสร้างความกลัวมากขึ้นกว่าเดิมโดยการประณามว่าอีกฝ่ายจะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงมากกว่า

แต่อยู่ที่การส่งเสริมให้บรรยากาศแห่งความกลัวลดลง ด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงจุดยืนและหลักการที่เรามี โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นในพลังอำนาจของตัวเราในการกำหนดและตัดสินอนาคตทางการเมืองของตัวเราเอง

คนเรา ‘ไม่ใช่ไพร่’ และ ‘ไม่ใช่หมา’ จะได้มาขู่กันและสร้างความหวาดกลัวรายวันกันแบบนี้ ...

<<<อ่านบทความนี้>>>







ประชาไท 11/05/2550 | ‘นิธิ’ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองของการทำ ‘การเมืองให้ไม่การเมือง’



คงจำได้ว่า อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของสังคมไทยในการปฏิรูปการเมืองนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ก่อนการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และถึงแม้ความต้องการดังกล่าวจะไม่รุนแรงเท่าในช่วงหลังปี 40 แต่ก็ยังอยู่สืบมาจนถึง 19 กันยา โดยไม่ว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ การผลักดันไปสู่การปฏิรูปการเมืองก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนไทย ฉะนั้นการรัฐประหารจึงปฏิเสธการปฏิรูปการเมืองไม่ได้

ผมคิดว่าโจทย์สำคัญของรัฐธรรมนูญใหม่ คือปฏิรูปการเมือง แต่รัฐธรรมนูญนี้กลับทำให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะปฏิรูปหายไป กลายเป็นเพียง ‘หมายจับทักษิณ’ เท่านั้น คือมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญอีกแล้ว นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย

จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญ 40 สามารถจับประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองได้ถูกต้องหลายประเด็นด้วยกัน แต่อาจจะวางวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ เอาไว้ไม่เพียงพอ หรือในบางกรณีก็วางวิธีแก้ไว้ผิดทาง อย่างไรก็ตามสังคมไทยถือว่าโชคดีมาก ซึ่งจากประสบการณ์การใช้รัฐธรรมนูญ 40 มาแล้ว 10 ปี ทำให้สามารถดูได้ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน ดูได้ว่าจุดใดไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญต้องการ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 น่าจะสามารถนำไปปรับปรุงได้

แต่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา กลับไม่ได้สนใจประสบการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่เหมาะสม และเป็นที่น่าเสียดายอีกเช่นกันที่ถึงแม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถอ่านกฎหมายได้อย่างทั่วถึง แต่กลับไม่สามารถ ‘อ่านประเทศไทย’ ได้ทั่วถึง

ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นความไม่ก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญสำหรับสังคมไทยนั้น นับตั้งแต่ก่อน 2475 ‘เรามีระบอบการปกครองที่พยายามทำให้การเมืองไม่เป็นการเมือง’ หรือ ‘Depoliticization’ มาโดยตลอด

โดยทั่วไปแล้ว ‘การเมือง’ หมายถึง การต่อรองเชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากร พูดง่ายๆ ก็คือ การต่อรองผลประโยชน์ในความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงในแง่อุดมการณ์ เช่น ไม่ว่าจะเชื่อในคอมมิวนิสต์ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็สามารถขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้โน้มเอียงไปในแนวทางของตนได้ โดยผลประโยชน์ในที่นี้อาจจะเป็นในแง่เงิน ในแง่อำนาจ หรือในแง่เกียรติยศทางสังคมก็เป็นได้

เมื่อการเมืองคือการต่อรองผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงไม่มีใครอยู่พ้นการเมืองไปได้ เมื่อไรที่พูดถึงการเมืองของระบอบประชาธิปไตย หัวใจของมันก็คือระบบที่ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์กันอย่างเท่าเทียม แต่ถ้ามีคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์กัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิ์นั้น เพียงแต่รอส่วนแบ่งจากคนกลุ่มน้อย อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อครั้งประเทศไทยยังคงได้ชื่อว่าประเทศสยาม ระบอบการปกครองนั้นก็พยายามที่จะให้ ‘ไม่มีการเมือง’ จะมีก็แต่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยผู้ปกครองที่ดี มีเมตตาธรรม รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดความเป็นคนดี ก็จะพิจารณาจากชาติตระกูล ใครมีชาติตระกูลดี ก็ย่อมได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ทำให้เป็นผู้มีคุณธรรม เป็นต้น

หลัง 2475 เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ชนชั้นนำไทยก็ได้รับมรดกทางความคิดเรื่อง ‘ความไม่มีการเมืองในการเมืองไทย’ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพียงแต่ในหลัง 2475 นั้น ได้ปฏิเสธหลักเกณฑ์เดิมเรื่องชาติตระกูล มาเป็นเรื่องของการศึกษา หรือความมั่งคั่งในการใช้ชี้วัดความเป็นผู้ปกครองที่ดีแทน

ความ ‘ไม่มีการเมือง’ ในการเมืองไทยนี้ คือการที่คนอื่นๆ ไม่ต้องเข้ามาเกี่ยว เอาเฉพาะชนชั้นนำเท่านั้นที่จะเป็นผู้แบ่งปันผลประโยชน์ แบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมให้แก่คนอื่น แต่เดิมชนชั้นนำไทย คือคนที่อยู่ในวงราชการเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาก็ขยายไปสู่นักธุรกิจหรือพ่อค้า ซึ่งก็ถือเป็นการเปิดกว้างขึ้น แต่การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เปิดกว้างขึ้นนี้ ก็ยังจำกัดสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ดี

และถึงแม้ว่าคนที่สถาปนาตนเองมาเป็นผู้ปกครองจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยได้อำนาจจากการเลือกตั้งบ้าง หรือได้อำนาจจากการรัฐประหารบ้าง แต่ก็ยังคงความพยายามที่จะทำให้ ‘การเมืองไม่เป็นการเมือง’ อยู่ดี

เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ก็มีความพยายามทำ ‘การเมืองให้ไม่การเมือง’ แก่ทุกส่วนในสังคม สถาบันต่างๆ ในสังคม ถูกทำให้ไม่การเมืองทั้งโดยตรง และโดยอ้อม เช่น สถาบันสงฆ์ เราเชื่อกันเลยว่าพระไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มันมีจริงหรือคนที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันเป็นไปได้อย่างไร ณ ที่นี้ไม่ต้องพูดไปไกลถึงการเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพียงแค่เรื่องการจัดการกับศาสนสมบัติก็คงแสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจน

นอกจากสถาบันสงฆ์แล้ว ก็มีความพยายามดังกล่าวในสถาบันอื่นเช่นกัน โดยบางสถาบันก็ชัดเจนมาก แต่จะไม่ขอพูดถึงในที่นี้

………………………………………………………………….
………………………………………………………………….


<<<อ่านบทความนี้>>>







posted by a_somjai on Friday, May 11, 2007 @ 1:44 AM.




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2550 2:07:39 น.
Counter : 532 Pageviews.  

2007-04-24: กรณีวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ บทความว่าด้วย "กลุ่มทำพระหลักเมืองปลอม"

ด้วยวันนี้เป็นวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖
และเมื่อเย้นวานนี้ ได้รับใบปริวโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวน จากวัดบ้านในเขตหมู่บ้านของตำบลข้างเคียงกันวัดหนึ่ง จับใจความสำคัญได้ว่า...

1. ขอเชิญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อบูรณะพระธาตุ
2. และร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ จากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อมอบให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ เพื่อ..(2.1) เป็นมหาทานบารมีให้ชีวิตเขา (2.2) ชีวิตของเราและครอบครัวจะได้มีความสุข และ(2.3) เทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาส(พระบาทสมเด็ดพระเจ้าอยู่หัวฯ) พระชนมายุครบ 80 พรรษา
3. และเข้าร่วมมงคลพิธี สวดสืบชะตาบูชาเทวดานพเคราะห์ 12 ราศี เสริมบารมีปีเกิด สวดพระคาถาอาฎานาติยะปริตร, มลคลรัตนสูตร ขับไล่สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ โดยมีพระพิธีธรรมชุดใหญ่ 9 รูป
4. บูชารับ-ส่งพระราหูปีกุล รับแสงสว่างบันดาลโชคดีตลอดปี 2550
5. บูชาเทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ยะ เทพคุ้มครองดวงชะตาเพื่อเสริมบารมีชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ....ซึ่งในปีกุลหมูไฟนี้ ซินแสจีนชื่อดัง ได้กล่าวเตือนทำนายเกี่ยวกับอาถรรพ์ปี "ชง" ในปี 2550 คือ ท่านที่เกิดปีขาล, มะเส็ง, วอก, กุน ในปีนี้จะไม่ดี ชีวิตมีแต่อุปสรรค หรือหญิงชายที่มีรอบอายุในวัยเบญจเพส คืออายุ 25 ปี 35 ปี 45 ปี 55 ปี เกิดวันจันทร์ วันพฤหัสฯ วันเสาร์ วันพุธกลางคืน ท่านแนะนำให้ไปไหว้ต่อองค์เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ยะ
6. และร่วมถวายมหาสังฆทานตัดวิบากกรรม, อุทิศส่วนกุศลแด่เปรตชนและเจ้ากรรมนายเวร โดยทางวัดได้เตรียมเครื่องสังฆทานพร้อมทั้งพระบูชาประจำวันเกิดไว้ให้สาธุชนทีมาร่วมเป็นเจ้าภาพถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดปี 2550 ...ทางวัดจึงจัดให้มีมงคลพิธีสวดสะเดาะเคราะห์ ต่อดวง่ชะตา เสริมดวงบารมี แบบโบราณพิธี, สวดบูชาเทวดาประจำวันเกิด, ทำบุญโลงหีบศพ บังสุกุลคนตาย - บังสุกุลคนเป็น ด้วยผ้าขาวแดง แก้เคร็ดอาถรรพ์ปีหมูไฟ และทำพิธีบูชารับ-ส่งพระราหูปีกุน ด้วยของดำ 8 สิ่ง 8 อย่างเพื่อบันดาลโชคดีคลอดปีหมูทอง 2550

7. (เพื่อจัดงาน) สิริมงคลพิธีต้อนรับปีกุนทอง 2550 ทางวัดแจกฟรี จตุคามรามเทพ เทพเจ้าแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเมตตามหาลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นสิริมงคลท่านละ 1 องค์


ด้วยเหตุแห่งใบบอกบุญดังกล่าวนี้

ข้าพเจ้าจึงได้นำบทความทีเห็นว่าเกี่ยวข้อง และอาจเกิดประโยชน์สำหรับท่านทั้งหลายที่เผชิญกับ "กระแสความเห็นควรบัญญัติให้ศาสนาพุทธป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับร่างปี 2550 หรือไม่?" และ "กระแสเครื่องรางของขลังที่คลั่งไคล้กันหนักดั่งโรคระบาดกันอยู่ในปัจจุบันนี้"

อนึ่งบทความที่ไปค้นคว้าข้อมูลมาแนะนำ link เข้าไปอ่านวันนี้ ก็เพื่อประกอบการพิจารณา "เรื่องความเชื่อหลากหลายที่ผสมปนเปอีรุงนุงนังกันอยู่อย่างหลากหลายในเนื้อสังคมแบบไทย ๆ ที่เป็นอยู่จริง ๆ ณ วันนี้" ได้เป็นอย่างดียิ่งแล

posted by a_somjai on Tuesday, April 24, 2007 @ 9:49 Am.





Links for 2007-04-24:


สุริยันจันทรา : กลุ่มทำพระหลักเมืองปลอม โดยพลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล

"วัตถุมงคลของศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ว่าเป็น ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์รูปพระผงสุริยันจันทรา รูปเหรียญโลหะทั้งแบบ 4 เหลี่ยม 5 เหลี่ยม หรือวงกลม ผ้ายันต์ มีดจตุคามรามเทพ ตะกรุดแบบต่าง ๆ ตลอดจนพระผงนาคปรก 4 เหลี่ยม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ล้วยแต่เป็นสิ่งที่ องค์จตุคามรามเทพเป็นผู้กำหนดให้สร้างขึ้นทั้งสิ้น ในชั้นแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสมนาคุณแก่ผู้ศรัทธาบริจาคเงินช่วยเหลือ ในการสร้างหลักเมือง ต่อมากำหนดให้สร้างขึ้นในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เป็นการภายในเฉพาะกล่มศิษยานุศิษย์เท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์จะสร้างขึ้นเพื่อขายแต่อย่างใด วัตถุมงคลหลักเมืองทุกชนิดทุกแบบทุกรุ่น องค์จตุคามรามเทพ ได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ออกแบบ จนพิจารณาเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้วจึงสั่งให้สร้างขึ้นตามจำนวนกำหนด ได้ทำลายแม่พิมพ์เพื่อไม่ให้สร้างขึ้ใหม่อีก ต่อจากนั้นองค์จตุคามรามเทพมอบหมายให้ผู้เขียนนำ รูปแบบศิลปกรรมวัตถุมงคลหลักเมือง ไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตามกฏหมายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543

"ดังนั้นผู้ใดทำเทียมลอกเลียนแบบ หรือดัดแปลง หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ดูคล้ายวัตถุมงคลของหลักเมือง ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา หรือหมายความว่า ลักทรัพย์ อันเป็นความผิดทางกฏหมายมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ...............................................


"เมื่อครั้งวัตถุมงคลของหลักเมืองมีราคาเพียงแค่ องค์ละ 49 บาท 39 บาท 19 บาท 12 บาท ก็ไม่ค่อยจะมีคนสนใจ บางครั้งมีคนยากจนอยากได้ก็ให้ไปฟรี ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาเขียนบอกเล่ากันอย่างนี้ แต่หลังจากพระหลักเมืองมีราคาเรือนแสนเรือนล้าน และหลายล้าน ก็เกิดพวกละโมภอยากร่ำรวย ถือโอกาสปลอมแปลงหลอกขายผู้คน ต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักผิดกฏหมายในลักกษรณะละเมิดลิขสิทธิ์ เที่ยวชักชวนวัดวาอาราม โรงเรียน โดยอ้างว่าหาเงินเพื่อการกุศลบังหน้ามีอยู่มากมายหลายกลุ่ม ผู้ที่หลงเชื่อส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากลุ่มที่ทำพระหลักเมืองปลอม ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้วทั้งสิ้น ซึ่งจะขอเปิดโปงเบื้องหน้าเบี้องหลังพฤติกรรมให้ทราบดังนี้

1. ---------------------------
2. ---------------------------
3. ---------------------------
4. ---------------------------
5. ---------------------------
6. ---------------------------
7. ---------------------------
8. ---------------------------


"นอกจากนี้ยังมีพระตามวัดต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์เที่ยวทำพิธีปลุกเสก จตุคามรามเทพมากหมายหลายแห่ง ทั้งนี้เพราะว่าสร้างพระแบบอื่นขายไม่ได้ จึงหันมาสร้างพระเลียนแบบวัตถุมงคลของหลักเมืองนครศรีธรรมราชกันทั่วประเทศ แม้แต่ตัวผู้เขียนเองแทบทุกวันเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ โทรศัพท์มาติดต่อขอให้ไปช่วยเป็นประธานสร้างพระจตุคามรามเทพ เพื่อหาเงินบำรุงวัด ผู้เขียนตอบปฏิเสธไปทุกราย เมื่อการสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาอีกนอกจาก องค์จตุคามรามเทพบอกให้สร้างเพื่อช่วยเหลือบ้านเมืองและประชาชน โดยอาศํยการโคจรของดวงดาวที่สัมพันธ์กับดวงเมืองในทางร้าย ลำพังผู้เขียนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ จะต้องได้รับความยินยอมจาก องค์จตุคามรามเทพ จึงร่วมประกอบพิธีกรรมตังที่เห็นกันอยู่ ไม่ได้คิดจะทำอะไรตามใจชอบได้

ดังนั้นการสร้างพระหลักเมืองก็ดี พระจตุคามรามเทพก็ดี ไม่ว่าเป็นพระสงฆ์องค์เจ้ามีสมณะศักดิ์สูงขนาดไหน พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือใครก็ตามที่อ้างว่าทำพิธีปลุกเสก หรือเทวาภิเษกขึ้นอย่างถูกต้อง โดยผ่านการประทับทรงของ องค์จตุคามรามเทพ ล้วนแต่เป็นพระปลอมที่ผิดกฏหมาย และหลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อทั้งสิ้น เพราะว่า องค์จตุคามรามเทพ ไม่เคยปลุกเสกพระให้ใคร แม้แต่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์มาช้านาน เมื่อถึงคราวเป็นผู้นำการกู้ชาติ องค์จตุคามรามเทพ ก็ได้มอบพระผงสุริยันจันทรา ผ้ายันต์ และธงหนุมาร ที่สร้างไว้แล้วมอบให้ไปแจกแก่สมาชิก โดยไม่ต้องซื้อไม่ต้องขอและไม่ต้องการอะไร แต่เป็นการแผ่บารมีธรรมตามวิถีทางของพระโพธิสัตว์

พลตำรวโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล
ผู้เรียบเรียง
11 กุมภาพันธ์ 2550



<<<อ่านบทความนี้ฉบับเต็มที่เว็บไซต์สุริยันจันทรา>>>






UPDATED
Links for 2007-04-24: @ 5:39



สนธิ ลิ้มทองกุล กับจตุคามรามเทพ

“โดยส่วนตัว ผมเป็นผู้ที่เคารพนับถือจตุคามรามเทพมานานแล้ว นานก่อนที่จะเกิดการขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมได้รู้จักกับ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล สมัยเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก เมื่อปี 2530 และได้สร้างจตุคามรามเทพรุ่นที่ 2 คือ รุ่นกู้ชาติเมื่อต้นปี 2549 ที่ผ่านมา ทุกวันนี้ ผมยังพกยันต์เก่าแก่ขององค์พ่อจตุคามฯ ติดกระเป๋าไปไหนมาไหนด้วยเสมอๆ”

นั่นคือคำกล่าวของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในการจัดงานรำลึก 1 ปีกู้ชาติทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี NEWS1เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา



ผ้ายันต์จตุคามรามเทพที่สนธิ ลิ้มทองกุลพกติดตัวเป็นประจำ

ขณะเดียวกันสนธิก็ได้เปิดเผยถึงความช่วยเหลือของจตุคามรามเทพในการจัดทำธงพญาชิงชัยด้วยว่า “คนทรงบอกให้ผมถือธงพญาชิงชัยนำขบวนไปทุกครั้งที่มีการชุมนุม จะได้รับชัยชนะโดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้”

ถามว่า แล้วสนธิไปรู้จักกับจตุคามรามเทพและพล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุลได้อย่างไร

..................................................
..................................................
..................................................


“องค์จตุคามรามเทพท่านคงเห็นความตั้งใจของผม จึงอนุญาตให้ดำเนินการจัดสร้าง โดยทำทั้งหมด 2 สีด้วยกันคือสีแดงและสีขาว สีละ 39,999 องค์ เพื่อมอบให้ทุกท่านที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน สำหรับแบบของรุ่นนี้จะทำเป็นแบบกลมเหมือนกับรุ่นแรกและรุ่น 2 แต่ด้านหน้ามีการเปลี่ยนแปลงโดยทำเป็นองค์จตุคามรามเทพประทับบนนาคปรก 7 เศียร”สนธิอธิบายถึงที่มาที่ไปของจตุคามรามเทพรุ่นยามเฝ้าแผ่นดิน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อจตุคามรามเทพรับรู้ถึงการทำงานของสนธิที่ช่วยกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากความหายนะด้วยการโค่นรัฐบาลเผด็จการลงไปได้ รวมทั้งรับรู้ด้วยว่าในปี พ.ศ.2550 นี้นั้น ราหูจะอวตารในปีหมูอีกครั้งและจะทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองรุนแรงยิ่งกว่าในปี พ.ศ.2539 จึงได้พล.ต.ท.สรรเพชญออกแบบรูปประติมากรรมพระนาคปรก 7 เศียร หล่อด้วยโลหะธาตุแบบลอยองค์ ขนาดความสูง 1 เมตร 9 เซนติเมตรจำลองรูปองค์จตุคามรามเทพประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาเหนือบัลลังก์พญานาคราช และมอบหมายให้สนธิเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างเพื่อช่วยกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากความหายนะอีกครั้งหนึ่ง

โปรดติดตาม....เรื่องราวที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบทั้งเรื่องและภาพเกี่ยวกับความลับและความจริงแห่งองค์จตุคามรามเทพในรูปแบบของพอกเกตบุ๊คส์ โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ได้เร็วๆ นี้


หมายเหตุ-เนื้อหาและภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ www.manager.co.th ผู้ที่นำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย

<<<อ่านบทความเรื่องนี้ที่ //www.manager.co.th/Jatukarm/default.html >>>
และ
<<<อ่านความเห็นต่อปรากฏการณ์นี้ ที่กระทู้ห้องราชดำเนิน pantip.com --> P5346898 สนธิ ลิ้ม ลั่น....ทำจิงๆ.................เพื่อชาติ pig.army (24 - 24 เม.ย. 50 17:10) >>>






 

Create Date : 24 เมษายน 2550    
Last Update : 25 เมษายน 2550 2:18:03 น.
Counter : 995 Pageviews.  

2007-04-18: ‘รัฐ’ อยู่ใน ‘จินตนาการ’ ของเราเอง?

Link for 2007-04-18:

  • ปาฐกถาพิเศษ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เรื่อง อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’ อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 ‘รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน’ ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2550 (รายงาน ประชาไท )







“เราจะบอกว่าเขาเป็นกลไกรัฐหรือเปล่า หรือเราจะต้องคิดเสียใหม่ว่า รัฐไม่ได้หมายถึงเพียงกลไกรัฐเหล่านั้นเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนธรรมดาด้วยกันนี่แหละ คนชั้นกลางมีการศึกษาจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองรู้ดีนี่แหละ ทำตัวเป็นตัวแทน (agent) ของรัฐอยู่ตลอดเวลาด้วยรึไม่

“คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม? หรือว่าเราจะต้องคิดกับเรื่องรัฐเสียใหม่

“เวลาเราพูดถึงรัฐในชีวิตประจำวัน หมายความว่า เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘ประชาชน’ ท่ามกลางการใช้ชีวิตปกติ”

………………………………………………………………………

“เรามักคิดว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐ เพราะว่า ‘รัฐ’ ตามที่เราเข้าใจ หมายถึงกลไกการใช้อำนาจของทางการเพื่อควบคุมบังคับปราบปราม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

“ต่อให้เราหลายท่านในที่นี้เป็นข้าราชการในสถาบันการศึกษาของรัฐ ความรู้สึกของเราแต่ละคนก็มักจะเห็นตัวเองเป็นประชาชนเดินถนนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่ใช่กลไกรัฐที่ใช้อำนาจต่อประชาชน

“แต่แล้วประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละที่ช่วยกันทำให้อุดมการณ์ โครงการหลายอย่างของรัฐ กลายเป็นมาตรฐานของสังคม โดยที่กลไกรัฐไม่ต้องลงมาควบคุมบงการอย่างใกล้ชิด

“เราแทบทุกคน มีส่วนในการวางมาตรฐาน มีส่วนในการที่จะเที่ยวบอกเที่ยวชี้ว่าใครบ้างเป็นผู้ที่ละเมิด แหกออกนอกกรอบความเป็นปกติ จนกระทั่งผู้คนหลายคนไม่กล้าที่จะแหกกรอบ ไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะเกิดความกลัว

“กลัวอะไร ก็กลัวประชาชนด้วยกันนี่แหละจนเราต้องทำตาม จนเราต้อง self censor ความกลัวและการ self censor แผ่ขยายไป แผ่ซ่านไปหมดจนเราไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง ปกติที่เราไม่กล้าทำ เพราะมีตำรวจมายืนใกล้ๆ หรือเปล่า.. ส่วนใหญ่ไม่ใช่

“แต่ที่เรากลัวคือ ประชาชนรอบ ๆ ข้างเรา

“กลไกรัฐไม่มีทางแผ่ขยายมาควบคุมบงการได้ขนาดนั้น แต่เพราะประชาชนกันเองจำนวนไม่น้อยทำตัวเป็น เอเยนต์ของรัฐนี่เอง การควบคุมบงการของรัฐจึงสามารถแผ่ซ่านได้ขนาดนั้น

“ประชาชนเหล่านั้นที่เรากลัวเป็นกลไกรัฐไหม

ประเด็นสำคัญที่จะพูดถึงเกี่ยวกับ ‘รัฐในชีวิตประจำวัน’ ในวันนี้ คือเรื่องนี้ เรื่องที่เราพบปะอยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นปรากฏการณ์ใกล้ชิดเรามากเสียจนถูกมองข้ามเหมือนปลายจมูกของเราเอง

“นั่นก็คือ เมื่อรัฐคือตัวเรา ประชาชนอย่างเราทุกท่านทำตัวเป็นกลไกรัฐเสียเอง แล้วไม่เคยมองดูตัวเองว่าเรากำลังกระทำตัวเป็นกลไกรัฐอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวอย่างไร...ในชีวิตประจำวัน”

........................................................................

"ในแง่นี้ ในเรื่อง self censor ผมถามหน่อยว่า รัฐอยู่ที่ไหน? ที่บอกว่าอยู่ที่ประชาชนรอบข้างเรา นั่นคือคำตอบหนึ่ง

‘รัฐ’ อยู่ใน ‘จินตนาการ’ ของเราเอง"

..........................................................................


"แต่ทว่าที่สุด สังคมหนึ่งๆ เอาเข้าจริงหนีไม่พ้นความขัดแย้งที่ไม่มีทางลงรอยกันได้

"สังคมหนึ่งๆ รวมทั้งสังคมไทยด้วย ไม่มีทางหนีพ้นการที่จะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนคอนเซ็ปต์แบบเดิมๆ ดำรงอยู่ต่อไป แต่จะถูกปะทะขัดแย้งกับความเป็นอื่นที่ละเมิดคอนเซ็ปต์ที่เราคุ้นเคยกัน

"การปะทะระหว่างคอนเซ็ปต์ที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง กับความเป็นจริงที่ไม่มีวันหยุดยั้ง จะดำรงอยู่ต่อไป

"ถ้าหากเราอยากจะศึกษาเรื่องรัฐในชีวิตประจำวัน ผมอยากฝากว่า ลองเพ่งมองดูการปะทะกันระหว่างความคิดของสังคมแบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง เราอาจจะเห็นอะไรดีๆ เกี่ยวกับเรื่องรัฐในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น"



>>>>>อ่านบทความนี้>>>> ปาฐกถาพิเศษ ธงชัย วินิจจะกูล : ‘เสื้อเหลือง’ กับ อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’ ที่ประชาไท>>>>>








posted by a_somjai on Wednesday, April 18, 2007 @ 4:29 AM.




 

Create Date : 18 เมษายน 2550    
Last Update : 18 เมษายน 2550 5:26:19 น.
Counter : 378 Pageviews.  

2007-04-10: Protect Free Speech Online! V.S. ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ V.S. ความมั่นคงของผู้กุมอำนาจ

Posted by a_somjai on Tuesday, April 10, 2007 @ 2:27 PM.

เรื่องต่อเนื่องในกระแส: 2007-04-08: คำสั่งจากกระทรวง ICT ให้มีการปิดห้องราชดำเนินเป็นการชั่วคราว, กรณีศึกษา Censoring online: ในกระแส "คลื่นใต้น้ำ" กระทู้การเมือง ห้องราชดำเนิน pantip.com , 2006-09-21 Internet Filtering in Thailand 2006?: กรณีศึกษาที่ ๑

เรื่องเก่า:
มลภาวะที่บั่นทอนเสรีภาพสิทธิส่วนบุคคลของพลเมือง, Protect Free Speech Online!, ปกป้องอิสระใน "การพูด" ออนไลน์ ! : ห้ามเข้าเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนแล้ว, ขอเรียกร้อง "อำนาจรัฐ" ให้เปิดเวปไซต์ "ม. เที่ยงคืน", Links for Protect Free Speech Online!, จดหมายเปิดผนึกถึง 'นายกฯ สุรยุทธ์' เรื่อง "การข่มขืนใจต่อเสรีภาพของสื่อ"









ประชาไท วันที่ : 8/4/2550
สัมภาษณ์ ‘ซีเจ ฮิงกิ’ : บล็อค YouTube คำสารภาพความกลัวของรัฐ



สัมภาษณ์โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์
ข่าวกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีคำสั่งปิดเว็บ YouTube ปิดห้อง ‘ราชดำเนิน’ ในเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ ตามด้วยเสียงเตือนเว็บไซต์ ‘ประชาไท’ อย่างเข้มๆ เป็นกระแสข่าวที่มีการพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ สื่ออินเตอร์เน็ต และการถกเถียงใน ‘ชุมชนออนไลน์’ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดกระแส ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง’ อย่างกว้างขวางและรวดเร็วของสื่อและชุมชนออนไลน์

เพื่อให้เกิดบทสนทนาในสังคมไทยต่อเรื่องนี้ ประชาไทขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ ‘ซีเจ ฮิงกิ’ (C.J.Hinke) ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT - Freedom Against Censorship Thailand) ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่ ‘จับตา’ การเซ็นเซอร์สื่ออย่างใกล้ชิด

“กระทรวงไอซีทีไม่รู้วิธีที่จะเซ็นเซอร์วีดิโอคลิปเดี่ยวๆ บนเว็บ YouTube และใช้วิธีที่ไม่ฉลาดโดยการบล็อคเว็บไซต์ทั้งหมด YouTube กำลังสอนรัฐบาลไทยว่ามีวิธีเซ็นเซอร์วีดิโอคลิปอันเดียวอย่างไร ในความเห็นผมแล้วนี่หมายความว่า Google กำลังสมรู้ร่วมคิดในการเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับปฏิกิริยาของรัฐบาลในเรื่องคลิปวิดีโอ YouTube
เอ่อ ผมคิดว่าการเซ็นเซอร์ในประเทศไทยมีมากเกินความจำเป็นในปัจจุบัน และผมก็คิดว่ารัฐบาลแสดงปฏิกิริยามากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นเรื่อง ‘เล็กนิดเดียว’ ที่ไม่สามารถทำให้สังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวายได้

สื่อไทยกระแสหลักแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ตัดสินใจไม่รายงานเกี่ยวกับกรณีนี้ คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
การเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นการเซ็นเซอร์ที่น่ากลัวและอันตรายที่สุด เพราะมันหมายความว่าประชาชนชาวไทยมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว เราจะไม่รู้เลยว่าอะไรถูกแบนหรือไม่ สภาพเช่นนี้ยากยิ่งที่จะแก้ไขเมื่อเทียบกับการเซ็นเซอร์จากบนลงล่าง

มาตรการที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันในกรณีนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ และคิดว่าจะมีผลกระทบทั้งที่คาดคิดไว้และไม่ได้คาดคิดอย่างไรในสังคมไทย
กระทรวงไอซีทีไม่ได้เป็นผู้จัดการเองโดยตรง แต่มีคำสั่งมาจากเบื้องบน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ออกประกาศ (ประกาศ คปค.ฉบับที่ 5--ผู้สัมภาษณ์) หลังรัฐประหาร ซึ่งเป็นคำสั่งให้เซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดนี้ก็เป็นภาพสะท้อนความเชื่อของกลุ่มทหารว่า ไอซีทีทำงานยังไม่ดีพอ ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีที่คนเหล่านี้กำลังแสดงธาตุแท้ของตนออกมา ถึงแม้มันจะสร้างปัญหาไม่น้อยในปัจจุบันก็ตาม ในแง่นี้หมายความว่า ประชาชนจะเริ่มตาสว่างและเข้าใจว่าสภาพการเมืองที่แท้จริงซึ่งมีลักษณะกดขี่ ลิดรอนสิทธิเป็นอย่างไร

ถ้าเช่นนั้นแล้วหากอาจารย์เป็นผู้นำรัฐไทยและดูแลกระทรวงไอซีที อาจารย์จะจัดการอย่างไรในกรณี YouTube
ผมคิดว่าถ้าเราไม่ชอบอะไร เราก็เพียงแต่อย่าไปดูมัน ไม่ว่าจะเป็นในอินเตอร์เน็ต หรือทีวีก็เช่นกัน คุณก็แค่เปลี่ยนช่อง แล้วไปดูอย่างอื่นแทน มันไม่มีความจำเป็นจะต้องไปทำอะไรทั้งสิ้น

การเซ็นเซอร์กรณีนี้แสดงว่าสถาบันอ่อนแอหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น มันมีสภาพอะไรที่อ่อนแอเกี่ยวกับสถาบันนี้หรือครับ
ผมคิดว่าพวกเขากังวลตั้งแต่เริ่มแรก (ก่อการรัฐประหาร--ผู้สัมภาษณ์) พวกเขารู้วิธีที่จะก่อรัฐประหารและอาจจะเป็นการก่อรัฐประหารด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง แต่ดูเหมือนเขาจะไม่มีความคิดว่าควรบริหารรัฐบาลอย่างไร เวลาคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คุณมักจะมีปฏิกิริยาโอเว่อร์ และมักตัดสินใจผิดพลาด

มีคนบางกลุ่มในเมืองไทยที่ยืนกรานว่า เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพของสื่อ ไม่ว่าสื่ออินเตอร์เน็ตหรืออะไรก็ตาม เป็นแนวคิดของฝรั่งและแปลกแยกกับวัฒนธรรมไทย คุณเห็นด้วยกับความเชื่อเช่นนี้หรือไม่
ผมอยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างแท้จริง ลึกซึ้ง และอิสระกับคนไทยหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพวกเสรีนิยม พวกปฏิกิริยานิยม พวกอนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ รวมถึงผู้คนชั้นต่างๆ ของสังคมไทย คนไทยรู้จักที่จะคิดด้วยตัวเอง และรู้ว่าจะจัดการกับความจริงอย่างไร

คุณคิดว่าอนาคตเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นสดใสหรือไม่ ทำไม
ผมว่ามันคงจะเลวร้ายลงไปกว่านี้ไม่ได้มาก เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีแต่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจมากที่สุดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ก็คือ สภาพการณ์ปัจจุบันกำลังฉุดรั้งคนไทยไม่ให้มีโอกาสที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองอย่างมีเหตุผล และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันและกัน หากรัฐบาลมีเจตนาดีจริงก็คงไม่มีอะไรต้องกลัว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลรู้สึกว่าจำเป็นต้องหยุดยั้งไม่ให้พวกเราพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน นั่นก็เป็นดัชนีชี้ชัดของเผด็จการ

การที่รัฐบาลใช้อำนาจของทั้งรัฐต่อกรกับบริษัทแห่งหนึ่งนั้น (Google ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์YouTube) เป็นเรื่องเขลาจริงๆ เขากำลังสาธิตให้เห็นถึงความอ่อนแอ ความรู้สึกไม่มั่นคงและความกลัว Google สัญญากับกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย หรือ FACT (Freedom Against Censorship Thailand) ว่าเขาจะไม่เซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตในเมืองไทย (พูดกับ FACT เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว—ผู้สัมภาษณ์) มาถึงวันนี้พวกเขาอาจจะไม่ถึงกับกลับลำ แต่ก็กำลังเลื่อนไหลผิดคำพูด มันชัดเจนแล้ววันนี้ว่า กระทรวงไอซีทีไม่รู้วิธีที่จะเซ็นเซอร์วีดิโอคลิปเดี่ยวๆ บนเว็บ YouTube และใช้วิธีที่ไม่ฉลาดโดยการบล็อคเว็บไซต์ทั้งหมด YouTube กำลังจะมาสอนรัฐบาลไทยว่า มีวิธีเซ็นเซอร์วีดิโอคลิปอันเดียวอย่างไร ในความเห็นผมแล้ว นี่หมายความว่า Google กำลังสมรู้ร่วมคิดในการเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ กลุ่ม FACT มีกลยุทธ์ที่จะประณาม Google ต่อนานาชาติเร็วๆ นี้ด้วย








เนชั่นทันข่าว ประจำวันที่ 10 เมษายน 255
ไอซีทีส่งจม.อธิบายเหตุปิดเวปยูทิวป์วันนี้



10:04 น.
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเสนอภาพไม่บังควรผ่านเวปไซด์ยูทิวป์ และกูเกิลล์ ว่า ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงจะส่งจดหมายไปอธิบายให้เวปไซด์ยูทิวป์ และกูเกิลล์ ทราบว่าสิ่งที่ลงในเวปไซด์นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่จะไปต่อว่านักการเมือง เพราะพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเหนือการเมืองอยู่แล้ว และการที่ตนสั่งบล๊อกไม่ได้มีเหตุผลว่าไม่ต้องการให้คนไทยดู เพราะเรื่องอย่างนี้คนไทยยิ่งดูก็ไม่มีใครเชื่อและจะเกิดความเคียดแค้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนไทยยอมไม่ได้ เพราะคนไทยเคารพบูชา แต่มาทำในลักษณะนี้เราจำเป็นต้องปิด เปรียบเสมือนว่ามีใครทำอะไรเสียหายที่หน้าบ้านเราๆ ก็ต้องเก็บกวาด

“ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรี พอทราบข่าวว่ามีการลงภาพไม่ถูกต้อง ผมทำทันทีโดยไม่ต้องตัดสินใจ แต่ฝรั่งไม่เข้าใจ แยกแยะไม่ได้ก็ต้องพยายามอธิบาย และขณะนี้ผมกำลังคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาต่อต้านรัฐบาลทุกชาติในโลก รวมทั้งรัฐบาลของเขาเอง เพราะฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องหาทางไปพูดจา” นายสิทธิชัย กล่าว









UPDEATED 2007-04-11 @ 4:29 AM.





ANNOUNCE



เรียนท่านสมาชิก

หลังจากทางพันทิปรับทราบและทำความเข้าใจแนวทาง จาก ICT โดยละเอียดอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งได้รับการยืนยันหลักการ ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในการวิภาษณ์ วิจารณ์ การทำงานของทั้งรัฐบาลและ ค.ม.ช. ในกรอบที่ให้เป็นไปเพื่อการ ติชมโดยสุจริต และมีเหตุผล ซึ่งพิจารณาแล้วว่าอยู่ในวิสัยที่เราสามารถดูแลได้ จึงตัดสินใจเปิดห้องราชดำเนินขึ้นให้บริการอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดที่ เกิดก่อนหน้ามา ณ ที่นี้

PANTIP.COM




เรียนตอบท่าน จขกท P5307966 ซึ่งถามว่า "ตกลง ict ห้ามวิจารณ์ใครบ้าง ช่วยชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย"
ตอบ : ทาง ICT ได้ขอไว้ได้แก่ 1.ข้อความที่หมื่นเหม่เบื้องสูง และ 2.หมิ่นเหม่ในเรื่องส่วนตัวขององคมนตรี เพราะเกี่ยวพันกับเบื้องสูง
เพียงเท่านี้ครับ ขอความกรุณาทุกท่านด้วย .... นอกจากนี้ทางเราได้เอาโปรแกรมไฟเขียวไฟแดง(โหวตเพื่อลบกระทู้)กลับมาใส่ในห้องราชดำเนินแล้ว เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลต่อไป






 

Create Date : 10 เมษายน 2550    
Last Update : 11 เมษายน 2550 4:34:43 น.
Counter : 683 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.