<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

คำประกาศ "รับ V.S. ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ 2550: (รัฐประหารซ้ำซาก 16)


>>> เว็บไซต์สภาร่างรัฐธรรมนูญ <<<
>>> ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับได้รับความเห็นขอบจากสภาร่างรัฐธรรมนุญ)
(ไฟล์.pdf)<<<



LINKs for 2007-07-22 :
ประชาไท


สปป. ประกาศเหตุผลสำคัญในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550

หลังการแถลงข่าวของสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (15 ก.ค. 50) ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ต่อมาวันนี้ เวลา 11:39 น. เว็บไซต์ของสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มีการเผยแพร่เอกสารซึ่งเป็นแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนี้

สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง
(People’s Assembly for Political Reform (PAPR.)

คำประกาศ สปป.
เหตุผลสำคัญในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550



สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง หรือ สปป. (ดังรายนามข้างท้าย) ได้จัดเวทีคู่ขนานกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นเวลากว่า 6 เดือน

กระบวนการลงประชามติครั้งนี้ แม้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่หลายฝ่ายก็คาดหวังว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญของประชาชน สปป. จึงออกคำประกาศเพื่อประกอบการพิจารณาของทุกฝ่ายก่อนจะตัดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หรือไม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้



จุดยืน สปป.ต่อสถานการณ์สังคมไทย

สปป.เห็นว่าสังคมไทยได้ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเมือง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความแตกแยกในสังคม ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่รวมถึงปัญหาที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดและแฝงไปด้วยวาระซ่อนเร้นของรัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดปรากฏการณ์โกงทั้งโคตร การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การแทรกแซงองค์กรอิสระ และการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ภายใต้เผด็จการรัฐสภาอย่างสมบูรณ์แบบ การยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากเผด็จการรัฐสภา ที่แม้ประชาชนจะไม่ได้เต็มอกเต็มใจก็ตาม แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้สังคมได้พยายามทำความเข้าใจบนเงื่อนไขวิกฤติการณ์สังคมการเมืองที่ไร้ทางออกในขณะนั้น

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงถูกตั้งคำถามตั้งแต่ต้นว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ เนื้อหาสาระจะเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คมช.หรือไม่ หรือบทบัญญัติต่างๆ จะมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ถูกกระทำชำเราจากระบอบทักษิณและถูกล้มเลิกโดยคณะรับประหาร กระทั่งถูกคาดหวังจากสังคมหลายส่วนว่าร่างรัฐธรรมนูฉบับ 2550 จะนำพาสังคมไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและสถานการณ์ปกติได้หรือไม่อย่างไร

สปป. เห็นว่าความคาดหวังของหลายฝ่ายที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีมากจนเกินไปว่าจะเป็นคำตอบสำเร็จรูปของสถานการณ์ปัญหาประเทศ เพราะตรรกะเช่นนี้เท่ากับว่าเรากำลังย่อส่วนหรือลดทอนปัญหาประเทศให้มีความหมายหรือความสำคัญแค่เพียงรับหรือไม่รับร่างรฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือจะเลือกฉบับไหนดี ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพราะโดยข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเป็นเพียงเครื่องมือของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมเท่านั้น ในขณะที่การแก้ไขปัญหาประเทศต้องอาศัยแนวนโยบายที่สร้างสรรค์และก้าวหน้า วิธีคิดที่เข้าใจปัญหา และความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชนสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง

ด้วยเหตุดังนั้น สปป.จึงไม่เห็นด้วยที่จะสร้างกระแสให้การลงประชามติครั้งนี้ มีความครอบคลุมไปถึงการรับหรือไม่รับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะความพยายามของขั้วอำนาจเก่าอย่างกลุ่มไทยรักไทยและเครือข่าย ที่ใช้ประเด็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อโค่นล้ม คมช.และคำสั่งใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเพื่อปูทางให้ระบอบทักษิณคืนชีพกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง ในทางตรงกันข้ามการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มิได้หมายความว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่อย่างใด

สปป.จึงเห็นความจำเป็นที่ภาคประชาชนทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างและผลักดันทางเลือกที่ 3 มากกว่าจะหยุดนิ่งอยู่แค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ คมช. หรือระบอบทักษิณ ภารกิจจากนี้ไปประชาชนทุกภาคส่วนจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ทำให้การเมืองแบบใหม่หรือการเมืองภาคประชาชน มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน



จุดยืน สปป.ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

1. สปป.ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวม 309 มาตรา เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ต่อยอดจากการปฎิรูปการเมืองครั้งที่ 1 (รัฐธรรมนูญ 2540) ได้อย่างแท้จริง แม้หลายมาตราและหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนจะมีความก้าวหน้าก็ตาม แต่ในขณะเดีu3618 .วกันก็มีบางมาตราที่เอื้ออำนวยให้รัฐราชการหรือระบอบอำมาตยาธิปไตย มีพื้นที่ในรัฐธรรมนูญมากขึ้นเช่นกัน

2. แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประเด็น แต่ถ้ามองจากจุดยืนของการเมืองภาคประชาชน ถือว่าได้เปิดพื้นที่หรือช่องทางใหม่ๆ ให้กับประชาชนมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อย่างชัดเจน อาทิ มาตรา 55 สิทธิในที่อยู่อาศัย มาตรา 61 สิทธิของผู้บริโภค มาตรา 84 การจัดให้มีสภาเกษตรกร มาตรา 87 กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และประการสำคัญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นต้น

ดังนั้น สปป.จึงมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน และในช่วงการเลือกตั้ง สปป.จะยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองรววมทั้งรณรงค์ให้กระแสสังคมมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างข้างต้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

3. สปป.จะจัดทำเอกสารแจกแจงทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อกาพิจารณารตัดสินใจของประชาชนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ อย่างไร และหากรับไปแล้วสมควรมีการรณรงค์ให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นใดหรือไม่

4. สปป.และองค์กรเครือข่ายจึงมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยมีเงื่อนไขผูกพันดังนี้

4.1 สปป.จะรณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างเร่งด่วน เช่น มาตรา 111 ที่มาของ สว. มาตรา 93 ระบบเลือกตั้ง สส. มาตรา 229 242 246 และ 252 ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ มาตรา 309 การนิรโทษกรรม คมช.เป็นต้น ทั้งนี้ สปป.จะรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ มาตรา 291 (1) เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งทำข้อเสนอเพื่อเป็นสัญญาประชาคมกับทุกพรรคการเมือง

4.2 สปป.จะติดตามและผลักดันการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเพื่อประกันเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม

4.3 สปป.ขอคัดค้านร่าง พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พรบ.หลักเกณฑ์ขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ และร่าง พรบ.อื่นๆ ที่มีเนื้อหาสาระลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน

4.4 สปป.เรียกร้องให้ คมช. รัฐบาล สสร.และหน่วยงานภาครัฐเร่งสร้างพื้นที่และเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการถกแถลงจุดเด่นจุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ให้มากที่สุด โดยภาครัฐจะต้องไม่ชี้นำประชาชนหรือเอาการเลือกตั้งมาเป็นตัวประกันหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันการพิจารณาร่าง พรบ.ออกเสียงประชามติ จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการรณรงค์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ



ข้อเสนอของ สปป. เพื่อฝ่าข้ามวิกฤติการณ์ประเทศไทย

1. สปป.และองค์กรเครือข่าย ขอสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้

2. สนับสนุนการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม คตส. และปปช. ในการตรวจสอบการทุจริต ฉ้อ ราษฎร์บังหลวงของ ระบอบทักษิณและเครือข่าย

3. ผลักดันวาระประชาชน ให้เป็นสัญญาประชาคมกับทุกพรรคการเมืองและระหว่างประชาชนด้วยกันเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์ของประเทศ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

- การแก้ปัญหาความยากจน หนี้สินเกษตรกรทั้งระบบและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
- การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
- การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 การปฏิรูปสื่อสารมวลชนอย่างเข้มข้น
- การไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจและขายสมบัติของชาติ
- การแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม


เชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต
สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง
เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย
สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน
เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ
สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคใต้
พันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย
สภาประชาชนอีสาน (สอส.)
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา (ศนศ.)
สมัชชาประชาชนภาคตะวันออก
กองทัพธรรมมูลนิธิ
เครือข่ายประชาชน จ.เพชรบุรี
เครือข่ายการศึกษาทางเลือก







6 คณาจารย์นิติ มธ. ออกแถลงการณ์ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ 2550


แถลงการณ์
เรื่อง
การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ


เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... จึงมีผลให้ต้องดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทั้งฉบับหรือไม่ และบัดนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่เหมาะสมยิ่งต่อการจะนำไปบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงขอประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติดังกล่าว ด้วยเหตุผล ดังนี้


1 . ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะที่มาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง

1.1 การจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีพื้นฐานที่มาโดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญเดิม หรือจากประชาชน และผู้มีอำนาจชั้นสุดท้ายในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาชนหรือองค์กรสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบของปวงชน คุณลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยในอันที่จะนำไปบังคับใช้กับองค์กรทั้งหลายของรัฐและประชาชน

1.2 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้ถูกยกร่างขึ้นในสถานการณ์ปกติของประเทศ แต่เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกจัดให้มีขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว ) พุทธศักราช 2549 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหาร ภายหลังจากที่คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศและกระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กล่าวอีกนัยหนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นผลผลิตอันสืบเนื่องโดยตรงมาจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั่นเอง

1.3 การใช้กำลังอาวุธของคณะรัฐประหารในการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น มิเพียงแต่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ในทางกฎหมายอาญาอันมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากทว่าในทางการเมือง ยังเป็นวิธีการอันมิชอบในการลบล้างอำนาจการตัดสินใจของประชาชนฝ่ายข้างมากในการกำหนดผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศโดยผ่านระบบการเลือกตั้ง การลบล้างอำนาจการตัดสินใจของประชาชนโดยคณะรัฐประหารในกรณีนี้ มิอาจมองเป็นอื่นได้นอกเสียจากว่าอำนาจการตัดสินใจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนด้วยตนเองโดยอาศัยกระบวนการเลือกตั้งของประชาชนนั้น มิได้มีความหมายและคุณค่าในสายตาของคณะรัฐประหาร และเท่ากับคณะรัฐประหารไม่ยอมรับการจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่โดยสันติวิธี

1.4 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้มีที่มาอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับรัฐประหาร แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกทำให้ชอบด้วยกฎหมายโดยวิธีการทางเทคนิคก็ตาม ความชอบด้วยกฎหมายจากวิธีการดังกล่าว ก็หามีผลเป็นการรับรองให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความชอบธรรมตามความเป็นจริงในสายตาของผู้ยึดถือวิธีการแก้ไขปัญหาของสังคมโดยการใช้เหตุผลไม่

1.5 อนึ่ง การที่คณะรัฐประหารและพวกจำต้องกำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แท้จริงก็เพื่อเป็นข้ออ้างหนึ่งสำหรับใช้อธิบายเหตุผลและความจำเป็นของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น โดยหาได้มีความประสงค์โดยสุจริตแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อปฏิรูปการเมือง ย่อมสามารถกระทำได้โดยอาศัยกระบวนการปกติที่มิจำเป็นต้องใช้อำนาจผ่านการใช้กำลังอาวุธ



2. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะ ความไม่มีเหตุผลของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

2.1 นอกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นผลผลิตต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อันแสดงให้เห็นถึงการขาดความชอบธรรมตั้งแต่แรกแล้ว กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยและความหลากหลายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จริงอยู่แม้จะมีกระบวนการคัดเลือกผ่านกลไกที่เรียกว่า ‘สมัชชาแห่งชาติ’ แต่ผลที่ได้ก็คือ บุคคลที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญยังผูกขาดเฉพาะกับบุคคลจากวงการศาลและนักวิชาการมหาวิทยาลัยเท่านั้น มิพักต้องกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ว่าคณะรัฐประหารต่างส่ง ‘ตัวแทน’ ของตนเข้าไปอีก ดังจะเห็นได้จากกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

2.2 กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่ปกติหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ภายใต้บรรยากาศที่หาความเป็นประชาธิปไตยมิได้ ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงหรือต่อรองในประเด็นต่างๆระหว่างกลุ่มการเมือง กลุ่มข้าราชการประจำ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ตรงกันข้าม กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับตกอยู่ภายใต้การชี้นำของคณะรัฐประหารและกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน โดยมีความมุ่งหมายเพียงเพื่อการทำลายล้างทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้าม และกีดกันมิให้ฝ่ายตรงข้ามกลับมามีอำนาจได้อีก

2.3 ในชั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ปรากฏว่ามีกฎเกณฑ์ใดที่จะขจัดส่วนได้เสียของบุคคลที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงปรากฏให้เห็นว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลบางคนในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระบางองค์กรยังกลับมาเป็นผู้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติอีกด้วย ทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติก็ยังมิห้ามบุคคลที่ยกร่างรัฐธรรมนูญมิให้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระต่างๆ การณ์จึงเป็นไปได้ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านั้นในภายหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้การตัดสินใจยกร่างรัฐธรรมนูญมิได้อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง


3. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

3.1 สภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การรับรองสิทธิและเสรีภาพที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพจะมีผลได้จริงย่อมขึ้นอยู่กับกลไกการบังคับใช้มากกว่าลายลักษณ์อักษร กรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิและเสรีภาพไว้ในหลายมาตรา ก็มิได้หมายความเสมอไปว่าในที่สุดแล้ว สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้บังคับให้เห็นผล และแม้อาจเห็นกันว่าร่างรัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนอยู่บ้าง แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในส่วนอื่นๆแล้ว เห็นว่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ( เช่น ลดจำนวนการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น ) หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งบทบัญญัติในหมวดจริยธรรมของนักการเมืองซึ่งไม่แน่ว่าจะใช้บังคับได้จริง หากประชาชนจะต้องยอมสูญเสียสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าไป กล่าวคือ อำนาจของประชาชนซึ่งแสดงออกผ่านผู้แทนของตนต้องถูกลดทอนลง หรือต้องลดความมีเสถียรภาพของฝ่ายบริหาร หรือต้องยอมให้ข้าราชการระดับสูงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทหรืออำนาจทางการเมืองและกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองโดยมิสอดคล้องกับระบบแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ ทั้งจะต้องยอมรับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของคณะรัฐประหารและพวกด้วย การสูญเสียคุณค่าดังกล่าวนี้ พิจารณาในเชิงเปรียบเทียบกับสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น ก็มีมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้

3.2 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติกำหนดให้มี ส.ส. 480 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.ระบบสัดส่วน 80 คน ในส่วนของ ส.ส.ระบบแบบแบ่งเขต ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ตามจำนวนส.ส.ที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น นั่นย่อมหมายความว่าผู้มีสิทธิแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน บางเขตเลือกตั้งอาจเลือกได้ 1 คนหรือ 2 คนหรือ 3 คนแล้วแต่กรณี ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต และอาจจะส่งผลกระทบต่อไปถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่ระบบการเมืองไทยประสบมายาวนานและพยายามหลีกเลี่ยง แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกลับร่างรัฐธรรมนูญโดยวางกลไกระบบเลือกตั้งเพื่อย้อนกลับไปสู่ปัญหาที่พยายามหลีกเลี่ยงมาแต่เดิมอีก

3.3 สำหรับ ส.ส.ระบบสัดส่วนจำนวน 80 คน ซึ่งมาจากการเลือกบัญชีรายชื่อโดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 คนนั้น ก็มิสามารถอธิบายฐานคิดในการกำหนดกลุ่มจังหวัดได้ว่าต้องการให้ผู้แทนตามบัญชีรายชื่อของแต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นผู้แทนของกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด และจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการแบ่งกลุ่มจังหวัด การจัดแบ่งบัญชีรายชื่อเป็น 8 บัญชีและลดจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนให้เหลือเพียง 80 คน ได้ทำลายข้อดีของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ 2540 ลงโดยไม่มีเหตุผลใดในทางวิชาการรองรับ นอกจากเหตุผลที่ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญหวาดกลัวพรรคการเมืองใหญ่ในอดีตที่เคยเข้ายึดครองที่นั่งของ ส.ส.ระบบสัดส่วนเป็นจำนวนมาก และมีการอ้างตัวเลขคะแนนเสียงที่ประชาชนสนับสนุน เท่านั้น

3.4 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา พบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจแก่วุฒิสภามาก ทั้งการกลั่นกรองร่างกฎหมาย การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แต่กลับกำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 150 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและจำนวนที่เหลือให้มาจากการสรรหา การผสมสัดส่วนของส.ว.ที่มาจากการสรรหา ไม่อาจตอบปัญหาความเป็นตัวแทนของประชาชนได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากอำนาจอันมีอยู่มากของวุฒิสภา ยิ่งกว่านั้น การกำหนดให้จังหวัดแต่ละจังหวัดไม่ว่าจะมีจำนวนประชากรเท่าใดมี ส.ว.ได้จังหวัดละ 1 คน ก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ในทางวิชาการ สำหรับ ส.ว.ซึ่งมีที่มาจากการสรรหานั้น ก็ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลซึ่งมาจากฝ่ายตุลาการและข้าราชการระดับสูงซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าองค์กรอิสระต่างๆ โดยหาความเชื่อมโยงกับประชาชนมิได้ อันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้คุณค่าแก่บรรดาอภิชนมากกว่าการยอมรับนับถืออำนาจการตัดสินใจของประชาชน

3.5 เป็นที่ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญและเพิ่มบทบาทแก่องค์กรตุลาการมากเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานศาลฎีกาและบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก เข้าไปเป็นกรรมการสรรหา ในส่วนของศาลยุติธรรม นอกจากศาลยุติธรรมจะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองผ่านทางการสรรหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและวุฒิสภาแล้ว ศาลยุติธรรมยังมีบทบาทในการพิจารณาคดีทางการเมืองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือคดีเลือกตั้งภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ความข้อนี้ แสดงให้เห็นว่าคดีที่เกี่ยวพันกับนักการเมืองต่างตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลยุติธรรม โดยที่ไม่มีการสร้างระบบถ่วงดุลที่เหมาะสมให้ศาลยุติธรรมต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรอื่น

3.6 สมควรกล่าวด้วยว่า เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาเกษียณอายุของผู้พิพากษาโดยกำหนดให้ตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุครบ 70 ปี ความสำคัญของกรณีดังกล่าว มิได้อยู่ที่ว่าการขยายระยะเวลาเกษียณอายุของผู้พิพากษาจะเหมาะสมหรือไม่ หากอยู่ที่ว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องกำหนดกรณีดังนี้ไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์กรทั้งหลายของรัฐ ควรมอบหมายให้เป็นการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติตามแต่นิตินโยบาย อนึ่ง จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าไม่ปรากฏบทบัญญัติการขยายเวลาเกษียณอายุของผู้พิพากษาดังกล่าวนี้ในร่างรัฐธรรมนูญชั้นรับฟังความคิดเห็น

3.7 ในส่วนของคดีเลือกตั้ง ร่ างรัฐธรรมนูญ มาตรา 239 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนมีการประกาศผลการเลือกตั้ง และคำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด หากมีการประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ความข้อนี้ แสดงให้เห็นว่าก่อนมีการประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตั้งแต่การจัดการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดแจ้ง

3.8 ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหลายมาตรากำหนดการสืบทอดการดำเนินการขององค์กรที่คณะรัฐประหารรับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลในองค์กรอิสระที่ให้ดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระ ทั้งๆที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ความชอบธรรมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรดังกล่าวน่าจะหมดสิ้นไป และควรจะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสรรหาใหม่โดยให้มีที่มาซึ่งยึดโยงกับอำนาจโดยอ้อมของประชาชนผ่านทางรัฐสภา นอกจากนี้ ไม่มีการกำหนดห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิได้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้ง มาตรา 308 ของร่างรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยไม่มีการอธิบายใดๆจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า เหตุใดต้องเป็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กรณีดังนี้ จึงมิอาจมองให้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่าบทบัญญัติในมาตรา 308 คือช่องทางแห่งการสืบทอดอำนาจในอีกลักษณะหนึ่งของรัฐบาลของคณะรัฐประหาร เท่านั้น

3.9 จากการพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยภาพรวม เห็นได้ว่าบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้บรรดาข้าราชการระดับสูงมีบทบาทและอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังลดทอนอำนาจการตัดสินใจของประชาชนในสาระสำคัญอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังทำลายความสำคัญของพรรคการเมือง กีดกันโอกาสในการเข้าไปดำเนินนโยบายของพรรคการเมือง ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนมุ่งหมายให้การกำหนดทิศทางประเทศขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ ยังมิพักต้องพิจารณาถึงข้อบกพร่องในทางเทคนิคที่ปรากฏอยู่อีกในบทบัญญัติหลายมาตรา อาทิ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญแยกออกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น



4. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

4.1 การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คำสั่ง และการปฏิบัติของบุคคลตามประกาศหรือคำสั่งของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 อันมีเนื้อความให้บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

4.2 ผลพวงของบทบัญญัติดังกล่าวก็คือ ประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ต่างก็ได้รับการรับรองว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ว่าการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม อนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรับรองให้การปฏิบัติตามประกาศ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะได้มีการกระทำภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติมีผลใช้บังคับด้วย ซึ่งหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำต่างๆในอนาคตไว้ล่วงหน้า โดยไม่สนใจไยดีถึงเนื้อหาของการกระทำนั้นๆ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

4.3 เมื่อมีการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติของบุคคลตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ไม่ว่าประกาศคำสั่งหรือการปฏิบัติเช่นว่านั้นจะมีรูปแบบและหรือเนื้อหาที่มิชอบหรือขัดแย้งกับกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ภายในรัฐอย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว ผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของการกระทำต่างๆ ตามประกาศและคำสั่งข้างต้นจึงย่อมมิอาจขอรับความเป็นธรรมในทางกฎหมายได้ อีกทั้งประกาศ คำสั่งและการปฏิบัติต่างๆ ก็ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบไม่ว่าในทางใดอีก ผลที่ตามมาก็คือ ผู้กระทำการอันมิชอบต่างก็หลุดพ้นจากความรับผิดในทางต่างๆโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมิเกินเลยหากจะกล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดและหลักความเสมอภาคในการได้รับการอำนวยความยุติธรรมจากรัฐโดยตัวของรัฐธรรมนูญเอง ผลจากการนี้ ผู้ตกอยู่ภายใต้บังคับดังกล่าวจะยอมรับต่อความอยุติธรรมเช่นนี้หรือไม่ และสังคมจะตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมได้อย่างไร วิญญูชนย่อมตรึกตรองได้เอง




5. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะความไม่เป็นธรรมในการออกเสียงประชามติ

5.1 การลงประชามติ คือการให้ประชาชนใช้สิทธิทางตรงในการตัดสินใจประเด็นปัญหาทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมาย หรือนโยบายที่สำคัญของชาติ การลงประชามติจึงเป็นกลไกที่ส่งผลทางการเมืองและสะท้อนเจตจำนงของประชาชนชัดเจนที่สุดกลไกหนึ่ง

5.2 เพื่อให้ประชามติเป็นประชามติที่สมบูรณ์ การลงประชามติต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปราศจากการกดดัน -ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยชัดเจนและโดยปริยาย-จากผู้มีอำนาจ ปราศจากการทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ เปิดให้ทั้งฝ่ายที่เห็นควรให้รับร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่เห็นควรไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสรณรงค์ในเป้าหมายของตนอย่างเต็มที่ตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยปราศจากการใช้กลไกของรัฐเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม สภาพการณ์ที่ควรจะเป็นดังที่กล่าวมานี้ ดำรงอยู่ในกระบวนการลงประชามติหรือไม่ เป็นที่น่าสงสัยยิ่ง

5.3 นอกจากนี้ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ องค์กรผู้ทำหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติ ยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นของการออกเสียงประชามติด้วย กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่จัดการ ควบคุม และประกาศผลการออกเสียงประชามติ ในขณะที่มีกรรมการเลือกตั้งอยู่ 2 คนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่ากรรมการเลือกตั้ง 2 คนมีส่วนได้เสียกับการออกเสียงประชามติ อันทำให้สภาวะความเป็นกลางของผู้ทำหน้าที่จัดการลงประชามติเสียไป เพราะในฐานะของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และในฐานะของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ก่อนนำมาออกเสียงประชามติ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้มีหน้าที่จัดการลงประชามตินั้น ย่อมมีความโน้มเอียงไปในทางฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญ กรณีนี้แม้ในทางกฎหมายอาจจะยังถกเถียงกันได้ว่าจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการออกเสียงประชามติหรือไม่ แต่ในทางการเมืองก็ต้องถือว่ากระทบต่อความชอบธรรมในการจัดการออกเสียงประชามติอย่างรุนแรง และในที่สุดแล้วย่อมกระทบต่อมาตรฐานในการออกเสียงประชามติในสายตาของนานาชาติด้วย

5.4 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการลงประชามติที่ปราศจากทางเลือกให้แก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 มาตรา 32 กำหนดให้ในกรณีที่ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ คมช. เลือกเอารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาปรับปรุงและประกาศใช้บังคับแทนภายใน 30 วัน โดยที่คมช.ไม่เคยประกาศให้ทราบล่วงหน้าเลยว่าหากประชาชนโดยเสียงข้างมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คมช.จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้บังคับแทน แท้จริงแล้ว การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องให้ประชาชนเห็นทางเลือกชัดเจนว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญจะได้รัฐธรรมนูญแบบใดใช้บังคับ และหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะได้รัฐธรรมนูญแบบใดใช้บังคับ การลงประชามติที่ผู้มีอำนาจบอกว่าให้เลือกเฉพาะสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าดีกว่าเลือกสิ่งที่ยังมองไม่เห็น จึงหาใช่การออกเสียงประชามติโดยแท้จริงไม่




6 . ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิเสธระบบทหารและอำมาตยาธิปไตย

6.1 ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารและพวก ข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีแต่ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในถาวะถดถอย กล่าวคือ นอกจากจะไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเดิมแล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่ให้รุมเร้าเพิ่มมากขึ้น คณะรัฐประหารและพวกพยายามสถาปนา ‘รัฐทหาร-รัฐราชการ’ กลับมาใหม่ ให้อาญาสิทธิ์ในการตัดสินใจความเป็นไปของประเทศไว้กับบรรดาอภิชน และได้ตรากฎหมายตลอดจนพยายามตรากฎหมายลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ย่อมเป็นการเปิดทางให้ระบบทหารและอำมาตยาธิปไตยฝังรากลึกในการเมืองไทยต่อไปได้อีกโดยมิสอดรับกับความเป็นจริงของโลก

6.2 ด้วยสภาพการณ์ในปัจจุบัน การใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางเดียวที่จะแสดงให้เห็นว่าเราไม่ปรารถนาระบบทหาร-อำมาตยาธิปไตย การใช้สิทธิลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางเดียวที่จะเชิญเหล่าคณะรัฐประหารและพวกออกไปจากอำนาจอย่างสันติ การใช้สิทธิลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางเดียวที่จะพลิกฟื้นการปกครองโดย ‘กฎหมาย’ ให้กลับมาแทนที่การปกครองโดย ‘กฎทหาร’ และการใช้สิทธิลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นทางเดียวที่จะฟื้นฟูสถานะความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง



7 . ข้อเสนอในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาประกาศใช้ภายใน 15 วัน โดยมิต้องแก้ไขบทบัญญัติมาตราใดๆ ทั้งสิ้น แต่ให้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และก่อตั้งคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชนชาวไทยผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ


7.1 ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สิ้นสุดลงพร้อมกัน โดยให้โอนบรรดาการต่างๆ ที่คั่งค้างการตรวจสอบอยู่ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

7.2 ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ โดยยกเว้นบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีบางประการเพื่อให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปได้

7.3 ให้บรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ในขณะนี้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เสร็จสิ้น ซึ่งต้องไม่เกินสิบแปดเดือน นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นลง เว้นแต่องค์กรอิสระและองค์กรตุลาการบางองค์กรที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้หรือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านั้นดำรงตำแหน่งครบวาระหรือโดยสภาพขององค์กรจำเป็นต้องดำเนินการสรรหาใหม่ ให้ดำเนินการสรรหาให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับต่อไป ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องสิ้นผลบังคับไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกลับมาใช้บังคับใหม่

7.4 ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทั้งนี้ ในกรณีของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองและระยะเวลาการสังกัดพรรคการเมือง ตลอดจนการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี แต่ในกรณีที่บุคคลใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ในขณะที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้บุคคลดังกล่าวคงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต่อไป และให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขเยียวยาการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลตามคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาโดยให้รัฐสภาหรือองค์กรที่ดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการ



ข้อเสนอดังกล่าวมานี้ เป็นข้อเสนอเบื้องต้นเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อมิให้เกิดภาวะชะงักงันในการเปลี่ยนผ่านให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่การยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ต้องการให้คณะรัฐประหารรับผิดชอบกับการกระทำของตน ทั้งนี้ ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน คณะรัฐประหารและพวกต้องถอนตัวออกจากอำนาจซึ่งได้มาจากการกระทำที่มิชอบ กลับไปเป็นทหารอาชีพดังเช่นทหารในบรรดาประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย และองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยพลันเพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยต่อไป





รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22 กรกฎาคม 2550










posted by a_somjai Sunday, July 22, 2007 @ 08:00 AM.


UPDATED



ผล Vote ลงประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รายงานเมื่อ 20 ส.ค. 2550 เวลา 4.44 น.
ที่มา: Live Score of Nation Referendom 2007 | //202.60.199.51/en/?zone=0




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 20 สิงหาคม 2550 5:13:24 น.
Counter : 1172 Pageviews.  

รัฐประหารซ้ำซาก (15): ประชาธิปไตยภายใต้การเมืองตามอำเภอใจแบบรัฐประ(ท)หาร

LINKS for 2007-07-17:

เวบไซต์กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ |15 กรกฎาคม 2550 |
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |สู่ประชาธิปไตยที่เป็นอิสระจาก คมช.



ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สังคมไทยได้เผชิญสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะส่งผลสะเทือนไปสู่อนาคตมากที่สุด ในด้านหนึ่ง ก็เกิดการชุมนุมของประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารจำนวนมาก ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายอำนาจรัฐและผู้ก่อการรัฐประหารก็แสดงท่าทีพร้อมจะตอบโต้ด้วยกำลังตำรวจทหาร มิหนำซ้ำ ผู้สนับสนุนรัฐประหารก็ยังมีการจัดตั้งกองกำลังและสร้างกระแสข่าวในลักษณะที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ล่าสุด แม้กระทั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ให้สัมภาษณ์ว่าไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง การทหาร และคุมกลไกรัฐต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ไม่ว่าการชุมนุมต้านรัฐประหารนี้จะมีผลอย่างไร สถานการณ์การเมืองไทยก็ไม่มีวันกลับไปสู่จุดที่คณะรัฐประหารควบคุมทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไปอีกแล้ว การชุมนุมเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิเสธอำนาจรัฐประหารโดยวิธีอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต เช่น การคว่ำรัฐธรรมนูญ การบอยคอตการเลือกตั้งเหมือนอย่างที่เกิดในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว การวิจารณ์ประธานองคมนตรี หรือแม้กระทั่งการใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นฐานของการตอบโต้โดยวิธีหนึ่งวิธีใดในอนาคต

การรัฐประหารเป็นเรื่องดีหรือไม่ เป็นเรื่องที่คงเถียงกันไปได้อีกมาก และประชาชนไทยสมควรจะต่อต้านรัฐประหารหรือไม่ ก็คงเห็นต่างกันไปได้อีกมากเช่นเดียวกัน แต่เรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะเห็นเหมือนกัน ก็คือ สิทธิในการชุมนุมและเดินขบวน สิทธิในการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน
ไม่ว่าจะคิดว่านายกรัฐมนตรีคนที่แล้วเป็นคนดีหรือไม่ ไม่ว่าจะคิดว่าระหว่าง ทักษิณ กับ คมช. ใครแย่กว่ากัน และไม่ว่าจะเห็นว่าระหว่างทักษิณ กับระบอบรัฐประหาร อะไรเป็นภัยกับประชาธิปไตยและสังคมไทยในอนาคตมากที่สุด ทุกคนก็มีสิทธิพูด เขียน แสดงความเห็น และรวมตัวทางการเมืองเพื่อยืนยันความคิดความเชื่อของตัวเองข้อนี้อย่างเท่าเทียมกัน

ในอดีต ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านี้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของประเทศในเดือนมิถุนายน 2475, ขับไล่ทรราชทหารเมื่อ 14 ตุลาคม, ต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในปี 2531, ต้านเผด็จการทหารในปี 2535 หรือแม้กระทั่งการขับไล่นายกที่มาจากการเลือกตั้งแต่มีพฤติกรมอำนาจนิยมในปี 2549 ซึ่งแม้จะมีเรื่องให้โต้เถียงได้มาก ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตนี้ได้เช่นเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบนี้ถือเป็นวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย
ปฏิกิริยาของรัฐบาลและคณะรัฐประหารต่อการชุมนุมครั้งนี้เป็นเรื่องน่าละอาย เพราะในด้านหนึ่ง รัฐบาลพยายามแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่ายอมรับคนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในอีกด้าน รัฐบาลกลับอนุญาตให้คณะรัฐประหารขัดขวางการชุมนุมด้วยวิธีสกปรกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารไปสอดแนมการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ , ใช้กำลังตำรวจสกัดกั้นการเดินทาง , ปิดถนนบริเวณที่ชุมนุมทั้งหมด , ข่มขู่ประชาชนในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่การประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพโดยสุจริตอีกต่อไป ขู่ฆ่าล้างโคตร หรือโยกย้ายกำลังทหารเข้ากรุงเทพมากเกินปกติ ขณะที่การชุมนุมสนับสนุนรัฐประหารกลับไม่ถูกขัดขวางแม้แต่นิดเดียว

การเมืองแบบตีสองหน้าอย่างนี้มีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากคนที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐ ย่อมไม่มีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

อันที่จริง คณะรัฐประหารไม่ได้ขัดขวางการชุมนุมโดยวิธีข่มขู่และประทุษร้ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้วิธีทางการเมืองที่เลวร้ายกว่านั้นอีกมาก นั่นก็คือใช้ยุทธการข่าวสารไปทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุมด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวว่าจะมีการก่อวินาศกรรม ผู้ชุมนุมมีแผนก่อการร้าย มีกองทัพมดป่วนเมือง เผาตัวตายสร้างสถานการณ์ ฯลฯ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแม้แต่นิดเดียว

รัฐบาล, คณะรัฐประหาร และเครือข่ายผู้สนับสนุนรัฐประหาร มีบทบาทด้านการข่าวคล้ายคลึงกัน จึงมีการให้ข่าวทำนองนี้โดยบุคคลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อให้ข่าวทั้งหมดจะไม่มีแหล่งข่าว และไม่ปรากฎอะไรตามข่าวที่พวกเขาปล่อยออกมาเลยก็ตามที

การทำงานการเมืองแบบนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบรัฐประหาร” นั่นก็คือระบอบซึ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับมีอำนาจบริหารกิจการของประเทศ, มีการตั้งองค์กรเฉพาะกิจเพื่อออกกฎหมายและวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางการเมือง , มีกองทัพใช้กำลังและความรุนแรงในนามของการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งมีบางส่วนของปัญญาชน-สื่อมวลชน-ภาคเอกชน กำหนดวาระการเมืองโดยวิธีให้ความเห็นและข่าวสารไปในทิศทางบางอย่าง โดยองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นอิสระจากกัน แต่มุ่งจรรโลงความมั่นคงของผู้รัฐประหารเหมือนกัน
ถึงที่สุดแล้ว ระบอบรัฐประหารคือระบอบที่ผู้กุมอำนาจรัฐสามารถล้มล้างหรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยเสรี การเมืองในระบอบรัฐประหารจึงเป็นการเมืองที่ผู้กุมอำนาจทางทหารอยู่เหนือศาล ระบบการเมือง และสถาบันทางกฎหมายทั้งหมด ส่วนอำนาจในระบอบรัฐประหารก็เป็นอำนาจตามอำเภอใจ เลือกปฏิบัติอย่างไรก็ได้ และไม่มีบรรทัดฐานทางการที่บังคับใช้กับคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน

ระบอบรัฐประหารโจมตีว่าการชุมนุมเป็นแผนผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ประชาชนหลายฝ่ายมาร่วมชุมนุมเพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและการละเมิดหลักการปกครองโดยกฎหมาย คำโจมตีนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้คนในสังคมมองไม่เห็นว่าได้เกิดการรวมตัวต้านการรัฐประหารขึ้นมาแล้ว ซ้ำยังเป็นการปลุกระดมให้คนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาโจมตีผู้ชุมนุมกลุ่มนี้

พูดอีกอย่างคือเป็นการใช้ประโยชน์จากรอยร้าวของคนในชาติไปเพื่ออำนาจของฝ่ายรัฐประหารเอง


จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมบางส่วนสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ความสนับสนุนนี้ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้คณะรัฐประหารมีความชอบธรรมที่จะขัดขวางการชุมนุมของประชาชน เพราะไม่มีหลักกฎหมายหรือหลักการเมืองชนิดใดที่ห้ามการรวมตัวแบบนี้ ผู้สนับสนุนทักษิณจึงมีสิทธิชุมนุมได้เหมือนผู้สนับสนุนสนธิ ผู้สนับสนุนสะพรั่ง หรือผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นในอดีต เหตุผลง่ายๆ คือการชุมนุมแบบนี้เป็นแค่การชุมนุมเพื่อแสดงความนิยมชมชอบทางการเมือง

ปฏิกิริยาของคณะรัฐประหารต่อการชุมนุมต้านรัฐประหารแบบนี้เป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองไทยในอนาคต เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในระบอบรัฐประหารล้มเหลวที่จะแยกแยะระหว่าง ปัญหาทางการเมืองของระบอบรัฐประหาร กับ ปัญหาของบ้านเมือง ทำให้มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไปด้วย ทั้งที่สองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะบ้านเมืองสำคัญกว่าความอยู่รอดทางการเมืองของคณะทหารเพียงกลุ่มเดียว

ความเข้าใจข้อนี้อันตราย เพราะบ้านเมืองในระบอบรัฐประหารคือบ้านเมืองที่ชะตากรรมของส่วนรวมขึ้นอยู่กับทัศนะวิสัยของผู้นำกองทัพ ซึ่งภายใต้ผู้นำกองทัพที่แยกแยะไม่ได้ว่าการเมืองนั้นแตกต่างจากการทหาร วิธีคิดแบบทหารก็ย่อมกลายเป็นกติกาแม่บทของความสัมพันธ์ทางการเมือง รวมทั้งวิธีจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเช่นกัน

ในแง่นี้แล้ว การต้านรัฐประหารไม่ได้เป็นเรื่องของการพิจารณาว่าระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และ ค.ม.ช. ใครที่เลวร้ายและอันตรายกว่ากัน แต่เป็นปัญหาว่าระหว่างการเมืองที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร การเมืองที่ปราศจากกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่แน่นอน การเมืองที่ผู้มีอำนาจแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายได้ทุกเมื่อ กับการเมืองที่เป็นอิสระจากกองทัพ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการเมืองที่กระบวนทางการกฎหมายเป็นอิสระจากอำนาจนอกระบบ อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณสำหรับสังคมไทยมากกว่ากัน?

การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่ปราศจากกฎเกณฑ์และไร้อนาคต ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ไม่มีใครรู้ว่านายกรัฐมนตรีคนถัดไปจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่มีใครรู้ว่าสถานะของพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร เหมือนกับที่ไม่มีใครรู้ว่าการกระจายอำนาจ , สิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีของมนุษยชนจะได้รับความคุ้มครองเช่นไรบ้าง เพราะเรื่องทั้งหมดนี้ถูกดึงจากสาธารณะไปอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลที่คณะรัฐประหารเลือกเข้ามาเพียงหยิบมือเดียว

ในสภาพเช่นนี้ คนในชาติเป็นพลเมืองที่ไร้สิทธิทางการเมืองไปแทบทุกรูปแบบ เว้นแต่สิทธิจะสนับสนุน คมช.ในเวลาที่ท่านต้องการ

การเมืองตามอำเภอใจแบบนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างความเกลียดชังนายกรัฐมนตรีที่หมดอำนาจไปเกือบหนึ่งปีแล้ว แต่ลองคิดดูว่าหากตัดการโจมตีนายกรัฐมนตรีคนที่แล้วออกไป มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นผลงานที่ระบอบรัฐประหารทำให้กับสังคม?

การเมืองตามอำเภอใจไม่ใช่หนทางของการสร้างการเมืองที่ดีในปัจจุบัน หรือการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะวิธีการนี้ปิดบังให้ผู้คนมองไม่เห็นว่าทักษิณไม่ใช่ปัญหาหลักของการพัฒนาประชาธิปไตย หากเป็นการดำรงอยู่ของ คมช.ต่างหากที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยในอนาคต เพราะความหวาดระแวงว่าจะถูกโจมตีทางการเมืองนั้นย่อมทำให้ ผู้นำของคมช.ไม่ออกไปจากศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทยแน่ๆ ไม่ว่าตัว คมช.ในฐานะองค์กรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ก็ตาม

ภายใต้ทิศทางการเมืองแบบนี้ ต่อให้กระแสสังคมกดดันให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะอยู่ในตำแหน่งโดยมี คมช. เป็นปัจจัยการเมืองสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายความถึงความเป็นไปได้ที่อำนาจจากการเลือกตั้งจะไม่เป็นอิสระ แต่ต้องร่วมมือหรืออยู่ภายใต้อำนาจนอกระบบ โดยสภาพแบบนี้จะคงอยู่ไปอีกเป็นเวลานาน

บทเรียนของสังคมไทยเองแสดงให้เห็นว่าสภาพเช่นนี้อันตรายกับพลังการเมืองทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่นระหว่าง ปี 2524-2531 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพแทรกแซงการเมืองโดยสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่เคยลงเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ผลที่เกิดขึ้นกองทัพแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย เปลี่ยนรัฐบาลผสมหลายครั้ง มีการรัฐประหาร 2 หน พรรคการเมืองกลายเป็นตัวแปรไร้อันดับ นายกรัฐมนตรีแย่งอำนาจกับผู้นำกองทัพ หรือแม้กระทั่งเกิดการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี

บัดนี้ ระบอบรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน ก็ได้คงอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว แต่ปัญหาการเมืองไทยก็ไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงสมควรที่จะพิจารณาการต้านรัฐประหารในฐานะที่ไม่เกี่ยวกับผู้นำการเมืองหรือนักการทหารคนไหน แต่เกี่ยวกับโจทก์ทางการเมืองที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต นั่นก็คือการสร้างประชาธิปไตยรัฐสภาที่เป็นอิสระจากกองทัพและพลังที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารครั้งนี้

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมกันปลดปล่อยประชาธิปไตยออกจากร่มเงาของ คมช.




ประชาไท: ธงชัย วินิจจะกูล: โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก , 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
----->>>หรืออ่านเนื้อความได้ที่ส่วน Comment ที่ 1-2 ------>>>>>>




posted by a_somjai on 2007-07-17 @ 01:22 AM.




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2550 6:26:28 น.
Counter : 485 Pageviews.  

ร.ป.ห. ซ้ำซาก (14): เล่นนั่งบ้านกินเมืองเรื่องของเทวดา อยู่กะดินกินกะหญ้าชาวประชาก็ว่ากันไป?


LINKS for 2007-06-11:

ประชาไท 11/6/2550 | รายงาน 15 ปี ‘พฤษภา’ : รัฐประหาร ชุมนุมเทวดา และการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย โดยพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การเมือง รัฐธรรมนูญ และทางออกภาคประชาชน” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวงเสวนาดังกล่าวมีการแสดงความเห็นต่อการเมืองหลังรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บรรยากาศที่เรียกว่า 'การกลับมาของระบอบอำมาตยาธิปไตย' 'การชุมนุมเทวดาร่างรัฐธรรมนูญ' และการที่รัฐธรรมนูญ 2550 เตรียมบรรจุองค์กร ‘8 โป๊ยเซียน’ แก้วิกฤติชาติ! ตลอดจนการพูดถึงทางออกร่วมกันสำหรับประชาชน

และในเวทีดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชน 5 องค์กร ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและปกครองท้องถิ่น (สปท.) และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกในหัวข้อ “ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ทวงคืนประชาธิปไตยประชาชน” อีกด้วย

โดยเรียกร้องให้ประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เรียกร้องให้สังคมไทยร่วมเคลื่อนไหวผลักดันให้ คมช.นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาใช้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด หลังจากประชาชนลงมติให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำสัญญาประชาคมเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม



วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ช.: เศรษฐกิจหลังรัฐประหาร และเกมชิงอำนาจชนชั้นนำ


ภาพรวมทางเศรษฐกิจเมื่อประมาณปี 2542 ที่ว่ากันว่าเงินทุนไหลกลับเข้ามานั้น จริงๆ แล้วเป็นเงินเพื่อเข้ามาเก็งกำไรและเข้าไปเทคโอเวอร์ธนาคาร เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจที่ไปอิงพลวัตรภายนอก เมื่อเจอกับการรัฐประหารเศรษฐกิจย่อมหยุดชะงัก

ตอนนี้ที่เห็นชัดคือสถานการณ์ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจตกต่ำมาก ค่าเงินบาทถูกเก็งกำไร ในขณะที่รัฐบาลระบุว่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 13% แต่อุตสาหกรรมที่เราส่งออก ก็นำเข้าวัตถุดิบจากภายนอกอยู่มาก เช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์

ถามว่าคนงานได้อะไรบ้าง? เพราะจริงๆ แล้วขณะนี้อุตสาหกรรมตอนนี้หยุดการลงทุน ถ้ามองในแง่คนงาน คนงานต้องอาศัยโอทีในการสร้างรายได้ และอาจจะมีการเลิกจ้างคนงาน เพราะการส่งออกถูกปิดกั้น คาดว่าในอีกไม่เท่าไหร่จะมีการว่างงานที่สูงตามมา

ขณะที่เป็นการเมืองที่อาศัยรัฐประหาร เป็นความขัดแย้งของขั้วอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ขั้วอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน แต่เป็นขั้วอำนาจของรัฐด้วยกัน การเข้ามาของคุณทักษิณ แม้เราจะเรียก ระบอบทักษิณ คุณทักษิณเป็นตัวแทนทางความคิดของชนชั้นนายทุน ลักษณะการตัดสินใจเป็นลักษณะของการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งอันนี้มีมาตลอด

เมื่อมองทางเศรษฐกิจ แน่นอนมีผลกระทบทางด้านแรงงาน ที่เห็นก็คือการลงทุนชะลอตัว การอุตสาหกรรมก็หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นจะอยู่ได้อย่างไรก็ต้องลดโอที ส่งออกก็ส่งออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นการว่างงานจะเป็นปัญหาใหญ่

ที่จริง ผู้ใช้แรงงานก็พยายามขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งก็คิดว่ารัฐประหารครั้งนี้ น่าจะนำมาสู่การปฏิรูป มีการออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีสถาบันคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย ที่คนงานร่วมร่างมา และก็ผลักดันมาตลอด 7 ปี มันก็ไม่ขยับ คล้ายกับว่าในยุคนี้ข้าราชการมันฟื้นตัวขึ้นมา
ถ้าผมมาโยงประเด็นด้านการเมือง ตอนนี้การเมืองสับสน ในขณะที่เศรษฐกิจมันอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ต้องแข่งขัน แน่ละมันไปไม่ได้ ที่มันสับสนข้างบน ต้องดูว่าการสร้างรัฐใหม่มันไม่เกิดขึ้น

กับทักษิณ เราเคยใช้คำว่า 'ระบอบทักษิณ' แต่ไปคุยกับนายทุน นายทุนถือว่าคุณทักษิณเป็นตัวแทนทางความคิด อย่างน้อยในแง่ของการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นว่า ชนชั้นนายทุนเขารู้สึกหลังรัฐประหารมาตลอดว่า อยู่ภายใต้ระบบราชการที่ตัดสินใจแทนทุกคนและเขาไม่มีบทบาท

พอเกิดรัฐประหารที่สับสน เหมือนต้นไม้ที่ข้างบนกำลังแตกเป็นเสี่ยง แต่จะดึงให้รากไม้เป็นอย่างไรอันนี้ผมว่าน่าเป็นห่วง เพราะในส่วนข้างล่างความคิดก็ไม่เหมือนกัน

บางคนในแรงงานก็เห็นการรัฐประหารเป็นโอกาสในการปฏิรูป แต่ผมคิดว่าต้องมองโครงสร้างส่วนบนให้ชัด ในการเข้าใจความขัดแย้งนี้ ต้องถามว่า พล.อ.สุรยุทธ์มาจากใคร คมช.มาจากใคร อันนี้ต้องเอาให้ชัดนะ และความขัดแย้งระหว่าง คมช. และ รัฐบาลมีนัยยะอย่างไร อันนี้ต้องอ่านให้ออก มันมีขั้วอยู่แบบนี้ ต้องอ่านให้ออก มันเป็นการขัดแย้งในขั้วอำนาจ

เพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะอ้างประชาธิปไตย มันมีขบวนการที่เอาทักษิณสร้างวิวาทะเรื่องระบอบทักษิณขึ้นมา แต่มีการใช้เงินและงบประมาณในการสร้างขบวนการทำลายทักษิณในหลายระดับ และเอกสารเหล่านี้มันถูกเผยแพร่ น่าแปลกใจว่าเอกสารที่ 'ลับ' มันออกมาได้อย่างไร มันก็สะท้อนว่าที่คุณเคยเห็นว่ามันขัดแย้ง 2 ขั้ว ไม่คิดหรือว่า 2 ขั้วนี้มันอาจรวมกันก็ได้? และถ้ารวมกันได้ใครถูกเขี่ยออก และถ้ามันรวมกันได้ ประชาชนจะยิ่งแล้วใหญ่

ทุกอย่างมันแปรเปลี่ยนได้ เราก็อย่าไปเล่นในเกมของอำนาจ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ Short Cut (หาทางลัด) ใช้อำนาจหนึ่ง ไปล้มอำนาจหนึ่ง โดยไม่มีฐานเลย เราจะไม่ได้อะไร จุดข้างบนมันแตกเป็นเสี่ยง ฐานล่างคือราก มันจะดึงรากไปด้วย





อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.ช.: ประวัติศาสตร์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย

การจะเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ได้ จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์การเมือง เราไม่สามารถแยกว่ารัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร แบบที่นักสังคมศาสตร์ดาดๆ ทั้งหลายทำ ซึ่งผมไม่ค่อยศรัทธา

แต่เราจะเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ได้ ต้องเข้าใจการเมืองจริง อย่างน้อยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2516

หลังปี 2516 ระบบราชการได้สูญเสียกำลังไป หลังการถีบหัวทรราชทั้ง 3 ออกไป ตัวระบบราชการเริ่มแยกเป็น Fraction (กลุ่ม) ตั้งแต่นั้นมา และในตัวระบบราชการที่แยกเป็น Fraction นี้ ตัวระบบราชการที่อยากจะมีอำนาจเหนือคนอื่นเขา อยากจะมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือเข้าไปกุมอำนาจรัฐมากกว่าคนอื่น ตัวระบบราชการส่วนนั้นจำเป็นต้องเข้าไปพาดพิง อ้างอิง หรือแสดงตนว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น

ตัวอย่างนี้ เราจะเห็นได้ชัดของการขยายตัวของโครงการพระราชดำริทั้งหลาย ผมเรียนอย่างนี้ว่าหน่วยราชการที่เป็น Fraction มันต้องวิ่งเข้าไป ในกระบวนการนี้เอง ถามว่ามันได้แก้ไขปัญหาของความเป็น Fraction ของระบบราชการไหม คำตอบคือไม่ได้แก้ มันยิ่งทำให้ตัวระบบราชการที่เคยกุมอำนาจทางการเมืองยิ่งแตกแยกกันมากขึ้นๆ

หลังปี 2516 นอกจากที่ทุกฝ่ายต้องวิ่งเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผลที่เกิดขึ้นอีกอันหนึ่งก็คือว่า ตัวระบบการเมืองนั้นจำเป็นที่จะต้องเปิดให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาเถลิงอำนาจโดยผ่านระบบการเลือกตั้งในนามของ ‘ระบอบประชาธิปไตย’

จากปี 2516 เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของป๋า 8 ปี คือช่วงการชักเย่อกันระหว่างตัวระบบราชการกับตัวนายทุน เผอิญในช่วงนั้น ด้วยพลังที่เหลืออยู่ของระบบราชการเองจึงทำให้ป๋าเปรมสามารถดำรงอยู่ตรงนั้นได้ และสถาปนาแขนขาบางส่วนของระบบราชการคอยควบคุม และคอยไม่ให้นายทุนแสวงหาผลประโยชน์มากไป กลไกที่สำคัญที่ป๋าใช้คือสถาปนา ‘เศรษฐกิจแห่งชาติ’ ซึ่งก็มีคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ ที่ตอนนี้มานั่งอยู่ในรัฐบาลนี้

กระบวนการตรงนี้หลังป๋า ถึงชาติชาย เรื่อยมา ระบบราชการที่แตกเป็นเสี้ยวๆ หลังชาติชายเริ่มตกเป็นเบี้ยล่างมากขึ้นๆ การตกเป็นเบี้ยล่างมากขึ้นๆ มันทำให้คนในระบบราชการอึดอัด เริ่มทนไม่ได้ จึงนำมาสู่การดิ้นรนครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2534 จะเห็นว่าทหารโผล่ขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มหนึ่งของระบบราชการ

หลังจากปี 2534-2535 ทหารและระบบราชการพยายามฉุดคืนอำนาจ แต่ก็ล้มเหลว เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยของคุณทักษิณ

คุณทักษิณ คือช่วงเวลาที่กลุ่มทุนขึ้นมาเถลิงอำนาจอย่างเต็มที่ และกลุ่มทุนนี้เองก็พยายามจะผลักดันระบบราชการซึ่งพยายามดิ้นมีอำนาจ ตกมาเป็นเบี้ยใต้ฝ่าเท้าของคุณทักษิณ การโยกย้าย การสืบทอดตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเรื่องที่ไม่มีคนในระบบราชการสักคนแหกปากขึ้นมาพูด อย่าลืมว่าในสมัยป๋า สมัยก่อนป๋า หรือคุณชวนก็ได้ เวลานักการเมืองย้ายข้าราชการประจำจะมีเสียงเลยว่ารังแกข้าราชการประจำ ยังมีศักดิ์ศรีอยู่ สมัยคุณชาติชายไม่มีแล้ว ระบบราชการไม่มีแล้ว

ในตัวระบบข้าราชการที่หมดไปนี้ ถามว่ามันมีอึดอัดคับข้องใจที่อยากจะมีอำนาจไหม ผมคิดว่ามี พร้อมกันนั้นเองมันเป็นจังหวะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ทำให้เกิดเหมือนกับว่าผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งกลายเป็นผู้ที่สามารถครองอำนาจทางวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย

ในสังคมใดก็ตามที่มีศูนย์กลางอำนาจทางวัฒนธรรม 1 ศูนย์ จะย่อมไม่มีทางที่จะมีศูนย์อำนาจทางวัฒนธรรมอีกศูนย์ขึ้นมาแข่งได้ ดังนั้นกระบวนการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นการต่อสู้ของพลังหลายพลังมาก มันจะมีความแตกต่างจากรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง และการต่อสู้จากหลายพลังนี้เอง มันมีความสามัคคีกันของศัตรู มีความพยายามเยอะแยะในการที่จะเขี่ยกลุ่มทุนกินรวบ คือคุณทักษิณ

กระบวนการที่ยึดอำนาจ โดยที่ระบบราชการเป็นส่วนๆ เป็น Fraction มันทำให้มีความขัดแย้งสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้กลุ่มที่ยึดอำนาจเองก็รู้ว่าฐานตัวเองไม่เข้มแข็ง เราสังเกตดู กลุ่มที่ยึดอำนาจเองพยายามที่จะเข้าไปแอบอิงหรืออ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา อย่างที่เราเห็น ปฏิวัติครั้งนี้เพื่อราชบัลลังก์ อะไรก็ว่ากันไป

ในกระบวนการนี้เอง จึงทำให้สถานการณ์การเมืองวันนี้เป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างสันสน ฝุ่นคลุ้งไปหมด เนื่องจากแต่ละ Fraction เอง พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อมีอำนาจ เพราะไม่อยากให้ ‘สฤษดิ์น้อย’ เข้ามามีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว รู้จักไหมสฤษดิ์น้อย ทหารที่ตัวเตี้ยใน คมช. นะฮะ

ดังนั้นกระบวนการทั้งหมด คือการเข้าไปแย่งชิงกัน รวมถึงว่าฝ่าย คปค. ที่กลายเป็น คมช ก็ทะเลาะกับคณะรัฐมนตรี ปฏิเสธอย่างไร ตีกอล์ฟด้วยกันอย่างไร กินข้าวอย่างไรมันก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่าทะเลาะกัน

กรณีสุดท้ายที่ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งเป็น Fraction คือการดึงพัลลภ ปิ่นมณี เข้ามานั่งในตำแหน่งปราบม็อบ ถามว่าตำแหน่งปราบม็อบ จะยังผลดีอะไรให้กับคนไทย นี่เป็นคำถามหลักเลย ลองดูนะครับว่าต่อไปการตีหัวกันจะรุนแรงมากขึ้น และตีหัวกันโดยที่ยังไม่รู้อะไรก็จะรุนแรงมากขึ้น

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ยังอยู่ในจังหวะที่ถ้าใครกระพริบตาก็เพลี่ยงพล้ำ และในจังหวะที่ถ้าใครกระพริบตาแล้วเพลี่ยงพล้ำนี้เอง ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะซ้ำเติมมากขึ้น ถ้าไปถามพี่น้องคนจนทั้งหลาย จะพบว่า เงินที่มันไม่ไหลมา มันเริ่มทำให้พี่น้องช็อต กำลังซื้อน้อยลง ทั้งหมดคือภาวะช็อตของเงินนะครับ
ถามว่าระบบราชการมีอะไร ‘เกียร์ว่าง’ คือสิ่งที่ดีที่สุด เกียร์ว่างคือสิ่งที่ไม่ดีสำหรับสังคมไทย แต่เกียร์ว่างคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับข้าราชการ เพราะคุณจะทำยังไงในวาระแบบนี้

สถานการณ์แบบนี้เองมันก็ปะทุขึ้นมา หลายคนบอกว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่อำมาตยาธิปไตยขึ้นมามีอำนาจ ผมก็ว่าก็ใช่ แต่เป็นส่วนเสี้ยวของอำมาตยาธิปไตยเท่านั้นที่เข้ามามีอำนาจ มันมีกลุ่มที่ไม่ได้ตรงนี้มากมาย นี่คือตัวสะท้อนความขัดแย้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และต่อไปข้างหน้า แน่นอนที่สุด ความขัดแย้งนี้นองเลือดแน่ๆ ปะทะแน่ๆ ไม่มีทางออกถ้าเดินไปแบบนี้ แม้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าเขาจะเพิ่มในส่วนที่พูดเรื่องชุมชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันส่วนอื่นๆ เขาค่อนข้างจะคงไว้อย่างเดิม แน่นอน มาตรา 68 องค์กรแก้วิกฤติเปลี่ยน อำนาจ ส.ว. อาจลดลง แต่ที่มาเหมือนเดิม (แต่งตั้ง) คือส่วนเสี้ยวของอำมาตยาธิปไตยจะครองอำนาจอยู่ แต่ชุมชนจะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะรู้สึก Happy มากขึ้น อย่างชาวบ้านสายรองนายกฯ สายกระทรวงพัฒนามนุษย์ นายแพทย์พลเดช (ปิ่นประทีป) เห็นชัดเลยว่ากลายเป็น NGO (Non-Governmental Organization - องค์กรพัฒนาเอกชน) แปรสภาพเป็น GO (Governmental Organization - หน่วยงานของรัฐ) อีกจำนวนมาก จะเทเข้าไป

บรรยากาศแบบนี้เละเทะครับ บรรยากาศแบบนี้เป็นบรรยากาศที่น่ากลัว และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การอ้างอิง หรือการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์จะสูงขึ้น

ผมอยากจะยก ประโยคทองของ นิลวรรณ บก.สตรีสาร ท่านพูดไว้หลายปีแล้วว่า ‘ถ้าหากจงรักภักดีจริงต้องแอ่นอกรับก้อนหินที่จะโดนสถาบัน ไม่ใช่แอบอยู่หลังสถาบัน แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา’ แต่บรรยากาศวันนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะไอ้ตัวเตี้ยเรื่อยมาจนถึงทุกฝ่ายก็คือ ‘แอบอยู่หลังสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา’ ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือ ‘การที่อยู่หลังคนอื่น แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา’

แล้วถ้าดูใน Hi-thaksin.net ก็จะพบว่า ก็เริ่มบอกแล้วว่า ‘…การรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อในหลวงหรอก แต่ว่าอ้างอิง...’

คือ ใช้หมัดเดียวกันรบกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือชนชั้นนำรบกัน ชนชั้นสูงรบกัน สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวคือมันจะดึงพวกเราทั้งหมดเข้าไปเกี่ยวด้วย เพราะถ้าหากถูกดึงเข้าไปมันจะพันไปหมดเลย NGO (Non-governmental organization) เองที่ครั้งหนึ่งควรจะมีอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐ ก็กลายเป็น GO (Governmental Organization) ไป ก็จะพังอีก

แนวโน้มทางเดียววันนี้ ที่น่าจะเกิดขึ้นคือภาคประชาชนทั้งหมด ถอยออกมาจากการรักทักษิณ ถอยออกมาจากการรับใช้พลเดช ถอยออกมาทั้งหมด มาตั้งหลัก แล้วคิดกันใหม่ ภาคประชาชนต้องคิดตรงนี้ให้ชัด คือความเป็นอิสระ ไม่อย่างนั้นแล้วการเมืองข้างบนจะลากเอาเราไปเป็นพวกทักษิณตีทหาร ลากไปเป็นพวกทหารตีทักษิณ ถามว่าใครได้ประโยชน์ เราไม่ได้เลย

สรุปก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะชี้ให้เห็นว่าการเมืองไทยจะป่วนหนักขึ้น ทางออกของเราก็คือว่า ถ้าเราจะรับ...รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แก้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่รับ อะไรจะเกิดขึ้น ...ไม่รับก็ต้องเลือกตั้งแน่ๆ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับไหน

“ทั้งหมดคือ ภาคประชาชนต้องรักษาความเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุด รักษาหนทางการต่อสู้ที่ผ่านมาของเรา ถ้าตกเป็นทาสแบบนี้ ผมว่าเราตีกันเองแน่ โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร”





สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ช.: ไตรอัปลักษณะร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ

เวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่ามันให้ภาพการเมืองไทยที่ผมคิดว่าเป็นภาพการเมืองไทยที่มันกำลังจะเกิดขึ้น คือช่วงเกิดรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ มันสะท้อนให้เห็นมิติภาพของการเมืองออกมาได้ โดยช่วงเช้าผมเพิ่งไปพูดที่สมาคมนักข่าวฯ มา ซึ่งผมเสนอสิ่งนี้

ผมคิดว่าเวลาอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันมีฐานความคิดหลักที่ไม่พึงประสงค์ หรือฐานความคิดหลักที่น่าเกลียดชังก็ได้ หรือไตรอัปลักษณะของร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ ซึ่งสะท้อนภาพการเมือง

เรื่องแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏการณ์คือในตัวบทบัญญัติหลายๆ เรื่อง ทั้งหมดขมวดปม เรื่องแรก คือมันพยายามพุ่งเป้าไปจัดการกับระบบการเมืองที่จะสร้างนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นมา ผมคิดว่าที่อาจารย์นิธิพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ‘หมายจับทักษิณ’ น่ะ ใช่เลย ตรงตัวที่สุด

คือทำอย่างไรก็ได้ จะออกแบบระบบการเมืองอย่างไรก็ได้ เพื่อให้คนอย่างทักษิณไม่กลับมาอีก หรือพรรคไทยรักไทยไม่กลับมาอีก คือหมายความว่า นักการเมืองที่ได้รับความนิยม หรือพรรคการเมือง ที่ได้ 16 ล้านเสียง แบบว่ากูไม่เอาแบบนี้แล้วน่ะ

ถ้าเราดูระบบการเลือกตั้ง มันถูกทำเสนอขึ้นมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองมันเละเทะ กระทั่งมันมีระบบเลือกตั้ง เดิมมันมีเขตเดียวเบอร์เดียว ตอนเสนอใหม่มันมีหลายระบบ คือจนกระทั่งบางระบบ ซึ่งผมฟังแล้วก็อึ้ง เช่น ให้แบ่งเขต เขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 3 คน แล้วก็บอกว่าจะกลับไปย้อนก่อนหน้านี้คือแบ่งเขตเรียงเบอร์ เขตหนึ่ง 3 คน เวลาเราเลือกได้ 3 คน จะเลือกจากไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ก็ได้

มีคนแย้งว่าแบบนี้ไม่เสมอภาค บางเขตเลือกได้เสียงหนึ่ง คือบางเขตมี ส.ส. ได้คนเดียว ก็เลือกได้เสียงเดียว บางเขตมี 3 คนเลือกได้ 3 เสียง ไม่เสมอภาค กรรมาธิการบอกว่า ไม่เป็นไร เขตที่มี ส.ส.3 คน ก็ให้ประชาชนเลือกได้เบอร์เดียว คือคุณดู คุณมาจากพรรคเดียวกัน 3 คน แต่เวลาไปหาเสียง คนจะเลือกแค่คนใดคนหนึ่งได้ หมายความว่า ตีกันตายเลย ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันหรอก คือหมายความว่าความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของระบบ การเมืองมันไม่มี และมันจะแตกกระจาย สุดท้ายถูกด่าเยอะเขาก็เลิกไปนะครับ

ถ้าเราดูระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่จะเลิก ระบบการเลือกตั้งใหม่ จำนวนวัน สังกัดพรรค อะไรทั้งหมดนี้ก็ตาม มันมันพุ่งเป้าหมายด้วยการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งไม่มี โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่มี นักการเมืองที่เข้มแข็งไม่มี อันนี้คือฐานความคิดแรกนะครับ

ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือว่า พรรคการเมือง นักการเมืองมีปัญหาหรือเปล่า ใช่ มีปัญหา แต่มีปัญหาแล้วเราจะจัดการอย่างไร ทำให้พรรคการเมือง นักการเมืองอ่อนแอลงแบบนี้หรือ ผมคิดว่าถ้าสังคมไทยไม่ความจำสั้นเกินไป ระบบการเมืองที่พรรคการเมืองอ่อนแอ มันจะนำไปสู่อะไร ช่วง พ.ศ. 2520-2530 สิ่งที่เราเห็นคือ คุณเลือกตั้งไปเถอะ แต่ได้ พล.อ.เปรม มานั่งเอ้เต้เป็นนายกฯ น่ะ ไม่มีพรรคไหนหือเลยน่ะ ทุกพรรคก็ เออๆ เอา พล.อ.เปรมโว้ย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า ระบบราชการ คือพูดง่ายๆ ขุนนาง พร้อมจะแทรกขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้ต้องระวังนะครับ ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นที่สอง

สิ่งที่เราเห็นคือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยโฉมหน้าใหม่ ถ้าเรียกไพเราะหน่อยคือ ‘นวอำมาตยาธิปไตย’ ระบอบอำมาตยาธิปไตยมันหมายความว่า ระบบการเมืองการปกครอง ของข้าราชการ โดยข้าราชการ เพื่อข้าราชการ ระบบการเมืองที่เรียกว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ จะถูกตรวจสอบน้อย มีความสัมพันธ์กับประชาชนน้อย ถ้าพูดให้ชัดเจนเทียบกับนักการเมือง นักการเมืองด่าได้ แต่ถ้าเป็นขุนนาง โอกาสที่จะถูกด่าน้อยมาก ผมคิดว่าคุณสพรั่งเป็นตัวอย่างที่ดี ตอนที่แกไปเมืองนอก มีนักข่าวไปถามว่าใช้เงินส่วนตัวหรือส่วนรวม คุณสพรั่งก็ตอบว่า ประทานโทษผมเป็นวีรบุรุษ รู้จักไหม Hero น่ะ ไม่รู้จัก Hero หรือพวกนี้ ก็คือใครอย่ามาตรวจสอบกู

คือ สิ่งที่เป็นปัญหาของระบอบอำมาตยาธิปไตย คือเปิดช่องให้สังคมตรวจสอบน้อยมาก และตัวอำมาตยาธิปไตยก็ไม่ต้องการ ไม่ใช่แค่ตัวคุณสพรั่งนะครับ พล.อ.เปรม ก็เคยเป็น ใครเกิดช่วงที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ตอนที่มีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมจำได้แม่นเลยว่า ตอนนั้นกำลังจะอภิปรายพอดี คุณทวี ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เดินมาขอถอนชื่อ ชื่อไม่ครบ คือ ไม่ได้หมายความคุณทวีเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า พล.อ.เปรมเป็นคนดีนะ แต่เป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้นะครับ นี่เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยแบบเดิม ทหารเล่นบทบาทหลักในทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ ตัวบทรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ คือไม่ห้ามข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรี ทหารเป็นนายกฯ ได้ ทหารเป็นรัฐมนตรีได้ เป็นวุฒิสมาชิกได้ ทหารเล่นบทบาทนำในการเมืองแบบระบอบอำมาตยาธิปไตย
แต่ว่าหลังกันยายน 2549 สิ่งที่เราเห็นคือ ทหารมีกองหน้านะครับ แต่ว่าศาลเข้ามาเป็นกองกลางเสริมมากขึ้น ศาลมีบทบาทเล่นมากขึ้น ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าองค์กรอิสระทุกองค์กร ผู้ตรวจการรัฐสภา ปปช. ปปง. อะไรไม่รู้เต็มไปหมด ศาลจะเข้ามาเป็นผู้คัดเลือก อันนี้ ขอย้ำนะครับ เป็นสาระสำคัญนะครับ ไม่ได้บิดเบือนรัฐธรรมนูญนะครับ

ระบอบอำมาตยาธิปไตยหน้าใหม่ ผมคิดว่า ‘ศาล’ เข้าเล่นบทบาทนำแง่ของในการเป็นผู้คัดเลือกคนที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงวุฒิสมาชิกด้วย คำถามคือถ้าเราเชื่อมั่นในความเป็นกลาง ถ้าให้ศาลเลือกศาลจะเลือกใคร

ผมเดานะ ศาลจะเลือกพ่อหลวงจอนิ (โอโดเชา) (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) ศาลจะเลือก จินตนา แก้วขาว กระนั้นหรือ อย่าว่าแต่จะเลือกเลย พ่อหลวงจอนิเป็นใคร

คนที่ศาลรู้จักคือใคร ถ้าจะเลือกมีสองส่วน คือหนึ่ง ผู้พิพากษาเกษียร มองไปทั่วหล้าแล้ว คนที่เป็นเทวดา เชิญกันมา เหมือนที่เราเห็นอยู่ในองค์กรต่างๆ สอง ก็ต้องเลือกข้าราชการระดับสูง ประชุมกันก็เจอคนระดับ อธิบดี ผบ.ตร. ก็เลือกกันอยู่แค่นี้แหละ

ผมคิดว่าภาพของการเมืองไทยที่เห็น จะมีการเลือกหรือเปล่า การเลือกตั้งถูกปฏิเสธไม่ได้ต้องมี แต่นักการเมือง พรรคการเมืองจะอ่อนแอจนน่ารังเกียจ จนกระทั่งวันนี้ ให้ตายเถอะ เคยเห็นพรรคการเมืองมันแหย... เขาเขียนรัฐธรรมนูญยังไงก็ เออๆๆ คือในใจผมก็อยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเกิดขึ้น แต่เราต้องคุมเขาได้ แต่ผลที่สุดพรรคการเมืองมันแหย

ซึ่งถ้าตัวระบบการเมืองในอนาคตข้างหน้า อย่างน้อยหนึ่งปี หรือสองปี ข้างหน้า พรรคการเมือง นักการเมืองอ่อนแอแน่ๆ และในขณะเดียวกัน มีผู้ควบคุม ซึ่งเป็นเทวดาผู้ทรงคุณธรรม มาคอยกำกับไม่ให้นักการเมืองนอกลู่นอกทาง นักการเมืองชั่วช้า ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ โดยศาลเป็นผู้คัดเลือก อันนี้คือภาพการเมืองไทย

ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประเด็นที่สาม ที่น่าสนใจคือ ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีหลายมาตราที่ดูเหมือนจะดีขึ้น เช่น เรื่องสิทธิชุมชน อันนี้เป็นประเด็นสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางภาคเหนือ ที่ผ่านมาเรื่องสิทธิชุมชน ในมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ (2540) มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ กฎหมายไม่บัญญัติเลยใช้ยึดติดไม่ได้

การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากเดิม 50,000 ลดเหลือ 20,000 คือมันมีทั้งหมดอะไรในรัฐธรรมนูญ เออ มันลืมได้นะ อย่างเช่นหมวดสิทธิเสรีภาพ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ผมนั่งไล่รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 2475 นะ จากเดิมที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้มีการจัดหมวดหมู่แยกแยะอย่างชัดเจน 13 ส่วน โอ้โฮ! ไม่เคยเห็นมาก่อน อันนี้เป็นนวัตกรรมใหม่เลยนะครับ แยกเรื่องสิทธิเสรีภาพจากเดิมที่ไม่เคยมี ตอนนี้มันเยอะขึ้นต้องจัด 13 ส่วน

ผมเสนอแบบนี้ ผมคิดว่าเวลาเรามองสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง ควรจะแบ่งเรื่องนี้ได้เป็นสองส่วนสำคัญ เรื่องแรก มันเป็นสิทธิ ที่รัฐจะเล่นบทบาทในเชิงเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้ควบคุม สิทธิแบบแรก เช่น สิทธิทรัพย์สินของเอกชนจะได้รับการคุ้มครอง สิทธิของประชาชนแห่งกระบวนการยุติธรรมจะได้รับการปกป้อง สิทธิแบบนี้ มันถูกเขียนไว้ รวมถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ในด้านศึกษา และสาธารณสุข ผมคิดว่าสิทธิแบบนี้เขียนไว้ดี แต่ว่าบทบาทของรัฐที่ถูกกำหนดไว้ในสิทธิแบบนี้ สิทธิมันดูดีขึ้น แต่ว่าดูดีโดยรัฐเล่นเป็น Protector รัฐทำหน้าที่ผู้ปกป้องสิทธิให้ประชาชนทั้งหลาย

แต่ถ้าอ่านแบบ มันเป็นสิทธิที่เรียกว่า สิทธิในเชิงรุก สิทธิในการเป็นอัตตวินิจฉัย สิทธิในการที่ประชาชนจะแสดงความต้องการ หรืออำนาจให้กับประชาชน ถ้าอ่านเรื่องนี้จะมีปัญหาทันที

อย่างเช่นเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จาก 50,000 คน ลดเหลือลง 20,000 หลายคนว่า 'เออ ดีขึ้น'

แต่ปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องจำนวน ผมว่าปัญหาใหญ่มันคือขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังเข้าสภา เช่น ถึง 20,000 อย่างไร พอยื่นเข้าไปปุ๊บสุดท้ายก็ถูก ส.ส.ปู้ยี้ปู้ยำอยู่ดี เพราะฉะนั้นจำนวนผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหามาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการทั้งหมดยังตัดตอน เออ เข้าชื่อมาสิ เสนอไปแล้วแต่จะมีเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่น ชาวบ้านเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายว่าหมูต้องเป็นหมู เข้าถึงสภา สภาขอเปลี่ยน ขอให้หมูกลายเป็นหมา ก็เปลี่ยนไป

อันหนึ่งที่น่าสนใจ สิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ สิ่งที่เรียกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญไทยเขียนแบบนี้มาตั้งแต่ 2492 แล้วก็เขียนลอกต่อๆ กันมา ไม่เปลี่ยนเลยสักคำ
คำถามคือ สิทธิในการชุมนุมของประชาชนมีปัญหาไหมครับ มีไหม ผมคิดว่ามันมีเยอะมาก ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านปากมูล มาชุมนุมหน้ารัฐสภา คุณสมัคร สุนทรเวช มาถึงบอกเลยว่าอันนี้ผิดเทศบัญญัติว่าด้วยเรื่องการรักษาความสะอาด พูดแบบหยาบคายหน่อยคือ อันนี้ผิดกฎหมายว่าด้วย มึงฉี่ไม่เป็นที่เป็นทางน่ะ ก็ให้ชาวบ้านกลับ ชาวบ้านอ้างรัฐธรรมนูญ แต่สู้กฎหมายเรื่องฉี่ข้างทางไม่ได้ ก็ต้องกลับ อันนี้เป็นปัญหาของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า-ก็เป็นปัญหา

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สนใจปัญหานี้เลย 2492 เขียนอย่างไร 2550 กูก็ร่างเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ที่มันเป็นปัญหาก็คือ สิทธิอันไหนที่เป็นสิทธิที่ประชาชนจะแสดงออกเพื่อที่จะกำหนดชะตากรรม หรือเพื่อที่จะบอกว่าอยากได้อะไร อันนี้ไม่ได้ถูกเขียนไว้ชัดเจน แต่ที่ถูกเขียนไว้ชัดเจนคือแง่ของรัฐเล่นบทบาท Protector เราจะไม่ให้ใครมาคุกคามเจ้า เราจะให้การศึกษาแก่เจ้า

อันหนึ่ง ที่ผมคิดว่าสะท้อนชัดเจนคือ สิทธิในการเลือก คือในระบบตัวแทน มันไม่มีวิธีการอื่นที่เป็นสากลมากกว่าการเลือก การเลือกเป็นสิทธิที่ประชาชนใช้เรื่องต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า สิทธิในการเลือก ในการลงคะแนน ในการกาบัตร ถูกจัดกัดมากขึ้น ส.ส.ก็ลดน้อยลง ส่วน ส.ว.ก็อย่าไปเลือกเลย เลือกแล้วเดี๋ยวประชาชนถูกหลอกน่ะ
โดยนัยยะมันหมายความว่า รัฐไม่เชื่อในสิทธิในการอัตตวินิจฉัยของประชาชน เข้าชื่อไปสุดท้ายก็ตัดตอนที่รัฐสภา คือทั้งหมดมันสะท้อนภาพว่าเห็นประชาชนเป็นทารกทางการเมือง พูดภาษากฎหมายคือประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถทางการเมือง

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่แปลกที่ต้องมีมาตรา 68 วรรคสอง มันมีองค์กร ที่ผมเรียกว่าองค์กรโป๊ยเซียน ที่มี 8 คนน่ะ และพอมันเสนอชื่อองค์กรมันเหมือนเทพ 8 คนน่ะ คล้องแขนกัน ถือง้าว ถือกระบอง (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ)
มาตรา 68 วรรคสอง สอดคล้องกับความคิดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างยิ่ง เพราะว่าอะไร เพราะถ้ามีวิกฤตชาติ ถ้าปล่อยให้ประชาชนแก้ไขเอง ถ้าปล่อยให้ประชาชนเคลื่อนไหว มันก็ชุมนุมสองแสน-หนึ่งแสน ประเทศชาติเดือดร้อน เพราะฉะนั้นไม่ต้องชุมนุม เดี๋ยวเรา เทวดาของสังคมไทยจะจัดการให้ พวกเจ้าเป็นทารก เป็นผู้ไร้ความสามารถ ถ้าปล่อยพวกเจ้าเคลื่อนไหวปุ๊บเนี่ย พวกเจ้าจะถูกหลอกได้ ถูกชักจูงได้

เพราะฉะนั้น คุณมีชัยถึงได้เสนอร่างกฎหมายเรื่องประชามติว่า ห้ามออกไปชี้นำการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าจะเอาหรือไม่เอา ทำไมถึงกลัวการชี้นำครับ เพราะคุณคิดว่าพวกประชาชนที่ลงประชามติเป็นพวกโง่ มันโง่ เนี่ยโง่ ดังนั้น เราในฐานะเทวนาที่มีภาระหน้าที่เยอะ ต้องคอยกำกับว่า เออ อย่านะ อย่าไปบิดเบือน ถ้าบิดเบือนประชาชนโง่ๆ จะถูกชักจูงง่ายๆ

คือคำถาม ใครมีโอกาสบิดเบือนรัฐธรรมนูญได้มากที่สุด เวทีที่นั่งอภิปรายนี้ กับคุณมีชัยพูดแกรกเดียว หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน พูดใครมันจะมีความสามารถในการเข้าถึงสื่อ และพูดมากกว่ากัน ที่นั่งกันอยู่ที่นี่พูดไปเถอะ หนังสือพิมพ์เขาไม่ลงเต็มๆ ยกเว้นในเว็บไซต์... (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) พูดไปเถอะได้ลงอย่างมาก 5 บรรทัด 1 คอลัมน์ อรรถจักร สัตยานุรักษ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย สมชาย ปรีชาศิลปะกุลเห็นพ้อง จบ (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) ในขณะที่คุณมีชัยพูดว่าไง ลงกันพรืดๆ ๆ ๆ โอ้โฮ

คือแบบนี้ ที่ว่า ห้ามบิดเบือน ห้ามชี้แจงบิดเบือนในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคำถามที่ผมถามคือแบบนี้ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไรครับ ถ้าผมจับสมาชิกสภาร่างรับธรรมนูญ 100 คน และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน มานั่งตอบคำถามนี้โดยแยกนะครับ เหมือนนักเรียนทำข้อสอบแยกกัน เลขที่ 1 ถึง เลขที่ 100 เลขที่ 1 ถึง เลขที่ 35 ต่างคนต่างแยกทำ ห้ามลอกกัน คุณคิดว่าจะตอบเหมือนกันไหม ประทานโทษเถอะ ให้ตายเถอะ ผมว่าไม่เหมือนกันหรอก แล้วใครบิดเบือนสาระสำคัญล่ะ

ในทัศนะของผม ถ้าไม่ใช่การทำประชามติ ใครจะบิดเบือนให้มันบิดเบือนไปเถอะครับ ให้บิดเบือนไปเลย แล้วให้ถียงกัน

ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นหัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญมันควรจะต้องเถียง ทั้งหมดเปิดโอกาสให้เถียงกันได้ บางคนอ่านรัฐธรรมนูญแล้วตีความแบบหนึ่งก็ต้องเปิดโอกาส ประทานโทษอันนี้ประชามติ ไม่ใช่มีชัยมติ ส่วนสมชายมติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าการเถียงเป็นสิ่งที่สำคัญ

โดยภาพที่ผมเห็นเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเราจะเห็นการเมือง 3 แบบ
หนึ่ง นักการเมือง พรรคการเมือง ถูกทำให้อ่อนแอลง
สอง เราจะเห็นระบอบอำมาตยาธิปไตยหน้าใหม่ เข้ามาจัดการการเมือง
และในขณะที่ สาม ผมคิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะยินดีปรีดา ไปกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิ’ ที่มีมากขึ้น แต่ผมคิดว่าโดยพื้นฐานความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองเห็นประชาชนเป็น ‘ผู้ไร้ความสามารถทางการเมือง’

เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี ‘โป๊ยเซียน’ มาช่วยควบคุมการเมือง ให้มันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การเมืองของทารกมันจึงไว้ใจไม่ได้ เป็นการเมืองแห่งความวุ่นวาย เป็นการเมืองแห่งความโง่เขลาทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นคือ เราไม่ควรจะฝากอะไรกับใครไว้กับคนอื่น อยากทำอะไรทำ เป็นเรื่องที่เราอยากทำอะไรต้องทำ เช่นกลุ่มเยาวชนอยากบอกว่าไม่เอาเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ประกาศไปเลย เราไม่เอา จะจัดเวทีอะไรก็ได้ยื่นไปเลย ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม มันไม่มีเงาหัวแล้ว ถึงผ่านมันจะถูกแก้ไขและเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาไม่นาน

สิ่งที่พวกเราควรจะทำ คือควรเถียงกันให้เยอะๆ อย่าไปเชื่อคุณมีชัย เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ที่คุณมีชัยบอกว่ามีชี้นำอะไร อย่าไปเชื่อคุณมีชัย หัวใจที่เราจะทำในวันนี้ คือทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคม แทนที่จะทำให้เป็นเรื่องในห้องเล็กๆ ของเทวดาไม่กี่คน ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคมให้ได้ อย่าไปปล่อยให้เทวดาไม่กี่คนมานั่งเขียน อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากตัดอะไรก็ตัด อยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน

เมื่อเริ่มต้นเถียง ในท่ามกลางการเถียงเสียงจะกระจัดกระจาย ข้อเสนอของผมคือทำอย่างไรให้การเถียงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น เช่นกลุ่มเยาวชนรวมกลุ่มขึ้น ผมในแง่อาจารย์รวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนและเสนอความเห็น ถ้าเรารวมกันเป็นกลุ่มมากขึ้น จะทำให้การเสนอความเห็นของเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น สิ่งที่ต้องคิดคือรัฐธรรมนูญนี้ไม่นานหรอกและมันก็จะไป สิ่งที่เราต้องทำคือทำโดยยืนอยู่บนขาตัวเองและลมหายใจของตัวเอง สำเร็จไม่สำเร็จเราก็รู้ว่าเราจะกำหนดอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเราไปฝาก รัฐธรรมนูญ 2540 เราก็ไม่รู้อะไร ทำได้แค่รอ ถ้าเราไปคนเยอะๆ เขาจะมาถ่ายรูปกับเราและคุยกับเรานานหน่อย ถ้าเราไปคนเดียว เขาจะปล่อยให้เราตากฝนคนเดียวข้างหน้านั้น.




สมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.): การรัฐประหารคือชนชั้นบนแย่งอำนาจกันและพาเราไปเจ็บตัว

ขอมองการรัฐประหารที่ผ่านมาสองอย่าง หนึ่ง ชนชั้นบนแย่งอำนาจกัน เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ ทำให้ตนนึกถึงการรัฐประหารในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ชนชั้นนำเข้ามาแย่งอำนาจทางการเมืองของ นักศึกษา ชาวนา กรรมกร คนทุกข์คนยาก ที่ฆ่ากันตายที่ธรรมศาสตร์

การรัฐประหารคือการแย่งชิงอำนาจของคนชั้นบน และระหว่างคนชั้นบนและคนชั้นล่าง แต่ครั้งนี้เห็นชัดว่าเป็นการแย่งอำนาจทางการเมืองของคนข้างบน คือของคนมีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของคนมีอำนาจกับคนมีสตางค์แย่งอำนาจกัน แต่ว่าเขาตีกันเองยังไม่พอ ยังพาพวกเราไปด้วย พวกหนึ่งอยู่สะพานมัฆวาน อีกพวกอยู่สวนจตุจักร ถือเป็นพัฒนาการทางการเมืองของพวกที่พาคนไปตีกัน

แต่ผมมองว่าจุดนั้น ถ้าหากว่า ถ้าให้กระบวนการเรียนรู้กระบวนการความขัดแย้งทางการเมืองตรงนั้นชาวบ้านจะได้เรียนรู้ รัฐประหารถามว่ามีประโยชน์ชาวบ้านไหม ไม่มีครับ ถ้ามองไปจริงๆ จากต้นจนปลายการรัฐประหาร 19 กันยาเป็นครั้งล่าสุด และน่ากลัวว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีประโยชน์อะไรกับคนทุกข์คนยาก
คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อ่านบ้างไม่อ่านบ้างก็ได้ คิดว่าอาจจะต้องร่างใหม่ แต่ว่าพวกเรา โดยเฉพาะคนชั้นล่างต้องคิดหาทางเรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ชนชั้นบนขัดแย้งกันเพราะอะไร และทำไมต้องชักชวนเราไปขัดแย้งด้วย ถ้าประชาชนไม่เรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เมื่อไหร่ที่การเมืองสงบนิ่งเขาก็จะกินเราไปเรื่อยๆ



<<<<< Link: ประชาไท 11/6/2550 พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน | 15 ปี ‘พฤษภา’ : รัฐประหาร ชุมนุมเทวดา และการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย

>>>>>>>




posted by a_somjai on 2007-06-11




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2550    
Last Update : 11 มิถุนายน 2550 15:12:03 น.
Counter : 503 Pageviews.  

รัฐประหารซ้ำซาก (13): ความยุติธรรมในโรงลิเกรัฐประ(ท)หาร?

LINKS for 2007-06-08:

ประชาไท 8/6/2550 | ยุกติ มุกดาวิจิตร: นาฏรัฐประหาร: การพิจารณากรณี ‘ยุบพรรค’ จากกรอบวิชาการอย่างยิ่งยวด


การพิจารณาจากกรอบทฤษฎีทางมานุษยวิทยาอันเป็นวิชาการอย่างยิ่งยวด อย่างเคารพต่อสถาบันตุลาการอย่างยิ่งยวดเช่นกัน

หากเรามองข้ามประเด็นเรื่องความหนักแน่นของหลักฐาน ความสมเหตุสมผลของการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงไปสู่ข้อวินิจฉัย ความยุติธรรมของการมีบทลงโทษย้อนหลัง ความเหมาะสมของบทลงโทษ ใครบ้างที่สมควรเป็นผู้รับผิด หรือผลกระทบจากการยุบ-ไม่ยุบพรรคใด ฯลฯ ไปก่อน ประเด็นใหญ่ที่สังคมคลางแคลงใจต่อคำวินิจฉัยขอ งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขณะนี้ได้แก่ ความชอบธรรมของคำวินิจฉัย

ผู้เขียนใคร่เสนอว่า ไม่ว่าประเด็นความชอบธรรมจะเป็นอย่างไร การวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นอีกรูปลักษณ์หนึ่งของวัฒนธรรมการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม นักศึกษาวัฒนธรรมเปรียบเทียบนาม โยฮัน ฮุยซิงกา (Johan Huizinga) เสนอว่า ในระบบตุลาการสมัยใหม่มีการละเล่น/การละคร (play) เป็นสารัตถะหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าความขึงขังจริงจัง ในบทที่ชื่อ "Play and Law" ของหนังสือ มนุษย์ สัตว์การละเล่น/การละครฯ ฮุยซิงกาเสนอว่า ระบบตุลาการมีธรรมชาติพื้นฐานของการละคร/การละเล่น ทั้งในแง่ที่ว่า การปรากฏตัวของศาลไม่แตกต่างจากนักแสดงบนเวทีการแสดงที่ต้องสวมหน้ากาก (วิก) และชุดแสดง (ครุย) แสดงอยู่บนเวที (บัลลังก์) และในแง่ที่ว่า สาระสำคัญของการขึ้นศาลคือการโต้เถียงกันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ มากกว่าจะเป็นการต่อสู้กันเพื่อความถูก-ผิดหรือยุติธรรม-อยุติธรรม

ดังนั้นสำหรับพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ได้ถูกยุบลงในคืนวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงมีการพูดกันว่า คดีนี้เป็น "ชัยชนะ" จากฝีไม้ลายมือของทนาย ในขณะเดียวกัน ในคืนเดียวกันนั้น "ผู้ชม" ทางบ้านได้ตระหนักถึงลักษณะเชิง "การละคร" ของระบอบตุลาการเป็นอย่างดี เมื่อหลายคนเปรียบเปรยว่า "เป็นการตัดสินได้สะใจเหมือนเปาบุ้นจิ้นพิพากษาในศาลไคฟง" ยิ่งเมื่อการอ่านคำวินิจฉัยมาอยู่ในจอทีวี ความเป็น "เวทีการแสดง" ของกิจกรรมในคืนวันนั้นยิ่งแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่าการแสดงคืนนั้นแสดงได้อย่างสม "บทบาทศาล" "สมจริง" เสียจนไม่น่าตื่นเต้น ชวนติดตามดั่งศาลไคฟง

ขยับไปอีกชั้นหนึ่ง หากตั้งปุจฉาด้วยหลักทางการมานุษยวิทยาการเมืองแนวพิธีกรรมและสัญลักษณ์ “ละครฉากนี้” แสดงโดย “ตัวละคร” ในสังกัดของ “คณะละคร” คณะใด เป็นการแสดงที่วางอยู่บนหลักนิติรัฐหรือเป็นลักษณาการหนึ่งของ “นาฏรัฐ” (theatre state) ประเภทใด

แน่นอนว่านี่เป็นการทดลองดัดแปลงเอาความคิดของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ทซ (Clifford Geertz) ในหนังสือ นครา: นาฏรัฐบาหลีในศตวรรษที่ 19 มาใช้พิจารณาการตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ[4] ในหนังสือดังกล่าว เกียร์ทซแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมมากมายเกี่ยวกับกษัตริย์บาหลี ที่แลดูซับซ้อน ขึงขัง อลังการ มีความสำคัญต่อการสร้างและธำรงระบอบกษัตริย์ของบาหลี ในคืนวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เราก็อาจเห็นฐานะการแสดงและ/หรือพิธีกรรมแห่งอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อการเมืองไทยยุครัฐประหารได้เช่นกัน

อันที่จริงไม่มีอะไรต้องกล่าวให้อ้อมค้อมอีกต่อไปว่า คณะบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นในนาม คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นคณะตุลาการแห่งระบอบรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ดังที่ปรากฏในการตอบข้อกังขาว่า "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่" คณะตุลาการฯยอมรับเองถึงที่มาของตน โดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 มาตรา 35 (ซึ่งบัญญัติโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน) แล้วสรุปว่า "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ไม่ว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ก็ตาม (คำวินิจฉัยฯ หน้า 40)" เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากจะยืนยันว่ามีอำนาจที่ได้มาจากคณะรัฐประหารแล้ว คณะตุลาการฯยังกล่าวทำนองที่ว่า คณะตุลาการฯไม่ใช่ศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ

เมื่อมีที่มาเช่นนั้น การวินิจฉัยให้พรรคการเมืองบางพรรคต้องหมดสภาพลงด้วยความผิดที่ว่า "กระทำเพื่อให้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 94) "กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 96) และ "เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 96) นั้น จึงเป็นที่คลางแคลงใจของสังคมประชาธิปไตยว่า แล้วคำวินิจฉัยนี้เองกระทำดังที่กล่าวโทษพรรคเหล่านั้นด้วยหรือไม่?

กล่าวคือ ในเมื่อในคำวินิจฉัยกล่าวว่า "การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลัง" เป็นลักษณะหนึ่งของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดย "มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (และโต้แย้งพรรคไทยรักไทยว่า การกระทำดังที่พรรคไทยรักไทยกระทำนั้นไม่ต่างจากการรัฐประหาร) (คำวินิจฉัยฯ หน้า 94) แล้วการที่คำวินิจฉัยนี้กระทำโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยวิถีทางสู่อำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาตัดสินองค์กรอื่นว่ากระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยนี้ชอบธรรมหรือไม่?

ความเคลือบแคลงสงสัยดังกล่าวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองไทยอย่างน่าสังเกต การจงใจอำพรางการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ผ่านคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยคณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจ นี่คงเนื่องมาจากเหตุที่ว่า คณะรัฐประหารรู้ดีว่าการใช้อำนาจดิบ ประกาศล้มเลิกพรรคการเมืองทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จดังในอดีตนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมการเมืองไทยอีกต่อไป จึงต้องอ้อมๆแอ้มๆตั้งคณะตุลาการฯขึ้นมาดำเนินการ การอำพรางอำนาจรัฐประหารดังกล่าวแสดงให้เห็นจากคุณลักษณะต่างๆขององค์กรคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอง กล่าวคือ

………………………………………………………………………


การระบุในคำวินิจฉัยฯว่า การรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจรัฐโดย "มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" พร้อมๆกับยอมรับว่าการรัฐประหารเป็น "ประเพณีการปกครองของประเทศไทยเรา" ตรรกะวิทยาขั้นพื้นฐานย่อมนำไปสู่ข้อสรุปอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า คำวินิจฉัยฯลงความเห็นว่า การรัฐประหาร(ซึ่งเป็นการยึดอำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ)เป็นประเพณีการปกครองที่เป็นที่ยอมรับของประเทศไทยเรา

ในกรอบของ "การละเล่น/การละคร" จึงกล่าวได้ว่า ลักษณะของวัฒนธรรมอำนาจอย่างใหม่อย่างหนึ่งที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน นำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารได้แก่ "นาฏลักษณ์ของโวหารและลีลาแบบศาล" (judicial poetics and performances) วัฒนธรรมการใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจรัฐที่กระทำการผ่าน “เครื่องมือทางอุดมการณ์” ไม่ใช่การใช้อำนาจทางตรงดังในอดีต[7] พูดง่ายๆใน "ภาษาเฉพาะวงการ" (register) แบบ Hollywood (ด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลการอย่างยิ่งยวด) การกระทำดังกล่าวเสมือนเป็นการใช้อำนาจการรัฐประหารผ่าน "ผู้แสดงแทน" (stuntmen) เป็นลักษณะหนึ่งของสิ่งที่อาจเรียกว่า "นาฏรัฐประหาร"

ดังนั้นแม้ว่าจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆของ "พิธีการแบบตุลาการ" คำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯเป็นดอกผลที่ต่อเนื่องมาจาก “คำประกาศของคณะรัฐประหาร” ที่แสดงผ่านทีวี ให้ผู้ชมทางบ้านฟังและรับชม ในภาษาที่ฟังดูซับซ้อน ยอกย้อน ขึงขัง น่าเกรงขาม อย่างดูมีเหตุมีผล เป็นกลาง และวางอยู่บนหลักนิติรัฐ แต่คำวินิจฉัยฯได้นาฏรัฐประหาร บนลีลาท่าทางแบบคำพิพากษาในระบอบประชาธิปไตย แต่วางอยู่บนหลักการของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรัฐประหาร

นาฏรัฐประหารจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของระบอบรัฐประหารในสังคมการเมืองไทย ที่ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารมีความแยบยลยิ่งขึ้น แต่แสดงให้เห็นข่ายใยของอำนาจรองรับระบอบรัฐประหารที่กว้างขวาง ทรงพลัง เกินไปกว่าเพียงคณะผู้ถือปืนและชำนาญเฉพาะการใช้อำนาจดิบ ส่วนจะโยงใยครอบคลุมไปถึงไหนได้บ้าง เป็นวิจารณญาณของวิญญูชนที่จะต้องพิเคราะห์กันอย่างรัดกุมต่อไป


<<<<<<อ่านบทความนี้ เต็มเนื้อความ>>>>>






อ่าน>>>>>>>>>>>>>>>
บทความ ความเห็น ของนักวิชาการ นักกฏหมาย ต่อปัญหาคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ อ้างตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 ข้อ 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้าม ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค” นั้นว่ามีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่?

อ่าน>>>>>>>>>>>>>>>

ประชาไท วันที่ : 6/6/2550 |ประธานศาลฎีกาชี้ ประกาศคปค.ย้อนหลัง ทำ 111 ทรท.เหลือสิทธิต่ำกว่าประชาชน


โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงคำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายปัญญา ถนอมรอด ประธานตุลาการรัฐธรรมนญ มีความเห็นว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อ 12 มีว่า ประกาศคปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 มีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่


ประชาไท วันที่ : 6/6/2550 | “คำวินิจฉัยกลาง” ของ 5 อาจารย์นิติฯ มธ. ต่อ “คำวินิจฉัยกรณียุบพรรคของตุลาการรัฐธรรมนูญ”


เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3 – 5 / 2550 เรื่อง อัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย โดยคณะตุลาการฯ ได้วินิจฉัยให้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรค และมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองทั้งสามพรรคมีกำหนดเวลาห้าปี

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ได้ศึกษาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว มีความเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสาธารณชนทั่วไป เป็นการสมควรที่จะเสนอบทวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯในเรื่องดังกล่าว

อนึ่ง โดยเหตุที่บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการเมืองนั้นมีประเด็นอันควรแก่การพิเคราะห์อย่างยิ่งหลายกรณี และโดยเหตุที่กรณีเหล่านี้มีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงขอพิเคราะห์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อไปในระบบกฎหมายไทยคือ ปัญหาเกี่ยวกับ ‘การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง’ ของบุคคลในเบื้องต้นเสียก่อน ดังนี้

………………………………………………………………………


รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร






ประชาไท วันที่ : 6/6/2550 | ปิยบุตร แสงกนกกุล : ชำแหละคำวินิจฉัยคดียุบพรรค


วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี มีประเด็นวิจารณ์ทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่วิชาการ ดังนี้

1. การยอมรับอำนาจรัฐประหาร
ในระบบกฎหมายไทย มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ ยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐประหาร โดยถือหลักว่า เมื่อเริ่มแรก รัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้กระทำการจนสำเร็จและยึดอำนาจได้อย่างบริบูรณ์ สามารถยืนยันอำนาจของตนและปราบปรามอำนาจเก่าหรือกลุ่มที่ต่อต้านให้เสร็จสิ้น เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้

กล่าวให้ถึงที่สุด ระบบกฎหมายไทยยอมรับความถูกต้องของรัฐประหารโดยพิจารณาจาก ‘อำนาจ’ ในความเป็นจริงเป็นสำคัญ มากกว่าจะพิจารณาถึงความถูกต้องของ ‘กระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ’ นั่นเอง

ในโลกปัจจุบัน รัฐประหารเป็นของแปลกปลอมซึ่งไม่มีวันเข้ากันได้กับระบอบประชาธิปไตย คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไม่มีทางอนุญาตให้คณะรัฐประหารนำไปแอบอ้างเป็นอันขาด ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ อาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ลักษณะร่วมกัน คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐสภาและรัฐบาลมีฐานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐประหารเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐประหารที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยอันมีลักษณะเฉพาะของถิ่นใดถิ่นใดหนึ่ง แท้จริงแล้วเป็นการแอบอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น

………………………………………………………………………


2. อำนาจยุบพรรคการเมืองของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันที่มาและอำนาจของตนเอง ด้วยการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารในการยุบศาลรัฐธรรมนูญเดิม และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทน

………………………………………………………………………

3. การกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นการกระทำของพรรคหรือไม่ และเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคนหรือไม่

………………………………………………………………………


4. การกระทำที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 66 (1) และ (3)
บรรทัดฐานทางกฎหมายมีโครงสร้าง 2 ส่วน ส่วนแรก คือ องค์ประกอบส่วนเหตุ ส่วนที่สอง คือ ผลในทางกฎหมายเมื่อองค์ประกอบส่วนเหตุครบถ้วน บทบัญญัติในมาตรา 66 (1) มีองค์ประกอบส่วนเหตุ คือ “กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ส่วนผลทางกฎหมาย ได้แก่ “อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง”

จะเห็นได้ว่า มาตรา 66 (1) มีองค์ประกอบส่วนเหตุเป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง อาจถกเถียงกันได้ว่าหมายความว่าอย่างไร คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องตีความว่าอย่างไรจึงถือเป็น “การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย” อย่างไรจึงถือเป็น “การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” จากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงปรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ให้เข้ากับองค์ประกอบส่วนเหตุเหล่านั้น

จากคำวินิจฉัย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า “การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายถึง การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นายกรัฐมนตรี ... โดยกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังจะต้องเป็นไปโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองนั้น ในทางตรงกันข้าม การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต ย่อมถือได้ว่า เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความถึง การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเท่านั้น” (ดูคำวินิจฉัย หน้า 93-94)

การตีความดังกล่าว นับเป็นการตีความหรือให้ความหมายเกินกว่าตัวอักษรอย่างยิ่ง คำว่า “การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า หมายถึง การใช้กำลังทหารยึดอำนาจ การรัฐประหาร ไม่ผ่านกระบวนการเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง หากยึดถือตามการตีความของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ขยายความให้รวมไปถึง “การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต” แสดงว่า ต่อไปนี้ พรรคใดที่มีสมาชิกไปซื้อเสียงหรือไปกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือถูก กกต. วินิจฉัยให้ใบเหลือง-ใบแดง ก็ถือว่าพรรคนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องยุบพรรค อย่างนั้นหรือ? ความข้อนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง และมุ่งบั่นทอนบอนไซไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
กรณีนี้

จึง ‘เชื่อได้ว่า’ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง แล้วจึงไปตีความหมายขยายความคำว่า “กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ออกไปให้สอดรับกับข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะ โดยหลัก ต้องตีความและให้ความหมายคำว่า “กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” เสียก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงใดบ้างที่ตรงกับความหมายดังกล่าว

………………………………………………………………………


5. เมื่อมีการกระทำตามมาตรา 66 (1) และ (3) แล้ว ควรยุบพรรคหรือไม่
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ถ้ามีข้อเท็จจริงเข้ากับองค์ประกอบส่วนเหตุของมาตรา 66 แล้ว ผลทางกฎหมาย คือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคการเมืองนั้นได้ คำว่า ‘อาจ’ แสดงว่าจะยุบหรือไม่ยุบก็ได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมี ‘ดุลพินิจตัดสินใจ’

………………………………………………………………………


6. การห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย
หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ระบบกฎหมายหลายประเทศยอมรับอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย ได้ขยายความออกไป จากเดิมจำกัดเฉพาะกฎหมายอาญาเท่านั้นที่ห้ามบังคับใช้ย้อนหลัง แต่ปัจจุบัน ยังรวมไปถึงกฎหมายอื่นๆที่เป็นผลร้ายอีกด้วย

ในนิติรัฐ นอกจากหลักความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กันไป คือ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย หลักการดังกล่าวเรียกร้องว่า บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ต้องได้รับหลักประกันจากรัฐว่า บุคคลสามารถเชื่อมั่นในความคงอยู่ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือการตัดสินใจใดๆของรัฐ โดยไม่ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากเหตุผล

………………………………………………………………………


7. นิรโทษกรรมผู้บริหารพรรค 111 คน?
ภายหลังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี มีกระแสข่าวว่า คณะรัฐประหารอาจผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่กรรมการบริหารพรรค ต่อประเด็นดังกล่าว มีข้อควรพิจารณา ดังนี้

………………………………………………………………………



เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเข้าผสมโรงกับรัฐประหาร –ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม- แล้วเราจะเหลือองค์กรตุลาการใดที่รับประกันหลักนิติรัฐได้อีกเล่า

เป็นอันว่าต่อไป ผู้ใดมีอำนาจ ผู้ใดมีอาวุธ ผู้นั้นจะกำหนดกฎหมายอย่างไรก็ได้ ผู้นั้นจะกำหนดความถูกผิดอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงไม่เพียงแต่ทำให้พรรคไทยรักไทยตายเท่านั้น...

หากยังทำให้ตุลาการตายไปจากนิติรัฐและประชาธิปไตยอีกด้วย
ฤาวันนี้ไม่มีนิติรัฐในประเทศไทย







posted by a_somjai on 2007-06-08





updated: 2007-06-13

ประชาไท 13/6/2550 : บทความโดย วัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 : เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เมื่อยุบพรรคการเมือง

หลังจากที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย (และพรรคเล็กอีก 3 พรรค) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.50 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คน (และกรรมการบริหารพรรคเล็กอีก 3 พรรค) อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 จึงมีปัญหาที่น่าพิจารณาว่า ความเห็นของตุลาการรัฐธรรมนูญฝ่ายใดน่าจะมีเหตุผลดีกว่า


......................................................................

<<<อ่านเนื้อหาทั้งหมด ตามลิงค์>>>> หรือ ที่ส่วน commented ลำดับที่ 4 ของบล็อกนี้





 

Create Date : 08 มิถุนายน 2550    
Last Update : 13 มิถุนายน 2550 10:11:25 น.
Counter : 427 Pageviews.  

รัฐประหารซ้ำซาก (12): การรัฐประหารเงียบนอกรัฐสภา กรณีตัดสินยุบพรรคการเมือง



LINKS for 2007-06-04:


ประชาไท 03/06/2550 | เสียงจากประชาชนชั้นสอง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ขอโลกเป็นพยาน



“ในวันนี้ผมจะขอพูดในฐานะประชาชนชั้น 2 ของประเทศ ที่บัดนี้ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพเหมือนอย่างประชาชนคนไทยเสียแล้ว ขณะนี้ผมมีสิทธิในประเทศไทยใกล้เคียงกับสิทธิที่อาจจะมีถ้าผมไปอยู่ในประเทศอื่น พูดอีกอย่างก็คือ ตนมีสิทธิเท่ากับคนต่างด้าวคนหนึ่ง เพราะว่าถ้าสมมติว่าผมไปในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เขาก็จะรับรองสิทธิเสรีภาพผมในหลายอย่างมาก ยกเว้นสิทธิในการเลือกตั้ง มาอยู่ในเมืองก็ได้รับสิทธิเสรีภาพหลายอย่างมาก ยกเว้นสิทธิในการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน”

“ผมกำลังได้รับสิทธิ มีสิทธิเสรีภาพเพียงเหมือนคนอพยพมาจากต่างประเทศ ซึ่งอันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพที่ใหญ่มาก และในฐานะที่เป็นนักประชาธิปไตย ก็ไม่อาจยอมรับได้ว่าต้องมาถูกตัดสิทธิอย่างนี้ในข้อหาว่าได้มีส่วนร่วมในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และพยายามจะได้อำนาจการปกครองมาโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ได้พยายามเรียกร้องประชาธิปไตย พยายายามประคับประคองเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ แล้วก็ถูกมาตัดสินโดยคำสั่งของคณะที่ยึดอำนาจ ได้อำนาจมาโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และล้มประชาธิปไตยไปกับมือ “

“ที่จะพูดต่อไปนี้ ขอทำความเข้าใจว่า ผมทราบดีว่าขณะนี้พรรคไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว ไม่มีสมาชิกพรรคไทยรักไทย ผมเองนอกจากจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยแล้ว ยังถูกเพิกถอนสิทธิไปแล้ว เข้าใจสภาพนี้ทุกอย่าง และก็ไม่มีความประสงค์ที่จะประท้วง ต่อต้าน เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งได้พยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ปัญหาและทำให้เห็นว่า ยังมีหนทางในการต่อสู้ในระบบรัฐสภาโดยสันติวิธี แต่เนื่องจากว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่านเองก็ทราบและได้ชี้แจงเองแล้วด้วยว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล แต่เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งก็คือมาจากการยึดอำนาจนั่นเอง เพราะฉะนั้น ประชาชน นักวิชาการ ประชาชนผู้สนใจ ย่อมมีสิทธิที่จะวิจารณ์คำวินิจฉัยได้ เมื่อผมไม่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ก็ขอใช้สิทธิของพลเมือง หรือสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา”


“ในเรื่องสำคัญก็คือเรื่องที่มองเห็นว่าสิทธิเสรีภาพที่สำคัญของมนุษย์อยู่ที่สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเท่านั้น สิทธิเสรีภาพในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งไม่ใช่สิทธิเสรีภาพที่สำคัญ ทั้งๆ ที่นานาอารยะประเทศทั่วโลก ถือว่าสิทธิทางการเมืองของพลเมืองเป็นสิทธิสำคัญขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และนับตั้งแต่เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในโลก ในกรณีของประเทศไทย เมื่อเกิดมีระบอบประชาธิปไตยขึ้นแล้ว ย่อมต้องถือว่าสิทธิทางการเมืองนี้เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเสรีภาพทางชีวิตและร่างกาย”

“นอกจากนั้น ยังมีความสับสนในเรื่องที่เห็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีค่า มีความหมาย เพียงเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป ซึ่งขัดต่อความเห็นของนักวิชาการ กฎหมายมหาชนที่เคยศึกษาไว้อย่างชัดเจน การทำให้เกิดการกระทบหรือขัดต่อหลักการสำคัญๆ เหล่านี้ บัดนี้ก็แสดงให้เห็น ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นบ้างแล้ว และเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหนาสาหัส จนกระทั่งกำลังจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในความเป็นนิติรัฐ การมีหลักนิติธรรมของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องสำคัญๆ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ความเป็นนิติรัฐและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เมื่อรวมกับการได้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศใน 2-3 วันมานี้“

“สิ่งที่เราจะทำต่อไปในขั้นต่อจากนี้ จึงอยากเรียกร้องให้มีการศึกษาคำวินิจฉัย ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนที่จะเผยแพร่ออกมาในเร็วๆ นี้อย่างจริงจัง และควรจะเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งตามกติกา ตามกฎหมาย ประชาชน นักวิชาการก็สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรีอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนอาจจะมาพูดว่า ควรจะยุติพูด ซึ่งเป็นการพูดที่เอาแต่ได้เท่านั้น “

“สิ่งที่เราจะทำต่อไปก็คือ การช่วยจัดทำ รวบรวมคำวินิจฉัยส่วนกลางและส่วนบุคคลให้เป็นรูปเล่มที่สะดวก ง่ายต่อการหยิบใช้ และเราจะทำการส่งให้คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จะส่งให้นักศึกษากฎหมายที่เป็นคนไทยในต่างประเทศ นอกจากนั้น ก็จะจัดทำฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเราจะวงเล็บไว้ชัดเจนว่า เป็นการแปลที่มุ่งประสงค์เพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ใช่ว่าแอบอ้างว่าเป็นคำแปลของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อแปลแล้วจะส่งไปให้องค์กรต่างๆ หลายองค์กรทั่วโลก เช่น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศที่พัฒนา ส่งไปให้ศาลสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งไปให้คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ส่งไปให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของโลก องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาของระบบพรรคการเมืองของโลก“

“ทั้งนี้ หวังผลว่าจะทำให้เกิดการศึกษาอย่างจริงจัง และจะได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษา อันจะเป็นความรู้กลับเข้ามาสู่สังคมไทย ที่ทำอย่างนี้เพราะเห็นว่าขณะนี้สังคมไทยมีปัญหาสับสนอย่างมากที่ควรจะต้องรีบสร้างองค์ความรู้ และทำความเข้าใจให้ตรงกันโดยเร็วในเรื่องสำคัญๆ ประมาณ 4-5 เรื่อง

1. คือเรื่องความเป็นนิติรัฐ ความหมายของนิติรัฐและนิติธรรม
2. หลักกฎหมายทั่วไปพื้นฐาน
3. เรื่องความหมายสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
4. ความหมายของพรรคการเมือง ความสำคัญของพรรคการเมือง และเหตุความจำเป็นกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาของการยุบพรรคการเมือง
5. ต้องการให้มีการศึกษากันครั้งใหญ่ว่า สังคมไทยต้องการปกครองระบอบอะไรกันแน่ ยังต้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และถ้าต้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่”

“สำหรับเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ข้อแรกคือว่า ก็น่าจะเป็นความคิดริเริ่มที่ดีต่อบ้านเมือง แต่ผมฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า ท่านจะตั้งใจกันจริง ขอย้ำว่าที่พูดไปข้างต้น ผมยังเห็นว่ามีช่องทางในการทำให้เกิดความยุติธรรมกลับคืนมา ซึ่งจะได้ชี้แจงต่อไป แต่วิธีการที่จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมานั้น ผมคิดว่าเราจะไม่ขอร้องให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และถ้าจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เราก็จะขอแสดงความเห็นหรือขอทราบหลักการ เหตุผลที่ชัดเจนว่า ถ้าหากจะเป็นการนิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นว่าเราได้กระทำความผิด หมายถึงคนส่วนใหญ่ใน 111 คน ได้กระทำความผิด แต่จะยกโทษให้หรือนิรโทษให้เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ขอบอกล่วงหน้าว่า เราไม่เห็นด้วยกับหลักเหตุผลอย่างนี้ เพราะเราคงยังถือว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้กระทำความผิด ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ เลย จึงไม่อาจยอมรับได้ว่า ถ้าใครจะมาบอกว่าผมได้กระทำผิดแล้ว และจะยกโทษให้ ทั้งนี้ ก็ต้องขอคำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทยคนหนึ่ง และความเป็นนักประชาธิปไตยที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต จะให้ผมมายอมรับว่าผมไปทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและได้อำนาจมาโดยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น ไม่ยอมรับแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ขอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนถ้าท่านจะไปทำกัน ก็ขอทราบเหตุผลและจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม และต้องชมเชยว่าเป็นความริเริ่มที่ดีในทางสร้างสรรค์”

“ส่วนทางออกที่ผมเห็นว่าจะทวงความเป็นธรรมหรือทำให้เราได้รับความเป็นธรรม ความยุติธรรมกลับคืนมาได้ คือการออกพระราชบัญญัติแก้ประกาศ คปค. 2 ฉบับ โดยมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1. ยกเลิกเนื้อหาสาระของประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ หรือ 2. ถ้ายังต้องการคงเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการ บริหารพรรค ในกรณีที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ก็ควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนว่า ข้อความนั้น เนื้อหาสาระนั้น หรือการที่จะให้โทษนั้นไม่มีผลย้อนหลังต่อการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนประกาศ คปค. 2 ฉบับ ที่เสนอนี้ไม่ได้เกิดจากการขอความเมตตา สงสาร แต่เป็นเรื่องการยืนยันหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ที่เป็นสากล เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีการแก้ ออกกฎหมายเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ คปค. 2 ฉบับดังกล่าว พวกผมก็จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา”

<<<<<<อ่านบทแถลงนี้ เต็มเนื้อความ>>>>>






ประชาไท 04/06/2550 | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: การยุบพรรคคือการรัฐประหารเงียบที่ทำลาย ปชต.รัฐสภายิ่งกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย.




บทความนี้เขียนโดยผู้เขียนที่ไม่เห็นด้วยกับปรากฎการณ์ตุลาการเสมือนที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 พฤษภาคม ความเห็นนี้ไม่เกี่ยวกับชอบหรือเกลียดพรรคไหน แต่เกิดขึ้นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจยุบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

1. การยุบพรรคไม่ใช่คดีความธรรมดา แต่เป็นข้อพิพาททางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเป็นการเมือง
ไม่ว่าจะชอบหรือเชียร์พรรคไหน ทั้งสองพรรคก็เผชิญสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน

2. การยุบพรรคเป็นการกระทำทางการเมืองที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองพอ่อนแอลง
ในเหตุผลหลายข้อที่ตุลาการหยิบฉวยไปอ้างในการสั่งยุบพรรคนั้น ข้อที่ประหลาดที่สุดคือข้ออ้างว่ายุบพรรคเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบพรรคการเมือง ความประหลาดนี้เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่าองค์กรทางกฎหมายที่มาจากการรัฐประหารกลับโจมตีพรรคการเมืองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ฝ่ายหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของคนสิบกว่าล้าน ส่วนอีกฝ่ายมาจากการแต่งตั้งของคนหยิบมือเดียว

ปัญหาคือจริงหรือที่การยุบพรรคไทยรักไทยจะทำให้ระบบพรรคการเมืองไทยเติบโตกว่าที่ผ่านมา?

3. การยุบพรรค vs ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข vs ประชาธิปไตยรัฐสภา
เหตุผลในการยุบพรรคไทยรักไทยอีกข้อคือการทำลายประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงระบบการเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลักรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิเสรีภาพพลเมือง ไม่ใช่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบที่ยึดถือกันในโลกตะวันตก แต่หมายถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีความหมายเข้าใจได้เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น นั่นคือประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของฝ่ายบ้านเมือง

4. บนเส้นทางสู่อนาคต
มักเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพื่อชี้ขาดข้อขัดแย้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความข้อนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือ การตระหนักว่าเป้าหมายของศาลรัฐธรรมนูญได้แก่การรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ป้องกันไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแอบอ้างหรือตีความรัฐธรรมนูญไปอย่างบิดเบี้ยว หรือพูดอีกอย่างก็คือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

จริงอยู่ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่พิจารณาคดียุบพรรคที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ศาล เพราะคณะทหารกลุ่มที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน ได้มีคำสั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญไปในทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จแล้ว แต่คำถามคือบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่ตุลาการชุดนี้ควรสืบทอดเจตนาต่อไปหรือไม่ หรือว่าที่มาซึ่งไม่ปกตินั้นควรมีอิทธิพลเหนือศาลยิ่งกว่าหลักการของรัฐธรรมนูญ?
การตัดสินยุบพรรคเป็นหนึ่งในคดีการเมืองที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ มีคนเกี่ยวข้องมากมายมหาศาล ซึ่งก็หมายความว่ามีผู้มีอำนาจ, ผู้มีบารมี, ผู้มีอิทธิพล และผู้มีผลประโยชน์ เกี่ยวข้องอย่างมหาศาลด้วย หนทางหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าตุลาการทำหน้าที่โดยคำนึงถึงปฏิญญาพื้นฐานเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้มากที่สุดจึงได้แก่

การยอมให้คนทุกฝ่ายในสังคมซักฟอก โต้แย้ง คัดค้าน และตรวจสอบคำตัดสินของตุลาการได้อย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทางที่ความแคลงใจจากมลทินเรื่องอิทธิพลซึ่งมาพร้อมกับที่มาของตุลาการทั้งคณะจะหมดสิ้นไป
ผู้เขียนไม่ได้พิจารณาคำตัดสินยุบพรรคด้วยเหตุผลเรื่องที่มาของตุลาการ แต่พยายามพิจารณาคำตัดสินนี้โดยคำนึงการเคลื่อนตัวทางการเมืองและสภาพการณ์ระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยทั้งหมด ผลจากการพิจารณาแนวนี้ทำให้ผู้เขียนค้นพบว่าคำตัดสินยุบพรรคไม่ได้วางอยู่บนหลักกฎหมาย หรือเจตนารมณ์ในการพิทักษ์หลักการของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด หากกลับถูกผลักดันด้วยทรรศนะคติและค่านิยมความเชื่อทางการเมืองที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธการพัฒนาการเมืองไปข้างหน้า และไม่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา

เมื่ออ่านคำตัดสินให้ดี ผู้อ่านที่ระวังระไวย่อมเห็นได้ด้วยตัวเองว่าคำตัดสินนี้อัดแน่นไปด้วยความคิดทางการเมืองที่ ถูกใช้เป็นอาวุธในการโจมตีการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีศูนย์กลางอยู่ที่พรรคการเมืองและการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างของอคติแบบนี้ได้แก่ความเชื่อว่ารัฐสภาเป็นเวทีของชนชั้นนำทางการเมืองหยิบมือเดียว, สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ตัวแทนของคนทุกชนชั้น, พรรคการเมืองเป็นที่รวมของกลุ่มผลประโยชน์, รัฐสภามีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองการปกครองอื่นเกินไป , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ฯลฯ

แน่นอนว่าคงไม่มีใครโต้เถียงมากนักถึงความจริงของคำโจมตีนี้ แต่คำถามที่ต้องถามให้มากคือใช่หรือไม่ว่าคำโจมตีเหล่านี้มีลักษณะสาดเสียเทเสีย มีอคติต่อรัฐสภาและพรรคการเมืองจนเกินเหตุ มีลักษณะเลือกปฏิบัติและเลือกวิจารณ์แบบทวิมาตรฐาน ไม่พิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของพรรคการเมืองกับกลุ่มอำนาจและผู้มีบารมีฝ่ายต่างๆ ฯลฯ จนราวกับว่าประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมทางการเมืองทั้งมวล
อย่าลืมว่ารัฐบาลและนายกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดล้วนถูกโจมตีด้วยข้อหาทางการเมืองแบบนี้ และต่อให้นายแหยม ยโสธร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย เขาก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนของทุนข้าวมันไก่ในจังหวัดหลวงพระบาง!

ที่ตลกคือคำอธิบายนี้เริ่มต้นโดยนักวิชาการฝ่ายขวาและนักโฆษณาชวนเชื่อของทหารในทศวรรษ 2520 อย่างสมชัย รักวิจิตร และวัฒนา เขียววิมล ก่อนจะแพร่หลายสู่ปัญญาชนเสรีนิยมในทศวรรษถัดมา และเมื่อถึงทศวรรษ 2540 ปัญญาชนฝ่ายซ้ายและฝ่ายชุมชนนิยมก็สมาทานแนวการพิจารณานี้ไปอย่างสมบูรณ์ จนกล่าวได้ว่าทรรศนะคติลักษณะนี้คือไวยากรณ์การเมืองไทยที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ถึงขั้นที่สามารถค้ำยันให้นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย, ทหาร, นักพัฒนาชุมชน, เทคโนแครตฝ่ายขวา, ราชนิกูล, ขุนพลเพลงเพื่อชีวิต, นักวิชาการมหาวิทยาลัย, กลุ่มทุนสื่อสารมวลชน, พนักงานออฟฟิศระดับกลาง, คนงานปกขาว, นักเรียนมัธยม, สื่อมวลชน ฯลฯ รวมตัวเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ ไม่ใช่อุดมการณ์ราชาธิปไตยหรือลัทธิอำนาจนิยมอย่างที่พลังฝ่ายต้านรัฐประหารเข้าใจ

ถ้าเข้าใจวงศาวิทยาของอคติทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานของคำตัดสินยุบพรรคที่ผ่านมา ก็คงเห็นต่อไปว่าอคติแบบนี้เป็นฐานที่มั่นทางอุดมการณ์ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการปกครองนอกระบบเข้ามาทำลายการเมืองในระบบมาโดยตลอด การพิจารณาตัดสินคดีอย่างรอบจึงสมควรเริ่มต้นด้วยการตระหนักถึงอันตรายของอคติข้อนี้ หาไม่แล้ว ก็เท่ากับว่าการพิจารณาคดียุบพรรคถูกขับเคลื่อนไปด้วยทรรศนะคติที่โดยพื้นฐานแล้วมุ่งทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาตลอดเวลา ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย หรือหลักการเชิงอุดมคติของรัฐธรรมนูญ
ผู้เขียนเคยพูดและเขียนไว้หลายที่หลายหนตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจใหม่ๆ ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตัวทหารเองเหมือนการยึดอำนาจหลายครั้งในอดีต แต่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และการเมืองที่กว้างไกลกว่านั้นไปมาก

รัฐประหาร 19 กันยายน จึงเป็นภาคต่อเนื่องของกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่มีมาก่อนนั้น โดยที่ความสลับซับซ้อนของการรัฐประหารก็จะทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์แบบหลังรัฐประหารไปอีกเป็นเวลานาน
คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำเพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน ทวีความมั่นคงขึ้น กระบวนการนี้ยังไม่จบ และไม่มีทางจบในเวลาอันรวดเร็วเหมือนรัฐประหารครั้งอื่นที่เคยมีมา ราคาของคำตัดสินนี้คือความไม่พอใจและความวุ่นวายทางการเมืองที่จะตามมาในเวลาอันใกล้ สภาวะของความไร้เสถียรภาพ, ความหวาดกลัว, และความกังวลอันเนื่องมาจากความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรในอนาคต จะส่งผลให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของผู้นำไม่กี่คนมากขึ้น และความเขลาของผู้นำก็ทำให้เป็นไปได้มากที่คนเหล่านี้จะดึงสังคมไทยไปสู่ทิศทางที่เลวร้ายกว่าที่ผ่านมา




<<<<<<อ่านบทแถลงนี้ เต็มเนื้อความ>>>>>







posted by a_somjai on 2007-06-04.




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2550    
Last Update : 4 มิถุนายน 2550 12:53:51 น.
Counter : 455 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.