<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
รัฐประหารซ้ำซาก จากพ่อของพ่อ ถึงลูกของลูก (3): ผ่าซาก "ปัญญาชนและชนชั้นนำสยาม"

LINK for 2006-11-15
  • เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย หรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย ทรรศนะ/โดย ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยายาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน


  • ..................

    ฤาจะเป็นอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

    ผู้สนับสนุนรัฐประหารมักหาว่าผู้คัดค้านไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของสังคมไทย ความจริงคือผู้กล่าวเช่นนั้นส่วนมากไม่เคยเข้าใจประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยเลย คิดง่าย ๆ เข้าใจหยาบ ๆ แค่ว่าประชาธิปไตยคือการต่อต้านอำนาจฉ้อฉล ความเข้าใจนี้ไม่ผิดแต่ไม่พอและฉาบฉวย มีสักกี่คนที่พยายามเข้าใจวิวัฒนาการความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังทางสังคมตลอดร้อยปีที่ผ่านมา

    หากคนเหล่านี้คิดและเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยมากขึ้น คิดให้พ้น Pragmatism มีสติพ้นจากความเกลียดโกรธจนหน้ามืด จะพบว่าการรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่จุดเริ่มของประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม แต่อาจเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

    ผู้เขียนเคยอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามความความคิดของตนเองไว้ในที่อื่น (ดู ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา และ บทบันทึกการสัมมนา "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ในฟ้าเดียวกัน ฉบับ กรกฎาคม - กันยายน 2549) น่าเสียดายที่คำเตือนของผู้เขียนเมื่อ 14 ตุลา ปีก่อน และข้อเรียกร้องให้ไปให้พ้นอภิชนาธิปไตยแบบแอบแฝงตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมาถูกเมินเฉย ซ้ำปัญญาชนนักประชาธิปไตยไทยกลับเป็นผู้สนับสนุนอภิชนาธิปไตยอย่างเอิกเกริกเปิดเผย

    แต่ตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว รัฐประหาร 19 กันยา จึงไม่ใช่การถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อเริ่มประชาธิปไตยแบบแท้จริง แต่กลับเป็นการถลำลึกยิ่งขึ้นไปในระบอบประชาธิปไตยแบบอภิชนซึ่งเติบโตมาตลอดนับจาก 14 ตุลา 2516 น่าเสียดายที่นักวิชาการจำนวนมากไม่เห็นประวัติศาสตร์ หรือเห็นแค่ฉาบฉวยตื้น ๆ จนทำตัวรับใช้ระบอบอภิชนาธิปไตยกันไปหมดตามเค้าโครงประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่อำมาตยาธิปไตยแบบเดิม ๆ จะ

    ไม่หวนกลับมา ดังที่ธีรยุทธคาดการณ์ไว้ เพราะประชาธิปไตยแบบอภิชนศักราชนี้ สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร เพราะประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและเสรีภาพดังกล่าวไม่เป็นภัยต่ออภิชนชั้นบน การต่อต้านทักษิณที่ผ่านมาก็เป็นความร่วมมือกันระหว่างอภิชนทั้งหลายรวมทั้งนักวิชาการ ปัญญาชน และนักประชาธิปไตยขององค์กรเอกชน

    รัฐประหารคราวนี้และระบอบประชาธิปไตยหลังจากนี้จึงอาจไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการเดินหน้าสู่อภิชนาธิปไตยที่โจ่งแจ้งล่อนจ้อนอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์ มาก่อน อภิชนทั้งหลายเดินแถวอย่างออกหน้าออกตาเปิดเผย รวมทั้งอภิชนหน้าใหม่เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ออกมาทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมความดีและเป็นหัวหอกให้แก่อุดมการณ์หลักของเหล่าอภิชนเสียยิ่งกว่าอภิชนทำเองเสียอีกแบไพ่ในมือแทบจะหมดหน้าตักแล้ว นึกไม่ออกว่าจะเหลืออะไรในมือให้เล่นกันอีกในอนาคต

    ภาวะเช่นนี้คือจุดเริ่มของประชาธิปไตยแท้จริง (ตามวัฒนธรรมไทยในทัศนะของอภิชน)หรือเป็นจุดเริ่มของอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย ?


    <<อ่านบทความนี้ที่>>>> กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2549 และ/หรือ ประชาไท



    LINKS for 2006-11-09

  • สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism ) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทรรศนะ/โดย ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยายาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2549


  • >> ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร19 ก.ย. 2549 มักอ้างผลของโพลล์หลังรัฐประหารที่บอกว่า 80% ของคนไทยสนับสนุนการรัฐประหาร

    ต่อให้เราไม่กังขากับความน่าเชื่อถือของโพลล์ชิ้นนี้ ก็ยังคงมีคำถามที่น่าคิดอยู่ดี อาทิ เช่น ทำไมผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารจึงเชื่อและถือเอาโพลล์รายนี้เป็นความชอบธรรมของการรัฐประหาร แต่กลับไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง? นักวิชาการชื่อดังถึงขนาดเอามาเป็นหลักฐานประกอบ"สิทธิในการทำรัฐประหาร" ปัญญาชนผู้มีทั้งข้อมูลและคุณธรรมถือเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ในการเลือกข้อมูลสนับสนุนตัวเองขนาดนี้เชียวหรือ?

    สมมติว่าก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน ผู้จัดทำโพลล์รายเดียวกันนี้ ออกสำรวจความเห็นของประชาชนรายเดียวกันทั้งหมด ถามคำถามง่ายๆเพียง 2 ข้อได้แก่

    ก. ควรแก้วิกฤติทางการเมืองขณะนั้นด้วยการรัฐประหารหรือด้วยวิธีทางประชาธิปไตย

    ข. หากมีความพยายามทำรัฐประหาร ท่านสนับสนุนหรือไม่

    ผู้เขียนมั่นใจว่าคนเหล่านี้แทบทั้งหมดจะตอบว่าให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยและไม่สนับสนุนการรัฐประหารข้อสมมตินี้มีความเป็นไปได้มาก แต่ถ้าเช่นนั้นเราจะอธิบาย 80% หลังการรัฐประหารอย่างไร?

    เอาอย่างนี้ดีกว่าสมมติว่าก่อนหน้าการรัฐประหารมีผู้เอาคำถาม 2 ข้อนี้ไปสอบถาม อ.ไชยันต์ ไชยพร อ. ธีรยุทธ บุญมี ศ.เขียน ธีระวิทย์ ศ. สุรพล นิติไกรพจน์ ศ. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ศ. จรัส สุวรรณมาลา อ.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ศ. เสน่ห์ จามริก สว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สว.การุณ ไสงาม สว.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.แก้วสรร อติโพธิ สนธิ ลิ้มทองกุล และทุกท่านที่สนับสนุนหรือแก้ต่างให้แก่การรัฐประหาร หรือที่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารอย่างเชื่องๆ อยากทราบว่าท่านเหล่านี้จะตอบว่าอย่างไร?

    หากท่านตอบว่าควรแก้วิกฤตด้วยการรัฐประหารและสนับสนุนความพยายามทำรัฐประหารมาแต่ไหนแต่ไรผู้เขียนจะขอปรบมือให้กับความคงเส้นคงวาของท่าน แล้วค่อยเถียงกันต่อว่าประชาธิปไตยเลวขนาดนั้นเชียวหรือ

    แต่ผู้เขียนกลับมั่นใจว่าทุกท่านคงจะตอบว่าให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนการรัฐประหาร (ไม่แน่ใจว่าอ.เขียนขบคิดทฤษฎี"สิทธิในการทำรัฐประหาร"มานานหรือยังหากเพิ่งคิดได้หลัง 19 ก.ย. ก็คงตอบเหมือนคนอื่นๆ) ท่านอธิการบดี มธ.บอกว่าจนถึงวันนี้ก็ยังคัดค้านการรัฐประหาร เป็นไปได้ว่าหลายคนใน คปค. คมช. คตส. และ สนช. ก็คัดค้านการรัฐประหาร แต่ทำไปเพราะความจำเป็นเพื่อชาติ

    ถ้าเช่นนั้นเพราะเหตุใดเพียงข้ามคืนหลังการรัฐประหาร ผู้ใหญ่ที่คนเคารพทั่วบ้านเมืองจึงกลับลำกลายเป็นสนับสนุนหรือแก้ต่างให้แก่การรัฐประหารหรือยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารอย่างเชื่องๆกันหมด?

    80% ของคนไทยน่าทึ่งน้อยกว่าผู้นำทางปัญญาชนผู้มีทั้งข้อมูลและคุณธรรมเหล่านี้

    บทความนี้อธิบายการกลับลำว่าเป็นเพราะ Pragmatism เพื่อสัมฤทธิผลตามทัศนะของเขาแค่นั้นเอง(อีกบทความที่จะตามมาติดๆจะอธิบายว่าพวกเขาไม่ได้กลับลำเลย เพราะความคิดเบื้องลึกของพวกเขาเป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่มิได้รู้เท่าทันความคิดของตนเอง การรัฐประหารมาช่วยให้พวกเขาแสดงความคิดแท้ๆออกมา)

    Pragmatism แปลอย่างง่ายๆคือ ความคิดที่ถือเอาสัมฤทธิผลหรือความสำเร็จตามต้องการเป็นหลักใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจหรือเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ความถูกผิดตามหลักการใดๆแม้แต่หลักกฎหมายย่อมเป็นเรื่องรอง

    มีคำกล่าวกันมานานแล้วในหมู่ผู้สนใจศึกษาเรื่องเมืองไทยว่าPragmatism คือคุณลักษณะของคนไทย สังคมไทยจึงไม่เคร่งครัดหนักหนากับกฎระเบียบ กฎหมาย หรืออุดมการณ์ แนวคิดหลักศีลธรรมอะไร กลับยอมย่อหย่อนได้เพื่อสัมฤทธิผล

    บางคนเรียกแนวคิดนี้ว่าแมวสีอะไรก็ได้ถ้าจับหนูสำเร็จ แต่สีของแมวไม่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมือง กฎหมาย หรือจริยธรรม คุณธรรมใดๆ หากเราแคร์ต่อความถูกต้องมีคุณธรรมอย่างที่เรียกร้องกันจริง เราต้องระวังว่า สีของแมวอาจเป็นแค่ข้ออ้างปิดบังการใช้วิธีเยี่ยงโจรไปจับโจร ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสังคมตกต่ำกลายเป็นสังคมโจร

    ในการรัฐประหารครั้งนี้มีPragmatism ที่สำคัญ 4 ประเภท

    ประเภทที่หนึ่ง
    Pragmatism ที่อันตรายที่สุดคือความคิดว่าการรัฐประหาร"เป็นทางออกสุดท้าย" "ไม่มีทางเลือกอื่น" หรือกล่าวอีกแบบแต่มีความหมายเท่ากันได้ว่า"ทำยังไงก็ได้ให้ทักษิณออกไปเป็นใช้ได้"

    คนเหล่านี้โกรธเกลียดทักษิณถึงจุดสูงสุดมานานแล้ว จึงพยายามทุกท่าเพื่อจะขจัดทักษิณให้ได้แม้ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เช่น การเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ปัญญาชนผู้เรียกร้องคุณธรรมกลับโกรธเกลียดจนไม่สนใจใช้วิธีที่ถูกต้องชอบธรรม กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเองว่า มาตรา 7 ไม่เป็นประชาธิปไตยพวกเขาจึงยอมหยุดเรียกร้อง

    แต่แทนที่จะรู้สำนึกถึงความคิดที่ผิดๆ พวกเขากลับเห็นว่าเป็นแค่เรื่องของกลยุทธ แล้วยึดถือ Pragmatism แบบผิดๆต่อไป ดังนั้นความคิดที่ผิดและวิธีผิดจึงไม่ถูกสะสาง ถูกมองว่าเป็นแค่สีของแมว รัฐประหารก็เป็นแค่สีของแมว จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือน่ารังเกียจหากช่วยให้บรรลุสัมฤทธิผล นักรัฐศาสตร์ชั้นนำของไทยถึงกับเสนอคำอธิบายรองรับสิทธิในการทำรัฐประหาร

    เมื่อเหลวไหลกันถึงขนาดเห็นว่าวิธีโจรเป็นแค่สีของแมว การเมืองย่อมตกต่ำไร้หลักเกณฑ์ความถูกต้อง ไร้จริยธรรม คุณธรรมหรือกฎหมายจนกลายเป็นการเมืองแบบโจร เลวไม่น้อยไปกว่าระบอบที่ตนต่อต้าน

    สำหรับพวกเขาการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ความถูกต้องอะไรทั้งนั้น คนที่คิดเช่นนี้จึงนับว่าเป็นนักการเมืองไม่ต่างจากนักการเมืองที่พวกเขารังเกียจเสียอีก

    พวกเขาไม่เคยฉุกคิดว่าในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยทำไมพวกเขาจะต้องชนะเดี๋ยวนี้?ทำไมไม่ต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมจนกว่าประชาชนจะเห็นด้วย? ทำไมในเมื่อคนจำนวนมหาศาลยังไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา จึงต้องสนับสนุน "ทางออกสุดท้าย" ? เพียงเพื่อให้ความคิดของพวกเขาสัมฤทธิผลงั้นหรือ? นี่คืออำนาจนิยมของชนชั้นนำขนานแท้ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

    ทฤษฎีสิทธิในการรัฐประหารคือทฤษฎีของชนชั้นนำขี้แพ้ชวนตีที่ชนะตามครรลองไม่ได้ก็ตะแบงหาเหตุผลมาสนับสนุนการใช้กำลัง นี่คือทฤษฎีอำนาจนิยมขนานแท้ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

    ผู้เขียนเห็นว่าทักษิณหมดความชอบธรรมตั้งแต่กรณีซุกหุ้นครั้งแรกเพราะทำผิดกฎหมาย ทักษิณรอดมาได้ไม่ใช่แค่เพราะเขามีความร่ำรวยมหาศาลเป็นกำลังภายในเท่านั้น แต่เพราะผู้นำทางสังคมและปัญญาชนช่วยกันป่าวร้องอุ้มชูทักษิณไว้จนกลายเป็นกระแสสังคม ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ทักษิณเป็นผู้นำต่อ พวกเขาเป็น Pragmatist ที่ไม่เคารพหลักกฎหมายหลักจริยธรรมทางการเมืองใดๆ แทนที่จะยึดหลักกฎหมายอย่างไม่เข้าใครออกใคร Pragmatist กลับช่วยกันแก้ต่างให้เขา ทำให้ทักษิณเป็นอภิสิทธิชนเหนือกฎหมาย

    "ระบอบทักษิณ" งอกเงยขึ้นมาได้เพราะความเหลวไหลไร้หลักการของPragmatist ผู้ใหญ่พวกนี้แหละ

    5-6 ปีต่อมาผู้นำทางสังคมหน้าเดิม ๆ เปลี่ยนข้างมาต่อต้านทักษิณ แต่แนวคิดพฤติกรรมของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนเลยสักนิด นั่นคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อสัมฤทธิผลตามที่เขาคิด แต่คราวนี้คือทักษิณต้องออกไปทันที หลักการใด ๆ แม้กระทั่งกฎหมายและครรลองประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้นำทางสังคมเหล่านี้ สัมฤทธิผลตามความเชื่อของเขาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

    การใช้อำนาจผิดๆของทักษิณและนโยบายอันตรายต่างๆนานาของรัฐบาลนั้นไม่อยู่นอกวิสัยที่จะต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมเพราะประเทศไทยยังไม่ใกล้ตกนรก ยังไม่ใช่ Failed State หรือวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันทุกวี่วัน ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนที่ว่าโดนแทรกแซงก็ยังด่ารัฐได้ทุกวี่วัน สื่อมวลชนชวนเชื่อของฝ่ายต่อต้านทักษิณก็ไม่ถูกสั่งปิด แถมยิ่งนานวันสื่อที่เป็นอิสระจากรัฐยิ่งต่อต้านทักษิณ ยิ่งนานวันความกลัวทักษิณถดถอยจนแทบไม่เหลือ

    กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นPragmatist ยิ่งกว่าใครอื่น ดังนั้นการสยบต่ออำนาจจึงเป็นจารีตปกติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่แค่ผลงานของทักษิณ ครั้นท่านทั้งหลายตระหนักดีว่าอำนาจของทักษิณไม่น่ากลัวอย่างที่คิดและมีอำนาจที่เหนือกว่าทักษิณอยู่ ในระยะหลังก่อนการรัฐประหาร ความกล้าของท่านจึงกลับสูงขึ้น แทนที่ผู้นำทางปัญญาและสื่อมวลชนจะกล้าพูดความจริงที่น่าวิตกเกี่ยวกับ Pragmatism ที่ไร้หลักการไร้ความกล้าหาญทางวิชาชีพ ของกระบวนการยุติธรรม หรืออย่างน้อยก็อย่าสรรเสริญ ปัญญาชนและสื่อมวลชนกลับแซ่ซ้องสรรเสริญตุลาการภิวัตน์เพียงเพราะพอใจที่กระบวนการยุติธรรมเริ่มเข้าข้างตน พวกเขาให้ท้ายเพียงเพราะต้องการสัมฤทธิผลเฉพาะหน้า

    วาทกรรม"ทางออกสุดท้าย" จึงเป็นแค่วาทกรรมแบบกระต่ายตื่นตูมหลังรัฐประหารเพื่อรองรับความชอบธรรมให้แก่สัมฤทธิผลที่ตนพอใจแค่นั้นเอง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือผู้นำทางปัญญาจำนวนมากรู้ดีว่าการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นไปได้สูงขึ้น แต่พวกเขายังออกมาร้อง "ฟ้าถล่ม" "ประเทศไทยกำลังตกนรก" "วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในโลก" เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหารอยู่ดี

    พวกเขาแก้ต่างให้แก่การรัฐประหารด้วยการตอกย้ำความเลวของทักษิณแต่พวกเขาไม่เคยตอบได้กระจ่างเลยว่า ความเลวขนาดไหนจึงสมควรใช้การรัฐประหาร คนไทยโง่เง่าขนาดไหนจึงไม่คู่ควรกับวิถีทางประชาธิปไตย รัฐบาลอเมริกาขณะนี้ยังดีกว่าทักษิณขนาดไหน ก่อปัญหาให้กับโลกน้อยกว่าทักษิณขนาดไหนจึงยังยอมให้สู้กันในกติกาประชาธิปไตยได้ แต่คนไทยต่ำชั้นกว่าหรืออย่างไรจึงไม่อาจยอมให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยต่อสู้กับทักษิณได้อีกต่อไป Pragmatism แบบ"ทางออกสุดท้าย" ถือเอาความโกรธเกลียดของชนชั้นนำเป็นที่ตั้งโดยแท้

    พวกเขาจึงต้องทำให้ทักษิณเป็นภูติผีปีศาจแทนที่จะต่อสู้อย่างเป็นธรรม ต้องกุเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างเช่นปฏิญญาฟินแลนด์ขึ้นมาเพื่อขยายความเกลียดชัง กุผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาอย่างไร้ความรับผิดชอบ ใช้วิธีการทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมทางการเมืองไม่ต่างจากทักษิณ ลงท้ายผู้ต่อต้านทักษิณจำนวนมากตกเป็นเหยื่อคือกลัวภูตผีปีศาจที่ตนเองสร้างขึ้นมา ตกอยู่ภายใต้ความโกรธเกลียดจนขาดสติ ไม่เห็นประโยชน์ของการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตย แต่กลับต้องการชนะโดยเร็วที่สุด แถมมีหลายคนที่มิได้ตื่นตูมจริง รู้แก่ใจว่าหนทางประชาธิปไตยเป็นไปได้ แต่ทว่าเหลี่ยมจัดพยายามทำทุกอย่างเพื่อหวังสัมฤทธิผลที่ตนต้องการ - แค่นั้นเอง

    Pragmatism แบบนี้คือ ความมักง่ายของชนชั้นนำในสังคมที่ถือเอาตัวเองเป็นความถูกต้องสูงสุด

    ทฤษฎีที่อ้างว่าการรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทหารเพราะประเทศอยู่ท่ามกลางกฎหมายป่าคือทัศนะของชนชั้นนำชาวกรุงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย และคือโฆษณาชวนเชื่อของคนเหลี่ยมจัดไม่ต่างจากทักษิณ

    Pragmatism ประเภทนี้อันตรายที่สุดเพราะได้สร้างบรรทัดฐานแก่อนาคตว่า ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ชนชั้นนำคิดหรือรู้สึก การใช้กำลังทหารย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรม

    นี่คือบรรทัดฐานว่าการสู้กับโจรด้วยวิธีโจรเป็นสิทธิอันชอบธรรมการต่อสู้ด้วยอาชญากรด้วยอาชญากรรมเป็นสิ่งยอมรับได้ การสู้กับอำนาจที่ฉ้อฉลด้วยวิธีผิดๆสกปรกอย่างไรก็พึงทำได้ ตราบเท่าที่สำเร็จตามที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องสนใจหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองใดๆทั้งนั้น

    Pragmatismประเภทนี้ไม่สนใจศีลธรรมอย่างที่อวดอ้าง พวกเขามีมาตรฐานศีลธรรมหลายชั้นตลอดเวลา เช่น ถือว่าการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเป็นสิ่งเลวเป็นสื่อเทียม แต่การโฆษณาชวนเชื่อของตนเป็นสิ่งดีเป็นสื่อแท้ การมอมเมาประชาชนโดยรัฐเป็นสิ่งเลว แต่การโกหกใส่ร้ายป้ายสีกุข่าวทำเท็จให้กลายเป็นจริงเพื่อต่อสู้กับรัฐเป็นการให้ข้อมูลให้การศึกษาแก่ประชาชน นักกฎหมายฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าเนติบริกร ส่วนเนติบริกรฝ่ายเราเรียกว่านักกฎหมายมหาชน

    คนที่มีส่วนในอาชญากรรมเข่นฆ่าประชาชนเมื่อหลายปีก่อนจึงเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณธรรมสูงส่งก็ได้ถ้าหากเขาอยู่ข้างเดียวกับเราและช่วยให้เราบรรลุผลร่วมกันในคราวนี้ Pragmatism แบบนี้ช่วยฟอกตัวจนสะอาด ศีลธรรมและคุณธรรมสำหรับ Pragmatismประเภทนี้มีค่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

    ประเภทที่สอง Pragmatist คือ ผู้ที่ย้ำว่า "รัฐประหารเป็นเรื่องที่เกิดไปแล้วและเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้" พวกเขาอาจจะไม่ได้สนับสนุนหรือแก้ต่างแทนการรัฐประหารเลยอาจคัดค้านต่อต้านเสียด้วยซ้ำ แต่คำกล่าวอย่างไม่มีทางผิดดังกล่าวเปรียบได้กับการปล่อยให้เกิดการกระทำความผิดต่อหน้าต่อตาผ่านเลยไปโดยไม่ต่อสู้เพื่อเป็นบรรทัดฐานทาง (ศีลธรรม?) สังคมว่าอะไรผิดอะไรถูก

    ใครจะข่มขืนใครโจรปล้นบ้านใคร อันธพาลยึดครองซอย ก็เป็นเรื่องที่เกิดไปแล้ว และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งนั้นแหละ พลเมืองดีควรทำแค่ปลอบใจเหยื่อและตัวเองว่า ช่างมันเถอะ อย่างนั้นหรือ? นี่ล่ะหรือคือความมีคุณธรรมจริยธรรมที่อวดอ้างกัน

    มีเหตุผลได้หลายอย่างที่อาจอธิบายPragmatism ประเภทนี้ เช่น ความกลัว ความเกรงใจเพื่อนฝูงที่เป็น Pragmatist ประเภทแรก หรืออาจด้วยความเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระของการเมืองที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ โดยที่ไม่ได้พอใจหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่อย่างใดเลย

    แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้Pragmatism ประเภทนี้เป็นที่พึงยอมรับแต่อย่างใด อย่างมากก็เพียงน่าเห็นใจและพอเข้าใจได้ เช่น ความกลัว (แต่ย่อมเป็นหลักฐานว่าระบอบทักษิณน่ากลัวน้อยกว่าระบอบรัฐประหาร)

    คำกล่าวคล้ายๆกันนี้ได้ยินบ่อยครั้งมากจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฆาตกรรมกลางเมือง 6 ตุลาคม พวกเขาไม่ต้องการให้มีการขุดคุ้ย เล่าขาน หรือตัดสินคุณค่าใดๆ

    ผลของPragmatism ประเภทนี้คือ ความขี้ขลาดทั้งของบุคคลและของสังคม ความไร้หลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองใดๆ ไร้บรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม และการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะผู้คนในสังคมสมรู้ร่วมคิดด้วยการเอาหูไปนาตาไปไร่ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนคราว 6 ตุลาคม และพฤษภา 35 กลับกลายเป็นคนที่ได้รับการยกย่องในคราวนี้ว่าเป็นผู้นำที่มีศีลธรรม คุณธรรม เพราะสังคมไทยเห็นว่าโศกนาฏกรรมทั้งสองกรณี "เป็นเรื่องที่เกิดไปแล้วและเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้"

    ขบวนการที่เรียกร้องคุณธรรมทางการเมืองคราวนี้แท้ที่จริงจึงเป็นแค่ขบวนการปากว่าตาขยิบเลือกที่รักมักที่ชัง ใครข้างเราถ้าทำอะไรไม่ดีก็เอาหูไปนาตาไปไร่ ใครไม่ใช่ก็ถล่มมันซะจนกว่าจะ...ออกไป ปํญหาของคุณธรรมทางการเมืองจึงไม่ใช่แค่ทักษิณกับพวกและเนติบริกร 3 คนแต่รวมถึงผู้เรียกร้องเองด้วย ผู้ใหญ่ที่อ้างหรือเชื่อกันว่ามีคุณธรรมบารมีสูงนั่นแหละน่ากลัวที่สุด

    Pragmatism ประเภทนี้จึงอาจมิใช่การสนับสนุนการรัฐประหารโดยเจตนาหรือสำนึกรู้ แต่ย่อมเป็นการสมยอมต่อการกระทำผิดโดยปริยาย Pragmatist ประเภทนี้มักหลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมหรือไม่ก็ยกให้เป็นเรื่องของคนอื่นซะ Pragmatism ประเภทนี้ยังเป็นฐานของ Pragmatism ประเภทต่อไป

    Pragmatism ประเภทที่สาม ที่แพร่หลายมากๆในคราวนี้ คือ พวกที่บอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเลย แต่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่ามันเกิดไปแล้วและต้องคิดถึงอนาคต คือเห็นว่าการประท้วงต่อต้านคงไม่เกิดประโยชน์ไม่เป็นผลดีที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ดังนั้น จึงควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการเข้าร่วมกับกลไกต่างๆของคณะรัฐประหารซะเลย ปัญญาชนหลายคนรวมทั้งอาจารย์ ผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน ผู้นำเอ็นจีโอ อ้างข้อนี้เป็นเหตุผลที่ไม่ออกมาคัดค้านและกลับร่วมมือกับคณะรัฐประหาร อธิการบดี มธ.ก็อ้างเหตุผลนี้ นายกสุรยุทธ์ก็อ้างว่ายอมเป็นนายกเพราะเหตุผลนี้

    ดูเหมือนว่าแทบไม่มีใครเลยที่ไม่คัดค้านการรัฐประหาร (คงมีแค่อ.เขียน เซี่ยนเส้าหลง และคอลัมนิสต์ไม่กี่คนที่เอาจริงเอาจังกับโจ๊กรัฐศาสตร์ที่ว่าการรัฐประหารเป็นส่วนดีที่จำเป็นของระบอบประชาธิปไตย) แต่ระบอบของคณะรัฐประหารอยู่ได้เพราะผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นความจำเป็นเพื่อชาติ จึงต้องช่วยกันประคับประคองสิ่งที่ตนคัดค้านให้ประสบความสำเร็จ

    หากยืมสำนวนอธิการบดีมธ.คงกล่าวได้ว่า ต้องช่วยกันอาสาไปลงนรกเพื่อให้นรกประสบความสำเร็จ เพราะถ้านรกไม่ประสบความสำเร็จ ความเป็นจริงที่ตนสยบยอมก็ไม่มีอยู่ อำนาจปืนของคณะรัฐประหารมีอยู่จริงและน่ากลัวจริง แต่อำนาจที่น่ากลัวนี้อยู่ได้ด้วยการพร้อมใจกันสยบยอมหรือการ "อุปโลกน์รวมหมู่" โดยบรรดาPragmatist เหล่านี้เอง

    หากยังงงอยู่โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง จะเข้าใจ Pragmatism แบบคลาสสิคของผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองไทย กล่าวได้ว่าถ้าใครยังคิดอย่างนี้ไม่เป็นก็คงไม่มีทางได้เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพยกย่องว่ามีคุณธรรมสูงกว่าชาวบ้านธรรมดา ถ้าใครยังกล้าหาญไม่พอที่จะช่วยกันทำให้นรกที่แทบทุกคนคัดค้านประสบความสำเร็จ ก็นับเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพไม่ได้

    ตราบใดที่การพร้อมใจกันสยบยอมหรือ"อุปโลกน์รวมหมู่" ยังดำรงอยู่ความเป็นจริงอย่างที่เขาเข้าใจก็ยังดำรงอยู่ แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ Pragmatist เหล่านี้ลืมตาตื่นขึ้นพร้อมๆกัน

    ผู้ที่คิดอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรถูกเป็นถูกผิดเป็นผิดกลับถูกเรียกว่าพวกกอดคัมภีร์เถรตรง และไม่เข้าใจความเป็นจริง หากบวกความกล้าหาญอย่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ เขาเรียกว่าผู้หลงผิดอย่าง ฝังหัว ทั้งหมดนี้เป็นแค่วาทกรรมที่ผลักไสผู้ที่คิดต่างจากตนให้กลายเป็นพวกเซ่อซ่าไร้เดียงสา หรือเป็นพวกไม่รู้จักสังคมไทยเท่าตน วาทกรรมแบบนี้หลบเลี่ยงไม่ยอมเผชิญกับประเด็น ไม่ยอมรับว่าคนเราอาจคิดต่อความเป็นจริงเดียวกันได้ต่างกัน

    Pragmatism ประเภทสุดท้ายก็คือผู้ทรงปัญญาหลายท่านออกมาแก้ต่างให้เหตุผลปกป้องการรัฐประหารต่างๆ นานา แท้ที่จริงเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ตนเองมากกว่าอื่นใดทั้งหมด

    ก่อนหน้าการรัฐประหารคนเหล่านี้คงไม่สนับสนุนหรือยุยงให้เกิด แต่ครั้นเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง หลายท่านคงรู้สึกตัวทันทีว่าการต่อต้านทักษิณออกผลกลายเป็นผลไม้พิษที่ตนคาดไม่ถึง

    ทางออกของคนแบบนี้มีอยู่หลักๆเพียง2 ทาง คือ ทางแรก ยอมรับความผิดพลาดของตนซะ ซึ่งย่อมเจ็บปวดมากและอาจมีผลต่อชีวิตทางปัญญาอย่างลึกซึ้งต่อไป ทางที่สองคือ ให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารซะ เพื่อเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ตนเองมากกว่าอย่างอื่น เพราะหากไม่สามารถอธิบายแก่ตัวเองได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้วไม่ผิด ชีวิตของคนๆนั้นคงกล้ำกลืนกับความผิดพลาดครั้งสำคัญนี้ไปตลอดชีวิต

    แทนที่จะคิดว่าตนพลาดอะไรไปหรือตนถูกครอบงำด้วยความโกรธ เกลียดทักษิณจนหน้ามืด กลับกลายเป็นว่าผู้ทรงปัญญาต้องออกมาสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร เพื่อจะมีชีวิตปัญญาต่อไปตามปกติอย่างไม่ขมขื่นจนเกินไปนัก

    ศีลธรรมของPragmatist ประเภทนี้ ถึงที่สุดจึงอยู่ที่ผลต่อตัวเองเป็นปัจจัยชี้ขาด คำอธิบายที่แก้ความกระอักกระอ่วนของตนเองได้เป็นคุณธรรมสำคัญกว่าประชาธิปไตยของคนหมู่มาก

    คนๆหนึ่งสามารถเป็น Pragmatist หลายประเภทปนๆ กันได้ หลายคนในขณะนี้ก็เป็นเช่นนั้น

    อาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารในคราวนี้ช่วยให้ตระหนักว่าแม้กระทั่งนักวิชาการซึ่งน่าจะเป็นที่พึ่งได้ในการคิดและความมั่นคงกับหลักการ เอาเข้าจริงเป็นแค่ Pragmatist แทบทั้งนั้น นักกฎหมายชื่อดังก็เป็นแค่ Pragmatist แทบทั้งนั้น นักประชาธิปไตยก็เป็นแค่ Pragmatist เช่นกัน

    แทนที่หลักวิชากฎหมาย หรือหลักการประชาธิปไตยจะลงหลักปักมั่นในสังคมไทย หลักทั้งหลายจึงคงเป็นแค่หลักปักขี้เลนที่นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักต่อสู้โยกไปมาตามสัมฤทธิผลที่พวกเขาต้องการ

    ภูมิปัญญาทุกๆด้านของสังคมไทยมีสกุลหลักเพียงสกุลเดียวคือสกุล Pragmatism ซึ่งแทรกตัวอยู่ทั้งในระบบราชการ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นักการเมือง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ฝ่ายขวา ซ้าย อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชาชนทั่วไป

    นี่คือคำอธิบายว่าทำไม80% ของคนไทยรวมทั้งผู้นำทางปัญญาทั้งหลายจึงกลับลำมาสนับสนุนการรัฐประหารทั้งๆที่ส่วนใหญ่ยังบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเลย

    พวกเขาปฏิเสธความมีหลักการด้วยเหตุผลผิดๆเพราะ Pragmatist เหล่านี้ไม่เคยเข้าใจว่าหลักการคืออะไร?

    หลักการไม่ใช่คัมภีร์ตายตัว(นั่นเป็นความหมายตามการโฆษณาชวนเชื่อของพวก Pragmatist) หลักการไม่ใช่ความเถรตรง (นี่ก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของ Pragmatist เช่นกัน) หลักการไม่ใช่นิสัยเฉพาะของฝรั่งเพราะทุกสังคมมีทั้ง Pragmatist และพวกที่เคารพหลักการ คนๆหนึ่งสามารถเป็นทั้งสองอย่างในตัวเองยังได้เลย

    หลักการคือผลสรุปหรือบทเรียนรวบยอดของประสบการณ์ของมนุษย์จำนวนมหาศาลเป็นเวลายาวนานมากจนกลั่นออกมาเป็นหลักให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ยึดถือ แทนที่จะเอาแต่คิดง่ายๆ สั้นๆกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอยู่ร่ำไป แต่หลักการไม่ใช่กฎตายตัวหรือทฤษฎี โดยมากเป็นแค่บรรทัดฐานหรือกรอบแนวทางที่ยอมให้มีการยืดหยุ่นได้ตามความเป็นจริง หลักการหนึ่งๆยังมักเป็นเกณฑ์ที่สังคมโดยรวมยึดถือท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คนหลักการจึงไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือความเป็นไทย

    น่าเสียใจที่นักวิชาการคอลัมนิสต์ ปัญญาชนออกมาประณามความมีหลักการ เห็นการยึดมั่นในหลักเกณฑ์ความถูกต้องทางการเมืองเป็นเรื่องตลก แล้วกลับแซ่ซร้องสรรเสริญ Pragmatismที่อันตรายทั้ง4 ประเภท กลายเป็นว่าทำยังไงก็ได้ให้ประสบผลเป็นสิ่งดี เป็นวัฒนธรรมไทย เป็นภูมิปัญญาไทยที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง

    หรือว่าน่าภูมิใจนักที่จะประกาศต่อโลกว่าไทยเป็นชาติไม่มีหลักการ เกลียดหลักการ

    แต่เอาเข้าจริงPragmatist ทั้งหลายก็อยู่ในกรอบหลักคิดบางอย่างด้วยกันทั้งนั้น ทว่า Pragmatist ที่เห็นคราวนี้คือบรรดาผู้ที่ถูกครอบงำด้วยกรอบเช่นนั้นจนสนิท ไม่รู้เท่าทันกรอบความคิดที่ครอบงำตนอยู่ เรียกได้ว่าเป็นทาสของกรอบความคิดบางอย่างสนิทจนไม่เคยตั้งคำถาม พอใจเพียงแค่สัมฤทธิผลในกรอบของความคิดครอบงำนั้นๆ

    รัฐประหารคราวนี้เราได้เห็นความคิดที่ฝังลึกในภูมิปัญญาของปัญญาชนเหล่านี้ชัดเจน

    กรอบของความคิดนี้มีคนเรียกว่าประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยแต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอภิชนาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นแต่เปลือก <<

    <<อ่านบทความนี้ และความเห็นของคนอื่น ๆ ---- Reading this article>> ที่ Bangkokbiznews.com - กรุงเทพธุรกิจ




  • ประเทศไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทรรศนะ/โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2549 ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1368


  • >> มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าเก่าตอบคำถามในการปาฐกถาของเขาแก่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า "รัฐธรรมนูญปี 2540 ดี แต่ตอบไม่ได้ว่าดีสำหรับใคร เหมือนเอารถโรลสรอยซ์มีราคาแพงไปให้ชาวนาไถนา ดังนั้น ตราบใดคนยังไม่ตระหนักว่าสิ่งที่จะเอามาใช้จะเอามาใช้กับใคร ของบางอย่างถ้าไม่คำนึงถึงคนใช้ก็เกิดปัญหาได้ ดังนั้น ต้องดูพื้นฐานของสังคมไทยด้วย บางครั้งคนไทยต้องมีกฎกติกาแบบไทย ๆ ค่อย ๆ เดินกันไป แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศนั้น ๆ คนไทยต้องมีกฎกติกาของคนไทยเองเหมือนกับประเทศจีน ระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ละประเทศมีประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้"

    ความคิดว่าสังคมไทยไม่เหมือนใครในโลกนี้มีมานานมาก อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเป็นต้นมา อีกทั้งได้รับการเสริมแต่งด้วยการให้เหตุผลเพิ่มมากขึ้นตลอดมา นับตั้งแต่ไทยไม่เป็นเมืองขึ้นใคร, ไทยกลืนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในสังคมไทยได้หมด, ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงการุณยภาพและเห็นการณ์ไกลสืบเนื่องตลอดมา และคนไทยกินเผ็ด ฉะนั้น สาปแช่งใคร คนนั้นก็มีอันเป็นไปตามคำสาปแช่ง ฯลฯ

    ว่ามาเถิดครับ อะไรที่ดีๆ นั้นล้วนเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยทั้งนั้น ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

    อันที่จริง ที่ผมพูดนี้อาจไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า อะไรที่เขาบอกว่า "ดีๆ" นั้นล้วนเป็นเครื่องจรรโลงโครงสร้างอำนาจของคนมีอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าในทางวัฒนธรรม, การเมือง หรือเศรษฐกิจ

    พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ เป็นทฤษฎีสำหรับผดุงโครงสร้างอำนาจไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง

    ฉะนั้น อะไรที่ "ดี ๆ" แต่ไม่ช่วยผดุงโครงสร้างอำนาจจึงมีปัญหา เช่น ประชาธิปไตย, สิทธิเสรีภาพของพลเมือง, ความเสมอภาค, สวัสดิการทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ฯลฯ

    ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครมีวิธีจัดการกับสิ่ง "ดี ๆ" ที่ไม่ลงตัวเหล่านี้หลายอย่าง หากอะไรที่ฝรั่งว่า "ดี" ชนิดที่เราไม่กล้าเถียงมัน ก็ต้องบอกว่าโฮ้ย มันมีมาในระบบปกครองไทยตั้งแต่บรมสมกัลป์แล้ว อย่างเช่นจารึกสุโขทัยหลักหนึ่งก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และคำประกาศสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของไทยคือกฎหมายตราสามดวง ครับอ่านไม่ผิดหรอกครับ กฎหมายตราสามดวง

    อีกวิธีหนึ่งก็คือสิ่งที่ฝรั่งว่า "ดี" นั้นที่จริงแล้วมีรูปแบบที่หลากหลาย ฉะนั้น เราสามารถหารูปแบบที่ "เหมาะสม" กับสังคมไทยได้ใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้รักษาชื่อเดิมไว้เป็นพอ แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ไม่ต้องถามหาหลักการของความ "ดี" ที่เรายอมรับฝรั่งนั้นคืออะไร รูปแบบที่จัดขึ้นใหม่นี้ตอบสนองต่อหลักการนั้นหรือไม่อย่างไร

    หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตัวหลักการของสิ่งที่ "ดี" ของฝรั่งนั่นแหละคือสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น เสรีภาพย่อมหมายถึงเสื้อสายเดี่ยวและเกาะอกเสมอ เพื่อปกป้องสังคมไทยให้รอดพ้นจากหัวนมผู้หญิง เราจึงไม่ควรมีเสรีภาพ

    นี่คือที่มาของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลายเป็นคำสำหรับหยุดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนชั้นบนในโครงสร้างอำนาจใช้อยู่เสมอสืบมาจนทุกวันนี้

    เราจะได้ยินเสียงเรียกร้อง "ประชาธิปไตยแบบไทย" เช่นนี้จากปัญญาชนของกลุ่มข้างบนเสมอมา และหนึ่งในเสียงนั้นก็เป็นเสียงของคุณมีชัยนี่แหละ (ไม่นับเสียงของ คุณเสนาะ เทียนทอง)

    อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจะจะ จากทฤษฎี "ประชาธิปไตยแบบไทย" ว่า จีนก็เป็น "ประชาธิปไตย" เหมือนกัน เป็นประชาธิปไตยแบบจีน ๆ อีกไม่นานก็คงจะได้ยินประชาธิปไตยแบบพม่า ๆ

    ถ้าอย่างนั้นประชาธิปไตยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อระบอบปกครอง เหมือนตุ๊ดชื่อสมชายก็ได้

    ผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทฤษฎีเมืองไทยไม่เหมือนใครนี้ ครอบงำแม้วงวิชาการไทยคดีศึกษาในช่วงหนึ่งอย่างหนาแน่น นักวิชาการด้านนี้ทั้งไทยและเทศ จะใช้ประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือโดยนัยยะเป็นฐานการศึกษาของตัว และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าความสะเทือนเลื่อนลั่นของ "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คุณจิตรเอาทฤษฎีสากลเป็นฐานการศึกษาสังคมไทย ซึ่งแปลว่าพัฒนาการของสังคมไทยไม่ได้มีลักษณะเฉพาะ แต่อาจเข้าใจได้โดยอาศัยทฤษฎีที่เป็นสากลเหมือนสังคมอื่นๆ นั่นแหละ

    "โฉมหน้าศักดินาไทย" จึงไปสั่นรากฐานของโครงสร้างอำนาจอย่างจัง ๆ ชีวิตของหนังสือเล่มนี้จึงสลับสับเปลี่ยนระหว่างภาวะต้องห้ามกับความแพร่หลายสืบมา จนมันสิ้นอายุขัยของมันไปตามกาล

    ควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปกับเมืองไทยไม่เหมือนใครก็คือสังคมไทยย่อมอยู่พ้นออกไปจากความเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้จะเป็นอนิจจังก็ไม่เป็นไร ยกเว้นก็แต่เมืองไทยนี่แหละที่เป็นอนิจจัง

    แต่ในความจริงแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปมากอย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ เฉพาะการศึกษาและสื่อเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้สำนึกทางการเมืองของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร ไม่อย่างนั้นจะมานั่งผวากับอำนาจของคุณทักษิณซึ่งตอบสนองจินตนาการใหม่ของคนในชนบทอยู่เวลานี้ไปทำไม

    ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงผู้คนเลิกไถนาเองไปตั้งนานแล้ว เพราะการทำนาเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาจ้างคนอื่นไถด้วยรถไถ จะใช้โรลสรอยซ์หรือใช้คูโบต้า ชาวนาไม่สนหรอกครับ ขอให้เป็นราคาตลาดแล้วกัน รายได้ของคนส่วนใหญ่มาจากงานรับจ้าง กล่าวคือ เขาเข้ามาอยู่ในตลาดเต็มตัว และกติกาอะไรล่ะครับที่จะเหมาะแก่ตลาดยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อรองตามควร

    ประชาธิปไตยแบบเทวดา (หรือแบบไทย) ที่เปิดเวทีต่อรองให้เฉพาะเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้วในสังคมไทย ผมคิดว่าแม้แต่พระอินทร์ก็ไม่สามารถช่วยประคับประคองให้เป็นไปอย่างนี้ชั่วกัลปาวสาน (อันที่จริง คุณทักษิณเกือบจะเป็นตัวแทนของฝ่ายทุนที่แตกตัวหลากหลายขึ้นได้ดีที่สุด ถ้าคุณทักษิณเล่นหวยบนดิน และไม่เล่นสลากกินรวบ)

    ฉะนั้น จึงตรงกันข้ามกับความเห็นของคุณมีชัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ผมตอบไม่ได้หรอกว่าดีสำหรับใคร (เพราะเป็นคำถามที่เหลวไหล) แต่ผมอยากชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งเป็นฉบับเดียวในรอบกว่าสามทศวรรษที่คุณมีชัยไม่มีส่วนร่วมเลย) พยายามจะตอบคำถามว่าจะจัดโครงสร้างการเมืองอย่างไรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

    ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นซึ่งคุณมีชัยมีส่วนร่วมในการร่าง พยายามตอบคำถามว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

    การเมืองไทยหลุดออกมาจากเผด็จการทหารแบบสฤษดิ์หรือถนอม-ประภาสได้ แต่ต้องมาเผชิญกับการเมืองแบบมุ้ง (factional politics) ถ้ามีอำนาจข้างนอกหนุนหลังนายกรัฐมนตรีอยู่ เช่น กองทัพหนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พอจะบริหารบ้านเมืองไปได้บ้าง แต่หากไม่มี นายกฯ ก็เละเป็นวุ้น การบริหารกลายเป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างมุ้งต่าง ๆ และเป็นอย่างนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2529

    รัฐธรรมนูญปี 2540 อยากตอบคำถามว่าจะทำให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ตรวจสอบได้จากหลายฝ่ายอย่างไร จึงปั้นให้นายกฯ ปลอดพ้นจากการเมืองแบบมุ้งให้มากที่สุด นับตั้งแต่ รมต. ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส., ไปจนถึงบังคับให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรค เพื่อให้นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคควบคุม ส.ส. ได้อีกชั้นหนึ่ง, จำนวนของ ส.ส. ที่จะลงชื่อเสนออภิปรายนายกฯ, บังคับให้ต้องเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ไปพร้อมกัน และอีกจิปาถะ

    ในทางตรงกันข้าม ก็ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบฝ่ายบริหารหลายอย่าง

    อีกมิติหนึ่งของการตรวจสอบซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงเสียแล้ว นั่นก็คือเปิดให้เกิดกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชนขึ้นได้ตามกฎหมาย บางเรื่องอาจต้องผ่านองค์กรอิสระ บางเรื่องก็อาจไม่ต้องผ่าน เช่น การเสนอกฎหมายเอง, สิทธิของชุมชนในการดูแล-ร่วมจัดการ-ได้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น, การกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น, การให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพลเมืองอย่างแข็งขัน ฯลฯ

    และในส่วนนี้ แม้ท่ามกลางการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของรัฐบาลคุณทักษิณ ประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างเวทีสาธารณะของตนเองเช่นวิทยุชุมชนขึ้นมากต่อมากกรณี ฉะนั้น หากจะถามว่าใครได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 บ้าง ผมก็ขอยืนยันว่าประชาชนได้ใช้ เพียงแต่ยังใช้ได้ไม่กว้างขวางเพียงพอเท่านั้น

    และอาจกล่าวได้ว่า ในการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติไทยนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ฉีกแต่กระดาษ (ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้นฉีกไม่ขาดอยู่แล้ว) ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทำให้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

    การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเท่ากับฉีกชีวิตของผู้คนไปจำนวนมากด้วย

    ผมทราบอย่างที่คนอื่นๆ ทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อบกพร่อง ไม่อย่างนั้นจะถูกทำลายเจตนารมณ์ลงด้วยกลการเมืองที่หยาบคายของนักธุรกิจการเมืองอย่างคุณทักษิณได้อย่างไร

    แต่น่าสังเกตนะครับว่า แรงกดดันให้ปฏิรูปการเมืองรอบสองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็มาจากภาคสังคม และมีพลังพอที่จะทำให้คุณทักษิณเองก็ยอมรับด้วย แสดงว่า แม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะถูกฉ้อฉลไปอย่างไร หรือตัวรัฐธรรมนูญมีช่องโหว่อย่างไรก็ตาม พลังของมันยังพอมีอยู่ในหมู่ประชาชน ไม่ได้บิดเบี้ยวคดงอไปหมดเหมือนปัญญาชนที่วิ่งรับใช้คณะรัฐประหารกันอยู่เวลานี้

    ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นด้วยหลักการว่า เมืองไทยไม่เหมือนใคร และเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลง เช่นนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร<<





    posted by a_somjai on November 09, 2006 @ 03:03 Am







    Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549
    Last Update : 15 พฤศจิกายน 2549 6:52:43 น. 8 comments
    Counter : 573 Pageviews.

     
    ชอบบทความของอาจารย์ธงชัยมากค่ะ
    เมื่อวานก็เข้าไปอ่านในประชาไท


    โดย: grappa วันที่: 9 พฤศจิกายน 2549 เวลา:8:39:21 น.  

     

    เหมา เจ๋อ ตง ครูธรรมดาๆ ผู้ขัดสน จากชนบท-ทางเหนือ
    ไม่มีใครในวงสังคมการศึกษาสังคมชั้นสูงรู้จักชื่อเสียงมาก่อน เมื่อเริ่มทำงานเพื่อมวลชน เพื่อรวมชาติจีน-เป็นหนึ่ง

    เหมา เริ่มต้นจาก-จิตสำนึกภายในตน-ก่อนแสวงหาเพื่อน
    และแนวร่วมอุดมการณ์รวมชาติ เขาแทบไม่เคยรู้จักคำว่า
    "ประชาธิปไตย"แท้จริง หากแต่ใช้การกระทำอย่างจริงจัง

    ถึงวันนี้ คำว่าปีศาจสังคมนิยม-ผีคอมมิวนิสต์ ได้พิสูจน์ให้
    ฟากประชาธิปไตยในยุโรป-อเมริกา เห็นว่าจีนก้าวหน้าไป
    อย่างมั่นคงยั่งยืน-พอเหมาะ ไม่ได้เลวร้ายอย่างใครๆ คิด

    คำตอบเรื่องประชาธิปไตยอยู่ที่ความผาสุขของประชาชน
    ที่เห็นเป็นรูปธรรมเสมอภาคทางปัจจัยสี่จริง หน้าที่ต้องมา
    ก่อนสิทธิ-เสรีภาพ ไม่ใช่เสรีภาพ-สิทธิใต้กรอบทุนนิยมฯ

    ข้ออ่อนด้อยของนักวิชาการ-หอคอยงาช้าง-ก็คือเขาขาด ประสบการณ์ตรงจากงานวิจัย-บทความบนตำรากองใหญ่
    เขายอมรับว่าเป็นนักฟังโอเปรา ซึ่งเล่นดนตรีไม่เป็นชิ้นอัน
    แต่งานของเขาเหล่านี้ กลับเป็นแรงบันดาลใจแก่หนุ่มสาว
    กระตุ้นให้เดินตามความฝัน แสวงหาความท้าทายของชีวิต


    โดย: poumsky IP: 58.8.117.64 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2549 เวลา:8:45:52 น.  

     
    ชอบบทความของอาจารย์ธงชัยมาก


    โดย: อารามบอย IP: 124.121.6.137 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2549 เวลา:11:33:54 น.  

     
    Link:ประชาไท / ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: “คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง”

    ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในโอกาสการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 ภายใต้หัวข้อ “วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง” ในวันที่ 8 พ.ย. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา แสดงเด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

    >>>>
    ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
    นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

    เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองในเมืองไทย คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการแย่งชิงอำนาจในทางบริหารในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในการเลือกตั้งหรือด้วยอำนาจอะไรก็ตาม ความจริงแล้วการเมืองมีความหมายมากกว่านั้น การเมืองคือการจัดแบ่งปันจัดสรรทรัพยากร เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในทุกกลุ่มคน เมื่อใดก็ตามที่มีคนเกิน 1 คน เราก็จำเป็นต้องตกลงร่วมกันถึงจะบังคับกันได้ในการที่จะแบ่งปันจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมมนุษย์ทุกแห่งในโลก ถ้าเข้าใจถึงได้ก็จะเข้าใจถึงกระบวนการทางการเมือง ซึ่งก็คือกระบวนการที่จะเกิดการตกลงหรือการบังคับกันก็แล้วแต่เพื่อการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร

    ทั้งนี้ พูดถึงเรื่องกระบวนการเพื่อให้เข้าใจว่าไม่ได้เกิดจากการใช้กำปั้นหรืออำนาจในการบังคับแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ในซ่องโจรหัวหน้าโจรก็ไม่ได้ใช้อำนาจโดยกำบั้นในการบังคับให้เกิดการจัดสรรเพียงอย่างเดียว เบื้องหลังอำนาจของหัวหน้าโจรยังมีอำนาจในเชิงวัฒนธรรม เป็นต้นว่า หัวหน้าโจรเป็นคนที่มีคนรู้จักกว้างขวางที่สุด ภายใต้อำนาจของหัวหน้าโจรจะทำให้ซ่องโจร หรือกลุ่มโจรนั้นมีความปลอดภัยได้มากที่สุด ฉะนั้นคนที่มีกำปั้นใหญ่กว่าเขาก็จะยอมอยู่ภายใต้หัวหน้าโจร ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเข้าใจได้ว่าไม่มีอำนาจทางการเมืองใดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นซ่องโจรอยู่ภายใต้รัฐประหาร กลุ่มทหารเข้ามาปกครองบ้านเมือง หรืออะไรต่างๆ ที่ใช้อำนาจปืนแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องมีอำนาจอื่นๆ เข้ามาเจือปนเสมอ

    เมื่อพูดถึงเรื่องอำนาจ อยากชวนให้คิดต่อว่า อำนาจคืออะไร สรุปอำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความต้องการของเราได้ ความสามารถนี้มีความหลากหลายมาก หลากหลายมากกว่ากำปั้นเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างคุณพ่อที่ดุเรา สักวันหนึ่งท่านก็ต้องแก่จนกำปั้นเล็กกว่าเรา แต่เราก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจของท่าน แสดงว่าอำนาจมันไม่ได้มาจากกำปั้น แต่อาจมาจากความนับถือก็ได้ เพราะถ้าเราต่อยหน้าคุณพ่อตัวเราเองจะถูกรังเกียจในสังคม แปลว่าท่านมีอำนาจในทางวัฒนธรรมที่จะบังคับให้เราทำตามความต้องการของท่านได้

    ถ้าเข้าใจในความซับซ้อนของอำนาจนี้ กล่าวคือ วิธีการที่จะใช้อำนาจมีอยู่ 2 อย่างคือ ใช้ผ่านการจูง ส่วนอีกอย่างเป็นการใช้ผ่านการบังคับ แต่ในความเป็นจริงต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้แบ่งเป็นสองอย่างเด็ดขาด ทุกครั้งที่เราใช้อำนาจ เราใช้ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน ไม่ได้ใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว สรุปก็คือว่า เมื่อเราพูดถึงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอะไรมันไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แต่มีอำนาจอื่นเสริมอยู่ด้วย และการใช้อำนาจก็เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ตัวเอง ใช้ความสำเร็จจากการเลือกตั้ง ใช้ผลสำเร็จจากการเป็น ผบ.ทบ.หรือใช้ผลสำเร็จจากการเป็นหัวหน้าซ่องโจรใดซ่องโจรหนึ่ง มันต้องใช้หลายอย่างซับซ้อนมากกว่าหนึ่ง

    ผมจะขอพูดถึง “อำนาจอื่น” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง เป็น 2 อย่างที่มีความสำคัญ อันที่หนึ่งก็คือ “อำนาจทางเศรษฐกิจ” หมายถึงคนที่เข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้มากกว่าคนอื่น เมื่อเข้าถึงได้มากกว่าคนอื่นจะสามารถใช้อำนาจที่ตนครอบครองแบ่งปันทรัพยากรนั้น หรืออนุญาตให้คนมาใช้ทรัพยากรได้ อำนาจทางเศรษฐกิจนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็น “อำนาจทางการเมือง” ได้ เปลี่ยนแปลงเป็น “อำนาจทางวัฒนธรรม” ได้

    อีกอันหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ “อำนาจทางวัฒนธรรม” พ่อเรามีอำนาจเหนือเราไม่ใช่เพียงเพราะอำนาจของกำปั้น แต่ท่านมีอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจทางสังคม และอีกร้อยแปดที่หนุนอำนาจของพ่อ เมื่อถามว่า “อำนาจทางวัฒนธรรม” นี้สามารถเปลี่ยนไปเป็น “อำนาจทางการเมือง” ได้ไหม ก็คือได้เลย ดังนั้นอำนาจทางการเมืองมันจึงมีความสลับซับซ้อนมาก มีอำนาจหลายสิ่งหลายอย่างแฝงอยู่ในอำนาจการเมือง ในการใช้อำนาจทางการเมืองก็ใช้วิธีสลับซับซ้อน ไม่ได้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งล้วนๆ ทุกสังคมก็เหมือนกันรวมทั้งสังคมไทยในข้อนี้

    >>>


    โดย: a_somjai วันที่: 12 พฤศจิกายน 2550 เวลา:2:46:55 น.  

     
    Link:ประชาไท / ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: “คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง”

    >>ต่อ >>

    หันมาดู “วัฒนธรรมทางการเมือง” เมื่อไหร่ถึงจะพูดเรื่อง “วัฒนธรรม” จริงๆแล้วเรากำลังพูดถึงเรื่องความคิดความเข้าใจ ว่าอะไรคือทรัพยากรที่จะนำมาจัดสรรแบ่งปัน และจะจัดสรรแบ่งปันอย่างไร ในเงื่อนไขอะไร จึงจะทำให้คนยอมรับได้ ไม่ใช่ตามใจชอบ จะจัดสรรทรัพยากรอะไร อย่างไร ที่คนอื่นๆ ในสังคมยอมรับได้ อันนี้ก็คือวัฒนธรรมทางการเมือง

    แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่า เฉพาะเพียงการจัดสรรทรัพยากร ความรู้ความเข้าเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรยังไม่พอ มนุษย์เราต้องทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐาน เป็นต้นว่า เราไม่สามารถจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรได้ถ้าไม่มีความคิดที่ว่า “ความยุติธรรม” นั้นคืออะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่คือการจัดสรรแบ่งปันให้คนยอมรับ นอกจากการจัดสรรแบ่งปันพื้นที่ที่คนในสังคมยอมรับว่ายุติธรรม และคนในสังคมแต่ละสังคมคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเข้ามาเกี่ยวข้องตรงที่ว่า อะไรคือความยุติธรรมของสังคมนั้นๆ อะไรคือสิทธิเสรีภาพ อะไรคือความชอบธรรมอย่างนี้เป็นต้น ความคิดทั้งหลายเหล่านี้ที่สังคมมีเราเรียกว่าเป็น “วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคม”

    เราจะพบได้ว่าความคิดทั้งหลายเหล่านี้แปรเปลี่ยนไปตามสังคม ไปตามยุคสมัย แปรเปลี่ยนไปตามสังคมโลกที่เรามีชีวิตอยู่นี้ตลอดเวลา เมื่อเราพูดถึง “วัฒนธรรม” เรากำลังพูดถึงอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่

    ฉะนั้นเพื่อจะเข้าใจ “วัฒนธรรมทางการเมืองไทยปัจจุบัน” จะพิจารณาในแง่หนึ่งแง่ใดไม่ได้ เพราะในขณะที่แง่หนึ่งมันคือการเปลี่ยนแปลง แต่มันก็มีการรับมรดกสืบทอดกันมาเป็นอย่างดีด้วย จึงขออนุญาตที่จะพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ในความหมายที่สืบทอดจากอดีตและที่มันกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย โดยการเริ่มต้นย้อนกลับสู่อดีตก่อน

    ผมแบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุคสมัย คือยุค “สมัยก่อนรัชกาลที่ 5” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือเรียกว่ายุคไทยโบราณ แล้วก็ยุคต่อมาจาก “สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 24 มิถุนา พ.ศ.2475” ซึ่งผมเรียกว่าการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยุค “หลัง พ.ศ.2475” ผมเรียกว่าเป็นการเมืองในระบอบเลือกตั้งและรัฐประหารเหมือนเหรียญสองด้านที่เกิดขึ้นและไม่สามารถแยกออกจากกัน

    เริ่มต้นจากยุค “สมัยก่อนรัชกาลที่ 5” หรือการเมืองของไทยโบราณก่อน เป็นอีกเรืองหนึ่งที่คิดว่ามีคนเข้าใจผิดในสังคมไทยกันมากว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยในสมัยโบราณทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรทุกส่วน ในความเป็นจริงไม่ใช่ พระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระราชอำนาจจำกัด พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะแผ่ขยายพระราชอำนาจไปถึงพลเมือง ไม่มีกองทหารประจำการ ไม่มีระบบราชการแบบใหม่ พระราชอำนาจแม้ในทางทฤษฎีจะมี แต่ในทางปฏิบัติมีจำกัด เมื่อเป็นเช่นนั้นถามว่าแล้วอำนาจในบ้านเมืองไปอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือกระจายอยู่ในหมู่ “ชนชั้นปกครอง” อยู่ในกลุ่มที่กฎหมายโบราณเรียกว่า “มูลนาย”

    อำนาจทั้งหลายอยู่กับมูลนาย เจ้าเมือง หรือใครก็ตามที่สามารจัดตัวเองได้ว่าเป็น “ชนชั้นปกครอง” กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้เป็นระบบราชการเช่นปัจจุบันที่มีปลัดกระทรวงและไล่เป็นทบวงต่างๆ มันเป็นอำนาจที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งคนที่อยู่ในหมู่บ้าน คนที่เป็นนายบ้าน คนที่เป็นผู้นำของหมู่บ้านด้วย ในแง่ระบบโครงสร้างการปกครองใหญ่อำนาจถูกกระจายไม่ได้รวมศูนย์

    >>>>


    โดย: a_somjai วันที่: 12 พฤศจิกายน 2550 เวลา:2:48:28 น.  

     
    Link:ประชาไท / ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: “คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง”

    >>ต่อ >>

    มาดูในระบบที่เล็กลงบ้างคือ ในระดับที่เล็กลงมาในระดับชุมชน หมู่บ้าน และตำบล ในท้องถิ่นนั้น ในระดับชุมชนนั้นเราจะพบสิ่งสำคัญอยู่ 3 สิ่ง

    อันที่ 1 คือ คนไทยส่วนใหญ่ดำรงชีพอยูในเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง แปลว่าเขาใช้ทรัพยากรอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจึงมีน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย

    อันที่ 2 ต่อมาคำว่าเศรษฐกิจพึ่งตัวเองนั้น ไม่ได้หมายความว่าการต่างคนต่างเพาะปลูกของตัวเองในไร่นาโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ตรงกันข้าม ในการเพาะปลูกให้พอเพียงต้องใช้ทรัพยากรกลางของชุมชนหลายต่อหลายอย่าง เช่น เหมืองฝาย ที่ไม่ได้เป็นของใคร การทำนาในที่นาของตนต้องอาศัยเหมืองฝายซึ่งเป็นของส่วนรวม นอกจากนั้นในระบบการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองต้องการการช่วยเหลือกันเยอะมาก ฉะนั้นโดยวิถีการผลิตมันบังคบให้ชุมชนแต่ละแห่งต้องมีนโยบายร่วมมือแก่กันและกันพอสมควร ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ต่างตนต่างอยู่และต้องมีอำนาจบังคับ

    อันที่ 3 ที่มีความสำคัญคือ ถึงแม้หลักโบราณคนก็ไม่ได้อยู่โดยเท่าเทียมกัน มีคนรวย คนจน หรือจะพูดอีกอย่างคือมันมีคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ต่างกัน คนบางคนเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าบางคน ฉะนั้นความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้ในหมูบ้านคือความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์”

    เมื่อพูดถึง “ระบบอุปถัมภ์” เรามักคิดกันว่ามีใครบางคนที่ใหญ่ ที่รวยและอีกบางคนที่ทำอะไรไม่ได้ต้องพึ่งพาเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรอความช่วยเหลือจากคนที่ใหญ่ที่รวย แต่ว่าแท้จริงแล้ว “ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์” ในทางวิชาการมันก็คือ “ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน” คนรวยกว่าต้องให้คนจนที่อยู่ในอุปถัมภ์ของตนเองได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในตัว ในขณะเดียวกันก็แลกโดยการให้คนนั้นมาเป็นลูกน้อง มาเป็นแรงงาน หรือเอาทรัพย์สินเงินทองมาบำเรอตัวก็ตาม แต่สรุปมันเป็น “ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน” ซึ่งมันเปิดโอกาสที่สำคัญให้มีการต่อรองในการใช้ทรัพยากรได้ เพราะมันอยู่ในความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน คนที่รวยมีที่นาใหญ่ปลูกข้าวมากจะบังคับให้ได้ใช้น้ำคนเดียวไม่ได้เพราะต้องการกำลังในการเก็บเกี่ยวให้หมด ต้องให้คนอื่นมาเป็นกำลังช่วยในการเกี่ยวข้าว แปลว่าคนรวยต้องพึ่งพาอาศัยคนจน ดังนั้นคนจนก็มีโอกาสต่อรองในการจัดสรรทรัพยากรด้วย

    หัวใจของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างระบอบประชาธิปไตย คือทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีโอกาสต่อรองใกล้เคียงกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย และคนไทยในชนบทมาแต่โบราณนั้นส่วนใหญ่ก็เคยชินกับระบบที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีโอกาสต่อรองใกล้เคียงกัน ฉะนั้นการที่เชื่อมาตลอดเวลาว่าระบอบประชาธิปไตยมาจากต่างประเทศ คนไทยไม่เคยมีจึงไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยได้ ผมคิดว่ามันผิด จริงๆ แล้วคนไทยส่วนใหญ่เคยชินกับการอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

    คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ “ชนชั้นกลาง” ที่ไม่เคยทำงานเลี้ยงตนเองเลย และอยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบชนิดที่ไม่มีการต่อรอง คนเหล่านี้ต่างหากที่มาสร้างความเชื่อให้คนไทยว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นของต่างด้าว เป็นของที่เราไม่เคยเห็น เราจึงอยู่กับมันไม่ได้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่มี แต่เมื่อชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในทางวัฒนธรรมสูงสุดจึงสถาปนาความเชื่อนี้ครอบให้กับชาวบ้าน ทั้งที่ในสมัยปู่ย่าตายายเองอยู่ในระบบที่มี “ความสัมพันธ์ในเชิงประชาธิปไตย” ที่จะเรียกการระบอบอะไรก็แล้วแต่ แต่มันมีความสำคัญในเชิงประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

    เพราะฉะนั้นหากจะสร้างประชาธิปไตยต่อไป จะต้องสร้างอำนาจที่ทุกฝ่ายทุกกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน แต่ตรงกันข้ามในการรัฐประหารกลุ่มต่างๆ ที่เขามายึดอำนาจในประเทศไทยนั้น จะทำตรงกันข้าม คือตัดโอกาสการต่อรองทั้งในกรอบและนอกกรอบออกไปหมด และพยายามสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้น คนไทยเชื่อว่าความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายมีการตกลงต่อรองกัน ถ้าไม่มีการต่อรอง มีหรือความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้ แต่ทหารกลับคิดตรงกันข้ามด้วยการสัญญาว่าจะสร้างความสงบเรียบร้อย แต่กลับตัดกระบวนการการต่อรองทั้งในและนอกกรอบออกไปหมด เพราะคิดว่าการต่อรองคือความเดือดร้อน อันเป็นเรื่องความคิดที่มาจากวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยที่ให้ชนชั้นกลางไทยเป็นผู้ถืออำนาจ

    ในระบอบประชาธิปไตยหมู่มากแบบไทย “อำนาจ” จะเป็นอำนาจที่มีความหลากหลาย หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม หมอผีมีอำนาจ อำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองก็มีอำนาจ พระก็มีอำนาจ หมอช้าง หมอตำแย หมออะไรก็แล้วแต่ที่มีอยู่ก็ต่างมีอำนาจ ซึ่งสามารถจะนำอำนาจเหล่านี้มาคานกันได้ตลอดเวลา สรุปก็คือว่า ถ้าคุณต้องการเป็นประชาธิปไตย คุณต้องมีอำนาจที่มีฐานมาจากความหลากหลาย เมื่อไรก็ตามที่คุณมีอำนาจมาจากฐานเดียว ไม่ว่าจะเป็นจะกำลังอาวุธ หรือจากการเลือกตั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ การเป็นประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นไม่ได้ ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ถ้ามีฐานอำนาจที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเอาอำนาจนั้นมาคานอำนาจได้ แต่น่าเสียดายที่ประชาธิปไตยแบบไทยเหล่านี้มันไม่มีโอกาสได้พัฒนา

    ภายใต้ “ระบอบจักรวรรดินิยม” ที่ครอบงำประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาตอบสนอง “ระบอบจักรวัรรดินิยม” ไม่ใช่การพัฒนาประชาธิปไตย แต่มันกลับเป็นการพัฒนาระบบที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงวันนี้มันเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปอย่างไรบ้าง สิ่งสำคัญมันก็คือคนในรุ่นหลังเกิดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

    เวลาเราพูดถึงการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเราก็คิดถึงแต่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือการรวมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ หรืออะไรก็แล้วแต่เข้ามาอยู่ในการปกครองของรัฐ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือการรวมพื้นที่ทางวัฒนธรรมเข้าไปด้วย แปลว่าครั้งหนึ่งคุณเคยมีอำนาจทางศาสนาที่แยกออกต่างหากจากอำนาจกลาง คุณเคยมีอำนาจของท้องถิ่นที่แยกจากส่วนกลาง คุณเคยมีอำนาจของนักวิชาการ ซึ่งนักวิชาการคือนักวิชาการในท้องถิ่น นักวิชาการหลายสำนัก ยกตัวอย่างเช่น ตำราแพทย์หมอดู ไม่มีตำราทางการแพทย์เหล่านี้ แต่มันมีตำราของสำนักเชลยศักดิ์ เมื่อมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมันทำให้สำนักแพทย์อื่นๆ หายไป นักวิชาการทางแพทย์ศาสตร์เหลือแต่สำนักที่รัฐบาลกลางให้การรับรอง เพราะฉะนั้นการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางมันไม่ใช่การรวมพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่มันรวมพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย แปลว่าอำนาจศูนย์กลางมันครอบครองทุกอย่าง รวมถึงกบาลเราด้วย ทำให้คุณไม่สามารถคิดอะไรออกจากข้อจำกัดตรงนี้ได้

    สิ่งที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่สำคัญก็คือว่า ทั้งหมดมันกระจุกตัวอยู่ตรงกลาง ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือความคิดของคนเรา โดยอาศัยการสร้างระบบราชการแบบใหม่ ที่เป็นระบบราชการซึ่งมีสายที่เป็นเอกภาพขึ้นมา อันที่จริงระบบราชการแบบใหม่เกิดขึ้นในรัฐแบบใหม่ทั่วทุกแห่งในโลกก็ว่าได้ ตัวระบบราชการแบบใหม่เป็นตัวอันตราย เพราะมันเป็นตัวดึงอำนาจที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในมือประชาชนเข้ามารวมศูนย์ แล้วบอกว่าคุณควรจะจัดการป่าอย่างไร กำหนดการใช้ที่ดินอย่างไร เพราะฉะนั้นมันจึงอันตรายต่อในทุกสังคม แต่ในบางสังคมขณะที่มีการพัฒนาระบบราชการแบบใหม่ก็มีการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาจึงเกิดการคานอำนาจกันระหว่างระบบราชการที่เข้ามายึดกุมทรัพยากรกับอีกสถาบันหนึ่งที่เป็นตัวแทนทางการเมืองเข้ามาคานอำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร แต่ในระบบการปกครองที่ผ่านมา รวมทั้งระบอบอาณานิคม ไม่สามารถสร้างพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาคานอำนาจกับระบอบราชการแบบใหม่ ผลก็คือว่าระบบการแบ่งปันจัดสรรทรัพยากรตกไปอยู่ในมือของระบบราชการแบบใหม่โดยที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปปนได้เลย

    ทางเดียวที่คนไทยจะสามารถคานอำนาจระบบราชการได้ สรุปก็คือการกบฏ คุณต้องกบฏ ถ้าคุณไม่กบฏก็จะถูกราชการควบคุม ตั้งแต่เราสร้างระบบราชการใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หันไปดูประวัติศาสตร์แบบไม่เข้าข้างตัวเองประเทศไทยเต็มไปด้วยการกบฏ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะเข้าไปถ่วงดุลอำนาจของรัฐได้ เพราะเราไม่ได้พัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาคานอำนาจได้เข้มแข็งพอ ฉะนั้นการกบฏหรือการปฏิวัติ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่มันมีมาตั้งแต่ปีแรกๆ ทีมีการแปรรูประบบราชการ

    อำนาจทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นอำนาเดียวที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแย่งชิงมันมาได้ เพราะอยู่ในมือฝรั่ง ฝรั่งเป็นผู้ลงทุนให้เรา เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ภายใต้อำนาจของฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตามมันก่อให้เกิด “ชนชั้นกลาง” ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันหนึ่งคือมันก่อให้เกิดพ่อค้าคนจีน ซึ่งมีความแปลกประหลาดมาเพราะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จาก “ระบอบจักรวรรดินิยม” ปลดปล่อยพ่อค้าคนจีนให้มีเสรีภาพในการค้าขายระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นพ่อค้าคนจีนย่อมไม่เป็นศัตรูกับฝรั่ง นอกจากเป็นมิตรกับฝรั่งแล้วก็ยังเป็นมิตรกับชนชั้นปกครองไทยเองด้วย เป็นมิตรกับ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ด้วย เพราะร่วมกันหาประโยชน์ทางการค้า

    กลุ่มที่ 2 ต่อมาก็คือชนชั้นกลางมีการศึกษาสูงขึ้นมาและเป็นกลุ่มข้าราชการ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มพันธมิตรที่แนบแน่นกับ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นคือส่วนระบบราชการแบบใหม่ สร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างแนบแน่นกับระบบการปกครอง

    ชนชั้นกลางไทยแม้จะเป็นพ่อค้าก็จริง แต่ก็เป็นพ่อค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวอำนาจค่อนข้างมาก หรืออีกทีก็คือมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนการเมืองของกลุ่มข้าราชการ ก็เป็นการเมืองของชนชั้นกลางเพื่อแย่งทรัพยากรให้มาอยู่ในมือของหน่วยงานตนเองหรือตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น งบประมาณ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งผลของการกระทำนี้มันทำให้เกิดความแตกแยกกันเองในระบบราชการ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำในระบบราชการที่มีเยอะมาก เสนาบดีทั้งห้าคนคุมอำนาจในส่วนต่างๆ มันแตกแยกในระดับข้างบนลงมาถึงระดับล่าง และยังจะพบความแตกแยกของระบบราชการสืบต่อมาอย่างยาวนานมาก ภายใต้ระบอบเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้ระบอบเผด็จการทั้งร้อยแปด ภายใต้ความสัมพันธ์ ความจริงมันมีอะไรอิงมาเยอะแยะมากที่มันมีมาในระบบราชการตั้งแต่ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แล้ว

    อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ ตัวระบบราชการสอนให้เก่งเฉพาะด้าน เช่น การสอนให้เป็นทนายความ สอนให้เป็นหมอ สอนให้เป็นนักการข่าว สอนให้เป็นนักการเผยแพร่ จนทำให้คิดว่าสิ่งที่ถูกสอนและงานที่ได้ทำอยู่นั้นมีความสำคัญที่สุดในโลก คำว่า “สำคัญที่สุดในโลกนี้” แปลว่าสำคัญยิ่งกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการเริมระบบราชการแบบใหม่ไม่นานเท่าไหร่ก็มีการกบฏต่อผู้นำของระบบปกครอง สั่นคลอนความเป็นประมุขของฝ่ายบริหารของพระมหากษัตริย์ใน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เริ่มจากกลุ่มตุลาการที่ลาออกประท้วงในสมัยรัชกาลที่ 5 และกบฏของกลุ่มกองทัพหน้าที่ป้องกันชาติในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความคิดที่ว่าการป้องกันชาติสำคัญยิ่งกว่าระบบการปกครอง

    ทั้งสองจุดนี้คือที่มาของการเปลี่ยนแปลง 2475 คือในยุค 2475 ไม่ใช่ไปดูแต่โต๊ะกาแฟในกรุงปารีสแต่เพียงอย่างเดียว ต้องเข้าไปใน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่อ่อนแอในการปกครองประเทศ ที่ก่อให้เกิดการปฎิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

    อีกข้อหนึ่งที่เป็นข้อที่น่าสังเกต คือ ในระบบการเมืองของระบบราชการไม่เกี่ยวกับประชาชน ประชาราษฎรไม่เกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรของระบบราชการ ข้อที่สองต่อมาคือมันแยกชนชั้นกลางพ่อค้ากับราชการออกจากกัน ระบอบราชการไม่เคยคิดว่าจะไปหากลุ่มพันธมิตรจากพ่อค้าจริงๆ พ่อค้าเองก็ไม่คิดหาพันธมิตรที่เป็นระบบราชการ เพราะทั้งสองกลุ่มมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากเกินกว่าที่จะรวมกันได้ ฉะนั้นวัฒนธรรมการเมืองมันเป็นการรวมกันของชนชั้นนำ ไม่ใช่การรวมกันของคนทั้งประเทศ ประชาชนถูกกันออกจากการตัดสินใจทั้งหลาย

    สุดท้าย เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในวันนี้ จุดที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองของชาวบ้าน แต่มันเป็นวัฒนธรรมการเมืองของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางคุมสื่อ คุมการศึกษา คุมทุกอย่าง เป็นผู้ที่ผลักวัฒนธรรมไปให้กลุ่มอื่นๆ รับต่อไป ดังนั้นพลังอำนาจของชนชั้นกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่จะเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองไทยได้ต้องเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยทั้งประเทศ แต่คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเป็นของคนไทยทั้งประเทศ

    >>>>>>


    โดย: a_somjai วันที่: 12 พฤศจิกายน 2550 เวลา:2:50:41 น.  

     
    Link:ประชาไท / ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: “คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง”

    >>ต่อ >>

    สรุปลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยในปัจจุบัน 8 ประเด็น อันที่ 1.ชนชั้นกลางมีลำดับขั้นทางสังคมอย่างชัดเจน เป็นสังคมที่ “มีหัวมีก้อย” ชนชั้นกลางไทยเชื่อในสิทธิเสรีภาพของระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่เสมอภาค เพราะชนชั้นกลางเชื่อว่ามีคนบางคนเท่านั้นที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่การนำสิทธิเสรีภาพให้ไปอยู่ในมือคนบางคนมันทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น ชนชั้นกลางไทยเป็นชนชั้นที่มีความหวาดระแวงสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในมือคนอื่นเป็นอย่างมาก แต่อยู่ในมือตัวเองไม่เป็นไร

    2.ชนชั้นกลางไทยยังรับเอาคติ “รักความสงบเรียบร้อย” มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำว่าความสงบเรียบร้อยเป็นความต้องการของในทุกสังคม แต่ว่าความสงบเรียบร้อยของเรามีปัญหาก็คือจะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้หรือ คำถามก็คือว่า คำว่า Peace and Order ที่มีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งจริงๆ รับมาจากต่างประเทศมาอีกทีที่เป็นคำขวัญของระบอบอาณานิคมทุกแห่งในโลกนี้ คำถามก็คือว่าระบบ Peace and Order มันรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้ารับไม่ได้มันก็จะนำสู่ความรุนแรงในอนาคตแน่นอน

    3.ชนชั้นกลางเชื่อใน “อาญาสิทธิ์” ซึ่งก็คืออำนาจที่คนในสังคมเห็นว่าชอบธรรมทางกฎหมาย อย่างคนเอาปืนจี้คุณ มันมีอำนาจแต่ไม่มีอาญาสิทธ์ แต่ในขณะที่ตำรวจเอาปืนจี้คุณไปโรงพัก เขามีอำนาจมีอาญาสิทธิ์ แต่ชนชั้นกลางไทยนิยามคำว่าอาญาสิทธิ์ไว้แคบเกินไป จึงไม่สามารถรองรับอำนาจที่มีความหลากหลายได้ จนเกิดเป็นปัญหา และอำนาจที่เป็นอาญาสิทธิ์นั้นมีลักษณะอำนาจนิยมด้วย คือเป็นอำนาจที่เด็ดขาดฉับพลัน ปัญหาทุกอย่างในโลกแก้ไขได้ด้วยอำนาจ เมื่อมองว่าการใช้อำนาจคือการแก้ปัญหาแต่ไม่มองถึงวิธีการแก้วิธีอื่นเลย และยังมีอำนาจอื่นๆ อีกที่จะต้องจัดการมัน มันไม่ได้มีปัญหาเดียว

    4.โลกทัศน์ชนชั้นกลางไทยมีลักษณะ “นานาชาตินิยม” ใช้มาตรฐานของนานาชาติเป็นมาตรฐานเราหลายต่อหลายเรื่อง ใช้เหรียญทองโอลิมปิกหรืออะไรก็แล้วแต่มาอธิบายอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่แปลกมากที่ยังเชื่อในความโดดเด่นของตัวเองอยู่ด้วย ทั้งสองอย่างมันขัดแย้งกันเอง เรื่องนานาชาติ เรื่องความโดดเด่นของตัวเองเป็นความเชื่อที่ขัดแย้งและมีโจทย์ที่ชนชั้นกลางไทยสามารถชี้ว่า สิ่งนี้คือรับเข้ามาเป็นของเรา อันนี้ไม่ได้รับ อันนี้รับแล้วทำลายวัฒนธรรมของเรา อันนี้เราไม่รับเราจะไม่ทันเพื่อนบ้าน ต่างจากวัฒนธรรมนานาชาติที่เขาจะเป็นตัวชี้อยู่ตลอดเวลาว่าคุณควรรับหรือไม่รับอะไร

    5.คนชั้นกลางเชื่อเรื่องความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการปกครอง แต่ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางมันแคบ ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงในทางสังคมที่มนุษย์ต้องการ แต่เป็นเรื่องสะพานลอย เขื่อน ไฟฟ้า เฉพาะในเรื่องทางวัตถุเท่านั้น

    6.ชนชั้นกลางไทย “รักชาติ” เป็นอย่างมาก แต่คำว่าชาติของชนชั้นกลางนั้น เป็นความหมายที่ค่อนข้างแคบ ต้องมีลักษณะลงรอยเดียวกัน ไม่ว่าในแง่ศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์ ความภักดี ซึ่งมันไม่เป็นจริงในสังคมไทย

    7.ชนชั้นกลางไทยเชื่อในเรื่องเหตุและผล ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ๆ เชื่อในเหตุและผล แต่ความเป็นเหตุเป็นผลนี้มันตั้งอยู่บนกลไกทางวิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ 19 เมื่อร้อยปีที่แล้ว ที่มองเหตุผลเป็นความสัมพันธ์เชิงวัตถุ หรือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกลไกอยู่ตลอดเวลา ไม่คิดถึงเหตุผลเชิงวัฒนธรรม เหตุผลเชิงสังคม ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ

    8.เชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ปัญหาทั้งปวงได้ เพียงสิ่งเดียวแก้ปัญหาทุกอย่างได้

    และ สุดท้ายในท่ามกลางวัฒนธรรมแบบนี้ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คำถามก็คือว่า มันจะทันการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศหรือไม่ ถ้ามันไม่ทัน ผมคิดว่ามันคงพินาศ...


    โดย : ประชาไท วันที่ : 9/11/2550


    โดย: a_somjai วันที่: 12 พฤศจิกายน 2550 เวลา:2:51:55 น.  

     
    สวัสดีน๊าาา ทักทายจ้า สปาชา sparsha A Moment of Bride เจ้าสาว เสริมจมูก ศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมจมูก สลายไขมันด้วยความเย็น ลดเซลลูไลท์ Leg Squeezing ผิวเปลือกส้ม FIS หน้าท้องใหญ่ ตัวเล็กแต่มีพุง Body Contouring ลดสัดส่วนทั้งตัว ลดปีกด้านหลัง เนื้อปลิ้นรักแร้ เนื้อปลิ้น Build Muscle สร้างกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหน้าท้อง สลายไขมันหนา สลายไขมัน ลดไขมัน Lock Shape รักษารูปร่าง สลายไขมัน ลดสัดส่วน Oxy Peel ทำความสะอาดหน้า ทำความสะอาดหน้าแบบล้ำลึก ยกกระชับ Ulthera ปรับรูปหน้า ปัญหาผิวหย่อนคล้อย Beauty Shape สลายไขมันแบบเร่งด่วน ลดไขมัน ลดเซลลูไลท์ ผิวเปลือกส้ม สลายไขมันสะโพก กระชับผิว Sexy Mama แม่หลังคลอด รอยแตกลาย ปรับรูปร่าง กำจัดขน Hair Removal กำจัดขนถาวร สลายไขมันเหนียงด้วยความเย็น สลายไขมัน สลายไขมันเหนียง IV Drip ฟื้นฟูร่างกาย เสริมภูมิต้านทาน Bye Bye Panda Eye ลดรอยหมองคล้ำใต้ดวงตา ลดริ้วรอยใต้ตา นวดกระชับหน้าอก หน้าอกกระชับ อกหย่อนคล้อย Beauty Breast Lifting Enlarge Beauty Breast นวดอกเล็กให้ใหญ่ หน้าอกเล็ก ยกกระชับหน้า รักแร้ขาว รักแร้ดำ เลเซอร์รักแร้ขาว ผิวใต้วงแขน Love Fit กระชับช่องคลอด เลเซอร์กระชับช่องคลอด แก้ไขปัสสาวะเล็ด Meso Shine ผลักวิตามิน บำรุงผิว สวยด้วยเลือด รักษาผิว หนวดเครา กำจัดขนหนวด กำจัดขน กำจัดขนเครา เลเซอร์ขน เลเซอร์ขนถาวร กำจัดขนถาวร เลเซอร์เครา เลเซอร์หนวด กำจัดขน ยกกระชับ ร้อยไหม Thread Lift การดูดไขมัน ดูดไขมัน ศัลยกรรมตา 2 ชั้น ตา 2 ชั้น ศัลยกรรมตา สปาน้ำนม เพิ่มความชุ่มชื่น แก้ผิวแห้ง นวดผ่อนคลาย การนวดผ่อนคลาย Rest Time Aroma Massage Aroma Massage Acne Body Mist ลดรอยสิว ลดจุดด่างดำ ลดรอยดำ เลเซอร์ขนรักแร้ถาวร เลเซอร์ขน กำจัดขนรักแร้ กำจัดขนรักแร้ถาวร Former Lift ยกกระชับผิว ปรับรูปหน้า กำจัดขน บราซิลเลี่ยน กำจัดขนบราซิลเลี่ยน เลเซอร์ขน กำจัดขนที่ลับ กำจัดขนน้องสาว กำจัดขน เลเซอร์กำจัดขน เลเซอร์กำจัดขนบิกินี่ กำจัดขนบิกินี่ เลเซอร์ขนน้องสาวถาวร เลเซอร์ขนน้องสาว เลเซอร์ขนร่องก้น ฆ่าเชื้อสิว Acne Clear ปัญหาสิว เลเซอร์รักษาสิว Supreme White Lucent รักษาฝ้า ฝ้า กระ จุดด่างดำ ด็อกเตอร์ไลฟ์ doctorlife ศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมจมูก เสริมจมูก Cellulysis สลายไขมัน ulthera ยกกระชับ Acne Clear รักแร้ขาวเนียน เลเซอร์กำจัดขนถาวร กำจัดขน ร้อยไหม Freeze V Lift กำจัดไขมันด้วยความเย็น PRP ผิวหน้า PRP ผมบาง ผมร่วง เลเซอร์กระชับช่องคลอด กระชับช่องคลอด Love Fit สลายไขมันด้วยความเย็น Cell Repair ผิวขาวใส ลดสัดส่วน ปรับรูปร่าง Perfect Shape สลายไขมันแบบเร่งด่วน ฟิลเลอร์ Filler รักษาหลุมสิว Dual Yellow เลเซอร์หน้าใส Love Fit ปัญหาปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะเล็ด Oxy Bright ทำความสะอาดรูขุมขน Bye Bye Fat ลดไขมัน Luminous แสงสีฟ้า รักษาสิว ฆ่าเชื้อสิว ABO Active 3D Toxin IV Drip เพื่อสุขภาพและความงาม ยกกระชับผิว hifu ให้ใจ สุขภาพ


    โดย: สมาชิกหมายเลข 6258618 วันที่: 29 มีนาคม 2564 เวลา:15:50:06 น.  

    ชื่อ :
    Comment :
      *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
     

    a_somjai
    Location :
    เชียงใหม่ Thailand

    [Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




    Friends' blogs
    [Add a_somjai's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.