Group Blog
 
All blogs
 
ห้องเรียนชีวิต

เรื่องนี้ลงในจุดประกายนะครับ เขียนโดยพี่แพท นักข่าวสาวขวัญใจของเรา
---------------------------------------------------------

ห้องเรียนชีวิต

ธนิษฐา แดนศิลป์


แม้หลักการ'จิตวิทยา' จะสามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างละเอียด โดยเฉพาะกลไกจิตใจมนุษย์ แต่ก็ไม่อาจทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้งเหมือนพุทธศาสนา ลองตามไปดูนักศึกษาจิตวิทยาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ พวกเขานำมาใช้กับชีวิตอย่างไร



นอกจากสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นสถานที่ฝึกจิตฝึกใจของคนทั่วไปที่สนใจในแก่นแท้แห่งพุทธธรรมแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต และเป็นสถานที่ฝึกจิตสำหรับผู้ที่จะเติบโตไปเป็นนักจิตวิทยาในอนาคต โดยเฉพาะนักศึกษาคณะจิตวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกๆ ปีพวกเขาจะพากันมาเรียนรู้จิตวิทยาผ่านการทำความเข้าใจชีวิตที่อธิบายอย่างแยบคายไว้ใน 'พุทธธรรม'

“พุทธธรรมไม่ได้จำกัดอยู่ว่าเป็นศาสดา ศาสนา คำสอน แนวคิด หากแต่พุทธธรรมคือทั้งหมด คือต้นไม้ ท้องฟ้า แม่น้ำ ถนน แมลงปอ สัตว์ใหญ่น้อย และมนุษย์ วิถีทางนี้จึงเป็นหนทางที่ศิษย์และอาจารย์ร่วมกันเดินไปด้วยกัน แต่ก็ต่างกันไปตามวันและเวลาของแต่ละคนในการขัดเกลาตัวเอง ในการเข้าใจชีวิต”

1.

บุ๋ม-นิลภา สุขเจริญ นักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนที่เดินทางมาสวนโมกข์หลายครั้ง และเห็นว่าพุทธธรรมเปรียบเสมือนร่มใหญ่ที่ครอบคลุมกระบวนความรู้ของจิตวิทยาทั้งหมด

ครั้งนี้บุ๋มร่วมเดินทางมากับเพื่อนๆ นักศึกษากว่า 50 ชีวิต พวกเขามาใช้ชีวิตร่วมกันกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่สวนโมกขพลาราม มีตั้งแต่น้องๆ ปริญญาตรีที่เรียน วิชาจิตวิทยาพระพุทธศาสนาและการทำสมาธิ (Buddhist Psychological Principles and Meditation) พี่ๆ ปริญญาโท ด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในแนวพระพุทธศาสนา (Consulting within Buddhist Framework) และพี่ใหญ่สุดคือ ปริญญาเอก ด้านจิตวิทยาพระพุทธศาสนา (Buddhism Psychology)

ส่วนผู้ที่นำมาจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว ผู้อำนวยการ หลักสูตรจิตวิทยาการให้คำปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกๆ ปีอาจารย์จะพานิสิตนักศึกษามาสวนโมกข์เทอมละครั้ง เพื่อให้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในวัดวาอาราม พวกเขาตื่นตี 4 สวดมนต์ ตี 5 ทำสมาธิ กลางวันฟังพระสงฆ์ บรรยายธรรม ตอนเย็นสวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ และในแต่ละวันอาจารย์จะทำหน้าที่บรรยายเรื่องจิตวิทยาพุทธศาสนาให้นักศึกษาได้ฟังกัน

อาจารย์โสรีช์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากท่านพุทธทาส เขาจะเดินทางมาสวนโมกข์ปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งจะอยู่เป็นอาทิตย์ เขาปฏิบัติเช่นนี้จนกระทั่งถึงวันที่ท่านพุทธทาสสิ้น

“ตอนที่ไปพบท่าน เมื่อปี 2529 เวลาคุยกับท่านได้เข้าใจอะไรหลายอย่าง จากการฟังท่าน ได้รู้ในสิ่งที่ท่านตอบ ผมก็รู้สึกว่า ผมสว่างไสว ตั้งแต่นั้นมาผมก็รู้สึกว่าตัวเองเติบโต”

จากเดิมที่สอนจิตวิทยาแบบตะวันตกตามแนวทางที่เรียนมาจากอเมริกา กระทั่งปี 2529 อาจารย์โสรีช์ได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับท่านพุทธทาส จึงเข้าใจเรื่องพุทธศาสนามากขึ้น พร้อมกันนั้นก็คิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ และนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาจิตวิทยาที่ได้ร่ำเรียนมา

“ท่านมีอิทธิพลต่อผมและลูกศิษย์มาก พวกเรามีคำถามมากมายเกี่ยวกับชีวิต เพื่อจะใช้ในการรักษาตัวเอง รักษาคนอื่น และท่านพุทธทาสก็ช่วยให้เราเข้าใจตรงนี้”

2.

“บอม...เอ็งสั่งต้นไม้ให้มันขึ้นมาตรงๆ ได้ไหม สั่งใบไม้ได้ไหม” อาจารย์โสรีช์ ตั้งคำถามกับลูกศิษย์ระหว่างการเดินชมธรรมชาติในสวนโมกข์

การเดินครั้งนี้มิใช่แค่การเดินให้รู้จักสถานที่เท่านั้น แต่เป็นการเดินเพื่อรู้จักสิ่งแวดล้อมภายนอก และน้อมนำเข้าไปสู่สภาวะแห่งการเข้าใจโลกภายใน เช่นเดียวกับที่อาจารย์กำลังอธิบายเรื่องการสั่งต้นไม้

“ต้นไม้นี่ เราจะสั่งมันให้เป็นไปตามใจเราได้ไหม เราสั่งไม่ได้ ถึงแม้ต้นไม้จะไม่ตรง ถ้าเราอยู่กับมันได้ เราก็จะได้ประโยชน์จากต้นไม้ และอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าเมื่อไรเราต้องการให้มันตรง หรือต้องการจะเปลี่ยนให้มันเป็นไปตามใจเรา เราจะรู้สึกขัดเคือง ขัดแย้ง ไม่เป็นสุข”

อาจารย์โสรีช์ อธิบายถึงปัญหาของคนทุกวันนี้ที่เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจ ทำให้เกิดฐานของทัศนะที่ผิด ความคิดที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลไปถึงการกระทำ ถ้อยคำวาจาปั่นป่วน จะเหมือนมีอะไรมาทับถมจิตใจของเราให้หนักหน่วง(ทุกข์) ทุกข์ก็คือ ใจไม่สงบ ไม่ผ่องใส หลักการทางพุทธศาสนาที่นำมาอธิบายสิ่งนี้ได้อย่างชัดเจนก็คือ หลักอริยสัจ 4 หรือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งถือว่าเป็นหลักของความจริงในการดำเนินชีวิตของทุกคนในโลก

“สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพียงแต่ว่าใครมีมากมีน้อย แต่ถ้าเราสามารถรักษาให้สะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เราก็จะผ่องใสอยู่กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างกลมกลืนราบรื่น ถ้าไม่กลมกลืนราบรื่นกับสิ่งแวดล้อมมากๆ ปัญหาบุคลิกภาพ ปัญหาการปรับตัวก็เกิดขึ้น อาจจะมากเสียจนการทำงานของจิตใจเสียหายไป”

3.

สำหรับ ก๊ะ-สัณห์ชาย โมสิกรัตน์ นักศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา เล่าว่า การที่เขาได้มาสวนโมกข์แต่ละครั้ง ทำให้เขาได้เข้าใจคำว่า 'จิตที่สงบ' มากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียน

“ถ้าเราพูดถึงจิตที่สงบ มันก็จะเป็นระดับความเข้าใจหรือความจำตื้นๆ การไปที่สวนโมกข์ ทั้งบรรยากาศ และพระที่มาพูดคุย มาสอนเรา โดยองค์รวม ได้นำพาเราไปพบกับความสงบ ถ้าเราเปิดกว้างที่จะรับและเรียนรู้ เราก็ได้ประสบการณ์ที่แท้จริง ซึ่งลึกซึ้งกว่าการเรียนในห้องเรียน”

นอกจากความรู้ด้านพุทธศาสนาและจิตวิทยา การปรับตัวและเปิดใจกว้าง เพื่อยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ตรงที่แต่ละคนได้รับจากที่นี่ พวกเขาต้องทำความเข้าใจหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่หลับที่นอน คนรอบข้าง อาหารการกิน หากเราไม่เปิดรับ เราก็จะรู้สึกอึดอัดหงุดหงิดไปกับทุกอย่าง

“การปรับตัวและการเปิดใจรับตรงนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะออกไปเปิดรับและยอมรับกับสิ่งที่เราจะต้องเจอในชีวิต ไม่ว่าในที่ทำงาน บนรถเมล์ รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิต”

สำหรับการเรียนรู้และศึกษาพุทธธรรมที่สวนโมกข์ของนักศึกษาจิตวิทยาจะไม่มีความหมายอันใดเลย หากผู้เรียนไม่เปิดกว้างและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ซึ่ง 'พลอย'-ภิสสรา อุมะวิชนี นักศึกษาระดับปริญญาตรีปี 2 ด้านจิตวิทยาสังคม บอกว่า หลังจากกลับจากสวนโมกข์ครั้งนั้น ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองในหลายๆ เรื่อง และได้เข้าใจตัวเองและชีวิตมากขึ้นในหลายๆ มิติ

“ตอนที่กลับมาได้ไม่นาน เราต้องเผชิญกับความทุกข์ ทั้งเรื่องความเจ็บป่วยและการสูญเสียคุณพ่อ ก็เข้าใจได้ และคิดว่าเรามีหน้าที่ดูแลท่านให้ดีที่สุด แต่ไม่ไปยึดว่าท่านจะต้องมีชีวิตอยู่ตลอดไป ตอนนั้นใจเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเรายึดติดกับสิ่งต่างๆ น้อยลง โดยเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นของๆ เราอย่างแท้จริง แม้แต่ตัวเราเอง อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ทำให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมีน้อยลง รวมทั้งมีความเข้มแข็งในการเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ มากขึ้นด้วย”

พลอยบอกว่า โชคดีมากที่ตัวเองเรียนวิชาจิตวิทยา พุทธศาสนาและการทำสมาธิ (Buddhist Psychological Principles and Meditation) เลยมีโอกาสได้มาสวนโมกข์เป็นครั้งแรก ทำให้ตัวเธอเองได้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนาและจิตวิทยาอย่างชัดเจนมากขึ้น

“จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่ออธิบายสาเหตุของพฤติกรรมมนุษย์ ทั้งความคิดและการกระทำ มีระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาข้อมูล ทำให้มีความเข้าใจในกลไกของจิตใจมนุษย์มากขึ้น ส่วนพุทธศาสนา หากศึกษาให้ลึกซึ้งเราจะพบว่าพระพุทธเจ้าได้สอนวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยการฝึกให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิแล้วทำให้เรารู้จักกลไกของอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และนี่คือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน”

นอกจากนั้นเธอยังยกตัวอย่างให้เห็นว่า มีนักจิตวิทยาหลายท่านที่มีมุมมองคล้ายกับแนวคิดพุทธศาสนา อย่างคาร์ล กูสตาฟว์ จุง นักจิตวิทยาชาวสวิส ที่ได้ศึกษาด้านจิตวิเคราะห์ และเป็นผู้ทำให้แนวคิดด้านจิตใต้สำนึกเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเขาได้นำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยติดเหล้า โดยใช้กลวิธีการฝึกสมาธิ ทำให้ผู้ป่วยนับล้านคนหายจากอาการเสพติดได้ ซึ่งแนวทางการปฏิบัตินี้สอดคล้องกับเเนวคิดการฝึกจิตตามหลักพุทธศาสนา

การพานักศึกษามาสวนโมกข์ครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ว่า ไม่ว่าใครจะมาที่นี่เป็นครั้งแรกหรือหลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ก็คือ ได้เปิดขอบเขตการเรียนรู้วิชาจิตวิทยาออกไป และมีความเข้าใจชีวิตได้อย่างลึกซึ้งจากพุทธธรรม สามารถกลับไปใคร่ครวญ ตอบคำถาม หาคำตอบกับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ และพร้อมที่จะก้าวออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ออกจากที่มืดไปสู่ที่สว่างตามแนวทางพุทธจิตวิทยา

เช่นเดียวกับ วิโรจน์ เตรียมตระการผล นักศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา พยายามอธิบายว่า เมื่อนำจิตวิทยามาเชื่อมโยงกับพุทธธรรม มันก็จะเป็นมากกว่าทฤษฎีที่เรียนในหนังสือ ยิ่งเห็นว่าจิตวิทยา ก็คือ การเข้าใจชีวิต ดังนั้นการเข้าใจชีวิตก็ต้องกลับมามองที่ตัวเรา เช่นเดียวกับในทางพุทธศาสนา เมื่อเข้าใจชีวิตตัวเอง ก็จะสามารถนำพาคนอื่นให้เข้าใจชีวิตได้ด้วย

'พลอย'-ภิสสรา เสริมว่า การที่เราจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เต็มที่นั้น เราต้องฝึกฝนตัวเองให้มีจิตใจที่เข้มแข็งก่อน การเรียนรู้นี้ต้องเริ่มจากการทำความรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจชีวิต และสร้างความเมตตาให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

“ดังนั้นการเรียนจิตวิทยา และการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา ย่อมช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะออกไปเป็นนักจิตวิทยาที่ดีได้”


จิตวิทยากับพุทธศาสนา

“พุทธศาสนาไม่มีจิตวิทยา พุทธศาสนาก็อยู่ได้ แต่จิตวิทยาจะเติบโตไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพุทธศาสนา”

ศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรจิตวิทยาการให้คำปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้หนึ่งที่พยายามผลักดันให้เกิดการเรียนพุทธจิตวิทยา และพยายามนำโลกตะวันออกมาเชื่อมโยงกับโลกตะวันตก ผ่านจิตวิทยาและพุทธศาสนา

จากคำถามเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในใจมานาน เขาครุ่นคิดและพยายามหาคำตอบว่า “จิตวิทยาแบบตะวันออกหรือจิตวิทยาแบบไทยนั้นมีไหม” รวมไปถึงการเห็นว่าจิตวิทยาในโลกทัศน์แบบตะวันตกค่อนข้างตีบตันได้ผลักดันไปสู่การทำความเข้าใจและศึกษาศาสตร์ตะวันออก โดยเฉพาะในพุทธศาสนา มีการอธิบายในเรื่องจิตใจอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน

“การที่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมของพุทธศาสนา ต้องไปวัดไปวา คุยกับพระสงฆ์องค์เจ้า ตามประเพณีของเราอยู่บ้าง ทำให้คำถามอย่างนี้มันเกิดขึ้น จนกระทั่งผมเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ ก็ยังมีคำถาม แต่ส่วนใหญ่เป็นคำตอบของจิตวิทยาตะวันตก จนกระทั่งผมมีโอกาสไปเรียนปริญญาเอก เวลานั้น ผมอยากจะบอกกับเพื่อนฝรั่งว่า ความจริงที่บ้านผมมีของดีเหมือนกันที่สามารถอธิบายจิตใจ อธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง นั่นคือพุทธศาสนา”

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์โสรีช์เมื่อปี 2521 เลือกที่จะทำเรื่องการนำหลักอริยสัจ 4 มาใช้ในการแก้ปัญหาจิตใจ แต่กว่าที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ผ่านเวลามายาวนาน

“เมื่อก่อนเราเข้าใจเป็นตัวหนังสือ โดยไม่เคยนำมาใช้ในเรื่องของการทำสมาธิหรือวิปัสสนาอะไรทั้งนั้น โชคดีที่มีโอกาสคุยกับคนที่มาหาผม และเอาปัญหาที่เขาเผชิญในเรื่องของจิตใจมาให้ผมช่วยดู ผมได้เรียนรู้อะไรจากเขามาก ช่วยให้ผมได้เข้าใจ นำทั้งสองอย่างมาประยุกต์ มาประกอบ และเชื่อมเข้าหากัน ซึ่งตอนนี้ผมก็ใช้พุทธศาสนาเป็นหลักในการมองปัญหาในใจของคน”

อาจารย์โสรีช์อธิบายว่า พุทธธรรมเป็นเรื่องของความเข้าใจ เรื่องของโลกและชีวิตที่ลึกซึ้งที่สุด คนตะวันออกจะตั้งคำถามว่า ธรรมชาติคืออะไร ชีวิตคืออะไร เมื่อเข้าใจลึกซึ้งแล้ว ยกระดับจิตใจของตัวเองจนอยู่กับความจริงได้ ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ ความปั่นป่วนทางด้านจิตใจของเราก็แทบจะไม่มีเลย

“ปัญหาเรื่องในใจของคน ถ้าเป็นแนวคิดตะวันตก เขาก็จะอธิบายและหาสาเหตุอย่างที่เขาเข้าใจได้ ทีนี้ผมก็ลองมาดูว่า เมื่อตะวันตกมองอย่างนี้ แล้ว ตะวันออกมองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธ ผมพบว่าปัญหาในใจนั้น คนตะวันตกมองถึงอาการและเหตุอย่างหนึ่ง ส่วนตะวันออกหรือพุทธศาสนามองอีกอย่าง เมื่อเอามาเทียบกัน บางอย่างมันซ้อนกัน แต่พุทธศาสนากว้างขวาง ครบถ้วน ลึกซึ้งมากกว่า เราสามารถนำมาแก้ไขปัญหาของเราเอง และเพื่อนมนุษย์ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

นอกจากการนำนักศึกษาคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มาทำความรู้จักพุทธธรรมที่สวนโมกข์แล้ว อาจารย์โสรีช์ยังพยายามนำนักศึกษาสาขาอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้เรื่องจิตใจควบคู่กับหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้พวกเขาจมอยู่ในความทุกข์และไม่เบียดเบียนตนเองเท่านั้นแต่จะไม่ใช้ความรู้ของตนไปเบียดเบียนสังคมและผู้อื่นอีกด้วย




Create Date : 05 กรกฎาคม 2549
Last Update : 5 กรกฎาคม 2549 23:04:35 น. 0 comments
Counter : 975 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

KruBomb Thatti
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add KruBomb Thatti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.