~ ~ + + + + + The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing + + + + + ~ ~
 
 

ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้...ไหว้เจ้ารับโชคปีฉลู

เครดิต : //www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9520000008314

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

วันตรุษจีนถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ชาวจีนให้ความสำคัญที่สุดในรอบปี เพราะเป็นการก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่เพื่อชีวิตใหม่ ซึ่งจะต้องมีประเพณีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

พิธีกรรมการไหว้ตามประเพณีของคนจีนนั้นจะทำกันอย่างยิ่งใหญ่หลายวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2552 เป็นวันไหว้ส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์ ของสำคัญในการไหว้ได้แก่ ขนมแป้งข้าวเหนียวพร้อมกับน้ำตาลทรายแดง วันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2552 เป็นวันจับจ่ายซื้อของเตรียมไหว้เจ้า

พอขึ้นวันที่ 25 มกราคม หรือวันสิ้นปีของคนจีนจะมีการจัดเครื่องไหว้ โดยทั่วไป ชาวจีนนิยมจัดของไหว้แบ่งเป็น เนื้อสัตว์ห้าชนิด(โหงวแซ)หรือสามชนิด(ซาแซ) ผลไม้(ห้าหรือสามชนิด) ขนมหวาน(ห้าหรือสามชนิด) กับข้าวคาว กับข้าวเจ สุรา น้ำชา ข้าวสวย และกระดาษเงินกระดาษทองประเภทต่างๆ (แยกเป็นของเทพเจ้า กับ วิญญาณ) ทั้งหมดทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับฐานะ ความพร้อมทางการเงิน สำคัญว่า ไหว้จ้าวแล้ว อย่าให้ตนและครอบครัว ต้องเดือดร้อนก็แล้วกัน

การไหว้นั้นจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงเช้า จากนั้นจึงตั้งเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และหลังเที่ยงเป็นต้นไปบางบ้านอาจจะไหว้วิญญาณไร้ญาติ สัมภเวสีทั้งหลาย เป็นการทำบุญทำทานส่งท้ายปีเก่า

การปฏิบัติอีกประการหนึ่งที่ชาวจีนนิยมมากเกี่ยวกับการขอให้บังเกิดลาภผลกับตนเอง ด้วยการบูชากราบไหว้ขอพรจากเทพจ้าวท่านหนึ่ง คือ “เทพจ้าวแห่งความมั่งคั่ง”หรือ “เทพจ้าวแห่งโชคลาภ” ที่ชาวจีนเรียกท่านว่า “ไฉสิงเอี๊ย”หรือ “ไฉเสิน-เอี๊ย”



“เทพจ้าวแห่งโชคลาภ”ในประวัติตำนานของจีน มีจำนวนมากมายหลายท่าน แบ่งออกเป็นยุคสมัย ตามสมัยของราชวงศ์ต่างๆ แล้วแต่ประชาชนและกษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆจะสถาปนาขึ้นมาเป็นความภาคภูมิของตนเอง แต่เทพจ้าวแห่งโชคลาภที่ได้รับการกล่าวขานถึงและนิยมมากที่สุด เห็นจะเทพจ้าวแห่งโชคลาภที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ “โจว”โบราณ ประกอบด้วย เทพแห่งโชคลาภภาคขุนนางเสนาบดี หรือเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋นและอีกท่านหนึ่งคือ เทพแห่งโชคลาภภาคนักรบ หรือเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบู๋ กล่าวคือเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋น มีชื่อว่า “ผี่กาน”เป็นเสนาบดีที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยมาก มีอุปนิสัยชอบแจกเงินทองของมีค่าแก่ชาวบ้านทั่วไป ไม่เลือกคนร่ำรวย ยากดีมีจน คนดีหรือคนเลว ชอบแจกปันชนิดไม่เลือกหน้าไม่เลือกชั้นวรรณะ

ภาพลักษณ์ของเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋น “ผี่กาน” มักจะสวมอาภรณ์ชุดสีแดง สวมหมวกเสนาบดีที่มีปีกสองข้าง หน้าตาอิ่มเอิบไร้ทุกข์ ยิ้มแย้ม หัวร่อ นิสัยออกจะเพี้ยนๆบ้าง มือถือเงินทองกองใหญ่ มีเด็กเล็กเป็นบริวารวิ่งตามอย่างร่าเริงจำนวนมากมาย ส่วนเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบู๋ มีชื่อว่า “เจ้ากงหมิง”เป็นนายพลที่มีวิชาอาคมแก่กล้ามาก สำเร็จวิชาไสยเวทย์ ยุทธศาสตร์บนเทือกเขา“ง๊อไบ๊”หรือ “เอ๋อเหมย” มีเสือสมิงเป็นพาหนะและเป็นบริวาร ที่ได้มาจากคราวที่ปราบปีศาจเสือสมิงมากฤทธ์ที่มาคอยกัดกินทำร้ายชาวบ้าน เป็นนายพลที่มีอำนาจบารมีมาก หน้าตาขมึงทึง ไว้หนวดแข็งบาน สวมชุดนายทหารเต็มยศ มือหนึ่งถือกระบองวิเศษสามารถปราบปีศาจร้ายได้ อีกมือหนึ่งถือถังเงินถังทองวิเศษ ที่ได้รับจาก เทพปรมาจารย์ชื่อ“เจียงไถ้กง” หรือ “เจียงจื่อหยา”ภายในเต็มไปด้วยเพชรนิลจินดาของมีค่า ที่หยิบออกมาได้ไม่รู้จักหมดสิ้น กิริยาบทจะยืนบนหลังเสือหรือขี่เสือสมิงที่เป็นบริวาร เป็นคู่ขับเคี่ยวแข่งขันบารมีของ “ผี่กาน”มาตลอด ทั้งสองท่านเกิดในยุคสมัยเดียวกัน ประชาชนส่วนมากนิยมเทพแห่งโชคลาภฝ่ายบู๋มากกว่า เพราะนอกจากมีความมั่งคั่งแล้วยังมีอำนาจมากมหาศาลด้วย จึงเชื่อว่า เมื่อกราบไหว้บูชาท่าน จะส่งผลให้บังเกิดทั้งความร่ำรวยและมีอำนาจบารมีพร้อมกันไปด้วย

ชาวจีนจะนิยมมากในการขอพรแห่งโชคลาภในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันตรุษจีน เพราะถือว่าเป็นวันแห่งการริเริ่มในสิ่งที่เป็นมงคลเป็นสิ่งดีงาม แต่ขบวนการและบทบาทการขอพรก็จะต้องมีขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อนตามไปด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่า เทพแห่งโชคลาภจะโคจรอยู่เสมอไม่หยุดนิ่งที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ เพราะจะต้องสัญจรไปแจกปันความมั่งคั่งความสุขตามที่ท่านเคยได้ตั้งปฏิปทาไว้ ในเทศกาลวันตรุษจีน ช่วงเวลาแรกสุด(ยี่สิบสามนาฬิกาของเวลาสากล ชาวจีนถือเป็นเวลาที่หนึ่งหรือยามแรกของวันใหม่แล้ว)ของวันแรกของเดือนแรกของปี ชาวจีนเรียกว่าแทบทุกบ้าน จะต้องขะมักเขม้นที่จะเตรียมการจัดของ อาหารชั้นเลิศทั้งอาหารเจ ของคาว ของหวาน ผลไม้ชื่อมงคลรวมกันหลายสิบชนิด พร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง ทองคำแท้แท้ เพชรนิลจินดา(ที่ว่านี้เป็นเฉพาะครอบครัวที่มีอันจะกินมากๆเท่านั้น)เสื้อผ้าสีสวยงามที่ดีที่สุดมาจัด เพื่อถวายไหว้แก่เทพจ้าวแห่งโชคลาภ


การจัดข้าวของบนโต๊ะจะจัดอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบ เรียงตามลำดับความสำคัญ ตามชนิดของอาหาร แยกประเภทอย่างพิถีพิถัน อาหารแต่ละชนิดจะมีเสียงเรียกพ้องกับเสียงของคำมงคลทั้งสิ้น แม้สัตว์ต่างๆบนโต๊ะบูชาก็จะมีความหมายเป็นมงคลทั้งหมด ผลไม้ที่ขาดไม่ได้คือ “ส้มมหามงคล”สีทองที่ชาวจีนเรียกว่า “ส้มไต่กิก”เพราะมีความหมายหมายถึงความสวัสดีมงคลอย่างยิ่ง

การไหว้เทพแห่งโชคลาภในคืนวันสุดท้ายคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาแรกสุดของวันใหม่ปีใหม่ถือเป็นประเพณีสำคัญหลักทั่วไปอย่างขาดมิได้ และนิยมไหว้กันโดยเฉพาะสถานที่ ที่เน้นเพื่อการอยู่อาศัย เพื่อการพักผ่อน เช่น บ้าน ร้านค้า

นอกจากการจัดอย่างพิถีพิถันมีความหมายแล้ว ยังมีความเชื่อในเรื่องของการเลือกเวลาไหว้ให้เหมาะกับบุคคลที่มีปีเกิดแตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่นการไหว้เทพแห่งโชคลาภสำหรับสถานที่ที่เป็นร้านค้า ที่ประกอบการธุรกิจ ถือว่าเทพแห่งโชคลาภเป็นเทพที่สำคัญมากสำหรับผู้ทำมาค้าขาย การไหว้บูชาประเภทนี้จะดูฤกษ์งามยามดีของแต่ละบุคคล ว่าวันและเวลานั้นเป็นมงคลกับตนหรือไม่ วันและเวลานั้นเป็นโทษกับตนหรือไม่ จะพยายามเลือกวันที่เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อใช้เป็นฤกษ์ในการเปิดร้านค้าหรือทำกิจการธุรกิจเป็นวันแรกในปีนั้นๆ โดยอาจเลือกเปิดกิจการพอเป็นพิธีตามฤกษ์ที่ดี แล้วปิดร้านเพื่อไปพักผ่อนหรือท่องเที่ยวจนเห็นสมควรหรือเหมาะสมสะดวกแก่สถานการณ์แล้วจึงดำเนินกิจการจริงจัง
หรือเลือกที่จะใช้ฤกษ์ที่ดีในการเปิดร้านธุรกิจเป็นวันแรกแล้วดำเนินการต่อเนื่องไปเลยตามแต่สมควรของแต่ละกิจการแต่ละบุคคล อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ การไหว้ให้ถูกต้องตามทิศของแต่ละวัน เพราะมีความเชื่อว่า เทพแห่งโชคลาภจะสัญจรเปลี่ยนตำแหน่งไปตลอดเวลา การจัดโต๊ะเพื่อทำการบูชาเทพจึงต้องพิจารณาทิศทางที่เทพสถิตย์อยู่ให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน เรียกว่าไหว้ให้ถูกเวลา(ฤกษ์ดี) ไหว้ให้ถูกสถานที่(ชัยภูมิดี) ไหว้ให้เหมาะกับบุคคล(นักษัตรปีเกิดดี) และยังไหว้ให้ถูกขั้นตอนประเพณีอีกด้วย(ขบวนการ วิธีการดี)

สำหรับปีนี้การไหว้ไฉซิ่งเอี้ยช่วงเวลาที่ดีที่สุดอยู่ระหว่าง 03.00 -05.00 น. ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 26 มกราคม

ข้อมูล : อ.วิศิษฏ์ เตชะเกษม




 

Create Date : 24 มกราคม 2552   
Last Update : 24 มกราคม 2552 8:47:05 น.   
Counter : 2973 Pageviews.  


ชวนคนรุ่นใหม่ไหว้เจ้าตรุษจีน

เอาวิธีไหว้ตุษจีนจากเวปผู้จัดการเก็บไว้ในบล๊อกครับ เห็นมีประโยชน์ดีสำหรับคนรุ่นใหม่แบบผม

เครดิต : //www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9520000007782

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ชวนคนรุ่นใหม่ไหว้เจ้าตรุษจีน

สำหรับคนที่มีเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำพิธีไหว้เจ้าแบบจีนนั้น สามารถทำได้เพราะไม่ยาก และสามารถเตรียมอาหารของไหว้ได้ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว ซึ่งปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนก็ยังยึดถือทำพิธีไหว้เจ้ากันจำนวนมาก แต่ก็มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยที่หยุดไหว้เจ้าไปเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ หรือไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านเรือน ซึ่งสำหรับปีก่อนๆ หากไม่ได้ทำการไหว้เจ้าตรุษจีนก็สามารถเริ่มใหม่ในปีนี้ได้ ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูและรักษาประเพณีที่ดีงามไว้ โดยพิธีจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตรุษจีน 7 วัน

โดยก่อนเทศกาลตรุษจีน 7 วัน ให้เริ่มการไหว้เจ้าเตา ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำบ้านให้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ โดยนิยมไหว้ด้วยของหวานและผลไม้ เพื่อให้เจ้าเตาขึ้นสวรรค์ไปพูดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งจะใช้ผลไม้และของหวานจำนวนกี่ชนิดก็ได้ และจะเริ่มมีการปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนตั้งแต่นี้ เพราะวันตรุษจีนจะไม่มีการทำความสะอาดใดๆ

จากนั้นจะเริ่มมีการตกแต่งบ้านเรือน ที่นิยมกันมากคือจะมีการปิดป้ายกลอนคู่ หรือรูปเทพเจ้า ตามประตูและช่องทางเดินต่างๆ เพื่ออวยพรให้เกิดสิริมงคลในบ้านเรือน รวมทั้งมีการแขวนโคมไฟเพื่อประดับประดาให้ความสวยงามด้วย ซึ่งบางครอบครัวก็อาจจะติดป้ายเหล่านี้ในวันปีใหม่ หรือหลังจากกลับไปทำงาน แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน

3 พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า-บรรพบุรุษวันสิ้นปี
ต่อมา ในวันสิ้นปี คนจีนจะนิยมเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในวันนี้ โดยหลักการแล้ว คนจีนจะถือว่าเป็นการไหว้เพื่อตอบแทนที่เทพเจ้าให้ความคุ้มครองตลอดปีที่ผ่านมา และขอให้เทพเจ้าคุ้มครองในปีใหม่ด้วย ซึ่งคนจีนจะเซ่นไหว้โดยตอบแทนความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตในปีใหม่ ไม่มีการบนบานศาลกล่าว

พิธีการเซ่นไหว้ที่ถูกต้องนั้นจะมี 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
ตอนเช้ามืด จะมีการไหว้เทพเจ้าต่างๆ (ไป๊เล่าเอี๊ย) โดยสามารถไหว้ได้ตั้งแต่ตี 5 เป็นต้นไปโดยการเตรียมโต๊ะไหว้เจ้านั้นส่วนใหญ่จะประกอบด้วย เนื้อสัตว์ต่างๆ นิยมไหว้เป็น ซาแซ กับ โหงวแซ โดย “ซาแซ” หรือไหว้เนื้อสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ เป็ดไก่หมู หรือเป็ดไก่ปลาก็ได้ อยู่ที่แต่ละบ้านเรือนจะจัด หรือ “โหงวแซ” คือการไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ 5 ชนิด คือนอกจาก 3 ชนิดข้างต้นก็สามารถใช้เนื้อสัตว์อื่นๆ ให้ครบ 5 ชนิด ที่นิยมนำมาเป็นเครื่องไหว้ได้แก่ ห่าน,ปลาหมึก,กุ้ง,ปู และตับหมู นอกจากนี้ก็จะมี เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ในการไหว้เทพเจ้า ส่วนใหญ่ก็จะมีการอธิษฐานในทำนองขอขอบพระคุณที่เทพเจ้าให้ความเมตตาคุ้มครองตลอดทั้งปี และได้จัดอาหารเครื่องบูชาต่างๆ เพื่อสักการะไว้แล้ว

ตอนสายจะเริ่มประมาณ 9.00-12.00 น.จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ (ไป๊เป้บ๊อ) นอกจากซาแซ หรือโหงวแซที่จัดเตรียมไว้ไหว้เทพเจ้าตอนเช้าไปแล้ว สามารถใช้ในการไหว้บรรพบุรุษได้อีก แต่ต้องเพิ่มกับข้าวในจำนวน 6 อย่าง 8 อย่าง หรือ 12 อย่าง ตามกำลังแต่ละคน พร้อมทั้งต้องมีการตั้งข้าวเท่าจำนวนบรรพบุรุษ รวมถึงจัดวางเครื่องถ้วยชาม ตะเกียบ ถ้วยน้ำชา ตามจำนวนบรรพบุรุษ และเตรียมน้ำชา และเหล้าจีนวางไว้ด้วย ซึ่งหากเลยเที่ยงวันไปแล้วจะไม่นิยมไหว้ แต่จะมีการเก็บโต๊ะไหว้เจ้าแล้ว

ขนม-ผลไม้แห่งความมงคล
ส่วนขนมหลักๆ จะมีซาลาเปา ขนมถ้วยฟู และขนมเข่ง โดยขนมเข่งนั้นในเมืองไทยจะมีลักษณะเป็นขนมเข่งที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวนำมากวนน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาหยอดลงกระทงใบตองก่อนนำไปนึ่ง แล้วแต้มสีแดงเข้าไป ซึ่งเป็นขนมเข่งเหมือนขนมเข่งในพื้นที่จีนตอนใต้ มีชื่อว่า “เหงียนเตง”แปลว่าขนมปีใหม่ ซึ่งสำหรับคนแต้จิ๋วมักจะนำไปใช้ในงานมงคลอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ปีใหม่,ตรุษจีน,สาร์ทจีน,งานแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งเช่นเดียวกับชาวฮกเกี๊ยนที่จะทำขนมเข่งจากแป้งข้าวเหนียว ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะทำขนมเข่งจากแป้งสาลี สำหรับกวางตุ้ง ขนมเข่งของที่นี่จะมีไส้ต่างๆ ด้วย

สำหรับเมืองไทย จะเห็นว่าการไหว้เจ้าในเมืองไทย นอกจากขนมเข่งแล้วจะมีการไหว้ขนมเทียนควบคู่ไปด้วย สำหรับขนมเทียนนี้ จริงๆ แล้วเป็นขนมของไทย ในเมืองจีนจะไม่มีการไหว้กัน แต่เมื่อคนจีนมาอยู่ในเมืองไทย จึงรับวัฒนธรรมขนมนำมาผสมผสานในการไหว้ โดยคนจีนได้นำขนมเทียนมาเติมสูตร โดยผสมกับหญ้าชนิดหนึ่งที่จะให้รสชาติหวาน จะมีสีดำ คล้ำๆ ออกสีเขียว จากนั้นจึงทำมาทำขนมเทียนซึ่งจะมีไส้มะพร้าวกวนให้หวานอยู่ด้านใน และมีความเหนียว ซึ่งเชื่อว่าการกินของหวานๆ จะทำให้ชีวิตมีแต่เรื่องดีๆ มีความสุขทั้งปี และความเหนียวแสดงถึงความเหนียวแน่น กลมเกลียว

นอกจากขนมที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีการไหว้ขนมอื่นๆ ผสมด้วย ที่นิยม ได้แก่ ขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับต่างๆ ขนมกุช่ายรูปลูกท้อที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีสิริมงคลด้วย ซึ่งบางบ้านก็มักนำขนมเค้กมาไหว้ร่วมด้วยก็สามารถทำได้ เพราะมีความฟูเหมือนขนมถ้วยฟู

สำหรับผลไม้ นิยมไหว้ด้วยผลไม้ 3 หรือ 5 ชนิดแล้วแต่เลือก ส่วนใหญ่คนจีนมักเลือกเซ่นไหว้ผลไม้ที่มีชื่อพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น

ส้ม คนจีนออกเสียงว่า “ไต่กิก” แปลว่า มหามงคล ซึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ปกตินิยมใช้ส้มจี๊ดลูกเล็กๆในการไหว้ แต่ในเมืองไทยส้มจี๊ดหาได้ยาก จึงนำส้มลูกใหญ่มาใช้แทนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน หรือส้มสีทองถือว่ามีความหมายดีเช่นกัน

แอปเปิ้ล หรือ “ผิงผั่ว”ตามภาษาจีนกลาง และเผ่งกล้วยที่พ้องเสียงกับคำว่าเผ่งอั้ง แปลว่า ความสงบสุข

สาลี่ หรือ สัปปะรด ภาษาจีนเรียกว่า “ไล้” แปลว่าเงินทองไหลมาเทมา

กล้วยหอม คนจีนเรียกว่า “เก็งเจีย” แปลว่าเรียกกลับเข้ามา มีความหมายถึงการเรียกโชคลาภเข้าบ้าน

กล้วย คำจีนเรียกว่า "เกงเจีย" มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

องุ่น หรือ “ผู่ท้อ” มีความหมายว่า เฟื่องฟู

“กลุ่มนี้เป็นผลไม้ที่มีชื่อพ้องเสียงกับภาษาจีนที่มีความหมายมงคล นิยมนำมาใช้ไหว้เจ้ากันมาก แต่ก็มีผลไม้ชนิดอื่นที่มีความหมายมงคลตามลักษณะของมันด้วยได้แก่ ทับทิม และลูกพลับ”

ทับทิม มีความหมายว่าให้มีลูกหลานมาก มีความมั่งคั่ง

ลูกพลับ มีความหมายว่า ให้มีความสุขตลอดปี

หลังจากไหว้บรรพบุรุษเสร็จ บางบ้านจะมีการไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งปกติจะไม่นิยมไหว้กันในวันตรุษจีนแต่จะไหว้ในช่วงสาร์ทจีน แต่ก็สามารถทำได้หากอยากเผื่อแผ่ให้ผีไม่มีญาติเหล่านี้

ตกเย็น ก็จะมีการร่วมรับประทานอาหารของคนในครอบครัว โดยมักทานอาหารที่เหลือจากการเซ่นไหว้นี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดมงคลกับทุกคน

ปีนี้เทพเจ้าโชคลาภมาทางทิศตะวันออก
จากนั้นเมื่อถึงเวลา 23.00 น.เป็นต้นไป ก็จะมีการไหว้เทพเจ้า “ไฉ่ซิ้งเอี้ย” หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ปัจจุบันถือว่ามีความนิยมไหว้ไฉ่ซิงเอี้ยกันมาก โดยปกติจะต้องมีการเซ่นไหว้ตามทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์ ซึ่งแตกต่างกันทุกปี ในปีนี้เทพไฉ่ซิ้งเอี้ย จะมาทางทิศตะวันออก ฤกษ์ดีคือตั้งแต่เวลา 23.00 น.เป็นต้นไป จึงจะต้องตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ของไหว้ใช้แบบง่ายๆ ได้แก่ ส้ม อาหารเจ ขนมอี๋ ขนมสาคูสีแดง น้ำชา ธูป 3 ดอก กระดาษเงินกระดาษทอง 12 แผ่น และเทียนแดง ในการไหว้นั้นจำเป็นต้องไหว้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้ธูปหมดเสียก่อน พอจุดธูปเสร็จครบทุกคนในบ้านก็สามารถเชิญเทพเจ้าเข้าบ้านได้เลย เนื่องจากเชื่อว่าต้องรีบเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภเข้าบ้านให้เร็วที่สุด ไม่เหมือนพิธีไหว้พระจันทร์ที่เป็นประเพณีในการชมจันทร์ และอยู่ร่วมกับครอบครัว หากไหว้นาน เทพเจ้าก็จะยังอยู่แต่หน้าบ้านไม่เข้าบ้านเสียที ซึ่งตรงนี้ยังมีความเข้าใจกันผิดอยู่มาก เพราะมักไหว้นาน

ทั้งนี้ในการไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ สามารถทำอย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน โดยจุดธูป 3 ดอก จุดเทียนสีแดงมงคล มีกระดาษเงินกระดาษทอง 12 แผ่น หันหน้าไปทางทิศที่ตรงกับทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์ในปีนั้นๆ เช่นปีนี้ก็ให้หันหน้าไปทิศตะวันออก พร้อมทั้งอธิษฐานในทำนองว่า ขออัญเชิญให้ท่านเทพเจ้าเข้ามาในบ้าน นำโชคลาภมาให้กับคนในครอบครัวของข้าพเจ้า

อย่างไรก็ดี ทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์นั้น โดยปกติแล้วคนจีนจะใช้ตำราที่เป็นปฏิทินของฮ่องกงเป็นหลัก แต่ในเมืองไทยปัจจุบันมีซินแสมากมาย จึงแนะนำให้ตั้งโต๊ะหันไปทิศทางที่ต่างกันไป รวมทั้งบางบ้านอาจสับสนเรื่องทิศทางด้วย จึงทำให้พบเห็นว่ามีการตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย โดยหันหน้าโต๊ะต่างกันก็มี

หลังจากนั้นจะเป็นการไหว้ตรุษจีนในวันที่ 26 มกราคม 2552 โดยจะมีการไหว้แต่เช้า ใช้ของไหว้ประกอบด้วย ขนมอี๋ สาคูต้มหรือบัวลอยที่ใส่สีแดงเข้าไป มีรสหวาน บางบ้านก็นิยมไหว้อาหารเจด้วย เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ เว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยจะเป็นการไหว้ทั้งเทพเจ้าและบรรพบุรุษ หลังจากนั้นจะมีการเดินทางไปอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่ตามลำดับอาวุโส ตั้งแต่วันชิวอิก (ตรุษจีน) จนถึงวันชิว 4 หรือวันที่ 4 หลังวันตรุษจีน ที่เป็นวันสุดท้ายที่จะมีการไหว้เทพเจ้าอีกครั้งเพื่อรับเทพเจ้าเตาที่ขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อกลับเข้าบ้านเรือน ก่อนจะเปิดทำการค้าขาย หรือไปทำงานในวันที่ 5 หลังวันตรุษจีน

ปีใหม่ห้ามทะเลาะกัน-ทวงหนี้

สำหรับเกร็ดในการปฏิบัติตัวในวันตรุษจีนนั้นประกอบด้วย

อาหารมื้อแรกที่ควรทานคือ อาหารเจ เพื่อเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต่อไปจึงรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่เหลือจากการเซ่นไหว้วันสิ้นปี สำหรับบางบ้านอาจมีการไหว้เทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษอีกชุดหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่นิยมไหว้แล้ว เพราะสิ้นเปลือง

ที่สำคัญต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ ทุกคนจะห้ามพูดจาไม่ดีใส่กัน ให้พูดแต่สิ่งดีๆ อวยพรให้แก่กัน ห้ามทะเลาะกันเด็ดขาด แม้แต่คนที่เกลียดหรือเป็นศัตรูกัน ในวันตรุษจีนจะต้องอวยพรให้แก่กันเช่นกัน แม้แต่เจ้าหนี้ วันปีใหม่จีนก็ห้ามทวงหนี้ในวันนี้ด้วย

นอกจากนี้ก็ให้งดการทำงานบ้าน เพราะจะกวาดโชคลาภออกไปจากบ้าน รวมทั้งหยุดซักผ้าผ่อน ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่าเป็นอุบายที่จะให้แม่บ้านได้พักผ่อนในวันปีใหม่ด้วย

ไหว้เจ้าตรุษจีน 2552 เรียบร้อย ปีฉลูนี้ขอให้ทุกท่านเฮง เฮง เฮง และร่วมกันอวยพรต่อกันว่า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ (แต้จิ๋ว) หรือ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (จีนกลาง) ที่จะแปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่ หรือ เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ

อีกฝ่ายอย่ารอช้ารีบกล่าวตอบไปว่า “ตั่งตังยู่อี่” แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน




 

Create Date : 23 มกราคม 2552   
Last Update : 23 มกราคม 2552 8:47:55 น.   
Counter : 887 Pageviews.  


วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์

วัดแห่งนี้ได้รับพระราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สร้างวัดและพระราชทานนามในปี พ.ศ.2540 ว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 12 ไร่ที่ตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี


ก้าวข้ามประตูเข้าไปจะเจอกับบันไดสูงขึ้นสู่วิหารวิหารจตุโลกบาล

แต่เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านบางบัวทองให้ความศรัทธามาช้านาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆพระองค์ที่คณะสงฆ์จีนนิกาย ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

และเพื่อตั้งเป็นพุทธสถานให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมพร้อมทั้งเป็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจีนนิกาย อีกทั้งยังตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ไทย-จีนเป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณรและสร้างศาสนทายาทของพระพุทธศาสนาสืบไปด้วย

ประตูทางเข้าขนาดใหญ่เปิดรอต้อนรับผู้มาเยือน ความสวยงามภายในเชื้อเชิญให้พวกเราเดินลอดใต้ประตูเข้าไปยังภายในวัด ที่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงของจีน หากใครได้เคยมีโอกาสไปเยือนพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนมาแล้ว จะรู้ในทันทีว่าวัดแห่งนี้สร้างในแบบจำลองมาในลักษณะเดียวกัน


เบื้องหน้าวัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯดูสวยงามสง่า

โดยภายในพระอารามแห่งนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนตามแบบวัดหลวง โดยลักษณะตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นแรกเป็นหอฉันและกุฏิของสงฆ์ เมื่อพวกเราจัดแจงถอดรองเท้าตามระเบียบที่เขียนไว้แล้ว ก็เดินขึ้นบันไดหลายขั้นไปยังชั้นที่ 2 ตรงกลางของชั้นนี้ มี "วิหารจตุโลกบาล" ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดอย่างโดดเด่นแลเห็นตั้งแต่หน้าประตูวัด ด้านหน้าพระวิหารมีรูปประติมากรรมสลักหินจากประเทศจีน แสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนต่างๆ


พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ พระประธานของวัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯ

ภายในวิหารจตุโลกบาลเป็นที่ประดิษฐานผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธสาสนา หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า "ฮูฮวบ" อันได้แก่ พระศรีอริยะเมตไตรยโพธิสัตว์ และธรรมบาลทั้งหลายคือ ท้าววิรุฬหกมหาราช ถือร่มหมายถึงฝน ปกครองทางทิศทักษิณ เจ้าแห่งกุมภัณฑ์, ท้าวธตรัฐมหาราช ถือพิณหมายถึงความถูกต้อง ปกครองทิศบูรพา เจ้าแห่งพวกคนธรรพ์, ท้าวกุเวรมหาราช (เวชสุวรรณ) ถือเจดีย์หมายถึงความราบรื่น ปกครองทิศอุดร เจ้าแห่งพวกยักษ์, ท้าววิรูปักษ์มหาราช ถือดาบและงูหมายถึง ลม ปกครองทิศปัจฉิม เจ้าแห่งนาค และเทพต่างๆอีก 8 องค์

ด้านข้างของวิหารจตุโลกบาล มีหอเล็กๆ 2 หลัง ขนาบทั้งทางด้านซ้ายคือ หอกลอง ภายในมีกลองใบใหญ่สีแดง ด้านข้างประดับด้วยลวดลายมังกรมองดูแล้วน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง และทางด้านขวาของวิหารได้แก่ หอระฆัง ภายในมีระฆังสำริดขนาด 195 เซนติเมตร ถือเป็นระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทั้งกลองและระฆังนี้นำมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน

ถัดจากชั้นวิหารจตุโลกบาล "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของ "พระอุโบสถ" ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในพระอารามแห่งนี้ ด้านหน้าพระอุโบสถมีแผ่นไม้สักขนาดใหญ่สลักอักษรจีน 4 ตัวมีความหมายว่า บัลลังก์พระพุทธเจ้า หรือที่ประดิษฐานแห่งองค์พระประธานนั้นเอง

พระอุโบสถดูแล้วยิ่งใหญ่โอฬารยิ่งนัก ตรงกลางประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า และด้านข้างทั้งสองพระองค์ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต


ภายในวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธมากมายด้วยพระพุทธรูปองค์จิ๋วถึงหมื่นองค์

สำหรับองค์พระประธานแต่ละองค์ ความสูงจากวัชรบัลลังก์ถึงยอดพระเกศา 4 เมตร 30 เซนติเมตร กว้าง 3 เมตร 4 เซนติเมตร จำลองมาจากพระประธานในพระอุโบสถวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ เป็นพุทธศิลป์จีนที่มีพุทธลักษณ์งดงาม พระพักตร์มีลักษณะมหาเมตตา มหากรุณา องค์พระมีพุทธลักษณะที่เด่นเป็นสง่าและงดงาม และเป็นพระประธานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ด้านข้างของพระประธานมีพระอัครสาวกของมหายาน เบื้องซ้ายได้แก่พระอานนท์มหาเถระ เบื้องขวาได้แก่พระมหากัสสปมหาเถระ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในเรื่องการทำสังคายนาพระธรรมวิยันครั้งแรกของโลก

รอบๆ ผนังด้านข้างมีแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูป อรหันต์ พระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ 8 มหาโพธิสัตว์ 500 พระอรหันต์ 24 ธรรมบาล และจตุมหาบรรพต แห่งประเทศจีน ซึ่งแผ่นไม้สักเหล่านี้นำมาจากประเทศจีน แกะสลักจากช่างที่มีฝีมือดีเยี่ยมของจีน


ด้านข้างของวัดมีสถานที่จอดรถกว้างใหญ่มองเห็นวัดได้อย่างโดดเด่น

ถัดจากพระอุโบสถไปยังด้านหลังเป็น "วิหารอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์" ภายในประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา แกะสลักจากไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพระเนตรพันดวงเปรียบเสมือนผู้ตรวจดูความทุกข์สุขของเหล่าสรรพสัตว์ทั่วโลก และพร้อมจะใช้พระหัตถ์พันกรช่วยเหลือผู้ทุกข์เข็ญ นับเป็นจริยานุเคราะห์แบบอย่างอขงพระมหาโพธิสัตว์ผู้มีหมาเมตตามหากรุณา

หากใครต้องการข้อมูลของวัดบรมราชาฯ แห่งนี้ ทั้งการสร้างวัด คณะสงฆ์นิกาย พระพุทธรูปต่างๆ ภายในวิหารนี้มีบอร์ดนิทรรศการแสดงข้อมูลประวัติทั้งหมดให้ผู้มาเยือนได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วนอีกด้วย


เสาด้านข้างของพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านเป็นที่ประดิษฐานของใบเสมา

เมื่อออกจากวิหารอวโลกิเตศวร "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เดินขึ้นบันไดด้านข้างไปยังชั้นที่ 4 ได้แก่ "วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ" ฟังชื่อดูแล้วอาจจะงงงง แต่เมื่อได้เข้าไปด้านในก็เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งทันทีว่าเหตุใดจึงชื่อวิหารหมื่นพุทธ เนื่องจากผนังรายล้อมด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หนึ่งหมื่นพระองค์สีทองอร่ามดูสวยงาม ตรงกลางวิหารประดิษฐานองค์พระอมิตตาภพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และพระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ สีทองอร่ามตาเช่นกัน

จากชั้นวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ เราสามารถมองเห็นวิวในมุมสูงด้านหลังของพระอุโบสถได้อย่างชัดเจนเต็มตา แล้ว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ไปสะดุดตากับมุมของหลังคากระเบื้องเผาแบบจีนสีเหลืองเข้ม มีสัตว์เล็กๆเรียงอยู่ปลายมุมหลังคา 9 ตัว ด้วยกัน เมื่อได้ถามผู้รู้ก็ได้ความมาว่า สัตว์ที่อยู่ตรงมุมหลังคาทั้ง 4 มุม เป็นสัตว์มงคล หรือที่คนจีนเรียกว่า "กิ๊กเสี่ยงสิ่ว" อันได้แก่ เทวดาขี่หงส์ มังกร สิงโต ม้าน้ำ ม้าเทวดา แพะเทวดาเขาเดียว กระทิงเทวดา ปลาเทวดา และนกเค้าแมว

และแน่นอนว่าสัตว์ที่ประดับบนมุมหลังคาไม่ได้เลือกมาประดับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีความหมายอันลึกซึ้งแฝงไว้ด้วย สำหรับ มังกรและหงส์ เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข, สิงโตแสดงถึง ความกล้าหาญ, ม้าน้ำและม้าเทวดาแสดงถึงความโชคดี, กระทิง ปลาเทวดา และนกเค้าแมว เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันอัคคีภัย, แพะเทวดาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรม นั่นเอง

ซึ่งหลังจากที่เดินชมความงามอันน่าพิสมัยของ "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯ" แห่งนี้แล้ว ก็ต้องขอบอกเลยว่าสวย งาม สง่า อลังการ มากจริงๆ ใครยังไม่เคยมายลด้วยตาตนเองล่ะก็ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอแนะนำให้หาวันว่างขับรถมาเที่ยวเสริมบุญกันได้ จะมาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นครอบครัวหมู่คณะ ก็ได้หมด ไม่ต้องไปไกลถึงปักกิ่งแค่นนทบุรีนี่เอง รับรองว่าคุ้มค่าจริงๆ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีรถเมล์สาย 127 ผ่าน ซึ่งผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0-2571-1155, 0-2920-2131


พระอุโบสถจุดศูนย์กลางของวัดสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมจีนอันประณีต


พระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา ภายในวิหารอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์


อาคารแห่งนี้ในชั้นที่ 3 เป็นวิหารพระกวนอิม และชั้นที่ 4 เป็นวิหารหมื่นพุทธ

ที่มา : //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074321


แผนที่การเดินทาง จาก pantip.com ห้อง Blueplanet




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2551   
Last Update : 26 มิถุนายน 2551 8:28:17 น.   
Counter : 3417 Pageviews.  


เทศกาลบ๊ะจ่าง

เทศกาลบ๊ะจ่าง หรือเทศกาลตวนอู่ (端午节)ก็เป็นอีกเทศกาลที่ลูกหลานชาวจีนในเมืองไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เมื่อใกล้ถึงวันเทศกาล หลายบ้านก็จะมีการเตรียมซื้อวัตถุดิบต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว เกาลัด เห็ดหอม ไข่เค็มหรือธัญพืชต่างๆเพิ่มเติมตามความชอบ เพื่อเตรียมนำเอาไปห่อเป็นขนมบ๊ะจ่างหรือขมมจ้างไหว้เจ้าและกินกันในครอบครัว ในขณะที่บางครอบครัวที่ห่อไม่เป็น หรือไม่สะดวกไม่มีเวลาที่จะทำ ก็สามารถจับจ่ายหาซื้อกันได้ไม่ยากเย็นนัก

ปกติวันเทศกาลก็จะตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ในปีนี้ก็จะตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งจะมีการฉลองทั้งชาวจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และบางส่วนในประเทศไทย นอกจากนั้นในหลายๆที่ก็จะมีการจัดการละเล่นแข่งเรือมังกร โดยเฉพาะในฮ่องกง ไต้หวันและมาเก๊า


ตำนานของเทศกาลตวนอู่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชีว์หยวน (屈原) นักกวีแห่งรัฐฉู่ในช่วงปลายสมัยจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสตศักราช)เป็นขุนนางที่มีความรักและห่วงใยและต้องการจะปกป้องบ้านเมือง แต่ก็ถูกกลุ่มคนชั่วที่คอยยุยงเจ้าผู้ปกครอง กระทั่งสุดท้ายทหารจากรัฐฉินก็สามารถยึดครองรัฐฉู่ เมื่อกวีและบัณฑิตผู้รักชาติผู้นี้ ต้องประสบกับเหตุการณ์สิ้นชาติ ในวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปีกก่อนคริสตศักราช ด้วยความเจ็บปวดและเสียใจ จึงได้ตัดสินใจกอดก้อนหินใหญ่แล้วกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำมี่หลัวเจียง

แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่จงรักภักดี และเป็นที่รักใคร่ของปวงชน ทำให้ชาวบ้านต่างพากันออกค้นหาศพของชีว์หยวน ทว่าเมื่อหาไม่พบก็เกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำจะพากันกัดแทะกินร่างของเขา จึงพากันนำเอาข้าวเหนียวมาบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโยนลงไปในแม่น้ำ กระทั่งภายหลัง เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงชีว์หยวน ทุกครั้งเมื่อวันนี้เวียนมาบรรจบ ผู้คนจึงได้พากันนำเอาใบไม้ไผ่มาห่อข้าวเหนียว แล้วนำไปกราบไหว้สักการะ จนกลายมาเป็นประเพณีการไหว้และกินบ๊ะจ่างในปัจจุบัน

รูปวาดชีว์หยวน

สรรเสริญสดุดีวีรชน

คงจะไม่มีประโยชน์เลยหากประเพณีนี้จะมีความหมายเพียงแค่การกินบ๊ะจ่าง การชมการละเล่น เพราะเช่นนี้นานวันเข้าคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีก็จะค่อยๆเลือนลับลาหายไปตามกาลเวลา

ประเพณีแต่เดิมแล้ว นอกจากจะเกิดขึ้นจากการที่ต้องการปกป้องร่างของชีว์หยวน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักนั้นคือ เหตุใดผู้คนจึงรัก ระลึก และต้องการจะปกป้องชีว์หยวน นั่นก็เพราะความจงรักภักดีรักชาติรักบ้านรักเมืองของเขา ซึ่งยังเห็นได้จากบทกวีที่เขาได้หลงเหลือเอาไว้ในช่วงสิ้นชาติให้คนรุ่นหลังได้ตรองคิด “ทอดตาไกลพันลี้ใจรวดร้าว วิญญาณครวญโศกเศร้าให้เจียงหนัน” การรักษาประเพณีเช่นนี้ไว้ จึงเป็นการสืบสานคุณธรรมให้ผู้คนรู้จักที่จะให้ความสำคัญต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และให้รู้จักรักและเสียสละเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว

ยังโชคดีที่ผลการสำรวจคนจีนล่าสุดในปีนี้ที่ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวจีนจึงต้องระลึกถึงชีว์หยวน จำนวน 75.4% ได้ตอบว่าเป็นเพราะชนชาติของชาวจีนนั้นเชิดชู “วีรชน” จำนวน 50.3% ตอบว่าเพราะผู้คนในอดีตโศกเศร้าเสียใจกับการเสียชีวิตของชีว์หยวน จนกลายมาประเพณี ในขณะที่อีก 20.4% มองว่าเนื่องจากในอดีตจีนเป็นประเทศแห่งกวี และชีว์หยวนก็ถือเป็นยอดกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ

และเมื่อถามว่า บทกวีบทใดที่สามารถสะท้อนถึงความรู้สึกในเทศกาลนี้ได้ดีที่สุด บทที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่ตอบแบบสอบถามก็คือ

“ศรัทธา กล้าหาญ ประจัญบาน
ใครรุกราน มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้
กายสิ้น วิญญาณ ยังตีแผ่
ยืนหยัดแม้ เป็นผี วีรชน”

ประเทศจีนเป็นประเทศที่ยกย่องบทกวี เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความงดงาม และถ่ายทอดความหมาย และอารมณ์ของผู้ประพันธ์ออกมาได้ ชาวจีนมักจะกล่าวว่า “อาศัยอักษรสนองธรรม อาศัยกวีนำสะท้อนปณิธาน อาศัยวจีพรรณนาความรู้สึก” ทำให้เห็นว่าชนชาติของชาวจีนในอดีตมีความยึดมั่นในคุณงามความดีและคุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง


บ๊ะจ่าง

โดยเฉพาะคุณธรรมที่ว่าด้วยความ “กตัญญู” และ “จงรักภักดี” ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือหากอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็จะต้องกตัญญู และตอบแทนคุณของบุพการี ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการเลี้ยงดูให้มีกินมีใช้ ยังต้องนึกถึงจิตใจของท่านว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุข ดังคำที่บรมครูขงจื่อ (ขงจี๊อ) ได้กล่าวไว้ว่า “ความกตัญญูของคนในปัจจุบัน คือการที่สามารถเลี้ยงดูได้ กับม้าสุนัขที่เลี้ยงไว้ (เรา) ก็สามารถเลี้ยงดูได้เช่นกัน หากขาดซึ่งความเคารพ (ในบุพการี)ไซร้ จะแตกต่างกันอย่างไร (กับการเลี้ยงม้าเลี้ยงสุนัข)?”

ทว่าเมื่อออกจากบ้าน ออกสู่สังคม ก็ต้องมีความกตัญญูต่อสังคม ประเทศชาติ นั่นก็คือความจงรักภักดี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกิดใน และได้รับใบบุญของแผ่นดิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าในยุคสมัยไหน คนจีนจะให้ความชื่นชมกับบุคคลที่เปี่ยมพร้อมด้วยคุณธรรมทั้ง 2 ข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อใดก็ตามที่เขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตจากไป เพื่อระลึกคุณงามความดี และเพื่อเทิดทูนให้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง ชาวจีนก็มักจะช่วยกันสร้างศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชาวีรชนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นชีว์หยวน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้ากวนอูในยุคสามก๊กที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดีในปัจจุบัน หรือขงเบ้ง (จูกัดเหลียง) ผู้ที่เปี่ยมด้วยปัญญาและความภักดี หรือแม้แต่ท่านงักฮุยผู้เป็นตำนานของปาท่องโก๋ก็ตาม

สิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่รักในความถูกต้องชอบธรรมของชาวจีนแล้ว ยังเป็นการสะท้อนบอกเป็นนัยให้ลูกหลานได้รู้ว่า “หากไม่รักชาติบ้านเมือง ไร้ความจงรักภักดี วันหนึ่งอาจจะไม่มีแผ่นดินให้อยู่....”


ภาพการ์ตูนการแข่งเรือมังกร


ที่มา : //www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000066516




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2551   
Last Update : 7 มิถุนายน 2551 8:32:17 น.   
Counter : 1718 Pageviews.  



Ekanat
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add Ekanat's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com