Welcome to my Invesment Society

ความพร้อมของการลงทุนในหุ้นนั้นนอกเหนือไปจากการรู้จักตลาดหลักทรัพย์, กระบวนการซื้อขาย รวมทั้งการได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือลูกค้าของบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์แล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการทราบและเข้าใจถึงข้อมูลพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์

ในส่วนนี้เราจะได้อธิบายให้คุณมีความเข้าใจถึงส่วนสำคัญที่คุณมักได้พบเห็นอยู่เสมอๆ เมื่อมีการรายงานหรือพูดถึงตลาดหลักทรัพย์

ข้อมูลพื้นฐานที่คุณจะต้องเข้าใจและใช้ในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญเบื้องต้น 2 ประการ ด้วยกันคือ

1. การพิจารณาภาพรวมของตลาด

การรับทราบข้อมูลและพิจารณาภาพโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งแรกที่คุณได้พบเห็นหรือได้ยินอยู่เป็นประจำซึ่งมีหัวข้อที่สำคัญดังนี้

ดัชนีราคาหุ้น มีการคิดค้นกันมาหลายรูปแบบแต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดได้แก่ "ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" หรือ SET Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นที่คำนวณถัวเฉลี่ยราคาหุ้นสามัญแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียน หมายความว่าหุ้นใหญ่หรือหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนสูง หากมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index มากกว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของหุ้นเล็กหรือหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนต่ำหรือน้อยกว่า
นอกจาก SET Index แล้วยังมีดัชนีราคาหุ้นอื่นๆ ที่มีการคิดค้นกันเพื่อใช้พิจารณาแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์อีก เช่น ดัชนี SET50 Index และดัชนีราคาหุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรม (Sectoral Indices) เพื่อใช้พิจารณาการเคลื่อนไหวของหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าเคลื่อนไหวขึ้นลงเป็นอย่างไรในช่วงนั้น ๆ

ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แล้วตัวเลขที่ผู้ลงทุนมักได้ยินควบคู่กันไป คือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งแสดงให้นักลงทุนได้ทราบว่าตลาดหลักทรัพย์มีการซื้อขายหนาแน่นหรือคึกคักเพียงใด ถ้าภาวะตลาดดีผู้ลงทุนก็จะเข้ามาซื้อขายกันอย่างคึกคัก ในทางตรงกันข้ามหากภาวะตลาดซบเซาผู้ลงทุนก็จะเข้ามาซื้อขายกันน้อยลง ดังนั้นปริมาณการซื้อขายจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์


จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดสูงขึ้น ลดลงหรือเท่าเดิม หากวันใดที่หุ้นส่วนใหญ่มีราคาปิดสูงขึ้นจะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของสภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ดี ในทางตรงข้ามหากวันใดที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ติดลบ สภาพตลาดอาจไม่ดีนัก หรือถ้าหุ้นส่วนใหญ่มีราคาปิดค่อนข้างคงที่แสดงว่าตลาดหลักทรัพย์น่าจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะพิจารณาทิศทางที่ปริมาณหุ้นเปลี่ยนแปลงไปในการวิเคราะห์ตลาดด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้อาจเป็นการมองภาพในระยะสั้น ๆ ผู้ลงทุนยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบด้วย
2. การพิจารณาคุณภาพหุ้นรายตัว

นอกเหนือจากการพิจารณาภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ตามที่กล่าวมา คุณควรจะทราบด้วยว่าหุ้นที่ดีและน่าลงทุนนั้นสามารถดูได้จากอะไรได้บ้าง ซึ่งเราขออธิบายหลักการเบื้องต้นในการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของคุณ ดังนี้

ราคา (Price) โดยปกติผู้ลงทุนมักเห็นราคาของหุ้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงจากแรงซื้อ แรงขายอยู่ตลอดเวลา และเมื่อตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการผู้ลงทุนมักดูราคาปิดของหุ้นที่ตนเองสนใจว่าเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และราคาก็หมายถึงจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนพิจารณาว่าเหมาะสมต่อการซื้อขาย หรือถือหุ้นนั้น ๆ ไว้หรือไม่อย่างไร แต่ในการวิเคราะห์คุณภาพของหุ้นต่าง ๆ นั้น ราคาหุ้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับผลการดำเนินงานอันได้แก่ กำไรต่อหุ้น การจ่ายปันผล หรือข้อมูลอื่น ๆ อีกหลายประการ ดังนั้นราคาจึงเป็นเพียงตัวกำหนดเพื่อประกอบการตัดสินใจเบื้องต้นเท่านั้น


ราคาปิดต่อกำไรหุ้น (P/E Ratio) เป็นเกณฑ์ที่คิดจากอัตราส่วน (Ratio) ราคาปิด (Close Price: P) เทียบกับกำไร ต่อหุ้น (Earnings per share: E) ซึ่งสามารถแสดงคุณภาพในระดับพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น ๆ ได้ ค่า P/E Ratio คำนวณได้จากการเอาราคาปิดของหุ้น ณ วันทำการหนึ่ง ๆ หารด้วยมูลค่ากำไรต่อหุ้นของหุ้นนั้น ๆ ดังมีสูตรดังนี้
P/E = ราคาปิด หรือราคาตลาดของหุ้น (P)
กำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือนของหุ้น (E)


ตัวเลขที่ได้เป็นการบอกว่า หุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวนั้นจะใช้เวลากี่ปีในการที่ผลตอบแทนหรือกำไรสุทธิจะรวมกันเท่ากับราคาของมัน ณ เวลาที่ทำการคำนวณ เช่น หุ้น ABC มีราคาปิด (Price: P) เท่ากับ 100 บาทและมีกำไรต่อหุ้น (Earnings per share: E) เท่ากับ 20 บาท ดังนั้นค่า P/E Ratio จึงเท่ากับ 100/ 20 หรือ 5 เท่านั้นเอง (ซึ่งหมายความว่าหุ้นตัวนี้ ณ เวลาที่คำนวณนี้จะใช้เวลาเพียง 5 ปีในการที่กำไรต่อหุ้นจะรวมกันเท่ากับราคาของมัน)

หุ้นตัวใดมีค่า P/E Ratio ต่ำย่อมมีคุณภาพที่จัดได้ว่าดีกว่าหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูง ในทางกลับกันสมมุติว่าหุ้น DEF มีราคาปิดเท่ากับ 200 บาท และมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 บาท ดังนั้น ค่า P/E Ratio ของหุ้นตัวนี้จึงเท่ากับ 200 หารด้วย 20 หรือ 10 เท่า (ซึ่งหมายความว่าหุ้นตัวนี้ ณ เวลาที่คำนวณนี้จะใช้เวลา 10 ปี ในการที่กำไรต่อหุ้นจะรวมกันเท่ากับราคาของมัน) เมื่อเปรียบเทียบหุ้น ABC กับหุ้น DEF เราก็พอจะสรุปได้ในระดับหนึ่งว่าหุ้น ABC มีคุณภาพดีกว่าหุ้น DEF กล่าวโดยสรุปหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ที่ต่ำกว่าแสดงว่ามีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า หรือราคาหุ้นยังต่ำกว่าหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงเมื่อคิดจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรือผลกำไร

อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) หมายถึง อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ซึ่งหากหุ้นตัวใดมี Dividend Yield สูงอาจได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนมากกว่าเนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากกว่าซึ่งสามารถเปรียบเทียบระหว่างหุ้นแต่ละตัวได้ว่าตัวใดน่าสนใจมากกว่ากัน
อัตราเงินปันผลตอบแทนสามารถคำนวณได้จากสูตรดังนี้คือ

อัตราเงินปันผลตอบแทน = มูลค่าปันผลต่อหุ้น(Dividend) X 100
ราคาตลาดของหุ้น(Stock price)

เช่น หุ้น ABC มีราคาตลาดอยู่ที่ 20 บาท ประกาศจ่าย เงินปันผลเท่ากับ 2 บาท ดังนั้น

อัตราเงินปันผลตอบแทน หุ้น ABC = 2 x 100 = 10%
20


ปริมาณการซื้อขาย การที่ผู้ลงทุนจะซื้อหรือขายหุ้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นหรือสภาพคล่องนับว่ามีส่วนสำคัญ กล่าวคือหากหุ้นมีสภาพคล่องสูงหรือมีปริมาณหุ้นเข้ามาหมุนเวียนซื้อขายมาก การเข้าซื้อหรือขายย่อมทำได้ง่าย หากมีสภาพคล่องต่ำหรือมีปริมาณการซื้อขายน้อยการเข้าซื้อย่อมเป็นไปได้ยากเพราะขาดผู้เสนอขาย ในทางกลับกันหากผู้ลงทุนต้องการขายหุ้น แต่ไม่มีผู้เสนอซื้อ หรือมีเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้การขายหลักทรัพย์นั้นเป็นไปได้ยากส่งผลเสียต่อผู้ลงทุนที่มีความเร่งรีบในการใช้เงิน ดังนั้นการพิจารณาปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงมีความจำเป็นด้วยเช่นกัน


การพิจารณาหุ้นในเชิงธุรกิจการเงิน หมายความถึงการวิเคราะห์ดูว่าหุ้นที่สนใจลงทุนนั้นมีศักยภาพในการเจริญเติบโต มีความมั่นคงเข้มแข็งในทางการเงินและการบริหารและมีโอกาสที่จะตอบแทนผลกำไรที่คุ้มค่าแก่ผู้ที่เข้ามาซึ้อหุ้นนั้น ๆ ไว้มากน้อยเพียงใด การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้อาจจะค่อนข้างละเอียดซับซ้อนซึ่งเมื่อผู้ลงทุนได้ทำความเข้าใจในการลงทุนเบื้องต้นดีพอแล้วจึงค่อยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป
ที่กล่าวมานี้คือการพิจารณาจากสภาพตลาดและตัวหลักทรัพย์นั้น แต่ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดและราคาหุ้นซึ่งสื่อต่าง ๆ ได้รายงานไว้เพื่อให้นักลงทุนทราบ เราขอแนะนำให้คุณไปที่ Information Services ซึ่งรวบรวมแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้คุณทราบว่ามีสื่ออะไรบ้างที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก่อนจะได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณพิจารณาตัดสินใจว่าควรจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือไม่เพียงใด หรือเมื่อใด


ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน


หลังจากทราบแหล่งข้อมูล และวิธีการศึกษาข้อมูลสำคัญ ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นแล้ว ถึงจุดนี้เราอยากให้คุณได้ ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งก็มีความสำคัญต่อทิศทางตลาดหลักทรัพย์ หรือมีผลต่อ ราคาหุ้น ที่อยู่ในความสนใจของคุณด้วยเช่นกัน

1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจส่ง ผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้ลงทุนได้มากที่สุด ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงได้แก่

สภาพคล่องทางการเงิน เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หมายความว่าธุรกิจหรือกิจการทั้งหลาย ขาดเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในการดำเนินงาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา


อัตราดอกเบี้ย เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยจะขยับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของ กิจการ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากสภาพคล่องทางการเงินมีมาก อัตรา ดอกเบี้ยจะลดต่ำลง ผู้คนในสังคมจะมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัว ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการลงทุน ในหลักทรัพย์ก็จะได้รับผลดีตามไปด้วย


อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือค่าเงิน ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ หากค่าของเงินบาทอ่อนตัวลง ย่อมทำให้ ค่าใช้จ่าย ในการสั่งสินค้าเข้ามาผลิตหรือจำหน่ายสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับกิจการที่ส่งออกสินค้า หรือบริการ อาจได้รับผลดี อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยซึ่งอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ และมี ภาระหนี้สินต่างประเทศค่อนข้างมาก ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จะส่งผลในทางลบแก่ธุรกิจ


การผลิต ซึ่งภาพโดยกว้างอาจหมายรวมไปถึงตลาดการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันคือ ตลาดต่างประเทศ หากอุตสาหกรรมภาคการผลิต และบริการของเรา สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้า ที่ตรงตามความต้องการ ของประเทศคู่ค้าได้ ทั้งยังมีราคาและคุณภาพเหมาะสมหรือดีกว่าสินค้า จากประเทศคู่แข่ง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากภาครัฐ ปัจจัยเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้สามารถจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้ดีขึ้น นำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาเสริมสร้างสภาพคล่องได้มากขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่มีมากขึ้น จะกระจายผลดีไปยังกิจการอื่น ๆ ภายในประเทศได้


ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า หากอยู่ในสภาพดี ความต้องการ สินค้าย่อมมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายและเม็ดเงินที่กลับเข้ามาในประเทศไทยในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจของ ประเทศคู่ค้าประสบปัญหา จะทำให้ยอดจำหน่ายสินค้า และบริการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศลดน้อยลง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

2. ปัจจัยทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัย การเมืองในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดอัตราภาษี การส่งเสริมการลงทุน การหาตลาดต่างประเทศ เป็นต้น

3. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัจจัยจากธรรมชาติอันได้แก่ ฝนแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติต่าง ๆ รวมทั้งความไม่สงบ ภายในประเทศหรือบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ

4. ปัจจัยเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์หรือตัวหลักทรัพย์ เช่น การเกิดข่าวลือการเก็งกำไรที่มากเกินไป จนปัจจัยพื้นฐาน รองรับไม่ไหว กฎระเบียบที่เข้มงวดหรือหย่อนยานจนเกินไป อัตรามาร์จิน (Margin) และดอกเบี้ยที่ไม่เอื้อต่อนักลงทุน เหล่านี้คือปัจจัยทางลบของตลาด ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวหลักทรัพย์ เช่น ผลกำไร ฐานะการเงินของบริษัทจดทะเบียน การประกาศเพิ่มทุน การประกาศจ่ายเงินปันผล หรือแม้แต่ข่าว เกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ก็อาจส่งผลกระทบ ต่อราคาหลักทรัพย์ได้ทั้งสิ้น

การวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์โดยอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าว มาข้างต้น เรียกว่า "การวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัย พื้นฐาน" (Fundamental Analysis) อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนอาจเคยได้ยินคำว่า "การวิเคราะห์ทางเทคนิค" (Technical Analysis) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์หุ้นโดยอาศัยข้อมูลตัวเลข การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และมูลค่าการ ซื้อขายหุ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ มาคาดคะเนแนวโน้มของหุ้น ในอนาคต การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ มีรายละเอียดและ วิธีการที่ซับซ้อน ผู้สนใจต้องศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา




Create Date : 15 มิถุนายน 2549
Last Update : 8 มกราคม 2554 1:47:19 น.
Counter : 194 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Eddy_THX
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]