Group Blog
 
All blogs
 

วันอภิรักขิตสมัยคล้ายวันเกิดเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

เนื่องจากวันนี้เป็นวันอภิรักขิตสมัยคล้ายวันเกิดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และเป็นวันภิกษุอนุสรณ์

ขอเชิญทุกท่านมาทำบุญที่วัดปากน้ำ ขอแจ้งข่าวบุญว่าวันพฤหัสที่ 7 กันยา นี้
เป็นวันหลวงพ่อวัดปากน้ำบรรลุธรรมกาย วันสำคัญอีกวันหนึ่งด้วยครับ

การเดินทางมาวัดปากน้ำ มาได้โดยรถประจำทางสาย 9 สาย 175
ถ้ารถยนต์ส่วนตัว เข้าซอยเพชรเกษม 23 หรือมาทางถนนวุฒิฑากาศครับ

วันนี้ขอโดยการนำประวัติและคำสอนเจ้าพระคุณสมเด็จสมเด็จฯ โดยย่อ
มาฝากท่านผู้สนใจในห้องศาสนาครับ

ภาพสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ


ประวัติหลวงพ่อสมเด็จฯ

๏ชาติภูมิ๏ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

๏บรรพชา๏ ขณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอายุได้ ๗ ปี นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่กรรม ญาติจึงให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ และพี่ชายบรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณี เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี จึงได้บรรพชาอีกครั้ง เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ ณ วัดสังฆราชา กรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาและสอบนักธรรมชั้นตรี และชั้นโทได้ในนามวัดสังฆราชา ในระหว่างนั้นได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำ เกิดความรู้สึกอยากจะมาศึกษาต่ออยู่ภายใต้ร่มบารมีธรรม ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ย้ายมาอยู่วัดปากน้ำ

๏อุปสมบท๏ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นามฉายา “วรุปุญฺโญ” พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์

๏วิทยฐานะ๏ พ.ศ. ๒๔๙๗ เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
๏การศึกษาพิเศษ๏ ได้ศึกษาสมถะ-วิปัสสนา ตามแนววิชชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตั้งแต่เป็นสามเณร ถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๙๒ -๒๕๐๘ เป็นผู้ทรงจำและสวดพระปาฏิโมกข์ ณ วัดเบญจมบิตร และวัดปากน้ำ
๏งานปกครอง๏ พ.ศ. ๒๕๓๒-ปัจจุบัน เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ. ๒๕๓๗-ปัจจุบัน เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชฯ
๏งานศึกษา๏ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์
๏งานเผยแผ่ในประเทศ๏ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานคณะพระธรรมจาริก

ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดปากน้ำ พ.ศ. ๒๕๑๒

๏งานเผยแผ่ในต่างประเทศ๏
พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้เริ่มสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลเทพมุนี” สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๕๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำญี่ปุ่น” สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำนิวซีแลนด์” สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ ๖๐ ล้านบาท

๏งานสาธารณูปการ๏
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้อาศัยอยู่ในวัด และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สาธุชนที่มาทำบุญที่วัดปากน้ำ รวมค่าก่อสร้างภายในวัดเป็นจำนวนเงินประมาณทั้งสิ้น ๔๐๐ ล้านบาท

๏งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์๏
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ” เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๘) รวมค่าบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์นอกวัด เป็นเงินจำนวนประมาณทั้งสิ้น ๒๓๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้จัดถวายทุนแก่สำนักศาสนศึกษา ๗๒ แห่งทั่วประเทศ รวมปัจจัยทั้งสิ้น ๗ ล้าน ๒ แสนบาท

๏งานประวัติศาสตร์๏
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อนและพระเจดีย์ ณ พุทธมณฑล ค่าก่อสร้าง จำนวน ๒๐๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ ณ พุทธมณฑล ค่าก่อสร้าง ๒๐๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เริ่มก่อสร้างพระเจดีย์มหารัชมงคล ณ วัดปากน้ำ งบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท

ภาพถ่ายทางอากาศทัศนีภาพวัดปากน้ำในอดีต

๏สมณศักดิ์๏
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรบัฏที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

๏สมณศักดิ์ต่างประเทศ๏
พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศบังกลาเทศ ที่ พระศาสนธชมหา ปัญญาสาระ
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระ ชินวรสาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณะปาโมกขาจริยะ
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระสาสนโชติกสัทธัมมวิสารทวิมลกิตติสิริ
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิรเตปิฏกวิสารโท
พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับสรณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระ ติปิฏกปัณฑิตธัมมกิติสสิริยติสังฆปติ
พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ของประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายะธรรมธีรมหามุนี เถระ
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระเถรวาทะวังสาลังการะสยามเทสะสาสนธชะ

๏เกียรติคุณ๏
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย ประเทศศรีลังกา
พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสังฆสภาอินเดีย ประเทศอินเดีย

หลวงพ่อสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ผมท่านได้เคยเมตตาสอนผมเรื่องกาลเวลาเช่นกัน ยังจำได้เสมอครับ ต่อไปนี้จะขอนำพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อสมเด็จฯ มาฝากชาวห้องศาสนาครับ

กาลเวลาย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามลำดับ ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว ไม่ตามใจใคร และไม่อยู่ ใต้อาณัติสัญญาณของใคร (ถ้าหากจะมีใครมาขู่บังคับ หรือขอร้องให้ช้าลง หรือเร็วขึ้นอย่างไร ย่อมไม่เป็นผล ทั้งนั้น คงหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวิสัยอย่างนั้น มิได้เป็นความดี มิได้เป็นความชั่ว มิได้ให้คุณให้โทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ แต่) ย่อมพลัดพรากกลืนกินชีวิตของสรรพสัตว์ไปถ้วนทั่วกัน ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นเชิงบอก ให้ทราบถึง สถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ว่า กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละตามลำดับ ย่อมหมายถึงว่า เวลามิได้ล่วงไปเปล่า แต่ได้คร่าเอาชีวิตสัตว์ไปด้วย และในขณะเดียวกันก็ตรัสเตือนให้ มีความสำนึกและตระหนึกในคุณค่าของเวลา เพื่อจักได้เกิดความกระตือรือร้นในการ ประกอบการว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ เป็นพระพุทธพจน์ที่ตรัสสอนให้บุคคลเร่งเร้าในการประกอบการ มิใช่เฉื่อยชา ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

จากพระธรรมเทศนาเรื่อง สุปุพพัณหกถา วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑

ความเป็นไปของสรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย ย่อมมีความแปรปรวนแตกสลายไปในที่สุด ซึ่งเป็น ไปตามกฎธรรมดา หรือกฎพระไตรลักษณ์ ในด้านหนึ่งดูเป็นสิ่งที่น่ากลัวเพราะเป็นความพลัดพรากเสียหาย แตกสลายไป ของสิ่งนั้นๆ ทำให้เกิดความหดหู่ ไม่สบายใจ เพราะยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่า น่าจะคงอยู่ไม่แปรปรวนแตกสลายไป ถ้าเป็นสิ่งที่ ใกล้ตัวมากเท่าไรยิ่งนำความทุกข์มาให้เป็นทวีคูณ แต่ในอีกด้านหนึ่งกฎพระไตรลักษณ์นี้ ย่อมก่อให้เกิดความ เปลี่ยนแปลง ไปในทางสร้างสรร ความเจริญก้าวหน้าก็ได้ทั้งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เข้าไปปรุงแต่ง ให้เป็นลักษณะอย่างไร เช่น เด็กรอวันเจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ดอกไม้กำลังรอวันบานสะพรั่งในอีกไม่ช้า ความสุขสำเร็จในหน้าที่การงาน และ การดำเนินชีวิตกำลังรออยู่แค่เอื้อม เหตุการณ์เหล่านี้ มีขึ้น เป็นขึ้น ก็เพราะพระไตรลักษณ์นั่นเอง บันดาลให้เป็นไป เมื่อสรุปลงอย่างย่อและสั้นที่สุด ก็คงได้ลักษณะ ๒ อย่าง คือ เจริญ หรือ เสื่อม

จากพระธรรมเทศนาเรื่อง กัลยาณสูตร วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

ผู้ใดงดเว้นชั่ว คืองดเว้นจากบาปทุจริตทั้งหลายได้ และประพฤติชอบ คือประพฤติสุจริตธรรมทั้งสามประการนั้นได้ ย่อมจะเป็นผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด และมีใจสะอาด ทั้งจะเป็นผู้มีกายอิ่ม มีวาจาอิ่ม มีใจอิ่ม อยู่เนืองนิจ การเว้นชั่ว ประพฤติชอบของตนนั้น และจะกลั่นตัวออกมาเป็นบุญบารมี ส่งประกายให้เป็นผู้มีสง่าราศี มีรัศมีและพลังอำนาจ ที่สามารถดึงดูดโภคทิพย์ อายุทิพย์ ยศทิพย์ และสุขทิพย์ มาให้แก่ตนจากสี่ทิศได้อย่างอัศจรรย์ เหมือนเพชรแท้ที่เจียรไน ดีแล้วย่อมเปล่งรัศมีแวววาวดึงดูดนันย์ตาของหมู่ชนทั่วไปได้ฉะนั้น

จากพระธรรมเทศนาเรื่อง ทิพพโภคาทิกถา วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

คุณธรรม คือความชื่นชมโสมนัส ผลสำเร็จของบุคคลอื่นนี้ เป็นเรื่องที่เราให้โดยไม่ต้องเสียอะไรเลย เพียงแต่ส่งใจไป ชื่นชมกับความสุขความสำเร็จของบุคคลอื่นเท่านั้น เป็นการเปิดประตูใจให้กว้าง ยอมรับความดีของผู้อื่นใส่ไว้ในใจ แต่ก็ มีบางคนที่ทนไม่ได้กับความสำเร็จของบุคคลอื่นทั้งๆ ที่ความสำเร็จ ของเขาเกิดจากความเสียสละแรงกายแรงใจของเขา เอง มองเห็นครั้งไร นึกถึงทีไร เกิดความรู้สึกแปรบปราบในหัวใจเมื่อนั้น จะมองก็มองได้ไม่เต็มตานัก เพราะใจของตนเอง นั้นเกิดปมด้อย คือฟ้องตัวเองอยู่ว่า เราสู้เขาไม่ได้ คนเช่นนี้ท่านกล่าวว่าเป็นคนใจแคบ มีทัศนคติแคบๆ ปิดประตูใจของ ตัวเองให้ยอมรับความดีของผู้อื่นไม่ได้ ยากที่จะปลูกฝังความดีอื่นๆ ในจิตใจได้ อันใจที่ปราศจากความดี หล่อเลี้ยง เป็นใจ ที่เหือดแห้ง เพราะปราศจากโอชะ คือ คุณธรรมเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจ เป็นใจที่ห่อเหี่ยว ไม่เบิกบาน อ่อนแอ ขาดพลานุภาพ อ่อนไหวง่าย มีความหงุดหงิดเป็นปกติวิสัย เพื่อเป็นการเสริมสร้างใจให้มีพลานุภาพ มีความมั่นคง แน่วแน่ จึงสมควรแท้ที่จะเกียจกันอกุศลธรรม มิให้มากล้ำกรายแล้ว บรรจุคุณธรรม คือความเอื้อเฟื้อเผื่อเผ่ ความมีเมตตา กรุณาเป็นต้น เข้าไปในจิตใจ คนมีคุณธรรมน้ำใจชื่อว่ามีกระแสความเยือกเย็นอยู่ในตัว ใครเห็นก็อยากที่เข้าใกล้ อยากที่จะ สนทนาปราศรัยด้วย เพราะได้รับความเย็นกาย เย็นใจ ไม่ต้อง คอยหวาด ระแวงภัยอันใด

จากพระธรรมเทศนาเรื่อง จตุพพิธปุคคลกถา วันที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

ความสงบนับว่าเป็นยอดปรารถนาของคนทุกคน ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะยินดีเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต ก็เป็นได้ในกาลบางครั้งบางคราวเท่านั้น จะเห็นคุณค่าของความสงบได้ในเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ความคิดในเรื่องอัน เป็นความสำคัญของตน ดังนั้นจึงพอได้สรุปว่า โดยเนื้อแท้แห่งจิตใจนั้น ต้องการความสงบ และจิตใจที่สงบได้แล้วนี้แล ย่อมมีพลานุภาพมากมาย ทำให้บุคคลนั้น มีดวงปัญญาที่แจ่มใส มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวเอนเอียงด้วยอำนาจแห่ง อกุศลกรรม เมื่อประสพข้อขัดข้องประการใด ก็ไม่แสดงอาการทุรนทุรายเกินเหตุอันแสดงออกถึงความเป็นผู้มีจิตใจไม่ มั่นคง ย่อมอาศัยเข้มแข็งมั่นคง อันเกิดแต่จิตใจที่สงบแก้ไขเหตุการณ์ไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น ความสงบใจจึงเป็น เรื่องที่ควรศึกษา และทำให้มีให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับกุศลธรรมเข้ามาประจำใจ

จากพระธรรมเทศนาเรื่อง อธิษฐานธรรมกถา วันที่ ๒๓ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๓๑

คำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ในทุกเรื่อง ทุกตอน นับเป็นหลักการที่ทันสมัยอยู่เสมอ แม้ว่าจะเนิ่นนานถึงเพียงนี้ และไม่มีใครจะมาลบล้างได้ ธรรมเหล่าใดที่ตรัสว่ามีโทษ ถ้าบุคคลเข้าไปข้องแวะจะมีแต่ความทุกข์ เป็นที่ในเบื้องหน้า และธรรมเหล่านั้นก็อำนวยโทษและทุกข์แก่ผู้หลงทาง หลงปฏิบัติไปตามนั้นจริง และธรรมเหล่าใดที่ตรัสว่า มีประโยชน์ สามารถอำนวยสุขให้แก่ผู้ปฏิบัติ ธรรมเหล่านั้นก็อำนวยผลเป็นความสุขความเจริญอย่างแท้จริง นี่เป็นเครื่องประกาศยืน ยันถึงพระปัญญาเครื่องตรัสรู้พระองค์ว่า เป็นสัมมาสัมโพธิญาณจริง และสิ่งที่ตรัสรู้นั้น เป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง

จากพระธรรมเทศนาเรื่องอัครปุคคลกถา วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

เอวํ นะครับ วันหยุดนี้ชาวพุทธห้องศาสนาอย่าลืมออกไปทำบุญกันมากๆครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:04:52 น.
Counter : 496 Pageviews.  


ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.