Group Blog
 
All blogs
 

วิธีห้ามจิตไม่ให้คิดอกุศล

ธรรมชาติของจิตไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบนึกคิดไปต่างๆ นานา เช่น นึกคิดไปในทางกามบ้าง นึกคิดไปในทางอาฆาตพยาบาทบ้าง การนึกคิดในทางที่ไม่ดีเหล่านี้เรียกว่า อกุศลวิตก การห้ามจิตไม่ให้นึกคิด ในทางอกุศลทำได้ยาก บุคคลส่วนมากไม่ต้องการคิดในทางอกุศล แต่มักจะอดคิดไม่ได้ คิดจนนอนไม่หลับหรือเป็นโรคประสาทก็มี คิดจนฆ่า ตัวตายไปก็มี ตรงกันข้าม เมื่อต้องการคิดเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล มักจะคิดในทางกุศลได้ไม่นาน การห้ามจิตไม่ให้คิดอกุศลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงวิธีห้ามจิตไม่ให้คิดอกุศล ๕ วิธี คือ

๑. เมื่อใส่ใจอารมณ์ใดอยู่ อกุศลวิตกเกิดขึ้น ก็ให้ใส่ใจอารมณ์อื่นที่เป็นกุศลและเป็นคู่ปรับกัน

เช่น เมื่อนึกคิดไปในทางราคะ ก็ให้หันมาเจริญอสุภสัญญา พิจารณาว่า ร่างกายนี้เป็นของเน่าเปื่อยไม่สะอาด มีของโสโครกไหลออกอยู่เนืองๆ จะหาสิ่งที่เป็นแก่นสาร หรือสิ่งประเสริฐ ในกายนี้ไม่ได้เลย เมื่อมาใส่ใจอารมณ์อื่นที่เป็นกุศล คือ อสุภสัญญา ย่อมละราคะได้

ถ้าโลภอยากได้ข้าวของเงินทองต่างๆ ก็ให้พิจารณาว่า ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นเพียงของที่ยืมมาใช้ชั่วคราว ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ในโลกให้ผู้อื่นใช้ต่อไป

เมื่อมาใส่ใจในเรื่องอื่นที่เป็นกุศล คือ ความไม่มีเจ้าของและเป็นของชั่วคราว ย่อมละความโลภในทรัพย์สมบัติได้

ถ้านึกคิดไปในทางเบียดเบียนด้วยอำนาจโทสะ ก็พึงเจริญเมตตาด้วยการระลึกถึงพุทธพจน์ ที่เป็นไปเพื่อคลายความอาฆาต ดังเช่น พุทธพจน์ในกกจูปมสูตร (๑๒/๒๗๒) ที่ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ใน เหตุนั้น ภิกษุใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น

ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิต ไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น

เมื่อมาใส่ใจอารมณ์อื่นอันเป็นกุศล คือ เจริญเมตตา ย่อมละโทสะได้ เหมือนช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็กตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก ฉะนั้น

๒. เมื่อใส่ใจอารมณ์อื่นอันเป็นกุศลอยู่ อกุศลวิตกยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรพิจารณาโทษของอกุศลวิตกว่า ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ให้ผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เมื่อพิจารณาโทษอยู่อย่างนี้ ย่อมละอกุศลวิตกนั้นได้ เหมือนชายหนุ่มหรือหญิงสาวรู้ว่า มีซากศพซึ่งเป็นของปฏิกูลน่ารังเกียจผูกอยู่ที่คอ ย่อมรีบทิ้งซากศพนั้นโดยเร็ว

๓. เมื่อพิจารณาโทษของอกุศลวิตกนั้นอยู่ อกุศลวิตกยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็อย่าใส่ใจ อย่านึกถึงอกุศลวิตกนั้น เมื่อไม่นึก ไม่ใส่ใจ ก็ย่อมละอกุศลวิตกนั้นได้ เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย

พระโบราณาจารย์ก็เคยใช้วิธีนี้ แก้ความกระวนกระวายของติสสสามเณรที่ต้องการลาสิกขา เรื่องมีอยู่ว่า

ติสสสามเณรคิดจะลาสิกขา จึงแจ้งให้พระอุปัชฌาย์ทราบ พระเถระจึงหาวิธีเบนความสนใจของสามเณร โดยกล่าวว่า ในวิหารนี้หาน้ำได้ยาก เธอจงพาเราไปที่จิตตลดาบรรพต สามเณรก็กระทำตาม พระเถระกล่าวกับสามเณรอีกว่า เธอจงสร้างที่อยู่ใหม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะบุคคลคนหนึ่ง สามเณรก็รับคำ แล้วสามเณรก็เริ่มสิ่งทั้งสามพร้อมๆ กัน คือ เรียนคัมภีร์สังยุตตนิกายตั้งแต่ต้น การชำระพื้นที่ที่เงื้อมเขา และการบริกรรมเตโชกสิณจนถึงอัปปนา เมื่อเรียนสังยุตตนิกาย จบลงแล้ว ก็เริ่มทำที่อยู่ในถ้ำ

เมื่อทำกิจทั้งปวงสำเร็จแล้ว ก็แจ้งให้พระอุปัชฌาย์ทราบ พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า สามเณร ที่อยู่เฉพาะบุคคล ที่เธอทำเสร็จนั้น ทำได้ยาก เธอนั่นแหละจงอยู่

สามเณรนั้น เมื่ออยู่ในถ้ำตลอดราตรี ได้อุตุสัปปายะ จึงยังวิปัสสนาให้เจริญ แล้วบรรลุพระอรหัต ปรินิพพานในถ้ำนั้นแหละ ชนทั้งหลายจึงเอาธาตุของสามเณรก่อสร้างพระเจดีย์ไว้

นี้คือเรื่องของติสสสามเณรที่ถูกพระอุปัชฌาย์เบนความสนใจ ให้ไปกระทำสิ่งอื่นที่เป็นกุศล จนลืมความคิดที่จะลาสิกขา เมื่อไม่ใส่ใจ ไม่นึกถึง ความคิดที่จะลาสิกขาก็ดับไปเอง

๔. เมื่อไม่นึกไม่ใส่ใจในอกุศลวิตกนั้น อกุศลวิตกยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรใส่ใจถึงเหตุของอกุศลวิตกนั้นว่า อกุศลวิตกนั้นมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เพราะเหตุไรจึงเกิดขึ้น เมื่อค้นพบเหตุปัจจัยอันเป็นมูลรากแล้ว อกุศลวิตกนั้นย่อมจะเบาบางลง แล้วถึงความดับไป โดยประการทั้งปวง

๕. เมื่อใส่ใจถึงเหตุแห่งอกุศลวิตกนั้นอยู่ อกุศลวิตกยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็พึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิต เมื่อข่มจิตอย่างนี้ ย่อมละอกุศลวิตกนั้นเสียได้ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยไว้ได้ แล้วบีบกด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น ทำบุรุษนั้นให้เร่าร้อน ให้ลำบาก ให้สยบ ฉะนั้น...
(วิตักกสัณฐานสูตร ๑๒/๒๕๖)


................................

ขอบพระคุณที่มีจิตกุศลติดตามอ่านครับ

ข้อมูลจากพี่เณร อภิธรรมมูลนิธิ ภาพประกอบจากสมาชิก
ขอกราบอนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:41:01 น.
Counter : 364 Pageviews.  

ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร ? (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา...สัมมาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...สัมมากัมมันตะ ฯลฯ

ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเป็นเพราะเหตุใด ? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว

เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบไว้ทั่วไปว่า คือ ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านประมวลไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตร โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไป ขยายความออกไป

วันนี้มาอ่านความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไรนะครับ ?

อกุศลกรรมบถ ๑๐

ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล
ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล

ทางกายอันเรียกว่า กายกรรม อันเป็นอกุศล ๓ คือ
การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑
การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ๑
การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑
ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย

ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาคือ วจีกรรม มี ๔ ก็ได้แก่
พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑
ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔

ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ ก็คือ
อภิฌชา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ๑
พยาบาท ปองร้ายเขา ๑
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ

รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คืออกุศล
สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง

อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่
โลภ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม
โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม
โมหะความหลง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม

สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ
เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง

กุศลกรรมบถ ๑๐

ส่วนกุศล และกุศลมูลนั้น ก็ตรงกันข้าม กุศลก็ได้แก่กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐
คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้
เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
และสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรม ทั้ง ๑๐ นี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐

สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง

ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่
อโลภะความไม่โลภอยากได้ โดยมีสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้น เป็นต้น
อโทสะความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตา กรุณา เป็นต้น
อโมหะความไม่หลง ก็คือความที่มีปัญญารู้ตามเป็นจริง อันทำไม่ให้หลงไหล ไม่ให้ถือเอาผิด

สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุก ๆ ข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง
สัมมัปปัญญา

สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็นที่จำต้องการเป็นขั้นต้นของทุก ๆ คนในโลก แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้น ในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และด้วยการปฏิบัติอบรมต่าง ๆ ในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้น ๆ อันเรียกว่า ภาวนา และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญาอบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังกล่าว

มิตตสัมปทา โยนิโสมนสิการ

และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร อันหมายความว่าได้มิตรที่ดีงาม อันเรียกว่า กัลยาณมิตร พระพุทธเป็นยอดของกัลยาณมิตร มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญา สามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้ ก็เรียกว่ากัลยาณมิตร ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่าการทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก อกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก กุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง

เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมด ต้องอาศัยมีกัลยาณมิตร และมีโยนิโสมนสิการ มาตั้งแต่เบื้องต้น เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เปรียบเหมือนว่า เป็นอรุณเป็นเบื้องต้นของความสว่าง ของสัมมาปฏิบัติคุณงามความดีทั้งสิ้น อันนับว่าเป็นความสว่าง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรก และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้

ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลส ที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะหรือเรียกว่าอนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่า เป็นเหตุให้ละ ราคานุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานคือราคะ บันเทา ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ ถอน ทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ ดั่งนี้

ปัญญาขั้นต้น

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนา อันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณา และการปฏิบัติอีกด้วย คือว่าต้องคิดพิจารณาไป และต้องปฏิบัติไป การปฏิบัติไปนั้นก็คือ ปหานะ ละ อย่าง ๑ ภาวนา ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ๑

ละ ก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ

ภาวนาคือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้นให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ นี้ก็รวมเข้าในคำว่าภาวนา

ญาณทัสสนะ

ในข้อ ๓ นี้ ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ และทั้งทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น ดังกล่าวนั้น แต่เมื่อปฏิบัติไป ๆ อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนาทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น รู้เห็นว่าข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลมูลจริง

ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร และอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้น ประกอบกันอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือ ไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้วจึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกับสัมมาทิฐินี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ
เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

ขอบพระคุณที่มีจิตกุศลติดตามอ่านครับ

เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก และพระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ภาพประกอบจากสมาชิก api3003
ขอกราบอนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ

ขอให้ทุกท่านจงมีสัมมาทิฏฐิมากยิ่งๆขึ้นไปครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:30:12 น.
Counter : 632 Pageviews.  

สาระว่าด้วยทาน

บุคคลบางคนเมื่อให้ทานแก่สมณพราหมณ์แล้ว เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไป เขาคิดว่า เมื่อตายไปแล้ว ขอให้เกิดเป็นเศรษฐีบ้าง เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ บ้าง เขาตั้งจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ จิตของเขาน้อมไปในสิ่งนั้น มิได้อบรมเพื่อคุณธรรม เบื้องสูง ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น ก็ข้อนั้นแล เรา (พระสารีบุตร) กล่าวสำหรับผู้มีศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีล ความตั้งใจของผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์
(สังคีติสูตร ๑๑/๓๔๖)

ในอิสสัตถสูตร (๑๕/๔๐๕-๔๐๖) พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้า

ป. บุคคลควรให้ทานในที่ไหนหนอ

พ. ควรให้ในที่ที่จิตเลื่อมใส

ป. ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก

พ. ทานควรให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมากนั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่

ในชัปปสูตร (๒๐/๔๙๗) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับปริพาชกวัจฉโคตรว่า

วัจฉะ ชนเหล่าใดที่กล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสว่า ทานควรให้แก่เราและสาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ และสาวก ทานที่ให้แก่เราและสาวกเท่านั้นจึงมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนอื่นและสาวกไม่มีผลมาก ดังนี้ ชนเหล่านั้นใส่ความเราด้วยเรื่องไม่จริง

ผู้ใดห้ามคนอื่นที่ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายต่อคน ๓ คน คือ ทำอันตรายบุญของผู้ให้ ทำอันตรายลาภของผู้รับ อนึ่ง ตัวของ ผู้นั้นชื่อว่าถูกขุด (จากความดี) ถูกฆ่า (จากความดี)

วัจฉะ เรากล่าวอย่างนี้ต่างหากว่า ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อหรือน้ำ ล้างชามลงไปในหลุมหรือท่อโสโครก ด้วยเจตนาให้สัตว์ที่อยู่ในนั้นได้เลี้ยงชีพ อย่างนี้เรายังกล่าวการได้บุญอันมีกิริยานั้นเป็นมูล จะกล่าวอะไรถึงการให้แก่มนุษย์ด้วยกันเล่า

แต่นั่นแหละ วัจฉะ เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านผู้มีศีลมีผลมาก หาได้กล่าวอย่างนั้นในผู้ทุศีลไม่

ในทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานแก่บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานแก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ได้ผลนับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย

อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร อธิบายว่า ทานที่ให้ผลร้อยเท่า คือ ให้อายุร้อยอัตภาพ ให้วรรณะร้อยอัตภาพ ให้สุขร้อยอัตภาพ ให้พละร้อยอัตภาพ ให้ปฏิภาณร้อยอัตภาพ

ในสัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ คือ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวารที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น

ในทานสูตร (๒๓/๔๙) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทาน ๗ อย่าง
๑. ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ ๑)

๒. ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒)

๓. ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา (สวรรค์ชั้นที่ ๓)

๔. ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ ๔)

๕. ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี (สวรรค์ชั้นที่ ๕)

๖. ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใสเกิดความปลื้มใจและโสมนัส เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี (สวรรค์ชั้นที่ ๖)

๗. ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)

ในกูฏทันตสูตร (๙/๒๓๐) กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีตามลำดับ คือ ทาน นิตยทานที่ถวายในผู้มีศีล วิหารทานแด่พระสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ ไตรสรณคมน์ ศีลห้า สมาธิ ปัญญา

อรรถกถากูฏทันตสูตร กล่าวถึงทาน ๓ ชนิด คือ
๑. ทาสแห่งทาน ให้ของเลวกว่าที่ตนบริโภค
๒. สหายแห่งทาน ให้ของอย่างที่ตนบริโภค
๓. เจ้าแห่งทาน ให้ของดีกว่าที่ตนบริโภค

ในเวลามสูตร (๒๓/๒๒๔) กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีตามลำดับคือ ทานที่ให้ในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข วิหารทานถวายสงฆ์จาก ๔ ทิศ การเลื่อมใสในพระรัตนตรัย การสมาทานศีล การเจริญเมตตาจิตเพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม การเจริญอนิจจสัญญาเพียงชั่วลัดนิ้วมือ

ในสัปปุริสสูตร (๒๓/๑๒๗) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัปปุริสทาน ๘ ประการว่า

สัปบุรุษย่อมให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ (แก่ผู้มีศีล) ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ (แม้ให้มากก็ไม่เสียดาย) ทานเช่นนี้ย่อมเป็นที่สรรเสริญของผู้มีปัญญา และนำไปสู่โลกอันเป็นสุข

จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๔/๕๗๙) กล่าวว่า ผลการไม่ให้ทาน ตายไปจะเข้าถึงทุคติ หรือเกิดเป็นคนยากจน ผลการให้ทาน ตายไปจะเข้า ถึงสุคติ หรือเกิดเป็นคนร่ำรวย

อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ได้บริวารสมบัติ

อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว

ปายาสิราชัญญสูตร (๑๐/๓๒๙) กล่าวถึงพระยาปายาสิผู้เคยมีความเห็นผิดว่า โลกอื่นไม่มี สัตว์ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี ภายหลังถูกพระกุมารกัสสปเถระเปลื้องจากความเห็นผิดนั้นเสีย จึงให้ทานแก่คนทั้งหลาย

ครั้งนั้น พระยาปายาสิให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ให้ทานด้วยมือ ตนเอง ให้ทานโดยไม่นอบน้อม ให้ทานแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ครั้นตาย แล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑) มีเสรีสกวิมานอันว่างเปล่า ส่วนอุตตรมาณพ ผู้จัดการในทานของพระเจ้าปายาสินั้น (แม้ทานจะเป็นของผู้อื่นก็) ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือตนเอง ให้ทานโดยนอบน้อม ให้ทานไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ ครั้นตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒ ซึ่งสูงกว่าจาตุมหาราช)

ในทารุกัมมิกสูตร (๒๒/๓๓๐) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามคหบดีชื่อทารุกัมมิกะ (พ่อค้าฟืน)

พ. ทานในสกุล ท่านยังให้อยู่หรือ

ท. ยังให้อยู่ และทานนั้น ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์หรือ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

พ. ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือนกับบุตรภริยา ทัดทรงดอกไม้ ใช้ของหอม ยินดีทองและเงิน พึงรู้ได้ยากว่าภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุใดเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

ดูก่อนคหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ท. ข้าพระองค์จักให้สังฆทาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

...............

จากหนังสือ นานาสาระ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 18:52:54 น.
Counter : 313 Pageviews.  

พระโพธิสัตว์

ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยากและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกบุคคลเช่นนี้ว่าเป็นผู้มีพลังหรืออำนาจมุ่งสู่โพธิญาณ (Dayal, 1987: 7) เป็นผู้บำเพ็ญความดีหรือที่เรียกว่าบารมีธรรมอย่างยิ่งยวดเพื่อการบรรลุถึงพระโพธิญาณ การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมีเพื่อตนและเป็นการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน การกระทำทุกอย่างนี้ดำเนินไปได้ด้วยความรักความปรารถนาในพระพุทธภาวะอันเป็นความหมายของพระโพธิสัตว์ ด้วยความรักในพระโพธิญาณพระโพธิสัตว์จึงสามารถกระทำได้ทุกอย่าง เบื้องต้นแต่สละได้ซึ่งสิ่งของภายนอกจนถึงชีวิตและสิ่งเสมอด้วยชีวิตคือบุตรและภรรยาของตน


ดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในขณะเสวยพระ ชาติเป็นพระโพธิสัตว์ความว่า

เมื่อเราจะให้ทานก็ดี กำลังให้ทานก็ดี ให้ทานแล้วก็ดีจิต ของเราไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น (ขุ.จริยา. ๓๓ / ๖๖ / ๗๓๖)

จักษุทั้งสอง เป็นที่น่าเกลียดชังสำหรับเราก็หาไม่ แม้ตัวเราเองจะเป็นที่เกลียดชังก็หาไม่ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็น ที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้จักษุ ฉะนี้แล (๓๓ / ๖๖ / ๗๓๖)

เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่รักษาชีวิตของเรา เพราะในกาลนั้นเราเป็นผู้รักษาศีล เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น (๓๓ / ๖๕ / ๗๕๔)

อย่างไรก็ตาม คำว่าพระโพธิสัตว์มาจากศัพท์สองศัพท์ประกอบกันคือคำว่าโพธิ ที่แปลว่าความตรัสรู้กับสัตตะ ที่แปลว่า สัตว์ในคำที่เรียกว่าสัตว์โลก (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒: ๒๙) อันมีความหมายครอบคลุมทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานซึ่งจะเห็นได้จากอดีตชาติของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ นอกเหนือจากที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้ว บางพระชาติพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพญาวานร เสวยพระชาติเป็นช้าง เสวยพระชาติเป็นนาคราชเป็นต้น ดังพระพุทธดำรัสต่อไปนี้

ในภพที่เราเป็นพญาวานร ช้างฉัททันต์ และช้างเลี้ยงมารดาเป็นศีลบารมี ในภพที่เราเป็นพญาไก่ป่า สีลวนาค และพญากระต่ายเป็นทานปรมัตถบารมี (ขุ.จริยา. ๓๓ / ๑๒๒ / ๗๗๖)

พระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะครองสภาวะความเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เพราะคำว่า "โพธิสัตว์" หมายถึงผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ คือ การตรัสรู้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเป็นอย่างอื่น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความรู้แจ้งโลก ซึ่งหมายรวมถึงโลก ทั้ง ๓ คือ

- สัตว์โลก อันได้แก่ หมู่สัตว์ ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเทวดา มนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน
- โอกาสโลก อันได้แก่ โลกคือที่อยู่อาศัย หมายถึง ระบบจักรวาล และดวงดาวต่าง ๆ
- สังขารโลก อันได้แก่ โลกคือสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่ง สรุปให้แคบเข้า ได้แก่ นามรูป นั่นเอง (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙:๙-๑๐)

การที่บุคคลได้บรรลุถึงพระโพธิญาณ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นได้ยาก (กิจโฉ พุทธานมุปปาโท) ดังนั้น บุคคลผู้จะบรรลุ พระโพธิญาณได้นั้นจึงจำต้องบำเพ็ญบารมีธรรมเป็นเวลานานยิ่ง เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ นั้นหมายความว่าเขาย่อมต้องประสบกับความลำบากในชีวิตนานับประการ นับตั้งแต่การต้องจำยอมสละทรัพย์สินภายนอกร่างกายเป็นเบื้องต้น จนถึงการยอมสละชีวิตของตนเข้าแลกเป็นที่สุดและการปฏิบัติเช่นนั้นก็ต้องประกอบไปด้วยความเต็มใจของตน หากไม่สามารถปฎิบัติได้ ความหมายของคำว่าพระโพธิสัตว์ในตัวบุคคลนั้นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นตามมา แม้พระโพธิสัตว์จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องแลกด้วยชีวิตแต่พระโพธิสัตว์ก็ใช่ว่าจะหวาดหวั่นต่อสถานการณ์เช่นนั้นไม่ ตรงกันข้ามพระโพธิสัตว์กลับมีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ประสบอย่างเต็มใจ และยินดีด้วยมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยหวังให้คุณธรรมความดีที่บำเพ็ญนั้นเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณในกาลเบื้องหน้า

คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในข่ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมีองค์ประกอบสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะตน ๔ ประการ คือ
๑. อุสสาหะ คือ ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง
๒. อุมมังคะ คือ ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้า
๓. อวัตถานะ คือ ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงมิได้หวั่นไหว
๔. หิตจริยา คือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สัตว์เป็นเบื้องหน้า
(พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๑)

คุณลักษณะหรือเรียกว่าคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เป็นอุปกรณ์หรือวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติตามอย่างมั่นคงจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุดคือพระโพธิญาณ

ข้อที่ ๑ อุสสาหะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคงไม่ย่อท้อต่อความลำบากที่เกิดขึ้นในวัตรปฎิบัติของตน เป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อเป้าหมายสูงสุด ด้วยความรักความปรารถนาต่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือพระโพธิญาณจึงทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความอุสสาหะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยคุณธรรมเฉพาะตน ไม่มีจิตคิดสยบต่อมารคือกิเลสเป็นต้น อันเป็นความชั่วที่คอยยั่วยุหรือขัดขวางไม่ให้บำเพ็ญความดีอย่างเต็มที่ เป็นผู้ข้ามพ้นปัญหาต่าง ๆ ด้วยความอุสสาหะยิ่ง และเพราะการจะบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก แต่หากพระโพธิสัตว์สามารถข้ามพ้นความยากลำบากนั้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ พระโพธิสัตว์ก็สามารถบรรลุถึงความสำเร็จคือความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน ดังคำอุปมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะได้บรรลุถึงพุทธภาวะที่ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งที่ว่า

"ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตนว่ายข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้นอันเป็นน้ำผืนเดียวกันหมดแล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้" (ขุ.ชา.อ. ๓ / ๒๕)
ข้อที่ ๒ อุมมังคะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา อันเชี่ยวชาญหาญกล้ารู้จักไตร่ตรองคิดหาเหตุผล อย่างรวดเร็วมีศักยภาพ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ดี ตลอดทั้งรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะมีผลดี ชั่ว มากน้อยแค่ไหน ทำแล้วจะเกิดผลดี เลว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตัดสินปัญหา ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด

ข้อที่ ๓ อวัตถานะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงไม่หวั่นไหว คือเป็นผู้มีจิตอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่คิดละเลิกในสิ่งที่ทำเสียกลางคัน ตราบใดที่ภารกิจอันนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือ ความสำเร็จก็ไม่ละทิ้งให้เสียการ อธิษฐานธรรมนี้ย่อมมาพร้อมกับธรรมอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นธรรมะที่มีประกอบกันอยู่ เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่งก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒: ๑๙๙) เมื่อมีความตั้งมั่นในกิจอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแล้ว จำต้องกระทำด้วยความมีวิริยะ และอดทนทั้งอดทนต่อการกระทำกิจอันนั้นและอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่อาจเป็นตัวขัดขวางไม่ให้กิจที่กระทำดำเนินไปได้อย่างสะดวก สุดท้ายคือ มีความจริงใจที่จะกระทำกิจให้ลุล่วงจนถึงที่สุด กิจนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้

ข้อที่ ๔ หิตจริยา พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาสัตว์เป็นเบื้องหน้า เป็นผู้ประพฤติประโยชน์ด้วยคำนึงถึงผู้อื่นเสมอโดยไม่เลือกชนิดผู้รับประโยชน์ พระโพธิสัตว์ถือว่าการบำเพ็ญการช่วยเหลือแก่ผู้อื่นนั้นคือภารกิจที่ต้องกระทำตามหน้าที่ คือเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรม

คุณลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ


คุณลักษณะที่สำคัญของพระโพธิสัตว์อาจสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑. การบำเพ็ญตนช่วยเหลือสรรพสัตว์ อย่างไร้ขอบเขตหรือประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)
๒. การบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อการบรรลุพระโพธิญาณในอนาคตหรือประโยชน์ตนเอง (อัตตัตถะ)

การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อยู่กับภาระที่จะพึงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ ๒ ประการข้างต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องมีและประโยชน์ทั้งสองนั้นก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไร้ขอบเขตก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ตรงกันข้ามการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ก็คือการได้มีโอกาสอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน

คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่มีในตัวของพระโพธิสัตว์ คุณลักษณะนั้นเรียกว่า "อัชฌาสัยของพระโพธิสัตว์" มี ๖ อย่าง คือ


๑. อโลภะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โลภ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโลภและอยากได้ในอารมณ์ที่น่าชอบพอพึงใจ
๒. อโทสะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โกรธ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโกรธ
๓. อโมหะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่หลง เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความหลง
๔. เนกขัมมะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการถือบวช เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่ครองเรือน
๕. ปวิเวกะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในความสงบ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่คลีกับหมู่คณะ
๖. นิสสรณะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการออกจากทุกข์ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในภพและคติทั้งปวง
(วิสุทธิ. ๑ / ๗๔-๗๕)
อัชฌาสัยทั้ง ๖ ประการที่กล่าวมาข้างต้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นลักษณะนิสัยที่เป็นพื้นฐานของพระโพธิสัตว์ เป็นองค์ประกอบที่เอื้อต่อการบรรลุถึงพุทธภาวะได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามบุคคลผู้ปรารถนาพุทธภาวะจำต้องผ่านการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เพื่อให้คุณธรรมเกิดความบริบูรณ์และแก่กล้าอันเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ และบุคคลผู้จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นแห่งการทำให้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเรียกว่า "อัฏฐธัมมสโมธาน" คือ การประชุมรวมกันของธรรม ๘ ประการ ธรรมในที่นี้หมายถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เมื่อพร้อมมูลอยู่ในบุคคลใดแล้วก็ยังผลให้บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็น "นิยตโพธิสัตว์" (บรรจบ บรรณรุจิ,๒๕๒๙:๑๒) คือพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน คุณสมบัติเบื้องต้นหรือองค์ประกอบ ๘ ประการนั้น มีดังนี้

๑. ความเป็นมนุษย์ คือ บุคคลผู้ตั้งจิตปรารถนาบรรลุพระโพธิญาณนั้น จะต้องดำรงภาวะเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเทวดา ความปรารถนาไม่สามารถสำเร็จได้
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ คือ แม้จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ตามแต่ก็จำกัดเฉพาะเพศบุรุษเท่านั้น จะเป็นสตรี บัณเฑาะก์ หรืออุภโตพยัชชนก(คนสองเพศ) ความปรารถนาก็หาสำเร็จไม่เช่นกัน

๓. เหตุ คือ มีอรหัตตูปนิสัย อันได้แก่ มีความพร้อมหรือมีศักยภาพพอที่จะสามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ในอัตภาพที่กำลังเป็นอยู่หรือในขณะนั้นหากมีความปรารถนา

๔. การเห็นพระศาสดา คือ การได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วตั้งความปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะตั้งความปรารถนา ณ สถานที่นอกจากนี้ เช่นโคนต้นไม้เป็นต้นย่อมไม่สำเร็จ

๕. การบรรพชา คือ การต้องครองเพศเป็นบรรพชิตหรือกำลังถือบวชเท่านั้น จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์แล้วตั้งความปรารถนาก็ย่อมไม่สำเร็จ

๖. การสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ อันได้แก่การได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วตั้งความปรารถนาจึงจะสำเร็จได้

๗. การกระทำที่ยิ่งใหญ่ คือ การกระทำบุญอันยิ่งด้วยชีวิต อันได้แก่การได้บริจาคชีวิตถวายแด่พระพุทธเจ้าที่เรียกว่าการกระทำอันยิ่งใหญ่

๘. ความพอใจ คือ มีฉันทะความพอใจอันใหญ่หลวง มีอุตสาหะและความพยายามที่จะบรรลุถึงพระโพธิญาณ คือ ความรักความปรารถนาที่จะบรรลุสัพพัญญุตญาณอย่างแรงกล้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ยากต่อการฝ่าฟันก็ไม่ยอมแพ้ (ขุ.ชา.อ. ๓ / ๒๔-๒๕)

องค์ประกอบของธรรม ๘ ประการนี้เป็นองค์คุณที่จะทำบุคคลให้เป็น " นิยตโพธิสัตว์" จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งเป็นอันไม่บริบูรณ์ กล่าวคือ ความเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มีพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้าก็เป็นอันเกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวโดยสรุป คือ บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ต้องเริ่มต้นด้วยความถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการบำเพ็ญบารมีธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) ๑๐ ประการเป็นลำดับต่อไป อนึ่งประเด็นคุณสมบัติที่จะทำบุคคลให้เป็นพระโพธิสัตว์นี้ ในฝ่ายเถรวาท มีคติว่าบุคคลผู้นั้นต้องสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องต้นก่อนจึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ แต่ในคติฝ่ายอาจาริยวาท (มหายาน) นั้นมีว่า ทุกคนสามารถบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ได้เหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติข้างต้นครบ คตินิยมในฝ่ายอาจาริยวาทนั้นมักให้ความสำคัญกับความเป็นพระโพธิสัตว์เป็นอย่างมาก เพราะต้องการบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโดยหวังจะได้ช่วยขนสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้คราวละ มาก ๆ (จำนง ทองประเสริฐ, ในจำนงค์ ทองประเสริฐ, บรรณาธิการ, ๒๕๔๑: ๓๐) ดังนั้น คติแห่งการดำเนินชีวิตจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ อีกทั้งประเด็นเรื่องบารมีก็มีความแตกต่างจากคติในฝ่ายเถรวาทในส่วนขององค์ธรรมแม้จะมีจำนวนเท่ากันก็ตาม ซึ่งฝ่ายมหายานนั้นได้แบ่งจำนวนบารมีไว้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) บารมีประเภทหลัก และ (๒) บารมีประเภทรอง ดังนี้

บารมีประเภทหลัก ได้แก่
๑. ทานบารมี (การเสริมสร้างความเป็นคนเสียสละ)
๒. สีลบารมี (การเสริมสร้างชีวิตแห่งความมีระเบียบวินัย)
๓. ขันติบารมี (การเสริมสร้างความเข้มแข็ง-อดทน)
๔. วิริยบารมี (การเสริมสร้างความกล้าหาญ)
๕. ฌานบารมี (การเสริมสร้างสมาธิจิต)
๖. ปัญญาบารมี (การเสริมสร้างปัญญาชั้นสูง)
สำหรับบารมีประเภทรอง ได้แก่
๑. อุปายบารมี (การเสริมสร้างความคิดริเริ่ม)
๒. ปณิธานบารมี (การเสริมสร้างความมีอุดมการณ์ของชีวิต)
๓. พลบารมี (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น)
๔. ญาณบารมี (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น) (บุณย์ นิลเกษ, ๒๕๓๔ ก: ๓๒-๓๓)

โดยลักษณะทั่ว ๆ ไป แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ของทั้งสองนิกายนี้ จึงมีความแตกต่างกัน
ประเภทของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ในนิกายเถรวาทมี ๓ ประเภทสำคัญ ๆ คือ

๑. อุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีปัญญามากกว่าศรัทธา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีน้อยกว่าพระโพธิสัตว์ประเภทอื่น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระปัญญาธิกพุทธเจ้า

๒. วิปจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีศรัทธามากกว่าปัญญา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ แต่น้อยกว่าเนยยโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า สัทธาธิกพุทธเจ้า

๓. เนยยโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีความเพียรมากกว่าปัญญา ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าทั้งสองจำพวกข้างต้น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระวิริยาธิกพุทธเจ้า (เทพพร มังธานี, ๒๕๔๓: ๑๓)

สำหรับเกณฑ์การแบ่งประเภทพระโพธิสัตว์ข้างต้นนี้เป็นไปโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้
๑. ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรมเร็วหรือช้ากว่ากัน
๒. อินทรียธรรมที่เป็นตัวนำในการตรัสรู้ธรรมมีมากน้อยแตกต่างกันคือ ปัญญา ศรัทธา วิริยะ (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙: ๘๒)

กระบวนการในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์

ระยะเวลาแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทุกองค์นั้นต้องใช้เวลาในการสั่งสมบารมีเพื่อให้เกิดความแก่กล้าเป็นเวลานาน กล่าวคือ ถ้ายังมิได้ถึงกำหนด ๔ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๘ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะให้ทานอันยิ่งเหมือนด้วยทานของพระเวสสันดรทุก ๆ วันก็ดี จะบำเพ็ญพระบารมีอันยิ่งให้เสมอด้วยทานนั้นทุก ๆ วันก็ดี ด้วยหวังจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเร็ว ๆ นั้นก็ไม่สำเร็จ (พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.: ๖-๗) อันเปรียบเสมือนต้นไม้ต้นเล็กซึ่งยังไม่ถึงเวลาแห่งการผลิตดอกออกผล แม้บุคคลจะหมั่นบำรุงรักษาโดยการในปุ๋ยหรือพรวนดินให้มากสักเพียงใดก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะต้นไม้นั้นยังไม่มีภาวะแห่งความพร้อมที่จะออกผล ในระหว่างนั้นพระโพธิสัตว์ต้องพบกับความยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการซึ่งเปรียบเสมือนข้อทดสอบความมุ่งมั่นจริงใจในการปฏิบัติ คติอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของพระโพธิสัตว์ต่อการไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคต่าง ๆ คือการยอมสละได้แม้ที่สุดคือชีวิตดังคาถาบทหนึ่งมีความว่า


พึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิต
ก็พึงสละอวัยวะ นรชนเมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตแม้ทั้งสิ้น
(ขุ.ชา. ๒๘ / ๓๘๓ / ๑๐๗)
กระบวนการในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธสัตว์เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่พระโพธิสัตว์ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ (อัฏฐธัมมสโมธาน) โดยบริบูรณ์แล้ว จากนั้นพระโพธิสัตว์จึงได้เริ่มตั้งปณิธานคือ ความมั่นคง แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือความมุ่งมั่นตั้งใจจริงซึ่งในฝ่ายพุทธศาสนามหายานเรียกปณิธานของพระโพธิสัตว์นี้ว่า "มหาจตุรปณิธาน" มี ๔ ประการ คือ
๑. เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น
๒. เราจะตั้งใจศึกษาพระธรรมทั้งหลายให้เจนจบ
๓. เราจะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔. เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (เสถียร โพธินันทะ และเลียง เสถียรสุต, ๒๕๒๙: ๑)

ปณิธานทั้ง ๔ ข้อนี้ กล่าวได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระโพธิสัตว์ และเปรียบเสมือนสิ่งอันเป็นเครื่องกระตุ้นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอันแรงกล้าในการบำเพ็ญบารมีธรรมของผู้เป็นพระโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์จะต้องมีปณิธานทั้ง ๔ ข้อนี้โดยหน้าที่ของตน

ข้อที่ ๑. พระโพธิสัตว์ในฐานะผู้จะตรัสรู้สัจธรรม อยู่เหนือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายจึงต้องบำเพ็ญธรรมให้แก่กล้าอันเป็นเครื่องทำลายกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นเพื่อทำให้ตนเองบริสุทธิ์หมดจด เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ได้

ข้อที่ ๒. พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะต้องศึกษาธรรม คือความจริงของชีวิตให้เกิดความแจ่มแจ้งแทงตลอดให้เห็นซึ่งความจริงในธรรมชาติ จะต้องเป็นผู้ขวนขวายค้นคว้าหาความรู้จนถึงที่สุดคือความรู้ทุกอย่าง (สัพพัญญุตญาณ) อันเป็นส่วนประโยชน์ตน

ข้อที่ ๓. พระโพธิสัตว์เมื่อพัฒนาตัวเองจนถึงที่สุดกล่าว คือ เป็นผู้บรรลุพระโพธิญาณอันได้ชื่อว่า ถึงฝั่ง คือ พระนิพพานแล้ว เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้แล้ว ก็เป็นผู้มีปัญญาความสามารถจะต้องใช้ปัญญาความสามารถนำเอาความจริงที่ได้ค้นพบนั้นไปเผยแผ่แก่มวลสัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ ให้พบกับความสุขที่แท้จริง

ข้อที่ ๔. พระโพธิสัตว์ คือ ผู้จะได้เข้าถึงแดนพุทธภูมิ ได้แก่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอนหากพระโพธิสัตว์มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งความปรารถนาของพระโพธิสัตว์ที่ต้องการเข้าถึงพุทธภูมิ คือการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเพราะต้องการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ เพราะการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เป็นการช่วยเหลือที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากกว่าพระอรหันต์ และพระปัจเจกพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้เลย เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เป็นผู้มีปัญญาเห็นสัจธรรมเฉพาะตัวเอง แต่ไม่สามารถชี้แจงแสดงนัยแห่งสัจธรรมให้แก่ผู้อื่นได้เห็นตามได้โดยเหตุที่พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นตรัสรู้แต่อรรถรสสิ่งเดียว มิได้ตรัสรู้ธรรมรสจึงมิอาจจะยกพระโลกุตตรธรรมขึ้นสู่บัญญัติได้ (พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๕)

พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ยึดถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต พระพุทธเจ้าคือบุคคลในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมีธรรมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ฐานะอันเป็นความสำเร็จสูงสุดเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แล้วดำเนินตามพุทธกิจที่พึงปฏิบัติ คือ การกระทำตามปณิธานที่ได้วางไว้ กล่าวคือ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทำการช่วยเหลือสัพพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฎฎะสงสาร ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำริในพระทัยในคราวที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระชาติแรกของการเริ่มต้นเป็นพระโพธิสัตว์ความตอนหนึ่งที่ว่า

…วันนี้เราเมื่อปรารถนาอยู่ก็พึงเผากิเลสของเราได้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า
ด้วยการทำให้แจ้งธรรมในที่นี้ด้วยเพศที่ใคร ๆ ไม่รู้จัก
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
จะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข็งแรงนี้ข้ามฝั่งไปคนเดียว
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่งด้วยการกระทำ
อันยิ่งใหญของเรา ด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข้งแรงนี้ เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
แล้วจักให้เหล่าชนมากมายข้ามฝั่ง เราตัดกระแสน้ำคือสงสาร
ทำลายภพทั้งสามแล้ว ขึ้นสู่ธรรมนาวาจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่ง
(ขุ.ชา.อ. ๓ / ๒๓-๒๔)

บารมี ๑๐ ประการ

การบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เรียกว่า การบำเพ็ญคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) หรือเรียกว่า บารมี ซึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ผู้วิจัยทำการศึกษานี้ บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์มี ๑๐ ประการ คือ

๑.ทาน ได้แก่ การสละให้สิ่งที่สละให้มี ๓ ระดับ คือ
- ทรัพย์สิ่งของภายนอก
- อวัยวะในร่างกายของตน
- ชีวิตตนเอง หรือสิ่งเสมอด้วยชีวิตตน คือ บุตร ภรรยา

๒ ศีล ได้แก่ คุณธรรมเครื่องปราบกิเลสอย่างหยาบ ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถยับยั้งใจไว้ได้ต้องลงมือกระทำความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ศีลที่พระโพธิสัตว์รักษามี ๒ คือ
-นิจศีล (ศีล ๕)
- อุโบสถศีล (ศีล ๘)

๓.เนกขัมมะ ได้แก่ การออกจากกาม มี ๒ คือ
- ออกจากกามโดยสละบ้านเรือนออกบวช
- ออกจากกามโดยบำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุญาณ

๔.ปัญญา ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้อย่างลึกซึ้ง มี ๓ คือ
- สุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน
- จินตามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการคิดพิจารณา
- ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฝึกจิต อบรมจิต

๕.วิริยะ ได้แก่ ความพากเพียรพยายาม การกระทำอย่างต่อเนื่อง ในทางที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมัปปธาน มี ๔ อย่างคือ
- สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
- ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
- ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น
- อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง

๖. ขันติ ได้แก่ ความอดทนมี ๓ คือ
- ตีติกขาขันติ ความอดทนแบบอดกลั้นต่ออารมณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ
- ตบขันติ ความอดทนด้วยอำนาจตะบะ คือ สมาธิข่มใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส
- อธิวาสนขันติ ความอดทนระงับยับยั้งไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นเลยแม้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก

๗. สัจจะ ได้แก่ ความจริง ความเที่ยงแท้ หมายถึง ความจริงใจ พูดและทำตามความคิด

๘. อธิษฐาน ได้แก่ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ในความคิด กระทำสิ่งใดก็ทำจนบรรลุเป้าหมาย

๙. เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ด้วยอำนาจคุณธรรม ไม่ใช่รักและปรารถนาดีด้วยอำนาจกามราคะ

๑๐. อุเบกขา ได้แก่ ความวางเฉย ความปล่อยวาง หมายถึง อาการที่จิตเป็นกลาง ไม่ยึดใน ความดีที่ตนเองได้กระทำลงไป และไม่ทุกข์ใจในการทำผิดซึ่งพลาดพลั้งเกิดขึ้น (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙: ๑๙-๒๑)

บารมีทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญด้วยความเสียสละตนเองเป็นอย่างยิ่งอันเป็นส่วนของความเมตตากรุณาต่อปวงสัตว์ และจะต้องฝึกหัดบำเพ็ญบารมีอันนั้นให้เกิดเป็นความต่อเนื่อง และจะต้องปฏิบัติให้ได้ตั้งแต่ระดับสามัญ (บารมี) จนถึงระดับที่กระทำได้ยากสุด (ปรมัตถบารมี) พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติได้เพื่อให้เกิดคุณธรรมแก่กล้าอันเป็นป็นปัจจัยให้เกิดโลกุตตรปัญญาคือความเป็นพุทธะในที่สุด และหากพระโพธิสัตว์ไม่สามารถบำเพ็ญบารมีทั้งสิบนี้ให้ครบถ้วนก็ไม่มีทางที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ (จำนง ทองประเสริฐ, ในวิมล ไทรนิ่มนวล, บรรณาธิการ, ๒๕๓๙: ๓๗๙)

คุณธรรมหรือบารมีของพระโพธิสัตว์แม้มีถึง ๑๐ ประการแต่เมื่อจัดรวมเข้าด้วยกันแล้วก็มีข้อที่เป็นหลักคลุมข้ออื่นทั้งหมด ๒ อย่าง คือ

๑.กรุณา คือ เห็นแก่ผู้อื่น มุ่งจะบำบัดทุกข์นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์

๒. ปัญญา คือ ฝึกตนยิ่งขึ้นไปด้วยใฝ่รู้ตลอดเวลาให้มีปัญญารู้แจ้งธรรม มองเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่สรรพสัตว์ที่ตนจะทำประโยชน์ให้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), ๒๕๔๒: ๗๙)
ในขณะที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๑๐ ก็มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่สัตว์ทั้งปวงให้ได้รับโลกิยสุขเพื่อพระโพธิสัตว์ได้บรรลุความดีคือพระโพธิญาณอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด แล้วก็คิดหวังจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ได้รับโลกุตตรสุขเช่นที่พระองค์ได้รับ กล่าวคือ แม้ขณะบำเพ็ญบารมีก็ดี แม้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่หวังแล้วก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ก็เป็นไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั้งสิ้นอันเป็นส่วนของพระกรุณา

การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามหลักวิธีและเกิดผลสัม ฤทธิ์ในที่สุดก็ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์รู้จักใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลไตร่ตรองความเป็นไปของกระบวนการการบำเพ็ญบารมีว่า ในสถานการณ์ที่เผชิญนั้นควรแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสมและเป็นปัจจัยเอื้อให้ได้บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ถ้าสถานการณ์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ไตร่ตรองแล้วว่าการสละชีวิตเท่านั้น จะเป็นทางรอดของสัตว์ผู้เผชิญความทุกข์และถูกหลักการแห่งการบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้อันเป็นส่วนของพระปัญญา

บารมี ๑๐ ประการนี้ เป็นอุดมคติธรรมของพระโพธิสัตว์ คือ เป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องบำเพ็ญเป็นหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวปฏิบัติเพื่อการบรรลุสัจธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พระโพธิสัตว์ได้ยึดเอาหลักธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา หรือความยากลำบาก ในการตัดสินใจกระทำ บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญที่จะทำให้พระโพธิสัตว์ได้ก้าวไปสู่ พุทธภาวะ หรือบรรลุพระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์ได้ปฏิบัติในบารมีธรรมเหล่านั้นครบทั้ง ๑๐ อย่าง คือ ไม่น้อยกว่าหรือมากกว่า ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว ดังพระบาลีที่ว่า

….บารมีของเรา ๑๐ ประการนี้ เป็นส่วนแห่งพระโพธิญาณอันเลิศ
บารมียิ่งกว่า ๑๐ ไม่มี หย่อนกว่า ๑๐ ก็ไม่มี เราบำเพ็ญบารมีทุกอย่าง
ไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นบารมี ๑๐ ประการ ฉะนี้แล
(ขุ.จริยา.๓๓ / ๓๖ / ๓๓)
บารมีธรรมทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้ครบ จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้เพราะเป็นการไม่ครบองค์คุณ ซึ่งระดับการปฏิบัติก็สามารถจัดแบ่งได้ตามคุณภาพหรือความเข้มข้นเป็น ๓ ระดับ คือ
๑.ระดับบารมีหรือระดับสามัญ
๒.ระดับอุปบารมี หรือ ระดับกลาง
๓.ระดับปรมัตถบารมี หรือ ระดับสูงสุด

ระดับสามัญ เป็นระดับอันมีความยากลำบากน้อยสุดคือต้องสละวัตถุภายนอก ระดับปานกลางเป็นระดับอันมีความยากลำบากกว่าระดับแรก คือต้องแลกด้วยอวัยวะทางร่างกายและสุดท้าย ระดับสูงสุดซึ่งมีความยากลำบากที่สุด เพราะต้องเสียสละซึ่งชีวิตหรือสิ่งเสมอด้วยชีวิต คุณธรรมหรือพุทธการกธรรม ๑๐ ประการดังกล่าว พระโพธิสัตว์ต้องปฏิบัติได้ทั้ง ๓ ระดับ คือ สามัญ ปานกลาง และสูงสุด ดังนั้น การบำเพ็ญบารมีอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้จึงจัดเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ (๓๓ / ๓๖ / ๓๒) แม้จะมีความยากลำบากเพียงไร พระโพธิสัตว์ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดเคืองใจ และกลับเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งมั่นต่อพระโพธิ ญาณดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสในคราวเสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัตตะความว่า

การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น (๓๓ / ๑๗ / ๗๔๘)

อีกทั้งบุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นพระโพธิญาณ เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิต และสิ่งเสมอด้วยชีวิต คือ บุตร และ ภรรยา ไม่ใช่ชีวิตและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนจะไม่สำคัญ แต่เพราะตนเห็นว่า พระโพธิญาณ มีความสำคัญกว่ายิ่งนัก เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตทั้งของตนและผู้อื่นพบกับความสุขที่แท้จริงและชั่วนิรันดร์ได้ ดังพุทธดำรัสที่ได้ตรัสในขณะเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรมีความว่า

….เราสละพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ผู้เป็นบุตรธิดาและพระนางมัทรีเทวีผู้มีจริยาวัตรงดงามไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั้นเองบุตรทั้งสอง…พระเทวีมัทรีเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่แต่พระสัมพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงให้บุตรธิดาและภรรยาผู้เป็นที่รัก (๓๓ / ๑๑๘-๑๑๙ / ๗๔๒)

ความตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญซึ่งบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ยอมสละได้แม้ชีวิตตนและสิ่งอันเสมอด้วยชีวิตคือบุตรและภรรยา จึงเปรียบเสมือนการที่บุคคลได้เผชิญกับโรคร้ายซึ่งเปรียบเสมือนความทุกข์ในวัฏฏสงสาร แต่มีความประสงค์ที่จะหายขาดจากโรคร้ายนั้นซึ่งเปรียบเสมือนความต้องการที่จะพ้นจากวังวนของวัฏฏสงสาร ก็จำเป็นที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการเยียวยาที่มีฤทธิ์แรงครั้งใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือนกับความกล้าหาญในการบำเพ็ญบารมีแม้ต้องสละชีวิต เพื่อกลับสู่ภาวะปกติทางร่างกายและมีความสุขดังเดิมตลอดไป ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบรรลุถึงพุทธภาวะซึ่งหมายถึงการเข้าสู่นิพพานฉะนั้น

จากการได้ศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์นั้นคือผู้ดำเนินชีวิตเพื่ออุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง ปณิธาน ๔ ประการ คือ เครื่องยืนยันถึงความหมายข้อนี้ การยอมเสียสละตนเพื่อสรรพสัตว์ของพระโพธิสัตว์มิใช่เกิดมีขึ้นเพียงคราวใดคราวหนึ่งในบรรดา ๒ คราว กล่าวคือ ในคราวเป็นพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็ทรงมีกรุณาธรรมอันไร้ขอบเขตแก่ปวงสัตว์ผู้ทุกข์ยาก และในคราวเมื่อได้ตรัสรู้ธรรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทอดทิ้งสัตว์โลกผู้มืดบอดไปด้วยอวิชชาให้เผชิญกับความทุกข์ของชีวิต แต่พระโพธิสัตว์ก็ได้ชี้หนทางเครื่องพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์แก่มวลสัตว์ด้วยมหากรุณาคุณ พระโพธิ สัตว์หาใช่อาศัยบารมีธรรมที่ตนได้บำเพ็ญช่วยเหลือสรรพสัตว์เพื่อการบรรลุพระโพธิญาณแล้วเสวยโลกุตตรสุขแต่เพียงผู้เดียวไม่ แต่เจตจำนงของพระโพธิสัตว์ในชั้นแรกคือการบำเพ็ญตนช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อให้เป็นบารมีธรรมที่สมบูรณ์ อันเป็นเครื่องค้ำหนุนให้ตนบรรลุพระสัพพัญญุตญุตญาณก่อน แล้วจึงดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวงให้บรรลุความสุขอันเป็นความสุขอย่างแท้จริงเหมือนที่ตนได้บรรลุถึงเป็นชั้นที่สองต่อไป

จุดมุ่งหมายสูงสุดในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ คือ การได้บรรลุถึงพุทธภาวะอันได้แก่การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การเข้าถึงพุทธภาวะเป็นสิ่งพึงปรารถนาของพระโพธิสัตว์ เพราะความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นอุดมภูมิที่อยู่ในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ทุกองค์ การบำเพ็ญบารมีทุกครั้งพระโพธิสัตว์จะปรารภถึงพุทธภูมิเป็นเหตุแห่งการกระทำดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในคราวเป็น อกิตติดาบสโพธิสัตว์ความมีว่า

เมื่อเราให้ทานแก่อินทพราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศและลาภก็หามิได้ แต่เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นจึงได้ประพฤติกรรมเหล่านั้น ฉะนี้แล (๓๓ / ๑๐ / ๗๒๘)

การบำเพ็ญบารมีแต่ละคราวนั้นพระโพธิสัตว์มิได้หวังผลอย่างอื่นเป็นจุดมุ่งหมายหลักอันเบี่ยงไปจากความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณก็คือ ความปรารถนาความสุขให้เกิดแก่มวลสรรพสัตว์เพราะการหวังที่จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ คือ ความต้องการที่ช่วยเหลือสัตว์ทั้งมวลให้พ้นจากทุกข์อันเป็นทุกข์ประจำ คือ ชาติ ชรา มรณะ อย่างถูกวิธี แต่ทั้งนี้พระโพธิสัตว์มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองพัฒนาตัวเองให้สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้เสียก่อน จึงจะสามารถแนะนำหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ อุปมาเหมือนบุคคลจะช่วยเหลือผู้อื่นขึ้นจากตมได้นั้น จะต้องช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากตมนั้นเสียก่อน ฉะนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งหลายด้วยมีความปราถนาพระโพธิญาณเป็นเหตุปรารภทำให้พระโพธิสัตว์มีความมุ่งมั่นจริงใจต่อวัตรปฏิบัติในบารมี ในขณะเดียวกันบารมีธรรมทั้งหลายก็เป็นเหตุแห่งความสัมฤทธิ์ คือ การบรรลุพระโพธิญาณ จึงกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญบารมีธรรมกับความใคร่ปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณเป็นเหตุปัจจัยหนุนเนื่องแก่กันและกันให้เกิดขึ้น

อนึ่งเมื่อกล่าวถึงจุดมุ่งหมายแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์แล้วจะเห็นได้ว่าย่อมเป็นไปเพื่อ
๑. การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เองก่อน
๒. การรื้อขนปวงชนทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากห้วงทุกข์ระทมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (บุณย์ นิลเกษ, ๒๕๓๔ ก: ๔๒)

จุดมุ่งหมายทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่บุคคลผู้เป็นพระโพธิสัตว์มีเหมือนกัน เพราะพระโพธิสัตว์ทุกองค์ได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์คือสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนหากไม่ละทิ้งความพยายามเสียในระหว่าง และจะต้องทำหน้าที่ของความเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องอยู่ในระเบียบปฏิบัติเหล่านี้
คัดลอกจากพระมหาจู่ล้อม ชูเลื่อน. (๒๕๔๖). ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 18:34:58 น.
Counter : 341 Pageviews.  

พระพุทธเจ้าสอนอะไร

เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้มีมหาบุรุษท่านหนึ่ง เกิดขึ้นมาในโลก เป็นโอรสของ พระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ซึ่งบัดนี้อยู่ใน เขตประเทศเนปาล มีพระนามว่า “สิทธัตถะ” ต่อมาอีก ๓๕ ปี พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ได้พระนามตาม ความตรัสรู้ว่า “พุทธะ” ซึ่งไทยเราเรียกว่า “พระพุทธเจ้า” พระองค์ได้ ทรงประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แก่ประชาชน จึงเกิดพระพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของ พระพุทธะ) และบริษัท ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกา ขึ้นในโลก จำเดิมแต่นั้น บัดนี้ ในเมืองไทยมีแต่ภิกษุ (สามเณร) อุบาสก และอุบาสิกา ภิกษุนั้นคือชายผู้ถือบวช ปฏิบัติพระวินัย ของภิกษุ สามเณรนั้นคือชายผู้มีอายุ ไม่ครบ ๒๐ ปี หรือแม้อายุ เกิน ๒๐ ปี แล้วเข้ามาถือบวช ปฏิบัติสิกขา ของสามเณร อุบาสก อุบาสิกานั้นคือ คฤหัสถ์ชายหญิง ผู้นับถือพระรัตนตรัย เป็นสรณะ (ที่พึ่ง) และปฏิบัติอยู่ ในศีลสำหรับคฤหัสถ์ บัดนี้ มีคำเรียกชายหญิงทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ผู้ประกาศตนถึง พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ว่า “พุทธมามกะ” “พุทธมามิกะ” แปลว่า “ผู้นับถือพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพระของตน” พระพุทธศาสนาได้แผ่ออกจากประเทศ ถิ่นที่เกิดในประเทศต่าง ๆ ในโลก

หลักเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย (รัตนะ ๓) ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้ว ทรงประกาศสั่งสอนตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น พระธรรม คือ สัจจธรรม (ธรรม คือ ความจริง) ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ ทรงประกาศสั่งสอน เป็นพระศาสดาขึ้นพระสงฆ์ คือ หมู่ชน ผู้ได้ฟังคำสั่งสอน ได้ปฏิบัติตนและได้รู้ตาม พระพุทธเจ้า บางพวกออกบวชตาม ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนา และสืบต่อวงศ์การบวช มาจนถึงปัจจุบันนี้

ทุกคนผู้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา จะเป็นคฤหัสถ์ ก็ตาม จะถือบวชก็ตาม ต้องทำกิจ เบื้องต้น คือปฏิญาณตนถึง พระรัตนตรัยนี้เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง หรือดังที่เรียกว่านับถือ เป็น พระของตน เทียบกับทางสกุล คือ นับถือพระพุทธเจ้า เป็นพระบิดาผู้ให้กำเนิดชีวิต ในทางจิตของตน พุทธศาสนิกชน ย่อมสังคมกับผู้นับถือศาสนาอื่นได้ และย่อมแสดง ความเคารพ สิ่งเคารพในศาสนาอื่นได้ตามมรรยาทที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแสดงความ เคารพบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่ของคนอื่นได้ แต่ก็คงมีบิดาของตน ฉะนั้น จึงไม่ขาดจาก ความเป็นพุทธศาสนิกชน ตลอดเวลาที่ยังนับถือพระรัตนตรัยเป็นของตน เช่นเดียวกับเมื่อ ยังไม่ตัดบิดาของตน ไปรับบิดาของเขามา เป็นบิดา ก็คงเป็นบุตรธิดาของบิดาตนอยู่ หรือเมื่อยังไม่แปลง สัญชาติเป็นอื่น ก็คงเป็นไทยอยู่นั่นเอง ฉะนั้น พระพุทธศาสนา จึงไม่คับแคบ ผู้นับถือย่อมสังคมกับชาวโลกต่างชาติ ต่างศาสนาได้สะดวก ทั้งไม่สอน ให้ลบหลู่ใคร ตรงกันข้าม กลับให้เคารพต่อผู้ควรเคารพทั้งปวง และไม่ซ่อนเร้นหวง กันธรรมไว้โดยเฉพาะ ใครจะมาศึกษาปฏิบัติก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมานับถือก่อน ทั้งนี้ เพราะแสดงธรรมที่เปิดทาง ให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นสัจจะ (ความจริง) ที่เป็นประโยชน์สุข แก่การดำรงชีวิตในปัจจุบัน สัจธรรมที่เป็นหลักใหญ่ ในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ ๔

อริยสัจ แปลว่า “สัจจะของผู้ประเสริฐ (หรือผู้เจริญ)” “สัจจะที่ผู้ประเสริฐพึงรู้” “สัจจะที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐ” หรือแปลรวบรัดว่า “สัจจะอย่างประเสริฐ” พึงทำความเข้าใจ ไว้ก่อนว่า มิใช่สัจจะตามชอบใจของโลกหรือของตนเอง แต่เป็นสัจจะทางปัญญาโดยตรง

อริยสัจ ๔ คือ
๑. ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ซึ่งมีเป็น ธรรมดาของชีวิต และความโศก ความระทม ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ซึ่งมีแก่จิตใจ และร่างกาย เป็นครั้งคราว ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ความพลัด พรากจากสิ่ง ที่รักที่ชอบ ความปรารถนาไม่สมหวัง กล่าวโดย ย่อก็คือ กายและใจนี้เองที่เป็นทุกข์ต่าง ๆ จะพูดว่า ชีวิตนี้เป็น ทุกข์ต่าง ๆ ดังกล่าวก็ได้

๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ คือ ดิ้นรน ทะยานอยาก เพื่อที่จะได้สิ่งปรารถนาอยากได้ ดิ้นรนทะยานอยากเพื่อ จะเป็นอะไรต่าง ๆ ดิ้นรนทะยานอยากที่จะไม่เป็นในภาวะที่ ไม่ชอบต่าง ๆ

๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับตัณหา ความดิ้นรน ทะยานอยากดังกล่าว

๔. มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ ทางมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรพยายามชอบ สติชอบ ตั้งใจชอบ

ได้มีบางคนเข้าใจว่า พระพุทธศาสนามองในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์ และสอน สูงเกินกว่าที่คนทั่วไป จะรับได้ เพราะสอนให้ดับความดิ้นรนทะยานอยากเสียหมด ซึ่งจะ เป็นไปยาก เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าใจดังนี้ จึงต้องซ้อม ความเข้าใจไว้ก่อนที่จะแจกอริยสัจ ออกไป พระพุทธศาสนา มิได้มองในแง่ร้ายหรือแง่ดีทั้งสองอย่างเดียว แต่มองในแง่ของ สัจจะ คือความจริงซึ่งต้องใช้ปัญญาและจิตใจที่บริสุทธิ์ ประกอบกันพิจารณา

ตามประวัติพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ ทรงแสดงอริยสัจแก่ใครง่าย ๆ แต่ได้ ทรงอบรมด้วยธรรมข้ออื่น จนผู้นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์พอที่จะรับเข้าใจได้แล้ว จึงทรงแสดง อริยสัจ ธรรมข้ออื่นที่ทรงอบรมก่อนอยู่เสมอสำหรับคฤหัสถ์ นั้น คือ ทรงพรรณนาทาน พรรณนาศีล พรรณนาผลของทาน ศีลที่เรียกว่าสวรรค์ (หมายถึง ความสุขสมบูรณ์ต่าง ๆ ที่เกิด จากทาน ศีล แม้ในชีวิตนี้) พรรณนาโทษของกาม (สิ่งที่ผูกใจ ให้รักใคร่ปรารถนา) และอานิสงส์คือ ผลดีของการที่พรากใจ ออกจากกามได้ เทียบด้วยระดับการศึกษา ปัจจุบัน ก็เหมือน อย่างทรงแสดงอริยสัจแก่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย ส่วนนักเรียน ที่ต่ำลงมาก็ทรงแสดงธรรมข้ออื่นตามสมควรแก่ระดับ พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงธรรม ที่สูงกว่าระดับของผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่มุ่งศึกษาแสวงหา ความรู้ แม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ยังเป็นทางเจริญความรู้ในสัจจะ ที่ตอบใด้ตามเหตุผล และอาจพิจารณาผ่อนลงมาปฏิบัติทั้งที่ ยังมีตัณหา คือความอยากดังกล่าวอยู่นั่นแหละ ทางพิจารณานั้น พึงมีได้ เช่นที่จะกล่าวเป็นแนวคิดดังนี้

๑. ทุก ๆ คนปรารถนาสุข ไม่ต้องการทุกข์ แต่ทำไม คนเราจึงยังต้องเป็นทุกข์ และไม่สามารถจะแก้ทุกข์ของตนเอง ได้ บางทียิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ทั้งนี้ ก็เพราะ ไม่รู้เหตุผล ตามเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ อะไรเป็นเหตุของสุข ถ้าได้รู้แล้วก็ จะแก้ได้ คือ ละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ทำเหตุที่ให้เกิด สุข อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่ง ก็คือใจของตนเอง เพราะคนเรา ตามใจตนเองมากไป จึงต้องเกิดเดือดร้อน

๒. ที่พูดกันว่าตามใจตนเองนั้น โดยที่แท้ก็คือตามใจ ตัณหา คือความอยากของใจ ในขั้นโลก ๆ นี้ ยังไม่ต้องดับ ความอยากให้หมด เพราะยังต้องอาศัยความอยาก เพื่อสร้างโลก หรือสร้างตนเองให้เจริญต่อไป แต่ก็ต้องมีการควบคุมความ อยากให้อยู่ ในขอบเขตที่สมควร และจะต้องรู้จักอิ่ม รู้จักพอใจ ในสิ่งที่ควรอิ่มควรพอดับตัณหา ได้เพียงเท่านี้ ก็พอครองชีวิต อยู่เป็นสุขในโลก ผู้ก่อไฟเผาตนเอง และเผาโลกอยู่ ทุกกาลสมัย ก็คือ ผู้ที่ไม่ควบคุมตัณหาของใจให้อยู่ในขอบเขต ถ้าคนเรามี ความอยาก จะได้วิชา ก็ตั้งใจพากเพียรเรียน มีความอยากได้ ทรัพย์ ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดีตาม กำลัง ตามทางที่สมควร ดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในทางโลกและก็ อยู่ในทางธรรมด้วย

๓. แต่คนเราต้องการมีการพักผ่อน ร่างกายก็ต้องมี การพัก ต้องให้หลับ ซึ่งเป็นการพัก ทางร่างกาย จิตใจก็ต้องมี เวลาที่ปล่อยให้ว่าง ถ้าจิตใจยังมุ่งคิดอะไรอยู่ไม่ปล่อยความคิด นั้นแล้วก็หลับไม่ลง ผู้ที่ต้องการมีความสุขสนุกสนาน จากรูป เสียงทั้งหลาย เช่น ชอบฟัง ดนตรีที่ไพเราะ หากจะถูกเกณฑ์ ให้ต้องฟังอยู่นานเกินไป เสียงดนตรีที่ไพเราะที่ดังจ่อหู อยู่นานเกินไปนั้น จะก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง จะต้อง การหนีไปให้พ้น ต้องการกลับ ไปอยู่กับสภาวะที่ปราศจากเสียง คือความสงบ จิตใจของคนเราต้องการความสงบดังนี้ อยู่ทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อย นี้คือความสงบใจ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือความสงบ ความดิ้นรนทะยานอยากของใจซึ่งเป็นความ ดับทุกข์นั่นเอง ฉะนั้น ถ้าทำความเข้าใจ ให้ดีว่า ความดับทุกข์ ก็คือความสงบใจ ซึ่งเป็นอาหารใจที่ทุก ๆ คนต้องการอยู่ทุกวัน ก็จะค่อยเข้าใจในข้อนิโรธนี้ขึ้น

๔. ควรคิดต่อไปว่า ใจที่ไม่สงบนั้น ก็เพราะเกิด ความดิ้นรนขึ้น และก็บัญชาให้ทำ พูด คิด ไปตามใจที่ดิ้นรน นั้น เมื่อปฏิบัติตามใจไปแล้วก็อาจสงบลงได้ แต่การที่ปฏิบัติ ไปแล้วนั้น บางทีชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็ให้เกิดทุกข์โทษอย่าง มหันต์ บางทีเป็นมลทิน โทษที่ทำให้เสียใจไปช้านาน คนเช่นนี้ ควรทราบว่า ท่านเรียกว่า “ทาสของตัณหา” ฉะนั้นจะมีวิธีทำ อย่างไรที่จะไม่แพ้ตัณหาหรือจะเป็นนาย ของตัณหาในใจของ ตนเองได้ วิธีดังกล่าวนี้ก็คือ

มรรคมีองค์ ๘
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่

๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ อริยสัจ ๔ หรือ เห็น เหตุผลตามเป็นจริง แม้โดยประการ ที่ผ่อนพิจารณาลง ดังกล่าวมาโดยลำดับ

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริ หรือคิด ออกจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นทุกข์ ดำริในทางไม่พยาบาทมุ่งร้าย ดำริในทางไม่เบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจาก พูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด ให้แตกร้าวกัน เว้นจากพูดคำ หยาบร้าย เว้นจากพูดเพ้อเจ้อไม่เป็นประโยชน์

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจากการฆ่า การทรมาน เว้นจากการลัก เว้นจากการ ประพฤติผิดในทางกาม

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากมิจฉา อาชีวะ (อาชีพผิด) สำเร็จชีวิตด้วย อาชีพที่ชอบ

๖. สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ คือ เพียรระวัง บาป ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียร ทำกุศล ที่ยังไม่เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เสื่อม แต่ให้เจริญยิ่งขึ้น

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกไปในทางที่ตั้ง ของสติที่ดีทั้งหลาย เช่น ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือ ทำใจให้เป็นสมาธิ (ตั้งมั่นแน่วแน่) ในเรื่องที่ตั้งใจจะทำ ในทางที่ชอบ

มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางเดียว แต่มีองค์ประกอบเป็น ๘ และย่อลงได้ ในสิกขา (ข้อที่พึงศึกษาปฏิบัติ) คือ

ศีลสิกขา สิกขาคือศีล ได้แก่ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พูดโดยทั่วไป จะพูดจะทำอะไรก็ให้ถูกชอบ อย่าให้ผิด ประกอบอาชีพอะไรก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่มี อาชีพ เช่น เป็นนักเรียนต้องอาศัยท่านผู้ใหญ่อุปการะ ก็ให้ใช้ทรัพย์ที่ท่านให้มาตาม ส่วนที่ควรใช้ ไม่ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเหลวแหลก ศึกษาควบคุมตนเอง ให้งดเว้นจาก ความคิดที่จะประพฤติ ตนที่จะเลี้ยงตนเลี้ยงเพื่อนไปในทางที่ผิดที่ไม่สมควร

จิตตสิกขา สิกขาคือจิต ได้แก่ เพียรพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ พูดโดยทั่วไป เรื่องจิตของตนเป็นเรื่อง สำคัญ ต้องพยายามศึกษาฝึกฝน เพราะอาจฝึกได้โดยไม่ยาก ด้วย แต่ขอให้เริ่ม เช่น เริ่มฝึกตั้งความเพียร ฝึกให้ระลึกจดจำ และระลึกถึงเรื่องที่เป็น ประโยชน์ และให้ตั้งใจแน่วแน่ สิกขาข้อนี้ ใช้ในการเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะการเรียน จะต้องมีความเพียร ความระลึกความตั้งใจ

ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ พูดโดยทั่วไปมนุษย์เจริญขึ้นก็ด้วยปัญญาที่พิจารณา และลงความเห็นในทางที่ถูกที่ชอบ ดำริชอบ ก็คือพิจารณา โดยชอบ เห็นชอบ ก็คือลงความเห็นที่ถูกต้อง นักเรียนผู้ศึกษา วิชาการ ต่างๆ ก็มุ่งให้ได้ปัญญาสำหรับที่จะพินิจพิจารณา และลง ความเห็นโดยความถูกชอบ ตามหลักแห่งเหตุผล ตามเป็นจริง และโดยเฉพาะควรอบรมปัญญาในไตรลักษณ์ และ ปฏิบัติพรหมวิหาร ๔

ไตรลักษณ์
หมายถึงลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา

อนิจจะ ไม่เที่ยง คือไม่ดำรงอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดับในที่สุด ทุก ๆ สิ่งจึงมีหรือเป็น อะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลับไม่มี เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น

ทุกขะ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้ทรุดโทรมเก่าแก่ไปอยู่เรื่อย ๆ ทุก ๆ คนผู้เป็นเจ้าของสิ่งเช่นนี้ ก็ต้องทนทุกข์เดือดร้อนไม่สบาย ไปด้วย เช่น ไม่สบายเพราะร่างกายป่วยเจ็บ

อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน อนัตตานี้ ขออธิบายเป็นลำดับชั้นสามชั้น ดังต่อไปนี้

๑. ไม่ยึดมั่นกับตนเกินไป เพราะถ้ายึดมั่นกับตน เกินไปก็ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว ถ่ายเดียว หรือทำให้หลงตน ลืมตนมีอคติ คือลำเอียงเข้ากับตน ทำให้ไม่รู้จักตน ตามเป็นจริง เช่น คิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก ตนต้องได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ ด้วยความยึด มั่นตนเอง เกินไป แต่ตามที่เป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

๒. บังคับให้สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจไม่ให้ เปลี่ยนแปลงตามความต้องการ ไม่ได้ เช่น บังคับให้เป็นหนุ่ม สาวสวยงามอยู่เสมอไม่ได้ บังคับให้ภาวะของจิตใจชุ่มชื่น ว่องไวอยู่เสมอไม่ได้

๓. สำหรับผู้ที่ได้ปฏิบัติไปได้จนถึงขั้นสูงสุด เห็นสิ่ง ต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ทั้งสิ้นแล้ว ตัวตนจะไม่มี ตามพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ตนย่อม ไม่มีแก่ตน” แต่ก็ยังมีผู้รู้ซึ่งไม่ยึดมั่นอะไรในโลก ผู้รู้นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถปฏิบัติ สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม สมควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อม โดยเที่ยงธรรมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน)


พรหมวิหาร ๔
คือ ธรรมสำหรับเป็นที่อาศัยอยู่ของจิตใจที่ดี มี ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้

๑. เมตตา ความรักที่จะให้เป็นสุข ตรงกันข้ามกับ ความเกลียดที่จะให้เป็นทุกข์ เมตตาเป็นเครื่องปลูกอัธยาศัย เอื้ออารี ทำให้มีความหนักแน่นในอารมณ์ ไม่ร้อนวู่วาม เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรู ไม่เบียดเบียน ใคร แม้สัตว์เล็กเพียงไหน ให้เดือดร้อนทรมานด้วยความเกลียด โกรธ หรือสนุกก็ตาม

๒. กรุณา ความสงสารจะช่วยให้พ้นทุกข์ ตรงกันข้าม กับความเบียดเบียน เป็นเครื่อง ปลูกอัธยาศัยเผื่อแผ่เจือจาน ช่วยผู้ทีประสบทุกข์ยากต่าง ๆ กรุณานี้เป็นพระคุณสำคัญข้อ หนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของ พระมหากษัตริย์ และเป็นคุณข้อ สำคัญของท่านผู้มีคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น

๓. มุทิตา ความพลอยยินดีในความได้ดีของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยาในความดี ของเขา เป็นเครื่องปลูก อัธยาศัยส่งเสริมความดี ความสุข ความเจริญ ของกันและกัน

๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ในเวลาที่ควรวางใจ ดังนั้น เช่น ในเวลาที่ผู้อื่น ถึงความวิบัติ ก็วางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจว่าศัตรูถึงความวิบัติ ไม่เสียใจว่าคนที่รัก ถึงความวิบัติ ด้วยพิจารณาในทางกรรมว่า ทุก ๆ คนมีกรรมเป็นของตน ต้องเป็นทายาท รับผลของกรรมที่ตนได้ทำไว้เอง ความเพ่งเล็ง ถึงกรรมเป็นสำคัญดังนี้ จนวางใจลง ในกรรมได้ ย่อมเป็นเหตุถอนความเพ่งเล็งบุคคลเป็นสำคัญ นี้แหละเรียกว่า อุเบกขา เป็นเหตุปลูกอัธยาศัยให้เพ่งเล็งถึงความผิดถูกชั่วดีเป็นข้อสำคัญ ทำให้เป็นคนมีใจ ยุติธรรมในเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย

ธรรม ๔ ข้อนี้ ควรอบรมให้มีในจิตใจด้วยวิธีคิดแผ่ใจ ประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น ออกไปในบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป เมื่อหัดคิดอยู่บ่อย ๆ จิตใจก็จะอยู่กับธรรมเหล่านี้บ่อยเข้าแทนความเกลียด โกรธ เป็นต้น ที่ตรงกันข้าม จนถึงเป็นอัธยาศัยขึ้น ก็จะมีความสุขมาก

นิพพาน
ได้มีภาษิตกล่าวไว้ แปลว่า “นิพพานเป็นบรมสุข คือสุขอย่างยิ่ง” นิพพาน คือความละตัณหา ในทางโลก และทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือ การปฏิบัติถึงนิพพาน

ได้มีผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ธรรม” (ตลอดถึง) “นิพพาน” ที่ว่า “เป็นสันทิฏฐิโก อันบุคคลเห็นเอง” นั้นอย่าง ไร? ได้มีพระพุทธดำรัสตอบโดยความว่าอย่างนี้ คือผู้ที่ มีจิตถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเสียแล้ว ย่อมเกิดเจตนา ความคิดเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง ทั้งสองฝ่ายบ้าง ต้องได้รับความทุกข์โทมนัสแม้ทางใจ เมื่อเกิด เจตนาขึ้นดังนั้น ก็ทำให้ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ และคนเช่นนั่น ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ ทั้งสองตามเป็นจริง แต่ว่าเมื่อละ ความชอบ ความชัง ความหลง เสียได้ ไม่มีเจตนาความคิดที่จะ เบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งสอง ฝ่าย ไม่ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร รู้ประโยชน์ตนรู้ ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง ตามเป็นจริง ไม่ต้องเป็น ทุกข์โทมนัสแม้ด้วยใจ “ธรรม” (ตลอดถึง) นิพพาน” ที่ว่า “เห็นเอง” คือเห็นอย่างนี้ ตามที่ตรัสอธิบายนี้ เห็นธรรมก็คือ เห็นภาวะหรือสภาพ แห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดีทั้ง ในทางดี จิตใจเป็นอย่างไร ก็ให้รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง ดังนี้ เรียกว่าเห็นธรรม ถ้ามีคำถามว่า จะได้ประโยชน์อย่างไร? ก็ตอบได้ว่า ได้ความดับ ทางใจ คือ จิตใจที่ร้อนรุ่มด้วย ความโลภ โกรธ หลงนั้น เพราะมุ่งออกไปข้างนอก หากได้นำ ใจกลับเข้ามาดูใจเองแล้ง สิ่งที่ร้อนจะสงบเอง และให้ สังเกตจับตัวความสงบนั้นให้ได้ จับไว้ให้อยู่ เห็นความสงบ ดังนี้ คือ เห็นนิพพาน วิธีเห็นธรรม เห็นนิพพาน ตามที่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ จึงเป็นวิธี ธรรมดาที่คน ธรรมดาทั่ว ๆ ไปปฏิบัติได้ ตั้งแต่ขั้นธรรมดาต่ำๆ ตลอดถึง ขั้นสูงสุด

อริยสัจ ไตรลักษณ์ และนิพพาน “เป็นสัจธรรม” ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดง สั่งสอน (ดังแสดงใน ปฐมเทศนาและในธรรมนิยาม) เรียกได้ว่าเป็น “ธรรมสัจจะ” สัจจะทางธรรมเป็นวิสัยที่พึงรู้ได้ด้วยปัญญา อันเป็นทาง พ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา แต่ทางพระพุทธศาสนาก็ได้แสดง ธรรมในอีกหลักหนึ่งคู่กันไป คือ ตาม “โลกสัจจะ” สัจจะ ทางโลก คือ แสดงในทางมีตน มีของตน เพราะโดยสัจจะ ทางธรรมที่เด็ดขาดย่อมเป็น อนัตตา แต่โดยสัจจะทางโลก ย่อมมีอัตตา ดังที่ตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” ในเรื่องนี้ ได้ตรัสได้ว่า “เพราะประกอบเครื่องรถเข้า เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด เพราะขันธ์ทั้งหลาย มีอยู่ สัตว์ก็ย่อมมีฉันนั้น” ธรรมใน ส่วนโลกสัจจะ เช่น ธรรมที่เกี่ยวแก่การปฏิบัติในสังคม มนุษย์ เช่น ทิศหก แม้ศีลกับวินัยบัญญัติทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น แม้จะปฏิบัติอยู่ เพื่อความพ้นทุกข์ทางจิตใจตามหลักธรรมสัจจะ ส่วนทางกายและทางสังคม ก็ต้องปฏิบัติ อยู่ในธรรม ตามโลกสัจจะ ยกตัวอย่างเช่น บัดนี้ตนอยู่ในภาวะอันใด เช่น เป็นบุตรธิดา เป็นนักเรียน เป็นต้น ก็พึงปฏิบัติธรรมตาม ควรแก่ภาวะของตน และควรพยายามศึกษา นำธรรมมาใช้ ปฏิบัติแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวัน พยายามให้มีธรรมในภาค ปฏิบัติขึ้นทุก ๆ วัน ในการเรียน ในการทำงาน และในการอื่นๆ เห็นว่า ผู้ปฏิบัติดังนี้จะเห็นเองว่า ธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ ชีวิตอย่างแท้จริง




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 18:14:14 น.
Counter : 289 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.