Group Blog
 
All blogs
 

ธรรมสำหรับเป็นที่อาศัยอยู่ของจิตใจที่ดี

พรหมวิหารสี่...ข้อ.................ของพรหม
พระสมณโคดม.....................ช่วยชี้
ชีวิตประเสริฐสม....................บริสุทธิ์
ธรรมประจำใจนี้...................ประพฤติได้ ยิ่งเจริญ



เมตตา...คนอื่นด้วย...............รักเสมอ
หมายมุ่งให้พบเจอ.................สุขล้น
ปรารถนาสิ่งดีเสนอ................หนุนส่ง
ขอสุขจงท่วมท้น....................พรั่งพร้อมบริบูรณ์



กรุณา...คนอื่นด้วย................สงสาร
หมายมุ่งพ้นภัยพาล................อย่าใกล้
ปรารถนาช่วยในการ..............พ้นทุกข์
ขอเรื่องร้ายอย่าได้..................เกิดขึ้นอีกเลย



มุทิตา...คนอื่นด้วย.................ยินดี
แสดงจิตมิตรไมตรี..................มอบให้
ไม่คิดริษยาตี.........................ตนต่ำ
เป็นสุขอารมณ์ได้...................ร่วมด้วยสรรเสริญ



๑) เมตตา ความรักที่จะให้เป็นสุข ตรงกันข้ามกับความเกลียดที่จะให้เป็นทุกข์ เมตตาเป็นเครื่องปลูกอัธยาศัย เอื้ออารี ทำให้มีความหนักแน่นในอารมณ์ ไม่ร้อนวู่วาม เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรู ไม่เบียดเบียนใคร แม้สัตว์เล็กเพียงไหน ให้เดือดร้อนทรมานด้วยความเกลียด โกรธ หรือสนุกก็ตาม

๒) กรุณา ความสงสารจะช่วยให้พ้นทุกข์ ตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัยเผื่อแผ่เจือจาน ช่วยผู้ที่ประสบทุกข์ยากต่าง ๆ กรุณานี้เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระมหากษัตริย์ และเป็นคุณข้อสำคัญของท่านผู้มีคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น

๓) มุทิตา ความพลอยยินดีในความได้ดีของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยาในความดีของเขา เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัย ส่งเสริมความดี ความสุข ความเจริญของกันและกัน

๔) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ในเวลาที่ควรวางใจดังนั้น เช่น ในเวลาที่ผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็วางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจว่า ศัตรูถึงความวิบัติ ไม่เสียใจว่า คนที่รักถึงความวิบัติ ด้วยพิจารณาในทางกรรมว่า ทุก ๆ คนมีกรรมเป็นของตน ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมที่ตนได้ทำไว้เอง ความเพ่งเล็งถึงกรรมเป็นสำคัญดังนี้ จนวางใจลงในกรรมได้ ย่อมเป็นเหตุถอนความเพ่งเล็งบุคคลเป็นสำคัญ นี้แหละเรียกว่า อุเบกขา เป็นเหตุปลูกอัธยาศัยให้เพ่งเล็งถึงความผิดถูกชั่วดีเป็นข้อสำคัญ ทำให้เป็นคนมีใจ ยุติธรรมในเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย

ธรรม ๔ ข้อนี้ควรอบรมให้มีในจิตใจ ด้วยวิธีคิดแผ่ใจ ประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น ออกไปในบุคคลและสัตว์ทั้งหลายโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป เมื่อหัดคิดอยู่บ่อย ๆ จิตใจก็จะอยู่กับธรรมเหล่านี้บ่อยเข้าแทนความเกลียด โกรธ เป็นต้น ที่ตรงกันข้าม จนถึงเป็นอัธยาศัยขึ้น ก็จะมีความสุขมาก

เนื้อเรื่อง พระพุทธเจ้าสอนอะไร โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก บทกวีโดยคุณ Oracle รูปจากอินเตอร์เน็ต

อย่าลืมเช็ค ธรรม ๔ ข้อนี้ให้มีในใจเสมอครับ




 

Create Date : 02 กันยายน 2551    
Last Update : 2 กันยายน 2551 17:04:31 น.
Counter : 500 Pageviews.  

ถ้าเราไม่เป็นผู้หลงตัวเอง ก็จะไม่มีเรื่องทะเลาะ...โกรธกับใครในโลกนี้

สวัสดีวันจันทร์ต้นเดือนทุกท่านครับ

วันนี้นำเรื่องราวของพระอินทร์ พระราชาแห่งเทพทั้งปวง ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต มาฝากครับ

ตำแหน่งพระราชาแห่งเทพทั้งปวงนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา

เรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์ เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพระอินทร์สมัยพุทธกาลเท่านั้น

อดีตชาติของพระอินทร์

ณ หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์

คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข

ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตน ฉะนั้นกรรมนี้ ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่

มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการและได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคนทั้งหลาย

ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยมมาสมัคร เป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้างสองโยชน์บ้าง

เมื่อประพฤติธรรม ย่อมไม่หวั่นภัยใด ๆ

ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกว่าสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด

ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน ช้างและตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา

พระราชาเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส

บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง

ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย

มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัตตบท ๗ ประการได้แก่

๑. เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต

ทรงมีหลายชื่อ

ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต

ท้าวมฆวาน - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
ท้าวปุรินททะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง
ท้าวสักกะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
ท้าววาสะ หรือวาสพ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก
ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา - ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
ท้าวสุชัมบดี - ทรงมีชายาชื่อสุชา
ท้าวเทวานมินทะ หรือพระอินทร์ - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์

ความเพียร

ในคราวที่สุวีวรเทวบุตรขอพรกับพระอินทร์ ว่าขอให้ตนได้เป็น "ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา"

พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า

"คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย"

ถึงกระนั้น สุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า "ขอพระองค์ได้โปรด ประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย"

พระอินทร์ตรัสว่า "ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้อง ทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย"

ขันติธรรม

ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับได้และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย

พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า "ทรงอดกลั้น ได้เพราะกลัว หรือว่า เพราะอ่อนแอ"

พระอินทร์ตรัสว่า "เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร"

พระมาตลีแย้งว่า "พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง"

พระอินทร์ "เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละ เป็นวิธีกำหราบพาล

พระมาตลีก็ยังแย้งว่า "ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่"

พระอินทร์ "พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลัง อดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอ ต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครอง ย่อมไม่โกรธตอบ

ผู้โกรธตอบผู้โกรธ หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย"


ความไม่โกรธ

ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ฆ่าความโกรธ"

ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่า น่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ

พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือ ท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้

คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา

จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และเทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยหวังผลคือ ความสุขของส่วนรวม

เรียบเรียงโดย วชิรา (เรียบเรียงจากหนังสือ "๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า" พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ภาพประกอบอินเตอร์เนต

ถ้าเราไม่เป็นผู้หลงตัวเอง ก็จะไม่มีเรื่องทะเลาะ...โกรธกับใครในโลกนี้ บุคคลที่ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุขครับ




 

Create Date : 01 กันยายน 2551    
Last Update : 1 กันยายน 2551 13:48:42 น.
Counter : 424 Pageviews.  

ชีวิตที่ลงตัว

สวัสดีทุกท่านครับ

เวลาซื้อรองเท้า เราจะเลือกหาคู่ที่ใส่แล้วลงตัวพอดี เวลาซื้อเสื้อผ้า เราจะหาชุดที่ใส่แล้วลงตัว แม้แต่นาฬิกาใส่ข้อมือหรือแหวนใส่นิ้ว ถ้าไม่ลงตัวก็สวมใส่ข้อมือหรือนิ้วมือไม่ได้ ความลงตัวเป็นสิ่งเดียวกันกับความพอดี และความพอดีก็เป็นอันเดียวกันกับคำว่าความสุขที่ทุกชีวิตแสวงหาชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่ลงตัว

หากเสื้อผ้าแน่น ร้องเท้าแน่นเราก็จะรู้สึกอึดอัด ใส่ไม่สบาย ทำอะไรก็หงุดหงิด นั่นแสดงว่า ความไม่ลงตัวเกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับอารมณ์ชีวิตของคนเรา ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันล้วนแสวงหาความลงตัวของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น บางคนก็พบแต่ต้นชีวิต บางคนมาพบในบั้นปลาย แต่บางคนไม่พบเลย


ท่ามกลางเกียรติยศ ฐานะ ตำแหน่ง สังคม ทรัพย์สินเงินทอง เพียงแต่ตัวเขาเองกลับสับสนวุ่นวาน หาจุดลงตัว จุดพอใจ จุดที่ตัวเองปรารถนาไม่พบ พบแต่จุดที่คนอื่นปรารถนาจะให้เป็น สุดท้ายก็เอาความตายเป็นจุดลงตัวของชีวิต

ปัญหาก็คือว่า อะไรเล่าคือจุดลงตัวที่แท้จริงของชีวิต หมายความว่า อะไรหรือคือเป้าหมายที่ชีวิตปรารถนาหากทุกคนหวังจะให้ชีวิตทุกแง่ทุกมุมถึงจุดลงตัวไปหมด ไม่เหลือช่องโหว่ไว้บ้างเลย เขาก็ยิ่งจะเป็นทุกข์หนัก เพราะไม่มีชีวิตใดจะสมบูรณ์ทุกอย่างได้ ต่อให้มีทุกสิ่งก็ตาม ความลงตัวของมนุษย์เราบางครั้ง เราพอ แต่เพราะเราต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น เราจึงถูกเขาใช้ให้ทำงานใหม่เริ่มต้นงานใหม่ ในที่สุดเราจึงไม่อาจพบจุดลงตัวที่เราคิดว่าเราค้นพบแล้วได้ เราต้องเดินไปตามโลก เดินไปตามกระแสโลกที่เชี่ยวโกรกตลอดเวลา เราไม่อาจทวนกระแสได้จึงจะพบจุดลงตัว มิใช่ตามกระแส แปลว่าใครก็ตาม หากกล้าปฏิเสธสิ่งที่ตัวไม่ต้องการนั้นได้ เขาจะพบจุดที่ตัวเองต้องการยืนได้รวดเร็วขึ้น


ข้อหนึ่งที่สำคัญทำให้ชีวิตของมนุษย์ไม่ลงตัวคือ ความเป็นคนใจอ่อน ไม่กล้าปฏิเสธคนอื่นและตนเอง ยอมทำทั้งๆ ที่ตนทำไม่ได้ หรือไม่ต้องการเลย ความลงตัวของมนุษย์เราจะเกิดขึ้นได้ จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ

๑. มีเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง ในชีวิตที่ชัดเจนว่าจุดใดคือจุดพอของเรา

๒. มีจุดยืนเป็นของตัว และกล้าปฏิเสธสิ่งที่เราคิดว่าจะเกินจุดพอในชีวิต

๓. ไม่เอาชีวิตของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนกระทั่งเกิดทุกข์ เพราะขึ้นชื่อว่าชีวิตแล้วไม่มีใครจะสามารถเปรียบเทียบกับใครได้เลย

หากชีวิตของเรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เราก็ตั้งความหวังไว้กับอนาคต จุดลงตัวของเราคือการสร้างชีวิตให้มั่นคงและปลอดภัยทั้งด้านจิตใจ วิชาความรู้และทรัพย์สิน หากเราเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ อยู่ในฐานะเป็นพ่อแม่ เป็นปู่ย่าตายาย จุดลงตัวของเราก็จะแตกต่างกันออกไปจากเด็ก สูตรสำเร็จของชีวิตไม่มี แต่จุดลงตัวที่แท้จริงของชีวิตมี นั่นคือ การทำชีวิตให้มีความสุขความสงบเงียบ และเรียบง่าย ยิ่งทันสมัย ยิ่งยุ่งเหยิง แต่จุดลงตัวของชีวิตที่แท้จริง คือการหันกลับเข้าสู่ธรรมชาติ

ดูเถิด...แม้แต่บั้นปลายของชีวิต มนุษย์เรายังต้องทอดร่างลงสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ธาตุ ๔ ปรับความสมดุลของชีวิตต่อไป

เนื้อเรื่อง พระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์ ปิยวิชโช) วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกครับ

เชิญชมกระทู้ในห้องศาสนา ป้ายคติธรรม ข้อคิด ติดต้นไม้ ครับ




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2551    
Last Update : 29 สิงหาคม 2551 0:39:21 น.
Counter : 630 Pageviews.  

อยู่อย่างไร...ให้ใจสบาย?

สวัสดีทุกท่านครับ

ใจสบายมีความหมายต่อชีวิตมาก เมื่อใดใจไม่สบาย แม้ร่างกายจะสมบูรณ์ ชีวิตก็ไร้ความหมาย เมื่อใดสุขสบายใจแล้ว แม้ร่างกายจะพิการบ้าง ก็หาความสุขได้ไม่ยาก ความสุขของมนุษย์อยู่ที่ใจสบาย มิใช่มีทรัพย์มากกว่า มีเกียรติสูงกว่า เพราะส่วนใหญ่ การมีทรัพย์มาก มีเกียรติมาก มักก่อความไม่สบายใจเสมอ ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะอยู่อย่างไรให้ใจสบาย จะอยู่อย่างไรให้ใจเป็นสุข

ในหลักพระพุทธศาสนาสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส สองข้อแรกเป็นเหตุให้ใจสบายแน่นอน แต่บางครั้ง การตั้งใจทำดีแท้ๆ ก็ยังมีเหตุให้ใจไม่ผ่องใส ทำให้ไม่สบายใจอยู่ก็มีมาก ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสเพิ่มอีกเป็นข้อที่สาม เน้นลงไปที่ความผ่องใสของใจ แปลว่า แม้จะไม่ทำชั่ว ตั้งใจทำดีเต็มที่แล้ว เท่านั้นยังไม่พอ เรายังต้องดูอีกว่า ดีที่ทำนั้น ได้ทำให้ใจของเราผ่องใสหรือไม่ หรือว่าทำไปแล้วยังขุ่นมัวอยูเพราะดีที่ทำ แล้วก็มาบ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำคุณคนไม่ขึ้น เมื่อใจไม่สบาย มนุษย์ก็เริ่มเครียด และเครียดสะสม จากวันเป็นเดือนเป็นปี เป็นชีวิต จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มนุษย์เรามีความเครียดเพิ่มมากขึ้นตลอด ไม่เคยลด เพราะไม่ทราบอุบายที่จะทำใจให้สบาย

อยู่อย่างไร...ให้ใจสบาย? นำวิธีคิดมาฝากวันนี้ครับ


๑ การพูดถึงปัญหาเพียงครั้งเดียวก็เกินพอ ส่วนวิธีแก้ปัญหาต้องพูดแล้วพูดอีกคิดแล้วคิดอีก

มนุษย์เราส่วนมาก ที่ใจไม่สบาย ก็เพราะชอบพูดแต่ปัญหา พูดแล้วพูดอีก เจอหน้ากันอีก ก็พูดเรื่องเดิม พูดสิบครั้ง ก็โกรธสิบครั้ง ถูกไฟเผาไหม้ไปสิบครั้ง เรื่องควรจะจบกลับไม่ยอมจบ ไฟที่กำลังจะมอด ก็ถูกเติมเชื้อให้ลุกโชนขึ้นอีก แม้นำความไปพูดกับคนอื่น ก็ทำให้เกิดอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นไม่สิ้นสุด และสุดท้ายก็กลายเป็น “โอษฐภัย” ไปโดยไม่รู้ตัว อยากให้ใจสบาย ให้พูดถึงปัญหาเพียงครั้งเดียว และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาให้มาก

๒ คิดบวกต่อคนอื่นให้มากเข้าไว้

การคิดบวก เป็นอุบายสำคัญในการดำรงชีวิต คนคิดบวก มักมีกำไรในชีวิต ส่วนคนคิดลบ พูดลบ ชีวิตมักขาดทุน การคิดบวกต้องฝึกฝน เพราะมนุษย์ส่วนมาก มักจินตนาการไปในทางลบ เมื่อเราคิดลบต่อเขา เขาก็คิดลบต่อเราคิดดูเถิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที เรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตลุกลามไม่มีวันจบสิ้น ไม่เคยมีใครที่จะเอาชนะคนโกรธด้วยการโกรธตอบ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนโกรธ ด้วยการไม่โกรธตอบ ถามว่าทำยากไหม ตอบว่า ทำยาก หากไม่เคยทำ สิ่งเหล่านี้อยู่ที่การฝึกฝนกระทั่งเกิดความคล่องตัวในวิธีคิด มนุษย์จะสุขหรือทุกข์อยู่ที่วิธีคิดใจจะสบายหรือไม่สบายก็อยู่ที่วิธีคิดคิด บวกสบายใจคิดลบก็นอนกอดทุกข์ขาดทุนไป

๓ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะดีกว่าเรา

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของมนุษย์คือ เห็นใครได้ดีกว่าแล้วเป็นทุกข์ ถ้าจะบอกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ก็ดูจะประเมินคุณค่าต่ำเกินไป ข้าพเจ้าอยากพูดว่า จริงๆ แล้วมิใช่เป็นธรรมชาติ หากแต่เป็นความเคยชินที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วไม่มีใครแก้ไข แล้วก็บอกว่า เป็นธรรมเนียม เป็นประเพณี เช่น กรณีที่ทอดกฐินผ้าป่าล้มวัวล้มควายครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยเตือนชาวบ้านไปว่า อย่าทำบาปแลกบุญ อย่าทำบุญแล้วได้บาปด้วยการปลิดชีวิตสัตว์ เพราะถ้าไม่มีงานบุญ สัตว์ก็ไม่ตาย พวกเขาตอบว่า การล้มวัวในงานกฐินผ้าป่า ถือเป็นประเพณี ข้าพเจ้าย้อนถามว่าประเพณีอะไรกันแน่ เขาตอบว่า ก็ทำงานอย่างนี้มาตลอด ข้อนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราเห็นแก่ตัวมาก ใช้กิเลสสร้างประเพณีบาปให้แก่ตน แล้วก็อ้างว่าเป็นประเพณี

การพยายามฝึกคิดว่า ขอให้คนอื่นดีกว่าเรา ชื่นชมเขาเมื่อเขาดี เพียงแค่ชื่นชม เราก็เป็นสุข เขาก็สบายใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราอิจฉาเขา ใจเราก็ไม่สบาย ใจเขาเองก็เกิดการต่อต้าน สุดท้ายก็ไม่สบายใจทั้งสองฝ่ายเมื่อเราได้ดีบ้าง ก็ถูกต่อต้านกลับ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสสอนเรื่อง “มุทิตาจิต” คือเมื่อเห็นเขาได้ดี ก็ขอให้พลอยยินดีกับเขาด้วย เราต้องฝึกหัดยกย่องชื่นชม โดยไม่ต้องกลัวว่า ใครจะได้ดีกว่าเรา แล้วใจเราก็จะสบาย

๔ พึ่งตนให้มาก ไม่คิดหวังพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

เรื่องการพึ่งตนนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก มนุษย์เราส่วนใหญ่ชอบพึ่งคนอื่น บางครั้งเราก็คิดว่า เขาน่าจะให้เราพึ่งพาอาศัยได้ แต่สุดท้ายก็เปล่าประโยชน์คือเสียใจกลับมา ในทางกลับกัน เราน่าจะคิดใหม่ว่า ทำอย่างไร เราจะพึ่งตนได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นด้วย การคิดพึ่งตนและให้คนอื่นมาพึ่งเราได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้เกิดความผิดหวัง ให้เราคิดว่า แม้ในโลกนี้ จะมีเพียงเราคนเดียว เราก็จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย ผู้ฝากความหวังไว้กับคนอื่น จะผิดหวังเสมอ บางคน เราคิดว่า เขาสมหวังแล้ว เขามีมากแล้ว เราควรจะไปขอพึ่งพาอาศัยเขา แล้วก็ฝากความหวังไว้กับเขา แต่เอาเข้าจริง ปรากฏว่า ผิดหวังหนักกว่าเดิม การฝากความหวังไว้กับคนที่ยังไม่สมหวัง เราจะผิดหวังยิ่งกว่าเขาหลายเท่า คนที่เราคิดว่าเขารวยอาจจะจนกว่าเราก็ได้ คนที่เราคิดว่า เขาสมหวัง อาจจะผิดหวังยิ่งกว่าเราก็ได้ การฝึกใจให้รู้จักคิดพึ่งตน และกวักมือเรียกคนอื่นให้มาพึ่งเรา จึงถือว่าเป็นการสร้างฐานความคิดที่สำคัญ ในการป้องการใจไม่ให้ตก “หลุมพลางของทุกข์”


เนื้อเรื่อง ท่านเจ้าคุณพระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ) วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกครับ




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2551    
Last Update : 28 สิงหาคม 2551 10:59:09 น.
Counter : 658 Pageviews.  

คำพ่อ คำแม่ ตอนที่ 1

สวัสดีทุกท่านครับ

ถือกันมาแต่เก่าก่อนว่า คำแนะนำสั่งสอนของพ่อแม่นั้นเป็นสมบัติล้ำค่ากว่าสมบัติใดๆ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ถือเป็นหน้าที่ที่ ตนจะต้องอบรมสั่งสอน ลูกของตนให้เป็นคนดี คอยแต่งเติมให้ลูกของตน งดงามทั้งกิริยามารยาท คำพูด และจิตใจ ตลอด ทั้งให้กำลังใจ และปลอบใจเมื่อลูกพลาด ตำหนิติติงเมื่อลูกทำผิด

คำพ่อ คำแม่ ซึ่งมีความหมายว่าคำแนะนำสั่งสอน ของพ่อแม่นั่นเอง เป็นการรวบรวมจากที่ได้ยินได้ฟังมาบ้าง ปรากฏอยู่ตามหนังสือต่าง ๆ บ้าง แล้วนำมาปะติดปะต่อ เรียงร้อยให้สละสลวยตามสำนวนหนังสือเพื่อให้อ่านง่ายเข้าใจไม่ยาก โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ

มินิซีรี่ย์ธรรมะ คำพ่อ คำแม่ วันนี้เสนอเป็นกระทู้แรกครับ


ตอนประสาคนแก่

ลูกรัก

เรื่องของคนแก่มักเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับคนหนุ่มสาว ทั้งนี้เพราะวัยที่แตกต่างกัน คนแก่ส่วนใหญ่จะจู้จี้ขี้บ่น ใจน้อย ชอบให้ลูกหลานเอาอกเอาใจ ความคิดเชื่องช้า ส่วนคนหนุ่มสาวชอบความรวดเร็ว เด็ดขาด ไม่ชอบพูดมาก นอกจากกับคนที่ตัวรักเท่านั้น ประสาคนแก่เป็นอย่างนี้ จึงทำให้คนแก่กับคนหนุ่มสาวเข้ากันไม่ค่อยได้ แม้จะเป็นพ่อแม่ลูกกันก็ตาม

เวลานี้พ่อแม่เองก็แก่แล้ว อาจจะจู้จี้ขี้บ่นไปบ้าง ลูกก็อย่าถือสา เพราะมันไม่ได้ตั้งใจ ทนรำคาญเอาหน่อยก็แล้วกัน คนแก่ก็เป็นอย่างนี้เกือบทุกคนแหละ เห็นอะไรเป็นขวางหูขวางตาไปหมด ไม่ใส่ใจเสียบ้างก็ได้ นิ่งฟังเฉยๆ เสียบ้าง ปล่อยให้พ่อกับแม่บ่นไปตามประสาคนแก่ก็ได้ เหนื่อยหนักเข้าก็จะหยุดไปเองแหละ ทำไงได้เล่าลูกเอ๋ย

การจู้จี้ขี้บ่นเขาว่ามันเป็นนิสัยประจำตัวของคนแก่ทุกคน หากได้บ่นออกมาบ้าง ได้ดุด่าลูกหลานบ้าง มันทำให้คนแก่อายุยืนเพราะปอดได้ทำงาน เลือดลมมันเดินคล่อง เป็นเครื่องกระต้นหัวใจชนิดหนึ่ง
หากคนแก่หยุดบ่นเมื่อไร ลูกหลานจะเดือดร้อนเมื่อนั้น เขาว่าอย่างนั้น ลูกคอยดูต่อไปก็แล้วกันว่าจะจริงอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ไงๆ ตอนนี้ลูกก็ทนเอาหน่อยก็แล้วกัน พ่อกับแม่จะบ่นให้ลูกหลานรำคาญหูไปได้นานสักเท่าไร

ตอนแพ้ภัยตัวเอง

ลูกรัก

เรื่องความกตัญญูนั้น ความจริงก็ไม่อยากจะพูดบ่อยนัก เพราะเกรงว่าลูกจะหาว่าพ่อแม่เรียกร้องความกตัญญูจากลูก แต่ก็จำเป็นจะต้องบอกบ่อยๆ จะเป็นผลดีแก่ตัวลูก กล่าวคือคนที่ขาดความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ประเทศชาติบ้านเมืองนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้แพ้ภัยตัวเอง ประสบความเจริญได้ยาก ยิ่งเป็นคนอกตัญญูหรือเป็นคนเนรคุณด้วยแล้ว ท่านถือว่าเป็นคนบาปหนาทีเดียว ดังที่พระท่านสอนไว้ว่า “ได้นั่งหรือนอนที่เงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนบาป”

คนที่เนรคุณต้นไม้ที่ตนเคยพึ่งพาอาศัยร่มเงา ท่านยังว่าเป็นคนประทุษร้ายมิตรและเป็นคนบาป เพราะทำร้ายได้แม้กระทั้งต้นไม้ที่มีบุญคุณ แล้วคนเล่า หากว่าไปเนรคุณต่อคนที่มีบุญคุณเข้าจะเป็นคนบาปและเป็นคนเลวแค่ไหน คนเนรคุณนั้นย่อมได้รับผลเป็นความชั่วเองโดยที่ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาลงโทษเลย แต่ฟ้าดินคือกรรม จะลงโทษเขาเอง ทำให้เขาแพ้ภัยตัวเองตลอดไป คนที่แพ้ภัยตัวเองนั้นจะทำอะไรก็จะติดขัด มีอุปสรรคไปหมด ที่ควรได้ก็ไม่ได้ ที่ไม่ควรเสียก็เสีย จะได้อะไรแต่ละอย่างดูมันยากเย็นแสนเข็ญเสียจริง

คนที่แพ้ภัยตัวเองอย่างนี้บางทีก็ไม่รู้สึกตัวว่าทำไมตัวเองจึงต้องเป็นแบบนี้ กลับไปโทษคนอื่น โทษชะตากรรม โทษดวงดาวไปโน่น ทั้งที่ตัวเองทำเข้าไว้เอง คือตัวเองเป็นคนอกตัญญู เป็นคนประทุษร้ายมิตร หรือเป็นคนเนรคุณคนแท้ๆ


ตอนการผูกใจคน

ลูกรัก

ในพระพุทธศาสนาสอนวิธีผูกใจคนอื่นไว้ ๔ ประการ คือ แบ่งปันกัน พูดดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน และวางตัวดีต่อกัน ทั้ง ๔ ประการนี้ใครปฏิบัติตามได้ก็จะยึดเหนี่ยวใจคนอื่นไว้ได้

แต่อยากบอกลูกเพิ่มเติมว่า นอกจากควรปฏิบัติตามหลักข้างต้นแล้ว ยังควรเว้นอีก ๓ ประการ คือ ดูหมิ่นเขา กดเขา และ ยกย่องคนที่ด้อยกว่าเขาให้เกินหน้าเขาไป ทั้ง ๓ อย่างนี้ถ้าเราไปทำกับใคร เขาก็จะอึดอัดเสียใจและจะเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจที่จะอยู่ช่วยเหลืองานเรา เมื่อทนไม่ไหวเขาก็จะจากเราไป ทำให้เราขาดกำลังไปโดยใช่เหตุ

ยิ่งคนใกล้ชิดตัวเราซึ่งเขามีความจริงใจและจงรักภักดีต่อเราด้วยแล้ว เรื่องอย่างนี้เปราะบางมาก เพราะเขายอมทุ่มเท ช่วยเหลือเราทุกอย่าง แต่ผลที่เขาได้รับก็คือ เราไปพูดจาดูหมิ่นเขาบ้าง เราไม่ยกย่องส่งเสริมเขา แต่ไปกดเขาบ้าง ไปยกย่องคนอื่น ให้คนอื่นมาข่มเหงรังแกเขาบ้าง เมื่อโดนอย่างนี้เข้า ไม่ว่าใครก็ทนได้ไม่นาน แม้แต่ตัวเราเองถ้าเจออย่างนี้บ้างก็ถอยเหมือนกัน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ควรทำอย่างนั้น ต้องคอยดูว่าคนใกล้ชิดเราคนใดมีความจริงใจ จงรักภักดี ซื่อสัตย์ ไม่มีนอก ไม่มีใน เราก็ควรยกย่องชมเชย ให้เกียรติ ให้กำลังใจ สนับสนุนให้ก้าวหน้าสูงขึ้น ให้โอกาสเขาทำงานตามสติกำลังของเขา เราดูอยู่ห่างๆ คอยแนะนำตักเตือนเมื่อเห็นเขาจะพลาด เท่านี้ก็พอที่จะผูกมิตรผูกมัดใจเขาไว้ได้แล้ว คนที่ถูกผูกมัดใจไว้ด้วยหลักต่างๆ เหล่านี้เขาจะไปไหนรอด

ตอนความล้มเหลวที่แท้จริง

ลูกรัก

คนเราทุกคนต่างกลัวความล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในหมู่นักธุรกิจและในชีวิตครอบครัว อันที่จริงทุกคนก็คงเคยผ่านความล้มเหลวกันมาแล้วไม่มากก็น้อย รู้รสชาติของความล้มเหลวกันดี แต่ก็ผ่านกันมาได้ด้วยดีเพราะไม่ท้อแท้ ไม่ยอมจำนนให้แก่ความล้มเหลว ต่อสู้จนเอาชนะมาได้ แต่ความล้มเหลวที่ผ่านมานั้นหาใช่ความล้มเหลวที่แท้จริงไม่ เพราะยังมีความสำเร็จอยู่

ความล้มเหลวที่แท้จริงก็คือความล้มเลิก ความล้มเลิกเป็นความล้มเหลวสิ้นเชิงของคนเรา เพราะจะไม่สามารถไปถึงจุดหมายคือ ความสำเร็จได้เลย แท้จริงไม่ว่าเราจะทำงานอะไรย่อมมีอุปสรรคขัดข้องทั้งสิ้น ผิดพลาดบ้าง ขาดทุนบ้าง ไม่ได้ตามที่ต้องการบ้าง นั่นมิใช่แสดงถึงความล้มเหลว แต่เป็นการบอกให้เราทราบว่าเรายังบกพร่องอยู่ หากเราไม่ท้อแท้เลิกล้มเสียกลางคัน พยามยามแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ไป หรือปรับเปลี่ยนงาน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่ ก็จะพบความสำเร็จได้ในที่สุด

ตราบใดที่ยังลุกขึ้นมาสู้ต่อไปได้ก็ชื่อว่ายังไม่ล้มเหลว พระท่านก็สอนไว้ว่า “เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์” แม้ว่าสิ่งที่พยายามนั้นจะมีทางสำเร็จเพียงน้อยนิด แต่ก็ได้ชื่อว่าได้ใช้ความพยายามแล้ว คนเขาจะดูหมิ่นเราไม่ได้ว่าเป็นคนล้มเหลว เป็นผู้แพ้ ผู้ยอมจำนนชีวิต ดังนั้น ถ้าเราไม่ต้องการล้มเหลวก็ต้องไม่ล้มเลิก เมื่อยังไม่ล้มเลิกก็ยังไม่ล้มเหลวแน่นอน

ตอนเอาชนะกันด้วยเหตุผล

ลูกรัก

การเอาชนะคะคานกันด้วยคำพูดหรือด้วยการทุ่มเถียงกันแม้จะเป็นไปด้วยเหตุผล บางครั้งก็ไม่อาจทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้ อาจทำให้เสียเวลาและรังแต่จะทำให้แตกร้าวกันยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ คำพูดที่มีเหตุผลมิใช่จะใช้ได้ทุกคราวทุกกรณีไป โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ความเข้าใจตรงกัน ความผ่อนหนักผ่อนเบา ความนิ่งฟังด้วยความอดทนก็สามารถแก้ปัญหาครอบครัวได้เหมือนกัน แม้ดูจะไม่ค่อยมีเหตุผลเอาเสียเลยก็ตาม แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ยอมเข้าใจกันและรอมชอมตกลงกันได้โดยสันติวิธี ไม่แตกร้าวและเลิกร้างกันไป อย่างนี้ไม่ต้องใช้เหตุผลก็ได้

มีสามีภรรยาหลายคู่ที่ต้องแยกทางกันเดินเพราะต่างก็ยึดถือเหตุผล มุ่งเอาชนะคะคานกันด้วยเหตุผล ถือว่าเหตุผลของตัวเองถูกต้อง อีกฝ่ายไม่มีเหตุผลยอมให้ไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องแยกทางกัน เหตุผลนั้นเป็นของดี แต่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับกรณีและกาลเวลาด้วย ในเมื่ออยู่ร่วมกันหรือทำงานด้วยกัน การให้อภัยกัน การยอมรับฟังความเห็นของอีกฝายหนึ่งด้วยความอดทนอดกลั้น การไม่ถือสาในเรื่องเล็กน้อย แม้จะดูไม่ถูกต้องและไม่สมเหตุสมผลก็ตาม แต่ถ้าสามารถประสานความสามัคคีและป้องกันความแตกร้าวได้ ก็ยังดีกว่าการใช้เหตุผล แต่ทำให้แตกร้าวขึ้น

ในเรื่องความรักและในการครองเรือนนั้น บางทีก็นำเหตุผลมาใช้ไม่ได้ บางครั้งมันอยู่เหนือเหตุผล ความเข้าใจตรงกันและยอมรับกันได้เป็นดีที่สุด หากจะผิดพลาดอะไรไปจะได้ไม่มานั่งโทษกันหรือถกเถียงกันว่าใครผิดใครถูก เพราะต่างเห็นดีเห็นงามด้วยกันแล้ว

ตอนความยึดติด

ลูกรัก

ชีวิตของแต่ละคนนั้นย่อมประสบกับความเดือดร้อนมากมายหลายอย่าง ในจำนวนความเดือนร้อนนั้น มีความเดือดร้อนเพราะความยึดติดของเราเองรวมอยู่ด้วย ความยึดติดที่ว่านี้ก็คือ การที่คนเราไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป เช่น ยึดถือในคน ในสิ่งของ ในหน้าที่การงาน ในความรู้ ตลอดถึงในความคิดของตัวเองจนเกินไป โดยยึดถือว่าคนนี้เป็นลูกของเรา คนนี้เป็นภรรยาของเรา หรือของสิ่งนี้เป็นสมบัติของเรา ดังนี้เป็นต้น

ความยึดติดเช่นนี้แหละที่เป็นตัวนำความเดือดร้อนมาให้คนเรา ยึดติดอะไรก็จะทุกข์เดือดร้อนเพราะอันนั้น หากไม่ยึดติดอะไรเลยก็จะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนเลย หากลูกต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขจริงๆ ก็ต้องพยายามปล่อยวางอะไรๆ ลงบ้าง อย่าไปแบกภาระอะไรไว้มากนัก มันหนักแรงและเดือดร้อนด้วย ธรรมดาภาระที่แบกไว้บนบ่ามันจะหนักเรื่อยๆ แต่พอวางลงเสียได้ก็จะหายหนักและหายเหนื่อย

ส่วนภาระที่ใจแบกไว้หรือยึดติดไว้นี่สิมันวางได้ยาก วางไม่ลง มันจึงทำให้หนักอกหนักใจและเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ถ้าแม้ว่ามีภาระหรือแบกภาระอะไรอยู่ แต่ไม่ยึดติดกับภาระนั้นมากนัก เวลาไหนควรปล่อยก็ปล่อยบ้าง เวลาไหนควรวางก็วางบ้าง เวลาไหนควรแบกก็แบกกันไป ทำได้อย่างนี้ก็จะพอทำให้หายใจ หายคอสะดวกขึ้น มีความปลอดโปร่งโล่งใจขึ้น และมีความสุขในชีวิตประจำวันได้บ้าง ดีกว่าไปแบกหรือยึดติดอยู่ตลอดเวลา วางได้บ้างก็จะมีสุขได้บ้าง วางได้หมดก็จะเป็นสุขได้ทั้งหมด นี่แหละคือสัจธรรมละลูกเอ๋ย


ตอนสตินำ ปัญญาตาม

ลูกรัก

เมื่อเราไม่ต้องการความผิดพลาด ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในสิ่งที่ทำหรือที่พูดไป ก็ต้องคิดก่อนทำ คิดก่อนพูดเสมอไป การคิดก่อนทำคิดก่อนพูดเพื่อป้องกันความผิดพลาดนั้นเป็นความหมายของคำว่า “สติ”

สติ หมายถึงความพินิจไตร่ตรอง ความนึกขึ้นได้ไม่หลงลืม สตินี้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำเนินชีวิต คนเราต้องมีสติอยู่เสมอ คนที่เผลอสติหรือขาดสติจะทำอะไรพูดอะไรก็มักจะผิดพลาดเผลอไผลลืมโน่นลืมนี่ เมื่อขาดสติก็ทำให้เสียหายร่ำไป ต้องมาเสียเวลาแก้ตัวหรือแก้ปัญหาภายหลัง ทำให้ยุ่งยากมากขึ้น การมีสติเท่ากับมีเครื่องป้องกันความผิดพลาดและความเสียหายไว้ขั้นต้น สตินั้นจะต้องนำปัญญาคือความรู้ความสามารถ ปัญญาจะต้องมีสติคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง สติต้องเป็นตัวนำ ปัญญาเป็นตัวตาม

คนที่มีปัญญาฉลาดรอบรู้สารพัดแต่ขาดสติก็มักจะทำอะไรผลีผลาม ไม่ทันคิดหรือไม่ได้คิด ดันทุรังไปข้างหน้าเรื่อยไป พอเกิดผิดพลาดหรือเสียหายขึ้นมาก็มักจะบ่นเสียใจภายหลังว่า รู้อย่างนี้ไม่ทำเสียดีกว่าอะไรทำนองนี้ ประเภทนี้เรียกว่ามีปัญญานำ สติตาม
ถ้ามีสตินำ ปัญญาตามทุกอย่างก็จะไม่เกิดความยุ่งยากเสียหาย จะสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สติกับปัญญาเป็นสิ่งที่มีอุปการะมากในการทำงานทุกอย่าง และจะต้องให้มีคู่กันไป มีสติแต่ขาดปัญญา หรือมีปัญญาแต่ขาดสติ ก็เอาดีได้ยาก


จากหนังสือคำพ่อ คำแม่ โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ
ภาพประกอบจากสมาชิกพันทิป และอินเตอร์เน็ต

ขอจบตอนแรกไว้ก่อนครับ มีพุทธพจน์ตอนหนึ่งแสดงว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดา อันบุตรแห่งตระกูลทั้งหลายใด บูชาอยู่ในเรือนของตน
ตระกูลทั้งหลายนั้น ชื่อว่ามีพรหม ...มีบุรพาจารย์ ... มีอาหุไนย (ผู้ควรได้รับของสักการะ)

คำว่าพรหม ... บุรพาจารย์ ... อาหุไนย นี้ เป็นคำเรียกมารดาบิดาทั้งหลาย นั่นเพราะเหตุอะไร
เพราะมารดาบิดาทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย.

มารดาบิดาทั้งหลายผู้เอ็นดูประชา ชื่อว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ และเป็นอาหุไนยของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแหละ บุตรผู้มีปัญญาพึงนอบน้อมสักการะท่าน ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน
ด้วยเครื่องอบ ด้วยน้ำสนานกาย และด้วยการล้างเท้า เพราะการบำรุงมารดาบิดานั้น
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้นในโลกนี้เทียว บุตรนั้นละ (โลกนี้) ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์


มาติดตามตอนต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y6932844/Y6932844.html




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2551    
Last Update : 27 สิงหาคม 2551 23:36:29 น.
Counter : 1117 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.