Group Blog
 
All blogs
 

ขันติ ...



สวัสดีทุกท่านครับ

ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ แม้ว่าจะต่างกันด้วยเพศ วัย ฐานะความเป็นอยู่ แต่ทุกคนก็ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือทุกคนปรารถนาความสุข และกำลังแสวงหาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นความสุขนั้น นักปราชญ์บางคนกล่าวว่า ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนห่างไกลจากตัวเราเลยเพียงแต่ว่าเราพยายามขจัดเหตุของความทุกข์ไปให้พ้น ไม่ประกอบเหตุนั้น ความสุขก็
จะเกิดขึ้นเอง

นำเรื่องขันติมาฝากครับ


ขันติ ....

‘เป็นอาวุธไม่เบียดเบียนคนดี คือทำลายอกุศล’ เพราะคนดี เมื่อมีขันติแล้วจะไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะขันติเป็นอาวุธที่ไม่เบียดเบียนคนดี เพราะเหตุว่าสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ เพราะกำจัดความโกรธอันเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรม ไม่มีส่วนเหลือ ถ้าสามารถที่จะอดทนได้ในขณะนั้น โทสะไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง แม้แต่คำเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากใจที่โกรธก็ไม่มี

‘เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้’ ถึงแม้จะประดับเครื่องประดับสวยงามหลากหลายสักเท่าไร แต่ถ้ากายวาจาไม่ดี จะไม่สวยเลย แม้ว่าเครื่องประดับจะสวยในขณะนั้น ความไม่โกรธหรือขันติ เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้ ไม่ต้องมีเครื่องประดับเลย ก็ยังงามกว่าผู้มีเครื่องประดับ แต่ว่าไม่มีขันติ คือกายวาจาไม่งาม

‘เป็นพละสัมปทาของสมณพราหมณ์’ คือ เป็นการถึงพร้อมด้วยกำลังของผู้สงบ คนที่สงบไม่ต้องไปมีเรื่องวุ่นวายกับใครทั้งสิ้น ฉะนั้น ความสงบจากอกุศล เป็นพละสัมปทาของสมณพราหมณ์

‘เป็นสายน้ำกำจัดไฟ คือความโกรธ’ ถ้าจะโกรธแล้วมีขันติบารมี ไม่โกรธ ขณะนั้นจะเพิ่มความอดกลั้นต่ออกุศลต่างๆ ได้สะดวกขึ้น เพิ่มขึ้น ง่ายขึ้น จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย

‘เป็นเครื่องชี้ถึงความเกิดแห่งกิติศัพท์อันดีงาม เป็นมนต์ และยาวิเศษระงับพิษ คือคำพูดของคนชั่ว’ เวลาโกรธและพูดคำที่ไม่ดีออกมา ใครไม่ดีในขณะที่พูดคำไม่ดี ? คือตัวเอง ตนเองเท่านั้นคือคนชั่ว ใครที่พูดชั่วคนนั้นก็คือคนชั่ว ฉะนั้น ขันติเป็นมนต์ และยาวิเศษระงับพิษ คือคำพูดของคนชั่ว

‘เป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยม ของผู้ตั้งอยู่ในสังวร’ ทุกท่านอยากจะมีปัญญาแต่กว่าจะมีปัญญาได้ต้องอดทนมาก เช่น อดทนต่อการที่จะฟังพระธรรม แล้วก็พิจารณาความลึกซึ้ง ความละเอียด และเป็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ จนเห็นว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่แต่เพียงฟัง แต่ว่าเป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยมถ้าต้องการมีปัญญา ก็ต้องเริ่มเป็นผู้ที่อดทน มีขันติบารมี

‘เป็นสาคร เพราะอาศัยความลึกซึ้ง’ ขันติเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งจริงๆ จึงเป็นเหตุให้อกุศลเกิดบ่อยกว่ากุศล ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด เห็นว่าขณะใดเป็นอกุศล แล้วมีความอดทนต่อการที่จะไม่เป็นอกุศลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ เป็นโทสะ ความริษยา ความตระหนี่หรือความสำคัญตน ขณะนั้นจะเห็นความลึกซึ้งจริงๆ ว่า ถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถจะบำเพ็ญขันติบารมีได้ ฉะนั้น ขันติบารมี และสติสัมปชัญญะจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะจะทำให้อดทนต่ออกุศลต่างๆ ได้

‘เป็นฝั่งของมหาสาคร คือโทสะ เป็นบานประตู ปิดประตูอบาย’ หลายคนกลัวอบายภูมิ ที่ทำกุศลก็เพราะไม่อยากจะเกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าจะไม่เกิดในอบายภูมิ ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทน เพราะความอดทนเป็นบานประตูที่ปิดประตูอบายเป็นบันไดขึ้นไปสู่เทวโลก และพรหมโลก เป็นภูมิสถิตของคุณทั้งปวง เป็นความบริสุทธิ์กายวาจาใจอย่างสูงสุด’ พึงมนสิการด้วยประการฉะนี้

ข้อมูลจากสุจินต์ บริหารวนเขตต์ บารมีในชีวิตประจำวัน ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่า จะมีความอดทนเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ในทุกสถานการณ์ ถ้าฝึกหัดบ่อยๆ อบรมบ่อยๆ จะเจริญขึ้นจนเป็นปกติ บางท่านที่เป็นผู้มีอุปนิสัยอดทนมากกว่าคนอื่น เป็นเพราะการอบรมนั่นเอง




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2551    
Last Update : 16 ธันวาคม 2551 21:13:37 น.
Counter : 994 Pageviews.  

คนอันธพาล



สวัสดีทุกท่านครับ

คนอันธพาล หลักฐานทางศาสนาแสดงว่า คนประเภทนี้มีมาในโลกนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนตั้งศาสนาไหน ๆ ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเสด็จจาริกประกาศศาสนา ก็ได้ทรงสนพระทัยกับเรื่องคนพาลนี้อยู่เป็นอันมาก จะสังเกตได้จากพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงคนพาล มีมากจนพระอรรถกถาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ต้องจัดไว้เป็นวรรคหนึ่งต่างหากจากเรื่องอื่น เรียกว่าพาลวรรค เท่าที่สังเกตดูความที่ตรัสถึงคนพาลนั้น ส่อให้เห็นน้ำพระทัยของพระพุทธองค์ใน ๓ ทาง คือ

๑. ทรงหวังดีต่อคนพาลที่จะช่วยให้กลับตัวเป็นคนดี
๒. ทรงเป็นห่วงคนดี ๆ จะถูกคนพาลรังแก
๓. ทรงเป็นห่วงคนที่ยังไม่เป็นพาลจะกลายเป็นคนพาล

ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนทุกฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายคนพาลทั้งฝ่ายคนที่ไม่ใช่พาล

การไม่คบคนพาล เป็นมงคลชีวิตข้อหนึ่ง วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม นำปาฐกถาธรรมเรื่องคนอันธพาล มาฝากครับ

คนอย่างไรเรียกว่า “อันธพาล !” ตอบได้ยากเพราะศัพท์ทางศาสนาที่พบเห็นส่วนมาก มีแต่คำว่าพาละ หรือพาล มีบางแห่งใช้คำว่า “อติพาล” เห็นจะแปลว่ายอดพาล คำว่า อันธพาลหาพบในอรรถกถาธรรมบท เป็นคำของคนโรคเรื้อนด่าพระอินทร์ความในเรื่องนั้นว่า มีคนฐานะยากจนคนหนึ่ง แกเป็นโรคเรื้อนกุฏฐัง ต่อมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระอินทร์เกิดอยากจะลองใจดูว่า คนจน ๆ อย่างนั้นจะเห็นเงินดีกว่าพระ (ศาสนา) หรือเห็นพระดีกว่าเงิน จึงได้ไปบอกให้สินบนแก่ชายผู้นั้นว่า ให้เลิกนับถือพระเสียแล้วจะได้เงินทองเท่านั้นเท่านี้ พอว่าเท่านั้นก็ถูกนายคนนั้นตอกหน้าเอาว่า “อันธพาโลสิ !” แปลว่า “อ้ายคนอันธพาล”

ลักษณะปัญญาที่ทำให้คนพ้นจากความเป็นพาลนั้นคือปัญญาเครื่องรู้จักตน ปัญญาชนิดนี้มีแล้วดูตัวออกตัวทำผิดก็รู้ว่าผิด ตัวทำถูกก็รู้ว่าถูก ใครมีความรู้ชนิดนี้อยู่ เรียกว่ามีปัญญาเครื่องรู้ตัว ไม่เป็นพาล แต่ถ้าปัญญาที่ว่านี้ดับลงเมื่อไรเราก็เป็นพาลขอให้สังเกตดูว่า คนพาลนั้นจะขาดความรู้อยู่อย่างหนึ่งคือความรู้จักตัวเอง ตัวผิดก็ไม่รู้ว่าผิด ปะเหมาะยังคิดว่าตัวถูกเสียด้วยซ้ำ เหตุใดปัญญาที่ว่านี้จึงดับลง ? เป็นปัญหาที่ตอบง่าย เพราะปัญญาของคนเรานี้มีสิ่งที่เป็นข้าศึกกันอยู่อย่างหนึ่งคือ กิเลส ในใจของใครยังมีกิเลส ปัญญาของผู้นั้นก็ย่อมมีโอกาสที่จะดับได้ เพราะถ้ากิเลสกำเริบขึ้น ปัญญาก็อับแสงลง ถ้ากิเลสโหมหนักปัญญาก็ดับไป

วิธีสังเกตคนพาล คือเราจงสังเกตดูว่าเราเป็นพาลหรือไม่ และคนอื่นใครบ้างเป็นพาล ทางศาสนาท่านว่าไว้สองวิธี เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเองวิธีหนึ่ง กับอีกวิธีหนึ่งท่านเล่าถึงวิธีสังเกตของคนอื่นผมอยากจะเรียนสั้น ๆ ว่า วิธีของพระกับวิธีของชาวบ้าน

สังเกตแบบชาวบ้าน คือแบบของท่านอกิตติดาบส ท่านผู้นี้เดิมเป็นคนมั่งคั่งอยู่ในเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ต่อมาภายหลังได้ออกบวชเป็นดาบส เหตุที่ออกบวชนั้นท่านไม่บอกไว้ แต่ลองสังเกตดูจากคำสนทนาของท่านกับท้าวสักกะแล้ว จะทราบตามเรื่องนั้นว่า เมื่อท่านออกบวช แล้วได้เดินทางหนีจากเมืองพาราณสีข้ามไปอยู่อีกแคว้นหนึ่ง คือแคว้นกปีฬะ เมื่อไปทำความเพียรอยู่ที่นั้นนานพอสมควร บ้านเมืองเกิดข้าวยากหมากแพงเพราะฝนแล้ง ประชาชนขาดแคลนจนกระทั่งไม่มีใครทำบุญ ท่านดาบสต้องฉันหัวเผือกหัวมัน เมื่อเผือกมันขาดแคลนลง ก็ฉันใบไม้และเปลือกไม้ ไม่ยอมอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น ความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงเสด็จลงมาหาพระดาบส โดยมีพระประสงค์จะถวายความอุปถัมภ์ ในเรื่องเกี่ยวกับความอดอยากของท่าน แต่ครั้นพระอินทร์แจ้งเรื่องให้พระดาบสทราบ ว่าพระองค์ขอปวารณาด้วยปัจจัย เมื่อท่านพระดาบสมีประสงค์สิ่งใดก็ให้บอก พระดาบสกลับปฏิเสธว่า ท่านไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น เวลานี้เปลือกไม้ใบไม้ในป่าก็ยังมีพอฉันอยู่ พระอินทร์ทรงแปลกพระทัยอย่างยิ่ง แม้จะปวารณาซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พระดาบสบอกความประสงค์ พระดาบสก็ยืนยันอยู่อย่างเดิมว่า ท่านไม่ต้องการอะไร

แต่เมื่อถูกพระอินทร์อ้อนวอนให้บอกความประสงค์หนักเข้า พระดาบสจึงแย้มออกมาว่า
“อาหารเครื่องขบฉันใด ๆ อาตมาไม่ต้องการ ถ้าหากบพิตรจะโปรดประทานพรแล้ว อาตมามีสิ่งอื่นที่ต้องการมากกว่า”
พระอินทร์ตรัสว่า “ไม่เป็นไรพระคุณเจ้า บอกโยมมาเถอะ พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใด เภสัชสำหรับบำบัดโรครึ ? หรือขัดข้องด้วยบริขารสิ่งใด ?”
“เภสัชก็ดี บริขารอื่น ๆ ก็ดี อาตมาภาพจะได้ต้องการก็หาไม่ มหาบพิตร”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใด ?”
“มหาบพิตร อาตมาภาพใคร่ขอพรเกี่ยวกับคนพาล”
“พระคุณเจ้า จะขอสิ่งใดโปรดบอกโยมได้”
“ประการแรก ขอให้อาตมภาพ อย่าได้พบเห็นคนพาลเลย
ประการที่สอง ขออย่าให้อาตมภาพได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคนพาลด้วย
ประการที่สาม ขออย่าให้อาตมภาพได้อยู่ร่วมกับคนพาล
ประการที่สี่ ขออย่าให้อาตมภาพได้ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพาล
ประการที่ห้า ขออย่าให้จิตใจของอาตมภาพไปหลงใหลใยดีกับคนพาลเลย”

ท่านผู้ฟังพอจะทายได้แล้วใช่ไหมว่า ท่านเศรษฐีอกิตติออกบวชเพราะเหตุไร ? แน่นอน ท่านคงจะถูกคนพาลรบกวนจนเบื่อหน่ายเต็มทน นึกดูว่าท่านเองขัดสนจนต้องฉันเปลือกไม้อยู่แล้ว ยังถือว่าความตายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องหนีอันธพาลสำคัญกว่า ท่านผู้นี้ได้ให้ข้อสังเกตคนพาลไว้อย่างเหมาะเจาะ ที่ผมเรียกว่าข้อสังเกตแบบชาวบ้าน มี ๕ ข้อ คือ

๑. อนยํ นยติ คนพาลชอบชักนำในทางผิด
๒. อธุรายํ นิยุญฺชติ คนพาลธุระไม่ใช่
๓. ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ คนพาลเห็นผิดเป็นชอบ
๔. สมฺมาวุตฺโตปิ กุปฺปติ คนพาลแม้เราพูดดี ๆ ก็โกรธ
๕. วินยํ โส น ชาชาติ คนพาลไม่รับรู้วินัย…

ส่วนวิธีสังเกตแบบพระคือจากพระไตรปิฎก พาลปัณฑิตสูตรในอุปริปัณณาสกะ มีใจความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า ลักษณะอันเป็นเครื่องสังเกต คนพาลมี ๓ อย่าง คือ ๑. ทุจฺจินฺติตจินฺตี มีความคิดชั่ว ๒. ทุพฺภาสิตภาสี พูดจาชั่ว ๓. ทุกฺกฏกมฺมการี ชอบทำชั่ว

สรุปแล้ว จุดสังเกตคนพาลตามพระพุทธวจนะนี้มีสามจุด คือ ความคิด คำพูด และการกระทำ หรือถ้าจะชี้เข้ามาที่ตัวคนก็ ได้แก่ กาย วาจา ใจ เพียงแต่ในพระบาลีท่านเรียงใจไว้ต้น แล้วจึงเรียงวาจาและกายไปตามลำดับ

ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เรียกว่าชั่วนั้น คืออย่างไร ? พระอรรถกถาจารย์ (คือพระอาจารย์ผู้อธิบายพุทธวจนะ) ได้ขยายความไว้ชัดเจนแล้วว่า ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ ทุจริต ๑๐ (คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เรียกว่าทุจริต ๑๐ ก็ได้ เพราะเป็นอันเดียวกัน)

ย่อจากปาฐกถาธรรมของ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ แสดง ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย พระนคร เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

หลวงปู่เทศก์สอนว่า "อันธพาลและบัณฑิตตัวจริงนั้นไม่ใช่อยู่ที่มิตรภายนอกอย่างนั้น มันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก มันเกิดขึ้นที่ใจของเราเอง ใครๆ ก็รู้จักใจของตนกันทุกคนว่ามันคิดชั่วก็ได้คิดดีก็ได้ เมื่อใดคิดทางชั่วทางไม่ดีแล้วเราไปสนับสนุนมันเข้าก็คือ ไปคบค้ากับ คนพาล ไม่ต้องไปคบใครที่อื่นหรอก มันมีอยู่ในตัวของเรานั่นเองถ้ามันคิดดี คิดชอบ ประกอบสุจริตแล้วเราสนับสนุน ได้ชื่อว่าเราคบ บัณฑิต การสนับสนุนเกิดขึ้นที่ตัวเรานั่นเองไม่ต้องโทษคนอื่น จะไปโทษเขาทำไม เขาก็มี บาปมิตร และ กัลยาณมิตร ของเขาอยู่แล้วเหมือนกัน ต่างคนต่างมีของตน เมื่อเรารู้แล้วว่า อันธพาล เกิดขึ้นที่ตัวของเรา บัณฑิต ก็เกิดขึ้นที่ตัวของเรา ดังนั้นเมื่อต้องการจะเป็น บัณฑิต ก็สร้างขึ้นมา สนับสนุนส่งเสริม บัณฑิต ให้เจริญขึ้นมา อย่าไปคบ พาล สนับสนุน พาล ก็แล้วกัน ถึงคนอื่นจะเป็นพาลกันทั้งโลก หากเราไม่คบพาลในตัวของเราแล้ว เราก็ไม่เป็นพาลไปได้"

บุคคลที่มีปัญญาเปลี่ยนแปลงโดยชอบย่อมดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และถึงความสิ้นกิเลสโดยลำดับครับ




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2551 9:22:04 น.
Counter : 619 Pageviews.  

พุทธวิธีดูแลสุขภาพ “อาหาร-ออกกำลังกาย-อารมณ์”

สวัสดีทุกท่านครับ

ข้อความในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ระบุพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสุขภาพดี มีพระ ชนมายุ แปดสิบพรรษา สามารถทำงานเผยแผ่ศาสนาวันหนึ่งประมาณ ๑๖-๒๐ ชั่วโมง ใครๆ ที่มาเฝ้าพระองค์ มักจะกล่าวสรรเสริญหรือถามพระองค์ถึงเรื่องความมีอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงพระกำลังกระปรี้กระเปร่า ทรงพระสำราญอยู่เสมอๆ

วันนี้นำพุทธวิธีดูแลสุขภาพ “อาหาร-ออกกำลังกาย-อารมณ์” มาฝากครับ



ข้อที่ 1 อาหาร

ทรงให้พิจารณาอาหารก่อนฉัน ตรัสว่า“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาต ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง ไม่ใช่เพื่อประดับประดา แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไปได้ เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยความ คิดเห็นว่า โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา แล้วจึงบริโภคอาหาร”
ทรงเลือกพิจารณาฉันเฉพาะอาหารที่เป็นประโยชน์ไม่ก่อโทษต่อร่างกายเท่านั้น ดังที่ทรงห้ามภิกษุดื่มสุราและเมรัย เพราะเป็นบ่อเกิดของการเกิดโรค มีสติในการฉันอาหาร พระองค์ตรัสแนะนำพระเจ้าปเสนทิโกศลและภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้มีสติในการบริโภค ดังพุทธพจน์ว่า “…มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้ประมาณในการบริโภคที่ได้แล้ว ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุยั่งยืน” “เราทั้งหลาย จักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป.....การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม” รู้ประมาณในการฉัน ดังพุทธพจน์ว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว และเพื่อความอ้วนพี แต่เพื่อกายนี้ดำรงอยู่ การพิจารณาในการบริโภค นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”

ข้อที่ 2 ออกกำลังกาย

พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีออกกำลังกายที่เหมาะควรกับสมณเพศเป็นอย่างยิ่ง ทรงยึดหลักการปรับเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอิริยาบถเดิน ได้แก่ การเดินบิณฑบาต เช้าตรู่ของทุกวัน พระพุทธเจ้าและพระสาวก จะออกเดินบิณฑบาต ไปตามหมู่บ้านเป็นประจำ เช่น “ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยัง....ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์ตักข้าวใส่บาตรถวายจนเต็ม” และ “ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี”
หมอชีวกโกมารภัจ ประจำอยู่ราชสำนักแห่งแคว้นมคธ และเป็นหมอประจำพระองค์ ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเรือนไฟและสถานที่เดินจงกรม เพื่อให้ภิกษุที่ฉันอาหารประณีตทำให้อ้วน ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ มีโอกาสออกกำลังกายชะลอการเกิดโรคและใช้เรือนไฟ ในการลดความอ้วน พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม ทรงอนุญาตตามที่หมอชีวก ทูลขอไว้ทุกประการ

การเดินจาริกเผยแผ่ธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการเผยแผ่ธรรมะจากการเที่ยวจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการเดินเท้า แม้ว่าในยุคนั้นมีพาหนะเทียมด้วยสัตว์ใช้แล้วก็ตาม

ข้อที่ 3 อารมณ์

พระพุทธเจ้าทรงถือหลักปฏิบัติในการบริหารจิต ด้วยหลักใหญ่ๆ ดังที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ๓ ประการ คือ “ละชั่ว ทำดี และทำจิตให้บริสุทธิ์”

การทำจิตให้บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดำรงจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการทำจิตให้อยู่กับปัจจุบันกาลทุกขณะ และการทำจิตให้ว่าง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต กำหนดรู้ปัจจุบัน” ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่กุลบุตร

หลักฐานในคัมภีร์พระไตรปิฎกหลายแห่ง ระบุถึงความมีสุขภาพอนามัย ของพระพุทธเจ้าไว้หลายประการ เช่น บำเพ็ญพุทธกิจได้เกือบตลอดทั้งวัน คือ เวลาเช้า เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ และจวนสว่างทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรด

พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ดี แม้จะทรงมีพระชนมายุถึง ๘๐ พรรษาแล้วก็ตาม ดังที่ตรัสยืนยันว่า พระองค์เป็นคนแก่ชราแม้ว่าจะทรงเจ็บป่วยอย่างหนัก ก็ไม่ทำให้พระองค์หลงลืมสติ และปัญญา พระองค์เสด็จด้วยพระบาทจาริกไปเผยแผ่ธรรมตามที่ต่างๆ จนช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก ด้วยโลหิตปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นพระโลหิต) ยังทรงสามารถเดินทางไกล จากเมืองปาวา สู่เมืองกุสินาราอันเป็นสถานที่ปรินิพพานได้

ข้อมูล คุณศศิธร เขมาภิรัตน์ ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

ช่วงนี้มีฝนตก การใช้ร่างกายของเราสร้างบุญบารมี ก็จะต้องใช้อย่างทะนุถนอม คือดูแล อาหาร-ออกกำลังกาย-อารมณ์ ต้องหมั่นรักษาสุขภาพให้ดี ในคราวป่วยคราวไข้ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าได้นิ่งนอนใจครับ




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2551 15:46:27 น.
Counter : 2078 Pageviews.  

หนอนท้าช้าง [โทษของสุราเมรัย]

สวัสดีทุกท่านครับ




คําสอนของพระพุทธศาสนาไม่เคยสรรเสริญสิ่งที่ทําลายสติปัญญาของมนุษย์ ตรงกันข้ามพระองค์ทรงสอนให้หลีกเว้นจากของมึนเมา อบายมุขเหล่านั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ

พระพุทธเจ้าตรัสเล่า ชาติที่เกิดเป็นเทวดาในป่า เห็นหนอนตัวหนึ่งได้ดื่มของมึนเมาที่เป็นเดนของคนเดินทาง พอดื่มแล้วมันก็เมาและเดินโซเซขึ้นไปบนกองอุจจาระที่สัตว์เพิ่งถ่ายไว้ กองอุจจาระได้หยุบลงหน่อยหนึ่งเจ้าหนอนคิดว่าตนเองนั้นยิ่งใหญ่จนแผ่นดินรับไม่ไหว ขณะนั้นได้มีช้างตัวหนึ่งเดินมาบริเวณนั้นพอดี ช้างได้กลิ่นอุจจาระจึงเริ่มหนีไป เจ้าหนอนเห็นดังนั้นคิดว่าช้างกลัวตน จึงร้องท้าให้มาสู้กัน แต่ช้างบอกว่าสําหรับศึกครั้งนี้เราไม่ใช้อาวุธสู้กับเจ้าหรอก แค่เราถ่ายอุจจาระเจ้าก็ตายแล้ว ว่าแล้วช้างจึงถ่ายอุจจาระใส่แล้วเดินจากไป

นี่เป็นเรื่องจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่า คูถปาณกชาดกว่าด้วยหนอนท้าช้าง



ในอดีตกาล ชาวอังคะและมคธทั้งหลาย ต่างก็ไปมาหาสู่ยังแว่นแคว้นของกันและกัน. วันหนึ่งต่างเข้าไปอาศัยบ้านหลังหนึ่งที่พรมแดนของรัฐทั้งสอง ดื่มสุรา กินปลาเนื้อกันแล้ว ก็เทียมยานออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ในเวลาที่ชนเหล่านั้นไปกันแล้ว หนอนกินคูถ(อุจจาระ) ตัวหนึ่งได้กลิ่นคูถจึงมา เห็นสุราที่เขาทิ้งไว้ตรงที่นั่งกัน จึงดื่มด้วยความกระหาย ก็เมาไต่ขึ้นบนกองคูถ คูถสดๆ ก็ยุบลงหน่อยหนึ่ง เมื่อหนอนไต่ขึ้นไป หนอนนั้นก็ร้องว่า "แผ่นดินทานตัวเราไปไม่ได้"
ขณะนั้นเอง ช้างตกมันตัวหนึ่งมาถึงที่นั้น ได้กลิ่นคูถแล้วรังเกียจ ก็หลีกไป หนอนเห็นช้างนั้นแล้ว เข้าใจว่า ช้างนี้กลัวเราจึงหนีไป เราควรจะทำสงครามกับช้างนี้ จึงร้องเรียกช้างนั้น กล่าวคาถาแรกว่า

"ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญ มาพบกับเราผู้กล้าหาญ อาจประหารได้ไม่ย่นย่อ มาซิช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัวหรือจึงได้หนีไป ขอให้พวกชาวอังคะและมคธะได้เห็นความกล้าหาญของเราและของท่านเถิด"

เนื้อความแห่งคาถานี้ว่า ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญมาพบกับเราผู้กล้าหาญ ผู้ไม่ย่อท้อทางความเพียร บากบั่น เป็นนักต่อสู้ เพราะสามารถในทางสู้รบ เหตุใดจึงไปเสียไม่ประสงค์การสงครามเล่า การประหารกันสักทีเดียว ก็ควรกระทำมิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ดูก่อนช้าง จงมาเถิด จงกลับก่อน ท่านกลัวตายด้วยเหตุเพียงเท่านั้น จะกลัวหนีไปเทียวหรือ ชาวอังคะและมคธทั้งหลายผู้อยู่พรมแดนนี้ จงคอยดูความเก่งกาจ ความทรหด อดทนของเราและของท่าน

ช้างนั้นแผดเสียงร้องได้ฟังคำของหนอนนั้นแล้ว จึงกลับไปหาหนอน เมื่อจะรุกรบหนอนนั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

"เราจักไม่ต้องฆ่าเจ้าด้วยเท้า งา หรือด้วยงวงเลย เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถ หนอนตัวเน่า ควรฆ่าด้วยของเน่าเช่นกัน"

เนื้อความแห่งความคาถานั้นว่า เราจักไม่ฆ่าเจ้าด้วยเท้าเป็นต้น แต่เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถจึงสมควรแก่เจ้า ก็และครั้นช้างกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า สัตว์กินคูถเน่า ควรตายด้วยของเน่า ช้างจึงถ่ายคูถก้อนใหญ่ลงบนหัวหนอนนั้นแล้วถ่ายปัสสาวะรด ยังหนอนให้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง แผดเสียงเข้าป่าไป

คําสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์รวมลงในความไม่ประมาท เพราะความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย ตรงข้ามกับความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ตายในที่นี้มีทั้งตาย จากความดี และตายแบบหมดลมหายใจ

ช่วงนี้มีผู้ต้องการแสวงหาผลประโยชน์นำน้ำเมาเข้าตลาดหุ้น ดังนั้นทุกคนพึงร่วมมือร่วมใจ เพื่อความอยู่รอดแห่งชีวิต สติปัญญาของคนในชาติครับ




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2551 15:41:50 น.
Counter : 1101 Pageviews.  

แบบประกันภัย ๕ อย่าง - วันนี้ วันพระ ( แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ )



สวัสดีวันพระทุกท่านครับ

วันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ กำหนดขึ้นมาเพื่อดูแลคนในศาสนา
ดังนั้น วันพระจึงเป็นวันพิเศษของพระพุทธศาสนา
เป็นวันหยุดเพื่อชำระจิตใจ
วันหยุดโดยทั่วไปในสังคมมีลักษณะเป็นวันพักผ่อน (relax)
เที่ยวสนุกสนาน เพลิดเพลิน ตามประสาโลก
แต่วันพระเป็นวัน “พัฒนาคน”
ให้คนมีจิตใจสูงขึ้นด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

วันนี้ วันพระ มาเสนอแบบประกันภัยของชาวพุทธ ๕ อย่างครับ

๑.ประกันชีวิต เบี้ยประกันส่งประจำ เว้นการฆ่าสัตว์
๒.ประกันทรัพย์สิน เบี้ยประกันส่งประจำ เว้นการลักทรัพย์
๓.ประกันครอบครัว เบี้ยประกันส่งประจำ เว้นการประพฤติผิดในกาม
๔.ประกันสังคม เบี้ยประกันส่งประจำ เว้นมุสาวาทหลอกลวง
๕.ประกันสติปัญญา เบี้ยประกันส่งประจำ เว้นการดื่มสุราและยาเสพติดทุกชนิด

ดอกเบี้ยประจำเป็นความสุข มีผลประโยชน์ ๓ ประการ คือคำสรรเสริญ
การได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และผู้เอาประกันภัยละโลกแล้วย่อมได้บันเทิงในสวรรค์

การรักษาศีลนั้นเป็นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ชีวิตอย่างแท้จริง
อย่าปล่อยให้วันเวลาอันมีค่าล่วงผ่านไปอีก เพราะจะไม่มีสิ่งใดจะน่าเสียดายไปยิ่งกว่า
วันเวลาที่ไม่ได้ทำประกันภัยนี้ครับ




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2551    
Last Update : 6 ตุลาคม 2552 11:00:49 น.
Counter : 367 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.