Group Blog
 
All blogs
 
โจทก์พระอย่างไร ถึงไม่ต้องเดือดร้อน?

กระทู้นี้นำมาจากพระวินัย ในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้ารับสั่งกับพระอุบาลี ท่านเป็นเอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย
เพราะฉะนั้นผู้โจทก์พระวัดอื่นๆ ผู้ถูกโจทหรือใครๆ ก็ตาม ที่นำไปปฎิบัติก็ย่อมได้รับผลดี ฟังอย่างสบายๆ นะครับ

พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรมเท่าไรในตน แล้วโจทผู้อื่น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่นพึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตนว่า
๑. เรามีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่
๒. เรามีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่
๓. จิตของเรามีเมตตาปรากฏ ไม่อาฆาตในสพรหมจารีทั้งหลายหรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่
๔. เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรมเหล่านั้นใด ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ในที่สุด ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่
๕. เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร สวดไพเราะ คล่องแคล่ว วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่

ถ้าไม่ใช่ เธอถูกถามจะตอบไม่ได้ เธอย่อมจะมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านเล่าเรียนความประพฤติทางกาย.... ความประพฤติทางวาจา....
เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิต... เชิญท่านจงเล่าเรียนปริยัติเสียก่อน... เชิญท่านเล่าเรียนวินัยเสียก่อนวินัยเสียก่อน
..............................................

พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่นพึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น คือ
๑. เราจักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร
๒. จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่เป็นจริง
๓. จักกล่าวด้วยคำสุภาพ จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ
๔. จักกล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำไร้ประโยชน์
๕. จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่มุ่งร้ายกล่าว


ผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรมต้องเดือดร้อน

พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ คือ:-
๑. ท่านโจทโดยกาลไม่ควร ไม่โจทโดยกาลอันควร ท่านต้องเดือดร้อน
๒. ท่านโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่โจทด้วยเรื่องจริง ท่านต้องเดือดร้อน
๓. ท่านโจทด้วยคำหยาบ ไม่โจทด้วยคำสุภาพ ท่านต้องเดือดร้อน
๔. ท่านโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ท่านต้องเดือดร้อน
๕. ท่านมุ่งร้ายโจท มิใช่มีเมตตาจิตโจท ท่านต้องเดือดร้อน
ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุแม้อื่น ไม่พึงสำคัญเรื่องที่โจทด้วยคำเท็จ ฯ
..............................................

ผู้โจทก์โดยเป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน

พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความไม่เดือดร้อน ด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความไม่เดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ:-
๑. ท่านโจทโดยกาลอันควร ไม่ใช่โจทโดยกาลอันไม่ควร ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๒. ท่านโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๓. ท่านโจทด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่โจทด้วยคำหยาบ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๔. ท่านโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๕. ท่านมีเมตตาจิตโจท ไม่ใช่มุ่งร้ายโจท ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความไม่เดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุแม้อื่นก็พึงสำคัญว่าควรโจทด้วยเรื่องจริง ฯ
..............................................

โจทก์พึงมนสิการธรรม ๕ ประการ

พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่นพึงมนสิการธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น คือ:-
๑. ความการุญ
๒. ความหวังประโยชน์
๓. ความเอ็นดู
๔. ความออกจากอาบัติ
๕. ความทำวินัยเป็นเบื้องหน้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น ฯ

ในส่วนผู้ถูกโจทกันบ้างครับ ...

ผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน

พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ:-
๑. ท่านถูกโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลอันควร ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๒. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ได้ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๓. ท่านถูกโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำสุภาพ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๔. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ได้ถูกโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
๕. ท่านถูกโจทด้วยมุ่งร้าย ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยอาการทั้ง ๕ นี้ ฯ

..............................................

ผู้ถูกโจทโดยธรรมต้องเดือดร้อน

พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ คือ:-
๑. ท่านถูกโจทโดยกาลอันควร ไม่ใช่ถูกโจทโดยกาลอันไม่ควร ท่านต้องเดือดร้อน
๒. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ใช่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ท่านต้องเดือดร้อน
๓. ท่านถูกโจทด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่ถูกโจทด้วยคำหยาบ ท่านต้องเดือดร้อน
๔. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านต้องเดือดร้อน
๕. ท่านถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ใช่ถูกโจทด้วยมุ่งร้าย ท่านต้องเดือดร้อน
ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้แล ฯ

ผู้ถูกโจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ

พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรมเท่าไรพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริง ๑ ความไม่ขุ่นเคือง ๑ ฯ

ขอบพระคุณที่มีจิตกุศลติดตามอ่านครับ
ข้อมูลจากพระวินัยในพระไตรปิฏก

ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากการยึดมั่น
ยึดเขา ยึดเรา ยึดคณะ ยึดพวก
เมื่อใดเกิดความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ แม้เพียงสิ่งเดียว
เมื่อนั้นย่อมเกิดความทุกข์



Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 17:28:48 น. 0 comments
Counter : 598 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.