Group Blog
 
All blogs
 
วิธีควบคุมความคิดตามหลักพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุมความคิด ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามีสติรู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อกำลังพูดถึงการแก้โทสะ ก็หมายความได้ถึงเรื่องที่จะทำให้โทสะเกิด หรือเกิดอยู่แล้วแต่น้อยให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีสติรู้ว่ากำลังคิดเช่นนั้น ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย เช่น กำลังคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ก. กำลังเกิดโทสะเกี่ยวกับนาย ก. ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ข. เสีย โทสะที่กำลังจะเกิดเกี่ยวกับนาย ก. ก็จะดับไป

แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้น ก็ยังคอยแต่จะย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าที่ก่อให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่า การคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่คิดเช่นนั้นแล้วจะสบาย ตนเองได้ประโยชน์จากความสบายนั้น

แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้ว ก็ยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจเรื่องนั้น คือ พยายามไม่สนใจเสียเลย พยายามลืมเสียเลย แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้อีก คือยังใส่ใจอยู่อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธจะลดระดับความรุนแรงลง

ท่านเปรียบเหมือนคนกำลังวิ่งเร็วก็จะเปลี่ยนวิ่งช้า กำลังวิ่งช้าก็จะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นยืน กำลังยืนก็จะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่งก็จะเปลี่ยนเป็นลงนอน ถ้าทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุด ท่านให้ใช้ฟันกัดฟันให้แน่น เอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้ความคิดจะหยุด

เมื่อแก้ไขความคิดที่จะนำไปสู่ความมีโทสะได้สำเร็จ คือเลิกคิดในทางที่จะทำให้เกิดโทสะได้ ก็เท่ากับไม่เพิ่มเชื้อแก่ไฟโทสะ ไฟโทสะก็จะเย็นลงและหากบังคับความคิดเสมอๆ จนเคยชิน ให้ไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะลดลง ทำให้ความร้อนในจิตใจเบาบางลง มีความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่นั้นแหละจะมีความสุข ทั้งตัวเองและทั้งผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดด้วยทั้งหลาย

ว่าน่าขำไหม คนที่ทำให้เราโกรธแค้นไม่รู้ตัวเลยว่าเขาทำให้เรารู้สึกแย่
ในหลายกรณีเขาไม่ได้ทำร้ายเรา เราต่างหากที่ทำร้ายตัวเอง
บางคนสามารถโกรธหัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่นึกถึงประสบการณ์เลวร้ายบางเรื่อง ทั้งที่มันเกิดขึ้นนานมาแล้ว

นักฟิสิกส์-จิตแพทย์-นักเขียน ธอมัส แซส บอกว่า
"คนโง่ไม่ให้อภัยและลืม คนอ่อนโลกให้อภัยและลืมทั้งหมด คนฉลาดให้อภัยแต่ไม่ลืม"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ท่านได้เมตตาอธิบายพุทธวิธีควบคุมความคิดว่า

1.วิธีเปลี่ยนความคิด ต้องตั้งใจคิดถึงเรื่องอื่นให้แรง เรื่องที่คิดอยู่เกิดอันเป็นเหตุให้เกิดโทสะจะดับได้เมื่อคิดเรื่องใหม่แรงพอ เมื่อเรื่องที่คิดดับ อารมณ์อันเกิดจากเรื่องที่คิดนั้นก็จะดับด้วย คือโทสะดับนั่นเอง วิธีดับโทสะด้วยการเปลี่ยนนิมิต หรือเปลี่ยนเรื่องได้ผลแน่ แต่ก็เป็นการได้ผลชั่วระยะ คือชั่วระยะที่ใจยังไม่คิดเรื่องที่จะให้เกิดโทสะ ถ้าใจคิดถึงเรื่องใดก็ตามที่จะนำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะกลับเกิดได้อีกเพราะวิธีดับชนิดนี้ เป็นวิธีระงับมิใช่เป็นวิธีรักษาให้หายขาด

วิธีแก้กิเลสทุกประเภทรวมทั้งโทสะ ให้ลดน้อยถึงให้หายขาดไปได้นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้เหตุผล คือใช้ปัญญา พิจารณาลงไปเป็นเรื่องๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้น ควรปล่อยให้เกิดอยู่ต่อไป หรือควรแก้ไขอย่างไร ควรปล่อยวางอย่างไร

ตัวอย่าง ในกรณีที่เป็นคนงานที่มีผู้ร่วมงานหลายคนต้องเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างใกล้ชิด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องทำอะไรไม่ถูกใจกันบ้าง คนโทสะแรงจะหาความสุขได้ยากในที่ทำงานนั้น เพราะจะต้องเกิดโทโสอยู่เสมอ คนนั้นทำงานไม่ดีพอ คนนี้ทำได้ไม่ถูกใจ หรือไม่ก็คนนั้นมีความสามารถน้อยจนทำอะไรแล้วได้ผลออกมาเป็นการยั่วโทสะ รวมความแล้วก็คือ ไม่ว่าใครทำอะไรก็ต้องเกิดโทโสเป็นส่วนมาก

ที่จริงก็อาจเป็นจริงดังนั้น คือบางคนอาจจะทำงานได้ไม่ดีพอ หรือมีความสามารถไม่เพียงพอ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องทำงานนั้น ผู้ใดจำเป็นต้องร่วมงานด้วย ก็ต้องร่วมงานไป และถ้าหากจะยอมเกิดโทโสเพราะผู้ร่วมงานอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นการบกพร่องของตนเองมิใช่ของผู้ร่วมงานอื่น

เพื่อแก้โทสะที่เกิดในกรณีนี้ให้ลดลงหรือหมดไป ไม่ใช่ปล่อยให้ดับไปเป็นครั้งคราว ต้องใช้ปัญญาหาเหตุผล เช่นหาเหตุผลมาอธิบายให้ตัวเองเข้าใจและเห็นใจว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น ในกรณีดังตัวอย่างข้างต้นก็เช่น ให้คิดว่าคนเราเกิดมาไม่เสมอกัน สติปัญญาก็ไม่เท่ากัน ความคิดเห็นก็แตกต่างกัน เขาทำได้เช่นนั้นก็คงสุดความสามารถของเขาแล้ว เขาเห็นว่าดีแล้ว เขาไม่ได้แกล้ง เขาทำด้วยความตั้งใจดี ผลที่ไม่ถูกใจเรานั้นมิได้เกิดจากเจตนาของเขาเลยสักครั้งเดียว เราจะไปเกิดโทโสให้ร้อนแก่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลสมควรทำไม

ใจหนึ่งอาจจะแย้งว่า ก็มันยั่วโทโสที่ทำงานเช่นนั้น ใช้ไม่ได้เลย อาจจะแก้ว่า เกิดโทโสแล้วผลงานที่เขาทำดีขึ้นหรือถูกใจหรือ สบายใจขึ้นหรือ ถ้าเกิดโทโสแล้วผลงานของเขาเคยอย่างไรก็อย่างนั้นไม่ดีขึ้น ไม่ถูกใจขึ้น ยังร้อนใจเพราะอำนาจโทสะอีกด้วย เช่นนี้แล้วโทสะช่วยอะไรได้ ใจหนึ่งอาจจะเถียงอย่างดื้อดึงว่า ช่วยไม่ได้ก็ช่าง จะต้องโกรธ อยากทำอย่างนั้นให้ยั่วโทสะทำไม อาจจะตอบว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะยั่วโทสะ เขาอาจจะตั้งใจเอาใจเสียด้วยซ้ำ ทำไมเขาจึงจะมาตั้งใจทำงานซึ่งแสดงความสามารถของเขาให้เสียหายไป เขาทำได้เพียงเท่านั้นจริงๆ ให้หาเหตุผลโต้แย้งใจฝ่ายที่คอยจะเข้าข้างโทสะไปเรื่อยๆ ฝ่ายเข้าข้างโทสะแย้งอย่างไร ให้หาเหตุผลมาแก้อย่ายอมจำนน มีเหตุผลเพียงไร ให้ยกมาแสดงตอบโต้จนฝ่ายเข้าข้างโทสะพ่ายแพ้ นั่นแหละโทสะจะไม่กลับเกิดขึ้นในกรณีนี้อีก จะขาดหายไปได้จริงๆ อย่างแน่นอนเด็ดขาด
2.วิธีพิจารณาโทษของความคิด ให้เห็นว่าความคิดที่นำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษอย่างไร? เมื่อพิจารณาจนเห็นโทษของความคิดเช่นนั้นชัดเจน ใจก็จะสลัดความคิดนั้นทิ้ง ท่านเปรียบเหมือนหนุ่มสาวที่กำลังรักสวยรักงาม ยินดีพอใจประดับตกแต่งร่างกายด้วยอาภรณ์อันงาม เมื่อซากอสุภเน่าเหม็นไปคล้องคออยู่ ก็ย่อมสลัดทิ้งเสียทันทีด้วยความรังเกียจ

อันที่จริงแม้จับพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่า ความคิดที่จะนำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษมากมายต่างๆ กัน คิดไปคิดมาจนโกรธแล้วมีโทษอย่างไรบ้าง พิจารณาตรงนี้ทุกคนเคยคิดไปคิดมาจนโกรธมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น และทุกคนก็คงเคยได้รับโทษเพราะการคิดไปคิดมาจนบันดาลโทสะหรือเกิดความโกรธมาด้วยกันแล้วมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี

3.วิธีไม่ใส่ใจ ไม่ให้นึกถึง ไม่ใส่ใจ ในความคิดหรืออารมณ์ อันจะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ พูดง่ายๆ ก็คือ อย่านึกถึงเรื่องที่จะทำให้เกิดความโกรธ อย่าไปเอาใจใส่ในเรื่องที่จะทำให้เกิดความโกรธ นี้หมายรวมไปถึงอย่าไปสนใจในผู้ที่ทำหรือพูดเรื่องที่ทำให้ตนเกิดความโกรธ เมื่อไม่นึกถึงไม่ใส่ใจถึงผู้ใดหรือเรื่องใด ก็เหมือนไม่มีผู้นั้นหรือไม่มีเรื่องนั้นเกิดขึ้น โทสะหรือความโกรธก็ย่อมไม่เกิดในผู้ที่ไม่มีหรือในเรื่องที่ไม่มี ไม่มีผู้ก่อเรื่องให้โกรธ ไม่มีเรื่องให้โกรธ ก็เป็นธรรมดาที่จะไม่โกรธ ดังนั้น การทำใจให้เหมือนไม่มีผู้ก่อเรื่องหรือไม่มีเรื่องเกิดขึ้น จึงเป็นการทำใจไม่ให้เกิดโทสะหรือความโกรธนั่นเอง

แต่การจะไม่นึกถึง ไม่ใส่ใจ ในผู้ใด หรือในเรื่องใดอารมณ์ใด ที่เกิดขึ้นอย่างมีผลกระทบถึงจิตใจแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการอบรมฝึกฝน ต้องอาศัยอำนาจจิตที่แรงพอ ต้องอาศัยความตั้งใจจริง และต้องอาศัยปัญญาประกอบด้วยสติ ต้องหัดไม่ใส่ใจในเรื่องหรือในบุคคลที่ไม่ควรใส่ใจไว้ให้เสมอ พยายามไม่ใส่ใจแม้ในเรื่องที่ก่อให้เกิดความหงุดหงิดเพียงเล็กน้อยไว้ให้เสมอ

4.วิธีใคร่ครวญหาเหตุผล

การใช้ความคิดใคร่ครวญพิจารณาเหตุผลว่า ทำไมจึงคิดเช่นนั้น อะไรทำให้คิดเช่นนั้นขณะที่ใจไปคิดหาเหตุผลเช่นนี้ ความคิดเดิมอันเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์กิเลสใดก็ตาม จะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะก็ตาม จะลดความรุนแรงลงเมื่อความคิดนั้นลดความแรงลง ผลอันเกิดจากความคิดนั้นก็จะลดความแรงลงด้วย เช่น โลภ โกรธ หลง ที่กำลังเกิดจากความคิด จะลดระดับความแรงลงตามระดับความแรงของความคิดที่ลดลง การใคร่ครวญพิจารณาหาเหตุผลของความคิดในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เช่น ในเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะ ก็จะทำให้โทสะลดระดับความแรงลง ท่านเปรียบเหมือนคนกำลังวิ่งเร็วจะเปลี่ยนเป็นวิ่งช้า กำลังวิ่งช้าจะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นหยุดยืน กำลังยืนจะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่งจะเปลี่ยนเป็นลงนอน

ทั้งหมดเป็นวิธีควบคุมความคิดเท่าที่ตรัสไว้ในวิตกกสัณฐานสูตรครับ

แล้วเราควรต้องทำตัวทำใจอย่างไร เมื่อยังต้องเจอะเจอพบปะกับคู่กรณีนั้น?

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาด ของสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำหนอง เลือด ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงทำใจเสมอด้วยแผ่นดิน ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอทำใจเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันน่าพอใจและไม่พอใจที่เกิดขึ้นแล้วจักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ (มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๔๐)

แล้วเราก็ยังจะต้องแผ่เมตตา ให้กับคู่กรณีนั้น ๆ อีกหรือเปล่า?

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรม เป็นของของตน ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็น ผู้มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรม เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เขาจักทำกรรม ใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาจักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ”

แผ่เมตตาควรทำทุกวัน แผ่เมตตาให้ตัวเองก่อน ใจของคนเราฝึกได้ ฝึกควบคุมความคิดก็ได้ ถ้าตั้งใจฝึกก็มีผลทุกครั้ง อย่างน้อยความฟุ้งซ่านในใจก็จะลดลง เห็นบันไดร้อยขั้นมันสูง ถ้าเดินไปทีละขั้นๆ ก็ถึงข้างบนได้ใช่ไหมครับ?


Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 14:37:58 น. 0 comments
Counter : 687 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.